Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十五卦 : 謙

謙 : 地山謙 ‧ 坤上艮下

謙 : 亨‧君子有終‧

  • 初六 ‧ 謙謙‧君子用涉大川‧吉‧
  • 六二 ‧ 鳴謙‧貞吉‧
  • 九三 ‧ 勞謙‧君子有終‧吉‧
  • 六四 ‧ 無不利‧撝謙‧
  • 六五 ‧ 不富‧以其鄰‧利用侵伐‧無不利‧
  • 上六 ‧ 鳴謙‧利用行師‧征邑國‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สงบนิ่ง (⚏), ปัญญา ตื่นตัว (⚍), สุขภาพ สบายๆ (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' หนักแน่นมั่นคง (⚏), 'แผนงาน' ยืดหยุ่น (⚍), 'ปฏิบัติการ' พร้อมสนอง (⚏)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือความอ่อนน้อม, ขุนเขาใต้พสุธา ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Humbleness : ความอ่อนน้อม


บทที่สิบห้าของ King Wen น่าจะส่งสัญญาณบางอย่างให้รู้ว่านี่คือ 'บทเริ่มต้นของวงจรรอบใหม่' ที่กำลังจะหมุนวนอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มจากวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่ง ซึ่งก็คือ 'ข้อแนะนำ' ในเรื่องของ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' นั่นเอง

อักษร 謙 อ่านว่า qiān (เชียน) แปลตามความหมายของปัจจุบันว่า 'ไม่มีอคติที่คับแคบ', 'ไม่ถือทิฐิมานะ', 'ไม่อวดดื้อถือดี', 'ไม่ยะโสโอหัง' ซึ่งความหมายในเชิงบวกก็คือ 'มีจิตใจที่เปิดกว้าง', 'มีความอ่อนน้อมถ่อมตน' และ 'รู้จักรับฟังผู้อื่น' ... 謙 (qiān, เชียน) ประกอบด้วย 'ภาพอักษร' 言 (yán, เอี๋ยน) ที่หมายถึง 'คำพูด' หรือ 'การพูด' อยู่ทางด้านซ้าย ซึ่งในบางกรณีก็จะสามารถหมายถึง 'เหตุผล', 'หลักการ', หรือ 'คำสั่งสอน' ได้ด้วย ส่วนด้านขวาจะเป็น 'ภาพอักษร' 兼 (jiān, เจียน) ที่หมายถึง 'รวบรวม', 'เชื่อมต่อ', 'ผนวก', 'ทวีคูณ' หรือ 'ดำเนินการควบคู่กันไป' ซึ่งตาม 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 兼 (jiān, เจียน) จะเห็นเป็นตัว 禾 (hé, เฮ๋อ) สองตัวซึ่งหมายถึง 'รวงข้าว' หรือ 'พืชพันธุ์' ที่ยืนเคียงกันมากกว่าหนึ่งต้น (秝) และถูกรวบไว้ด้วย 'มือ' เพียงข้างเดียวดังที่เห็นเป็นง่ามนิ้วทั้งสามตรงบริเวณกลางของภาพ ... หากดูจากความหมายของ 'ภาพอักษร' นี่ก็คือ 'การพูดเพื่อความสมัครสมานสามัคคี' ซึ่งมักจะต้องเป็นอากัปกิริยาของ 'การไม่คุยโม้คุยโตเพื่อกดข่มผู้อื่น' และกลายมาเป็น 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ดังความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็น 'หลักการสำคัญในการอยู่ร่วมกัน' ของทุกผู้คนในสังคม

สำหรับ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen ใช้ในบทนี้ก็ดูจะมีอะไรที่น่าสนใจพอสมควร โดยเราจะเห็น 艮 (gèn, เกิ้น, ☶) ที่หมายถึง 'ภูเขา' ถูกวางไว้ใต้ 坤 (kūn, คุน, ☷) ที่หมายถึง 'แผ่นดิน' โดย 'ภูเขา' นั้นสื่อความหมายของ 'ความยิ่งใหญ่', 'ความหนักแน่นมั่นคง' ซึ่งบางครั้งก็หมายถึง 'ความโดดเด่น' เช่นเดียวกับ 'ภูเขา' ที่จะมี 'ความสูงตระหง่าน' กว่าผืนระนาบปรกติ ... ส่วน 'แผ่นดิน' จะสะท้อนความหมายของ 'ความเรียบง่าย', 'ความโอบอ้อมอารี', และ 'ความสุภาพอ่อนโยน' ... ความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' ก็คือ 'การเก็บงำประกาย', 'การไม่อวดโอ่ความโดดเด่นของตน' ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความหมายของอักษรที่นำมาใช้เป็น 'ชื่อบท' ทั้งยังมีความหมายที่ใกล้เคียงกับอักษร 潛 (qián, เชี๋ยน) ที่ปรากฏอยู่ในในวรรคที่หนึ่งของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่งอีกด้วย ... นี่ก็คือร่องรอยสำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ว่า ลำดับความหมายของบทต่างๆ ใน 'คัมภีร์อี้จิง' กำลังจะวนย้อนกลับอีกครั้งหนึ่ง



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨君子有終
hēng jün zǐ yǒu zhōng
เฮิง จฺวืน จื่อ โหฺย่ว


ถ้าดูเฉพาะความหมายที่ King Wen ใช้เป็น 'คำบรรยายภาพสัญลักษณ์' จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกับวลีในบทที่สามอย่างชัดเจนมาก โดยในบทที่สามนั้น King Wen ใช้วลีว่า 元亨利貞勿用有攸往利建侯 (การริเริ่มที่จะกระทำการใดๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น ย่อมไม่ใช่เริ่มต้นจากการอวดโอ่ศักยภาพของตัวเอง … แต่จะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายของตนเองให้ชัดเจนมั่นคงซะก่อน จึงจะถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง) ... แต่เนื่องจากบทนี้ไม่ใช่ 'การเริ่มต้น' จึงดูเหมือนว่าจะมีการละอักษร 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ที่สามารถแปลว่า 'หัว', 'ดั้งเดิม', หรือ 'จุดเริ่มต้น' ออกไป ซึ่ง King Wen เลือกที่จะเปิดวลีด้วยอักษร 亨 (hēng, เฮิง) แทน

亨 (hēng, เฮิง) มีความหมายว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), และ 'ความมีระบบระเบียบ'

