Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十三卦 : 剝

剝 : 山地剝 ‧ 艮上坤下

剝 : 不利有攸往‧

  • 初六 ‧ 剝床以足‧蔑貞凶‧
  • 六二 ‧ 剝床以辨‧蔑貞凶‧
  • 六三 ‧ 剝之‧無咎‧
  • 六四 ‧ 剝床以膚‧凶‧
  • 六五 ‧ 貫魚‧以宮人寵‧無不利‧
  • 上九 ‧ 碩果不食‧君子得輿‧小人剝廬‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และความคิดเปิดกว้าง (⚏) ; แสดงออกอย่างหนักแน่น และตื่นตัว (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้หลักคิด และการบริหารงานที่เปิดกว้าง (☷) เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริง และเหตุผล (☶)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การกระจายความรับผิดชอบ, พสุธาหนุนคีรี



ความหมายของชื่อเรียก : Unraveling : การกระจายความรับผิดชอบ


อักษรที่ใช้เป็น 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ในบทนี้คือ 剝 สามารถออกเสียงว่า bāo (เปา) แปลว่า 'ปลอกเปลือกออก', 'กระเทาะเปลือกออก', หรือ 'การหลุดร่อนของผิวนอก' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'การถลกหนัง' ก็ได้ ; แต่ถ้าออกเสียงว่า bō (ปอ) จะหมายถึง 'การแยกออกจากกัน', 'การแบ่งออก', 'การผุกร่อน', หรือ 'หลุดร่วงออกจากกัน' และอาจจะหมายถึง 'การลอกคราบ' ก็ได้ ; ส่วนความหมายที่ไม่ค่อยดีก็จะหมายถึง 'ฉกชิง', 'หยิบฉวย' หรือ 'ขโมย' ซึ่งมีลักษณะของ 'การพราก' สิ่งใดสิ่งหนึ่งจากเจ้าของเดิม และบางครั้งก็เลยเถิดไปจนมีความหมายว่า 'ทำให้บาดเจ็บ' อีกด้วย

อักษร 剝 (bō, ปอ) เกิดจากการผสม 'ภาพอักษร' 彔 (lù, ลู่) ที่หมายถึง 'แกะสลัก', 'ทำสำเนา', หรือ 'คัดลอก' อยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางขวาจะเป็น 'ภาพอักษร' ของ 刀 (dāo, เตา) ที่แปลว่า 'มีด' หรือ 'ของมีคม' ความหมายดั้งเดิมของ 剝 (bō, ปอ) จึงหมายถึง 'การเฉือนออกด้วยมีด' หรือ 'การตัดแบ่งออกเท่าๆ กัน' และอาจจะหมายถึง 'การเหลา', 'การแกะสลัก' หรือ 'การแปรรูป' ได้ด้วย ... อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ควรจะเป็นสำหรับการเป็นชื่อบทในที่นี้ก็คือ 'การกระจายความรับผิดชอบ' หรือ Unraveling เพื่อสื่อความหมายถึง 'การจัดการกับเรื่องราวที่สลับซับซ้อน', 'การจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ', 'การทำให้ชัดเจน', และ 'การแก้ปัญหา' ... เพื่อต่อยอดให้กับ 'ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค' หรือ 'การอดกลั้น' ในบทที่ยี่สิบเอ็ด (噬嗑) ซึ่งตามมาด้วย 'ความละเอียดประณีต' หรือ 'ความสุขุมลุ่มลึกในการพิจารณาปัญหา' ของบทที่ยี่สิบสอง (賁) ให้กลายมาเป็น 'การรู้จักจำแนกแยกแยะ' เพื่อให้เกิด 'ความชัดเจน' สำหรับการดำเนินงานในลำดับต่อๆ ไป

ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับบทนี้โดยตรงก็คือบทบันทึกของ 'จิวกง' ในวรรคที่สามของบทที่สอง ซึ่งบันทึกไว้ว่า 含章可貞或從王事無成有終 (hán zhāng kě zhēn huò cóng wáng shì wú chéng yǒu zhōng, ฮั๋น จัง เข่อ เจิน ฮั่ว ช๋ง วั๋ง ษื้อ อู๋ เฌิ๋ง โหฺย่ว ง) และได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'ทุกๆ เรื่องราวแม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเบื้องต้น แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ เหมือนดังเช่นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็เริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น' ... ซึ่งเราอาจจะ 'ตีความ' ให้ 含章可貞 (hán zhāng kě zhēn, ฮั๋น จัง เข่อ เจิน) หมายถึง 'ทุกเรื่องราวที่ยังไม่มีความชัดเจน (含章) ล้วนสามารถ (可) จัดการให้มีระบบระเบียบ (貞) ที่แน่นอนได้เสมอ' ... ;)

ส่วนอีกบทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับบทนี้ก็คือบทที่สิบเอ็ด (泰) ที่ King Wen บันทึกคำบรรยายไว้ว่า 小往大來吉亨 (xiǎo wǎng dà lái jí hēng, เสี่ยว หฺวั่ง ต้า ไล๋ จี๋ เฮิง) โดยผมขยายความให้หมายถึง 'การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรู้จักประมาณกำลังตนเอง ย่อมจะสั่งสมจนเป็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด นี่คือพัฒนาการแห่งความเจริญรุ่งเรือง' ... ซึ่งสะท้อนถึง 'การแยกแยะภาระกิจ' ออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อจะดำเนินงานไปทีละส่วนๆ อย่าง 'มีระบบระเบียบ' นั่นเอง



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
不利有攸往
bù lì yǒu yōu wǎng
ปู้ ลี่ โหฺย่ว โยฺว หวั่ง


ไม่มีคำไหนใหม่เลยนะครับ แต่ 'การตีความ' ให้กับวลีนี้ของ King Wen น่าจะมีแง่มุมให้คิดได้หลากหลายพอสมควร ... ความหมายที่ตำราอื่นๆ มักจะแปลเอาไว้ก็จะประมาณว่า 'ไปไหนมาไหนก็มีแต่ซวย' ... :D ... เพราะส่วนใหญ่ก็จะแปลชื่อบท 剝 (bō, ปอ) ในความหมายว่า 'แยกออกจากกัน', 'หลุดร่อนออก' หรือไม่งั้นก็ 'ผุพัง' เมื่อมาเจอกับคำว่า 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ในวลีของ King Wen ก็เลยให้ความหมายไปในทางที่ 'ไม่ดี' กันซะหมด ... :P ... แต่ความจริงก็คือ 利 (lì, ลี่) เป็นคำที่มีความหมายหลากหลายมากๆ ... มาดูกันให้ชัดๆ เลยครับ ...

