Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十一卦 : 噬嗑

噬嗑 : 火雷噬嗑 ‧ 離上震下

噬嗑 : 亨‧利用獄‧

  • 初九 ‧ 履校滅趾‧無咎‧
  • 六二 ‧ 噬膚滅鼻‧無咎‧
  • 六三 ‧ 噬臘肉‧遇毒‧小吝‧無咎‧
  • 九四 ‧ 噬乾胏‧得金矢‧利艱貞‧吉‧
  • 六五 ‧ 噬乾肉‧得黃金‧貞厲‧無咎‧
  • 上九 ‧ 何校滅耳‧凶‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สดชื่น (⚍) ; สติปัญญา และการแสดงออก มีความยับยั้งชั่งใจ (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' มีความ 'ชัดเจน-หนักแน่น' (⚍); 'แผนงาน' และ 'การปฏิบัติงาน' มีความ 'แข็งขัน-ระมัดระวัง' (⚎)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การอดกลั้น, เสียงคำรามใต้กองเพลิง



ความหมายของชื่อเรียก : Acquiescing : การอดกลั้น


ชื่อเรียกของบทนี้เล่นเอามึนเหมือนกันครับ เพราะอักษร 嗑 นั้นจะอ่านได้ 2 แบบคือ hé (เฮ๋อ) เหมือนกับ 盍 (hé, เฮ๋อ) ซึ่งเล่าไว้ในบทที่สิบหกว่าหมายถึง 'อะไร?', 'ทำไม?' คล้ายกับคำว่า 何 (hé, เฮ๋อ) ; แต่ก็มีบางกรณีที่ใช้ในความหมายเดียวกับ 合 (hé, เฮ๋อ) ที่แปลว่า 'รวมกัน', 'อยู่ร่วมกัน', 'ผนวกเข้าด้วยกัน' ; แต่ถ้าออกเสียงว่า kè (เค่อ) มันจะแปลว่า 'คำพูด', 'พูดคุย', แต่เป็น 'การพูดคุย' ในลักษณะของ 'การซุบซิบ' ซะมากกว่า เพราะอีกความหมายหนึ่งของมันคือ 'การขบกัด' หรือ 'การแทะ' ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่จะต้อง 'ขบฟันเข้าหากัน'

ส่วนอักษรตัวแรกคือ 噬 นั้นอ่านว่า shì (ษื้อ) มีความหมายว่า 'กัด', 'งับเข้าหากัน', ซึ่งบางครั้งก็แผลงไปเป็น 'ขบเคี้ยว' และ 'จิกด้วย (จะงอย) ปาก', 'ฮุบ' หรือ 'ฉก' เพื่อที่จะ 'กิน' หรือว่า 'กลืนกิน' ... ซึ่งอักษร 噬 (shì, ษื้อ) เองก็เกิดจากการผสมตัว 口 (kǒu, โข่ว) ที่หมายถึง 'ปาก' กับ 筮 (shì, ษื้อ) ที่เคยเล่าไว้ในบทที่แปดว่า มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของ 'โชคชะตา', 'การทำนายทายทัก' ; และ 'พ่อมด-หมอผี' ... เมื่อผสมกันจึงมีความหมายคล้ายๆ กับ 'ปากที่ท่องบ่นคาถา' หรืออะไรประมาณนั้น ซึ่งปรกติก็จะงึมๆ งำๆ ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะปากมัน 'หุบติดกัน' ซะเป็นส่วนใหญ่ ... :D

แทบทุกตำราจะแปล 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้ว่า Biting Through ซึ่งก็จะออกมาในแนวของ 'การขบกัด' แทบทั้งนั้น ... แต่ก็มีบางตำราที่แปลไว้ว่า Strugling คล้ายกับ 'การทุ่มเท' อย่าง 'อึดทน' ... ไม่ใช่แค่ 'อดทน' นะครับ เพราะมันจะออกแนว 'ปากกัดตีนถีบ' กันพอสมควร ... :P ... แต่ถ้าเปิดดูความหมายจากพจนานุกรมทั่วๆ ไป คำว่า 噬嗑 (shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) นี้มักจะถูกแปลกันว่า 'พูดมาก' หรือ 'จู้จี้ขี้บ่น' ราวกับ 'มีคำพูดมากมายอัดแน่นอยู่ในปาก' ประมาณนั้น ??!! ... :D ... แต่ถ้าดูตาม 'ภาพสัญลักษณ์' (䷔) เราก็จะเห็น 'ความสั่นสะเทือน' (☳ หมายถึง 'ฟ้าร้อง') ถูก 'เผาไหม้' อยู่ใต้ 'กองไฟ' (☲) ซึ่งเป็น 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ไม่ค่อยจะน่าอภิรมย์ซักเท่าไหร่ เพราะมันสะท้อนความรู้สึกที่ต้อง 'กล้ำกลืนฝืนทนอย่างสาหัสสากรรจ์' เลยทีเดียว !!!!

เอาใหม่ ... ถ้าผมทดลองย้อนไปใช้ 'สูตรเดิม' ในการ 'ถอดความ' ... ความหมายของบทที่ยี่สิบเอ็ดก็น่าจะต้องเกี่ยวพันกับวรรคที่หนึ่งของ 'จิวกง' ในบทที่สอง และต้องโยงใยกับความหมายในวลีของ King Wen ที่ให้ไว้ในบทที่เก้าด้วย ... เพราะฉะนั้น เรามาดูซิว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างใน 'การหมุนวนของพลังหยิน' ในรอบที่แล้ว ... ;)

วรรคที่หนึ่งของบทที่สองบันทึกไว้อย่างนี้ครับ 履霜堅冰至 (lǚ shuāng jiān bīng zhì, หลฺวี่ ซวง เจียน ปิง จื้อ) ซึ่งผมแปลเอาไว้ว่า 'คุณงามความดีคล้ายดังเกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะร่วนซุย แต่หากมีการสั่งสมถมทับอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดย่อมกลับกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่ง'

พอมาเป็นวลีของ King Wen เองในบทที่เก้า เนื้อความที่ถูกบันทึกไว้ก็คือ 亨密雲不雨自我西郊 (hēng mì yún bù yǔ zì wǒ xī jiāo, เฮิง มี่ ยฺวิ๋น ปู้ หยฺวี่ จื้อ หฺว่อ ซี เจียว) และถูก 'ถอดความ' ออกมาเป็น 'การดำเนินงานให้ลุล่วงอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ย่อมประหนึ่งการก่อตัวของเมฆฝนที่จะไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเพียงละอองอย่างไร้ความหมาย แต่จะต้องรู้จักถนอมรักษาตัวเอง จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแก่การเป็นสายฝน จึงจะสามารถอำนวยความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพสิ่ง'

แล้วถ้าทันสังเกตกัน ผมก็มักจะแปลคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ว่า 'ไม่ปริปากบ่น', 'ไม่ตัดพ้อต่อว่า' หรือ 'ไม่ก่นคำสาปแช่ง' นอกจากในบางกรณีที่จะแปลว่า 'ไม่เกิดข้อผิดพลาด' บ้างเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าในบทนี้ 'จิวกง' ใช้คำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ถึง 4 วรรคจาก 6 วรรคด้วยกัน ... ;) ... และเมื่อเราประมวลความหมายของคำเท่าที่มีอยู่ ผนวกกับเนื้อความส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกันทั้งหมดแล้ว ความหมายของคำว่า 噬嗑 (shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) ก็คงเป็นอย่างอื่นไปได้ยากล่ะครับ นอกจากจะต้องหมายถึง 'การอดกลั้น' เท่านั้น ... โดยผมเลือกใช้คำภาษาอังกฤษว่า Acquiescing เพื่อจะใช้ 'รากศัพท์' เดียวกับคำว่า quiet ที่แปลว่า 'เงียบ' ให้สมกับ 'การกล้ำกลืนคำพูดเอาไว้ในปาก' หรือ 'การหุบปาก (噬) ให้สนิท (嗑)' ด้วยซะเลย !!? ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨利用獄
hēng lì yòng yǜ
เฮิง ลี่ โยฺว่ง ยฺวี่


