Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第六十卦 : 節

 

節 : 水澤節 ‧ 坎上兌下

節 : 亨‧苦節不可貞‧

  • 初九 : 不出戶庭‧無咎‧
  • 九二 : 不出門庭‧凶‧
  • 六三 ‧ 不節若‧則嗟若‧無咎‧
  • 六四 : 安節‧亨‧
  • 九五 : 甘節‧吉‧往有尚‧
  • 上六 : 苦節‧貞凶‧悔亡‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ เด็ดขาด-ชัดเจน (⚌) ; สติปัญญา ยืดหนุ่น-มั่นคง (⚏) ; พฤติกรรม อ่อนน้อมด้วยหลักการ (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : การพัฒนา 'สำนึกระบบ' ให้บังเกิดผลเป็น 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ดีนั้น จะต้องมีการปลูกฝังค่านิยมของความมีส่วนร่วม (☱) ให้กับบุคลากร (☵) ทุกๆ ระดับอย่างจริงจัง ; ระดับบริหารจึงต้องมี 'ความเด็ดเดี่ยว-ชัดเจน' (⚌) ใน 'เป้าหมาย' และ 'วัตถุประสงค์' ของการริเริ่ม ; การวางแผนงานต้องมี 'ความรอบคอบ-รัดกุม' (⚏) ; การปฏิบัติงานต้องมี 'ความยืดหยุ่น' บทพื้นฐานของ 'หลักการที่ชัดเจน' (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : สัมพัทธภิบาล, แอ่งน้ำเหนือทะเลสาบ



ความหมายของชื่อเรียก : Modularizing :  สัมพัทธภิบาล


เจออักษรเจ้าปัญหาเข้าให้อีกแล้วล่ะครับสำหรับบทนี้ เพราะความหมายของอักษร 節 (jié, เจี๋ย) นั้นมีความหลากหลายพอๆ กับคำแปลของหลายๆ ตำราที่มีอยู่เลยทีเดียว โดยมีหลายตำราให้ความหมายของ 節 (jié, เจี๋ย) ว่า Limiting หรือ 'การกำหนดขอบเขต'; บ้างก็ว่า Restricting หรือ 'การเข้มงวดกวดขัน'; กับมีบางตำราก็ใช้คำว่า Articulate หรือ 'การเชื่อมโยง'; และอื่นๆ อีกหลายคำที่ล้วนแล้วแต่เอาความหมายของ 節 (jié, เจี๋ย) ไป 'ตีความ' ตาม 'ทัศนคติ' ของผู้แปลเอาเอง ... 😥

ความจริงแล้ว 節 (jié, เจี๋ย) เป็นการผสม 'ภาพอักษร' สามภาพเข้าด้วยกัน คือด้านบนเป็นภาพของ 'กิ่งไผ่' (竹 : zhú, จู๋) ซึ่งบางตำราก็ว่ามันเป็นภาพของ 'กิ่งไม้-ใบหญ้า' (艸 : cǎo, เฉ่า) แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็เกี่ยวกับ 'พืช' หรือ 'ต้นไม้' ด้วยกันทั้งคู่อยู่ดี ; ด้านล่างซ้ายมือเป็นภาพของ 'เมล็ดพืช' ซึ่งมีรากงอกออกมาสองเส้น โดยมียอดอ่อนโผล่หัวขึ้นไปเล็กน้อย แต่บางตำราก็ว่ามันดูเหมือน 'หัวเผือก-หัวมัน' แล้วก็เลย 'อนุมาน' กันว่ามันคือ 'ของกิน' ไปซะเลย ; สำหรับด้านล่างขวามือเป็น 'ภาพอักษร' ที่ดูคล้าย 'คนย่อตัวลงนั่ง' ซึ่งพอมองรวมๆ ทั้งสามส่วนแล้วก็จะ 'ตีความ' ได้ประมาณว่า 'คนนั่งลงรับประทานอาหารใต้ร่มไม้' ... กลายมาเป็นที่มาของความหมายว่า 'หยุด' หรือ 'พัก' ซึ่งทำให้ 節 (jié, เจี๋ย) กลายเป็นคำต่อท้ายชื่อ 'เทศกาล' ต่างๆ ในรอบปีปฏิทิน แล้วก็เลยถูกใช้ในความหมายว่า 'ข้อต่อ', 'ปล้อง', 'ปม', 'เงื่อน', อันเป็น 'จุดเชื่อมต่อ' สำหรับสิ่งต่างๆ ที่มีการ 'แบ่งเป็นส่วนๆ', 'แบ่งเป็นท่อนๆ'  ; ซึ่งพอเป็นอย่างนั้น มันก็เลยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 檢 (jiǎn, เจี่ยน) ที่แปลว่า 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ' ในลักษณะที่มี 'การจำแนกแยกแยะออกเป็นส่วนๆ' กับทำให้มันถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 制 (zhì, จื้อ) ที่แปลว่า 'ควบคุม', หรือ 'จัดวางระบบระเบียบ' เพื่อ 'จำแนกเป็นขั้นเป็นตอน' หรือ 'แจกแจงความรับผิดชอบ' ของแต่ละส่วนงานให้เกิด 'ความัดเจน' ... เหล่านี้ก็คือความหมายที่เป็นไปได้ทั้งหมดของอักษร 節 (jié, เจี๋ย) ... มึนไปเลยมั้ยล่ะ ?!!?? ...

เพราะฉะนั้น มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นล่ะครับ นอกจากจะต้องย้อนกลับไปดู 'ต้นเรื่อง' ของ 'ลำดับความหมาย' ที่ King Wen กับ 'จิวกง' ผูกโยงเนื้อความทั้งหมดเข้าด้วยกัน ... ซึ่งโดยทฤษฎีของผม ... 節 (jié, เจี๋ย) จะต้องเกี่ยวข้องกับวรรคที่สี่ของบทที่สอง ซึ่งจะโยงความหมายที่เกี่ยวเนื่องกัน ไปยังบทที่สิบสอง (否 : pǐ, ผี่ : การยืนหยัด), บทที่ยี่สิบสี่ (復 : fù, ฟู่ : ความแน่วแน่มั่นคง), บทที่สามสิบหก (明夷 : míng yí, มิ๋งอี๋ : ครองสติอย่างมั่นคง), และบทที่สี่สิบแปด (井 : jǐng, จิ่ง : การแบ่งสันปันส่วน) ... อ้ะ ... เรามาดูกัน ...