利 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;) ... โดยความหมายที่ควรจะเป็นสำหรับการใช้งานในบทนี้ก็คือ 'ความคล่องแคล่ว', 'ความว่องไว' ซึ่งสามารถแผลงให้หมายถึง 'ความเร่งรีบ' นั่นเอง !!!?? ... มันจึงทำให้ 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ในวลีนี้มีความหมายว่า 'ความไม่รีบร้อน' ไม่ใช่ 'ซวย' ... :D

ถ้าเราพิจารณาจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ (䷖) ให้ดีๆ เราก็จะเห็นภาพของ 'แผ่นดิน' (☷) ที่กำลังแบกรับ 'ภูเขา' (☶) เอาไว้ทั้งลูก ซึ่งสะท้อนถึง 'การแบกรับภาระอันหนักหน่วง' ... ในขณะที่การพิจารณาภาพสัญลักษณ์ในแง่มุมของการบริหาร เราก็จะเห็นการให้ความสนับสนุนแก่ 'ข้อเท็จจริง' หรือ 'ความมีเหตุมีผล' (☶) ของ 'ฝ่ายบริหาร' (☷) ซึ่งก็สะท้อนถึง 'ความระมัดระวัง' อย่างชัดเจน ... ดังนั้น 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ในถ้อยคำขยายความให้กับชื่อบทนี้จึงน่าจะหมายถึง 'ความไม่ผลีผลาม' เท่านั้น !!

ย้อนกลับไปที่วรรคที่สามของบทที่สองอีกครั้งนะครับ ... ผมเคยแยกความหมายของวรรคดังกล่าวไว้อีกความหมายหนึ่งว่า 'แม้จะสงบปากคำโดยไม่เรียกร้องต้องการใดๆ (含章) ทุกสิ่งก็ย่อมดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่แน่นอนของมันเสมอ (可貞) เมื่อคิดจะทำการใหญ่ (或從王事) จะต้องละวางอัตตาจนไร้ซึ่งมิจฉาทิฎฐิทั้งปวง (無) จึงจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ (成有) ในบั้นปลาย (終)' ... นั่นเป็นเพราะ 含章 (hán zhāng, ฮั๋น จัง) สามารถถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ไม่คุยโม้โอ้อวด' หรือ 'สงบปากสงบคำ' ก็ได้ เพื่อให้ไปรับกับความหมายของ 不習 (bù xí, ปู้ ซี๋) ที่แปลว่า 'อย่าดันทุรัง' ในวรรคที่สองของบทที่สองนั่นเอง ... ซึ่งคำว่า 不習 (bù xí, ปู้ ซี๋) ในวรรคดังกล่าวก็คือ 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ที่กำลังพยายามอธิบายอยู่ในบทนี้นี่แหละ ... ;)

ดูวลีของ King Wen ในบทที่สิบเอ็ดอีกซักรอบนะครับ ... 小往大來吉亨 (xiǎo wǎng dà lái jí hēng, เสี่ยว หฺวั่ง ต้า ไล๋ จี๋ เฮิง) จะเห็นว่า 小往 (xiǎo wǎng, เสี่ยว หฺวั่ง) มีความหมายว่า 'ปฏิบัติงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรู้จักประมาณตน' ... นี่ก็คืออีกร่องรอยหนึ่งที่กำหนดกรอบให้ 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ในวลีนี้มีความหมายว่า 'ไม่เร่งเร้าผลีผลาม' ... ไม่ใช่ 'ซวย' อย่างแน่นอน !!??!! ... :D ...

ประเด็นที่ King Wen บันทึกไว้ให้กับบทนี้จึงหมายความว่า 'การกระจายความรับผิดชอบ' (剝) ก็คือ 'ความไม่รีบร้อนผลีผลาม (不利) โดยไม่ทำอะไรอย่างสุ่มเสี่ยง จะต้องได้รับผลตอบสนองที่ดีในบั้นปลาย (有攸往) เสมอ' ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

剝床以足蔑貞凶
bō chuáng yǐ zú miè zhēn xiōng
ปอ ฌ๋วง อี่ จู๋ เมี่ย เจิน เซฺวิง


床 อ่านว่า chuáng (ฌ๋วง) ปรกติแปลว่า 'ตั่ง', 'เตียง', หรือ 'เครื่องเรือนที่ใช้สำหรับนั่งหรือนอน' ; แต่จริงๆ แล้วมันสามารถใช้ในความหมายของ 'แท่น', 'โต๊ะ', 'ชั้นวางของ', หรือ 'ขาตั้ง' หรือ 'โครง' ที่ใช้เพื่อรองรับสิ่งอื่นๆ ก็ได้ โดยในสมัยก่อนยังสามารถใช้ในความหมายของ 'นั่งร้าน' สำหรับการอยู่เวรยาม ซึ่งมักจะแขวนไว้โดยไม่มี 'ขาตั้ง' ด้วย ; ส่วนอีกความหมายหนึ่งของ 床 (chuáng, ฌ๋วง) ก็คือ 牀 (chuáng, ฌ๋วง) ที่สามารถแปลว่า 'ไม้กระดาน' หรือ 'ไม้แผ่นแปรรูป' ได้

以 (yǐ, อี่) เป็นคำที่พบเห็นบ่อยมากๆ เพราะแปลได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น 'หยิบ', 'ฉวย', 'ใช้ประโยชน์' ; 'เพื่อ' ; 'เพราะว่า', 'ดังนั้น', 'แล้ว' (already) ; 'โดย' ; และยังใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับคำว่า therefore, thereby ในภาษาอังกฤษอีกต่างหาก

足 อ่านว่า zú (จู๋) แปลว่า 'ขา' ที่เป็นอวัยวะ, หรือ 'ขาตั้ง' หรือ 'ฐาน' ที่ใช้เพื่อรองรับสิ่งอื่น ; มันจึงแฝงความหมายว่า 'มั่นคง', 'แข็งแรง', 'เพียงพอ', หรือ 'เต็มที่', 'สมบูรณ์' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'เบื้องล่าง', หรือ 'เบื้องลึก' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยายังสามารถแปลว่า 'ทำให้พึงพอใจ' หรือ 'ให้ความสำคัญ'

