Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十二卦 : 艮

艮 : 艮為山 ‧ 艮上艮下

艮 : 艮其背‧不獲其身‧行其庭‧不見其人‧無咎‧

  • 初六 : 艮其趾‧無咎‧利永貞‧
  • 六二 : 艮其腓‧不拯其隨‧其心不快‧
  • 九三 : 艮其限‧列其夤‧厲薰心‧
  • 六四 : 艮其身‧無咎‧
  • 六五 : 艮其輔‧言有序‧悔亡‧
  • 上九 : 敦艮‧吉‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ นอบน้อมสงบนิ่ง (⚏) ปัญญา กระจ่างแจ้ง-ไม่อวดโอ่ (⚍) กิริยา แข็งขันอย่างนอบน้อม (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : ดำเนินนโยบาย ด้วยความคงเส้นคงวา (⚏) ระดับบริหาร ยืดหยุ่น-ชัดเจน (⚍) ปฏิบัติการ แข็งขัน-มั่นคง (⚎)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การตรึกตรองด้วยปัญญา, ทิวเขาสลับซับซ้อนเรียงรายอย่างนิ่งสงบ



ความหมายของชื่อเรียก : Contemplating : การตรึกตรองด้วยปัญญา



ตัวอักษร 艮 (gèn, เกิ้น) มีความหมายว่า 'ตรงไปตรงมา', 'ทื่อๆ', 'แข็งๆ', 'หยาบกระด้าง', ซึ่งบางทีก็สื่อไปในลักษณะของ 'ปราศจากการขัดเกลา', 'ไม่มีความประณีต', แล้วก็เลยแปลว่า 'เรียบๆ' หรือ 'ง่ายๆ' ไปซะเลย แต่เรากลับไม่ค่อยจะได้เห็นการใช้อักษรตัวนี้ในภาษาจีนโดยทั่วๆ ไปมากนัก ราวกับว่า เราจะพบเห็นอักษร 艮 (gèn, เกิ้น) เฉพาะใน 'คัมภีร์อี้จิง' เท่านั้นเอง ?! ... โดยในบทบันทึกของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น 艮 (gèn, เกิ้น) ถูกใช้เป็นชื่อเรียกของสัญลักษณ์ที่ใช้แทน 'ภูเขา' หรือ 'ภูผา' (☶) อันเป็น 1 ใน 8 'สัญลักษณ์ธาตุ' ของ 'โป้ยก่วย' ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะ King Wen ต้องการจะสื่อถึง 'ความแข็งๆ ทื่อๆ' จนถึงขั้น 'สงบนิ่ง' และแทบจะ 'ไม่หวั่นไหว' ต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ของสภาวะแวดล้อมรอบๆ ตัวนั่นเอง

'ภาพอักษร' เดิมของ 艮 (gèn, เกิ้น) แยกออกได้เป็น 2 ส่วน โดยส่วนบนจะเป็น 'ภาพอักษร' 目 (mù, มู่) ซึ่งหมายถึง 'ลูกนัยตา' หรือ 'การมอง' ส่วนด้านล่างจะดูคล้ายอักษร 人 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คน' แต่บางตำราก็บอกว่ามันแผลงมาจากอักษร 比 (bǐ, ปี่) ที่หมายถึง 'การเทียบเคียง' หรือ 'การเปรียบเทียบ' ซึ่งทำให้อักษร 艮 (gèn, เกิ้น) มีความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ประมาณว่า ... 'การพินิจพิจารณา', 'การไตร่ตรอง', 'การศึกษาเปรียบเทียบ', หรือ 'การเฝ้าสังเกต' และกลายเป็นที่มาของความหมายว่า 'สงบนิ่ง' หรือ 'ไม่หวั่นไหว' ก่อนที่จะแผลงไปเป็นความหมายอื่นๆ ในเวลาต่อมา ... ซึ่งหากเราพิจารณาในแง่นี้แล้ว 'ความตรงไปตรงมา' ในความหมายของ 艮 (gèn, เกิ้น) จึงควรหมายถึง 'ความไม่ถูกบิดเบือนด้วยอิทธิพลทางอารมณ์' หรือ 'การไม่ปรุงแต่งด้วยอารมณ์' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ความซื่อบื้อ', หรือ 'ความไร้อารมณ์' อย่างที่บางคนอาจจะหลงประเด็นไปเลย ... :D

ในแง่ของความต่อเนื่องกับบทที่ห้าสิบเอ็ดนั้น เราจะเห็นว่า จุดเน้นของบทที่ห้าสิบเอ็ด (震 : zhèn, เจิ้น) จะอยู่ที่ 'การดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่หักโหมเอาแต่ใจเพราะความอวดดื้อถือดีในพลานุภาพของตน' การรู้จัก 'สงวนท่าที' ด้วย 'อาการสงบนิ่ง' เพื่อ 'พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบด้าน โดยปราศจากการปนเปื้อนอารมณ์ของตนเข้าไปในหลักการ' จึงเป็นข้อปฏิบัติหนึ่งที่จะต้องใช้ควบคู่กันไปเสมอ ไม่ใช่สงบนิ่งเพียงเพราะยังไม่สบโอกาสที่จะทวงแค้น ... ดังนั้น ... ผมจึงตัดสินใจเลือกใช้คำว่า
Contemplating ที่แว้บขึ้นในใจมาใช้เป็นคำแปลของชื่อบทในคราวนี้ ด้วยเหตุผลที่รากศัพท์ของ contemplate นั้น มาจากการผสมคำระหว่าง com- หรือ con- ซึ่งมีความหมายคล้ายกับ 比 (bǐ, ปี่) กับคำว่า templum ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ 'การเฝ้าสังเกตสิ่งบอกเหตุ' คล้ายกับ 目 (mù, มู่) อย่างค่อนข้างจะตรงตัวพอดี และคำไทยที่ผมเลือกมาใช้คู่กันเป็นชื่อบทก็คือ 'การตรึกตรองด้วยปัญญา' เพื่อจะเน้นว่าเป็น 'การใช้ปัญญาชี้นำ' ไม่ใช่ตัณหาที่เต็มไปอวิชชาของความโลภ, ความโกรธ, และความหลงนั่นเอง

ทีนี้ หากเรามองย้อนกลับไปด้วยทฤษฎีที่ผมนำเสนอเอาไว้ บทที่ห้าสิบสองนี้ก็ควรจะต้องมีความสอดคล้องกับความหมายในวรรคที่สองของบทที่หนึ่ง ซึ่งบันทึกด้วยถ้อยคำของ 'จิวกง' ไว้ว่า ...
'การจะได้พบกับ (見) ยอดคน (龍) นั้น จะต้องหมั่นเสาะหา หรือจะต้องหมั่นบ่มเพาะ และพัฒนาความเป็นยอดคนขึ้นมาอย่างไม่ย่อท้อ (再田) ซึ่งไม่มีความสำเร็จใด (利) ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้พานพบกับ (見) บุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถ (大人)' ... โดยความหมายของ 'การตรึกตรองด้วยปัญญา' นั้น ย่อมหมายถึง 'การรู้จักปล่อยวาง' และ 'การเปิดกว้างทางความคิด' โดยไม่ด่วนสรุปตีความใดๆ ไปตามประสบการณ์ทางอารมณ์ของตนเพียงด้านเดียว แต่จะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างรอบด้าน ทั้งจากบุคคลอื่นๆ และสภาวะแวดล้อมที่ตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนอยู่ตลอดเวลา ... สำหรับในฐานะของ 'ผู้ครองอำนาจ' นั้น ก็จะต้องรู้จักเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันอย่างเปิดเผย เพื่อให้ผู้ที่มีศักยภาพ สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพโดยรวมของทั้งสังคมในลำดับต่อๆ ไปได้ ... ซึ่ง ... 'ความไม่นิ่ง' ของ 'ผู้ครองอำนาจ' นั้นเอง คือปัจจัยที่จะบ่อนทำลายพัฒนาการด้านปัญญาดังกล่าวลงไป



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
艮其背不獲其身行其庭不見其人無咎
gèn qí bèi bù huò qí shēn xíng qí tíng bù jiàn qí rén wú jiù
เกิ้น ชี๋ เป้ย ปู้ ฮั่ว ชี๋ เซิน ซิ๋ง ชี๋ ทิ๋ง ปู้ เจี้ยน ชี๋ เญิ๋น อู๋ จิ้ว



背 อ่านว่า bèi (เป้ย) ปรกติจะแปลว่า 'แผ่นหลัง', 'ด้านหลัง', 'ด้านที่มองไม่เห็น' หรือ 'ด้านที่อยู่ตรงข้าม' ซึ่งก็เลยทำให้เวลาใช้เป็นคำกริยา สามารถที่จะแปลว่า 'แบกไว้บนบ่า', หรือ 'แบกไว้ด้วยแผ่นหลัง' ก็ได้ ; แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็สามารถที่จะหมายถึง 'การปฏิเสธ', 'การไม่ยอมรับ' ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ 'การหันหลังให้' ก็ได้อีกเหมือนกัน และถึงขั้นที่จะกลายเป็น 'การฝ่าฝืน', 'การละเมิดกฎเกณฑ์', หรือ 'การล้มล้าง' ไปเลยก็ยังได้ ซึ่งลักษณะของ 'การหันหลังให้' ตามที่ว่านี้ ก็ยังทำให้ 背 (bèi, เป้ย) สามารถที่จะแปลว่า 'ทอดทิ้ง', หรือ 'หลีกห่างออกไป' ได้ด้วย ; ส่วนความหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ 'ความหลัง' ก็จะมีความหมายว่า 'รื้อฟื้นอดีต', 'รื้อฟื้นความทรงจำ' ; และยังสามารถแปลว่า 'ซุกซ่อนไว้เบื้องหลัง' จากลักษณะของ 'ด้านที่มองไม่เห็น' ได้อีกต่างหาก ... โฮะ !! ... ได้มึนกันใหญ่ล่ะทีนี้ !? ... :P

