Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第十卦 : 履
履 : 天澤履 ‧ 乾上兌下
履 : 履虎尾‧不咥人‧亨‧
- 初九 ‧ 素履往‧無咎‧
- 九二 ‧ 履道坦坦‧幽人貞吉‧
- 六三 ‧ 眇能視‧跛能履‧履虎尾‧咥人凶‧武人為于大君‧
- 九四 ‧ 履虎尾‧愬愬終吉‧
- 九五 ‧ 夬履‧貞厲‧
- 上九 ‧ 視履考祥‧其旋元吉‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา ทบทวนตรวจสอบ (⚎) อารมณ์ แจ่มใส (⚌) พลานามัย สมบูรณ์ (⚌)
ความหมายในเชิงบริหาร : 'ทีมงาน' หนุน 'นโยบาย' ; เป้าหมายชัดเจน (⚌), แผนงานพรั่งพร้อมรัดกุม (⚎), ทีมงานคึกคัก (⚌)
ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการสำเร็จประโยชน์, ทะเลสาบใต้เวิ้งฟ้า ;)
ความหมายของชื่อเรียก : Accomplishing : การสำเร็จประโยชน์
ถ้าจะมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' ของ 'ภาพสัญลักษณ์' และคำอธิบายที่ King Wen บันทึกเอาไว้ ผมมองว่าบทที่เก้ากับบทที่สิบจะเป็นคู่ของบทที่ต่อเนื่องกันได้อย่างลงตัวที่สุดคู่หนึ่งเลยทีเดียว … โดยเราจะเห็น 'ความต่อเนื่อง' ของภาพ 'ลมที่พัดเหนือเวิ้งฟ้า' ในบทที่เก้า ซึ่งได้หอบเอาไอน้ำมารวมตัวกันจนเป็นกลายเป็นกลุ่มเมฆที่แน่นหนา เหมือนกับจะเป็น 'ทะเลสาบที่ลอยอยู่กลางอากาศ' ในบทที่สิบ และเตรียมพร้อมที่จะโปรยปรายเป็น 'สายฝน' … อันเป็นที่มาของ 'ชื่อบท' ที่ใช้ 'ภาพอักษร' 履 (lǚ, หลฺวี่) แทนความหมายว่า 'มุ่งหน้าดำเนินต่อไป' เพื่อจะบรรลุสู่ 'เป้าหมาย' หรือ 'ความสำเร็จ' ตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้
'ภาพอักษร' ของ 履 (lǚ, หลฺวี่) จะประกอบด้วยภาพย่อยๆ หลายภาพประกอบกัน … เส้นหงิกๆ งอๆ ที่เราเห็นป่ายซ้ายป้ายขวาแล้วลากดิ่งลงมาด้านล่างนั้น จะดูคล้ายกับภาพของ 'คนที่ยืนตัวตรง' โดยมีส่วนที่หงิกงอตรงด้านบนแทนส่วนที่เป็น 'ศีรษะ' และมีเส้นดิ่งลงมาแทน 'ตัวที่ตั้งตรง' … 'ภาพอักษร' ที่ซ้อนอยู่ใต้ 'คนที่ยืนตัวตรง' ก็คือตัว 復 (fù, ฟู่) ที่เล่าไปบ้างแล้วว่า หมายถึง 'การทำซ้ำ', 'การทบทวน', หรือ 'การย้อนกลับ' … ตัวอักษร 履 ที่ปรกติจะใช้ในความหมายว่า 'เดินไป' แต่ก็มักจะมีแฝงความหมายว่า 'เดินอย่างหนักๆ' หรือ 'บดอัดลงไปแรงๆ ด้วยเท้า' หรือเป็นการ 'ย่ำเท้าดังๆ' นั้น ล้วนแล้วแต่มีที่มาจาก 'ภาพอักษร' เดิมที่สื่อความหมายถึง 'การกระทำซ้ำๆ หรือการเน้นย้ำอย่างหนักแน่นของผู้ที่มีความมั่นคง' นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่เลือกคำแปล 'ชื่อสัญลักษณ์' นี้ว่า Treading (การดำเนินไป) หรือ Fulfillment (การเติมเต็ม) เหมือนอย่างในบางตำรา แต่ผมเลือกใช้คำว่า Accomplishing ที่หมายถึง 'การมุ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นภาระหน้าที่ที่ตนต้องปฏิบัติอย่างแน่วแน่มั่นคง' ซึ่งจะคล้ายกับคำว่า Obliging หรือ Obligating ที่เป็นเรื่องของ 'การปฏิบัติโดยถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบเพื่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่น' … ทั้งนี้ คำว่า accomplish ก็ดูจะสอดรับกับคำว่า accumulate ที่ถูกใช้ไปในบทที่เก้าด้วย ;) … ประกอบกับความหมายจริงๆ ที่ King Wen ต้องการจะสื่อออกมา ก็ไม่ใช่อาการ 'เอ้อระเหยลอยไปลายมาอย่างไร้จุดหมาย' … :D … แต่ King Wen น่าจะต้องการสื่อถึง 'การดำเนินไป (สู่จุดหมาย)' อย่างมีความเด็ดเดี่ยว และหนักแน่นมั่นคงมากกว่า ;)
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
lǚ hǔ wěi bù dié rén hēng
หลฺวี่ หู่ เหฺว่ย ปู้ เตี๋ย เญิ๋น เฮิง
ในบทนี้ King Wen ถึงกับทำบัณฑิตขี้แตกขี้แตนกันไปเยอะเลยครับสำหรับวลีที่ว่า 履虎尾不咥人亨 เพราะแทบจะทุกตำราแปลวลีนี้ไว้ว่า 'เหยียบหางเสือ ไม่กัดคน จะก้าวหน้าอย่างราบรื่น' … :D … มันทั้งห้วน ทั้งด้วน และไม่ได้ใจความเอามากๆ เลยนะจะบอกให้ … ถึงแม้ท่อนหลังจะพอได้เค้าความอยู่บ้างว่า 'ไม่กัดคน จะก้าวหน้าอย่างราบรื่น' … แต่ไอ้ 'เหยียบหางเสือ' ที่ต้องไล่ 'ตีความ' ซะเป็นวรรคเป็นเวรว่าหมายถึง 'การดำเนินงานในสภาพที่เสี่ยงกับอันตรายอย่างสุดๆ' … แล้วที่ 'ไม่กัดคน' หรือ 'ไม่ถูกเสือกัด' ก็หมายถึง 'เราต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด' … มันถึงจะ 亨 (hēng, เฮิง) ที่หมายถึง 'ก้าวหน้าอย่างราบรื่น' … บ้า !!!! … ไอ้แบบนั้นเขาเรียกว่า 'เฮง' ต่ะหากเล่า !! ... :D …
มีใครที่ไหนจะเชื่อว่า King Wen ติงต๊องถึงขนาดไปเดินไล่เหยียบหางเสือเล่นมั้ยล่ะ ?!! … ต่อให้มันอาจจะเป็น 'การเปรียบเปรย' ให้หมายถึง 'การดำเนินงานในสภาพที่เสี่ยงอันตราย' จริงๆ ผมก็ยังมองว่า 'ฟังไม่ขึ้น' อยู่ดี !! :) เพราะว่าอาการอย่างนั้นเขาเรียกว่า 'แส่หาเรื่องเอง' … :D … มันเป็น 'ความเสี่ยง' ที่ 'ตัวเองเป็นผู้ก่อ' ไม่ใช่เพราะสภาพแวดล้อมมันอันตรายซักหน่อย … หางของเสือเขามีไว้ให้คนไปเดินเหยียบเล่นได้รึไง ??!! … ติงต๊อง !!!
