Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第六十四卦 : 未濟

 

未濟 : 火水未濟 ‧ 離上坎下

未濟 : 亨‧小狐汔濟‧濡其尾‧無攸利‧

  • 初六 : 濡其尾‧吝‧
  • 九二 : 曳其輪‧貞吉‧
  • 六三 ‧ 未濟‧征凶‧利涉大川‧
  • 九四 : 貞吉‧悔亡‧震用伐鬼方‧三年有賞于大國‧
  • 六五 : 貞吉‧無悔‧君子之光‧有孚‧吉‧
  • 上九 : 有孚于飲酒‧無咎‧濡其首‧有孚失是‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : กาย-ใจ-ปัญญา ประสานสอดคล้องด้วยความหนักแน่น และตื่นตัว (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : อาศัย 'บุคลากร' (☵) สนับสนุน 'ผลิตภัณฑ์' (☲)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ปัจเจกัตถสมาทาน, โชติช่วงเหนือหุบแอ่ง



ความหมายของชื่อเรียก : Individualizing : ปัจเจกัตถสมาทาน


นี่ก็คือ 'บทสรุปสุดท้าย' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ที่หลายๆ ตำราแปลไว้ค่อนข้างจะเป็นความหมายเดียวกันว่า 'ยังไม่เสร็จสิ้น' หรือ 'ยังไม่ยุติ' ... ซึ่งเป็นไปตามเหตุผลทางคณิตศาสตร์บางอย่างที่เล่าไปแล้วในบทที่หกสิบสามว่า 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทที่หกสิบสี่นี้ เป็นเพียง 'จุดกึ่งกลางแห่งวัฎจักร' เท่านั้น ยังไม่ใช่ 'จุดสิ้นสุดของวงวัฎจักรที่สมบูรณ์' ...



 


 

และหากเป็นไปตามภาพที่เห็นนี้ เราก็น่าจะได้ข้อคิดบางอย่างว่า ลำพังเฉพาะแค่ 'พลังแห่งหยาง' ที่แม้ว่าจะมีความแข็งแกร่งดุดันเพียงใดก็ตาม ย่อมไม่สามารถนำพาให้ทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นได้โดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อมีการประสานด้วย 'พลังแห่งหยิน' ที่อ่อนหยุ่นและนุ่มนวลกว่าแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถประกอบทุกภาระกิจให้สำเร็จเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ได้ ... ส่วน King Wen จะอธิบายว่ายังไง เราก็คงต้องมา 'แยกธาตุ' ของ 'ชื่อเรียก' ให้ชัดๆ อีกครั้งล่ะครับว่า มันควรจะมีความหมายว่าอย่างนั้นรึเปล่า ?! ... ;)

未 อ่านว่า wèi (เว่ย) ปรกติก็จะแปลว่า 'ยัง' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'ยังไม่ถึง', 'ยังไม่เสร็จ', 'ยังไม่จบ', หรือ 'ยังไม่เรียบร้อย' ; และอาจจะหมายถึง 'ไม่มี', 'ไม่เคยมี', 'ยังไม่มี' หรือ 'ไม่แน่ไม่นอน' ก็ได้ ; 未 (wèi, เว่ย) เคยถูกใช้ในความหมายว่า 'รสชาติ' ด้วย แต่ต่อมาถ้าใช้ในความหมายนี้ก็จะเขียนเป็น 味 (wèi, เว่ย) เพื่อเจาะจงว่าเป็นคำที่มีความเกี่ยวข้องกับ 'ปาก' (口) โดยตรง

ส่วนอักษร 濟 (jǐ, จี่) เล่าไปในบทที่หกสิบสามแล้วว่า หมายถึง 'มากมาย' และ 'ละเอียด' หรือ 'ประณีตงดงาม' ... แต่ถ้าออกเสียงเป็น jì (จี้) ก็จะแปลว่า 'ข้ามน้ำ' หรือ 'ข้ามพ้นอุปสรรค' ; อาจจะหมายถึง 'การให้ความช่วยเหลือ' เพื่อให้ 'ผ่านพ้นอุปสรรค' ไปได้ ซึ่งบางครั้งก็สามารถแปลว่า 'หยุด' ได้ด้วย

หากเทียบกับบทที่หกสิบสามที่ผมให้ความหมายเอาไว้ เมื่อ 既濟 (jì jǐ, จี้ จี่) หมายถึง 'การประสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์' จนกลายสถานะเป็น Undividuality คือ 'สภาวะที่ไม่มีการแบ่งแยก' หรือ 'เอกัตถภาวะ' ... คำว่า 未濟 (wèi jǐ, เว่ย จี่) ก็น่าจะหมายถึง 'ความยังไม่สมบูรณ์ของการประสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน' !!?? ... อันเกิดจาก 'อัตราของความเป็นปัจเจก' ยังอยู่ในระดับที่ 'เข้มข้น' เกินกว่าจะ 'ละลายเข้าหากัน' ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย 'กระบวนการจำแนกแยกแยะ' เพื่อให้องค์ประกอบที่ 'ไม่สามารถรวมเข้าด้วยกัน' เหล่านั้นเกิด 'การแยกตัวออกจากกัน' อย่าง 'ชัดเจน' ก่อนที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินงานใดๆ ในลำดับต่อไป ... ตรงนี้เองที่ผมมองว่า มันคือประเด็นที่สะท้อนความหมายของวรรคที่เจ็ดในบทที่หนึ่งซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า ...
'เมื่อใดก็ตามที่ได้บรรลุถึง (見) ระดับความสัมพันธ์ที่บรรดาบัณฑิตผู้เปรื่องปราดทั้งหลาย (群龍) ปราศจาก (無) ความคิดและพฤติกรรมที่จะแก่งแย่งแข่งดีเพื่อชิงความเป็นผู้นำ (首) เมื่อนั้นแลคือช่วงเวลาอันเป็นสิริมงคล (吉) ของแผ่นดิน' ... ซึ่ง 未濟 (wèi jì, เว่ย จี้) ก็อาจจะสะท้อนความหมายว่า 'ปราชญ์ย่อมมีเป้าหมายอยู่ที่การขัดเกลา และพัฒนาตนเองอย่างไม่สิ้นสุด โดยไม่มุ่งประโยชน์เพียงเพื่อความโดดเด่นเหนือกว่าทุกผู้คน' ...