獄 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) มีความเป็นมาของ 'ภาพอักษร' ที่เอาเรื่องพอสมควร เพราะมันเป็นภาพของ 'สุนัขสองตัว' 㹜 (yín, อิ๋น) ที่ถูกขั้นกลางด้วย 言 (yán, เอี๋ยน) ที่แปลว่า 'คำพูด' มันจึงมีความหมายเหมือนกับ 'สุนัขสองตัวเห่าใส่กัน' หรือ 'สุนัขสองตัวคำรามใส่กัน' ... :P ... เมื่อนำมาใช้เป็นคำกริยาทั่วๆ ไปมันจึงหมายถึง 'โต้เถียง' หรือ 'ปะทะคารม' แต่มักจะใช้ในกรณีของ 'การโต้เถียง' ในชั้นศาล มันจึงแปลว่า 'การให้ปากคำ', 'การแก้ต่าง', หรือ 'การยืนยันข้อเท็จจริง' ... และเมื่อเป็นเรื่องที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล บางครั้งมันจึงหมายถึง 'การฟ้องร้อง', 'การลงโทษ', 'การควบคุม', 'การคุมขัง' และหมายถึง 'คุก' หรือ 'สถานกักกัน' ไปด้วยเลย ... ซึ่งในลักษณะของ 'สถานกักกัน' ก็จะมีเรื่องของ 'การเฝ้าระวัง', 'การรักษาความปลอดภัย' เข้าไปเกี่ยวข้อง

และเมื่อ 獄 (yǜ, ยฺวี่) หมายถึง 'การแก้ต่าง' หรือ 'การยืนยันความจริง' ในชั้นศาล มันก็เลยมีความหมายว่า 'ข้อเท็จจริง' หรือ 'หลักฐาน' ไปด้วย บางครั้งก็เลยแปลว่า 'น่าเชื่อถือ' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'ความจริง', 'ความแน่นอน', หรือ 'ความหนักแน่น' ของ 'หลักฐาน' ที่นำมาชี้แจงกัน ... ในขณะที่ 'ความน่าเชื่อถือ' ของระบบตุลาการก็คือ 'ความซื่อสัตย์', 'ความยุติธรรม' หรือ 'ความเที่ยงธรรม' ที่จะต้อง 'ไม่มีความเอนเอียง' ไปในทางที่ผิดเสมอ

ผมมองว่าความหมายของ 獄 (yǜ, ยฺวี่) ในวลีนี้ของ King Wen ได้ครอบคลุมไปหมดทุกเรื่องของ 'หยิน' เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 'ความอดทน-อดกลั้น', 'ความมั่นคงในหลักคุณธรรม', 'ความมีกรอบประพฤติที่ดีงาม', 'ความซื่อตรงต่อหลักการ', 'ความไม่ปากมากขี้บ่น', และ 'ไม่นิยมการต่อล้อต่อเถียงอย่างไร้การศึกษา' ... ซึ่งแม้ว่าจะมีความแตกต่างจาก 'การถูกจับกุมคุมขัง' หรือ 'การถูกควบคุมความประพฤติ' แต่ในแง่ของ 'อิสรภาพ' แล้วก็ต้องถือว่ามี 'ข้อจำกัด' มากมายจน 'ไม่สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้ตามอำเภอใจ' จริงๆ ...

ความหมายของวลีนี้จึงน่าจะหมายถึง 'การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจน (亨) จะต้องมีความเฉียบขาด (利) และบังคับใช้ (用) กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด (獄) ด้วยหลักการ และเหตุผลที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง' ... โดยเฉพาะ 'ความเข้มงวดกับตนเอง' จึงจะทำให้ความหมายของ 利用獄 (lì yòng yǜ, ลี่ โยฺว่ง ยฺวี่) ของบทที่ยี่สิบเอ็ดนี้ไปสอดคล้องกับความหมายของวลีที่ว่า 密雲不雨自我西郊 (mì yún bù yǔ zì wǒ xī jiāo, เฮิง มี่ ยฺวิ๋น ปู้ หยฺวี่ จื้อ หฺว่อ ซี เจียว) ในบทที่เก้าอย่างสมบูรณ์



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

履校滅趾無咎
lǚ jiào miè zhǐ wú jiù
หลฺวี่ เจี้ยว เมี่ย จื่อ อู๋ จิ้ว


ดูเหมือน 'จิวกง' จะใช้คำว่า 履 (lǚ, หลฺวี่) เป็นร่องรอยสำคัญให้บทที่ยี่สิบเอ็ดนี้ไปเกี่ยวพันกับวรรคแรกในบทที่สองเลยทีเดียว ;) เพราะนอกจากการใช้คำนี้เพื่อขยายความให้กับ 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบทที่สิบของ King Wen แล้ว 'จิวกง' ก็ไม่ได้ใช้คำนี้ในบทอื่นๆ ก่อนหน้านี้อีกเลย (แต่จะมีการใช้คำนี้ในอีก 2 บทเท่านั้นคือบทที่สามสิบ และบทที่ห้าสิบสี่ ซึ่งจะเล่าในโอกาสต่อไป)

履 (lǚ, หลฺวี่) แปลว่า 'รองเท้า', 'เท้า', 'ย่ำเท้า', 'ย่างเท้า', 'ก้าวเดิน', 'เขตแดน', 'ดำเนินไป', 'ประสบการณ์', 'ปฏิบัติการ', หรือ 'ดำเนินการ' ... ซึ่งในบทที่สอง 'จิวกง' ใช้ในวลีว่า 履霜 (lǚ shuāng, หลฺวี่ วง) ซึ่งหมายถึง 'การถมทับกันของเกร็ดหิมะ'

校 ในวลีนี้น่าจะอ่านว่า jiào (เจี้ยว) เพราะควรจะแปลว่า 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', 'พิสูจน์' หรือ 'กำกับ', 'ควบคุม', และยังสามารถใช้ในความหมายของ 'เปรียบเทียบ' หรือ 'ประลอง' หรือ 'ทดสอบ' ได้ด้วย ; แต่ถ้าออกเสียงว่า xiào (เซี่ยว) จะหมายถึง 'โรงเรียน', 'สถานฝึกอบรม' หรืออาจจะหมายถึง 'ครูฝึก' หรือ 'ผู้ฝึกสอน'

滅 อ่านว่า miè (เมี่ย) แปลว่า 'กำจัด', 'ทำลาย', 'ทำให้หมดไป', บางครั้งจึงแปลว่า 'หายไป', 'หมดไป', 'มอดไหม้ไป' หรือ 'เปลี่ยนแปลงไป' ; ในความหมายว่า 'ทำให้หมดไป' บางครั้งก็หมายถึง 'ใช้จนหมด', 'ใช้อย่างเต็มที่', หรือ 'ทำให้ถึงที่สุด'

趾 อ่านว่า zhǐ (จื่อ) แปลว่า 'เท้า', 'หัวแม่เท้า', หรือว่า 'รอยเท้า' ซึ่งบางทีก็อาจจะหมายถึง 'ร่องรอย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ฐานราก' ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย

บทนี้ 'จิวกง' เล่นเอามึนเหมือนกันแฮะ ... :D ... เนื่องจากความหมายของถ้อยคำเท่าที่ปรากฏอยู่นั้นมันสามารถดิ้นออกไปได้หลากหลายพอสมควร ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า 'จิวกง' แก 'จงใจ' ที่จะให้เป็นอย่างนั้นรึเปล่า ?!? ... โดยสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ 'การจำกัดขอบเขตของเนื้อความ' หรือ 'กำหนดกรอบ' ให้เจาะจงอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งลงไปเท่านั้น ... ซึ่งถ้าเป็น 'ความตั้งใจ' แบบนั้นจริงๆ มันก็จะสะท้อนความหมายของ 利用獄 (lì yòng yǜ) ที่ King Wen ใช้ในวลีเปิดประเด็นของบทนี้ทันที !!?

