Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十二卦 : 賁

賁 : 山火賁 ‧ 艮上離下

賁 : 亨‧小利有所往‧

  • 初九 : 賁其趾‧舍車而徒‧
  • 六二 : 賁其須‧
  • 九三 : 賁如濡如‧永貞吉‧
  • 六四 : 賁如皤如‧白馬翰如‧匪寇婚媾‧
  • 六五 : 賁于丘園‧束帛戔戔‧吝‧終吉‧
  • 上九 : 白賁‧無咎‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และปัญญา สดชื่น (⚍) กายา กระชับรัดกุม (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' และ 'แผนงาน' มี 'ความเด็ดเดี่ยว' และ 'มั่นคง' (⚍), 'ฝ่ายปฏิบัติการ' มีความ 'แข็งขัน' และ 'คงเส้นคงวา' (⚎)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความละเอียดประณีต, สุมไฟใต้ขุนเขา



ความหมายของชื่อเรียก : Elaborating : ความละเอียดประณีต


อักษรที่ใช้เป็นชื่อของบทนี้ก็คือ 賁 ซึ่งโดยปรกติจะอ่านว่า bì (ปี้) มีที่มาจากการผสมอักษร 卉 (huì, ฮุ่ย) ที่หมายถึง 'หญ้า' หรือ 'พืชต้นเล็กๆ' กับอักษร 貝 (bèi, เป้ย) ที่ใช้เรียก 'เปลือกหอย' ชนิดหนึ่ง (น่าจะเป็น 'หอยเบี้ย') ซึ่งในสมัยโบราณใช้เป็น 'เครื่องประดับ' และยังใช้เป็น 'สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า' หรือ 'เงินตรา' นั่นเอง เนื่องจาก 'ความสวยงาม' และ 'ความมีค่า' ของมันในลักษณะของ 'เครื่องประดับ' อันเป็นที่นิยมในยุคสมัยหนึ่งของสังคม ... 賁 (bì, ปี้) ในความหมายทั่วๆ ไปจึงหมายถึง 'สวยงาม', 'ประดับประดา', 'ตกแต่ง' ซึ่งก็รวมไปถึง 'หรูหรา', และ 'สง่างาม' ...

สำหรับ 賁 (bì, ปี้) ที่ใช้ในความหมายของ 'การประดับประดา' นั้นก็จะแฝงอาการของ 'การประดิดประดอย' อยู่ด้วย จึงทำให้ 賁 (bì, ปี้) เมื่อใช้เป็นคำกริยาจะสามารถหมายถึง 'การดำเนินงานด้วยความละเอียดถี่ถ้วน และ ด้วยความแน่วแน่มั่นคง' เพื่อให้ภาระกิจหนึ่งๆ มี 'ความคืบหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป' ... ไม่เร่งเร้า แต่ไม่หยุดหย่อน ... ซึ่งผู้ที่จะกระทำการอย่างนั้นก็จะต้องอาศัยทั้ง 'ความเด็ดเดี่ยว', 'ความกล้าหาญ', และ 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'ไม่ยอมย่อท้อ' ต่ออุปสรรคนาๆ ประการ ... นั่นก็อาจจะเป็นที่มาของอีกความหมายหนึ่งของ 賁 (bì, ปี้) ที่เวลาออกเสียงว่า bēn (เปิน) จะแปลว่า 'กล้าหาญ', 'เด็ดเดี่ยว' ได้ด้วย

หลายตำราแปลชื่อบทนี้ไปในลักษณะที่เกี่ยวกับ 'ความสวยงาม', 'การประดับประดา' หรือ 'ความงามสง่า' ??!! ... แต่ผมกลับมองว่าชื่อบทนี้น่าจะหมายถึง 'การรุกคืบ' อย่าง 'มีระบบระเบียบแบบแผน' และ 'เป็นขั้นเป็นตอน' อย่าง 'คงเส้นคงวา' มากกว่า ... เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากความหมายของคำว่า 賁 (bì, ปี้) ตามที่เล่าไปแล้วข้างต้น ... อีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นเรื่องของ 'ความต่อเนื่อง' กับบทที่ยี่สิบเอ็ดที่เอ่ยถึง 'การอดกลั้น' ซึ่งควรจะต่อด้วย 'การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป' โดย 'ไม่เร่งเร้าหักโหม' ... และเหตุผลประการสำคัญก็คือ นี่คือบทที่จะต้องสัมพันธ์กับวรรคที่สองของบทที่สอง, และความหมายที่ขยายความไว้ในบทที่สิบ ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 履 (lǚ, หลฺวี่) (Accomplishing, การสำเร็จประโยชน์)

ถ้อยคำที่บันทึกไว้ในวรรคที่สองของบทที่สองก็คือ 直方大不習無不利 (zhí fāng dà bù xí wú bù lì, จื๋อ ฟัง ต้า ปู้ ซี๋ อู๋ ปู้ ลี่) ซึ่งผมเลือกที่จะแปลไว้ว่า 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในการกระทำนั้นๆ โดยไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง หรือไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ เนื่องเพราะคุณงามความดีย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น'

ส่วนถ้อยคำที่บันทึกไว้ในบทที่สิบโดย King Wen ก็คือ 履虎尾不咥人亨 (lǚ hǔ wěi bù dié rén hēng, หลฺวี่ หู่ เหฺว่ย ปู้ เตี๋ย เญิ๋น เฮิง) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทเจ้าปัญหาที่ผมแปลไว้ไม่เหมือนกับใครเลยว่า 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดในการดำเนินงานทุกอย่างตามหลักแห่งธรรม (履虎尾) โดยไม่มีความคิดที่จะข่มเหงรังแก หรือไม่เหยียบย่ำทำร้ายผู้อื่นให้ด้อยคุณค่าลงไป (不咥人) ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนาอย่างราบรื่น (亨)' ... ในขณะที่อีกหลายๆ ตำรามักจะ 'ตีความ' ให้ถ้อยคำเหล่านั้นหมายถึง 'มีความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด' เพราะกำลัง 'เดินเหยียบหางเสือ' อยู่ ... :P ... ซึ่งก็ไม่ถึงกับทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปจาก 'ความไม่เร่งเร้าหักโหม' หรือ 'ความไม่ดันทุรัง' ดังที่ปรากฏในวรรคที่สองของบทที่สองมากมายนัก ... ;)

โดยลำดับของเรื่องราวเท่าที่เล่าเรียงกันมาดังนี้ ความหมายของ 賁 (bì, ปี้) จึงยากที่จะไปเกี่ยวข้องกับ 'ความสวยงาม', 'การประดับประดา', หรือ 'ความงามสง่า' อย่างตรงๆ ตัวตามความหมายของตัวอักษรในยุคปัจจุบัน ยิ่ง 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ที่ใช้สัญลักษณ์ของ 'ไฟ' (☲) สุมอยู่ใต้ 'ภูเขา' (☶) ก็ยิ่งชัดเจนว่า มันเป็นเรื่องของ 'การสั่งสมพลังงาน' ไม่ใช่เรื่องของการส่องสปอตไลท์ไปที่ภูเขาเพื่อเป็น 'การประดับประดา' อย่างที่มักจะเชื่อกันอย่างนั้น ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨小利有所往
hēng xiǎo lì yǒu suǒ wǎng
เฮิง เสี่ยว ลี่ โหฺย่ว สั่ว หฺวั่ง


