Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第七卦 : 師

師 : 地水師 ‧ 坤上坎下

師 : 貞‧丈人‧吉無咎‧

  • 初六 ‧ 師出以律‧否臧凶‧
  • 九二 ‧ 在師中吉‧無咎‧王三錫命‧
  • 六三 ‧ 師或輿尸‧凶‧
  • 六四 ‧ 師左次‧無咎‧
  • 六五 ‧ 田有禽‧利執言‧無咎‧長子帥師‧弟子輿尸‧貞凶‧
  • 上六 ‧ 大君有命‧開國承家‧小人勿用‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ผ่อนพัก (⚎) ปัญญา และพลานามัย ผ่อนคลาย (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ 'บุคลากร' (☵) สนับสนุน 'แผนปฏิบัติการ' (☷) , 'นโยบาย' เชิงรับ (⚎), 'แผนงาน' และ 'ปฏิบัติการ' พร้อมสนอง (⚏)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการขยายผล, แอ่งน้ำแทรกซึมใต้ปฐพี ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Multitude : การขยายผล


เจอตัวอักษรเจ้าปัญหาอีกละ :D … ตัวอักษร 師 (shī, ซือ) ปรกติที่ใช้งานทั่วๆ ไปจะหมายถึง 'แม่ทัพ', 'ผู้ฝึกสอน', แล้วจึงแผลงไปเป็น 'ครูบาอาจารย์' และสามารถหมายถึง 'ผู้เชี่ยวชาญ' ก็ได้ … ในขณะเดียวกัน เมื่อสามารถแปลว่า 'แม่ทัพ' ก็เลยสามารถที่จะแปลว่า 'กองทัพ' หรือ 'กองทหาร' ได้ด้วย เพราะความหมายดั้งเดิมของ 師 จะแปลว่า 'นำมารวมกัน' หรือ 'การรวมกัน (ของสิ่งที่เหมือนๆ กัน)' จึงสามารถแปลว่า 'มากมาย' ได้อีกความหมายหนึ่ง … พอหมายถึง 'ผู้ฝึกสอน' กับหมายถึง 'การรวมกัน (ของสิ่งที่เหมือนกัน)' มันก็เลยมีความหมายว่า 'ทำเป็นตัวอย่าง', 'ทำเป็นแบบอย่าง' กับหมายถึง 'การเอาเยี่ยงอย่าง', 'การเลียนแบบ', หรือ 'การปฏิบัติตาม (คำสั่งสอน)' ได้อีกต่างหาก … ด้วยเหตุนี้ หลายๆ ตำราจะแปลชื่อบทนี้ว่า 'กองทัพ' (Army) แต่ผมเลือกใช้คำว่า Multitude ตามความหมายดั้งเดิมของตัวอักษร 師 เหมือนอย่างที่ Alfred Huang แปลไว้ใน The Complete I-Ching ของเขา … แต่ไม่แปลเป็นภาษาไทยว่า 'การรวมตัวกัน' เพราะผมมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาตั้งแต่บทที่สาม (การก่อตัว) ต่อด้วยบทที่สี่ (ความใสซื่อ) ซึ่งเน้นที่การฝึกฝนและเรียนรู้ จากนั้นก็ขยับมาบทที่ห้า (การรอคอยจังหวะ) แล้วถึงจะเป็นบทที่หก (การชิงลงมือ) … ซึ่งเมื่อลงมือปฏิบัติไปแล้ว ก็ต้องทำ 'การขยายผล' อันเป็นการประมวล หรือสังเคราะห์ผลของงานที่ลงมือไปแล้วเหล่านั้นให้กลับมา 'รวมตัวกัน' เป็น 'กลุ่มก้อนของความสำเร็จ' เพื่อขยับขยายให้กลายเป็น 'การพัฒนา' ต่อๆ ไป

'ภาพอักษร' 師 ประกอบด้วยอักษร 垖 (duī, ตุย) ที่แปลว่า 'เนินดิน' โดยตัดมาใช้เฉพาะท่อนหลังของตัวอักษร 垖 ซึ่งผม 'ตีความ' นั่นคือ 'การรวมตัวกัน' เพราะท่อนซ้ายของ 垖 คือตัว 土 (tǔ, ถู่) ที่แปลว่า 'ดิน' … ส่วนทางซีกขวาของ 'ภาพอักษร'  師 คือตัว 匝 (zā, จา) ที่เขียนเหลือแค่ 帀 ซึ่งแปลว่า 'ล้อมรอบ', 'สมทบ', และบางทีก็แปลว่า 'รวบรวม' หรือ 'ทำให้เต็ม' ในลักษณะที่ 'เติมเต็มเป็นเที่ยวๆ' หรือ 'รวบรวมจากแต่ละครั้งๆ' … เพราะฉะนั้น โดยความหมายของ 師 และ Multitude ที่หมายถึง 'มากมาย' หรือ 'นำมารวมกัน' นั้น มันจึงแฝงนัยของ 'การรวบรวม' ด้วย 'การสั่งสม' หรือ 'การประมวล' จากผลของ 'การลงมือปฏิบัติ' หลายๆ ครั้งมารวมๆ กัน และนั่นก็คือเหตุผลที่ผมเรียก 'ชื่อบท' นี้เป็นภาษาไทยว่า 'การขยายผล' … ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
貞丈人吉無咎
zhēn zhàng rén jí wú jiù
จิจั้ง เญิ๋น จี๋ อู๋ จิ้ว


King Wen อธิบาย 'ชื่อเรียก' ของ 'ภาพสัญลักษณ์' บทนี้ไว้แค่ว่า 貞丈人吉無咎 โดยมีตัวอักษรเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ถือว่าเพิ่งจะมาเจอในบทนี้ นั่นก็คือตัว 丈

丈 อ่านว่า zhàng (จั้ง) ซึ่งเป็น 'ชื่อหน่วยวัดความยาว' หน่วยหนึ่งในมาตราวัดของจีน (พัฒนามาจาก 'ภาพอักษร' ที่แปลว่า 'มือ' จึงหมายถึง 'สิบ') โดยหน่วยความยาว 'หนึ่งจั้ง' จะหมายถึงความยาวประมาณ 'สิบฟุต' หรือประมาณ '3.3 เมตร' … ; ... เมื่อเป็นอย่างนี้ คำว่า 丈 จึงสามารถที่จะหมายถึง 'การวัด', 'มาตรวัด' ก็ได้ ; ในขณะที่มันสามารถที่จะหมายถึง 'สามี' หรือหมายถึง 'ผู้ชาย' ที่ 'เติบโตเต็มวัย' แล้ว (เพราะ 丈 มีที่มาจากอักษรที่แปลว่า 'มือ' และหมายถึง 'สิบ' ซึ่งในภาษาจีนนั้น 'สิบ' จะแผลงเป็น 'เต็มที่' ได้ด้วย) … แต่ในความหมายจริงๆ ก็ควรจะหมายถึง 'ผู้ที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่' แล้ว ไม่ใช่ประเภทที่แก่เพราะกินข้าว หรือ เฒ่าเพราะอยู่นานเท่านั้น … :D …

ในคำอธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ของ King Wen นั้นจะใช้คำว่า 丈人 ซึ่งสามารถที่จะแปลว่า 'ผู้ที่เติบใหญ่แล้ว' หรืออาจจะหมายถึง 'ผู้ที่บรรลุเป้าหมายแล้ว' หรือ 'ผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว' ก็น่าจะได้อยู่ … ในขณะเดียวกัน 'ภาพสัญลักษณ์' ในแบบของผมก็จะเห็นเป็นภาพของ 'บุคคลากร' (☵, HRD) หนุนอยู่ด้านล่างของ COO (☷) … จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวอักษร 師 จะหมายถึง 'ผู้นำมวลชน' หรือ 'แม่ทัพ' หรือ 'ผู้ที่เป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม' ดังความหมายปรกติที่ใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้