ถ้าเราอ้างอิงกับถ้อยคำของ King Wen ที่บอกว่า 'ความอดกลั้น' ก็คือ 'การดำเนินงานให้เกิดความชัดเจน ซึ่งต้องมีความเฉียบขาด และมีการบังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด' (亨利用獄) ความหมายในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็น่าจะหมายถึง 'ต้องเน้นย้ำ (履) ที่การตรวจสอบความถูกต้อง (校) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้า (滅趾) แต่ก็จะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎) ใดๆ' ... ซึ่งความหมายที่ว่านี้ก็จะไปสอดคล้องกับวรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทที่สองที่บันทึกเปรียบเปรยไว้ว่า 'เกร็ดน้ำแข็งที่สั่งสมถมทับ ย่อมกลายเป็นปึกน้ำแข็งที่แน่นหนา' (履霜堅冰至) และมีความหมายที่รับกันพอดีกับถ้อยคำของ King Wen ในบทที่เก้าที่เอ่ยถึง 'เมฆฝนรวมตัวแต่ไม่ด่วนโปรยปราย' อันสะท้อนความหมายของ 'การถนอมตัวเพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม' (自我西郊) ... โดยทั้งหมดนี้ก็จะต้องอาศัย 'ความเข้มงวดในกฎเกณฑ์' (獄) ที่ King Wen บันทึกไว้ในบทนี้เป็น 'เงื่อนไขสำคัญ' (利用) ของ 'การดำเนินงาน' ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ 'ถูกต้อง' และ 'ชัดเจน' (亨) ... เป๊ง ... ลงตัว !! ... :D

 

สอง หยิน :

噬膚滅鼻無咎
shì fū miè bí wú jiù
ษื้อ ฟู เมี่ย ปี๋ อู๋ จิ้ว


噬 (shì, ษื้อ) ปรกติจะแปลว่า 'กัด', 'จิก', 'ฉก', 'แทะ', และหมายถึง 'กิน' หรือ 'กลืนกิน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'งับเอาไว้', หรือ 'ปกปิดเอาไว้' ... แต่การใช้งานในบทนี้ซึ่งมี 'ชื่อบท' ว่า 噬嗑 (shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) คำว่า 噬 (shì, ษื้อ) ที่เห็นในวรรคนี้จึงน่าจะซ่อนความหมายเต็มๆ ของ 噬嗑 (shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) เอาไว้มากกว่าที่จะถูกใช้เป็นคำโดดๆ เหมือนปรกติ ... มันจึงควรจะแปลว่า 'การไม่ปริปาก', 'การไม่บ่น', 'การไม่ตัดพ้อต่อว่า', 'การไม่ร่ำร้องโอดครวญ' ซึ่งก็คือ 'การอดกลั้น' นั่นแหละครับ ;)

膚 อ่านว่า fū (ฟู) แปลว่า 'ผิวหนัง', 'เปลือก' หรือ 'สิ่งที่ห่อหุ้ม' ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'ตื้นๆ', 'ผิวเผิน', 'ไม่ลึกซึ้ง' หรืออาจจะหมายถึง 'สิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ' ; และในบางกรณีก็แปลว่า 'อ่อนนุ่ม' ด้วย

鼻 อ่านว่า bí (ปี๋) โดยทั่วไปจะแปลว่า 'จมูก' ... แต่อักษรดั้งเดิมของคำนี้ก็คือ 自 (zì, จื้อ) ที่แปลว่า 'ตนเอง' ซึ่งยังสามารถใช้เป็นคำแปลหนึ่งของ 鼻 (bí, ปี๋) แม้ในสมัยปัจจุบัน ... เมื่อนำอักษร 自 (zì, จื้อ) ไปผสมกับอักษร 畀 (bì, ปี้) ที่แปลว่า 'การให้', หรือ 'การตอบแทน' จึงกลายมาเป็น 鼻 (bí, ปี๋) ซึ่งมีความหมายตาม 'รากศัพท์' เดิมของมันเองว่า 'การรับและการให้แก่ตนเอง' ... ก่อนที่จะแผลงมาเป็น 'การหายใจเข้า-ออก' หรือ 'ลมหายใจ' และกลายมาเป็น 'จมูก' อย่างที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันนี้

ถ้าอ่านวลีนี้ผ่านๆ ก็อาจจะทำให้หลายคนนึกถึง 'การแล่เนื้อเถือจมูก' กันเลยทีเดียว :D ... แต่มันจะ 無咎 (wú jiú, อู๋ จิ้ว) อีท่าไหนนี่ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ เพราะต่อให้ 'ไม่ปริปากบ่น' มันก็คงต้อง 'ส่งเสียงร้อง' กันมั่งแล้วล่ะ !! ... :P ... บางตำราก็แปลวลีนี้ว่า 'กัดเนื้อนุ่มๆ จนฝังจมูกลงไป' ในลักษณะที่น่าจะเรียกว่า 'การกินมูมกินมาม' นั่นแหละ ... ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันจะ 無咎 (wú jiú, อู๋ จิ้ว) ตรงไหนได้อีกเหมือนกัน ??!! ... ;) ... เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องเลือก 'ตีความ' เอาจาก 'ความหมายข้างเคียง' ของอักษรแต่ละตัวนั้นซะใหม่ว่า 'ความอดกลั้น (噬) ต่อปัญหาเล็กน้อย (膚 คือไม่สลักสำคัญ) โดยไม่ทอดถอนใจ (滅鼻) ย่อมปราศจาก (無) ข้อตำหนิติเตียน (咎) ทั้งปวง'

ถ้าถามผมว่ามันหมายถึงอย่างที่ว่านี้จริงๆ มั้ย ?! ... ผมก็ไม่รู้หรอกครับ !!? ... :D ... แต่ผมมองว่า มันเป็น 'การตีความ' ที่สมเหตุสมผลกับเนื้อความตั้งต้นของ King Wen และกลมกลืนกับถ้อยคำของ 'จิวกง' เองในบทนี้มากกว่า ... เท่านั้นเอง ... เพราะ 'ความอดมนอดกลั้น' ชนิดที่ 'ไม่ปริปากบ่น' ออกมานั้น ควรจะต้องครอบคลุมถึง 'การเก็บความรู้สึก' โดยไม่แสดงออกทาง 'อายตนะอื่นๆ' ด้วย ... ไม่ใช่ว่า 'หุบปากสนิท' แต่กลับแสดง 'ความไม่พอใจ' ด้วย 'การมองค้อนประหลับประเหลือก' หรือ 'ถอนหายใจแรงๆ' ... ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะ 'ไม่มีการปริปากบ่น' แต่ก็ต้องถือว่า 'ไม่เก็บอารมณ์' หรือ 'ไม่มีความอดกลั้น' อยู่ดี ... ;)

 

สาม หยิน :

噬臘肉遇毒小吝無咎
shì là ròu yǜ dú xiǎo lìn wú jiù
ษื้อ ล่า โญ่ว ยฺวี่ ตู๋ เสี่ยว ลิ่น อู๋ จิ้ว


臘 อ่านว่า là (ล่า) มีความหมายว่า 'หมักด้วยเกลือ' และ 'ตากแห้ง' ; ในสมัยก่อนยังใช้เป็นชื่อเรียกเทศกาลเฉลิมฉลองเพื่อบูชาเทพเจ้าในเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีนด้วย

肉 อ่านว่า ròu (โญ่ว) ซึ่งปรกติแปลว่า 'เนื้อ' ... มันจึงทำให้ 臘肉 (là ròu, ล่า โญ่ว) ถูก 'ตีความ' ให้เป็น 'เนื้อหมักเกลือ', 'เนื้อตากแห้ง', หรือ 'เนื้อเค็ม' แทบจะทุกตำราเลยทีเดียว ... ทำราวกับว่า 'คัมภีร์อี้จิง' เป็น 'ตำราอาหาร' ซะอย่างงั้นแหละ ... :D

ความจริงคำว่า 肉 (ròu, โญ่ว) นอกจากจะหมายถึง 'เนื้อสัตว์' แล้ว มันก็ยังสามารถหมายถึง 'เนื้อคน' หรือ 'เนื้อหนังมังสา' ของสิ่งต่างๆ ได้อีกสารพัด ไม่ว่าจะเป็น 'เนื้อผลไม้', 'เนื้อใน', 'เนื้อแท้', หรือ 'เนื้อวัสดุ' ... เรียกว่าเป็น 'สาระสำคัญ' ของสิ่งที่กำลังเอ่ยถึงนั่นเลยก็ได้ ... แล้วเมื่อมองในมุมของ 'ความอดทน' และ 'ความอดกลั้น' แล้ว คำว่า 臘肉 (là ròu, ล่า โญ่ว) ก็อาจจะหมายถึง 'เนื้อตัวที่อาบเหงื่อต่างน้ำ' ซึ่งก็มีรสชาติที่เค็มๆ ได้เหมือนกัน ... ว่างั้นมั้ยล่ะ ?! :D

遇 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ประสบ', 'พบ', 'เจอ', หรือ 'โอกาส'