ดูเหมือนไม่มีคำใหม่เลยในวรรคนี้ โดย 所 (suǒ, สั่ว) เคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'สถานที่', 'สถาบัน' ก็ได้ ; สามารถแปลเป็น 'ที่พักอาศัย' หรือใช้เป็น 'หน่วยนับ (สำหรับที่พักอาศัย)' ก็ได้ ; แปลว่า 'เหตุผล', 'สาเหตุ' แล้วก็เลยกลายเป็นคำกริยาช่วยที่ใช้แปลงรูปประโยคให้เป็น passive voice ในความหมายว่า 'มีสาเหตุมาจาก' ก็ได้ ; ใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับ 'นี้' (this), 'นั้น' (that) ก็ได้ ; หรืออาจจะใช้ในลักษณะเดียวกับ if เป็น 'ถ้าหากว่า' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'เท่าที่มี', 'เท่าที่เป็นไปได้', หรือ 'เท่าที่อนุญาต' มันเลยสามารถแปลว่า 'ทั้งหมด' แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มากมาย', 'หลากหลาย' ได้อีกต่างหาก ... ถ้อยคำเต็มๆ สำหรับ 所 (suǒ, สั่ว) ในวรรคนี้น่าจะหมายถึง 所以 (suǒ yǐ, สั่ว อี่) ซึ่งมีความหมายคล้ายๆ กับ 'ผลลัพธ์' หรือ 'ผลสรุป' ที่เกิดขึ้นโดย 'เหตุปัจจัยที่เหมาะสม' ของมัน

ส่วนคำว่า 小利 (xiǎo lì, เสี่ยว ลี่) นี่กลับกลายเป็นถ้อยคำเจ้าปัญหาขึ้นมา เพราะตำราที่แปลให้ 賁 (bì, ปี้) สื่อไปในเรื่องของ 'ความสวยความงาม' ก็จะแปลคำนี้ให้เป็น 'การประดับประดาเล็กๆ น้อยๆ' ในลักษณะที่เป็น 'การแสดงจริตจะก้านนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นพิธี' เพื่อไม่ให้ทุกอย่างดู 'กระด้าง' จนเกินไป ... อ่านแล้วเหมือน King Wen สอนให้ใช้มาตรการ 'ผักชีโรยหน้า' ยังไงก็ไม่รู้แฮะ !!? ... :D ... แต่ผมกลับพิจารณาให้คำว่า 小利 (xiǎo lì, เสี่ยว ลี่) ถูกมองแยกออกจากกันเป็นสองคำคือ 小 (xiǎo, เสี่ยว) กับ 利 (lì, ลี่) ... โดย 小 (xiǎo, เสี่ยว) ในที่นี้ก็คือ 小心 (xiǎo xīn, เสี่ยว ซิน) ที่หมายถึง 'ระมัดระวัง', 'ละเอียดถี่ถ้วน' ในขณะที่ 利 (lì, ลี่) ก็คือ 'ความมุ่งมั่น', 'ความทุ่มเท' และ 'ความเฉียบขาด' ... 小利 (xiǎo lì, เสี่ยว ลี่) ในความหมายที่ผมมองจึงหมายถึง 'ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างระมัดระวัง' ... ไม่เกี่ยวกับ 'ผักชีโรยหน้า' แต่ประการใดทั้งสิ้น ... ;)

จากความหมายของ 賁 (bì, ปี้) ตามที่ผมเล่าไปแล้วนั้น เราจะเห็นว่ามันมีทิศทางที่สอดคล้องกับคำอธิบายของ King Wen ที่บันทึกขยายความไว้คือ 'การดำเนินงานเพื่อพัฒนาให้เกิดความคืบหน้า (亨) ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างระมัดระวัง (小利) ย่อมปรากฏผลตอบสนองที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยของมัน (有所往) เสมอ' ... เรียกว่าถ้าไม่ทุ่มเท ผลลัพธ์ก็จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ; ถ้าไม่มีความระมัดระวัง ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย หรือต้องประสบกับอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อน

ถ้าเราจับเนื้อความของ King Wen ไปเรียงต่อกับบทที่แล้ว เราก็จะได้วลีที่เขียนแบบพีชคณิตว่า 亨 (利用獄 ‧ 小利有所往) โดยมีความหมายว่า 'การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจน (亨) จะต้องมีความเฉียบขาด (利) และบังคับใช้ (用) กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด (獄) โดยจะต้องดำเนินการด้วยความทุ่มเทอย่างระมัดระวัง (小利) จึงจะประสบผลตอบสนองที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยของมัน (有所往)' ... ตรงนี้ก็เหมือนกับเป็นการเพิ่มเงื่อนไขของ 'เหตุปัจจัย' เข้าไปอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าไม่เข้มงวดกวดขันในเรื่องของระบบระเบียบ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะไม่ชัดเจนจนยากแก่การตรวจสอบประเมินผล และไม่สามารถที่จะระบุได้ว่า ความสำเร็จนั้นๆ เกิดขึ้นจากความโชคดี หรือเพราะความสามารถที่แท้จริง ... ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

賁其趾舍車而徒
bì qí zhǐ shè chē ér tú
ปี้ ชี๋ จื่อ เษ้อ เอ เอ๋อ ทู๋


趾 (zhǐ, จื่อ) เล่าไปในบทที่แล้วว่าหมายถึง 'เท้า', 'หัวแม่เท้า', หรือว่า 'รอยเท้า' ซึ่งบางทีก็อาจจะหมายถึง 'ร่องรอย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ฐานราก' ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย ... โดยในบทที่แล้วให้ความหมายเป็นเชิงสัญลักษณ์ของ 'การก้าวเดิน' หรือ 'การดำเนินงาน'

舍 อ่านว่า shè (เษ้อ) แปลว่า 'ห้องพัก', 'พักพิง', 'พักอาศัย' หรือ 'ที่พักแรม' ที่มีขนาดเล็กๆ เช่น 'กระท่อม' หรืออาจจะเป็นเพียง 'เพิง' เพื่อใช้หลบแดดหลบฝนเท่านั้น ; มันจึงมีความหมายในลักษณะของ 'ความนอบน้อม' ที่ผู้เยาว์ หรือผู้น้อยพึงมีต่อผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย ; และยังมีความหมายเหมือนกับ 'หลบ' หรือ 'ยอมจำนน' ได้เหมือนกัน

ย้อนเล่าคำว่า 車 (chē, เอ) อีกครั้งนะครับ ปรกติมันก็แปลว่า 'รถ' ไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยคน, ด้วยสัตว์, หรือด้วยกำลังกลใดๆ เราก็เรียกว่า 車 ด้วยกันทั้งหมดนั่นแหละ ซึ่งดูเหมือนว่าจะแปลเป็นอย่างอื่นได้ยากมาก ... แต่ ... คำว่า 'รถ' ไม่ใช่คำแปลของ 'รถ' นึกออกมั้ยครับ ;) คำแปลจริงๆ ของ 車 (chē, เอ) คือ 'ยานพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนที่บนบก' หรือ 'อุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยล้อและเพลา' นี่คือ 'คำนิยาม' ของ 車 (chē, เอ) ตามพจนานุกรมทั่วๆ ไป จึงทำให้มันสามารถแผลงเป็น 水車 ซึ่งแปลว่า 'กังหันน้ำ' และสามารถแปลว่า 'การหมุน' หรือ 'วงล้อ' ก็ยังได้อีกด้วย ... และตรงนี้เองที่ผมมองว่า 大車 ที่เห็นในวรรคที่สองของบทที่สิบสี่อาจจะหมายถึง 'ล้ออันใหญ่' หรือ 'ล้ออันยิ่งใหญ่' ... ซึ่งเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' อาจจะกำลังเอ่ยถึง 'ธรรมจักร' หรือ 'วงล้อแห่งธรรม' !!!!