วรรคที่สี่ของบทที่สองมีใจความอย่างนี้ครับ ...
'จงมีความหนักแน่นมั่งคง มีความมุ่งมั่นในภารกิจ และมีสำนึกในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด (括囊) … ไม่ไยดีต่อ (คือไม่สะสม) คำติฉินนินทา หรือคำค่อนขอดว่าร้ายที่ไม่สร้างสรรค์ (無咎) ซึ่งรังแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของตนเอง … ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลต่อ (คือไม่สะสม) คำยกย่องสรรเสริญ หรือคำเยินยอปอปั้นใดๆ (無譽) ที่รังแต่จะเพาะความหยิ่งผยองลำพองใจให้กับตนเองอย่างไร้ประโยชน์' ... ซึ่งก็คือ 'ความหนักแน่นแน่วแน่-ไม่หวั่นไหว'

พอมาเป็นบทที่สิบสอง King Wen ขยายความให้กับ 否 (pǐ, ผี่) ว่า ...
'การยืนหยัดเพื่อจะกระทำการใดๆ (否之) ย่อมต้องรู้จักใช้วิจารณญาณในการจำแนกแยกแยะผู้คน (匪人) หากไม่มีความหนักแน่น (不利) ด้วยวุฒิภาวะแห่งผู้นำ (君子貞) ย่อมนำไปสู่การทุ่มเท (大往) อย่างไร้คุณค่าความหมาย (小來)' ... เป็นเรื่องของ 'ภาวะผู้นำ' ที่ต้อง 'รู้จักแยกแยะ'

มาดูบทที่ยี่สิบสี่กันมั่งครับ ... King Wen สาธยายคำบรรยายให้กับ 復 (fù, ฟู่) ไว้ว่า ...
'พัฒนาการอันโดดเด่นก้าวหน้า (亨) ย่อมเพราะมีการดำเนินงาน (出入 คือเดินหน้าและยับยั้ง) อย่างไม่หวั่นไหวร้อนรน (無疾) แม้การตอบรับของมิตรสหายจะไร้ข้อตำหนิติติง (朋來無咎) หรือแม้คู่อริจะแข็งขืนต่อต้านทุกวิถีทาง (反復其道) ก็ยังคงดำเนินการด้วยความรัดกุมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน (七日來復) ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ (利) เยี่ยงนี้ ย่อมส่งผลให้ประสบกับความสำเร็จที่คู่ควรในบั้นปลาย (有攸往) ได้เสมอ' ... ประเด็นนี้ก็จะเป็นเรื่องของ 'ความสุขุมรัดกุม'

สำหรับคำบรรยายของ 明夷 (míng yí, มิ๋งอี๋) ในบทที่สามสิบหกก็คือ ...
'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) อย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (艱) เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งคุณธรรม (貞) ทั้งปวง' ... เป็นเรื่องของ 'การครองสติ' ที่ 'มั่นคง' อย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ต่ออุปสรรคและความยากลำบากทั้งปวง

พอมาถึงบทที่สี่สิบแปด เราก็ได้พบกับความหมายของ 井 (jǐng, จิ่ง) ว่า ...
'อันการปรับปรุงเพื่อพัฒนา (改) ชุมชนและหมู่คณะ (邑) ย่อมไม่อาจ (不) บิดเบือน (改) โครงสร้างของการแบ่งสันปันส่วน (井) ที่เหมาะสม ผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ (無喪) ย่อมไม่คู่ควรแก่การได้รับสิ่งตอบแทน (無得) การอุทิศให้ (往) และการได้รับผลสนอง (來) จำเป็นต้องต่างตอบแทน (井井) ให้สมแก่เหตุปัจจัย ... ความเสมอภาคกัน (汔) อย่างสุดโต่ง (至) นั้น ย่อมเปรียบเสมือน (亦) การเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ยอมสาวเชือกเพื่อตักน้ำขึ้นจากบ่อ (未繘井) สามารถเบียดเบียนประโยชน์จากน้ำในถังของผู้อื่น (羸其瓶) โดยมิได้ลงแรง อันเป็นความเลวร้ายที่จะบ่อนทำลาย (凶) จิตสำนึกของทั้งสังคม' ... เป็นประเด็นของ  'หลักอุเบกขา' เพื่อการสร้าง 'ความเสมอภาค' และ 'ความเท่าเทียมกัน' ในสังคม ซึ่งจะต้องเป็นไปตาม 'เหตุปัจจัย' อย่าง 'สมเหตุสมผล' เสมอ ...

สรุปว่า ผมหาคำปรกติมาใช้แทนคำว่า 節 (jié, เจี๋ย) ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องหาเรื่องสร้างนิยามของคำขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมความหมายจริงๆ ที่ต้องการจะสื่อออกมา ...

ในชั้นแรกผมเชื่อว่าพวกเราแทบทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า modular (mɒjələr), modularity (mɒjələritɪ), หรือ module (mɒju:l) ที่ออกเสียงกันผิดๆ ว่า 'โมดูล' เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งคำนี้มักจะหมายถึง
'หน่วยย่อยๆ ที่ประกอบเข้าด้วยกันเป็นระบบใหญ่' โดยลักษณะของมันก็คือ 'การกำหนดบทบาท-หน้าที่ของแต่ละส่วนย่อยๆ ให้มีความเฉพาะเจาะจง' อันเป็นความหมายหนึ่งที่แฝงอยู่ในคำว่า Limiting หรือ Restricting ของหลายๆ ตำราอยู่แล้ว ... ในขณะที่ 'การเชื่อมโยงเข้าเป็นระบบใหญ่' ก็จะไปพ้องกับคำว่า Articulating ของบางตำราไว้อีกชั้นหนึ่ง ... ด้วยเหตุนี้ คำว่า modular หรือ modularity จึงเป็นคำนามที่มีความครอบคลุมทั้ง 'การแบ่ง' และ 'การรวม' ไว้ในคำเดียวกัน แต่เนื่องจากคำกริยา modulate ถูกใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะทางของบางสาขาวิชาไปแล้ว ผมจึงเลือกสร้างคำกริยาจาก modular เป็น Modilarize และ Modularizing ขึ้นมาแทน เพื่อคงความหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า modular และ modularity เอาไว้ตามเดิม โดยตัดคำว่า Governing (การปกครอง) หรือ Constituting (การสถาปนาระบบระเบียบ) ที่เคยคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้ออกไปซะเลย ...