แต่ผมมีความคิดพิเรนทร์ๆ ที่นึกอยากจะเอา 丈 ในความหมายว่า 'การวัด' หรือ 'มาตรวัด' มาแผลงให้เป็นความหมายว่า 'ที่สามารถประเมินได้' และทำให้ 丈人 หมายถึง 'บุคคลที่สามารถประเมินผลงานได้' ในแง่ของ 'การประเมินผล' … แต่ถ้าในแง่ของ 'ความประพฤติ' หรือ 'จริยธรรม' คำว่า  丈人 น่าจะหมายถึง 'บุคคลที่สามารถนับเป็นผู้เป็นคนอย่างสมบูรณ์ได้' … :D … อ๊ะ !! … อันนี้แรงดี ชอบ !! :D

คำว่า 貞 (zhēn, เจิน) ผมเล่าไว้ตั้งแต่บทที่หนึ่งแล้วว่า มันหมายถึง 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย' … ส่วน 咎 (jiù, จิ้ว) แปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน' นี่ก็เล่าไปแล้วในบทที่หนึ่งอีกเหมือนกัน ;)

เพราะฉะนั้น 師 (shī, ซือ) ในความหมายว่า 'การขายผล' ในที่นี้จึงถูกบันทึกคำอธิบายไว้ว่า 貞丈人吉無咎 จึงน่าจะมีความหมายว่า 'จะต้องถือหลักคุณธรรม (貞) และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะ (丈人) ที่เหมาะสม จึงจะเป็นผลดี (吉) โดยไม่ก่อความผิดพลาดเสียหายให้ผู้อื่นค่อนขอดว่าร้าย (無咎) ในภายหลัง'

ความจริงแล้ว คำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ถูกผม 'ตีความ' ให้มีความหมายในทำนองว่า 'อย่าตัดพ้อต่อว่า' หรือ 'อย่าโทษฟ้าด่าแผ่นดิน' หรือหมายถึง 'ไม่มีอะไรที่ผิดปรกติ' มาตั้งแต่บทแรก ซึ่งในวรรคนี้ก็อาจจะ 'ตีความ' ให้มีความหมายในทำนองนั้นได้ ซึ่งก็จะทำให้ความหมายของทั้งวรรคจะออกมาเป็น 'จะต้องถือหลักคุณธรรม และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสม อย่าดีแต่ปาก' … :D … ในลักษณะที่ว่า บางครั้งคนเราพอประสบความสำเร็จอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็มักจะคุยโม้คุยโต แต่ก็ไม่ยอมขยับขยายผลให้มันพัฒนาก้าวไกลมากไปกว่าเดิม ดีแต่พล่ามถึงแต่สิ่งละอันพันละน้อยในอดีตไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งไอ้แบบนี้มันก็ไม่มีทางที่จะดีไปได้เหมือนกัน ;) … แต่ผมคิดว่า King Wen แกคงจะไม่หยาบคายเหมือนอย่างผมมั้ง ??!! … :D … เพราะฉะนั้น จึงขอ 'ตีความ' ด้วยความหมายแรกที่แปลเอาไว้ดีกว่า !! … :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

師出以律否臧凶
shī chū yǐ lǜ pǐ zāng xiōng
ซืฌู อี่ ลฺวี่ ผี่ จัง เซฺวิง


律 อ่านว่า lǜ (ลฺวี่) แปลว่า 'กฎหมาย', 'กฎระเบียบ', 'ข้อห้าม', 'ข้อปฏิบัติ', 'วิธีการ', 'คำสั่ง', 'หลักการ', หรือ 'ปฏิบัติตาม (กฎระเบียบ)'

否 อ่านว่า fǒu (โฝ่ว) เป็นคำที่มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' เช่น 'ไม่ใช่', 'ไม่เหมือน', 'ไม่เป็นไปตามนั้น' ; แต่ถ้าอ่านว่า pǐ (ผี่) จะแปลว่า 'เลว', 'ไม่ดี', หรืออาจจะไปไกลถึง 'ความชั่วร้าย' เลยด้วยซ้ำ ;)

臧 อ่านว่า zāng (จัง, จาง) แปลว่า 'ดี', 'ความดี' ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'ไร้ค่า', 'ไม่มีความหมาย' ได้ด้วย ??!! ; แล้วถ้าอ่านออกเสียงว่า cáng (ชั๋ง) จะแปลว่า 'เก็บสะสม', 'ระดม', 'ห้องเก็บของ' หรือ 'ห้องลับ' ; หรืออาจจะแปลว่า 'ผลประโยชน์' ก็ได้ แต่มักจะหมายถึง 'ผลประโยชน์' ที่ได้รับจาก 'การคดโกง' หรือ 'การฉ้อราษฎร์บังหลวง' … ทำไมความหมายมันถึงได้กลับตาลปัตรซะขนาดนั้นก็ไม่รู้แฮะ ??!! … งงตายห่า !!

ขอย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของ 'ภาพอักษร' 臧 กันหน่อยดีกว่า อักษรตัวนี้ประกอบด้วยตัว 臣 (chén, เฌิ๋น) ที่แปลว่า 'ข้าราชการ', 'ขุนนาง' กับตัวอักษร 戕 (qiāng, เชียง) ที่แปลว่า 'ทำร้าย', หรือ 'ฆ่าให้ตาย' … ดังนั้น ในความหมายที่ไม่ค่อยดีของมันก็คือ 'ขุนนางที่น่าตาย' :D … ซึ่งก็คือพวกข้าราชการที่ 'ขี้โกง' , 'เรียกรับสินบน' หรือ 'ฉ้อราษฎร์บังหลวง' … แต่ในความหมายที่ดีก็จะหมายถึง 'ขุนนางที่ได้รับการคัดสรรไว้เรียบร้อยแล้ว' … ซึ่งก็คือพวกข้าราชการที่ยังเหลืออยู่ หลังจากกำจัดพวกเหียกๆ ออกไปจนหมดสิ้นแล้วนั่นเอง :D … หรือในความหมายที่แปลว่า 'เก็บสะสม' หรือ 'ระดม' มันก็จะแฝงความหมายของ 'การคัดสรร' เอาไว้ด้วยเหมือนกัน มันจึงสามารถแผลงไปเป็น 'ห้องลับ' ที่มีไว้เพื่อเก็บทรัพย์สมบัติต่างๆ … แต่ถ้าเป็น 'ห้องเก็บของ' มันก็จะมีความหมายที่ไม่ค่อยดี เพราะส่วนใหญ่มักจะใช้เก็บ 'ของอีเหละเขละขละ' ซึ่ง 'ไม่ใช้แล้ว' หรือ 'ไม่มีคุณค่า' อะไร และเป็นสิ่งของที่ 'คัดทิ้ง' มากกว่าที่จะเป็น 'ของดี'

ด้วยเหตุนี้ คำว่า 臧 (zāng, จัง) จึงเป็น 'ความดี' ที่เป็นผลมาจาก 'การกำจัดสิ่งไม่ดี' ออกไป ไม่ใช่เป็น 'ความดีโดยธรรมชาติ' แต่เป็น 'คุณงามความดี' ที่ได้มาจาก 'การคัดสรร' หรือ 'การบริหารจัดการ' … นั่นคือเหตุผลที่มันสามารถแปลความหมายไปได้ทั้งสองขั้ว ขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังมองไปในด้านที่ 'คัดสรรเอาไว้' หรือจะมองไปในด้านที่ 'คัดทิ้งไป' มากกว่า … ซึ่งหากเราจะมองอย่างกลางๆ คำว่า 臧 (zāng, จัง) จึงน่าจะมีความหมายในเชิง 'การบริหารจัดการ' เท่านั้นเอง … โดย 'จิวกง' เลือกที่จะชี้ชัดลงไปในวรรคนี้ว่า 否臧 (pǐ zāng, ผี่ จัง) เพื่อบ่งบอกถึงด้านที่ 'ไม่ดี' อย่างเฉพาะเจาะจง อันเป็นเหตุผลที่ผมเลือกออกเสียงคำดังกล่าวว่า pǐ zāng (ผี่ จัง) ไม่ใช่ออกเสียงเป็น fǒu zāng (โฝ่ว จัง) ... ;)

