Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :

第三十一卦 : 咸

咸 : 澤山咸 ‧ 兌上艮下

咸 : 亨‧利貞‧取女吉‧

  • 初六 : 咸其拇‧
  • 六二 : 咸其腓‧凶‧居吉‧
  • 九三 : 咸其股‧執其隨‧往吝‧
  • 九四 : 貞吉‧悔亡‧憧憧往來‧朋從爾思‧
  • 九五 : 咸其脢‧無悔‧
  • 上六 : 咸其輔頰舌‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ ผ่อนสบาย (⚏) ; สติปัญญา แจ่มกระจ่าง (⚌) ; ประพฤติตนด้วยความมุ่งมั่นอย่างนุ่มนวล (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : สนับสนุนฝ่ายขาย (☱) ด้วยข้อมูลและการสื่อสาร (☶)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การสร้างความเป็นปึกแผ่น, ขุนเขาใต้ทะเลสาบ



ความหมายของชื่อเรียก : Convergence : การสร้างความเป็นปึกแผ่น


เราเคยเจออักษร 咸 (xián, เซี๋ยน) มาแล้วตั้งแต่บทที่สิบเก้า (ในบทบันทึกของ 'จิวกง') ซึ่งในบทดังกล่าวผมเล่าเอาไว้ว่า 咸 (xián, เซี๋ยน) แปลว่า 'ทั้งหมด', 'สมบูรณ์', 'รวมไว้ด้วยกัน' ; แต่ความหมายเดิมตาม 'ภาพอักษร' ของ 咸 (xián, เซี๋ยน) มาจากการผสมอักษร 戌 (xü, ซฺวี) ซึ่งเป็นชื่อเรียกอาวุธโบราณชนิดหนึ่งของจีนที่มีลักษณะเป็น 'ขวานด้ามยาว' ... กับอักษร 口 (kǒu, โข่ว) หรือ 'ปาก' ที่เห็นอยู่ด้านใน ซึ่งแทนความหมายของ 'หัวคน' ... ความหมายดั้งเดิมของ 咸 (xián, เซี๋ยน) จึงแปลว่า 'ประหาร', 'ฆ่า' หรือ 'สำเร็จโทษ' ด้วย 'การตัดหัว' ; ต่อมามันจึงมีความหมายว่า 'ทำให้เสร็จสิ้น', 'ทำให้สำเร็จ' แล้วจึงแผลงมาเป็น 'ทำให้สมบูรณ์' และ 'รวบรวมไว้ด้วยกัน' ...

ประเด็นที่ผมอยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก็คือ เราไม่พบเห็นอักษรตัวนี้อีกเลยตลอด 11 บทที่ผ่านมา ... ซึ่ง ... จะเป็น 'ความบังเอิญเกินไป' รึเปล่าสำหรับ 'สมมุติฐาน' ที่ว่า บทที่สามสิบเอ็ด (咸) นี้ก็คือ 'บทขยายความ' อีกบทหนึ่งให้กับวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง เช่นเดียวกับบทที่สิบเก้า (臨) ที่เราพบอักษร 咸 (xián, เซี๋ยน) เป็นครั้งแรกใน 'คัมภีร์อี้จิง' ... ?! ... แล้วก็ ... มันน่าจะมี 'ความคาบเกี่ยว' กับบทที่เจ็ด (師) ซึ่งเล่าไปแล้วว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของความหมายที่แฝงอยู่ในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งด้วยเหมือนกัน ... ?!?

'สมมุติฐาน' ที่ว่า บททั้งสามที่เอ่ยถึงนี้มี 'ความเกี่ยวข้องกัน' อาจจะฟังดูเลื่อนลอยเหมือนจับแพะชนแกะอยู่บ้างพอสมควร แต่หากเราพิจารณาความหมายของอักษรที่ถูกนำมาใช้เป็น 'ชื่อบท' หรือ 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ทั้งสาม เราก็น่าจะเห็น 'ความจงใจ' บางอย่างของ King Wen ที่ 'จิวกง' ได้รับการถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวไปบันทึกเป็นบทอรรถาธิบายอย่างละเอียดอีกชั้นหนึ่ง ...

บทที่เจ็ดใช้ 'ชื่อบท' ว่า 師 (䷆: shī, ซือ) ซึ่งปรกติที่ใช้งานทั่วๆ ไปจะหมายถึง 'แม่ทัพ', 'ผู้ฝึกสอน', แล้วจึงแผลงไปเป็น 'ครูบาอาจารย์' และสามารถหมายถึง 'ผู้เชี่ยวชาญ' ก็ได้ … ในขณะเดียวกัน เมื่อสามารถแปลว่า 'แม่ทัพ' ก็เลยสามารถที่จะแปลว่า 'กองทัพ' หรือ 'กองทหาร' ได้ด้วย เพราะความหมายดั้งเดิมของ 師 จะแปลว่า 'นำมารวมกัน' หรือ 'การรวมกัน (ของสิ่งที่เหมือนๆ กัน)' จึงสามารถแปลว่า 'มากมาย' ได้อีกความหมายหนึ่ง

บทที่สิบเก้าใช้ 'ชื่อบท' ว่า 臨 (䷒: lín, ลิ๋น) ที่มีความหมายโดยทั่วไปว่า 'การมองจากข้างบนลงมาข้างล่าง' หรือ 'ก้มลงมอง' เหมือนกับ 'การปกครอง' หรือ 'การดูแลสุขทุกข์ของประชาชน' โดยผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าตามความหมายใน 'ภาพอักษร' เดิม ; ปัจจุบันยังหมายถึง 'การโน้มเข้าหา', 'เคลื่อนเข้ามาใกล้', จนถึงขั้นที่เรียกว่า 'พบปะ' หรือ 'เผชิญหน้ากัน' ; และสามารถที่จะแปลว่า 'มาถึง', 'บรรลุถึง' เช่นเดียวกับ 到 (dào, เต้า) หรือ 至 (zhì, จื้อ) ก็ได้ด้วย ; ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่แผลงออกไปก็คือ 'การลอกเลียน' ซึ่งน่าจะมาจากความหมายของ 'ทำให้ใกล้(เคียง)กัน'

การที่บทที่สามสิบเอ็ดถูกเลือกใช้ 'ชื่อบท' ว่า 咸 (䷞: xián, เซี๋ยน) ที่หมายถึง 'รวบรวมเข้าด้วยกัน', 'ทำให้สมบูรณ์', หรือ 'ทั้งหมด' นั้น ผมค่อนข้างที่จะมั่นใจว่า นี่คือ 'ความจงใจ' ของ King Wen อย่างแน่นอน ... และเมื่อ 師 (shī, ซือ) คือบทที่ว่าด้วย 'ภาวะผู้นำ' ... 臨 (lín, ลิ๋น) คือบทที่ว่าด้วย 'การปกครอง' ... 咸 (xián, เซี๋ยน) จึงน่าจะเป็นบทที่ว่าด้วย 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' โดยผมเลือกคำภาษาอังกฤษให้กับมันว่า Convergence ซึ่งมี 'รากศัพท์' มาจาก com- (together) + vergere (incline) ที่แปลว่า 'โน้มเข้าหากัน' อันมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า 臨 (lín, ลิ๋น) ที่ปรากฏเป็น 'ชื่อบท' ของบทที่สิบเก้า กับถือเป็น 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ของ 'ผู้นำ' (師) ที่จะต้องพยายาม 'ประสานปัจจัยต่างๆ ให้มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน' ดังที่เล่าไว้ในบทที่เจ็ดด้วย

ส่วนในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' ภายในวัฏจักรเดียวกันนั้น รอบนี้ของ 'หยาง' ต้องถือว่าเริ่มต้นจาก 'การหล่อเลี้ยง' (27: 頤: yí, อี๋) ; 'ความมีวุฒิภาวะ' (28: 大過: dà guò, ต้า กั้ว) ; 'การเผชิญอุปสรรค' (29: 坎: kǎn, ขั่น) ; 'ความมีวิจารณญาณ' (30: 離: lí, ลี๋) เพื่อนำมาซึ่ง 'ความเป็นปึกแผ่น' (31: 咸: xián, เซี๋ยน) อันจะนำไปสู่ 'ความมั่นคง' (32: 恆: héng, เฮิ๋ง) ที่กำลังจะเอ่ยถึงในบทถัดไปในที่สุด ...

เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณาวลีต้นเรื่องในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งอีกครั้ง เราจะเห็นถ้อยคำที่บันทึกไว้ว่า 飛龍在天利見大人 (fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén, เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) หรือ 'ยอดคนย่อมเปล่งประกายด้วยอาศัยกาละ-เทศะที่เหมาะสม และแสดงความชื่นชมในอัจฉริยภาพของผู้อื่นอย่างยินดี' อันแสดงถึงทัศนคติที่พร้อมจะ 'ละวางอัตตา' ด้วยความตระหนักว่า 'ความสำเร็จ' มิใช่สิ่งที่สามารถเสกสร้างได้ด้วยน้ำมือของใครเพียงผู้เดียว หากแต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนอีกหลากหลาย ภายใต้สถานการณ์ และโอกาสที่เอื้ออำนวยเท่านั้น นี่ย่อมเป็น 'จิตสำนึก' ที่สำคัญต่อการนำมาซึ่ง 'ความเป็นปีกแผ่น' อันจะเป็น 'รากฐานที่มั่นคง' ของ 'สังคมที่เข้มแข็ง' ต่อไป



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨利貞取女吉
hēng lì zhēn qǚ nǚ jí
เฮิง ลี่ เจิน ฉฺวี่ หนฺวี่ จี๋


ต้องถือว่าไม่มีคำไหนใหม่เลยนะครับสำหรับวลีนี้ของ King Wen ซึ่งแม้แต่อักษร 取 (qǚ, ฉฺวี่) ที่เห็นอยู่นี้ก็เป็นอักษรที่เคยเล่าไปแล้วตั้งแต่บทที่สี่ โดย 取 (qǚ, ฉฺวี่) มีความหมายว่า 'หยิบ', 'คว้า', 'ฉวย', 'คัดเลือก' ; 'นำมา', 'รับเอามา', 'ได้รับมา' ; แต่ในทางกลับกัน ก็จะสามารถหมายถึง 'เสียไป' หรือ 'สูญเสียไป' เพราะถูกคนอื่น 'เอาไป' แล้วก็เลยต้อง 'ยื้อแย่ง' เพื่อจะ 'เอากลับมา' อีก ... :D ... มันเลยมีความหมายคล้ายๆ กับ 'เป้าหมาย' หรือ 'สิ่งที่หมายปอง' ได้ด้วย ; บางทีก็แปลว่า 'เร่งเร้า', หรือ 'เรียกร้อง' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 娶 (qǚ, ฉฺวี่)  ที่แปลว่า 'การแต่งงาน' ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ 'การแต่งเมีย' (取女 หรือ 娶妻) นั่นเอง ... หลายตำราจึงแปลคำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ในวรรคนี้อย่างตรงๆ ตัวว่า 'การแต่งเมีย' ซะเลย ??!!!

อย่างไรก็ตามคำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ถูกบันทึกไว้ในวรรคที่สามของบทที่สี่เป็นครั้งแรก และไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลยตลอดทั้ง 26 บทที่ผ่านมา ซึ่งในบทที่สี่นั้นปรากฏอยู่ในวลีว่า 勿用取女見金夫不有躬無攸利 (wù yòng qǚ nǚ jiàn jīn fū bù yǒu gōng wú yōu lì, อู้ โยฺว่ง ฉฺวี่ หนฺวี่ เจี้ยน จิน ฟู ปู้ โหฺย่ว กง อู๋ โยว ลี่) โดยผมให้ความหมายไว้ว่า 'หากปราศจากความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ไม่มีความเอาใจใส่ด้วยความละเอียดรอบคอบ (勿用取女) ย่อมไม่ต่างจากอัจฉริยบุคคล (見金夫) ที่ปราศจากความเพียรพยายาม (不有躬) ซึ่งจะไม่มีทางบรรลุถึงผลสำเร็จได้เลย (無攸利)' ... เพราะ 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) จะสะท้อนความหมายของ 'การไขว่คว้าหามา (取) ซึ่งคุณลักษณะแห่งหยิน (女)' นั่นเอง

สิ่งที่ผมอยากจะเสนอให้พิจารณาเสริมไว้อีกประเด็นหนึ่งก็คือ บทที่สี่นั้นจัดว่าเป็นส่วนขยายความให้กับวรรคที่สองของบทที่หนึ่ง ซึ่งโดยปรกติแล้ว มันจะต้องเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่ห้าในบทเดียวกันเสมอ ... ดังนั้น การใช้ 'ชื่อบท' ที่เชื่อมโยงกับบทที่สิบเก้า (ซึ่งมีส่วนคาบเกี่ยวกับวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง) บวกกับถ้อยคำอธิบาย 'ความหมายของชื่อบท' ที่โยงใยกับบทที่สี่ (อันเป็นส่วนขยายความให้กับวรรคที่สองของบทที่หนึ่ง) ดังที่เห็นอยู่นี้ ... เราคงพอจะเห็น 'ความจงใจ' บางอย่างที่ King Wen กับ 'จิวกง' ช่วยกันรจนา 'คัมภีร์อี้จิง' อันสลับซับซ้อนนี้อย่างน่าทึ่งมากทีเดียว ... ;) ... ซึ่งผมอยากจะยืนยันอย่างหนักแน่นตรงนี้เลยครับว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ที่เราเห็นการใช้งานอยู่ในวลีนี้ ไม่มีทางแปลว่า 'การแต่งเมีย' อย่างแน่นอน !!!!!??!!

ถ้าเราดูที่ลักษณะของการผสมอักษร 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) กับ 娶 (qǚ, ฉฺวี่) เราก็น่าพบว่า ทั้งสองคำมีจำนวนตัวอักษรที่เท่ากันพอดี มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำทั้งสองนี้จะมีความหมายหนึ่งที่เหมือนกันว่า 'การแต่งภรรยา' ... โดยตามประเพณีปรกติของชาวจีนนั้นจะเรียกว่า 'การแต่งเข้า' หรือเป็น 'การรับผู้หญิงเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวในฐานะของภรรยา' ... ซึ่ง ... ถือว่าเป็นภาระกิจที่จะต้องได้รับการพินิจพิจารณาอย่างพิถีพิถันมาก เนื่องจาก 'ผู้หญิง' ที่เข้ามาสู่วงศ์ตระกูลในสถานภาพที่ว่านี้ จะมีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษของทายาทแห่งวงศ์ตระกูลในอนาคตถัดๆ ไปด้วย ... 'การแต่งภรรยา' ตามทัศนคติของชาวจีนโบราณ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนกับวิถีชีวิตของผู้คนในศตวรรษปัจจุบัน ... นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) แฝงความหมายของ 'ความเอาใจใส่ในรายละเอียดอย่างระมัดระวัง' ... ;)

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมนึกสนุกขึ้นมาก็คือ หากเราผสมคำระหว่าง 咸 (xián, เซี๋ยน) กับ 女 (nǚ, หนฺวี่) เข้าด้วยกันในลักษณะที่เรียกว่า รับเอา (取) อักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) เข้ามาเป็นส่วนประกอบร่วมกัน ซึ่งก็ปรากฏว่าเราจะได้อักษร 威 (wēi, เวย) ที่แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนคำผสมจาก 口 (kǒu, โข่ว) มาเป็น 女 (nǚ, หนฺวี่) ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการสลับคำที่ใกล้เคียงกันในแง่ของความหมายมากที่สุดคู่หนึ่ง เพราะทั้ง 口 (kǒu, โข่ว) และ 女 (nǚ, หนฺวี่) สามารถใช้ในความหมายของ 'คน' ได้ด้วยกันทั้งคู่ !!?? ... โดยคำว่า 威 (wēi, เวย) ที่เห็นนี้จะแปลว่า 'ความยิ่งใหญ่', 'ความอลังการ' แต่เป็นลักษณะของ 'ความมีอำนาจ', 'ความน่าเกรงขาม', 'ความน่าเคารพกริ่งเกรง', หรือ 'ความน่าตื่นตะลึง' รวมอยู่ใน 'ความยิ่งใหญ่' ประเภทนี้ ... ซึ่งคำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ที่ถูกนำมาใช้ในบทที่ว่าด้วย 咸 (xián, เซี๋ยน) ก็อาจจะซ่อนนัยแห่งการผสมคำที่ว่านี้เอาไว้ ... เก้าะไม่แน่อีกเหมือนกัน ... ;)