君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ) จะแปลได้ตั้งแต่ 'อ๋อง', 'ฮ่องเต้', 'ผู้นำ', 'ปราชญ์', 'บัณฑิต', หรือ 'ผู้เจริญ' ซึ่งในภาษาจีนมักจะมีการใช้คำนี้สลับไปสลับมาระหว่างความหมายต่างๆ เหล่านั้นอยู่เป็นประจำ

ส่วน 終 อ่านว่า zhōng (ง) แปลว่า 'บั้นปลาย', 'สุดท้าย', 'บทสรุป', 'ที่สุด', 'สุดขั้ว' ; แต่ในแง่ของสถานการณ์หรือเวลา อักษร 終 (zhōng, ง) สามารถที่จะหมายถึง 'การย้อนกลับ' หรือ 'การหวนคืน' หลังจากที่ทุกสิ่งทุกอย่างได้ดำเนินไปจนถึง 'ที่สุด' ของมันแล้ว

เมื่อเทียบกับวลีของบทที่สาม คำว่า 有終 ในวรรคนี้น่าจะสามารถได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 有攸往 (มีผลลัพธ์หรือมีผลสำเร็จ) ก็ได้ในระดับหนึ่ง ... ในขณะเดียวกัน อักษร 終 ก็น่าจะสามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'จุดมุ่งหมาย' หรือ 'ความปรารถนาในบั้นปลาย' ซึ่งก็จะมีความหมายคล้ายกับ 建侯 (เป้าหมาย) ตามที่เล่าไว้แล้วในบทที่สามได้ด้วยเหมือนกัน

หากแปลกันตามตัวอักษรแล้ว ความหมายของวลีนี้อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ที่ปราชญ์หนึ่งๆ แสดงออกมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กระทำลงไปเพื่อหวังผลแห่ง 'ความก้าวหน้า' (亨) ในการบรรลุสู่ 'เป้าหมาย' หรือ 'วัตถุประสงค์' อย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ (君子有終) ซึ่งก็จะกระเดียดไปในเชิงของ 'ความเสแสร้งแกล้งดัด' มากกว่าที่จะมาจาก 'ความจริงใจ' ... โดยเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในทุกๆ สังคมตลอดทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาเสมอ ... เนื่องเพราะ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ย่อมเป็นผลที่เกิดจาก 'ความตระหนักรู้' ใน 'สัจจะแห่งชีวิต' เป็นผลิตผลที่งอกเงยเพราะ 'ความตื่นรู้' จาก 'ความมืดบอด' แห่ง 'อวิชชา' และทำให้สามารถเข้าใจถึง 'ความไร้แก่นสาร' ของ 'ความอวดดื้อถือดี' ใน 'อัตตา' แห่งตน ... ซึ่งแม้แต่ 'ปราชญ์จำแลง' ก็ยังเข้าใจและยอมรับในคุณสมบัติดังกล่าว จึงถึงกับต้อง 'เสแสร้งแกล้งดัดจริต' เพื่อเรียกร้องความเคารพนับถือจากทุกผู้คนนั่นเอง ;)

วลีนี้ของ King Wen อาจจะ 'ตีความ' ให้ได้ความหมายครอบคลุมทั้งแง่มุมของ 'คุณธรรม', 'พัฒนาการ' และ 'ความประจักษ์แจ้ง' ว่า 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ย่อมหมายถึง 'หลักคุณธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ (亨) ที่ผู้นำหนึ่งๆ (君子) พึงยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ (有) ในการดำเนินงานไปสู่จุดมุ่งหมายในบั้นปลาย (終)' ... คือไม่ใช่ 'แสดงความอ่อนน้อมเพราะมีจุดมุ่งหมาย' แต่ต้องยึดถือ 'ความอ่อนน้อมเป็นหลักในการปฏิบัติงาน' เพราะการปฏิบัติงานใดๆ ก็ต้องมี 'จุดมุ่งหมาย' มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :
 
謙謙君子用涉大川吉
qiān qiān jün zǐ yòng shè dà chuān jí
เชียน เชียน จฺวิน จื่อ โย่ง เษ้อ ต้า วน จี๋


ผมมองว่า 'จิวกง' น่าจะพยายามส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อสื่อความหมายถึงบทที่หนึ่งพอสมควร เพราะในขณะที่ King Wen เลือกใช้ 'ชื่อสัญลักษณ์' ของบทนี้ว่า 謙 (qiān, เชียน) ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกับ 乾 (qián, เชี๋ยน) ที่เป็น 'ชื่อสัญลักษณ์' ของบทที่หนึ่ง 'จิวกง' ก็เลือกเล่น 'คำซ้ำ' เป็น 謙謙 เพื่อให้ไปล้อกับ 乾乾 ที่ใช้ไปในบทที่หนึ่งด้วย ในขณะที่วรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่งก็ใช้คำว่า 潛 (qián, เชี๋ยน) ที่แปลว่า 'ซ่อน', 'หลบ', หรือ 'ไม่แสดงตัว' ซึ่งมีความหมาย และการออกเสียงชนิดที่ล้อกันไปมาระหว่างบททั้งสองนี้ด้วย ... น่าสนใจมาก :)

สำหรับวลีว่า 涉大川 (shè dà chuān, เษ้อ ต้า วน) นี้ถูก King Wen ใช้มาแล้วถึง 3 ครั้งตั้งแต่บทที่ห้า, บทที่หก, และบทที่สิบสาม ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'บุกตะลุยไปสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ' หรือ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรคขวากหนาม' ... และวลีนี้ก็ถูกใช้โดย 'จิวกง' เป็นครั้งแรกในวรรคนี้ ซึ่งก็น่าจะมีความหมายที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะจุดประสงค์จริงๆ ของ 'จิวกง' คงจะตั้งใจให้สอดรับกับวลีว่า 君子有終 ของ King Wen ในบทนี้ที่หมายถึง 'ปราชญ์ย่อมประสบกับความสำเร็จในบั้นปลาย' ... โดยการจะประสบความสำเร็จให้ได้นั้น 'ปราชญ์' หรือ 'ผู้นำ' ย่อมต้องยึดถือ 'หลักคุณธรรม' ข้อที่ว่าด้วย 'ความอ่อนน้อม' เป็น 'บรรทัดฐาน' หรือ 'หลักในการครองตน' นั่นเอง ... วรรคนี้ของ 'จิวกง' จึงเสมือนหนึ่งเป็นการขยายความให้กับวลีนำของ King Wen ว่า 'ความอ่อนน้อม (謙) และการรู้จักรับฟังผู้อื่น (謙) คือหลักแห่งผู้นำ (君子) ที่จำเป็น (用) ต่อการฟันฝ่าอุปสรรคนาๆ (涉大川) และนำมาซึ่งความสุขสวัสดีทั้งปวง (吉)'

