Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第六十一卦 : 中孚

 

中孚 : 風澤中孚 ‧ 巽上兌下

中孚 : 豚魚吉‧利涉大川‧利貞‧

  • 初九 : 虞吉‧有他不燕‧
  • 九二 : 鳴鶴在陰‧其子和之‧我有好爵‧吾與爾靡之‧
  • 六三 ‧ 得敵‧或鼓或罷‧或泣或歌‧
  • 六四 : 月幾望‧馬匹亡‧無咎‧
  • 九五 : 有孚攣如‧無咎‧
  • 上九 : 翰音登于天‧貞凶‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และการแสดงออก ต้องมีความเด็ดขาด-ชัดเจน (⚌) ปัญญา ต้องมีความสุขุม-หนักแน่น (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้กลยุทธทางการค้า (☱ การขาย) สนับสนุนปฏิบัติการทางการเงิน (☴) ; ระดับนโยบาย ต้องมีเป้าหมายที่แจ่มชัด (⚌) ; ระดับบริหาร ต้องมีแผนงานที่ยืดหยุ่นอย่างมีหลักเกณฑ์ (⚏) ; ระดับปฏิบัติการ ต้องทุ่มเทอย่างแข็งขัน-จริงจังไม่ย้อท้อ (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : มัตตัญญุตาธิษฐาน, ลมพัดโชยเหนือทะเลสาบ



ความหมายของชื่อเรียก :  Modulating : มัตตัญญุตาธิษฐาน


中孚 (zhōng fú, จง ฟู๋) เป็นอักษร 2 ตัวที่เราเจอมาหลายครั้งแล้วใน 'คัมภีร์อี้จิง' เพียงแต่ผมเลือกที่จะเล่า 'ความเป็นมา' ของ 'ความหมายตามภาพอักษร' เฉพาะคำที่ถูกใช้เป็น 'ชื่อบท' เท่านั้น อักษรทั้ง 2 ตัวก็เลยเพิ่งจะได้โอกาสมาเล่ากันอย่างละเอียดในบทที่หกสิบเอ็ดนี้ ...

中 อ่านว่า zhōng (ง) เป็น 'ภาพอักษร' ที่ประกอบด้วย 'ลูกธนู' หรือ 'ลูกดอก' ซึ่งแทนด้วย 'เส้นตรง' ที่แทงทะลุกลางเป้าดังที่เห็นเป็น 'กล่องสี่เหลี่ยม' ใน 'ภาพอักษร' นั่นเอง ซึ่ง 'การปักลงไปตรงกลาง' นี้เองจึงจะสามารถ 'แทงทะลุ' ไปได้ เนื่องจากจะไม่เกิด 'การเสียศูนย์' ของ 'เป้า' ขณะที่ถูกกระทบ ... จึงเป็นที่มาของความหมายว่า 'ตรงกลาง', 'ระหว่างกลาง', 'ข้างใน', 'แกนกลาง' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ตรงเป้า', หรือ 'เหมาะสม' ได้ด้วยเหมือนกัน

ส่วนอักษร 孚 (fú, ฟู๋) มีด้านบนเป็น 'ภาพอักษร' ของ 'แม่ไก่' ที่กำลัง 'กกไข่' ซึ่งแทนด้วย 'ภาพอักษร' ที่หมายถึง 'ลูก' ตรงด้านล่าง จึงเป็นที่มาของความหมายว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' นั่นเอง แต่ด้วยลักษณะทางพฤติกรรมที่เป็น 'การฟูมฟักรักษา', 'ความเอาใจใส่ดูแล', และ 'ความรับผิดชอบต่อหน้าที่' อักษร 孚 (fú, ฟู๋) จึงมีความหมายอื่นๆ ว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; จนบางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

ตำราอ้างอิงส่วนใหญ่มักจะให้ความหมายของ 中孚 (zhōng fú, จง ฟู๋) ไปในแนวของ Sincerity คือ 'ควาซื่อสัตย์' หรือ 'ความจริงใจ' ซึ่งเป็นการเน้นไปที่คำว่า 孚 (fú, ฟู๋) โดยเฉพาะ ส่วนอักษร 中 (zhōng, ง) ดูจะได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'จากส่วนลึก' ของ 'จิตใจ' เท่านั้น ... ในขณะที่ผมยังรู้สึกว่ามันขาดๆ อะไรไปบางอย่าง เพราะบทที่หกสิบเอ็ดนี้ ควรจะต้องคาบเกี่ยวความหมายมาจากวรรคที่ห้าของบทที่สอง คือ
'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ' และจะต้องผูกโยงลำดับความหมายกับวัฏจักรก่อนหน้านี้ทั้งสี่วัฏจักรคือ บทที่สิบสาม (同人 : tóng rén, ท๋ง เญิ๋น : การครองตนในธรรม), บทที่ยี่สิบห้า (無妄 : wú wàng} อู๋ วั่ง : การเสริมประสาน), บทที่สามสิบเจ็ด (家人 : jiā rén, เจีย เญิ๋น : การหล่อหลอมคุณธรรม), และบทที่สี่สิบเก้า (革 : gé, เก๋อ : การยืดหยุ่นพลิกแพลง) ... ซึ่งจะเห็นว่า ทั้งหมดนั้นจะเน้นไปที่คำว่า 中 (zhōng, ง) ในความหมายของ 'ความเด็ดเดี่ยว', 'ความคงเส้นคงวา', 'ความแน่วแน่มั่นคง' หรือ 'ความไม่แคลนคลอนของคุณธรรม' มากกว่าคำว่า 孚 (fú, ฟู๋)

การเห็นเพียงคำว่า 中孚 (zhōng fú, จง ฟู๋)  ในฐานนะของ 'ชื่อบท' เพียงโดดๆ จึงค่อนข้างยากที่จะ 'ตีความ' ว่า King Wen กำลังต้องการจะสื่อถึงประเด็นไหน ... แต่หากเราสังเกตจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทคือ  'ลม (☴) พัดโชยเหนือทะเลสาบ (☱)' เราก็จะเห็นเส้นหยินคู่หนึ่ง (⚏) ซึ่งเกี่ยวพันกับความหมายด้าน 'คุณธรรม' ของ 中 (zhōng, ง) อยู่ 'ตรงกลาง' ระหว่างเส้นหยางคู่ (⚌) ที่ขนาบอยู่ทั้งด้านบน-ด้านล่าง ... มันก็อาจจะสะท้อนความหมายที่ว่า
'แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ภายนอกที่รุมเร้า หรือความปรารถนาภายในที่ร้อนรนเพียงใดก็ตาม ขอจงมีสติอย่างมั่นคงในหลักแห่งมัตตัญุตาธรรมคือทางสายกลาง ก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลายไปได้' ... รึเปล่า ?! ... ซึ่งมันเป็นภาพที่ครอบคลุมความหมายของทั้ง 中 (zhōng, ง) และ 孚 (fú, ฟู๋) ไว้ได้อย่างครบสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจเลือกคำว่า Modulating มาใช้เป็นชื่อบทภาษาอังกฤษ กับเลือกผสมคำ 'มัตตัญญุตา' (中) มารวมกับ 'อธิษฐาน' (孚) เป็นคำว่า 'มัตตัญญุตาธิษฐาน' เพื่อเอาความหมายว่า 'ความตั้งมั่นของจิตใจ (孚) ในหลักแห่งทางสายกลาง (中)' มาใช้กับบทนี้ซะเลย ... กล้ามากสำหรับการแหกทุกกฎของตำรา !! ... 😅😅 ... แต่จะจริงจะเท็จประการใดก็คงต้องตามไปดูส่วนที่เหลือของบทนี้แล้วล่ะ !?!! ...




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
豚魚吉利涉大川利貞
tún yǘ jí lì shè dà chuān lì zhēn
ทุ๋น ยฺวี๋ จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน ลี่ เจิ



วลีของ King Wen ในบทนี้แทบไม่มีคำใหม่เลยนะครับ เว้นแต่เจ้าอักษรสองตัวแรกที่ทำเอาใบ้กินไปหลายวัน ... มันคือคำว่า 豚 (tún, ทุ๋น) ที่ปัจจุบันแปลว่า 'ลูกหมู' กับคำว่า 魚 (yǘ, ยฺวี๋) ซึ่งปรกติก็คือ 'ปลา' นี่แหละ ... โดยหลายๆ ตำราแปลอักษรทั้งสองตัวนี้ด้วยความหมายตรงๆ ตัวว่า 'เนื้อหมู' กับ 'เนื้อปลา' แล้วพยายาม 'ตีความ' ให้สื่อความหมายออกมาเป็น 'เครื่องบวงสรวง' หรือ 'เครื่องสังเวย' ที่ใช้ในพิธีกรรมกราบไหว้เทพยดาทั้งหลาย เพื่อให้ไปรับกับคำว่า 吉 (jí, จี๋) ที่แปลว่า 'ดี', หรือแปลว่า 'เจริญ' มาตลอดเล่มคัมภีร์เลยก็ว่าได้ ... แต่ ... รู้สึกมันจะสบายไปหน่อยมั้ยกับความหมายที่ 'ตีความ' กันแบบนั้น ??!!

แล้วก็มีบางตำราที่พยายามจะบอกว่า 豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) ควรจะเป็นคำๆ เดียวโดยไม่ต้องแตกออกเป็นสองความหมาย แต่เอาเข้าจริงก็เหมือนจะไม่ได้ระบุว่า 豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) คือ 'สัตว์น้ำ' ชนิดใดอย่างชัดเจนลงไป ซึ่งหากเราเอาคำนี้ไปค้นในอินเทอร์เน็ต เราก็จะเจอกับภาพของ 'ปลากปักเป้า' ซะงั้น ?!?! ... แล้วผมก็ไปต่อไม่ถูกเลยล่ะครับว่า มันจะ 吉 (jí, จี๋) ด้วยเหตุผลอะไร ??!!??!! ... สรุปก็คือ ... ต้องดิ้นรน 'ตีความ' เอาเองเหมือนเดิมนั่นแหละครับ ...

