Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :

第三十卦 : 離

離 : 離為火 ‧ 離上離下

離 : 利貞‧亨‧畜牝牛‧吉‧

  • 初九 : 履錯然‧敬之‧無咎‧
  • 六二 : 黃離‧元吉‧
  • 九三 : 日昃之離‧不鼓缶而歌‧則大耋之嗟‧凶‧
  • 九四 : 突如其來如‧焚如‧死如‧棄如‧
  • 六五 : 出涕沱若‧戚嗟若‧吉‧
  • 上九 : 王用出征‧有嘉‧折首‧獲其匪醜‧無咎‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สดชื่นตื่นตัว (⚍) ; ปัญญา แจ่มกระจ่างสดใส (⚌) ; พลังกาย ผ่อนพักรัดกุม (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : เสริมประสานด้วย 'สินค้า' (☲) และ 'บริการ' (☲)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความมีวิจารณญาณ, สุกสว่างทั้งนอกใน



ความหมายของชื่อเรียก : Illuminating : ความมีวิจารณญาณ


離 อ่านว่า lí (ลี๋) มีความหมายที่ค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร เพราะความหมายที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันก็คือ 'การจากไป' หรือ 'การแยกออกจากกัน' … แต่ตัวอักษรตัวเดียวกันนี้ในยุคโบราณของจีนจะมีความหมายว่า 'การมัดติดกัน' หรือ 'การรวมกลุ่มกัน' ได้ด้วย ??!! ... งงมั้ย ??!! ... ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จากความหมายของ 'การแยกออกไป' ทำให้มันมีความหมายว่า 'เป็นอิสระ', 'ไม่ผูกพันกับ', 'ไม่ขึ้นตรงต่อ' ; และอาจจะหมายถึง 'แปลกแยก', 'แปลกประหลาด' แต่ในขณะเดียวกันมันก็แฝงความหมายของ 'ความโดดเด่น', 'ความชัดเจน' เอาไว้ด้วยเหมือนกัน ... ??!!

ส่วนความหมายของ 離 (lí, ลี๋) ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปใน 'คัมภีร์อี้จิง' ก็คือ 'ความสุกสว่าง' โดยใช้ 'ไฟ' เป็นสื่อสัญลักษณ์สำหรับความหมายที่ว่านี้ ซึ่งความหมายดังกล่าวก็มีที่มาจาก 'รากศัพท์' ของมัน อันประกอบด้วย 'ภาพอักษร' 离 (lí, ลี๋) ซึ่งเป็นชื่อเรียกสำหรับ 'สัตว์โบราณชนิดหนึ่งของจีน' ที่ถูกนำมาประกอบไว้ด้านหน้า เพื่อใช้เป็นตัวกำกับการออกเสียง ส่วนด้านหลังจะเป็นภาพของนกชนิดหนึ่งเรียกว่า 隹 (zhūi) ซึ่งเป็นนกที่มีขนสีเหลืองสดใส ใช้เพื่อแสดงความหมายว่า 'สุกใส' และ 'ส่องสว่าง' ... จาก 'ความสุกสว่าง' ดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นที่มาของ 'ความชัดเจน' แล้วจึงค่อยๆ แผลงไปเป็น 'การจำแนกหมวดหมู่', หรือ 'การจำแนกแจกแจง' ซึ่งย่อมประกอบด้วย 'การแยกออก' และ 'การรวมกลุ่ม' เพื่อให้เห็น 'ความแตกต่าง' อย่าง 'ชัดเจน'  ... นี่ก็คือสาเหตุแห่งความหมายอันน่าปวดหัวของ 離 (lí, ลี๋) ที่เอ่ยถึงไปแล้ว ... ;)

และเพื่อให้ 'ชื่อบท' มีความหมายครอบคลุมทุกแง่มุมของคำว่า 離 (lí, ลี๋) ผมจึงเลือกที่จะใช้คำว่า Illuminating ซึ่งมีความหมายทั้งในแง่ของ 'การส่องสว่าง' และในขณะเดียวกันก็สามารถแปลว่า 'ทำความเข้าใจให้กระจ่างแจ้ง' ได้ด้วย ... ทั้งนี้ เราก็จะได้เห็นความต่อเนื่องกับ 'การเผชิญอุปสรรค' ของบทที่ยี่สิบเก้า ด้วยคำว่า 'ความมีวิจารณญาณ' ที่ผมเลือกมาเป็น 'ชื่อบทภาษาไทย' เพื่อสื่อถึง 'การรู้จักประเมินความแปรเปลี่ยนของสถานการณ์' ที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ ว่า มี 'ความสุ่มเสี่ยง' มากน้อยเพียงใดด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะต้องเอ่ยถึงก็คือ ภายในบทที่ยิี่สิบเก้านั้น ได้ซุกซ่อนความหมายบางอย่างที่ทำให้วลีว่า 出自穴 (chū zì xüé, ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) ของวรรคที่สี่จากบทที่ห้าสะท้อนความหมายว่า 'การสลัดกรอบอันคับแคบของอัตตาทิ้งไป' ก็ได้ส่งผลให้คำว่า 離 (lí, ลี๋) ในฐานะของ 'ชื่อบท' นี้ สะท้อนความหมายของ 'การละทิ้งอัตตา' หรือ 'การแยกอัตตาออกจากประเด็นปัญหา' ด้วย ... ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผู้ที่คิดจะกระทำการใหญ่ ย่อมต้องรู้จัก 'ยืนหยัด' หรือ 'ยืดหยุ่น' ให้พอเหมาะแก่สถานการณ์ เปรียบดั่ง (或) การจะกระโดดให้สูง (躍) ย่อมต้องรู้จักการย่อตัวลงต่ำ (在淵) เป็นธรรมดา (無咎) ดังที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สี่ของบทที่หนึ่งดังที่เล่าไปแล้ว ... นี่คือร่องรอยสำคัญของการยืนยันว่า บทที่ยี่สิบเก้าและบทที่สามสิบนั้น เป็นเพียงบทประกอบสองบทของ 乾 (䷀ : qián, เชี๋ยน) อันเป็นตัวแทนแห่ง 'หยาง' ใน 'วัฏจักรที่สาม' หาใช่ 'กึ่งกลางคัมภีร์' อย่างที่หลายๆ สำนัก 'เชื่อกัน' แต่ประการใดทั้งสิ้น !!!???!!



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利貞亨畜牝牛吉
lì zhēn hēng xǜ pìn niú jí
ลี่ เจิน เฮิง ฌู่ พิ่น นิ๋ว จี๋


ถึงแม้ว่าจะไม่มีคำใหม่ให้ต้องเปิดพจนานุกรมเลยซักคำเดียว แต่การที่จู่ๆ King Wen ก็บันทึกด้วยถ้อยคำทำนองว่าให้ไป 'เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย' (畜牝牛) ก็เป็นประเด็นที่คงต้องแคะความหมายกันพอสมควรอยู่เหมือนกัน !! ... :D

อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) นั้นเคยเล่าไปแล้วตั้งแต่บทที่เก้าว่า หมายถึง 'สถานที่เก็บรักษา', 'โรงเลี้ยง', 'โรงเพาะ', 'การเลี้ยงดู' ; ซึ่งความหมายดังกล่าวจะแผลงมาเป็น 'การทำให้ค่อยๆ เติบโต', หรือ 'การสะสมให้พอกพูน' ได้ด้วย ; คำเดียวกันนี้ถ้าออกเสียงว่า chù (ฌู่) จะใช้เป็นคำนาม ซึ่งหมายถึง 'ปศุสัตว์', หรือ 'สัตว์เลี้ยง' ประเภทแกะ, แพะ, ม้า, วัว, ควาย, รวมทั้งหมู, เป็ด, ไก่, หรือสัตว์อื่นๆ ที่เพาะเลี้ยงในลักษณะของการทำฟาร์มปศุสัตว์โดยเฉพาะ

ส่วนคำว่า 牝 (pìn, พิ่น) แปลว่า 'เพศเมีย' ก็เลยอาจจะแปลว่า 'อ่อน' หรือ 'นุ่ม' ได้ด้วย .. บางกรณีก็สามารถแปลว่า 'หุบเหว' หรือ 'ช่องแคบระหว่างหน้าผา' (gorge) ซึ่งในบทที่สองใช้คู่กับตัวอักษร 馬 (mǎ, หม่า) ที่แปลว่า 'ม้า' จึงหมายถึง 'ม้าเพศเมีย' ส่วนในบทนี้ใช้คู่กับอักษร 牛 (niú, นิ๋ว) จึงหมายถึง 'แม่วัว' อย่างไม่มีทางเลี่ยง ... แต่ 'วัวตัวเมีย' มันมาเกี่ยวอะไรด้วยวะ ??!!