สำหรับวลีที่ว่า 師出以律否臧凶 ในวรรคนี้ มันก็มีส่วนที่ทำให้ตัวอักษร 師 (shī, ซือ) สามารถแปลว่า 'กองทัพ' หรือ 'แม่ทัพ' ได้ เพราะมันสามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'กองทัพจะต้องควบคุมด้วยกฎระเบียบ หากบริหารจัดการเละเทะย่อมต้องเกิดความสูญเสีย' … หรืออาจจะให้หมายถึง 'แม่ทัพจะต้องใช้กฎระเบียบเพื่อการควบคุมบัญชาทัพ มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดความเสียหาย' … หรือถ้าจะแปลว่า 'ผู้นำ' หรือ 'ผู้ฝึกสอน' ก็จะมีความหมายว่า 'ผู้นำย่อมต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง การประพฤติตนเหลวแหลกซะเองย่อมเป็นภัยอย่างมหันต์' …

แต่หากจะมองในแง่ของ 'การขายผล' วรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็ควรจะได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'การดำเนินงานเพื่อขยายผล (師) นั้น จะต้องดำเนินไปอย่างมีกรอบเกณฑ์บังคับ และต้องอยู่ในทิศทางที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย (出以律) เป็นสำคัญ  หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี (否臧) ความผิดพลาดล้มเหลวอย่างร้ายแรง (凶) ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้' … อ้ะ … ผมว่าของผมอย่างนี้แหละ !! … ;)

 

สอง หยาง :

在師中吉無咎王三錫命
zaì shī zhōng jí wú jiù wáng sān xī mìng
ไจ้ ซืง จี๋ อู๋ จิ้ว วั๋ง ซัน ซี มิ่ง


ดูเหมือนไม่มีคำใหม่แฮะ … งั้นแปลเลยแล้วกัน :D

ประการแรกเลย ผมขอเทียบเคียงกับวลีของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า  師 : 貞丈人吉無咎 แล้ว 'จิวกง' ก็ยกมาขยายความในวรรคนี้ว่า  在師中吉無咎王三錫命 ซึ่งจะเห็นคำว่าท่อนเปิดวลีของ 'จิวกง' แทบจะลอกมาจากถ้อยคำของ King Wen เลยทีเดียว โดยคำที่น่าจะมีความหมายสอดรับกันพอดีก็คือคำว่า 貞丈人 (ต้องถือหลักคุณธรรม และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะ) กับตัวอักษร 中 (zhōng, ง) ที่หมายถึง 'ทางสายกลาง', 'ตรงไปตรงมา', 'ซื่อสัตย์สุจริต' ; หรือ 'ตรงเป้าหมาย' ; หรือ 'มีความเหมาะสม'

ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อวรรคที่แล้ว 'จิวกง' เอ่ยถึง 律 (lǜ, ลฺวี่) ที่เป็นเรื่องของ 'กฎเกณฑ์' หรือ 'กฎระเบียบ' คำว่า  中 ในที่นี้ก็อาจจะมีความหมายว่า 'ให้เคร่งครัดแต่พอดี' อย่าตึงเกินไป หรือว่าหย่อนจนเกินไป และไม่ควรจุกจิกหยุมหยิมจนไม่มีใครสามารถกระดิกกระเดี้ยวตัวได้เลย … โดยควรจะใช้กฎเกณฑ์อย่าง 'ผู้มีวุฒิภาวะ' (丈人) ไม่ใช่มุ่งแต่จะใช้เพื่อแสดงอำนาจบาตรใหญ่ หรือหวังแต่จะกดข่มผู้อื่นไว้เพียงอย่างเดียว … นี่ก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจ ;) … เพราะคำที่ติดตามมาก็คือ 王 (wáng, วั๋ง) ที่ปรกติแล้วจะแปลว่า 'กษัตริย์', 'ผู้นำ' หรือ 'ผู้ปกครองแคว้น' ; แต่ถ้าใช้ในลักษณะของคำกริยาก็จะแปลว่า 'ปกครอง' ได้

ส่วนตัวอักษร 命 (mìng, มิ่ง) สามารถแปลว่า 'ชะตาชีวิต', 'ชีวิต', 'คำสั่ง', 'การมอบหมาย' ซึ่ง 'คำสั่ง' ในลักษณะของ 命 นั้น จะมีกลิ่นอายของ 'ความสำคัญยิ่งชีวิต' หรือ 'มีความเด็ดขาด' แฝงอยู่ด้วย ;) … แล้วสำหรับตัว 三 (sān, ซัน) ที่เล่าไปหลายครั้งแล้วว่า นอกจากจะหมายถึง 'จำนวนสาม' แล้ว มันยังสามารถที่จะมีความหมายว่า 'มากๆ', 'บ่อยๆ', 'ถี่ๆ' หรือแม้แต่จะให้หมายถึง 'ขยัน', หรือ 'เพียรพยาม' เพราะมี 'การทำบ่อยๆ' ก็พอที่จะกล้อมแกล้มไปได้อยู่ :)

เพราะฉะนั้น เมื่อมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' กับวรรคก่อนที่พูดถึง 'การบริหารจัดการ' วรรคที่สองของ 'จิวกง' ในบทนี้ก็ควรจะมีความหมายว่า 'ในการควบคุมบังคับด้วยกฎเกณฑ์ (在師) ดังที่ว่านั้น จะต้องถือปฏิบัติด้วยทางสายกลาง (中) จึงจะสัมทธิ์ผล (吉) และไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎) … การปกครอง และการบังคับบัญชา (王) จะต้องมีความถี่ถ้วนรอบคอบ (三) ในการใช้ทั้งพระคุณ (錫) และพระเดช (命) ควบคู่กันไปเสมอ'

 

สาม หยิน :

師或輿尸凶
shī huò yǘ shī xiōng
ซือ ฮั่ว ยฺวี๋ ซือ เซฺวิง


輿 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) แปลว่า 'รถ (ที่ใช้เพื่อการขนถ่ายสิ่งของ)', 'เกวียน', 'เกี้ยวโดยสาร', 'ห้องโดยสารของรถ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มากมาย', 'หนาแน่น' จากความหมายของ 'การขนถ่ายสิ่งของด้วยรถ' ; สามารถแปลว่า 'ลานโล่ง' หรือ 'บริเวณ' ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกันจำนวนมากๆ ; อาจจะหมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'ที่สาธารณะ' ก็ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เขตแดน' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แบก', 'หาม', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

尸 อ่านว่า shī (ซือ) แปลว่า 'คนตาย', 'ศพ', บางครั้งจึงหมายถึง 'แท่นบูชา (วิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์)', อาจจะหมายถึง 'ป้ายวิญญาณ' หรือ 'เทวรูป' สำหรับการสักการะกราบไหว้ ; แต่เนื่องจากทุกสิ่งที่เอ่ยถึงนั้นจะหมายถึง สิ่งที่ 'อยู่นิ่งๆ เฉยๆ (รอให้คนมาสักการะ)', 'ไม่มีความเคลื่อนไหว' ; มันจึงสามารถแปลว่า 'เฉื่อยชา', 'ไม่มีความกระตือรือร้น' ได้เหมือนกัน ;)