獲 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'ฉกฉวย', 'คว้าเอาไว้' หรือ 'ได้รับ' ซึ่งทั้งหมดจะสื่อไปในความหมายที่ไม่ค่อยดี เพราะ 獲 (huò, ฮั่ว) มีความหมายในลักษณะของ 'การได้มาจากการล่า (สัตว์)', 'การได้รับโดยการแย่งชิง' หรือ 'ได้รับจากการขู่เข็ญบังคับ'

身 อ่านว่า shēn (เซิน) มีความหมายโดยทั่วไปว่า 'ร่างกาย' ซึ่งก็เลยทำให้มันสามารถแปลด้วยความหมายเดียวกับ 人 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คน' ได้ด้วย แม้ว่า 身 (shēn, เซิน) จะไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'ร่างกายมนุษย์' เสมอไปก็ตาม ... แต่ความหมายที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ 'ชีวิต' หรือ 'ความมีชีวิต' ซึ่งควบรวมไปถึง 'การดำเนินชีวิต', 'พฤติกรรมในการดำรงชีวิต', 'บุคลิก-ลักษณะ', หรือ 'สถานภาพของบุคคล' ไปด้วยเลย

庭 อ่านว่า tíng (ทิ๋ง) มักจะแปลว่า 'ห้องโถง' หรือ 'ห้องขนาดใหญ่' โดยสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 廷 tíng (ทิ๋ง)  หมายถึง 'ท้องพระโรง' ในเขตพระราชฐานด้วย

พอจะนึกความหมายอะไรออกมามั่งมั้ยครับจากการเห็นแค่ไม่กี่คำที่เล่ามานี้ ?! ... ผมคิดว่าความหมายที่ Kine Wen ต้องการจะสื่อนั้น ค่อนข้างจะตรงตัวมากๆ อยู่แล้วนะ ถ้าเราไม่มัวแต่ไปยึดติดอยู่กับความหมายในปัจจุบันของแต่ละตัวอักษร ซึ่งทำให้ผมนึกสนุกอยากจะให้เห็น 'การตีความ' ของตำราอื่นๆ ดูบ้าง เพื่อยืนยันว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ที่เคยถูกถอดความเอาไว้ตั้งหลายภาษานั้น มันควรจะถูกรื้อเพื่อ 'ตีความ' กันใหม่ ... :D

คืองี้ ... เขาแปลกันประมาณอย่างนี้ครับ ... 'สงบนิ่งอยู่เบื้องหลังของผู้อื่น โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัวของเขา ย่ำเท้าเดินในลานเรือนของผู้อื่น โดยไม่พบปะผู้คนของเรือนนั้น ย่อมไม่ผิดพลาด' ... หรืออย่างนี้ ... 'หยุดยั้งอยู่เพียงเบื้องหลัง ย่อมปราศจากตัวตน เดินไปในสวน ไม่พบปะผู้ใด ไม่ผิด' ... รู้เรื่องมั้ยน่ะ ?! ... :D ... ให้ตายผมก็ยอมรับความหมายแบบนั้นไม่ได้หรอกครับ !! ... :P

 
ความหมายของ 艮 (gèn, เกิ้น) หรือ 'การตรึกตรองด้วยปัญญา' ที่ King Wen อุตส่าห์อธิบายไว้นี้ ควรจะมีความหมายว่า 'จงพิจารณาไตร่ตรอง (艮) ถึงปัจจัยทั้งหลาย (其) ที่ยังแอบอยู่เบื้องหลัง (背) อย่าด่วนจำกัดนิยาม (不獲) จากเพียงสิ่งภายนอกที่ปรากฏ (其身) การดำเนินกิจการงาน (行) ของทุกชาติบ้านเมือง (其庭) ย่อมไม่อาจ (不) พิจารณา (見) จากเพียงเปลือกนอกของแต่ละบุคคล (其人) การปฏิบัติเยี่ยงนี้ ย่อมปราศจาก (無) มลทินอันจะนำไปสู่ความเสื่อมเสีย (咎)' ... เข้าท่ากว่ามั้ยล่ะ ?! ... ;)

ความน่าสนใจของถ้อยคำในวลีนี้ของ King Wen อยู่ที่การใช้ 'คู่คำ' ที่เป็น antonyms และ synonyms กันของคำว่า 背 (bèi, เป้ย), 身 (shēn, เซิน), และ 人 (rén, เญิ๋น) นั่นเอง โดย 背 (bèi, เป้ย) ถูกใช้ในความหมายว่า 'สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง' หรือ 'สิ่งที่ไม่ได้แสดงออก' ในขณะที่ 身 (shēn, เซิน) จะหมายถึง 'สิ่งที่มีตัวตนให้สัมผัสได้' หรือ 'สิ่งที่สามารถรับรู้ได้ทางกายสัมผัส' ซึ่งก็คือ 'สิ่งที่ปรากฏ' หรือ 'ปรากฏการณ์' นั่นเอง ... ซึ่งตรงนี้ King Wen เลือกตลบกลับไปใช้คำว่า 人 (rén, เญิ๋น) ซึ่งเป็น synonyms กับ 身 (shēn, เซิน) ในช่วงท้ายของวลี เพื่อสื่อถึง 'เปลือกนอกของบุคคล' อันมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถลวงให้หลงผิดกันได้ หากไม่ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบด้านจริงๆ ... ถือว่าเป็น 'ลีลาการเล่นคำ' ที่เหนือชั้นมากๆ อีกครั้งหนึ่งของ King Wen เลยทีเดียว

ย้อนไปดูบทที่สี่ที่เกี่ยวข้องกับวลีเดียวกันในบทที่หนึ่งหน่อยมั้ยครับ ?! ... ตอนต้นของถ้อยคำที่ King Wen บันทึกไว้ก็คือ ... 'ความรู้ และความเข้าใจ (亨) นั้น ไม่ใช่ (匪) สิ่ง (我 ใช้ในลักษณะที่เป็นสรรพนามของ 亨) ที่เป็นฝ่ายเรียกร้องต้องการ (求) ให้ผู้หนึ่งผู้ใด (童蒙 คือผู้ที่ยังไม่มีความรู้) รับมันเอาไว้ แต่ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ (童蒙) ต่างหาก ที่จะต้องเป็นฝ่ายเรียกร้อง และไขว่คว้าหามา (求) ซึ่งความรู้ และความเข้าใจนั้น (我) ด้วยตนเอง ... นั่นคือ การจะเข้าใจใน 'ประเด็นที่ยังแอบอยู่เบื้องหลัง' ของเหตุการณ์หนึ่งๆ นั้น เราจะต้อง 'ศึกษา-ค้นคว้า' และ 'พิจารณาด้วยปัญญา' ของเราเอง ไม่ใช่คว้าเอาเฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเพียงภายนอกมา 'ทึกทักเอาเอง' ว่าเป็น 'ความรู้-ความเข้าใจ' ไม่ว่ามันจะ 'น่าเย้ายวน' แค่ไหนก็ตาม

แล้วบทที่สิบหกล่ะ King Wen ว่าไงมั่ง ?! ... ถ้อยคำที่ถูกบันทึกไว้ก็คือ
'จิตใจที่แน่วแน่ (利) ในอุดมธรรมอันเป็นเป้าหมาย (建侯) และมุ่งดำเนินชีวิต (行) ตามมรรควิถีแห่งผู้เจริญ (師 หรือ 'ผู้นำ' นั่นเอง)' ... นี่ก็จะไปพ้องกับความหมายในตอนท้ายของวลีในบทนี้ที่ว่า 'การดำเนินกิจการงาน (行) ของทุกชาติบ้านเมือง (其庭) ย่อมไม่อาจ (不) พิจารณา (見) จากเพียงเปลือกนอกของแต่ละบุคคล (其人)' ... หรือจะว่ากันให้กร่างกว่านั้นหน่อย เราก็ต้องแปลซะใหม่ว่า 'การจะดำเนินกิจการงานของทุกชาติบ้านเมือง ไม่จำเป็นต้องเห็นแก่หน้าใครทั้งนั้น' ... เอาแบบเจ้าพ่อมาเฟียไปนู่นเลย !! ... :D ... ความหมายหลังนี่ล้อเล่นเฉยๆ ครับ เพราะ King Wen ได้บันทึกกำกับไว้ในบทที่ยี่สิบแปด ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'ความมีวุฒิภาวะ' ว่า 'ภาวะผู้นำที่มีความหนักแน่นเข้มแข็ง (棟) แต่แฝงไว้ภายใต้การแสดงออกที่อ่อนหยุ่นนุ่มนวล (橈) ย่อมเป็นคุณลักษณะสำคัญในการฟันฝ่า (利) ไปสู่ผลลัพธ์ในบั้นปลาย (有攸往) อันเป็นความพัฒนาก้าวหน้า (亨) ยิ่งๆ ขึ้นไป'

