Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第六卦 : 訟

訟 : 天水訟 ‧ 乾上坎下

訟 : 有孚‧窒惕‧中吉‧終凶‧利見大人‧不利涉大川‧

  • 初六 ‧ 不永所事‧小有言‧終吉‧
  • 九二 ‧ 不克訟‧歸而逋‧其邑人三百戶‧無眚‧
  • 六三 ‧ 食舊德‧貞厲‧終吉‧或從王事‧無成‧
  • 九四 ‧ 不克訟‧復自命‧渝安貞‧吉‧
  • 九五 ‧ 訟元吉‧
  • 上九 ‧ 或錫之鞶帶‧終朝三褫之‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา-อารมณ์ผ่อนพัก (⚎) พลานามัยแจ่มใส (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ 'บุคลากร' ผลักดัน 'นโยบาย', บริหารงานด้วยนโยบายเชิงรับ (⚎), ปฏิบัติการอย่างแข็งขัน และตื่นตัว (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการชิงลงมือ, มังกรรำเหนือแอ่งน้ำ ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Acquisition : การชิงลงมือ


ชื่อสัญลักษณ์ 訟 (sòng, ซ่ง) นี้ มักจะถูกแปลกันว่า 'ความขัดแย้ง' หรือ Conflict แต่ก็มีบางตำราเหมือนกันที่เลือกใช้ความหมายของตัวอักษร 訟 ตรงๆ อันหมายถึง 'การร้องขอความเป็นธรรม', 'การฟ้องร้องคดีความ' แล้วก็รวมไปถึง 'การให้การในชั้นศาล' ด้วย โดยใช้คำว่า Contending หรือ Contention แทนคำว่า Conflict ซึ่งพิจารณาด้วยเหตุผลที่ว่า มันคือ 'การกระทำ' ที่เป็นผลมาจาก 'ความขัดแย้ง' นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งอักษรจีนที่ใช้ในความหมายของ 'การฟ้องร้อง' หรือ 'การร้องขอความเป็นธรรม' นั้น จะจำแนกออกเป็นสองกรณีด้วยกันคือ … ถ้าเป็น 'การฟ้องร้องเพื่อเอาผิดผู้อื่น' จะเรียกว่า 獄 (yǜ, ยฺวี่) ซึ่งสามารถที่จะแปลว่า 'คุก', หรือ 'สถานกักกันนักโทษ' … ส่วน 'การฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง' ถึงจะเรียกว่า 訟 (sòng, ซ่ง) … แต่ในระยะหลังจะใช้ตัว 訟 นี้ครอบคลุมทั้งสองลักษณะของ 'การฟ้องร้อง' ไป … นั่นคือเหตุผลที่ผมเลือกใช้คำว่า Acquisition แทนที่จะเป็น Contention ด้วยเหตุผลว่า 'เมื่อได้จังหวะตามที่รอคอย (ในบทที่ห้า) ก็ถึงเวลาที่จะต้องลงมือปฏิบัติ' … ซึ่ง 'การปฏิบัติงาน' ในลักษณะที่เป็น 'การชิงไหวชิงพริบ' หรือเป็น 'การช่วงชิงความได้เปรียบ' กันนั้น ก็อาจจะก่อให้เกิด 'ความขัดแย้งกัน' ได้บ้าง … ส่วนจะต้องถึงโรงถึงศาลหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของแต่ละกรณีๆ กันไป … :D … ผมเพียงแต่มองอย่างนี้ครับว่า ในขั้นตอนของ Acquisition นั้น มันยังไม่มี 'ความขัดแย้ง' ใดๆ เกิดขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะมี 'แนวโน้ม' ที่จะ 'เป็นไปได้' แต่จุดประสงค์ของ 'การช่วงชิงจังหวะ' เพื่อปฏิบัติการนั้น ก็ไม่ใช่เพื่อสร้าง 'ความขัดแย้ง' … เพราะฉะนั้น อาจจะมี หรืออาจจะไม่มี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้ทั้งนั้นล่ะครับ มันจึงเร็วเกินไปที่จะ 'ตีความ' ให้ 訟 แปลว่า 'ความขัดแย้ง' หรือ 'การฟ้องร้อง' ใดๆ ในขณะนี้ ;)

ภาพอักษร 訟 ประกอบด้วยอักษร 言 (yán, เอี๋ยน) ที่แปลว่า 'คำพูด', 'การพูดคุย', 'การชี้แจง', 'การให้เหตุผล' อยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางด้านขวาจะเป็นอักษร 公 (gōng, กง) ซึ่งแปลว่า 'เป็นสาธารณะ', 'ไม่เป็นส่วนตัว', 'เป็นกลาง' หรือ 'ไม่เอนเอียง' (ไปตามความสัมพันธ์ หรือผลประโยชน์ส่วนตัว) … โดย 'ภาพอักษร' 公 นั้นจะมีด้านบนเป็นขีด 2 ขีดแยกออกไปคนละทาง (八) ส่วนด้านล่างเป็นตัวอักษรโบราณ (ㄙ) ของ 私 (sī, ซือ) ที่หมายถึง 'ตัวเอง', 'ส่วนตัว', 'เอกชน', 'ปัจเจกบุคคล' … ความหมายของ 公 จึงหมายถึง 'การอยู่ตรงกลาง' โดย 'ไม่เอนเอียง' ไปข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจจะหมายถึง 'การอยู่ท่ามกลางของทุกๆ ฝ่าย' ซึ่งก็คือ 'เป็นสาธารณะ' แล้วแผลงไปเป็น 'สถานที่ราชการ' ได้อีกความหมายหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ 訟 จึงสามารถหมายถึง 'การพูดในที่สาธารณะ' ซึ่งก็จะเป็นไปได้ทั้ง 'การประกาศ', หรือ 'การป่าวร้อง' แต่โดยรวมแล้ว ก็จะหมายถึง 'การเรียกร้องความเป็นธรรมจากสาธารณะ' มากกว่าที่จะหมายถึง 'การประกาศ' ในรูปแบบอื่นๆ … ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'การพูดชี้แจงต่อสาธารณะ' หรือ 'การพูดชี้แจงต่อทางราชการ' อันเป็นที่มาของความหมายว่า 'การฟ้องร้อง', 'การให้การ' ในชั้นศาล ซึ่งจะรวมความหมายทั้งของฝ่ายโจทก์ที่เป็น 'การกล่าวโทษ', 'การฟ้องร้อง', และของฝ่ายจำเลยที่เป็น 'คำแก้ต่าง', หรือ 'คำชี้แจง' ฯลฯ … จึงทำให้ 訟 มีความหมายในลักษณะของ 'การต่อสู้ด้วยคำพูด' หรือ 'การโต้วาที', 'การพยายามเอาชนะกันด้วยคำพูด', หรือ 'การพยายามเอาชนะกันด้วยเหตุผล' … แต่ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากบทที่ห้า (การรอคอยจังหวะ) ผมคิดว่า 訟 ในที่นี้น่าจะหมายถึง 'การชิงลงมือ' หรือ 'การอ้างสิทธิ์ที่จะใช้โอกาสนั้นๆ เพื่อประโยชน์แห่งเป้าหมาย' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ความขัดแย้ง' หรือ 'การร้องขอความเป็นธรรม' ใดๆ ที่ดูจะไม่มีความต่อเนื่องกับบทที่เพิ่งผ่านมา ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
有孚窒惕中吉終凶利見大人不利涉大川
yǒu fú zhì tì zhōng jí zhōng xiōng lì jiàn dà rén bù lì shè dà chuān
โหฺย่ว ฟู๋ จื้อ ที่ ง จี๋ ง โซฺวง ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น ปู้ ลี่ เษ้อ ต้า วน