ถ้าย้อนกลับไปเทียบกับวรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่งเราก็จะเห็นความสอดรับกันของความหมายทันที เพราะ 潛龍勿用 มีความหมายในทำนองว่า 'พึงมีความนอบน้อมไม่โอ่อวด, เพราะศักยภาพย่อมไม่ใช่ความสามารถที่แท้จริง' ... ในขณะที่ความหมายในบทที่สามของ King Wen ซึ่งอ้างอิงโดยวลีเดียวกันของ 'จิวกง' ที่ถูกบันทึกไว้ว่า 元亨利貞勿用有攸往利建侯 ก็มีความหมายว่า 'การเริ่มต้นที่จะกระทำการใดๆ ย่อมไม่ใช่เริ่มจากการอวดโอ่ศักดา หรืออานุภาพของตนเอง แต่จะต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายให้โดดเด่นเห็นชัด และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง' ... เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความหมายของวลีที่ใช้ หรือการออกเสียงของ 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ประจำบท นี่คือการวนกลับสู่วัฏจักรรอบใหม่ของ 乾 (䷀, qián, เชี๋ยน) อย่างแน่นอน ;)

 

สอง หยิน :
 
鳴謙貞吉
míng qiān zhēn jí
มิ๋ง เชียน เจิน จี๋


鳴 อ่านว่า míng (มิ๋ง) ถ้าดูจาก 'ภาพอักษร' นี่คือการผสมอักษร 'ปาก' (口) กับ 'นก' (鳥) เข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้มันหมายถึง 'เสียงร้องของนก' หรือ 'เสียงร้องของสัตว์' และอาจจะหมายถึง 'การส่งเสียง' หรือ 'การเปล่งเสียง' โดยทั่วๆ ไปก็ได้ หรืออาจจะใช้ในความหมายของ 'สัญญาณเสียง' ที่ใช้ในการถ่ายทอด 'คำสั่ง' ก็ยังได้เหมือนกัน ... ซึ่งก็แน่นอนว่ามันสามารถที่จะหมายถึง 'การพูด', 'การกล่าวขาน', 'เป็นที่เลื่องลือ', 'เป็นที่แซ่ซ้อง', 'เป็นที่ยกย่อง', หรือ 'เป็นที่ได้รับเอ่ยถึง' และในบางกรณีก็จะหมายถึง 'เสียงสะท้อน' หรือ 'ก้องกังวาน' ... ซึ่งก็อาจจะทำให้มันแผลงความหมายไปเป็น 'เป็นที่รับรู้', 'เป็นที่เปิดเผย', จนกระทั่งมีความหมายเป็น 'เปล่งประกาย', 'สุกใส' หรือ 'สว่างไสว' ได้ด้วย

คำว่า 鳴謙 (míng qiān, มิ๋ง เชียน) น่าจะ 'ตีความ' ไปได้หลายอย่าง แต่ก็คงไม่ใช่ 'การโพนทะนาความอ่อนน้อมของตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นเคารพนับถือ' แน่ๆ :D ... โดยมันอาจจะหมายถึง 'ความอ่อนน้อมที่ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ', หรือ 'ความอ่อนน้อมอย่างผ่าเผยและจริงใจ' ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ 'ก้องกังวาน' หรือ 'สะท้อน' ออกมาจากส่วนลึกในจิตใจ ไม่ใช่เป็นลักษณะของ 'การเสแสร้งแกล้งดัด' ... ในทางหนึ่ง เราอาจจะมองได้ว่า นี่คือ 'การขยายความ' ให้กับวรรคแรกที่เอ่ยถึง 'ความอ่อนน้อม' และ 'การรู้จักรับฟังผู้อื่น' ไว้ลอยๆ ว่าเป็น 'หลักการ' ที่ 'ผู้นำ' หนึ่งๆ พึงยึดถือเป็น 'หลักปฏิบัติ' ในการดำเนินงาน ซึ่งหลักที่ว่านั้นจะต้องมาจาก 'ความจริงใจ' ที่สะท้อน 'ธาตุแท้' แห่ง 'ผู้นำ' นั้นๆ เอง ... นั่นก็คือความหมายของ 鳴謙 (míng qiān, มิ๋ง เชียน) ที่เห็นในวรรคนี้

ในอีกแง่หนึ่งเราอาจจะมองว่า 鳴 (míng, มิ๋ง) กับ 謙 (qiān, เชียน) ถูกใช้ในความหมายที่แยกเป็น 'การยกย่องให้เกียรติผู้อื่น' กับ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตัว' ก็น่าจะได้ แต่ความหมายนี้ก็ออกจะซ้ำซ้อนกับวรรคแรกเกินไปหน่อย ... หรือในอีกลักษณะหนึ่ง นี่ก็อาจจะเป็นการเน้นย้ำให้ชัดเจนว่า 謙 (qiān, เชียน) เป็น 'ความอ่อนน้อม' ที่ไม่ใช่ 'ความอ่อนปวกเปียก' มันจึงต้องมี 'ความองอาจผ่าเผย' ที่สะท้อนความหมายนี้ไว้ด้วย 鳴 (míng, มิ๋ง) ซึ่งหมายถึง 'การเปล่งประกาย', 'ความสุกสว่าง', 'การได้รับความยกย่อง' โดยทั้งหมดเป็น 'ความโดดเด่น' ที่ผู้อื่นมอบให้ ไม่ใช่ดัดจริตเบ่งออกมาด้วยตัวเอง ;)

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้น่าจะถูก 'ตีความ' ว่า 'ความอ่อนน้อมอย่างผ่าเผยและจริงใจ (鳴謙) คืออุดมธรรม (貞) ที่นำไปสู่ความสำเร็จ และความสุขสวัสดี (吉)' เพื่อตอกย้ำความหมายของ 'หลักการอันประเสริฐ' ที่เอ่ยไว้ในวรรคแรกนั่นเอง

 

สาม หยาง :

勞謙君子有終吉
láo qiān jün zǐ yǒu zhōng jí
เล๋า เชียน จฺวิน จื่อ โหฺย่ว ง จี๋


ดูเหมือน 'จิวกง' จะพยายาม 'ขยายความ' ของ 謙 (qiān, เชียน) ออกมาหลายๆ ลักษณะอยู่เหมือนกัน โดยในวรรคนี้ 'จิวกง' ใช้คำว่า 勞謙 (láo qiān, เล๋า เชียน) มาแทนที่ 亨 (hēng, เฮิง) ในวลีของ King Wen เลยทีเดียว ...