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมเลือกใช้คำว่า
Undividualizing หรือ 'เอกัตถสมาทาน' เพื่อสะท้อนถึง 'การปฏิบัติเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของอัตลักษณ์ที่แตกต่าง' ให้กับบทที่หกสิบสาม ผมก็อยากจะเลือกใช้คำให้เป็นชุดเดียวกันสำหรับบทที่หกสิบสี่ด้วย ผมจึงเลือกใช้คำภาษาอังกฤษว่า Individualizing ซึ่งเป็นอาการนามของ Individual อันหมายถึง 'ไม่สามารถ (in-) แบ่งแยก (divide)' ที่มักจะถูก 'ตีความ' จนกลายเป็น 'ความไม่ยอมรับระหว่างกัน' ของบรรดา 'ปัจเจกนิยม' (Individualism) ประเภท 'ดักดานในอัตตา' เพราะ 'ไม่อยากทำตามใคร' เท่านั้นเอง ... แล้วผมก็เลือกคำไทยที่สร้างขึ้นมาใช้กับชื่อบทนี้ว่า 'ปัจเจกัตถสมาทาน' หรือ 'การปฏิบัติเพื่อความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว' ... ซึ่งมันก็แน่นอนล่ะครับว่า มันจะมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย กับมีทั้งข้อที่พึงปฏิบัติ-ข้อที่พึงระมัดระวัง ในเนื้อความที่ทั้ง King Wen กับ 'จิวกง' ช่วยกันบันทึกไว้



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨小狐汔濟濡其尾無攸利
hēng xiǎo hú qì jǐ rú qí wěi wú yōu lì
เฮิง เสี่ยว ฮู๋ ชี่ จี่ ญู๋ ชี๋ เหฺว่ย อู๋ โยว ลี่



狐 คำนี้อ่านว่า hú (ฮู๋) ปรกติจะแปลว่า 'สุนัขจิ้งจอก' แต่บางครั้งก็นำเอาลักษณะของ 'ความกลิ้งกลอก' ของสัตว์ชนิดนี้มาใช้เรียก 'ปีศาจ' หรือเป็นคำว่ากล่าวบุคคลที่เป็น 'คนไม่ดี', 'คนที่ไม่ซื่อสัตย์' หรือ 'คนถ่อย' (小人) ด้วยเหมือนกัน ; แล้วก็ยังแปลว่า 'ที่น่าสงสัย', หรือ 'ที่ไม่น่าไว้ใจ' ซึ่งก็คงจะเนื่องมาจากความหมายของ 'ความเจ้าเล่ห์-กลิ้งกลอก' นั่นเอง ... ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ถ้าเราเลือกให้ 狐 (hú, ฮู๋) หมายถึง 'คนถ่อย' (小人) หรือ 'คนที่ไม่น่าไว้ใจ' อักษร 小 (xiǎo, เสี่ยว) ที่วางอยู่ด้านนหน้าอาจจะหมายถึง 小心 (xiǎo xīn, เสี่ยว ซิน) เพื่อบอกให้ 'ระมัดระวัง' ก็ได้ ?!??

汔 อ่านว่า qì (ชี่) เวลาใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แห้งผาก' ซึ่งเกิดโดย 'การระเหยของน้ำ' จน 'หมดสิ้น' หรืออาจจะเพราะ 'ถูกใช้จนหมด' จึงทำให้มันมีความหมายคล้ายกับ 訖 (qì, ชี่) ซึ่งมีตัวย่อที่คล้ายคลึงกันมากคือ 讫 (qì, ชี่) ที่หมายถึง 'สิ้นสุด', 'หมดสิ้น', หรือ 'ยุติ' ; ส่วนความหมายอื่นของ 汔 (qì, ชี่) ก็คือ 'จวนเจียน', 'เกือบจะ' แบบเดียวกับ almost ซึ่งอาจจะแผลงความหมายไปเป็น 'สม่ำเสมอ', 'ทุกครั้งครา' แบบเดียวกับ always ได้ด้วย ; ส่วนในความหมายว่า 'หมดสิ้น' หรือ 'ถูกใช้จนหมด' ก็เลยทำให้ 汔 (qì, ชี่) มีความหมายว่า 'หมดสิ้นเรี่ยวแรง' หรือ 'หมดสภาพ'

มาดูความหมายของคำว่า 濟 (jǐ, จี่) อีกซักรอบดีกว่า ผมเลือกที่จะให้ความหมายกับคำนี้ว่า 'มากมาย' และ 'ละเอียด' หรือ 'ประณีตงดงาม' โดยย้ำว่า มันควรจะออกเสียงว่า jǐ (จี่) ไม่ใช่ jì (จี้) แล้วไปแปลด้วยความหมายว่า 'ข้ามน้ำ' หรือ 'ข้ามพ้นอุปสรรค' ; อาจจะหมายถึง 'การให้ความช่วยเหลือ' เพื่อให้ 'ผ่านพ้นอุปสรรค' เหมือนกับตำราอื่นๆ ... เมื่อเป็นอย่างนี้ ความหมายตามตัวอักษรของ 未濟 (wèi jǐ, เว่ย จี่) ก็จะหมายถึง 'ยังไม่มากพอ', 'ยังไม่ละเอียดพอ', หรือ 'ยังไม่ประณีตพอ' ... ประมาณว่า 'ยังไม่ถึงกับเรียบร้อยซะทีเดียว' หรือ 'ยังสามารถทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปได้อีก' นั่นเอง

ส่วนอักษร 攸 (yōu, ยฺอิว, โยว) เราเจอกันมาบ่อยมากๆ แล้ว มันแปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกันนะเอ้า … มึนมั้ย ?! 😅

ความจริงแล้ว ระหว่างบทที่หกสิบสาม กับบทที่หกสิบสี่นี้ เราจะเห็นการใช้ถ้อยคำของทั้ง King Wen กับ 'จิวกง' ที่ไขว้ไปไขว้มาราวกับว่า มันสามารถที่จะใช้ทดแทนกัน หรือไม่ก็เป็นเพียงคนละด้านของสิ่งเดียวกันได้เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะตรงคำว่า 亨 (hēng, เฮิง) ที่ถือเป็น 'คำหลัก' ของทั้งสองบท และมีเนื้อความที่เหลือเป็นส่วนขยายความให้ละเอียดแตกต่างกันไปเท่านั้น ... แล้วก็มีอักษรอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจในบทนี้ก็คือคำว่า 汔 (qì, ชี่) ที่เราเห็นอยู่แล้วว่า นอกจากมันจะออกเสียงคล้ายกับ 既 (jì, จี้) ในบทที่หกสิบสามแล้ว มันก็ยังมีบางความหมายที่คล้ายกันมากๆ อีกด้วย

สังเกตด้วยนะครับว่า 'จิวกง' เล่นกับวลี 濡其尾 (rú qí wěi, ญู๋ ชี๋ เหฺว่ย) มาแล้วในวรรคที่หนึ่งของบทที่หกสิบสาม ซึ่งในวรรคดังกล่าว 'จิวกง' ลงท้ายวลีของท่านว่า 無咎 (wú jìu, อู๋ จิ้ว) ซึ่งแปลว่า 'ไม่ผิดพลาด' แต่สำหรับบทนี้ King Wen ลงท้ายวลีด้วยคำว่า 無攸利 (wú yōu lì, อู๋ โยว ลี่) ซึ่งจะมีความหมายประมาณว่า 'ไม่ค่อยจะมีประโยชน์' หรือ 'ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวนัก' ... ทั้งสองวลีจึงมีความหมายในทิศทางที่คล้ายๆ กันว่า การที่เรา 'ไม่ดำเนินงานให้เต็มศักยภาพ' (濡其尾) นั้น ถึงแม้ว่ามันจะ 'ไม่ผิด' (無咎) แต่มันก็ 'ไม่ค่อยจะเห็นผลงาน' (無攸利) เท่าที่ควร ... ประมาณนี้ ...