โดยธรรมชาติแล้ว 'กลไกทางสังคม' จะทวี 'ความสลับซับซ้อน' ยิ่งๆ ขึ้นไปโดยจำนวนของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา 'การปกครอง' และ 'การบริหารจัดการ' จึงจำเป็นต้องได้รับ 'การออกแบบ' ไว้อย่าง 'มีประสิทธิภาพ' และสามารถ 'ยืดหยุ่น' ได้ตามขนาดของสังคมที่แตกต่างกันไป การสร้างความเป็น Modularity ทางสังคม คือมาตรการหนึ่งที่จะช่วยรักษา 'ความเรียบง่าย' ของ 'ระบบระเบียบ' ต่างๆ ของแต่ละภาคส่วน ให้สามารถ 'เชื่อมโยง' ไปยังภาคส่วนอื่นๆ อย่าง 'มีแบบแผนที่ชัดเจน' เพื่อจะรับมือกับ 'ความสลับซับซ้อน' ที่เกิดขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิด 'ความสับสนวุ่นวาย' จนกลายเป็น 'ปัญหาทางสังคม' เมื่อเวลาผ่านไป ... การที่เราจะต้องพิจารณา 'ความเป็นหน่วยย่อย' ควบคู่กันไปกับ 'ความเป็นองค์รวม' นี้เองที่ทำให้ผมสร้างคำว่า
'สัมพัทธภิบาล' ขึ้นมาอธิบายความหมายของ Modularizing ที่ผมเลือกมานิยามให้กับ 節 (jié, เจี๋ย) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ที่มี 'ภาพลัญลักษณ์' เป็น 'แอ่งน้ำ' (☵) เหนือ 'ทะเลสาบ' (☱) อย่างค้านความหมายของทุกตำราที่เคย 'ตีความ' กันมาแล้ว !!?!?!!

เอาเป็นว่า เฉพาะ 'ชื่อเรียก' ก็ฉีกไปเป็นคนละแนวทางกับหลายตำราซะก่อนแล้ว เราก็คงต้องมาดูล่ะครับว่า เนื้อความส่วนที่เหลือของบทที่หกสิบนี้จะออกมายังไงต่อไป !?!!?




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨苦節不可貞
hēng kǔ jié bù kě zhēn
เฮิง ขู่ เจี๋ย ปู้ เข่อ เจิ




เจอกับอักษร 亨 (hēng, เฮิง) เป็นครั้งที่เจ็ดแล้วนะครับสำหรับ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ซึ่งเริ่มตั้งแต่บทที่ห้าสิบเอ็ดเป็นต้นมา และน่าจะทำให้เรา 'ตีความ' ไปต่างๆ นาๆ ได้ว่า 亨 (hēng, เฮิง) คือสาระสำคัญของ 'อำนาจการปกครอง' เพราะ 亨 (hēng, เฮิง) มีความหมายที่ครอบคลุมถึงแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

สำหรับอักษร 苦 (kǔ, ขู่) ที่เพิ่งจะโผล่มาให้เห็นในบทนี้ โดยทั่วไปก็จะแปลว่า 'ขม', 'ขมขื่น', 'ลำบากลำบน', ซึ่งบางทีก็จะกลายเป็น 'เจ็บป่วย', หรือ 'ทุกช์ทรมาน' ; ถ้าใช้ในฐานะของคำกริยาก็จะหมายถึง 'สร้างความลำบาก', 'สร้างความยุ่งยาก', หรือ 'ทำให้อึดอัดรำคาญ', และไปถึงขั้นที่ 'ทำร้าย', หรือ 'ทารุณ' ไปเลยก็ได้

ขอข้ามไปที่ 貞 (zhēn, เจิน) ที่เราเจอแล้วเจออีกมาตลอดทั้งเล่มคัมภีร์ก่อนแล้วกัน โดยครั้งแรกสุดผมให้ความหมายไว้ในบทที่หนึ่งว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม', 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย' ... จากนั้นก็วนๆ เวียนๆ อยู่กับความหมายว่า 'คุณธรรม' ซะหลายต่อหลายครั้ง

ขอย้อนกลับมาที่อักษร 節 (jié, เจี๋ย) ที่ผมสร้างคำว่า 'สัมพัทธภิบาล' ขึ้นมาเป็น 'ชื่อบท' อีกครั้งนะครับ โดย 'การตีความ' ของผมที่กำหนดให้วัฏจักรสุดท้ายของ 'คัมภีร์อี้จิง' เป็น 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' เพื่อ 'การปกครอง' เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหลักสำคัญประการหนึ่งก็คือ 'การกระจายอำนาจ' และ 'การกำหนดกรอบความรับผิดชอบ' (Limiting หรือ Restricting) ของแต่ละภาคส่วนให้มี 'ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน' (Articulating) อย่างลงตัว ... การที่แต่ละภาคส่วนมิได้ 'แยกขาดจากกันโดยสัมบูรณ์' นี้เองที่ทำให้ทุกๆ ภาคส่วนล้วนมี 'ข้อจำกัดเชิงสัมพัทธ์' กับภาคส่วนอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันในโครงสร้างมหภาค ... 'ความไม่เดียงสา' ต่อหลักการที่ว่านี้ ย่อมนำไปสู่ 'ความเลอะเลือน' ของ 'อำนาจการบริหาร' และ 'ความไม่เป็นรูปกระบวน' ที่นำไปสู่ 'ความชะงักงัน' หรือ 'ความสับสนวุ่นวาย' อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ดังนั้น ถ้าเราถาม King Wen ว่า
'สัมพัทธภิบาล' (節) คืออะไร ท่านก็คงจะตอบว่า ... คือ 'การบริหารกิจการงานต่างๆ ด้วยความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนอย่างชัดเจน เพื่อประสานศักยภาพและความสามารถจากทุกๆ ภาคส่วนให้บังเกิดผลเป็นความเจริญก้าวหน้าอย่างมีระบบระเบียบแบบแผน (亨) สัมพัทธภิบาลที่เต็มไปด้วยความขลุกขลักทุลักทุเลโดยเงื่อนไขที่จุกจิกน่ารำคาญ (苦節) ย่อมมิอาจ (不可) สร้างความหมดจดชัดเจนต่อระเบียบกฎเกณฑ์ (貞) ที่พึงปฏิบัติ' ... ด้วยเหตุที่ 'ความจุกจิกหยุมหยิม' ที่เกินจำเป็นของ 'ระบบระเบียบ' ต่างๆ นั้น คือ 'เหตุปัจจัย' ที่เอื้อต่อ 'การทุจริต' ที่สามารถ 'อำพรางความไม่โปร่งใส' ทุกอย่างจนยากแก่ 'การตรวจสอบ' นั่นเอง !!?!!?! ... เด็ดขาดมากเลยครับท่าน !!!?!!