蔑 อ่านว่า miè (เมี่ย) แปลว่า 'มองเห็นไม่ชัด' ซึ่งอาจจะเพราะความเจ็บป่วยของดวงตา หรืออาจจะเพราะ 'ความไม่ชัดเจน', 'ความเล็ก', หรือ 'ความไม่มีอยู่จริง' ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'กำจัดทิ้งไป', 'ทำให้หมดไป' หรือแม้แต่ 'ดูถูกเหยียดหยาม' เพราะ 'ไม่เห็นอยู่สายตา' ก็ได้

ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่า 'จิวกง' จะเอ่ยถึง 'ตั่ง', 'เตียง', 'แท่น', หรือ 'ฐาน' จากเหตุผลอะไร นอกจากจะบันดาลจินตนาการขึ้นมาจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้ที่ดูเหมือนกับเป็น 'แท่นที่ถูกยกสูง' (䷖) โดยมี 'เส้นหยิน' ทั้งหมดแสดงบทบาทเป็น 'ขาตั้ง' เพื่อรองรับ 'เส้นหยาง' ตรงด้านบนสุดที่ดูเหมือนกับเป็น 'ไม้กระดาน', หรือ 'หน้าแท่น' นั่นเท่านั้นเอง ... และการเลือกใช้คำที่มีความหมายในลักษณะของ 'การแยกออก' (剝) ; 'แท่นรอง' (床) ; กับ 'ขาตั้ง' (足) มารวมอยู่ในวลีเดียวกันนี้จึงทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของ 'การรักษาสมดุล' มากกว่าที่จะมองไปในเรื่องของ 'การทำลายล้าง' หรือ 'การผุกร่อน' อย่างที่หลายตำรามักจะชี้นำไปในแนวทางอย่างนั้น ??!!

ธรรมชาติของ 'ฐานรองรับ' ที่ดีก็คือ จะต้องมี 'การกระจายน้ำหนัก' ได้อย่างทั่วถึงและ 'สมดุล' โดยจะต้องมี 'การถ่างกว้าง' ที่พอเหมาะพอดีกับ 'ความสูง' โดยรวมของ 'โครงสร้าง' นั้นๆ ในขณะที่ 'ขาตั้ง' ก็จะต้องมี 'ระดับสูง-ต่ำ' ที่พอเหมาะแก่สภาพของพื้นที่ที่ตั้ง จึงจะสามารถรักษา 'ความสม่ำเสมอ' ของ 'หน้าแท่น' ให้มีความเหมาะสมแก่การจัดวางสิ่งต่างๆ ลงไปโดย 'ไม่เอียงกระเท่เร่' ไปด้านใดด้านหนึ่งจนใช้การไม่ได้ ... ซึ่งผมมองว่า 'ลักษณะที่ดีของฐาน' ดังที่ว่าไว้นี้น่าจะเป็น theme หลักของเนื้อหาที่ 'จิวกง' กำลังพยายามจะเอ่ยถึง ...

ดังนั้น ความหมายของวลีนี้เท่าที่ผมพิจารณาแล้วก็คือ 'การขยับขยาย (剝 คือการกระจายออก) ฐาน (床) เพื่อให้ (以) มีความมั่นคง (足) นั้น หากกระทำลงไปโดยไม่ใยดี (蔑) ต่อหลักการใดๆ (貞) เลยนั้น ย่อมนำไปสู่ความฉิบหาย (凶)' ... ตรงนี้เล่นคำไทยๆ ที่แรงหน่อยล่ะครับ เพราะ 'จิวกง' เองก็ไม่ได้ใช้คำว่า 咎 (jiù, จิ้ว) ที่หมายถึง 'ความผิดพลาด' ทั่วๆ ไป แต่ใช้คำว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) ที่สื่อไปถึง 'ความตาย' หรือ 'วิกฤติอย่างรุนแรง' ... ;)

และเพื่อให้ความหมายของวรรคนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ผมขอข้ามไปดูวรรคที่สองซักหน่อยหนึ่งก่อน เพราะมีการใช้ถ้อยคำที่ล้อกับวรรคนี้ไว้เกือบจะทั้งวรรคเลย ...

 

สอง หยิน :

剝床以辨蔑貞凶
bō chuáng yǐ biàn miè zhēn xiōng
ปอ ฌ๋วง อี่ เปี้ยน เมี่ย เจิน เซฺวิง


辨 อ่านว่า biàn (เปี้ยน) แปลว่า 'จำแนกแยกแยะ', 'แบ่งแยก', 'คัดแยก', 'ทำให้แตกต่าง', 'ทำให้ชัดเจน', 'ทำให้โดดเด่น', 'จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่' ; และสามารถแปลว่า 'ตัดสินใจ', 'ตัดสินความ' เพื่อจำแนกความถูก-ผิด ; บางครั้งยังแปลว่า 'แบ่งฝักแบ่งฝ่าย', รวมทั้ง 'โต้แย้ง' หรือ 'โต้เถียง' อีกด้วย

จะเห็นว่า 'จิวกง' ใช้ถ้อยคำที่ล้อกันมากับวรรคแรกโดยเปลี่ยนอักษรเพียงตัวเดียวเท่านั้นนะครับ ความหมายที่น่าจะรับกันต่อมาจึงหมายถึง 'การขยับขยาย (剝 คือการกระจายออก) ฐาน (床) เพื่อให้ (以) ได้สัดส่วนที่พอเหมาะพอดี (辨) หากกระทำลงไปโดยไม่ใยดี (蔑) ต่อหลักการใดๆ (貞) เลยนั้น ย่อมนำไปสู่ความฉิบหาย (凶)' ... เมื่อรวมความหมายทั้งสองวรรคเข้าด้วยกัน 'ลักษณะที่ดีของฐาน' ในทัศนะของ 'จิวกง' จึงต้องประกอบด้วย 'ความมั่นคง' และ 'ความได้สัดส่วน' ไปพร้อมๆ กัน

ถ้าเรามองคำว่า 床 (chuáng, ฌ๋วง) ในฐานะของ 'ขาตั้ง' หรือ 'สิ่งรองรับ' ซะแล้ว ผมก็คิดว่านี่คือ 'สัญลักษณ์' ของ 'หน้าที่' และ 'ความรับผิดชอบ' ซึ่งเป็น 'ปัจจัยรองรับความสำเร็จ' ที่ไม่ว่าปรัชญาของชนชาติไหนก็ไม่ปฏิเสธ ... ดังนั้น ผมจึงอยากจะขยายความให้กับทั้งสองวรรคที่ล้อถ้อยคำกันมานี้ซะใหม่ว่า ... 'การกระจาย (剝) ฐานของอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ (床) เพื่อให้ (以) เกิดความเข้มแข็ง (足) และมีความชัดเจน (辨) นั้น หากไม่ปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม (蔑貞) ย่อมนำไปสู่วิกฤติการณ์อันปั่นป่วนโกลาหล (凶)' ... คิดว่า 'จิวกง' น่าจะกำลังพยายามสื่อความหมายแบบนี้ให้กับพวกเรานะครับ ... ;)