ทีนี้ ... ถ้าผมยืมความหมายของ 亨 (hēng, เฮิง), 利 (lì, ลี่), และ 貞 (zhēn, เจิน) มาจากบทที่สิบเก้าด้วยซะเลย ความหมายในวลีนี้ของ King Wen ก็จะ 'ตีความ' ได้ว่า 'ความรู้ (亨), ความทุ่มเท (利), และคุณธรรม (貞) ที่หลอมรวมเป็นกำลังสนับสนุนซึ่งกันและกัน (取女 คือได้รับการเกื้อหนุนอย่างสอดคล้องต้องกัน) ย่อมนำมาซึ่งความความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... โดยปัจจัยหนึ่งที่ 'เหมือนกับ' ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในที่นี้ก็คือ 'อำนาจ' หรือ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ของบทที่สิบเก้า ... แต่ผมกลับมองว่า 'อำนาจ' ย่อมก่อเกิดเพราะ 'ความน่าเกรงขาม' (威) ของ 'ความเป็นปึกแผ่น' (咸) ที่สืบเนื่องมาจาก 'การหลอมรวม' (取) 'ความรู้' (亨), 'ความทุ่มเท' (利), และ 'คุณธรรม' (貞) เข้าด้วยกัน 'อย่างกลมเกลียว' (ดุจเดียวกับ 取女 หรือการสมรส) ... และการที่ King Wen ละถ้อยคำที่พาดพิงไปถึง 'อำนาจ' ในบทที่ว่าด้วย 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' (咸) นั้น น่าจะแฝงทัศนคติที่ว่า 'อำนาจ' หาใช่ 'ปัจจัยตั้งต้น' สำหรับภาระกิจดังกล่าวแต่ประการใดไม่ เนื่องจาก 'อำนาจ' ย่อมปรากฏขึ้นโดย 'การบรรจบกันอย่างลงตัว' ของปัจจัยประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะนำไปสู่พัฒนาการในขั้นตอนต่อๆ ไปเท่านั้น ... ซึ่ง 'จิวกง' ก็ได้สะท้อนแนวคิดนี้ไว้ด้วยวลีที่ว่า 飛龍在天 . 利見大人 (fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén, เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) เพื่อที่จะบอกว่า 'ยอดคนย่อมแสดงตนโดยความเหมาะสมแห่งกาละ-เทศะ และต้องรู้จักให้ความเคารพต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ' ดังอธิบายไว้แล้วในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง ... นั่นเอง !!!



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

咸其拇
xián qí mǔ
เซี๋ยน ชี๋ หฺมู่


拇 อ่านว่า mǔ (หฺมู่) ปรกติจะหมายถึง 'นิ้วหัวแม่มือ' หรือ 'นิ้วหัวแม่เท้า' ซึ่งเป็น 'นิ้วที่มีขนาดอ้วน/ใหญ่ที่สุด' ... ดังนั้น คำนี้จึงสามารถใช้ในความหมายว่า 'สำคัญ', 'ยิ่งใหญ่' หรือ 'ยอดเยี่ยม' เมื่อนำไปผสมกับคำอื่นๆ

ถ้าจะว่ากันตามตัวอักษร วลีนี้ก็จะแปลว่า 'รวมหลายๆ นิ้วหัวแม่มือเข้าด้วยกัน' หรือ 'รวมหลายๆ นิ้วหัวแม่เท้าเข้าด้วยกัน' ... อย่างดีที่สุดก็น่าจะแปลว่า 'รวบรวมประเด็นที่มีความสำคัญทั้งหมดเข้าด้วยกัน' เท่านั้นเอง ... แต่เนื่องจากว่า วลีอื่นๆ ในบทเดียวกันนี้ 'จิวกง' เลือกใช้คำที่หมายถึง 'อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย' มาเป็นแกนหลักของเนื้อความทั้งหมด ... ดังนั้น คำว่า 拇 (mǔ, หฺมู่) ที่เห็นในวลีนี้จึงแปลเป็นอย่างอื่นได้ยาก นอกจากจะให้มันหมายถึง 'นิ้วหัวแม่มือ' หรือ 'นิ้วหัวแม่เท้า' เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อจริงๆ ก็คงหนีไม่พ้นการใช้เป็น 'ภาพสัญลักษณ์' เพื่อแทนความหมายอะไรบางอย่าง ...

ความจริงแล้ว 拇 (mǔ, หฺมู่) น่าจะหมายถึง 'นิ้วหัวแม่มือ' มากกว่า 'นิ้วหัวแม่เท้า' เพราะมันมาจากการผสมอักษร 手 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'มือ' กับอักษร 母 (mǔ, หฺมู่) ที่แปลว่า 'แม่' เข้าด้วยกัน แต่พอเอาเข้าจริงก็ใช้ในความหมายที่ปนเปกันหมดทั้ง 'นิ้วหัวแม่มือ' กับ 'นิ้วหัวแม่เท้า' ... ซึ่งเราก็คงต้องมาดูกันละครับว่า 'การรวมกันของนิ้วหัวแม่มือ' หรือ 'การรวมกันของนิ้วหัวแม่เท้า' มันมาเกี่ยวข้องกับ 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' ได้ตรงไหนยังไง ??!! ...

สำหรับในกรณีที่จะแปลว่า 'นิ้วหัวแม่มือ' นั้น ผมมองว่ามันสามารถที่จะสื่อถึง 'ความยอดเยี่ยม' หรือ Thumbs Up ได้อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้วลีนี้มีความหมายว่า 'การรวบรวม (咸) สิ่งที่คนทั้งหลาย (其) ยกย่องว่ายอดเยี่ยม (拇) ไว้ด้วยกัน' ... หรืออาจจะหมายถึง 'การประสาน (咸) จุดเด่นของทุกๆ คน (其拇) เข้าด้วยกัน' ... เก้าะ ... เป็นความหมายที่น่าสนใจพอสมควรล่ะครับ เพราะในแง่ของ 'การบริหารทรัพยากรมนุษย์' หรือ 'การใช้คน' นั้น ประเด็นสำคัญก็คือ การเลือกใช้บุคลากรจาก 'จุดเด่น' ที่มีอยู่ในตัวของพวกเขา ไม่ใช่มัวแต่ตั้งแง่รังเกียจในส่วนที่เป็น 'จุดด้อย' ของผู้คน ... โดยเราต้องระลึกไว้เสมอว่า 'มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฏในโลกของความเป็นจริง' นับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงอนาคต !!!? เราจึงไม่ควรวุ่นวายอยู่กับการค้นหา 'มนุษย์ในฝัน' ให้สิ้นเปลืองทั้งเวลา, อารมณ์, และพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ... ;) ... 'ความเข้มแข็งของทีมงาน' และ 'ความเป็นปึกแผ่นขององค์กร' หนึ่งๆ นั้น ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'การประสานส่วนดี เพื่อชดเชยส่วนด้อย' ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เกิดจาก 'การแก่งแย่งแข่งดี' ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเพียงลาภยศสรรเสริญเฉพาะตัวอันไม่มีความจิรังยั่งยืนใดๆ ... ความหมายที่เล่ามานี้ก็คือประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ในคำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ของ King Wen ที่ถูกใช้เพื่อเปิดประเด็นให้กับบทที่ว่าด้วย 咸 (xián, เซี๋ยน) นั่นเอง ??!!?? ...