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

不出戶庭無咎
bù chū hù tíng wú jiù
ปู้ ฌู ฮุ่ ทิ๋ง อู๋ จิ้ว




ขอซ้ำอักษร 出 (chū, ฌู) อีกครั้งแล้วกัน ตัวนี้แปลว่า 'ออก', 'นำออกมา', 'ส่งออกไป', 'ยื่นให้', 'ลุกขึ้น', 'งอกออกมา', 'โผล่ออกมา', 'ปรากฏ'

戶 อ่านว่า hù (ฮู่) แปลว่า 'ประตู', 'ครอบครัว', 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ห้องหับ' หรือ 'อาณาเขตในบ้าน (ที่มีการจัดแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนต่างๆ ซึ่งมักจะมีประตูกั้น)' ; บางครั้งจึงสามารถแปลว่า 'ป้องกัน' หรือ 'คุ้มครอง' ได้ด้วย ; ปรกติแล้ว 戶 จะใช้สำหรับเรียก 'ประตูภายในบ้าน' หรือ 'ประตูห้อง' … ถ้าเป็น 'ประตูบ้าน' หรือ 'ประตูห้องโถง' หรือ 'ประตูรั้ว' เขาจะใช้คำว่า 門 (mén, เมิ๋น) … ดังนั้น มันจึงสามารถแปลว่า 'ที่หลบซ่อน', 'ช่องทาง (ลับ)' ; และสามารถหมายถึง 'ถ้ำ' หรือ 'รัง' ก็ยังได้

 

庭 อ่านว่า tíng (ทิ๋ง) มักจะแปลว่า 'ห้องโถง' หรือ 'ห้องขนาดใหญ่' โดยสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 廷 tíng (ทิ๋ง) ที่หมายถึง 'ท้องพระโรง' ในเขตพระราชฐานด้วย


ผมมีความรู้สึกว่า 戶庭 (hù tíng, ฮู่ ทิ๋ง) ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ในวรรคนี้น่าจะหมายถึง 'ขอบเขตแห่งศักยภาพของตน' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ห้องหับอันเป็นที่รโหฐาน' ทางกายภาพจริงๆ โดย 庭 (tíng, ทิ๋ง) ในที่นี้ก็น่าจะหมายถึง 'หน่วยงานในความกำกับดูแล' แทนที่จะหมายถึง 'ห้อง' ตามความหมายปรกติของมันด้วย ... ดังนั้น ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ ... 'การปฏิบัติงานที่ไม่ก้าวล่วง (不出) ขอบเขตแห่งศักยภาพของหน่วยงานในความกำกับดูแลของตน (戶庭 หมายถึงการไม่ทำสิ่งที่เกินกว่ากำลังของตน) ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... เพราะ 'การปฏิบัติงานที่เกินกำลังตน' จะสะท้อนถึง 'ความไม่หนักแน่น' จึง 'ไม่รู้จักแยกแยะ' และดำเนินกิจการงานต่างๆ ด้วย 'ความไม่รอบคอบรัดกุม' หรือ 'ขาดสติยั้งคิด' ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น 'เหตุแห่งความเสื่อม' ทั้งนั้นเลย !!


 

สอง หยาง :

不出門庭凶
bù chū mén tíng xiōng
ปู้ ฌู เมิ๋น ทิ๋ง เซฺวิง




เนื้อความในวรรคนี้สะท้อนถึงความละเอียดลึกซึ้งของ 'จิวกง' อย่างน่าสนใจมากครับ เพราะท่านเลือกเล่น 'คู่คำ' ของ 戶庭 (hù tíng, ฮู่ ทิ๋ง) ในวรรคที่หนึ่งด้วยคำว่า 門庭 (mén tíng, เมิ๋น ทิ๋ง) ในวรรคที่ต่อเนื่องกันทันทีเลย ... โดยผมให้ความหมายของ 戶庭 (hù tíng, ฮู่ ทิ๋ง) ว่า 'ขอบเขตแห่งศักยภาพของหน่วยงานในความกำกับดูแลของตน' ในวรรคก่อน ... ผมก็เลย 'เห็น' คำว่า Comfort Zone ลอยมาเป็นความหมายให้กับคำว่า 門庭 (mén tíng, เมิ๋น ทิ๋ง) ซะงั้น !!?! ...

คืออย่างนี้ ... แม้ว่า 'การสังวรในศักยภาพของตน' นั้นเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ควรจะต้อง 'ปฏิบัติอย่างตั้งใจ' เสมอนะครับ แต่ 'การดักดานในศักยภาพของตน' มันคือ 'การไม่ยอมพัฒนา' และอาจจะถึงขั้นที่เป็น 'การทำลายตัวเอง' ด้วยในระดับหนึ่ง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว 'ศักยภาพ' ของทุกสรรพสิ่ง ล้วนมี 'ความเสื่อม' หรือ 'ความถดถอย' ไปตาม 'ความเปลี่ยนแปลง' ของ 'สภาวะแวดล้อม' และ 'สังขาร' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' เอง ... ดังนั้น ...
'การปฏิบัติงานโดยไม่มีการพัฒนากระบวนทัศน์ให้กว้างไกลไปกว่า (不出) กรอบอันจำกัดแห่งศักยภาพของหน่วยงานในความกำกับดูแลของตน (門庭) ย่อมนำไปสู่ความล่มสลาย (凶) เมื่อสภาวการณ์แวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม' ... 'การรู้จักประมาณตน' กับ 'การจำกัดตัวเอง' จึงเป็น 'วิถีทาง' ที่ให้ผลลัพธ์แตกต่างกันเสมอ !!

