Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第九卦 : 小畜

小畜 : 風天小畜 ‧ 巽上乾下

小畜 : 亨‧密雲不雨‧自我西郊‧

  • 初九 ‧ 復自道‧何其咎‧吉‧
  • 九二 ‧ 牽復‧吉‧
  • 九三 ‧ 輿說輻‧夫妻反目‧
  • 六四 ‧ 有孚‧血去惕出‧無咎‧
  • 九五 ‧ 有孚攣如‧富以其鄰‧
  • 上九 ‧ 既雨既處‧尚德載‧婦貞厲‧月幾望‧君子征凶‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา สดชื่นตื่นตัว (⚍) อารมณ์ แจ่มใส (⚌) พลานามัย สมบูรณ์ (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ 'การเงิน' ชี้นำ 'นโยบาย', ภายใน-ภายนอก แข็งขัน (⚌), บริหารอย่างระมัดระวัง (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการสั่งสม, กระแสลมเหนือเวิ้งฟ้า ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Little Accumulation : การสั่งสม


หะแรกที่เห็น 'ชื่อบท' ผมก็ 'จับทาง' ได้ทันทีเลยว่า นี่คือ 'ความหมายโดยละเอียด' ของวรรคที่หนึ่งในบทที่สอง ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 履霜堅冰至 (lǚ shuāng jiān bīng zhì, หลฺวี่ วง เจียน ปิง จื้อ : เกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะมีความร่วนซุย แต่หากมีการสั่งสมถมทับอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากพอ มันก็จะกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่งได้ในที่สุด) … เพราะหากไล่เรียงตามลำดับบทต่างๆ แล้ว บทที่สามถึงบทที่แปดก็คือ '6 หลักการ' ของ 乾 (qián, เชี๋ยน) … บทที่เก้าถึงบทที่สิบสี่ ก็น่าจะต้องเป็นเรื่องของ 坤 (kūn, คุน) โดยเริ่มจากวรรคที่หนึ่งของบทที่สองที่มีความหมายตรงกับ 'ชื่อบท' ของบทที่เก้านี้ว่า 'การสั่งสม' หรือ 'การเก็บเล็กประสมน้อย' (Little Accumulation) นั่นเอง

'ภาพอักษร' ที่ใช้เป็น 'ชื่อภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ก็คือ 小畜 (xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) มีอักษร 小 ที่มาจาก 'ภาพอักษร' ของ 'การแบ่งออก' ซึ่งแทนด้วยเส้นตั้งตรงๆ ที่ลากจากบนลงล่าง ผ่าเข้าไประหว่างกลางของอีกสองขีดที่แยกย้ายออกเป็นคนละทิศคนละทาง … จากความหมายของ 'การแบ่งออก' ที่เป็น 'การทำให้เล็กลง' หรือ 'การทำให้น้อยลง' นี้ ได้กลายมาเป็นความหมายว่า 'เล็ก' หรือ 'น้อย' ของตัวอักษร 小 ที่ใช้กันอยู่ในภาษาจีน

ส่วนอักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) สามารถแยกออกเป็น 'ภาพอักษร' สามส่วน … ส่วนล่างสุดคือ 田 (tián, เที๋ยน) ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของ 'ที่นา', 'ทุ่ง', หรือ 'ผืนแผ่นดิน' … ส่วนกลางคือตัว 幺 (yāo, เอฺยียว) แปลว่า 'เล็ก', หรือ 'สุดท้าย' ถ้าดูตาม 'ภาพอักษร' จะคล้ายเป็น 'ฟ่อนฟาง' หรือ 'ห่อสิ่งของ' ที่วางเรียงซ้อนกันอยู่ … ส่วนบนสุดจะเป็นภาพคล้าย 'หลังคา' ที่ครอบเอาไว้ … จาก 'ภาพอักษร' ที่ปรากฏ มันจึงมีลักษณะคล้ายกับ 'โรงนา' หรือ 'ยุ้งฉาง' ที่มักจะตั้งอยู่ 'ปลายสุด' ของ 'ผืนที่ดิน' … อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) จึงสามารถที่จะหมายถึง 'สถานที่เก็บรักษา', 'โรงเลี้ยง', 'โรงเพาะ', 'การเลี้ยงดู' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ปศุสัตว์', หรือ 'สัตว์เลี้ยง' ; ซึ่งความหมายดังกล่าวจะแผลงมาเป็น 'การทำให้ค่อยๆ เติบโต', หรือ 'การสะสมให้พอกพูน' ได้ด้วย … และทำให้คำว่า 小畜 (xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Little Accumulation ซึ่งก็คือ 'การเก็บเล็กประสมน้อย', หรือ 'การสั่งสม' ในภาษาไทยของพวกเรา



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨密雲不雨自我西郊
hēng mì yún bù yǔ zì wǒ xī jiāo
เฮิง มี่ ยฺวิ๋น ปู้ หยฺวี่ จื้อ หฺว่อ ซี เจียว


King Wen เล่น 'ชื่อทิศ' ในคำบรรยายภาพสัญลักษณ์อีกแล้วล่ะครับ … 亨密雲不雨自我西郊 ;) ... นี่ขนาดวางกรอบให้ไปเกี่ยวข้องกับวรรคแรกของบทที่สองแล้วยังมึนเลยนะเนี่ย !! :D

แคะใหม่ตั้งแต่แรกเลยดีกว่า 亨 (hēng, เฮิง) เล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'ความเข้าใจ', 'ความตระหนักรู้', 'ความชัดเจน', 'ความราบรื่น', 'ไร้อุปสรรค', และ 'ความก้าวหน้า', 'การงอกเงย', หรือ 'ความเจริญงอกงาม'

密 อ่านว่า mì (มี่) แปลว่า 'ข้น', 'เหนียว', 'หนา', 'หนาแน่น', 'ใกล้ชิด', 'สนิทสนม' ; บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'แออัด', 'มากมาย' ; ในความหมายว่า 'มาก' และ 'หนาแน่น' มันจึงแผลงความหมายเป็น 'ถี่' หรือ 'ถี่ถ้วน', แล้วก็เลยกลายเป็น 'ความลับ' เพราะต้องใช้ความ 'ละเอียด', 'ถี่ถ้วน' ในการสำรวจ 'อย่างใกล้ชิด'
'ภาพอักษร' ของ 密 มาจาก 宓 (mì, มี่) ที่แปลว่า 'เงียบ', 'สงบ', หรือ 'วิเวก' กับภาพของ 山 (shān, าน) ที่แปลว่า 'ภูเขา' นั่นคือที่มาของความหมายว่า 'ความลับ' เพราะอยู่ห่างไกลออกไปในหุบเขาที่ไม่มีใครรบกวน หรือไม่มีใครค้นพบ และหมายถึง 'ใกล้ชิด (กับธรรมชาติ)' จนอาจจะหมายถึงสถานที่ที่หลบเข้าไปในป่าทึบ แล้วแผลงความหมายเป็น 'หนาแน่น', 'ถี่ๆ', หรือ 'แออัด' ในเวลาต่อมา

雲 อ่านว่า yún (ยฺวิ๋น) แปลว่า 'เมฆ' หรือ 'ละอองน้ำ', 'ไอน้ำ' ; แต่บางครั้งแปลว่า 'พูดคุย' ซึ่งผมสงสัยว่า อาจจะหมายถึง 'น้ำลายแตกฟอง' ซะมากกว่า :D … อักษรดั้งเดิมของ 雲 คือ 云 (yún, ยฺวิ๋น) ที่ปัจจุบันย้อนกลับไปใช้อีกครั้งหนึ่งจนคล้ายกับจะเป็น 'อักษรย่อ' ด้านบนของ 雲 คือ 雨 (yǚ, หยฺวี่) ที่แปลว่า 'ฝน' โดยปรกติตัวอักษร 雲 จึงมักจะใช้ในความหมายว่า 'เมฆฝน' มากกว่าที่จะหมายถึง 'เมฆ' ทั่วๆ ไป

สำหรับตัว 雨 (yǚ, หยฺวี่) ได้เคยเล่าไปก่อนแล้วว่า นี่คือ 'ทรัพยากรทางธรรมชาติ' ที่มี 'คุณค่าสูง' มากในสังคมกสิกรรม หรือสังคมเกษตรกรรมมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ซึ่งความหมายในแง่ของ 'คุณค่า' ดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงคำที่ฝรั่งใช้ว่า rainmaker ซึ่งมีความหมายประมาณว่า เป็น 'ผู้ให้ความเอื้อเฟื้อ', 'ผู้ให้ความสนับสนุน', หรือ 'ผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์' นั่นเอง