King Wen อธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ในบทนี้คล้ายกับบทที่แล้วมากครับ และทำให้ 'ตีความ' ได้ว่า อาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกันพอสมควร … บทที่แล้ว King Wen บันทึกไว้ว่า 需 : 有孚光亨貞吉利涉大川 แต่ในบทนี้ King Wen อธิบายเป็น  訟 : 有孚窒惕中吉終凶利見大人不利涉大川 ซึ่งถ้าหากผมทดลองแบ่งวรรคตอนใหม่ด้วยวิธีเดียวกัน ก็จะได้เป็นอย่างนี้ครับ

需 ‧ 有 孚 ‧ 光 ‧ 亨 ‧ 貞吉 ‧ 利涉大川 ‧ กับ

訟 ‧ 有 孚 ‧ 窒 ‧ 惕 ‧ 中吉 (‧ 終凶 ‧ 利見大人) ‧ 不利涉大川‧

ซึ่งมีท่อนแทรกก่อนจบประโยคคล้ายๆ กับจะบอกว่า 'ถ้าผลลัพธ์ในบั้นปลายมันออกมาห่วย (終凶) ก็ควรจะไปหารือ หรือขอคำปรึกษากับคนที่เก่งกว่าเราดีกว่า (利見大人)' พร้อมๆ กับสำทับไว้ท้ายประโยคว่า 'ไม่ควรบุ่มบ่ามผลีผลามแล้วบุกตะลุยต่อไปอีก (不利涉大川)' … อันนี้ยังไม่ confirm นะครับ ผมเพียงแต่แคะให้ดูว่ามันมีความหมายบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในประโยคที่ดูคล้ายกับจะมีความต่อเนื่องกันเท่านั้นเอง ;)

窒 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'กีดขวาง', 'ทำให้หยุด' … ถ้าจะว่ากันตามความหมายของ 'ภาพอักษร' เราก็จะเห็นด้านบนของตัว 窒 เป็นตัว 穴 (xué, เซฺวี๋ย) ที่แปลว่า 'ถ้ำ', 'กรอบ', 'คอก', หรือที่ผมแปลว่า 'กฎระเบียบ' ในบทที่แล้ว ส่วนด้านล่างก็จะเป็นตัว 至 (zhì, จื้อ) ที่แปลว่า 'บรรลุถึง', 'ที่สุด', 'สุดขั้ว', หรือ 'สุดโต่ง' … มันจึงทำให้ 窒 มีความหมายว่า 'อยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด' แล้วก็เลยแผลงเป็น 'การถูกขัดขวาง' หรือ 'การทำให้หยุด' ไปด้วย

เอาล่ะ ย้อนเอากลับไปเทียบกับบันทึกขยายความของ 'จิวกง' ตรงวรรคที่สามของบทที่ห้า ... 需于泥致寇至 … โดยผมแปลว่า 'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ทุกอย่างชะงักงัน (泥) ก็ควรที่จะต้องออกแรงผลักดัน (致寇) อย่างสุดความสามารถ (至) เพื่อจะบุกฝ่าออกไป (寇) จากสภาพการณ์ที่ไม่มีความคืบหน้า (泥) ใดๆ นั้นให้จงได้' และอธิบายว่ามันคือสถานการณ์การรอคอยจังหวะแบบ 光 … เราก็จะเห็น 'ความคล้ายกัน' ของความหมายระหว่าง 光 ที่สามารถแปลว่า 'ว่างเปล่า' กับ 窒 ที่หมายถึง 'ไม่มีอะไรคืบหน้า' ทันที แถมย้ำด้วยข้อความของ 'จิวกง' ที่ใช้ 'บ่อโคลน' เป็นสัญลักษณ์ของ 'การหยุดชะงัก' ลงไปอีก … ;) … มันถึงคิดเป็นอย่างอื่นได้ยากไงครับ นอกจากจะ 'ตีความ' ว่า นี่คือ 'เงาสะท้อน' ของ 'การรอคอย' กับ 'การลงมือ' อย่างชัดเจน ;)

ส่วนตัวอักษร 惕 (tì, ที่) นั้นแปลว่า 'ระมัดระวัง', 'รอบคอบ', 'ไม่ประมาท', 'มีความตื่นตัว' คำนี้เล่าไปแล้วตั้งแต่บทแรก ซึ่งในที่นี้จะคล้ายถูกจับคู่กับตัวอักษร 亨 (hēng, เฮิง) ที่มีความหมายว่า 'เข้าใจ', 'ตระหนักรู้', 'ชัดเจน' โดย 'จิวกง' นำไปเข้าชุดกับการรอคอยในสถานการณ์ที่ 'โกลาหล' และ 'เสี่ยงอันตราย' (需于血出自穴) ในวรรคที่สี่ของบทที่ห้า (การรอคอยจังหวะ) ซึ่งผมแปลไว้ว่า 'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ปั่นป่วน และเต็มไปด้วยภยันตราย (血) นั้น จำเป็นที่จะต้องนำเอากฎเหล็กมาใช้ควบคุมตัวเอง (出自穴 หมายถึง จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ) อย่างเคร่งครัด' … เพราะฉะนั้น นี่ก็ต้องเป็น 'เงาสะท้อนกัน' แน่นอน

มาถึงคำว่า 中吉 ในบทนี้ กับคำว่า 貞吉 ในบทที่แล้ว ซึ่ง 'จิวกง' เอาไปจับคู่กับสถานการณ์ที่ 'อุดมไปด้วยผลประโยชน์' แล้วกำชับให้ 'รู้จักพอประมาณ' หรือ 'พอดีๆ' … นั่นก็คือความหมายของตัวอักษร 中 อย่างตรงๆ ตัวเลยนั่นเอง ;) …

เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่ากันตามตัวอักษรอย่างที่เห็นอยู่นี้ ความหมายของ 'การชิงลงมือ' ในทัศนะของ King Wen ก็คือ 'จะต้องประกอบด้วย (有) ความพร้อม (孚) และความสุขุมรอบคอบ (窒惕) และต้องดำเนินการอย่างรู้จักประมาณกำลังตน (中吉) หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย (終凶) ก็ไม่ต้องท้อแท้สิ้นหวัง แต่ต้องพร้อมที่จะฝึกฝน และเรียนรู้จากผู้ที่มีความสามารถสูงกว่า (利見大人) ไม่ควรบุ่มบ่ามผลีผลามโหมดำเนินการต่อไปอย่างไม่ยั้งคิด (不利涉大川)'

ตรงนี้มีคำว่า 利見大人 ซึ่งเป็นคำที่เคยปรากฏในบทบันทึกของ 'จิวกง' มาก่อนแล้วถึงสองครั้งคือ ในวรรคที่สองของบทที่หนึ่งซึ่งบันทึกไว้ว่า 見龍再田利見大人 (ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น และพร้อมจะ ยอมรับผู้อื่นอย่างยินดี) กับในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งอีกเหมือนกัน ซึ่งบันทึกว่า 飛龍在天利見大人 (พึงรู้จักกาลเทศะที่เหมาะสมในการแสดงศักยภาพ และปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น) … จะเห็นว่า คำหนึ่งแนะนำให้ 'ขยัน', 'บากบั่น' อย่าง 'มุ่งมั่น' นั่นก็คือบอกให้ 'อย่าท้อแท้สิ้นหวัง' … ในขณะที่อีกคำหนึ่งแนะนำให้ 'รู้จักกาลเทศะ' ที่ 'เหมาะสม' ซึ่งก็คือความหมายว่า ให้รู้จัก 'รอคอยจังหวะเวลา' อย่า 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' นั่นเอง ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

不永所事小有言終吉
bù yǒng suǒ shì xiǎo yǒu yán zhōng jí
ปู้ หฺย่ง สั่ว ซื่อ เสี่ยว โหฺย่ว เอี๋ยน ง จี๋


ตรงนี้ขอยกเอาวรรคที่สองของ 'จิวกง' มาจากบทที่ห้า เพื่อเทียบเคียงให้เห็นเลยครับ 需于沙小有言終吉 ซึ่งจะเห็นว่า ตัวอักษรห้าตัวท้ายคือถ้อยคำเดิม 100% โดยผมแปลวรรคดังกล่าวไว้ว่า 'การรอคอยในสภาพการณ์ที่อึมครึมไม่ชัดเจน จงดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และมีความละเอียดรอบคอบอย่างมีเหตุมีผล ทุกสิ่งย่อมสามารถผ่านพ้นไปด้วยดี' … เมื่อเปลี่ยนสถานภาพจาก 'การรอคอยจังหวะ' มาเป็น 'การลงมือปฏิบัติการ' ในบทนี้ 'จิวกง' ก็เลือกใช้คำว่า 不永 มาเป็นคำบรรยายสถานการณ์แบบ 沙 ทันที … เพราะว่า 永 (yǒng, โหฺย่ง) มีความหมายว่า 'การไหลของน้ำ', 'กระแสน้ำ' ; 'ความสม่ำเสมอ', 'ความคงเส้นคงวา', 'เนิ่นนาน' หรือ 'ตลอดกาล' … เพราะฉะนั้น 不永 จึงหมายถึง 'ไม่มีความต่อเนื่อง', 'ไม่สม่ำเสมอ', 'ไม่คงเส้นคงวา' ซึ่งก็คือ 'เอาแน่เอานอนไม่ได้' หรือ 'ไม่ชัดเจน' … โป๊ะเชะ!! … ;) …

所 อ่านว่า suǒ (สั่ว) แปลได้หลายอย่างมากเลยครับสำหรับอักษรตัวนี้ ;) แปลว่า 'สถานที่', 'สถาบัน' ก็ได้ ; สามารถแปลเป็น 'ที่พักอาศัย' หรือใช้เป็น 'หน่วยนับ (สำหรับที่พักอาศัย)' ก็ได้ ; แปลว่า 'เหตุผล', 'สาเหตุ' แล้วก็เลยกลายเป็นคำกริยาช่วยที่ใช้แปลงรูปประโยคให้เป็น passive voice ในความหมายว่า 'มีสาเหตุมาจาก' ก็ได้ ; ใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับ 'นี้' (this), 'นั้น' (that) ก็ได้ ; หรืออาจจะใช้ในลักษณะเดียวกับ if เป็น 'ถ้าหากว่า' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'เท่าที่มี', 'เท่าที่เป็นไปได้', หรือ 'เท่าที่อนุญาต' มันเลยสามารถแปลว่า 'ทั้งหมด' แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มากมาย', 'หลากหลาย' ได้อีกต่างหาก … สำหรับในวรรคนี้ที่ถูกใช้ในวลีว่า 不永所事 น่าจะหมายถึง 'เรื่องราวหยุมหยิมมากมายที่ไม่มีความต่อเนื่อง', 'เรื่องราวจุกจิกที่ดูไม่ค่อยจะมีสาระสำคัญ' หรืออาจจะแปลว่า 'เรื่องราวทั้งหลายที่ไม่มีความแน่นอน' เหล่านี้ก็คือลักษณะของสถานการณ์แบบที่ 'จิวกง' เรียกว่า 沙 ;) แต่ถ้า 'ตีความ' ให้กระเดียดไปในเรื่องของ 'การลงมือปฏิบัติ' ตัวอักษร 不永所事 ก็น่าจะสามารถที่จะแปลว่า 'การดำเนินงานภายในสภาพการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน' หรือ 'การดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ชัดเจน' ได้

วรรคนี้ของ 'จิวกง' จึงน่าจะเป็นเพียง 'เงาสะท้อน' มาจากวรรคที่สองในบทที่ห้าเท่านั้น ซึ่งความหมายก็คือ 'การลงมือปฏิบัติการใดๆ ในสภาพการณ์ที่ไม่มีความชัดเจน (不永所事) จะต้องใช้ความระมัดระวัง และมีความละเอียดรอบคอบ (小) อย่างมีเหตุมีผล (有言) ทุกสิ่งย่อมสามารถผ่านพ้นไปด้วยดี (終吉)' … แล้วถ้าจะให้ 'ล้อความหมาย' กับวรรคดังกล่าวในบทที่ห้าจริงๆ นี่ก็คือ 'การชิงลงมือ' ในสถาการณ์แบบ 孚 ล่ะครับ ;)

 

สอง หยาง :

不克訟歸而逋其邑人三百戶無眚
bù kè sòng guī ér bū qí yì rén sān bǎi hù wú shěng
ปู้ เค่อ ซ่ง กุย เอ๋อ ปู ชี๋ อี้ เญิ๋น ซัน ไป่ ฮู่ อู๋ เษิ่