ผมต้องขอเสริมไว้ตรงนี้อีกประเด็นหนึ่งสำหรับคำว่า 'กรอบ' หรือ 'ขอบเขต' ของ 'การปฏิบัติงาน' เพราะโดยมากแล้ว คำๆ นี้ได้กลายเป็น 'ข้อจำกัด' ที่หลายๆ คนใช้เป็น 'ข้ออ้าง' ในการ 'ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง' ในขณะที่อีกหลายๆ คนก็ใช้เป็น 'ข้ออ้าง' ใน 'การละเมิดกฎเณฑ์' จนกลายเป็น 'ความสับสนวุ่นวาย' ใน 'โครงสร้างการบริหารจัดการ' ตลอดจน 'ระบบระเบียบ' ต่างๆ ที่มีอยู่ ... ซึ่งทั้ง 2 กรณีล้วนเป็นสิ่งสะท้อนถึง 'ความไม่เข้าใจ' หรือ 'ความไม่ถูกกาละ-เทศะ' ใน 'กระบวนทัศน์' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' นั้นๆ เอง ...


'การอยู่ในกรอบ' เป็นสิ่งที่ดีเสมอ ตราบใดที่มันจะช่วย 'ส่งเสริม' ให้ทุกๆ ภาคส่วนมี 'พัฒนาการ' อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' กับมี 'ลำดับขั้นตอน' ที่สอดคล้องกับ 'ทิศทาง' และ 'เป้าหมาย' ของ 'การพัฒนา' ใน 'ระดับองค์รวม' ... ในขณะที่ 'การคิด' และ 'การทำนอกกรอบ' ก็ยังเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ตราบใดที่มันจะช่วย 'พัฒนาโลกทัศน์' และ 'ขยายศักยภาพ' ให้สามารถ 'ก้าวข้ามข้อจำกัด' ต่างๆ ไปสู่ 'มิติแห่งบริบทใหม่ๆ' ที่กว้างไกลยิ่งๆ ขึ้นไป ...


 

สาม หยิน :

不節若則嗟若無咎
bù jié ruò zé jiē ruò wú jiù
ปู้ เจี๋ย ญั่ว เจ๋อ เจีย ญั่ว อู๋ จิ้ว




若 อ่านว่า ruò (ญั่ว) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', 'เคารพกฎเกณฑ์' ; พอใช้เป็นคำกริยาก็เลยมีความหมายคล้ายๆ กับว่า 'สัญญา', 'คล้อยตาม', หรือ 'ทำให้เป็นเช่นนั้น'

則 อ่านว่า zé (เจ๋อ) แปลว่า 'เงื่อนไข', 'มาตรฐาน', 'กฎระเบียบ', 'ปฏิบัติตาม' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'ผลลัพธ์' ก็ได้

嗟 อ่านว่า jiē (เจีย) แปลว่า 'ทอดถอนใจ', 'เศร้าใจ', 'อึดอัดใจ' ; ซึ่งบางครั้งยังหมายถึง 'การอุทานด้วยความท้อแท้ใจ' ด้วย

เมื่อ 'จิวกง' เปิดประเด็นในสองวรรคแรกด้วย 'ปมขัดแย้ง' ของ 'การรู้จักประมาณตน' หรือ 'ความยอมรับในขอบเขต' กับ 'การพัฒนาศักยภาพตน' หรือ 'การก้าวข้ามข้อจำกัด' ผมก็เชื่อว่า 'จิวกง' ต้องการจะย้ำประเด็นดังกล่าวอีกครั้งว่า ...
'สัมพัทธภิบาลที่มิได้กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ด้วยเหตุด้วยผลที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน (不節若) ย่อมนำไปสู่ (則) การปฏิบติงานที่ซ้ำซ้อนยุ่งเหยิงอย่างน่าท้อแท้รำคาญ (嗟若) โดยไม่พบสาเหตุแห่งความผิดปรกติใดๆ (無咎)' ...

ผมมีความรู้สึกว่า วลีนี้ของ 'จิวกง' มีความแหลมคมเป็นอย่างมากนะครับ และทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า The Set Up To Fail Syndrome ขึ้นมา ... มันคือ 'ความล้มเหลว' ที่เกิดจาก 'โครงสร้างของระบบ' โดยที่ไม่อาจตรวจพบ 'ความผิดปรกติ' ของหน่วยปฏิบัติงานใดๆ เลย ... เพราะแม้ว่า 'ผู้ปฏิบัติงาน' จะเป็นหนึ่งใน 'เหตุปัจจัย' แห่ง 'ความสำเร็จ' ใดๆ ก็ตาม แต่ 'ระบบงานที่เลวร้าย' ก็ยังเป็น 'เหตุปัจจัย' ที่จะคอย 'บั่นทอนศักยภาพ' ทั้งมวลที่มีอยู่ให้เสื่อมถอยด้อยประสิทธิผลลงไปได้ตลอดเวลา ...
'ยอดคน' ที่มิได้รับ 'โอกาส' ยอมมิอาจสำแดง 'อัจฉริยภาพ' ให้ปรากฏ ; 'โอกาสดี' ที่ไม่มี 'ยอดคน' มาสืบสาน ย่อมไม่อาจพัฒนาไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ... 'ประเทศชาติบ้านเมือง' จำเป็นต้องมี 'ระบบระบอบ' ที่เอื้อต่อ 'การพัฒนา' อย่าง 'เป็นรูปธรรม' มิใช่เพียงอาศัยการมี 'คนดี' และ 'คนเก่ง' แล้วทุกอย่างก็จะ 'เจริญรุ่งเรือง' ขึ้นมาได้อย่างที่มุ่งหวัง ... คมกริบเลยนะครับ !!



 

สี่ หยิน :

安節亨
ān jié hēng
อัน เจี๋ย เฮิง




อักษร 安 (ān, อัน) เคยเจอมาแล้วนะครับ คำนี้แปลว่า 'สงบ', 'หนักแน่น', 'มั่นคง', 'นิ่ง', แล้วก็ 'ปลอดภัย'