 ... ดังนั้น King Wen จึงขยายความให้กับชื่อบทของท่านว่า ...
'ปัจเจกัตถสมาทาน' คือ 'สภาวะแห่งการพัฒนาที่ยึดติดกับพิธีรีตอง (亨) อันเต็มไปด้วยระเบียบขั้นตอนที่หยุมหยิม (小) ยอกย้อน (狐) จนต้องสิ้นเปลืองทั้งกำลังและทรัพยากร (汔) ไปกับทุกรายละเอียดที่เกินความจำเป็น (濟) ซึ่งเป็นการบั่นทอนความสำคัญ (濡) ของเป้าหมาย (其尾) โดยสิ่งที่ปราศจาก (無) แก่นสารสาระอันเป็นประโยชน์ใดๆ (攸利)' ... ไม่มี 'สุนัขจิ้งจอกตัวน้อย' (小狐) ที่ไหนมา 'กระโดดข้ามลำธาร' (汔濟) แล้ว 'เอาตูดแช่น้ำ' (濡其尾) โดย 'ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรที่ตรงไหนเลย' (無攸利) หรอกครับ !?!! ... อย่าเชื่อผมสิ !!?!?! ... 😁😁

อ๊ะ !! ... แล้วมันเป็น 'ปัจเจกัคถสมาทาน' หรือ 'การปฏิบัติเพื่อความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว' ตรงไหนล่ะ ?!! ... คืองี้ครับ ... ภายในระบบงานที่เป็นจริงของหลายๆ แห่งนั้น เรามักจะมีโอกาสได้พบเจอกับ 'มนุษย์เจ้าพิธี' ประเภท 'ลีลามาก แต่กากล้วนๆ' อยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของพวก 'อัตตาสูง-ปัญญาต่ำ' ที่พยายาม 'เรียกร้องความสำคัญ' ให้กับ 'ตัวเอง' มากกว่าที่จะ 'มุ่งความสนใจ' อยู่กับ 'ความสำเร็จของงาน' ที่ 'ได้รับมอบหมาย' เน้นการปฏิบัติงานแบบ 'ทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องยาก ทำเรื่องมากให้กลายเป็นความสลับซับซ้อน' เพื่อ 'หลอกตัวเอง' ว่าเป็นผู้มี 'ความชำนิชำนาญ' ในการ 'กำกับทุกรายละเอียด' อย่างที่ไม่มีมนุษย์โลกหน้าไหนสามารถจะเข้าใจได้ง่ายๆ เลย ... นึกออกมั้ยครับ ?!?!?? ... แบบนั้นน่ะคือประเภท 'อีโก้สูง-ไอคิวต่ำ' นะครับ !! ... จะว่าไปแล้ว King Wen นี่ปากจัดไม่เบาเลยนะครับเนี่ย !! ... 😋




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

濡其尾吝
rú qí wěi lìn
ญู๋ ชี๋ เหฺว่ย ลิ่น



บทนี้ 'จิวกง' ใช้วิธีลอกวลี 濡其尾 (rú qí wěi, ญู๋ ชี๋ เหฺว่ย) ของ King Wen มาตรงๆ เลยนะครับ ต่างกับบทที่แล้วซึ่งใช้คำว่า 尾 (เหฺว่ย) ให้แทนความหมายของ 終 (zhōng, ง) ส่วนคำที่เหลือก็เป็นคำเดิมที่เคยเจอมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ 吝 (lìn, ลิ่น) ซึ่งแปลว่า 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; เลยมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ' ... จะเห็นว่าความหมายโดยรวมของมันก็คือ 無攸利 ((wú yōu lì, อู๋ โยว ลี่) นั่นเอง

ส่วนคำว่า 濡 (rú, ญู๋) ถูกใช้ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้งในสองบทสุดท้ายนี้นะครับ มันคือ 'ชื้น', 'เปียก', หรือ 'นิ่ม', 'อ่อนนุ่ม' ; ซึ่งบางทีก็หมายถึง 'จุ่มลงในน้ำ', 'แช่น้ำ', หรือ 'ทำให้เปียก' และ 'ทำให้นิ่ม' ; บางครั้งยังใช้ในความหมายที่ 'ทำให้อ่อนหยุ่น' โดยอาศัยความร้อน จึงทำให้ 濡 (rú, ญู๋) สามารถใช้ในความหมายของ 'ทำให้อบอุ่น', 'ทำให้ร้อน', หรือ 'ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น' ได้ด้วย ; อย่างไรก็ตาม โดยลักษณะของ 'การทำให้อ่อนนุ่ม' นี้ก็มีส่วนที่ทำให้ 濡 (rú, ญู๋) หมายถึง 'การชะลอตัว', 'ทำให้ช้าลง', หรือ 'ทำให้หยุดชะงัก' ก็ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น แทบไม่ต้องลังเลเลยครับว่า วรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็คือ ...
'การบั่นทอนความสำคัญของเป้าหมาย ด้วยการไม่ยอมปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง (濡其尾) นั้น คือการลดคุณค่าของตนเองลงอย่างน่าอาย (吝)' ... นั่นคือ 'จิวกง' ต้องการขยายความให้ครอบคลุมไปอีกมิติหนึ่งด้วยว่า นอกจาก 'ผลลัพธ์ที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' (無攸利) ตามที่ King Wen ได้บรรยายไว้เรียบร้อยแล้วนั้น การที่เรา 'ทำอะไรหยิบโหย่ง' โดย 'ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่' ให้ 'เต็มกำลังสติปัญญา' ของตน ถือเป็น 'การด้อยค่าของตัวเอง' ให้กลายเป็น 'ผู้ไร้สมรรถภาพ' ไปด้วย เข้าทำนอง 'ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด' เพราะจริงๆ แล้วคือไม่ยอมใช้ความรู้ และสติปัญญาที่มีให้เกิดประโยชน์กับงานนั่นเอง


 

สอง หยาง :
 
曳其輪貞吉
yè qí lún zhēn jí
เยี่ย ชี๋ ลุ๋น เจิน จี๋



สังเกตนะครับว่า 'จิวกง' เล่นคำซ้ำๆ ในสองบทสุดท้ายนี้ ซึ่งก็เป็นอย่างที่ผมบอกไว้ก่อนแล้วว่า ทั้งสองบทนี้น่าจะสามารถสลับขั้วกันไปมาได้ เพราะโดยตำแหน่งของมันบนเส้นคลื่นที่แสดงไว้ในภาพข้างต้นนั้น มันคือจุดตัดที่สามารถเป็นได้ทั้ง 'หยิน' และ 'หยาง' และเป็นจุดที่ 'เส้นหยิน-เส้นหยาง' ใน 'ภาพสัญลักษณ์' มีการสอดประสานกันอย่างลงตัวที่สุดทั้งสองภาพ ... ประเด็นสำคัญที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อเอาไว้ในสองบทนี้ก็คือ 'ความพอดี' ที่ต้องใช้ 'วิจารณญาณ' อย่าง 'ละเอียดถี่ถ้วน' เพื่อให้ 'แต่ละลำดับขั้นตอน' ของ 'การดำเนินงาน' สามารถบรรลุ 'เป้าหมายที่แท้จริง' ได้อย่างมี 'ประสิทธิภาพ' โดยยังสามารถ 'รักษาสมดุลของทั้งระบบ' เอาไว้ได้ ... 'ความเต็มที่' กับ 'ความสุดโต่ง' นั้น คือด้านทั้งสองของสิ่งเดียวกันที่ต้องอาศัย 'ปัจจัยแวดล้อม' หลายๆ อย่างเป็น 'เกณฑ์ในการตัดสิน' โดยไม่สามารถยึดติดกับนิยามใดนิยามเดียวอย่างตายตัวเสมอไป