พอมาถึงบทที่สี่สิบ ซึ่งเป็นเรื่องของ 'การเจริญสติ' King Wen ก็บันทึกไว้อีกแบบหนึ่งว่า ... 'การครองตนด้วยความสมถะเรียบง่าย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน (利西南) มุ่งสลาย (無) สาเหตุ (所) แห่งการเผชิญหน้า (往) เพื่อจรรโลงความมีปฏิสัมพันธ์ของทุกฝ่าย (其來復) ให้ร่วมกันสร้างสรรค์ความเจริญ (吉) และนำไปสู่ความสำเร็จประโยชน์ร่วมกัน (有攸往) อันเป็นความรุ่งเรืองที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น (夙吉)' ... อันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนเลยนะครับ เพราะ 'การเผชิญหน้ากัน' นั้น คือ 'ปรากฏการณ์ที่เผยออกให้เห็น' แต่ 'สาเหตุแห่งการเผชิญหน้ากัน' คือสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ 'เบื้องหลังปรากฏการณ์' ที่ 'ผู้นำ' หนึ่งๆ จะต้อง 'ตรึกตรองด้วยปัญญา' จึงจะสามารถเข้าใจได้ เพื่อจะดำเนินการแก้ไขที่ต้นเหตุ แทนที่จะถูกชักใยให้เต้นแร้งเต้นกาไปตามสถานการณ์

ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สองของบทที่หนึ่งว่า ...
'การจะบรรลุถึง (見) ความเป็นยอดคน (龍) นั้น ย่อมต้องอาศัยการบ่มเพาะ และการเสาะแสวงหาอย่างไม่รู้จักย่อท้อ (再田) อันโชคลาภและความสำเร็จ (利) ย่อมมาสู่ (見) บุคคลผู้เปี่ยมด้วยสติปัญญา และความมีวุฒิภาวะอันสมบูรณ์ (大人)' ... อันนี้เป็นการ 'แปรความหมาย' ของวลีเดิมด้วยความหมายอื่นของแต่ละถ้อยคำอีกทีละ !!?! ... ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

艮其趾無咎利永貞
gèn qí zhǐ wú jiù lì yǒng zhēn
เกิ้น ชี๋ จื่อ อู๋ จิ้ว ลี่ หฺย่ง เจิ



趾 อ่านว่า zhǐ (จื่อ) แปลว่า 'เท้า', 'หัวแม่เท้า', หรือว่า 'รอยเท้า' ซึ่งบางทีก็อาจจะหมายถึง 'ร่องรอย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ฐานราก' ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย

永 อ่านว่า yǒng (หย่ง, เหยฺวิ่ง) แปลว่า 'การไหลของน้ำ', 'กระแสน้ำ' ; 'ความสม่ำเสมอ', 'ความคงเส้นคงวา', 'เนิ่นนาน' หรือ 'ตลอดกาล'

อักษร 3 ตัวสุดท้ายในวรรคนี้ เหมือนถูกยกมาจากวรรคที่เจ็ด ซึ่งเป็น 'วรรคพิเศษ' ของบทที่สองเลยนะครับ ซึ่งผมเคยเล่าความหมายของวลีนี้ไปแล้วว่า ...
'คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง ย่อมจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ด้วยความวิริยะอุตสาหะ (利) และความยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม อย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง (永貞)' ... ดังนั้น สาระสำคัญของถ้อยคำที่ต้อง 'ตีความ' ในวรรคนี้ จึงน่าจะอยู่ที่อักษร 3 ตัวแรกมากกว่า เพราะคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) นั้นเจอกันบ่อยมากจนแทบจะไม่ต้อง 'ตีความ' ใดๆ กันอีกแล้ว ... ;)

ถ้าจะแปลกันตามตัวอักษรจริงๆ วลีนี้ของ 'จิวกง' ก็น่าจะต้องแปลว่า ...
'ความสุขุมคัมภีรภาพอันประกอบด้วยปัญญา (艮) ในทุกๆ ย่างก้าวของการดำเนินงาน (其趾) ย่อมปราศจาก (無) ความผิดพลาดเสียหาย (咎) ... คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง ย่อมจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ด้วยความวิริยะอุตสาหะ (利) และความยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม อย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง (永貞)' ...

ผมคิดว่า ความหมายลึกๆ ที่ 'จิวกง' พยายามจะบอกกับพวกเราผ่านวลีสั้นๆ ที่ว่า 艮其趾 (gèn qí zhǐ, เกิ้น ชี๋ จื่อ) หรือ
'ความสุขุมคัมภีรภาพอันประกอบด้วยปัญญาในทุกๆ ย่างก้าวของการดำเนินงาน' นั้น คงจะแฝงความหมายของ 'การพิจารณาตรึกตรองด้วยปัญญา เพื่อทำความเข้าใจกับร่องรอย และความเป็นมาของปรากฏการณ์หนึ่งๆ' ด้วย เพราะคำว่า 趾 (zhǐ, จื่อ) นั้น สามารถสื่อความหมายถึง 'ร่องรอย' หรือ 'รากเหง้า' อันเป็น 'ปฐมปัจจัย' ของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ที่เรากำลังต้องประสบอยู่ ซึ่งจะเป็นการสะท้อนความหมายในถ้อยคำของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า 'จงพิจารณาไตร่ตรอง (艮) ถึงปัจจัยทั้งหลาย (其) ที่ยังแอบอยู่เบื้องหลัง (背) อย่าด่วนจำกัดนิยาม (不獲) จากเพียงสิ่งภายนอกที่ปรากฏ (其身)' ... นั่นก็คือ ... เราควรจะต้อง 'ตรึกตรองด้วยปัญญา' (艮) ถึง 'วิวัฒนาการของเรื่องราวหนึ่งๆ' (其趾) จนมีความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งก่อน จึงจะสามารถ 'กำหนดมาตรการ' ที่ 'สมควรแก่เหตุ' สำหรับดำเนินงานต่อไปอย่างปราศจากข้อผิดพลาด (無咎) ... การ 'ด่วนสรุป' หรือ 'ด่วนจำกัดนิยาม' จากเพียงปรากฏการณ์ที่กำลังประสบอยู่นั้น แม้ว่าจะใช้ความทุ่มเท และความระมัดระวัง (利) เพียงใดก็ตาม ผลงานที่เกิดขึ้นก็ยังอาจจะเป็นเพียง 'ผลลัพธ์ในชั้นของปลายเหตุ' อยู่ดี ซึ่งไม่มีความยั่งยืน (永) เท่ากับ 'การจัดการที่ต้นเหตุ' โดยตรง ... นึกภาพออกมั้ยครับ ?! ...

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องกระชับความหมายที่ลึกๆ ยาวๆ ของ 'จิวกง' ให้รวบรัดกว่านั้น เราก็น่าจะต้องใช้คำแปลให้กับวรรคแรกนี้ว่า ...
'การตรึกตรองด้วยปัญญา (艮) เพื่อทำความกระจ่างในวิวัฒนาการของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ก่อนที่จะดำเนินการแต่ละย่างก้าว (其趾) นั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิด (無) ผลลัพธ์ใดๆ ในทางที่เสื่อมเสีย (咎) โดยจะต้องทุ่มเทความพยายามอย่างมุ่งมั่น (利) ที่จะผดุงไว้ซึ่งบรรทัดฐานอันบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างยั่งยืน (永貞)' ... ประมาณนี้ !! ... :P

 

สอง หยิน :

艮其腓不拯其隨其心不快
gèn qí féi bù zhěng qí suí qí xīn bù kuài
เกิ้น ชี๋ เฟ๋ย ปู้ เจิ่ง ชี๋ ซุ๋ย ชี๋ ซิน ปู้ ไคว่




腓 อ่านว่า féi (เฟ๋ย) เป็นอีกคำหนึ่งที่หมายถึงอวัยวะของร่างกาย โดย 腓 (féi, เฟ๋ย) จะหมายถึง 'น่อง' ซึ่งก็คือ 'กล้ามเนื้อส่วนหลังของขาตั้งแต่ข้อพับลงไปถึงข้อเท้า' และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แทบทุกตำรา 'ตีความ' คำว่า 趾 (zhǐ, จื่อ) ในวรรคแรกของบทนี้ว่า 'เท้า' หรือ 'หัวแม่เท้า' เพราะบังเอิญว่ามันถูกวางอยู่ในลำดับ 'ขีดล่างสุด' พอดี ... เมื่อขยับสูงขึ้นมาหน่อยหนึ่งก็มาเจอคำว่า 腓 (féi, เฟ๋ย) ในวรรคนี้ที่แปลว่า 'น่อง' ซะงั้น มันก็เลยพาเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่ ??!! ... แต่ผมกลับไม่คิดว่า 'คัมภีร์อี้จิง' กำลังบรรยายอะไรที่เกี่ยวกับ human anatomy หรอกนะครับ !! ... เพราะถ้าขืนไปในแนว human anatomy เรื่อยๆ เราจะต้องเจอกับ 'กามาสูตร' ในวรรคที่หกจนได้ ... !!!!??!! ... :D

ความจริงแล้ว อักษร 腓 (féi, เฟ๋ย) มาจากการผสมอักษร 肉 (ròu, โญ่ว) ที่แปลว่า 'เนื้อ' กับอักษร 非 (fēi, เฟย) ซึ่งมีความหมายในเชิงปฏิเสธ มันจึงซ่อนความหมายของ 'ความผิดฝาผิดตัว' ซึ่งก็คือ 'ความไม่เหมาะสม' นั่นเอง ในขณะที่ความหมายแฝงอื่นๆ ของ 腓 (féi, เฟ๋ย) จากที่มาดังกล่าวก็คือ 'ความป่วยไข้' ซึ่งถ้าใช้กับต้นไม้ใบหญ้า ก็จะหมายถึง 'เหี่ยวแห้ง', 'ร่วงโรย' ได้ด้วย ... ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ 'น่อง' เลยซักนิดเดียว !?!?