เมื่อมองโดยรวมแล้ว รูปแบบของ 節 (jié, เจี๋ย) หรือ 'สัมพัทธภิบาล' ในบทนี้จะมีการเล่นคำอยู่สามลักษณะด้วยกัน คือ King Wen  เปิดประเด็นด้วยคำว่า 苦節 (kǔ jié, ขู่ เจี๋ย) ที่ 'จิวกง' สรุปใจความไว้ด้วยวลีว่า 不節若 (bù jié ruò, ปู้ เจี๋ย ญั่ว) ในวรรคที่สาม เพื่อที่จะบอกว่า  
'สัมพัทธภิบาล' ที่เต็มไปด้วย 'ความขลุกขลักทุลักทุเล' โดย 'เงื่อนไข' ที่ 'จุกจิกน่ารำคาญ' นั้น มีสาเหตุมาจากการไม่กำหนด 'ขั้นตอน' และ 'หลักเกณฑ์' ต่างๆ ไว้ 'ด้วยเหตุด้วยผล' ที่มี 'ความสอดคล้องสัมพันธ์กัน' นั่นเอง ... ส่วนการกำหนด 'ขั้นตอน' และ 'หลักเกณฑ์' ต่างๆ ให้มี 'ความยืดหยุ่น' ที่ 'ชัดแจ้ง' เพื่อให้ 'การปฏิบัติงาน' มี 'ความประสานสอดคล้อง' ไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'เป็นปึกแผ่น' นั้น ... 'จิวกง' ท่านเรียกว่า 安節 (ān jié, อัน เจี๋ย) ... ซึ่งก็คือลักษณะของ 節 (jié, เจี๋ย) ที่จะมีความเป็น 亨 (hēng, เฮิง) ตามคำบรรยายของ King Wen ... เห็น 'ความเชื่อมโยง' ของการขยายความโดย 'จิวกง' แล้วนะครับ ?!??!! ...

ความหมายของวรรคนี้จึงควรจะ 'ตีความ' ว่า ...
'สัมพัทธภิบาลที่มีความสอดคล้องประสานกันอย่างราบรื่น (安節) ย่อมนำไปสู่พัฒนาการที่เจริญก้าวหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ ด้วยความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย (亨)' ... ทีนี้ ... เราก็ตามไปดูลักษณะที่สามของ 節 (jié, เจี๋ย) ในวรรคถัดไปเลยนะครับ ...


 

ห้า หยาง :

甘節吉往有尚
gān jié jí wǎng yǒu shàng
กัน เจี๋ย จี๋ หฺวั่ง โหฺย่ว ษั้ง




甘 อ่านว่า gān (กัน) แปลว่า 'หวาน', 'รสชาติดี', 'กลมกล่อม', 'สุขสบาย', 'สวยงาม', บางครั้งจึงแปลว่า 'พึงพอใจ', 'เต็มใจ' หรือ 'สมัครใจ' เพราะ 'สบายใจ' ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะมีความหมายเหมือนกับ 酣 (hān, ฮัน) ที่หมายถึง 'ทำงานอดิเรก'

往 อ่านว่า wǎng (หวั่ง) แปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้

尚 อ่านว่า shàng (ษั้ง, ษ้าง) แปลว่า 'ยังมีอีก', 'ยังเหลืออีก', 'นอกเหนือจาก', 'นอกจากนั้น' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ที่ให้ความเคารพ', 'ที่มีความสำคัญ' ในลักษณะคล้ายกับ 'ที่นอกเหนือจากธรรมดา' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'เน้นย้ำ' ; บางทียังแปลว่า 'เก่าแก่', 'อดีตกาลอันไกลโพ้น' ; และยังสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'โดยประมาณ'

วลี 往有尚 (wǎng yǒu shàng, หฺวั่ง โหฺย่ว ษั้ง) ตรงท้ายวรรคนี้เคยถูกใช้มาแล้วในวรรคที่หนึ่งของบทที่ห้าสิบห้านะครับ ซึ่งตอนนั้นผมให้ความหมายไว้ว่า 'การปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของกันและกัน' ... เรามาดูกันซิว่า มันจะไปรับกับลักษณะที่สามของ 節 (jié, เจี๋ย) คือ 甘節 (gān jié, กัน เจี๋ย) ยังไงได้มั่ง ...

ผมเชื่อว่า 'จิวกง' น่ามองอย่างนี้ครับว่า ลักษณะของ 安節 (ān jié, อัน เจี๋ย) หรือ 'ความร่วมมือกันอย่างราบรื่น' นั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการขยายความ เพราะ 'ความไม่ขลุกขลัก' อันเกิดจาก 'การข่มบังคับ' ด้วย 'ระเบียบกฎเกณฑ์' ซึ่งมักจะมีทั้ง 'การให้รางวัล' และ 'การลงทัณฑ์' นั้น ย่อมมีโอกาสที่ 'สัมพัทธภิบาล' ดังกล่าวมิได้เกิดจาก 'ความเข้าใจ' และ 'ความเต็มใจ' ของ 'ผู้ร่วมปฏิบัติงาน' อย่างที่ควรจะเป็น ... ดังนั้น 安節 (ān jié, อัน เจี๋ย) จึงพัฒนาไปได้ไกลที่สุดก็แค่ 亨 (hēng, เฮิง) แต่ยังไม่ 吉 (jí, จี๋) ... หรือถ้าจะใช้คำให้ร่วมสมัยซะหน่อย เราก็อาจจะใช้คำว่า ... Good แต่ัยงไม่ Great ... อะไรประมาณนั้น !! ... 😋

ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อในที่นี้ก็คือ ...
'สัมพัทธภิบาลอันกลมเกลียวด้วยความสมัครใจ (甘節) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด (吉) โดยมีการปฏิบัติต่อกัน (往) ด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรี (有尚) ของกันและกันอยู่เสมอ' ...



 

หก หยิน :

苦節貞凶悔亡
kǔ jié zhēn xiōng huǐ wáng
ขู่ เจี๋ย เจิน เซฺวิง หุ่ย วั๋ง



แล้ว 'จิวกง' ย้อนกลับมาที่ลักษณะแรกของ 節 (jié, เจี๋ย) อีกครั้ง เพื่อเน้นย้ำสิ่งที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ในคำบรรยายของชื่อบทที่ว่า ... 'สัมพัทธภิบาลที่เต็มไปด้วยความขลุกขลักทุลักทุเลโดยเงื่อนไขที่จุกจิกน่ารำคาญ (苦節) ย่อมมิอาจ (不可) สร้างความหมดจดชัดเจนต่อระเบียบกฎเกณฑ์ (貞) ที่พึงปฏิบัติ' ... โดย 'จิวกง' ถึงกับเปลี่ยนวลี 不可貞 (bù kě zhēn, ปู้ เข่อ เจิน) ที่ King Wen เลือกใช้ ให้กลายเป็น 貞凶 (zhēn xiōng, เจิน เซฺวิง) อันหมายถึง 'ความย่อยยับของระบบระเบียบกฎเกณฑ์' หรือ 'ความล่มสลายของระบบคุณธรรม' ไปซะเลย !! ...