毒 อ่านว่า dú (ตู๋) ปรกติแปลว่า 'พิษ', 'มีพิษ', 'มีภัย', 'โหดร้าย' ; และทำให้มันสามารถแปลว่า 'คับแค้นใจ', 'อึดอัดใจ', 'ขัดเคืองใจ' ในลักษณะที่ 'เป็นพิษทางอารมณ์' ด้วย ;) ... แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า dài (ไต้) มันจะมีความหมายว่า 'เปลือก' หรือ 'กระดอง' ของเต่า หรือสิ่งมีชีวิตบางชนิด ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันภัยนั่นเอง

ส่วน 吝 (lìn, ลิ่น) ก็แปลว่า 'จำกัดจำเขี่ย', 'ขี้เหนียว', หรือ 'น่าอาย' ซึ่งเล่าไปบ้างแล้วในบทก่อนๆ ว่า มันอาจจะหมายถึง 'ความสูญเสีย' ได้ด้วย เพราะมีความหมายของ 'การใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ' ซ่อนอยู่ในนั้น

ผมเลือกที่จะ 'ตีความ' วรรคนี้ว่า 'การอดทน (噬) ต่อความเหนื่อยยากทางกาย (臘肉 คือเนื้อตัวที่หมักด้วยเหงื่อ) แม้ว่าจะต้องพบกับ (遇) อุปสรรคที่คับข้องใจ (毒) อยู่บ้าง ก็เป็นเพียงข้อจำกัดเล็กๆ น้อยๆ (小吝) เท่านั้น ไม่ใช่ (無) ปัญหา (咎) แต่ประการใดทั้งสิ้น'

ตรงวรรคนี้ผมขอเสริมไว้อีกหน่อยแล้วกัน ... ผมอยากให้เราเข้าใจ 'ความแตกต่าง' ระหว่าง 'ข้อจำกัด' กับ 'ปัญหา' ซึ่งหลายคนมักจะสับสนว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน ??!! ... โดยในคำแปลนี้ผมแยกให้ 吝 (lìn, ลิ่น) ที่แปลว่า 'จำกัดจำเขี่ย' นั้นแทนความหมายของ 'ข้อจำกัด' และแยกให้ 咎 (jiù, จิ้ว) ที่แปลว่า 'ข้อผิดพลาด' นั้นแทนความหมายของ 'ปัญหา' ... การที่เราต้อง 'ทน' กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น บางครั้งมันก็เป็นเรื่องของ 'ข้อจำกัด' ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเรื่องที่ 'แก้ไขไม่ได้' แต่ต้องหาวิธีการที่จะ 'ก้าวข้ามมัน' ออกไป ... อย่างเช่นการบินไม่ได้ของมนุษย์ ... มันเป็นเรื่องของ 'ข้อจำกัด' ทางธรรมชาติ ไม่ใช่ 'ปัญหา' ที่ใครคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบในการแก้ไขมัน เพราะว่ามัน 'แก้ไขไม่ได้' แต่เราสามารถ 'ก้าวข้ามข้อจำกัด' นี้ไปได้โดยอาศัยเทคโนโลยีอื่น ในขณะที่มนุษย์ก็ยังคงบินไม่ได้ตาม 'ข้อจำกัด' เดิมนั้นเสมอ ... ส่วน 'ปัญหา' เป็นกรณีที่แตกต่างออกไป เพราะ 'ปัญหา' ทุกอย่างคือสิ่งที่สามารถ 'แก้ไขได้' เสมอ ส่วนจะแก้ไขแล้วออกมาดีหรือไม่ดี จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร เหล่านั้นก็เป็นประเด็นที่จะต้องคิด และลงมือปฏิบัติจนกว่าจะ 'แก้ปัญหา' หนึ่งๆ ให้ลุล่วงไป ... 'ข้อจำกัด' จึงเป็นสิ่งที่เราไม่พึงไปเคร่งเครียดกับมัน เพราะถึงยังไงมันก็ 'แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้' อยู่วันยังค่ำ ... ส่วน 'ปัญหา' ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องไปเคร่งเครียดกับมันเหมือนกัน เพราะถึงยังไงมันก็ต้องมี 'วิธีแก้ไข' ได้เสมอ แต่อยู่ที่เราจะค้นหามันเจอหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ;)

 

สี่ หยาง :

噬乾胏得金矢利艱貞吉
shì gān zǐ dé jīn shǐ lì jiān zhēn jí
ษื้อ กัน จื่อ เต๋อ จิน ษื่อ ลี่ เจียน เจิน จี๋


乾 ตัวนี้น่าจะต้องออกเสียงว่า gān (กัน) แล้วนะครับ ไม่ใช่ qián (เชี๋ยน) อย่างที่เคยเล่าเอาไว้ ... เวลาที่คำนี้ออกเสียงว่า gān (กัน) มักจะแปลกันว่า 'แห้ง', 'ตากแห้ง' ; แต่ความหมายแรกๆ ที่มักจะพบเห็นในพจนานุกรมก็คือ 'เรียกร้อง', 'ร้องขอ' และรวมไปถึง 'การต่อต้าน' เพื่อ 'เรียกร้อง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมักจะมีแง่มุมของ 'ความรุนแรง' เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะมันก็ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียกของ 'อาวุธโบราณชนิดหนึ่ง' ; สำหรับในแง่ของ 'การเรียกร้อง' หรือ 'การต่อต้าน' ที่ว่านี้ มันก็ถูกแผลงความหมายต่อมาเป็น 'การตรากตรำ' ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 'การทำงาน' หรือ 'การต่อสู้' ... แล้วเมื่อมันเป็นเรื่องของ 'การตรากตรำอย่างหนัก' มันก็เลยมีความหมายว่า 'เหือดแห้ง' หรือ 'แห้ง' เป็นความหมายต่อมา

胏 ถ้าออกเสียงว่า zǐ (จื่อ) จะแปลว่า 'ซากที่เหือดแห้ง' โดยมันจะมีลักษณะของ 'เนื้อที่แห้งติดกระดูก' มากกว่าที่เป็น 'เนื้อเค็ม' เหมือนกับ 臘肉 (là ròu, ล่า โญ่ว) ที่เล่าไปแล้ว แต่ความหมายที่หลายๆ คนคุ้นเคยก็จะใช้ในลักษณะเดียวกับ 肉 (ròu, โญ่ว) ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยเหมือนกันซักเท่าไหร่ ; แต่ถ้าอ่านว่า fèi (เฟ่ย) จะมีความหมายเดียวกับ 肺 (fèi, เฟ่ย) ที่แปลว่า 'ปอด' ซึ่งเป็น 'อวัยวะสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต' จึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ห้องเก็บสมบัติ'

得 (dé, เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

金 อ่านว่า jīn (จิน) ส่วนมากก็จะแปลว่า 'ทองคำ' แต่ความหมายจริงๆ ของมันจะหมายถึง 'โลหะมีค่า' ซึ่งประกอบด้วย ทองคำ, เงิน, ทองแดง, เหล็ก, และตะกั่ว หรือสังกะสี เรียกรวมๆ กันว่า 五金 (wǔ jīn, อู่ จิน) ... เมื่อมันหมายถึง 'โลหะมีค่า' มันจึงแผลงความหมายเป็น 'ทรัพย์สิน' และ 'ความร่ำรวย' ได้ด้วยเหมือนกัน

矢 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) แปลว่า 'ลูกดอก', 'ลูกธนู' ; แต่ความหมายอื่นของมันคือ 'รุนแรง', 'เฉียบขาด', 'เถนตรง', 'คำพูดที่ตรงไปตรงมา' และเพี้ยนไปเป็น 'คำสาบาน' ซึ่งอาจจะมาจากการนำ 'คมหอกคมดาบ' หรือ 'คมอาวุธ' มาวางแช่ไว้ใน 'น้ำสาบาน' นั่นเอง ; แต่ความหมายที่เพี้ยนหนักจริงๆ ของคำนี้ในสมัยโบราณก็คือ 'ขี้' หรือ 'สิ่งปฏิกูล' (屎 : shǐ, ษื่อ) ตามร่างกายของสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 'ขี้หู', 'ขี้ตา', 'ขี้มูก' หรือ 'ขี้ฟัน' ตลอดจน 'ขี้' ที่เป็น 'อุจจาระ' ด้วย ... แหวะ !!! ... :D