歸 อ่านว่า guī (กุย) แปลว่า 'ย้อนกลับ', 'ถอยหลังกลับ', 'พลิกกลับ', 'ตอบแทน', 'ตอบสนอง', 'หวนคืน'

而 อ่านว่า ér (เอ๋อ) ปรกติใช้เป็นคำเชื่อมประโยค หรือเชื่อมคำในลักษณะเหมือนกับคำว่า and, then, but, of, or และบางครั้งก็จะใช้ในความหมาย 'คล้ายกับ' (seem, like)

逋 อ่านว่า bū (ปู) แปลว่า 'หลบหนี', 'หนีหนี้', 'หลบหลีก' หรือ 'ประวิงเวลา'

邑 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ ...คำว่า 邑人 บางครั้งจึงแปลว่า 'คนเมือง', 'คนที่อยู่ในมณฑลเดียวกัน' หรือ 'คนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน'

戶 อ่านว่า hù (ฮู่) แปลว่า 'ประตู', 'ครอบครัว', 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ห้องหับ' หรือ 'อาณาเขตในบ้าน (ที่มีการจัดแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนต่างๆ ซึ่งมักจะมีประตูกั้น)' ; บางครั้งจึงสามารถแปลว่า 'ป้องกัน' หรือ 'คุ้มครอง' ได้ด้วย ; ปรกติแล้ว 戶 จะใช้สำหรับเรียก 'ประตูภายในบ้าน' หรือ 'ประตูห้อง' … ถ้าเป็น 'ประตูบ้าน' หรือ 'ประตูห้องโถง' หรือ 'ประตูรั้ว' เขาจะใช้คำว่า 門 (mén, เมิ๋น) … ดังนั้น มันจึงสามารถแปลว่า 'ที่หลบซ่อน', 'ช่องทาง (ลับ)' ; และสามารถหมายถึง 'ถ้ำ' หรือ 'รัง' ก็ยังได้

眚 อ่านว่า shěng (เษิ่ง) แปลว่า 'ตาฝ้าฟาง', 'ไม่ชัดเจน', จึงสามารถแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'กระทำความผิด', 'ทำโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ' ; สมัยก่อนเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 省 (shěng, เษิ่ง) ที่แปลว่า 'ระมัดระวังตัว', 'สำรวจ (ตรวจสอบ) ตัวเอง', 'หลีกเลี่ยง', 'ประหยัด' บางครั้งจึงแปลว่า 'ยับยั้ง', 'ทำให้น้อยลง'

ถ้าดูจากอักษรหกตัวแรกของวรรคนี้ที่บันทึกว่า 不克訟歸而逋 ความหมายก็น่าจะตรงกับคำว่า 窒 (zhì, จื้อ) ที่ King Wen ใช้ในคำอธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ซึ่งแปลว่า 'ขัดขวาง', 'ติดขัด' หรือ 'ทำให้หยุด' … โดยน่าจะหมายถึง 'หากไม่สามารถ (不克) ที่จะลงมือ (訟) จงยับยั้ง (歸 คือถอยกลับ) เพื่อหลีกเลี่ยง (逋) ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น' … ส่วนท่อนหลังที่บันทึกว่า 其邑人三百戶無眚 นั้น ควรจะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'โดยปรกติธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป (其邑人) นั้น ย่อมต้องมีหนทางให้เลือกเดินอีกมากมาย (三百戶) ไม่มี (無) ความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องสุ่มเสี่ยงดำเนินการด้วยความมืดบอด (眚)' … ซึ่งในความหมายอย่างที่ว่านี้ จึงเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' กำลังหมายถึงคำ 窒惕 ในวลีของ King Wen เพื่อสะท้อนว่า 'ให้หยุดเพื่อทบทวนอย่างรอบคอบ'

ส่วนคำว่า 三百 ที่เห็นในวรรคนี้ ถ้าแปลกันตามตัวอักษรก็จะหมายถึง 'สามร้อย' แต่ผมมองว่า น่าจะเป็นการเล่นสำนวนของ 'จิวกง' เหมือนกับการใช้สำนวนไทยประเภทว่า 'ร้อยแปดพันเก้า' ซึ่งจะหมายถึง 'มากมายก่ายกอง' ไม่น่าจะใช้ในความหมายตรงๆ ของตัวอักษรที่เห็นกัน … เพราะฉะนั้น ถ้าแปลความหมายของวรรคนี้ด้วยภาษาพื้นๆ ก็น่าจะได้ประมาณว่า 'ถ้าบุกไปไม่ได้ก็ต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ อย่าบุ่มบ่ามลุยต่อไปอย่างหน้ามืดตามัว' นั่นเอง ;)

 

สาม หยิน :

食舊德貞厲終吉或從王事無成
shí jiù dé zhēn lì zhōng jí huò cóng wáng shì wú chéng
ซื๋อ จิ้ว เต๋อ เจิน ลี่ ง จี๋ ฮั่ว ช๋ง วั๋ง ษื้อ อู๋ เฌิ๋


食 อ่านว่า shí (ซื๋อ) แปลว่า 'กิน', 'ของกิน', 'อาหาร', หรือ 'ให้อาหาร' ; สามารถแปลว่า 'ยอมรับ' ก็ได้ เพราะว่า 'ยอมกลืนกินลงไป' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'เสนอให้รับไว้', 'เซ่นสังเวย' ; บางครั้งก็ยังมีความหมายว่า 'ทำให้แหว่ง', หรือ 'ทำให้ค่อนลง' เพราะว่า 'ถูกกิน' เช่น 'จันทรคราส',  'สุริยคราส' ; และเมื่อแปลว่า 'อาหาร' จึงสามารถแปลว่า 'ปัจจัยที่ต้องอาศัย', 'ขึ้นอยู่กับ' ได้ด้วย

舊 อ่านว่า jiù (จิ้ว) แปลว่า 'เก่า', 'ชำรุด', 'ทรุดโทรม', 'โบราณ', 'ดั้งเดิม' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'มีความคุ้นเคย' หรือ 'มีความสนิทสนม' ได้ด้วยเหมือนกัน

德 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ความเชื่อ', 'สิ่งที่ยึดถือ', 'สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ', 'วัฒนธรรม', 'คุณธรรม', 'ความดีงาม', 'จิตใจ (ที่ดีงาม)'