自 (zì, จื้อ) เล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'ตัวเอง', 'ของตัวเอง', 'เริ่มตั้งแต่', 'มาจาก' แต่ในวลีที่เห็นนี้ อาจจะหมายถึงคำว่า 自然 (zì rán, จื้อ ญั๋น) ที่แปลว่า 'เป็นเช่นนั้นเอง', 'เป็นไปโดยธรรมชาติ' … เนื่องจากใช้คู่กับตัว 我 (wǒ, หฺว่อ) ซึ่งโดยปรกติจะใช้ในความหมายเดียวกับตัว 自 ได้อยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องใช้ 'คำซ้ำ'

อย่างไรก็ตาม ตัวอักษร 我 (wǒ, หฺว่อ) มี 'ความหมายพิเศษ' ดังที่เคยเล่าไปแล้วว่า มันสามารถที่จะหมายถึง 'การฆ่า', 'การรบ',  และสามารถที่จะหมายถึง 'ความรู้', หรือ 'ความสามารถ' ได้ด้วย … 'ความหมายพิเศษ' ของ 我 อีกความหมายหนึ่งก็คือ เมื่อมันหมายถึง 'ตัวเอง' หรือ 'ตัวฉัน', 'ของฉัน' มันจึงสามารถแผลงเป็น 'สนิทชิดเชื้อ' หรือ 'เป็นที่รัก' ได้ด้วย ; นอกจากนั้นมันยังสามารถหมายถึง 'ผู้ประพันธ์ (ตำรา)' ซึ่งน่าจะแผลงมาจาก 'ผู้ถือพู่กัน' อันเป็น 'อาวุธทางวัฒนธรรม' ในการเผยแพร่ 'ความรู้' … ดังนั้น หนึ่งในความหมายที่ไม่ค่อยจะมีใครใช้กันในปัจจุบันก็คือ 'ตราประทับ' ที่เหมือนกับเป็น 'ลายเซ็น' ของ 'ผู้ประพันธ์' ด้วย แล้วก็เลยมีความหมายกระเดียดไปทางคำว่า 俄 (é, เอ๋อ) ที่แปลว่า 'กด', 'ประทับ', 'พิง', 'พึ่งพิง', หรือ 'เอนเอียง' ได้อีกต่างหาก

西 อ่านว่า xī (ซี) ปรกติจะแปลว่า 'ทิศตะวันตก' แต่ที่มาของความหมายว่า 'ทิศตะวันตก' นี่สิที่น่าสนใจมากๆ เพราะ 'ภาพอักษร' ของ 西 นั้นมาจากการเขียนภาพ 'นก' ที่กำลัง 'นอนพัก' อยู่บน 'รังนก' ในลักษณะที่มีความหมายว่า เป็น 'การกลับคืนสู่รัง' เมื่อ 'พระอาทิตย์ตกดิน' … ด้วยเหตุนี้ ความหมายแปลกๆ ของอักษร 西 จึงสามารถที่จะหมายถึง 'การหยุดพัก', 'ที่พัก', 'ที่พักพิง' …

ทีนี้ … ถ้ายังจำกันได้ถึงตอนที่อธิบายเรื่อง 'ความหมายของทิศ' ในคติความเชื่อแบบจีน … ความหมายหนึ่งของ 'ทิศตะวันออก' จะหมายถึง 'ความก้าวหน้า', หรือ 'การพัฒนา' … ส่วน 'ทิศตะวันตก' ก็จะหมายถึง 'การอนุรักษ์', 'การเก็บรักษา', หรือ 'การทะนุถนอม' … ดังนั้น 'ทิศตะวันตก' จึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ที่ต้องให้ความเคารพ' เช่น บรรพบุรุษ, ครูบาอาจารย์, หรือเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งโดยปรกติแล้ว จะจัดวางให้อยู่ทาง 'ทิศตะวันตก' โดยหันหน้าไปทาง 'ทิศตะวันออก' ทุกครั้ง … และเมื่อมีความหมายถึง 'สิ่งที่ต้องให้ความเคารพ' หรือ 'สิ่งที่ต้องผดุงรักษาไว้' หรือ 'ต้องอนุรักษ์เอาไว้' มันจึงสื่อความหมายถึง 'หลักคุณธรรม', 'คุณงามความดี', หรือ 'คำสั่งสอน' ต่างๆ ได้ด้วย … การที่ King Wen เลือกเอาตัวอักษร 西 มาใช้ในวลีที่อธิบายความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' นี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า King Wen ต้องการจะซุกซ่อนความหมายบางอย่าง ที่กว้างไกลกว่าแค่ต้องการจะให้หมายถึง 'ทิศตะวันตก' เฉยๆ อย่างที่หลายๆ ตำรามักจะ 'ตีความ' ไว้เพียงเท่านั้น

郊 (jiāo, เจียว) คำนี้ก็เล่าไปแล้วว่า หมายถึง 'นอกเมือง', 'ชนบท', หรืออาจจะหมายถึงแค่ 'พื้นที่', 'บริเวณ' เท่านั้นก็ได้ … ในกรณีที่ใช้ในวลีนี้ว่า 西郊 มันจึงเหมือนกับจะหมายความว่า 'พื้นที่ด้านตะวันตก' หรือ 'ด้านตะวันตก' เฉยๆ เท่านั้นเอง … แล้วก็เพราะมันแทบจะไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่น วลีที่ว่า 密雲不雨自我西郊 ของ King Wen จึงมักจะถูกแปลกันว่า 'เมฆหนาแต่ไม่มีฝนมาจากฝั่งตะวันตก' … ซึ่งไม่รู้เรื่อง !! :D

ผมมองว่า 'ปม' มันอยู่ที่คำว่า 密雲 นั่นแหละ หลายคนอาจจะมองว่ามันคือ condensed cloud ในภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็น condensing cloud ก็ได้ถูกมั้ย ?! ซึ่งความหมายของทั้งสองคำนั้นจะแตกต่างกัน เพราะความหมายแรกคือ 'เมฆฝนที่รวมกันหนาแน่นแล้ว' แต่ความหมายหลังจะหมายถึง 'เมฆฝนที่กำลังก่อตัวให้มีความหนาแน่น' … การที่มันถูกต่อท้ายคำด้วย 不雨 ที่หมายถึง 'ไม่มีฝน' จึงทำให้ผม 'ตีความ' ว่า 密雲 ควรจะเป็นอาการของ condensing cloud หรือ 'เมฆฝนที่กำลังค่อยๆ ก่อตัว' มากกว่าที่จะหมายถึง 'หนาแน่นไปแล้ว'
 

 

ส่วน 西郊 ถ้าจะให้หมายถึง 'ด้านตะวันตก' ผมเองก็ยังคิดว่า King Wen คงต้องการสื่อถึงอะไรบางอย่างใน 'แผนผังโป้ยก่วย' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ทิศตะวันตก' ตามตัวอักษรนั้นเฉยๆ ซึ่งถ้าเราย้อนไปดู 'ธาตุประจำทิศ' ใน 'แผนผังโป้ยก่วย' เราก็จะเห็นว่า 'ทิศตะวันตก' ใน Later Heaven Order ของ King Wen จะเป็น ☱ (兑: duì, ตุ้ย: ทะเลสาบ) แต่ถ้าเป็น 'ทิศตะวันตก' ใน Ealier Heaven Order ของ Fu Xi ก็จะเป็น ☵ (坎: kǎn, ขั่น: แอ่งน้ำ) … ซึ่งก็คือสองธาตุที่เป็น 'แหล่งน้ำ' ด้วยกันทั้งคู่ เห็นมั้ยครับว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ฝน' ที่ King Wen เอามาเล่นในวลีนี้มากแค่ไหน ?! ;) … แล้วถ้าเราดึงตัวอักษรเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งตัวจากวลีดังกล่าว เราก็จะเห็นคำว่า 我西郊 มันก็จะคล้ายกับว่า King Wen ได้บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่า ให้หมายถึง 'ทิศตะวันตก' ของ Later Heaven Order ของ King Wen เอง … นั่นก็คือ 'ทะเลสาบ' ซึ่งเป็น 'แหล่งน้ำขนาดใหญ่' … :D … มั่วได้สะใจดีมั้ยล่ะ ?! … ความหมายก็คือ 'หากต้องการที่จะรวบรวมละอองน้ำให้หนาแน่นพอที่จะกลายเป็นเมฆฝน เราก็ต้องอาศัยแหล่งน้ำขนาดใหญ่มาเป็นปฐมปัจจัย' นี่ก็คือข้อเท็จจริง 'ตามธรรมชาติ' (自然)

เพราะฉะนั้น วลีที่ใช้อธิบายความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen บันทึกไว้สำหรับบทที่ว่าด้วย 'การสั่งสม' ก็คือ 'การดำเนินงานให้ลุล่วง (亨) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนดั่งการรวมตัวกันของละอองน้ำเพื่อจะกลายเป็นเมฆฝน (密雲) ย่อมไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเพียงเม็ดฝน (不雨) ที่ไร้ความหมาย แต่จะต้องรู้จักถนอมรักษาตัว (自我西郊) จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแก่การเป็นสายฝน จึงจะสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง' … นี่เลยครับ Rainmaker ของจริง !! … สุดยอดมากๆ !! ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