คือถ้า 'ไม่บ้าเซียมซี' กับ 'ไม่เปิดอ่านแบบแว้บไปแว้บมา' เหมือนคนบ้าๆ บอๆ ที่เรียงหน้ากระดาษไม่เป็นนะ แต่อ่าน 'คัมภีร์อี้จิง' อย่างตั้งอกตั้งใจจริงๆ มาตั้งแต่บทแรกๆ … วลีของ King Wen ที่ว่า 履虎尾不咥人亨 ที่เห็นในบทนี้ ก็จะมีความหมายเดียวกับวลีที่สองของ 'จิวกง' ที่บันทึกไว้ในบทที่สองว่า 直方大不習無不利 (การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ ผู้ที่ยึดมั่นในหลักแห่งธรรม จึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก เนื่องเพราะความดี ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น) … แล้วก็เพราะความเกี่ยวพันของความหมายดังที่ว่ามานี้เองที่ทำให้ผมมองว่า อักษร 虎 (hǔ, หู่) ที่ King Wen เลือกใช้ในวลีนี้ น่าจะต้องมีเจตนาให้หมายถึงบางอย่างที่นอกเหนือจาก 'เสือ' อย่างแน่นอน !!!??!! … หรือถึงแม้ว่ามันจะหมายถึง 'เสือ' คำว่า 履虎尾 ก็ไม่ได้แปลว่า 'เดินเหยียบหางเสือ' แต่มันจะต้องแปลว่า 'เดินตามหลังเสืออย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคง' … ซึ่งประเด็นที่น่าจะต้องสนใจเป็นพิเศษก็คือ 'เสือ' ตัวนี้แหละ !!?!! ;)
虎 อ่านว่า hǔ (หู่) โดยทั่วไปจะแปลว่า 'เสือ', แต่มันก็แฝงความหมายว่า 'ดุร้าย', 'โหดเหี้ยม', 'ห้าวหาญ', 'ยิ่งใหญ่', หรือ 'มีพละกำลังมาก' และยังสามารถที่จะหมายถึง 'ว่องไว', 'กระทันหัน', หรือ 'ทันทีทันใด', ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะที่เด่นๆ ของ 'เสือ' ด้วยกันทั้งสิ้น ; ในสมัยหนึ่ง ตัวอักษร 虎 ยังถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 唬 (hǔ, หู่) ที่หมายถึง 'การข่มขู่', 'การคุกคาม', หรือ 'การทำให้หวาดกลัว' ; และยังสามารถใช้แทน 琥 (hǔ, หู่) ที่หมายถึง 'โอปอ' (琥珀) ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากจะ 'ตีความ' ด้วยคติความคิดแบบ 'หยิน-หยาง' แล้ว … 龍 (lóng, ล๋ง) หรือ 'มังกร' จะถูกจัดให้เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' แทน 'พลังแห่งหยาง' ในขณะที่ 'เสือ' หรือ 虎 (hǔ, หู่) จะถูกยกให้เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' แทน 'พลังแห่งหยิน' ที่นอกเหนือจาก 'ม้า' หรือ 馬 (mǎ, หฺม่า) ที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้ … โดยที่เมื่อใดก็ตามที่ 'พลังแห่งหยิน' สะท้อนถึง 'ความหนักแน่นมั่นคง', 'ความขยันขันแข็ง' หรือ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' เขาก็จะใช้ภาพของ 'ม้า' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' … แต่ถ้าเมื่อใดที่ 'พลังแห่งหยิน' สะท้อนถึง 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว', 'ความกล้าหาญอย่างตรงไปตรงมา' หรือ 'ความยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง' เขาก็จะใช้ภาพของ 'เสือ' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' เพื่อสะท้อนถึง 'ความกล้า' ที่จะเผชิญกับทุกอุปสรรค หรือความพร้อมที่จะยอม 'อุทิศตัว' เพื่อธำรงรักษาหลักจริยธรรมที่ถูกต้องเอาไว้ … เพราะฉะนั้น 'การตีความ' ให้ตัวอักษร 虎 (hǔ, หู่) ที่เห็นในวรรคนี้ของ King Wen ว่าเป็น 'การเปรียบเปรย' นั้นก็ถูกต้องอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ในความหมายว่า 'ความอันตราย' แต่อย่างใดเลย … เพราะ 'ความอันตราย' ที่ว่านั้น เป็นความหมายที่เรา 'ตีความ' จาก 'ความรู้สึกของเราเอง' ที่มีต่อ 'เสือ' … โดยไม่มีความหมายใดๆ ของ 虎 มารองรับเลยแม้แต่ความหมายเดียว … เพราะฉะนั้น 虎 ที่เห็นในวรรคนี้จึงหมายถึง 'ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง' ซึ่งจะพ้องความหมายกับคำว่า 直方 นั่นเอง
尾 อ่านว่า wěi (เหฺว่ย) แปลว่า 'หาง', 'ท้าย' หรือ 'ข้างหลัง' … ถึงแม้คำว่า 虎尾 จะสามารถแปลว่า 'หางของเสือ' ผมก็ไม่เถียงหรอกครับ แต่มันก็สามารถแปลว่า 'ด้านหลังของเสือ' ได้ด้วยเหมือนกัน … และเมื่อเรารู้แล้วว่า 虎 มี 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' เป็น 'หยิน' หรือ 'คุณธรรม' … คำว่า 履虎尾 จึงควรจะถูกแปลว่า 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดดำเนินการทุกอย่างตามหลักแห่งธรรม' นะครับ … ไม่ใช่ 'เหยียบหางเสือ' … :D
咥 อ่านว่า dié (เตี๋ย) แปลว่า 'กัด', 'ฟัด', หรือ 'ทำร้าย' ; บางครั้งยังหมายถึง 'แยกเขี้ยวยิงฟัน' ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อ 'ข่มขู่' หรือ 'คำราม' ซึ่งเป็น 'การแสดงอำนาจ' ; ในขณะที่อีกความหมายหนึ่งจะหมายถึง 'หัวเราะเยาะ', 'เย้ยหยัน' หรือ 'ดูหมิ่นดูแคลน' อันเป็นลักษณะของ 'การกดข่มผู้อื่น' ให้รู้สึกด้อยลง
ความหมายชัดๆ ของวลีอธิบาย 'ชื่อสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ก็คือ … 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดในการดำเนินงานทุกอย่างตามหลักแห่งธรรม (履虎尾) โดยไม่มีความคิดที่จะข่มเหงรังแก หรือไม่เหยียบย่ำทำร้ายผู้อื่นให้ด้อยคุณค่าลงไป (不咥人) ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนาอย่างราบรื่น (亨)' … แล้วลองเทียบกับวลีนี้ของ 'จิวกง' อีกครั้งครับ … 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดีย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不利) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น' … เป็นคู่ synonyms ที่ลงตัวมากๆ เลยเห็นมั้ย ??!! ;)
แต่ถ้าชอบที่จะ 'ตีความ' ให้เกี่ยวกับ 'เสือ' จริงๆ ล่ะก็ ผมขอเสนอคำแปลแบบนี้ครับ … 'การยืนหยัดอย่างห้าวหาญ และสง่างามเยี่ยงพยัคฆ์ (履虎尾) ที่ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่เพื่อทำร้ายผู้คน (不咥人) ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนาอย่างราบรื่น (亨)' … อย่าบ้าไป 'เหยียบหางเสือเล่น' เลยดีกว่ามั้ง !!? ... :D