ประเด็นที่แทบจะไม่ต้อง 'ตีความ' ใดๆ เลยก็คือ 牝 (pìn, พิ่น) นั้นถูกบันทึกไว้เพื่อสื่อถึง 'ความเป็นหยิน' อย่างแน่นอน ซึ่งก็ทำให้ 牛 (niú, นิ๋ว) กลายเป็นอีกหนึ่ง 'สัตว์สัญลักษณ์' ของ 'พลังแห่งหยิน' ไปด้วย ... แต่ว่า ... เราได้พบเห็น 'สัตว์สัญลักษณ์' ของ 'หยิน' ไปแล้วถึงสองชนิดตั้งแต่บทต้นๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง'  โดยบทที่สองเปรียบเทียบกับ 馬 (mǎ, หฺม่า) หรือ 'ม้า' ; บทที่สิบเปรียบเทียบกับ 虎 (hǔ, หู่) หรือ 'เสือ' ; คราวนี้ King Wen เลือกที่จะเปรียบเทียบกับ 牛 (niú, นิ๋ว) หรือ 'วัว' แทน ... และมีจุดที่น่าสังเกตก็คือ ในจำนวนสัตว์สามชนิดที่ว่านี้ 虎 (hǔ, หู่) หรือ 'เสือ' เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่ไม่มีการกำกับด้วย 牝 (pìn, พิ่น) เพื่อจำแนกเพศใดๆ เหมือนกับอีกสองชนิดที่เหลือ ... ??!! ... ถ้างั้น ... 'ความเป็นหยิน' ที่ถูกแทนที่ด้วย 'สัตว์สัญลักษณ์' ทั้งสามชนิดที่เอ่ยถึงนี้จะมีอะไรที่แตกต่างกันบ้างล่ะ ??!!

ย้อนกลับไปที่เรื่องของ 牝馬 (pìn mǎ, พิ่น หฺม่า) ที่ขยายความไว้ในบทที่สองว่า มันถูกใช้เพื่อแทนความหมายของ 貞 (zhēn, เจิน) หรือ 'คุณธรรม', และ 'ระเบียบวินัย' โดยเฉพาะในแง่ของ 'มีระเบียบวินัยเหมือน (ฝูง) ม้าตัวเมีย' … อันจะประกอบไปด้วย 'ความขยันขันแข็ง', 'การเชื่อฟังคำสั่ง', 'ความพร้อมเพรียง' และ 'ความสม่ำเสมอ' หรือ 'ความเสมอต้นเสมอปลาย'

พอมาถึงบทที่สิบที่ King Wen เลือกใช้ 虎 (hǔ, หู่) หรือ 'เสือ' เพื่อสะท้อน 'พลังแห่งหยิน' ในลักษณะของ 'ความกล้าหาญ'', และ 'ความเด็ดเดี่ยว', ในการดำเนินการอย่าง 'ตรงไปตรงมา' โดย 'ไม่เกรงกลัวต่อภยันตราย' ใดๆ ... ซึ่งน่าจะเปรีบเทียบได้กับ 利 (lì, ลี่) ที่แฝงความหมายว่า 'เฉียบขาด' และ 'ว่องไว' ... ซึ่งการที่มันไม่ถูกกำกับไว้ด้วย 牝 (pìn, พิ่น) เหมือนกับ 'สัตว์สัญลักษณ์' ชนิดอื่น ก็อาจจะเป็นเพราะว่า มันไม่ใช่ 'ปศุสัตว์' (牝) สำหรับการเพาะเลี้ยง ... หรืออาจจะเนื่องมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ค่อยแตกต่างกันของ 'เสือ' ไม่ว่าจะเป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย เช่นเดียวกับ 'ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ' ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นเพศชาย หรือเพศหญิงของมนุษย์นั่นเอง

คราวนี้ก็มาถึง 牛 (niú, นิ๋ว) หรือ 'วัว' ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่งที่มีอากัปกิริยาความเคลื่อนไหวค่อนข้างจะเชื่องช้า ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีอุปนิสัย 'อ่อนโยน' หรือ 'ไม่มีความดุร้าย', 'ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้ใด' ... แต่มักจะมีอาการ 'ดื้อดึง' จนถึงขั้น 'ดื้อด้าน' อันเป็นปรกติวิสัยของสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งก็ทำให้คำว่า 牛 (niú, นิ๋ว) ถูกใช้ในความหมายดังกล่าวไปด้วย ... ความหมายที่สะท้อนออกมาจากลักษณะที่ว่านี้ของ 牛 (niú, นิ๋ว) ก็คือ 'ความอ่อนนอกแข็งใน' ที่ภายนอกแม้จะดูอ่อนน้อมเชื่อฟัง แต่ภายในกลับไม่เคยอ่อนข้อให้กับสิ่งใดอย่างว่าง่าย และพร้อมที่จะดำเนินไปในวิถีทางที่ตนเลือกตลอดเวลา (แปลว่า จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สัตว์โง่ชนิดที่สอนเท่าไหร่ไม่รู้จักจำ แต่เป็นเพราะมันมีหลักคิดที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง และไม่เคยยอมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างว่าง่ายเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เท่านั้น) ... ผมอยากจะเปรียบเทียบลักษณะนิสัยแบบนี้กับ 亨 (hēng, เฮิง) ที่แฝงความหมายของ 'ความเข้าใจ', 'ความตระหนักรู้', และ 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' และ 'จุดประสงค์' ของตนเองอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งจะทำให้ 牛 (niú, นิ๋ว) เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ในแง่ของ 'ความหนักแน่นมั่นคง', 'ความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ', 'ความอดทนอดกลั้น', และ 'ความไม่ยอมศิโรราบ' ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ปานใดก็ตาม

ทีนี้ ... เมื่อเราได้ 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เราก็คงต้องย้อนกลับไปพิจารณาอักษรสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ 畜 ที่สามารถออกเสียงว่า xǜ (ซฺวี่) เมื่อใช้เป็นคำกริยา แต่จะออกเสียงว่า chù (ฌู่) เมื่อใช้เป็นคำนาม ... ลำดับอักษรที่เห็นในวลีของ King Wen ว่า 畜牝牛 นั้นถ้าออกเสียงว่า xǜ pìn niú (ซฺวี่ พิ่น นิ๋ว) จะทำให้หมายถึง 'บ่มเพาะความดื้อด้าน' ด้วยมั้ย ??!! ... ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นผมก็คิดว่าคงจะไม่ 吉 (jí, จี๋) แน่ๆ แล้วล่ะ !! ... :D ... ดังนั้นมันควรจะออกเสียงว่า chù pìn niú (ฌู่ พิ่น นิ๋ว) เพื่อที่จะให้มันหมายถึง 'แม่โค' โดยไม่ต้องมีคำกริยาใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลยน่าจะดีกว่า ... ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในภาษาจีนนั้นจะมีคำว่า 小牝牛 (xiǎo pìn niú, เสี่ยว พิ่น นิ๋ว) ที่หมายถึง 'ลูกวัวตัวเมีย' อยู่แล้ว ... คำว่า 畜牝牛 (chù pìn niú, ฌู่ พิ่น นิ๋ว) จึงมีความหมายเหมือนกับ 畜母牛 (chù mǔ niú, ฌู่ หฺมู่ นิ๋ว) ที่แปลว่า 'แม่โค' หรือ 'วัวตัวเมียที่โตเต็มวัย' ซึ่งพร้อมจะผลิตน้ำนมเพื่อการเลี้ยงดู (畜 : xǜ, ซฺวี่) ลูกวัว และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่นมนุษย์

ดูเหมือน King Wen กำลังจะพยายามสื่อสารกับพวกเราว่า 'ความอุตสาหะพยายามที่จะเสริมสร้างคุณธรรมความดีให้ปรากฏ (利貞) ย่อมต้องอาศัยความชัดเจนในอุดมการณ์ และความตระหนักรู้ในภาระหน้าที่ของตนอย่างแจ่มแจ้ง (亨) มีความหนักแน่นมั่นคงอย่างอ่อนโยน และมีความเข้มแข็งอดทนดุจเดียวกับแม่โค (畜牝牛) ที่ไม่เคยย่อท้อต่อการข่มขู่คุกคาม หรือความยากลำบากใดๆ จึงจะสามารถบรรลุผลสำเร็จ (吉) ดังที่วาดหวัง' ... นี่ก็คือ 'การรู้จักจำแนกแจกแจง' หรือ 'การรู้จักแบ่งแยก' ระหว่าง 'ภาระหน้าที่ต่อส่วนรวม' และ 'ประโยชน์สุขส่วนตัว' ออกจากกันอย่างชัดเจน