復自道何其咎吉
fù zì dào hé qí jiù jí
ฟู่ จื้อ เต้า เฮ๋อ ชี๋ จิ้ว จี๋


復 (fù, ฟู่) เล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'กลับ', 'ย้อนคืน', 'ตอบสนอง', 'ตอบแทน' ; 'ทำซ้ำ'

道 อ่านว่า dào (เต้า) คำนี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีถ้าออกเสียงว่า 'เต๋า' ซึ่งหมายถึง 'ทาง', 'มรรค', หรือ 'ธรรม' ; ปรกติแล้วก็แปลว่า 'ถนนหนทาง', 'แนวทาง', 'คำพูด', 'คำสั่งสอน' ; ตลอดไปจนถึง 'หลักคำสอน' หรือ 'หลักธรรม' ด้วยก็ได้

何 อ่านว่า hé (เฮ๋อ) เป็นคำภาษาจีนที่ใช้ในกรณีของการถามคำถาม ความหมายจะคล้ายกับ how, which, what, when, where, why ขึ้นอยู่กับว่าถูกนำไปใช้ในรูปประโยคแบบไหน

ความหมายที่แปลกันทั่วๆ ไปของวรรคนี้ก็คือ 'ย้อนกลับไปสู่แนวทางของตนเอง จะไปโดนคนอื่นเขาค่อนขอดนินทาได้ยังไงกัน … มันดีแล้วนี่ !!' … :) … มันก็ไม่ถึงกับทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปซักเท่าไหร่หรอกครับ ถ้าเราจะมองว่า 道 คือ 'แนวทางที่เป็นหลักแห่งธรรม' ซึ่งการที่คนเราจะย้อนกลับมา 'ยึดหลักแห่งธรรม' มันก็ต้องไม่มีใครเขานินทาว่ากล่าวกันอยู่แล้วแหละ … แต่ว่า … :D … ถ้าต้อง 'ย้อนกลับ' ก็แปลว่ามันต้องเคย 'เฉไฉ' หรือเคย 'ออกนอกลู่นอกทาง' ไปบ้างแล้วงั้นสิ ??!! … ก็ถ้าคนเรา 'ยึดมั่นอยู่ในหลักแห่งธรรม' อย่าง 'เสมอต้นเสมอปลาย' มาตั้งแต่แรก มันยังจะต้อง 'ย้อนกลับ' ไปไหนกันอีกล่ะ ?! :D … นี่คือ 'ช่องโหว่' อันดับแรกของคำแปลแบบนั้น ;)

อันดับต่อมาก็คือ คำแปลดังกล่าวมันให้อารมณ์แบบ Existentialism มากไปหน่อย เพราะมันเหมือนกับจะบอกว่า 'กูจะไปไหนมาไหนมันก็เรื่องของกู คนอื่นจะมาค่อนขอดนินทาทำไมกัน ?!' … แน่ะ !! … อันนี้ก็จะออกแนว 'ผยอง' ล่ะครับ :D … ถัดมาก็ต้องมองว่า ถ้า 'แนวทางของตนเอง' ดังที่ว่านั้น มันบังเอิญไม่ใช่ 'แนวทางที่เป็นหลักแห่งธรรม' ล่ะ ?! … มันก็ไม่น่าจะ 吉 นะ … ว่ามั้ย ?! …

เพราะฉะนั้น … ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'การทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และความประพฤติของตน (復自道) เพื่อจะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ใด (何其咎) คือความดีงาม (吉) ที่พึงปฏิบัติ' …

เพราะ 復 ที่แปลว่า 'ย้อนกลับ' นั้น หากพิจารณาในแง่ของ 'การกระทำ' มันก็คือ 'การทำซ้ำ' หรือ 'การทบทวน' ได้เหมือนกัน … ;) … แล้ว 'จิวกง' ก็ย้ำลงไปอีกครั้งว่า มันจะเป็น 'การกระทำที่ถูกต้อง' ได้ก็ต่อเมื่อ มันต้องเป็น 'การกระทำ' ที่ 'ไม่ทำอะไร (何) ให้คนอื่น (其) เดือดร้อน (咎)' ด้วย … ไม่ใช่หมายความว่า 'ใครจะบ่นจะว่าอะไรก็ช่างแม่งปะไร' … เพราะผมเชื่อว่า 'จิวกง' แกคงจะไม่ใช่พวก 'เอ็กซิสเตนเชียลลิสต์สุดโต่ง' อยู่แล้ว !!?? :D … อีกอย่าง … ถ้า 'การกระทำ' นั้นๆ 'ไม่ก่อผลร้ายแก่ผู้ใด' … 'เสียงค่อนขอดนินทา' จะมาจากไหนได้อีกล่ะ … จริงมั้ย ?! … ;) คำว่า 何其咎 ที่ผม 'ตีความ' จึงเลือกหยิบเอาความหมายของสิ่งที่ 'อาจจะ' เป็นสาเหตุแห่ง 'คำค่อนขอด' พร้อมๆ กับย้ำให้คำว่า 道 แสดงความหมายของ 'แนวทางแห่งธรรม' ที่ถูกต้องไว้ด้วย … ซะเลย !! :D

อ้ะ … สมมุติว่ายังไม่ถูกใจกับความหมายนี้ล่ะ … เราก็ย้อนกลับไปเล่นความหมายของ 復 ที่หมายถึง 'ทำซ้ำ' ซึ่งก็สามารถจะ 'ตีความ' ให้แปลว่า 'ตอกย้ำ' ได้ … วลีแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ก็จะได้ความหมายว่า 'จงมุ่งมั่นตอกย้ำอยู่กับแนวทางที่ถูกต้องของตนเอง (復自道) ไยต้องเปลืองตัวกับสิ่งเล็กน้อยที่ไร้ประโยชน์ (何其咎) เยี่ยงนี้ จึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า (吉)'

ส่วนหนึ่งที่สามารถ 'ตีความ' ได้อย่างนี้ก็เพราะว่า 咎 เป็นคำที่ให้ความหมายว่า 'ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ' หรือ 'เสียงบ่น', 'เสียงค่อนขอดนินทา' ไม่ใช่เรื่อง 'คอขาดบาดตาย' อะไร คำว่า 其咎 จึงมีความหมายคล้ายๆ กับ 'เรื่องหยุมหยิมทั่วๆ ไปที่ไร้สาระ' ...

ที่น่าสนใจก็คือ ความหมายแบบที่สองนี้ จะดูราวกับเป็น synonyms ของวลีที่ King Wen ใช้อธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้อย่างลงตัวพอดิบพอดีเลยครับ … โดย 復自道 ก็คือ 自我西郊 ซึ่งเราก็จะเห็นว่า 西郊 ได้แปลงความหมายกลายเป็น 'หลักคำสอน' หรือ 道 ในทันที และถือว่าเป็นการสะท้อนความหมายเชิงลึกทางวัฒนธรรมของจีนที่โดดเด่นมากๆ … ส่วน 何其咎 ที่ผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'จะไปมัวเสียเวลากับเรื่องหยุมๆ หยิมๆ ทำไม' ก็จะตรงกับวลีว่า 密雲不雨 ซึ่งหมายถึง 'ละอองน้ำที่กำลังจะก่อตัวให้เป็นเมฆฝน ย่อมไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเม็ดฝนที่ไร้ความหมาย' … อือม์ … ผมว่าความหมายแบบที่สองนี่เข้าท่ากว่าแฮะ !! :D

 

สอง หยาง :

牽復吉
qiān fù jí
เชียน ฟู่ จี๋


ผมรู้สึกสยองมากกับวรรคสั้นๆ แบบนี้ของ 'จิวกง' :D …

牽 อ่านว่า qiān (เชียน) มีลักษณะของ 'ภาพอักษร' เดิมมาจาก 'การลากจูงวัว' ดังนั้นจึงแปลว่า 'ลาก', 'จูง', 'ดึง', 'นำไป', 'พาไป' ; หรือ 'โน้มนำ', 'โน้มน้าว', 'ชักจูง' ; แต่บางครั้งก็ยังแปลว่า 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว' ในลักษณะที่เหมือนมี 'การผูกโยง' ด้วยเชือกหรืออุปกรณ์อื่นๆ จึงสามารถหมายถึง 'การล่าม' ได้ด้วย ; ในขณะเดียวกันก็แปลว่า 'การสอดส่อง' หรือ 'การตรวจสอบ' ก็ได้ ซึ่งน่าจะมาจากเป็นอาการของ 'การปะติดปะต่อ' หรือ 'ผูกโยง' เรื่องราวหลายๆ อย่าง 'ขมวดเข้าด้วยกัน' ; และเมื่อมีลักษณะของความหมายไปในแง่ของ 'การผูกโยง' จึงสามารถแผลงความหมายไปเป็น 'ความเกี่ยวข้อง' และ 'ความต่อเนื่อง' ได้ด้วย