ผมมองว่า 'จิวกง' แกคงจะขี้เล่นน่าดู ที่เล่น 'ล้อเสียง' กันตรงคำว่า 師 กับ 尸 ที่ออกเสียงเหมือนกันเป๊ะ !! :)

หากมองในแง่ของ 'การขยายผล' วลีนี้ก็อาจจะ 'ตีความ' ได้ว่า 'การดำเนินงานเพื่อการขยายผล (師) หากจะ (或) กระทำเพียงแค่เอาผลงานมากองสุมไว้รวมๆ กัน (輿) โดยไม่คิดที่จะทำอะไรต่อจากนั้นเลย (尸) ย่อมเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ (凶)' … หรือจะ 'ตีความ' ว่า 'การดำเนินงานเพื่อขยายผล (師) หากปฏิบัติ (輿) ราวกับเป็นซากศพที่ไม่มีความกระตือรือร้น (尸) ย่อมประสบกับความล้มเหลว (凶)' ก็ไม่แปลก :D

หรือถ้ามองว่า นี่เป็นวลีที่ใช้ขยายความให้กับท่อนสุดท้ายของวรรคก่อนที่บันทึกไว้ว่า 王三錫命 (การปกครอง และการบังคับบัญชา จะต้องมีความถี่ถ้วนรอบคอบในการใช้ทั้งพระคุณและพระเดช ทุกๆ ครั้งเสมอ) … พอขยายความต่อด้วย 師或輿尸凶 ก็เลยมีความหมายว่า 'การปกครอง และการบังคับบัญชา (師) หากดำเนินการ ราวกับเป็นซากศพที่ไร้ชีวิตจิตใจ (或輿尸) ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสีย (凶)' ซึ่งเป็นความหมายที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากเรามองในมุมที่ว่า ทั้งวรรคที่สองกับวรรคที่สาม ต่างก็ถูกใช้เพื่อขยายความให้กับวรรคที่หนึ่งด้วยกันทั้งคู่ … โดยวรรคที่สองไปเน้นความหมายให้กับวลี 出以律 ของวรรคที่หนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'นำกฎเกณฑ์ และกรอบในการดำเนินงานมาบังคับใช้' จึงถูกเน้นว่า จะต้อง 'ยึดหลักทางสายกลาง' (中吉) โดยเฉพาะในเรื่องของ 'การให้คุณให้โทษ' หรือ 'การใช้ทั้งพระคุณและพระเดช' (錫命) … ส่วนวรรคที่สามก็คือการเน้นความหมายของ 否臧 ที่หมายถึง 'การบริหารจัดการที่ไม่ดี' จึงถูกขยายความเป็น 'ดำเนินงานราวกับเป็นซากศพ' (輿尸) ซึ่ง 'ปราศจากชีวิตและจิตใจ' หรือ 'ไม่รู้ร้อนรู้หนาว' กับทุกๆ เรื่องราวรอบๆ ด้าน

ผมมองว่า 'จิวกง' ใช้ลำดับของวลีมาสร้าง 'ความต่อเนื่อง' ให้กับวรรคที่หนึ่งถึงวรรคที่สามได้อย่างน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะในวรรคที่สอง หากจะบันทึกว่า 在師王三錫命中吉無咎 ความหมายก็จะไม่มีความแตกต่างไปจากเดิมเลย แต่ก็จะเห็นภาพของการขยายความให้กับวลี 出以律 ของวรรคที่หนึ่งอย่างชัดเจนว่า นั่นคือการดำเนินงานที่จะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎) … แต่ 'จิวกง' กลับเลือกที่จะบันทึกว่า  在師中吉無咎王三錫命 คือเอาวลีที่เอ่ยถึง 'การใช้พระคุณและพระเดช' มาไว้ท้ายวรรค เพื่อส่งต่อให้วรรคที่สามมาเน้นว่า 'อย่าทำอะไรราวกับเป็นซากศพที่ไร้วิจารณญาณ' (輿尸) โดยวรรคที่สามทำหน้าที่ขยายความให้กับคำว่า 否臧 ของวรรคที่หนึ่งไปด้วยพร้อมๆ กัน … ความเป็นผู้มีอัจฉริยภาพทางภาษาของ 'จิวกง' จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษามากๆ เพราะแต่ละวลีหรือแต่ละวรรคที่ 'จิวกง' เลือกใช้ ล้วนแล้วแต่มีผลให้ถ้อยคำนั้นๆ มีความหมายที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง แต่ก็ยังสามารถที่จะอ่านอย่างต่อเนื่องกับวรรคอื่นๆ ไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน … 'เหลือเกิน' จริงๆ :D

 

สี่ หยิน :

師左次無咎
shī zǔo cì wú jiù
ซือ จั่ว ชื่อ อู๋ จิ้ว


左 อ่านว่า zuǒ (จั่ว) ปรกติก็แปลว่า 'ด้านซ้าย' แต่ก็สามารถที่จะหมายถึง 'ทิศตะวันออก' ได้ด้วย ??!! … ข้อนี้เลยต้องเล่าเกี่ยวกับระบบเข็มทิศของจีนซะหน่อย โดยเฉพาะเข็มทิศในแบบของ 'อี้จิง' หรือที่เห็นในภาพของ 'โป้ยก่วย' เพราะทิศที่แสดงไว้ตรงด้านบนของเข็มทิศนั้นจะเป็น 'ทิศใต้' เสมอ … อันนี้ค่อนข้างที่จะมีความหมายในเชิงภูมิศาสตร์ มากกว่าที่จะมีความหมายในแง่ของจิตวิทยาสังคมอย่างที่หลายคนชอบทึกทักกันเอาเอง

… เอาเรื่องที่มักจะเข้าใจผิดๆ กันก่อน … หลายคน (โดยเฉพาะคนไทย) มักจะ 'ตีความ' ว่า เข็มทิศของจีนถูกกำหนดขึ้นมาจาก 'ความหลงตัวเอง' โดยมีฐานของความเชื่ออยู่ที่ว่า ชนชาติจีน 'อยู่เหนือ' ชนชาติอื่นๆ ทั้งหมด ถึงได้อุตริมองโลก 'ลงมาจาก' จากด้านนั้น นั่นก็คือ 'มุ่งลงทิศใต้' เวลาถือเข็มทิศแบบจีน เราจึงหันหน้าไปทาง 'ทิศใต้' เสมอ … ข้อนี้ผิดอย่างแรงเลยครับ !!! … เพราะคำว่า 中國 ซึ่งเป็นชื่อประเทศนั้น ได้บ่งบอกความหมายไว้เต็มๆ อยู่แล้วว่า คนจีนถือว่าตัวเองเป็น 'ศูนย์กลาง' ของอารยธรรมของโลก หรือเป็นประเทศที่อยู่ 'ใจกลาง' ของทวีปทั้งหมด … คำว่า 'เหนือ' หรือ 'ใต้' ซึ่งเป็นแค่คำที่ใช้ใน 'ภาษาไทย' แต่ก็บังเอิญไป 'พ้องความหมาย' กับ 'ความสูงกว่า' หรือ 'ความต่ำกว่า' ในภาษาของตัวเอง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ 'ชื่อทิศแบบจีน' เลย แล้วคำที่ใช้เรียก 'ชื่อทิศแบบจีน' ก็ไม่ได้ 'พ้องความหมาย' ใดๆ ในแง่ของความรู้สึก 'เหนือกว่า' หรือ 'เตี้ยกว่า' เหมือนอย่างภาษาไทยด้วย แล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีภาษาไหนๆ ที่พ้องกันในลักษณะนี้ด้วยซ้ำ … ภาษาไทยภาษาเดียวเลย !! … เพราะฉะนั้น การ 'ทึกทัก' กันแบบนี้จึงถือว่า 'มั่ว' !! … :D

