Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第三十三卦 : 遯

遯 : 天山遯 ‧ 乾上艮下

遯 : 亨‧小利貞‧

  • 初六 : 遯尾‧厲‧勿用有攸往‧
  • 六二 : 執之用黃牛之革‧莫之勝說‧
  • 九三 : 係遯‧有疾厲‧畜臣妾吉‧
  • 九四 : 好遯‧君子吉‧小人否‧
  • 九五 : 嘉遯‧貞吉‧
  • 上九 : 肥遯‧無不利‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สงบนิ่ง ไม่ร้อนรน (⚏) ; ปัญญา ตื่นตัวทั่วพร้อม (⚌) ; ร่างกาย กระฉับกระเฉงแข็งแรง (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ดำเนินนโยบาย (☰) บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (☶)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความรู้จักประมาณตน, สงบนิ่งดุจขุนเขาใต้นภา



ความหมายของชื่อเรียก : Being Temperance : ความรู้จักประมาณตน


'ภาพอักษร' 遯 (dùn, ตุ้น) ที่ King Wen เลือกมาใช้เป็นชื่อบทในคราวนี้ ค่อนข้างจะมีความสลับซับซ้อนพอสมควร เนื่องจาก 'ภาพอักษร' ที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น จะเหลือเพียงการประกอบกันของอักษร 辵 (chuò, ฌั่ว) ที่หมายถึง 'การเดินๆ หยุดๆ' หรือ 'การวิ่ง' กับอักษร 豚 (tún, ทุ๋น) ที่แปลว่า 'ลูกหมู' ... ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรที่สื่อไปถึงคำแปลว่า 'หลบหนี', 'หลบหลีก', หรือ 'ถอยห่าง' อันเป็นความหมายของ 遯 (dùn, ตุ้น) ดังที่ใช้งานกันอยู่ได้เลยแม้แต่น้อย ??!!

แต่หากเราพิจารณาที่ 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 遯 (dùn, ตุ้น) เรากลับพบว่า ด้านหน้าของ 'ภาพอักษร' คืออักษร 辵 (chuò, ฌั่ว) ที่ประกอบด้วยขีดสามขีดเรียงตัวกันตรงด้านบน เป็นสัญลักษณ์ของ 'รอยเท้า' หรือ 'การเดิน' ในขณะที่ด้านล่างคืออักษร 止 (zhǐ, จื่อ) ที่ในอดีตแปลว่า 'เท้า', 'รอยเท้า', แต่ความหมายในปัจจุบันแปลว่า 'หยุดอยู่กับที่' ซึ่งน่าจะแผลงมาจากความหมายของ 'ร่องรอย' หรือ 'รอยเท้า' ที่เหลือทิ้งเอาไว้ ... นั่นคือที่มาของความหมายว่า 'การเดินๆ หยุดๆ', 'การเดินทาง', หรือ 'การวิ่ง' ของ 辵 (chuò, ฌั่ว) ในปัจจุบัน

ส่วนด้านหลังของ 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 遯 (dùn, ตุ้น) กลับประกอบด้วยภาพ 3 ภาพด้วยกันคือ 月 หรือ 肉 (ròu, โญ่ว) ที่หมายถึง 'เนื้อ' อยู่ทางด้านซ้าย ; ตรงส่วนกลางคืออักษร 豕 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'หมู' หรือ 'สุกร' ; ด้านหลังสุดจะเห็นภาพของ 'สามง่าม' ที่ใช้แทน 'มือ' หรือ 手 (shǒu, โษ่ว) ซึ่งเป็นส่วนที่ขาดหายไปจาก 'ภาพอักษรปัจจุบัน' ของ 遯 (dùn, ตุ้น) ... โดยความหมายเต็มๆ ของ 'ภาพอักษรเดิม' นี้ก็คือ 'การส่งมอบเครื่องสักการะ' หรือ 'การบางสรวงด้วยเครื่องสังเวย' ... โดยมี 'เนื้อสัตว์' หรือ 'เนื้อลูกหมู' (豚) เป็นสัญลักษณ์ของ 'เครื่องสังเวย' นั่นเอง

ความหมายที่แท้จริงของ 遯 (dùn, ตุ้น) จึงหมายถึง 'การหลีกห่างจากลาภสักการะ' หรือ 'การหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับเครื่องสังเวยจากผู้ใด' ... ไม่ใช่ 'การหลบหนี', หรือ 'การหลบซ่อน' ในลักษณะอื่นๆ อย่างที่เราใช้คำว่า 遁 (dùn, ตุ้น) แทนไปหมดแล้วในปัจจุบัน ... ความหมายของ 遯 (dùn, ตุ้น) ควรจะมีความใกล้เคียงกับ 遜 (xǜn, ซฺวิ่น) ในแง่ของ 'การเปิดทางให้', หรือ 'การหลีกทางให้' ในลักษณะของการแสดงความอ่อนน้อม และให้เกียรติแก่ผู้อื่น ซึ่งจะว่าไป มันก็คือ 'การยอมหลีกทางให้แก่ผู้อื่น โดยมิได้หวังในลาภสักการะใดๆ' ... โดยเหตุนี้ ผมจึงไม่อาจยอมรับคำแปลของ 遯 (dùn, ตุ้น) ว่า Retreat, Withdraw, หรือ Yielding ได้เลย เนื่องจาก 遯 (dùn, ตุ้น) ไม่ได้มีลักษณะของ 'การถอนตัว' อย่างที่ความหมายของคำเหล่านั้นสื่อออกมาเลยแม้แต่น้อย แต่ 遯 (dùn, ตุ้น) จะสื่อถึง 'การให้เกียรติผู้อื่น', 'การยอมรับในศักยภาพของผู้อื่น', และ 'การไม่อวดโอ่ตนเอง' เพียงเพราะหวังในความโดดเด่น หรือลาภสักการะใดๆ ที่จะได้รับเนื่องจากความโดดเด่นนั้นๆ ... นี่คือคุณลักษณะแบบ Positive Negation ตามแบบฉบับของ 'พลังแห่งหยิน' อันบริสุทธิ์ และเป็นเหตุผลที่ผมเลือกใช้คำแปลให้กับ 'ชื่อบท' ว่า Being Temperance หรือ 'ความรู้จักประมาณตน' นั่นเอง ... ;)

遯 (dùn, ตุ้น) เป็นบทที่มีความเกี่ยวข้องกับ 'พลังแห่งหยิน' โดยตรง ซึ่งหลายตำราอ้างไว้ตรงกันว่า เป็นบทที่ว่าด้วย 'ความถดถอยของพลังแห่งหยาง' หรือ 'การเริ่มก่อตัวของพลังแห่งหยิน' โดยสังเกตจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบท ... และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเหมือนกันที่ King Wen เจาะจงเลือกใช้ 'ภาพสัญลักษณ์' อย่างนั้น เพราะถ้าเรียงลำดับตามทฤษฎีของ ZhuqiChing แล้ว บทที่สามสิบสามย่อมเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรรอบใหม่ของ 'พลังแห่งหยิน' (หลังจากที่ 'วัฏจักรที่สามของพลังแห่งหยาง' เพิ่งจะผ่านพ้นไปด้วยบทที่สามสิบสอง) ... ดังนั้น ... 遯 (dùn, ตุ้น) จึงต้องมีความเกี่ยวข้องกับวรรคที่หนึ่งของบทที่สอง (坤 : kūn, คุน) อันสะท้อนความหมายไปสู่ถ้อยความในบทที่เก้า และบทที่ยี่สิบเอ็ดอย่างแน่นอน ... เรามาดูกันหน่อยซิว่า King Wen กับ 'จิวกง' จะเลือกใช้ถ้อยคำแบบไหนมาอธิบายคุณลักษณะดังกล่าวนี้ต่อไป ...