豚 อ่านว่า tún (ทุ๋น) ที่ไม่ว่าจะค้นกี่ตำรามันก็คือ 'หมู' หรือจะให้เจาะจงจริงๆ ก็คือ 'ลูกหมู' เท่านั้น อาจจะมีความหมายที่เพี้ยนๆ ไปบ้างก็เมื่อมันถูกใช้ผสมกับคำว่า 子 (zǐ, จื่อ) เป็น 豚子 (tún zǐ, ทุ๋น จื่อ) ซึ่งมักจะใช้เป็นคำสรรพนามแทน 'ลูกๆ' เมื่อเอ่ยถึงพวกเขาต่อหน้าผู้อื่นด้วย 'ความถ่อมตน' ... นั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลที่บางตำราให้ความหมายของ 豚 (tún, ทุ๋น) เอาไว้ว่า 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ด้วยนั่นเอง

ส่วนอักษร 魚 (yǘ, ยฺวี๋) แปลว่า 'ปลา' หรือ 'การจับปลา' ซึ่งเราเคยใช้ในความหมายอื่นมาแล้วสองครั้งใน 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ คือในบทที่ยี่สิบสาม และบทที่สี่สิบสี่ ... โดยแผลงความหมายไปจากสำนวนหนึ่งที่ใช้ว่า 魚貫 (yǘ guàn, ยฺวี๋ ก้วน) มีความหมายว่า 'ตามติดกันเป็นขบวน' หรือ 'อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเดียว' ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะแผลงมาจาก 'การว่ายน้ำของฝูงปลา' นั่นเอง ... ดังนั้น คำว่า 魚 (yǘ, ยฺวี๋) จึงแฝงความหมายที่เกี่ยวกับ 'มนุษย์' อยู่ด้วย เพราะมันเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 吾 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ตัวฉัน' หรือ 'พวกเรา' ในขณะที่อักษร 吾 ถ้าออกเสียงว่า yǜ (ยฺวี่) จะแปลว่า 'ขับเคลื่อน', 'บริหารจัดการ' หรือ 'บังคับบัญชา' เช่นเดียวกับอักษร 御 (yǜ, ยฺวี่) ได้ด้วย ... พอเป็นอย่างนี้ คำว่า 豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) ที่ว่าควรจะรวมกันเป็นคำเดียวก็น่าจะมีความหมายว่า 'การบริหารจัดการด้วยความถ่อมตน' ด้วยรึเปล่า ?!?!

เอาใหม่ ... สมมุติว่าผมจะ 'ตีความ' ให้ 豚 (tún, ทุ๋น) ที่แปลว่า 'หมู' ไปโยงกับ 'ทิศ' ใน 'แผนผังโป้ยก่วย' ซึ่งตามตำรานักษัตรของจีน 'หมู' ก็คือ 亥 (hài, ไฮ่) จะอยู่ตรง 'ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ' ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะมีเครื่องหมายเป็น ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) ตามแผนผังเดิมของ FuXi และจะมีเครื่องหมายเป็น ☰ (乾 : qián, เชี๋ยน) ตามแผนผังฉบับของ King Wen และเมื่อเรานำเครื่องหมายทั้งสองมาเรียงซ้อนกัน เราก็จะได้เครื่องหมาย ䷠ ที่ King Wen ตั้งชื่อเรียกว่า 遯 (dùn, ตุ้น) โดยท่านจัดไว้เป็นลำดับที่สามสิบสามใน 'คัมภีร์อี้จิง' อันลือลั่นของท่าน ... ซึ่งอักษร 遯 (dùn, ตุ้น) ก็คืออักษรที่มีส่วนผสมของ 豚 (tún, ทุ๋น) ประกอบอยู่ด้วยอย่างชัดเจน ... ดังนั้น ... การเลือกใช้อัษร 豚 (tún, ทุ๋น) ที่มีความเชื่อมโยงกับความหมายของ 亥 (hài, ไฮ่) อันเป็นนักษัตรประจำ 'ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ' จึงอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญซะทีเดียว ... โดย 遯 (dùn, ตุ้น) ได้รับ 'การตีความ' ในบทที่สามสิบสามว่า 'ความรู้จักประมาณตน' อีกต่างหาก !!!?! ... แล้วถ้าจะบอกว่า ความหมายของ 豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) ก็คือ 遯 (dùn, ตุ้น) โดย 'เจตนา' ของ King Wen ก็ไม่น่าจะถึงกับเป็นไปไม่ได้ ... ว่ามั้ย ?!??!!

เมื่อลำดับของคำที่ผูกโยงกันมาเป็นอย่างที่เล่าไว้นี้ คำว่า 豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) จึง 'ตีความ' ให้เป็นความหมายอื่นไม่ได้นอกจากจะให้ความหมายว่า 'สังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน' เท่านั้น ... วลีเจ้าปัญหาที่ King Wen ต้องการจะสื่อความหมายของ
'มัตตัญุตาธิษฐาน' (中孚) ก็คือ 'ความไม่สุดโต่ง (豚 คือมีความพอประมาณด้วยความเคารพ) ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน (魚) อันจะนำมาซึ่งความสงบร่มเย็น (吉) และความร่วมแรงร่วมใจกัน (利) เพื่อจะฟันฝ่า (涉) อุปสรรคข้อจำกัดทั้งปวง (大川) ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (利) อย่างยั่งยืน (貞 คือมีความเป็นระบบระเบียบ) สืบต่อไป' ... คิดว่าอย่างนี้ใช่มั้ยล่ะ ?!?! ... เรามาดูบทที่เกี่ยวข้องกับมันทั้งหมดดูก็ได้ว่ามันไล่เรียงกันมายังไงบ้าง ... วลีต้นเรื่องคือวรรคที่ห้าของบทที่สองนั้นผมเล่าไปแล้วเมื่อตอนต้นของบทนี้ เพราะฉะนั้น เราจะข้ามไปดูอีก 4 บทใน 4 วัฏจักรก่อนหน้านี้อีกครั้งพร้อมๆ กัน ...

เริ่มจากบทที่สิบสาม (同人 : tóng rén, ท๋ง เญิ๋น : การครองตนในธรรม) ที่ King Wen ให้คำบรรยายไว้ว่า  
'การครองคนในธรรม (同人) อย่างมั่นคง แม้ใน (于) สังคมที่สับสนวุ่นวายด้วยความป่าเถื่อนไร้การศึกษา (野) ย่อมนำไปสู่ความเจริญอย่างมีระบบระเบียบ (亨) . . .  ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) เพื่อจะก้าวข้าม (涉) ทุกอุปสรรค (大川) ที่จะส่งผลสัมฤทธิ์ (利) ได้นั้น ย่อมเกิดจากความตั้งมั่นในหลักแห่งคุณธรรมของผู้นำ (君子貞)' ... มันคือการใช้ 'ความสงบ' สยบ 'ความเคลื่อนไหว' แม้ในสังคมที่วุ่นวายสับสน 'ผู้นำที่ดี' ย่อมเลือกที่จะดำเนินกิจการงานต่างๆ บนพื้นฐานของ 'ความถูกต้อง'  โดยไม่จำเป็นต้องคล้อยตามความต้องการของทุกฝ่ายอย่างไร้ 'หลักการ' ใดๆ

วัฏจักรถัดมาคือบทที่ยี่สิบห้า (無妄 : wú wàng, อู๋ วั่ง : การเสริมประสาน) King Wen ให้คำบรรยายไว้ด้วยวลีว่า
'ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) ความรู้ความเข้าใจ (亨) ความบากบั่นพยายาม (利) และหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน (貞) หากเตลิดเปิดเปิงออกไปคนละทิศคนละทางอย่างไม่สามารถหาจุดร่วมเดียวกัน (其匪正) ทุกย่างก้าวย่อมมีแต่ความสับสนไม่ชัดเจน (有眚) ... การดำเนินงานจึงต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่ควรเร่งเร้าแข็งขืน (不利) จนสุดโต่ง เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกสิ่งล้วนมีผลสนอง (有攸往) ตามสมควรแก่เหตุของมันเสมอ' ... การคำนึงถึง 'จุดร่วม' ของ 'ภาพรวม' อย่าง 'เป็นระบบ' ย่อมสำคัญกว่า 'การเร่งเร้า' ให้เกิด 'พัฒนาการแบบแยกส่วน' โดยไม่สามารถ 'ประสานเข้าด้วยกัน'

พอมาถึงบทที่สามสิบเจ็ด (家人 : jiā rén, เจีย เญิ๋น : การหล่อหลอมคุณธรรม) วลีสั้นๆ อันคมคายของ King Wen ได้บรรยายไว้ว่า
'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยจิตใจที่อบอุ่น (☲) และท่าทีที่อ่อนโยน (☴) ประดุจดั่งมารดา (女 คือสตรี) ผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูบุตรธิดา เพื่อปลูกฝังหลักคุณธรรม (貞) ให้เติบใหญ่ไพศาล' ... ด้วยเหตุที่ 'ปราชญ์ย่อมเข้มงวดกับจริตและความคิดของตน ... แต่มีความอ่อนโยนในท่าทีที่ปฏิบัติต่อผู้อื่น' เสมอ

ในบทที่สี่สิบเก้า (革 : gé, เก๋อ : การยืดหยุ่นพลิกแพลง) เราก็ได้พบกับคำบรรยายที่ว่า
'การแสดงออกซึ่งสัจธรรมอันเที่ยงแท้ (巳日) อย่างเหมาะเจาะลงตัว (巳) แก่กาละ-เทศะ (日) คือ (乃) ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ (孚) ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) กรอบเกณฑ์เพื่อการพัฒนา (亨) ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) และหลักจริยธรรมในการประพฤติปฏิบัติ (貞) สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างปราศจากความหม่นหมาง (悔亡) ทั้งปวง' ... เรียกว่า ต่อให้ 'หลักคิด' และ 'หลักการ' หนึ่งๆ จะมี 'ความเลิศล้ำ' ชนิดที่ไม่อาจมีสิ่งใดที่ดีไปกว่าได้เลยก็ตาม ก็ยังต้องคำนึงถึง 'ปัจจัย' แห่ง 'กาละ' และ 'เทศะ' ในการนำไปสู่ 'การปฏิบัติ' เสมอ ไม่ใช่ว่าจะสามารถตะลุยไปอย่าง 'ส่งเดช' ด้วย 'ความฮึกเหิม' ใน 'ความเลิศล้ำ' นั้นเพียงสถานเดียว ...