勞 อ่านว่า láo (เล๋า) แปลว่า 'ยากลำบาก', 'ตรากตรำ', 'ทุ่มเท', 'มุ่งมั่น' โดยส่วนใหญ่จะหายถึง 'การทำงานอย่างหนัก' ซึ่งก็เลยทำให้มันสามารถหมายถึง 'หมดสิ้นเรี่ยวแรง' ได้ด้วย ... ผมว่าคำนี้มีบางอย่างที่น่าสนใจอยู่ เพราะหากเรามองว่าบทนี้คือ 'การวนรอบใหม่' ของ 乾 (qián, เชี๋ยน) มันก็จะมีความเกี่ยวข้องกับบทที่สามในระดับหนึ่งด้วย เพราะบทที่สามก็สะท้อนความหมายของวรรคแรกในบทที่หนึ่งด้วยเหมือนกัน ซึ่ง 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ประจำบทดังกล่าวก็คือ 屯 (jūn, จุน) ที่แปลว่า 'ความยากลำบาก' อันเป็นบทที่กล่าวถึง 'ความยากลำบากในการเริ่มต้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง' ... ในขณะที่บทนี้ดูเหมือนจะกำลังเอ่ยถึง 'ความยากลำบากในการดำเนินไปสู่จุดหมาย' โดย 'จิวกง' อาจจะตั้งใจใช้คำว่า 勞謙 (láo qiān, เล๋า เชียน) ในความหมายว่า 'ความอดทนอดกลั้น' ก็เป็นไปได้ ;)

ในอีกทางหนึ่ง หากเราเปรียบเทียบวลีของ 'จิวกง' ในวรรคนี้กับที่ King Wen บันทึกเป็น 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ประจำบทเอาไว้ เราก็จะเห็น 勞謙君子有終吉 กับ 君子有終 ซึ่งก็จะทำให้คำว่า 勞謙 (láo qiān, เล๋า เชียน) ดูเหมือนกับมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า 亨 (hēng, เฮิง) ที่สามารถหมายถึง 'การพัฒนา', หรือ 'ความก้าวหน้า' ได้ในระดับหนึ่งด้วย ตรงจุดนี้แหละที่ 'ขงจื้อ' เลือก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การทุ่มเทแต่ไม่อวดอ้าง ถึงแม้จะประสบความสำเร็จแต่ก็ไม่อวดโอ่โอหัง มีความซื่อสัตย์จริงใจต่อคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คือคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการยกย่องแต่ยังคงมีความอ่อนน้อมต่อทุกผู้คน'

แต่หากเราจะ 'ตีความ' ให้ 勞謙 (láo qiān, เล๋า เชียน) เป็นอีก mode หนึ่งของ 'ความอ่อนน้อม' มันก็น่าจะหมายถึง 'ความอ่อนน้อมอย่างจริงจัง' เพื่อที่จะเข้าชุดกับ 鳴謙 (míng qiān, มิ๋ง เชียน) ในวรรคก่อนที่หมายถึง 'ความอ่อนน้อมอย่างจริงใจ' ด้วย เรียกว่าให้มีความครบเครื่องทั้ง 'หลักคิด' และ 'หลักปฏิบัติ' ไปพร้อมๆ กัน ... สำหรับวลีต่อท้ายที่ดูเหมือนจะเป็นการล้อกับสิ่งที่ King Wen บันทึกไว้นั้น ผมมองว่า 'จิวกง' อาจจะตั้งใจซุกซ่อนความหมายอย่างที่ 'ขงจื้อ' ขยายความไว้ให้ แต่จริงๆ แล้ววลีของ 'จิวกง' ลงท้ายด้วย 有終吉 ซึ่งหมายถึง 'ประสบกับความสำเร็จในบั้นปลาย' ในขณะที่วลีของ King Wen ลงท้ายด้วย 有終 ซึ่งแปลว่า 'มีจุดมุ่งหมาย' ซึ่งเป็นคำกลางๆ ที่ไม่ได้ระบุว่า 'สำเร็จ' หรือ 'ล้มเหลว' เอาไว้เลย หรือในอีกทางหนึ่ง วลีของ King Wen ที่ว่า 亨君子有終 ก็อาจจะหมายถึง 'หลักคุณธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ (亨) ที่ผู้นำหนึ่งๆ (君子) พึงยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ (有) อย่างเสมอต้นเสมอปลาย (終)' ซึ่งก็อาจจะเป็นอีกความหมายหนึ่งที่ 'ขงจื้อ' เลือกพิจารณาเอาไว้ และสรุปความหมายรวมไว้ในคำว่า 勞謙 (láo qiān, เล๋า เชียน) เพียงคำเดียว

ความหมายของวรรคนี้จึงน่าจะสรุปใจความได้ว่า 'ความอ่อนน้อมที่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง (勞謙) ย่อมส่งผลให้ผู้นำหนึ่งๆ (君子) ประสบ (有) ความสำเร็จในบั้นปลาย (終吉) ได้เสมอ' หรือถ้าจะ 'ตีความ' ตามแบบฉบับของ 'ขงจื้อ' วรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง 'ความหนักแน่นและจริงจัง (勞) ในความอ่อนน้อม (謙) ที่ผู้นำหนึ่งๆ (君子) ยึดถือปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย (有終) ย่อมนำมาซึ่งความสวัสดี (吉)' ... อย่างนี้ก็น่าจะเข้าทีอยู่เหมือนกัน ;)

 

สี่ หยิน :
 
無不利撝謙
wú bù lì huī qiān
อู๋ ปู้ ลี่ ฮุย เชียน


คำว่า 撝謙 (huī qiān, ฮุย เชียน) นี่จะมาเป็นอีก mode หนึ่งของ 謙 (qiān, เชียน) รึเปล่าหว่า ??!!