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨小利貞
hēng xiǎo lì zhēn
เฮิง เสี่ยว ลี่ เจิ


เราจะเห็นว่า King Wen เลือกใช้คำพื้นๆ ที่พบเห็นมาตลอดเล่ม 'คัมภีร์อี้จิง' เพื่อขยายความให้กับ 遯 (dùn, ตุ้น) เท่านั้นเอง แต่จะบอกว่าเป็น 'คำเล็กๆ' ก็คงไม่ได้ล่ะครับ เพราะว่า 亨 (hēng, เฮิง), 利 (lì, ลี่),  และ 貞 (zhēn, เจิน) ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของทั้ง 'หยิน' และ 'หยาง' ดังได้เล่ารายละเอียดเอาไว้แล้วตั้งแต่บทแรกๆ การมีองค์ประกอบถึง 3 ใน 4 อยู่ภายในบทเดียวกันจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะมองข้ามไปอย่างง่ายๆ

อย่างที่บอกไว้นะครับว่า บทนี้ควรจะเป็น 'การขยายความ' ให้กับวรรคที่หนึ่งของบทที่สอง ... ดังนั้น เราก็ควรจะย้อนกลับไปดูตรง 'ต้นเรื่อง' ที่ 'จิวกง' เลือกถ้อยคำมาบันทึกไว้ในวรรคดังกล่าวว่า 履霜堅冰至 (lǚ shuāng jiān bīng zhì, หลฺวี่ วง เจียน ปิง จื้อ) หรือ 'เกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะมีความร่วนซุย แต่หากมีการสั่งสมถมทับอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากพอ มันก็จะกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่งได้ในที่สุด' ... ซึ่งสะท้อนถึง 'การสั่งสมคุณงามความดี' ที่ไม่ได้ประเมินกันด้วย 'ความยิ่งใหญ่' หรือ 'ความหนักเบา' ของกรรมดีที่กระทำ แต่ประเมินกันด้วย 'ความสม่ำเสมอ' ของการประกอบกรรมดีให้มีความยั่งยืน ... 'การแย่งกันทำความดี' จึงเป็นประเด็นที่ไร้สาระในทัศนะของ 'จิวกง' เพราะหากเราวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว 'การแก่งแย่งความดี' ย่อมสะท้อนถึง 'การแย่งชิงความโดดเด่นระหว่างกัน' เท่านั้น หาใช่ 'การประกอบกรรมดีอย่างบริสุทธิ์ใจ' แต่ประการใดเลย !!

ถ้อยคำดังกล่าวถูกขยายความครั้งแรกในบทที่เก้า (小畜 : xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) โดยอาศัยถ้อยคำของ King Wen ที่บันทึกกำกับความหมายของ 'การสั่งสม' ไว้ว่า 亨密雲不雨自我西郊 (hēng mì yún bù yǔ zì wǒ xī jiāo, เฮิง มี่ ยฺวิ๋น ปู้ หยฺวี่ จื้อ หฺว่อ ซี เจียว) หรือ 'การดำเนินงานให้ลุล่วง (亨) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนดั่งการรวมตัวกันของละอองน้ำเพื่อจะกลายเป็นเมฆฝน (密雲) ย่อมไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเพียงเม็ดฝน (不雨) ที่ไร้ความหมาย แต่จะต้องรู้จักถนอมรักษาตัว (自我西郊) จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแก่การเป็นสายฝน จึงจะสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง' ... อันเป็นการสะท้อนความหมายว่า 'คุณงามความดีย่อมปรากฏให้เป็นที่พบเห็นได้เมื่อถึงเวลาอันสมควร หาใช่สิ่งที่จะต้องอวดโอ่ให้ใครต่อใครต้องมารับรู้ก่อนกาละ-เทศะที่เหมาะสม' ... และเพราะความดีคือสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ทุกที่ทุกเวลา จึงไม่เกี่ยวกับประเด็นของการฉกฉวยโอกาส หรือการช่วงชิงจังหวะเวลาเพื่อแสดงตนว่าเป็นคนดีของผู้หนึ่งผู้ใดอย่างไร้สาระนั่นเอง

พอมาถึงบทที่ยี่สิบเอ็ด (噬嗑 : shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) King Wen ก็บันทึกไว้ด้วยถ้อยคำว่า 亨利用獄 (hēng lì yòng yǜ, เฮิง ลี่ โยฺว่ง ยฺวี่) หรือ 'การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจน (亨) จะต้องมีความเฉียบขาด (利) และบังคับใช้ (用) กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด (獄) ด้วยหลักการ และเหตุผลที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง' ... นี่ก็เป็นเรื่องของ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' ในการประกอบกรรมดีที่ต้องเน้นย้ำอยู่กับ 'หลักการ' และ 'ความถูกต้อง' โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาเนิ่นนานขนาดไหนก็ตาม ...

จากทั้งหมดที่ยกมาเทียบเคียงไว้นี้ เราจะเห็นว่าไม่ปรากฏถ้อยคำใดๆ ที่สามารถสื่อไปถึงความหมายของ 'การถอนตัว' (retreat /retire /withdraw) หรือ 'การยอมจำนน' (yielding) ใดๆ ได้เลยแม้แต่น้อย แต่มันกลับสะท้อนให้เห็นความหมายในทิศทางที่ตรงกันข้ามว่า 'อย่ายอมแพ้แม้จะพบกับความยากลำบาก' โดยให้ 'มุ่งมั่นดำเนินการต่อไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย' จนกว่าจะบรรลุผลในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น !!!?? ... ประเด็นที่ King Wen ต้องการจะสื่อถึง 'ความรู้จักประมาณตน' (遯) ผ่านถ้อยคำที่บันทึกไว้ในบทนี้จึงน่าจะหมายถึง ... 'การดำเนินงานให้ลุล่วงด้วยความเข้าใจ (亨) รู้จักใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างระมัดระวัง (小利 โดย 小 ในที่นี้น่าจะหมายถึง 小心 มากกว่าความหมายอื่น) และมีการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสม (貞)' ... นี่ถึงจะกลมกลืนกับความหมายของส่วนอื่นๆ ที่ยกมาเทียบเคียงไว้ทั้งหมดอย่างลงตัวพอดีครับ ... ;)

มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เราจะสังเกตได้ว่าทุกบทที่เกี่ยวข้องกับวรรคที่หนึ่งของบทที่สอง (คือบทที่ 9, 21, 33, 45, และ 57) หรือบทที่เป็นการเริ่มต้นของ 'วัฏจักรแห่งหยิน' ในทุกๆ รอบนั้น  King Wen เลือกที่จะขึ้นต้นวลีด้วยคำว่า 亨 (hēng, เฮิง) ซึ่งแฝงความหมายของ 'ความก้าวหน้า' เอาไว้ทุกครั้ง มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ 遯 (dùn, ตุ้น) อันเป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้ จะสื่อความหมายถึง 'การถอนตัว' หรือ 'การหนีห่างจากไป' ... แต่มันควรจะหมายถึง 'การพัฒนาอย่างรู้จักประมาณกำลังตน' และ 'มีความยับยั้งชั่งใจ' เพื่อรอคอยกาละ-เทศะที่เหมาะสมแก่การดำเนินงานต่อไปมากกว่า ... มันคือเหตุผลที่ผมเลือกจะไม่ใช้คำแปลจากตำราใดๆ ที่มีอยู่เลยแม้แต่เล่มเดียว !!! ... :)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

遯尾厲勿用有攸往
dùn wěi lì wù yòng yǒu yōu wǎng
ตุ้น เหฺว่ย ลี่ อู้ โยฺว่ง โหฺย่ว โยว หฺวั่ง


ในวรรคนี้เราจะเห็นว่า 'จิวกง' เลือกใช้วลี 勿用有攸往 (wù yòng yǒu yōu wǎng, อู้ โยฺว่ง โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) เต็มๆ วลีตรงท้ายวรรคเหมือนกับที่ King Wen ใช้ในบทที่สามเลยทีเดียว โดยวลีที่ว่านี้มีการใช้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' เพียง 2 ครั้งนี้เท่านั้นเอง !!! ... ความหมายของวลีดังกล่าวก็คือ 'แม้จะไม่อวดโอ่แสดงตน (勿用) ช้าหรือเร็วก็ย่อมมีผลสนองที่สมควรแก่เหตุอยู่ดี (有攸往)' ... นี่คือถ้อยคำที่สะท้อนถึงความหมายของ 小利 (xiǎo lì, เสี่ยว ลี่) ที่ King Wen ใช้เปิดประเด็นในบทนี้ไว้อย่างค่อนข้างตรงตัวมาก ...

สำหรับ 尾 (wěi, เหฺว่ย) นั้นเคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'หาง', 'ท้าย' หรือ 'ข้างหลัง'  ... บางครั้งยังสามารถแปลว่า 'ท้ายที่สุด', 'ต่ำที่สุด', 'ก้นบึ้ง', 'ปลายสุด' หรือ 'ชายขอบ' ได้ด้วย ... ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ... ไม่จำเป็นต้องแปลว่า 'หาง' เสมอไป !!!

ส่วน 厲 (lì, ลี่) เป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 (lì, ลี่) นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย :P

แปลอย่างตรงๆ ตัวเหมือนตำราอื่นดูนะครับ ... 'หดหาง (遯尾) มีอันตราย (厲) ไม่ต้องทำอะไร (勿用) เดี๋ยวก็ดีเอง (有攸往)' ... :'( ... รับไม่ได้จริงๆ !!?? ... :D ... แต่ผมอยากจะ 'ตีความ' วลีนี้ว่า 'จงประเมินตนเองให้ต่ำ (遯尾) และทุ่มเทความพยายามให้จงหนัก (厲) แม้จะไม่อวดโอ่แสดงตน (勿用) จะช้าหรือเร็วย่อมต้องมีผลที่ปรากฏเสมอ (有攸往)' ... เข้าท่ากว่าการซุกหัวซ่อนหางโดยไม่ยอมทำอะไรเลยมั้ยล่ะ ?!!?? ... :D ...

แต่ยังไงก็ต้องรอไว้ลุ้นกับความหมายของวรรคที่หกอีกทีครับ เพราะเล่นความหมายของวรรคเดียวโดดๆ นี่อาจจะพลาดได้เหมือนกัน ... ;)

 

สอง หยิน :

執之用黃牛之革莫之勝說
zhí zhī yòng huáng niú zhī gé mò zhī shèng shuō
จื๋จือ โยฺว่ง ฮว๋าง นิ๋ว จือ เก๋อ ม่อ จือ เษิ้ซั


執 อ่านว่า zhí (จื๋อ) แปลว่า 'จับ', 'คว้า', 'ยึดเหนี่ยว', 'เกาะกุม', 'ควบคุม', บางครั้งยังแปลว่า 'ได้รับ', หรือ 'บรรลุถึง' (achieve), และอาจหมายถึง 'การปกปักรักษา' ได้ด้วย

革 อ่านว่า gé (เก๋อ) ปรกติจะแปลว่า 'หนังสัตว์' แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึง 'หนังสัตว์ที่ผ่านกระบวนแปรรูปแล้ว' ซึ่งบางครั้งก็หมายถึง 'ชุดเกราะหนังสัตว์' ที่ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของทหาร (เป็นหนังสัตว์ที่กำจัดเส้นขนจนหมดเกลี้ยงแล้ว) ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'เปลี่ยนแปลง', 'แก้ไข' หรือ 'ปรับปรุง' ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'การแปรรูปหนังสัตว์' นั่นเอง

莫 อ่านว่า mò (ม่อ) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ในลักษณะของ 'ไม่', 'ไม่ได้', 'ไม่มี', 'ไม่สามารถ', หรือ 'ไม่เกี่ยวข้อง'

勝 อ่านว่า shèng (เษิ้ง) แปลว่า 'ชนะ', 'สำเร็จ', 'มีความสามารถ', 'ยอดเยี่ยม', 'เหนือกว่า' หรือว่า 'สวยงาม'

ส่วนคำว่า 說 (shuō (ซัว) แปลว่า 'พูด', 'บอก', 'อธิบาย', 'สนทนา' (คือแลกเปลี่ยน 兑 คำพูด 言 กัน) ; สามารถที่จะแปลว่า 'คำพูด', 'ตัวอย่าง', 'บทเรียน', 'ทฤษฎี', 'ความเชื่อ' ; และยังอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'ข้อแนะนำ' หรือว่า 'คำตำหนิ' ก็ได้