วรรคนี้มีบางส่วนที่คล้ายกับวรรคที่สามของ 'จิวกง' ในบทที่สองซึ่งบันทึกไว้ว่า 含章可貞或從王事無成有終 แล้วผม 'ตีความ' ว่า 'ทุกๆ เรื่องราวที่แม้จะไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเบื้องแรก แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ เหมือนดังเช่นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น' … ดังนั้น  食舊德 ในที่นี้จึงไม่น่าจะแปลว่า 'กินบุญเก่า' … :D … แต่น่าจะหมายถึง 'สภาพการณ์ที่บั่นทอนจิตใจ' เพราะมันมี 'ความไม่ชัดเจน' (含章) แม้ว่าจะได้ทุ่มเท 'ลงมือปฏิบัติ' ไปแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเลือกที่จะ 'ตีความ' ให้วรรคนี้ของ 'จิวกง' มีความหมายว่า 'ในสภาพการณ์ที่บั่นทอนจิตใจ (食舊德) นั้น ความแน่วแน่ในหลักคุณธรรม (貞) อย่างอุกฤษฏ์ (厲 คือเข้มข้น หรือรุนแรง) ย่อมจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ในบั้นปลาย (终吉) เหมือนดังเช่น (或) ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย (從王事) ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น (無成)' … ซึ่งความหมายนี้ น่าจะสอดรับกับตัวอักษร 惕 (tì, ที่) ซึ่ง King Wen บันทึกไว้ในคำอธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบท เพราะ 惕 (tì, ที่) มีความหมายว่า 'ไม่ประมาท' หรือ 'ไม่ละเลยต่อสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ' โดย 'จิวกง' เลือกที่จะเน้นลงไปว่าจะต้อง 'ยึดถือไว้อย่างยิ่งยวด' (貞厲) นั่นเอง ;)

 

สี่ หยาง :

不克訟復自命渝安貞吉
bù kè sòng fù zì mìng yǘ ān zhēn jí
ปู้ เค่อ ซ่ง ฟู๋ จื้อ มิ๋ง ยฺวี๋ อัน จี้


復 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'กลับ', 'ย้อนคืน', 'ตอบสนอง', 'ตอบแทน' ; 'ทำซ้ำ'

命 อ่านว่า mìng (มิ่ง) แปลว่า 'ชีวิต', 'คำสั่ง', 'คำสอน', 'มีอิทธิพลชี้นำ', 'ชี้นำ', 'ใช้ประโยชน์', 'นำมาใช้งาน'

渝 อ่านว่า yú (ยฺวี๋) แปลวา 'เปลี่ยนแปลง', 'แก้ไข', 'กลับกลาย'

ความหมายของวรรคนี้น่าจะหมายถึง 'หากไม่เหมาะ (不克) ที่จะชิงจังหวะลงมือ (訟) ก็ควรจะต้องเปลี่ยน (復) การตัดสินใจของตนเอง (自命) ให้กลับกลาย (渝) ไปสู่การตั้งมั่นอยู่ในความนิ่งสงบ (安貞 คือรักษารูปกระบวนให้อยู่ในกรอบเกณฑ์ที่เหมาะสม) จึงจะเป็นคุณ (吉) ต่อทุกๆ ฝ่าย' … ผมคิดว่า 'จิวกง' คงต้องการที่จะให้วรรคนี้สะท้อนความหมายของตัว 中 (zhōng, จง) ในคำอธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ของ King Wen ซึ่งหมายถึง 'การเดินทางสายกลาง' ที่จะไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจนสุดขั้ว แต่จะต้องรู้จัก 'ความพอประมาณ' ทั้งในแง่ของ 'ศักยภาพ' กับ 'เป้าหมาย' ของ 'ตนเอง' และ 'ความเอื้ออำนวย' ของ 'สถานการณ์' ที่กำลังดำเนินการอยู่

หากไล่เรียงความหมายให้เทียบเคียงกับบทที่ห้า (การรอคอยจังหวะ) ที่ผ่านมานั้น วรรคที่หนึ่งของบทนี้ก็คือสถานการณ์แบบ 沙 (shā, ซา หมายถึงไม่ชัดเจน) ซึ่งในบทนี้ใช้คำว่า 不永 มาอธิบาย ; วรรคที่สองของบทนี้ก็คือสถานการณ์แบบ 泥 (ní, นี๋ หมายถึงติดขัด, หยุดชะงัก) ซึ่งบทนี้ใช้คำว่า 歸而逋 ที่สะท้อนความหมายของ 窒 อย่างชัดเจน ; ส่วนวรรคที่สามก็น่าจะตรงกับสถานการณ์แบบ 血 (xuè, เซฺวี่ย หมายถึงโกลาหล และอันตราย) โดย 'จิวกง' เลือกใช้วลี 食舊德 (ที่บั่นทอนจิตใจ) และใช้ตัวอักษร 厲 (ซึ่งสามารถแปลว่ารุนแรง หรือมีอันตรายก็ได้) มากำกับไว้ ; ดังนั้นวรรคที่สี่ หรือวรรคนี้ก็น่าจะหมายถึงสถานการณ์ที่ควรจะเลือก 'ทางสายกลาง' ซึ่งคำว่า 不克訟 ในวรรคนี้ จะเป็นคนละความหมายกับที่เห็นในวรรคที่สอง โดยผมให้ความหมายในวรรคที่สองว่า 'ไม่สามารถที่จะลงมือ' แต่กลับเลือกใช้คำแปลว่า 'ไม่เหมาะที่จะชิงจังหวะลงมือ' ในวรรคนี้ เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ 'อุดมไปด้วยผลประโยชน์' (酒食) จึงจำเป็นต้อง 'เปลี่ยนความตั้งใจ' ของตนเอง (復自命) ให้ 'ย้อนกลับ' (渝) ไปสู่ 'ความแน่วแน่' และ 'มั่นคง' (安) ใน 'หลักการ' (貞) ที่ 'ตรงทิศทาง' (中) กับ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น …

 

ห้า หยาง :

訟元吉
sòng yüán jí
ซ่ง เยฺวี๋ยน จี๋


เวลาเจอวลีสั้นๆ นี่สยดสยองมากเลยครับสำหรับภาษาจีนโบราณ … :D … ผมลอกความหมายของตัว 元 จากบทที่หนึ่งมาให้ดูอีกรอบดีกว่าครับ ;)

元 อ่านว่า yuán (เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭, 首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; นอกจากนั้นในสมัยก่อนก็ยังมีความหมายเหมือนกับ  天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; แล้วก็เลยทำให้สามารถตีความเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ได้อีกต่างหาก เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนในยุคก่อนนั้น จะถือว่าจักรพรรดิของพวกเขาคือ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งถ้าจะใช้คำอื่นในยุคปัจจุบันก็น่าจะตีความให้หมายถึง 'ผู้นำ' ได้ด้วย ;)