撝 อ่านว่า huī (ฮุย) ปรกติจะแปลว่า 'ทำให้แยกออก', 'ทำให้กระจายออก', 'แยกย้ายออกจากกัน', ซึ่งสามารถหมายถึง 'การกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง', 'กระจายกำลัง', แล้วจึงแผลงเป็น 'คำสั่ง' และ 'การปกครอง' หรือ 'การบริหารจัดการ' ; ในขณะเดียวกันมันก็มีความหมายที่คล้ายกับ 謙 (qiān, เชียน) ด้วยเหมือนกัน ซึ่งน่าจะหมายถึง 'นุ่มนวล', หรือ 'ละมุนละม่อม' ในแง่ของ 'การบริหารจัดการ'

ตกลงว่าสรุปใจความของวรรคนี้ไม่ออกแฮะ !!! :D ทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีคำใหม่ๆ มาให้งงเลยด้วยซ้ำ ??!! ... เพราะหากจะ 'ตีความ' กันดุ่ยๆ ลงไป ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะซ้ำซ้อนกับวรรคที่สาม ซึ่งถึงแม้ว่าวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ตามบทบันทึกของ 'จิวกง' มักจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ แต่ผมก็กลับรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนเอาไว้ เพราะหากวลีนี้สลับลำดับของคำซะใหม่เป็น 撝謙無不利 ความยุ่งยากใน 'การตีความ' ก็คงจะน้อยกว่านี้เยอะ เพราะ 撝謙 (huī qiān, ฮุย เชียน) คงจะหมายถึง 'การดำเนินงานอย่างละมุมละม่อม' โดยไม่จำเป็นต้องคิดมาก ... แต่ 'จิวกง' กลับเลือกสลับลำดับคำเหมือนกับจงใจที่จะสื่ออะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป ??!! ดังนั้น จึงต้องย้อนกลับไปทบทวนความหมายของ 利 (lì, ลี่) ที่เคยเล่าไปแล้วตั้งแต่บทแรกอีกครั้งหนึ่ง ...

利 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

จะเห็นว่า 利 (lì, ลี่) ไม่ได้มีความหมายว่า 'ความมีโชคลาภ' แต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่พวกเราคุ้นเคยกัน เพราะนั่นจะทำให้มันมีความหมายแบบเดียวกับ 吉 (jí, จี๋) ที่เห็นในวรรคที่สามทันที ซึ่งหากจะใช้ในความหมายนี้จริงๆ วรรคที่สี่ก็ควรจะสลับลำดับคำซะใหม่เป็น 撝謙無不利 อย่างที่บอกไปแล้ว โดยมันจะมีความหมายว่า 'การดำเนินงานด้วยความนุ่มนวลและอ่อนโยน (撝謙) ย่อมไม่มีสิ่งใดที่ไม่สำเร็จ (無不利)' ... หรือหากจะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความอ่อนน้อมอย่างเสมอภาคแก่ชนทุกระดับชั้น (撝謙 เมื่อ 撝 หมายถึง 'ความเผื่อแผ่' หรือ 'การกระจายออก') ย่อมไม่มีสิ่งใดที่ไม่ดีงาม (無不利)' ... อย่างนี้ก็น่าจะได้เหมือนกัน นี่ก็คือ 'คำแปล' ที่เราสามารถพบเห็นได้จาก 'คัมภีร์อี้จิง' ฉบับแปลทั่วๆ ไป ...

แต่เมื่อลำดับคำของ 'จิวกง' ถูกวางให้สลับกัน คำว่า 無不利 จึงอาจจะหมายถึง 'ไม่มีภาระกิจใดที่ไม่ต้องอาศัยความทุ่มเท' ซึ่งจะกลายเป็น synonym กับคำว่า 勞 (láo, เล๋า) ที่แปลว่า 'ยากลำบาก', 'ตรากตรำ', 'ทุ่มเท', 'มุ่งมั่น' ในทันที !!! ... และจะทำให้วรรคนี้มีความหมายว่า 'ไม่มีภาระกิจใดที่ไม่ต้องอาศัยความทุ่มเท (無不利) การดำเนินงานจึงต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป (撝謙)' ... แต่ถ้าเราใช้คำว่า 利 (lì, ลี่) ในความหมายว่า 'ความเฉียบขาดแหลมคม' ความหมายของวรรคนี้ก็จะเปลี่ยนไปเป็น 'ไม่มีภาระกิจใดที่ไม่ต้องอาศัยความเด็ดขาด (無不利) ความอ่อนน้อมจึงต้องรู้จักแยกแยะ (撝謙) อย่างพอเหมาะพอดี' ... โฮะ !!!?? ... นี่ล่อไป 4 ความหมายแล้วเนี่ย !!?

เอาใหม่ ... สมมุติว่าผมจับ 利撝謙 มาผูกติดกันเป็นวลีเดียว ความหมายของมันก็จะกลายเป็น 'ความอ่อนน้อม (謙) ที่หนักแน่น (利) และสม่ำเสมอ (撝)' และจะทำให้ 無不利撝謙 แปลว่า 'ไม่ละเลยในความอ่อนน้อมที่หนักแน่นและสม่ำเสมอ' ... แล้วเมื่อเรานำกลับไปผนวกเข้ากับวรรคที่สาม เราก็จะได้วลีเต็มๆ ว่า 勞謙君子有終吉 ‧ 無不利撝謙 (láo qiān jün zǐ yǒu zhōng jí wú bù lì huī qiānเล๋า เชียน จฺวิน จื่อ โหฺย่ว ง จี๋ อู๋ ปู้ ลี่ ฮุย เชียน) ความหมายก็จะต่องเนื่องกันเป็น 'ผู้นำที่ตรากตรำทำงานด้วยความอดทน (勞謙君子) ย่อมประสบความสำเร็จในบั้นปลาย (有終吉) โดยไม่เคยละเลย (無不) ในความอ่อนน้อมที่หนักแน่นมั่นคง (利撝謙)' ... นี่จึงจะเป็น 'ความต่อเนื่อง' กับวรรคที่สามอย่างแท้จริง !! ;)

แล้วถ้าเรามองว่า วรรคที่หนึ่งกับวรรคที่สี่มีความสัมพันธ์กันในฐานะของ 'วรรคแรก' สำหรับ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ท่อนล่างกับท่อนบน เราก็จะเห็นได้ทันทีเลยว่า ความหมายสุดท้ายของวรรคที่สี่ที่เล่าไปนั้นจะกลายเป็น 'ส่วนขยายความ' ให้กับวรรคที่หนึ่งได้ด้วย นั่นก็คือ 'ความอ่อนน้อม (謙) และการรู้จักรับฟังผู้อื่น (謙) คือหลักแห่งผู้นำ (君子) ที่จำเป็น (用) ต่อการฟันฝ่าอุปสรรคนาๆ (涉大川) และนำมาซึ่งความสุขสวัสดีทั้งปวง (吉)' ถูกขยายความว่า 'พึงอย่างละเลย (無不) ในความอ่อนน้อมที่หนักแน่นมั่นคง (利撝謙) ดังกล่าวนั้น' ... ต้องถือว่านี่เป็นวลีที่น่าสนใจมากๆ อีกวลีหนึ่งของ 'คัมภีร์อี้จิง' เลยทีเดียวครับ ;)