徒 อ่านว่า tú (ทู๋) แปลว่า 'เดินเท้า', 'ก้าวเดิน', 'เรียบง่าย' ; แต่บางครั้งก็แปลว่า 'ร้าง', 'ว่างเปล่า' ซึ่งน่าจะแผลงมาจาก 'ความเรียบง่าย' หรือ 'ความไม่มีอะไรเลย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ผู้ติดตาม', 'ลูกศิษย์', 'คนรับใช้', ซึ่งก็คงจะแผลงมาจาก 'ความว่างเปล่าทางความรู้' ; แต่ในแง่ของ 'ความว่างเปล่าจากความดี' ก็คงจะแผลงให้ 徒 (tú, ทู๋) แปลว่า 'คนเลว', 'คนต่ำทราม' ไปเลย ซึ่งก็ส่งผลให้มันสามารถแปลว่า 'นักโทษ', 'ผู้ที่ได้รับโทษ', หรือ 'การลงโทษ' ไปด้วย

ถ้าว่ากันตามตัวอักษรที่มีคำว่า 趾 (zhǐ, จื่อ) กับ 徒 (tú, ทู๋) ที่มีความหมายเกี่ยวกับ 'เท้า' และ 'การเดินด้วยเท้า' ... คำว่า 車 (chē, เอ) ก็คงจะแปลว่า 'รถ' หรือ 'ยานพาหนะ' ... ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะประมาณว่า 'หากมีความประณีตละเอียดอ่อน (賁) ต่อทุกๆ ย่างก้าวที่ดำเนินไป (其趾) ก็พึงหลีกเลี่ยง (舍) การใช้ยานพาหนะ (車) เพื่อจะ (而) ย่ำเท้าก้าวเดิน (徒) อย่างระมัดระวัง' ... ผมก็มองว่านี่เป็นความหมายที่น่าสนใจอยู่ เพราะมันคล้ายกับ 'จิวกง' กำลังแนะนำว่า 'การดำเนินงาน' ด้วยความ 'ละเอียดประณีต' และต้องใช้ 'ความระมัดระวัง' นั้น พึงเน้นที่การดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกับ 'การก้าวเท้าเดิน' ไปทีละก้าวๆ ไม่ใช่มัวแต่ห่วงพะวงถึง 'การใช้ตัวช่วย' หรือการเสาะหา 'ทางลัด' เพื่อจะทำให้ทุกอย่างเสร็จๆ ไปอย่างรีบลวก ซึ่งในวลีนี้ได้เปรียบเปรยกับ 'การใช้ยานพาหนะ' ที่แม้ว่าจะเดินทางได้ 'รวดเร็ว' ทั้งยัง 'สะดวกสบาย' กว่า 'การเดินเท้า' แต่รายละเอียดต่างๆ ที่ได้รับจาก 'ประสบการณ์ตรง' ซึ่งจะฝังรากลึกลงไปจนกลายเป็น 'ภูมิปัญญา' อย่างถาวรนั้น ย่อมมีระดับของ 'ความลึกซึ้ง' ที่แตกต่างกันออกไป ...

แต่ถ้าสมมุติว่าผม 'ตีความ' ให้ 車 (chē, เอ) ในที่นี้หมายถึง 'วงล้อแห่งธรรม' เหมือนกับในบทที่สิบสี่ล่ะ ??!! ... ความหมายของวรรคนี้ก็จะเปลี่ยนเป็น 'ความประณีตละเอียดอ่อน (賁) ต่อทุกๆ ย่างเท้าที่ก้าวเดิน (其趾) คือการน้อมรับ (舍) ในหลักปฏิบัติแห่งธรรม (車) เยี่ยง (而) ศานุศิษย์ผู้ติดตาม (徒)' ... ซึ่งความหมายนี้ก็จะไปสอดรับกับวลีของ King Wen ในบทที่สิบที่ว่า 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดในการดำเนินงานทุกอย่างตามหลักแห่งธรรม (履虎尾) โดยไม่มีความคิดที่จะข่มเหงรังแก หรือไม่เหยียบย่ำทำร้ายผู้อื่นให้ด้อยคุณค่าลงไป (不咥人) ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนาอย่างราบรื่น (亨)' ...

แล้วถ้าเรามองให้ 徒 (tú, ทู๋) หมายถึง 'ความว่าง' ซะอีกตัวหนึ่ง ความหมายของ 舍車而徒 (zhǐ shè chē ér tú, เษ้อ เอ เอ๋อ ทู๋) ก็จะกลายเป็น 'อาศัยหลักปฏิบัติแห่งธรรมเพื่อนำไปสู่ความว่าง' !!?? ... ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ผมเคย 'ถอดความ' ให้วรรคที่สองของบทที่สองมีความหมายว่า 'แม้ว่าหลักแห่งความซื่อสัตย์ และความยุติธรรมจะเป็นหลักใหญ่ใจความที่จะต้องยึดถือ (直方大) แต่หากไม่รู้จักการปล่อยวาง ไม่รู้จักบ่มเพาะ (不習) จิตใจให้มีความว่าง (無) ย่อมนำไปสู่ความผิดพลาดและล้มเหลว (不利) ได้ในภายหลัง' ... อันเกิดจากการเล่นกับวรรคตอนของวลีจนทำให้ 習無 (xí wú, ซี๋ อู๋) มีความหมายว่า 'ฝึกฝนให้จิตใจปล่อยวางจนว่างเปล่า' ซึ่งสอดรับกันพอดีกับ 舍車而徒 (zhǐ shè chē ér tú, เษ้อ เอ เอ๋อ ทู๋) ในวรรคนี้ ... ;)

เมื่อประกอบจิ๊กซอว์ของถ้อยคำต่างๆ ลงไปแล้ว ความหมายของวรรคนี้จึงหมายถึง 'ความประณีตละเอียดออ่อน (賁) ต่อทุกๆ ย่างก้าวที่ดำเนินไป (其趾) คือการน้อมรับ (舍) ในหลักปฏิบัติแห่งธรรม (車) เพื่อโน้มนำจิตใจไปสู่ (而) การละวางจนวางเปล่า (徒) จากมิจฉาทิฎฐิทั้งปวง' ... ซึ่งความหมายนี้ก็จะประมวลความหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น 'ความไม่ดันทุรังอย่างมืดบอด' (不習), 'ความระมัดระวังตน' (履虎尾), 'ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น' (不咥人), ตลอดไปจนถึงเรื่องของ 'ความไม่ประมาท' (小心) ที่ King Wen เอ่ยถึงในบทนี้ด้วยคำว่า 小利 (xiǎo lì, เสี่ยว ลี่) ที่ผมให้คำอธิบายเป็น 'ความทุ่มเทอย่างระมัดระวัง' ด้วย ... เพราะฉะนั้น เอาความหมายหลังสุดนี่ก็แล้วกัน ... นะ !! ... ;)

 

สอง หยิน :