สมมุติว่าเราตัดประเด็นเรื่อง 'ความยอดเยี่ยม' หรือ 'จุดเด่น' นี้ออกไปซะ ... 'การรวมนิ้วหัวแม่มือ' ก็คงจะสื่อถึง 'ความร่วมมือ' ดีๆ นี่แหละ และคงจะไม่มีอะไรไปเกี่ยวข้องกับชาดกเรื่ององคุลีมาลแน่ๆ ... :D ... แต่หลายๆ ตำราก็พยายาม 'ตีความ' ให้ 拇 (mǔ, หฺมู่) หมายถึง 'นิ้วหัวแม่ตีน' ไปซะงั้น ??!! ซึ่งผมก็คงไม่หาเรื่องแปลวลีนี้ว่า 'สหะบาทา' หรอกนะครับ ... :P ... เพราะผมกำลังนึกถึงอากัปกิริยาที่ 'นิ้วหัวแม่ตีนหันเข้าหากัน' ว่า มันคือภาพของ 'การหันหน้าเข้าหากัน' ได้ด้วยรึเปล่า ??!! ... แต่ภาพของ 'การประสานหัวแม่ตีน' อาจจะสื่อถึงความหมายแบบอื่นที่เท่ห์กว่านั้นก็ได้ เพราะ 'หัวแม่ตีน' ที่หันไปทางเดียวกันนั้น ย่อมสะท้อนความหมายของ 'การเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง' ได้ด้วย ซึ่งทำให้เรานึกเปรียบเทียบกับ 'การเดินสวนสนาม' ของเหล่าทหารหาญทั้งหลาย อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพ และความเป็นระบบระเบียบในการปฏิบัติภาระกิจอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ... นี่ก็คือภาพสะท้อนของ 'ความเป็นปึกแผ่น' ในอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่น่าจะถูกมองข้ามไป ...

สิ่งที่ 'จิวกง' กำลังพยายามสื่อสารกับพวกเราผ่านวลีสั้นๆ ที่ว่านี้ในบทที่ว่าด้วย 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' (咸) ก็คือ 'การประมวล (咸) จุดเด่นของทุกๆ ภาคส่วน (其拇) ให้มีความประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง' ... และเป็นอีกครั้งที่ต้องยอมรับล่ะครับว่า ความหลักแหลมในการเลือกใช้คำให้รวบรัดอย่างได้ความหมายที่ครอบคลุมอย่างครบถ้วนของ 'จิวกง' นั้น ... เหลือเชื่อจริงๆ !!!

 

สองหยิน :

咸其腓凶居吉
xián qí féi xiōng jü jí
เซี๋ยน ชี๋ เฟ๋ย เซฺวิง จฺวี จี๋


腓 อ่านว่า féi (เฟ๋ย) เป็นอีกคำหนึ่งที่หมายถึงอวัยวะของร่างกาย โดย 腓 (féi, เฟ๋ย) จะหมายถึง 'น่อง' ซึ่งก็คือ 'กล้ามเนื้อส่วนหลังของขาตั้งแต่ข้อพับลงไปถึงข้อเท้า' และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แทบทุกตำรา 'ตีความ' คำว่า 拇 (mǔ, หฺมู่) ในวรรคแรกของบทนี้ว่า 'นิ้วหัวแม่เท้า' เพราะบังเอิญว่ามันถูกวางอยู่ในลำดับ 'ขีดล่างสุด' พอดี ... เมื่อขยับสูงขึ้นมาหน่อยหนึ่งก็มาเจอคำว่า 腓 (féi, เฟ๋ย) ในวรรคนี้ที่แปลว่า 'น่อง' ซะงั้น มันก็เลยพาเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่ ??!! ... แต่ผมกลับไม่คิดว่า 'คัมภีร์อี้จิง' กำลังบรรยายอะไรที่เกี่ยวกับ human anatomy หรอกนะครับ !! ... เพราะถ้าขืนไปในแนว human anatomy เรื่อยๆ เราจะต้องเจอกับ 'กามาสูตร' ในวรรคที่หกจนได้ ... !!!!??!! ... :D

แต่ถ้าเราพิจารณาความหมายอื่นของ 腓 (féi, เฟ๋ย) เราก็จะเห็นบางอย่างที่น่าสนใจกว่า เพราะ 腓 (féi, เฟ๋ย) สามารถแปลว่า 'ป่วยไข้', 'ไม่เหมาะสม' หรือถ้าใช้กับต้นไม้ใบหญ้าก็จะหมายถึง 'เหี่ยวแห้ง', 'ร่วงโรย' ได้ด้วย ... ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นความหมายที่ตรงข้ามกับ 拇 (mǔ, หฺมู่) ในความหมายของ 'ยอดเยี่ยม' ทันที ... แล้วที่มาของ 腓 (féi, เฟ๋ย) ก็มาจากการผสมอักษร 肉 (ròu, โญ่ว) ที่แปลว่า 'เนื้อ' กับอักษร 非 (fēi, เฟย) ซึ่งมีความหมายในเชิงปฏิเสธ มันจึงซ่อนความหมายของ 'ความผิดฝาผิดตัว' ซึ่งก็คือ 'ความไม่เหมาะสม' อยู่แล้วโดยพื้นฐานของมัน

ส่วน 居 (jü, จฺวี) นี่เจอมาหลายครั้งแล้วใน 'คัมภีร์อี้จิง' โดยมันจะมีความหมายว่า 'หยุด', 'พัก', 'อาศัย', หรือว่า 'ปล่อยวาง' ก็ได้ ...

เมื่อประกบคู่กับความหมายที่เล่าไว้ในวรรคที่หนึ่ง เราก็จะเห็นประโยคเต็มๆ ของ 'ศาสตร์แห่งการใช้คน' ขึ้นมาทันที โดย 'จิวกง' เลือกใช้วลี 咸其拇 (xián qí mǔ, เซี๋ยน ชี๋ หฺมู่) เพื่อสื่อความหมายว่า 'จงเลือกประมวลจุดเด่นของทุกภาคส่วน ให้มีความประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง' ... จากนั้น 'จิวกง' ก็เลือกตบท้ายว่า 'เพราะการมุ่งความสนใจ (咸) ไปเฉพาะประเด็นที่เป็นจุดด้อยของผู้คน (其腓) คือวิถีปฏิบัติที่นำไปสู่ความสูญเสีย (凶) ; การรู้จักปล่อยวาง (居) ประเด็นเหล่านั้น (โดยไม่หยิบยกขึ้นมาเป็นข้อตำหนิติเตียน) ย่อมเป็นทางเลือกที่นำไปสู่ความเจริญ (吉)' ... นี่ก็คือหลักใหญ่ใจความของ 'การเลือกใช้คน' อย่างสร้างสรรค์ที่ 'จิวกง' นำเสนอไว้ตั้งแต่หลายสหัสวรรษก่อน !! ...

ตรงนี้ก็อาจจะเป็นประเด็นให้พวก Perfectionism ถึงกับต้องโก่งคอถกเถียงกันอยู่บ้างพอสมควรล่ะครับ เพราะ 'การเลือกใช้คน' นั้น จะบอกว่าไม่ต้องสนใจ 'จุดด้อย' ของใครต่อใครเลยก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว ... แต่ในแง่ของความเป็นจริงก็คือ ... เราต้องเลือกพิจารณาบุคคลจาก 'จุดเด่น' ที่เหมาะสมกับแต่ละภาระกิจที่จะมอบมาย พร้อมๆ กับต้องพิจารณาด้วยว่า บุคคลนั้นๆ มี 'จุดด้อย' ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ ... และในเมื่อ 'ไม่เคยปรากฏมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ' อยู่เลยในโลก 'จุดด้อย' อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานก็ควรที่จะละวางทิ้งไป โดยไม่ต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้เสียอารมณ์อีก ... เก้าะ ... ถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้ ... เราก็อาจจะต้องถามต่อไปว่า แล้ว 'ข้อเด่น-ข้อด้อย' ไหนบ้างล่ะที่อยู่ในข่าย 'ต้องพิจารณา' ... เก้าะ ... ถ้าผมเป็น 'จิวกง' ผมก็คงจะตอบว่า 'บิดาข้าพเจ้าคือ King Wen ได้กำชับไว้ให้พิจารณาเฉพาะประเด็นของ ความรู้ (亨), ความมุ่งมั่นพยายาม (利), และคุณธรรม (貞) โดยบันทึกไว้อย่างทนโท่อยู่ในคำบรรยายของชื่อบทแล้ว ... นั่นไง !!!' ... :D

 

สาม หยาง :