ถ้าจะว่ากันโดย 'หลักการปกครอง' แล้ว องค์กรต่างๆ หรือหลายๆ หน่วยงานไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม พวกเรามักจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ่อยๆ ว่า 'การเมืองในองค์กร' หรือ 'การเมืองในสำนักงาน' นั้นเป็น 'เรื่องปรกติธรรมดา' ที่มีอยู่จริงเสมอ ... แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมก็คือ 'มันเป็นเรื่องปรกติสำหรับองค์กรที่มีผู้นำไม่ปรกติ' เท่านั้น ... :D ... เพราะหาก 'ผู้นำ' มี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักปฏิบัติ' อย่าง 'บริสุทธิ์ยุติธรม' เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานทุกคนก็จะมุ่งเน้นที่ 'การพัฒนาตนเอง' หรือ 'การพัฒนางาน' มากกว่า 'การเอาอกเอาใจ' ผู้บังคับบัญชา หรือแม้แต่ 'แรงจูงใจ' ใน 'การบ่อนทำลายผู้อื่น' ก็จะลดน้อยถอยลงจนไม่หลงเหลืออีกเลยในที่สุด ... ดังนั้น 'การเมืองในองค์กร' หรือ 'การเมืองในสำนักงาน' จึงเป็น 'เรื่องปรกติธรรมดา' ที่มี 'ความไม่อยู่กับร่องกับรอย' ของ 'ผู้บังคับบัญชา' เป็น 'เหตุปัจจัย' ... ไม่ใช่ 'สิ่งปรกติธรรมดา' ที่เกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ ... :) ... ซึ่ง ... 'นักคิด' และ 'นักปกครอง' อย่าง 'จิวกง' ก็ได้สะท้อนถึงทัศนคติต่อประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนในสองวรรคแรกของบทนี้ว่า 'การละเลยต่อหลักปฏิบัติที่ถูกทำนองคลองธรรม' (蔑貞) นั้น คือหนทางแห่ง 'ความวิบัติฉิบหาย' (凶)

 

สาม หยิน :

剝之無咎
bō zhī wú jiù
ปอ จือ อู๋ จิ้ว


แม้ว่าถ้อยคำส่วนใหญ่ที่เห็นในบทนี้จะทำให้คำว่า 剝 (bō, ปอ) ค่อนข้างที่จะสื่อไปในทางที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ถ้อยคำของ 'จิวกง' ตามที่เห็นในวรรคนี้น่าจะเป็นร่องรอยสำคัญที่ยืนยันได้ว่า 剝 (bō, ปอ) ไม่ใช่ 'สิ่งเลวร้าย' หรือ 'สิ่งผิดปรกติ' ใดๆ แต่เป็นเพราะปัจจัยประกอบอื่นๆ ของ 剝 (bō, ปอ) ต่างหากที่จะเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า 剝 (bō, ปอ) เป็นการปฏิบัติที่ถูก-ผิดหรือไม่อย่างไร ... ความหมายตามถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคนี้ก็คือ 'การจัดสรรปันส่วนความรับผิดชอบใดๆ (剝之) ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิดปรกติ หรือก่อให้เกิดความเสียหาย (無咎)' ... แล้วก็แน่นอนครับว่า วลีดังกล่าวจะมีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเราพิจารณาร่วมกับ 'วลีคู่' ของมัน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ต้อง 'ตีความ' คู่กับวรรคที่สี่นั่นเอง ...

 

สี่ หยิน :

剝床以膚凶
bō chuáng yǐ fū xiōng
ปอ ฌ๋วง อี่ ฟู เซฺวิง


膚 (fū, ฟู) เคยเล่าไปแล้วว่า หมายถึง 'ผิวหนัง', 'เปลือก' หรือ 'สิ่งที่ห่อหุ้ม' ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'ตื้นๆ', 'ผิวเผิน', 'ไม่ลึกซึ้ง' หรืออาจจะหมายถึง 'สิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ' ; และในบางกรณีก็แปลว่า 'อ่อนนุ่ม' ด้วย ; แต่ก็มีบางกรณีที่มีความหมายว่า 'ตกแต่ง', 'ประดับ' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'เปลือกนอก' หรือ 'สิ่งที่มองเห็นได้จากภายนอก' เท่านั้น ...

หากมองจากแง่มุมของถ้อยคำในวรรคของมันเอง 以膚 (yǐ fū, อี่ ฟู) จะสามารถแปลว่า 'ทำอย่างฉาบฉวย', 'ทำเพื่อเอาหน้า', 'ทำเพื่อเอาใจ', หรือ 'ทำเพื่อประดับบารมีตัวเอง' ก็ได้ ... ซึ่งทุกความหมายตามที่ว่านั้นคือการประพฤติปฏิบัติที่นำไปสู่ 'ความเสื่อม' (凶) ทั้งสิ้น ... แต่เมื่อนำไปผนวกเข้ากับวรรคที่สาม วลีเต็มๆ ของ 'จิวกง' ก็จะกลายเป็น 剝之無咎 ‧ 剝床以膚凶 (bō zhī wú jiù . bō chuáng yǐ fū xiōng, ปอ จือ อู๋ จิ้ว . ปอ ฌ๋วง อี่ ฟู เซฺวิง) ซึ่งมีความหมายว่า 'การจัดสรรปันส่วนความรับผิดชอบใดๆ (剝之) ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดปรกติที่เสียหาย (無咎) แต่หากการตัดสินใจกระจายอำนาจหน้าที่นั้นๆ (剝床) กระทำลงไปเพราะ (以) ความตื้นเขิน โดยพิจารณาจากเพียงเปลือกนอกอันฉาบฉวย (膚) ย่อมเป็นเหตุแห่งเภทภัยที่ร้ายแรง (凶)'

 

ห้า หยิน :

貫魚以宮人寵無不利
guàn yǘ yǐ gōng rén chǒng wú bù lì
ก้วน ยฺวี๋ อี่ กง เญิ๋ฉ่ง อู๋ ปู้ ลี่