艱 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'ยาก', 'ลำบาก', 'ทุกข์ยาก' และบางครั้งก็ยังแปลว่า 'อันตราย' ได้ด้วย

แทบทุกตำราแปลวรรคนี้ไว้ว่า 'กินเนื้อตากแห้ง ได้รับลูกดอกเหล็ก จงมีความอดทน จะประสบโชค' ??!!!??? ... อ่านแล้วรู้สึกว่า 'น่าแปลใหม่' มั้ยล่ะ ??!! :D

ผมมองของผมอย่างนี้ครับ ... ในเมื่อวรรคที่สามนั้น 'จิวกง' เอ่ยถึง 臘肉 (là ròu, ล่า โญ่ว) ที่ผมไม่ยอมแปลว่า 'เนื้อเค็ม' :P แต่ผมบอกว่านั่นคือ 'ความเหนื่อยยากทางกาย' เพราะมันคือ 'การอาบเหงื่อต่างน้ำ' ... ความหมายของ 乾胏 (gān zǐ, กัน จื่อ) ในวรรคนี้จึงน่าจะสาหัสยิ่งกว่า เพราะมันน่าจะหมายถึง 'ตรากตรำจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก' นู่น ;) ... แล้วจู่ๆ คนเรามันจะยอมตายถวายชีวิตเพื่ออะไรได้มั่งล่ะ ?! ... มันก็ต้องไม่ใช่เพื่อ 'ลูกดอกเหล็ก' อยู่แล้วล่ะครับ !!? ... เพราะแม้ว่าคนเราอาจจะยอมทนลำบากลำบนเพื่อลาภยศชื่อเสียงกันอยู่บ้าง แต่ถ้าถึงขั้น 'ยอมตาย' ล่ะก้อ ... มันต้องเพื่อ 'อุดมการณ์อันสูงส่ง' เท่านั้น !!! ... คำว่า 金矢 (jīn shǐ, จิน ษื่อ) ในที่นี้จึงไม่ควรจะแปลว่า 'ลูกดอกเหล็ก' หรือ 'ลูกดอกทอง' (อุ๊ย!!) ... :D ... แต่มันจะต้องหมายถึง 'คำปฏิญาณที่ทรงคุณค่าอย่างสูงสุด' เพียงสถานเดียว ... จริงๆ !!! ... ;)

ดังนั้น ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'การกัดฟันต่อสู้ (噬) ด้วยความตรากตรำอย่างหนัก (乾胏) เพื่อบรรลุถึง (得) อุดมการณ์อันสูงส่ง (金矢) นั้น จะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า (利) โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (艱貞) จึงจะประสบผลสำเร็จ (吉)' ... ซึ่งความหมายนี้ก็จะต่อเนื่องกับวรรคที่สามทันที ... ในเมื่อ 'จิวกง' มองว่า 'ความเหนื่อยยากทางกายเป็นเพียงอุปสรรคเล็กน้อย' ภาระกิจที่ต้องอาศัย 'ความมีน้ำอดน้ำทน' ที่ยิ่งใหญ่กว่าก็คือ 'การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์อันสูงส่ง' ซึ่งตามความหมายของบทนี้ก็คือ 'การต่อสู้เพื่อความถูกต้อง' นั่นเอง ;)

 

ห้า หยิน :

噬乾肉得黃金貞厲無咎
shì gān ròu dé huáng jīn zhēn lì wú jiù
ษื้อ กัน โญ่ว เต๋อ ฮฺว๋าง จิน เจิน ลี่ อู๋ จิ้ว


ไม่ได้มีคำใหม่ใดๆ ในวรรคนี้เลยนะครับ แต่ผมอยากเล่าย้อนความหมายของ 貞厲 (zhēn lì, เจิน ลี่) ที่เคยปรากฏให้เห็น 3 ครั้งก่อนที่จะมาถึงบทที่ยี่สิบเอ็ดนี้

ครั้งแรกอยู่ในวรรคที่สามของบทที่หก : 食舊德貞厲終吉或從王事無成 (shí jiù dé zhēn lì zhōng jí huò cóng wáng shì wú chéng, ซื๋อ จิ้ว เต๋อ เจิน ลี่ ง จี๋ ฮั่ว ช๋ง วั๋ง ษื้อ อู๋ เฌิ๋ง) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'จิตใจแม้นต้องแบกรับการบั่นทอน แต่ยังต้องเคร่งครัดต่ออุดมการณ์อย่างเหนียวแน่น  (貞厲) เนื่องด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ล้วนก่อเกิดจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น'

ครั้งที่สองอยู่ในวรรคที่หกของบทที่เก้า : 既雨既處尚德載婦貞厲月幾望君子征凶 (jì yǚ jì chù shàng dé zài fù zhēn lì yuè jī wàng jün zǐ zhēng xiōng, จี้ หยฺวี่ จี้ ฌู่ ษั้ง เต๋อ ไจ้ ฟู่ เจิน ลี่ เยฺวี่ย จี วั่ง จฺวิน จื่อ เจิง เซฺวิง) ในความหมายว่า 'ความไม่คงเส้นคงวาเหมือนฝนที่เดี๋ยวก็โปรยปรายเดี๋ยวก็แล้งร้าง ย่อมทำให้หลักปฏิบัติที่ควรจะยึดถือกลายเป็นหลักปฏิบัติที่ผิดเพี้ยน … ประหนึ่งภรรยาที่คุ้มดีคุ้มร้าย (貞厲) หรือเหมือนดั่งดวงจันทราที่เสี้ยวบ้างเต็มบ้าง … ต่อให้เป็นยอดคนที่แม้จะเก่งกาจปานใด แต่หากยังฝืนดันทุรังต่อไปด้วยอาการเยี่ยงนั้น ย่อมประสบกับความหายนะ'

ส่วนครั้งที่สามอยู่ในวรรคที่ห้าของบทที่สิบ : 夬履貞厲 (guài lǚ zhēn lì, ไกว้ หลฺวี่ เจิน ลี่) มีความหมายว่า 'หากไม่มีความมั่นคงในหลักแห่งธรรม ดำเนินการต่างๆ โดยปราศจากความเข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง กลับยึดถือปฏิบัติในด้านใดด้านหนึ่งจนสุดโต่ง (貞厲) ย่อมหลีกไม่พ้นภยันตรายที่จะติดตามมา'

ที่แปลไว้แตกต่างกันก็เพราะว่า 厲 (lì, ลี่) มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' มันจึงมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' ซึ่งถ้ามองในเชิงบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' จึงทำให้บางครั้งมันสามารถที่จะถูกแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' แล้วแผลงมาเป็น 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่ง ...

ความหมายในวรรคนี้จึงควรจะหมายถึง 'การกัดฟันสู้ (噬) ด้วยความลำบากตรากตรำ (乾肉) แม้จะมั่งคั่งด้วยลาภยศ (得黃金) ก็ยังต้องยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างเข้มงวด (貞厲) จึงจะไม่ก่อมลทินใดๆ ให้มัวหมอง (無咎)' ... หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะเป็น ... 'การกัดฟันสู้ (噬) ด้วยความลำบากตรากตรำ (乾肉) หากปราถนาให้ถึงพร้อมด้วยคุณค่าที่สูงส่งดั่งทองคำ (得黃金) พึงยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างเข้มงวด (貞厲) จึงจะไม่ก่อมลทินใดๆ ให้มัวหมอง (無咎)' ...