แต่สมมุติว่า ... ถ้าเรา 'ดื้อ' ไง !!??!! ... :D ... ถ้าเราอยากจะออกเสียงวลีเจ้าปัญหานั้นว่า 畜牝牛 (xǜ pìn niú, ซฺวี่ พิ่น นิ๋ว) ให้ได้ ... !? ... แล้วเราก็ดันไม่เชื่อว่า 牛 (niú, นิ๋ว) จะเป็น 'สัตว์สัญลักษณ์แห่งหยิน' ด้วย เพราะไม่เคยเห็นที่ไหนใช้ภาพของ 'วัว' มาคู่กับ 'มังกร' เลยซักครั้งเดียว ... ถูกมั้ย ??!! ... ความหมายในวลีของ King Wen ก็จะกลายเป็นว่า 'ความมุ่งมั่น (利) ที่จะสานสร้างคุณธรรมความดี (貞) ให้ปรากฏอย่างยั่งยืน (亨 คือมีพัฒนาการที่ดีขึ้น) ย่อมต้องดำเนินการประหนึ่งการเพาะเลี้ยง (畜) แม่โค (牝牛) ที่ไม่อาจว่างเว้นจากการกำกับดูแลพฤติกรรมของมัน จึงจะประสบผลสำเร็จ (吉)' ... ซึ่งก็จะคล้ายกับคติคำสอนที่ว่า 'จิตมนุษย์ย่อมมีธรรมชาติคล้ายดั่งน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ' จิตใจที่จะมี 'ความฝักใฝ่ในคุณธรรม' หรือมี 'ความมั่นคงในการประกอบกรรมดี' จึงมิใช่สภาพจิตใจที่เกิดขึ้นได้เองตามบุญตามกรรม แต่จะต้องอาศัย 'ความตระหนักรู้' และ 'ความตื่นตัว' เป็นปัจจัยในการบังคับควบคุมอยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถรักษา 'ระดับคุณภาพของจิตใจ' ดังกล่าวไว้ได้ ... ถ้าจะยกย่อง 'ความอึด' แบบ 'วัว' ว่าหมายถึง 'ความหนักแน่นมั่นคง' ในลักษณะที่ 'อ่อนนอกแข็งใน' และไม่เคยยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แท้จริงของตัวเองเลย ... ผมเองก็กลับคิดว่า ไอ้เจ้า 'คนเลี้ยงวัว' ที่ต้องพร่ำสอนอบรมให้ 'วัว' ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรแก่หน้าที่ของมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็น่าจะต้อง 'อึด' ไม่แพ้กัน ... มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะมองให้ 'คน' คือ 'มารความสุข' ของ 'วัว' หรือจะมองให้ 'ความดื้อด้าน' ของ 'วัว' คือ 'ภาระ' ที่ 'คน' ต้องบากบั่น 'ทำซ้ำทำซาก' อยู่ตลอดเวลา ... เท่านั้น !! ... ;)

เอ้า ... งั้นทำไมถึงต้องใช้คำว่า 牝牛 (pìn niú, พิ่น นิ๋ว) เพื่อระบุว่าเป็น 'วัวเพศเมีย' ด้วยล่ะ ??!! ... ผม 'เชื่อว่า' เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะ 'วัวเพศผู้' ถึงแม้ว่าจะมี 'ความดื้อดึง' ไม่ต่างไปจาก 'วัวเพศเมีย' ซักเท่าไหร่ แต่ลักษณะของ 'อาการดื้อเงียบ' นั้นคงจะมีความเข้มข้นที่แตกต่างกันพอสมควร โดย 'วัวเพศผู้' นั้นมักจะออกอาการฮึดฮัด หรือขัดขืนที่รุนแรงมากกว่า ในขณะที่ 'วัวเพศเมีย' จะ 'ดื้อเงียบ' โดยไม่ค่อยแสดงอาการขัดขืนใดๆ แต่ก็ไม่เคยยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ได้อบรมสั่งสอนเอาไว้ ... อีกอย่าง ... 'ภาพลักษณ์' ของสัตว์ชนิดนี้ก็มักจะถูกรับรู้กันใน 'ด้านลบ' มากกว่า 'ด้านบวก' อยู่แล้ว ... 'ความดื้อดึง' ชนิดที่ 'สอนเท่าไหร่ก็ไม่ยอมจดจำ' ก็มักจะสะท้อนให้กลายเป็นความหมายว่า 'โง่เง่า' ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วมันคือ 'ความดักดานอยู่กับสิ่งที่ตนเองเชื่อ' หรือ 'ความยึดมั่นในอัตตาของตนอย่างสุดขั้ว' จน 'ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง' ใดๆ ... ซึ่งผมมองว่า นี่ไม่ใช่ 'คุณลักษณะแห่งหยิน' อย่างแน่นอน !!!??!!! ... งั้นก็หมายความว่าตำราอื่นๆ ที่เอาไป 'ตีความ' ให้หมายถึง 'หยิน' ก็ผิดทั้งหมดล่ะซี ??!! ... แล้วผมจะไปรู้มั้ยล่ะ ??!! ... ก็ผมเป็น 'วัว' นี่หว่า !!!!!! ... :D ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

履錯然敬之無咎
lǚ cuò rán jìng zhī wú jiù
หลฺวี่ ชั่ว ญั๋น จิ้ง จือ อู๋ จิ้ว


履 (lǚ, หลฺวี่) เคยเล่าไปตั้งแต่บทที่สองแล้วว่า คำนี้หมายถึง 'รองเท้า', 'เท้า', 'ย่ำเท้า', 'ย่างเท้า', 'ก้าวเดิน', 'เขตแดน', 'ดำเนินไป', 'ประสบการณ์', 'ปฏิบัติการ', หรือ 'ดำเนินการ'

錯 อ่านว่า cuò (ชั่ว) แปลว่า 'สับสน', 'ปนเป', 'สะเปะสะปะ', 'วุ่นวาย', 'ผิดพลาด', 'คลาดเคลื่อน', อาจจะแปลว่า 'ไม่เข้ากัน' หรือ 'ไม่อยู่กับร่องกับรอย' ก็ได้ ; บางครั้งยังใช้ในความหมายว่า 'ขัด', 'ถู' หรือ 'เสียดสี' ด้วยหิน ซึ่งก็ทำให้มันหมายถึง 'หินที่ใช้ในการขัด' ได้ด้วย

然 อ่านว่า rán (ญั๋น) แปลว่า 'ถูกต้อง', 'เป็นเช่นนั้น', 'ดังนั้น', 'แน่นอน' และอาจจะหมายถึง 'การตกลง' หรือ 'ข้อตกลง' ด้วยก็ได้

敬 อ่านว่า jìng (จิ้ง) แปลว่า 'เคารพ', 'เชื่อฟัง', 'ยอมรับ', 'ยอมปฏิบัติตาม'

ผมอยากจะ 'ตีความ' ความหมายของวรรคแรกนี้ว่า 'การดำเนินไป (履) บนเส้นทางที่ต้องแยกแยะระหว่างความไม่ถูกต้อง (錯) และความถูกต้อง (然) นั้น ความเคารพ (敬之) ในทัศนคติที่แตกต่างอย่างรอบด้าน ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... นี่คือประเด็นที่ 'คนอวดดื้อถือดี' แบบ 牛 (niú, นิ๋ว) จะไม่มีทางยอมทำอย่างเด็ดขาด ซึ่งผมเชื่อว่า 'จิวกง' ก็คงจะเห็น 'ข้อด้อย' บางประการในคุณลักษณะด้าน 'ความยึดมั่นในแนวทางของตน' แบบ 牛 (niú, นิ๋ว) อยู่พอสมควร เพราะหากมี 'ความยึดติด' จนกลายเป็น 'ความดักดาน' ไปซะแล้ว แนวโน้มก็คงจะออกมาทางร้ายมากกว่าทางดีแน่ๆ ... ดังนั้น ... วลีแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้จึงต้องสำทับลงไปทันทีว่า 'จงรู้จักเคารพทัศนคติที่แตกต่างของผู้อื่น' ซะบ้าง ... ;)

 

สอง หยิน :

黃離元吉
huáng lí yuán jí
ฮวั๋ง ลี๋ เยฺวี๋ยน จี๋


วลีที่แทบจะเป็นพิมพ์เดียวกันกับวลีนี้ก็คือ 黃裳元吉 (huáng cháng yuán jí, ฮวั๋ง ฌั๋ง เยฺวี๋ยน จี๋) ในวรรคที่ห้าของบทที่สอง ซึ่งความหมายที่ให้ไว้ในบทดังกล่าวก็คือ 'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ'

อักษรเพียงหนึ่งเดียวที่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองวรรคก็คือ 裳 (cháng, ฌั๋ง) กับ 離 (lí, ลี๋) ... ทั้งนี้ ถ้าเราออกเสียง 裳 ว่า shāng (ซัง, าง) อักษรตัวนี้ก็จะมีความหมายว่า 'เครื่องนุ่งห่ม', 'เสื้อผ้า', โดยมากจะหมายถึง 'กระโปรง' ; แต่ถ้าออกเสียงว่า cháng (ฌั๋ง, ฌ๋าง) โดยเฉพาะเวลาที่เขียนสองตัวติดกันเป็น 裳裳 มันจะมีความหมายว่า 'แวววาว', 'สว่างสุกใส', 'สวยงาม' ; และยังหมายถึง 'แจ่มใส' หรือ 'จิตใจที่เปิดกว้าง' (openhearted) อันเป็นความหมายเดียวกันกับ 離 (lí, ลี๋) อย่างตรงตัวที่สุด

