Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十八卦 : 蠱

蠱 : 山風蠱 ‧ 艮上巽下

蠱 : 元亨‧利涉大川‧先甲三日‧後甲三日‧

  • 初六 ‧ 幹父之蠱‧有子考‧無咎‧厲終吉‧
  • 九二 ‧ 幹母之蠱‧不可貞‧
  • 九三 ‧ 幹父之蠱‧小有悔‧無大咎‧
  • 六四 ‧ 裕父之蠱‧往見吝‧
  • 六五 ‧ 幹父之蠱‧用譽‧
  • 上九 ‧ 不事王侯‧高尚其事‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : กาย-ใจ พรั่งพร้อมรัดกุม (⚎) ; ปัญญา สุขุมตื่นตัว (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' และ 'ปฏิบัติการ' พรั่งพร้อมรัดกุม (⚎) ; 'แผนงาน' สุขุมตื่นตัว (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความใคร่ครวญ, ลมโชยเฉื่อยใต้ภูผา



ความหมายของชื่อเรียก : Reflection : ความใคร่ครวญ


ต้องถือว่าเป็นบทหนึ่งที่การเลือกคำแปลให้ลงตัวนั้นยากมาก เนื่องจากอักษร 蠱 (gǔ, กู่) มีความหมายที่ออกจะพิศดารพอสมควร ยิ่งเมื่อนำไปพิจารณารวมกับเนื้อความส่วนที่เหลือในบทเดียวกันนี้แล้ว ความหมายของ 蠱 (gǔ, กู่) ก็แทบจะไม่สามารถแปลออกมาได้อย่างตรงๆ ตัวของมันเลยทีเดียว

蠱 (gǔ, กู่) เป็น 'ภาพอักษร' ที่เกิดขึ้นจากการผสมอักษร 蟲 (chóng, ฌ๋ง) ที่แปลว่า 'หนอน' กับ 皿 (mǐn, หฺมิ่น) ที่หมายถึง 'ภาชนะ' มันจึงคล้ายกับภาพของ 'หนอนในภาชนะ' ซึ่งสะท้อนถึง 'ความเน่าเปื่อย', 'ความผุพัง', หรือ 'ความเสียหาย' และสามารถแผลงไปเป็น 'ความเสียหาย', 'ความสกปรก', และ 'ความเป็นพิษ' ซึ่งความหมายของ 蠱 (gǔ, กู่) ที่ใช้กันทั่วๆ ไปก็คือ 'การล่อลวง', 'การฉ้อฉล' (corruption), รวมไปถึง 'การให้ร้าย' หรือ 'การทำร้ายด้วยพิษ' ... ในบางครั้ง 蠱 (gǔ, กู่) ยังหมายถึง 'จ้าวแห่งพิษ' ซึ่งสามารถหมายถึง 'สัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุด' หรืออาจจะหมายถึง 'ผู้ที่เป็นคนปรุงยาพิษ' ก็ได้ และหากใช้ในความหมายของผู้ที่ 'ถูกล่อลวง' หรือ 'ถูกล่อหลอก' แล้ว มันก็จะสามารถแปลว่า 'ความลุ่มหลง', 'ความมัวเมา', 'ความหน้ามืดตามัว' หรือ 'ความงมงาย' ได้เหมือนกัน

ในอีกความหมายหนึ่งของ 蠱 (gǔ, กู่) ก็ยังสามารถแปลว่า 'เชื้อโรค', 'โรคร้าย' หรือ 'โรคที่ยากจะรักษาให้หายขาด' ซึ่งสะท้อนถึง 'ความเป็นพิษ' หรือ 'ความสกปรก' นั่นเอง ; แต่ในความหมายตาม 'ภาพอักษร' ที่เป็น 'หนอนในภาชนะ' ก็ทำให้มันสามารถแปลว่า 'ของเก่า', 'เรื่องเก่า', 'เรื่องเล่า' และ 'ตำนาน' ; หรือสามารถที่จะหมายถึง 'เรื่องราวที่คั่งค้าง' ก็ได้ด้วย ... แต่เนื่องจาก 'ความเสียหาย', 'ความทรุดโทรม' หรือ 'ความเรื้อรัง' ดังที่เอ่ยถึงนี้ เป็นสภาพที่ยังสามารถ 'ฟื้นฟู', 'ปรับปรุง', 'แก้ไข' หรือ 'เปลี่ยนแปลง' ได้ทั้งหมดเสมอ ซึ่งแม้ว่าลักษณะอาการของ 'การเกิดขึ้นของหนอน' นี้จะเป็นสิ่งที่ 'น่ารังเกียจ' ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วไป แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งใน 'วัฏจักรแห่งชีวิต' หลังจากทุกสรรพสิ่งได้ 'เสื่อมทรุดลง' จนถึงจุดที่จะเกิด 'การบูรณะ' กลับชึ้นมาใหม่อีกครั้ง ... โดย 'หนอน' นั้นจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกๆ ที่สื่อให้รับรู้ได้ว่า 'วงจรของวัฏจักรแห่งชีวิต' กำลังเริ่มกลับเข้าสู่ 'กระบวนการวิวัฒน์' รอบใหม่แล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ภายในเนื้อความของ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen บันทึกไว้กลับไม่มีส่วนใดเลยที่เอ่ยถึง 'ความเป็นพิษภัย' หรือ 'ความผิดพลาด' ... และคำบรรยายเกือบทั้งหมดของ 'จิวกง' ก็มีการใช้คำว่า 父 (fù, ฟู่) และ 母 (mǔ, หฺมู่) ซึ่งสามารถแปลว่า 'พ่อ' และ 'แม่' รวมกันถึง 5 วรรคด้วยกัน ทั้งนี้ โดยพื้นฐานของวัฒนธรรมจีนโบราณแล้ว มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากที่จะแปลอักษร 蠱 (gǔ, กู่) ว่า 'ความผิดพลาด' หรือ 'ความเป็นพิษภัย' เพราะนั่นจะเสมือนหนึ่งเป็นการกล่าวโทษบรรพชน ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมจีนทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่ยุคของ 'จิวกง' เป็นต้นมา !!!???