 

ห้า หยิน :
 
不富以其鄰利用侵伐無不利
bù fù yǐ qí lín lì yòng qīn fá wú bù lì
ปู้ ฟู่ อี่ ชี๋ ลิ๋น ลี่ โยฺว่ง ชิน ฟ๋า อู๋ ปู้ ลี่


เจอการพลิกความหมายของ 利 (lì, ลี่) ไปทีเดียวชักแหยง ... ขอทบทวนคำว่า 富 (fù, ฟู่) ซะหน่อยดีกว่า :D

富 (fù, ฟู่) ปรกติจะแปลว่า 'มั่งมี', 'มากมาย', 'เหลือเฟือ', 'พรั่งพร้อม', 'สมบูรณ์แบบ' หรือ 'ร่ำรวย' ; บางครั้งจึงใช้ในความหมายเดียวกับ 福 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'โชคลาภ', 'โชคดี' หรือ 'ความสุข', และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ; แต่ความหมายที่ไม่ค่อยจะมีใครเอ่ยถึงซักเท่าไหร่ก็คือ 'การตระเตรียม', 'การตกแต่ง' หรือ 'การประดับประดา' ซึ่งทั้งหมดจะมีความหมายในลักษณะของ 'ความหรูหราฟู่ฟ่า' อันเป็น 'สื่อสัญลักษณ์' ถึง 'ความมั่งมี' หรือ 'ความเหลือเฟือ' ด้วยนั่นเอง ... ซึ่งตรงนี้มีวลีหนึ่งใน《史記 : 貨殖傳》ว่า 本富爲上,末富次之,奸富最下。และน่าจะมีความหมายในทำนองว่า 'ความสมบูรณ์แบบที่แท้จริงซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมย่อมจัดเป็นชั้นเลิศ ความสมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นในภายหลังยังถือว่าเป็นชั้นกลาง แต่ความสมบูรณ์แบบที่จอมปลอมย่อมถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบชั้นต่ำสุดเท่านั้น' ... ดังนั้นคำว่า 富 (fù, ฟู่) จึงอาจจะแฝงความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ลักษณะที่ว่านี้ไว้ก็ได้ :)

侵 อ่านว่า qīn (ชิน) แปลว่า 'ขยับเข้าไปหา', 'บุกรุก', 'จู่โจม' ซึ่งมีลักษณะของ 'การปล้น', 'การยื้อแย่ง' หรือ 'การแย่งชิงผลประโยชน์' อยู่ด้วย ; ในสมัยก่อนยังเคยใช้ในความหมายของ 荒年 (huāng nián, ฮฺวาง เนี๋ยน) ซึ่งแปลว่า 'ปีที่แร้นแค้น' หรือ 'ปีที่การเพาะปลูกไม่ได้ผล' ด้วย ; ในความหมายว่า 'ขยับเข้าไปหา' เมือใช้เป็น 'คำวิเศษณ์' จะหมายถึง 'ทำไปทีละขั้น' แล้วก็เลยมีความหมายทำนองว่า 'ขยักขย่อน' หรือ 'หยุดพักเป็นช่วงๆ' แต่บางครั้งก็จะมีความหมายว่า 'บิดเบี้ยว' หรือ 'น่าเกลียด' เหมือนกับคำว่า 寢 (qǐn, ฉิ่น) ไปเลย

伐 อ่านว่า fá (ฟ๋า) แปลว่า 'หั่น', 'สับ', 'ตัด', 'โค่น', 'สังหาร' หรือ 'ลงทัณฑ์' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ล้มล้าง' หรือ 'ทำให้หมดสิ้นไป' ก็ได้

เรื่องของเรื่องที่ต้องย้อนกลับไปดูความหมายของ 富 (fù, ฟู่) อีกครั้งหนึ่งก็เพราะว่า ระหว่างวรรคที่สองกับวรรคที่ห้าในแต่ละบทนั้นมักจะมีความเกี่ยวเนื่องกันเสมอ ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อ 鳴謙 (míng qiān, มิ๋ง เชียน) ในวรรคที่สองหมายถึง 'ความอ่อนน้อมอย่างผ่าเผยและจริงใจ' ความหมายของ 不富 (bù fù, ปู้ ฟู่) ในวรรคที่ห้าก็จะสะท้อนความหมายว่า 'ไม่มีการตกแต่งประดับประดา' ไปด้วย ซึ่งก็คือ 'ไม่อวดอ้างตนว่ามีความสมบูรณ์แบบ' หรือ 'ไม่เสแสร้ง' นั่นเอง ;)

ความหมายของวรรคนี้จึงค่อนข้างที่จะตรงๆ ตัวว่า 'การไม่อวดตน (不富) เพื่อผูกมิตรกับทุกผู้คน (以其鄰) นั้น พึงมุ่งเน้น (利用) ที่ความรวบรัดหมดจด (侵伐 คือการกำจัดความยอกย้อนบิดเบือนอันน่ารังเกียจออกไป) คุณธรรมความดีย่อมจะปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์ได้เอง (無不利)'

 

หก หยิน :
 
鳴謙利用行師征邑國
míng qiān lì yòng xíng shī zhēng yì guó
มิ๋ง เชียน ลี่ โยฺว่ง ซิ๋ง ซือ เจิง อี้ กั๋ว


邑 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'ชุมชน', 'เมือง', 'เขตปกครอง', 'รัฐ' หรือ 'ประชากรในเขตปกครอง' ... ดูเหมือนจะเคยเล่าคำนี้ไปแล้วตั้งแต่บทที่หก :P