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
素履往無咎
sù lǚ wǎng wú jiù
ซู่ หลฺวี่ หฺวั่ง อู๋ จิ้ว
素 อ่านว่า sù (ซู่) แปลว่า 'เรียบง่าย', 'ธรรมดา', 'ปรกติ', 'ดั้งเดิม', 'เก่าแก่' ; และอาจจะหมายถึง 'สีขาวบริสุทธิ์' ด้วยก็ได้ ซึ่งคงแผลงมาจากความที่ 'ไม่มีสิ่งเจือปน' ; และทำให้บางครั้งจึงหมายถึง 'ว่างเปล่า' หรือ 'ซื่อสัตย์', 'ซื่อตรง', 'สุจริต' ; แต่เพราะความเรียบๆ ง่ายๆ บางทีก็เลยทำให้มันหมายถึง 'ยากจน', หรือ 'ต่ำต้อย', 'ไม่มีราคา' กันไปเลยก็มี ;)
สำหรับ 往 (wǎng, หฺวั่ง) สามารถที่จะแปลว่า 'กลับเข้ามา', หรือ 'ย้อนออกไป' ก็ได้ ; จะแปลว่า 'ได้รับผลสนอง' หรือจะแปลว่า 'สนองคืนกลับไป' ก็ได้อีก ; คือเป็นคำที่มีความหมายได้ทั้ง 'รับเข้า' และ 'ส่งคืน' โดยตัวของมันเอง ในลักษณะที่เป็น 'ปฏิสัมพันธ์กัน' มากกว่าที่จะหมายถึง 'การรับสนอง' หรือ 'การตอบสนอง' อย่างเจาะจงลงไป
ผมมองว่า ความหมายของวรรคแรกนี้น่าจะไม่ซับซ้อนมากนัก เพราะมันหมายถึง 'การดำเนินงานด้วยความเรียบง่ายตรงไปตรงมา (素履) โดยปราศจากการเสแสร้งแกล้งดัด ผลลัพธ์ที่ตามมา (往) ย่อมไม่เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' … คิดว่าน่าจะแค่นี้นะ :)
อย่างไรก็ตาม คำว่า 素 (sù, ซู่) ที่หมายถึง 'เรียบง่าย', 'ธรรมดา', 'เป็นธรรมชาติ' หรือว่า 'ว่างเปล่า' นั้น ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงวรรคที่สองของ 'จิวกง' ที่บันทึกไว้ในบทที่สองว่า 直方大不習無不利 แล้วผมก็อุตริ 'ตีความ' ให้วลีที่ว่า 不習無 หมายถึง 'การไม่รู้จักปล่อยวาง', 'การไม่รู้จักลดละอัตตา', หรือ 'การไม่รู้จักฝึกจิตใจให้เข้าถึงความว่างเปล่า' อันจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ 'ความโชคไม่ดี' (不利) ตามที่ 'จิวกง' ระบุไว้ตรงท้ายวรรค … แล้วพอมาถึงบทนี้ 'จิวกง' ก็สลับความหมายซะใหม่ว่า 素履往無咎 ซึ่งสามารถ 'ตีความ' ได้ว่า 'การดำเนินงานอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา ด้วยจิตใจที่ปล่อยวางจนว่างเปล่าจากอัตตา (素履) ย่อมจะไม่โชคร้าย (往無咎)'
จะเห็นว่า แม้ความหมายในแง่ที่เป็น 'การปล่อยวาง' หรือ 'การฝึกจิตให้ว่าง' จะไม่ใช่ความหมายหลักที่ผมเล่าไว้ในบทที่สอง แต่ความหมายดังกล่าวก็กลับสะท้อนมาให้เห็นในบทที่สิบนี้อย่างค่อนข้างตรงตัวเลยทีเดียว ซึ่งโดยปรกติแล้ว วรรคที่หนึ่งของ 'จิวกง' ในแต่ละบท มักจะถูกบันทึกเพื่อให้สะท้อนความหมายของ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen บันทึกเอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในกรณีของบทนี้ก็ยังคงรักษามตรฐานดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน โดยจะเห็นว่า 履虎尾不咥人 ซึ่งหมายถึง 'แน่วแน่ในหลักแห่งธรรม โดยปราศจากอคติที่คิดร้ายต่อผู้อื่น' ถูกแทนที่ด้วยความหมายของ 素履往 คือ 'ปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาด้วยจิตใจที่ปล่อยวางจนว่างเปล่า' …
ในขณะเดียวกับผลลัพธ์ที่ King Wen บันทึกไว้ว่า 亨 ซึ่งหมายถึง 'ความก้าวหน้า' ก็จะถูก 'จิวกง' ขยายความด้วย 無咎 ที่สามารถแปลว่า 'ไม่มีอุปสรรค' หรือ 'ราบรื่น' ก็ได้ … และเมื่อ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้ ไปสอดรับกับความหมายของวรรคที่สองซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ในบทที่สองซะเอง … คำว่า 不習無 ที่ผมเคยอุตริ 'ตีความ' ให้เป็นเรื่องของ 'การไม่ยอมฝึกจิตให้ว่าง' ก็จะกลายเป็นแง่มุมที่เป็นไปได้ขึ้นมาทันที ;) … นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ 'การสะท้อนความหมายข้ามบท' ของ 'จิวกง' สามารถแผลงความหมายของตัวอักษรชุดเดิม ให้เกิดเป็นแง่มุม หรือหลักคิดที่แตกต่างออกไปได้มากกว่าหนึ่งความหมาย และกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าดึงดูดใจของ 'คัมภีร์อี้จิง' ซึ่งบัณฑิตอีกหลายชั่วอายุคนต่อมา ต่างก็ยินดีที่จะ 'นั่งคิด-นอนแคะ' ความหมายอันละเอียดอ่อนของมันออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ … อย่างเมามัน !!! … :D
履道坦坦幽人貞吉
lǚ daò tǎn tǎn yōu rén zhēn jí
หลฺวี่ เต้า ถั่น ถ้่น อฺยิว เญิ๋น เจิน จี๋
坦 อ่านว่า tǎn (ถั่น) แปลว่า 'ราบเรียบ', 'กว้างใหญ่' ; 'จิตใจกว้างขวาง', 'องอาจผ่าเผย', 'มีความจริงใจ', 'จิตใจที่สงบสุข', 'ไม่มีความกังวล', 'ไม่มีความคับข้องหมองใจ' ; 'ไม่มีอุปสรรค', 'ราบรื่น' ; และในความหมายว่า 'ราบเรียบ' ก็ยังสามารถแผลงความหมายเป็น 'ความอ่อนน้อม' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยา จะหมายถึง 'เปิดออก', 'เปิดเผย', 'นำออกแสดง', หรือ 'บอกให้รู้'
幽 อ่านว่า yōu (อฺยิว) แปลว่า 'ปกปิด', 'ซ่อนเร้น', 'ไม่แสดงตัว', 'เงียบสงบ', 'ร่มเย็น', 'ไม่ถูกรบกวน', 'วิเวก', 'วังเวง', 'ลึกลับ', หรือ 'สันโดษ', 'โดดเดี่ยว', จึงมีบางกรณีที่หมายถึง 'การจับกุมคุมขัง' ได้ด้วย
จะว่าไปวรรคนี้ก็จะเหมือนกับเป็น 'การขยายความ' ให้กับวรรคที่หนึ่งที่เพิ่งจะเล่าไปเท่านั้นเองแหละครับ โดยวรรคที่หนึ่งนั้น จะเน้นอยู่ที่ 'ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา' แล้ว 'จิวกง' ก็สำทับซ้ำลงไปในวรรคนี้อีกครั้งว่า 'การดำเนินงานด้วยความมั่นคงในหลักแห่งธรรม (履道) ต้องถือปฏิบัติอย่างผ่าเผยและจริงใจ (坦坦) แต่ก็ต้องประกอบด้วยความอ่อนน้อม ไม่ยกตนเพื่อกดข่มผู้อื่น (幽人) คุณธรรมความดีทั้งหลาย (貞) จึงจะเจริญงอกงาม (吉)'