拯 อ่านว่า zhěng (เจิ่ง) แปลว่า 'สนับสนุน', 'ช่วยเหลือ', 'เยียวยา', 'กอบกู้', 'ชูขึ้น', 'ยกให้สูงขึ้น'

สำหรับอักษร 隨 (suí, ซุ๋ย) นั้น ถูกใช้เป็นชื่อของสัญลักษณ์ประจำบทที่สิบเจ็ดมาแล้ว ซึ่งมันมีความหมายคล้ายกับ 'คล้อยตาม', 'ติดตาม', 'เชื่อฟัง', และสามารถหมายถึง 'ปรับตัว', 'คล้าย' หรือ 'ทำให้คล้าย', จนถึงขั้นที่อาจจะแปลว่า 'ทำตามอย่าง', 'เลียนแบบ' ก็ยังได้

อักษร 心 (xīn, ซิน) เจอกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้เล่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไว้เลย คำนี้มีความหมายตามปรกติของมันว่า 'หัวใจ', หรือ 'จิตใจ' ซึ่งทำให้บางครั้งก็จะหมายถึง 'ความคิด' หรือ 'ความรู้สึกในใจ' จนอาจจะหมายถึง 'การตัดสินใจ' ก็ได้ ; และด้วยความี่ 'หัวใจ' เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก ความหมายของ 心 (xīn, ซิน) จึงอาจจะถูกใช้ในความหมายว่า 'ศูนย์กลาง' หรือ 'สาระสำคัญ' ของสถานที่ หรือเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วย

快 อ่านว่า kuài (ไคว่) มาจากการผสมอักษร 心 (xīn, ซิน) ที่แปลว่า 'หัวใจ' กับ 夬 (guài, กฺวั้ย) ที่หมายถึง 'การเจาะ', หรือ 'การทำให้แยกออก' ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' จึงสะท้อนอาการที่ 'ใจที่แยกออกไปไม่อยู่กับตัว' ซึ่งแผลงมาเป็น 'สุข', 'สบาย' หรือ 'ยินดี' ; แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็สามารถที่จะแปลว่า 'รวดเร็ว', 'เร่งรีบ', หรือ 'จวนเจียนจะมาถึง' ได้ด้วย ซึ่งก็คงแผลงมาจากอาการ 'ตื่นเต้นดีใจ', หรือ 'ใจเร็วด่วนได้' จนทำให้ 'จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว' ประมาณนั้น ... 😄 ... และในสมัยก่อน คำว่า 快 (kuài, ไคว่) ก็ยังเคยถูกใช้สำหรับตำแหน่ง 'เจ้าหน้าที่ตำรวจ' ด้วยเหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีหน้าที่ 'บำบัดทุกข์-บำรุงสุข' ให้แก่ประชาชน หรือเพราะต้องปฏิบัติงานด้วย 'ความรวดเร็ว' ก็ไม่รู้ละ ... แต่เจ้าความหมายว่า 'รวดเร็ว' นี่แหละที่คงเพี้ยนมาเป็น 'แหลมคม' และ 'ตรงไปตรงมา' ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยเห็นการใช้งานในความหมายที่ว่านี้มากนัก

ผมอยากจะให้ความหมายกับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ไว้ว่า ...
'จงใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน (艮) ต่อความไม่ปรกติของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ (其腓) โดยไม่ต้องให้ความสำคัญ (不拯) ต่อกระแสของการลอกเลียนเอาอย่าง (其隨) แต่จะต้องให้ความเอาใจใส่ต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ (其心) โดยปราศจากความผลีผลามวู่วาม (不快)' ... โดยผมขอแยกประเด็นของ 'ความไม่ปรกติ' หรือ 'ความผิดฝาผิดตัว' (腓) ที่ 'จิวกง' น่าจะอยากเอ่ยถึงไว้เป็น 2 ประเด็นด้วยกัน คือ 'ความไม่ปรกติของสิ่งเก่าในสภาพแวดล้อมใหม่' และ 'ความไม่ปรกติของสิ่งใหม่ในสภาพแวดล้อมเดิม' ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ 'จิวกง' แนะนำว่า 'อย่าสักแต่ทำตามๆ กันไปเพราะเคยทำตามๆ กันมา' หรือ 'อย่าตื่นตูมบ้าเห่อไปตามกระแส' (不拯其隨) แต่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองถึง 'ความเหมาะสม' ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนั้นๆ อย่างรอบด้าน โดยไม่ด่วนสรุป หรือ 'ตีความ' ไปตาม 'อารมณ์อยาก' ของตนเอง (其心不快) ... นี่ก็คือ 'ปฏิกิริยาที่พึงมี' ต่อ 'ความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น' (身) ในทุกยุคทุกสมัยของทุกๆ สังคม ซึ่งเราจะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อมันแสดง 'ความไม่กลมกลืนกัน' (腓) ออกมาแล้วเท่านั้น !!

จากถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคนี้ เราจึงเห็นได้ว่า 'จิวกง' ไม่ใช่พวก 'คลั่งจารีตนิยม' อย่างที่ปราชญ์หลายคนในชั้นหลังคลั่งไคล้ใน 'ความเป็นจิวกง' อย่างผิดๆ และสอนให้สังคมจีน 'ดักดาน' อยู่กับ 'ระเบียบพิธีการ' โดยไม่คำนึงถึง 'ความเหมาะสม' แก่ 'ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป' จนทำให้พัฒนาการหลายๆ ด้านของจีน ถึงกับต้องหยุดชะงักลง ทั้งๆ ที่ศาสตร์หลายๆ ด้านของจีนนั้น ได้รับการค้นคว้า และค้นพบมาก่อนชนชาติอื่นๆ ด้วยซ้ำ ... การที่ 'จิวกง' แนะนำให้พวกเรา 'ตรึกตรองด้วยปัญญา' (艮) ใน 'วิวัฒนาการของปรากฏการณ์ต่างๆ' (其趾) เพื่อที่จะ 'พัฒนา' หรือ 'ปรับปรุง' บรรทัดฐานของสังคมให้มีความเหมาะสมแก่ 'ความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น' (身) นั้น ก็เพื่อจะผดุงไว้ซึ่ง 'หลักการอันยั่งยืน' (利永貞) ซึ่งจะต้องไม่ใช่ทั้ง 'การยึดติดอย่างเหนียวแน่น' หรือ 'การเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ราก' อย่างแน่นอน !!

 

สาม หยาง :

艮其限列其夤厲薰心
gèn qí xiàn liè qí yín lì xün xīn
เกิ้น ชี๋ เซี่ยน เลี่ย ชี๋ อิ๋น ลี่ ซฺวิน ซิน



限 อ่านว่า xiàn (เซี่ยน) แปลว่า 'ขอบเขต', 'ข้อกำหนด', หรือ 'ข้อจำกัด' บางครั้งจึงสามารถแปลว่า 'เขตแดน', หรือ 'แนวป้องกัน' ได้ด้วย และยังสามารถแปลว่า 'ตัดออก', 'แบ่งแยก', หรือ 'จัดสรร' ก็ได้ เนื่องจากมีลักษณะของ 'การกำหนดขอบเขต' หรือ 'การสร้างแนวอาณาเขต' เข้ามาเกี่ยวข้อง

列 อ่านว่า liè (เลี่ย) แปลว่า 'จัดแบ่งเป็นส่วนๆ', 'จัดสรรเป็นหมวดหมู่', 'จัดเรียงเป็นลำดับ', 'แจกแจงเป็นข้อๆ', 'กำหนดเป็นขั้นเป็นตอน' ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือ 'การบริหารจัดการ', หรือ 'การจัดแจง' เพื่อให้เกิด 'ความเป็นระบบระเบียบ' และบางทีก็เลยถูกใช้ในความหมายว่า 'กฎเกณฑ์' หรือ 'ข้อจำกัด' ไปด้วยเลย ; แต่ด้วยความที่ต้องได้รับ 'การจัดแบ่ง' นั้นเอง คำว่า 列 (liè, เลี่ย) จึงสามารถสะท้อนความหมายของ 'ความมากมาย', หรือ 'ความหลากหลาย' ได้ด้วยเหมือนกัน

夤 อ่านว่า yín (อิ๋น) มีความหมายว่า 'ลึก', หรือ 'สถานที่อันห่างไกล' แต่เวลาใช้เป็นคำกริยา จะหมายถึง 'การไต่เต้าตำแหน่งทางราชการ' หรือ 'การแสดงความเคารพ', 'การให้ความนับถือ', 'การให้เกียรติ' ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล' อะไรประมาณนั้น

厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย :P

薰 อ่านว่า xün (ซฺวิน) เป็นชื่อเรียก 'สมุนไพรหอม' หรือ 'ไม้หอม' ชนิดหนึ่ง จึงทำให้คำนี้สามารถแปลว่า 'กลิ่นหอม' ได้ด้วย ; หากใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'ย่าง' หรือ 'รมควัน' เพื่อ 'ทำให้อาหารมีกลิ่นหอม' ; และเมื่อนำไปใช้ในลักษณะของคำคุณศัพท์ก็จะยังสามารถแปลว่า 'อบอุ่น', หรือ 'นุ่มนวล' ได้อีกต่างหาก

เราลองมองย้นกลับไปที่วลีต้นเรื่องของ King Wen อีกครั้งนะครับ ... King Wen นั้นได้เปิดประเด็นไว้ว่า ...
'จงพิจารณาไตร่ตรอง (艮) ถึงปัจจัยทั้งหลาย (其) ที่ยังแอบอยู่เบื้องหลัง (背)' ... ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการขยายความโดย 'จิวกง' ว่า ... 'การตรึกตรองด้วยปัญญา (艮) เพื่อทำความกระจ่างในวิวัฒนาการของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ก่อนที่จะดำเนินการแต่ละย่างก้าว (其趾)' ... โดย King Wen มีวลีพ่วงท้ายไว้อีกว่า 'อย่าด่วนจำกัดนิยาม (不獲) จากเพียงสิ่งภายนอกที่ปรากฏ (其身)' ... และ 'จิวกง' ก็เสริมไว้เป็น ... 'จงใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน (艮) ต่อความผิดที่ผิดทางของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ (其腓)' ... เห็นความเชื่อมโยงนะครับ ?! ...

ดังนั้น หนึ่งในจำนวนความหมายที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับถ้อยคำในวรรคนี้ ก็ควรจะต้องสอดคล้องกับถ้อยคำที่ว่า ...
'การดำเนินกิจการงาน (行) ของทุกชาติบ้านเมือง (其庭) ย่อมไม่อาจ (不) พิจารณา (見) จากเพียงเปลือกนอกของแต่ละบุคคล (其人)' ... โดยคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ซึ่งปิดท้ายวลีของ King Wen นั้น 'จิวกง' ได้บันทึกเป็นคำปิดท้ายของวรรคที่สี่ อันเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ... ผมจึงขอให้คำแปลสำหรับวรรคนี้ไว้ว่า ... 'พึงพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา (艮) ในการกำหนดระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนเงื่อนไขอันเป็นข้อจำกัดต่างๆ (其限) อย่างถี่ถ้วน และดำเนินการจัดสรร (列) ความรับผิดชอบสำหรับแต่ละตำแหน่งหน้าที่ ให้มีลำดับชั้นขั้นตอนที่ชัดเจน (其夤) ด้วยความเอาใจใส่อย่างเข้มงวดรัดกุม (厲薰心)' ...

เดิมทีเดียวผมเลือกคำแปลให้กับ 厲薰心 (lì xün xīn, ลี่ ซฺวิน ซิน) ไว้ว่า
'เพื่อเป็นการเสริมสร้าง (厲) ขวัญและกำลังใจ (薰心) ให้กับทุกๆ คน' ซึ่งความจริงมันก็เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของ 'การกำหนดระบบระเบียบ' ให้กับ 'โครงสร้างของการบริหารจัดการ' อยู่แล้ว โดยผมเลือกเด็ดเอาเฉพาะความหมายในแง่ของ 'การส่งเสริม' หรือ 'การกระตุ้น' ซึ่งเป็น 'ด้านบวก' ของคำว่า 厲 (lì, ลี่) มาใช้ ... ส่วนคำว่า 薰心 (xün xīn, ซฺวิน ซิน) นั้น ผมก็นึกถึงความหมายในแง่ของ 'การอบรมบ่มเพาะ (薰) ความคิดและจิตใจ (心)' แทนที่จะเป็นความหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ค่อยจะเข้ากันกับเนื้อความในวรรคนี้ ... แต่ถ้าเทียบกับระดับของ 'ความเด็ดขาด' ในวลี 不見其人 (bù jiàn qí rén, ปู้ เจี้ยน ชี๋ เญิ๋น) ของ King Wen ที่ผม 'ตีความ' ไว้อย่างกลางๆ ว่า 'อย่าพิจารณาคนจากเพียงเปลือกนอก' ซึ่งแฝงความหมายดุๆ เอาไว้ด้วยว่า 'ไม่ต้องเห็นแก่หน้าใครทั้งนั้นแหละ' การใช้ 'ความหมายด้านบวก' ของ 厲 (lì, ลี่) มาขยายความให้กับวลีดังกล่าว ก็ออกจะไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อกันซักเท่าไหร่ ... :D ... เพราะฉะนั้น ... ผมจึงคิดว่า เราน่าจะเลือกใช้ความหมายของ 厲 (lì, ลี่) ที่มีความดุดันเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย นั่นคือ 'การเคี่ยวเข็ญ' หรือ 'ความเข้มงวด' ซึ่งมีดีกรีของ 'การฝืนใจ' อยู่ในระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพื่อให้ 'กฎระเบียบ' และ 'ลำดับชั้นขั้นตอน' ที่กำหนดไว้นั้น ได้รับการปฏิบัติตามอย่างจริงจัง โดยไม่มี 'อารมณ์-ความรู้สึก' ใดๆ เข้าไปปนเปื้อนด้วย โดยเฉพาะการมอบหมายหน้าที่ให้ใครต่อใครแบบ 'เลือกที่รัก-มักที่ชัง' ... นึกออกมั้ยครับ ?! ... ที่นี้ ... ก็ไปว่ากันต่อด้วยถ้อยคำในวรรคที่สี่เลยครับ ...


 

สี่ หยิน :

艮其身無咎
gèn qí shēn wú jiù
เกิ้น ชี๋ เซิน อู๋ จิ้ว




น่าจะยังจำกันได้ว่า คำว่า 身 (shēn, เซิน) นั้น มักจะหมายถึง 'ร่างกาย' จึงทำให้มันสามารถแปลด้วยความหมายเดียวกับ 人 (rén, เญิ๋น) อย่างที่เล่าไปแล้วในตอนต้นบท ในขณะที่ความหมายอื่นๆ ของ 身 (shēn, เซิน) ก็คือ 'ชีวิต' หรือ 'ความมีชีวิต' ซึ่งควบรวมไปถึง 'การดำเนินชีวิต', 'พฤติกรรมในการดำรงชีวิต', 'บุคลิก-ลักษณะ', หรือ 'สถานภาพของบุคคล' ไปด้วยเลย

หากเรามองอย่างผิวเผิน คำว่า 艮其身 (gèn qí shēn, เกิ้น ชี๋ เซิน) ในวรรคนี้ กับวลี 不獲其身 (bù huò qí shēn, ปู้ ฮั่ว ชี๋ เซิน) ของ King Wen ดูจะขัดๆ กันอยู่พอสมควร เพราะในขณะที่ 'จิวกง' บอกให้ 'เอาใจใส่' (艮) กับ 身 (shēn, เซิน) ... แต่ King Wen ดันสอนว่า 'อย่าไปยึดติดเอาจริงเอาจัง' (不獲) กับ 身 (shēn, เซิน) ให้มันมากนัก !!?? ... เอ๊ะ !! ... ยังไงดีล่ะทีนี้ ?!! ... จะเชื่อพ่อ หรือว่าจะเชื่อลูกดีวะ ?!?! ... :D

ผมคิดว่าเราควรจะต้องจับ 'คู่คำ' ให้มันเข้าที่เข้าทางซะก่อนล่ะครับ ... คืองี้ ... 身 (shēn, เซิน) ในถ้อยคำของ King Wen นั้นถูกจับคู่กับคำว่า 背 (bèi, เป้ย) ที่แปลว่า 'เบื้องหลัง' หรือ 'เบื้องลึก' ที่นอกเหนือไปจาก 'ปรากฏการณ์' หรือ 'สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเบื้องหน้า' นั่นก็คือความหมายแรกของ 身 (shēn, เซิน) ที่ผมเล่าเอาไว้ ... แต่คำว่า 身 (shēn, เซิน) ที่เห็นในวรรคนี้ ควรจะเป็น 'คู่คำ' กับคำว่า 心 (xīn, ซิน) ซึ่งหมายถึง 'ความคิด', หรือ 'จิตใจ' ที่เพิ่งจะเล่าผ่านไปในวรรคที่สาม อันเป็น 'คู่วลี' โดยตรงของวรรคนี้ด้วย ... ดังนั้น ... คำว่า 身 (shēn, เซิน) ที่ปรากฏอยู่ในวรรคนี้ จึงควรจะหมายถึง 'พฤติกรรมที่แสดงออกให้ปรากฏ' หรือ 'ผลลัพธ์ที่ปรากฏจากการปฏิบัติภาระกิจ' แทนที่จะหมายถึง 'ปรากฏการณ์' อื่นๆ อย่างไม่เจาะจงใดๆ ... มันจึงทำให้ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการสื่อไว้ในวรรคนี้คือ ...
'การสำรวมจิตใจให้นิ่งสงบ เพื่อจะทำการพิจารณาตรวจสอบ และประเมินผลของการปฏิบัติงานในแต่ละภาระกิจที่มอบหมายไว้ (艮其身) ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสื่อมเสียด้วยประการทั้งปวง (無咎)' ...