ดูเหมือน 'จิวกง' จะเลือกเล่น 'คำตรงข้าม' อยู่คู่หนึ่งในวลีนี้คือ 執 (zhí, จื๋อ) กับ 莫 (mò, ม่อ) พร้อมๆ กับการเลือกใช้คำว่า 黄牛 (huáng niú, ฮว๋าง นิ๋ว) ซึ่งเป็น 'สัญลักษณ์แห่งหยิน' มาแทน 'ความอ่อนโยนนุ่มนวล' (เล่าไว้โดยละเอียดแล้วตั้งแต่บทแรกๆ) เพื่อประกบคู่กับ 勝說 (shèng shuō, เษิ้ซัว) ที่ดูๆ ไปก็น่าจะหมายถึง 'การคุยโม้คุยโต' นั่นเอง ... ความหมายที่แว้บขึ้นมาจากการอ่านวรรคนี้ผ่านไปผ่านมาหลายๆ รอบก็คือ ... 'ผู้ที่แน่วแน่ในหลักปฏิบัติแห่งความประมาณตน (執之) ย่อมครองตนด้วยหลักแห่งคุณธรรม (用黃牛之革 เสมือนหนึ่งการสวมเกราะแห่งคุณธรรม) ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักประมาณตน (莫之) ย่อมมุ่งแต่จะคุยโวโอ้อวด (勝說)' ...

แต่ก็ยังไม่ฟันธงนะครับ ผมเพียงแต่มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะแปลไว้อย่างนี้เท่านั้น ... ไปลุ้นกันอีกครั้งตอน 'ตีความ' วรรคที่ห้าแล้วกัน ... :D

 

สาม หยาง :

係遯有疾厲畜臣妾吉
xì dùn yǒu jí lì xǜ chén qiè jí
ซี่ ตุ้น โหฺย่ว จี๋ ลี่ ซฺวี่ เฌิ๋น เชี่ย จี๋


係 อ่านว่า xì (ซี่) แปลว่า 'เกี่ยวข้อง', 'ผูกพัน', 'รวบรวม', หรือ 'มัดให้แน่น' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว', หรือว่า 'จับกุม' ; สำหรับในแง่ของ 'การรวบรวม' และ'การจัดเป็นหมวดเป็นหมู่' นี้ ยังทำให้ 係 (xì, ซี่) ถูกใช้ในความหมายของ 'หมวดวิชา', หรือ 'ภาควิชา' ในลักษณะที่เป็นหลักสูตรการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย และสามารถมีความหมายว่า 'ระบบ', หรือ 'ระเบียบ' ได้อีกต่างหาก ซึ่งก็คงจะแผลงมาจาก 'ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน' นั่นเอง

疾 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'

อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) เคยถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของ 'ชื่อบท' ในบทที่เก้า ซึ่งหมายถึง 'สถานที่เก็บรักษา', 'โรงเลี้ยง', 'โรงเพาะ', 'การเลี้ยงดู' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ปศุสัตว์', หรือ 'สัตว์เลี้ยง' ; ซึ่งความหมายดังกล่าวจะแผลงมาเป็น 'การทำให้ค่อยๆ เติบโต', หรือ 'การสะสมให้พอกพูน' ได้ด้วย

臣 อ่านว่า chén (เฌิ๋น) สามารถแปลว่า 'ทหาร', 'ขุนนาง' และอาจหมายถึง 'ข้าราชบริพาร (เพศชาย)' หรือ 'ข้าทาสบริวาร (เพศชาย)' ได้ด้วย ... บางครั้งจึงมีการใช้คำนี้เป็น 'สรรพนาม (เพศชาย)' แทนตัวของผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำกว่าด้วย

妾 อ่านว่า qiè (เชี่ย) สามารถแปลว่า 'ข้าราชบริพาร (เพศหญิง)' หรือ 'ข้าทาสบริวาร (เพศหญิง)' ... บางครั้งยังหมายถึง 'หญิงที่ถูกลงทัณฑ์' หรือ 'ภรรยาน้อย', 'ภรรยารอง' ซึ่งมีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำกว่าภรรยาหลวงนั่นเอง

ตรวจทานกับหลายตำราแล้วก็ไม่ยังค่อยถูกใจกับคำแปลอื่นๆ ซักเท่าไหร่ เพราะผม 'ตีความ' ให้กับวรรคนี้ว่า 'ความมีอุเบกขา (係遯 คือรู้จักยับยั้งชั่งใจ) ต้องกระทำด้วยความเด็ดขาดชัดเจน (有疾厲 มีความตรงไปตรงมา ไม่ละล้าละลัง) การดูแล (畜) ไพร่พลบริวาร (臣妾) จึงจะสำเร็จประโยชน์ (吉)' ... ซึ่งจริงๆ มันก็คงจะ 'ตีความ' กันได้หลายความหมายพอสมควรล่ะครับ แต่ผมตัดสินใจเลือกความหมายที่ค่อนข้างจะกลางๆ และกลมกลืนกันได้กับวลีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง

คืองี้ครับ ... 係遯 (xì dùn, ซี่ตุ้น) นั้นเกือบทุกตำราจะให้ความหมายประมาณว่า 'การถอยห่างจากสิ่งเย้ายวน' หรือ 'การตัดใจจากสิ่งกระตุ้นกิเลส' ซึ่งก็อาจจะหมายถึง 'อำนาจด้านมืด' หรือ 'สิ่งยั่วยวนทางกิเลส' ประเภทลาภยศสรรเสริญที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะใฝ่ฝันถึงนั่นแหละ โดยการพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความยุ่งยากลำบาก (有疾厲) ... ดังนั้น จึงควรจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตอยู่กับข้าทาสบริวารเฉพาะของตัวน่าจะดีซะกว่า (畜臣妾吉) ... ประหนึ่งว่า 'การเป็นเซียนอยู่หลังดอย ยังดีกว่าการเป็นคนถ่อยที่มั่งคั่ง' ... ประมาณนั้น ... ซึ่งผมมองว่ามันขัดๆ ความรู้สึกชอบกล ??!! ... :D

ประการแรกเลยก็คือ หากคนดีๆ พากันหนีเข้าป่าไปแสวงหาความวิเวก แล้วปล่อยให้สังคมมนุษย์เหลือไว้แต่คนถ่อยที่ไร้การศึกษา ... นั่นน่าจะเรียกว่า 'การหนีปัญหา' มากกว่า 'การเยียวยาเพื่อความเจริญ' ... เพราะสรรพความรู้ และหลักปฏิบัติใดๆ ที่ถูกค้นพบ หรือได้รับการค้นคว้าเอาไว้ย่อมสูญหายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย โดยปราชญ์ขี้แหยที่เห็นแก่ตัวเหล่านั้น จะพากันหนีบใส่จักกะแร้เพื่อพาลงหลุมไปพร้อมๆ กับการละสังขารของตัวเองทันที !!! ... ซึ่งข้อแนะนำอย่างสิ้นคิดประเภทนี้ ไม่เคยปรากฏอยู่ตรงส่วนใดเลยของ 'คัมภีร์อี้จิง' ... ความหมายดังที่ว่านั้นจึงขัดหูขัดตาพอสมควร ... :P