ตรงนี้มีประเด็นที่น่าจะต้องเอ่ยถึงไว้นิดหน่อยครับ เราอาจจะทันสังเกตเห็นว่า 素 (sù, ซู่) ที่ได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา' หรือ 'ปราศจากการเสแสร้งแกล้งดัด' นั้น มีโอกาสที่อาจจะถูกเหมาๆ เอาให้หมายถึง 'การทำตัวกิ๊กก๊อก' ได้เหมือนกัน … :D … ซึ่งก็บ่อยครั้งพอสมควรที่ 'พวกสุดโต่ง' ทั้งหลายมักจะ 'ทึกทักกันเอาเอง' ว่า 'การทำตัวซอมซ่อ' ราวกับ 'ไม่สนใจใยดีต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตัวเอง' เลยนั้น คือ 'ความเรียบง่าย' … อันนี้ย้ำเลยครับว่า 'ราวกับไม่สนใจ' … ;) … เพราะพวกนี้มักจะ 'สนใจทุกรายละเอียด' แต่จะพยายามทำตัวให้ 'พิลึกพิลั่น' จนเป็นที่สังเกตได้โดยผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเสมอ … ถึงแม้ว่าหลายๆ รายก็ไม่ได้ 'อยากเด่น-อยากดัง' อะไรนักหนาหรอกครับ แต่พวกนี้ก็มักจะแสดงออกด้วยลักษณะของ Anti-Socialization ประเภท 'ต่อต้านกระแสสังคม' โดยมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติกันเป็นปรกติอยู่นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของ 'ความปลิ้นปล้อนหลอกลวง' ไปซะทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งการอาบน้ำ หรือทำตัวให้สะอาดสะอ้านก็ตาม :D …
ซึ่งพวกถือลัทธิ 'โสโครกนิยม' เหล่านี้ น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยของ 'จิวกง' แล้วด้วยซ้ำ :D 'จิวกง' ถึงต้องเอ่ยย้ำในวรรคนี้ว่า 'การถือหลักคุณธรรมจะต้องกระทำอย่างสง่าผ่าเผย' หรือควรจะต้องมี 'ความสง่างาม' กันพอสมควร โดยคำว่า 坦坦 ที่ 'จิวกง' เลือกใช้นั้น จะแฝงความหมายว่า 'มีจิตใจที่เบิกบานและเปิดกว้าง', 'ไม่มีความคับข้องหมองใจ', เป็น 'ความเรียบง่ายที่งามสง่า และมีความอ่อนน้อมในท่าทีที่แสดงออก' … ไม่ใช่ประเภทที่มี 'อารมณ์เก็บกด' แล้วแสดงออกด้วย 'การประชดสังคม' เหมือนพวก 'โสโครกนิยม' เขาทำกัน !! … :D
眇能視跛能履履虎尾咥人凶武人為于大君
miǎo néng shì bǒ néng lǚ lǚ hǔ wěi . dié rén xiōng wǔ rén wéi yǘ dà jün
เหฺมี่ยว เนิ๋ง ษื้อ ป่อ เนิ๋ง หลฺวี่ หลฺวี่ หู่ เหฺว่ย เตี๋ย เญิ๋น เซฺวิง อู่ เญิ๋น เว๋ย ยฺวี๋ ต้า จฺวิน
眇 อ่านว่า miǎo (เหฺมี่ยว) เดิมทีเคยแปลว่า 'ตาบอดข้างเดียว', แต่ต่อมาก็หมายถึง 'ตาบอด (ทั้งสองข้าง)' ได้ด้วย ; นอกจากนี้ก็ยังหมายถึง 'หรี่ตา' เวลาที่มองอะไรที่อยู่ไกล หรือสูงมากๆ ; มันจึงแผลงความหมายเป็น 'ไกลๆ' หรือ 'สูงๆ' ไปด้วยซะเลย ;) … และยังหมายถึง 'เล็ก', 'จิ๋ว', หรือ 'ไม่สำคัญ' เหมือนกับตัว 渺 (miǎo, เหฺมี่ยว) เพราะความที่มันอยู่ไกล หรือสูงมากๆ นั่นอีกด้วย ; แต่ถ้าหมายถึง 'เล็กมากๆ' หรือ 'เล็กละเอียด' ไปเลย ความหมายก็จะเหมือนกับตัว 秒 (miǎo, เหฺมี่ยว) ; หรือถ้าหมายถึง 'ความละเอียดอ่อน' หรือ 'สวยงาม' ก็จะใช้เหมือนกับตัว 妙 (miào, เมี่ยว) ไป ; ตัวอักษร 眇 (miǎo, เหฺมี่ยว) ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'หรี่ตามอง' หรือ 'สำรวจตรวจตราอย่างละเอียด' (scrutinize)
視 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'มอง', 'ดู', 'เห็น', 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', 'สังเกต' ; หรือ 'เปรียบเทียบ'
跛 อ่านว่า bǒ (ป่อ) แปลว่า 'ขาเป๋', 'ขาพิการ', 'เดินกะโผลกกะเผลก', หรือ 'เดินไม่ตรง'
武 อ่านว่า wǔ (อู่) นี่ก็คือตัวอักษร 'บู๊' ที่มักจะใช้ในความหมายตรงข้ามกับตัว 'บุ๋น' (文) … โดยปรกติ 武 (wǔ, อู่) จะแปลว่า 'ห้าวหาญ', 'ดุเดือด', 'ดุร้าย', 'รุนแรง', 'ที่เต็มไปด้วยกำลัง', โดยมากจะหมายถึง 'การทหาร', 'การรบ' หรือ 'การต่อสู่' ; ส่วนความหมายที่ไม่ค่อยจะเห็นใช้กันก็คือ 'รอยเท้า' และยังใช้เป็น 'หน่วยวัดความยาว' หรือ 'ระยะก้าวเท้า' โดยความยาวประมาณ 3 ฟุตจะเรียกว่า 1 武 (wǔ, อู่) … แต่ถ้าความยาวประมาณ 6 ฟุตจะเรียกว่า 1 步 (bù, ปู้) ; นอกจากนั้นแล้วมันก็ยังแปลว่า 'การเต้นรำ' ได้อีกด้วย
為 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'กระทำ', หรือ 'ถูกกระทำ', 'จัดการ', 'กลับกลาย', 'กลายเป็น' ; แต่ถ้าออกเสียงเป็น wèi (เว่ย) จะแปลว่า 'ช่วยเหลือ', 'สนับสนุน'
于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) ปรกติจะใช้เป็น 'คำเชื่อมประโยค' หรือ 'คำเชื่อมวลี' ในลักษณะของ 'คำบุรพบท' (preposition) เช่นเดียวกับ in, on, at, to หรือ go to
ผมคิดว่า 'จิวกง' คงตั้งใจที่จะเลือกใช้ 'ภาพเปรียบเทียบ' บางอย่างในวรรคนี้ เพื่อจะตอกย้ำความหมายของ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen บันทึกเอาไว้ โดยแยกวลีของ King Wen ออกเป็น 'สองปัจจัยแห่งความก้าวหน้า' คือ (1) ต้องมีความเด็ดเดี่ยวในการดำเนินตามหลักแห่งคุณธรรม (履虎尾) กับ (2) ต้องปราศจากอคติที่มุ่งทำร้ายผู้อื่น (不咥人) … โดยถือว่า 'การมุ่งไปสู่ความสำเร็จ' หรือ 'การสำเร็จประโยชน์' นั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งสองปัจจัยนี้เป็น 'ปัจจัยเสริมส่ง' หากบกพร่องลงไปในด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะเปรียบเสมือนกับ 'การดำเนินงานที่พิกลพิการ' ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างยุ่งยาก และลำบากลำบนมากขึ้น … นั่นคือที่มาของการยกคำว่า 眇能視 (แม้ว่าจะตาบอดไปข้างหนึ่ง แต่ก็ยังสามารถที่จะมองเห็น) และ 跛能履 (แม้ว่าจะขาเป๋ แต่ก็ยังสามารถที่จะเดิน) … โดยทุกคนก็จะสามารถรับรู้ได้โดยสามัญสำนึกอยู่แล้วว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าว ย่อมจะไม่สะดวกสบายเท่ากับการที่เรามีอวัยวะที่ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างแน่นอน