ปรกติแล้ว วรรคที่หนึ่งมักจะถูกจับคู่กับวรรคที่หก แล้ววรรคที่สองก็จะถูกจับคู่กับวรรคที่ห้า แต่ในกรณีนี้ ผมจะเลือก 'ตีความ' ให้ต่อเนื่องกับวรรคที่หนึ่งไปก่อน แล้วค่อยไปว่ากันอีกครั้งตอนที่เล่าวรรคที่ห้า ;) เพราะว่าสไตล์ของท่าน 'จิวกง' นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถอ่านแบบกระโดดข้ามวรรค หรืออ่านแบบต่อเนื่อง หรือจะ 'ตีความ' เป็นวรรคโดดๆ ของมันเองก็ได้อยู่แล้ว …

ถ้าผมเลือก 'ตีความ' วรรคที่หนึ่งของ 'จิวกง' ไว้ว่า 'การทบทวนตัวเองเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ' … เมื่อนำมาผนวกเข้ากับความหมายลึกๆ ของตัว 牽 ในวรรคนี้ ผมก็ยังเชื่อว่า ความหมายดังกล่าวก็น่าจะเข้ากันได้ เพราะ 牽 สามารถที่จะแปลว่า 'สำรวจตรวจตรา' หรือ 'สอดส่อง' ได้ด้วยตัวของมันเอง จึงเท่ากับเป็นการย้ำความหมาย หรือขยายความให้กับตัว 復 ในวรรคที่หนึ่งว่า ไม่ใช่เป็น 'การหันหลังกลับ' อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจกัน … ในขณะที่ 'ความหมายพิเศษ' ของ 牽 ยังสามารถหมายถึง 'ความต่อเนื่อง' ได้อีกความหมายหนึ่ง … ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าอักษร 復 ของวรรคที่สองน่าจะหมายถึง 'การทำซ้ำๆ' … ซึ่งจะทำให้ 牽復 ในวรรคนี้มีความหมายว่า 'การทบทวนตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา' โดยจะไปพ้องความหมายกับอาการของ 密雲 หรือ 'การค่อยๆ รวมตัวกันของละอองน้ำเพื่อจะเป็นเมฆฝน' ที่ King Wen บันทึกไว้เป็นคำอธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ เพราะถ้าขืนเดี๋ยวๆ ก็รวมตัว เดี๋ยวๆ ก็โปรยปรายเป็น 'ละอองฝน' อยู่เรื่อยๆ มันก็ย่อมไม่มีวันที่จะกลายเป็น 'กลุ่มก้อนของเมฆฝน' ที่หนาแน่นพอสำหรับการเป็น 'สายฝน' ไปตลอดกาล … ฉันใดก็ฉันนั้น 'การทบทวน' เพื่อ 'ตรวจสอบตัวเอง' ก็คือสิ่งที่พึงปฏิบัติ และต้องปฏิบัติ 'อย่างต่อเนื่อง' มี 'ความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา' ไม่ใช่เดี๋ยวทำเดี่ยวงดเหมือนไม่มี 'หลักการ' ใดๆ ให้ 'ยึดเหนี่ยว'

อ้ะ … ถ้า 'ตีความ' ให้มี 'ความต่อเนื่อง' กับความหมายแรกของวรรคที่หนึ่ง ก็จะออกมาประมาณนี้ครับ … 'การทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และความประพฤติของตน (復自道) โดยไม่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ใด (何其咎) คือความดีงาม (吉) ที่พึงปฏิบัติ และต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา (牽復) จึงจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดี (吉) ได้'

แล้วถ้าเป็นความหมายที่สองล่ะ ??!! … 牽復 ก็น่าจะแผลงความหมายเป็น 'มีสติยั้งคิดย้ำทำในสิ่งที่ถูกต้อง' และทำให้ประโยคต่อเนื่องของวรรคที่หนึ่งถึงวรรคที่สองกลายเป็นความหมายว่า 'จงมุ่งมั่นตอกย้ำอยู่กับแนวทางที่ถูกต้องของตนเอง (復自道) โดยไม่เปลืองตัวไปกับสิ่งเล็กน้อยที่ไร้แก่นสาร (何其咎) ต้องรู้จักใช้สติยั้งคิดย้ำทำแต่สิ่งที่จะก่อคุณประโยชน์ (牽復) เยี่ยงนี้จึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า (吉)' … เป็นไงมั่งล่ะทีนี้ ??! ผมว่าแจ๋วนา !!? … :D

 

สาม หยาง :

輿說輻夫妻反目
yú tuō fú fū qī fǎn mù
ยฺวี๋ ทัว ฟู๋ ฟู ชี ฝั่น มู่


輿 (yǘ, ยฺวี๋) เคยเล่าไปแล้วว่า หมายถึง 'รถ (ที่ใช้เพื่อการขนถ่ายสิ่งของ)', 'เกวียน', 'เกี้ยวโดยสาร', 'ห้องโดยสารของรถ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มากมาย', 'หนาแน่น' จากความหมายของ 'การขนถ่ายสิ่งของด้วยรถ' ; สามารถแปลว่า 'ลานโล่ง' หรือ 'บริเวณ' ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกันจำนวนมากๆ ; อาจจะหมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'ที่สาธารณะ' ก็ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เขตแดน' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แบก', 'หาม', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

說 สำหรับที่ใช้ในวรรคนี้ควรจะต้องออกเสียงว่า tuō (ทัว) ซึ่งแปลว่า 'หลุดออก', 'ร่วง', 'หล่น', 'เป็นอิสระ', 'ปลดปล่อย (ให้ตัวเองเป็นอิสระ)' ; บางครั้งจึงอาจจะหมายถึง 'ทำตามอำเภอใจ' … เหตุที่ไม่น่าจะออกเสียงว่า shuō (ซัว) เหมือนปรกติก็เพราะว่า องค์ประกอบแวดล้อมไม่มีคำไหนที่เป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นจึง 'ตีความ' ว่าไม่น่าจะถูกใช้ในความหมายว่า 'พูด' เท่านั้นเอง

輻 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'ซี่ล้อ' ซึ่งหมายถึงชิ้นส่วนของล้อที่เชื่อมระหว่าง 'ดุมล้อ' กับ 'วงล้อ' เข้าด้วยกัน ; บางทีก็หมายถึง 'ล้อรถ' หรือ 'วงล้อ' ทั้งวง ; ทำให้อาจจะหมายถึง 'การล้อม' หรือ 'การเคลื่อนที่ไปรอบๆ' ก็ได้

夫妻 (fū qī, ฟู ชี) แปลว่า 'สามี-ภรรยา' … เวลาเขียนติดกันแบบนี้ น่าจะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย :D … อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเปรียบเทียบแล้ว 'สามี-ภรรยา' สามารถเปรียบได้กับ 'หยาง' และ 'หยิน' ของครอบครัว … ซึ่งจู่ๆ การที่ 'จิวกง' ยกเรื่อง 'สามี-ภรรยา' ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยนี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' ต้องการจะสื่อถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของ 'ปัญหาครอบครัว' โดยตรง :D

反 อ่านว่า fǎn (ฝั่น) แปลว่า 'กลับตาลปัตร', 'พลิกกลับ', 'สลับ', 'ตรงกันข้าม', หรือ 'ต่อต้าน' ; ในบางลักษณะของการใช้งาน สามารถที่จะใช้ในความหมายเดียวกับ 覆 (fù, ฟู่) ที่หมายถึง 'ย้อนคืน', 'เริ่มต้นใหม่' ; หรือ 'ทบทวน'

目 อ่านว่า mù (มู่) ปรกติแปลว่า 'ดวงตา', 'มอง', 'เล็ง', 'จุดศูนย์กลาง (ของเป้า)', 'เป้าหมาย' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'สำคัญที่สุด' หรือ 'เด่นที่สุด'

ถ้าจะแปลกันตามตัวอักษรเท่าที่มีก็น่าจะต้องแปลว่า 'รถล้อหลุด ผัวเมียไม่มองหน้ากัน' … แต่ผมคิดว่า 'จิวกง' คงอยากจะบอกอะไรที่ฟังเข้าท่าเข้าทางมากกว่านั้นนะ ... :D … เพราะฉะนั้น เราจึงน่าจะดึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละตัวอักษรออกมาประกอบเป็นประโยคเต็มๆ ว่า 'การดำเนินงาน (輿) ที่ไม่ยอมประสานกัน (說 คือต่างคนต่างทำ) ย่อมเปรียบเสมือนตัวรถกับวงล้อที่เคลื่อนไปคนละทิศคนละทาง (輿說輻) ต่อให้มีความผูกพันถึงขั้นเป็นสามีภรรยา (夫妻) ก็ยังไม่อาจหวังผลในเป้าหมายเดียวกันได้ (反目)'