賁其須
bì qí xü
ปี้ ชี๋ ซฺวี


須 อ่านว่า xü (ซฺวี) มาจากการผสมอักษร 頁 ที่สมัยหนึ่งอ่านว่า xié (เซี๋ย) และเคยหมายถึง 'ศีรษะ' หรือ 'ใบหน้า' แต่ปัจจุบันมักจะออกเสียงว่า yè (เยี่ย) และแปลกันว่า 'หน้าหนังสือ' หรือ 'แผ่นกระดาษ' ... ส่วนขีดสามขีดทางด้านซ้ายมือของ 須 (xü, ซฺวี) คือ 彡 (shān / xiǎn, ซัน / เสี่ยน) ที่แปลว่า 'ขน' ความหมายดั้งเดิมของ 須 (xü, ซฺวี) จึงหมายถึง 'หนวด' หรือ 'เครา' ซึ่งเป็น 'ขนที่อยู่บนใบหน้า' ประเภทหนึ่ง ; แต่ความหมายอื่นๆ ของ 須 (xü, ซฺวี) จะแปลว่า 'จังหวะเวลา', 'เสี้ยวเวลา' หรือ moment, บางทีก็แปลว่า 'รอคอย' หรือ 'หยุดยั้ง' ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าความหมายแบบนี้จะแผลงมาจากลักษณะของ 'รูขุมขน' ที่เป็น 'จุดเล็กๆ บนผิวหนัง' รึเปล่า หรืออาจจะมาจากลักษณะของ 'เส้นขนเล็กๆ' ที่แผลงมาเป็นความหมายของ 'เศษเสี้ยวของวินาที' ก็ไม่แน่อีกเหมือนกัน ; แต่ในบางกรณีก็ใช้ในความหมายเดียวกับ 需 (xü, ซฺวี) ที่แปลว่า 'ต้องการ', 'จำเป็น', หรือ 'ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้' ด้วย

เมื่อดูจากความหมายรวมๆ ของ 須 (xü, ซฺวี) แล้ว ประเด็นแรกที่ผมจะตัดออกไปทันทีเลยก็คือ 須 (xü, ซฺวี) ที่ใช้ในความหมายของ 'หนวด' หรือ 'เครา' เพราะมันคงเข้ากันไม่ได้กับความหมายโดยรวมของบทนี้ โดย 須 (xü, ซฺวี) ในที่นี้น่าจะหมายถึง 'สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้' หรือไม่งั้นก็ต้องเป็น 'เสี้ยวเวลา' (moment) ซะมากกว่า ซึ่งจะทำให้ความหมายของวลีนี้หมายความว่า 'พึงใช้ความละเอียดประณีต (賁) กับทุกองค์ประกอบที่มีความสำคัญ (其須)' ... หรือไม่อย่างนั้นก็จะต้องหมายถึง 'พึงใช้ความละเอียดประณีต (賁) ในทุกๆ จังหวะเวลา (其須) ที่ดำเนินงาน' ... เรียกว่ามีการซ้อนความหมายของ 'การใส่ใจทุกรายละเอียด' กับ 'การใส่ใจตลอดเวลา' เอาไว้ในถ้อยคำเดียวกันนั่นเอง ... ซึ่งจะเป็นเสริมความหมายให้วรรคแรกมีความหนักแน่นที่มากขึ้น เพราะนอกจากจะต้อง 'ใส่ใจในการดำเนินของตน' (賁其趾) แล้ว ก็จะต้อง 'ใส่ใจในองค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น' (賁其須) ด้วย ในขณะเดียวกันก็จะต้อง 'ใส่ใจต่อเงื่อนไขของเวลา' (賁其須) ให้มี 'ความพอเหมาะพอดี' ไม่ใช่เอาแต่ 'ละเอียดประณีต' จนกลายเป็น 'หยุมหยิมจุกจิก' ให้เสียงาน ... การที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 須 (xü, ซฺวี) ซึ่งแฝงความหมายของ 需 (xü, ซฺวี) ที่แปลว่า 'จำเป็น' เอาไว้ด้วยนั้น จึงน่าจะมีส่วนของ 'ความตั้งใจ' ที่จะสื่อให้ระลึกไว้เสมอว่า 'การดำเนินงานทุกอย่างแม้ว่าจะต้องใช้ความละเอียดประณีตอย่างตั้งอกตั้งใจก็ตาม แต่ก็ควรจะใช้ความประณีตบรรจงเฉพาะเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น' ไม่ใช่ 'จุกจิกหยุมหยิม' ไปหมดซะทุกเรื่อง !!??

 

สาม หยาง :

賁如濡如永貞吉
bì rú rú rú yǒng zhēn jí
ปี้ ญู๋ ญู๋ ญู๋ หฺย่ง เจิน จี๋


เจอ ญู๋ เข้าไป 3 พยางค์ติดกันเลยแฮะวรรคนี้ ... :P ... 濡 (rú, ญู๋) ตัวนี้แปลว่า 'ชื้น', 'เปียก', หรือ 'นิ่ม', 'อ่อนนุ่ม' ; ซึ่งบางทีก็หมายถึง 'จุ่มลงในน้ำ', 'แช่น้ำ', หรือ 'ทำให้เปียก' และ 'ทำให้นิ่ม' ; บางครั้งยังใช้ในความหมายที่ 'ทำให้อ่อนหยุ่น' โดยอาศัยความร้อน จึงทำให้ 濡 (rú, ญู๋) สามารถใช้ในความหมายของ 'ทำให้อบอุ่น', 'ทำให้ร้อน', หรือ 'ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น' ได้ด้วย

ความหมายของวรรคนี้น่าจะแปลตรงๆ ตัวได้ว่า 'ความประณีตละเอียดอ่อน (賁) ย่อมคล้ายดั่ง (如) การดัดของแข็งให้อ่อนหยุ่น (濡) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย (如) การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง (永) อย่างเป็นขั้นเป็นตอน (貞 คือมีระเบียบวินัย) จึงจะประสบผลสำเร็จ (吉)'

ผมอยากชวนให้สังเกตที่อักษร 濡 (rú, ญู๋) ในวรรคนี้อีกซักนิดหนึ่งนะครับ อักษรตัวนี้มีการผสมกันของ 水 (shuǐ, ษุ่ย) ที่หมายถึง 'น้ำ' กับ 需 (xü, ซฺวี) ที่แปลว่า 'ต้องการ', 'จำเป็น' ซึ่งก็คือ 需 (xü, ซฺวี) ตัวเดียวกับที่ซ่อนความหมายไว้ใน 須 (xü, ซฺวี) ของวรรคที่สอง อันเป็นการตอกย้ำว่า 賁 (bì, ปี้) คือ 'การทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น' ไม่ใช่ 'การประดับประดา' หรือ 'การแต่งเติม' ให้ 'ดูดี' หรือ 'ดูสวยงาม' ในลักษณะของ 'ผักชีโรยหน้า' แต่ประการใดทั้งสิ้น !!

 

สี่ หยิน :

賁如皤如白馬翰如匪寇婚媾
bì rú pó rú bái mǎ hàn rú fěi kòu hūn gòu
ปี้ ญู๋ พ๋อ ญู๋ ไป๋ หฺม่า ฮั่น ญู๋ เฝ่ย โค่ว ฮุน โก้ว


皤 อ่านว่า pó (พ๋อ) แปลว่า 'สีขาวนวล' มาจากการผสมอักษร 白 (bái, ไป๋) ที่แปลว่า 'สีขาว' กับอักษร 番 (fān/pān, ฟัน/พัน) ที่แปลว่า 'วกกลับ', 'ทำซ้ำ', หรือ 'ตอกย้ำ' แต่บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เป็นชิ้น', 'เป็นผืน', ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'การพับทบไปทบมา' เหมือนกับการ 'ทำซ้ำ' นั่นเอง ... คำว่า 皤 (pó,พ๋อ) จึงมีความหมายคล้ายกับ 'ผืนผ้าขาว' ตามลักษณะของรากศัพท์เดิมของมัน และสามารถหมายถึง 'ผู้เฒ่า' หรือ 'ผู้มีอาวุโส' ซึ่งมี 'ผมขาวโพลนทั้งศีรษะ' โดยความหมายนี้ก็อาจจะแฝงลักษณะของ 'ผู้มีประสบการณ์มาก' ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวซ้ำๆ กันมานานหลายปีก็เป็นไปได้ ... ;) ...