ประการต่อมาก็คือ หากเราย้อนกลับไปดูถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกันซึ่งยกมาจากบทที่เก้า เราจะเห็นความหมายของ 'การรู้จักข่มกลั้น' ที่ King Wen สื่อเอาไว้ว่า 'การดำเนินงานให้ลุล่วง (亨) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนดั่งการรวมตัวกันของละอองน้ำเพื่อจะกลายเป็นเมฆฝน (密雲) ย่อมไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเพียงเม็ดฝน (不雨) ที่ไร้ความหมาย แต่จะต้องรู้จักถนอมรักษาตัว (自我西郊) จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแก่การเป็นสายฝน จึงจะสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง' ... ในขณะที่ King Wen พยายามเอ่ยถึง 'การรู้จักควบคุมตัวเอง' ไว้ในบทที่ยี่สิบเอ็ด ว่า 'การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจน (亨) จะต้องมีความเฉียบขาด (利) และบังคับใช้ (用) กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด (獄) ด้วยหลักการ และเหตุผลที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง' ... ทั้งสองลักษณะดังกล่าวก็คือความหมายของ 係遯 (xì dùn, ซี่ตุ้น) ที่เห็นในวรรคนี้นั่นเอง

คำว่า 係遯 (xì dùn, ซี่ตุ้น) จึงไม่ใช่ลักษณะของการหนีเข้าป่า หรือการหลบหน้าไปจากสังคม แต่มันคือ 'การรู้จักยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งที่รัดรึงทางอารมณ์' ไม่ว่าจะเป็นความชอบ, ความชัง, หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ... แต่ความหมายของคำว่า 'การยับยั้งชั่งใจ' ก็ยังอาจจะไม่ค่อยตรงประเด็นซะทีเดียว เพราะสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อนั้นไม่ใช่เรื่องของ 'การละทิ้ง' หรือ 'การตัดใจไม่เหลียวแล' แต่ประเด็นที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อก็คือ 'การรู้จักปล่อยวางอย่างกลางๆ โดยใช้หลักแห่งธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน' ซึ่งคำว่า 'อุเบกขา' น่าจะตรงความหมายที่สุดในกรณีที่ว่านี้ ... การเป็นผู้รู้จักประมาณตน มีความถ่อมเนื้อถ่อมตัว ไม่คุยโม้โอ้อวด กับการหลบลี้หนีหน้าเข้าป่าไปเป็นทาร์ซานจึงต่างความหมายกันอย่างลิบลับ ... ผู้ที่ถือเอาความพอเหมาะพอดีแห่งการกระทำเป็นที่ตั้ง รู้จักเจียม รู้จักถ่อม แต่ไม่เคยหดหัวให้กับสิ่งเหลวไหลนั้นต่างหาก จึงควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูให้อยู่ในฐานะของผู้นำที่แท้จริง !!

ในการปกครองไพร่พลบริวาร (畜臣妾) ก็เช่นกัน ผู้นำที่ดีย่อมปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความกลางๆ ทางอารมณ์ โดยไม่นำประเด็นของความสัมพันธ์ส่วนตัว (係) เข้าไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความดี-ชั่ว-ถูก-ผิดใดๆ ... 'ความมีอุเบกขา' (係遯) ของผู้นำย่อมทำลายเงื่อนไขแห่งการเมืองภายในองค์กรลงไปได้อย่างราบคาบ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ... แต่เราก็รู้กันอยู่ว่า ประเด็นที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 'จิวกง' จึงเลือกใช้คำว่า 有疾厲 (yǒu jí lì, โหฺย่ว จี๋ ลี่) ที่แฝงความหมายว่า 'มีความลำบากฉิบหาย' มากำกับเอาไว้ ... :D ... ในขณะที่ได้ซ่อนความหมายของ 'มีความตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน' เอาไว้ด้วย เพื่อขับเน้นให้เห็นความหมายของ 係遯 (xì dùn, ซี่ตุ้น) ว่า เมื่อเหมาะสมที่จะส่งเสริมก็ส่งเสริม เมื่อเหมาะสมที่จะตำหนิยับยั้งก็ตำหนิยับยั้ง เมื่อเหมาะสมที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น โดยไม่อิดออดลังเลเพราะความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันใดๆ ทั้งสิ้น ... นี่ก็คือ 'ความมีอุเบกขาของผู้นำ' ที่เอื้อประโยชน์แก่การดูแลไพร่พลบริวาร (畜臣妾吉)

 

สี่ หยาง :

好遯君子吉小人否
hào dùn jün zǐ jí xiǎo rén pǐ
เฮ่า ตุ้น จฺวิน จื่อ จี๋ เสี่ยว เญิ๋น ผี่


อักษร 好 ถ้าออกเสียงว่า hǎo (เหฺฮ่า อ่านไม่เหมือน 'เห่า' นะครับ เพราะออกเสียงเป็นเสียงเอกของอักษร 'ฮ' น่าจะใกล้เคียงกว่า) จะแปลว่า 'ดี', 'ยอดเยี่ยม' ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ประเภทเดียวกับ good, well, fine, หรือ nice อะไรประมาณนั้น ; แต่ถ้าออกเสียงว่า hào (เฮ่า) จะหมายถึง 'ชอบ', 'นิยม' หรือ 'ทำจนเป็นนิสัย' บางครั้งจึงแปลว่า 'บ่อยๆ', หรือ 'มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้'

ส่วน 否 (pǐ, ผี่) นั้นเคยเล่าไว้เมื่อตอนที่ใช้เป็น 'ชื่อเรียก' ของบทที่สิบสองว่า ความหมายตาม 'ภาพอักษร' คือ 'การเอ่ยปากปฏิเสธ', 'ไม่ยอมรับ' โดยจะอ่านออกเสียงว่า fǒu (โฝ่ว) … แต่หากอ่านออกเสียงว่า pǐ (ผี่) จะหมายถึง 'ความชั่วร้าย', 'ความอัปโชค', 'อุปสรรค', 'ขัดขวาง', 'กีดขวาง' ; บางทีก็ใช้ในความหมายของ 'ขรุขระ', 'ไม่ราบรื่น', 'ไม่ราบเรียบ', 'อัปลักษณ์', หรือ 'น่าเกลียด' … เมื่อใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'ปฏิเสธ', 'ไม่ยอมรับ', หรือ 'ขัดขวาง'