ย้อนดูความหมายของ 輪 (lún, ลุ๋น) กันหน่อย คำนี้แปลว่า 'ล้อ', 'เฟือง', ซึ่งเป็น 'สิ่งที่หมุนได้เหมือนล้อ' หรือบางทีก็จะหมายถึง 'สิ่งที่สัณฐานกลมเหมือนล้อ', เช่น 'พระจันทร์เต็มดวง' ; และเมื่อมันมีความหมายในลักษณะของ 'วงกลม' ความหมายแฝงของมันก็น่าจะหมายถึง 'ครบถ้วน', 'ครอบวงจร' หรือ 'รอบด้าน' และ 'มีความต่อเนื่อง' ซึ่งก็เป็นลักษณะหนึ่งของคำว่า 無首 (wú shǒu, อู๋ โษ่ว) คือ 'ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุด' นั่นเอง ... ซึ่งต้องขอบอกเลยว่า 'จิวกง' เลือกใช้คำสั้นๆ ที่สามารถอธิบายความหมายได้อย่างกว้างขวาง และมีความครอบคลุมไปหลายมิติได้อย่างสุดยอดมากๆ !!

เอาเลยนะครับ ...
'การพิจารณาแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้าน อีกทั้งดำเนินกิจการงานอย่างต่อเนื่องด้วยความรอบคอบรัดกุม รู้จักปรับประยุกต์พลิกแพลงกระบวนการได้อย่างครบวงจร (曳其輪) คือหลักการปฏิบัติงานอันเที่ยงแท้และบริสุทธิ์ (貞) ซึ่งจักโน้มนำสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... การใช้วลีซ้ำแต่ลงท้ายด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกันนี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการสะท้อนแนวคิดของ 'จิวกง' ที่ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า ด้วย 'บริบทที่แตกต่าง' แม้แต่ถ้อยคำก็ยังสามารถให้ 'ความหมายที่ไม่เหมือนกัน' นับประสาอะไรกับ 'การปฏิบัติงาน' ใน 'สภาพแวดล้อม' ที่มี 'เหตุปัจจัยอันหลากหลาย' จึง 'ไม่ควรยึดติด' กับ 'ค่านิยม' หรือ 'คำนิยาม' ใดๆ 'อย่่างไร้สติ' ... คมมากเลยนะเนี่ย ... ขอบอก !?!!!!?! ... 😇


 

สาม หยิน :

未濟征凶利涉大川
wèi jǐ zhēng xiōng lì shè dà chuān
เว่ย จี่ เจิง เซฺวิง ลี่ เษ้อ ต้า วน



征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

涉 อ่านว่า shè (เษ้อ) แปลว่า 'ก้าวข้าม (ทางน้ำ)', และยังมีความหมายในลักษณะของ 'การผ่านร้อนผ่านหนาว' หรือ 'การผจญชีวิต' ซึ่งหมายถึง 'มีประสบการณ์' ; และในความหมายของ 'การก้าวข้าม (ทางน้ำ)' ก็ส่งผลให้มันหมายถึง 'ข้ามน้ำข้ามทะเล' ซึ่งหมายถึง 'การผูกสัมพันธ์', 'การเชื่อมโยง', 'การปะติดปะต่อ', 'การมีส่วนร่วม', 'ความเชื่อมโยง', 'ความเกี่ยวข้อง' ; และยังหมายถึง 'การลงมือกระทำการ' ในความหมายของ 'การสร้างเสริมประสบการณ์' อีกด้วย

川 อ่านว่า chuān (วน) แปลว่า 'กระแสน้ำ', 'แม่น้ำ', 'ผืนน้ำ' ; 'การไหล', 'การเคลื่อนตัวไป', 'การเดินทาง' ; แปลว่า 'ที่ราบ', 'ผืนแผ่นดินที่ราบเรียบ' หรือ 'ทุ่งราบ' ก็ได้ … มันจึงสามารถถูกตีความให้หมายถึง 'สุดแผ่นดินแผ่นน้ำ' หรือ 'สุดลูกหูลูกตา' ได้เหมือนกัน

ดูแปลกๆ มั้ยครับวรรคนี้ ... เอาใหม่นะ ผมว่าย้อนกลับไปดูสิ่งที่ King Wen บรรยายคำว่า 未濟 (wèi jǐ, เว่ย จี่) กันอีกซักครั้งดีกว่ามั้ย ?! ... King Wen อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า ...
'สภาวะแห่งการพัฒนาที่ยึดติดกับพิธีรีตอง (亨) อันเต็มไปด้วยระเบียบขั้นตอนที่หยุมหยิม (小) ยอกย้อน (狐) จนต้องสิ้นเปลืองทั้งกำลังและทรัพยากร (汔) ไปกับทุกรายละเอียดที่เกินความจำเป็น (濟) ซึ่งเป็นการบั่นทอนความสำคัญ (濡) ของเป้าหมาย (其尾) โดยสิ่งที่ปราศจาก (無) แก่นสารสาระอันเป็นประโยชน์ใดๆ (攸利)' ... อ่านทวนไปเรื่อยๆ ครับ ... รู้สึกมั้ยครับว่า 未濟 (wèi jǐ, เว่ย จี่) ในทัศนะของ King Wen นั้นจะออกไปทาง 'หยุมหยิมเรื่องมาก' แบบ 'ไม่รู้จักพอ' คือมัวแต่เรียกนิดร้องหน่อยจนงานการไม่เป็นอันก้าวไปถึงไหนเลยซักที ?! ... 😇 ... ซึ่งพวก 'แก่อีโก้' มักจะใช้วิธีการแบบนี้ในการ 'โชว์พราวด์' ไปวันๆ โดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น !!

เอาครับ ...
'การปฏิบัติงานเพื่อสนองกิเลสตนอย่างไม่รู้จักพอ (未濟) นั้น คือการดิ้นรนไขว่คว้า (征) ที่จะนำมาซึ่งความหายนะ (凶) ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจการงานเพื่อความสำเร็จของเป้าหมายอันชัดเจน (利) นั้นต่างหาก ที่จะนำพาสังคมให้ก้าวกระโดด (涉) ไปสู่พัฒนาการอันไร้ขีดจำกัด (大川 คือกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา) ได้' ... แล้วสิ่งที่บรรยายไว้นี้ก็จะต้องไปเชื่อมโยงเข้ากับความหมายที่ได้รับการบันทึกไว้ในวรรคที่สี่ต่อไป


 

สี่ หยาง :

貞吉悔亡震用伐鬼方三年有賞于大國
zhēn jí huǐ wáng zhèn yòng fá guǐ fāng sān nián yǒu shǎng yǘ dà guó
จิน จี๋ หุ่ย วั๋ง เจิ้น โยฺว่ง ฟ๋า กุ่ย ฟัง ซัน เนี๋ยน โหฺย่ว ษั่ง ยฺวี๋ ต้า กั๋ว