ขอขยายความคำว่า 黃金 (huáng jīn, ฮฺว๋าง จิน) ที่เห็นในวรรคนี้ซักหน่อยนะครับ คำนี้คงแปลเป็นอย่างอื่นได้ยากนอกจากจะหมายถึง 'ทองคำ' เท่านั้น ... แต่ความหมายของ 'ทองคำ' ในทัศนะของชาวจีนก็ยังอาจจะหมายถึง 'ความมั่งคั่ง' หรือ 'ความมีคุณค่าที่บริสุทธิ์ดั่งทองคำ' ก็ได้ ซึ่งผมมองว่า 'จิวกง' คงตั้งใจให้หมายถึง 'ความมั่งคั่ง' มากกว่า เพราะในแง่ของ 'ความบริสุทธิ์ดั่งทองคำ' นั้น น่าจะสามารถสื่อออกมาได้จากความหมายของ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่หมายถึง 'ปราศจากมลทิน' อยู่แล้ว ... แต่เพราะว่า 'ความมั่งคั่งด้วยลาภยศ' มักจะเป็นบ่อเกิดแห่ง 'ความเหลิงลำพอง' ใน 'อัตตา' ของผู้คนส่วนใหญ่ 'จิวกง' จึงต้องการจะตักเตือนไว้ก่อนว่า 'ต้องรักษาหลักแห่งธรรมอย่างเข้มงวด' (貞厲) เพื่อจะไม่ก่อเรื่อง 'เสื่อมเสีย' จนลบล้าง 'คุณงามความดี' ที่สู้อุตส่าห์ 'ตรากตรำ' มาตั้งแต่ต้น

ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะด้วยทัศนะของ 'จิวกง' ที่แสดงไว้นี้ย่อมหมายความว่า 'การตรากตรำ' ของทุกๆ คนย่อมต้องได้รับ 'ผลสนองที่ดี' สำหรับบุคคลนั้นๆ เสมอ ... แต่ 'ผลสนองที่ดี' นั้นจะเป็น 'คุณ' หรือ 'โทษ' ต่อผู้อื่น และสังคมโดยรวมหรือไม่อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกัน ... ผู้ที่ 'ขยันหมั่นเพียร' ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจที่ดีหรือไม่ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะ 'ประสบความสำเร็จ' ในด้านของ 'ทรัพย์สินเงินทอง' และ 'ลาภยศชื่อเสียง' ด้วยกันทั้งนั้น ... แต่มันจะมี 'คุณค่าความหมายที่แท้จริง' หรือไม่เพียงใดก็ต้องขึ้นอยู่กับ 'การครองตน' ของบุคคลผู้นั้นเป็นสำคัญ ... 'ความร่ำรวย' หรือ 'ความยากจน' จึงไม่ใช่ดัชนีชี้วัด 'ความดีงาม' ในทัศนะของ 'จิวกง' แต่ 'ความซื่อสัตย์มั่นคงในหลักแห่งธรรม' ต่างหากที่จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึง 'คุณค่าความหมายที่แท้จริง' ของมนุษย์ทุกๆ คน ... ซึ่งตรงจุดนี้ก็น่าจะนำไปสู่ประเด็นที่ว่า 黃金 (huáng jīn, ฮฺว๋าง จิน) อาจจะหมายถึง 'คุณค่าที่บริสุทธิ์ (金) แห่งหยิน (黃)' ... เพราะ 黃 (huáng, ฮฺว๋าง) ซึ่งเคยเล่าไว้แล้วในวรรคที่ห้าของบทที่สองว่า มันสามารถจะหมายถึง 'สีของธาตุดิน' หรือ 坤 (kūn, คุน) ซึ่งเปรียบได้กับ 'คุณธรรม' ดังนั้น ความหมายของวรรคนี้ก็อาจจะหมายถึง 'การกัดฟันสู้ (噬) ด้วยความลำบากตรากตรำ (乾肉) จะผดุงไว้ซึ่งคุณค่าที่บริสุทธิ์แห่งคุณธรรม (得黃金) ก็ต่อเมื่อมีความยึดมั่นในหลักปฏิบัติอย่างเข้มงวด (貞厲) โดยไม่ก่อมลทินใดๆ ให้มัวหมอง (無咎)' ... ซึ่งก็จะสะท้อนทัศนคติของ 'จิวกง' ในเรื่องของ 'ความมั่งคั่ง' ว่า 'ผู้มั่งคั่งในธรรมเท่านั้นจึงจะนับเป็นผู้ที่มั่งคั่งอย่างแท้จริง' ... ;)

 

หก หยาง :

何校滅耳凶
hé jiào miè ěr xiōng
เฮ๋อ เจี้ยว เมี่ย เอ่อ เซฺวิง


何 อ่านว่า hé (เฮ๋อ) เป็นคำภาษาจีนที่ใช้ในกรณีของการถามคำถาม ความหมายจะคล้ายกับ how, which, what, when, where, why ขึ้นอยู่กับว่าถูกนำไปใช้ในรูปประโยคแบบไหน ... จริงๆ ก็น่าจะเป็นเพียงคำพื้นๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ที่ผมหยิบยกขึ้นมาเล่าซ้ำก็เพราะว่า สำหรับบทนี้แล้ว นี่คือคำตัดสินว่า 'ชื่อบท' นี้ (噬嗑) ควรจะออกเสียงว่า shì hé (ษื้อ เฮ๋อ) หรือ shì kè (ษื้อ เค่อ) กันแน่ ??!! เพราะมีหลายตำราที่ระบุไว้แตกต่างกัน !!? ในขณะที่มันมีความหมายที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าเราจะออกเสียงของมันว่าอย่างไร ... โดย 噬嗑 ถ้าออกเสียงว่า shì hé (ษื้อ เฮ๋อ) ก็จะมีความหมายคล้ายๆ กับ 'การหุบปากให้สนิท' ... แต่ถ้าออกเสียงเป็น shì kè (ษื้อ เค่อ) ก็จะมีความหมายคล้ายๆ กับ 'การกลืนกินคำพูดลงไป' ... ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงลักษณะของ 'การอดกลั้น' ด้วยกันทั้งสองความหมาย ??!!

อย่างไรก็ตาม เมื่อผม 'ตีความ' ให้อักษร 噬 (shì, ษื้อ) ที่ถูก 'จิวกง' นำใช้มาตั้งแต่วรรคที่สอง จนถึงวรรคที่ห้านั้นว่าหมายถึง 噬嗑 อันเป็น 'ชื่อบท' ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่า 'จิวกง' น่าจะ 'จงใจ' ทิ้งร่องรอยสำคัญเอาไว้ตรงคำว่า 何 (hé, เฮ๋อ) ในวรรคที่หกนี้ ... 噬嗑 จึงน่าจะออกเสียงว่า shì hé (ษื้อ เฮ๋อ) โดยผมเลือกแปลว่า 'เก็บความรู้สึกให้มิดชิด' ซึ่งไม่ควรแสดงออกผ่าน 'อายตนะ' ใดๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นการแลบลิ้น, ปลิ้นตา, หรือถอนหายใจ, ฯลฯ !!! ... ;)

เราจะเห็นความเป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่หนึ่งกับวรรคี่หกในบทนี้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว โดยเป็นเพียงสองวลีที่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยอักษร 噬 (shì, ษื้อ) และเป็นสองวลีที่มีคำว่า 校 (jiào, เจี้ยว) เป็นประเด็นหลัก ถ้าเราเอามาเรียงต่อกันเราก็จะเห็นวลียาวๆ ว่า 履校滅趾無咎 . 何校滅耳凶 (lǚ jiào miè zhǐ wú jiù . hé jiào miè ěr xiōng, หลฺวี่ เจี้ยว เมี่ย จื่อ อู๋ จิ้ว . เฮ๋อ เจี้ยว เมี่ย เอ่อ เซฺวิง) ... และในเมื่อวรรคแรกผมให้ความหมายไว้ว่า 'ต้องเน้นย้ำ (履) ที่การตรวจสอบความถูกต้อง (校) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้า (滅趾) แต่ก็จะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎) ใดๆ' ความหมายของวรรคที่หกก็จะหมายถึง 'แต่หากการยืนยันความถูกต้องใดๆ (何校) หมายถึงการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน (滅耳) ย่อมก่อมหันตภัยที่เลวร้าย (凶)'

จุดหักเหที่ผม 'ถอดความ' บทนี้จนไม่เหมือนกับตำราเล่มไหนๆ เลยก็คือ ผมเลือกให้ความหมายของ 滅趾 (miè zhǐ, เมี่ย จื่อ), 滅鼻 (miè bí, เมี่ย ปี๋) และ 滅耳 (miè ěr, เมี่ย เอ่อ) เป็นเพียง 'สัญลักษณ์ของการขาดหายไป' ของอวัยวะส่วนต่างๆ ที่เอ่ยถึง ... นั่นก็คือ ... 'ไม่มีเท้า' (滅趾) จะหมายถึง 'ไม่ก้าวหน้า' หรือ 'ไม่คืบหน้า' ; ส่วน 'ไม่มีจมูก' (滅鼻) จะหมายถึง 'ไม่มีการหายใจ' หรือ 'ไม่ถอนหายใจ' ; และ 'ไม่มีหู' (滅耳) จะหมายถึง 'ไม่มีการฟัง' หรือ 'ไม่ยอมรับฟัง' ... ในขณะที่ตำราอื่นๆ จะนำคำเหล่านี้ไปผูกติดกับคำว่า 獄 (yǜ, ยฺวี่) ที่ King Wen ใช้ในคำอธิบาย 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบท โดยให้ความหมายของ 獄 (yǜ, ยฺวี่) ไปในลักษณะของ 'การลงทัณฑ์' และทำให้คำว่า 滅 (miè) หมายถึง 'การกำจัด' หรือ 'การตัด' อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปตามลักษณะของ 'การลงทัณฑ์' ในยุคโบราณของจีน ... ซึ่ง ... ผมยอมรับไม่ได้ :D