วรรคนี้อาจจะ 'ตีความ' ให้คล้ายกับสำนวนจีนอีกสำนวนหนึ่งได้ว่า 先下手為强 (xiān xià shǒu wéi qiáng, เซียน เซี่ย โษ่ว เว๋ย เชี๋ยง) ซึ่งแปลว่า 'การชิงลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ' … แต่หากเรา 'ตีความ' ให้  元 หมายถึง 'ความสร้างสรรค์' ควาหมายก็จะเปลี่ยนเป็น 'การชิงลงมืออย่างสร้างสรรค์ย่อมเป็นคุณ' … แล้วถ้าเรา 'ตีความ' ให้  元 หมายถึง  天 ซึ่งมีความหมายครอบคลุมทั้ง 'เทพเจ้า' (龍), 'ผู้นำ', 'ผู้รู้' หรือ 'ยอดคน' (大人) ความหมายของวรรคนี้ก็จะกลายเป็น 'การชิงลงมืออย่างผู้รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ย่อมเป็นคุณ' … ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมี 'ความเชื่อ' ว่า 'จิวกง' คงอยากจะให้มีความหมายเป็นแบบสุดท้ายนี้มากกว่า เพื่อให้ความหมายของวรรคนี้ ไปสอดรับกับวรรคที่หกของเขาในบทที่ห้าที่บันทึกไว้ว่า 入于穴有不速之客三人來敬之終吉 (การรอคอยจึงมีสภาพการณ์ที่ไม่พึงประสงค์สามประการ ผู้ที่มีความเข้าใจ และปฏิบัติตามข้อแนะนำดังที่ได้แสดงไว้ ย่อมประสบกับความสำเร็จได้ในที่สุด) … โดย 'สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์' ทั้งสาม ได้ถูกนำมาตีแผ่อีกครั้งในขั้นตอนของ 'การลงมือ' ในวรรคที่หนึ่ง ถึงวรรคที่สามของบทนี้ พร้อมกับสำทับให้ต้องมี 'ความแน่วแน่มั่นคง' (安貞) ต่อ 'เป้าหมายดั้งเดิม' (元) ที่กำหนดไว้แล้วอีกด้วย (วรรคที่สี่) … ;) … ในขณะที่ 'ความเป็นผู้รู้เท่าทันสถานการณ์' ก็ได้แฝงความหมายของ 'ความเป็นผู้ลงมือก่อน' และ 'ความเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์' อยู่แล้วในตัวเอง เพราะ 'ความสร้างสรรค์' ไม่จำเป็นต้องเป็น 'ความแปลกใหม่' เสมอไป แต่จะต้องหมายถึง 'ความเป็นผู้ทำให้เกิดคุณประโยชน์ขึ้นมา' เท่านั้น ;)

 

หก หยาง :

或錫之鞶帶終朝三褫之
huò xī zhī pán dài zhōng zhāo sān chǐ zhī
ฮั่ว ซี จือ พั๋น ไต้ ง เา ซัน ฌื่จื


錫 อ่านว่า xī (ซี) ถ้าใช้เป็นคำนาม จะหมายถึง 'สังกะสี' หรือ Stannum (Sn) ซึ่งเป็นธาตุโลหะชนิดที่มีสีเงินแวววาว เป็นสินแร่ที่หาพบได้ง่าย และราคาไม่แพง มีคุณลักษณะที่อ่อนหยุ่น สามารถยืดหดตัวได้ง่าย แต่เนื่องจากมีความเสถียรสูงต่อการทำปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจน จึงมักจะถูกใช้เป็นสารเคลือบผิวให้กับโลหะชนิดอื่น เพื่อป้องกันการกัดกร่อน หรือใช้เป็นธาตุประกอบหลักในการผลิตโลหะอัลลอยด์ชนิดต่างๆ ถ้าเอามาทอเป็นเส้นใยจะเรียกว่า 緆 (xī, ซี) ซึ่งบางครั้งจะหมายถึง 細 (xī, ซี) ที่แปลว่า 'ผ้าไหม' ; หากใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 賜 (cì, ชื่อ) ที่แปลว่า 'มอบให้', 'ให้รางวัล', หรือ 'ของรางวัล' หรือ 'การให้ผลประโยชน์' ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ในความหมายของ 'การให้' ที่ผู้ใหญ่เป็นผู้มอบให้แก่ผู้น้อย

鞶 อ่านว่า pán (พั๋น, พ๋าน) แปลว่า 'ผืนหนังสัตว์', 'ทำจากหนัง', 'สายรัด', 'เข็มขัด', 'ภาชนะที่ทำจากหนัง' เช่น 'อานม้า', 'เบาะรองนั่ง' หรือ 'ถุงบรรจุสิ่งของที่ผูกกับอานม้า'

帶 อ่านว่า dài (ไต้) แปลว่า 'พกพา', 'บรรจุ', 'หีบห่อ', 'ถุงบรรจุสิ่งของ', 'สิ่งที่ใช้เพื่อการบรรจุสิ่งของ' ; จึงสามารถแปลว่า 'อาณาบริเวณ' หรือ 'พื้นที่' ได้ด้วย … ในวรรคนี้ใช้คู่กับคำว่า 鞶 เป็น 鞶帶 จึงน่าจะหมายถึง 'ถุงที่ทำจากหนังสัตว์' ได้

朝 อ่านว่า zhāo (เจา) แปลว่า 'กลางวัน' แต่ปรกติจะหมายถึง 'เวลาเช้าตรู่' ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของวันใหม่ ทำให้บางครั้งจะแปลว่า 'การเริ่มต้น' หรือ 'การมุ่งหน้า (ไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง)'

褫 อ่านว่า chǐ (ฌื่อ) แปลว่า 'ฉีกออก', 'ลอกออก', 'ขูดออก', 'กำจัด', 'ทำให้แยกออก', 'ทำให้เป็นเส้น', 'ทำให้เป็นแถบยาว'

อูยส์ … ใช้คำอุปมาอุปไมยหลายซับหลายซ้อนมากเลย … :D … ตรงนี้ต้องค่อยๆ แคะเลยครับ ผมย้อนกลับไปดูที่ King Wen บันทึกไว้ตรงกลางๆ ประโยคว่า 利見大人 ที่หลายๆ ตำราชอบแปลว่า 'ควรจะเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อของความช่วยเหลือ' ซึ่งบอกกันตรงๆ เลยว่าผมไม่ค่อยชอบ เพราะมันดูเหมือนเป็น 'การวิ่งเต้น' เพื่อ 'ใช้เส้นใช้สาย' ยังไงก็ไม่รู้ครับ … :D … แต่ตัว 錫 (xī, ซี) ในวรรคนี้ก็ดูจะสอดรับกับความหมายแบบนั้นอยู่ เพราะ 錫 หมายถึง 'ผลประโยชน์ที่ผู้ใหญ่ให้กับผู้น้อย' … แต่ผมอยากจะมองในแง่ของการอุปมาอุปไมยมากกว่าที่จะให้มันมีความหมายตามตัวอักษรจริงๆ ดังนั้น ผมจึงจับให้ 大人 ==  龍 ==  天 ไปซะเลย โดยความหมายหนึ่งของ 天 ที่ผมแปลเอาไว้ในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งซึ่งบันทึกว่า 飛龍在天利見大人 (พึงรู้จักกาลเทศะที่เหมาะสมในการแสดงศักยภาพ และปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น) ผมใช้  天 ในความหมายของ 'กาลเทศะ' หรือ 'สถานการณ์' และ 飛龍在天 จึงหมายถึง 'มังกรจะสำแดงเดชได้ก็ด้วยอาศัยสถานการณ์ที่เหมาะสม' นั่นเอง … ด้วยเหตุนี้ 錫 จึงหมายถึง 'รางวัล' ที่ได้รับจาก 'สถานการณ์' ซึ่งถือว่ามี 'ศักดิ์สถานะ' ที่เหนือกว่า 'ผู้รับ' อยู่แล้ว

