Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :
 

第四十五卦 : 萃

萃 : 澤地萃 ‧ 兌上坤下

萃 : 亨‧王假有廟‧利見大人‧亨‧利貞‧用大牲吉‧利有攸往‧

  • 初六 : 有孚不終‧乃亂乃萃‧若號‧一握為笑‧勿恤‧往無咎‧
  • 六二 : 引吉‧無咎‧孚乃利用禴‧
  • 六三 : 萃如嗟如‧無攸利‧往無咎‧小吝‧
  • 九四 : 大吉‧無咎‧
  • 九五 : 萃有位‧無咎‧匪孚‧元永貞‧悔亡‧
  • 上六 : 齎咨涕洟‧無咎‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์สงบนิ่ง (⚏), ปัญญาแจ่มกระจ่าง-มั่นคง (⚎), พลานามัยสดชื่น (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : ดำเนินกิจการงานด้วย 'ความเบิกบาน' (☱) บนพื้นฐานแห่ง 'ความมีระบบระเบียบที่เป็นธรรม' (☷)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การหล่อหลอม, ทะเลสาบเหนือแผ่นดิน



ความหมายของชื่อเรียก : Integrating : การหล่อหลอม, สร้างความเป็นเอกภาพ



อักษร 萃 (cuì, ฉุ้ย) มีความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ว่า 'พงหญ้าที่งอกขึ้นสุมรวมกัน' หรือบางทีก็หมายถึง 'พุ่มไม้ที่ขึ้นเบียดกันจนแน่น' ทำให้ความหมายในชั้นหลังของมันกลายเป็น 'การรวบรวมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน' ซึ่งคำภาษาอังกฤษที่มักจะเห็นเป็นคำแปลให้กับชื่อบทนี้ก็จะใช้คำว่า Gathering Together, Assembling, หรือ Bringing Together แต่ผมนึกอุตริอยากจะใช้คำว่า Integrating ซะมากกว่า เพราะรู้สึกเอาเองว่ามันคงจะไม่ใช่แค่ 'การนำมาสุมรวมกัน' หรือแค่ 'การประกอบเข้าด้วยกัน' เฉยๆ เท่านั้นเอง ... ส่วนคำภาษาไทยที่ผมเลือกมาใช้เป็น 'ชื่อบท' ก็คือ 'การหล่อหลอม' แทนที่จะเลือกคำแปลให้ตรงๆ ตัวกับคำว่า Integrating ที่ตัวเองเลือกไว้ ... :P ... โดยคำว่า Integrate นั้นจะมีความหมายที่เกินไปกว่า 'การเอามากองรวมกันเฉยๆ' หรือ 'การรวบรวมเข้าด้วยกัน' เพราะความหมายของ 萃 (cuì, ฉุ้ย) ในที่นี้ควรจะต้องสื่อถึง 'การรวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว' หรือ 'การรวมตัวเข้ากับส่วนอื่นๆ (ที่มีอยู่แล้ว)' ซึ่งจะต้องประกอบด้วย 'กระบวนการหล่อหลอม' เพื่อ 'ผสมผสาน' ให้ 'ความแตกต่างกัน' ของแต่ละส่วนย่อยๆ นั้น สามารถแสดงศักยภาพที่ 'ส่งเสริมซึ่งกันและกัน' ได้ 'อย่างราบรื่น'

หากมองในแง่ของความต่อเนื่องจากบทสู่บทแล้ว เราก็จะเห็นลำดับของ 'อำนาจอันชอบธรรม' (姤) แห่ง 'ผู้นำ' ที่ถูกใช้เพื่อ 'การหล่อหลอมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' ของทั้งองค์กรหรือของประเทศชาติโดยรวม เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายล้วนได้ 'ประโยชน์จากความต่าง' ด้วยการ 'เสริมสร้างจุดเด่น-ชดเชยจุดด้อย' ให้แก่กันอย่างสมัครสมานสามัคคี ... แต่หากมองในแง่ของ 'วัฏจักรแห่งหยิน' เราจะพบว่า 萃 (cuì, ฉุ้ย) คือปฐมบทของการวนกลับขึ้นสู่ 'วัฏจักรที่สี่แห่งหยิน' ซึ่งจะต้องมีความหมายล้อกับถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่หนึ่งของบทที่สองอีกครั้งอย่างชัดเจน ... 'เกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะมีความร่วนซุย แต่หากมีการสั่งสมถมทับอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากพอ (履霜) มันก็จะกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่ง (堅冰) ได้ในที่สุด (至)' ... เช่นเดียวกับบทที่เก้า (䷈ 小畜 : XiǎoXǜ, เสี่ยง ซฺวี่ : การสั่งสม), บทที่ยี่สิบเอ็ด (䷔ 噬嗑 : ShìHé, ษื้อ เฮ๋อ : การอดกลั้น), และบทที่สามสิบสาม (䷠ 遯 : Dùn, ตุ้น : ความรู้จักประมาณตน) ... อันจะเป็นการสะท้อนลำดับของความหมายว่า 'เมื่อผ่านกระบวนการสั่งสม (小畜) อย่างอดกลั้น (噬嗑) ด้วยความรู้จักประมาณตน (遯) แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องหลอมรวม (萃) ศักยภาพที่มีทั้งหมดนั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม' ซะที ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨王假有廟利見大人亨利貞用大牲吉利有攸往
hēng wáng jiǎ yǒu miào lì jiàn dà rén hēng lì zhēn yòng dà shēng jí lì yǒu yōu wǎng
เฮิง วั๋ง เจี่ย โหฺย่ว เมี่ยว ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น เฮิง ลี่ เจิน โยฺว่ง ต้า เซิง จี๋ ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง



ยกคำแปลของ 亨 (hēng, เฮิง) มาไว้ตรงนี้อีกทีแล้วกัน คำนี่แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

假 อ่านว่า jiǎ (เจี่ย) โดยทั่วไปเรามักจะพบเห็นในความหมายว่า 'ของปลอม', หรือ 'ไม่จริง' แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึง 'การหลอกลวง' ไปซะทั้งหมด เพราะบางกรณีก็จะมีความหมายแค่ 'เปรียบเทียบ', 'เปรียบเปรย' หรือ 'ทดแทน' ซึ่งบ่อยครั้งที่ใช้กับ 'การชมเชย' หรือ 'การยกย่อง' ซะด้วยซ้ำ ; ในอีกแง่หนึ่งคำว่า 假 (jiǎ, เจี่ย) ก็จะหมายถึง 'ไม่เป็นทางการ' (informal) หรือ 'ไม่มากพิธีรีตอง' ก็ยังได้ ; บางครั้งก็สามารถหมายถึง 'หยิบยืม', หรือ 'พึ่งพาอาศัย' ในลักษณะที่มอบหมายให้ผู้อื่น หรือใช้เครื่องมืออื่นช่วยกระทำการแทน และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับสำนวน in/by virtue of something ที่หมายถึง 'โดยอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' หรือ 'ด้วยเหตุผลเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' ก็ได้

廟 อ่านว่า miào (เมี่ยว) แปลว่า 'ห้องโถง (ด้านหน้า)', 'ท้องพระโรง', ซึ่งบางทีก็จะหมายถึง 'หอบูชา', หรือ 'วิหาร' สำหรับบูชาเทพเจ้าหรือบรรพบุรุษ ; ดังนั้น เมื่อใช้คำว่า 廟 (miào, เมี่ยว) เป็นคำกริยาจึงสามารถหมายถึง 'การบูชา', 'การสวดมนต์' หรือ 'การประกอบพิธีบวงสรวง' ได้ด้วย

牲 อ่านว่า shēng (เซิง) แปลว่า 'ลูกวัว' หรือ 'สัตว์ที่ใช้เพื่อการบวงสรวง' ซึ่งบางครั้งก็ยังหมายถึง 'สัตว์เลี้ยง' ประเภทสุกร, โค, กระบือ, แพะ, แกะ หรืออาจจะหมายถึง 'สัตว์ป่า' โดยทั่วไป ; นอกจากนั้นก็ยังสามารถหมายถึง 'เนื้อสัตว์' ที่ใช้ในพิธีบวงสรวงต่างๆ ได้อีกด้วย

ถ้าว่ากันตามตัวอักษรเท่าที่ปรากฏ ความหมายในวลีนี้ของ King Wen ก็น่าจะคล้ายๆ กับเป็นข้อแนะนำสำหรับการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรซักอย่างที่จะต้องให้ความเคารพสักการะ เพราะมีคำว่า 廟 (miào, เมี่ยว) ที่สามารถแปลว่า 'วิหาร' หรือ 'หอประกอบพิธีบวงสรวง' กับมีคำว่า 牲 (shēng, เซิง) ที่อาจจะหมายถึง 'เครื่องเซ่นสังเวย' ประเภท 'เนื้อสัตว์' อย่างวัว, แพะ, ม้า, หมู, สุนัข, หรือไก่ ... จึงอาจจะทำให้ถ้อยคำทั้งหมดของวลีนี้แสดงอารมณ์ออกมาประมาณว่า 'สังคมย่อมจะเจริญรุ่งเรืองได้ก็ด้วยการมีผู้นำที่รู้จักเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าและสิงศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอย่างถูกต้องตามระเบียบแห่งพิธีกรรม' ... ?!?! ... ซึ่งผมคงต้องบอกว่า มันเป็นความหมายที่ไปกันไม่ได้เลยกับคำว่า 萃 (cuì, ฉุ้ย) ไม่ว่าเราจะจินตนาการไปในทิศทางใดๆ ก็ตาม ?! ... ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเราน่าจะต้อง 'แยกธาตุ' ของตัวอักษรสำคัญบางตัวซะใหม่ เพื่อที่จะหา 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' แทนการแปลความตามตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา โดยอักษรสำคัญที่ผมอยากจะเอ่ยถึงในที่นี้ก็คือ 牲 (shēng, เซิง)

คำว่า 牲 (shēng, เซิง) เป็นคำที่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม 'ปศุสัตว์' เช่น วัว-ควาย, แพะ-แกะ, ม้า, หมู, หมา, และไก่ แต่โดยทั่วไปมักจะใช้กับบรรดา 'ปศุสัตว์' ที่เติบโตจนได้ขนาดพอจะใช้งานได้แล้ว ส่วน 'ปศุสัตว์' ที่ยังเล็กและต้องคอยประคบประหงมอยู่นั้น เขาจะใช้คำว่า 畜 (xǜ, ซฺวี่) ที่สามารถแปลว่า 'โรงนา', 'โรงเพาะเลี้ยง', หรือ 'การสะสมให้พอกพูน' ดังที่ปรากฏใน 'ชื่อบท' ของบทที่เก้า (䷈ 小畜 : XiǎoXǜ, เสี่ยว ซฺวี่ : การสั่งสม) นั่นแหละ ... ในขณะที่บทที่เก้าเองก็มีความเกี่ยวข้องกับวรรคที่หนึ่งของบทที่สองเช่นเดียวกับบทนี้ ... จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ King Wen น่าจะซุกซ่อนความเชื่อมโยงบางอย่างที่นอกเหนือจากความหมายตามปรกติของแต่ละตัวอักษรที่ถูกนำมาบันทึกไว้ ?! ... :)

อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ 'ชื่อบท' อีกครั้งในบทที่ยี่สิบหก (䷙ 大畜 : DàXǜ, ต้า ซฺวี่ : การสั่งสมความยิ่งใหญ่) ซึ่งอยู่ใน 'วัฏจักรที่สองแห่งหยิน' และตรงกับวรรคที่หกของบทที่สอง ซึ่งผมก็ได้พยายามชี้ให้เห็นมาตั้งแต่แรกแล้วว่า วรรคที่หกกับวรรคที่หนึ่งในแต่ละบทนั้นจะเป็น 'คู่วลี' กันเสมอ ... ดังนั้น การที่ King Wen เลือกใช้อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) ตรงบทที่ยี่สิบหกจึงมีประเด็นบางอย่างที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย ... :)

หลังจากนั้น วรรคที่หนึ่งของบทที่สองก็สืบทอดความหมายต่อมาถึงบทที่สามสิบสาม (䷠ 遯 : Dùn, ตุ้น : การรู้จักประมาณตน) ซึ่งเป็นบทที่ทั้ง King Wen กับ 'จิวกง' เสนอ 'ข้อแนะนำ' ไว้ว่า 'ผู้นำ' จะต้องรู้จัก 'ถอยห่างจากลาภสักการะ' (遯) โดยอักษร 遯 (dùn, ตุ้น) นั้นจะประกอบด้วย 'ชุดภาพอักษร' 辵 (chuò, ฌั่ว) ที่หมายถึง 'การเดินๆ หยุดๆ' หรือ 'การวิ่ง' กับอักษร 豚 (tún, ทุ๋น) ซึ่งมี 'ภาพอักษร' 月 หรือ 肉 (ròu, โญ่ว) ที่หมายถึง 'เนื้อ' กับ 'ภาพอักษร' 豕 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'หมู' หรือ 'สุกร' แทนความหมายของ 'สิ่งสักการะ' ประกอบอยู่ด้วย ... โดยเราจะเห็นว่า 豚 (tún, ทุ๋น) มีความเกี่ยวข้องกับ 牲 (shēng, เซิง) และ 畜 (xǜ, ซฺวี่) ในประเด็นที่เกี่ยวกับ 'ปศุสัตว์' หรือ 'สัตว์ที่ใช้เพื่อการบวงสรวง' อย่างชัดเจนเลยทีเดียว !!?

ถ้าเราพิจารณาจากอักษรที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมดนี้แล้ว 牲 (shēng, เซิง) ในที่นี้ก็น่าจะเป็นการสื่อความหมายถึง 'ลาภสักการะ' (豚) ที่สามารถได้รับ 'การสั่งสมบ่มเพาะ' (畜) ให้มี 'ความเติบใหญ่แก่กล้า' () จนเพียงพอแก่การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (用) ... ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่น่าจะมีความใกล้เคียงกับความหมายที่กล่าวมามากที่สุดก็คือ 'ความศรัทธา' หรือ 'บารมี' ในตัวของ 'ผู้นำ' นั่นเอง !!?! ... เพราะแม้ว่า 'อำนาจอันชอบธรรม' (姤) จะสามารถมอบหมายให้แก่กันได้ แต่ 'ความศรัทธา' และ 'บารมี' ในตัวของ 'ผู้นำ' นั้น จะต้องอาศัย 'การสั่งสมบ่มเพาะ' (畜) โดยตัวของ 'ผู้นำ' นั้นๆ เพียงสถานเดียว !!

แล้วคำว่า 牲 (shēng, เซิง) มันจะเพี้ยนความหมายจนกลายเป็น 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' หรือ 'บารมี' ไปได้ยังไง ... มั่วเกินไปรึเปล่า ??!! ... :D

ผมก็แค่จัดการ 'แยกธาตุ' ของ 牲 (shēng, เซิง) ออกมาเป็น 牛 (niú, นิ๋ว) ที่หมายถึง 'วัว' กับ 生 (shēng, เซิง) ที่แปลว่า 'ชีวิต', 'การก่อกำเนิด' หรือ 'การงอกเงย' ... โดย 牛 (niú, นิ๋ว) หรือ 'วัว' นั้นผมได้เล่าไว้อย่างละเอียดในบทที่สามสิบว่า มันมีลักษณะของ 'ความเชื่องเชื่ออย่างฝังหัว', 'ความยึดมั่นในแนวทางของตน' อย่าง 'ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง' ... ซึ่งแน่นอนว่าด้านลบของมันก็คือ 'ความดักดาน' ... :D ... แต่ด้านบวกของมันก็คือ 'ความศรัทธา' นั่นเอง ... โดยถ้าเรา 'ตีความ' ให้ 牲 (shēng, เซิง) หมายถึง 'การประกอบพิธีบวงสรวงเพื่อสักการะเทพเจ้า' มันจะมีความใกล้เคียงกับ 'การยอมอุทิศตนเพื่อเทิดทูนความเชื่อ-ความศรัทธา' ด้วยมั้ยล่ะ ?! ... ;)

ส่วนคำว่า 廟 (miào, เมี่ยว) นั้นมีบางตำรา 'ตีความ' เอาไว้อย่างค่อนข้างจะน่าฟังว่า หมายถึง 'หอบูชาบรรพชน' ซึ่งมีความหมายที่สื่อถึง 'ความมีรากเหง้า' ขององค์กรหรือสังคมหนึ่งๆ และการที่ 'ผู้นำ' รู้จักให้ความเคารพสักการะแก่บรรพชนนั้น ก็คือการแสดงออกของ 'ความไม่ลืมกำพืด' หรือ 'ความตั้งใจที่จะบำรุงรักษารากฐานที่สืบทอดมาจากบรรพชนให้มีความพัฒนาก้าวหน้าสืบไป' ... เก้าะ ... เป็นประเด็นที่น่าจะถือเป็น 'ข้อเตือนสติ' ที่ดีได้ข้อหนึ่งเหมือนกัน

ผมบังอาจที่จะขอเสนอ 'การตีความ' ด้วยความเห็นส่วนตัวให้กับวลีของ King Wen ในบทนี้ว่า 'การหล่อหลอม' (萃) นั้นคือ 'ความเข้าใจ (亨) ในบทบาทหน้าที่ของผู้นำที่ดี (王) ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตน (假) ให้เป็น (有) ศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา (廟) แก่มหาชน ต้องพร้อมที่จะยอมรับและให้การสนับสนุนแก่คนดีที่มีศักยภาพ (利見大人) ให้สามารถดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบระเบียบ (亨) เพื่อยังความเจริญรุ่งเรือง (利) แห่งคุณธรรม (貞) ให้ปรากฏ ; ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักใช้ประโยชน์ (用) จากพลังอันยิ่งใหญ่ (大) แห่งศรัทธา (牲) ในการสานสร้างประโยชน์สุข (吉) ให้แก่ส่วนรวม เพื่อให้คุณงามความดีทั้งหลายที่ทุกฝ่ายได้ทุ่มเทลงไป (利) ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม (有) ในบั้นปลาย (攸往)' ... ซึ่งก็คือ 'วัตถุประสงค์ที่แท้จริง' ของการมอบหมาย 'อำนาจอันชอบธรรม' (姤) ให้แก่ 'การปฏิบัติหน้าที่' ของ 'ผู้นำ' หนึ่งๆ ดังที่กล่าวไว้ในบทที่สี่สิบสี่นั่นเอง !!? ... ;)

เอาใหม่ ... สมมุติว่าเราจะพิจารณาวลีนี้ด้วยแนวทางของทฤษฎีการบริหารสมัยใหม่ซักหน่อย โดยเราอาจจะเลือกความหมายอื่นให้กับวลีที่ว่า 利有攸往 (lì yǒu yōu wǎng, ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) ด้วยลักษณะของ 'การมีปฏิสัมพันธ์' หรือ Interactive Feedback เพื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติงานแบบ two way communication ที่ต่างฝ่ายต่างแสดงอาการตอบสนองต่อผลการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งออกมาอย่างเปิดเผย ไม่ว่า 'การตอบสนอง' (Feedback) นั้นๆ จะมีทิศทางที่เป็นบวกคือ 'ส่งเสริม' หรือเป็นลบคือ 'ทักท้วง' ก็ตาม เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถ 'ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน' ของตนให้มี 'ทิศทางที่สอดคล้องกัน' อย่าง 'เหมาะสม' แก่สถานการณ์ ... ทั้งนี้ก็เพราะเรารู้ความหมายของ 利有攸往 (lì yǒu yōu wǎng, ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) อยู่แล้วว่า มันไม่ได้บ่งบอกถึง 'ผลดี' หรือ 'ผลเสีย' อย่างเจาะจง แต่สาระสำคัญของมันจะอยู่ที่ 'ความมีการตอบสนองให้รับรู้' โดยเฉพาะ !! ... ดังนั้น สิ่งที่ King Wen กำลังพยายามจะบอกกับพวกเราก็น่าจะหมายถึง 'การหล่อหลอม' (萃) นั้นคือ 'ความเข้าใจ (亨) ในบทบาทหน้าที่ของผู้นำที่ดี (王) ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตน (假) ให้เป็น (有) ศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา (廟) แก่มหาชน ต้องพร้อมที่จะยอมรับและให้การสนับสนุนแก่คนดีที่มีศักยภาพ (利見大人) ให้สามารถดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบระเบียบ (亨) เพื่อยังความเจริญรุ่งเรือง (利) แห่งคุณธรรม (貞) ให้ปรากฏ ; การจะสานสร้างประโยชน์ (用) จากพลังอันยิ่งใหญ่ (大) แห่งการอุทิศตนด้วยศรัทธา (牲) ให้ประสบความสำเร็จ (吉) นั้น จะต้องระลึกไว้เสมอว่าทุกความพยายามที่ทุ่มเท (利) จำเป็นต้องมี (有) สัญญาณการตอบสนองให้รับรู้ (攸往) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ' ... ฟังแล้วดูทันสมัยมากเลยนะเห็นป้ะ ??!! ... :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

有孚不終乃亂乃萃若號一握為笑勿恤往無咎
yǒu fú bù zhōng nǎi luàn nǎi cuì ruò hào yī wò wéi xiào wù xǜ wǎng wú jiù
โหฺย่ว ฟู๋ ปู้ ง ไหฺน่ ล่วน ไหฺน่ ฉุ้ย ญั่ว เฮ่า อี อั้ว เว๋ย เซี่ยว อู้ ซฺวี่ หฺวั่ง อู๋ จิ้ว



孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

終 อ่านว่า zhōng (จง) แปลว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ'

乃 อ่านว่า nǎi (ไหฺน่, หฺนั่ย) แปลว่า 'ดังนั้น', 'ในที่สุด', 'ผลสรุป', 'เป็นเช่นนั้น', 'อย่างไรก็ตาม'

亂 อ่านว่า luàn (ล่วน) โดยปรกติก็จะใช้ในความหมายว่า 'เละเทะ', 'วุ่นวาย', 'สับสน', 'ไม่มีระเบียบ' ; แต่ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' จะเป็นภาพของ 'สองมือกำลังแก้ปมเชือกที่พันกันอย่างยุ่งเหยิง' ดังนั้น ความหมายเดิมของ 亂 (luàn, ล่วน) จึงหมายถึง 'การกรอด้ายให้เป็นระเบียบ', 'การจัดการกับความยุ่งเหยิงวุ่นวาย', หรือ 'การจัดการให้ทุกอย่างเข้าสู่ความมีระเบียบ' ได้ด้วย ... แต่ในชั้นหลังๆ มักจะใช้ในความหมายที่บ่งบอกถึง 'สถานการณ์ความยุ่งเหยิง' หรือ 'ความกระจัดกระจาย' ที่ควรจะได้รับ 'การแก้ไขจัดการให้เกิดระเบียบ' มากกว่า ... ในขณะที่การปรากฏให้เห็นคู่กับคำว่า 萃 (cuì, ฉุ้ย) ในวลีนี้ก็น่าจะเป็นการใช้เพื่อให้เกิดเป็น 'สำนวนเปรียบเทียบ' ระหว่าง 'ความไม่เป็นระเบียบ' (亂) กับ 'ความเป็นระเบียบ' (萃) อันเนื่องมาจาก 'การหลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียว' นั่นเอง ... มั้ง ??!!