貫 อ่านว่า guàn (ก้วน) ปรกติแปลว่า 'เรียงร้อย' หรือ 'เกี่ยวกันไว้เป็นพวง' ; มันจึงสามารถแปลว่า 'เชื่อมติดกัน', 'ต่อเนื่องกัน', 'เรียงติดต่อกัน' ; แต่ก็มีบางกรณีที่ใช้ในความหมายเดียวกับ 惯 (guàn, ก้วน) ที่แปลว่า 'คุ้นเคย', 'คุ้นชิน', 'เป็นนิสัย' หรือแม้แต่ 'เชี่ยวชาญ' และ 'ชำนาญ' ; ส่วนความหมายที่แปลกหน่อยก็จะหมายถึง 'บ้านเกิด', หรือ 'ถิ่นกำเนิด' ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'ความคุ้นเคย' หรือ 'ของดั้งเดิม' ... ความหมายของ 貫 (guàn, ก้วน) ในลักษณะที่เป็น 'การเรียงติดต่อกัน' นั้นจึงแฝงความหมายของ 'ระบบระเบียบ' หรือ 'การจัดการ' ; ส่วนในแง่ของ 'เป็นนิสัย' หรือ 'เชี่ยวชาญ' ก็ซ่อนความหมายของ 'การฝึกฝน' และ 'การฝึกหัด' ซึ่งเป็น 'การฝึกปรือ' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' และสะท้อนถึง 'ความมีระบบระเบียบ' ในอีกลักษณะหนึ่งด้วย

魚 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) คำนี้แปลว่า 'ปลา' หรือ 'สัตว์น้ำ' ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็หมายถึง 'การจับปลา' ; บางทีก็หมายถึง 'เกล็ดปลา' หรือ 'ผิวหนังของปลา' ; แต่ปรากฏว่ามีสำนวนหนึ่งที่ใช้ว่า 魚貫 (yǘ guàn, ยฺวี๋ ก้วน) มีความหมายว่า 'ตามติดกันเป็นขบวน' หรือ 'อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเดียว' ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะแผลงมาจาก 'การว่ายน้ำของฝูงปลา' นั่นเอง ... ดังนั้น คำว่า 魚 (yǘ, ยฺวี๋) จึงน่าจะแฝงความหมายที่เกี่ยวกับ 'มนุษย์' อยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมันเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 吾 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ตัวฉัน' หรือ 'พวกเรา' ในขณะที่อักษร 吾 ถ้าออกเสียงว่า yǜ (ยฺวี่) จะแปลว่า 'ขับเคลื่อน', 'บริหารจัดการ' หรือ 'บังคับบัญชา' เช่นเดียวกับอักษร 御 (yǜ, ยฺวี่) ได้ด้วย ... เออ ... อันนี้แปลกดี ??!!

宮 อ่านว่า gōng (กง) ความจริงคือ 'ที่อยู่อาศัย', 'บ้าน', หรือ 'ห้อง' แต่มักจะใช้กับพระราชา หรือเทพเจ้า จึงมักจะแปลกันว่า 'พระราชวัง', 'พระราชฐาน', 'วิมาน', รวมทั้ง 'วัด' หรือ 'อาราม' ด้วย ; และเมื่อเกี่ยวข้องกับ 'พระราชวัง' บางครั้งก็เลยใช้ในความหมายว่า 'พระราชา', 'รัชทายาท' หรือไม่ก็ใช้ในความหมายของ 'ข้าราชบริพาร' หรือ 'ขุนนาง' ได้เหมือนกัน

寵 อ่านว่า chǒng (ฉ่ง) แปลว่า 'ให้เกียรติ', 'ให้ความเคารพ', 'ชื่นชม', 'ชื่นชอบ' ; จึงแผลงเป็น 'มีคุณค่า', และ 'น่าศรัทธา' ได้ด้วย

มาถึงคิวของ 'วลีคู่' สำหรับวรรคที่สองแล้วนะครับ ซึ่งในวรรคดังกล่าว 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 剝床以辨蔑貞凶 (bō chuáng yǐ biàn miè zhēn xiōng, ปอ ฌ๋วง อี่ เปี้ยน เมี่ย เจิน เซฺวิง) และผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การกระจาย (剝) ฐานของอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ (床) เพื่อให้เป็นสัดเป็นส่วนอย่างชัดเจน (辨) นั้น หากไม่ปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม (蔑貞) ย่อมนำไปสู่วิกฤติการณ์อันปั่นป่วนโกลาหล (凶)' ... และถูกขยายความต่อมาในวรรคนี้ว่า 'การกำกับดูแลให้ทุกสิ่งดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีระเบียบวินัย (貫魚) จนกระทั่ง (以) เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา (宮人寵) ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เอง (無) โดยไม่ต้องอาศัยความอุตสาหะพยายาม (不利)' ...

ตรงนี้ผมไม่แปลวลี 無不利 (wú bù lì, อู๋ ปู้ ลี่) ว่า 'ไม่มีทางที่จะไม่สำเร็จ', หรือ 'ไม่มีทางที่จะไม่โชคดี' นะครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะในโลกของความเป็นจริงนั้น 'ความเข้มงวด' และ 'ความเป็นผู้มีหลักการ' ก็อาจจะ 'ไม่เป็นที่ชื่นชม' ของใครต่อใครอีกหลายคนได้เหมือนกัน ซึ่งอุปสรรคขวากหนามอันเนื่องมาจากปัญหาของคนหมู่มาก ก็ยังต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ... อีกอย่าง ... คำว่า 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ของ King Wen ที่ใช้ในบทนี้ก็สื่อไปในลักษณะของ 'ความไม่รีบร้อนผลีผลาม' ที่ไม่เกี่ยวกับ 'ความโชคดี' หรือ 'ความโชคร้าย' เลยแม้แต่น้อย ... ในขณะที่ 'จิวกง' ก็บันทึกเป็น 'ข้อเตือนใจ' ไว้หลายครั้งหลายหนในบทนี้ เกี่ยวกับ 'ผลลัพธ์อันเลวร้าย' (凶) ที่เกิดจาก 'ความไม่มั่นคงต่อหลักการ' (蔑貞) และ 'ความฉาบฉวย' (膚) ของการปฏิบัติงาน ... 'ความเป็นสัดเป็นส่วน' (辨) และ 'ความมีระบบระเบียบ' จึงต้องเกิดจาก 'ความตั้งใจ' และ 'ความมุ่งมั่นพยายาม' เท่านั้น ...