แต่ผม 'ตีความ' เอาเองว่า การที่เข็มทิศของจีน 'มุ่งไปทางทิศใต้' นั้น ก็เพราะ 'ทิศใต้' ตามภูมิศาสตร์ของประเทศจีน คือทิศที่ 'มุ่งสู่ทะเล' หรือเป็นทิศที่จะนำพาไปสู่การเดินทางเพื่อติดต่อค้าขายกับชนชาติในทวีปอื่นๆ ประกอบกับ 'ทิศเหนือ' ขึ้นไปนั้น มีภูมิอากาศที่หนาวเย็นเกินกว่าที่ควรจะพิสมัย จึงไม่รู้ว่าจะ 'มุ่ง' ไปทางนั้นเพื่ออะไร? :D … ดังนั้น หากเรา 'มุ่งหน้าไปทางทิศใต้' … 'ด้านซ้ายมือ' ก็จะเป็น 'ทิศตะวันออก' นั่นคือเหตุผลที่ตัวอักษร 左 สามารถที่จะมีความหมายว่า 'ทิศตะวันออก' ด้วยนั่นเอง ;)

กลับไปเล่าเรื่องตัวอักษร 左 (zuǒ, จั่ว) ต่อ นอกจากจะแปลว่า 'ด้านซ้าย', หรือ 'ทิศตะวันออก' แล้ว ; มันก็ยังสามารถแปลว่า 'ไม่ตรง' หรือ 'เอนเอียง' แล้วก็เลยแปลว่า 'คลาดเคลื่อน' หรือ 'ผิดพลาด' ได้ด้วย ; ในขณะที่สามารถหมายถึง 'ปรับลดตำแหน่งของขุนนาง' ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากการทำงาน 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน' :) ; อย่างไรก็ตาม ในสมัยก่อนมันยังมีความหมายเหมือนกับตัวอักษร 佐 (zuǒ, จั่ว) ที่แปลว่า 'ช่วยเหลือ', 'สนับสนุน' ในลักษณะที่เป็น 'ผู้ช่วย' หรือ 'พระรอง' ที่ไม่ได้มีบทบาทเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง (น่าจะแผลงมาจาก 'การปรับลดตำแหน่ง' จึงทำให้หมายถึง 'มีตำแหน่งเป็นรอง' ได้ แต่ถ้าดู 'ภาพอักษร' 佐 ก็จะเห็นเป็นภาพของ 'คน' (人) ที่กำลังยืนอยู่ 'ข้างๆ' (左) ด้วยเหมือนกัน) ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'การพิสูจน์' ซึ่งเป็น 'การนำหลักฐานมาสนับสนุน'

สำหรับในทางการเมือง 左 (zuǒ, จั่ว) จะหมายถึง 'พวกหัวก้าวหน้า' หรือ 'มีความคิดทันสมัย' … ข้อนี้ผมไม่แน่ใจว่าภาษาอื่นจะเป็นแบบนี้ด้วยมั้ย แต่ในระบบของภาษาจีน 'ฝ่ายซ้าย' คือ 'ฝ่ายที่หัวคิดก้าวหน้า' ในขณะที่ 'ฝ่ายขวา' จะเป็น 'ฝ่ายอนุรักษ์นิยม' ซึ่งมีที่มาที่ไปมาจาก 'ความเป็นทิศ' ด้วย เนื่องจาก 'ฝ่ายซ้าย' อยู่ 'ทิศตะวันออก' อันหมายถึง 'การริเริ่มสิ่งใหม่' ในขณะที่ 'ฝ่ายขวา' อยู่ 'ทิศตะวันตก' ที่หมายถึง 'การริบหรี่ลงของความเจริญในอดีต' … แต่ก็บังเอิญไป 'พ้องความหมาย' กับศัพท์แสงทางการเมืองในสมัยปัจจุบัน ที่กำหนดให้ 'ฝ่ายซ้าย' เป็น 'ฝ่ายสังคมนิยม' หรือ 'คอมมูนนิสต์' โดยให้ 'ฝ่ายขวา' หมายถึง 'ฝ่ายทุนนิยม' … ซึ่ง 'โลกตะวันออก' อย่างจีนในปัจจุบัน ก็ดันปกครองกันด้วย 'ระบอบสังคมนิยม' พร้อมๆ กับที่ 'โลกตะวันตก' ส่วนใหญ่จะเป็น 'ระบอบทุนนิยม' … พอดี๊ … พอดี … :D

ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง … ประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็น 'ฝ่ายซ้าย' กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองให้กระเดียดไปทาง 'ทุนนิยม' มากขึ้น เหมือนกับการที่เราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทาง 'ฝั่งตะวันออก' (ฝั่งซ้าย) แล้วก็ค่อยๆ เคลื่อนไปสู่ 'ฝั่งตะวันตก' (ฝั่งขวา) … ในขณะที่ประเทศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็น 'ฝ่ายขวา' ก็กำลังขยับขยายตัวเองให้เปิดรับโครงสร้างแบบ Community Model หรือพึ่งพาอาศัย Social Network มากขึ้น คล้ายกับจะเป็นการหมุนวนของดวงอาทิตย์ เพื่อจะกลับมาสู่ 'ทิศตะวันออก' อีกครั้ง … จึงดูเหมือนว่า ความแตกต่างทางความคิดของทั้งสองขั้วนี้ กำลังจะค่อยๆ ประสานเข้าหากันได้ในที่สุด ;)

次 อ่านว่า cì (ชื่อ) แปลว่า 'ลำดับ', 'จำนวนครั้ง', 'ลำดับที่', 'ลำดับต่อไป' ; ในความหมายหนึ่งจึงหมายถึง 'อันดับรอง' ที่ 'ไม่ใช่อันดับแรก' ; หรือ 'กลางๆ' ในความหมายว่า 'ไม่โดดเด่น' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ที่พักระหว่างทาง' ; หรืออาจจะหมายถึง 'การหยุด (พัก) เป็นระยะๆ'

วรรคนี้ของ 'จิวกง' จึงน่าจะมีความหมายตรงๆ แค่ว่า 'การดำเนินงานเพื่อขยายผล (師) จะต้องพัฒนา (左 หมายถึงทำให้ก้าวหน้า) อย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นทีละตอน (次) อย่าให้เกิดความผิดพลาด (無咎)' …

โดยเจ้าคำว่า 'พัฒนาทีละขั้นทีละตอน' (左次) ตามที่ว่านี้ ก็จะต้อง 'มุ่งตรงไปยังเป้าหมาย' เหมือนกับที่สะท้อนไว้ด้วยตัวอักษร 中 (zhōng, ง) ในวรรคที่สองด้วย ถึงจะไม่ผิดพลาด (無咎) … เห็นมั้ยครับว่า 'จิวกง' เล่นอะไรกับลำดับคำของตัวเอง … หากวรรคที่สองบันทึกไว้เป็น  在師王三錫命中吉無咎 คำว่า 中吉 จะกลายเป็นส่วนขยายความให้กับวลี 王三錫命 ทันที และจะทำให้มีความหมายว่า 'ยุติธรรม' ไม่ใช่ 'ทางสายกลาง' หรือ 'ตรงเป้าหมาย' … แต่เมื่อ 'จิวกง' บันทึกสลับตำแหน่งเป็นอย่างที่เห็น 在師中吉無咎王三錫命 คำว่า 中吉 จะครอบคลุมความหมายทั้ง 'ความยุติธรรม' เพราะถูกขยายความด้วย 王三錫命 พร้อมกับช่วยเน้นความหมายของ 出以律 ในวรรคที่หนึ่งว่าต้องยึดถือ 'ทางสายกลาง' ในขณะที่สามารถส่งต่อความหมายว่า 'ตรงเป้าหมาย' มาให้วรรคที่สี่ที่บอกให้ 'พัฒนาทีละขั้นทีละตอน' (左次) โดยใช้คำว่า 無咎 เป็น 'ตัวแปร' ที่เชื่อมความหมายทั้งหมดเข้าด้วยกัน … ฉลาดสุดๆ จริงๆ วุ้ย !! :D