ส่วน 黄 (huáng, ฮวั๋ง) นั้นก็เคยเล่าไปแล้วว่าเป็น 'สีประจำธาตุดิน' ซึ่งสามารถใช้เป็น 'สัญลักษณ์แห่งหยิน' อันเป็นตัวแทนของ 'หลักคุณธรรม' ก็ได้ ... ดังนั้น คำว่า 黄裳 (huáng cháng, ฮวั๋ง ฌั๋ง) กับ 黄離 (huáng lí, ฮวั๋ง ลี๋) จึงสามารถหมายถึง 'ความสุกสว่างเรืองรองแห่งหลักคุณธรรม' หรือ 'ความชัดเจนในหลักแห่งคุณธรรม' ได้ด้วยกันทั้งคู่ ... และเป็นไปได้ว่า นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้ 牝牛 (pìn niú, พิ่น นิ๋ว) ได้รับการพิจารณาว่า 'น่าจะ' หมายถึง 'ความเป็นหยิน' และทำให้วลีว่า 畜牝牛 (xǜ pìn niú, ซฺวี่ พิ่น นิ๋ว) หมายถึง 'การค่อยๆ หล่อเลี้ยง และสั่งสมคุณธรรมให้ปรากฏ'

ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่หนึ่งนั้น ผมเองก็มองว่า 'จิวกง' คงต้องการขยายความให้กับ 'การรู้จักเคารพทัศนคติที่แตกต่างของผู้อื่น' (敬之) ให้มีความกระชับมากขึ้น เพื่อกำหนดกรอบไว้ไม่ให้กลายเป็น 'คนหลักลอย' ที่คอยแกว่งไปแกว่งมาตาม 'กระแสความคิด' หรือ 'กระแสค่านิยม' ของทุกๆ ฝ่าย ความหมายของ 'ความเคารพในทัศนคติที่แตกต่าง' (敬之) จึงต้องกำกับไว้ด้วย 'ความแน่วแน่ชัดเจนในหลักการ' (黃離) เพื่อให้เกิด 'การรับฟังอย่างมีวิจารณญาณที่เหมาะสม' ไม่ใช่ 'สุดขั้ว' ไปด้านใดด้านหนึ่งจนกลายเป็น 'โลเล' อย่างไร้จุดยืน หรือ 'ดื้อด้าน' อย่างไร้สติ เหมือนผู้นำแย่ๆ ในหลายยุคหลายสมัยของประวัติศาสตร์

สำหรับประเด็นของ 'ความต่อเนื่อง' นี้ ผมอยากจะหยิบยกถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่สองของบทที่สองขึ้นมาเพื่อพิจารณาควบคู่กันไป เพราะมันมีส่วนที่คาบเกี่ยวกันในฐานะของ 'คู่วลี' กับวรรคที่ห้าของบทที่สอง อันเป็น 'วลีซ้ำซ้อน' กับถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในบทนี้พอสมควร โดยในวรรคดังกล่าว 'จิวกง' เลือกถ้อยคำมาบันทึกไว้ว่า 直方大不習無不利 (zhí fāng dà bù xí wú bù lì, จื๋อ ฟัง ต้า ปู้ ซี๋ อู๋ ปู้ ลี่) ซึ่งผม 'ตีความ' ไว้ 2-3 ลักษณะว่า 'การธำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ (直) และความยุติธรรม (方) อันถือเป็นหลักใหญ่ (大) นั้น มิใช่สิ่งที่สามารถรบเร้าเร่งร้อน (不習) หรืออาศัยเพียงความดันทุรัง (不習) แต่จำเป็นต้องปฏิบัติด้วยจิตใจที่ปล่อยวาง (習無) อย่างรู้จักความหนักเบาแห่งกาละ-เทศะอันเหมาะสม จึงจะสำเร็จเป็นมรรคผลที่ยั่งยืน (無不利)' ... นี่ก็คือความหมายอันครบถ้วนของคำว่า 敬之 (jìng zhī, จิ้ง จือ) หรือ 'การเคารพในความคิด และทัศนคติที่แตกต่าง' ที่เอ่ยถึงในวรรคที่หนึ่งนั่นเอง ...

เมื่อเราปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดเข้าด้วยกันเรียบร้อยแล้ว ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อสารไว้ในวรรคนี้ก็คือ 'คุณธรรมความดีทั้งหลาย (黃) ที่ยึดถือ และปฏิบัติอย่างมีวิจารณญาณ (離 คือรู้จักจำแนกแยกแยะความหนักเบาของกาละ-เทศะ) คือปฐมปัจจัย (元) แห่งพัฒนาการไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)'

 

สาม หยาง :

日昃之離不鼓缶而歌則大耋之嗟凶
rì zè zhī lí bù gǔ fǒu ér gē zé dà dié zhī jiē xiōng
ญื่อ เจ้อ จือ ลี๋ ปู้ กู่ โฝ่ว เอ๋อ เกอ เจ๋อ ต้า เตี๋ย เจีย เซฺวิง


昃 อ่านว่า zè (เจ้อ) หมายถึง 'เวลาบ่าย' เมื่อใช้คู่กับอักษร 日 (rì, ญื่อ) เป็น 日昃 (rì zè, ญื่อ เจ้อ) จะหมายถึง 'ตะวันยามบ่าย' ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ได้พ้นไปจากจุดสูงสุดบนท้องฟ้าของแต่ละวันไปแล้ว และกำลังค่อยๆ ลดความสุกสว่างของตนเองลงไปในทิศตะวันตก ... หากเปรียบเทียบกับมนุษย์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะหมายถึง 'การก้าวพ้นจุดที่รุ่งเรืองที่สุดในวัฏจักรหนึ่งๆ ไปแล้ว' นั่นเอง

鼓 อ่านว่า gǔ (กู่) หมายถึง 'กลอง' หรือ 'การตีกลอง', 'การส่งสัญญาณเสียงด้วยกลอง' ; ซึ่งปรกติจะใช้สำหรับ 'การปลุกเร้า', หรือ 'การกระตุ้น' ให้ 'ลุกขึ้นมา' เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างพร้อมเพรียงกัน

缶 (fǒu, โฝ่ว) คำนี้เพิ่งจะเล่าไปในวรรคที่สี่ของบทที่ยี่สิบเก้า ซึ่งหมายถึง 'คนโทน้ำ', 'คนโทสุรา' หรือ 'ภาชนะเครื่องดื่ม' ที่มีรูปร่างลักษณะแบบ 'คนโท' คือท้องใหญ่-ปากเล็ก ; แต่ก็อาจจะหมายถึง 'กรวย' ที่มีลักษณะรูปทรงก้นใหญ่-ปากเล็กก็น่าจะได้ ... แต่บริบทของข้อความอื่นๆ ในวรรคดังกล่าวทำให้ 用缶 (yòng fǒu, โยฺว่ง โฝ่ว) สะท้อนความหมายของ 'การควบคุมด้วยระเบียบกฎเกณฑ์' หรือ 'การกำกับดูแล', 'การบริหารจัดการ' เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ... การที่ 'จิวกง' เลือกคำนี้มาใช้ในบทที่ต่อเนื่องกัน ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการยืม 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ข้ามมาจากบทที่แล้ว

歌 อ่านว่า gē (เกอ) แปลว่า 'เพลง', 'ร้องเพลง', หรือ 'ขับดนตรี' ; บางครั้งยังสามารถหมายถึง 'บทกวี' หรือ 'บทขับกล่อม' ที่ใช้ในวาระ หรือเทศกาลต่างๆ

耋 อ่านว่า dié (เตี๋ย) แปลว่า 'ผู้เฒ่า' ซึ่งปรกติจะหมายถึงคนที่อายุเกินกว่า 70-80 ปีไปแล้ว เรียกว่า 'เกินกว่าแก่' หรือ 'แก่จนหง่อม' ไปแล้วนั่นเอง ... :D ... เพราะมันมาจากการผสมอักษร 老 (lǎo, เหฺล่า) ที่หมายถึง 'แก่' กับอักษร 至 (zhì, จื้อ) ที่แปลว่า 'ที่สุด', 'สุดเอื้อม' หรือ 'บรรลุถึง' เข้าไว้ด้วยกัน ... ถ้าเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ก็น่าจะใกล้เคียงกับ 日昃 (rì zè, ญื่อ เจ้อ) ที่เห็นในวรรคเดียวกันนี่แหละ หรือถ้าจะใช้คำไทยให้ล้อเลียนกันกับดวงอาทิตย์ก็น่าจะเป็นคำว่า 'วัยอัสดง' ... ประมาณนั้น ... :P

嗟 อ่านว่า jiē (เจีย) แปลว่า 'ทอดถอนใจ', 'เศร้าใจ', 'อึดอัดใจ' ; ซึ่งบางครั้งยังหมายถึง 'การอุทานด้วยความท้อแท้ใจ' ด้วย

ว่ากันตามตัวอักษรไปก่อนนะครับ ... 'ความสุกสว่างของตะวันยามบ่าย (日昃之離) ที่ย่อมจะค่อยๆ เสื่อมถอยลงไปตามวัฏจักร  หากปราศจากการกระตุ้นเร้าให้ตื่นตัวอย่างมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน (不鼓缶) แต่กลับ (而) ลุ่มหลงระเริงอารมย์อยู่กับการร้องรำทำเพลง (歌) ที่ไร้แก่นสาร ... ย่อมเป็น (則) ความน่าเอนจอนาถของผู้ที่สูงแต่วัย (大耋之嗟) อันจะนำไปสู่ความหายนะ (凶)' ...