ส่วนคำว่า 褫 ที่หมายถึง 'การขูดออก', 'การลอกออก' รวมทั้งยังสามารถหมายถึง 'การทำให้แยกออก' ผมจึง 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การจำแนกแยกแยะสถานการณ์' ซึ่งเป็น 'ประเด็นหลัก' ของเรื่องราวทั้งหมดที่ 'จิวกง' เอ่ยถึงมาตั้งแต่บทที่ห้า จนมาถึงในบทที่หกนี้ … ส่วนตัวอักษร 三 ที่ถูกใช้หลายครั้งมาตั้งแต่วรรคสุดท้ายของบทที่แล้ว (不速之客三人) จนในบทนี้ก็มีอีกครั้งในวรรคที่สอง (其邑人三百戶) ซึ่งคล้ายกับจะเป็นการย้ำถึง 'สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งสาม' … แต่ 三 จะมีความหมายว่า 'มากกว่าแค่ทำซ้ำ' (再) หรือ 'มากกว่าสอง' มันจึงแฝงนัยว่า 'บ่อยๆ' หรือ 'ถี่ๆ' อยู่ในนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น 或錫之鞶帶終朝三褫之 จึงถูกผม 'ตีความ' ว่า 'ด้วยเหตุนี้ (或) การจะได้รับรางวัล (錫) แห่งความสำเร็จอย่างเป็นกอบเป็นกำ (之鞶帶 คือเอาเข้าพกเข้าห่อ) ให้ได้ในขั้นสุดท้าย (終) นั้น ก็จะต้องเริ่มต้น (朝) จากการหมั่นแยกแยะ (三褫) สถานการณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนเป็นสำคัญ' … ซึ่งทำให้คำว่า 利見大人 ในวลีของ King Wen อาจจะไม่ได้หมายถึง 'การไปพบผู้หลักผู้ใหญ่' แต่จะหมายถึง 'จะเป็นการดีกว่าถ้ารู้จักรอคอยสถานการณ์ที่เหมาะสม' ที่ King Wen ตบท้ายด้วยคำว่า 不利涉大川 หรือ 'ไม่ควรบุ่มบ่ามผลีผลามทำอะไรลงไปอย่างไม่ยั้งคิด' … แล้ว 'จิวกง' ก็จับมาขยายความให้เป็น 朝三褫 หรือ 'ให้เริ่มจากการหมั่นแยกแยะสถานการณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน' ซะก่อนนั่นแหละครับ !! … ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ซ่ง' คือ การชิงลงมือ, มังกรรำเหนือแอ่งน้ำ

'การชิงลงมือ' นั้น มีที่ต้อง 'เตรียมพร้อม', มีที่ต้อง 'หยุดยั้ง', มีที่ต้อง 'ระมัดระวัง', และมีที่ต้อง 'หนักแน่น' … แม้นจะมีความพลาดพลั้งเสียหาย ต้องรู้จักรอคอยจังหวะที่เหมาะสม ไม่ควรหุนหันบุ่มบ่ามด้วยความชะล่าใจ

  •  
  • 'ฉกฉวย' ในจังหวะที่ 'ไม่ชัดเจน' ต้องใช้ 'ความละเอียดรอบคอบ' และดำเนินการอย่าง 'เป็นขั้นตอน' ด้วย 'ความมีเหตุมีผล' ทุกสิ่งจะผ่านพ้นไปด้วยดี
  •  
  • หาก 'ติดขัด' จนยากแก่ 'การช่วงใช้โอกาส' จง 'หยุดยั้ง' เพื่อ 'ตรึกตรอง' … ด้วยเหตุที่ 'วิถีแห่งมนุษย์' ล้วน 'อุดมไปด้วยทางเลือก' จึงไม่ควรดำเนินการอย่าง 'มืดบอด'
  •  
  • 'จิตใจ' แม้นต้องแบกรับ 'การบั่นทอน' แต่ยังต้อง 'เคร่งครัด' ต่อ 'อุดมการณ์' อย่างเหนียวแน่น เนื่องด้วย 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่' ล้วนก่อเกิดจาก 'สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน' ทั้งสิ้น
  •  
  • ไม่ควร 'ปฏิบัติการ' ต่อภารกิจที่ไม่ 'สอดคล้อง' กับ 'เป้าหมาย' พึง 'ระงับยับยั้ง' และ 'ปรับเปลี่ยนทิศทาง' ให้มี 'ความแน่วแน่' และมี 'ความมั่นคง' ต่อ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้
  •  
  • 'การชิงลงมือ' อย่าง 'ผู้รู้เท่าทัน' ต่อสถานการณ์ ย่อมเป็นคุณ
  •  
  • การจะได้รับ 'ผลตอบแทน' อย่าง 'เป็นชิ้นเป็นอัน' ในบั้นปลาย ย่อมต้องเริ่มจาก 'การจำแนกแยกแยะ' สถานการณ์ให้แจ่มชัด


 

The Organization Code :



'การชิงลงมือ' คือใช้ 'บุคลากร' ผลักดัน 'นโยบาย', บริหารด้วยนโยบายเชิงรับ (⚎), ปฏิบัติการอย่างแข็งขัน และตื่นตัว (⚌) ;)

การ 'ช่วงใช้โอกาส' เพื่อจะ 'ชิงความได้เปรียบ' จะต้องประกอบด้วย 'การเตรียมพร้อม' และต้องรู้จัก 'หยุดเมื่อสมควรต้องยั้ง' ต้องมี 'ความสุขุมรอบคอบ' และมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'ทิศทาง' และ 'เป้าหมาย' อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้นต้องประสบกับ 'ความผิดพลาดล้มเหลว' ก็ต้อง 'ไม่ท้อแท้รันทด' แต่ต้อง 'หมั่นศึกษา' และ 'เรียนรู้' เพื่อรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่อไป ไม่ควร 'หุนหันพลันแล่น' ด้วยหวังใน 'ผลสัมฤทธิ์' อย่าง 'รีบร้อน'