เล่าเรื่องอักษร 震 (zhèn, เจิ้น) กันอีกรอบนะครับ อักษรตัวนี้เกิดจากการผสมกันของภาพอักษร 雨 (yǚ, หยฺวี่) ซึ่งหมายถึง 'สายฝน' กับภาพอักษร 辰 (chén, เฌิ๋น) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ 'เวลา' โดยเฉพาะที่มันถูกกำหนดให้เป็นชื่อเรียกของ 'ยามห้า' ที่ตรงกับเวลา 07:00-09:00 ตามเวลาสากลในปัจจุบัน จึงทำให้ความหมายหนึ่งของ 辰 (chén, เฌิ๋น) คือ 晨 (chén, เฌิ๋น) อันหมายถึง 'เวลารุ่งสาง' ได้ด้วย นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจาก 辰 (chén, เฌิ๋น) มีความหมายในลักษณะของ 'โมงยามที่สุกสว่าง' ความหมายแวดล้อมอื่นๆ ของมันจึงหมายถึง 'ดวงดาวที่สุกสว่าง' เช่น ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, หรือดาวฤกษ์อื่นๆ ที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืน ... พอเอาทั้งสองภาพมาเรียงซ้อนกันเป็น 震 (zhèn, เจิ้น) ความหมายตาม 'ภาพอักษร' จึงหมายถึง 'ความสุกสว่างท่ามกลางสายฝน' ซึ่งก็คือ 'ฟ้าแลบ' หรือ 'สายฟ้า' ในช่วงที่มี 'ฝนฟ้าคะนอง' นั่นเอง

ทีนี้ ... พอ 震 (zhèn, เจิ้น) ไปมีความหมายในทำนองว่า 'แหล่งกำเนิดของความสุกสว่างท่ามกลางความหม่นสลัวของท้องฟ้า' มันจึงถูกแผลงความหมายไปจนครอบคลุมถึง 'กษัตริย์' หรือบรรดา 'เชื้อพระวงศ์' ตลอดจน 'ผู้นำ' หรือ 'ผู้มีบารมี' ที่มี 'อิทธิพล' ต่อพัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายของสังคมหนึ่งๆ ได้ด้วย ซึ่งความหมายในฐานะของคำกริยา ก็จะหมายถึง 'การเขย่า', 'การกระตุ้น', 'การปลุกเร้า', 'การสั่นสะเทือน', 'การโหมประโคม', และ 'ความกระตือรือร้น' ตลอดจนสามารถที่จะหมายถึง 'การขู่คำราม', หรือ 'การแสดงความโกรธเกรี้ยว' ... ซึ่งล้วนแต่เป็น 'อากัปกิริยาที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวของพละกำลังแห่งชีวิต' ทั้งสิ้น

賞 อ่านว่า shǎng (ษั่ง) แปลว่า 'ให้รางวัล', 'ยกย่อง', 'ชมเชย' โดยผู้ที่มีศักดิ์สถานะสูงกว่า ซึ่งแน่นอนว่า มันคือการแสดงออกถึง 'ความพึงพอใจ' และ 'การยอมรับ' หรือ 'การให้เกียรติ' ต่อผู้ที่พึง 'ได้รับความเคารพยกย่อง'

于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

國 อ่านว่า guá (กั๋ว) แปลว่า 'เมือง', 'ประเทศ', 'บ้านเกิดเมืองนอน', 'ถิ่นที่อยู่' หรือ 'อาณาจักร' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้นำแว่นแคว้น', 'ผู้ปกครองบ้านเมือง' หรือ 'กษัตริย์' ก็ได้

วรรคนี้มีข้อความที่คล้ายๆ กับวรรคที่สามในบทที่หกสิบสามอยู่หลายส่วนเลยครับ ... 高宗伐鬼方三年克之小人勿用 (gāo zōng fá guǐ fāng sān nián kè zhī xiǎo rén wù yòng, เกา จง ฟ๋า กุ่ย ฟัง ซัน เนี๋ยน เค่อ จือ เสี่ยว เญิ๋น อู้ โยฺว่ง) ... คืองี้ครับ ... ถ้าเราพิจารณาว่า 震 (zhèn, เจิ้น) ในวรรคนี้น่าจะมีความหมายแฝงว่า 'ผู้นำการเปลี่ยนแปลง' มันก็จะกลายเป็น synonym ของคำว่า 高宗 (gāo zōng, เกา จง) ในฐานะของ 'บุคคลชั้นสูง' หรือ 'บุคคลระดับนำ' ได้เลย โดยเราจะเห็นการลำดับรูปประโยคที่ถอดแบบกันมาเลยว่า 高宗伐鬼方 (gāo zōng fá guǐ fāng, เกา จง ฟ๋า กุ่ย ฟัง) นั้นถูกเปลี่ยนมาเป็น 用伐鬼方 (zhèn yòng fá guǐ fāng, เจิ้น โยฺว่ง ฟ๋า กุ่ย ฟัง) ... และวลีถัดมาก็ถูกเปลี่ยนจาก 三年之 (ān nián kè zhī, ซัน เนี๋ยน เค่อ จือ) มาเป็น 三年有賞 (sān nián yǒu shǎng, ซัน เนี๋ยน โหฺย่ว ษั่ง) ... ส่วนวลีท่อนสุดท้าย จะก็จะเห็นการใช้ 'คู่ตรงข้าม' อย่าง 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ซึ่งมีความหมายหนึ่งว่า 'คนถ่อย' หรือ 'ชนชั้นสามัญ' กับ 大國 (dà guó, ต้า กั๋ว) ที่สามารถแปลว่า 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' ก็ได้

อ้ะ !! ... มาว่ากันต่อจากวรรคที่สามล่ะนะ ...
'ธรรมอันเป็นหลักปฏิบัติที่กระชับหมดจด (貞) ย่อมเอื้อต่อการดำเนินงานอย่างราบรื่น (吉) และขจัดความอึดอัดคับข้องใจให้สิ้นสูญ (悔亡) ผู้ที่มีความคิดริเริ่ม (震) และพร้อมปฏิบัติภารกิจอย่างสร้างสรรค์ (用 คือนำมาใช้) มุ่งขจัด (伐) สิ่งแปลกปลอมอันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน (鬼方) อุทิศตนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ (三年 คือมีผลงานมากมาย) ย่อมเป็นที่ยอมรับ (有賞) ในฐานะของ (于) ผู้ที่มีภาวะผู้นำ (大國) ในที่สุด' ... เอาไปต่อกับวรรคที่สามเองเลยนะครับ ... แฮ่ม !!!

ผมเลือกที่จะให้ความหมายกับ 三年 (sān nián, ซัน เนี๋ยน) แตกต่างออกไปจากบทที่หกสิบสามซึ่งเคยใช้คำแปลว่า 'ต่อเนื่องกันนานหลายปี' โดยหยิบเอาความหมายแฝงของ 三 (sān, ซัน) คือ 'ความบ่อย' กับ 'ความมาก' มาใช้แทน 'จำนวนสาม' และใช้ 年 (nián, เนี๋ยน) ในความหมายของ 'เวลานานนับปี' เนื่องจากบริบทในบทที่หกสิบสามนั้นเป็นเรื่องของ 'การปลูกฝังวัฒนธรรม' ซึ่งมี 'ความต่อเนื่อง' เป็น 'ปัจจัยสำคัญ' ที่ไม่อาจเลี่ยง ... ส่วนในบทที่หกสิบสี่นี้จะเป็นเรื่องของ 'การปฏิบัติงาน' ซึ่งควรจะพิจารณาจาก 'ผลของงาน' ที่ 'ก่อคุณประโยชน์' ไม่ใช่ประเมินกันด้วย 'ความอืดอาดเชื่องช้า' เพื่อ 'สะสมอายุงาน' เฉยๆ 年 (nián, เนี๋ยน) ในบทนี้จึงถูกเลือกใช้ด้วยความหมายของ 'ผลผลิต' หรือ 'ผลลัพธ์' ที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ไว้จาก 'การปฏิบัติงาน' ...