咸其股執其隨往吝
xián qí gǔ zhí qí suí wǎng lìn
เซี๋ยน ชี๋ กู่ จื๋อ ชี๋ ซุ๋ย หฺวั่ง ลิ่น


จาก 'นิ้วหัวแม่เท้า' (拇) ขยับขึ้นมาเป็น 'น่อง' (腓) แล้วก็มาถึง 股 (gǔ, กู่) ที่แปลว่า 'ต้นขา', 'ก้น', หรือว่า 'บั้นท้าย' ซะอีก :P ... มันจึงไม่แปลกที่หลายๆ ตำราจะ 'ตีความ' ถ้อยคำทั้งหมดของบทนี้ไปในแนว 'สรีรศาสตร์' กันซะหมด ... แล้วนี่ 'จิวกง' แกจะ 'รวมก้นให้เป็นปึกแผ่น' อีท่าไหนอีกล่ะเนี่ยะ ??!! ... :P

ความจริงแล้ว 股 (gǔ, กู่) มีอีกความหมายหนึ่งว่า 'การแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ' ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเกี่ยวกับ 'แก้มก้น' ด้วยรึเปล่า ?! ... :D ... แต่ที่แน่ๆ ก็คือ บริเวณ 'บั้นท้าย' ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ นั้น มักจะเป็นตำแหน่งที่จะมีการแยกออกมาเป็น 'ระยาง' เพื่อทำหน้าที่ในการเดิน ดังนั้น มันก็คงจะได้ความหมายของ 'การแบ่งส่วน' หรือ 'การกระจายหน้าที่' จากลักษณะดังกล่าวด้วย ... นั่นก็คือ 股 (gǔ, กู่) ไม่จำเป็นที่จะต้องหมายถึง 'ก้น' เสมอไป !! ... ;)

執 อ่านว่า zhí (จื๋อ) แปลว่า 'จับ', 'คว้า', 'ยึดเกาะ', 'จับกุม', 'ควบคุม'

ส่วนคำว่า 隨 (suí, ซุ๋ย) เคยเล่าไปแล้วตั้งแต่ที่มันถูกใช้เป็นชื่อบทของบทที่สิบเจ็ด โดย 隨 (suí, ซุ๋ย) มีความหมายคล้ายกับ 'คล้อยตาม', 'ติดตาม', 'เชื่อฟัง', และสามารถหมายถึง 'ปรับตัว', 'คล้าย' หรือ 'ทำให้คล้าย', จนถึงขั้นที่อาจจะแปลว่า 'ทำตามอย่าง', 'เลียนแบบ' ก็ยังได้

บังเอิญผมนึกภาพของ 'การรวมก้น' ว่าน่าจะคล้ายกับ 'การนั่งประชุมร่วมกัน' ... :D ... โดยถ้อยที่ 'จิวกง' บันทึกไว้นี้น่าจะสามารถ 'ตีความ' ได้ว่า 'การเรียกประชุมเพื่อระดมเข้ามารวมกันเฉพาะก้น (咸其股 คือไม่พกสมองเข้าประชุม) แล้วกดดัน (執) ให้ทุกฝ่ายต้องคล้อยตาม (其隨) ไปทุกๆ เรื่อง ผลตอบสนองที่ได้ (往) ย่อมไม่มีทางเต็มเม็ดเต็มหน่วย (吝)' ... :P ... แต่ถ้าจะให้ฟังดูเป็นเรื่องเป็นราวหน่อย ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะประมาณว่า 'การระดมทุกภาคส่วนให้มารวมตัวกัน (咸其股) แต่กลับสร้างเงื่อนไข (執) ที่ทุกฝ่าย (其) ได้แต่คล้อยตามตลอดเวลา (隨) ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ (往) ย่อมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (吝) อย่างที่ควรจะเป็น' ...

ผมมองในมุมของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่หนึ่ง และวรรคที่สองว่า เมื่อเราได้ 'คัดสรรคนดีมีฝีมือ' มาร่วมงาน (咸其拇) และ 'ปล่อยวางข้อด้อยปลีกย่อย' (居其腓) ที่ไม่เกี่ยวกับภาระกิจที่จะมอบหมายออกไปแล้ว ... เราก็ควรที่จะ 'เคารพ' และ 'ให้เกียรติ' ต่อบุคลากรเหล่านั้นด้วย 'การรับฟังข้อเสนอ' หรือ 'คำท้วงติง' ที่แม้ว่าจะมีความผิดแผกแตกต่างออกไปจากแนวคิด หรือแนวทางในการปฏิบัติงานที่มีอยู่เดิมของตนมากน้อยเพียงใดก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถแสดง 'ศักยภาพ' ที่แท้จริงของพวกเขาออกมาอย่างเต็มที่ ... นี่ก็คือความหมายของ 利見大人 (lì jiàn dà rén, ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) อันเป็นวลีต้นเรื่องมาตั้งแต่วรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง ... เพราะการมี 'คนดี' และ 'คนเก่ง' อยู่รายรอบ แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้แสดงฝีมือ, 'ศักยภาพ' ที่สั่งสมไว้ก็ย่อมไร้คุณประโยชน์ และไม่อาจก่อเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ใดๆ ... ในทำนองเดียวกัน การสู้อุตส่าห์เสาะหา 'คนดี' และ 'คนเก่ง' มาร่วมงาน แต่ตัว 'ผู้นำ' กลับวางก้ามทำเก่งเบ่งให้ทุกคนต้องคอยคล้อยตามความคิดของตนตลอดเวลา ก็จะเข้าทำนองของ 'การรวมก้น' (咸其股) มากกว่า 'การระดมสมอง' อยู่ดี ... :D ... ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่แตกต่างไปจากการ 'คิดเองทำเอง' ซักเท่าไหร่ ... !! ... ;)

อีกอย่าง ... มี 'นักบริหารสติแตก' บางพวกอยู่เหมือนกันที่กระจายงานแบบเดียวกันออกไปจนถ้วนทั่วทั้งองค์กร ทั้งๆ ที่มันสามารถจัดการให้เรียบร้อยได้โดยคนเพียงหยิบมือเดียว เพราะดันมี 'ความเชื่อ' อย่างฝังกะโหลกว่า 'การประสานงานกัน' ก็คือการที่ทุกๆ คนทำงานเหมือนๆ กันซ้ำซ้อนกันไปมา (執其隨) ... ??!!?? ... ซึ่งผลงานที่ได้ก็จะสำเร็จเพียงครั้งละหนึ่งเรื่อง แทนที่มันจะกระจายกันเสร็จพร้อมกันหลายๆ เรื่อง ในขณะที่ 'ศักยภาพ' ของแต่ละบุคคลก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ แต่กลับล้างผลาญเวลาในชีวิตของทุกๆ คนให้เหือดหายไปเท่าๆ กัน ... ??!!! ... นี่ก็เป็น 'ความบ้องตื้น' ที่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของ 'ความเป็นปึกแผ่น' อีกเหมือนกัน และทำให้วลีนี้ของ 'จิวกง' แปลได้ว่า 'การระดมทุกภาคส่วนให้มารวมตัวกัน (咸其股) แต่กลับกำหนดให้ทุกคนทำสิ่งที่เหมือนๆ กัน (執其隨) ผลสำฤทธิ์ที่ได้ (往) ย่อมไม่คุ้มค่า (吝) แก่เวลาที่สูญเสีย' ...

เอานะ ... ไปดูประโยคเต็มๆ ในวรรคที่สี่กัน ... :)

 

สี่ หยาง :

貞吉悔亡憧憧往來朋從爾思
zhēn jí huǐ wáng chōng chōng wǎng lái péng cóng ěr sī
จิน จี๋ หุ่ย วั๋ง ง หฺวั่ง ไล๋ เพิ๋ง ช๋ง เอ่อ ซือ


นี่ก็คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่สาม ซึ่งเราจะได้เห็นความหมายเต็มๆ ของสิ่งที่ 'จิวกง' กำลังแนะนำข้อพึงปฏิบัติใน 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' ...