แต่วลีปิดท้ายว่า 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) นี่สิที่น่าสนใจ ซึ่งโดยปรกติที่เราเจอมาตลอดทั้งเล่มคัมภีร์ คำนี้มักจะมีความหมายว่า 'ปราศจากความอึดอัดคับข้องใจ' หรือไม่ก็จะออกมาในลักษณะของ 'ความหมดทุกข์หมดโศก' ... แต่ถ้า 'ระบบคุณธรรม' มันถึงกับ 'พังพินาศ' ลงไปจริงๆ เพราะ 'สัมพัทธภิบาล' ที่ 'ล้มเหลว' ... มันควรจะ 'หมดทุกข์หมดโศก' ได้รึเปล่า ??! ... ตรงนี้จึงต้องย้อนกลับไปดูความหมายจริงของ 悔 (huǐ, หุ่ย) กันอีกซักครั้งแล้วล่ะครับ ...

อักษร 悔 (huǐ, หุ่ย) มีความหมายว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่เป็น 'ความเสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก ดังนั้น ความหมายแฝงอื่นๆ ของ 悔 (huǐ, หุ่ย) จึงเป็นเรื่องของ 'ความไม่สบายใจอันเนื่องมาจากตัวเอง' ไม่ว่าจะเป็น 'ความอึดอัดใจ', 'ความคับแค้นใจ', หรือ 'ความผิดหวัง' ... และที่เรามองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ 'ความสำนึกผิด' ก็รวมอยู่ในความหมายเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน !!?!!??

ดังนั้น สิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อความหมายไว้ในวรรคสุดท้ายของบทนี้ก็คือ ...
'สัมพัทธภิบาลที่เต็มไปด้วยความขลุกขลักทุลักทุเลโดยเงื่อนไขที่จุกจิกน่ารำคาญ (苦節) ย่อมล้มล้างระบบคุณค่าและคุณธรรมทั้งปวงให้พินาศย่อยยับ (貞凶) มโนสำนึกในความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจักล่มสลาย (悔亡) ลงไปในที่สุด' ...




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เจี๋ย' คือ สัมพัทธภิบาล, แอ่งน้ำเหนือทะเลสาบ

'สัมพัทธภิบาล' (節) คือ 'การบริหารกิจการงาน' ต่างๆ ด้วย 'ความเข้าใจ' และ 'ตระหนัก' ใน 'บทบาท-หน้าที่' ของแต่ละภาคส่วนอย่าง 'ชัดเจน' เพื่อ 'ประสานศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' จาก 'ทุกๆ ภาคส่วน' ให้บังเกิดผลเป็น 'ความเจริญก้าวหน้า' อย่างมี 'ระบบระเบียบแบบแผน' (亨) 'สัมพัทธภิบาล' ที่เต็มไปด้วย 'ความขลุกขลักทุลักทุเล' โดย 'เงื่อนไข' ที่ 'จุกจิกน่ารำคาญ' (苦節) ย่อมมิอาจ (不可) สร้าง 'ความหมดจดชัดเจน' ต่อ 'ระเบียบกฎเกณฑ์' (貞) ที่ 'พึงปฏิบัติ'

    •  'การปฏิบัติงาน' ที่ 'ไม่ก้าวล่วง' (不出) 'ขอบเขต' แห่ง 'ศักยภาพ' ของ 'หน่วยงานในความกำกับดูแล' ของตน (戶庭 หมายถึง 'การไม่ทำสิ่งที่เกินกว่ากำลังของตน') ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาด-เสียหาย' (無咎)
    • 'การปฏิบัติงาน' โดยไม่มี 'การพัฒนากระบวนทัศน์' ให้ 'กว้างไกล' ไปกว่า (不出) 'กรอบอันจำกัด' แห่ง 'ศักยภาพ' ของ 'หน่วยงานในความกำกับดูแล' ของตน (門庭) ย่อมนำไปสู่ 'ความล่มสลาย' (凶) เมื่อ 'สภาวการณ์แวดล้อม' เกิด 'ความเปลี่ยนแปลง' ไปจากเดิม
    • 'สัมพัทธภิบาล' ที่มิได้ 'กำหนดขั้นตอน' และ 'หลักเกณฑ์' ต่างๆ ไว้ 'ด้วยเหตุด้วยผล' ที่มี 'ความสอดคล้องสัมพันธ์กัน' (不節若) ย่อมนำไปสู่ (則) 'การปฏิบติงาน' ที่ 'ซ้ำซ้อน-ยุ่งเหยิง' อย่าง 'น่าท้อแท้รำคาญ' (嗟若) โดยไม่พบ 'สาเหตุ' แห่ง 'ความผิดปรกติ' ใดๆ (無咎)
    • 'สัมพัทธภิบาล' ที่มี 'ความสอดคล้องประสานกัน' อย่าง 'ราบรื่น' (安節) ย่อมนำไปสู่ 'พัฒนาการ' ที่ 'เจริญก้าวหน้า' อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' ด้วย 'ความชัดเจน' ใน 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ของทุกๆ ฝ่าย (亨)
    • 'สัมพัทธภิบาล' อัน 'กลมเกลียว' ด้วย 'ความสมัครใจ' (甘節) ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ถึงขีดสุด (吉) โดยมี 'การปฏิบัติต่อกัน' (往) ด้วย 'ความเคารพ' ใน 'เกียรติ' และ 'ศักดิ์ศรี' (有尚) ของ 'กันและกัน' อยู่เสมอ
    • 'สัมพัทธภิบาล' ที่เต็มไปด้วย 'ความขลุกขลัก-ทุลักทุเล' โดย 'เงื่อนไข' ที่ 'จุกจิกน่ารำคาญ' (苦節) ย่อมล้มล้าง 'ระบบคุณค่า' และ 'คุณธรรม' ทั้งปวงให้ 'พินาศย่อยยับ' (貞凶) 'มโนสำนึก' ใน 'ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี' จัก 'ล่มสลาย' (悔亡) ลงไปในที่สุด



The Organization Code :