白 อ่านว่า bái (ไป๋) โดยทั่วไปก็แปลว่า 'สีขาว' แต่ความหมายอื่นๆ ก็จะมีตั้งแต่ 'ความกระจ่างแจ้ง', 'ความเข้าใจ', 'บริสุทธิ์', 'หมดจด', 'เรียบง่าย' หรือ 'ธรรมดา' ; แต่ถ้าพิจารณาในแง่มุม 'ปรัชญาห้าธาตุ' แล้ว 'สีขาว' เป็น 'สีของธาตุโลหะ' หรือ 'ธาตุทอง' (คงจำกันได้ว่า 'สีเหลือง' คือ 'สีของธาตุดิน' หรือ 'หยิน') ซึ่งตามวงจร 'วัฏจักรธาตุ' นั้น 'ธาตุโลหะ' เป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'ธาตุดิน' หรือ 'ธาตุดิน' ที่ธาตุที่ก่อให้เกิด 'ธาตุโลหะ' ... ดังนั้น 'สีขาว' อัน 'บริสุทธิ์' จึงหมายถึงผลพวงจาก 'การบำเพ็ญบารมีแห่งหยิน' ... นอกจากนั้นแล้ว 'สีขาว' ก็ยังถือเป็น 'สีประจำทิศตะวันตก' 西 (xī, ซี) ซึ่งเคยเล่าแล้วว่า มันคือ 'ทิศของสิ่งที่ต้องให้ความเคารพ' ที่สะท้อนความหมายของ 'หลักคุณธรรม' เอาไว้ด้วย (ดูบทที่สิบเจ็ด) ...

ส่วน 馬 (mǎ, หฺม่า) แปลว่า 'ม้า' แต่เมื่อใดก็ตามที่ 'พลังแห่งหยิน' สะท้อนถึง 'ความหนักแน่นมั่นคง', 'ความขยันขันแข็ง' หรือ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' เขาก็จะใช้ภาพของ 'ม้า' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' ... คำว่า 白馬 (bái mǎ, ไป๋ หฺม่า) หรือ 'ม้าขาว' ในความหมายเชิงปรัชญาของชาวจีนจึงมีความเกี่ยวพันกับ 'หลักคุณธรรม' อย่างแนบแน่น และถูกเชื่อกันว่า 'ม้าขาว' คือ 'สัตว์มงคล' ที่นำ 'หลักคุณธรรม' มาสู่สังคมของมนุษย์

翰 อ่านว่า hàn (ฮั่น) มีความหมายดั้งเดิมคือ 'ไก่ฟ้า' ต่อมาถูกใช้ในความหมายของ 'ขนยาวๆ แข็งๆ ของนก' ที่ถูกนำมาใช้เป็น 'อุปกรณ์การเขียน' แล้วจึงแผลงมาเป็น 'ภู่กัน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มีความรู้', 'มีความสามารถ' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'การรู้ภาษา', 'การเขียนหนังสือ' หรือ 'การใช้ถ้อยคำ' ; อีกความหมายหนึ่งก็คือ 'การบินขึ้นสูง', หรือ 'การเหินขึ้นฟ้า' ซึ่งก็คงแผลงมาจากความหมายของ 'ขนนก' หรือไม่ก็เกี่ยวกับ 'ความสามารถ' ; แต่ความหมายที่แปลกมากๆ สำหรับ 翰 (hàn, ฮั่น) ก็คือ มันสามารถแปลว่า 白馬 (bái mǎ, ไป๋ หฺม่า) หรือ 'ม้าสีขาว' ได้อย่างตรงๆ ตัวเลยด้วย ??!!

ลำพังแค่ตัวอักษรแค่ไม่กี่ตัวในวรรคนี้ก็สามารถ 'ตีความ' แตกต่างกันออกไปได้อย่างหลากหลายเลยทีเดียว ความหมายแรกที่ว่ากันตามตัวอักษรก็น่าจะประมาณว่า 'ความละเอียดประณีต (賁) คล้ายดั่ง (如) การรักษาความสะอาดของผืนผ้าขาว (皤如) หรือคล้ายตั่งการฝึกสอนม้าธรรมดาๆ ตัวหนึ่งให้เข้าใจภาษา (白馬翰如) ซึ่งไม่ต่างไปจากการแต่งงานที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ (匪寇婚媾)' ...

ก่อนจะไปเล่าถึงความหมายอื่น ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ซักหน่อยก่อน ... ประการแรกเลยก็คือ เราจะเห็นความเป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่ในบทนี้ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนจากโครงสร้างของวลีที่ถูกบันทึกเอาไว้ ... และเมื่อวรรคที่สามมีการเอ่ยถึง 'การค่อยๆ ดัดของแข็งให้อ่อนหยุ่น' ผมก็มองว่าการเอ่ยถึง 'ความรักษาความสะอาดของผืนผ้าขาว' ในวรรคนี้ก็ดูจะเป็นประเด็นที่สมควรแก่เหตุ เพราะ 'ผืนผ้าขาว' (皤) นั้นหากมีรอยตำหนิแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมสามารถถูกสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนทันที ความหมายนี้จึงเป็นการสะท้อนถึง 'ความระมัดระวังในทุกรายละเอียด' ที่ช่วยขยายความให้กับ 'การกระทำอย่างต่อเนื่อง' (永) และ 'การกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน' (貞) ของวรรคที่สามไปพร้อมๆ กัน

ส่วนเรื่องของ 'การฝึกม้า' จาก 'ม้าธรรมดาๆ' (白馬) เพื่อให้กลายเป็น 'ม้าแสนรู้' ที่สามารถสื่อภาษา (翰) กับผู้คนได้นั้น ก็จะสะท้อนถึง 'ความพยายาม' และ 'ความเอาใจใส่' อย่าง 'ทุ่มเท' จริงๆ จึงจะสามารถทำได้สำเร็จ ... ตรงนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงวลีว่า 乘馬班如 (chéng mǎ bān rú, เฌิ๋ง หฺม่า ปัน ญู๋) ที่เคยเล่าไว้ในวรรคที่สองของบทที่สามว่า 'การฝึกม้าที่ยังมีความพยศให้เชื่อฟังคำสั่ง' นั่นแหละ ซึ่งในวลีเดียวกันนั้นก็ต่อท้ายด้วยคำว่า 匪寇婚媾 (fěi kòu hūn gòu, เฝ่ย โค่ว ฮุน โก้ว) เหมือนกับในวรรคนี้ด้วย โดย 'การแต่งงานที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ' (匪寇婚媾) ในบทที่สามถูกขยายความต่อด้วยวลีว่า 女子貞不字十年乃字 (nǚ zǐ zhēn bù zì shí nián nǎi zì, หนฺวี่ จื่อ เจิน ปู้ จื้อ ซื๋อ เนี๋ยน ไหน่ จื้อ) อันหมายถึง 'ฝ่ายหญิงก็ย่อมจะต้องมีความแข็งขืนไม่ยอมรับ (女子貞不字) คุณงามความดีที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีความคงเส้นคงวาเท่านั้น จึงจะสามารถสัมฤทธิ์เป็นดอกผลขึ้นมาได้ (十年乃字)' ... ความคล้ายกันของถ้อยคำดังกล่าวจึงเป็นไปได้ว่า สองวลีที่นำมาเปรียบเทียบกันนี้ น่าจะสะท้อนความหมายที่ไม่แตกต่างกันเลย นั่นก็คือ 'ความพยายามอย่างทุ่มเท'