คำสำคัญในวรรคนี้ก็คือ 行師 (xíng shī, ซิ๋ง ซือ) ที่หลายๆ ตำราให้ความหมายว่า 'กองทัพ' หรือ 'กำลังทหาร' ?? ... แต่ผมกลับคิดว่า 行 (xíng, ซิ๋ง) ในที่นี้น่าจะหมายถึง 'ที่ใช้การได้' หรือ 'มีความสามารถ' ส่วน 師 (shī, ซือ) น่าจะหมายถึง 'แม่ทัพ' หรือ 'ผู้นำ' ซึ่งก็คือ synonym ของ 君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ) ที่เห็นในวรรคแรก ... เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราก็จะเห็นการสลับคำที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่งของ 'จิวกง' โดยวรรคแรก 'จิวกง' นำเสนอว่า 'ผู้นำต้องใช้ความอ่อนน้อม' ในขณะที่วรรคที่หกนี้ 'จิวกง' เปลี่ยนลำดับคำเป็น 'ความอ่อนน้อมต้องอาศัยผู้นำ' ... เหมือนกับจะบอกว่า 'ศาสตราวุธล้ำค่าที่อยู่ในมือคนขายหมู ย่อมเปล่งประกายไม่เท่ากับการได้อยู่ในมือของจอมยุทธ' ... ประมาณนั้น :D ... ที่เปรียบเปรยให้เห็นภาพชัดๆ นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ ;) ผมมองว่า 'จิวกง' อาจจะจงใจให้มีความหมายอย่างนั้นจริงๆ เพราะไม่ว่า 'หลักการ' หนึ่งๆ จะมีความสูงส่งเพียงใดก็ตาม หากถูกนำไปปฏิบัติโดยบุคคลที่ไม่เหมาะสม หรือโดยบุคคลที่ไม่รู้คุณค่าความหมายของมัน ผลสัมฤทธิ์ก็ย่อมจะแตกต่างไปจากการปฏิบัติโดยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจใน 'หลักการ' นั้นๆ เสมอ ... การสลับลำดับคำของ 'จิวกง' จึงไม่ใช่เรื่องที่สมควรจะถูกมองข้ามไปอย่างหน้าตาเฉยนะครับ !! :)

ในอีกทางหนึ่ง เราก็ต้องไม่ลืมว่า 師 (shī, ซือ) คือ 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ประจำบทที่เจ็ด ซึ่ง 'จิวกง' ก็อาจจะตั้งใจให้อักษรตัวนี้มีความหมายเหมือนอย่างที่ King Wen ให้คำจำกัดความไว้ว่า 貞丈人吉無咎 (zhēn zhàng rén jí wú jiù, เจิจั้ง เญิ๋น จี๋ อู๋ จิ้ว : ต้องคำนึงถึงหลักคุณธรรม และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสม จึงจะเป็นผลดีโดยไม่ก่อความผิดพลาดเสียหายให้ผู้อื่นค่อนขอดว่าร้ายในภายหลัง) โดย 行師 (xíng shī, ซิ๋ง ซือ) ก็อาจจะมีความหมายว่า 'ดำเนินการ () ด้วยหลักแห่งผู้นำ (師)' ดังที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ... ??!! ;)

สำหรับ 征 (zhēng, เจิง) ที่เคยเล่าไว้ในบทที่เก้าและบทที่สิบเอ็ดนั้นจะหมายถึง 'การเดินทาง (ไกล)', 'การกรีธาทัพ', 'การดำเนินงาน', 'การบริหาร', หรือ 'การปกครอง' ; แต่ถ้ามองในแง่ของ 'การระดมพล' ก็น่าจะสามารถหมายถึง 'การรวบรวมให้เป็นปีกแผ่น' ได้เหมือนกัน

หากจะ 'ตีความ' ให้กลมกลืนกับวรรคก่อนๆ ที่เล่ามาแล้วทั้งหมด ความหมายของวรรคนี้ก็ควรจะหมายถึง 'ความอ่อน้อมที่จะเปล่งประกายเจิดจ้า (鳴謙 คือได้รับการยกย่องสรรเสริญ) ย่อมต้องใช้ควบคู่ไปกับหลักแห่งผู้นำ (利用行師) ในการสานสร้างความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง (征邑國)' ... อย่างนี้จึงจะเป็น 'การขยายความ' ให้กับ 'ความอ่อนน้อมและการรู้จักรับฟังผู้อื่น' (謙謙) ที่เอ่ยถึงในวรรคแรก ... กับเป็น 'การนำเสนอ' ให้เข้าใจว่า 'ความอ่อนน้อม' (謙) นั้นจะ 'เปล่งประกาย' (鳴) จนมัน 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) ในวรรคที่สองได้ยังไง ... แล้วที่ว่า 'ต้องอดทนอดกลั้น' (勞謙) อย่างในวรรคที่สามน่ะ เพราะว่ามันต้อง 'อ่อนน้อมอย่างรู้จักแยกแยะหนักเบา' (撝謙) ในวรรคที่สี่ด้วยวิธีไหน ... จึงจะ 'ไม่เป็นการเสแสร้งแกล้งดัด' (不富) อย่างที่บอกไว้ในวรรคที่ห้า ... เรียกว่าเป็นการประมวลใจความสำคัญทั้งหมดของทั้งบทเอาไว้ภายในตัวอักษรเพียง 9 ตัวเท่านั้น ... อัจฉริยะจริงๆ !!!!!



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เชียน' คือ ความอ่อนน้อม, ขุนเขาใต้พสุธา

'ความอ่อนน้อม' คือ 'หลักคุณธรรม' อัน 'เป็นที่ประจักษ์' ที่ผู้นำหนึ่งๆ พึง 'ยึดถือ' เป็น 'หลักปฏิบัติ' ใน 'การดำเนินงาน' ไปสู่ 'จุดมุ่งหมาย' ในบั้นปลาย

  •  
  • 'ความอ่อนน้อม' และ 'การเปิดใจรับฟังผู้อื่น' คือ 'หลักแห่งผู้นำ' ที่จำเป็นต่อ 'การฟันฝ่าอุปสรรค' นาๆ และนำมาซึ่ง 'ความสุขสวัสดี' ทั้งปวง
  •  
  • 'ความอ่อนน้อม' อย่าง 'ผ่าเผย' และ 'จริงใจ' คือ 'อุดมธรรม' ที่นำไปสู่ 'ความสำเร็จ' และ 'ความสุขสวัสดี'
  •  
  • 'ความอ่อนน้อม' ที่ได้รับ 'การปฏิบัติ' 'อย่างจริงจัง' ย่อมส่งผลให้ผู้นำหนึ่งๆ ประสบ 'ความสำเร็จ' ในบั้นปลายได้เสมอ
  •  
  • พึง 'อย่าละเลย' ใน 'ความอ่อนน้อม' ที่ 'หนักแน่น' และ 'มั่นคง'
  •  
  • 'การไม่อวดตน' เพื่อ 'ผูกสัมพันธ์' กับทุกผู้คนนั้น พึง 'มุ่งเน้น' ที่ 'ความรวบรัดหมดจด' (กำจัดความยอกย้อนบิดเบือนอันน่ารังเกียจออกไป) 'คุณธรรมความดี' ย่อมจะปรากฏให้ 'เป็นที่ประจักษ์' ได้เอง
  •  
  • 'ความอ่อน้อม' ที่จะ 'เปล่งประกายเจิดจ้า' และ 'เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ' ย่อมต้องใช้ควบคู่ไปกับ 'หลักแห่งผู้นำ' ใน 'การสานสร้างความเป็นปึกแผ่น' ของบ้านเมือง