สำหรับวิธีการลำดับวรรคของ 'จิวกง' ในบทนี้ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ โดยวรรคแรก 'จิวกง' เน้นความหมายไปที่วลี 履虎尾 ของ King Wen โดยใช้วลีที่ว่า 素履往 (การดำเนินงานด้วยความเรียบง่ายตรงไปตรงมา โดยปราศจากการเสแสร้งแกล้งดัด หรือไม่ยึดติดในอัตตา) … ส่วนวลี 不咥人 ของ King Wen ก็จะได้รับการขยายความด้วยคำว่า 幽人 ในวรรคที่สอง ซึ่งอมความหมายทั้ง 'ไม่อวดโอ่' และ 'ไม่กดข่มรังแกผู้อื่น' เหมือนกับสำนวนไทยที่ว่า 'ไม่ยกตนข่มท่าน' นั่นเอง … ซึ่งต้องถือว่า 'จิวกง' ได้ขยายความทั้งสองปัจจัยไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อมาถึงวรรคที่สาม ซึ่งบังเอิญว่าตรงกับ 'เส้นหยิน' ที่มีลักษณะเป็น 'เส้นที่ขาดตอนไม่ต่อเนื่อง' … 'จิวกง' ก็เลือกจังหวะนี้ใช้ 'ภาพเปรียบเทียบ' เพื่อสื่อความสำคัญของทั้งสองปัจจัยที่เอ่ยถึงนั้นว่า เป็นปัจจัยที่จะขาดตกบกพร่องในด้านหนึ่งด้านใดไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้ว การดำเนินงานก็จะกลายเป็นความยุ่งยากลำบาก เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตของคนที่มีอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์ …
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ความหมายของวรรคนี้จึงได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'ถึงแม้ว่าตาบอดไปหนึ่งข้างก็ยังสามารถจะมองเห็น (眇能視) หรือหากขาเป๋ไม่สมส่วนก็ยังสามารถที่จะเดิน (跛能履) … ความเด็ดเดี่ยวในการมุ่งความสำเร็จที่แม้จะดำเนินตามหลักแห่งคุณธรรม (履虎尾) แต่กลับมีใจฝักใฝ่ในการทำร้ายผู้อื่น (咥人凶) ย่อมไม่ต่างจากการมีผู้นิยมความรุนแรง (武人) มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ (為于大君)'
ผมคิดว่าวลี 武人為于大君 สามารถ 'ตีความ' ออกไปได้หลายแง่มุมพอสมควร ประเด็นแรกที่น่าจะต้องเอ่ยถึงก็คือ 'จิวกง' ไม่เลือกใช้คำอื่นที่หมายถึง 'คนป่าเถื่อน' หรือ 'คนพาล' แต่เลือกใช้คำว่า 武人 ที่ตามภาษานิยายกำลังภายในก็น่าจะแปลว่า 'ชนชาวยุทธภพ' โดยอาจจะเป็น 'นักต่อสู้', 'นักรบ', หรืออาจจะเป็น 'ขุนนางฝ่ายบู๊' ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว บุคคลเหล่านี้มักจะ 'ไม่ใช่คนเลว' หรือ 'ไม่ใช่คนต่ำทราม' ในแง่ของ 'หลักจริยธรรม' หรือ 'หลักคุณธรรม' … เพียงแต่เป็นบุคคลประเภทที่ 'นิยมการแก้ปัญหาด้วยกำลัง' มากกว่าที่จะใคร่ครวญถึงทางเลือกอื่นๆ อย่างรอบด้านซะก่อนเท่านั้นเอง :) … สำหรับคำว่า 為于 ถ้าแปลว่า 'กลายมาเป็น' ก็ต้องออกเสียงว่า wéi yǘ (เว๋ย ยฺวี๋) แต่ถ้าจะแปลว่า 'ให้ความช่วยเหลือ' หรือ 'ให้การสนับสนุน' ก็น่าจะต้องออกเสียงว่า wèi yǘ (เว่ย ยฺวี๋) โดยวลี 武人為于大君 อาจจะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'เหล่าทหารมาให้การสนับสนุนท่านผู้นำ' ก็ได้ …
ประเด็นนี้ ผมเพียงแต่มองว่า การที่มีเหล่าทหารมาให้การสนับสนุน หรือมาให้ความช่วยเหลือนั้น น่าจะครอบคลุมความหมายได้ไม่ชัดเจน เพราะมันแทบจะไม่ได้บ่งบอกเลยว่า ตัว 'ผู้นำ' (大君) เองนั้นเป็นบุคคลประเภทที่ 'นิยมการใช้กำลัง' หรือไม่ … ในขณะที่การ 'ตีความ' ให้ 'ผู้นิยมความรุนแรง' กลายมาเป็น 'ผู้นำ' ซะเอง น่าจะครอบคลุมความหมายได้ครบถ้วนมากกว่า เพราะในที่สุดแล้ว บุคคลประเภทนี้ก็คงจะต้องนำเอากำลังทหารมาเป็น 'เครื่องมือในการดำเนินงาน' อยู่ดี … ;) … เพราะในที่สุดแล้ว หน้าที่ในการต่อยตีกับผู้คน (武人) ก็น่าจะหนีไม่พ้นที่ผู้นำประเภทดังกล่าวต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย (為于大君) ตลอดเวลาอย่างแน่นอน !! … :D
แต่หากมองว่า 武人為于大君 หมายถึง 'คนที่ต้องแบกภาระอันหนักหน่วงไว้ทั้งหมด (武人) ย่อมจะกลายเป็น (為于) ตัวผู้นำ (大君) ซะเอง' … ซึ่งก็เป็นความหมายที่น่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง เพราะหากว่าตัว 'ผู้นำ' ที่แม้ว่าจะยึดมั่นใน 'หลักคุณธรรม' แต่กลับเลือกวิถีทางที่มุ่งทำร้ายผู้คนที่ตนถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ย่อมเป็นการยากที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดยินดีเข้าร่วมงานด้วยอย่างวางใจ … และเมื่อ 'ผู้นำ' ปราศจาก 'ผู้ตาม' ย่อมไม่ต่างไปจากบุคคลที่ปราศจากแขนขา หรือถึงมีก็อาจจะพิกลพิการจนยากแก่การดำเนินงานได้อย่างราบรื่น … ตรงนี้มันก็จะไปสอดคล้องกับ 'ภาพเปรียบเทียบ' ที่ 'จิวกง' หยิบยกขึ้นมาแสดงไว้ในตอนต้นวรรคพอดิบพอดี !!! ;)
เอาเป็นว่า ผมยังไม่อยาก 'ฟันธง' ลงไปว่า 'จิวกง' กำลังต้องการจะสื่อถึงความหมายแบบไหน ... ;) … ขอแว้บไปดูรายละเอียดในอีกสามวรรคที่เหลืออยู่ก่อน … แล้วค่อยตัดสินใจอีกที … ดีกว่า !!! ... ;)
履虎尾愬愬終吉
lǚ hǔ wěi sù sù zhōng jí
หลฺวี่ หู่ เหฺว่ย ซู่ ซู่ จง จี๋
愬 ถ้าออกเสียงว่า sù (ซู่) จะใช้ในความหมายเดียวกับ 訴 (sù, ซู่) ที่แปลว่า 'บอกกล่าว', 'ทำให้รู้', 'สรุป (ให้ได้ใจความ)' หรือ 'ย่นย่อให้กระชับ' ซึ่งมีลักษณะของ 'การผูกโยงเรื่องราว' ให้เป็นเนื้อหาที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ; บางครั้งยังแปลว่า 'กล่าวโทษ', 'กล่าวหา' ในลักษณะที่เป็น 'การสรุปสำนวน' เพื่อ 'การฟ้องร้อง' หรือ 'ตั้งข้อตำหนิติเตียน' ; มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'การโต้เถียง', 'การโต้แย้ง' หรือ 'การปรึกษาหารือ' เพื่อ 'หาข้อสรุป' … มันจึงมีความหมายคล้ายกับตัว 遡 (sù, ซู่) ที่เกี่ยวกับ 'การสืบค้นต้นสายปลายเหตุ' ด้วย … และในลักษณะของ 'การสืบค้น' เพื่อ 'ย้อนกลับไปหาต้นตอ' มันจึงสามารถแผลงความหมายเป็น 溯 (sù, ซู่) ที่แปลว่า 'ทวนกระแส (น้ำ)' และสามารถหมายถึง 'การทบทวน (ความจำ)' ได้อีกต่างหาก
แต่ถ้าออกเสียงว่า shuò (ษั้ว) จะแปลว่า 'หวาดกลัว', 'น่ากลัว' ซึ่งอาจจะมาจากลักษณะของ 'การขดตัว' หรือ 'การย่นย่อ', 'การห่อตัว' เพื่อหลบหลีกจากการคุกคาม หรือจากภัยอันตรายต่างๆ