若 อ่านว่า ruò (ญั่ว) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', 'เคารพกฎเกณฑ์'

號 อ่านว่า hào (เฮ่า) แปลว่า 'สัญลักษณ์', 'เครื่องหมาย', หรือ 'ตัวเลข' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ถอนหายใจ', 'ร้องไห้', 'ตะโกน', 'ส่งเสียงร้อง', หรือ 'ส่งเสียงขู่คำราม'

握 อ่านว่า wò (อั้ว, หรือ หฺว้อ) แปลว่า 'คว้าจับ', 'ยึดไว้ด้วยมือ', 'กำมือ', 'กำหมัด', บางครั้งก็เลยหมายถึง 'การบังคับควบคุม' ได้ด้วย

笑 อ่านว่า xiào (เซี่ยว) แปลว่า 'ยิ้ม', 'หัวเราะ', 'ร่าเริงแจ่มใส'

恤 อ่านว่า xǜ (ซฺวี่) แปลว่า 'เอาใจใส่', 'ใส่ใจ', 'รับเป็นภาระ', 'โอบอุ้มดูแล', 'เป็นห่วงเป็นใย' ; มันเลยแผลงเป็น 'กังวล', 'เคร่งเครียด'

สงสัยว่าผมเพิ่งจะอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ Chaordic System ที่กลายเป็นศัพท์บัญญัติขึ้นมาจากแนวความคิดของ Dee Hock ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของ Visa Inc. ในปัจจุบัน จึงทำให้แว้บแรกที่ผมเห็นคำว่า 乃亂乃萃 (nǎi luàn nǎi cuì, ไหฺน่ ล่วน ไหฺน่ ฉุ้ย) ในวรรคนี้แล้วรู้สึกได้ถึงความหมายบางอย่างที่สะท้อนแนวคิดแบบเดียวกันไว้อย่างน่าสนใจ !!?? ...

Dee Hock เคยให้นิยามสั้นๆ แก่คำว่า Chaordic Organization ในการสัมมนาครั้งหนึ่งว่า ... By Chaordic, I mean any self–organizing, adaptive, non-linear, complex system, whether physical, biological, or social, the behaviour of which exhibits characteristics of both order and chaos or, loosely translated to business terminology, cooperation and competition. ... หรือถ้าจะให้สั้นกว่านั้นผมก็คงต้องบอกว่า มันคือระบบที่มี 'ส่วนผสมอันสมดุล' ระหว่าง 'ความสับสนวุ่นวาย' กับ 'ความมีระเบียบแบบแผน' นั่นเอง ... โดยหัวใจสำคัญของ Chaordic Organization จะอยู่ที่ 'ความเชื่อมั่นอย่างไม่เสื่อมคลาย (有孚不終) ในเป้าหมายที่แท้จริงร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย' ... ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าสนใจมากที่ 'จิวกง' ถึงกับเอ่ยถึงแนวความคิดแบบเดียวกันนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน โดยอาศัยเพียงทฤษฎีของ 'การรักษาดุลยภาพ' ระหว่าง 'หยาง' และ 'หยิน' ในบทที่ King Wen ใช้ 'ภาพสัญลักษณ์' เป็น 'การมีรากฐานที่หนักแน่นมั่นคง' (☷) ควบคู่ไปกับ 'การแสดงออกที่ร่าเริงสดใส' (☱) ??!!! ... และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมอยากจะยืนยันว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ไม่ใช่ 'ตำราหมอดู' !!? ... :D

ผมมีความรู้สึกว่า 'จิวกง' น่าจะดิ้นความหมายของ 王假有廟 (wáng jiǎ yǒu miào, วั๋ง เจี่ย โหฺย่ว เมี่ยว) ที่ King Wen ใช้ออกไปเป็นความหมายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับตัว 'ผู้นำ' โดยตรง เนื่องจากคำว่า 王 (wáng, วั๋ง) สามารถที่จะหมายถึง 'หลักสำคัญ' ก็ได้ในบางกรณี ซึ่งก็จะทำให้ 王假有廟 (wáng jiǎ yǒu miào, วั๋ง เจี่ย โหฺย่ว เมี่ยว) ถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'หลักสำคัญคือ (王假) การมีความศรัทธา (有廟) ร่วมกันในทุกๆ ฝ่าย' ที่สะท้อนออกมาด้วยวลีว่า 'มีความเชื่อมั่น (有孚) อย่างไม่เสื่อมคลาย (不終)' ในต้นวลีของวรรคแรกนี้ เพราะหลักการสำคัญของ Chaordic (乃亂乃萃) นั้นจะไม่ได้อยู่ที่ 'การชี้นำ' ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่อยู่ที่ต่างฝ่ายต่างสามารถปรับเปลี่ยน 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ของตนไปตามเงื่อนไขแห่งสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยมี 'ความสอดคล้องต้องกัน' ในแง่ของ 'ทิศทาง' และ 'เป้าหมาย' ที่เป็น 'ภาพรวมร่วมกัน' ของทุกฝ่ายเท่านั้น

เอานะ !! ... ผมไปในแนวของ Chaordic เลยแล้วกัน ... :) ... 'การมี (有) ความเชื่อมั่นศรัทธา (孚) อย่างไม่ (不) สิ้นสุด (終) คือการยอมรับในความหลากหลาย (乃亂) ที่ย่อมหล่อหลอมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน (乃萃) ของทั้งหมด อันเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพที่ทุกฝ่ายล้วนมีต่อกัน (若號) ; การดำเนินงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ (一握) จะนำไปสู่ (為) การปฏิบัติงานด้วยความเบิกบานใจ (笑) ที่ไม่ต้อง (勿) คอยเคร่งเครียดกังวล (恤) ด้วยเหตุว่าทุกสิ่งที่ดำเนินการ (往) จะไม่ปรากฏ (無) ข้อครหาอันเป็นมลทิน (咎) แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย' ... ผมคิดว่า 'ตีความ' อย่างนี้ก็สวยดีแล้วนะ ... รึเปล่า !? ... ;)

 

สอง หยิน :

引吉無咎孚乃利用禴
yǐn jí wú jiù fú nǎi lì yòng yüè
อิ่น จี๋ อู๋ จิ้ว ฟู๋ ไหฺน่ ลี่ โยฺว่ง เยฺวี่ย



引 อ่านว่า yǐn (อิ่น) แปลว่า 'ดึง', 'ดึงดูด', 'ลาก', 'จูง', 'ทำให้ยืดออก', หรือ 'ง้างให้กางออก' (stetch) ; บางครั้งจึงใช้ในความหมายว่า 'ยืดเวลาออกไป', 'ขยายเวลาออกไป', 'ดำเนินการต่อไป', หรือ 'ทำให้ต่อเนื่อง' (continue) แล้วก็เลยแปลว่า 'ยาวนาน' ได้ด้วย ; ซึ่งในความหมายของการ 'ลาก-จูง' ก็สามารถเพี้ยนไปเป็น 'การนำ', 'การชี้นำ', 'การแนะนำ' หรือ 'การกระตุ้น' ก็ยังได้ ; นอกจากนั้นแล้ว 引 (yǐn, อิ่น) ยังมีความหมายว่า 'เลือกขึ้นมา', 'นำเอามา' ซึ่งก็คงเพี้ยนมาจาก 'การลาก-การจูง' อีกเหมือนกัน ; แต่พอใช้ในความหมายว่า 'ดึงเข้าหาตัวเอง' ความหมายก็จะเปลี่ยนไปเป็น 'เหนี่ยว', 'รั้ง', 'การถอนตัว', หรือ 'การปลีกตัวออกห่าง' ได้อีกลักษณะหนึ่ง

ย้อนดูความหมายของ 吉 (jí, จี๋) ที่พบเห็นมาแทบทุกบทซะอีกทีแล้วกัน คำนี้แปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; แปลว่า 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ … และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน

禴 อ่านว่า yüè (เยฺวี่ย) ในสมัยก่อนเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 礿 (yüè, เยฺวี่ย) ที่แปลว่า 'การเสียสละ' หรือ 'การยอมอุทิศให้' (sacrifice) หรือบางทีก็จะหมายถึง 'การบวงสรวง' ไปเลย ; ส่วนความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ 禴 (yüè, เยฺวี่ย) เคยถูกใช้เป็น 'หนึ่งในชื่อเรียกพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำฤดูกาลทั้งสี่' คือ ฤดูใบไม้ผลิเรียกว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย), ฤดูร้อนเรียกว่า 禘 (dì, ตี้), ฤดูใบไม้ร่วงเรียกว่า 嘗 (cháng, ฌั๋ง), และฤดูหนาวเรียกว่า 烝 (zhēng, เจิง) มาตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์โจว แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำฤดูร้อนให้เป็น 禴 (yüè, เยฺวี่ย) ในยุคของโจวอู่วั๋ง (周武王) ซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งของ King Wen และเป็นพี่ชายของ 'จิวกง' ด้วย