เพราะฉะนั้น ความหมายของ 中孚 (zhōng fú, จง ฟู๋) ที่ผมร่ายมาทั้งหมดนี้ มีความหมายอื่นไม่ได้จริงๆ นะครับ ... มันคือ 'ความไม่สุดโต่ง' หรือ 'ความตั้งมั่นในลักแห่งทางสายกลาง' ที่ผมผสมคำขึ้นมาใหม่ว่า
'มัตตัญญุตาธิษฐาน' อย่างแน่นอน ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

虞吉有他不燕
yǘ jí yǒu tā bù yàn
ยฺวี๋ จี๋ โหฺย่ว ทา ปู้ เอี้ยน



วรรคนี้มีอักษรที่ยังไม่เคยเล่าเพียงตัวเดียวเท่านั้นคือ 燕 (yàn, เอี้ยน) ซึ่งต้องบอกว่า มันเป็น 'ความขี้เล่น' ของ 'จิวกง' จริงๆ ในการเลือกเล่นกับคำต่างๆ ในแต่ละบทเพื่อให้รับกับถ้อยคำที่ King Wen บันทึกเอาไว้ ซึ่งในบทนี้ King Wen เล่นกับคำว่า 豚 อ่านว่า tún (ทุ๋น) และ 魚 (yǘ, ยฺวี๋) ที่สามารถหมายถึง 'สัตว์' ทั้งสองคำ 'จิวกง' ก็จัดแจงสานต่อด้วยคำว่า 虞 (yǘ, ยฺวี๋) ที่สามารถหมายถึง 'สัตว์กินซาก' ชนิดหนึ่ง กับ 燕 (yàn, เอี้ยน) ที่มีความหมายหนึ่งว่า 'นกนางแอ่น' โดยทั้งสองคำมีความหมายอื่นที่แฝงเอาไว้อย่างแยบยลจริงๆ

燕 (yàn, เอี้ยน) เมื่อใช้เป็นคำนามจะหมายถึง 'นกนางแอ่น' หรือ 'เป็ดคอขาว' ในขณะที่สมัยหนึ่งมันคือชื่อของแคว้นทางตอนเหนือของจีน เพราะความหมายอื่นของ 燕 (yàn, เอี้ยน) ก็คือ 'สงบร่มเย็น', 'สบายๆ', 'ง่ายๆ', 'ไม่เคร่งครัดเข้มงวด', หรือ 'ไม่เป็นทางการ' ประมาณนั้น

ส่วน 虞 (yǘ, ยฺวี๋) เจอกันครั้งแรกเมื่อบทที่สาม แล้วก็มาโผล่อีกทีตรงนี้เลย คำนี้นอกจากจะหมายถึง 'สัตว์กินซาก' ชนิดหนึ่งตามที่บอกไปแล้ว มันก็ยังสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'คาดการณ์', 'กังวล (เกี่ยวกับอนาคต)' ; 'เตรียมพร้อม', ซึ่งในบางลักษณะก็จะเหมือนกับ 'เพ้อฝัน' จนมีความหมายในเชิง 'การหลอกลวง (ตัวเอง)', 'ล่องลวง' หรือ 'หลงระเริง' ; และยังมีความหมายหนึ่งที่หมายถึง 'รื่นเริง' หรือ 'ให้ความบันเทิง' ก็ได้ด้วย

สำหรับ 他 (tā, ทา) เห็นกันมาแค่ครั้งเดียวเหมือนกันตั้งแต่บทที่แปด ซึ่งโดยปรกติก็จะใช้คำนี้เป็น 'สรรพนามบุรุษที่สาม' เหมือน he, him หรือ his ในภาษาอังกฤษ จึงสามารถแปลว่า 'คนอื่นๆ', 'บุคคลทั่วๆ ไป' บางที่ก็มีความหมายว่า 'สิ่งอื่นๆ' ซึ่งอาจจะไม่ใช่บุคคลก็ยังได้

ความหมายคร่าวๆ ของวรรคแรกนี้น่าจะประมาณว่า
'ความมีวิสัยทัศน์ต่อเป้าหมายที่ชัดเจนในอนาคต (虞) คือปัจจัยพื้นฐานของความสำเร็จที่พึงได้รับ (吉) ในขณะที่การคาดหวังในทุกๆ เรื่อง อย่างไม่จำเพาะเจาะจง (有他) คือปัจจัยที่ทำให้เกิดความพะวักพะวน (不燕) อย่างไร้ทิศทาง' ... ซึ่งในบางความรู้สึก มันก็อาจจะเหมือนไม่มีความหมายอะไรที่ลึกซึ้งนัก แต่เมื่อเราเทียบเคียงกับวลีของ King Wen ในบทนี้ เราก็จะเห็นความตั้งใจของ 'จิวกง' ในการสื่อถึงความแตกต่างระหว่าง 'ความไม่สุดโต่ง' กับ 'ความไม่ชัดเจนในเป้าหมาย' ว่าจริงๆ แล้ว มันคือสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากมักจะสับสนกับมัน

ในการประกอบกิจการงานต่างๆ ที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากๆ นั้น มันเป็นเรื่องปรกติที่เราต้องเผชิญกับ 'ความต้องการที่ไม่เหมือนกัน' ... แต่ละคน แต่ละฝ่าย ล้วนแล้วแต่มี 'ข้อเรียกร้อง' ที่บ่อยครั้งมันก็ 'ไม่สอดคล้อง' กันเอาซะเลย การที่ 'ผู้นำ' หลายคน 'เลือก' ที่จะ 'ไม่ตัดสินใจ' ใดๆ 'อย่างเด็ดขาด' ลงไป หรือ 'เลือก' ที่จะสั่งการ 'อย่างสะเปะสะปะ' เพียงเพื่อจะ 'สนองความต้องการ' ให้กับทุกๆ 'ข้อเรียกร้อง' เพราะไม่ต้องการถูกตัดสินว่า 'สุดโต่ง' หรือ 'เผด็จการ' นั้น แท้ที่จริงแล้วมันคือ 'ความไม่เข้าใจ' หรือ 'ความไม่จริงจัง' ใน 'เป้าหมาย' อันเป็น 'หน้าที่ของตน' โดยตรงนั่นเอง !! ...

โดยส่วนตัวแล้ว ผมจึงมองว่า 'จิวกง' เปิดประเด็นขึ้นมารับความหมายของ King Wen ได้อย่างลึกล้ำมากๆ ... เพราะเมื่อ Ken Wen เปิดประเด็นเอาไว้ว่า 'ความไม่สุดโต่ง' (豚魚) นั้น 吉 (jí, จี๋) ... 'จิวกง' ก็เสริมเข้าไปทันทีเลยว่า 'เป้าหมายที่ชัดเจน' (虞) ก็ 吉 (jí, จี๋) เหมือนกัน !! ... แล้วที่เจ๋งสุดๆ ก็คือการเล่น 'คำพ้องเสียง' ของ 魚 (yǘ, ยฺวี๋) ที่แฝงความหมายของ 'ความเป็นกลุ่มก้อน' ด้วยการเลือกใช้คำว่า 虞 (yǘ, ยฺวี๋) ที่แฝงความหมายของ 'การชี้นำ' หรือ 'การชักจูง' ให้ 'คล้อยตาม' อยู่ในนั้นขึ้นมารับ ... กับสำทับลงท้ายด้วยว่า การเอาใจทุกๆ ฝ่าย (有他) นั้น 'ไม่ใช่ไม่ดี' แต่มัน 'ไม่ง่าย' (不燕) เพราะมันจะ 'ยุ่งยาก' จน 'เละเทะ' ไปหมดทุกๆ ฝ่าย ... ดังนั้น
 'หน้าที่ของผู้นำ' คือต้อง 'กำหนดเป้าหมาย' ให้ 'ชัดเจน' และ 'ทำความเข้าใจ' กับ 'ทุกๆ ภาคส่วน' ให้ 'เข้าใจ' ใน 'เป้าหมายร่วม' ที่กำลังจะมุ่งไปนั้น จะต้องมี 'การลำดับความสำคัญ' อย่าง 'เหมาะสม' และ 'สอดคล้อง' กับ 'เป้าหมายรอง' อันเป็น 'ความมต้องการ' ที่ 'ไม่อาจเลี่ยง' ของ 'แต่ละภาคส่วน' เพื่อให้สามารถ 'ประสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว' ... 'หน้าที่ของผู้นำ' คือการ Harmonize ให้ 'ทุกๆ ภาคส่วน' มี 'ความเจริญรุ่งเรือง' ไป 'พร้อมๆ กัน' ... ไม่ใช่ Compromize จนกลายเป็น 'เงื่อนไข' ที่ 'ถ่วงความเจริญ' ของ 'ทั้งระบบ' ใน 'ระยะยาว' ... ร้ายนักนะ !!!?!?