ถ้าวลีนี้ถูกบันทึกไว้โดดๆ เราก็น่าจะ 'ตีความ' ให้ 好遯 (hào dùn, เฮ่า ตุ้น) หมายถึง 'ฝักใฝ่ในความสันโดษ' หรืออาจจะเป็นพวก 'ชอบปลีกวิเวก' โดยพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่การที่มันถูกบันทึกไว้ให้เป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่สาม ความหมายของวลีนี้จึงน่าจะหมายถึง 'การหมั่นสำรวจเพื่อประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ (好遯) คือหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความเจริญเยี่ยงปราชญ์ (君子吉) ในขณะที่ชนชั้นสามัญ (小人) มักจะเห็นเป็นเรื่องยุ่งยากที่ไม่อาจยอมรับ (否)' ... ในทางหนึ่ง 'จิวกง' คงต้องการจะขยายความให้กับคำว่า 有疾厲 (yǒu jí lì, โหฺย่ว จี๋ ลี่) ในวรรคที่สามว่า 'ความเด็ดขาดชัดเจน' ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำลงไปอย่างลวกๆ โดยไม่พิจารณาให้รอบด้าน เนื่องจากคำว่า 疾厲 (jí lì, จี๋ ลี่) ในบางครั้งก็สามารถแปลว่า 'รีบเร่งร้อนรน' หรือ 'ลุกลี้ลุลลน' ได้เหมือนกัน ... ดังนั้น การนำคำว่า 好遯 (hào dùn, เฮ่า ตุ้น) มาใช้ในความหมายของ 'การประเมินตนเองจนเป็นนิสัย' ก็เพื่อกำหนดกรอบให้ 有疾厲 (yǒu jí lì, โหฺย่ว จี๋ ลี่) มีความหมายแคบลงไปเหลือแค่ 'มีความเด็ดขาดชัดเจน' เพียงกรณีเดียวนั่นเอง

 

ห้า หยาง :

嘉遯貞吉
jiā dùn zhēn jí
เจีย ตุ้น เจิน จี๋


嘉 อ่านว่า jiā (เจีย) มีความหมายประมาณว่า 'สวยงาม', 'ดีงาม', 'ประณีต', 'เรียบร้อย', 'ยอดเยี่ยม' ; และ 'มีความสุข' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ยกย่อง', 'ชมเชย'

มาถึง 'คู่วลี' ของวรรคที่สองแล้วล่ะครับ เราจึงน่าจะนำวรรคที่สองทั้งวรรคมาพิจารณาควบคู่ไปพร้อมๆ กันอีกครั้ง ซึ่ง 'จิวกง' เลือกถ้อยคำมาบันทึกไว้ในวรรคดังกล่าวว่า 執之用黃牛之革莫之勝說 (zhí zhī yòng huáng niú zhī gé mò zhī shèng shuō, จื๋จือ โยฺว่ง ฮว๋าง นิ๋ว จือ เก๋อ ม่อ จือ เษิ้ซัว) โดยผมให้ความหมายไว้ว่า 'ผู้ที่แน่วแน่ในหลักปฏิบัติแห่งความประมาณตน (執之) ย่อมครองตนด้วยหลักแห่งคุณธรรม (用黃牛之革 เสมือนหนึ่งการสวมเกราะแห่งคุณธรรม) ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักประมาณตน (莫之) ย่อมมุ่งแต่จะคุยโวโอ้อวด (勝說)' ... ซึ่งน่าจะต้องสอดประสานกันด้วยถ้อยคำว่า 'การครองตนอยู่ในวัตรปฏิบัติที่ประณีตงดงามแห่งหลักคุณธรรม (嘉遯) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (貞吉)' ...

หรือหากเราจะมองในอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้จักยั้งคิดต่อคำสรรเสริญเยินยอ (嘉遯) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (貞吉)' ... อย่างนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะผู้ที่มีความถ่อมตนในกมลสันดาน ย่อมไม่ตื่นเต้นยินดีจนหลงระเริงแม้จะได้รับคำยกย่องเชิดชูใดๆ (執之用黃牛之革) ในขณะที่ผู้ไม่รู้จักประมาณตน (莫之) ย่อมเห็นเป็นโอกาสที่จะคุยโวโอ้อวด (勝說) ทันที ... :)

 

หก หยาง :

肥遯無不利
féi dùn wú bù lì
เฟ๋ย ตุ้น อู๋ ปู้ ลี่


肥 อ่านว่า féi (เฟ๋ย) ปรกติจะแปลว่า 'อ้วนท้วน', 'สมบูรณ์', 'เจ้าเนื้อ', หรือ 'อุดมด้วยไขมัน' ; บางครั้งยังแปลว่า 'มีความอุดมสมบูรณ์', หรือ 'แข็งแรง' (ในแง่ของสุขภาพ ไม่ใช่พละกำลัง) ; และสามารถที่จะหมายถึง 'เจริญพันธุ์' หรือ 'มีศักยภาพในการขยายผลผลิต' ได้ด้วย ; ... ภาพอักษรเดิมของ 肥 (féi, เฟ๋ย) มาจากการผสมภาพอักษร 肉 (ròu, โญ่ว) ที่แปลว่า 'เนื้อ' กับ 卪 (jiè, เจี๋ย) ที่หมายถึง 'การแบ่งเป็นส่วนๆ' ... ความหมายดั้งเดิมของ 肥 (féi, เฟ๋ย) จึงหมายถึง 'การแบ่งเนื้อออกเป็นส่วนๆ เพื่อไม่ให้ใหญ่ หรือเยอะจนเกินไป' ซึ่งในที่สุดก็แผลงมาเป็น 'ความเจ้าเนื้อ' หรือ 'ความอุดมสมบูรณ์' ในปัจจุบัน ... ; แต่บางครั้งก็ยังสามารถใช้ในความหมายว่า 'ทรัพย์สินที่จัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ' ได้ด้วย

นี่คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่หนึ่งล่ะครับ โดยวรรคที่หนึ่งของ 'จิวกง' ในแต่ละบทมักจะสะท้อนความหมายบางอย่างมาจากวลีเปิดประเด็นของ King Wen เสมอ ... ดังนั้น ผมขอยกมาเทียบเคียงกันอย่างชัดๆ ตรงนี้อีกครั้ง ...

King Wen บันทึกเปิดประเด็นของ 'ความรู้จักประมาณตน' ในบทนี้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า 亨小利貞 (hēng xiǎo lì zhēn, เฮิง เสี่ยว ลี่ เจิน) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'การดำเนินงานให้ลุล่วงด้วยความเข้าใจ (亨) รู้จักใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างระมัดระวัง (小利) และมีการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสม (貞)' ...