ทีนี้ คำว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย) อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพสัญลักษณ์ทั้งแปด' ใน 'แผนผังโป้ยก่วย' อยู่บ้างก็ตรงที่ว่า มักจะมีการอ้างถึงการระบุชื่อฤดูกาลลงไปในทิศหลักทั้งสี่ โดยฤดูใบไม้ผลิจะอยู่ทางทิศตะวันออก, ฤดูร้อนจะอยู่ทางทิศใต้, ฤดูใบไม้ร่วงจะอยู่ทางทิศตะวันตก, และฤดูหนาวจะอยู่ทางทิศเหนือ ... ซึ่ง ... 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำทิศตะวันออกตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fu Xi ที่มีมาก่อนยุคราชวงศ์โจวนั้นจะใช้สัญลักษณ์ 離 (☲ : lí, ลี๋) หรือ 'ไฟ' ... ในขณะที่ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำทิศใต้ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ King Wen ที่ดัดแปลงไปจากแผนผังเดิมก็คือ 離 (☲ : lí, ลี๋) หรือ 'ไฟ' เช่นเดียวกัน ... มันจึงดูราวกับว่า การปรับเปลี่ยนชื่อเรียกพิธีบวงสรวงเทพเจ้าในยุคราชวงศ์โจวนั้น คล้ายกับมีการอ้างอิงกับการปรับเปลี่ยน 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำทิศใน 'แผนผังโป้ยก่วย' อยู่ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย) อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับ 'ธาตุไฟ' ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ 離 (☲ : lí, ลี๋) มาตั้งแต่ในยุคนั้น ... รึเปล่า ?!?! ... อันนี้ผมไม่ฟันธงแล้วกัน แค่อยากจะชี้ให้ดูเฉยๆ เพราะบางตำราก็เอ่ยอ้างถึงชื่อ 'พิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำฤดูกาล' ไว้บ้างพอสมควร ... :) ... แต่ในเมื่อ 離 (☲ : lí, ลี๋) หรือ 'ไฟ' มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ว่า 'ความสุกสว่าง' หรือ 'ความกระจ่างแจ้ง' แห่ง 'ปัญญา' ... มันควรจะเป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย) ในที่นี้ก็อาจจะหมายถึง 'การเสียสละอย่างมีสติ' หรือ 'การยอมอุทิศด้วยปัญญา' ไม่ใช่โง่ๆ เซ่อๆ ทำอะไรๆ เพื่อผู้อื่นจนก่อเภทภัยให้กับตัวเอง ??! ... :D

ผมมองความหมายของ 引吉 (yǐn jí, อิ่น จี๋) ในวรรคนี้ด้วยความหมายคลุมๆ อยู่หลายประเด็นนะครับ ... โดยมันอาจจะหมายถึง 'คุณธรรมที่แผ่ไพศาล' ซึ่งน่าจะสะท้อนความหมายของ 'ผู้นำย่อมต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่มหาชน' (王假有廟) ดังที่ King Wen ได้เปิดประเด็นเอาไว้ในตอนต้นบท ซึ่งก็จะมีความใกล้เคียงกับ 'ความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างไม่สิ้นสุด' (有孚不終) ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้เองในวรรคแรกด้วย ... แต่ถ้าจะมองว่า 引吉 (yǐn jí, อิ่น จี๋) หมายถึง 'การกระจายความเจริญ' หรือ 'การกระจายความมั่งคั่ง' มันก็น่าจะสะท้อนความหมายให้กับ 'การดำเนินงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพจะนำไปสู่การปฏิบัติงานด้วยความเบิกบานใจ' (一握為笑) ที่ 'จิวกง' เอ่ยไว้ในช่วงกลางของวรรคที่หนึ่ง ซึ่งการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นด้วยความเบิกบานใจนั้น ก็จะต้องไม่มีการเอารัดเอาเปรียบระหว่างกลุ่มก้อนต่างๆ ที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งสังคม โดยทุกๆ ฝ่ายจะต้องรู้จักแบ่งปันและตอบแทนให้แก่กันในปริมาณที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความทุ่มเทพยายามที่แต่ละภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือกันไว้ ถึงแม้ว่ามันจะฟังดูเหมือน 'การประสานประโยชน์อย่างลงตัว' ที่มีความหมายไม่ค่อยจะสวยงามนักในทางการเมือง แต่ผมกลับคิดว่า ความไม่สวยงามในทางการเมืองดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจาก 'ความไม่ทั่วถึง' และ 'ความไม่เป็นธรรม' ต่อ 'สังคมโดยรวม' มากกว่าที่จะเป็นความผิดพลาดของแนวคิดที่จะ 'แบ่งปันกัน' ดังกล่าว

ดังนั้น ผมจึงอยากจะให้ความหมายกับวลีนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'การกระจาย (引) ความเจริญและความมั่งคั่ง (吉) ให้แก่สังคมอย่างทั่วถึงนั้น ย่อมปราศจาก (無) ข้อครหา (咎) ใดๆ ; ความจริงใจต่อความเชื่อมั่นศรัทธา (孚) ที่จะส่งผล (乃) เป็นความรุ่งเรืองดังที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพยายาม (利) จำเป็นต้องอาศัย (用) ความเสียสละอย่างมีสติ และการอุทิศตนด้วยปัญญา (禴) จึงจะสามารถสัมฤทธิ์ผล' ... หมายความว่า หากผลแห่งความพยายามที่ทุกคนช่วยกันทุ่มเทนั้นมันไม่ได้มีมากมายอย่างที่ทุกคนคาดหวัง แต่ละฝ่ายก็ไม่ควรจะอ้างสิทธิ์จากความเหนื่อยยากของตัวเองเพื่อยื้อแย่งเอาประโยชน์เฉพาะตัว แต่จะต้อง 'ยอมเสียสละ' เพื่อให้ทุกๆ คนที่ร่วมฟันฝ่ากันมาได้รับ 'การแบ่งปัน' อย่าง 'สมเหตุสมผล' ... ผู้ที่สมควรจะได้รับก็ต้องได้รับ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือใดๆ ก็ไม่สมควรจะแสวงประโยชน์จากน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่น ... 'การแจกจ่ายแบ่งปัน' ระหว่างสมาชิกที่ร่วมกันอยู่ในสังคมหนึ่งๆ นั้น ย่อมไม่อาจที่จะกระทำการใดๆ อย่างไร้สติ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ทุ่มเทความร่วมมือแล้วอย่างเต็มกำลัง

'ความปรารถนาดี' ที่จะเห็นทุกคนในสังคมมี 'ความสุขความเจริญ' นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ 'การจัดสรรผลตอบแทน' ให้มี 'การกระจายตัวอย่างทั่วถึง' และ 'เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย' นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้ 'สติ' และ 'ปัญญา' ในการบริหารจัดการ ... เพราะ 'ศรัทธา' ที่ปราศจาก 'สติปัญญา' เป็นปัจจัยในการกำกับชี้นำ คือ 'ความดื้อด้านดักดาน' ที่ไม่อาจสร้างสรรค์ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้เกิดแก่ 'สังคมโดยรวม' อย่างแน่นอน !!

 

สาม หยิน :

萃如嗟如無攸利往無咎小吝
cuì rú jiē rú wú yōu lì wǎng wú jiù xiǎo lìn
ฉุ้ย ญู๋ เจีย ญู๋ โยว หฺวั่ง อู๋ จิ้ว เสี่ยว ลิ่น



ไม่มีคำไหนใหม่เลยครับ แม้แต่คำที่ไม่ค่อยจะคุ้นตาอย่าง 嗟 (jiē, เจีย) ก็เคยเล่าไปในบทที่สามสิบแล้วว่า หมายถึง 'ทอดถอนใจ', 'เศร้าใจ', 'อึดอัดใจ' ; ซึ่งบางครั้งยังหมายถึง 'การอุทานด้วยความท้อแท้ใจ' ด้วย

ความหมายในวรรคนี้ค่อนข้างที่จะตรงตัวเลยทีเดียว โดย 'จิวกง' กำลังบอกกับพวกเราว่า 'การหล่อหลอมเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ (萃如) นั้น หากดำเนินไปด้วยความรู้สึกที่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ (嗟如) ย่อมไม่ปรากฏผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองใดๆ ในบั้นปลาย (無攸利) แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (往) จะปราศจาก (無) ความผิดพลาดเสียหาย (咎) แต่คุณค่าและความหมายก็จะน้อยนิด (小) จนไม่อาจนับเป็นชิ้นเป็นอัน (吝) ใดๆ ได้เลย'

มันก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดสำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาจะเห็น 'ความเป็นปึกแผ่น' ในสังคมที่ตนมีส่วนร่วม แต่สมาชิกหลายฝ่ายกลับมีทัศนคติที่แปลกแยกแตกต่าง ทั้งไม่ยินดีที่จะให้ 'ความร่วมมือ' อย่าง 'เต็มกำลังสติปัญญา' เพื่อสร้างสรรค์ 'ความเป็นเอกภาพ' อันจะเป็น 'พลังขับเคลื่อนที่สำคัญ' ให้กับสังคมทั้งสังคม หากแต่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเพียง 'การแยกย้าย' เพื่อจะดำเนินการใดๆ ของตนเองอย่าง 'เป็นเอกเทศ' โดยไม่สนใจใยดีต่อ 'ความดำรงคงอยู่' ของ 'สังคมโดยรวม' อย่างแท้จริง ... แม้ว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถ 'ดิ้นรน' เพื่อ 'เหนี่ยวรั้ง' สังคมอันแปลกแยกดังกล่าวให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ต่อไป แต่สังคมที่อยู่ร่วมกันเพียง 'เปลือกนอก' โดยปราศจาก 'จิตวิญญาณ' ที่จะ 'ประสานกำลัง' จากภายในนั้น ย่อมดำรงอยู่อย่างไร้ซึ่ง 'คุณค่าความหมายที่แท้จริง' ของ 'ความเป็นสังคม' และรังแต่จะสร้าง 'ความหดหู่ท้อแท้' ให้แก่ทุกผู้คนที่ยัง 'พยายามขัดขืน' ต่อ 'สภาพแห่งความเป็นจริง' ของ 'ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตาย' ซึ่งไม่สามารถ 'ผลิดอกออกผล' เพื่อ 'ความเจริญเติบโต' ใดๆ ได้อีกแล้ว

 

สี่ หยาง :

大吉無咎
dà jí wú jiù
ต้า จี๋ อู๋ จิ้ว



มีแต่คำที่เคยเจอมาบ่อยๆ แล้วทั้งนั้นในวรรคนี้ ซึ่งถ้าแปลกันอย่างตรงๆ ตัว เราก็จะได้ความหมายว่า 'ความเจริญรุ่งเรืองมหาศาล (大吉) ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย (無咎)' แต่ถ้าเล่นสำนวนตลาดๆ หน่อย เราก็จะได้อารมณ์ประมาณว่า 'โชคลาภที่มากมาย (大吉) ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด (無咎)' ... :P ... แต่ 'จิวกง' ตั้งใจจะเขียนให้มันง่ายๆ อย่างนั้นด้วยมั้ยล่ะ ?!