悔 (huǐ, หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ก็เคยเล่าไปแล้วว่าคำแปลภาษาอังกฤษของมันจะใช้คำว่า repent ซึ่งหมายถึง 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก ; โดยลักษณะของ 'ความโศกเศร้าจากการนึกคิดได้เอง' ที่ว่านี้ก็อาจจะหมายถึง 'ความคับข้องใจ', 'ความคับแค้นใจ', 'ความอึดอัดใจ', 'ความกระอักกระอ่วนใจ', หรือ 'ความละอายแก่ใจ' ก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่เหมือนกัน

亡 (wáng, วั๋ง) เจอมาหลายครั้งโดยไม่เคยเล่าคำแปลของมันไว้เลย คำนี้แปลว่า 'ละทิ้ง', 'หลบหลีก', 'หนีหาย', และบางครั้งก็แปลว่า 'ตาย' ได้ด้วย ; ในบางกรณีมันจึงสามารถแปลว่า 'ทำให้หายไป', 'ทำให้สูญเสีย', หรือ 'ทำลายล้าง' ซึ่งในสมัยโบราณยังใช้ในความหมายเดียวกับ 無 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ไม่มี' ก็ยังได้

憧 อ่านว่า chōng (ง) ปรกติจะแปลว่า 'ไม่แน่นอน', 'ลังเล', แต่ก็สามารถแปลว่า 'โง่', 'เซ่อ' หรืออย่างดีก็จะแปลว่า 'ไม่ประสีประสา' เพราะมันมาจากการผสมอักษร 心 (xīn, ซิน) ที่แปลว่า 'ใจ' หรือ 'จิตใจ' กับอักษร 童 (tóng, ท๋ง) ที่แปลว่า 'เด็ก' หรือ 'เล็ก'

爾 อ่านว่า ěr (เอ่อ) ความหมายเดิมแปลว่า 'ตกแต่ง', 'ประดับประดา', 'หรูหรา' ; บางครั้งก็บังแปลว่า 'สดใส', 'ร่าเริง' ; แต่เพี้ยนไปเพี้ยนมาอีท่าไหนก็ไม่รู้ ในที่สุดดันใช้อักษรย่อเป็น 尔 (ěr, เอ่อ) ซึ่งใช้แทน 'สรรพนามบุรุษที่สอง' เหมือนกับ 你 (nǐ, หฺนี่) และยังใช้ในความหมายว่า 'ใกล้ๆ', 'ตื้นๆ', หรือ 'สิ่งนี้', 'สิ่งนั้น'

思 อ่านว่า sī (ซือ) แปลว่า 'ความคิด', 'การคิด', 'วิธีคิด', หรือ 'ทัศนคติ'

เมื่อ 'การประสานงาน' มิใช่การใช้คนหลายๆ คนให้ทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน 'จิวกง' ก็เลือกปิดประเด็นนี้ด้วยถ้อยคำที่ว่า 'คุณธรรม และหลักการ (貞) คือปัจจัยที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) ความน้อยเนื้อต่ำใจ (悔) คือปัจจัยที่ต้องสละละ (亡) เมื่อทุกฝ่ายสามารถประสานจุดเด่น เพื่อชดเชยจุดด้อยระหว่างกัน (憧憧往來) สัมพันธภาพอันเป็นปึกแผ่น (朋) ย่อมก่อเกิดจาก (從) ทัศนคติที่เปิดกว้าง และแสนจะธรรมดาสามัญ (爾思) ดังที่ว่านี้' ... ทั้งนี้ก็เพราะว่า 'การประสานงาน' คือการที่ทุกฝ่ายต่างก็ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งแม้ว่าจะมีความแตกต่างหนักเบา หรือมีบทบาทความสำคัญที่ไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดก็ล้วนต้องดำเนินไปในทิศทางที่สนองวัตถุประสงค์ อันเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย และจะประสบผลสำเร็จไม่ได้เลยหากต้องกระทำการทั้งหมดเหล่านั้นด้วยลำพังเพียงผู้หนึ่งผู้ใด ... แม้ว่าในที่สุดแล้ว จะมีเพียงบางบุคคล หรือเพียงบางหน่วยงานเท่านั้นที่ได้รับความสนใจจากทุกผู้คน แต่นั่นย่อมเป็นไปตามกาละ-เทศะที่เหมาะสมแก่แต่ละสถานการณ์ มิใช่ปัจจัยที่ผู้หนึ่งผู้ใดพึงเห่อเหิมลำพอง หรือรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแต่ประการใดทั้งสิ้น ... แล้วลองเปรียบเทียบกับวลีต้นเรื่องอีกครั้งนะครับ ... 'ยอดคนย่อมปรากฏโดยความเหมาะสมแห่งกาละ-เทศะ (飛龍在天) พึงชื่นชมยินดีต่อผู้ที่ประสบความสำเร็จ (利見大人) อย่างจริงใจ' ... แจ่มมากเลยนะ !! ... ;)

 

ห้า หยาง :

咸其脢無悔
xián qí méi wú huǐ
เซี๋ยน ชี๋ เม๋ย อู๋ หุ่ย


脢 อ่านว่า méi (เม๋ย) ถ้าเขียนโดดๆ จะหมายถึง 'เนื้อสัน' หรือ 'เนื้อตรงส่วนสันหลัง' ของสัตว์ ซึ่งก็แน่นอนล่ะครับว่า นี่คือชื่อเรียกอวัยวะที่สูงถัดขึ้นมาจาก 'ก้น' (股) ... แต่ที่น่าสนใจมากสำหรับคำนี้ก็คือ เวลามันนำมาเขียนคู่กับ 腓 (féi, เฟ๋ย) เป็นคำว่า 脢腓 (méi féi, เม๋ย เฟ๋ย) มันจะแปลว่า 'ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจนไม่สามารถแยกออกจากกัน' ... แล้ว 'จิวกง' ก็เลือกบันทึกคำทั้งสองนี้แยกไว้ในวรรคที่ห้า กับวรรคที่สอง ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กันอย่างพอดิบพอดีด้วย !!! ... ดังนั้น คำว่า 脢 (méi, เม๋ย) ที่เห็นในวรรคนี้จึงแปลความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะต้องให้มันหมายถึง 脢腓 (méi féi, เม๋ย เฟ๋ย) ตาม 'ความจงใจ' ของ 'จิวกง' เท่านั้น !!!

เมื่อพิจารณาจากเนื้อความตามที่บรรยายมาโดยตลอดทั้งสี่วรรคแล้ว ความหมายของวรรคนี้ก็สรุปได้เพียงสั้นๆ ครับว่า 'การระดม (咸) สรรพกำลังจากทุกภาคส่วน (其) ให้ประสานกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น (脢=脢腓) ย่อมปลอดพ้น (無) จากความวิตกกังวล (悔) ทั้งปวง'

ผมยังไม่อยากทิ้งประเด็นของ 'สรีระ' ที่ 'จิวกง' เลือกคำมาใช้ตลอดทั้งบท (ยกเว้นวรรคที่สี่เพียงวรรคเดียว) นะครับ เพราะจริงๆ ผมเองก็ไม่ชัดเจนเหมือนกันว่า ในยุคสมัยเมื่อกว่า 4,000 ปีที่แล้ว อักษรจีนเขามีให้ใช้งานกันอยู่กี่คำ ... ??!! ... แต่การเล่นกับคำอย่าง 拇 (mǔ, หฺมู่) ที่เกี่ยวข้องกับ 'เท้า' และ 'การเดิน' ; 腓 (féi, เฟ๋ย) ซึ่งหมายถึง 'น่อง' ที่แยกออกเป็นสองข้างโดยธรรมชาติ ; 股 (gǔ, กู่) ที่สะท้อนความหมายของ 'จุดแบ่ง' ก่อนที่จะแยกออกเป็นระยางทั้งหลาย ; โดยมี 脢 (méi, เม๋ย) คือ 'แผ่นหลัง' ที่ต่อเนื่องกันเป็น 'ผืนเดียว' เพื่อสะท้อนถึง 'ความไม่แบ่งแยก' ... เหล่านี้ย่อมดูคล้ายกับ 'จิวกง' จงใจที่จะให้พวกเราสำรวจ 'สัจจธรรม' จากสรีระของตัวเอง ซึ่งอวัยวะทุกส่วนล้วนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป แต่ก็เพื่อ 'ความสมประกอบ' ที่เหมาะแก่การปฏิบัติภาระกิจของร่างทั้งร่าง มิใช่เพื่อให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายอวดอ้างว่าตนมีความโดดเด่น หรือมีความสำคัญยิ่งกว่าส่วนอื่นๆ ... ผม 'เชื่อ' ของผมอย่างนั้นนะ เพราะนึกหาเหตุผลอื่นไม่ออกจริงๆ กับเทคนิคการเล่นกับคำต่างๆ ที่เห็นมาตลอดทั้งบทนี้ ...