ผมดึงความหมายของ 輿 ที่หมายถึง 'แบก', 'หาม', หรือ 'เคลื่อนย้าย' มาแปลงเป็น 'การขับเคลื่อนภารกิจ' หรือ 'การดำเนินงาน' … และเอา 說 ที่มีนัยของ 'การทำตามอำเภอใจ' มาใช้ในความหมายว่า 'ต่างคนต่างทำ' … แล้วก็ใช้ 輿 ซ้ำในความหมายของ 'ตัวรถ' เพื่อให้ไปรับกับ 輻 ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง 'ตัวรถ' กับ 'วงล้อ' … ซึ่งการที่ตัวรถกับวงล้อวิ่งไป 'คนละทางกัน' มันก็ต้อง 'หลุดออกจากกัน' อยู่แล้วแหละ แต่เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนกว่า จึงเลือกที่จะไม่แปลว่า 'หลุดออกมา' เฉยๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า 'ตัวรถ' กับ 'วงล้อ' ถึงจะ 'หลุดออกจากกัน' มันก็ยังมีโอกาสที่จะเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้  ถึงแม้ว่ามันจะเคลื่อนต่อไปได้ไม่ไกลนักก็ตาม  :D … ส่วนวลีที่บอกว่า 夫妻反目 ก็ไม่น่าจะแปลว่า 'ผัวเมียไม่มองหน้ากัน' หรือ 'ผัวเมียทำตาขวางใส่กัน' เพราะมีสาเหตุมาจาก 'วงล้อหลุดออกจากตัวรถ' … :D … แต่ 'จิวกง' น่าจะต้องการสื่อความหมายเป็นเชิงเปรียบเทียบว่า 'แม้จะมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่กลับทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กัน มันก็จะเหมือนกับตัวรถและวงล้อที่วิ่งไปคนละทิศคนละทาง' นั่นเอง

แล้วที่สวยงามขึ้นไปอีกก็คือ ลักษณะของการทำงานที่ต้อง 'ประสานกัน' นี้ คือหนึ่งในความหมายหลายๆ อย่างของตัวอักษร 牽 ที่ถูกใช้ในวรรคที่สองด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า 'จิวกง' ไม่ได้นึกอยากจะยกวลีใดๆ มาบันทึกลงไปอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ทุกๆ วรรค และทุกๆ ตัวอักษรที่เลือกใช้ ได้ผ่านการพินิจพิเคราะห์มาแล้วอย่างรอบด้านจริงๆ … ความหมายที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วรรคที่หนึ่งก็คือ (1) ต้องมุ่งมั่นในแนวทางที่ถูกต้อง … (2) ต้องมีมีสติยั้งคิดย้ำทำ และทบทวนตรวจสอบตัวเองอย่างต่อเนื่อง … (3) ต้องดำเนินงานอย่างประสานสอดคล้องกัน … โดยมีการส่งความหมายต่อเนื่องกันมาเป็นทอดๆ เลยครับสำหรับสามวรรคนี้ ;)

 

สี่ หยิน :

有孚血去惕出無咎
yǒu fú xuè qǜ tì chū wú jiù
โหฺย่ว ฟู๋ เซฺวี่ย ชฺวี่ ที่ ฌู อู๋ จิ้ว


จริงๆ แล้วถือว่าไม่มีคำใหม่เลยนะครับสำหรับวรรคนี้ แต่วลีที่น่าจะซ่อนความหมาย หรือซุกคำอธิบายไว้ คงจะอยู่ตรงวลีที่ว่า 血去惕出 ซะมากกว่า เพราะฉะนั้น ขอแคะกันอีกรอบแล้วกัน ;)

血 (xuè, เซฺวี่ย) แปลว่า 'เลือด', 'ถึงเลือดถึงเนื้อ', หรือ 'เลือดตกยางออก' ; แล้วบางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'การนองเลือด' ได้เหมือนกัน ; หรืออาจจะหมายถึง 'อันตรายอย่างยิ่ง' เพราะเป็นเรื่องที่ 'ถึงเลือดถึงเนื้อ' หรืออาจจะถึงขั้น 'คอขาดบาดตาย' ; แต่ในบางกรณีก็สามารถจะให้หมายถึง 'สาระสำคัญแห่งชีวิต' ได้ด้วย เพราะ 'เลือด' ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของทุกสรรพชีวิต

去 อ่านว่า qǜ (ชฺวี่) แปลว่า 'ไป', 'เดินทางไป', 'จากไป', 'หายไป', 'สูญเสียไป' ; บางครั้งยังหมายถึง 'กำจัดออกไป', 'ขับไล่', และอาจจะหมายถึง 'การซ่อมแซม' หรือ 'การฟื้นฟู' หลังจาก 'กำจัด' สิ่งที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่ต้องการออกไปเรียบร้อยแล้ว

惕 (tì, ที่) คำนี้เคยเล่าไว้ในบทแรกแล้วว่า หมายถึง 'ระมัดระวัง', 'รอบคอบ', 'ไม่ประมาท', 'มีความตื่นตัว'

出 (chū, ฌู) แปลว่า 'ออก', 'นำออกมา', 'ส่งออกไป', 'ยื่นให้', 'ลุกขึ้น', 'งอกออกมา', 'โผล่ออกมา', 'ปรากฏ'

ส่วนตัวอักษร  孚 (fú, ฟู๋) และคำว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) นี่ถูกเอ่ยถึงเยอะมากในบทที่ห้าและบทที่หก โดย 孚 (fú, ฟู๋) หมายถึง 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้ …

หากพิจารณาในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่สาม คำว่า 有孚 ในที่นี้น่าจะหมายถึง 'มีความสมัครสมานสามัคคีกัน' ซึ่งก็คือ มี 'ความเอื้อเฟื้อ' ต่อกัน, ให้ 'การอุปถัมภ์ค้ำจุน' ระหว่างกัน, สามารถ 'ไว้เนื้อเชื่อใจ' ซึ่งกันและกันได้ … รวมความสั้นๆ ก็คือ 'มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' อันเป็นความหมายที่ตรงข้ามกับวรรคที่สามอย่างชัดเจน โดย 'จิวกง' ใช้จังหวะที่ 'หยาง' ในวรรคที่สาม สลับขั้วกลับเป็น 'หยิน' ในวรรคนี้ จึงนำเสนอถ้อยคำที่สลับขั้วของความหมาย เพื่อใช้ขยายความให้แก่กันอย่างทันทีทันใด ;) … อัจฉริยะมากๆ !!! … เพราะการที่ 'ต่างคนต่างทำ' โดย 'ไม่ยอมประสานกัน' นั้น สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากต่างฝ่ายต่างมี 'ความถือดี' ใน 'พลังหยาง' ของตนเอง จนไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน … ในขณะที่ 'การประสานกัน' จำเป็นต้องอาศัย 'พลังหยิน' ซึ่งจะเน้นหนักไปในเรื่องของ 'หลักแห่งคุณธรรม' ใน 'การทำความเข้าอกเข้าใจ' ระหว่างกันมากกว่า … นี่คืออัจฉริยภาพทางภาษาอันน่าทึ่งของ 'จิวกง' ที่สามารถเชื่อมโยง 'การสื่อความหมายที่ต่อเนื่อง', 'การเลือกใช้ถ้อยคำ' และ 'ขีดสัญลักษณ์ต่างๆ' ได้อย่างลงตัวพอดี !!!

ความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'ความสมัครสมานสามัคคีที่ต่างก็มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (有孚) ความบาดหมาง (血 คือถึงขั้นอยากจะกินเลือดกินเนื้อกัน) ย่อมเหือดหาย (去) กลายเป็นความระแวดระวัง (惕) ที่ต่างฝ่ายต่างก็หยิบยื่นให้แก่กัน (出) ความผิดพลาดก็จะถูกขจัดไปจนหมดสิ้น (無咎)'

ผมมองว่า 'สาระ' ที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อไว้ในวรรคนี้มีประเด็นที่น่าสนใจพอสมควร … 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 孚 (fú, ฟู๋) ที่ออกเสียงคล้ายกับ 復 (fù, ฟู่) ในวรรคก่อนๆ มาเป็นวลีเปิดประเด็นว่า 有孚 ซึ่งเป็นการสลับขั้วความหมายกับวรรคที่สามอย่างชัดเจน เพราะนี่คือ 'ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน' … แล้ว 'จิวกง' ก็เลือกสำนวนว่า 血去惕出 มาย้ำให้เห็นภาพของ 'การร่วมงานกัน' ที่ชัดเจนมากขึ้น … เพราะหากปราศจาก 'ความไว้เนื้อเชื่อใจ' ซึ่งกันและกันแล้ว การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหยิบยกประเด็นที่เป็น 'ความบกพร่อง' หรือ 'ความผิดพลาด' ของฝ่ายอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อทบทวนตรวจสอบ ก็มักจะถูก 'ตีความ' ให้กลายเป็นเรื่องของ 'การกลั่นแกล้ง' หรือเป็น 'การชวนทะเลาะ' กันไปเรื่อย โดยถือว่าเป็น 'การจับผิด' เพื่อ 'โจมตี' หรือเพื่อ 'ดีสเครดิต' กันเองซะ … แต่ในสภาพที่ทุกฝ่ายต่างก็ให้ 'ความเคารพ' และมี 'ความไว้วางใจ' ต่อกัน การหยิบยกประเด็นที่เป็น 'ความผิดพลาด' ขึ้นมาทบทวนตรวจสอบ ก็จะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การกลั่นกรอง' ไปในทันที … ซึ่งในสภาพแวดล้อมที่ทุกฝ่ายสามารถช่วยกัน 'สอดส่องดูแล' ความเรียบร้อย และคอย 'ส่งสัญญาณเตือน' เมื่อพบเห็น 'ความผิดปรกติ' ที่เกิดขึ้น โดยปราศจาก 'มิจฉาทิฐิ' ที่คอยจ้องแต่จะ 'ให้ร้ายกัน' หรือต้องคอย 'หวาดระแวง' ต่อทุกๆ ความเคลื่อนไหวของกันและกัน 'ความผิดพลาด' เล็กๆ น้อยๆ (咎) ก็จะถูก 'ขจัดปัดเป่า' ออกไป ก่อนที่มันจะลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่โตที่ยากจะเยียวยาแก้ไข …

จะว่าไปมันก็ไม่ใช่ 'หลักจิตวิทยา' ที่ลึกซึ้งอะไรมากมายนัก แต่มันน่าจะเป็น 'ความลึกซึ้ง' ของ 'จิวกง' เองที่มองว่า สิ่งนี้คือเหตุผลง่ายๆ ที่มักจะถูกผู้คนมองข้ามไปอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็เลยแทรกวลีดังกล่าวลงไปต่อท้ายคำว่า 有孚 เพื่อจะบอกว่า ที่มัน 無咎 น่ะ มัน 無咎 มาจากสาเหตุอะไร … เพราะรักกันชอบกัน แต่ไม่คอยช่วยกันสอดส่องดูแลมันก็ 咎 ได้เหมือนกันนะเอ้า !! … :D …

 

ห้า หยาง :

有孚攣如富以其鄰
yǒu fú luán rú fù yǐ qí lín
โหฺย่ว ฟู๋ ล๋วน ญู๋ ฟู่ อี่ ชี๋ ลิ๋น


攣 อ่านว่า luán (ล๋วน) แปลว่า 'หงิกงอ', 'ผูกกัน', 'พันกัน', 'เกี่ยวกัน', 'ขมวดเป็นปม' ; จึงทำให้บางครั้งก็ยังแปลว่า 'เกี่ยวดอง', 'ผูกพัน', 'คิดถึง', 'เป็นห่วงเป็นใยกัน' และอาจจะหมายถึง 'พึ่งพาอาศัยกัน'

富 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'มั่งมี', 'มากมาย', 'เหลือเฟือ', 'พรั่งพร้อม', 'สมบูรณ์แบบ' หรือ 'ร่ำรวย' ; บางครั้งจึงใช้ในความหมายเดียวกับ 福 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'โชคลาภ', 'โชคดี' หรือ 'ความสุข', และ 'ความเจริญรุ่งเรือง'

鄰 อ่านว่า lín (ลิ๋น) สมัยราชวงศ์โจวใช้คำนี้เป็น 'ชื่อหน่วยนับ' ของจำนวนหลังคาเรือนในแต่ละชุมชน โดยจะเรียกจำนวน 5 หลังคาเรือนว่า 1 ลิ๋น (鄰) และเรียกจำนวน 5 ลิ๋นว่า 1 หฺลี่ (里) … ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว 鄰 จะถูกใช้ในความหมายว่า 'เพื่อนบ้าน' ซึ่งเมื่อขยายความออกไปในระดับหมู่บ้าน มันก็จะหมายถึง 'หมู่บ้านใกล้เคียง' หรือในระดับประเทศก็จะหมายถึง 'ประเทศเพื่อนบ้าน' ที่มีเขตแดนติดต่อกัน ; บางครั้งจึงแปลว่า 'สนิทสนม' หรือ 'ใกล้ชิด'
ฮ่าๆๆ ... สงสัยว่าผมจะ 'แคะความหมาย' เร็วไปหน่อย เพราะวรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็คือความหมายที่ผมละเลงไปจนหมดแล้วใน 'การตีความ' ของวรรคที่สี่ :D … โดย 'จิวกง' คงตั้งใจที่จะ 'ย้ำความหมาย' ให้กับวลี 血去惕出 (xuè qù tì chū, เซฺวี่ย ชฺวี่ ที่ ฌู) ที่ตัวเองใช้ไปในวรรคก่อน เพื่อที่จะบอกกับทุกๆ คนว่า วลีดังกล่าวไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ 'การเสียเลือดเสียเนื้อ' หรือ 'ความหวาดกลัว'  อย่างที่หลายๆ ตำราชอบ 'ทึกทัก' กันไปเองเลย :D … เราจะเห็นว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ถูกแทนความหมายอย่างชัดเจนอีกครั้งด้วย 富 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'ความเจริญ' หรือ 'ความโชคดี' … แล้ว 'จิวกง' ก็ระบุไว้อย่างตรงๆ ตัวในวรรคนี้เลยว่า 'มาจาก (以) มิตรสหาย (其鄰)' … แล้วมันมาจากมิตรสหายได้ยังไง ?! … มันก็มาจาก 血去惕出 หรือ 'ปราศจากความบาดหมาง และคอยช่วยกันสอดส่องดูแล' นั่นไงเล่า !!! ... ;)

แล้ว 'จิวกง' ก็ไม่ลืมที่จะทำให้วรรคนี้ไปเกี่ยวข้องกับวรรคที่สอง ด้วยการใช้คำว่า 攣 (luán, ล๋วน) ที่หมายถึง 'การขมวดกันเป็นปม' หรือ 'การผูกพัน' ซึ่งเป็นอากัปกิริยาที่คล้ายกับความหมายของ 牽 (qiān, เชียน) ที่สามารถแปลว่า 'การผูกโยง' หรือ 'การทำให้ติดกัน' … ซึ่งหากมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' กับวรรคที่สอง 'จิวกง' ก็กำลังจะบอกว่า 'การสั่งสมนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ต้องทำบ่อยๆ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่จะต้องทำอย่างประสานสอดคล้องกัน เสมือนหนึ่งถูกขมวดเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันด้วย'

ความหมายของวรรคนี้จึงควรจะได้รับ 'ตีความ' ว่า 'ความสมัครสมานสามัคคีที่ต่างก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (有孚) ก็คือการผนึกรวมเป็นกลุ่มก้อนที่คอยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน (攣如) … ความเจริญก้าวหน้า และความสำเร็จ (富) ทั้งหลาย ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจาก (以) การเสริมส่ง และการพึ่งพาอาศัยกันของทุกๆ ฝ่ายที่ประสานสัมพันธ์กันนั้นเอง (其鄰)'

 

หก หยาง :

既雨既處尚德載婦貞厲月幾望君子征凶
jì yǚ jì chù shàng dé zài fù zhēn lì yuè jī wàng jün zǐ zhēng xiōng
จี้ หยฺวี่ จี้ ฌู่ ษั้ง เต๋อ ไจ้ ฟู่ เจิน ลี่ เยฺวี่ย จี วั่ง จฺวิน จื่อ เจิง เซฺวิง


既 อ่านว่า jì (จี้) แปลว่า 'แล้วเสร็จ', 'เรียบร้อยแล้ว', 'ผลสรุป', 'ครบสมบูรณ์', 'จบบริบูรณ์', 'เสร็จสิ้น', 'สิ้นสุด' ; บางครั้งใช้ในความหมายว่า 'บัดเดี๋ยวนี้' หรือ 'ไม่ช้าไม่นาน' … และอาจจะแผลงจนกลายเป็น 'ประเดี๋ยวประด๋าว' ได้ด้วยรึเปล่าไม่รู้นะครับ :D

尚 อ่านว่า shàng (ษั้ง, ษ้าง) แปลว่า 'ยังมีอีก', 'ยังเหลืออีก', 'นอกเหนือจาก', 'นอกจากนั้น' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ที่ให้ความเคารพ', 'ที่มีความสำคัญ' ในลักษณะคล้ายกับ 'ที่นอกเหนือจากธรรมดา' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'เน้นย้ำ' ; บางทียังแปลว่า 'เก่าแก่', 'อดีตกาลอันไกลโพ้น' ; และยังสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'โดยประมาณ'