มีจุดที่น่าสนใจที่ผมขอเสริมไว้ตรงนี้อีกซักหน่อย โดยผมคิดว่า 'จิวกง' ได้สร้าง 'คู่วลี' ที่น่าจดจำไว้ในวรรคที่สามกับวรรคที่สี่นี้ด้วยคู่หนึ่ง นั่นก็คือ 未濟征凶 ‧ 貞吉悔亡 (wèi jǐ zhēng xīong ‧ zhēn jí huǐ wáng, เว่ย จี่ เจิง เซฺวิง ‧ เจิน จี๋ หุ่ย วั๋ง) ซึ่งสามารถที่จะถอดความออกมาเป็น
'ความไม่รู้จักพอย่อมไขว่คว้าได้เพียงสิ่งทำลายตน ธรรมอันเป็นมงคลย่อมลดทอนความคับข้องให้สิ้นสูญ' ... สวยดีนะครับคำนี้ !! ... และดูเหมือนท่านก็ติดอกติดใจกับมันพอสมควร จึงมีการบันทึกถ้อยคำที่คล้ายกันมากๆ ไว้ในวรรคถัดไปด้วย


 

ห้า หยิน :

貞吉無悔君子之光有孚吉
zhēn jí wú huǐ jün zǐ zhī guāng yǒu fú jí
เจิน จี๋ อู๋ หุ่ย จฺวิน จื่อ จือ กวง โหฺย่ว ฟู๋ จี๋



น่าจะไม่ปรากฏคำใหม่ใดๆ ในวรรคนี้ แต่ผมอยากย้อนความหมายของ 光 (guāng, กวง) ที่มีการหยิบใช้เพียงไม่กี่ครั้งใน 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ คำนี้มีความหมายว่า 'สว่างไสว', 'แวววาว', 'ชัดเจน', 'สดใส', 'หมดจด', 'เรียบลื่น' ; บางครั้งก็เลยมีความหมายว่า 'โล่งเตียน', หรือ 'หมดเกลี้ยง' ; และในแง่ของการรับรู้ ก็จะหมายถึง 'มีความตื่นตัว', 'มีความฉับไว' ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ... ส่วนวลีต้นวรรคนั้นมีการถ่ายเทความหมายมาจากต้นวรรคที่สี่อีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจาก 貞吉悔亡 (zhēn jí huǐ wáng, เจิน จี๋ หุ่ย วั๋ง) มาเป็น 貞吉無悔 (zhēn jí wú huǐ, เจิน จี๋ อู๋ หุ่ย) ซึ่งความหมายของ 亡 (wáng, วั๋ง) กับ 無 (wú. อู๋) นั้นถือว่าใกล้เคียงกันมากๆ

ส่วนคำว่า 孚 (fú, ฟู๋) ซึ่งเจอกันมาบ่อยมากๆ ใน 'คัมภีร์อี้จิง' นี้จะมีความหมายว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

และเมื่อบทนี้มีการเน้นไปที่ประเด็นของ 'ตัวตน' หรือ 'อัตตา' อย่างค่อนข้างชัดเจน ความหมายของวรรคนี้จึงควรจะออกมาเป็น ... 'ความมั่นคงในธรรม (貞) อันเป็นสิริมงคล (吉) ย่อมปราศจาก (無) ความอึดอัดคับแค้นใจ (悔) ความมีสติด้วยจิตใจที่ว่างจากอัตตาของผู้มากปัญญานั้น (君子之光) ย่อมมีแต่ความเอื้อเฟื้อ (有孚) และพร้อมที่จะเสริมสร้างคุณงามความดี (吉) ให้ปรากฏ' ... นี่ก็คือการคิดให้ 'กว้าง', ให้ 'รอบด้าน', และให้ 'รัดกุม' (曳其輪) ไม่ใช่มัวแต่ 'หมกมุ่น' อย่าง 'ดักดาน' อยู่กับ 'การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัว' เพื่อ 'ชิงดีชิงเด่น' ไปวันๆ


 

หก หยาง :

有孚于飲酒無咎濡其首有孚失是
yǒu fú yǘ yǐn jiǔ wú jiù rú qí shǒu yǒu fú shī shì
โหฺย่ว ฟู๋ ยฺวี๋ อิ่น จิ่ว อู๋ จิ้ว ญู๋ ชี๋ โษ่ว โหฺย่ว ฟู๋ ซืษื้



จริงๆ คือไม่มีคำไหนใหม่เลยครับ เลยจะเล่าย้อนเฉพะที่ไม่ค่อยผ่านตาก็พอ ... เราเคยเจอคำว่า 飲 (yǐn, อิ่น) มาแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในบทที่ห้าสิบสาม โดยคำนี้มความหมายว่า 'ดื่ม' หรือ 'เครื่องดื่ม' แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'กลืน' ซึ่งแผลงไปเป็น 'กล้ำกลืน-ฝืนทน' และ 'อดทน' ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ 忍 (rěn, เหฺญิ่น) ไปเลย ... ซึ่งในวรรคนี้ 飲 (yǐn, อิ่น) ถูกวางไว้คู่กับ 酒 (jiǔ, จิ่ว) ที่ปรกติจะหมายถึง 'สุรา' มันจึงน่าจะส่อความหมายของ 'งานรื่นเริง', 'งานสังสรรค์', 'งานเฉลิมฉลอง', หรืออาจจะเป็น 'งานเลี้ยงรับรอง' ที่มักจะมี 'การดื่มกินสุรา' เป็นองค์ประกอบหลักอยู่อย่างหนึ่ง

สำหรับวลี 濡其首 (rú qí shǒu, ญู๋ ชี๋ โษ่ว) นี้ มีการใช้ในเพียงสองบทสรุปสุดท้ายนี้เท่านั้น โดยผมให้ความหมายไว้บทที่หกสิบสามว่า 'ความเหยาะแหยะไม่จริงจัง (濡) ตั้งแต่เริ่มต้น (其首)' แต่เมื่อถูกนำมาเขียนอยู่ในวรรคเดียวกับ 酒 (jiǔ, จิ่ว) ที่หมายถึง 'สุรา' ในบทที่หกสิบสี่นี้ ความคิดที่แว้บขึ้นมาทันทีเลยก็คือ 'เมา' ชนิดที่ 'หัวราน้ำ' (濡其首) ซึ่งเป็นการแปลตามตัวอักษรได้ตรงๆ เลยทีเดียว