หากถอดอักษร 愬 (sù, ซู่) ออกเป็นสองส่วน ส่วนบนจะเป็นอักษร 朔 (shuò, ษั้ว) แปลว่า 'เริ่มต้นเดือนใหม่' โดยคำว่า 朔日 (shuò rì, ษั้ว ญื่อ) หรือ 朔望 (shuò wàng, ษั้ว วั่ง) จะหมายถึง 'วันที่หนึ่งของเดือน' ตามปฏิทินจีน … แต่ความหมายที่อาจจะแปลกตาหน่อยก็คือ 朔 (shuò, ษั้ว) สามารถแปลว่า 'ทิศเหนือ' ซึ่งตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fu Xi จะเป็นตำแหน่งของ 坤 (☷, ดิน) แต่ถ้าเป็นของ King Wen ก็จะเป็นตำแหน่งของ 坎 (☵, แอ่งน้ำ) ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็น 土 (tǔ, ถู่ = ดิน) ด้วยกันทั้งสองสัญลักษณ์ … ด้านล่างของ 愬 จะเป็นอักษร 心 (xīn, ซิน) ที่แปลว่า 'จิตใจ', 'หัวใจ', 'ความคิด', 'ความตั้งใจ' ; และสามารถที่จะหมายถึง 'ใจกลาง', 'ศูนย์กลาง' ได้ด้วย ... จึงทำให้มันดูคล้ายกับจะมีความหมายเหมือนกับ 思 (sī, ซือ) ที่แปลว่า 'ครุ่นคิด' หรือ 'คิดทบทวน' ทั้งๆ ที่มันมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน
โดยเหตุผลของ 'ภาพอักษร' แล้ว ความหมายที่แปลว่า 'ความหวาดกลัว' หรือ 'ความน่ากลัว' จึงน่าจะไม่ใช่ 'ความหมายดั้งเดิม' ของตัวอักษร 愬 (sù, ซู่) แต่คงจะเป็นความหมายที่แผลงมาจากอาการ 'หด' หรือ 'ย่อ' มากกว่า … คำว่า 愬愬 ในวรรคนี้จึงน่าจะหมายถึง 'มีความใคร่ครวญด้วยความเข้าใจ' หรือ 'มีความกระจ่างใสในจิตใจ' ซึ่งเกิดจาก 'การสืบค้นจนพบหลักแห่งธรรม' อันเป็น 'รากเหง้า' หรือ 'ต้นธาร' แห่ง 'คุณงามความดี' ทั้งหลายทั้งปวง … อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีบางตำราที่ 'ตีความ' ให้อักษร 愬 (sù, ซู่) ที่เห็นนี้ มีความหมายว่า 'ความหวาดกลัว' ก็ตาม แต่มันก็ยังมีผลให้คำว่า 愬愬 มีความหมายในทำนองว่า 'เต็มไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด' ซึ่งก็ใกล้เคียงกับความหมายว่า 'มีความใคร่ครวญ' ที่ผม 'ตีความ' เอาไว้ไม่มากนัก ;) … มีประเด็นที่แตกต่างกันอย่างลิบลับอยู่เพียงจุดเดียวก็คือ ผมจะไม่ยอม 'ตีความ' ให้ 履虎尾 หมายถึง 'การเหยียบหางของเสือ' โดยเด็ดขาด … เท่านั้นเอง !!! … :D
ความหมายที่ควรจะเป็นสำหรับวรรคนี้ก็คือ 'การดำเนิน (履) ตามรอยของหลักแห่งธรรม (虎尾) จะต้องรู้จักใคร่ครวญ และทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน (愬愬) ผลลัพธ์ในบั้นปลาย (終) จึงจะก่อให้เกิดความเจริญ (吉)'
หากเราจับคู่ระหว่างวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ ผมก็มองว่า 'ความต่อเนื่องกัน' ของความหมายนั้นดูจะกลมกลืนกันมาก เพราะวรรคที่สามเพิ่งจะเตือนไปหยกๆ ว่า 'การเป็นคนดี แต่บ้าใช้กำลังนั้น จะก่อปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบ' แล้ววรรคที่สี่ก็มาสำทับลงไปอีกว่า 'การจะเจริญรอยตามหลักแห่งธรรม ต้องรู้จักใคร่ครวญให้รอบคอบจึงจะได้ผล' … ทีนี้ หากเราย้ายไปจับคู่วรรคที่สี่กับวรรคที่หนึ่งบ้าง เราก็จะเห็น 'คำพ้องเสียง' ที่น่าสนใจอยู่คู่หนึ่งคือ 素 (sù, ซู่) กับ 愬 (sù, ซู่) … โดย 素 ในวรรคที่หนึ่งหมายถึง 'เรียบง่าย', 'ตรงไปตรงมา' … ส่วน 愬 ในวรรคที่สี่มีความหมายว่า 'ย่นย่อให้กระชับเพื่อสื่อความเข้าใจ' … ในขณะที่ 素 ในวรรคที่หนึ่งสามารถแปลว่า 'บริสุทธิ์', 'ปราศจากสิ่งเจือปน' … ส่วน 愬 ในวรรคที่สี่หมายถึง 'มีความใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน' เพื่อ 'ความกระจ่างใสในจิตใจ' … อ๊ะ !! … น่าสนใจนะเนี่ย !!?? … ;) … ลองมาดู synonyms มหัศจรรย์ของ 'จิวกง' กันหน่อยครับ …
หากผมแบ่งวรรคตอนให้กับวรรคที่หนึ่งซะใหม่ ผมจะได้วลีแบบนี้ครับ … 素履,往無咎。ซึ่งเมื่อเราจับมาประกอบกับวรรคที่สี่ 履虎尾愬愬,終吉。... โป๊ะเชะ !! … 往無咎 ก็คือ 終吉 ชนิดที่ไม่ต้อง 'ตีความ' ใดๆ ให้ยุ่งยากเลยครับ เพราะฉะนั้น 素履 ซึ่งหมายถึง 'การดำเนินการด้วยความเรียบง่ายตรงไปตรงมา' หรือ 'การดำเนินการด้วยความหมดจดชัดเจน' ย่อมจะต้องหมายถึง 履虎尾愬愬 ที่ผม 'ตีความ' ให้หมายความว่า 'การเจริญรอยตามหลักแห่งธรรมด้วยความใคร่ครวญอย่างรอบคอบ' … วลีที่ว่า 履虎尾 จึงไม่มีทางที่จะแปลว่า 'การเหยียบหางของเสือ' อย่างแน่นอน ;)
การหยิบยกเอาตัวอักษร 虎 (hǔ, หู่) ที่แปลว่า 'เสือ' มาใช้ในบทนี้ตั้งแต่แรกนั้น ต้องถือว่าเป็นความคิดพิสดารของ King Wen โดยตรง ซึ่ง 'จิวกง' ได้พยามสื่อความหมายที่แท้จริงของ 履虎尾 มาตั้งแต่วรรคแรกแล้วว่า มันคือ 素履 … และย้ำความหมายอีกครั้งในวรรคที่สองเป็น 履道 … แล้วก็ยังย้ำลงไปในวรรคที่สามว่า 履虎尾咥人凶武人為于大君 (การเจริญรอยตามหลักแห่งธรรมนั้น หากบังเอิญไปทำร้ายโดนใครคนอื่นเข้า ก็จะกลายเป็นความเสียหาย เพราะแม้จะเป็นปราชญ์หรือเป็นผู้นำ ย่อมจะไม่พ้นข้อครหาว่าเป็นพวกบ้าอำนาจที่นิยมความรุนแรง) … ในขณะที่วรรคที่สี่ก็ย้ำนักย้ำหนาว่าต้อง 愬愬 หรือ 'ใคร่ครวญอย่างรอบคอบ' … ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า 'ความมุ่งมั่นที่จะเป็นคนดี โดยอยู่ในร่องในรอยของหลักแห่งคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย' นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้ 'ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว' ต้องมี 'ความเฉียบขาดชัดเจน' และหลายๆ กรณีก็ถึงขั้นที่ 'หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย' ที่จะต้อง 'ทำร้ายเหล่าทุรชน' … นั่นคือเหตุผลที่ 'ปราชญ์' หรือ 'ผู้นำ' จะต้องดำเนินการทุกอย่างด้วย 'ความระมัดระวัง' ต้องมี 'ความใคร่ครวญ' ที่ 'ถี่ถ้วนรอบคอบ' ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ลงไปทุกครั้ง จึงจะสามารถสร้าง 'ความเคารพยำเกรง' ต่อ 'หลักคุณธรรม' อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้ … การใช้อักษร 虎 มาแทนความหมายตามที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ต้องถือว่ามีความลงตัวอย่างที่สุดแล้ว โดยแทบจะไม่จำเป็นต้อง 'ตีความ' ให้ 虎 หมายถึง 'พลังแห่งหยิน' ด้วยซ้ำ !!!