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปมองความหมายของคำว่า 師 (shī, ซือ) ที่ถูกใช้เป็น 'ชื่อเรียก' ของสัญลักษณ์ในบทนี้ เราก็จะเห็นว่า 師 หมายถึง 'มากมาย' หรือ 'นำมารวมกัน' มันจึงแฝงนัยของ 'การรวบรวม' ด้วย 'การสั่งสม' หรือ 'การประมวล' จากผลของ 'การลงมือปฏิบัติ' หลายๆ ครั้งมารวมๆ กัน … ซึ่งก็จะทำให้วรรคนี้กลายเป็นคำขยายความให้กับ 'ชื่อเรียก' ทันทีว่า 'ซือ น่ะ หมายถึงการดำเนินการไปทีละขั้นนั่นแหละ ไม่ผิดหรอก !!' … :D

 

ห้า หยิน :

田有禽利執言無咎長子帥師弟子輿尸貞凶
tián yǒu qín lì zhí yán wú jiù zhǎng zǐ shī shī dì zǐ yǘ shī zhēn xiōng
เที๋ยน โหฺย่ว ชิ๋น ลี่ จื๋อ เอี๋ยน อู๋ จิ้ว จั่ง จื่อ ซืซือ ตี้ จื่อ ยฺวี๋ ซือ เจิน เซฺวิง


禽 อ่านว่า qín (ชิ๋น) แปลว่า 'นก' เหมือนกับ 鳥 (niǎo, เหฺนี่ยว) ที่ไม่ได้เจาะจงให้เป็นนกประเภทหนึ่งประเภทใด แต่ 禽 สามารถที่จะหมายถึง 'สัตว์ปีก' ที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน เพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ด้วย ; แต่ในอีกด้านหนึ่ง 禽 สามารถที่จะหมายถึง 'สัตว์บกทั่วไป' ที่ไม่จำเพาะว่าต้องเป็น 'นก' ก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การล่า', 'การจับ', 'การกำราบ', 'การปราบปราม', หรือ 'การทำให้พ่ายแพ้' เพราะ 禽 จะแฝงความหมายของ 'สัตว์เลี้ยง' หรือ 'สัตว์ที่ถูกทำให้เชื่องเชื่อ' อยู่ด้วย ; มันจึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' หรือ 'บังคับบัญชา' ก็ได้

執 อ่านว่า zhí (จื๋อ) แปลว่า 'จับ', 'ถือ', 'ยึดเหนี่ยว', 'แน่วแน่' ; และสามารถแปลว่า 'มิตรสหาย' แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึง 'สหายร่วมอุดมการณ์' หรือ 'ญาติธรรม' ที่มีแนวคิด คือแนวทางการดำเนินชีวิตคล้ายๆ กัน

長子 (zhǎng zǐ, จั่ง จื่อ) ปรกติจะหมายถึง 'ผู้มีอาวุโสสูง' หรือ 'ผู้หลักผู้ใหญ่' ซึ่งอาจจะไม่ได้จำเพาะอยู่กับเรื่องของ 'วัยวุฒิ' เท่านั้น แต่รวมความไปถึงเรื่องของ 'คุณวุฒิ' หรือ 'ตำแหน่ง', 'หน้าที่การงาน' ด้วย … ในวรรคนี้มีการใช้คู่กับคำว่า 弟子 (dì zǐ, ตี้ จื่อ) ซึ่งสามารถแปลว่า 'ผู้มีอาวุโสน้อยกว่า' หรือ 'ลูกศิษย์', 'ลูกหลาน' และมีความหมายในแง่ของ 'คุณวุฒิ' ด้วยเหมือนกัน

ตัวอักษร 田 (tián, เที๋ยน) เคยเล่าไปแล้วว่า มันสามารถที่จะใช้ในความหมายของ 畋 ที่แปลว่า 'การตามล่า', 'การเสาะหา' หรืออาจจะใช้ในควาหมายของ 佃 ที่แปลว่า 'การเพาะปลูก', 'การไถพรวน' ก็ได้ โดยอักษรทั้งสามตัวนี้จะอ่านออกเสียงแบบเดียวกันทั้งหมด … และคำว่า 田 ที่ใช้ในบทนี้ ก็น่าจะมีความหมายคล้ายๆ กับ 師 ซึ่งเป็น 'การดำเนินการเพื่อขยายผลไปสู่เป้าหมาย' อันเป็นกิจกรรมที่รวมความหมายทั้งสองแบบของ 田 เอาไว้ในลักษณะที่เป็น 'การตรากตรำทำงานเพื่อมุ่งไปสู่ (หรือตามล่า) ความสำเร็จ'

ความหมายของวรรคนี้น่าจะประมาณว่า 'ในการมุ่งมั่นที่จะขยายผลไปสู่ความสำเร็จ (田) ให้ได้นั้น จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดกวดขัน (有禽 คือทำให้เชื่อฟัง) ต้องปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานทุกคนอย่างมีเหตุมีผล (利執言) จึงจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย (無咎) หากผู้บังคับบัญชา (長子) ได้ทำการชี้แจงคำสั่ง และมอบหมายแผนปฏิบัติงาน (帥師) ออกไปแล้ว แต่ผู้ใต้บังคับบัญชา (弟子) กลับเฉื่อยแฉะเฉยเมย ไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตาม (輿尸 ทำตัวราวกับเป็นซากศพ) ย่อมเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบระเบียบ (หรือการใหญ่) ที่กำหนดไว้ (貞凶)'

มีวลีที่น่าสนใจในวรรคนี้อยู่คู่หนึ่ง นั่นก็คือ  長子帥師 และ  弟子輿尸 ซึ่งจะเห็นว่า มีการเล่นคำที่ออกเสียง shī (ซือ) ถึง 3 ครั้ง โดยสองครั้งแรก 'จิวกง' เลือกเล่น 'คำซ้ำ' เพื่อ 'ย้ำความหมาย' แบบเดียวกับที่เคยเล่นไปแล้วครั้งหนึ่งด้วยคำว่า 乾乾 (qián qián, เชี๋ยน เชี๋ยน) ในบทที่หนึ่ง ส่วนในบทนี้ 'จิวกง' เลือกเล่นที่คำว่า 帥師 (shī shī, ซือ ซือ) ซึ่งอักษร 師 นี้ นอกจากจะแปลว่า 'ครูบาอาจารย์', และ 'การสั่งสอน' หรือ 'การทำเป็นตัวอย่าง' แล้ว มันก็จะแปลว่า 'คำสั่งสอน' หรือ 'แบบอย่าง' ที่ได้รับมาจาก 'การสั่งสอน' ได้ด้วย พร้อมๆ กับที่สามารถแปลว่า 'ปฏิบัติตามคำสั่งสอน' หรือ 'เลียนตามแบบอย่าง' ก็ยังได้ …