  •  
  • ในสถานการณ์ซึ่งไม่มี 'ความชัดเจน' ที่ 'แน่นอน' นั้น จะต้องใช้ 'ความละเอียดรอบคอบ' และต้องมี 'ความพร้อม' ทั้งในด้านของ 'แผนงาน', 'ระเบียบขั้นตอน', ตลอดจน 'ทรัพยากร' ต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้งานอย่าง 'มีเหตุมีผล' ทุกสิ่งจึงจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
  •  
  • หากต้องพบกับ 'อุปสรรค' ที่ก่อ 'ความยุ่งยาก' ให้แก่ 'การปฏิบัติการ' จง 'หยุดยั้ง' เพื่อ 'ตรวจสอบ' และพิจารณา 'ทางเลือก' อื่นๆ ที่ยัง 'เป็นไปได้' ไม่ควร 'หักโหม' ทุ่มเท 'ทรัพยากร' ด้วย 'ความหน้ามืดตามัว'
  •  
  • 'ความยากลำบาก' แม้นว่าจะ 'บั่นทอนจิตใจ' แต่ต้อง 'ไม่ระทดท้อ' อย่าง 'สิ้นหวัง' ต้อง 'ยึดมั่น' ใน 'นโยบาย' และ 'แผนงาน' อย่าง 'เคร่งครัด' และต้องมี 'ความศรัทธา' ว่า 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่' ย่อม 'สามารถสัมฤทธิ์ได้' แม้จะต้องเริ่มต้นจาก 'ความไม่มีอะไรเลย' ก็ตาม
  •  
  • ไม่ควร 'ลอกแลกโลเล' จนหลงทุ่มเท 'ทรัพยากร' ลงไปในภารกิจที่ไม่ใช่ 'เป้าหมาย' ต้องรู้จัก 'ยับยั้งชั่งใจ' เพื่อ 'ทบทวน' ภารกิจหลักที่ตนเองจะต้อง 'มุ่งไปสู่' อย่าง 'แน่วแน่มั่นคง'
  •  
  • ต้อง 'กระทำการ' อย่าง 'สร้างสรรค์' บนพื้นฐานของ 'ความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์'
  •  
  • 'การจำแนกแยกแยะ' เพื่อ 'วิเคราะห์' จนเข้าใจ 'สถานการณ์' อย่างชัดเจน และ 'ชิงลงมือปฏิบัติ' ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่' เสมอ


ถ้าจะว่ากันตามความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' (䷅) ซึ่งมี ☰ (เชี๋ยน หมายถึงฟ้า หรือเทพยดา) อยู่ทางด้านบน กับมี ☵ (ขั่น, แอ่งน้ำ) รองรับอยู่ทางด้านล่าง และผม 'ตีความ' ให้เป็น 'มังกรรำเหนือแอ่งน้ำ' นั้น … โดยรวมๆ ก็ต้องถือว่า มันเป็นจังหวะเวลา หรือสถานการณ์ที่หลายๆ อย่างยังไม่ค่อยจะลงตัวดีนัก เนื่องจาก 'มังกร' ถ้าไม่ใช่สำแดงอิทธิฤทธิ์อยู่บน 'ฟากฟ้า' ก็น่าจะต้องร่ายรำอยู่ใน 'น้ำลึก' มากกว่า ไม่ใช่ 'เหนือแอ่งน้ำ' ที่มีลักษณะเป็นแค่ 'หลุม' หรือ 'บ่อ' ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงเล็กน้อยอย่างนี้ … จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บันทึกข้อความของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ต่างก็มีน้ำเสียงที่เน้นไปในแนวทางของ 'การเตือนสติ' ให้ใช้ 'ความระมัดระวัง' กับต้องคอย 'ปรับเปลี่ยนท่าที' ให้พอเหมาะพอสมแก่สถานการณ์ที่จะลงมือปฏิบัติแทบจะทุกๆ คำ

หากเปรียบเทียบกับบทที่ห้า (䷄, การรอคอยจังหวะ) ก็จะเห็นว่า นี่คือ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่กลับหัวกลับหางกัน โดย 'การรอคอยจังหวะ' นั้นจะมี ☵ (ขั่น, แอ่งน้ำ) อยู่ด้านบน และมี ☰ (เชี๋ยน หมายถึงฟ้า) อยู่ด้านล่าง ซึ่งจะมองว่าเป็น 'มังกรซ่อนตัวในแอ่งน้ำ' ก็น่าจะได้อยู่ล่ะครับ ;) น้ำเสียงของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' จึงเน้นไปในแนวทางของ 'การแนะนำ' หรือ 'การให้ความรู้' มากกว่าจะเป็น 'การเตือน' อย่างตรงๆ ตัว … ผมจึงเลือกใช้คำภาษาอังกฤษให้ทั้งสองบทนี้มีความคล้องจองกันเป็น Requisition กับ Acquisition เพราะเห็นว่า มันมีความต่อเนื่อง และมีความเกี่ยวข้องกันเป็นกรณีพิเศษจริงๆ

需 (ซฺวี, การรอคอยจังหวะ) นั้น ถือว่าเป็นการใช้ 'นโยบาย' สนับสนุน 'บุคลากร' หรือหากมองในแง่ของการแสดงออก นั่นก็คือสถานการณ์ที่ใช้ 'อ่อนนอกแข็งใน' อันเป็นสถานการณ์ที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ยังไม่ถูกนำออกมาใช้งาน … แต่ในกรณีของ 訟 (ซ่ง, การชิงลงมือ) นี้ จะเป็นเรื่องของการใช้ 'บุคลากร' ผลักดัน 'นโยาบาย' ซึ่งถือว่าเป็น 'การรุกเพื่อหยั่งเชิง' หรือเป็น 'การตั้งรับด้วยการรุก' ที่ใช้ 'แข็งนอกอ่อนใน' จึงกลายเป็นภาพที่ 'ระดับปฏิบัติการ' จะใช้ 'ศักยภาพ' หรือ 'ทรัพยากร' ที่มีอยู่เพื่อ 'บุกตะลุยออกไป' (⚌) โดยมี 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับนโยบาย' คอย 'สอดส่องดูแล' และคอย 'ปรับเปลี่ยนท่าที' (⚎) ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ … ลักษณะที่ว่านี้ จึงถือว่ามี 'ความเสี่ยง' และจำเป็นต้องมี 'การตักเตือน' ให้ใช้ 'ความถี่ถ้วน' และให้รู้จักใช้ 'ความตรึกตรอง' อย่าง 'ระมัดระวัง' เพื่อจะพิจารณา 'ทางเลือก' หลายๆ ทาง สำหรับการใช้จ่าย 'ทรัพยากร' ให้มี 'ประสิทธิภาพ' และเกิด 'ประสิทธิผล' ที่สูงสุดเสมอ