ส่วน 宮人 (gōng rén, กง เญิ๋น) ที่หลายตำราพากันแปลว่า 'นางสนม' หรือ 'กองกำลังภรรยาน้อย' ที่คอย 'เอาอกเอาใจ' (寵) แก่ 'พระราชา' หรือ 'ผู้นำครอบครัว' นั้น ผมก็กลับมองว่า มันควรจะหมายถึง 'ข้าราชบริพาร' หรือ 'ผู้ใต้บังคับบัญชา' ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ที่อยู่ภายใต้ 'การปกครองดูแล' ของ 'ผู้นำ' หนึ่งๆ มากกว่า ... เพราะถ้าจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องในหอในมุ้ง ผมขอแนะนำให้ไปหาอ่านจาก 'กามาสูตร' แทน 'คัมภีร์อี้จิง' น่าจะตรงประเด็นกว่า !!?? ... :D

 

หก หยาง :

碩果不食君子得輿小人剝廬
shuò guǒ bù shí jün zǐ dé yǘ xiǎo rén bō lú
ษั้ว กั่ว ปู้ ซื๋อ จฺวิน จื่อ เต๋อ ยฺวี๋ เสี่ยว เญิ๋น ปอ ลู๋


碩 อ่านว่า shuò (ษั้ว) มาจากการผสมอักษร 石 (shí, ซื๋อ) ที่แปลว่า 'หิน', ซึ่งแฝงความหมายของ 'ความใหญ่', 'ความหนัก' และ 'ความแข็งแรง' ; ส่วนอักษร 頁 (yè, เยี่ย) แปลว่า 'ผืน', 'แผ่น', 'ใบ', หรือ 'ใบหน้า' ... ความหมายดั้งเดิมของ 碩 (shuò, ษั้ว) จึงหมายถึง 'หน้าใหญ่' หรือ 'หัวโต' จนในที่สุดก็แผลงมาเป็น 'ยิ่งใหญ่' และสามารถแปลว่า 'แข็งแรง', 'มั่นคง' ก็ได้ถ้าออกเสียงเหมือนกับ 石 (shí, ซื๋อ)  

果 อ่านว่า guǒ (กั่ว) ปรกติจะหมายถึง 'ผลไม้', แต่ก็สามารถแปลว่า 'ผลงาน' หรือ 'ผลลัพธ์' ได้ด้วย ; และยังสามารถแปลว่า 'เที่ยงแท้', 'แน่นอน' หรือ 'เชื่อถือได้' ซึ่งก็คงจะแผลงมาจากลักษณะของ 'ข้อสรุป' หรือ 'ผลสรุป' ที่ปรากฏออกมาแล้วนั่นเอง

食 อ่านว่า shí (ซื๋อ) แปลว่า 'กัด', 'กิน', 'บริโภค' หรือแม้แต่ 'มื้ออาหาร' หรือ 'ของรับประทาน' ; ในขณะที่ความหมายข้างเคียงของมันจะหมายถึง 'แหว่งเว้า', หรือ 'ร่อยหรอ' ซึ่งก็คงแผลงมาจากผลของ 'การกัดกิน' ; และในความหมายของ 'ทำให้แหว่งเว้า', หรือ 'ทำให้ร่อยหรอ' นี้ก็จะสามารถมองว่าเป็น synonym กับคำว่า 剝 (bō, ปอ) ในความหมายของ 'การตัดแบ่ง' หรือ 'การแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ' ได้เหมือนกัน

輿 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เคยเล่าไปแล้วว่า หมายถึง 'รถ (ที่ใช้เพื่อการขนถ่ายสิ่งของ)', 'เกวียน', 'เกี้ยวโดยสาร', 'ห้องโดยสารของรถ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มากมาย', 'หนาแน่น' จากความหมายของ 'การขนถ่ายสิ่งของด้วยรถ' ; สามารถแปลว่า 'ลานโล่ง' หรือ 'บริเวณ' ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกันจำนวนมากๆ ; อาจจะหมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'ที่สาธารณะ' ก็ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เขตแดน' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แบก', 'หาม', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

廬 อ่านว่า lú (ลู๋) ปรกติแปลว่า 'กระท่อม', 'ที่พัก' ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น 'สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก' เช่น 'กระท่อมปลายนา' หรือ 'กระท่อมข้างสุสาน' ที่มีลักษณะเป็น 'ที่พักชั่วคราว' หรือ 'ที่ซุกหัวนอน' ซะมากกว่า ; ต่อมาก็แผลงจนกลายเป็น 'เรือนพักสำหรับอาคันตุกะ' หรือ 'แขกผู้มาเยือน' รวมทั้งสามารถหมายถึง 'บ้านพักข้าราชการ' ซึ่งมักจะเป็น 'เรือนที่ปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย' ; ความหมายอื่นๆ ของ 廬 (lú, ลู๋) จึงหมายถึง 'พึ่งพิง', 'พึ่งพา' ในลักษณะที่เป็น 'ชั่วครั้งชั่วคราว'

แล้วนี่ก็คือ 'วลีคู่' ของวรรคที่หนึ่งล่ะครับ ... ซึ่งใจความสำคัญของวรรคที่หนึ่งจะอยู่ที่คำว่า 足 (zú, จู๋) ที่ผมเลือกคำแปลให้หมายถึง 'ความมั่นคง' ตามลักษณะที่ดีของ 'ความเป็นฐาน' (床) ... และไม่ว่า 'โครงสร้าง' หรือ 'ขาตั้ง' นั้นๆ จะถูก 'กระจายการรับน้ำหนัก' หรือ 'กระจายความรับผิดชอบ' (剝) ออกไปมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่ภาระหน้าที่ที่แท้จริงของทั้งโครงสร้างก็คือ 'การร่วมกันรับผิดชอบ' ต่อ 'สิ่งที่โครงสร้างนั้นๆ รองรับเอาไว้' เสมอ ... ความหมายนี้ก็คือประเด็นหลักที่ 'จิวกง' นำมาสรุปไว้ในวรรคที่หก ซึ่งเป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่หนึ่ง ...

ความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ (碩果) ย่อมเพราะมันไม่ถูกย่อยสลายให้เล็กลง (不食) ปราชญ์ (君子) จึงกระทำการเพื่อรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นที่แน่นหนา (得輿) ในขณะที่คนโฉดเขลา (小人) จะเลือกการกระจาย (剝) ผลประโยชน์ออกเป็นกองเล็กกองน้อย (廬) ซึ่งเป็นการบั่นทอนกำลังจนหมดสิ้นคุณค่าความหมายทั้งมวล' ...