 

สอง หยาง :

鳴鶴在陰其子和之我有好爵吾與爾靡之
míng hé zài yīn qí zǐ hé zhī wǒ yǒu hǎo jüé wú yǚ ěr mí zhī
มิ๋ง เฮ๋อ ไจ้ อิน ชี๋ จื่อ เฮ๋อ จือ หว่อ โหฺย่ว เห่า เจฺวี๋ย อู๋ หยฺวี่ เอ่อ มี๋ จื



鳴 อ่านว่า míng (มิ๋ง) ถ้าดูจาก 'ภาพอักษร' นี่คือการผสมอักษร 'ปาก' (口) กับ 'นก' (鳥) เข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้มันหมายถึง 'เสียงร้องของนก' หรือ 'เสียงร้องของสัตว์' และอาจจะหมายถึง 'การส่งเสียง' หรือ 'การเปล่งเสียง' โดยทั่วๆ ไปก็ได้ หรืออาจจะใช้ในความหมายของ 'สัญญาณเสียง' ที่ใช้ในการถ่ายทอด 'คำสั่ง' ก็ยังได้เหมือนกัน ... ซึ่งก็แน่นอนว่ามันสามารถที่จะหมายถึง 'การพูด', 'การกล่าวขาน', 'เป็นที่เลื่องลือ', 'เป็นที่แซ่ซ้อง', 'เป็นที่ยกย่อง', หรือ 'เป็นที่ได้รับเอ่ยถึง' และในบางกรณีก็จะหมายถึง 'เสียงสะท้อน' หรือ 'ก้องกังวาน' ... ซึ่งก็อาจจะทำให้มันแผลงความหมายไปเป็น 'เป็นที่รับรู้', 'เป็นที่เปิดเผย', จนกระทั่งมีความหมายเป็น 'เปล่งประกาย', 'สุกใส' หรือ 'สว่างไสว' ได้ด้วย

鶴 อ่านว่า hé (เฮ๋อ) หมายถึง 'นกกระเรียนขาว' ซึ่งบางครั้งก็เลยทำให้แปลว่า 'สีขาวสุกใส' ไปได้ด้วย โดย 'นกกระเรียนขาว' นั้นได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งใน 'สัตว์มงคล' ตามคติความเชื่อของชาวจีน โดยใช้เป็นสัญญลักษณ์ของ 'ความมีอายุยืนยาน', 'ความแข็งแรงของสุขภาพ', 'ความมีสติปัญญา', ... ซึ่งหากจะแผลงความหมายไปเป็น 'ความยั่งยืน' ของสังคมและบ้านเมืองก็ไม่น่าจะผิดเพี้ยนไปจากความหมายที่ว่ามานั้นซักเท่าไหร่เหมือนกัน

陰 อ่านว่า yīn (อิน) ซึ่งก็คือคำว่า 'หยิน' ที่หลายคนรู้จักในฐานะของ 'คู่ตรงข้าม' กับ 'หยาง' (陽 : yáng, ย๋าง) นั่นเอง ความหมายโดยรวมของ 陰 (yīn, อิน) จึงหมายถึง 'ความสงบ', 'ความเย็น', 'ความอ่อนโยน', หรือ 'การโอบอุ้ม-ประคับประคอง' ฯลฯ ... อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของ 'ความเป็นแม่' ซึ่งเป็น 'รากฐาน' สำคัญของ 'การหล่อหลอมความเป็นครอบครัว' ให้มี 'ความเป็นปีกแผ่น' และ 'ยั่งยืน'

子 (zǐ, จื่อ) เป็นคำพื้นๆ ที่น่าจะไม่เคยเอ่ยถึงอย่างเจาะจงมาตั้งแต่ต้นคัมภีร์เลยก็ว่าได้ คำนี้โดยทั่วไปจะหมายถึง 'บุตร-ธิดา', 'ทายาท', หรือ 'อนุชนรุ่นหลัง' ; ซึ่งก็รวมไปถึง 'ผล' หรือ 'เมล็ด' ของพืชพรรณต่างๆ ด้วย ; และเป็นสาเหตุที่ทำให้มันสามารถให้ความหมายว่า 'เด็กน้อย', 'อ่อนเยาว์', 'เล็กน้อย', หรือ 'เล็กๆ' ได้ด้วย ; แต่ในบางโอกาส 子 (zǐ, จื่อ) คือคำที่ใช้ลงท้ายเพื่อแสดงความยกย่องว่าเป็น 'ปราชญ์', 'ผู้รู้' หรือเป็นคำลงท้ายเพื่อเป็นการให้เกียรติ หรือแสดงความนับถือคล้ายกับคำว่า 'ท่าน' ที่เป็นสรรพนามหนึ่งในภาษาไทยด้วย

和 (hé, เฮ๋อ) เป็นหนึ่งในอักษรที่สามารถออกเสียงได้หลากหลายมาก แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะออกเสียงว่า hé (เฮ๋อ) ซึ่งแปลว่า 'สุขสงบ', อันเนื่องมาจาก 'การเช้ากันได้ดี', 'มีความสมานฉันท์', 'มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน', 'การอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น', 'มีความกลมเกลียว', 'มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' หรือแม้แต่ 'มีทัศนคติที่สอดคล้องกัน' ... รวมๆ กันก็จะประมาณว่า 'ความสมัครสมานสามัคคี' อะไรทำนองนั้น ...

ความหมายแฝงอื่นๆ ของอักษร 和 (hé, เฮ๋อ) ก็จะมีความหมายประมาณว่า 'ความโอนอ่อน' แต่ก็เป็นคนละความหมายกับ 'การตามใจ' หรือ 'การเอาอกเอาใจ' นะ เพราะความหมายของ 和 (hé, เฮ๋อ) นั้น ยังต้องประกอบด้วย 'ความมั่นคงในหลักการ' แต่ปฏิบัติต่อกันด้วย 'ความนุ่มนวล-อ่อนโยน' โดย 'ไม่แข็งขืนดึงดัน' ให้เป็นไปตาม 'หลักการ' ที่แม้ว่าจะมี 'ความถูกต้องโดยสมบูรณ์' แล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็น 'การให้เกียรติซึ่งกันและกัน' ด้วย 'ความเมตตา' รู้จักที่จะ 'รับรู้-รับฟัง' ประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' และ 'ยอมรับในความต่าง' อันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันของแต่ละบุคคล ... ประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ก็อยู่ตรงความหมายแฝงของอักษร 和 (hé, เฮ๋อ) นี่แหละ เพราะ 'ความนุ่มนวล-อ่อนโยน' ในความหมายของ 和 (hé, เฮ๋อ) นี้ ย่อมสะท้อนออกมาเป็น 'ความไม่ดันทุรัง' ที่จะยัดเยียด 'ความถูกต้องแบบของตน' ให้เป็น 'ความถูกต้องของทุกๆ ผู้คน' อย่างแข็งขืน ... นั่นก็คือคุณลักษณะของ 陰 (yīn, อิน) ที่ 'จิวกง' เลือกหยิบมาวางไว้ตรงต้นวรรค

我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) เป็นคำที่เคยเล่าไว้อย่างค่อนข้างละเอียดมาแล้วว่า มันหมายถึง 'ฉัน', 'ตัวฉัน', 'ของฉัน', 'กู', 'ตัวกู', 'ของกู' … หรืออาจจะหมายถึง 'สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง' ที่เป็น 'พหูพจน์' คือ 'พวกเรา', 'ของพวกเรา' ก็ได้ … นอกจากนั้นแล้ว 我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) ก็ยังสามารถแปลว่า 'ความรู้', 'ผู้รู้', 'ผู้ที่มีการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่มีจิตใจสูง' ได้อีกด้วย ... ซึ่งในวรรคนี้ของ 'จิวกง' เราจะเห็นการเล่นคำที่พ้องความหมายกันอยู่คือ 子 (zǐ, จื่อ) กับ 我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) ถ้าพิจารณาในความหมายของ 'ผู้มีความรู้' ... แล้วก็ 我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) กับ 吾 (wú, อู๋) หากพิจารณาด้วยความหมายของ 'ตัวเรา' หรือ 'พวกเรา' ... ถือว่าเป็นการเล่นคำพ้องที่น่าสนใจไม่น้อยเลยเหมือนกัน

爵 อ่านว่า jüé (เจฺวี๋ย) เป็นคำที่ใช้เรียก 'จอกสุรา' ในยุคโบราณของจีน ลักษณะมีสามขาตั้งกับหูจับเวลายกขึ้นดิ่ม ; ในอีกความหมายหนึ่งคือเป็นคำที่ใช้เรียก 'ข้าราชการฝ่ายปกครอง' โดยมี 'การแบ่งลำดับชั้นการบังคับบัญชา' ในยุคสมัยหนึ่งของจีนโบราณออกเป็น 5 ชั้นคือ 
公 (gōng, กง), 侯 (hóu, โอ๋ว), 伯 (bó, ป๋อ), 子 (zǐ, จื่อ), กับ 男 (nán, นั๋น) ; แต่ถ้าหมายถึงสัตว์ ก็จะเป็นสัตว์จำพวก 'นกกระจอก' เท่านั้นเอง

 

吾 อ่านว่า wú (อู๋) เคยเล่าไปบ้างแล้วว่าหมายถึง 'ตัวฉัน', 'ตัวเรา', รือ 'พวกเรา' แต่ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 御 (yǜ, ยฺวี่) ซึ่งแปลว่า 'บังคับบัญชา', 'บริหารจัดการ', 'ขับเคลื่อน', หรือ 'ควบคุม' มันจึงแฝงความหมายของ 'การแข็งขืน-ต่อต้าน' เพื่อให้เป็นไปอย่างที่ต้องการด้วยเหมือนกัน