จะว่าไปแล้ว ... 'จิวกง' คงตั้งใจที่จะเสริมการขยายความให้กับวลี 不見其人 (bù jiàn qí rén, ปู้ เจี้ยน ชี๋ เญิ๋น) ของ King Wen ให้หนักแน่นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยในวรรคที่สามนั้น จะเน้นไปในเรื่องของ 'การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ' ด้วย 'เหตุผลของงาน' ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาจาก 'ศักยภาพ' ที่ 'เหมาะสม' ของแต่ละบุคคล โดยไม่นำปัจจัยที่เกี่ยวกับ 'ความชอบ' หรือ 'ความชัง' เข้าไปปนเปื้อนจนไขว้เขว ... สำหรับในวรรคที่สี่ ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่สามโดยตรงนั้น 'จิวกง' ได้เปลี่ยนไปเน้นที่ 'การตรวจสอบ' และ 'การประเมินผล' ของ 'การปฏิบัติภาระกิจ' ที่ได้มอบหมายให้แต่ละบุคคลไปดำเนินการ ซึ่งก็จะต้องยึดหลักในแง่ของ 'เนื้อหา' และ 'เหตุผลของงาน' โดยไม่นำ 'ปัจจัยด้านอารมณ์-ความรู้สึก' เข้ามาปนเปื้อนอีกเช่นกัน ... อย่างนี้จึงจะ 'ไม่เห็นแก่หน้าใคร' จริงๆ ... ;)

 

ห้า หยิน :

艮其輔言有序悔亡
gèn qí fǔ yán yǒu xǜ huǐ wáng
เกิ้น ชี๋ ฝู่ เอี๋ยน โหฺย่ว ซฺวี่ หุ่ย วั๋ง



เหมือนว่า 'จิวกง' ได้ขยายความให้กับถ้อยคำของ King Wen จนครบสมบูรณ์แล้วนะครับ ซึ่งถ้อยคำในวรรคที่ห้านี้ ก็จะถูกใช้เป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สองตามปรกติอีกเหมือนเดิม ... เราจะมาดูซิว่า 'จิวกง' เลือกคำมาปิดวลีของตัวเองว่ายังไงมั่ง ?! ...

輔 อ่านว่า fǔ (ฝู่) ปรกติจะหมายถึง 'แหนบรถ' หรือ 'ไม้คานของรถ' ที่ใช้เพื่อรับน้ำหนักบรรทุก มันจึงสามารถแปลว่า 'พยุง', 'ค้ำ', หรือว่า 'ช่วยเหลือ' และ 'ปกป้อง', แล้วจึงสามารถแปลว่า 'ผู้ช่วย', หรือ 'ผู้สนับสนุน' ได้อีกด้วย ; แต่ในแง่ของสรีระ มันจะแปลว่า 'กระดูกโหนกแก้ม' หรือว่า 'แก้ม' ก็ได้

สำหรับอักษร 言 (yán, เอี๋ยน, เยี๋ยน) นั้น ปรกติแล้วจะแปลว่า 'คำพูด' ซึ่งก็จะมีหลายลักษณะด้วยกัน โดยอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'คำปรึกษา', 'คำเตือน', 'ข้อคิดเห็น', 'คำชี้แจง', 'คำอธิบาย', หรือ 'การให้เหตุผล' ก็ได้ทั้งนั้น

序 อ่านว่า xǜ (ซฺวี่) มีความหมายเดิมว่า 'ผนังด้านตะวันออก-ตะวันตกของห้องโถง' ซึ่งต่อมาได้แผลงไปเป็น 'อาคารปีก' ที่แผ่ออกไปทั้งสองด้านของอาคารโถง จึงทำให้มันสื่อถึงความเป็น 'โรงเรียน' หรือ 'สถานศึกษา' ในสมัยก่อน ซึ่งต่อมาก็เลยทำให้ 序 (xǜ, ซฺวี่) มีความหมายว่า 'การศึกษา' หรือ 'การให้ความรู้' ซึ่งแฝงความหมายของ 'ความเป็นลำดับขั้นตอน' และ 'การประเมินผล' อยู่ในอักษรตัวนี้ด้วย

悔 อ่านว่า huǐ (หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ผมชอบคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ที่ใช้คำว่า repent เพราะคำว่า repent แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

ดึงเอาถ้อยคำในวรรคที่สองมาดูใกล้ๆ ดีกว่า ... 'จิวกง' บันทึกไว้ประมาณนี้ครับ ...
'จงใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน (艮) ต่อความไม่ปรกติของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ (其腓) โดยไม่ต้องให้ความสำคัญ (不拯) ต่อกระแสของการลอกเลียนเอาอย่าง (其隨) แต่จะต้องให้ความเอาใจใส่ต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ (其心) โดยปราศจากความผลีผลามวู่วาม (不快)' ... มีประเด็นที่น่าสนใจของคำว่า 腓 (féi, เฟ๋ย) อยู่นิดหน่อยในความหมายว่า 'ความผิดฝาผิดตัว', หรือ 'ความไม่ลงรอยกัน' เพราะมันสื่อถึง 'ความไม่ปรกติ' ของสถานการณ์ที่ปรากฏให้รับรู้ได้ ... ซึ่งไอ้เจ้า 'ความไม่ปรกติ' ที่ว่านี้ ก็น่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ 'ความไม่ปรกติแบบที่ถูกใจ' กับ 'ความไม่ปรกติแบบที่ไม่ถูกใจ' หรือถ้าจะให้มันกระชับกว่านั้น 'ความไม่ปรกติ' ของ 腓 (féi, เฟ๋ย) ก็อาจจะหมายถึง 'ข้อดี' และ 'ข้อด้อย' ก็ได้ ... ตรงนี้ดูจะมีความเกี่ยวโยงกับลักษณะของ 輔 (fǔ, ฝู่) ในความหมายที่เป็น 'คานรับน้ำหนัก' ซึ่งปรติแล้วก็จะต้องมี 2 ข้างเหมือนกันด้วยรึเปล่า ?!!? ... หรือว่า ... 'ความเป็นสองฝักสองฝ่าย' โดยลักษณะของ 輔 (fǔ, ฝู่) ที่ว่านี้ อาจจะหมายถึง 'การยึดมั่นในขนบจารีต' กับ 'การโหนกระแส' ที่ควรจะต้องใช้ 'วิจารณญาณ' อย่างมี 'สติ' ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ลงไป ?!?!

ด้วยความต่อเนื่องมาจากวรรคที่สองดังที่เล่ามานี้ ผมจึงอยากจะให้ความหมายสำหรับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า ...
'จงพินิจพิจารณาด้วยปัญญา (艮) ทั้งข้อดี และข้อด้อย ของสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อจะเข้าใจถึงศักยภาพในการรองรับ (其輔) เป้าประสงค์ของภาระกิจที่จะต้องดำเนินการ ... หากข้อกำหนดในการปฏิบัติ และคำสั่งการทั้งหลาย (言) ประกอบด้วยพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เหมาะสม (有序) ความอึดอัดคับข้องใจทั้งปวง (悔) ย่อมสูญสลายมลายสิ้น (亡)' ... หล่อมั้ยเนี่ยะ ?! ... หล่อเลยล่ะ !! ... :D

 

หก หยาง :

敦艮吉
dūn gèn jí
ตุน เกิ้น จี๋



敦 อ่านว่า dūn (ตุน) แปลว่า 'ซื่อสัตย์', 'บริสุทธิ์ใจ', 'จริงใจ', 'สนิทชิดเชื้อ', 'คงเส้นคงวา', 'มาตรฐาน', 'ถูกต้อง', 'สง่างาม', 'แน่นหนา', 'หนา', 'หนักแน่น', หรือ 'มั่งคั่ง'

ถ้าเราดูภาพรวมๆ ทั้งหมด โดยยังไม่ต้องเอาวรรคที่หกไปจับคู่กับวรรคที่หนึ่งเหมือนที่แล้วๆ มา ลำดับวรรคที่ถูกเรียบเรียงไว้ในบทนี้ จะคล้ายกับว่า 'จิวกง' ได้จำแนกประเด็นที่จะต้อง 'ตรึกตองด้วยปัญญา' (艮) ออกเป็น 5 ด้านด้วยกันคือ ... (1) คือ 趾 (zhǐ, จื่อ) หมายถึง 'วิวัฒนาการ' และ 'แนวโน้ม-ทิศทาง' ของเรื่องราวต่างๆ ; (2) คือ 腓 (féi, เฟ๋ย) หมายถึง 'ความเปลี่ยนแปลง' และ 'ความไม่ปรกติ' ของเหตุการณ์ ; (3) คือ 限 (xiàn, เซี่ยน) หมายถึง 'กฎเกณฑ์' และ 'เงือนไข-ข้อจำกัด' ทั้งหลาย ; (4) คือ 身 (shēn, เซิน) หมายถึง 'ผลของการปฏิบัติงาน' อย่างเป็น 'รูปธรรม' ; และ (5) 輔 (fǔ, ฝู่) หมายถึง 'ข้อดี-ข้อด้อย' ของ 'ผลลัพธ์' หรือ 'ปรากฏการณ์' ต่างๆ ตลอดจน 'ศักยภาพในการรองรับวัตถุประสงค์' ของ 'ภาระกิจ' ที่ได้รับมอบหมาย ... ซึ่ง
'ความหนักแน่นในมาตรฐานที่คงเส้นคงวา (敦) ของการใช้วิจารณญาณด้วยสติปัญญา (艮) นั้น ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉) ยิ่งๆ ขึ้นไป' ...