ดังนั้น 長子帥師 จึงสามารถแปลว่า 'ผู้นำที่ปฏิบัติตาม (師) คำแนะนำ (師) เหล่านี้' หรือได้ปฏิบัติตาม 'ข้อแนะนำ' ที่แสดงไว้ตั้งแต่วรรคที่หนึ่ง จนถึงวรรคที่สี่ … แต่ผมก็เลือกที่จะแยกเน้นคำว่า 帥師 เป็น 'ชี้แจงคำสั่ง' และ 'มอบหมายแผนงาน' เพื่อที่จะสื่อให้เห็นว่า ในการปฏิบัติงานนั้น เราไม่ควรที่จะ 'ออกคำสั่ง' (師) เพียงสถานเดียว แต่จะต้องมี 'การมอบหมายความรับผิดชอบ' (帥) ออกไปด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความสับสนจนไม่รู้ว่า ใครกันแน่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่งนั้นๆ … หรือที่เลวร้ายยิ่งกว่า ก็อาจจะเกิด 'การเกี่ยงงานกัน' จนกลายเป็นไม่มีใครทำอะไรเลย :D … ซึ่งก็ถูกสอดรับไว้ด้วยวลีถัดมาคือ 弟子輿尸 ในความหมายว่า 'ผู้ใต้บังคับบัญชาสุมงานเอาไว้โดยไม่ทำอะไรเลย' นั่นเอง ;)

 

หก หยิน :

大君有命開國承家小人勿用
dà jün yǒu mìng kāi guó chéng jiā xiǎo rén wù yòng
ต้า จฺวิน โหฺย่ว มิ่ง ไค กั๋ว เฌิ๋ง เจีย เสี่ยว เญิ๋น อู้ โยฺว่ง


開 อ่านว่า kāi (ไค) แปลว่า 'เปิด', 'เริ่มต้น', 'เปิดเผย' ; 'ทำให้เป็นช่อง', 'ทำให้แยกออก', มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'ช่องเปิด' หรือ 'ช่องทาง' ได้ในบางกรณี ; บางครั้งยังแปลว่า 'ริเริ่ม' ; หรือ 'ปลดปล่อยออกมา' (discharge) ; และในความหมายว่า 'เปิดเผย' หรือ 'ทำให้ประจักษ์' มันจึงแผลงไปเป็น 'การชี้แนะ', 'การสั่งสอน', หรือ 'การชี้นำ' ได้อีก รวมทั้งสามารถหมายถึง 'การบุกเบิก' หรือ 'การก่อตั้ง' ในความหมายของ 'การริเริ่ม' ก็ยังได้

國 อ่านว่า guá (กั๋ว) แปลว่า 'เมือง', 'ประเทศ', 'บ้านเกิดเมืองนอน', 'ถิ่นที่อยู่' หรือ 'อาณาจักร' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้นำแว่นแคว้น', 'ผู้ปกครองบ้านเมือง' หรือ 'กษัตริย์' ก็ได้

承 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'รองรับ', 'สนับสนุน', 'ได้รับ', 'สืบทอด', 'ถือครอง', 'ทำให้ต่อเนื่อง', 'ธำรงรักษา' ; 'เข้ารับตำแหน่ง', 'รับเป็นธุระ', 'รับเป็นหน้าที่รับผิดชอบ'

ตัวอักษร 家 เคยเล่าไปแล้ว แต่ในที่นี่น่าจะเป็นการเล่นคำให้คู่กับตัวอักษร 國 เป็น 國家 (guá jiā) ซึ่งแปลว่า 'บ้านเมือง' หรือ 'ประเทศ' ถ้าเป็นคำภาษาอังกฤษ ก็น่าจะมีความหมายคล้ายๆ กับคำว่า home land หรือ 'ประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิด' … โดยผม 'ตีความ' วลี  開國承家 (kāi guá chéng jiā, ไค กั๋ว เฌิ๋ง เจีย) ในวรรคนี้ว่า น่าจะมีความหมายคล้ายกับสำนวนไทยที่คุ้นหูกัน เช่น 'สร้างบ้านแปลงเมือง' หรือ 'ก่อร่างสร้างตัว' อะไรประมาณนั้น คือเป็นอากัปกิริยาของ 'การร่วมแรงร่วมใจกัน' ของหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะ 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความทุ่มเท' ของตัวเอง ที่ตั้งใจจะ 'ลงหลักปักฐาน' เพื่อ 'สร้างความมั่นคง' ในอาชีพการงาน หรือการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป

ตอนต้นของวรรคนี้มีการใช้คำว่า 大君 ซึ่งจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 大人 หรือ 君子 ที่ผมเคยแปลเป็นคำกลางๆ ไว้ว่า 'ผู้รู้' หรือ 'ปราชญ์' บางทีก็ยังแปลว่า 'ผู้เปี่ยมด้วยความสามารถ' … จึงทำให้คำว่า 小人 ตรงช่วงท้ายของวรรคมีความหมายว่า 'ผู้โง่เขลา', 'ผู้ด้อยสติปัญญา' หรือ 'ผู้ด้อยความสามารถ' ไปเลย ไม่ใช่แปลว่า 'คนตัวเล็กๆ' :D

ความหมายของทั้งวรรคจึงน่าจะ 'ตีความ' ว่า 'ปราชญ์ (大君) ผู้มีความมุ่งมั่น (有命 หมายถึงมีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว) ที่จะทำการใหญ่ (開國承家 หมายถึงการสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่) ย่อมจะไม่เลือกใช้งานผู้ที่อ่อนด้อยทั้งความรู้ และไร้ซึ่งความสามารถ (小人勿用)' … วลีนี้จึงน่าจะเป็นการขยายความให้กับส่วนท้ายของวรรคที่แล้วที่บันทึกไว้ว่า 長子帥師弟子輿尸 (เจ้านายได้สั่งการไปแล้ว แต่ลูกน้องกลับยังทำตัวเป็นเบื้อไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง) ซึ่งสาเหตุอาจจะไม่ใช่เพราะลูกน้องต้องการที่จะต่อต้าน แต่น่าจะเป็นเพราะมัน 'ไม่มีปัญญา' ที่จะทำซะมากกว่า :) … 'จิวกง' จึงต้องย้ำให้ชัดๆ อีกครั้งในวรรคนี้ว่า 'หากคิดจะทำการใหญ่ (開國承家) อย่าได้คิดไปใช้งาน (勿用) ตัวเบื้อ (小人) โดยเด็ดขาด' :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ซือ' คือ การขยายผล, แอ่งน้ำแทรกซึมใต้ปฐพี

ต้องคำนึงถึง 'หลักคุณธรรม' และกระทำการอย่าง 'ผู้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสม' จึงจะเป็น 'ผลดี' โดยไม่ก่อ 'ความผิดพลาดเสียหาย' ให้ผู้อื่น 'ค่อนขอดว่าร้าย' ในภายหลัง

  •  
  • การดำเนินงานเพื่อ 'ขยายผล' จะต้องมี 'กรอบเกณฑ์' บังคับใช้ให้ตรง 'เป้าหมาย' หากไม่ 'บริหารจัดการ' ให้ดี ย่อมนำไปสู่ 'ความสูญเสีย'
  •  
  • 'การควบคุมบังคับ' ด้วย 'กฎเกณฑ์' ต้องยึดหลัก 'ทางสายกลาง' จึงจะ 'สัมฤทธิ์ผล' และไม่ก่อให้เกิด 'ข้อครหา' หรือ 'ความผิดพลาดเสียหาย' … 'การปกครอง' และ 'การบังคับบัญชา' จะต้องมีความถี่ถ้วนรอบคอบในการใช้ทั้ง 'พระคุณ' และ 'พระเดช' ควบคู่กันไปเสมอ
  •  
  • 'การปกครอง' และ 'การบังคับบัญชา' หากได้รับ 'การตอบสนอง' อย่างไร้ซึ่ง 'จิตวิญญาณ' และปราศจาก 'ความกระตือรือร้น' ใดๆ ย่อมนำไปสู่ 'ความสูญเสีย'
  •  
  • การดำเนินงานเพื่อ 'ขยายผล' จะต้อง 'พัฒนา' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' จึงจะ 'ไม่ผิดพลาด'
  •  
  • ใน 'การมุ่งมั่น' ที่จะ 'ขยายผล' จำเป็นต้องใช้ 'กฎระเบียบ' ที่ 'ชัดเจน' และต้องปฏิบัติต่อ 'ผู้ร่วมงาน' อย่าง 'มีเหตุมีผล' จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ความเสียหาย' … หากผู้บังคับบัญชา 'ชี้แจงคำสั่ง' และ 'มอบหมายความรับผิดชอบ' ออกไปแล้ว แต่ผู้ใต้บังคับบัญชากลับ 'เฉื่อยชา' ไม่ให้ 'ความร่วมมือ' ย่อมเป็น 'ภัยร้ายแรง' ต่อ 'ระบบระเบียบ' ที่กำหนดไว้
  •  
  • 'ปราชญ์' ผู้มี 'ความมุ่งมั่น' ใน 'การใหญ่' ย่อมเล็งเห็นถึง 'ความไร้ประโยชน์' ของผู้ที่ 'อ่อนด้อย' ทั้ง 'ความรู้' และไร้ซึ่ง 'ความสามารถ'