爾 อ่านว่า ěr (เอ่อ) ความหมายเดิมแปลว่า 'ตกแต่ง', 'ประดับประดา', 'หรูหรา' ; บางครั้งก็บังแปลว่า 'สดใส', 'ร่าเริง' ; แต่เพี้ยนไปเพี้ยนมาอีท่าไหนก็ไม่รู้ ในที่สุดดันใช้อักษรย่อเป็น 尔 (ěr, เอ่อ) ซึ่งใช้แทน 'สรรพนามบุรุษที่สอง' เหมือนกับ 你 (nǐ, หฺนี่) และยังใช้ในความหมายว่า 'ใกล้ๆ', 'ตื้นๆ', หรือ 'สิ่งนี้', 'สิ่งนั้น'

靡 อ่านว่า mí (มี๋) ปรกติแปลว่า 'แบ่ง', 'ซอย', 'ทำให้แยกย่อย' ซึ่งบางทีก็กลายเป็น 'ทำให้กระจัดกระจาย' จนถึงขั้นที่ 'ทำให้หมดไป' มันจึงสามารถแปลว่า 'ทำให้สิ้นเปลือง' หรือ 'ทำให้เสียหาย' ด้วยก็ยังได้ ; ส่วนลักษณะของ 'การทำให้แยกย่อย' นั้น มันจึงสามารถแปลว่า 'เล็ก', หรือ 'ละเอียด' ได้ด้วยเหมือนกัน ; ส่วนในเรื่องของ 'การแบ่ง' นั้น มันก็สามารถแผลงไปเป็น 'คันกั้นน้ำ', 'ตลิ่ง', หรืออาจจะหมายถึง 'แนวกั้น' ประเภทอื่นๆ ตลอดจนหมายถึง 'เขตแดน' ก็ได้

หากเราไม่พิจารณาที่ 'ความเชื่อมโยง' ของแต่ละวรรค ความหมายของแต่ละถ้อยคำก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้ต่างๆ นาๆ จนหา 'จุดร่วม' ใดๆ ได้ยากมาก ซึ่งในกรณีของวรรคนี้ ความต่อเนื่องมาจากวรรคแรกถือเป็นกุญแจสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ในขณะที่เนื้อความในวรรคแรกเองก็มีความเชื่อมโยงกับวลีของ King Wen ไม่น้อย ... โดยคำสำคัญที่ 'จิวกง' โยงความต่อเนื่องมาจาก 豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) ที่หมายถึง 'ความไม่สุดโต่ง' ของ King Wen ก็คือ 虞 (yǘ, ยฺวี๋) หรือ 'ความชัดเจนของเป้าหมาย' ที่ไม่ควรจะสะเปะสะปะ (有他) จนไร้ทิศทาง ... แล้ว 'ความแจ่มชัด' ใน 'เป้าหมายระยะยาว' ที่ว่านั้นก็แผลงมาเป็นคำว่า 鳴鶴 (míng hé, มิ๋ง เฮ๋อ) ในวรรคที่สองนี้ที่เสริมด้วย 陰 (yīn, อิน) อันหมายถึง 'การถ้อยทีถ้อยอาศัย-ประคับประคองกัน' เพื่อสะท้อน 'ความไม่สุดโต่ง' เอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ... เห็นมั้ยครับ ?!?! ... นี่คือเสน่ห์ของลีลาทางภาษาที่ King Wen กับ 'จิวกง' ช่วยกันรจนามหาคัมภีร์เล่มนี้เอาไว้ ...

ดังนั้น สิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะก่าวสำทับไว้อีกครั้งหนึ่งในวรรคนี้ก็คือ ...
'ความเป็นรูปธรรม (鳴 คือปรากฏสู่สายตา) ของความยั่งยืนในระยะยาว (鶴) นั้น ขึ้นอยู่กับ (在) การรู้จักหล่อหลอมและการประคับประคองด้วยความเอาใจใส่ (陰) โดยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาผู้นำทางความคิดทั้งหลาย (其子和之) เมื่อเหล่าบัณฑิตผู้ทรงภูมิรู้ (我) มี (有) ความเห็นพ้องต้องกัน (好) ในหลักเกณฑ์และมาตรการ (爵) ที่กำหนด ความไม่ลงรอยกันอันเกิดจากการแบ่งเราแบ่งเขา (吾與爾) ย่อมได้รับการปัดเป่าไปจนหมดสิ้น (靡之) ได้เอง' ...


 

สาม หยิน :

得敵或鼓或罷或泣或歌
dé dí huò gǔ huò bà huò qì huò gē
เต๋อ ตี๋ ฮั่ว กู่ ฮั่ว ป้า ฮั่ว ชี่ ฮั่ว เกอ




得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

敵 อ่านว่า dí (ตี๋) ปรกติจะแปลว่า 'ศัตรู', 'คู่ต่อสู้', หรืออาจจะแค่เป็น 'คู่แข่ง' กันเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้มันสามารถแผลงความหมายไปเป็น 'การต่อสู้', 'การจู่โจม', 'การแข่งขัน', หรือ 'การต่อต้าน' ได้ด้วย

或 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'อาจจะ', 'หรือ', 'ก็ได้', ในลักษณะว่า 'เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้' จึงทำให้บางครั้งก็อาจจะกลายเป็น 'ไม่อย่างนั้น (ก็อย่างนี้)' ; แล้วก็เลยเหมือนกับ 'ไม่เด็ดขาด' หรือ 'ไม่ชัดเจน' ไป

鼓 อ่านว่า gǔ (กู่) หมายถึง 'กลอง' หรือ 'การตีกลอง', 'การส่งสัญญาณเสียงด้วยกลอง' ; ซึ่งปรกติจะใช้สำหรับ 'การปลุกเร้า', หรือ 'การกระตุ้น' ให้ 'ลุกขึ้นมา' เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างพร้อมเพรียงกัน

罷 อ่านว่า bà (ป้า) แปลว่า 'หยุด', 'ยั้ง', 'ชะลอ', 'ถอย', หรือ 'ย้อนกลับ'

泣 อ่านว่า qì (ชี่) แปลว่า 'น้ำตา', 'ร้องไห้', 'สะอื้น', หรือ 'เสียงสะอื้น' ; 'โศกเศร้าเสียใจ', 'ทุกข์ระทม'

歌 อ่านว่า gē (เกอ) แปลว่า 'เพลง', หรือ 'การร้องรำทำเพลง'

ผมคิดว่า 'จิวกง' กำลังจะเล่นกับความหมายนี้นะครับ ...
'ในการพิชิตชัย (得) เหนืออุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย (敵) นั้น  บางครั้งก็จำเป็นต้องเร่งเร้าหักโหม (或鼓) บางคราวก็ต้องผ่อนปรนยับยั้งถอนกำลัง (或罷) บ้างก็ต้องยอมเหนื่อยยากทุกข์ทน (或泣) หรือสามารถสนุกรื่นเริงไปตามจังหวะ (或歌) ของมันในบางสถานการณ์' ... นี่ก็คือ 'ความไม่สุดโต่ง' ใน 'มาตรการ' และ 'วิถีปฏิบัติ' เพราะ 'รูปแบบ' และ 'บริบทของปัญหา' แต่ละกรณีนั้น ล้วนมี 'ลักษณะจำเพาะ' ที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจใช้ 'มาตรการ' หรือ 'วิถีปฏิบัติ' ที่ 'ตายตัว' เข้าไป 'บริหารจัดการ' แต่จะต้องพิจารณาถึง 'ความเหมาะสม' แก่ 'เหตุปัจจัย' โดยจะต้อง 'ลงมือปฏิบัติ' อย่าง 'สอดคล้อง' กับ 'กาละ' และ 'เทศะ' ด้วยเท่านั้น !!



 

สี่ หยิน :

月幾望馬匹亡無咎
yüè jī wàng mǎ pǐ wáng wú jiù
เยฺวี่ย จี่ วั่ง หฺม่า ผี่ วั๋ง อู๋ จิ้ว




月 อ่านว่า yüè (เยฺวี่ย) แปลว่า 'พระจันทร์', 'เดือน' ; และตามคติเชิงสัญลักษณ์แบบ 'หยิน-หยาง' จะถือว่า 'พระจันทร์' เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ; แล้วก็บ่อยครั้งที่คำนี้มักจะถูกใช้เพื่อสื่อถึง 'ความงดงาม' หรือ 'ผู้หญิง' ด้วยเหมือนกัน

幾 อ่านว่า jī (จี) หรือ jǐ (จี่) มีความหมายในลักษณะคำถามว่า 'มากน้อยแค่ไหน?', 'จำนวนเท่าไหร่?' ; มันจึงแฝงความหมายว่า 'ไม่แน่นอน' ; และถึงขั้นที่อาจจะ 'ไม่ปลอดภัย' ; หรืออาจจะมี 'อันตราย' ไปเลยก็ได้ ; ซึ่งก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'การป้องกัน' ; บางครั้งแปลว่า 'คล้าย', 'ใกล้เคียง' หรือ 'โดยประมาณ' ก็ได้อีก ; ความหมายอื่นๆ ของ 幾 (jī, จี) จะแปลว่า 'เล็ก', 'จิ๋ว', 'ละเอียด', 'ต่ำต้อย', 'เล็กน้อย', 'ระยะใกล้ๆ' ; 'ลาง', 'สังหรณ์' ในลักษณะของ 'ความไม่แน่ไม่นอน' ; จึงอาจจะหมายถึง 'ไม่ชัดเจน' ด้วยก็ได้