ปรกติแล้ววรรคที่สี่กับวรรคที่สามในแต่ละบทจะต้องถูกบันทึกให้เป็น 'คู่วลี' กันเหมือนที่เราเคยเห็นมาตั้งแต่บทแรกๆ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น วลีเต็มๆ ของท่อนนี้ก็ควรจะเป็น 萃如嗟如無攸利往無咎小吝 ‧ 大吉無咎 (cuì rú jiē rú wú yōu lì wǎng wú jiù xiǎo lìn . dà jí wú jiù, ฉุ้ย ญู๋ เจีย ญู๋ อู๋ โยว ลี่ หฺวั่ง อู๋ จิ้ว เสี่ยว ลิ่น . ต้า จี๋ อู๋ จิ้ว) โดยท่อนแรกที่มาจากวรรคที่สามนั้นหมายถึง ... 'การหล่อหลอมเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ (萃如) นั้น หากดำเนินไปด้วยความรู้สึกที่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ (嗟如) ย่อมไม่ปรากฏผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองใดๆ ในบั้นปลาย (無攸利) แม้ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น (往) จะปราศจาก (無) ความผิดพลาดเสียหาย (咎) แต่คุณค่าและความหมายก็จะน้อยนิด (小) จนไม่อาจนับเป็นชิ้นเป็นอัน (吝) ใดๆ ได้เลย' ... วลีที่ควรจะรับกับความหมายข้างต้นจึงน่าจะเป็น 'ความเจริญรุ่งเรืองโดยธรรมย่อมแผ่ไพศาล (大吉) หากสังคมดำรงอยู่ร่วมกันอย่างปราศจาก (無) ความระหองระแหงคลางแคลงใจ (咎)' ...

สำหรับในวรรคนี้ ผมอยากจะขยายความหมายของ 吉 (jí, จี๋) ให้ครอบคลุมแง่มุมอื่นๆ ของมันที่มากกว่า 'ความเจริญรุ่งเรือง' เฉยๆ เพราะคำว่า 吉 (jí, จี๋) แปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; แปลว่า 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน ... ดังนั้นความหมายที่ผมให้ไว้จึงกลายเป็น 'ความเจริญรุ่งเรืองโดยธรรม' ?! ... ซึ่งเหตุผลของผมก็คือ 'ความเหนื่อยหน่ายท้อแท้' ของสมาชิกในสังคมหนึ่งๆ นั้น บางครั้งมันก็มีสาเหตุมาจาก 'ความยากลำบาก' ของสถานการณ์ที่สังคมนั้นๆ ต้องเผชิญ และอาจจะนำไปสู่ 'การกล่าวโทษกันไปมา' เพื่อหา 'วัว' หรือ 'แพะ' ซักตัวมาบูชายัญ (牲) ให้ผู้คนสบายอกสบายใจ ... :P ... ซึ่งในโลกของความเป็นจริงนั้น ก็ไม่เคยมีฝ่ายใดที่จะยอมเป็น 'เครื่องสังเวย' ให้กับฝ่ายอื่นๆ อยู่แล้วแหละ จึงเป็นเหตุแห่งที่มาของ 'ความระหองระแหง' ในสังคมที่พร้อมจะบานปลายกลายเป็น 'ความขัดแย้ง' ในที่สุด ... ถ้าอย่างนั้น ... ผู้นำสังคมควรจะสนับสนุนให้สมาชิกทั้งหมดแสวงหาความสุขกายสบายตัว ด้วยการชี้นำให้เที่ยวไขว่คว้าหาความเจริญทางวัตถุโดยไม่ต้องคำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีใดๆ เลยจะดีกว่ามั้ย ?! ... ถ้าถาม 'จิวกง' อย่างนี้ ท่านก็คงจะบอกว่า 'ความเจริญโดยธรรมที่จะแผ่ไพศาล (大吉) จะต้องปราศจากมลทินอันเป็นที่ติฉินนินทา (無咎) ของผู้คนทั้งหลาย' ... จึงไม่อาจเพ่งความสนใจอยู่เพียง 'เป้าหมาย' จนไม่ใยดีต่อ 'ความเลวร้าย' ใน 'กระบวนการ' ทีตนเลือกใช้ !!

ส่วนคำว่า 咎 (jiù, จิ้ว) ที่แปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน' นั้น ผมเลือกที่จะเอาไปผสมกับอารมณ์ของคำว่า 嗟 (jiē, เจีย) ที่หมายถึง 'ทอดถอนใจด้วยความหดหู่ท้อแท้' ในวรรคที่สาม ซึ่งเราก็จะได้ลักษณะของสังคมที่สมาชิกแต่ละคน 'เอาแต่บ่นกระปอดกระแปด' กับเรื่องเลวร้ายที่โยนภาระให้เป็นผลงานของผู้อื่นไปเรื่อยเปื่อย แต่ไม่เคยคิดที่จะลงมือ 'แก้ไขปรับปรุง' ใดๆ ในส่วนที่เป็น 'ความรับผิดชอบ' ของตัวเองเลยซักเรื่องเดียว ... สังคมประเภทที่สมาชิกทั้งหลายอยู่กันอย่างเหม็นขี้หน้ากัน แล้วก็คอยดักแทงข้างหลังกันด้วยคำนินทาว่าร้ายไปต่างๆ นาๆ นี่แหละที่ผมเรียกว่า 'ระหองระแหง' คือ ไม่ตีกันจนตายหรือไม่แตกกันจนสลาย แต่ 'รวมตัวกันไป ทอดถอนใจอย่างเหนื่อยหน่ายกันไป' (萃如嗟如) เป็น 'ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตาย' ไปวันๆ อย่างนั้นเอง ... 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในวรรคนี้จึงได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'ปราศจาก (無) ความระหองระแหง (咎) ระหว่างกัน' หรือ 'ไม่มีการกล่าวโทษกันไปมาอย่างเลื่อนลอยโดยไม่คิดแก้ไขปรับปรุงใดๆ' นั่นเอง

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ทุกคนคิดแล้วก็ทำอะไรๆ ที่มันเหมือนๆ กันนะครับ เพราะการคิดและทำทุกอย่างเหมือนๆ กันนั้นก็สามารถสร้างความแตกแยกได้เหมือนกัน ถ้ามันเกิดบ้า 'แย่งกันทำ' ขึ้นมา ... เอ้า ... จริงจริ๊ง !! ... :D ... สังคมที่ดีจึงควรจะเป็นสังคมที่สมาชิกมี 'ความเคารพ' ใน 'ความแตกต่างหลากหลาย' ของกันและกัน โดยไม่พยายามเข่นให้ผู้อื่นต้องคิดและทำอะไรๆ เหมือนกับตัวเองที่รังแต่จะสร้าง 'ความขุ่นข้องหมองใจ' จนกลายเป็น 'ความขัดแย้ง' ที่ต่างฝ่ายต่างเก็บกดเอาไว้เพื่อรอวันระเบิดออกมาเมื่อ 'ปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวย' ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ...

นอกจากนั้นแล้ว 'การมีความเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางสังคม' นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าให้ 'ต่างคนต่างอยู่' แบบ 'ตัวใครตัวมัน' เพราะลักษณะทางสังคมแบบนั้นก็คงจะไม่เอื้อให้เกิด 'ความร่วมมือระหว่างกัน' ซักเท่าไหร่ ... 'การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์' ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมหนึ่งๆ เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะต้องมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะบางอย่างที่ไม่ลงรอยกันอยู่บ้าง แต่หากทุกฝ่ายรู้จักที่จะ 'รับฟังซึ่งกันและกันด้วยเหตุด้วยผล' เพื่อ 'ศึกษา' ให้เกิด 'ความเข้าใจ' ถึง 'ข้อจำกัด' และ 'ความจำเป็น' ของกันและกันอย่าง 'จริงใจ' และ 'เปิดเผย' ทุกสิ่งก็น่าจะสามารถคลี่คลายไปในทางที่เป็น 'ประโยชน์ร่วมกัน' ได้โดยไม่ปรากฏ 'ความระหองระแหง' ไว้เป็นเชื้อร้ายให้กับสังคมโดยรวมต่อไป

วรรคที่สามน่ะค่อนข้างจะตรงตัวเลยครับสำหรับความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อ แต่ที่เด็ดขาดจริงๆ ก็ต้อยกให้กับวรรคที่สี่นี่แหละที่สั้นๆ ห้วนๆ แต่ได้ใจความที่ครอบคลุมไปหลายแง่มุมจริงๆ ... ;)

 

ห้า หยาง :

萃有位無咎匪孚元永貞悔亡
cuì yǒu wèi wú jiù fěi fú yuán yǒng zhēn huǐ wáng
ฉุ้ย โหฺย่ว เว่ย อู๋ จิ้ว เฝ่ย ฟู๋ เยฺวี๋ยน หฺย่ง เจิน หุ่ย วั๋ง



位 อ่านว่า wèi (เว่ย) แปลว่า 'สถานที่ตั้ง', 'ตำแหน่งที่ตั้ง', หรือ 'ระดับความสูงต่ำทางกายภาพของพื้นผิวทางภูมิศาสตร์' ; ซึ่งบางครั้งก็หมายถึง 'ตำแหน่งในหน้าที่การงาน', หรือ 'สถานภาพทางสังคม' ที่มี 'ความสูงต่ำของลำดับชั้น' โดยที่อาจจะหมายถึง 'ราชบัลลังค์' หรือ 'ตำแหน่งประมุข' ไปด้วยเลยก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'การจับจองพื้นที่', 'การครอบครองพื้นที่', หรือว่า 'ยืน' อยู่ณ จุดใดจุดหนึ่งของสถานที่นั้นๆ

ย้อนรอยคำว่า 匪 (fěi, เฝ่ย) กันซักหน่อย คำนี้แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' ; ในความหมายหนึ่งแปลว่า 'คนไม่ดี', 'โจร', 'นักเลงหัวไม้', หรืออาจจะหมายถึง 'อันธพาล' (gangster) … ในภาพอักษรเป็นคำว่า 非 (fēi, เฟย) ซึ่งแปลว่า 'ผิด', 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' ที่อยู่ใน 匚 (fāng, ฟัง หรือ ฟาง) ซึ่งแปลว่า 'กล่อง' หรือ 'ภาชนะใส่ของ' และทำให้ 匪 มีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'แหล่งรวมของความไม่ดี หรือความไม่ถูกต้องทั้งหลาย' หรือ 'ภาชนะบรรจุสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว)' ... แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็น 'อักษรโบราณ' ของ 篚 (fěi, เฝ่ย) ที่หมายถึง 'ตะกร้า' ซึ่งในสมัยก่อนก็คือพวกภาชนะที่สานขึ้นมาจากไม้ (มีตัว  竹 กำกับอยู่ด้านบน) เพื่อเอาไว้ใส่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ … ไอ้ตรงที่สามารถสื่อถึงภาชนะใส่ของได้นี่แหละที่ยุ่งหน่อย เพราะมันทำให้ 匪 (fěi, เฝ่ย) สามารถแปลว่า 'เก็บรวมรวม' ในลักษณะที่เป็นการนำมาไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน, หรืออาจจะหมายถึง 'การคัดแยก' ในลักษณะที่เป็น 'การจำแนก' สิ่งของ เพื่อแยกเก็บเป็นตะกร้าๆ ก็ได้ด้วย ; แล้วเมื่อมันเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ฝีมือในการสร้างมันขึ้นมา มันก็เลยมีความหมายเหมือนกับ 斐 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'สวยงาม', 'สง่างาม', หรือ 'น่าทึ่ง' ได้อีกต่างหาก !!!! ... ส่วนอีกความหมายหนึ่งของ 匪 (fěi, เฝ่ย) นั้นก็ไม่ถึงกับคล้ายกับ 'การปล้น' ซักเท่าไหร่ เพราะมันจะหมายถึง 'การแจกจ่าย' หรือ 'การแบ่งปัน' ในลักษณะที่เป็นการนำสิ่งของมาจากผู้หนึ่งผู้ใด แล้วไป 'บริจาค' ให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเดิม

元 (yuán, เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; นอกจากนั้นในสมัยก่อนก็ยังมีความหมายเหมือนกับ 天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; แล้วก็เลยทำให้สามารถตีความเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ได้อีกต่างหาก เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนในยุคก่อนนั้น จะถือว่าจักรพรรดิของพวกเขาคือ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งถ้าจะใช้คำอื่นในยุคปัจจุบันก็น่าจะตีความให้หมายถึง 'ผู้นำ' ได้ด้วย ;)

永 (yǒng, หย่ง, เหยฺวิ่ง) แปลว่า 'การไหลของน้ำ', 'กระแสน้ำ' ; 'ความสม่ำเสมอ', 'ความคงเส้นคงวา', 'เนิ่นนาน' หรือ 'ตลอดกาล'

貞 (zhēn, เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

ถ้าจะกำหนดกรอบของความหมายสำหรับวรรคที่ห้าให้มีความกระชับอย่างเฉพาะเจาะจงลงไป เราก็คงต้องหยิบเอาวรรคที่สองมาเป็นคู่เทียบตามเคยล่ะครับ ... ซึ่งในวรรคที่สองนั้น 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ด้วยถ้อยคำว่า ... 'การกระจาย (引) ความเจริญและความมั่งคั่ง (吉) ให้แก่สังคมอย่างทั่วถึงนั้น ย่อมปราศจาก (無) ข้อครหา (咎) ใดๆ ; ความจริงใจต่อความเชื่อมั่นศรัทธา (孚) ที่จะส่งผล (乃) เป็นความรุ่งเรืองดังที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพยายาม (利) จำเป็นต้องอาศัย (用) ความเสียสละอย่างมีสติ และการอุทิศตนด้วยปัญญา (禴) จึงจะสามารถสัมฤทธิ์ผล' ... และในเมื่อข้อความในวรรคที่สองเอ่ยถึง 'การกระจายผลประโยชน์' ประเด็นที่ควรจะต้องเอ่ยถึงควบคู่กันไปด้วยก็น่าจะเป็น 'การแจกจ่ายหน้าที่ความรับผิดชอบ' ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งของ 'การกระจายผลประโยชน์' ระหว่างกลุ่มก้อนต่างๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในสังคมแต่ละสังคม

ดังนั้น ถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคที่ห้านี้จึงควรจะหมายถึง 'การหล่อหลอมสังคม (萃) โดยยังมี (有) การจำแนกออกเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นลำดับชั้น (位) ที่แตกต่างกัน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิดแปลก (無咎) แต่ประการใด ; เพียงแต่ว่า การจัดสรร (匪) หน้าที่ความรับผิดชอบ (孚 ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ) ให้เป็นสัดเป็นส่วนนั้น จะต้องมีบรรทัดฐาน (元) อันคงเส้นคงวา (永) ในหลักปฏิบัติที่เที่ยงธรรม (貞) เพื่อขจัดความคับข้องใจทั้งปวง (悔) ให้หมดสิ้นไป (亡)' ... คิดว่านี่ก็คือส่วนขยายความของวลี 孚乃利用禴 (fú nǎi lì yòng yüè, ฟู๋ ไหฺน่ ลี่ โยฺว่ง เยฺวี่ย) ตรงท้ายวรรคที่สองนั่นแหละครับ คือต้องรู้จักปฏิบัติงานด้วย 'ความเอาใจใส่' อย่างใช้ 'สติ' และ 'ปัญญา' จึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี

เราจะเห็นว่า 'ผลประโยชน์' ที่ควรจะ 'กระจายตัว' ให้ได้ 'สัดส่วน' กับ 'บทบาท' และ 'ความพยายาม' ใน 'การปฏิบัติหน้าที่' นั้น แม้ว่าจะเป็น 'หลักการที่ชอบธรรม' โดยพื้นฐาน แต่หาก 'ผู้นำ' มี 'ความลำเอียง' โดยเลือกปฏิบัติด้วย 'การมอบหมายหน้าที่' สำคัญๆ ให้กับ 'บุคคลใกล้ชิด' ไปดำเนินการ โดยไม่คำนึงถึง 'ความเหมาะสม' ในด้าน 'ความรู้ความชำนาญ' หรือ 'ศักยภาพ' ที่พึงมีในแต่ละภาระกิจ 'ความเหลื่อมล้ำ' ของ 'ผลงาน' และ 'ผลประโยชน์' ก็ย่อมจะ 'กระจายตัวอย่างไม่เป็นธรรม' ไปตาม 'ความจงใจด้วยอคติ' นั้นๆ ได้เช่นกัน และน่าจะเป็นชนวนที่นำไปสู่ 'ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน' ที่ก่อให้เกิด 'ความระหองระแหง' ในองค์กรและสังคม จนกระทั่งบานปลายกลายเป็น 'ความขัดแย้งทางสังคม' ไปในที่สุดด้วย ... หลักการที่ถูกต้องชอบธรรม จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องชอบธรรมด้วยเท่านั้น จึงจะนำพาความสงบร่วมเย็นมาสู่สังคมหนึ่งๆ ได้

 

หก หยิน :

齎咨涕洟無咎
jí zī tì yí wú jiù
จี๋ จือ ที่ อี๋ อู๋ จิ้ว



齎 อ่านว่า jí (จี๋) ถ้าใช้เป็นคำโดดๆ จะแปลว่า 'ทรัพย์สิน', หรือ 'ความมั่งคั่ง', เหมือนกับคำว่า 資 (zĪ, จือ) จึงทำให้บางครั้งมันมีความหมายว่า 'การตกแต่ง', หรือ 'เครื่องประดับ', จนเพี้ยนความหมายไปคล้ายกับ 'เครื่องบรรณาการ' และกลายเป็นคำกริยาว่า 'มอบให้', 'ส่งให้', หรือ 'หยิบยื่นให้' ; ซึ่งบางครั้งก็จะหมายถึง 'การประคอง (เพื่อส่งมอบให้)', ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'การปล่องวาง', หรือ 'การมอบหมาย (ให้อยู่ในความดูแลของผู้อื่น)' ก็ได้

咨 อ่านว่า zī (จือ) แปลว่า 'คำปรึกษา', 'ข้อแนะนำ' ซึ่งมักจะใช้กับ 'การปรึกษาหารือ' อย่างเป็นทางการระหว่างผู้ที่มีศักดิ์เท่าเทียมกัน ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'แผนปฏิบัติงาน', 'นโยบาย', หรือ 'กลยุทธ์' ที่มักจะเป็น 'ข้อหารือ' ระหว่างผู้ร่วมงานก็ได้ ; ความหมายอื่นๆ ที่ยังเป็นไปได้ก็คือ 'เปล่งเสียงอุทาน (ด้วยความพึงพอใจ)' ซึ่งเป็นการแสดงออกด้วย 'ความยกย่อง' หรือ 'ความชื่นชม' ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ... แต่บางพจนานุกรมก็จะให้ความหมายว่า 'ทอดถอนใจ' (sigh) ซึ่งเป็นการแสดงออกของ 'ความเหนื่อยหน่าย' หรือ 'ความหดหู่ใจ' โดยอ้างอิงที่มาของความหมายดังกล่าวจาก 'การตีความ' ให้กับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ไปซะงั้น ??!! ทั้งๆ ที่ 'การทอดถอนใจด้วยความเหนื่อยหน่ายท้อแท้' ควรจะใช้คำว่า 嗟 (jiē, เจีย) ที่เราเห็นในวรรคที่สามนั่นมากกว่า

涕 อ่านว่า tì (ที่) ควรจะแปลว่า 'หยดน้ำตา', 'น้ำตา', ไม่ใช่ 'น้ำมูก' เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงหมายถึง 'หลั่งน้ำตา' ไม่ใช่ 'สั่งน้ำมูก' ... :D ... แต่โดยมากมักจะมีการใช้สลับไปสลับมาอย่างสับสนกับอักษร 洟 (yí, อี๋) ที่แปลว่า 'น้ำมูก' และทำให้เวลาที่ใช้คู่กับ 涕 (tì, ที่) เป็น 涕洟 (tì yí, ที่ อี๋) มักจะหมายถึง 'ร้องห่มร้องไห้', หรือ 'ร้องไห้ฟูมฟาย' ซึ่งก็คงจะหมายถึง 'ร้องไห้จนน้ำมูกน้ำตาไหล' ... อะไรประมาณนั้น ... :P

มีความไม่สมเหตุสมผลบางอย่างใน 'การตีความ' ให้กับถ้อยคำในวรรคนี้ของ 'จิวกง' อยู่ประการหนึ่งก็คือ คำว่า 咨 (zī, จือ) ถูกแปลความหมายว่า 'ทอดถอนใจด้วยความรันทด' เพราะมันดันถูกบันทึกไว้ข้างหน้าของคำว่า 涕洟 (tì yí, ที่ อี๋) ที่แปลว่า 'ร้องไห้ฟูมฟาย' ทั้งๆ ที่ความหมายดั้งเดิมจริงๆ ของ 咨 (zī, จือ) ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการแสดงออกด้วยอาการอย่างที่ว่านั้นเลยแม้แต่น้อย ... ยิ่งถ้าเราแยกธาตุของ 咨 (zī, จือ) ออกมาเป็น 口 (kǒu, โข่ว) ที่หมายถึง 'ปาก' หรือ 'คำพูด' กับ 次 (cì, ชื่อ) ที่มักจะแปลว่า 'หยุดยั้ง', 'ลำดับต่อมา', หรือ 'ขั้นตอน' เราก็จะเห็นความหมายของมันที่เกี่ยวข้องกับ 'คำปรึกษา', 'ข้อแนะนำ' หรือ 'การทักท้วง-ตักเตือน' อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะมันได้สะท้อนถึง 'การพูดคุยเพื่อโต้ตอบสื่อสารกันไปมา' โดยไม่เกี่ยวกับการยกย่องสรรเสริญ, หรือคำตำหนิติเตียนใดๆ เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อ 'ปรึกษาหารือกัน' แบบ two-way communication เท่านั้นเอง ... แล้วใครบางคนก็อาจจะร้องอุทานว่า ... อ๋อ ... ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า feedback แต่ Kingwen เขาใช้คำว่า 利有攸往 (lì yǒu yōu wǎng, ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) นั่นไง !! ... :D