... มาดู 'กามาสูตร' ตำรับ 'จิวกง' ในวรรคที่หกมั่งดีกว่า ... :D

 

หก หยิน :

咸其輔頰舌
xián qí fǔ jiá shé
เซี๋ยน ชี๋ ฝู่ เจี๋ย เซ๋


輔 อ่านว่า fǔ (ฝู่) ปรกติจะหมายถึง 'แหนบรถ' หรือ 'ไม้คานของรถ' ที่ใช้เพื่อรับน้ำหนักบรรทุก มันจึงสามารถแปลว่า 'พยุง', 'ค้ำ', หรือว่า 'ช่วยเหลือ' และ 'ปกป้อง', แล้วจึงสามารถแปลว่า 'ผู้ช่วย', หรือ 'ผู้สนับสนุน' ได้อีกด้วย ; แต่ในแง่ของสรีระ มันจะแปลว่า 'กระดูกโหนกแก้ม' หรือว่า 'แก้ม' ก็ได้

頰 อ่านว่า jiá (เจี๋ย) แปลว่า 'แก้ม' ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นกระดูกจะหมายถึง 'กระดูกกราม' ซึ่งเป็นส่วนล่างของปาก หรือใบหน้า ในขณะที่ 輔 (fǔ, ฝู่) จะเกี่ยวข้องกับกระดูกส่วนบนของปาก เพราะต่อเนื่องมาจาก 'กระดูกโหนกแก้ม' อีกทีหนึ่ง ; เวลาที่เขียนคู่กันเป็น 輔頰 (fǔ jiá, ฝู่ เจี๋ย) มักจะหมายถึงบริเวณด้านข้างของ 'ใบหน้า' ที่อยู่ระหว่างตา และใบหูทั้งสองข้าง เรื่อยลงไปจนถึงช่วงกราม ; บางครั้ง 頰 (jiá, เจี๋ย) ก็จะถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 夾 (jiā, เจีย) ซึ่งเป็นอักษรประกอบส่วนหนึ่งของมัน แปลว่า 'แทรกอยู่ระหว่างกลางของทั้งสองด้าน' หรือไม่งั้นก็จะแปลว่า 'ด้านข้างทั้งสองด้าน' แทน

舌 อ่านว่า shé (เซ๋อ) ปรกติจะเห็นในความหมายว่า 'ลิ้น' แต่ก็สามารถที่จะใช้ในความหมายว่า 'ภาษา' หรือ 'คำพูด' ก็ได้ เพราะเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับ 'การพูด' โดยตรง ; 舌 (shé, เซ๋อ) ยังสามารถใช้เรียกสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะคล้าย 'ลิ้น' เช่นเปลวไฟ หรือแถบผ้าที่ประดับบนเครื่องแต่งกายทั่วไป

ลองจับคู่กับวรรคที่หนึ่งนะครับ ... ทีแรก 'จิวกง' ก็บอกให้ 'ประสานนิ้วหัวแม่เท้าเข้าด้วยกัน' (咸其拇) ... พอมาถึงวรรคนี้ก็บอกให้ 'ประกบใบหน้ากับลิ้นเข้าหากัน' (咸其輔頰舌) ซะอีก ... โอ้ว ... 'กามาสูตร' รึเปล่าครับเนี่ย ... ????!!!??? ... :D ... มันเป็นอะไรที่ทำให้ผมตัดสินไม่เลือกแปลด้วย 'ความหมายเชิงสรีระ' มาตั้งแต่วรรคแรกไงครับ !! ... :D

หลายตำรามักจะ 'ตีความ' ให้วลีนี้หมายถึง 'การให้คำมั่นแต่ลมปาก' หรือ 'การให้ความสนใจเพียงเฉพาะคำพูดที่สวยหรู' ซึ่งก็จะสะท้อนความหมายที่ไม่ค่อยดีนัก ... แต่ว่า ... ผมเองก็ไม่เห็นร่องรอยที่ 'จิวกง' เอ่ยถึงประเด็นของดี หรือไม่ดีเอาไว้ในวรรคนี้เลย พร้อมๆ กับไม่มีการระบุถึงประเด็นของดี และไม่ดีไว้ใน 'คู่วลี' อย่างวรรคที่หนึ่งอีกด้วย ... ดังนั้นมันก็น่าจะมีความหมายกลางๆ ที่ไม่มีข้อตัดสินว่าดี หรือไม่ดีเช่นเดียวกับวรรคที่หนึ่งเท่านั้น !!

เดิมทีเดียวผมคิดว่าจะ 'ตีความ' ให้ 輔頰 (fǔ jiá, ฝู่ เจี๋ย) กับ 舌 (shé, เซ๋อ) หมายถึง 'เชื้อชาติ' และ 'ภาษา' เพราะการจะหลอมรวมทุกภาคส่วนให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาให้ได้นั้น เราย่อมไม่อาจพิจารณาบุคคลจากเพียง 'ชาติกำเนิด' หรือ 'ภาษา' ที่มีความแตกต่างกันเท่านั้น ... หรือ ... ถ้าจะให้ 輔頰 (fǔ jiá, ฝู่ เจี๋ย) กับ 舌 (shé, เซ๋อ) หมายถึง 'หน้าตา' และ 'คำพูด' ... วลีนี้ของ 'จิวกง' ก็เหมือนกับจะตักเตือนพวกเราว่า ไม่ควรหลงใหล หรือให้ความสำคัญต่อ 'รูปลักษณ์ภายนอก' และ 'การพูดจา' ของแต่ละบุคคลมากจนเกินไป ... เนื่องจากปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาบุคคล ควรจะจำกัดอยู่เพียง 'ความรู้' (亨), 'ความมุ่งมั่น' (利), และ 'คุณธรรม' (貞) เป็นสาระสำคัญเหนือกว่ารายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ทั้งหมด ดังที่ King Wen ได้เปิดประเด็นเอาไว้ ...

แต่หากมองที่ 'ความตั้งใจ' ของ 'จิวกง' ในการเปรียบเทียบ 'ความเป็นปึกแผ่น' กับ 'สรีระของมนุษย์' ... เราอาจจะนึกภาพของการเดินที่เท้าตรง, น่องสะบัด, ต้นขาขยับ, แผ่นหลังไม่บิดเบี้ยว, ... แต่คอดันเอี้ยวไปคนละทาง ??!!?? ... มันก็คงจะเดินตรงไปได้ไม่ตลอดอยู่ดี ... ถูกมั้ย ?! ... :D ... ดังนั้น 'จิวกง' อาจจะกำลังต้องการสื่อถ้อยความเต็มๆ ว่า 'จงประมวล (咸) จุดเด่นจากทุกภาคส่วน (其拇) ให้เกิดความประสาน และการสร้างเสริมซึ่งกันและกัน (咸其輔) เพื่อมุ่งหน้า (頰) ไปในทิศทางแห่งพันธกิจที่เป็นคำมั่น (舌) ร่วมกันของทุกๆ คน' ... เก้าะ ... ถ้าเป็นความหมายดังที่ว่านี้ เราก็จะได้ภาพของเดินเท้าแบบทหารที่ หน้าตรง, คอตั้ง, แผ่นหลังองอาจ, ต้นขาขยับ, น่องสะบัด, เท้าย่ำไม่หยุดยั้ง ... ซึ่งดูแล้วก็จะน่าเกรงขาม (威) เป็นอย่างยิ่ง ... จริงๆ !!!?! ... ;)

 


บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เซี๋ยน' คือ การสร้างความเป็นปึกแผ่น, ขุนเขาใต้ทะเลสาบ

ความรู้, ความทุ่มเท, และคุณธรรม ที่หลอมรวมเป็นกำลังสนับสนุนซึ่งกันและกัน ย่อมนำมาซึ่งความความเจริญรุ่งเรือง