望 อ่านว่า wàng (วั่ง) แปลว่า 'มอง', 'จ้อง' ; แต่ส่วนใหญ่มักจะหมายถึง 'มองออกไปไกลๆ' หรือ 'ชะเง้อมอง' ; มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'คาดหวัง', 'มุ่งหวัง', 'ไขว่คว้า', หรือ 'มุ่งไป' หรือ 'เปรียบเทียบ' ; และสามารถใช้ในความหมายว่า 'เยี่ยมเยือน', 'พบปะ' ; บางครั้งยังหมายถึง 'เคารพ', 'ศรัทธา', 'มีชื่อเสียง' หรือ 'โด่งดัง' ในลักษณะของ 'เป็นที่จับตามอง', 'เป็นที่หมายปอง' ; แต่ถ้าใช้กับพระจันทร์จะหมายถึง 'พระจันทร์เต็มดวง'

วลี 月幾望 (yüè jī wàng, เยฺวี่ย จี่ วั่ง) นั้นเราเจอกันมาแล้วถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกอยู่ในวรรคที่หกของบทที่เก้า และครั้งที่สองในวรรคที่ห้าของบทที่ห้าสิบสี่ โดยทั้งสองครั้งจะใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับ 'วัฏจักรข้างแรม-ข้างขึ้นของพระจันทร์' ซึ่งแทนความหมายของ 'ความไม่ยั่งยืน' หรือ 'ความไม่ยึดติดตายตัว'

馬 (mǎ, หฺม่า) โดยทั่วไปก็จะแปลว่า 'ม้า' หรือ 'การฝึกม้า' ; แต่ในสมัยโบราณมันคืออักษรที่ใช้แทน 碼 (mā, มา) ที่แปลว่า 'เครื่องหมาย' หรือ 'สัญลักษณ์' ใน 'การจำแนกประเภท' หรือ 'หน่วยนับ' เพื่อบอกจำนวน

匹 อ่านว่า pǐ (ผี่) ปรกติใช้เป็น 'ชื่อหน่วยนับ' สำหรับ 'ม้า' แต่ความหมายอื่นๆ ของมันก็จะเกี่ยวข้องกับ 'การนับ' แทบทั้งนั้น โดยความหมายหนึ่งของมันก็คือ 'จำนวนคู่' มันจึงมีความหมายคล้ายกับ 'หุ้นส่วน',  'เพื่อนสนิท', หรือ 'สหายร่วมรุ่น' อะไรประมาณนั้น ; และบางทีก็เลยแปลว่า 'คู่เปรียบเทียบ' ได้ด้วย

亡 (wáng, วั๋ง) นั้นเจอกันบ่อยมากใน 'คัมภีร์อี้จิง' โดยคำนี้แปลว่า 'ละทิ้ง', 'หลบหลีก', 'หนีหาย', และบางครั้งก็แปลว่า 'ตาย' ได้ด้วย ; ในบางกรณีมันจึงสามารถแปลว่า 'ทำให้หายไป', 'ทำให้สูญเสีย', หรือ 'ทำลายล้าง' ซึ่งในสมัยโบราณยังใช้ในความหมายเดียวกับ 無 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ไม่มี' ก็ยังได้

ดูเหมือนตำรา 'อี้จิง' เท่าที่หาได้จะพยายามแปลวรรคนี้ให้เป็นเรื่องของ 'พระจันทร์' กับ 'ม้า' ซึ่งผมนึกไม่ออกว่ามันไปเกี่ยวกันได้ยังไงเหมือนกัน เพราะการเปรียบเทียบกับ 'พระจันทร์ข้างแรม' (幾) และ 'พระจันทร์ข้างขึ้น' (望) นั้น มันช่วยสะท้อนประเด็นของ 'ความเปลี่ยนแปลง' หรือ 'ความไม่จิรัง' ไปตาม 'กาละ' ได้อย่างค่อนข้างลงตัว ... แต่มันเกี่ยวอะไรกับ 馬 (mǎ, หฺม่า) ที่ตรงไหน ?!! ... แล้ว 匹 (pǐ, ผี่) กับ 亡 (wáng, วั๋ง) มันควรจะจับคู่ความหมายกับ 幾 (jī, จี) หรือ 望 (wàng, วั่ง) ยังไงได้บ้าง ?!?!??? ... ซึ่งในที่สุดแล้ว ผม 'เชื่อว่า' มันมีความเป็นไปได้สูงมากที่ 馬 (mǎ, หฺม่า) จะไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ 'ม้า' เลย !!?!! ... เพราะคำต่างๆ ที่เราเห็นว่ามันหมายถึง 'สัตว์' ในบทนี้ มันกลายเป็นเพียง 'สื่อสัญลักษณ์' หรือเป็นการเล่นกับ 'คำพ้องเสียง' เพื่อสื่อถึงประเด็นอื่นที่ต้องการเท่านั้น ...

ความหมายจริงๆ ของวรรคนี้จึงควรจะได้รับ 'การตีความ' ว่า ...
'อันดวงจันทรา (月) ย่อมมีคืนเดือนแรมที่แหว่งเว้า (幾) และคืนเดือนหงายอันแจ่มจำรัส (望) ไปตามกาละฉันใด การจำแนกแจกแจงทุกสิ่งอย่าง (馬 ซึ่งก็คือ 碼) ย่อมต้องมีทั้งการรวบรวมเป็นกลุ่มก้อน (匹) และการแยกแยะออกจากกันเป็นหมวดหมู่ (亡) ไปตามเทศะฉันนั้น หาใช่เรื่องผิดแปลกที่พึงได้รับการตำหนิติเตียนใดๆ (無咎)' ... ลองไปจับ 'คู่ความหมาย' กับวรรคที่สามซึ่งเป็น 'คู่วลี' โดยตรงของมันดูหน่อยก็ได้นะ ...

... 'ในการจะพิชิต (得) อุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย (敵) นั้น  บางครั้งก็จำเป็นต้องเร่งเร้าหักโหม (或鼓) บางคราวก็ต้องผ่อนปรนยับยั้งถอนกำลัง (或罷) บ้างก็ต้องยอมเหนื่อยยากทุกข์ทน (或泣) หรือสามารถสนุกรื่นเริงไปตามจังหวะ (或歌) ของมันในบางสถานการณ์  ... ประดุจดั่งจันทรา (月) ซึ่งมีคืนเดือนแรมที่แหว่งเว้า (幾) และคืนเดือนหงายที่แจ่มจำรัส (望) ไปตามกาละฉันใด การจำแนกแจกแจงทุกสิ่งอย่าง (馬 ซึ่งก็คือ 碼) ย่อมต้องมีทั้งการรวบรวมเป็นกลุ่มก้อน (匹) และการแยกแยะออกจากกันเป็นหมวดหมู่ (亡) ไปตามเทศะฉันนั้น หาใช่เรื่องผิดแปลกที่พึงได้รับการตำหนิติเตียนใดๆ (無咎)' ... เจ๋งมากเลยใช่มั้ยล่ะ ?! ... 😊

แต่ก็อาจจะมี 'คนขี้สงสัย' ผุดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วจู่ๆ 'จิวกง' จะเอาเรื่อง 'แหว่งเว้า-เต็มดวง' ของพระจันทร์ 'ข้างแรม-ข้างขึ้น' มาเปรียบเทียบกับ 'การรวมเข้า-ลดทอน' ของ 'การจัดหมวดหมู่' ไปเพื่ออะไร ?!?! ... ผมคิดว่านี่คือ 'ความเชื่อมโยง' ที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อถึงบทที่หกสิบ (節 : jié, เจี๋ย : สัมพัทธภิบาล) อันเป็นบทก่อนหน้านี่ที่เอ่ยถึง 'การปันหน้าที่ความรับผิดชอบ' ที่แต่ละภาคส่วนจะต้องมีการประสานงานอย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น ... 'การจัดสรรทรัพยากร' ต่างๆ (馬) ให้เหมาะแก่ 'ขอบเขตความรับผิดชอบ' ของแต่ละส่วนงาน จึงจำเป็นต้องมีทั้ง 'การรวมเข้า' (匹) และ 'การลดทอน' (亡) อย่าง 'สมควรแก่เหตุ' ด้วย 'ภารกิจ' หนึ่งๆ จึงจะสามารถ 'ดำเนินการ' ได้ 'อย่างราบรื่น' จน 'สำเร็จลุล่วง' ไปได้ ... เพราะฉะนั้น ... ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ 'ม้า' อย่างแน่นอนครับสำหรับวรรคนี้ !!


 

ห้า หยาง :

有孚攣如無咎
yǒu fú luán rú wú jiù
โหฺย่ว ฟู๋ ล๋วน ญู๋ อู๋ จิ้ว



วลีที่เห็นอยู่นี้ยกเอามาจากท่อนแรกในวรรคที่ห้าของบทที่เก้าทั้งดุ้นเลยนะครับ โดยคำว่า 攣 (luán, ล๋วน) นั้นมีความหมายว่า 'หงิกงอ', 'ผูกกัน', 'พันกัน', 'เกี่ยวกัน', 'ขมวดเป็นปม' จึงทำให้บางครั้งสามารถแปลว่า 'เกี่ยวดอง', 'ผูกพัน', 'คิดถึง', 'เป็นห่วงเป็นใยกัน' และอาจจะหมายถึง 'พึ่งพาอาศัยกัน' ก็ยังได้ ... ในขณะที่ความหมายโดยรวมของวลีที่ยกมานี้ ก็สามารถเชื่อมโยงกับถ้อยคำในวรรคที่สองของบทนี้ได้พอดี ... โดยวรรคที่สองเราได้ความหมายออกมาแล้วว่า ... 'ความเป็นรูปธรรมของความยั่งยืนในระยะยาว (鳴鶴) นั้น ขึ้นอยู่กับ (在) การรู้จักหล่อหลอมและการประคับประคองด้วยความเอาใจใส่ (陰) โดยความร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาผู้นำทางความคิดทั้งหลาย (其子和之) เมื่อเหล่าบัณฑิตผู้ทรงภูมิรู้ (我) มีความเห็นพ้องต้องกันในหลักเกณฑ์และมาตรการที่กำหนด (有好爵) ความไม่ลงรอยกันอันเกิดจากการแบ่งเราแบ่งเขา (吾與爾) ย่อมถูกปัดเป่าไปจนหมดสิ้น (靡之) ได้เอง' ... แล้ว 'จิวกง' ก็จบ 'คู่วลี' นี้ด้วยถ้อยคำที่ว่า ... 'ความสมัครสมานสามัคคีที่ต่างมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (有孚) คือการผนึกรวมเป็นกลุ่มก้อนที่คอยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน (攣如) โดยไม่มีการกล่าวโทษกันไปมา (無咎)' ... นั่นไง !!
 