เหตุผลประการแรกก็คือ หากเราพิจารณาความหมายให้เป็นไปในแนวทางของ 'การลงทัณฑ์' ... คำว่า 噬嗑 (shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) ที่ต่อให้แปลว่า 'การกัดกิน', หรือ 'ความอึดทน' ตามที่ตำราอื่นๆ ว่าเอาไว้ เนื้อความส่วนที่เหลือก็จะขาด 'ความต่อเนื่อง' จนกลายเป็นคนละเรื่องไปจนหมด ... และทำให้ 'ความเป็นยอดคน' ของ 'จิวกง' ถูกบั่นทอนคุณค่าลงไปอย่างมหาศาล เพราะมันจะสะท้อนความเป็น 'ผู้สนับสนุนกฎหมายที่รุนแรง' ทั้งๆ ที่มันขัดแย้งกับ 'การอบรมสั่งสอน' และ 'การส่งเสริมคุณธรรมความดี' อันเป็นข้อใหญ่ใจความของแนวคิดที่ 'จิวกง' ทุ่มเทวางรากฐานเอาไว้ให้กับวัฒนธรรมของชาวจีน ... ?!?!

เหตุผลประการที่สองก็คือ การพิจารณาให้ 噬嗑 (shì hé, ษื้อ เฮ๋อ) หมายถึง 'การอดกลั้นความรู้สึก' หรือ 'การควบคุมจิตใจ' ของ 'ตนเอง' นี้ จะมี 'ความต่อเนื่อง' กับเนื้อความที่ส่งทอดความหมายกันต่อๆ มาตั้งแต่วรรคแรกของบทที่สอง และความหมายที่ King Wen บรรยายไว้ในบทที่เก้า ซึ่งเป็นเรื่องของ 'ความมีระเบียบกฏเกณฑ์' ใน 'การครองตน' ทั้งหมด เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้ 'อยู่ในกรอบเกณฑ์ของความถูกต้องแก่กาละ-เทศะ' อันเป็น 'การระงับยับยั้งความหลงผิด' อันเกิดจาก 'ความเอาแต่ใจ' ของ 'ตนเอง' ... ซึ่งในวรรคนี้ 'จิวกง' ก็ยังตักเตือนในเรื่องของ 'ความหลงถูก' อันเป็นผลมาจาก 'ความยึดมั่นถือมั่น' เพียง 'ความคิดเห็นของตนเอง' จนถึงกับ 'ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น' (滅耳) ที่อาจจะแตกต่างออกไป โดยระบุว่ามันจะเป็นเหตุแห่ง 'ความฉิบหาย' (凶) ได้ด้วยเหมือนกัน ... ;)

สังเกตว่า 校 (jiào, เจี้ยว) ที่หมายถึง 'การตรวจสอบความถูกต้อง' หรือ 'การยืนยันในความถูกต้อง' นั้น ต้องถือว่าเป็น 'กลไกสำคัญ' ประการหนึ่งที่ King Wen บอกว่าเป็น 'สิ่งที่พึงปฏิบัติอย่างเข้มงวด' (利用獄) หากมุ่งหวังที่จะดำเนินงานให้เกิด 'ความก้าวหน้า' (亨) ซึ่งกลไกดังกล่าวก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ 'เรื่องที่น่าสนุก' อย่างแน่นอน ... โดย 'จิวกง' ได้สะท้อนความหมายในลักษณะที่เป็น 'อุปสรรค' จนอาจจะทำให้การดำเนินงานหลายๆ อย่าง 'ล่าช้า' หรือ 'ไม่คืบหน้า' ได้ในหลายๆ กรณี (滅趾) ... แต่ภายใน 'ความไม่คืบหน้า' นั้นเอง 'จิวกง' ก็แฝงความหมายของ 'ความไม่ถลำลึกลงไป' ใน 'ความไม่ถูกต้อง' ด้วยเหมือนกัน วรรคที่หนึ่งในบทนี้จึงถูกบันทึกให้ปิดวลีด้วยคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ... แต่หาก 'การพิสูจน์' หรือ 'การตรวจสอบ' นั้นๆ เป็นการปฏิบัติเพียงเพื่อจะ 'ต่อล้อต่อเถียง' โดย 'ไม่ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน' (滅耳) มันก็จะไม่เพียงแค่ทำให้ 'ไม่คืบหน้า' เท่านั้น แต่จะกลายเป็น 'พังทั้งแถบ' (凶) ไปเลย !!! ... เป็นการรับและส่งต่อความหมายกันได้อย่างน่าประทับใจมากๆ ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ษื้อเฮ๋อ' คือ การอดกลั้น, เสียงคำรามใต้กองเพลิง

การอดกลั้น คือ 'การมุ่งมั่นพัฒนา' ด้วย 'หลักปฏิบัติ' อย่าง 'เข้มงวด'

  •  
  • ต้อง 'เน้นย้ำ' ที่ 'การตรวจสอบความถูกต้อง' ซึ่งแม้ว่าจะเป็น 'อุปสรรค' ต่อ 'ความคืบหน้า' แต่ก็จะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ใดๆ
  •  
  • 'ความอดกลั้น' ต่อ 'ปัญหาเล็กน้อย' โดย 'ไม่ทอดถอนใจ' ย่อมปราศจาก 'ข้อตำหนิติเตียน' ทั้งปวง
  •  
  • 'การอดทน' ต่อ 'ความเหนื่อยยากทางกาย' แม้ว่าจะต้องพบกับ 'ความยุ่งยาก' ที่ 'คับข้องใจ' อยู่บ้าง ก็เป็นเพียง 'ข้อจำกัด' เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หาใช่ 'ปัญหา' แต่ประการใดไม่
  •  
  • 'การกัดฟันต่อสู้' ด้วย 'ความตรากตรำ' อย่างหนัก เพื่อบรรลุถึง 'อุดมการณ์อันสูงส่ง' นั้น จะต้องมี 'ความมุ่งมั่น' อย่างแรงกล้า โดย 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' จึงจะ 'ประสบผลสำเร็จ'
  •  
  • 'การกัดฟันสู้' ด้วย 'ความลำบากตรากตรำ' จะสามารถผดุงไว้ซึ่ง 'คุณค่าที่บริสุทธิ์' แห่ง 'คุณธรรม' ได้ ก็ต่อเมื่อมี 'ความยึดมั่น' ใน 'หลักปฏิบัติ' อย่าง 'เข้มงวด' โดย 'ไม่ก่อมลทิน' ใดๆ ให้ 'มัวหมอง'
  •  
  • 'การยืนยันความถูกต้อง' ใดๆ หากปราศจาก 'การยอมรับฟังความคิดเห็น' ซึ่งกันและกัน ย่อมก่อ 'มหันตภัย' ที่ 'เลวร้าย'



 

The Organization Code :



'ความอดกลั้น' คือการดำรงไว้ซึ่ง 'เป้าหมาย' และ 'อุดมการณ์' ที่ 'เด่นชัด' ใน 'ระดับนโยบาย' และดำเนินการด้วย 'ความมุ่งมั่น-อดทน' (⚍) ; 'การบริหารงาน' จะต้องมี 'จิตใจที่เปิดกว้าง' แต่ 'เข้มงวดกวดขัน' ใน 'ระบบระเบียบ' ที่ถูกต้องแก่กาละ-เทศะ (⚎) ; 'การปฏิบัติงาน' จะต้องมี 'บรรทัดฐาน' ที่ 'คงเส้นคงวา' และมี 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'แข็งขัน' ต่อภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย (⚎)