 

The Organization Code :



'ความอ่อนน้อม' ย่อมต้องถึงพร้อมด้วยการมี 'ระดับนโยบาย' ที่มี 'ความหนักแน่น' (⚏), มี 'การบริหารงาน' ด้วย 'ความยืดหยุ่น' (⚍), และมี 'ระดับปฏิบัติการ' ที่ 'พร้อมตอบสนอง' (⚏) ในทุกๆ ด้าน

'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ย่อมเป็นผลที่เกิดจาก 'ความตระหนักรู้' ใน 'ความหมายแห่งการดำรงอยู่' อันเป็นผลิตผลที่งอกเงยด้วย 'ความตื่นรู้' จาก 'ความมืดบอด' แห่ง 'อวิชชา' และทำให้สามารถเข้าใจถึง 'ความไร้แก่นสาร' ของ 'ความอวดดื้อถือดี' ใน 'อัตตา' แห่งตน

  •  
  • 'ผู้นำ' ที่ดีย่อมต้องอาศัยความมี 'ทัศนคติที่เปิดกว้าง', 'รู้จักรับฟัง' ผู้อื่น, และ 'ให้เกียรติ' แก่ทุกผู้คนอย่างทั่วถึงกัน จึงจะสามารถ 'พิชิตทุกอุปสรรค' และดำเนินไปสู่ 'จุดมุ่งหมาย' ที่วาดหวังไว้ 'อย่างราบรื่น'
  •  
  • 'ความมีทัศนคติที่เปิดกว้าง' จะต้องมี 'ความผ่าเผย' และ 'จริงใจ' เพื่อให้ 'การแลกเปลี่ยนกันทางความคิด' อ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของ 'ความเป็นจริง' ของทุกๆ ฝ่าย จึงจะสามารถนำไปสู่ 'การแก้ปัญหา' ที่ประสบ 'ความสำเร็จ' ได้
  •  
  • 'การปฏิบัติ' ด้วย 'ความอ่อนน้อม' จะต้องกระทำ 'อย่างจริงจัง' และ 'หนักแน่น' โดยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ 'หลักการ' ที่ 'ถูกต้อง' และ 'เหมาะสม' เท่านั้น มิใช่ 'การโอนอ่อน' จนไร้ซึ่ง 'หลักยึด' และ 'เหตุผล' ใดๆ
  •  
  • ถึงแม้ว่า 'หลักการ' และ 'เหตุผล' จะมี 'ความถูกต้อง' และ 'ความเหมาะสม' แล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะ 'แข็งขืน' จนละเลยต่อ 'การปฏิบัติ' ด้วย 'ความอ่อนน้อม' อยู่ดี
  •  
  • 'การไม่อวดโอ่ศักดา' หรือ 'เสแสร้งแกล้งดัด' เพื่อ 'ผูกสัมพันธ์' กับทุกผู้คนนั้น ย่อมสำคัญที่ 'การรู้จักลดละ' และ 'การกำจัดสิ่งบิดเบือน' อันน่ารังเกียจออกไปจากใจให้หมดสิ้น โดยมุ่งเน้นอยู่กับ 'ความเป็นจริง' และ 'หลักคุณธรรม' ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีงามเท่านั้น
  •  
  • 'ความอ่อนน้อม' ย่อม 'เป็นที่เคารพเชิดชู' จากบุคคลทั่วไป เมื่อได้รับการใช้ควบคู่ไปกับ 'หลักแห่งผู้นำ' เพื่อสานสร้าง 'คุณประโยชน์' และ 'ความเป็นปึกแผ่น' ให้แก่ 'ส่วนรวม'


หากดูจาก 'ภาพสัญลักษณ์' แล้วจะเห็นว่า 'ความอ่อนน้อม' ที่ว่านี้จะประกอบไปด้วย 'อารมณ์ที่หนักแน่น' (⚏) ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังทุกๆ ความคิดเห็นไม่ว่าจะสอดคล้องกับความต้องการของตนหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่มี 'การแสดงออกที่นุ่มนวล' และ 'เป็นมิตร' กับชนทุกชั้น โดยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลตามกำลัง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ต้องกระทำอย่าง 'มีสติยั้งคิด' (⚍) โดยไม่ละเลยต่อ 'หลักคุณธรรม' ที่ 'ถูกต้องดีงาม' ด้วยเสมอ

เมื่อปรับประยุกต์ไปใช้กับแนวทางการดำเนินงานขององค์กรหนึ่งๆ ย่อมเปรียบเสมือนกับการมี 'ฝ่ายนโยบาย' ที่ 'เปิดกว้างทางความคิด' (⚏) อันจะสามารถ 'ระดมทุกสรรพความรู้'  และ 'ความคิดสร้างสรรค์' ต่างๆ จากทุกระดับชั้นภายในองค์กร เพื่อที่จะ 'ร่วมกันผลักดัน' ให้องค์กรเกิด 'การพัฒนา' และ 'ก้าวหน้า' ยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ... และแน่นอนว่า 'ฝ่ายปฏิบัติ' ก็จะต้อง 'ไม่ปิดกั้นทางความคิด' จนไม่ยอมเปิดรับ 'ความเปลี่ยนแปลง' ใดๆ ที่ได้รับการมอบหมายให้นำไปปฏิบัติด้วย ... แต่ทั้งนี้ 'การบริหารจัดการ' ก็จะต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'เป้าหมาย' และ 'นโยบาย' แต่จะต้องมี 'ความยืดหยุ่น' ในด้าน 'กลยุทธ์' และ 'กลวิธี' เสมอ เพื่อจะประสานทุกส่วนให้สามารถดำเนินการต่อไปอย่างราบรื่น