 

หก หยาง :

翰音登于天貞凶
hàn yīn dēng yǘ tiān zhēn xiōng
ฮั่น อิน เติง ยฺวี๋ เทียน เจิน เซฺวิง



翰 (hàn, ฮั่น) เคยเจอมาครั้งเดียวในบทที่ยี่สิบสอง โดยความหมายดั้งเดิมของมันคือ 'ไก่ฟ้า' ต่อมาถูกใช้ในความหมายของ 'ขนยาวๆ แข็งๆ ของนก' ที่ถูกนำมาใช้เป็น 'อุปกรณ์การเขียน' แล้วจึงแผลงมาเป็น 'ภู่กัน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มีความรู้', 'มีความสามารถ' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'การรู้ภาษา', 'การเขียนหนังสือ' หรือ 'การใช้ถ้อยคำ' ; อีกความหมายหนึ่งก็คือ 'การบินขึ้นสูง', หรือ 'การเหินขึ้นฟ้า' ซึ่งก็คงแผลงมาจากความหมายของ 'ขนนก' หรือไม่ก็เกี่ยวกับ 'ความสามารถ' ; แต่ความหมายที่แปลกมากๆ สำหรับ 翰 (hàn, ฮั่น) ก็คือ มันสามารถแปลว่า 白馬 (bái mǎ, ไป๋ หฺม่า) หรือ 'ม้าสีขาว' ได้อย่างตรงๆ ตัวเลยด้วย ??!!

音 อ่านว่า yīn (อิน) แปลว่า 'เสียง', 'ส่งเสียง', 'โทนเสียง' ; ซึ่งในแง่หนึ่งมันคือ 'การสื่อสาร' หรือ 'ข่าวสาร' ที่ 'สื่อออกจากใจ' ... ดังนั้น หากจะ 'ตีความ' ให้ลึกลงไปถึงรากศัพท์ของมันจริงๆ แล้ว 音 (yīn, อิน) สามารถที่จะมีความหมายว่า 'เจตจำนง' หรือ 'เจตนาที่สื่อออกมา'

登 (dēng, เติง) เคยเล่าไว้ในบทที่สามสิบหกด้วยความหมายว่า 'ลอยสูงขึ้น', 'ไต่ขึ้นที่สูง', 'ก้าวขึ้นไป' ; 'กลายสภาพ' หรือ 'สำเร็จ' ; และยังหมายถึง 'ได้รับการบันทึกไว้', 'การขึ้นทะเบียน' หรือ 'การถูกบันทึกไว้ในทำเนียบ' ด้วย

จะว่าไปแล้ว 'จิวกง' นี่ขี้เล่นไม่เบาเลยทีเดียว เพราะเมื่อ King Wen เปิดประเด็นในบทนี้ด้วยคำที่มีความเชื่อมโยงความหมายกับสัตว์อย่าง 豚 (tún, ทุ๋น) และ 魚 (yǘ, ยฺวี๋) แกก็รับลูกด้วยคำที่มีความเชื่อมโยงกับสัตว์ไว้ในอีกสี่วรรคของแกทันทีคือ 虞 (yǘ, ยฺวี๋), 燕 (yàn, เอี้ยน), 鶴 (hé, เฮ๋อ), 馬 (mǎ, หฺม่า), กับคำว่า 翰 (hàn, ฮั่น) ที่เห็นในวรรคนี้ ... ทีนี้ ... สมมุติว่าผมเติมความขี้เล่นของตัวเองลงไป ในเมื่อ  豚魚 (tún yǘ, ทุ๋น ยฺวี๋) ของ King Wen ถูกนำมาใช้ด้วย 'ความหมายแฝง' ว่า
'ความไม่สุดโต่งในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน' ที่ท่านระบุไว้ว่า 吉 (jí, จี๋) นั้น ... ถ้าเราเอา 'สัตว์' ทั้ง 5 ชนิดที่ 'จิวกง' เอ่ยถึงในบทนี้มาเขียนเรียงต่อๆ กันเป็น 虞燕鶴馬翰 (yǘ yàn hé mǎ hàn, ยฺวี๋ เอี้ยน เฮ๋อ หฺม่า ฮั่น) แล้ว 'ตีความ' ด้วย 'ความหมายแฝง' มันดื้อๆ ไปเลยว่า 'ความคาดหวัง (虞) ที่จะได้รับความสะดวกสบาย (燕) ในระยะยาว (鶴) โดยอาศัยเพียงความรู้ความเข้าใจที่แยกย่อยเป็นส่วนๆ (馬翰)' มันก็น่าจะเลวร้ายไปเลยรึเปล่า ?!?! ... แล้วลองดูคำลงท้ายในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ซะหน่อย ... 貞凶 (zhēn xiōng, เจิน เซฺวิง) เลยนะครับนั่น !!?!! ... มันคือ 'ความฉิบหายย่อยยับ' ซึ่งตรงข้ามกับ 吉 (jí, จี๋) ไปคนละขั้วเลยทีเดียว !! ... 😋 ... ประเด็นนี้คิดเล่นๆ สนุกๆ เท่านั้นครับ มาดูความหมายที่น่าจะถูกต้องของวรรคนี้ดีกว่า ...

โดยลำดับของวลีในแต่ละบทนั้น วรรคที่หกควรจะเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่หนึ่งในบทของมันเอง ซึ่งในวรรคที่หนึ่งของบทนี้ 'จิวกง' ยกเอาเรื่องของ 'เป้าหมายที่ชัดเจน' (虞) ขึ้นมาชูเป็นประเด็นเพื่อคานความหมายกับ 'ความไม่สุดโต่ง' (豚魚) ที่ King Wen จั่วหัวเอาไว้ ... 'จิวกง' ก็เลยต้องเลือกปิดประเด็นของตัวเองให้ชี้ชัดลงไปเลยว่า 'เป้าหมายอันชัดเจน' ดังที่ว่านั้น จะต้องเป็นไป 'เพื่อส่วนรวม' ไม่ใช่ 'เพื่อตัวเอง' ... ถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคนี้จึงหมายความว่า
'ความรู้และแนวคิด (翰) ที่มีเจตนา (音) เพื่อสนองความมักใหญ่ใฝ่สูง (登于天 คือปรารถนาการยกย่องให้สูงเทียมฟ้า) นั้น คือเหตุปัจจัยที่จะส่งผลให้คุณธรรมอันบริสุทธิ์ (貞) ต้องพินาศย่อยยับ (凶)' ...




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'จงฟู๋' คือ มัตตัญญุตาธิษฐาน, ลมพัดโชยเหนือทะเลสาบ

'มัตตัญุตาธิษฐาน' คือ 'ความไม่สุดโต่ง' (豚 คือมีความพอประมาณด้วยความเคารพ) ใน 'การดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ 'ร่วมกัน' (魚) อันจะนำมาซึ่ง 'ความสงบร่มเย็น' (吉) และ 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' (利) เพื่อจะ 'ฟันฝ่า' (涉) 'อุปสรรค' และ 'ข้อจำกัด' ทั้งปวง (大川) ไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (利) อย่าง 'ยั่งยืน' (貞 คือมีความเป็นระบบระเบียบ) สืบต่อไป

    • 'ความมีวิสัยทัศน์' ต่อ 'เป้าหมายที่ชัดเจน' ในอนาคต (虞) คือ 'ปัจจัยพื้นฐาน' ของ 'ความสำเร็จ' ที่พึงได้รับ (吉) ในขณะที่ 'การคาดหวัง' ในทุกๆ เรื่องอย่าง 'ไม่จำเพาะเจาะจง' (有他) คือ 'ปัจจัย' ที่ทำให้เกิด 'ความพะวักพะวน' (不燕) อย่าง 'ไร้ทิศทาง'
    • 'ความเป็นรูปธรรม' (鳴 คือปรากฏสู่สายตา) ของ 'ความยั่งยืนในระยะยาว' (鶴) นั้น ขึ้นอยู่กับ (在) การรู้จัก 'หล่อหลอม' และ 'การประคับประคอง' ด้วย 'ความเอาใจใส่' (陰) โดย 'ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' ของบรรดา 'ผู้นำทางความคิด' ทั้งหลาย (其子和之) เมื่อเหล่า 'บัณฑิตผู้ทรงภูมิรู้' (我) มี (有) ความ 'เห็นพ้องต้องกัน' (好) ใน 'หลักเกณฑ์' และ 'มาตรการ' (爵) ที่กำหนด 'ความไม่ลงรอยกัน' อันเกิดจาก 'การแบ่งเราแบ่งเขา' (吾與爾) ย่อมได้รับ 'การปัดเป่าไป' จนหมดสิ้น (靡之) ได้เอง
    • ใน 'การพิชิตชัย' (得) เหนือ 'อุปสรรค' และ 'ข้อจำกัด' ทั้งหลาย (敵) นั้น  บางครั้งก็จำเป็นต้อง 'เร่งเร้าหักโหม' (或鼓) บางคราวก็ต้อง 'ผ่อนปรนยับยั้ง' ถอนกำลัง (或罷) บ้างก็ต้องยอม 'เหนื่อยยากทุกข์ทน' (或泣) หรือสามารถ 'สนุกรื่นเริงไปตามจังหวะ' (或歌) ของมันในบาง 'สถานการณ์'
    • อัน 'ดวงจันทรา' (月) ย่อมมีคืนเดือนแรมที่ 'แหว่งเว้า' (幾) และคืนเดือนหงายอัน 'แจ่มจำรัส' (望) ไปตาม 'กาละ' ฉันใด 'การจำแนกแจกแจง' ทุกสิ่งอย่าง (馬 ซึ่งก็คือ 碼) ย่อมต้องมีทั้ง 'การรวบรวม' เป็น 'กลุ่มก้อน' (匹) และ 'การแยกแยะ' ออกจากกันเป็น 'หมวดหมู่' (亡) ไปตาม 'เทศะ' ฉันนั้น หาใช่ 'เรื่องผิดแปลก' ที่พึงได้รับ 'การตำหนิติเตียน' ใดๆ (無咎)
    • 'ความสมัครสมานสามัคคี' ที่ต่างมี 'ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน' (有孚) คือ 'การผนึกรวม' เป็น 'กลุ่มก้อน' ที่คอย 'สอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน' (攣如) โดยไม่มี 'การกล่าวโทษ' กันไปมา (無咎)
    • 'ความรู้' และ 'แนวคิด' (翰) ที่มี 'เจตนา' (音) เพื่อสนอง 'ความมักใหญ่ใฝ่สูง' (登于天 คือปรารถนาการยกย่องให้สูงเทียมฟ้า) นั้น คือ 'เหตุปัจจัย' ที่จะส่งผลให้ 'คุณธรรมอันบริสุทธิ์' (貞) ต้อง 'พินาศย่อยยับ' (凶)