ผมมองว่าวลีนี้ของ 'จิวกง' น่าจะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นของคำกล่าวอ้างที่ว่า 'คนจีนรวยไม่เกินห้าชั่วอายุคน' ได้เป็นอย่างดี โดยสาเหตุสำคัญย่อมมาจาก 'การกระจายความมั่งคั่ง' ออกเป็นส่วนๆ ให้กับลูกหลานไปดูแล แทนที่จะ 'กระจายหน้าที่การงาน' เพื่อให้ 'ช่วยกันรับผิดชอบ' ต่อ 'การหล่อเลี้ยงความมั่งคั่ง' ให้กับตระกูล ซึ่งถือว่าเป็น 'การกระจายตัวอย่างผิดที่ผิดทาง' ... เพราะ 'การกระจายความรับผิดชอบ' ไปสู่ลูกหลานย่อมหมายถึง 'การเพิ่มขึ้นของจำนวนแขน-ขา' และจำนวน Man-Hour ที่จะช่วยเสริมสร้าง 'ความมั่งคั่ง' ให้ 'ขยายผล' ต่อไปได้เร็วขึ้น ... ในขณะที่ 'การกระจายความมั่งคั่ง' ให้กับลูกหลานจะหมายถึง 'การเพิ่มขึ้นของจำนวนปาก-ท้อง' ที่จะคอยดูดซับจนกระทั่ง 'ความมั่งคั่ง' ต้องเหือดแห้งไปภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน เพราะ 'จำนวนตัวหาร' จะทวีจำนวนมากขึ้นจากรุ่นสู่รุ่นเสมอ !!!



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ปอ' คือ การกระจายความรับผิดชอบ, พสุธาหนุนคีรี

'ความไม่รีบร้อนผลีผลาม' โดย 'ไม่ดำเนินการอย่างสุ่มเสี่ยง' ย่อมได้รับ 'ผลตอบสนอง' ที่ดีใน 'บั้นปลาย' เสมอ

  •  
  • 'การกระจาย' ฐานแห่ง 'อำนาจหน้าที่' และ 'ความรับผิดชอบ' เพื่อเสริมสร้าง 'ความเข้มแข็งมั่นคง' หากไม่ปฏิบัติอย่าง 'บริสุทธิ์ยุติธรรม' ย่อมนำไปสู่ 'ความวิบัติฉิบหาย'
  •  
  • 'การกระจาย' ฐานแห่ง 'อำนาจหน้าที่' และ 'ความรับผิดชอบ' เพื่อให้เกิด 'ความชัดเจน' นั้น หาก 'ปราศจาก' 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักปฏิบัติที่เป็นธรรม' ย่อมนำไปสู่ 'วิกฤติการณ์' อัน 'ปั่นป่วนโกลาหล'
  •  
  • 'การจัดสรรปันส่วน' 'ความรับผิดชอบ' ใดๆ ย่อมไม่ใช่ 'เรื่องผิดปรกติ' ที่ 'เสียหาย'
  •  
  • การตัดสินใจ 'กระจายอำนาจหน้าที่' หากกระทำลงไปเพราะ 'ความตื้นเขิน' โดยพิจารณาจากเพียง 'เปลือกนอกอันฉาบฉวย' ย่อมเป็นเหตุแห่ง 'เภทภัย' ที่ร้ายแรง
  •  
  • 'การกำกับดูแล' ให้ทุกสิ่งดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'มีระเบียบวินัย' จนกระทั่ง 'เป็นที่ยอมรับนับถือ' ของ 'ผู้ใต้บังคับบัญชา' ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องอาศัย 'ความอุตสาหะพยายาม'
  •  
  • 'ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่' ย่อมเพราะมัน 'ไม่ถูกย่อยสลาย' ให้เล็กลง 'ปราชญ์' จึงกระทำการเพื่อ 'รวบรวม' ให้เป็น 'ปึกแผ่น' ที่ 'แน่นหนา' ; ในขณะที่ 'คนโฉดเขลา' จะเลือก 'การกระจายความมั่งคั่ง' ออกเป็น 'กองเล็กกองน้อย' ซึ่งเป็น 'การบั่นทอนกำลัง' จนหมดสิ้น 'คุณค่าความหมาย' ทั้งมวล


 

The Organization Code :



'การกระจายความรับผิดชอบ' อาศัย 'นโยบาย' และ 'การบริหาร' ที่ 'หนักแน่น' และ 'เปิดกว้าง' (⚏) เพื่อสนับสนุน 'การปฏิบัติงาน' ที่ 'แข็งขัน' และ 'มั่นคง' (⚎) กลายเป็นภาพของ 'แผนปฏิบัติการ' (☷) ที่ให้ความสนับสนุนต่อ 'ข้อเท็จจริง' และ 'ความมีเหตุมีผล' (☶)

'ความไม่รีบร้อนผลีผลาม' โดย 'ไม่ดำเนินการอย่างสุ่มเสี่ยง' และ 'ไม่ด่วนสรุปความ' ใดๆ โดยไม่ผ่าน 'กระบวนการกลั่นกรองอย่างเหมาะสม' ย่อมนำไปสู่ 'ผลตอบสนอง' ที่ดีใน 'บั้นปลาย' เสมอ