จากนั้น 'จิวกง' ก็ขานรับด้วยถ้อยคำว่า 遯尾厲勿用有攸往 (dùn wěi lì wù yòng yǒu yōu wǎng, ตุ้น เหฺว่ย ลี่ อู้ โยฺว่ง โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) หรือ 'จงประเมินตนเองให้ต่ำ (遯尾) และทุ่มเทความพยายามให้จงหนัก (厲) แม้จะไม่อวดโอ่แสดงตน (勿用) จะช้าหรือเร็วย่อมต้องมีผลที่ปรากฏเสมอ (有攸往)' ... นี่ก็คือการแสดงออกถึง 'ความระมัดระวัง', 'ความวิริยะอุตสาหะ', และ 'ความรู้จักกาละ-เทศะ'

ถ้าจะว่ากันตามความหมายของถ้อยคำแวดล้อมที่ยกมาให้เห็นนี้ เราน่าจะได้ความหมายสั้นๆ แค่ว่า 'การประเมินตนด้วยความพอประมาณ (肥遯) ย่อมไม่ปรากฏสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง (無不利)' ... ซึ่งความหมายจริงๆ ก็คือ 'การประเมินกำลังของตนอย่างพอเหมาะแก่สัดส่วนขั้นตอนของภาระกิจที่จะดำเนินงาน (肥遯) ย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะไม่สำเร็จ (無不利)' นั่นเอง !!!

ในทางหนึ่ง ผมมองว่า 肥 (féi, เฟ๋ย) น่าจะหมายถึง 'ภาระกิจที่หนักหน่วง' หรือ 'ภาระกิจที่ใหญ่โตเกินกำลัง' ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับข้อคิดทั้งหมดของ 'คัมภีร์อี้จิง' เป็นอย่างมาก หากทั้ง King Wen และ 'จิวกง' จะพยายามแนะนำให้ 'ถอย', 'หนี' หรือ retreat อย่างที่หลายๆ ตำราใช้เป็น theme หลักของบทนี้ ??!! ... ทั้งๆ ที่ King Wen เลือกใช้คำว่า 亨 (hēng, เฮิง) เพื่อสื่อถึง 'การทำความเข้าใจ' และ 小利 (xiǎo lì, เสี่ยวลี่) ที่มีความหมายว่า 'ทุ่มเทอย่างระมัดระวัง' มาเป็นคำขยายความให้กับ 遯 (dùn, ตุ้น) ที่เป็น 'ชื่อบท'

การประเมินตัวเองให้ต่ำ (遯尾) และทุ่มเทความพยายามให้มาก (厲) ตามความหมายของ 'จิวกง' จึงควรจะหมายถึง การจัดสรรสัดส่วน และขั้นตอนของการปฏิบัติงานให้พอเหมาะแก่กำลังของตน (肥遯) เพื่อจะสามารถดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ต้องหักโหมจนเกินตัว (勿用) อันเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ในบั้นปลาย (有攸往) อย่างปราศจากข้อผิดพลาด (無不利) ที่ร้ายแรงใดๆ ... 遯 (dùn, ตุ้น) จึงไม่ใช่บทที่ว่าด้วย 'การถอยร่น', หรือ 'การถอนตัว'  อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นบทที่ว่าด้วย 'ความมีสติยั้งคิด' เพื่อจะดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยไม่จำเป็นต้องหักโหมทุ่มเทเพียงเพราะอยากจะอวดโอ่ความสำเร็จของตัวเองให้มีความโดดเด่นเหนือกว่าใครๆ ... ทำไมก็ไม่รู้ !!??... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ตุ้น' คือ ความรู้จักประมาณตน, สงบนิ่งดุจขุนเขาใต้นภา

'ความรู้จักประมาณตน' คือ การดำเนินงานให้ลุล่วงด้วย 'ความเข้าใจ' รู้จักใช้ 'ความวิริยะอุตสาหะ' อย่าง 'ระมัดระวัง' และมีการปฏิบัติอย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' ที่ 'ถูกต้อง' และ 'เหมาะสม'

  •  
  • จง 'ประเมินตนเองให้ต่ำ' และ 'ทุ่มเทความพยายามให้จงหนัก' แม้จะ 'ไม่อวดโอ่แสดงตน' จะช้าหรือเร็วย่อมต้องมีผลที่ปรากฏเสมอ
  •  
  • ผู้ที่ 'แน่วแน่' ในหลักปฏิบัติแห่ง 'ความประมาณตน' ย่อมครองตนด้วย 'หลักแห่งคุณธรรม' ส่วนผู้ที่ 'ไม่รู้จักประมาณตน' ย่อมมุ่งแต่จะ 'คุยโวโอ้อวด'
  •  
  • ความมี 'อุเบกขา' ต้องกระทำด้วย 'ความเด็ดขาดชัดเจน' การดูแลไพร่พลบริวารจึงจะ 'สำเร็จประโยชน์'
  •  
  • 'การหมั่นสำรวจ' เพื่อ 'ประเมินตนเอง' อย่าง 'สม่ำเสมอ' คือหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ 'ความเจริญ' เยี่ยง 'ปราชญ์' ในขณะที่ 'ชนชั้นสามัญ' มักจะเห็นเป็นเรื่องยุ่งยากที่ไม่อาจยอมรับ
  •  
  • 'การครองตน' อยู่ใน 'วัตรปฏิบัติที่ประณีตงดงาม' แห่ง 'หลักคุณธรรม' ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'การประเมินกำลังของตน' อย่าง 'พอเหมาะ' แก่ 'สัดส่วนขั้นตอน' ของ 'ภาระกิจ' ที่จะดำเนินงาน ย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะไม่สำเร็จ


 

The Organization Code :



'ความรู้จักประมาณตน' คือ 'การดำเนินนโยบาย' (☰) บนพื้นฐานของ 'ข้อเท็จจริง' (☶) ; 'ระดับนโยบาย' ต้องมีความเปิดกว้าง (⚏) เพื่อรับฟังข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอแนะอื่นๆ จาก 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับปฏิบัติการ' ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแข็งขัน (⚌)

ทุกๆ องค์กรล้วนต้องมีวัฏจักรที่พัฒนาจาก 'การเริ่มต้น' ไปสู่ 'ความรุ่งเรือง' และย่อมมีโอกาสที่จะย้อนกลับจาก 'ความรุ่งเรือง' ไปสู่ 'ความเสื่อมถอย' ด้วยกันทั้งนั้น ... 'ความหลงลำพอง' ใน 'ความสำเร็จแห่งอดีต' ย่อมเป็นบ่อเกิดสำหรับ 'ความเสื่อมถอยในอนาคต' ... 'การดำเนินงาน' ด้วย 'ความเข้าใจ' และ 'รู้จักปรับตัว' ให้เหมาะสมต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 'อย่างระมัดระวัง' ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปในแต่ละวัฏจักรอย่างมั่นคง