เมื่อจะดำเนินงานในลักษณะที่ใช้ 'สินค้า' (☲) นำ 'การตลาด' (☳) หรือใช้ 'การตลาด' (☳) สนับสนุนค้ำชู 'สินค้า' (☲) ย่อมต้องอาศัย 'ความมานะ-อดทน' ต่อ 'อุปสรรคที่ยุ่งยาก' นาๆ ประการ จึงจะสามารถ 'พัฒนาตลาด' ให้แก่ 'สินค้า' หนึ่งๆ ได้อย่าง 'ประสบผลสำเร็จ'

  •  
  • 'การทบทวนตรวจสอบ' เพื่อ 'ความถูกต้อง' ทั้งในแง่ของ 'คุณภาพ' และแนวทางใน 'การปฏิบัติงาน' แม้ว่าจะทำให้ 'การดำเนินงาน' มี 'ความยุ่งยากซับซ้อน' และอาจจะเป็น 'อุปสรรค' ต่อ 'ความคล่องตัว' ใน 'การปฏิบัติงาน' แต่ก็จะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ที่อาจจะ 'ร้ายแรง' ยิ่งกว่า
  •  
  • 'การปฏิบัติงาน' ในทุกๆ กรณี ย่อมจะต้องมี 'อุปสรรค' หรือ 'สิ่งไม่ถูกใจ' ปะปนอยู่บ้างเป็นธรรมดา จึงไม่ควรแสดง 'ความเหนื่อยหน่าย' หรือ 'ความหนักอกหนักใจ' และยิ่งไม่ควรมุ่งแต่ 'การกล่าวโทษ' หรือ 'การตำหนิติเตียน' โดยไม่คิดหาหนทาง 'แก้ไขปรับปรุง' ใดๆ เลย
  •  
  • จะต้องรู้จักจำแนกให้ออกว่า 'ความเหนื่อยยากทางกาย' และ 'ความยุ่งยากใจ' ทั้งหลายที่ประสบพบเจออยู่นั้น เรื่องใดบ้างที่เป็น 'ข้อจำกัด' หรือเรื่องใดบ้างที่เป็น 'ปัญหา' เพื่อที่จะดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ... ไม่ใช่ 'สักแต่บ่น' แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป 'ตามบุญตามกรรม' ;)
  •  
  • 'ความไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' แม้จะต้อง 'ตรากตรำอย่างหนัก' ก็ยังมี 'ความมุ่งมั่น' อย่างไม่ลดละใน 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้ คือ 'วิถีทาง' ที่จะนำไปสู่ 'ความสำเร็จ'
  •  
  • 'ความอุตสาหะวิริยะ' ในการ 'ฟันฝ่าอุปสรรค' ทั้งปวงเพื่อมุ่งไปสู่ 'ความสำเร็จ' นั้น จะไม่มี 'คุณค่าความหมาย' ใดๆ เลย หากปราศจากซึ่ง 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักคุณธรรม'
  •  
  • 'การสำรวจตรวจสอบ' และ 'การพิสูจน์' เพื่อ 'ยืนยันความถูกต้อง' ของภาระกิจหนึ่งๆ ย่อมต้องอาศัย 'ข้อมูลที่หลากหลาย' เพื่อใช้ใน 'การเปรียบเทียบ' ... 'การยึดติด' อยู่กับ 'ทัศนคติ' หรือ 'ความอยาก' ในด้านใดด้านหนึ่งของตนเอง 'อย่างไม่ลืมหูลืมตา' ย่อมเป็นหนทางที่นำไปสู่ 'ความผิดพลาดอย่างมหันต์'


ผมมองภาพของ 'การใช้สินค้าชี้นำการตลาด' (䷔) ในบทนี้คล้ายกับเป็นเรื่องของ 'การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่' หรือ 'การผลักดันนวัตกรรม' ให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งก็แทบจะไม่แตกต่างไปจาก 'การเริ่มต้นใหม่' ของกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งนั่นเอง ... (สังเกตนะครับว่านี่คือบท 'เริ่มต้นรอบใหม่' ของ 坤 (kūn, คุน) หลังจากที่ 乾 (qián, เชี๋ยน) ได้วนจนครบรอบที่สองไปแล้วในบทที่สิบห้าถึงบทที่ยี่สิบ) ... แล้วก็แน่นอนครับว่า นี่คือ 'ภาระกิจ' ที่ 'หนักหนาสาหัส' และต้องใช้ 'ความระมัดระวัง' ที่มากเป็นพิเศษจริงๆ ... ผิดหรือพลาดก็คือล้มเหลวทันที ... ขนาดนั้นเลยทีเดียว !!?? ;)

'การแนะนำสิ่งใหม่' หรือ 'การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคุ้นชิน' ของผู้คนต้องถือเป็นเรื่องปรกติมากๆ ที่เรามักจะต้องเผชิญกับ 'คำปฏิเสธ' หรือ 'คำค่อนขอด' ที่ 'บั่นทอนกำลังใจ' ซึ่งต้องใช้ทั้ง 'ความอดทน' และ 'ความอดกลั้น' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ทุกคนจึงจะสามารถ 'ฟันฝ่า' ต่อไปได้ ... แต่สิ่งแรกๆ ที่จะละเลยไปไม่ได้เลยก็คือ 'การสร้างความมั่นใจ' ในนวัตกรรมนั้นๆ ของตัวเองให้แน่ใจซะก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 'คุณภาพ' หรือ 'กระบวนการ' ในการนำเสนอ ... ซึ่ง 'จิวกง' ก็ถึงกับเปิดประเด็นนี้ด้วยวลีที่ 'แนะนำ' ให้ทำ Research & Development (R&D) อย่างรอบคอบซะก่อน เพราะถึงจะช้าไปบ้างก็ยังดีกว่าล้มเหลว (履校滅趾無咎 : lǚ jiào miè zhǐ wú jiù, หลฺวี่ เจี้ยว เมี่ย จื่อ อู๋ จิ้ว) ... ทันยุคทันสมัยมากๆ เลย ... เห็นมั้ย !!??!! ... :D

ส่วน 'วลีคู่' ของวรรคที่หนึ่งก็คือวรรคที่หกนั้น 'จิวกง' ก็ 'แนะนำ' ว่า 'อย่าหลงถูก' หรือ 'อย่าหลงผิด' อยู่กับ 'ทัศนคติ' หรือ 'ความเชื่อ' ของ 'ตัวเอง' แต่ 'ฝ่ายเดียว' แต่จะต้องรู้จัก 'รับฟังข้อมูลหลายๆ ด้าน' เพื่อพิจารณาให้ 'ถ่องแท้' และ 'รอบคอบ' ไม่ว่า 'ข้อมูล' ที่รับรู้มานั้นจะ 'สอดคล้อง' หรือ 'ฝืน' กับ 'ความปรารถนา' ของ 'ตัวเอง' ขนาดไหนก็ตาม ... ผมมองว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่ง 'วลีเด็ด' ที่ไม่น่าจะมองข้ามไปอีกเหมือนกัน ... ;) ... เพราะบ่อยครั้งที่ 'นักการตลาด' มักจะ 'หลงเชื่อ' อย่างมี 'อคติ' ชนิดที่ 'เข้าข้างตัวเอง' หรือมี 'ความเชื่อมั่น' ในนวัตกรรมจน 'เกินกว่าเหตุ' ซึ่งก็คือมี 'ความประมาท' ต่อ 'ข้อจำกัด' หรือ 'ปัญหา' ปลีกย่อยอีกหลายๆ เรื่องที่อาจจะเป็น 'อุปสรรคสำคัญ' ต่อ 'การดำเนินงาน' ให้ 'ประสบความสำเร็จ' ในระยะยาว ... ซึ่ง 'การหลับหูหลับตา' ดำเนินงานไป 'อย่างไร้สติ' ดังที่ว่านี้ ต้องถือว่ามี 'ความเสี่ยง' ต่อ 'ภัยพิบัติ' เป็นอย่างยิ่ง !!!?? ... การทำ R&D ประเภทที่ 'ไม่ฟังเสียงใคร' แต่มุ่งกระทำเพียงเพื่อ 'สนองความกระสัน' ของ 'ตัวเอง' จึงมักจะลงเอยด้วย 'ความฉิบหายล่มจม' ในที่สุด !!! ... (何校滅耳凶 : hé jiào miè ěr xiōng, เฮ๋อ เจี้ยว เมี่ย เอ่อ เซฺวิง) ... เด็ดมั้ยล่ะ ??!! ... ;)