ส่วนอักษร 失 (shī, ซือ) นี้มีการใใช้งานใน 'คัมภีร์อี้จิง' น้อยมากๆ โดยมันีความหมายว่า 'ละทิ้ง', 'ปล่อยวาง', 'ทิ้งขว้าง', 'ไม่สนใจ', 'สูญเสีย', 'สูญหาย', 'หาไม่พบ', 'คลาดเคลื่อน', 'เบี่ยงเบน', 'ผิดพลาด', หรือ 'เลอะเลือน'

ยกเอาวรรคแรกมาเทียบเคียงไว้ก่อนเลยครับ ...
'การบั่นทอนความสำคัญของเป้าหมาย ด้วยการไม่ยอมปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง (濡其尾) นั้น คือการลดคุณค่าของตนเองลงอย่างน่าอาย (吝)' ... จากนั้นก็เสริมด้วยวรรคที่หกเข้าไปเลยว่า ... 'สำหรับการปฏิบัติงานที่ต้องพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน (有孚) นั้น แม้ว่าจะมีบางวาระที่ผ่อนคลายจนคล้ายกับการสังสรรค์กันอยู่บ้าง (于飲酒) ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร (無咎) แต่หากไม่มีความคิดที่จะจริงจังกับภารกิจตั้งแต่แรก (濡其首 คือเอาแต่หัวราน้ำไปวันๆ) การโอบอุ้มด้วยความเอื้อเฟื้อ (有孚) ย่อมเป็นความสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ (失是)' ... ประมาณว่า 'จิวกง' ได้ให้คำแนะนำปิดท้าย 'คัมภีร์เพื่อการครองตน' อย่างนี้ครับ ... แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องมี 'ความจริงจัง' ต่อหน้าที่ และมี 'ความเคร่งครัด' ต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็ต้อง 'ไม่เคร่งเครียด' จนไม่คิดที่จะ 'ดูแล' หรือ 'เอาใจใส่' ต่อ 'ผู้ร่วมงาน' คนอื่นๆ ที่อาจจะมี 'ศักยภาพ' และ 'ความพร้อม' ที่เหลื่อมล้ำกัน โดยต้องรู้จักให้ 'ความเป็นกันเอง' พร้อมกับ 'การชี้แนะ' และ 'การให้รางวัล' ในรูปแบบต่างๆ เพื่อ 'ผ่อนคลาย' ให้ทุกคนสามารถ 'สนุกไปกับงาน' ได้ ... ซึ่งก็จะต้องมี 'การรักษาระดับที่สมดุล' ด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าขืนเอาแต่ 'สนุกรื่นเริง' ประเภท 'หัวราน้ำ' โดย 'ไม่เกิดประโยชน์กับงาน' มันก็จะเป็น 'ความสูญเปล่า' ของ 'เวลา' และ 'ทรัพยากร' ทั้งหมดที่ได้ทุ่มเทลงไปนั่นเอง ...




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เว่ยจี่' คือ ปัจเจกัตถสมาทาน, โชติช่วงเหนือหุบแอ่ง

'ปัจเจกัตถสมาทาน' คือสภาวะแห่ง 'การพัฒนา' ที่ 'ยึดติด' กับ 'พิธีรีตอง' (亨) อันเต็มไปด้วย 'ระเบียบขั้นตอน' ที่ 'หยุมหยิม' (小) 'ยอกย้อน' (狐) จนต้อง 'สิ้นเปลือง' ทั้ง 'กำลัง' และ 'ทรัพยากร' (汔) ไปกับ 'ทุกรายละเอียด' ที่ 'เกินความจำเป็น' (濟) ซึ่งเป็นการ 'บั่นทอนความสำคัญ' (濡) ของ 'เป้าหมาย' (其尾) โดยสิ่งที่ปราศจาก (無) 'แก่นสารสาระ' อันเป็น 'ประโยชน์' ใดๆ (攸利)

    • 'การบั่นทอนความสำคัญ' ของ 'เป้าหมาย' ด้วย 'การไม่ยอมปฏิบัติงาน' อย่าง 'เต็มกำลัง' (濡其尾) นั้น คือ 'การลดคุณค่าของตนเอง' ลงอย่าง 'น่าอาย' (吝)
    • 'การพิจารณา' แง่มุมต่างๆ อย่าง 'รอบด้าน' อีกทั้ง 'ดำเนินกิจการงาน' อย่าง 'ต่อเนื่อง' ด้วย 'ความรอบคอบรัดกุม' รู้จัก 'ปรับประยุกต์' พลิกแพลง 'กระบวนการ' ได้อย่าง 'ครบวงจร' (曳其輪) คือ 'หลักการปฏิบัติงาน' อัน 'เที่ยงแท้' และ 'บริสุทธิ์' (貞) ซึ่งจักโน้มนำสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
    • 'การปฏิบัติงาน' เพื่อ 'สนองกิเลสตน' อย่าง 'ไม่รู้จักพอ' (未濟) นั้น คือ 'การดิ้นรนไขว่คว้า' (征) ที่จะนำมาซึ่ง 'ความหายนะ' (凶) 'ความมุ่งมั่น' ที่จะ 'ดำเนินกิจการงาน' เพื่อ 'ความสำเร็จ' ของ 'เป้าหมาย' อัน 'ชัดเจน' (利) นั้นต่างหาก ที่จะนำพาสังคมให้ 'ก้าวกระโดด' (涉) ไปสู่ 'พัฒนาการ' อัน 'ไร้ขีดจำกัด' (大川 คือกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา) ได้
    • 'ธรรม' อันเป็น 'หลักปฏิบัติ' ที่ 'กระชับหมดจด' (貞) ย่อมเอื้อต่อ 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ราบรื่น' (吉) และขจัด 'ความอึดอัดคับข้องใจ' ให้ 'สิ้นสูญ' (悔亡) ผู้ที่มี 'ความคิดริเริ่ม' (震) และ 'พร้อมปฏิบัติภารกิจ' อย่าง 'สร้างสรรค์' (用 คือนำมาใช้) มุ่ง 'ขจัด' (伐) 'สิ่งแปลกปลอม' อันเป็น 'อุปสรรค' ต่อ 'การดำเนินงาน' (鬼方) 'อุทิศตน' เพื่อ 'บำเพ็ญประโยชน์' อย่าง 'เอนกอนันต์' (三年 คือมีผลงานมากมาย) ย่อม 'เป็นที่ยอมรับ' (有賞) ในฐานะของ (于) ผู้ที่มี 'ภาวะผู้นำ' (大國) ในที่สุด
    • 'ความมั่นคงในธรรม' (貞) อันเป็น 'สิริมงคล' (吉) ย่อม 'ปราศจาก' (無) ความ 'อึดอัดคับแค้นใจ' (悔) 'ความมีสติ' ด้วย 'จิตใจที่ว่างจากอัตตา' ของ 'ผู้มากปัญญา' นั้น (君子之光) ย่อมมีแต่ 'ความเอื้อเฟื้อ' (有孚) และพร้อมที่จะ 'เสริมสร้างคุณงามความดี' (吉) ให้ปรากฏ
    •  สำหรับ 'การปฏิบัติงาน' ที่ต้อง 'พึ่งพาอาศัยระหว่างกัน' (有孚) นั้น แม้ว่าจะมี 'บางวาระ' ที่ 'ผ่อนคลาย' จนคล้ายกับ 'การสังสรรค์กัน' อยู่บ้าง (于飲酒) ก็ไม่ใช่ 'เรื่องที่ผิดแปลก' อะไร (無咎) แต่หาก 'ไม่มีความคิด' ที่จะ 'จริงจัง' กับ 'ภารกิจ' ตั้งแต่แรก (濡其首 คือเอาแต่หัวราน้ำไปวันๆ) 'การโอบอุ้ม' ด้วย 'ความเอื้อเฟื้อ' (有孚) ย่อมเป็น 'ความสิ้นเปลืองทรัพยากร' อย่าง 'เปล่าประโยชน์' (失是)