  •  
  • 'ความรุ่งเรืองแห่งอดีต' มิใช่ปัจจัยที่จะสามารถกำหนด 'ความสำเร็จแห่งอนาคต' ; สิ่งที่พึงปฏิบัติคือ 'ลำพองตนให้น้อย-ทุ่มเทความพยายามให้มาก' ; 'ประเมินตนเองให้ต่ำ-มีความระมัดระวังให้สูง' เยี่ยงนี้ ต่อให้ไม่ต้องคุยโวโอ้อวด ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ในบั้นปลาย
  •  
  • ผู้ที่ 'เข้าใจ' ใน 'วัฏจักรแห่งความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอย' ย่อมประพฤติปฏิบัติตนด้วย 'ความรอบคอบระมัดระวัง' ; ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจใน 'ธรรมชาติแห่งวัฏจักร' ดังกล่าว มักจะหลงลำพองกับอดีตที่รุ่งโรจน์ และอวดโอ่ความยิ่งใหญ่ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
  •  
  • 'ความรู้จักปล่อยวาง' และ 'ความวางเฉย' ต่อสถานการณ์ใดๆ ย่อมแตกต่างจากการปล่อยปละละเว้นการปฏิบัติ เนื่องเพราะ 'ความมีอุเบกขา' ย่อมหมายถึง 'การตัดสินใจ' และ 'การลงมือปฏิบัติ' อย่างมี 'กรอบเกณฑ์ที่เด่นชัด' บนพื้นฐานของ 'ข้อเท็จจริง' โดย 'ไม่ยึดโยง' อยู่กับ 'อารมณ์' หรือ 'ความรู้สึกส่วนตัว' ใดๆ ... 'การปกครองบริวาร' อย่างประสบผลสำเร็จ 'ผู้นำที่ดี' ย่อมต้องปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย 'ความกลางๆ ทางอารมณ์' โดยไม่นำประเด็นของ 'ความสัมพันธ์ส่วนตัว' เข้าไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความดี-ชั่ว-ถูก-ผิดใดๆ
  •  
  • 'ความตื่นตัว' ต่อ 'ความเปลี่ยนแปลง' และ 'การหมั่นสำรวจ' เพื่อ 'ประเมินตัวเอง' อย่าง 'สม่ำเสมอ' ย่อมนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' เยี่ยง 'ปราชญ์ผู้รอบรู้' ... ในขณะที่ 'ชนชั้นสามัญ' มักยินดีที่จะมืดบอด โดยเห็นการปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยากที่ไม่อาจยอมรับ
  •  
  • 'การดำเนินงาน' ด้วย 'ความละเอียดรอบคอบ' ตั้งมั่นอยู่บน 'ความไม่ประมาท' ย่อมโน้มนำให้ประสบกับ 'ความสำเร็จ' ได้เสมอ
  •  
  • ทุก 'ภาระกิจ' ที่จะดำเนินการนั้น ล้วนต้องสามารถ 'จัดสรรให้เป็นสัดเป็นส่วน' และมี 'ขั้นตอนในการปฏิบัติ' ที่เหมาะสมเสมอ ... 'ภาระกิจ' ที่แม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด ล้วนต้องสามารถดำเนินการไปทีละส่วนๆ จนสำเร็จลุล่วงได้ในที่สุด สำคัญที่ต้อง 'รู้จักประมาณกำลังของตน' ให้พอเหมาะพอสมกับแต่ละขั้นตอนของ 'ภาระกิจ' ที่มุ่งหวัง และ 'ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน' ด้วย 'ความระมัดระวัง'


เราต้องยอมรับว่า บ่อยครั้งที่ 'ความมีสติยั้งคิด' กับ 'การหลีกหนี' มักจะถูก 'ตีความ' ให้คล้ายคลึงกันในหลายๆ แง่มุม เช่นเดียวกับ 'ความปล่อยวาง' หรือ 'การวางเฉย' ที่มักจะถูก 'ตีความ' ให้เหมือนกับ 'การไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง' ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างมาก ... ซึ่งคำว่า 遯 (dùn, ตุ้น) ที่ King Wen นำมาใช้เป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากหลายๆ ตำรามักจะ 'ตีความ' จากพื้นฐานที่มี 'อคติ' ต่อ 'พลังแห่งหยิน' ว่าเป็น 'พลังฝ่ายต่ำ' ที่กำลังเติบกล้าจน 'พลังแห่งหยาง' ควรจะเลือก 'หลีกหนีไปให้ไกล' (䷠) อันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าเชื่อ !!???

แต่การที่หลายๆ ตำรา 'ตีความ' ให้บทที่สามสิบสามนี้ แสดงถึง 'การเติบโตของพลังแห่งหยิน' โดยอาศัย 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' (䷠) เป็นเกณฑ์ใน 'การตีความ' นั้นคือประเด็นที่ 'น่าสนใจมาก' เพราะในขณะที่ตำราเหล่านั้นมักจะทึกทักเอาเองว่า 'กึ่งกลาง' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' อยู่ตรงบทที่ยี่สิบเก้า และบทที่สามสิบ การเริ่มต้นของ 'ครึ่งหลัง' ก็น่าจะอยู่ตรงบทที่สามสิบเอ็ดมากกว่าที่จะเป็นบทที่สามสิบสามอันเป็น 'จุดวกกลับของพลังแห่งหยิน' ดังที่เห็นอยู่นี้ ... นี่ก็คือประเด็นที่ 'ตีความ' แล้วขัดแย้งกันเอง !!?? ... ;)

ในขณะที่ 'การตีความ' ตามแบบฉบับของ ZhuqiChing ที่มอง 'คัมภีร์อี้จิง' ทั้งฉบับว่าเป็น 'การหมุนวน' สลับกันไปมาของ 'วัฏจักรหยิน-หยาง' โดยมีบทที่หนึ่ง และบทที่สองแทน 'บทนำ' และมีบทที่หกสิบสาม และบทที่หกสิบสี่เป็น 'บทสรุป' นั้น ... 'กึ่งกลางคัมภีร์' ย่อมต้องอยู่ตรงบทที่สามสิบสอง ซึ่งเป็นบทสิ้นสุดของ 'วัฏจักรที่สาม' สำหรับ 'พลังแห่งหยาง' พอดี และถือว่าเป็น 'พัฒนาการขั้นสูงสุด' ของ 'พลังแห่งหยาง' ในแต่ละวัฏจักรด้วย โดยทั้ง King Wen และ 'จิวกง' จะประสานเสียงกันแนะนำไว้อย่างหนักแน่น ณ ตำแหน่งดังกล่าวของ 'พลังแห่งหยาง' ว่า 'อย่าหลงลำพอง' เสมอ !!!

... ตรงนี้จึงเห็นได้ว่า 'ความรู้จักประมาณตน' เป็นความหมายที่มี 'ความต่อเนื่อง' มาจาก 'ความคงเส้นคงวา' ของบทที่สามสิบสองอย่างลงตัวพอดี ... และนี่ก็คือการเริ่มต้น 'วัฏจักรที่สาม' ของ 'พลังแห่งหยิน' อันเป็นจุดเริ่มต้นของ 'ครึ่งหลัง' แห่ง 'คัมภีร์อี้จิง' อย่างแท้จริง ... บทที่สามสิบสามจึงไม่ใช่บทที่ว่าด้วย 'การถอยหนี' แต่เป็นบทที่ว่าด้วย 'การดำเนินไปข้างหน้าอย่างมีสติยั้งคิด' ต่างหาก !!?? ... ;)