  •  
  • พึงอาศัย 'การประสานจุดเด่น' ของทุกๆ ภาคส่วน ให้มี 'ความสอดคล้องกลมกลืนกัน' อย่างเหมาะสม
  •  
  • หากจับจ้องอยู่กับ 'ประเด็นปลีกย่อย' ที่เป็น 'จุดด้อย' ของผู้คน ย่อมเป็นวิถีปฏิบัติที่นำไปสู่ 'ความสูญเสีย' ; การรู้จัก 'ปล่อยวาง' ข้อบกพร่องอันไม่เกี่ยวข้องกับภาระกิจที่มอบหมาย คือหนทางแห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'การระดมทุกภาคส่วน' ให้มารวมตัวกัน เพียงเพื่อจะสร้าง 'เงื่อนไข' ให้ทุกฝ่ายต้อง 'โอนอ่อนผ่อนตาม' 'ผลสัมฤทธิ์' ที่ได้ย่อม 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' อย่างที่ควรจะเป็น
  •  
  • 'คุณธรรม' และ 'หลักการ' คือปัจจัยที่นำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ; 'ความน้อยเนื้อต่ำใจ' คือปัจจัยที่ต้อง 'สละละ' ... เมื่อทุกฝ่ายสามารถ 'ประสานจุดเด่น' เพื่อ 'ชดเชยจุดด้อย' ระหว่างกัน 'สัมพันธภาพอันเป็นปึกแผ่น' ย่อมก่อเกิดจาก 'ทัศนคติ' ที่ 'เปิดกว้าง' และแสนจะ 'ธรรมดาสามัญ' ดังที่ว่านี้
  •  
  • 'การระดมสรรพกำลัง' จากทุกภาคส่วนให้ 'ประสานกัน' ได้อย่าง 'เป็นปึกแผ่น' ย่อม 'ปลอดพ้น' จาก 'ความวิตกกังวล' ทั้งปวง
  •  
  • จง 'ประมวลจุดเด่น' จากทุกภาคส่วนให้เกิด 'ความประสาน' และ 'การสร้างเสริม' ซึ่งกันและกัน เพื่อมุ่งหน้าไปใน 'ทิศทาง' แห่ง 'พันธกิจ' ที่เป็น 'คำมั่นร่วมกัน' ของทุกๆ คน


 

The Organization Code :



'การสร้างความเป็นปึกแผ่น'  คือ การสนับสนุนฝ่ายขาย (☱) ด้วยข้อมูล และการสื่อสาร (☶) ; 'ระดับนโยบาย' ต้องมีหนักแน่น และเปิดกว้าง (⚏) ; 'ระดับบริหาร' ต้องมีความเด็ดขาดชัดเจน (⚌) ; 'ระดับปฏิบัติการ' ต้องมีความมุ่งมั่นอย่างนุ่มนวล (⚍)

'ความมุ่งมั่นพยายาม' บนพื้นฐานของ 'ความรู้ความชำนาญ' ที่สอดประสานกับ 'คุณธรรม' อย่างกลมกลืน ย่อมเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ทั้งปวง

  •  
  • 'การคัดสรร' บุคลากรมาร่วมงาน ต้องพิจารณาจาก 'ปัจจัยที่โดดเด่น' เป็นบรรทัดฐาน เพื่อ 'ประสานจุดเด่น' ของทุกๆ ภาคส่วน ให้มี 'ความสอดคล้องกลมกลืนกัน' อย่างเหมาะสม
  •  
  • หากมุ่งแต่ 'การคุ้ยแคะ' หา 'ข้อตำหนิปลีกย่อย' ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ 'ภาระกิจ' ที่จะมอบหมาย ย่อมเป็น 'การบ่อนทำลายโอกาส' ทั้งของตนเอง และของผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ ; 'การรู้จักปล่อยวาง' โดย 'ไม่ขุดคุ้ย' ประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นมาเป็น 'เงื่อนไข' พิจารณา ย่อมเป็น 'การเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจ' ตลอดจน 'ทัศนคติที่ดีต่อกัน' อันเป็นปัจจัยที่จะนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'การระดมทุกภาคส่วน' ให้มารวมตัวกัน เพียงเพื่อจะสร้าง 'เงื่อนไข' ให้ทุกฝ่ายต้อง 'โอนอ่อนผ่อนตาม' หรือเพียงแค่จะมอบหมายภาระกิจที่ 'ซ้ำซากยอกย้อน' ... ย่อมมิใช่มรรคาแห่ง 'การประสานงาน' อย่าง 'เป็นปึกแผ่น' ที่จะสามารถก่อ 'ผลสัมฤทธิ์' อันยิ่งใหญ่ใดๆ
  •  
  • 'คุณธรรม' และ 'หลักการ' คือปัจจัยที่นำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ; 'ความอิจฉาริษยา' และ 'ความน้อยเนื้อต่ำใจ' คือปัจจัยที่ต้อง 'สละละ' ... เมื่อทุกฝ่ายสามารถ 'ประสานจุดเด่น' เพื่อ 'ชดเชยจุดด้อย' ระหว่างกัน 'สัมพันธภาพอันเป็นปึกแผ่น' ย่อมก่อเกิดจาก 'ทัศนคติ' ที่ 'เปิดกว้าง' และแสนจะ 'ธรรมดาสามัญ' ดังที่ว่านี้
  •  
  • หาก 'ประสานทุกภาคส่วน' ให้สามารถร่วมรวมกันอย่าง 'เป็นปึกแผ่นที่แน่นหนา' ย่อมเป็น 'การขจัดปัดเป่าอุปสรรค' อัน 'น่าคับข้องใจ' ทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไป
  •  
  • 'การประมวลจุดเด่น' จากทุกภาคส่วนให้เกิด 'ความประสาน' และ 'การสร้างเสริม' ซึ่งกันและกัน ย่อมต้องก้าวให้พ้นไปจาก 'ข้อจำกัด' แห่ง 'ชนชั้นวรรณะ' และ 'ชาติพันธุ์ภาษา' เพื่อยัง 'ความพัฒนาก้าวหน้า' ใน 'ทิศทาง' แห่ง 'พันธกิจ' ที่เป็น 'คำมั่นร่วมกัน' ของทุกๆ คน


หากเราพิจารณาจาก 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ในแง่ของการปฏิบัติงานในระดับองค์กรทั่วๆ ไป ... 'ฝ่ายขาย' หรือ 'ฝ่ายบริการ' (☱) ซึ่งถือเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับ 'ภาคธุรกิจ' นั้น ย่อมเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับ 'โลกภายนอก' โดยหน้าที่ ... ในขณะที่ 'ฝ่ายข้อมูล' (☶) ซึ่งถือเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับ 'ภาคธุรการ' ย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ 'โลกภายใน' เป็นส่วนสำคัญ ... การวางตำแหน่งของสัญลักษณ์ทั้งสองที่ตรงกับ 'ภายนอก' และ 'ภายใน' อย่างตรงๆ ตัว ย่อมสะท้อนถึง 'ความมีระบบระเบียบ' ใน 'การปฏิบัติหน้าที่' ที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ก้าวก่ายกัน แต่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างมี 'เอกภาพ' ... อันเป็นรากฐานสำคัญของ 'ความเป็นปึกแผ่น' ที่เล่าไว้ในบทที่สามสิบเอ็ดนี้

บุคลากรที่ได้รับมอบหมายภาระกิจให้ปฏิบัติงานในแต่ละตำแหน่ง หรือในแต่ละหน้าที่การงาน ย่อมต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมแก่บุคลิกลักษณะ และความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ ... หาใช่ประเด็นของความโดดเด่นสำคัญ หรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในด้านของศักดิ์ศรีฐานะ หรือสถานภาพส่วนบุคคลแต่ประการใด ... เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มนุษย์ทุกคนต่างก็มี 'ข้อจำกัด' ที่ไม่อาจปฏิบัติภาระกิจทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ด้วยลำพังเพียงผู้เดียวอยู่แล้ว !!!

โดยเหตุนี้ 'ผู้นำที่ดี' จึงต้องมี 'จิตใจที่เปิดกว้าง' และ 'เป็นธรรม' (⚏) ; อาศัย 'การบริหารงาน' ที่มี 'ความเด็ดขาดชัดเจน' (⚌) ด้วยมาตรฐานกฎเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับได้อย่างเปิดเผย จึงจะสามารถสานสร้าง 'ความเป็นปึกแผ่น' ที่นำไปสู่ 'การปฏิบัติงาน' อย่าง 'แข็งขัน' โดยปราศจาก 'การแก่งแย่งแข่งดี' หรือ 'การก้าวก่ายหน้าที่' ระหว่างกัน (⚍) ... และนี่ก็คือ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่มีความสวยงามอย่างลงตัวที่สุดอีกภาพหนึ่งใน 'คัมภีร์อี้จิง' ครับ ... ;)