ผมมองว่า 'จิวกง' คงต้องการใช้ภาพของ 'ดวงอาทิตย์' มาเป็นสื่อสัญลักษณ์ของวัฏจักรแห่ง 'ความรุ่งเรือง' และ 'ความเสื่อมถอย' ในทุกสรรพสิ่ง เพื่อที่จะนำเสนอ 'ข้อเตือนสติ' ให้ทุกคน 'ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท' แม้ว่าจะสามารถบรรลุถึงความสำเร็จสูงสุดในชีวิตไปแล้วก็ตาม ... เพราะ 'ความเป็นอนิจลักษณ์' แห่งสรรพสิ่งทั้งมวล จะไม่มีการยกเว้นแม้แต่ความสุกสว่างของดวงตะวันบนฟากฟ้า ที่ย่อมมีเวลาสุกสว่าง และอับแสงสลับกันไปในแต่ละวัน ... ผู้ที่เปรื่องปราดจึง 'ไม่ยึดติด' อยู่กับความหอมหวานของอดีตอันรุ่งโรจน์, 'ไม่เห่อเหิมลำพอง' เพราะความสำเร็จที่ผ่านพ้น, แต่เลือกที่จะ 'ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท' อย่าง 'มีสติยั้งคิด' อยู่ตลอดเวลา ... อันความหลงระเริงอย่างมืดบอด และไร้การคุมประพฤติอย่างเหมาะสม (不鼓缶) หรือเอาแต่มัวเมาในสิ่งบันเทิงเริงรมย์ (而歌) จนขาดสติ ย่อมเป็นเหตุแห่งความล่มสลาย (凶) ของคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงที่สู้อุตส่าห์สั่งสมมาตลอดชีวิต ซึ่งการรู้สึกตัวเมื่อสายย่อมไม่ต่างจากการทอดถอนใจให้กับวันคืนเก่าๆ ของชายชรา (大耋之嗟) โดยไม่อาจกอบกู้สิ่งใดๆ ได้เลย ...

แล้วถ้าเราลำดับเนื้อความมาตั้งแต่วรรคแรก เราก็จะเห็นว่า 'จิวกง' เปิดฉากคำอรรถธิบาย 'เหตุแห่งความรุ่งเรือง' (離 : Illuminating) ไว้ด้วย 'การเปิดกว้างทางความคิด' (敬之) และการธำรงไว้ซึ่ง 'ความมีวิจารณญาณที่เที่ยงธรรม' (黃離) ซึ่งเป็น 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ... ต่อเมื่อสำเร็จสมประสงค์แล้วก็ยังต้อง 'ตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท' (鼓缶) ไม่ใช่มัวแต่หลงระเริง (而歌) อยู่กับความรุ่งโรจน์แห่งอดีต แล้วมาทดถอนใจเมื่อสายเกินแก้ (大耋之嗟) ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างได้พังทลายลงไปจนหมดสิ้นแล้ว (凶) ... น่าจะเป็น 'ความต่อเนื่อง' ที่ลงตัวที่สุดสำหรับความหมายที่ว่านี้แล้วนะครับ ... ;)

 

สี่ หยาง :

突如其來如焚如死如棄如
tū rú qí lái rú fén rú sǐ rú qì rú
ทู ญู๋ ชี๋ ไล๋ ญู๋ เฟิ๋น ญู๋ สื่อ ญู๋ ชี่ ญู๋


เจอ 如 (rú, ญู๋) เข้าไป 5 ตัวเลยทีนี้ ... :D ... ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้ 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ในเรื่องของ 'อนิจลักษณ์' ที่เล่าไว้ในวรรคที่สามมีความชัดเจนมากขึ้น ก็น่าจะมาจากถ้อยคำของ 'จิวกง' ที่เห็นในวรรคนี้นี่แหละครับ ...

突 อ่านว่า tū (ทู) แปลว่า 'กระทันหัน', 'ไม่คาดคิด' ; อาจจะหมายถึง 'การหลอกลวง', 'กลับตาลปัตร', 'พลิกผัน' ; บางครั้งยังหมายถึง 'โผล่พรวดออกมา', 'ที่โหนกนูนขึ้นมา' ก็ได้

焚 อ่านว่า fén (เฟิ๋น) แปลว่า 'เผาไหม้', 'เผาผลาญ' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'ทำลายล้าง', 'ล้างผลาญ' หรือ 'ทำให้ลุกลาม' คล้ายกับ 'การวางเพลิง' ได้ด้วย

死 อ่านว่า sǐ (สื่อ) แปลว่า 'ตาย', 'หมดสิ้นความรู้สึก', 'จบสิ้น', 'สิ้นสุด' ; ถ้าไม่เกี่ยวกับชีวิตก็จะหมายถึง 'ไม่เคลื่อนไหว', 'ไม่เปลี่ยนแปลง', หรือ 'ตายตัว'

棄 อ่านว่า qì (ชี่) แปลว่า 'ทอดทิ้ง', 'ปฏิเสธ', 'ไม่ยอมรับ' ; แต่ก็อาจจะหมายถึง 'หลงลืม' แต่จะกระเดียดไปทาง 'ตั้งใจที่จะลืม' มากกว่า

นี่คือตัวอย่างของ 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่ 'จิวกง' หยิบยกขึ้นมาโดยไม่ได้สอดแทรก 'ข้อแนะนำ' ใดๆ ไว้เลยว่า 'สรรพสิ่งต่างๆ บ้างก็พลิกผันอย่างกระทันหัน (突如) ; บ้างก็ประเดประดังเข้ามาจากทุกสารทิศ (其來如) ; บ้างก็ลุกลามใหญ่โตราวกับไฟลามทุ่ง (焚如) ; บ้างก็แน่นิ่งสนิทราวกับตายซาก (死如) ; บ้างก็จางหายไปอย่างไร้ร่องรอย (棄如)' ... ซึ่ง 'ข้อเตือนสติ' ที่จะมาจับคู่กับถ้อยคำเหล่านี้ก็คือ 'จงตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท' นั่นเอง

นี่จึงเสมือนหนึ่งเป็นการยืนยันสมมุติฐานเกี่ยวกับ 'ความเป็นวลีคู่' ของวรรคต่างๆ ในแต่ละบทที่ผมอ้างถึงมาตั้งแต่แรก เพราะความหมายของวรรคที่สาม และวรรคที่สี่ในบทนี้ จะเกิดความบริบูรณ์ในตัวเองทันทีเมื่อเรานำมาเขียนต่อกันใหม่ว่า 'แม้แต่ความสุกสว่างของดวงตะวัน ก็ยังมีเวลาที่เจิดจรัส และเสื่อมถอย (日昃之離) หากไม่รู้จักกระตุ้นเร้าให้ตื่นตัวอย่างเป็นระบบระเบียบ (不鼓缶) แต่กลับ (而) ลุ่มหลงอยู่กับสิ่งบันเทิงเริงรมย์ (歌) ที่ไร้แก่นสาร แล้วค่อยมาสำนึกเสียใจเอาเมื่อสายเกินแก้ (則大耋之嗟) ย่อมเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ความฉิบหาย (凶) เนื่องด้วยสรรพสิ่งทั้งปวง บ้างก็พลิกผันอย่างกระทันหัน (突如) บ้างก็ประเดประดังเข้ามาจากทุกสารทิศ (其來如) บ้างก็ลุกลามใหญ่โตราวกับไฟลามทุ่ง (焚如) บ้างก็แน่นิ่งสนิทราวกับตายซาก (死如) หรือบ้างก็จางหายไปอย่างไร้ร่องรอย (棄如)' ... ปราชญ์จึงเลือกที่จะประพฤติปฏิบัติตนโดย 'ความไม่ประมาท' และมี 'ความเตรียมพร้อม' สำหรับทุกๆ การเปลี่ยนแปลงด้วย 'ความตื่นตัว' อยู่ตลอดเวลา ... เนียนสะเด็ดไปเลยใช่มั้ยล่ะ !!!?? ... ;)

 

ห้า หยิน :