แต่ถ้าเราจะ 'ตีความ' ให้ถ้อยคำในวรรคนี้มี 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' เราก็จะได้ความว่า 'ความประณีตละเอียด (賁) คล้ายดั่ง (如) การสั่งสมประสบการณ์ตลอดช่วงอายุขัยของผู้เฒ่าผู้แก่ (皤如) หรือประหนึ่งการศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งแตกฉานในหลักแห่งธรรม (白馬翰如) ย่อมไม่อาจรวบรัดแข็งขืนเฉกเช่นเดียวกับการแต่งงานที่ไม่มีความยินยอมพร้อมใจ (匪寇婚媾)' ... ความหมายนี้ก็จะช่วยตอกย้ำ 'ความเป็นขั้นเป็นตอน' หรือ 'ความมีระเบียบวินัย' ของ 貞 (zhēn, เจิน) ในวรรคที่สามให้เด่นชัดยิ่งขึ้นว่า การดำเนินงานทุกๆ อย่างนั้น ล้วนแล้วแต่มีวงจรแห่งวิวัฒนาการที่เหมาะสมของมันเองเสมอ และไม่มีทางที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถใช้วิธีการอันแข็งขืนไปดำเนินการอย่างรีบลวกได้เลย

 

ห้า หยิน :

賁于丘園束帛戔戔吝終吉
bì yǘ qiū yüán shù bó jiān jiān lìn zhōng jí
ปี้ ยฺวี๋ ชิว เยฺวี๋ยน ษู้ ป๋อ เจียน เจียน ลิ่น ง จี๋


丘 อ่านว่า qiū (ชิว) แปลว่า 'โคก', 'เนิน', 'เนินเขา', 'เนินดิน' ; หรืออาจจะหมายถึง 'หลุมฝังศพ' ก็ได้ ; ซึ่งในลักษณะของการสร้าง 'คันดิน' หรือ 'คันนา' ที่ว่านี้ มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'ทุ่ง' หรือ 'ที่นา' ซึ่งมีการทดน้ำเข้าไปเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่ ; และจากลักษณะที่เป็น 'โคก' หรือ 'เนินสูง' นี้ มันจึงสามารถแปลว่า 'สูง', 'ใหญ่' หรือ 'อาณาบริเวณ' ที่มีกำแพง หรือเนินเขาล้อมรอบ ซึ่งก็ทำให้มันแผลงความหมายเป็น 'กว้างขวาง' หรือ 'ใหญ่โต' ได้ด้วย ; แต่บางครั้งคำนี้ก็ถูกใช้ในความหมายว่า 'รกร้าง', 'ว่างเปล่า', ในลักษณะที่เหมือนกับ 'ชนบท' หรือ 'เป็นป่า-เป็นเขา' ไป

園 อ่านว่า yüán (เยฺวี๋ยน) ปรกติแปลว่า 'สวน' ซึ่งส่วนมากจะหมายถึง 'สวนพฤษชาติ' ที่มีทั้งไม้ดอก และไม้ยืนต้นนาๆ ชนิด แต่มันก็สามารถแปลว่า 'ดง' หรือสถานที่ที่มีวัตถุสิ่งของเหมือนๆ กันจำนวนมากก็ได้

束 อ่านว่า shù (ษู้) แปลว่า 'ผูก', 'มัด', 'ถัก' หรือ 'ทอ' ; บางครั้งจึงสามารถแปลว่า 'ควบคุม', 'บังคับ' หรือ 'จำกัด' ได้เหมือนกัน

帛 อ่านว่า bó (ป๋อ) แปลว่า 'ไหม', 'เส้นใย', หรืออาจจะหมายถึง 'ผ้า' หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็น 'ใย' ก็ได้

戔 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'เล็ก', 'แคบ', 'ละเอียด' ; แต่จาก 'ความเล็ก' และ 'ความละเอียด' ที่ว่านี้บางที่ก็ทำให้มันถูกใช้ในความหมายว่า 'เยอะแยะ' ซึ่งออกไปทาง 'ยั้วเยี้ยยุ่บยั่บ' มากกว่าที่จะหมายถึง 'จำนวนมาก' ในลักษณะอื่นๆ

ส่วนคำว่า 吝 (lìn, ลิ่น) ที่ปรกติจะแปลว่า 'ขี้เหนียว', 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย', หรือ 'ที่น่าอดสู' นั้น จริงๆ แล้วมันแฝงความหมายของ 'แน่นหนา', และ 'ยุ่งยาก' หรือ 'ลำบากลำบน', หรือไม่งั้นก็จะออกแนว 'จู้จี้', 'ขี้เลือก' รวมอยู่ด้วย ;)

ความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'ความประณีตสวยงาม (賁) ของ (于) สวนพฤษชาติที่กว้างใหญ่ (丘園) หรือการถักทอผืนผ้าไหมที่ละเอียดงดงาม (束帛戔戔) ล้วนเกิดจากการยอมลำบากลำบน (吝) จึงปรากฏเป็นผลงานชั้นเลิศ (終吉) ขึ้นมาได้' ... การเปรียบเทียบ 'ความประณีตละเอียด' กับ 'การตกแต่งสวนพฤษชาติ' และ 'การถักทอผืนผ้าไหม' ในวรรคนี้ได้ช่วยให้คำว่า 其須 (qí xü, ชี๋ ซฺวี) ที่เห็นในวรรคที่สองมีความหมายในแง่ของ 'ทุกๆ รายละเอียดขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกัน' อย่างเด่นชัดมากขึ้น ... เพราะความสวยงามของสวนพฤษชาติหนึ่งๆ ย่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดที่เล็กหรือใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่ได้รับการจัดวางอย่างลงตัวในทุกๆ รายละเอียดของทั่วทั้งบริเวณ เช่นเดียวกับผืนผ้าไหมที่ประณีตงดงาม ย่อมเป็นผลมาจากคุณภาพของเส้นใยเล็กๆ จำนวนมากมายที่ถูกนำมาถักทอเป็นลวดลายอันวิจิตรบรรจงด้วยความวิริยะอุตสาหะ และด้วยความเอาใจใส่ในทุกๆ ขั้นตอนของผู้ที่ลงมือปฏิบัติเท่านั้น

 

หก หยาง :