ผมอยากจะให้ความหมายกับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'การช่วยกันประคับประคอง (齎) เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินงานร่วมกันตามที่ได้รับมอบหมายไว้นั้น สำคัญที่จะต้องมีการสื่อสารระหว่างกันด้วยเหตุด้วยผล ทั้งในลักษณะของการปรึกษาหารือ, การแสดงความยกย่องชมเชย, หรือแม้แต่การติติงเพื่อทักท้วงห้ามปราม (咨) ถึงขนาดที่ผู้หนึ่งผู้ใดอาจจะรู้สึกเสียใจจนร้องไห้ฟูมฟาย (涕洟) ก็ตาม เพื่อปัดเป่าความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ให้หมดสิ้นไป (無咎) ดีกว่าหมักหมมเอาไว้จนกลายเป็นเหตุบานปลายในภายภาคหน้า' ... แจ่มมั้ยล่ะ ?! ... :D

ความเกี่ยวข้องกับวรรคที่หนึ่งล่ะมีมั้ย ?! ... ผมเห็นอยู่สองจุดนะครับ ... จุดแรกก็คือคำว่า 孚 (fú, ฟู๋) กับ 齎 (jí, จี๋) นั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกันในแง่ของ 'การฟูมฟัก', 'การให้ความสนับสนุน', และ 'การประคับประคอง' ... จุดที่สองก็คือคำว่า 笑 (xiào, เซี่ยว) ที่หมายถึง 'ยิ้ม', 'หัวเราะ', หรือ 'ร่าเริงแจ่มใส' นั้นมีความหมายที่ตรงข้ามกับ 'การร้องไห้ฟูมฟาย' หรือ 涕洟 (tì yí, ที่ อี๋) ในวรรคนี้อย่างชัดเจน ในขณะที่คำว่า 恤 (xǜ, ซฺวี่) ในวรรคที่หนึ่งน่าจะมีความหมายที่คล้อยตามในทิศทางเดียวกันกับ 涕洟 (tì yí, ที่ อี๋) เพราะมันหมายถึง 'ความเคร่งเครียดกังวล' ซึ่งถ้าหนักหนาสาหัสมากๆ ก็อาจจะฟูมฟายออกมาได้เหมือนกัน ... ส่วนคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) นั้นแปลได้หลายอย่าง ซึ่งในวรรคนี้อาจจะมีความหมายสั้นๆ แค่ว่า 'อย่าใช้วิธีการค่อนขอดนินทาเพื่อให้ร้ายซึ่งกันและกันเลย' แต่ควรจะสื่อสารกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ (有孚) เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน (咨) อย่างมีเหตุมีผลดีกว่า ... คิดว่า 'จิวกง' คงไม่ได้สอนให้ใครต้อง 'ทอดถอนใจอย่างอดกลั้น (齎咨) จนน้ำตาน้ำมูกไหล (涕洟) ก็ไม่ปริปากบ่น (無咎)' หรอกนะครับ !? ... :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ฉุ้ย' คือการหล่อหลอม, ทะเลสาบเหนือแผ่นดิน

'การหล่อหลอม' คือ 'หลักปฏิบัติ' ใน 'บทบาทหน้าที่' ของ 'ผู้นำที่ดี' ซึ่งจะต้อง 'ประพฤติปฏิบัติตน' ให้เป็น 'ศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา' แก่มหาชน ต้องพร้อมที่จะ 'ยอมรับ' และให้ 'การสนับสนุน' แก่ 'คนดีที่มีศักยภาพ' ให้สามารถ 'ดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกัน' ได้อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' เพื่อยัง 'ความเจริญรุ่งเรือง' แห่ง 'คุณธรรม' ให้ปรากฏ ; 'ผู้นำที่ดี' จะต้องรู้จัก 'ใช้ประโยชน์' จาก 'พลังอันยิ่งใหญ่แห่งศรัทธา' ในการ 'สานสร้างประโยชน์สุข' ให้แก่ 'ส่วนรวม' เพื่อให้ 'คุณงามความดี' ทั้งหลายที่ทุกฝ่ายได้ 'ทุ่มเท' ลงไป ปรากฏผลอย่างเป็น 'รูปธรรม' ใน 'บั้นปลาย'

  •  
  • 'การมี 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' อย่าง 'ไม่สิ้นสุด' คือ 'การยอมรับ' ใน 'ความหลากหลาย' ที่ย่อม 'หล่อหลอม' จนกลายเป็น 'ส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันของทั้งหมด' อันเป็นการแสดงออกซึ่ง 'ความเคารพ' ที่ทุกฝ่ายล้วนมีต่อกัน ; 'การดำเนินงานร่วมกัน' อย่างมี 'เอกภาพ' จะนำไปสู่ 'การปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความเบิกบานใจ' ที่ไม่ต้องคอย 'เคร่งเครียดกังวล' ด้วยเหตุว่า ทุกสิ่งที่ดำเนินการจะไม่ปรากฏ 'ข้อครหาอันเป็นมลทิน' แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย
  •  
  • 'การกระจายความเจริญ' และ 'ความมั่งคั่ง' อย่าง 'เป็นธรรม' ให้แก่สังคม' โดย 'ทั่วถึงกัน' นั้น ย่อม 'ปราศจากข้อครหา' ใดๆ ; 'ความจริงใจ' ต่อ 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' ที่จะส่งผลเป็น 'ความรุ่งเรือง' ดังที่ทุกฝ่ายได้ 'ร่วมกันพยายาม' จำเป็นต้องอาศัย 'ความเสียสละอย่างมีสติ' และ 'การอุทิศตนด้วยปัญญา' จึงจะสามารถ 'สัมฤทธิ์ผล'
  •  
  • 'การหล่อหลอม' เพื่อสร้าง 'ความเป็นเอกภาพ' นั้น หากดำเนินไปด้วยความรู้สึกที่ 'เหนื่อยหน่ายท้อแท้' ย่อมไม่ปรากฏผลเป็น 'ความเจริญรุ่งเรือง' ใดๆ ในบั้นปลาย แม้ 'ผลลัพธ์' ที่เกิดขึ้นจะ 'ปราศจากความผิดพลาดเสียหาย' แต่ 'คุณค่า' และ 'ความหมาย' ก็จะน้อยนิดจนไม่อาจนับ 'เป็นชิ้นเป็นอัน' ใดๆ ได้เลย
  •  
  • 'ความเจริญรุ่งเรืองโดยธรรม' ย่อม 'แผ่ไพศาล' หากสังคมดำรงอยู่ร่วมกันอย่าง 'ปราศจากความระหองระแหงคลางแคลงใจ'
  •  
  • 'การหล่อหลอมสังคม' โดยยังมี 'การจำแนก' ออกเป็นกลุ่มๆ หรือเป็น 'ลำดับชั้นที่แตกต่างกัน' ย่อมไม่ใช่ 'สิ่งที่ผิดแปลก' แต่ประการใด ; เพียงแต่ว่า 'การจัดสรรหน้าที่ความรับผิดชอบ' ด้วย 'ความไว้เนื้อเชื่อใจ' ให้ 'เป็นสัดเป็นส่วน' นั้น จะต้องมี 'บรรทัดฐาน' อัน 'คงเส้นคงวา' ใน 'หลักปฏิบัติที่เที่ยงธรรม' เพื่อ 'ขจัดความคับข้องใจ' ทั้งปวงให้หมดสิ้นไป
  •  
  • การช่วยกัน 'ประคับประคอง' เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' ตามที่ 'ได้รับมอบหมาย' ไว้นั้น สำคัญที่จะต้องมี 'ปฏิสัมพันธ์กันด้วยเหตุด้วยผล' ทั้งในลักษณะของ 'การปรึกษาหารือ', 'การแสดงความยกย่องชมเชย', หรือแม้แต่ 'การติติง' เพื่อ 'ทักท้วงห้ามปราม' ถึงขนาดที่ผู้หนึ่งผู้ใดอาจจะ 'รู้สึกเสียใจ' จน 'ร้องไห้ฟูมฟาย' ก็ตาม เพื่อปัดเป่า 'ความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ' ให้หมดสิ้นไป ดีกว่า 'หมักหมม' เอาไว้จนกลายเป็น 'เหตุบานปลาย' ในภายภาคหน้า



The Organization Code :


'การหล่อหลอมเพื่อความเป็นเอกภาพ' คือ 'พัฒนาการ' ขององค์กรที่ 'รากฐาน' แห่ง 'ความเป็นระบบระเบียบ' (☷) เกิดจาก 'การตกผลึกทางความคิด' ที่ทุกฝ่าย 'ให้ความร่วมมือกันอย่างเบิกบาน' และ 'แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์' (☱) ; สังคมหรือองค์กรหนึ่งๆ ย่อมมีวิถีทางในการก่อเกิด, ดำรงอยู่, เติบใหญ่, และกระจายตัวไปตามวัฏจักรแห่งการจัดการตัวเอง (Self-Organizing) ตามธรรมชาติของมัน โดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไปทำหน้าที่บังคับควบคุม ... (ออกแนว Chaordic ของ Dee Hock เต็มๆ เลยทีนี้ !!)

'ผู้นำ' ไม่ว่าจะอย่างไรก็ย่อมมีสถานภาพเป็น 'ศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ' ของ 'องค์กร' และ 'สังคม' (王假有廟) หนึ่งๆ เสมอ ; 'การประพฤติปฏิบัติตน' ของ 'ผู้นำ' คือปัจจัยสำคัญที่จะมี 'อิทธิพล' ต่อ 'การก่อเกิด' และ 'การเปลี่ยนแปลง' ในด้านของ 'วัฒนธรรมองค์กร' ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตลอดเวลา ... องค์กรย่อมมี 'ความเปิดกว้างทางความคิด' หาก 'ผู้นำ' มีความยินดีที่จะ 'รับฟังความคิดเห็น' ของผู้อื่นอย่าง 'จริงใจ' ... สมาชิกย่อมแสดง 'ความเอื้อเฟื้อ' หาก 'ผู้นำ' ให้ความสำคัญแก่ 'ประโยชน์ส่วนรวม' เหนือกว่า 'ประโยชน์เฉพาะตน' ... สังคมย่อม 'ปราศจากความแตกแยก' หาก 'ผู้นำ' ดำเนินกิจการงานต่างๆ ด้วย 'ความโปร่งใส' และมี 'ความบริสุทธิ์-ยุติธรรม' ... 'ผู้นำที่ชาญฉลาด' จึงสามารถใช้ประโยชน์จาก 'พลังอันยิ่งใหญ่แห่งศรัทธา' เพื่อ 'สานสร้างประโยชน์สุข' ให้เกิดแก่ 'ส่วนรวม' อย่างเป็น 'รูปธรรม'