出涕沱若戚嗟若吉
chū tì tuó ruò qī jiē ruò jí
ฌู ที่ ทั๋ว ญั่ว ชี เจีย ญั่ว จี๋


出 (chū, ฌู) เป็นคำพื้นๆ ที่เคยเจอมาแล้ว แต่ความหมายในวรรคนี้อาจจะทะแม่งๆ นิดหน่อยเลยอยากจะคัดคำแปลมาดูชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยปรกติแล้ว 出 (chū, ฌู) จะใช้ในความหมายว่า 'ออก', 'นำออกมา', 'ส่งออกไป', 'ยื่นให้', 'ลุกขึ้น', 'งอกออกมา', 'โผล่ออกมา', หรือ 'ปรากฏ' ; แต่มันสามารถแปลว่า 'ละทิ้ง' หรือ 'ผละออก' เช่นเดียวกับ 離 (lí, ลี๋) ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราก็เคยเจอมาแล้วจากวลีว่า 出自穴 (chū zì xüé, ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) ในวรรคที่สี่ของบทที่ห้า ซึ่งหมายถึง 'การนำกฎระเบียบอันเข้มงวดออกมาบังคับใช้' หรือ 'การละทิ้งกรอบอันคับแคบของอัตตาออกไป' อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ตามที่เคยเล่าไปแล้วในบทที่ห้า และบทที่ยี่สิบเก้า

涕 อ่านว่า tì (ที่) ปรกติจะแปลว่า 'น้ำตา', หรือ 'น้ำมูก' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'หลั่งน้ำตา' หรือ 'ร้องไห้'

沱 อ่านว่า tuó (ทั๋ว) แปลว่า 'แม่น้ำ', 'ลำธาร' ; บางครั้งยังใช้ในความหมายของ 'ร่องน้ำสำหรับจอดเทียบเรือ' ได้อีกด้วย

若 (ruò, ญั่ว) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', 'เคารพกฎเกณฑ์'

戚 อ่านว่า qī (ชี) เป็นชื่อเรียกอาวุธโบราณชนิดหนึ่งของจีน มีลักษณะคล้ายขวาน ; แต่ที่น่าแปลกก็คือมันสามารถใช้ในความหมายว่า 'ความสัมพันธ์', 'ความเกี่ยวพัน' หรือ 'การเกี่ยวดอง' อันเนื่องมาจากการแต่งงาน ; และยังมีความหมายว่า 'วิตกกังวล', ไปจนถึงขั้นที่ 'เศร้าโศก', 'เสียใจ' ได้อีกต่างหาก

ส่วนอักษร 嗟 (jiē, เจีย) เพิ่งจะเล่าผ่านไปหมาดๆ นี่เองว่า หมายถึง 'ทอดถอนใจ', 'เศร้าใจ', 'อึดอัดใจ' ; ซึ่งบางครั้งยังหมายถึง 'การอุทานด้วยความท้อแท้ใจ' ด้วย

ที่ผมบอกว่าความหมายมันทะแม่งๆ ก็เพราะถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคนี้จะสามารถแปลออกมาได้ว่า 'การหลั่งน้ำตาฟูมฟาย (出涕沱) และการทอดถอนใจอย่างเศร้าซึม (戚嗟若) จะนำไปสู่ความโชคดี (吉)' ... ฟังดูบ้าบอไปหน่อยมั้ยล่ะ ??!! ... นี่จึงเป็นประเด็นที่ผมมองว่า คำว่า 出 (chū, ฌู) ในวรรคนี้ น่าจะได้รับ 'การตีความ' ให้มีความหมายบางอย่างที่แตกต่างออกไป ... ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติอีกเหมือนกันที่ผมจะมองหา 'ตัวช่วย' จาก 'วลีคู่' ของมันในวรรคที่สอง

ถ้อยคำที่ได้บันทึกไว้ในวรรคที่สองนั้น สามารถ 'ตีความ' โดยรวมได้ว่า 'คุณธรรมความดีทั้งหลาย (黃) ที่ยึดถือ และปฏิบัติอย่างมีวิจารณญาณ (離 คือรู้จักจำแนกแยกแยะความหนักเบาของกาละ-เทศะ) คือรากฐานของความเป็นตัวของตัวเอง อันเป็นปฐมปัจจัย (元) แห่งพัฒนาการไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ซึ่งจะมาบรรจบกับถ้อยคำในวรรคที่ห้านี้ว่า 'โดยต้องละวาง (出) ประเด็นของความรู้สึกรันทดโศกสลด (涕沱若) หรือความคับข้องใจอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (戚嗟若) ออกไปจนหมดสิ้น ความรุ่งเรือง (吉) แห่งคุณธรรมจึงจะปรากฏอย่างเด่นชัด' ...

อาจจะฟังดูแปร่งๆ ไปซักหน่อยเมื่อเทียบกับคำแปลของตำราอื่นๆ เท่าที่เคยพบเห็น แต่ผมก็มองว่า อักษร 出 (chū, ฌู) และ 戚 (qī, ชี) น่าจะซุกซ่อนความหมายของ 'การตัดขาด' อยู่บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคำว่า 戚 (qī, ชี) นั้น ถึงกับเป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกชื่ออาวุธโบราณ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับขวานเลยทีเดียว ... ส่วน 涕沱 (tì tuó, ที่ ทั๋ว) กับ 嗟 (jiē, เจีย) ที่แทนความหมายของ 'ความโศกเศร้าฟูมฟาย' กับ 'ความท้อแท้รันทด' นั้นก็ถูกคำว่า 戚 (qī, ชี) กำกับไว้ให้สื่อถึง 'ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' ที่จำเป็นต้อง 'ละวาง' (出) หรือ 'สะบั้นให้ขาด' (戚) เพื่อให้ 'การใช้วิจารณญาณ' มี 'ความเที่ยงธรรม' อย่าง 'ชัดเจน' (黃離) ... ต้องอย่างนี้ต่างหากมันถึงจะ 'จี๋ขนานแท้' (元吉) ... จริงมั้ย ??!! ... :D

 

หก หยาง :

王用出征有嘉折首獲其匪醜無咎
wáng yòng chū zhēng yǒu jiā zhē shǒu huò qí fěi chǒu wú jiù
วั๋ง โยฺว่ง ฌูจิง โหฺย่ว เจีย เอ โษ่ว ฮั่ว ชี๋ เฝ่ย โฉ่ว อู๋ จิ้ว


征 (zhēng, เจิง) เคยเล่าไว้ตั้งแต่บทที่เก้า แล้วก็เจอคำนี้มาอีกหลายครั้งโดยไม่มีการเล่าซ้ำเลย เพราะฉะนั้น ผมขอแทรกลงไปตรงนี้อีกซักหนแล้วกัน คำนี้แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

嘉 (jiā, เจีย) เจอครั้งแรกเมื่อบทที่สิบเจ็ดครับ คำนี้มีความหมายประมาณว่า 'สวยงาม', 'ดีงาม', 'ประณีต', 'เรียบร้อย', 'ยอดเยี่ยม' ; และ 'มีความสุข'

折 อ่านว่า zhē (เอ) แปลว่า 'พลิกไปพลิกมา', 'กลับไปกลับมา' ; ถ้าออกเสียงว่า zhé (เจ๋อ) จะแปลว่า 'บิด', 'ดัดให้งอ', หรือ 'ทำให้ขาดออกจากกัน'

獲 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'ฉกฉวย', 'คว้าเอาไว้' หรือ 'ได้รับ' ซึ่งทั้งหมดจะสื่อไปในความหมายที่ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ เพราะ 獲 (huò, ฮั่ว) มีความหมายในลักษณะของ 'การได้มาจากการล่า (สัตว์)', 'ได้รับโดยการแย่งชิง', 'ได้รับโดยการขู่เข็ญบังคับ', หรือ 'ได้รับโดยการฉวยโอกาส' ; แต่บางครั้งก็อนุโลมใช้ได้กับความหมายของ 'การได้รับ' ทั่วๆ ไปที่ไม่มีการจำแนกว่าดี หรือไม่ดีใดๆ ก็ได้

醜 อ่านว่า chǒu (โฉ่ว) แปลว่า 'น่าเกลียด', 'สกปรก', 'เลอะเทอะ' ; บางทีคงจะออกแนว 'น่าขยะแขยง' อยู่ซักหน่อย มันจึงมีบางความหมายที่แปลว่า 'ยั้วเยี้ย', 'ยุ่บยั่บ' แล้วก็เลยเพี้ยนไปเป็น 'เยอะแยะ', 'มากมาย' หรือ 'ซ้ำซาก' แบบ 'ไร้รสนิยม' อะไรประมาณนั้น ... :P

ว่ากันตามตรงก็คือ ผมไม่ถูกใจคำแปลที่มีอยู่ของทุกสำนักเลยก็ว่าได้ แต่ก็บังเอิญไปพบเห็นข้อความนี้จากหนังสือที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 'คัมภีร์อี้จิง' เข้า และ 'เชื่อว่า' นี่คือ 'ความหมายที่แท้จริง' ของวลีที่อ่านยากๆ ของ 'จิวกง' วลีนี้ ...
 