The Organization Code :


'ปัจเจกัตถสมาทาน' คือ 'การรวมตัว' ของหลายๆ 'หน่วยงาน' ซึ่งแม้ว่าจะมี 'เป้าหมาย' และ 'ทิศทาง' (☵ คือมีสินค้า/บริการ) 'ร่วมกัน' แต่ก็ยังมี 'แนวคิด' และ 'วิถีปฏิบัติ' โดย 'พื้นฐาน' ของ 'วัฒนธรรมองค์กร' (☲ คือบุคลากร) ที่ 'แตกต่าง' ; 'การดำเนินกิจการงาน' ของทั้ง 3 ระดับในองค์กร คือ 'ระดับนโยบาย', 'ระดับบริหาร', และ 'ระดับปฏิบัติการ' จำเป็นต้องอาศัย 'ความคิด' และ 'จิตใจ' ที่ 'เปิดกว้าง' ต่อ 'การปรับเปลี่ยน' ด้วยการ 'ไม่ยึดติด' อยู่ 'อัตลักษณ์' ของ 'หน่วยงานที่สังกัด' กับต้องมี 'ความเด็ดเดี่ยว' อย่าง 'มุ่งมั่น' ใน 'การปฏิบัติ' ให้ 'เป็นรูปธรรม' (⚎) โดย 'มุ่งเน้นความสำคัญ' อยู่ที่ 'เป้าหมาย' และ 'ทิศทาง' อัน 'เป็นหลัก' ของ 'องค์กร' ด้วยการปรับ 'กระบวนคิด' และ 'กระบวนการทำงาน' ให้มี 'ความประสานสอดคล้องกัน' อย่าง 'ราบรื่น'

    • พึงระลึกไว้เสมอว่า 'การสร้างอัตลักษณ์' ของ 'หน่วยงาน' ไม่ใช่ 'ภารกิจหลัก' ของ 'องค์กร' การ 'มุ่งเน้นความสำคัญ' ชนิดที่ 'ผิดฝาผิดตัว' ย่อม 'บั่นทอนความสำคัญ' ของการบรรลุ 'เป้าหมายที่แท้จริง' ซึ่งจะส่งผลให้เกิด 'การปฏิบัติงาน' อย่าง 'ไม่เต็มศักยภาพ' กระทั่ง 'สูญเสียคุณค่า' ของ 'องค์กรโดยรวม' จาก 'ผลประกอบการ' ที่ 'ไม่มีความหมาย' ต่อ 'การพัฒนา'
    • 'การปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความรอบคอบรัดกุม' นั้น มิใช่ 'การยึดติด' อยู่กับ 'รายละเอียด' ของ 'กฎระเบียบ' ที่ 'ตายตัว' แต่เป็น 'การปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความเข้าใจ' ใน 'ความเป็นพลวัตร' ของ 'บริบท' ต่างๆ และรู้จัก 'ปรับประยุกต์' ด้วย 'ความมีวิจารณญาณ' ใน 'หลากหลายมิติ' ของ 'กระบวนการที่เกี่ยวข้อง' ได้อย่าง 'ครบวงจร' ต่างหาก
    • 'กฎระเบียบอันตายตัว' ที่ได้รับการเพิ่มเติม 'รายละเอียด' อย่าง 'ไม่จบไม่สิ้น' นั้น คือเหตุแห่ง 'ความล่มสลาย' ของ 'ทั้งระบบ' ด้วยว่า 'ความตายซาก' ของ 'ระบบระเบียบ' จะไม่สามารถ 'จัดการ' กับทุก 'ปัญหา' ที่มี 'ความเป็นพลวัตร' ; การมี 'เป้าหมาย' และ 'แนวทางของกลยุทธ์' ที่ 'แน่นอน' กับ 'ความยืดหยุ่น' ต่อ 'สถานการณ์' ของ 'กลวิธี' ที่สามารถ 'ปรับเปลี่ยน' ไปตาม 'ภววิสัย' คือ 'เหตุปัจจัย' ที่จะนำมาซึ่ง 'พัฒนาการ' แห่ง 'ความสำเร็จ' อัน 'ไร้ขีดจำกัด'
    • 'หลักปฏิบัติ' และ 'กระบวนการทำงาน' ที่มี 'ความกระชับ-ชัดเจน' ย่อมเอื้อต่อ 'การดำเนินกิจการงาน' ที่ 'ราบรื่น' ; 'ความจุกจิก-ยอกย้อน-น่ารำคาญ' ย่อมคุ 'ความขุ่นข้องหมองใจ' ระหว่างกันไว้ 'รอวันปะทุ' ผู้ที่มี 'ความเข้าใจ' ใน 'ความธรรมดา' แห่ง 'ข้อเท็จจริง' นี้ ย่อม 'สร้างสรรค์ระบบระเบียบ' ที่มุ่ง 'กำจัดสิ่งแปลกปลอม' อันเป็น 'อุปสรรค' ต่อ 'การประสานงาน' เพื่อ 'อำนวยความสะดวก' แก่ 'ทุกภาคส่วน' อย่าง 'ทั่วถึง' จึงจะ 'เป็นที่ยอมรับ' ใน 'ทุกระดับ' ของ 'การปฏิบัติงาน'
    • 'ความสมเหตุสมผล' ของ 'ระบบระเบียบ' ทั้งหลาย ย่อม 'เป็นที่เข้าใจ' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ด้วย 'การยอมรับ' โดย 'ไม่รู้สึกอึดอัดรำคาญ' ใดๆ ; บุคคล 'ผู้มากด้วยสติ-ปัญญา' ย่อมเล็งเห็น 'คุณประโยชน์' ของ 'ความเป็นระบบระเบียบ' ที่มีต่อ 'ส่วนรวม' เหนือว่า 'ความสะดวกสบาย' เฉพาะ 'ตน'
    • 'ความเคร่งครัด' ใน 'กฎระเบียบ' ไม่ควร 'เคร่งเครียด' จน 'ละเลย' ต่อ 'ความเอื้อเฟื้อ' ที่ 'ทุกฝ่าย' ล้วนต้อง 'พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน' ; 'การปฏิบัติงาน' ที่ 'จริงจัง' ต้องไม่ 'บีบคั้น' จนไม่หลงเหลือ 'ความสนุกกับงาน' ของทุกๆ ฝ่าย 'ผู้นำ' ที่มี 'ศักยภาพ' จะต้อง 'เข้าใจ' และพยายาม 'สร้างสมดุล' ระหว่างขั้วทั้งสอง เพื่อ 'บำรุงขวัญและกำลังใจ' ของ 'ผู้ร่วมงาน' ทุกระดับ โดย 'ไม่สุรุ่ยสุร่าย' กับ 'ทรัพยากร' ให้กับ 'ความเปล่าประโยชน์'