'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทคือ 'แอ่งน้ำ' (☵ : 坎 : kǎn, ขั่น) เหนือ 'ทะเลสาบ' (☱ : 兑 : duì, ตุ้ย) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า เป็น 'การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร' ที่มุ่ง 'ปลูกฝังค่านิยม' ของ 'ความมีส่วนร่วม' (☱) ให้กับ 'บุคลากร' (☵) ทั่วทั้งระบบ ซึ่งการจะดำเนินการให้สำเร็จได้นั้น 'ระดับนโยบาย' จะต้องมี 'ความเด็ดเดียว-ชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' และ 'วัตถุประสงค์' ของ 'การริเริ่ม' (⚌) ; โดยใน 'ระดับแผนงาน' ก็จะต้องมี 'ความรอบคอบ-รัดกุม' และให้ 'การสนับสนุน' อย่าง 'เต็มกำลัง' (⚏) ; ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติงาน' ก็จะต้องมี 'ความเข้มงวด-จริงจัง' ใน 'หลักการ' และ 'ดำเนินงาน' ด้วย 'ความเข้าอกเข้าใจ' ใน 'ศักยภาพ' ของกันและกัน (⚍)

'เหตุผลสำคัญ' ของ 'การกระจายอำนาจ' นั้น ย่อมสืบเนื่องมาจาก 'ความหลากหลาย' ของ 'เนื้อหา'  และ 'ปริมาณ' ของ 'ภาระกิจ' ที่มากเกินกว่า 'ระบบรวมศูนย์อำนาจสั่งการ' จะสามารถ 'ปฏิบัติภารกิจ' ได้อย่างมี 'ประสิทธิภาพ' และ 'ประสิทธิผล' เท่าที่ควร ; อย่างไรก็ตาม 'การกระจายอำนาจ' และ 'การกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ' ออกเป็นส่วนๆ นั้น ยังเป็น 'ส่วนหนึ่งส่วเดียวกัน' ของ 'ทั้งระบบ' โดย 'ทิศทาง' และ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้ร่วมกันเสมอ ... 'สัมพัทธภาพ' ของ 'ปฏิสัมพันธ์' ที่แต่ละภาคส่วน 'ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน' นั้น คือประเด็นที่ 'ผู้บริหาร' ไม่อาจ 'ละเลย' ด้วย 'การมองข้าม' แต่จะต้อง 'ให้น้ำหนักความสำคัญ' ด้วย 'การทำความเข้าใจ' และ 'กำหนดกรอบเกณฑ์' ต่างๆ 'อย่างสร้างสรรค์' เพื่อ 'ความเป็นระบบระเบียบ' ที่ 'เรียบง่าย', 'หมดจด', 'ชัดเจน' และมี 'พัฒนาการ' ในทุกๆ ด้านอย่าง 'เป็นเอกภาพ'

    • ใน 'การกำกับดูแล' และ 'การปฏิบัติงาน' ให้ 'ประสบผลสำเร็จ' นั้น 'ผู้ปฏิบัติงาน' จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'บทบาทหน้าที่' และ 'ขอบเขตความรับผิดชอบ' ที่ 'ได้รับมอบหมาย' และจะต้อง 'ตระหนัก' ใน 'ขีดจำกัด' แห่ง 'ศักยภาพ' ที่พึงมีสำหรับแต่ละภารกิจที่ต้อง 'ปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง' ; 'ความหย่อนยาน' ใน 'บทบาทหน้าที่', 'การปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความไม่พร้อม', หรือ 'การก้าวก่ายความรับผิดชอบ' ของส่วนงานอื่นๆ ล้วนเป็นมูลเหตุแห่ง 'ความสับสนวุ่นวาย' ภายในระบบงาน อันก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย'
    • 'ความเสื่อม' และ 'ความล่มสลาย' ย่อมเกิดแก่ 'ผู้ที่ไม่ฝักใฝ่' ใน 'การเรียนรู้' และ 'การพัฒนาศักยภาพ' ของ 'ตนเอง' และ 'หน่วยงาน' ให้ 'กว้างไกล' ยิ่งๆ ขึ้นไป
    • 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ที่เต็มไปด้วย 'ความซ้ำซ้อน-ยุ่งเหยิง' และ 'สับสนวุ่นวาย' ย่อมบั่นทอน 'ศักยภาพ' ให้ตกต่ำลงโดยไม่พบสาเหตุแห่ง 'ความผิดพลาด' ใดๆ ; 'ลำดับขั้นตอน' ใน 'กระบวนการปฏิบัติงาน' จำเป็นต้องกำหนดโดย 'หลักเกณฑ์' ที่ 'สอดคล้อง' ประสานกัน 'ด้วยเหตุด้วยผล' มี 'ความหมดจด-เรียบง่าย' และ 'ตรงไปตรงมา' เพื่อมิให้เกิด 'ความคลาดเคลื่อน-สับสน' จนต้อง 'แก้ไขงานซ้ำซาก' โดยไม่เกิด 'ประโยชน์' ใดๆ
    • 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ที่มี 'ความสอดคล้องประสานกัน' อย่าง 'ราบรื่น' ย่อม 'ดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ ด้วย 'ความคล่องตัว' และมี 'พัฒนาการ' ที่ 'เจริญก้าวหน้า' ยิ่งๆ ขึ้นไปในทุกๆ ด้านอย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' โดย 'ความชัดเจน' ใน 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ของทุกๆ ฝ่ายที่จะ 'ขยายขอบเขตออกไป' ตาม 'กำลังแห่งศักยภาพ' ที่ 'สั่งสมเพิ่มพูน'
    • 'การปฏิบัติต่อกัน' ด้วย 'ความเคารพ' ใน 'เกียรติ' และ 'ศักดิ์ศรี' ของ 'กันและกัน' ย่อมเสริมสร้างให้ 'การประสานความร่วมมือระหว่างกัน' มี 'ความหนักแน่น-มั่นคง' ด้วย 'ความสมัครใจ' และพร้อมที่จะ 'ร่วมกันพัฒนา' ไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ของทุกๆ ฝ่ายอย่าง 'ทุ่มเท'
    • 'ความุกจิกหยุมหยิม' ของ 'กฎระเบียบ' และ 'เงื่อนไขปลีกย่อย' ของ 'การปฏิบัติงาน' ที่มิได้ 'ก่อเกิดประโยชน์' ใดๆ คือ 'ปัจจัย' ที่บ่อนทำลาย 'ระบบคุณค่า' และ 'มโนสำนึก' ใน 'คุณธรรม' ทั้งปวงให้ 'พินาศย่อยยับ'
  •