The Organization Code :


ภาพสัญลักษณ์ประจำบทคือ สายลมโชย (☴) เหนือทะเลสาบ (☱) ซึ่งสามารถ 'ตีความ' ได้เป็น 2 ลักษณะ คืออาศัย 'การค้า' (☱) เสริมสร้าง 'ความมั่นคง' ทาง 'การเงิน' (☴) ... กับอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้นโยบายทาง 'การเงิน' (☴) ชักนำให้เกิดกิจกรรมทาง 'การค้า' ... ซึ่งโดยปรกติแล้ว 'แนวคิดพื้นฐาน' ของ 2 ส่วนงานนี้มักจะมีความเป็น 'ไม้เบื่อไม้เมา' กันพอสมควร เนื่องจากด้านหนึ่งต้องการ 'กระจายสินค้าและบริการ' ออกไปให้มากๆ ในระดับราคาที่ต่ำกว่าทุกคู่แข่ง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องคำนึงถึงผลกำไร และอัตราการหมุนเวียนของกระแสเงินที่ไม่สามารถปล่อยให้เกิดความชะงักงันไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ... การจะ 'ดำเนินกิจการงาน' ให้ 'สำเร็จลุล่วง' บน 'พื้นฐานที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว' เช่นนี้ ย่อมต้องอาศัยการมี 'เป้าหมาย' และ 'นโยบาย' ที่ 'หนักแน่น' และ 'ชัดเจน' (⚌) ... เพื่อจะกำหนด 'กรอบเกณฑ์' อันจะใช้เป็น 'หลักปฏิบัติ' ให้ 'ทุกๆ ฝ่าย' ต้อง 'ปฏิบัติอย่างจริงจัง' (⚌) ... ภายใน 'สภาพแวดล้อม' ที่ทุกๆ ฝ่ายให้ 'ความร่วมมือ' ในการ 'ผลักดัน' และ 'ประคับประคอง' (⚏) แต่ละกิจกรรมให้ 'สำเร็จลุล่วง' ตาม 'เป้เาหมาย' และ 'วัตถุประสงค์' ที่กำหนดไว้ โดยไม่มี 'การชิงดีชิงเด่น' ระหว่างกันเองจน 'เสียงานเสียการ' ใน 'ระยะยาว'

'ความไม่สุดโต่ง' ใน 'การดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ นั้น คือ 'การให้เกียรติ' และเป็น 'การเคารพ' ใน 'ศักยภาพ' ตลอดจน 'ข้อจำกัด' ของ 'ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน' อันจะนำมาซึ่ง 'ความร่วมมือกัน' อย่าง 'จริงใจ' ในการ 'ฝ่าฟันทุกอุปสรรค' ไปสู่ 'เป้าหมาย' ที่ 'กำหนดไว้' เพื่อ 'ความยั่งยืน' สืบต่อไป

    • 'วิสัยทีศน์ที่กว้างไกล' ด้วย 'เป้าหมายที่ชัดเจน' ย่อมเป็น 'แรงกระตุ้น' ให้เกิด 'ความฮึกเหิม' ใน 'การสร้างสรรค์คุณค่า' และ 'ความหมายต่อการดำรงอยู่' ทั้งในระดับ 'บุคคล', 'หน่วยงาน', ตลอดจน 'องค์กรโดยรวม' ใน 'ระยะยาว' ... ในขณะที่ 'การไม่มีเป้าหมาย' หรือ 'การไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่' ย่อมนำไปสู่ 'การประกอบกิจการงาน' ต่างๆ อย่าง 'ไร้ทิศทาง' และต้อง 'วกวน' อยู่กับ 'ปัญหา' อันเกิดจาก 'ความไร้ระบบระเบียบ' ใน 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ซึ่งไม่ก่อ 'ประโยชน์' ในเชิง 'คุณค่า' และ 'ความหมาย' ใดๆ ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย
    • 'พัฒนาการ' อันจะ 'ยั่งยืน' ได้ใน 'ระยะยาว' นั้น จะมี 'ความเป็นรูปธรรม' ที่ 'ชัดเจน' ได้ก็ด้วย 'ความเอาใจใส่' อย่าง 'มุ่งมั่น' ของเหล่า 'นักวิชาการ' ผู้มีความรู้จาก 'หลากหลายแขนง' และบรรดา 'ผู้นำทางความคิด' ทั้งหลายใน 'สังคม' ที่จะ 'ร่วมกันผลักดัน' และ 'สนับสนุน' มาตรการต่างๆ ให้ดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' โดย 'ปราศจากอคติ' ของ 'การแบ่งเราแบ่งเขา' เพียงเพื่อ 'ผลประโยชน์อันฉาบฉวย' เฉพาะหน้า
    • 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ นั้น ล้วนมี 'เงื่อนไข' และ 'ข้อจำกัด' ที่ 'แตกต่างกัน' ... 'การดำเนินการ' ใดๆ เพื่อ 'ขจัดปัดเป่าปัญหา' หนึ่งๆ จึงไม่สามารถใช้ 'มาตรการ' ใดๆ 'อย่างตายตัว' แต่จะต้องอาศัย 'การพลิกแพลง-ประยุกต์' ใช้ 'กระบวนการ' ต่างๆ อย่าง 'เหมาะสม' แก่ 'สถานการณ์' และ 'สอดคล้อง' กับ 'เหตุปัจจัย' อันเป็น 'สาเหตุ' ของแต่ละ 'ปัญหาที่ปรากฏ' ซึ่งบางครั้งก็ต้องจัดการอย่าง 'เร่งด่วน' บางคราวก็ต้อง 'หยุดยั้ง' เพื่อ 'รอเวลา' ที่ 'เหมาะสม' บางกรณีก็ต้อง 'กล้ำกลืนฝืนทน' อย่าง 'ยากลำบาก' และก็มีบางสถานการณ์ที่เราสามารถ 'สนุกสนาน' ไปกับมัน 'อย่างไร้กังวล'
    • 'หลักเกณฑ์' และ 'มาตรการ' ต่างๆ ล้วนประกอบด้วย 'กระบวนการ' ที่ต้อง 'ปฏิบัติ' อย่าง 'เหมาะสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' เสมอ ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งจะสามารถ 'ดำเนินการ' ได้ 'ตามอำเภอใจ' ... 'การจัดสรรทรัพยากร' ตลอดจน 'ทีมงาน' ที่จะต้อง 'ร่วมปฏิบัติงาน' นั้น ย่อมต้องมีทั้งที่ 'เติมเข้า' และ 'ถอนออก' เพื่อให้ 'พอเหมาะ' แก่ 'ภารกิจที่มอบหมาย' จึงเกิด 'ประโยชน์' โดย 'ไม่ขาดแคลน' หรือ 'สิ้นเปลือง' อย่าง 'ไร้คุณค่า'
    • 'ความมีส่วนร่วม' ของ 'ทุกภาคส่วน' ใน 'การดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ ย่อม 'ส่งเสริม' ให้เกิด 'ความเข้าใจ' ที่ดีต่อกัน อันจะนำมาซึ่ง 'ความสมัครสมานสามัคคี' ที่ 'ทุกฝ่าย' พร้อมจะ 'ให้ความช่วยเหลือ' และคอย 'สอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน' อย่าง 'แข็งขัน' แทนที่จะ 'เสียเวลา' และ 'ทรัพยากร' ให้หมดไปกับ 'การจับผิด' และ 'การกล่าวโทษกันไปมา' ซึ่งไม่ก่อ 'คุณประโยชน์' ใดๆ แก่ฝ่ายใดทั้งสิ้น
    • 'วิสัยทัศน์อันกว้างไกล' ด้วย 'เป้าประสงค์' ที่ 'มักใหญ่ใฝ่สูง' โดยมุ่งหวังเพียง 'ลาภสักการะ' อัน 'ไม่เป็นคุณ' ต่อ 'ส่วนรวม' ย่อมบ่อนทำลาย 'คุณธรรมความดี' ทั้งปวงให้ 'พินาศย่อยยับ' และปิด 'โอกาส' ที่จะ 'สร้างสรรค์' พัฒนาการใดๆ ให้มี 'ความยั่งยืน' อย่างแท้จริง