  •  
  • 'การกระจาย' ฐานแห่ง 'อำนาจหน้าที่' และ 'ความรับผิดชอบ' เพื่อเสริมสร้าง 'ความเข้มแข็งมั่นคง' หากไม่ปฏิบัติอย่าง 'มีกฎเกณฑ์' ที่ 'บริสุทธิ์ยุติธรรม' แต่กลับอาศัยเพียง 'มายาคติ' แห่ง 'ความรู้สึกรัก-ชัง' เป็นที่ตั้ง ย่อมนำไปสู่ 'ความวิบัติฉิบหาย'
  •  
  • 'การกระจาย' ฐานแห่ง 'อำนาจหน้าที่' และ 'ความรับผิดชอบ' เพื่อให้เกิด 'ความเป็นสัดเป็นส่วนอย่างชัดเจน' นั้น หากไม่ยึดถือใน 'หลักปฏิบัติ' ที่ 'เหมาะสม' และ 'เป็นธรรม' ด้วย 'ความหนักแน่นมั่นคง' ย่อมนำไปสู่ 'วิกฤติการณ์' แห่ง 'ความสับสนวุ่นวาย'
  •  
  • 'การจัดสรรปันส่วน' 'ความรับผิดชอบ' ใดๆ ย่อมเป็น 'เรื่องปรกติธรรมดา' ของ 'การขยับขยายกิจการงาน' ซึ่งจะต้อง 'ดำเนินการ' อย่าง 'ละเอียดถี่ถ้วน' เพื่อไม่ให้เกิด 'ข้อครหา' หรือ 'ความผิดพลาดเสียหาย' ใดๆ จาก 'ความเร่งเร้า' อย่าง 'ผลีผลาม'
  •  
  • 'การกระจายอำนาจหน้าที่' เพื่อ 'ขยับขยายกิจการงาน' หากตัดสินใจลงไปด้วย 'ความตื้นเขิน' โดยมิได้พิจารณาถึง 'ความเหมาะสม' แห่ง 'กาละ-เทศะ' อย่าง 'ละเอียดรอบด้าน' หรือพิจารณาตัวบุคคลผู้รับผิดชอบจากเพียง 'เปลือกนอกอันฉาบฉวย' ย่อมนำไปสู่ 'เภทภัย' ที่ร้ายแรง
  •  
  • 'การกำกับดูแล' ให้ทุกสิ่งดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'มีระเบียบวินัย' จนกระทั่ง 'เป็นที่ยอมรับนับถือ' ของ 'ผู้ใต้บังคับบัญชา' และ 'สังคมโดยรวม' ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องอาศัย 'ความอุตสาหะพยายาม'
  •  
  • 'องค์กร' ย่อม 'เติบใหญ่' ด้วย 'การขยับขยายกิจการงาน' ให้มี 'ความหลากหลาย' บน 'รากฐาน' ของ 'กำลังทุน' ที่เป็น 'ปึกแผ่นแน่นหนา' ; 'ผู้นำ' ที่ 'ชาญฉลาด' จึงเลือกที่จะ 'รวมศูนย์กำลัง' แต่ 'กระจายความรับผิดชอบ' ; ในขณะที่ 'ผู้โฉดเขลา' จะเลือก 'กระจายกำลัง' ออกเป็น 'กองเล็กกองน้อย' ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมจะ 'ปราศจากพลังขับเคลื่อน' จนไร้ซึ่ง 'คุณค่าความหมาย' ใดๆ


เมื่อไล่เรียงความหมายตลอดทั้งบทนี้แล้ว ผมอยากจะชวนกลับไปดูความหมายของ 利 (lì, ลี่) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็น 'คำสำคัญ' ที่สามารถทำให้ความหมายของทั้งบทผิดเพี้ยนไปจนกลายเป็นคนละทิศคนละทาง ... เพราะหากเรา 'ตีความ' ให้คำว่า 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ที่ King Wen เปิดประเด็นไว้มีความหมายว่า 'โชคไม่ดี' มันก็จะพาให้ความหมายของทั้งบทถูกชี้นำไปในแนวทางอย่างนั้น ... แต่หากเรา 'ตีความ' ให้ 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) คำเดียวกันนี้มีความหมายว่า 'ไม่รีบร้อนผลีผลาม' ความหมายของทั้งบทก็จะถูกพลิกให้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ...

利 (lì, ลี่) เกิดจากการผสม 'ภาพอักษร' 禾 (hé, เฮ๋อ) ที่แปลว่า 'ธัญพืช', 'ผลผลิตจากเกษตรกรรม' หรือ 'เกษตรกรรม' โดยความหมายดั้งเดิมของ 禾 (hé, เฮ๋อ) ก็คือ 'พื้นที่สำหรับการเพาะปลูก' ... ส่วนด้านขวาของอักษร 利 (lì, ลี่) คือ 'ภาพอักษร' 刀 (dāo, เตา) ที่แปลว่า 'มีด' ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้บางความหมายของ 利 (lì, ลี่) แปลว่า 'แหลมคม' ... เมื่อรวม 'ภาพอักษร' ของ 禾 (hé, เฮ๋อ) กับ 刀 (dāo, เตา) เข้าด้วยกัน 利 (lì, ลี่) จึงสามารถถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การเก็บเกี่ยวจากพื้นที่การเพาะปลูก' ซึ่งก็คือ 'การเก็บเกี่ยวผลผลิต' แล้วแผลงไปเป็น 'โชคลาภ' หรือ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ... ส่วนความหมายอื่นๆ ของ 利 (lì, ลี่) ก็เป็นผลพวงจากการแผลงความหมายกันต่อไปเรื่อยๆ ของ 'การเก็บเกี่ยว' และ 'ความแหลมคม' อีกทอดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น 'ความสำเร็จ', 'ความคล่องแคล่ว', หรือ 'ความพยายาม' ...

แต่หากเรามองให้ 'ภาพอักษร' ของ 利 (lì, ลี่) หมายถึง 'การตัดแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกออกเป็นส่วนๆ' หรือ 'การแบ่งสันปันส่วนผลผลิตออกจากกัน' ซะล่ะ ??!! คำว่า 不利 (bù lì, ปู้ ลี่) ของ King Wen ในบทนี้ก็จะมี synonym เป็น 碩果不食 (shuò guǒ bù shí, ษั้ว กั่ว ปู้ ซื๋อ) หรือ 'อย่าย่อยสลายผลผลิตที่มากมาย' ที่ 'จิวกง' เลือกมาใช้บันทึกไว้ในวรรคที่หกทันที !!!??? ... นี่ก็คือ 'อัจฉริยภาพทางภาษา' อันน่าทึ่งของ 'จิวกง' ที่สามารถ 'ขยายความ' ให้วลีของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า 不利有攸往 (bù lì yǒu yōu wǎng, ปู้ ลี่ โหฺย่ว โยฺว หวั่ง) มีความหมายเป็น 'การไม่แบ่งสันปันส่วนผลผลิตออกเป็นส่วนย่อยๆ (不利) สมาชิกทุกคนก็ย่อมมีส่วนในความมั่งคั่งนั้นร่วมกันอยู่แล้ว (有攸往)' จึงมีแต่ 'คนโง่เขลา' ที่ 'จิดใจคับแคบ' (小人) เท่านั้นที่มีความคิดจะ 'แบ่งแยกออกจากกัน' เป็น 'กองเล็กกองน้อย' (剝廬) เพื่อถือครองเป็น 'กรรมสิทธิ์เฉพาะตน' ... ซึ่ง ... ถ้าเทียบกับการทำเกษตรกรรม มันก็จะเหมือนกับ 'การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน' กับ 'การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว' ที่มีผลวิจัยหลายอย่างสนับสนุนอยู่แล้วว่า 'การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน' จะมี 'ความยั่งยืน' มากกว่า 'การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว' เสมอ ... ;)

'การแบ่งแยกกำลัง' กับ 'การกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบ' จึงมีนัยแอบแฝงที่แตกต่างกันดุจดั่ง 'ฟ้า' กับ 'เหว' ... ซะงั้น ??!! ... :D ...