白賁無咎
bái bì wú jiù
ไป๋ ปี้ อู๋ จิ้ว


เจอคำว่า 白 (bái, ไป๋) อีกแล้วครับ :) ซึ่งการใช้งานในวรรคนี้จะสามารถ 'ตีความ' ได้หลายความหมายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น 'บริสุทธิ์ใจไม่เสแสร้ง', 'เข้าใจแจ่มแจ้ง' หรือ 明白 (míng bái, มิ๋ง ไป๋) หรือแม้แต่ 'เรียบง่าย' และ 'ตรงไปตรงมา' ... ??!! ... แต่ความหมายจริงๆ ของวลีนี้ก็น่าจะชัดเจนกว่าหากเรานำไปเทียบเคียงกับ 'วลีคู่' ของมันซึ่งก็คือวรรคที่หนึ่งในบทนี้ ... 賁其趾舍車而徒 (bì qí zhǐ shè chē ér tú, ปี้ ชี๋ จื่อ เษ้อ เอ เอ๋อ ทู๋) โดยผมเลือกให้ความหมายไว้ว่า 'ความประณีตละเอียดออ่อน (賁) ต่อทุกๆ ย่างก้าวที่ดำเนินไป (其趾) คือการน้อมรับ (舍) ในหลักปฏิบัติแห่งธรรม (車) เพื่อโน้มนำจิตใจไปสู่ (而) การละวางจนวางเปล่า (徒) จากมิจฉาทิฎฐิทั้งปวง'

ความหมายที่ควรจะเป็นมากที่สุดสำหรับวรรคนี้จึงน่าจะหมายถึง 'ความประณีตละเอียดอ่อนที่ปราศจากมายาคติทั้งปวง (白賁) ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหายที่สมควรแก่คำตำหนิติเตียน (無咎) ใดๆ' ... และเป็นวลีปิดท้ายที่หลอมรวมทั้งหมดของ 'ความประณีตละเอียด' ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น 'ความใส่ใจในทุกๆ ย่างก้าว' (賁其趾), 'ความใส่ใจในทุกรายละเอียด' (賁其須), 'ความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา' (永貞), 'ความไม่แข็งขืนฝืนธรรมชาติ' (皤如), และ 'ความวิริยะอุตสาหะอย่างไม่ย่อท้อต่อความลำบากลำบน' (吝) ... เพราะ 'ความปราศจากมายาคติทั้งปวง' (白) ย่อมนำไปสู่ 'ความไม่ประมาท' โดยไม่ตกอยู่ในอาการ paranoid จน 'จุกจิกหยุมหยิม' ให้ 'เกินกว่าเหตุ' แต่จะมี 'ความละเอียดถี่ถ้วน' ในระดับที่ 'พอเหมาะพอดี' เท่านั้น ... ;)

สำหรับคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในวรรคนี้ ผมเลือกที่จะปิดวลีไว้ด้วยความหมายว่า 'ไม่มีความผิดพลาดที่สมควรแก่คำตำหนิ' ซึ่งเป็นการซ้อนความหมายของ 咎 (jiù, จิ้ว) ทั้งในประเด็นของ 'ความผิดพลาด' กับ 'คำตำหนิ' ไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะขยายความว่า ... 'ความผิดพลาด' ที่ไม่ได้เกิดจาก 'ความประมาท' หรือไม่ได้เกิดจาก 'ความหลงในมายาคติ' ใดๆ ควรจะได้รับการปฏิบัติในฐานะของ 'บทเรียน' ไม่ใช่ในฐานะของ 'ความบกพร่อง' ที่ต้องได้รับ 'การกล่าวโทษ' หรือ 'การตำหนิติเตียน' จากผู้ใด ... เพราะต่อให้ทุกคนทุ่มเท 'ความระมัดระวัง' อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม 'ความผิดพลาด' ก็ยังสามารถเกิดขึ้นจาก 'เหตุปัจจัย' อื่นๆ ที่อยู่ 'นอกเหนือการควบคุม' ได้เสมอ ... 'ความละเอียดประณีต' ใน 'การปฏิบัติงาน' จึงเป็นเพียงแค่ 'การลดปัจจัยเสี่ยง' ต่อ 'ความผิดพลาด' ที่ 'อาจจะเกิดขึ้นได้' เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า 'ข้อจำกัด' อื่นๆ ได้ 'ถูกกำจัด' ไปจนหมดสิ้นแล้ว !!



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ปี้' คือ ความละเอียดประณีต, สุมไฟใต้ขุนเขา

'การดำเนินงาน' เพื่อ 'พัฒนา' ให้เกิด 'ความคืบหน้า' ย่อมต้องอาศัย 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' อย่าง 'ระมัดระวัง' จึงจะปรากฏ 'ผลตอบสนอง' ที่ 'สอดคล้อง' กับ 'เหตุปัจจัย' ต่างๆ อันเนื่องมาจาก 'การดำเนินงาน' นั้น

  •  
  • 'ความประณีตละเอียดออ่อน' ต่อ 'ทุกๆ ย่างก้าว' ที่ดำเนินไป คือ 'การน้อมรับ' ใน 'หลักปฏิบัติแห่งธรรม' เพื่อโน้มนำจิตใจไปสู่ 'การละวาง' จน 'วางเปล่า' จาก 'มิจฉาทิฎฐิ' ทั้งปวง
  •  
  • พึงมี 'ความละเอียดประณีต' กับ 'ทุกองค์ประกอบ' ที่มีความสำคัญ และต้องมี 'ความเอาใจใส่' ใน 'ทุกจังหวะเวลา' ของการดำเนินงานด้วย
  •  
  • 'ความประณีตละเอียดอ่อน' ย่อมคล้ายดั่ง 'การดัดของแข็งให้อ่อนหยุ่น' ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย 'การปฏิบัติงาน' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' ที่ 'ต่อเนื่อง' จึงจะ 'ประสบผลสำเร็จ'
  •  
  • 'ความละเอียดประณีต' ย่อมคล้ายดั่ง 'การการเจริญวัย' ของ 'ผู้เฒ่าผู้แก่' หรือประหนึ่ง 'การศึกษาค้นคว้า' ให้ 'ลึกซึ้งแตกฉาน' ใน 'หลักแห่งธรรม' ซึ่งไม่สามารถ 'รวบรัดแข็งขืน' เฉกเช่นเดียวกับ 'การแต่งงาน' ที่ไม่มี 'ความยินยอมพร้อมใจ'
  •  
  • 'ความประณีตสวยงาม' ของสวนพฤษชาติที่กว้างใหญ่ หรือการถักทอผืนผ้าไหมที่ 'ละเอียดงดงาม' ล้วนเกิดจาก 'ความวิริยะอุตสาหะ' อย่าง 'ลำบากลำบน' จึงปรากฏเป็น 'ผลงานชั้นเลิศ' ขึ้นมาได้
  •  
  • 'ความประณีตละเอียดอ่อน' ที่ปราศจาก 'มายาคติทั้งปวง' ย่อมปราศจาก 'ความผิดพลาดเสียหาย' ที่สมควรแก่ 'การตำหนิติเตียน' ใดๆ


 

The Organization Code :



'ความละเอียดประณีต' คือการใช้ 'ข้อเท็จจริง' (☶) ชี้นำ 'ผลิตภัณฑ์' (☲) ซึ่งต้องอาศัย 'ความละเอียดรอบคอบ' โดยมี 'เป้าหมาย' ที่ 'ชัดเจน' และ 'เปิดกว้าง' ใน 'ระดับนโยบาย' (⚍) ; 'การบริหารงาน' มีขั้นตอนที่ 'เข้มงวด' แต่ 'ไม่ปิดกั้น' (⚍) ; ในขณะที่ 'ฝ่ายปฏิบัติการ' มี 'ความสุขุม' และ 'เอาจริงเอาจัง' (⚎)

'การค้นคว้าวิจัย' (☶) เพื่อ 'การพัฒนาสินค้า' (☲) หนึ่งๆ ขึ้นมานั้น ถือเป็น 'ภาระกิจ' ที่ต้องอาศัยทั้ง 'ความรู้ความชำนาญ' และ 'ความระมัดระวัง' อย่างยิ่งยวด โดยจะต้องใช้ 'ความวิริยะอุตสาหะ' อย่างถึงที่สุด เพื่อจะบรรลุ 'วัตถุประสงค์' ตามที่กำหนดเป็น 'เป้าหมาย' เอาไว้