    • "People are best used to do the creative and problem-solving activities. People are good at harnessing positive feedback loops to create new things and new processes to produce those new things. These are the activities that don’t have clear right or wrong answers. These are the activities that call for people to collaborate with each other and share information and try out different approaches to see which ones work best. People are good at these activities and they like doing them, so they learn and keep getting better over time as they gain more experience."
    •  
    • จาก Business in The Cloud ของ Michael Hugos และ Derek Hulitzky, ISBN 978-0-470-61623-9, หน้าที่ 13


สิ่งที่ 'จิวกง' กำลังบอกกับพวกเราในวลีนี้ก็คือ 'ผู้นำ (王) จำเป็นต้องใช้ (用) วิจารณญาณในการคัดกรอง (出征) เพื่อสนับสนุนให้ปัจจัยที่มีคุณประโยชน์ (有嘉) ขึ้นมามีบทบาทสำคัญ (折首) และไม่เปิดโอกาส (獲 คือฉกฉวยโอกาส) ใดๆ ให้แก่ปัจจัยที่ไม่สร้างสรรค์ทั้งหลาย (其匪醜) เยี่ยงนี้จึงจะไม่ผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... ไม่มีการฆ่าฟันใคร หรือไล่ล่าใครมาเป็นเชลยอย่างแน่นอนครับ ... ;)

ทำไมความหมายของมันจึงกลายเป็นอย่างนี้ไปได้น่ะเหรอ ?! ... ก็เพราะมันคือ 'คู่วลี' ของวรรคที่หนึ่งซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า 'การดำเนินไป (履) บนเส้นทางที่ต้องแยกแยะระหว่างความไม่ถูกต้อง (錯) และความถูกต้อง (然) นั้น ความเคารพ (敬之) ในทัศนคติที่แตกต่างอย่างรอบด้าน ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... นี่ก็คือ These are the activities that don’t have clear right or wrong answers. (履錯然) These are the activities that call for people to collaborate with each other and share information and try out different approaches (敬之) to see which ones work best. (無咎) ... จากนั้นมันก็มาบรรจบกับ People are best used to do the creative and problem-solving activities. (王用出征) People are good at harnessing positive feedback loops to create new things and new processes to produce those new things. (有嘉折首) People are good at these activities and they like doing them, so they learn and keep getting better over time as they gain more experience. (獲其匪醜 = keep reducing the chance of worsening) ... นี่ถึงจะ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) จริงๆ !!! ... ;)

มันอาจจะดูบ้าบอไปซักหน่อยที่ผมไปคว้าคำแปลมาจาก 'หนังสือต่างหมวดตำรา' แต่หากเราพิจารณาจาก 'ความหมายของชื่อบท' ประกอบกับถ้อยคำอื่นๆ ทั้งของ King Wen และ 'จิวกง' แล้ว 離 (lí, ลี๋) ได้ถูกอรรถธิบายไว้โดยละเอียดในความหมายของ 'ความมีวิจารณญาณ' อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 'การรู้จักรับฟังผู้อื่น' (敬之), 'ความเที่ยงธรรม' (黃離), 'ความไม่ประมาท' (鼓缶), และ 'การรู้จักแยกแยะหน้าที่ความรับผิดชอบ ออกจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' (戚嗟) ... ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ 'การสงคราม' เลยแม้แต่น้อย ... แต่มันคือประเด็นที่ได้รับ 'การคัดกรองออกมา' (出征) สำหรับให้ 'ผู้นำ' (王) นำไปปฏิบัติ (用) เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่สาธารณะโดยเฉพาะ



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ลี๋' คือ ความมีวิจารณญาณ, สุกสว่างทั้งนอกใน

'ความมุ่งมั่น' ที่จะสานสร้าง 'คุณธรรมความดี' ให้มี 'พัฒนาการอย่างยั่งยืน' ย่อมต้องดำเนินการประหนึ่ง 'การเพาะเลี้ยงแม่โค' ที่ไม่อาจว่างเว้นจาก 'การกำกับดูแล' พฤติกรรมของมัน จึงจะประสบ 'ผลสำเร็จ'

  •  
  • 'การดำเนินงาน' บนเส้นทางที่เป็นไปได้ทั้ง 'ความผิดพลาด' และ 'ความถูกต้อง' นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'ทัศนคติที่เปิดกว้าง' ที่ 'ให้ความเคารพ' ต่อ 'ความคิดเห็นที่แตกต่าง' อย่าง 'รอบด้าน' เพื่อจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ
  •  
  • 'ความมีวิจารณญาณ' ที่ 'เที่ยงธรรม' และรู้จักจำแนกแยกแยะ 'ความหนัก-เบา' ของ 'กาละ-เทศะ' อย่าง 'เหมาะสม' คือ 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความสร้างสรรค์' ที่จะโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
  •  
  • สรรพสิ่งย่อมมีวันเวลาที่ 'รุ่งโรจน์' และ 'เสื่อมถอย' คล้ายดั่ง 'วัฏจักร' ของ 'ความสุกสว่าง' แห่ง 'ดวงตะวัน' หากปราศจาก 'การกระตุ้นเร้า' ให้ 'ตื่นตัว' อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' แต่กลับ 'ลุ่มหลง' อยู่กับ 'สิ่งบันเทิงเริงรมย์' ที่ไร้แก่นสาร แล้วค่อยมา 'สำนึกเสียใจเมื่อสายเกินแก้' ย่อมเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ 'ความฉิบหาย'
  •  
  • 'ความแปรเปลี่ยน' แห่งสรรพสิ่งทั้งปวง บ้างก็ 'พลิกผันอย่างกระทันหัน' ; บ้างก็ 'ประเดประดังเข้ามาจากทุกสารทิศ' ; บ้างก็ 'ลุกลามใหญ่โตราวกับไฟป่า' ; บ้างก็ 'แน่นิ่งสนิทราวกับตายซาก' ; หรือบ้างก็ 'จางหายไปอย่างไร้ร่องรอย'
  •  
  • 'ความปล่อยวาง' ต่อประเด็นของ 'ความรู้สึกรันทดโศกสลด' หรือ 'ความคับข้องใจ' อันเนื่องมาจาก 'ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' คือ 'วิถีทาง' แห่ง 'ความเจริญ'
  •  
  • 'ผู้นำ' ต้องรู้จักใช้ 'วิจารณญาณ' ใน 'การคัดกรอง' เพื่อส่งเสริม 'ปัจจัยที่ก่อคุณประโยชน์' ให้มี 'บทบาทสำคัญ' และ 'ไม่เปิดโอกาส' ใดๆ ให้แก่ 'ปัจจัยที่ไม่สร้างสรรค์' ทั้งหลาย เยี่ยงนี้จึงจะ 'ไม่ผิดพลาดเสียหาย'


 

The Organization Code :



'ความมีวิจารณญาณ' คือการเสริมประสานกันของ 'สินค้า' (☲) และ 'บริการ' (☲) ; 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่มีความเปิดกว้าง และความยืดหยุ่น (⚍) ในการปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ; 'ระดับบริหาร' ต้องมีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น และตื่นตัวอย่างรอบด้าน (⚌) ; 'ระดับปฏิบัติการ' ต้องแข็งขัน และน้อมรับคำสั่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง (⚎)

'ความมุ่งมั่น' ที่จะสานสร้างองค์กรให้มี 'ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน' นั้น ย่อมต้องอาศัย 'การหมั่นตรวจสอบดูแล' เพื่อ 'ปรับปรุงแก้ไข' ส่วนงานที่ยังไม่เหมาะสม' หรือ 'พัฒนาคุณภาพ' ของ 'สินค้า' และ 'บริการ' ให้เป็นไปตาม 'ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด' อยู่ตลอดเวลา องค์กรจึงจะสามารถ 'ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าความหมาย' ได้ต่อๆ ไป