德 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'คุณธรรม', 'จริยธรรม', 'ความดีงาม', 'ความศรัทธา', 'ความคิด', 'จิตใจ' ; บางครั้งก็อาจจะใช้ในความหมายของ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (福) ได้ด้วย

載 อ่านว่า zài (ไจ้) แปลว่า 'บรรทุก', 'แบกรับ', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

月 อ่านว่า yüè (เยฺวี่ย) แปลว่า 'พระจันทร์', 'เดือน' ; และตามคติเชิงสัญลักษณ์แบบ 'หยิน-หยาง' จะถือว่าพระจันทร์เป็นตัวแทนของ 'พลังหยิน'

幾 อ่านว่า jī (จี) แปลว่า 'เล็ก', 'จิ๋ว', 'ละเอียด', 'ต่ำต้อย', 'เล็กน้อย', 'ระยะใกล้ๆ' ; 'อันตราย', 'มีภัย', 'ลาง', 'สังหรณ์' ; 'ประมาณ', 'ใกล้เคียง', หรือ 'ไม่แน่ไม่นอน' ; จึงอาจจะหมายถึง 'ไม่ชัดเจน' ด้วยก็ได้

望 อ่านว่า wàng (วั่ง) แปลว่า 'มอง', 'จ้อง' ; แต่ส่วนใหญ่มักจะหมายถึง 'มองออกไปไกลๆ' หรือ 'ชะเง้อมอง' ; มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'คาดหวัง', 'มุ่งหวัง', 'ไขว่คว้า', หรือ 'มุ่งไป' หรือ 'เปรียบเทียบ' ; และสามารถใช้ในความหมายว่า 'เยี่ยมเยือน', 'พบปะ' ; บางครั้งยังหมายถึง 'เคารพ', 'ศรัทธา', 'มีชื่อเสียง' หรือ 'โด่งดัง' ในลักษณะของ 'เป็นที่จับตามอง', 'เป็นที่หมายปอง' ; แต่ถ้าใช้กับพระจันทร์จะหมายถึง 'พระจันทร์เต็มดวง'

征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

'จิวกง' เลือกที่จะนำ 'ความตรงกันข้าม' กับวลีของ King Wen และวรรคแรกของตัวเองมาเป็นวรรคสรุปในบทนี้ … โดยเราจะเห็นว่า King Wen ใช้วลีว่า 密雲不雨 (ละอองน้ำที่กำลังรวมตัวกันเพื่อจะเป็นเมฆฝน ย่อมจะไม่ด่วนโปรยปราย) … ส่วน 'จิวกง' เลือกใช้วลีว่า  既雨既處 ในวรรคนี้ เพื่อบอกถึงอาการที่ 'เดี๋ยวๆ ก็โปรยปราย เดี๋ยวๆ ก็หยุด' ซึ่งเน้นให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน … และเป็นประเด็นที่ 'จิวกง' ทักเอาไว้ตั้งแต่ในวรรคแรกของตัวเองแล้ว่า 復自道何其咎 (จะทำอะไรก็ให้มันแน่วแน่เด็ดเดี่ยวไปซักทางที่ตัวเองเลือก จะไปบ้าบอกับเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยทำไม?!) … ซึ่งอาการที่ 'เดี่ยวทำเดี๋ยวหยุด' นั้นเองที่ 'จิวกง' อธิบายว่า มันคือการทำให้ 'หลักปฏิบัติที่ควรจะต้องยึดถือ' (尚德) เกิด 'ความคลาดเคลื่อน' (載) หรือ 'ผิดเพี้ยน' ไปจากที่ควรจะเป็น … อาการที่ 'คลาดเคลื่อน' ชนิดที่ 'ไม่มีความมั่นคงอยู่กับร่องกับรอย' นี้เองที่ 'จิวกง' ใช้ภาพเปรียบเทียบเป็น 'ภรรยาที่คุ้มดีคุ้มร้าย' (婦貞厲) หรือ 'พระจันทร์ที่เดี๋ยวเสี้ยวเดี๋ยวเต็ม' (月幾望) ก่อนที่จะบอกว่า ถ้าขืนดำเนินการต่อไป (征) ด้วยอาการแบบนั้น ต่อให้เป็น 'ยอดคน' (君子) มาจากไหน ก็รับรองได้เลยว่า 'ซวย' (凶) แน่ๆ !!! … :D

แล้วพวก 'เฟมินิสต์สุดโต่ง' ก็อาจจะรู้สึกเหมือนกับโดนอะไรใหญ่ๆ ทิ่มตูดเอาเลยทีเดียว สำหรับภาพเปรียบเทียบของ 'ภรรยาที่คุ้มดีคุ้มร้าย' ที่ 'จิวกง' หยิบยกขึ้นมา … :D … และเป็นไปได้ว่า อาจจะด่วนตีโพยตีพายอย่างไร้สติทันทีเลยว่า 'จิวกง' เป็น 'พวกกดขี่ทางเพศ' เพราะดันบังอาจไปแตะต้องถูก 'เพศแม่' ที่ควรจะต้องให้ 'ความเคารพอย่างสูง' … ;) … เก้าะพวก 'เฟมินิสต์สุดโต่ง' ทั้งหลายนั่นแหละที่ผมเองก็มองว่า เป็น 'หยินที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย' เพราะพยายามจะ 'วางก้าม' ด้วย 'ความกระสัน' อยากจะเป็น 'หยาง' ซะเต็มประดา และเป็น 'เผ่าพันธุ์' ที่ทำลาย 'ความเป็นเพศแม่' อย่างรุนแรงที่สุด !!! … :D

ความจริงแล้วผมมองว่า 'จิวกง' ได้แสดงออกถึง 'การยกย่องเพศแม่' อย่างสูงมากๆ แล้วในบทนี้ โดยเริ่มตั้งแต่คำว่า 西郊 ที่ King Wen ใช้ตอนเปิดประเด็นของ 'การสั่งสม' ซึ่ง 'ทิศตะวันตก' ตามคติความเชื่อของชาวจีน จะสื่อความหมายถึง 'หลักธรรมคำสั่งสอน' หรือ 'สิ่งที่ต้องให้ความเคารพเทิดทูน' … ซึ่ง 'จิวกง' แทนที่ด้วยคำว่า 道 ในวรรคที่หนึ่ง เพื่อให้หมายถึง 'หลักจริยธรรม' ที่เป็น 'วิมุตติมรรค' แห่งอารยธรรมจีน … พร้อมๆ กับย้ำความหมายดังกล่าวอีกครั้งด้วยคำว่า 尚德 ในวรรคที่หก … การอธิบายถึง 'หลักธรรมที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน' โดยใช้ภาพของ 'ภรรยาที่คุ้มดีคุ้มร้าย' มาเปรียบเทียบ จึงเท่ากับ 'จิวกง' กำลังเปรียบเทียบ 'เพศแม่' กับ 'หลักธรรม' อยู่แล้วอย่างชนิดที่ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ได้เลย … และเป็นร่องรอยสำคัญมากที่บ่งบอกได้ว่า 'จิวกง' ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานทางวัฒนธรรมของชาวจีนนั้น ไม่ได้มีความคิดที่ดูหมิ่นดูแคลน 'หยิน' หรือ 'เพศหญิง' แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่กลับให้ความเคารพเทิดทูน 'หยิน' หรือ 'เพศแม่' อย่างสูงส่ง กระทั่งเทียบชั้นได้กับ 道 หรือ 尚德 อันเป็น 'หลักจารีต' และ 'หลักจริยธรรมสูงสุด' ของชาวจีนเสมอมา … ;) … เพียงแต่ว่า อาจจะยกย่องจนสูงส่งเกินกว่าที่พวกต่ำทรามจะเข้าใจได้ … ก็เท่านั้นเอง !! :D

สรุปความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'ความไม่คงเส้นคงวาเหมือนฝนที่เดี๋ยวๆ ก็โปรยปราย (既雨) เดี๋ยวๆ ก็แล้งร้าง (既處) ย่อมทำให้หลักปฏิบัติที่ควรจะยึดถือ (尚德) เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน (載 หมายถึงเคลื่อนออกจากที่เดิม) ประหนึ่งภรรยา (婦) ที่คุ้มดี (貞) คุ้มร้าย (厲) หรือดั่งจันทรา (月) ที่เดี๋ยวก็เสี้ยว (幾) เดี๋ยวก็เต็ม (望) ต่อให้เป็นยอดคน (君子) ที่แม้จะมีความเก่งกาจมาจากไหนก็ตาม หากยังขืนดำเนินการเยี่ยงนั้นต่อไป (征) ย่อมประสบกับความหายนะ (凶)'



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เสี่ยวซฺวี่' คือ การสั่งสม, กระแสลมเหนือเวิ้งฟ้า