เมื่อเรานำถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคนี้ ไปเชื่อมโยงกับความหมายที่ปรากฏในวรรคที่หนึ่ง ตามทฤษฎี 'คู่วลี' ที่ผมเอ่ยอ้างเอาไว้มาตั้งแต่แรก เราก็จะได้ประโยคเต็มๆ ว่า ...
'การตรึกตรองด้วยปัญญา (艮) เพื่อทำความกระจ่างในวิวัฒนาการของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ก่อนที่จะดำเนินการแต่ละย่างก้าว (其趾) นั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิด (無) ผลลัพธ์ใดๆ ในทางที่เสื่อมเสีย (咎) โดยจะต้องทุ่มเทความพยายามอย่างมุ่งมั่น (利) ที่จะผดุงไว้ซึ่งบรรทัดฐานอันบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างยั่งยืน (永貞) ด้วยว่าความหนักแน่นในมาตรฐานที่คงเส้นคงวา (敦) ของการใช้วิจารณญาณด้วยสติปัญญา (艮) นั้น ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉) ยิ่งๆ ขึ้นไป' ... สวมลงไปพอดีเลยแฮะ !!? ... :D

จากความหมายดังกล่าวเราจึงเห็นได้ว่า
'ข้อเสนอแนะ' ของ 'จิวกง' ที่ให้ศึกษา 'ประวัติความเป็นมา' และ 'แนวโน้มของพัฒนาการ' ต่างๆ (其趾) นั้น ก็เพื่อประกอบการพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีสติ (艮) ด้วยความหนักแน่นทางอารมณ์ โดยมีมาตรฐานอันคงเส้นคงวาในหลักการที่บริสุทธิ์ยุติธรรม (敦) และนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง ให้บังเกิดผลลัพธ์ในทางที่เจริญ (吉) ตามที่ได้ตั้งใจ หรือได้รับมอบหมายภาระกิจเอาไว้ ... ไม่ใช่เพื่อ 'การขุดคุ้ย' หาเหตุมา 'กล่าวโทษ' หรือ 'ทำลายความน่าเชื่อถือ' ของใครต่อใคร อย่างที่นักประวัติศาสตร์เลวๆ บางคนนิยมกระทำกัน ... !!?



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เกิ้น' คือ การตรึกตรองด้วยปัญญา, ทิวเขาสลับซับซ้อนเรียงรายอย่างนิ่งสงบ

จง 'พิจารณาไตร่ตรอง' (艮) ถึง 'ปัจจัย' ทั้งหลาย (其) ที่ยัง 'ไม่เปิดเผย' (背 คือ 'ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง') อย่าด่วน 'จำกัดนิยาม' (不獲) จากเพียง 'สิ่งภายนอก' ที่ปรากฏ (其身) 'การดำเนินกิจการงาน' (行) ของทุกชาติบ้านเมือง (其庭) ย่อมไม่อาจ (不) พิจารณา (見) จากเพียง 'เปลือกนอกของแต่ละบุคคล' (其人) การปฏิบัติเยี่ยงนี้ ย่อมปราศจาก (無) 'มลทิน' อันจะนำไปสู่ 'ความเสื่อมเสีย' (咎)

    • 'การตรึกตรอง' ด้วย 'ปัญญา' (艮) เพื่อทำ 'ความกระจ่าง' ใน 'วิวัฒนาการของปรากฏการณ์' หนึ่งๆ ก่อนที่จะ 'ดำเนินการ' แต่ละ 'ย่างก้าว' (其趾) นั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิด (無) ผลลัพธ์ใดๆ ในทางที่ 'เสื่อมเสีย' (咎) โดยจะต้อง 'ทุ่มเทความพยายาม' อย่าง 'มุ่งมั่น' (利) ที่จะ 'ผดุงไว้' ซึ่ง 'ความยั่งยืน' (永) แห่ง 'บรรทัดฐาน' อัน 'บริสุทธิ์-ยุติธรรม' (貞)'
    • จงใช้ 'วิจารณญาณ' อย่าง 'ถี่ถ้วน' (艮) ต่อ 'ความไม่ปรกติ' ของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ (其腓) โดยไม่ต้อง 'ให้ความสำคัญ' (不拯) ต่อ 'กระแส' ของ 'การลอกเลียนเอาอย่าง' (其隨) แต่จะต้องให้ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'ความเปลี่ยนแปลง' อย่าง 'มีสติ' (其心) โดยปราศจาก 'ความผลีผลามวู่วาม' (不快)
    • พึง 'พิจารณาไตร่ตรอง' ด้วย 'ปัญญา' (艮) ในการกำหนด 'ระเบียบข้อบังคับ' ตลอดจน 'เงื่อนไข' อันเป็น 'ข้อจำกัด' ต่างๆ (其限) อย่าง 'ถี่ถ้วน' และดำเนินการ 'จัดสรร' (列) 'ความรับผิดชอบ' สำหรับแต่ละ 'ตำแหน่งหน้าที่' ให้มี 'ลำดับชั้นขั้นตอน' ที่ 'ชัดเจน' (其夤) ด้วย 'ความเอาใจใส่' อย่าง 'เข้มงวดรัดกุม' (厲薰心)'
    • 'การสำรวมจิตใจ' ให้ 'นิ่งสงบ' เพื่อจะทำการ 'พิจารณาตรวจสอบ' และ 'ประเมินผล' ของ 'การปฏิบัติงาน' ในแต่ละ 'ภาระกิจที่มอบหมาย' ไว้ (艮其身) ด้วย 'ความบริสุทธิ์-ยุติธรรม' ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสื่อมเสีย' ด้วยประการทั้งปวง (無咎)
    • จง 'พินิจพิจารณา' ด้วย 'ปัญญา' (艮) ทั้ง 'ข้อดี' และ 'ข้อด้อย' ของสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อจะเข้าใจถึง 'ศักยภาพในการรองรับ' (其輔) 'เป้าประสงค์' ของ 'ภาระกิจ' ที่จะต้อง 'ดำเนินการ' ... หาก 'ข้อกำหนดในการปฏิบัติ' และ 'คำสั่งการ' ทั้งหลาย (言) ประกอบด้วยพื้นฐานของ 'องค์ความรู้' ที่ 'เหมาะสม' (有序) 'ความอึดอัดคับข้องใจ' ทั้งปวง (悔) ย่อม 'สูญสลายมลายสิ้น' (亡)
    • 'ความหนักแน่น' ใน 'มาตรฐาน' ที่ 'คงเส้นคงวา' (敦) ของ 'การใช้วิจารณญาณ' ด้วย 'สติ-ปัญญา' (艮) นั้น ย่อมนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

    • *** ผมตัดสินใจกำกับภาษาจีนคู่กันไว้กับ 'การตีความ' อีกเหมือนเคยครับ เนื่องจากมีการใช้ 'ความหมายรอง' ของหลายๆ คำมาใช้ประกอบการอธิบายแทบจะตลอดทั้งบท


The Organization Code :


'การตรึกตรองด้วยปัญญา' นั้นมีนัยที่แฝงความหมายไว้ว่า จะต้องมี 'ความมั่นคงทางอารมณ์' (⚏) มี 'ความตื่นตัว' ของ 'สติที่หนักแน่น' (⚍) และมี 'พฤติกรรมที่อ่อนน้อม' แต่มี 'ความชัดเจนในการแสดงออก' (⚎) ... ซึ่งเมื่อเทียบกับการบริหารจัดการองค์กรแล้ว การดำเนินงานใน 'ระดับนโยบาย' ก็จะต้องมี 'ทิศทาง' และ 'กรอบเกณฑ์' ที่ 'แน่วแน่มั่นคง' (⚏) 'ไม่เหลาะแหละโลเล' ไป 'ตามกระแส' ; และจะต้อง 'บริหารจัดการ' ด้วย 'ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์' แต่ 'หนักแน่น' ใน 'หลักการที่เด็ดขาดชัดเจน' (⚍) ; โดยผ่าน 'การปฏิบัติงาน' ที่ 'เคร่งครัด-เอาจริงเอาจัง' ด้วย 'จิตสำนึก' ที่ 'ปราศจากความก้าวร้าวรุนแรง' (⚎)

เหตุการณ์ทั้งหลาย ล้วนมี 'ข้อเท็จจริง' ที่ 'ซ้อนเหลื่อมกัน' อยู่ 'หลายด้าน' และสามารถ 'เลือกมอง' ได้ 'หลากหลายแง่มุม' ตามแต่ 'ข้อจำกัด' ของ 'ความรู้-ความคิด' และ 'ประสบการณ์' ของแต่ละบุคคล ... 'ผู้มีปัญญา' จึงต้อง 'สำรวมสติ' เพื่อจะพิจารณาแง่มุมต่างๆ อย่าง 'รอบด้าน' โดย 'ไม่หวั่นไหว-ตื่นตูม' ไปตาม 'ความแปรเปลี่ยน' หรือ 'ความสับสนวุ่นวาย' ของเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่ต้องเผชิญ และจะต้อง 'ไม่ด่วนสรุปจำกัดความ' เพียงเพื่อจะ 'หักหาญ' ให้ทุกอย่างดำเนินไปตาม 'ความ พึงพอใจ' ของตนเพียงฝ่ายเดียว ; 'การดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ ในทุกๆ ระดับขนาดขององค์กรนั้น จึงมิอาจพิจารณาจากเพียง 'เปลือกนอกของแต่ละบุคคล' และยิ่งมิอาจ 'ดักดาน' อยู่กับ 'แนวคิด' หรือ 'หลักการ' ใดๆ โดยไม่ทำการ 'ศึกษาค้นคว้าจนกระจ่าง' ถึง 'ข้อดี-ข้อด้อย' และ 'ความเหมาะสม' ที่จะนำ 'แนวคิด' หรือ 'หลักการ' นั้นๆ มา 'ประยุกต์ใช้' ในแต่ละ 'สถานการณ์'

    • ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนมี 'เหตุปัจจัย' ให้ต้องเกิดขึ้น ... ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็น 'เหตุปัจจัย' ให้เกิดสิ่งอื่นๆ ตามมา ... จง 'ศึกษาค้นคว้า' เพื่อทำ 'ความกระจ่าง' ใน 'วัฏจักรอันไม่รู้จบ' ของ 'สรรพปรากฏการณ์' ก่อนที่จะ 'ดำเนินกิจการงาน' แต่ละ 'ย่างก้าว' ด้วย 'ความระมัดระวัง' มิให้เกิด 'ความผิดพลาด-เสื่อมเสีย' โดยจะต้องมี 'ความมุ่งมั่น' ที่จะ 'ทุ่มเทความพยายาม' ในการ 'ผดุงไว้' ซึ่ง 'ความยั่งยืน' แห่ง 'บรรทัดฐาน' อัน 'บริสุทธิ์-ยุติธรรม'
    •  สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนมี 'ความเคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลง' เป็นธรรมชาติโดยพื้นฐาน ... ผู้ที่ประกอบด้วย 'ปัญญา' จึงต้องพิจารณา 'ความไม่ปรกติ' อันเนื่องมาจาก 'ความเปลี่ยนแปลง' ทั้งหลายด้วย 'ความมีสติ' โดย 'ไม่ด่วนตัดสิน-ตีความ' ไปตาม 'กระแสแห่งอารมณ์ที่วูบไหว' เพียงเพื่อจะ 'ลอกเลียนเอาอย่าง' หรือ 'แข็งขืนต่อต้าน' ด้วย 'การไม่ยอมรับ'
    • พึงระลึกไว้เสมอว่า การกำหนด 'เงื่อนไข' และ 'ข้อจำกัด' ตลอดจน 'ระเบียบข้อบังคับ' ต่างๆ นั้น ย่อมมีผลต่อเนื่องไปถึง 'การปฏิบัติงาน' และ 'ผลลัพธ์' ที่จะ 'ปรากฏออกมา' เสมอ ดังนั้น จึงต้อง 'พิจารณาไตร่ตรอง' ถึง 'ผลกระทบ' อันเนื่องมาจาก 'เหตุปัจจัย' ของ 'การปฏิบัติงาน' ในแต่ละ 'ลำดับชั้นขั้นตอน' อย่าง 'ถี่ถ้วน' และ 'รอบด้าน' เพื่อให้เกิด 'ความชัดเจน' ในการ 'มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ' สำหรับแต่ละ 'ตำแหน่งหน้าที่' ได้อย่าง 'ถูกต้อง-เหมาะสม' และเป็นประโยชน์ต่อ 'การติดตามตรวจสอบ' อย่าง 'ต่อเนื่อง' และ 'เป็นธรรม' กับทุกๆ ฝ่าย
    • 'การสำรวมจิตใจ' ให้ 'นิ่งสงบ' เพื่อจะทำการ 'พิจารณาตรวจสอบ' และ 'ประเมินผล' ของ 'การปฏิบัติงาน' ในแต่ละ 'ภาระกิจที่มอบหมาย' ไว้ ด้วย 'ความบริสุทธิ์-ยุติธรรม' ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสื่อมเสีย' ด้วยประการทั้งปวง
    • จง 'พินิจพิจารณา' ด้วย 'ปัญญา' ทั้ง 'แง่บวก' และ 'แง่ลบ' ของ 'ความเปลี่ยนแปลง' ในสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อจะเข้าใจถึง 'ศักยภาพ' ในการรองรับ 'ความเสี่ยง' ตลอดจน 'เป้าประสงค์ที่แท้จริง' ของ 'ภาระกิจ' ที่จะต้อง 'ดำเนินการ' ... ซึ่ง 'ความเป็นระบบระเบียบ' ใดๆ ตลอดจน 'ข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน' และ 'คำสั่งการ' ทั้งหลายนั้น จำเป็นต้องประกอบด้วย 'องค์ความรู้' ที่ 'เหมาะสม' เป็นพื้นฐานใน 'การบังคับใช้' จึงจะสามารถขจัดปัดเป่า 'ปฏิกิริยาต่อต้าน' อันเนื่องมาจาก 'ความอึดอัดคับข้องใจ' ทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไป
    • 'ความเจริญรุ่งเรือง' ขององค์กรหนึ่งๆ นั้น ย่อมเป็นผลมาจาก 'ความหนักแน่น-มั่นคง' ใน 'บรรทัดฐาน' ของ 'ความมีวิจารณญาณ' ที่ 'เหมาะสม' ในแต่ละสถานการณ์ที่ 'แปรเปลี่ยนอย่างไม่แน่นอน' ... ซึ่งการรู้จัก 'ปรับเปลี่ยนท่าที' เพื่อให้มี 'ความสอดคล้อง' กับ 'กาละ-เทศะ' หนึ่งๆ โดย 'ไม่สูญเสียจุดยืน' และ 'หลักการอันเที่ยงธรรม' นั้น คือสิ่งบ่งบอกถึง 'ความมีสติ-ปัญญา' ของ 'ผู้บริหาร' และ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ทุกๆ คน



นี่ก็คือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของวลี ... 'การจะบรรลุถึง (見) ความเป็นยอดคน (龍) นั้น ย่อมต้องอาศัยการบ่มเพาะ และการเสาะแสวงหาอย่างไม่รู้จักย่อท้อ (再田) อันโชคลาภและความสำเร็จ (利) ย่อมมาสู่ (見) บุคคลผู้เปี่ยมด้วยสติปัญญา และความมีวุฒิภาวะอันสมบูรณ์ (大人)' ... ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ตั้งแต่วรรคที่สองของบทที่หนึ่ง โดยเราจะเห็นวิวัฒนาการของมันมาตั้งแต่บทที่สี่ (䷃ 蒙 Méng : Infancy) ซึ่งเน้นไปในเรื่องของ 'การศึกษาหาความรู้' แล้วนำไปสู่บทที่สิบหก (䷏ 豫 Yǜ : Resilience) อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'จิตใจของผู้เบิกบานในธรรม' ก่อนที่จะมาต่อด้วยบทที่ยี่สิบแปด (䷛ 大過 DàGuò : Maturity) คือ 'ความมีวุฒิภาวะ' และบทที่สี่สิบ (䷧ 解 Jiě : Equanimity) ที่เป็นเรื่องของ 'การเจริญสติ' ... จากนั้น ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ก็ขมวดทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็น 'การตึกตรองด้วยปัญญา' ในบทนี้ ซึ่งเป็น 'วัฏจักรที่ห้า' หรือ 'วัฏจักรสุดท้าย' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' อย่างน่าทึ่งมาก !!!?!

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะเอ่ยถึงก็คือ 'ชื่อบท' และ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทที่ King Wen เลือกใช้ คือการนำเอา ☶ หรือ 艮 (gèn, เกิ้น) ซึ่งเป็น 'สัญลักษณ์ธาตุ' ที่หมายถึง 'ภูเขา' มาเรียงซ้อนกันเป็น 'ภูเขาซ้อนภูเขา' (䷳) ... แต่มันก็อาจจะไม่มีความพิเศษพิศดารอะไรหากคำว่า 艮 (gèn, เกิ้น) ไม่ได้มีความหมายว่า 'ความสงบนิ่ง' หรือ 'ความไม่หวั่นไหว' อย่างที่เล่าไปแล้ว ... แต่เพราะบังเอิญว่า ภาพของ 'ภูเขาซ้อนภูเขา' นั้น น่าจะช่วยสะท้อนให้เรานึกถึง 'ทิวเขาอันสลับซับซ้อน' ที่ 'เรียงรายอย่างนิ่งสงบ' ... มันคือ 'ความแตกต่าง' ที่ King Wen อาจจะต้องการสื่อให้เราระลึกไว้เสมอว่า ...
'บุคคลผู้เปี่ยมด้วยสติ-ปัญญา ย่อมจะรักษาจิตใจให้อยู่ในความนิ่งสงบ และมีความหนักแน่นดุจดั่งขุนเขา ที่ไม่เคยวูบวาบหวั่นไหวเพราะความแปรเปลี่ยนที่สลับซับซ้อนของสถานการณ์ต่างๆ รอบๆ ตัว' ... บางที ... นี่อาจจะเป็น 'ภาพสัญลักษณ์' ที่สื่อความหมายได้ตรงกับถ้อยคำในบทอย่างลงตัวที่สุดบทหนึ่งของ 'คัมภีร์อี้จิง' เลยก็ว่าได้ !!? ... ;)