夬履貞厲
guài lǚ zhēn lì
ไกว้ หลฺวี่ เจิน ลี่
夬 อ่านว่า guài (ไกว้) แปลว่า 'การแบ่งแยก', 'การทำให้ขาดออกจากกัน' ; 'ทำให้ตาย', 'ประหารชีวิต' ; บางกรณีสามารถแปลว่า 'ตัดสินใจ', 'ตัดสินความ', โดยน่าจะหมายถึง 'การเลือก', หรือ 'การแบ่งแยกความถูก-ความผิด' ซึ่งในกรณีดังกล่าว ก็จะแฝงความหมายว่า 'เด็ดขาด', หรือ 'ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้' เอาไว้ …
อย่างไรก็ตาม คำว่า 夬履 ในที่นี้น่าจะ 'ตีความ' ได้ถึง 3 ความหมายด้วยกันคือ (1) ดำเนินการโดยก่อให้เกิดความแตกแยก, (2) ดำเนินการด้วยความโลเลไม่มั่นคง, และ (3) ดำเนินการอย่างเฉียบขาดไม่มีความยืดหยุ่น … ซึ่งทั้ง 3 ความหมายนั้น ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ 'ความบรรลัย' (貞厲) ด้วยกันทั้งสิ้น … :D … แต่โดยเหตุผลของ 'ความต่อเนื่อง' กับวรรคก่อนๆ ทั้งหมดแล้ว ผม 'เชื่อว่า' น่าจะหมายถึง 'ดำเนินการด้วยความโลเลไม่มั่นคง' มากกว่า ;)
เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า 'ความไม่ยืดหยุ่น' แม้ว่าจะเป็น 'ข้อด้อย' ที่มีโอกาสก่อให้เกิด 'ความเสียหาย' ได้ก็จริง แต่หากเราพิจารณาในแง่ของ 'การไม่ยอมประนีประนอมกับความไม่ถูกต้อง' เราก็ยังต้องนับว่าเป็น 'ความซื่อสัตย์' ที่สมควรแก่การยกย่องอยู่ดี จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ 'ก่อให้เกิดอันตราย' หรือ 'ทำลายหลักแห่งคุณธรรม' (貞厲) ก็คงจะไม่เต็มปากเต็มคำมากนัก …
ส่วนในแง่ของ 'การสร้างความแตกแยก' นั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'การเลือกที่รักมักที่ชัง' ที่กระทำไปตามอารมณ์ความรู้สึก แทนที่จะยึดถือหลักการและเหตุผล ซึ่งความหมายว่า 'โลเลไม่มั่นคง' ได้ครอบคลุมแง่มุมดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว … ในแง่หนึ่งนั้น 夬履 สามารถใช้เพื่อกำกับความหมายให้กับ 愬愬 ที่หมายถึง 'ความใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ' ในวรรคที่สี่ได้ด้วยเหมือนกัน และถือว่าเป็น 'การเตือน' ให้เราต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป หลังจากที่ได้พิจารณาทุกอย่างอย่างรอบด้านแล้ว หากมัวแต่อิดออดลังเลก็จะเสียการใหญ่ไปในที่สุด … แล้วหากเรา 'ตีความ' ว่า 愬愬 หมายถึง 'มีความระมัดระวัง' ใน 'การเจริญรอยตามหลักแห่งธรรม' (履虎尾) อย่างเคร่งครัด คำว่า 夬履 ก็อาจจะหมายถึง 'ทำตัวนอกลู่นอกทาง' หรือ 'แยกออกไปจากแนวทางที่ควรยึดถือปฏิบัติ' ซึ่งก็คือ 'ไม่มั่นคงในหลักการ' อีกเหมือนกัน …
ในขณะเดียวกัน หากเราจับคู่วรรคที่ห้ากับวรรคที่สอง ซึ่งมีความหมายว่า 'ความมั่นคงในหลักแห่งคุณธรรม' นั้น จะต้องประกอบด้วย 'ความผ่าเผยจริงใจ' และ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' … คำว่า 夬履 ก็สามารถที่จะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความแปลกแยก' ที่เกิดจากทั้งสองคุณลักษณะดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติในทิศทางที่สอดคล้องกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะ 'อ่อนน้อมจนปวกเปียก' หรือเป็นเพราะ 'ผ่าเผยจนโอหัง' ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ 'พังพินาศ' (貞厲) ได้ด้วยกันทั้งสองแบบอยู่ดี :)
เมื่อรวมความเบ็ดเสร็จแล้ว วรรคที่ห้านี้ควรจะ 'ตีความ' ว่า 'ความไม่มั่นคงในหลักแห่งธรรม (夬履) ดำเนินการต่างๆ โดยปราศจากความเข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง (คือปฏิบัติจนสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง) ย่อมหลีกไม่พ้นภยันตราย (貞厲) ที่จะติดตามมา'
視履考祥其旋元吉
shì lǚ kǎo xiáng qí xüán yüán jí
ษื้อ หลฺวี่ เข่า เซี๋ยง ชี๋ เซฺวี๋ยน เยฺวี๋ยน จี๋
考 อ่านว่า kǎo (เข่า) แปลว่า 'ทดสอบ', 'ตรวจสอบ', 'สำรวจ', 'พิสูจน์', 'ศีกษาค้นคว้า', 'วิจัย' ; สามารถแปลว่า 'เสร็จสมบูรณ์', 'เรียบร้อยแล้ว' ในลักษณะที่เหมือนกับใช้ 'การตรวจสอบ' เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการก็ได้ ; บางกรณีก็แปลว่า 'สูงวัย', 'มีอายุมาก' ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'ผ่านโลกมามาก' ; แต่ถ้าในความหมายว่า 'เสร็จสมบูรณ์' ถ้าใช้กับคนจะหมายถึง 'ตายไปแล้ว' โดยเฉพาะใช้กับ 'บิดาผู้ล่วงลับ' ; ในกรณีของ 'การทดสอบ' หากเป็น 'การทดสอบกำลัง' ก็จะหมายถึง 'การต่อสู้', 'การรบ' หรือ 'การทรมาน'
祥 อ่านว่า xiáng (เซี๋ยง) แปลว่า 'ลางบอกเหตุ', 'ลางสังหรณ์' ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 'ลางดี' หรือ 'ลางร้าย' ; แต่โดยมากมักจะนิยมใช้ในความหมายว่า 'โชคดี', 'สิริมงคล', 'โชคลาภ', หรือ 'ความสุขสวัสดี'
旋 อ่านว่า xüán (เซฺวี๋ยน) แปลว่า 'หมุน', 'เคลื่อนเป็นวงกลม', 'ย้อนกลับ', 'ไม่ช้าไม่นาน'
วรรคสรุปของ 'จิวกง' ในบทนี้น่าจะเรียบๆ ตรงๆ แค่ว่า 'การหมั่นสำรวจตรวจสอบการดำเนินงานที่ผ่านมาของตนเอง (視履) และรู้จักประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อจะดำเนินการจนเสร็จสมบูรณ์ (考祥) ภารกิจใดๆ (其旋) ย่อมจะสามารถพัฒนาไปสู่ความสำเร็จดังที่ได้ตั้งปณิธาน (元吉) ไว้เสมอ'
แต่หากเราจะพิจารณาว่าตัว 旋 (xüán, เซฺวี๋ยน) ซึ่งหมายถึง 'การเคลื่อนที่เป็นวง' นั้น มีความหมายเช่นเดียวกับตัว 往 (wǎng, หฺวั่ง) ที่หมายถึง 'การย้อนคืน' หรือ 'ผลสะท้อน' … วลีที่ว่า 其旋元吉 ในวรรคนี้ ก็จะมีความหมายที่ใกล้เคียงกับวลีที่ว่า 往無咎 ในวรรคที่หนึ่งทันที และทำให้ความหมายของทั้งสองวรรคมีความกลมกลืนกันอย่างแนบแนียนมากๆ ด้วย … เมื่อ 素履往無咎 หมายถึง 'การดำเนินงานด้วยความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ผลที่สะท้อนกลับมาย่อมไม่ผิดพลาด' … วรรคที่หกนี้ที่บอกว่า 視履考祥其旋元吉 ก็จะกลายเป็น 'การดำเนินงานด้วยความมีวิจารณญาณ (視履) และรู้จักประเมินสถานการณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม (考祥) ผลลัพธ์ที่สะท้อนกลับมา (其旋) ย่อมต้องดีงามเนื่องเพราะการกระดำเนินงานเช่นนั้น (元吉)' … ;) … ในกรณีที่ว่านี้ เราก็จะได้คู่ของวรรคตามแบบ 'มาตรฐานอี้จิง' ครบทั้งสามคู่อย่างลงตัวพอดีในบทนี้ … หรือถ้าจะบอกว่า 'จิวกง' ต้องการจะสื่อความหมายว่า 'ให้อ่าน (視) บทที่ว่าด้วย 履 นี้ใหม่อย่างพินิจพิเคราะห์ (考祥) อีกซักหลายๆ รอบ (其旋) เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับความหมายดีๆ ที่แท้จริง (元吉) ของมัน … ซะที (อย่ามัวแต่คิดเรื่อง 'เหยียบหางของเสือ' กันอยู่เลย ...นะ !!)' … :D