การดำเนินงานให้ลุล่วง 'อย่างค่อยเป็นค่อยไป' นั้น ย่อมประหนึ่งการก่อตัวของเมฆฝน ที่จะไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเพียงละอองอย่างไร้ความหมาย แต่จะต้องรู้จักถนอมรักษาตัวเอง จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแก่การเป็นสายฝน จึงจะสามารถอำนวยความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพสิ่ง

  •  
  • 'ความมุ่งมั่น' และ 'การตอกย้ำ' อยู่กับ 'แนวทางที่ถูกต้อง' ของตนเอง โดยไม่ยอม 'สิ้นเปลืองทรัพยากร' ไปกับ 'สิ่งเล็กน้อยที่ไร้คุณค่า' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ'
  •  
  • ต้อง 'หมั่นทบทวนตรวจสอบ' ตนเอง 'อย่างสม่ำเสมอ' และใช้สติ 'ยั้งคิดย้ำทำ' แต่สิ่งที่ก่อ 'คุณประโยชน์'
  •  
  • การดำเนินงานที่ไร้ซึ่ง 'ความสมัครสมาน' ย่อมเปรียบได้กับตัวรถและวงล้อที่ต่างก็เคลื่อนไป 'คนละทิศคนละทาง' … ต่อให้มี 'ความผูกพันที่ลึกซึ้ง' ถึงขั้นเป็น 'สามี-ภรรยา' ก็ยังไม่อาจหวังผลใน 'เป้าหมายเดียวกัน' ได้
  •  
  • 'ความสมัครสมานสามัคคี' ที่ต่างก็มี 'ความไว้วางใจ' ซึ่งกันและกัน 'ความบาดหมาง' ย่อม 'เหือดหาย' กลายเป็น 'ความระแวดระวัง' ที่ต่างก็ 'ช่วยกันสอดส่องดูแล' … 'ความผิดพลาด' ก็จะไม่มี
  •  
  • 'ความสมัครสมานสามัคคี' ประหนึ่ง 'เกลียวเชือก' ที่ทุกฝ่ายให้ 'การเสริมส่งกัน' อย่าง 'แน่นเหนียว' 'ความเจริญก้าวหน้า' และ 'ความสำเร็จ' ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'การพึ่งพาอาศัยกัน' ของทุกๆ ฝ่ายที่ 'ประสานสัมพันธ์กัน' เหล่านั้น
  •  
  • 'ความไม่คงเส้นคงวา' เหมือนฝนที่เดี๋ยวก็โปรยปราย เดี๋ยวก็แล้งร้าง ย่อมทำให้ 'หลักปฏิบัติที่ควรจะยึดถือ' กลายเป็น 'หลักปฏิบัติที่ผิดเพี้ยน' … ประหนึ่ง 'ภรรยาที่คุ้มดีคุ้มร้าย' หรือเหมือนดั่ง 'ดวงจันทราที่เสี้ยวบ้างเต็มบ้าง' … ต่อให้เป็น 'ยอดคน' ที่แม้จะ 'เก่งกาจ' ปานใด แต่หากยังฝืน 'ดันทุรัง' ต่อไปด้วยอาการเยี่ยงนั้น ย่อมประสบกับความหายนะ


 

The Organization Code :



'การสั่งสม' คือใช้ 'การเงิน' ชี้นำ 'นโยบาย', ภายใน-ภายนอก แข็งขัน (⚌), บริหารอย่างระมัดระวัง (⚍)

การดำเนินงานให้ลุล่วงอย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' นั้น สำคัญที่ต้องอาศัย 'การรวบรวมสั่งสม' อย่าง 'ต่อเนื่อง' ต้องมี 'ความรอบคอบ' ใน 'การบริหารจัดการ' เพื่อจะไม่ต้อง 'สิ้นเปลืองทรัพยากร' ไปกับภารกิจที่ไม่ก่อ 'คุณประโยชน์' ต้องรู้จัก 'ถนอมรักษาศักยภาพ' แห่งตนให้มุ่งไปใน 'แนวทาง' และ 'ทิศทาง' ที่นำไปสู่ 'เป้าหมาย'

  •  
  • ต้องมี 'ความมุ่งมั่น' และ 'เน้นย้ำ' อยู่บนพื้นฐานแหล่ง 'หลักการที่ถูกต้อง' ของตนเอง มี 'ความแน่วแน่มั่นคง' โดยไม่เกิด 'ความวอกแวกโลเล' จน 'เฉไฉ' ออกไป 'นอกลู่นอกทาง' เพียงเพราะ 'สิ่งฉาบฉวย' ที่ 'ไร้แก่นสาร'
  •  
  • ต้องดำเนินงานด้วย 'ความมีสติ' ในการ 'ยั้งคิด' และ 'ย้ำทำ' แต่สิ่งที่เป็น 'คุณประโยชน์' ต่อ 'เป้าหมาย' และต้อง 'หมั่นทบทวนตรวจสอบ' การปฏิบัติงาน 'อย่างสม่ำเสมอ' เพื่อให้ทุกๆ ขั้นตอนเป็นไปตาม 'แนวทาง' และ 'ทิศทาง' ที่กำหนดเอาไว้
  •  
  • ต้องมี 'การประสานงาน' และดำเนินการอย่าง 'สัมพันธ์สอดคล้องกัน' เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'คงเส้นคงวา' … 'ความผูกพัน' ที่ปราศจาก 'การประสานสัมพันธ์' ย่อมไม่อาจนับเป็น 'หลักประกัน' แห่ง 'ความสำเร็จ' ได้
  •  
  • 'ความไว้วางใจ' ซึ่งกันและกัน ย่อมส่งผลให้เกิด 'ทัศนคติ' ที่ดีต่อกัน อันจะช่วยให้บรรดา 'ความขัดแย้ง' หรือ 'ความบาดหมาง' ต่างๆ ค่อยๆ เบาบางลง และจะกลายสภาพเป็น 'การให้ความร่วมมือ' และ 'การช่วยกันสอดส่องดูแล' เพื่อช่วยกัน 'ประคับประคอง' ให้ 'การปฏิบัติงาน' ดำเนินไปตาม 'แนวทาง' และ 'ทิศทาง' ที่ถูกต้อง
  •  
  • 'ความสมัครสมานสามัคคี' จะต้องมีความเหนียวแน่นเหมือนดั่ง 'เกลียวเชือก' ที่ขมวดรวม 'เส้นใยเล็กๆ' ให้กลายเป็น 'เส้นเชือก' ที่ 'แข็งแรง' … 'ความเจริญก้าวหน้า' และ 'ความสำเร็จ' ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'ความปรองดอง' และ 'ความร่วมมือร่วมใจกัน' ของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  •  
  • การปฏิบัติงานอย่าง 'ไม่คงเส้นคงวา' เต็มไปด้วย 'ความวอกแวกโลเล' เดี๋ยวทำเดี๋ยวหยุดเหมือนไม่มี 'หลักการ' หรือ 'เป้าหมาย' ที่ชัดเจน แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะมี 'ศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ที่เพียบพร้อมเพียงใดก็ตาม ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสูญเสีย'


ในแง่ของ 'ภาพสัญลักษณ์' นั้น 'การสั่งสม' หรือ Little Accumulation (䷈) จะประกอบด้วย CFO (☴) ซึ่งก็คือสัญลักษณ์แทน 'ฝ่ายการเงิน' เป็น 'ฝ่ายชี้นำ' โดยที่มี CEO (☰) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทน 'ฝ่ายนโยบาย' เป็นผู้ให้ 'การสนับสนุน' อันเป็นลักษณะของ 'การใช้นโบายทางการเงินชี้นำทิศทางของนโยบายองค์กร' ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เนื่องจาก 'การเงิน' เปรียบเสมือน 'ลมหายใจ' ขององค์กรที่จะปล่อยปละละเลยจนเกิด 'อาการติดขัด' ใดๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาด …

ดังนั้น ทั้ง 'ระดับนโยบาย' และ 'ระดับปฏิบัติการ' จึงจำเป็นต้องมี 'ความเข้มงวดกวดขัน' (⚌) เป็นพิเศษ เพื่อจะช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' แม้แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะส่ง 'ผลกระทบ' ลุกลามใหญ่โตจน 'พังพินาศ' ไปทั่วทั้งระบบได้ … ทั้งนี้ 'ระดับบริหาร' ก็จะต้องทำหน้าที่ 'ประสานงาน' (⚍) โดยต้อง 'สนองตอบ' ต่อ 'ระดับนโยบาย' อย่างเคร่งครัด (⚊) แต่ก็ต้องคอย 'ปรับปรุง' ยุทธวิธีในการบริหาร (⚋) ให้ 'สอดคล้อง' กับ 'สภาพความเป็นจริง' ของปัจจัยภายนอกที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาด้วย