  •  
  • ภายใน 'กระบวนการปรับปรุง' และ 'กระบวนการพัฒนา' นั้น โดยมากแล้วก็จำเป็นต้อง 'ลองผิดลองถูก' กับ 'ทางเลือก' ที่มี 'ความแตกต่างกันในรายละเอียด' เพื่อที่จะเลือกสรร 'วิถีทางที่เหมาะสมที่สุด' ต่อวัตถุประสงค์ และต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ... 'การประสานความแตกต่าง' เพื่อ 'เสริมสร้างความโดดเด่น' ระหว่างกัน ย่อมต้องอาศัย 'ความมีทัศนคติที่เปิดกว้าง' และให้ 'ความเคารพ' ต่อความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย 'อย่างรอบด้าน' เพื่อจะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ใดๆ อันเนื่องมาจาก 'ความขัดแย้ง' ภายในองค์กรเอง
  •  
  • 'ความมีวิจารณญาณ' ที่ 'เที่ยงธรรม' และรู้จักจำแนกแยกแยะ 'ความหนัก-เบา' ของ 'กาละ-เทศะ' อย่าง 'เหมาะสม' คือ 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความสร้างสรรค์' ที่จะโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
  •  
  • 'ความสำเร็จ' และ 'ความรุ่งโรจน์' ใดๆ ล้วนเป็นผลมาจาก 'เหตุปัจจัย' หลายอย่างประกอบกัน หากไม่รู้จัก 'ระแวดระวัง' ด้วย 'ความตื่นตัว' และ 'เอาใจใส่' ต่อ 'หน้าที่' ที่พึง 'ปฏิบัติอย่างมีระบบระเบียบ' หรือเอาแต่ 'ลิงโลดหลงเหริง' อย่าง 'ลืมตัว' ... ต่อให้ 'สำนึกเสียใจเมื่อสาย' ก็ไม่อาจกอบกู้สิ่งใดจาก 'เศษซากแห่งความล่มสลาย' นั้นได้อีกแล้ว
  •  
  • 'ความแปรเปลี่ยน' ของสถานการณ์ต่างๆ นั้น บ้างก็ 'พลิกผันอย่างไม่คาดคิด' ; บ้างก็ 'รุมเร้าเข้ามาจากทุกหนแห่ง' ; บ้างก็ 'ลุกลามใหญ่โตจนไม่อาจควบคุม' ; บ้างก็ 'สงบนิ่งไร้การตอบสนอง' ; บ้างก็ 'จางหายไปอย่างไร้ร่องรอย' ; ฯลฯ ... เหล่านี้คือเหตุให้ต้อง 'ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท'
  •  
  • 'ความมีวิจารณญาณ' ที่ 'เที่ยงธรรม' คือการยึดถือใน 'หลักแห่งเหตุและผล' เป็นมาตรฐานสำคัญ โดยจะต้อง 'ไม่เอนเอียง' ไปตาม 'ความรู้สึกยินดี-ยินร้าย' ของผู้หนึ่งผู้ใด และจะต้องไม่นำเอา 'ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' มาเป็น 'แรงกดดัน' ต่อ 'กระบวนการคิด' และ 'กระบวนการตัดสินใจ' ใดๆ เพื่อให้ทุกสิ่งดำเนินไปตาม 'ครรลองที่ถูกต้อง' และเกิด 'ความชัดเจน'
  •  
  • 'การบริหารจัดการ' คือการใช้ 'วิจารณญาณ' เพื่อกำหนด 'ระเบียบแบบแผน' และ 'มาตรการ' ใน 'การคัดกรอง' ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะส่งเสริมให้ 'ปัจจัยที่สร้างสรรค์คุณประโยชน์' สามารถมี 'เวที' และ 'โอกาส' ในการแสดง 'บทบาทชี้นำ' ในขณะที่ต้อง 'บั่นทอนโอกาส' ของ 'ปัจจัยที่ไม่สร้างสรรค์' ทั้งหลาย มิให้ก่อ 'ความเสื่อมเสีย' แก่ 'สังคมโดยรวม'


สมมุติฐานว่า เนื้อความของ 'ความมีวิจารณญาณ' (離) ในบทที่สามสิบนี้คือ 'การขยายความ' ให้กับวรรคที่สี่ของบทที่หนึ่ง ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ด้วยวลีที่ว่า 或躍在淵無咎 (huò yuè zài yuān wú jiù, ฮั่ว เยฺวี่ย ไจ้ เยฺวียน อู๋ จิ้ว) หรือ 'การจะกระโดดให้สูง ย่อมเริ่มจากการย่อตัวให้ต่ำ ; ไม่ใช่ทั้งเรื่องที่ผิดแปลก หรือสิ่งวิเศษวิโสใดๆ' อาจจะไม่ช่วยให้เห็น 'ความเกี่ยวข้องกัน' ซักเท่าไหร่ ... แต่หากเราเทียบเคียงกับบทอื่นๆ เท่าที่ผ่านมา ซึ่งมี 'ความคาบเกี่ยว' กับวลีดังกล่าวโดยตรง เราก็คงจะเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันของสิ่งที่ 'จิวกง' นำเสนอเป็น 'ข้อแนะนำ' เอาไว้พอสมควร ...

บทที่หก : 訟 (sòng, ซ่ง) : การชิงลงมือ (Acquisition) : 'จะต้องประกอบด้วย (有) ความพร้อม (孚) และความสุขุมรอบคอบ (窒惕) และต้องดำเนินการอย่างรู้จักประมาณกำลังตน (中吉) หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย (終凶) ก็ไม่ต้องท้อแท้สิ้นหวัง แต่ต้องพร้อมที่จะฝึกฝน และเรียนรู้จากผู้ที่มีความสามารถสูงกว่า (利見大人) ไม่ควรบุ่มบ่ามผลีผลามโหมดำเนินการต่อไปอย่างไม่ยั้งคิด (不利涉大川)'

บทที่สิบแปด : 蠱 (gǔ, กู่) : ความใคร่ครวญ (Reflection) : 'ความริเริ่ม (元) และความพยายามที่จะพัฒนา (亨) เพื่อจะสามารถฟันฝ่าทุกอุปสรรคไปได้ด้วยดี (利涉大川) นั้น จะต้องมีการตระเตรียมความพร้อม (先甲) อย่างรอบด้าน (三日 คือคิดหลายๆ ครั้ง) และต้องทบทวนถึงผลลัพธ์ที่ตามมา (後甲) อย่างละเอียด (三日 คือทบทวนบ่อยๆ)'

ส่วนที่เหมือนกันก็คือ 'ความสุขุมรอบคอบ', 'การกำกับดูแล', และ 'การทบทวนตรวจสอบ' เพื่อ 'การปรับปรุงแก้ไข' ให้ 'สอดคล้องกับสถานการณ์' ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในบทที่สามสิบนี้ ได้รับการบันทึกไว้โดย King Wen ว่า 'ความมุ่งมั่น (利) ที่จะสานสร้างคุณธรรมความดี (貞) ให้ปรากฏอย่างยั่งยืน (亨 คือมีพัฒนาการที่ดีขึ้น) ย่อมต้องดำเนินการประหนึ่งการเพาะเลี้ยง (畜) แม่โค (牝牛) ที่ไม่อาจว่างเว้นจากการกำกับดูแลพฤติกรรมของมัน จึงจะประสบผลสำเร็จ (吉)' ... ผมมองว่า 'จิวกง' คงจะคิดอะไรไว้เยอะมาก กว่าจะตัดสินใจเลือกใช้ภาพของอิริยาบทง่ายๆ อย่าง 'การจะกระโดดให้สูง ย่อมเริ่มจากการย่อตัวลงต่ำ' เพื่อจะสะท้อนถึง 'การสั่งสมกำลังเพื่อเตรียมความพร้อม', 'การก้าวถอยเพื่อตั้งหลัก', 'การหยุดยั้งเพื่อทบทวนท่าที' ... อันถือเป็น 'ข้อพึงปฏิบัติ' สำหรับ 'กำกับการดำเนินงาน' ให้มุ่งต่อไปยัง 'จุดหมายปลายทาง' อย่าง 'ไม่ผิดพลาด' ...

เมื่อเปรียบเทียบกับภาพของ 'แม่โค' (牝牛) หรือ 'การเลี้ยงแม่โค' (畜牝牛) ในบทนี้ 'จิวกง' ได้เสนอให้ 'ครองสติ' ด้วย 'ทัศนคติที่เปิดกว้าง' (敬之) อย่าคิด หรือมองอะไรทื่อๆ เพียงด้านใดด้านเดียว (เหมือนการกระโดดสูง กับการย่อตัวต่ำที่เป็นอิริยาบทคนละด้านของการกระโดด) ; ต้อง 'รู้จักประเมินความหนัก-เบาของสถานการณ์' (黃離) ว่า เวลาใดควรจะเข้มงวด (鼓缶) หรือเวลาใดควรจะผ่อนปรน (歌) โดยถือเอาความถูกต้องเหมาะสมของ 'หลักแห่งเหตุและผล' เป็นบรรทัดฐานที่เหนือกว่า 'อารมณ์ความรู้สึก' (涕沱) และ 'ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' (戚) ของผู้หนึ่งผู้ใด (เช่นเดียวกับการอบรมสั่งสอนที่จะต้องมีทั้งการทำโทษ และการให้รางวัล ซึ่งจะต้องไม่เลือกปฏิบัติตามอำเภอใจ) ... เพื่อ 'โน้มนำความดีงามให้ปรากฏ' (有嘉折首) และ 'ลดโอกาสเบ่งบานของสิ่งไม่สร้างสรรค์' (獲其匪醜) จึงจะ 'ไม่ผิดพลาดเสียหาย' (無咎)

สำหรับประเด็นเดียวกันนี้ในแง่ของ 'การบริหารจัดการ' ผมใคร่ขออัญเชิญพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เห็นความหมายที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจนว่า ...
 

  • "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อย จึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"

  • พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ
    ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512


นี่ก็คือความหมายอันเที่ยงแท้ของ 王用出征‧有嘉‧折首‧獲其匪醜‧無咎 (wáng yòng chū zhēng . yǒu jiā . zhē shǒu . huò qí fěi chǒu . wú jiù, วั๋ง โยฺว่ง ฌูจิง . โหฺย่ว เจีย . เอ โษ่ว . ฮั่ว ชี๋ เฝ่ย โฉ่ว . อู๋ จิ้ว) อันเป็น 'วรรคสรุป' ประจำบทที่สามสิบซึ่งต้องนับว่า เป็น 'อมตะวาจา' สำหรับ 'ความมีวิจารณญาณ' ของ 'ผู้นำ' มาตลอดทุกยุคทุกสมัยตราบจนกระทั่งสหัสวรรษปัจจุบัน ... ;)