  •  
  • 'ความละเอียดประณีต' ใน 'ทุกๆ ขั้นตอน' ของ 'การดำเนินงาน' คือ 'หลักปฏิบัติ' ที่จะต้องยึดถือเป็น 'บรรทัดฐาน' ไม่ใช่อาศัยเพียง 'ความพึงพอใจ' ในลักษณะที่เป็น 'ความเชื่อ' หรือ 'ความรู้สึก' ส่วนบุคคล ซึ่งมักจะปนเปื้อน 'ความมีอคติ' มาเป็น 'เกณฑ์ตัดสิน'
  •  
  • จะต้องมี 'ความละเอียดรอบคอบ' ใน 'ทุกๆ รายละเอียด' เฉพาะที่เป็น 'สาระสำคัญ' และจะต้องให้ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'ทุกๆ จังหวะเวลา' ของ 'การปฏิบัติงาน' อย่างสม่ำเสมอ
  •  
  • 'ความละเอียดประณีต' เปรียบได้กับ 'การปรับเปลี่ยนสถานะของสสาร' ซึ่งประกอบด้วย 'เหตุปัจจัย' อันหลากหลาย และมี 'ความสลับซับซ้อน' โดยทุกอย่างย่อมต้องดำเนินไปอย่าง 'ต่อเนื่อง' และ 'เป็นขั้นเป็นตอน' จนกว่าจะ 'บรรลุผล' ในขั้นสุดท้ายตาม 'เหตุปัจจัย' ของมัน
  •  
  • 'ความละเอียดประณีต' ย่อมไม่มี 'หนทางที่ลัดสั้น' คล้ายดั่ง 'การเจริญวัย' ของผู้คนที่ต้องผ่านวันเวลาที่แน่นอนเสมอ ; 'การศึกษาค้นคว้า' เพื่อจะบรรลุถึง 'ข้อเท็จจริง' หนึ่งๆ ก็ย่อม 'ไม่อาจแข็งขืน' ให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการ 'อย่างอำเภอใจ'
  •  
  • สวนพฤษชาติที่ 'สวยงาม' และผืนผ้าไหมที่ถักทออย่าง 'วิจิตรบรรจง' ย่อมเกิดจาก 'ความวิริยะอุตสาหะ' อย่าง 'ไม่ยอมย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ฉันใด 'ความเป็นเลิศ' แห่ง 'ภาระกิจ' หนึ่งๆ ก็ต้องอาศัย 'ความทุ่มเท' และ 'ความละเอียดประณีต' ในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันฉันนั้น
  •  
  • 'ความละเอียดประณีต' ที่ 'ปราศจาก' ซึ่ง 'มายาคติ' และ 'มิจฉาทิฎฐิ' ทั้งปวง ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความไม่ประมาท' และ 'ความไม่วิตกกังวล' จน 'เกินกว่าเหตุอันควร' ... 'ความตระหนักรู้' และ 'ความกระจ่างแจ้ง' ใน 'ภาระกิจ' หนึ่งๆ ที่พึงกระทำ ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ที่สมควรแก่ 'การตำหนิติเตียน' ใดๆ


ต้องถือว่าเป็น 'บทเชื่อมต่อ' ที่น่าทึ่งมากสำหรับบทที่ยี่สิบเอ็ด และบทที่ยี่สิบสอง เมื่อภาพสัญลักษณ์ของบทที่ยี่สิบเอ็ดคือ 'สินค้านำการตลาด' (䷔) ซึ่งสื่อไปในเรื่องของ R&D ว่าเป็น 'สิ่งที่ยุ่งยากลำบาก' ... บทที่ยี่สิบสองก็มาต่อด้วยภาพสัญลักษณ์ของ 'ข้อเท็จจริงนำสินค้า' (䷕) เพื่อ 'ตอกย้ำ' ถึง 'ความอย่าหลงผิด' หรือ 'ความอย่าหลงถูก' ไปตามกระแส 'ความนิยมของสังคม' หรือตาม 'ความกระสันส่วนบุคคล' ที่มักจะเต็มไปด้วย 'มายาคติ' หรือ 'มิจฉาทิฎฐิ' ที่ทำให้ 'ข้อเท็จจริง' หลายอย่าง 'ถูกบิดเบือน' จนส่งผลเสียหายต่อ 'กระบวนการตัดสินใจ' ใน 'การปฏิบัติภาระกิจ' หนึ่งๆ ให้สมบูรณ์

'ความละเอียดประณีต' นั้นหากได้รับการปฏิบัติอย่าง 'บริสุทธิ์-ยุติธรรม' ย่อมหมายถึง 'ความละเอียดถี่ถ้วน' และ 'ความรอบคอบ' บนพื้นฐานของ 'ความไม่ประมาท' ซึ่งจะนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ได้ในที่สุด ... แต่หาก 'ความละเอียดประณีต' ถูกใช้ไปในลักษณะของ 'การต่อเติมเสริมแต่ง' เพื่อโน้มน้าวให้ทุกคน 'หลงเชื่อ' ในสิ่งที่ไม่ใช่ 'ความจริง' หรือกระทำลงไปเพียงเพื่อจะ 'กลบเกลื่อนข้อเท็จจริง' ที่ 'ไม่พึงประสงค์' ย่อมเป็น 'วิถีปฏิบัติ' ที่นำไปสู่ 'ความผิดพลาดเสียหาย' ที่สมควรแก่ 'การกล่าวโทษ' และ 'การตำหนิติเตียน' เป็นอย่างมาก ... ซึ่งประเด็นนี้ 'จิวกง' ก็ถึงกับซ่อนความหมายทั้ง 'ด้านบวก' และ 'ด้านลบ' เอาไว้ในถ้อยคำหลายแห่งของบทนี้ อย่างเช่น 徒 (tú, ทู๋) ในวรรคที่หนึ่ง ซึ่งสามารถแปลว่า 'เรียบง่าย', 'ตรงไปตรงมา' แต่ก็สามารถแปลว่า 'คนต่ำทราม' ได้ด้วย ; 濡 (rú, ญู๋) ในวรรคที่สาม ซึ่งแปลว่า 'ดัด', 'ทำให้อ่อนหยุ่น' ก็สามารถแปลว่า 'ทำให้ชุ่มโชก' หรือ 'บิดเบือน' ได้เช่นกัน ; ส่วน 匪寇 (fěi kòu, เฝ่ย โค่ว) ในวรรคที่สี่ก็สื่อถึง 'การแข็งขืนฝืนความจริง' อย่างชัดเจน ; 吝 (lìn, ลิ่น) ในวรรคที่ห้า สามารถแปลว่า 'น่าละอาย' และ 'การยอมลำบาก' ไปพร้อมๆ กัน ; ส่วน 咎 (jiù, จิ้ว) ในวรรคที่หกก็สะท้อนถึง 'ความผิดพลาด' และ 'คำตำหนิ' ที่มีระดับของ 'ความรับผิดชอบ' ไม่เหมือนกันอย่างที่เล่าไปแล้ว ... กลวิธีในการคัดสรรคำของ 'จิวกง' ในบทนี้จึงต้องถือว่ามี 'ความละเอียดประณีต' อย่างเหลือเชื่อมากๆ เลยครับ ... ;)