 

The Organization Code :



'การขยายผล' คือใช้ 'บุคลากร' สนับสนัน 'แผนปฏิบัติการ', ดำเนินการโดยใช้นโยบาย 'เชิงรับ' (⚎) และมีระเบียบปฏิบัติ กับทีมงานที่ 'พร้อมสนอง' (⚏) อย่างเต็มกำลัง

จะต้องถือ 'หลักคุณธรรม' ด้วย 'ความหนักแน่นมั่นคง' อย่างผู้ที่มี 'วุฒิภาวะที่เหมาะสม' จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ข้อครหาว่าร้าย' ทั้งจากภายในหรือภายนอก อันเป็นมูลเหตุแห่ง 'ความผิดพลาดเสียหาย' ในการดำเนินงาน

  •  
  • ใน 'การดำเนินงาน' ต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมี 'กฎเกณฑ์' ที่ 'ชัดเจน' เพื่อ 'การบังคับใช้' อย่าง 'เข้มงวดกวดขัน' โดยจะต้องมี 'ความโปร่งใส' และ 'ตรงไปตรงมา' ที่สามารถ 'ตรวจสอบประเมินผล' ได้ในทุกๆ ขั้นตอน การ 'ปล่อยปละละเลย' และ 'บริหารจัดการ' 'ทรัพยากร' ต่างๆ อย่างไม่คำนึงถึง 'ประสิทธิภาพ' และ 'ประสิทธิผล' ใดๆ คือสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ 'ความผิดพลาดล้มเหลว'
  •  
  • การกำหนด 'มาตรการ' เพื่อ 'การควบคุมบังคับ' จะต้อง 'ไม่ตึง' หรือ 'ไม่หย่อน' จนเกินไป และต้องปฏิบัติด้วย 'ความเป็นธรรม' ไม่ปฏิบัติโดย 'เลือกที่รักมักที่ชัง' จนกลายเป็นที่ 'ค่อนขอดครหา' หรือเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกลายเป็น 'การเมืองภายในองค์กร' ซึ่งจะสร้าง 'ความสูญเสีย' แก่ 'ระบบการปกครอง' ที่ดี การใช้ 'พระเดช' และ 'พระคุณ' จึงต้องกระทำอย่าง 'ถี่ถ้วน', 'หนักแน่น', และ 'ทั่วถึง' อย่าง 'เสมอต้นเสมอปลาย'
  •  
  • 'การดำเนินงาน' ใดๆ หากปราศจาก 'ความตั้งอกตั้งใจ' หรือ 'ความเอาจริงเอาจัง' ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่กระทำการด้วย 'ความเหยาะแหยะ' ไม่ให้ 'ความเคารพ' ต่อ 'หน้าที่' ไม่มี 'ความกระตือรือร้น' ต่อการงาน ราวกับเป็น 'ซากศพ' ที่ไร้ 'จิตวิญญาณ' ย่อมนำไปสู่ 'ความล้มเหลว'
  •  
  • 'การพัฒนา' กิจการงานต่างๆ จะต้องกระทำอย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' ด้วย 'ความโปร่งใส' รู้จักใช้ 'โอกาส' และ 'จังหวะเวลา' ที่ 'เหมาะสม' จึงจะไม่เกิด 'ความผิดพลาด'
  •  
  • 'กฎระเบียบ' ที่ใช้ใน 'การควบคุมบังคับ' จะต้องอยู่บนพื้นฐานของ 'ความมีเหตุมีผล' และต้องไม่ปฏิบัติต่อ 'ผู้ใต้บังคับบัญชา' เยี่ยง 'ทาสผู้รับใช้' แต่จะต้องให้ความเคารพในฐานะของ 'ผู้ร่วมงาน' ที่มี 'ศักดิ์ศรี' ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน … หาก 'คำสั่ง' ของ 'ผู้บังคับบัญชา' ไม่เป็นที่ 'ยอมรับ' หรือไม่ได้รับ 'การตอบสนอง' ที่ดีจาก 'ผู้ปฏิบัติงาน' 'ผลกระทบที่เลวร้าย' ย่อมตกเป็นของทุกฝ่ายโดยทั่วถึงกัน
  •  
  • หากมีความคิดที่จะ 'กระทำการใหญ่' การเลือกใช้ผู้ที่ด้อย 'ความรู้' และไร้ซึ่ง 'ความสามารถ' ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ การเลือกใช้คน จึงต้องพิจารณาจาก 'ความเหมาะสม' ต่อ 'เป้าหมาย' ของภารกิจ ไม่ใช่มัวแต่คำนึงถึง 'ความสัมพันธ์' ส่วนบุคคลเป็นสำคัญ


'ภาพสัญลักษณ์' ䷆ นี้ ถือว่ามีความชัดเจนในตัวของมันเองมากๆ โดยเราจะเห็น ☷ (kūn, คุน) ซึ่งผมกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์แทน 'ฝ่ายบริหาร' (COO) ถือธงนำหน้า (อยู่ด้านบน) ☵ (kǎn, ขั่น) ที่ใช้แทน 'ฝ่ายบุคลากร' (HRO) … อันสะท้อนภาพของ 'แม่ทัพ' และ 'การบัญชาทัพ' ไว้อย่างชัดเจน … และหากมองในแง่ของ 'แผนปฏิบัติการ' มันก็จะมีลักษณะของการชู 'แผนปฏิบัติการ' เหนือ 'ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล' ซึ่งก็จะสะท้อนถึง 'ความเป็นระบบระเบียบ' ในปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายมาด้วยนั่นเอง

หากเราชำแหละ 'ภาพสัญลักษณ์' นี้ออกเป็นสามระดับ … 'ระดับนโยบาย' จะอยู่ในสถานะของ ⚎ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ 'นโยบายเชิงรับ' อันจะต้องมีการ 'ชูธง' แห่ง 'เป้าหมาย' ให้ยึดถือเป็น 'นโยบาย' อย่าง 'เคร่งครัด' และ 'เปิดเผย' (⚊) แต่ก็ยังคง 'ความอ่อนหยุ่น' อย่าง 'มีเหตุมีผล' (⚋) ไว้ภายใต้ท่าทีที่ 'แข็งกร้าว' (⚊) นั้นๆ … ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' หรือ 'ระดับกำหนดแผนงาน' และ 'ระดับปฏิบัติการ' ก็พร้อมใจกัน 'ตอบสนอง' โดยอยู่ในสถานะของ ⚏ ด้วยกันทั้งคู่ อันเป็นการสอดรับกับบทขยายความของ 'จิวกง' ในวรรคที่สาม และวรรคที่ห้าทันที ;)