  •  
  • 'ความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อกัน' ย่อมหล่อหลอม 'ความหลากหลาย' ให้ 'กลายเป็นหนึ่ง' อันจะก่อเกิด 'ความสมดุล' ระหว่าง 'การร่วมมือเพื่อความเข้มแข็ง' และ 'การแข่งขันเพื่อความพัฒนา' ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับ 'การขับเคลื่อนองค์กร' หรือ 'การพัฒนาสังคม' หนึ่งๆ ให้ 'เติบโตอย่างต่อเนื่อง' และ 'ยั่งยืน' ด้วย 'ความมีเอกภาพ' ; โดยความหมายของ 'ความมีเอกภาพ' นั้น ย่อมไม่ใช่ 'การคิด' และ 'การดำเนินงาน' ที่เหมือนๆ กันของทุกภาคส่วนอย่างซ้ำซ้อน ... แต่ 'ความมีเอกภาพ' ย่อมหมายถึง 'การผสมผสาน' กิจกรรมที่ 'แตกต่างหลากหลาย' ให้เกิด 'การส่งเสริม' และ 'การเหนี่ยวรั้ง' ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ 'องค์กร' หรือ 'สังคมโดยรวม'
  •  
  • 'การกระจายความเจริญรุ่งเรือง' และ 'ผลประโยชน์' ให้กับแต่ละภาคส่วน 'อย่างเป็นธรรม' นั้น คือ 'หลักการ' ที่จะต้องได้รับ 'การปฏิบัติอย่างถูกต้อง' และ 'เหมาะสม' โดยใช้ 'สติปัญญา' และ 'วิจารณญาณ' ใน 'การเสียสละ' และ 'การอุทิศตน' เพื่อ 'ผลสัมฤทธิ์' แห่ง 'ความทุ่มเทพยายาม'
  •  
  • 'องค์กร' หรือ 'สังคม' ใดๆ ก็ตามที่หมู่มวลสมาชิก 'ปราศจากความสมัครสมานสามัคคี' มี 'การแตกแยก' ออกเป็นก๊กเป็นเหล่า และ 'ดำรงอยู่ร่วมกัน' ด้วย 'ความเหนื่อยหน่ายท้อแท้' ต่อ 'ความคิด' และ 'พฤติกรรม' ที่ต่างฝ่ายต่างก็ 'ไม่สามารถยอมรับซึ่งกันและกัน' อย่าง 'เปิดใจ' ... 'องค์กร' หรือ 'สังคม' นั้นๆ ย่อมจะอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกับ 'ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตาย' เพราะต่อให้มิได้มีสิ่งใดที่ 'ผิดพลาด' หรือมิได้แสดงอาการของ 'ความล่มสลาย' ออกมาให้เห็น แต่ก็ไม่อาจมีผลิตผลใดๆ ที่จะ 'ก่อประโยชน์' ให้เป็น 'ที่น่าชื่นชมยินดี' แก่ผู้ใดได้เลย
  •  
  • 'การพัฒนาองค์กร' และ 'สังคมโดยรวม' ให้ประสบกับ 'ความเจริญรุ่งเรือง' นั้น จะต้องยึดหลักแห่ง 'การพัฒนาโดยธรรม' เพื่อจะไม่ก่อ 'มลทิน' ใดๆ ให้เป็นที่ 'ครหาว่าร้าย' ในภายภาคหน้า และจะต้องถือหลัก 'ประสานเพื่อเสริมสร้างกำลัง ยับยั้งเพื่อลดทอนการหักโหม' ที่จะต้องปฏิบัติอย่าง 'ตรงไปตรงมา' ด้วยเหตุด้วยผล จึงจะสามารถลดทอนปัจจัยที่จะก่อให้เกิด 'ความระหองระแหง' ระหว่างสมาขิกด้วยกันได้
  •  
  • 'ความมีเอกภาพ' ของ 'องค์กร' ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่ทุกภาคส่วน 'ปฏิบัติงานอย่างซ้ำซ้อน' ใน 'หน้าที่เดียวกัน' ... หรือ 'ความเสมอภาค' ทาง 'สังคม' ก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถ 'ปฏิบัติอย่างมักง่าย' ด้วยการเฉลี่ยทุกอย่างให้เท่าๆ กันแล้วหว่านออกไปให้ทั่วๆ ... 'การจัดสรรหน้าที่' และ 'การกระจายความรับผิดชอบ' ซึ่งยังมี 'ระดับของความสำคัญที่แตกต่างกัน' นั้น ย่อมเป็นไปตาม 'วิถีทาง' แห่ง 'การบริหารจัดการ' ที่ 'สมาชิก' หรือ 'หน่วยงาน' ต่างๆ ล้วนที่ 'ระดับของศักยภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน' ; เพียงแต่ว่า 'การจัดสรรหน้าที่ความรับผิดชอบ' ด้วย 'ความไว้เนื้อเชื่อใจ' ให้ 'เป็นสัดเป็นส่วน' นั้น จะต้องมี 'บรรทัดฐาน' อัน 'คงเส้นคงวา' ใน 'หลักปฏิบัติที่เที่ยงธรรม' เพื่อ 'ขจัดความคับข้องใจ' ทั้งปวงให้หมดสิ้นไป
  •  
  • 'การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์' ระหว่างสมาชิกใน 'องค์กร' หรือ 'สังคม' นั้น คือ 'ปัจจัยสำคัญ' ที่จะช่วย 'ประคับประคอง' ให้ทุกฝ่ายสามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' จน 'สำเร็จลุล่วง' ตามที่ 'ได้รับมอบหมาย' ; ทุกๆ ภาคส่วนควรจะมีส่วนร่วมในการ 'สอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน' เพื่อที่จะสามารถ 'แลกเปลี่ยนมุมมอง' ในลักษณะของ 'การปรึกษาหารือกัน' อันจะมีส่วนช่วย 'ขยายกรอบของความเข้าใจ' ให้มี 'ความสอดคล้องกัน' ด้วย 'ความรอบคอบรัดกุม' มากยิ่งขึ้น ; 'การยกย่องชมเชย' สำหรับผลงานที่เป็น 'ประโยชน์ต่อส่วนรวม' หรือ 'การทักท้วงติติง' สำหรับ 'ความไม่สร้างสรรค์' ทั้งปวงที่ดำเนินไปในแต่ละช่วงนั้น คือสิ่งที่จะต้องมี 'การแสดงออกอย่างเหมาะสม' ด้วยเหตุด้วยผล ... จะต้อง 'ไม่หมักหมมความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ' เอาไว้เพียงเพราะเหตุผลของ 'การรักษาหน้า' หรือ 'การถนอมน้ำใจ' โดยไม่มี 'การว่ากล่าวตักเตือน' หรือไม่มี 'มาตรการ' ใดๆ สำหรับ 'การปรับปรุงแก้ไข' ให้ทุกอย่างดำเนินไปในสภาพที่ 'ถูกต้อง-เรียบร้อย' ... 'การหมักหมมปัญหา' โดย 'ไม่ดำเนินการเยียวยาแก้ไข' ใดๆ เลยนั้น คือการปล่อยปละให้ 'องค์กร' หรือ 'สังคม' หนึ่งๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อร้ายแห่ง 'ความระหองระแหง' ที่จะคอยกัดกร่อน 'ความสมัครสมานสามัคคี' ให้ต้อง 'พังทะลายลงไป' ในที่สุด


เป็นที่น่าสังเกตนะครับว่า 'จิวกง' เปิดฉากให้กับ 'วัฏจักรที่สี่แห่งหยิน' ด้วยการใช้วลี 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) แทรกอยู่ในทุกๆ วรรคของบทนี้ !?! ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่า ความหมายของวลีดังกล่าวจะสามารถดิ้นไปตามถ้อยคำแวดล้อมที่ 'จิวกง' เลือกมาบันทึกไว้ในแต่ละวรรค แต่ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับบทที่ว่าด้วย 'การหล่อหลอมเพื่อความเป็นเอกภาพ' (萃) นี้ก็คือ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ได้สะท้อนความหมายที่คล้ายคลึงกับ Y-Theory ของ Douglas McGregor ที่นำเสนอไว้ว่า หาก 'ผู้บริหาร' พยายามใช้มาตรการ 'ส่งเสริมพฤติกรรมด้านบวก' จะช่วยให้องค์กรได้รับ 'ประสิทธิผล' จาก 'การปฏิบัติงาน' ที่ดีกว่า 'การตำหนิติเตียน' (咎) ซึ่งเป็นการระบุอย่างชี้ชัดลงไปที่ 'พฤติกรรมด้านลบ' ... ในขณะที่ 'จิวกง' บันทึกไว้เพียงสั้นๆ แต่ย้ำหลายๆ ทีด้วยวลีว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) เพื่อแนะนำว่า ไม่ควรใช้ 'คำตำหนิติเตียน', หรือปล่อยให้มี 'การนินทาว่าร้ายอย่างเลื่อนลอย' มาเป็นเงื่อนไขที่ 'บั่นทอนกำลังใจ' ของผู้ปฏิบัติงาน (萃如嗟如) เพราะมันจะทำให้ 'ประสิทธิผลด้อยคุณภาพ' (無攸利) และ 'ไม่ต็มเม็ดเต็มหน่วย' (小吝) เท่าที่ควร

ในขณะที่ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ยังสามารถมีความหมายว่า 'ปราศจากมลทิน', หรือ 'ไร้ซึ่งคำครหา' ซึ่งผม 'ตีความเอาเอง' ว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการเตือนพวกเราให้ระลึกไว้เสมอว่า อย่ามุ่งเน้นความสำคัญอยู่กับเฉพาะเป้าหมาย โดยไม่สนใจถึงความถูกต้องชอบธรรมของวิธีการที่ใช้ แม้ว่าจะมีบางกรณีที่วิธีการเลวๆ อาจจะได้ 'ประสิทธิผล' ที่ดีกว่า แต่ 'มลทินที่ติดตรึงไว้' นั้นก็มักจะเป็น 'ตัวถ่วง' ให้ทุกคนต้อง 'คอยพะวักพะวง' อย่าง 'หวาดระแวง' จนไม่อาจพบกับ 'ความสงบทางจิตใจ' ได้อีกเลยในระยะยาว ... มีความเป็นไปได้สูงมากที่ 'จิวกง' น่าจะคิดถึงประเด็นนี้จาก 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ที่ King Wen เลือกมาใช้คือ ䷬ (萃 : cuì, ฉุ้ย) ซึ่งประกอบด้วย ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) หรือ 'ทะเลสาบ' ที่เป็นสัญลักษณ์ของ 'ความเบิกบานใจ' กับ ☷ (坤 : kūn, คุน) หรือ 'แผ่นดิน' ที่เป็นสัญลักษณ์ของ 'ความหนักแน่น' และ 'ความถูกต้องดีงาม' ... เมื่อรวมเข้าด้วยกันจึงหมายถึง 'ความเบิกบานใจ (☱) ย่อมปรากฏจากรากฐานของความตั้งมั่นในคุณธรรม (☷)' ... อันเป็นเหตุให้ปรากฏคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) กระจายไปทั่วทุกวรรคอย่างที่เห็นนี้ ... นี่เอง !! ... :D