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'หลฺวี่' คือ การสำเร็จประโยชน์, ทะเลสาบใต้เวิ้งฟ้า
'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว' ในการเจริญรอยตาม 'หลักแห่งคุณธรรม' โดยไม่มีความคิดที่จะ 'ข่มเหงรังแก' หรือ 'เหยียบย่ำทำร้ายผู้อื่น' ให้ด้อย 'คุณค่า' ลงไป ย่อมนำมาซึ่ง 'ความก้าวหน้า' และ 'การพัฒนา' 'อย่างราบรื่น'
- การดำเนินงานอย่าง 'เรียบง่าย' 'ตรงไปตรงมา' ด้วย 'จิตใจที่ปล่อยวาง' จนว่างเปล่าจาก 'อัตตา' ผลตอบสนองที่ได้รับย่อมต้องไม่เลวร้าย
- 'ความมั่นคง' ใน 'หลักแห่งธรรม' ต้องถือปฏิบัติอย่าง 'ผ่าเผย' และ 'จริงใจ' ต้องมี 'ความอ่อนน้อม' โดย 'ไม่ยกตนข่มท่าน' … 'คุณธรรมความดี' ทั้งหลายจึงจะ 'เจริญงอกงาม'
- ตาบอดไปหนึ่งข้างแม้จะยังมองเห็นก็ไม่ถนัด ขาเป๋ไม่สมส่วนถึงจะยังเดินได้ก็ไม่คล่องตัว … 'ความเด็ดเดี่ยว' ใน 'การมุ่งความสำเร็จ' ที่แม้จะดำเนินตาม 'หลักแห่งคุณธรรม' แต่หากต้อง 'ทำร้ายผู้อื่น' ย่อมยากจะพ้น 'มลทิน' ของการเป็น 'ผู้นิยมใช้ความรุนแรง'
- การเจริญรอยตาม 'หลักแห่งธรรม' จึงต้องรู้จัก 'ใคร่ครวญ' และ 'ทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน' ผลลัพธ์ในบั้นปลายจึงจะ 'เจริญก้าวหน้า'
- หากไม่มี 'ความมั่นคง' ใน 'หลักแห่งธรรม' ดำเนินการต่างๆ โดยปราศจาก 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักการที่ถูกต้อง' กลับยึดถือปฏิบัติในด้านใดด้านหนึ่งจน 'สุดโต่ง' ย่อมหลีกไม่พ้น 'ภยันตราย' ที่จะติดตามมา
- การดำเนินงานอย่างมี 'วิจารณญาณ' และรู้จัก 'ประเมินสถานการณ์' อย่าง 'ถูกต้องเหมาะสม' สิ่งใดๆ ที่จะสะท้อนกลับมา ย่อมมีแต่ 'สิ่งที่ดีงาม' เนื่องเพราะการดำเนินงานเช่นนั้น
The Organization Code :
'การสำเร็จประโยชน์' คือมี 'ทีมงาน' หนุนเนื่อง 'นโยบาย' ; เป้าหมายชัดเจน (⚌), แผนงานพรั่งพร้อมรัดกุม (⚎), ทีมงานคึกคัก (⚌)
'ความมุ่งมั่น' ใน 'ความสำเร็จ' ตาม 'กรอบ' และ 'ทิศทางที่ถูกต้อง' ของตนนั้น จุดมุ่งหมายย่อมมิใช่เพื่อ 'การข่มเหงรังแก' หรือ 'การเอาชนะ' ผู้อื่น … 'ความสำเร็จ' ที่แท้จริงย่อมมาจาก 'การสร้างสรรค์' และ 'การพัฒนาความเจริญ' ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ควบคู่ไปกับสังคมโดยรวมเท่านั้น
- การดำเนินงาน ย่อมต้องยึดถือ 'ความซื่อสัตย์' อย่าง 'ตรงไปตรงมา' เป็น 'บรรทัดฐาน' ต้องรู้จัก 'ปล่อยวาง' และ 'ลดละทิฐิมานะ' ที่มุ่งหวังเพียงเฉพาะ 'ประโยชน์ตน' 'ความผิดพ้องหมองใจกัน' ย่อมไม่ปรากฏ
- 'ความเคร่งครัด' ใน 'กฎระเบียบ' ต้องกระทำด้วยความ 'องอาจผ่าเผย' และ 'จริงใจ' … โดยต้องยึดถือหลักสำคัญที่ทำให้เกิด 'ความเคารพยำเกรง' ต่อ 'หลักการ' และ 'เหตุผล' ยิ่งกว่า 'การยอมศิโรราบ' ต่อ 'อำนาจบารมี' ที่ผิด 'ทำนองคลองธรรม' … 'คุณธรรมความดี' ทั้งหลายจึงจะ 'เจริญงอกงาม'
- 'ความพิกลพิการ' ทางกายย่อมเป็น 'อุปสรรค' ต่อการดำเนินชีวิตฉันใด … 'ความไม่สมประกอบทางธรรม' ย่อมส่งผลให้การดำเนินงาน 'ไม่ราบรื่น' ฉันนั้น
- การบังคับใช้ 'กฎระเบียบ' อย่าง 'เคร่งครัด' จำเป็นต้องมีความเข้าใจใน 'หลักการ' อย่างถูกต้อง และพึงใช้ 'ความใคร่ครวญ' อย่าง 'ถี่ถ้วน' ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ผลลัพธ์ที่ได้จึงจะ 'สำเร็จบริบูรณ์'
- 'ความไม่คงเส้นคงวา' เพราะปราศจาก 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักการ' อย่างถูกต้อง … ไม่สามารถจำแนกความสำคัญของ 'กฎระเบียบ' และ 'ความเหมาะสม' ให้เป็นที่ยอมรับของทุกผู้คน ย่อมนำไปสู่ 'ความเสื่อมเสีย' ที่ยากจะเยียวยาแก้ไข
- ต้องรู้จัก 'ประเมินสถานการณ์' ในปัจจุบัน เพื่อที่จะนำ 'บทเรียน' ในครั้งอดีตมา 'ประยุกต์ใช้' อย่าง 'เหมาะสม' การดำเนินงานจึงจะสามารถ 'พัฒนา' ไปสู่ 'ความเจริญก้าวหน้า' อย่างต่อเนื่อง
การจะเป็น 'ผู้นำที่เก่งกล้า' ได้นั้น ย่อมต้องอาศัย 'ผู้สนับสนุนที่เข้มแข็ง' นี่คือ 'หลักแห่งผู้นำ' ที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป จน 'หลงเชื่อ' ว่า 'ความสำเร็จ' ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เสกสร้างขึ้นมาจาก 'ศักยภาพ' เฉพาะตัวของ 'ผู้นำ' เพียงคนเดียว และอาจจะถึงขั้นที่ละเลยจน 'ออกนอกลู่นอกทาง' ไปจาก 'หลักแห่งคุณธรรม' ที่ควรจะยึดถือเป็น 'สรณะแห่งชีวิต' … ในขณะที่ 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 履 (lǚ, หลฺวี่) ที่ใช้ในความหมายว่า 'การมุ่งไปสู่ความสำเร็จ' นี้ ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า 'ผู้นำ' (☰ หรือ CEO) ที่สามารถสถิตย์อยู่ 'ด้านบน' นั้น ย่อมเป็นผลมาจากการที่มี 'ผู้สนับสนุน' (☱ หรือ SEO) ที่เป็น 'ทีมงาน' คอยหนุนเนื่องอยู่ 'ด้านล่าง' อย่างแข็งขัน จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ใครคนใดคนหนึ่งสมควรจะ 'เผยอผยอง' จนมองไม่เห็น 'ความสำคัญ' ของบุคคลอื่นๆ ทั้งหมด ที่มีส่วนร่วมในการ 'ผลักดัน' ทุกๆ ภารกิจให้ 'สำเร็จลุล่วงอย่างบริบูรณ์'
การดำเนินงานเพื่อ 'มุ่งความสำเร็จ' นั้น 'ผู้นำ' ซึ่งถือว่าเป็น 'ฝ่ายนโยบาย' จึงต้องมี 'ความชัดเจน' (⚌) ใน 'หลักการ' และ 'เป้าหมาย' ที่ตนต้องเป็นผู้กำหนดเอาไว้ ต้องปฏิบัติตัวให้สามารถเป็น 'แบบอย่างที่ดี' ใน 'การชี้นำ' ให้ผู้อื่น 'เจริญรอยตาม' โดยไม่จำเป็นต้องนำ 'อำนาจบารมี' มาใช้ใน 'การกดข่มผู้คน' ให้ต้อง 'ยอมศิโรราบ' อย่างขัดต่อ 'หลักจริยธรรม' ใดๆ … ในขณะเดียวกัน 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่เป็น 'ทีมงานผู้สนับสนุน' ก็ต้องให้ 'ความทุ่มเท' อย่าง 'เต็มกำลัง' (⚌) เพื่อที่จะร่วมกัน 'ผลักดัน' นโยบาย หรือ 'เป้าหมาย' นั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น … ทั้งนี้ 'ฝ่ายบริหาร' ผู้ 'กำกับแผนงาน' ก็จะต้องมี 'ความซื่อตรง' ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (⚋) และต้องมีความ 'เข้มงวดกวดขัน' อย่างตรงไปตรงมา (⚊) โดยจะต้องยึดถือเอา 'การสนองนโยบาย' เป็นแก่นแกนหลักที่สำคัญกว่า 'การสนองอัตตา' ของตนเอง (⚎) เพื่อ 'ประสานทุกฝ่าย' ให้มุ่งไปสู่ 'ความสำเร็จประโยชน์' ที่เป็น 'เป้าหมาย' ร่วมกัน !!! … ;)