ดังนั้น ความหมายของคำว่า 蠱 (gǔ, กู่) ที่ถูกใช้ในบทนี้จึงควรจะหมายถึง 'ภาระกิจที่ยากจะดำเนินการให้สำเร็จ' ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับความหมายของ 'โรคที่ยากจะรักษาให้หายขาด' ... หรือถ้าจะใช้ในความหมายของ 'ความลุ่มหลง' หรือ 'ความงมงาย' คำว่า 蠱 (gǔ, กู่) ก็น่าจะหมายถึง 'ความใฝ่ฝันของบรรพชน' ซึ่งในลักษณะที่ว่านี้ก็คือ 'ความใฝ่ฝัน' ที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ภายในชั่วอายุของคนรุ่นเดียว ... มันจึงมีทั้ง 'ความยาก', 'ความลำบาก' ที่ต้องอาศัย 'ความอดทน-อดกลั้น' และ 'ความทุ่มเท' อย่างมหาศาล ... ไม่น้อยไปกว่าการต่อสู้กับ 'โรคร้าย' ... และจะต้องได้รับ 'การสานต่ออย่างสร้างสรรค์' เพื่อให้ทุกอย่างสามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะบรรลุ 'จุดมุ่งหมาย' อันเป็น 'ความใฝ่ฝันของบรรพชน'

ผมเลือกใช้คำแปลว่า Reflection ซึ่งไม่เคยปรากฏใน 'คัมภีร์อี้จิงฉบับแปล' ใดๆ มาก่อนเลยด้วยเหตุผล 2-3 อย่างด้วยกัน ประการแรกก็คือ reflection สามารถแปลว่า 'การสะท้อน' ซึ่งควรจะจัดว่าเป็น 'การน้อมรับ' ประเภทหนึ่งได้ เพราะมันคือ 'การสะท้อน' สิ่งที่เป็น 'ต้นฉบับ' ให้มาปรากฏอยู่บนตัวของมันเอง นี่ก็คือ 'ความต่อเนื่อง' มาจาก 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' ซึ่งเป็นความหมายของบทที่สิบเจ็ด ; ในขณะเดียวกัน reflect สามารถแปลว่า to bring as a consequence หรือ 'การได้รับผลตกทอด' หรือ 'การได้รับผลสืบเนื่อง' มาจากสิ่งอื่น หรือสาเหตุอื่น ซึ่งในบทนี้ก็คือ 'การรับมาจากคนรุ่นก่อน' นั่นเอง ; อีกความหมายหนึ่งตามรากศัพท์ของ reflect ก็คือ 'การบิดกลับ' หรือ to bend back ... ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูความหมายของวรรคที่สี่ของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่ง เราก็จะพบความหมายดังกล่าวในวลีที่ว่า 或躍在淵無咎 (huò yuè zài yuān wú jiù, ฮั่ว เยฺวี่ย ไจ้ เยฺวียน อู๋ จิ้ว) ซึ่งผมถอดความไว้ว่า 'หากจะกระโดดให้สูงก็ต้องย่อตัวให้ต่ำ ไม่ได้เป็นอะไรที่ผิดธรรมชาติ' ... นี่ก็คือลักษณะของ to bend back ลักษณะหนึ่งอย่างชัดเจน ;) ซึ่งบทที่สิบแปดนี้จะเป็นการขยายความให้กับวลีดังกล่าว เช่นเดียวกับบทที่หกที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยคำบรรยายของ King Wen ที่ปรากฏในบทที่หกก็คือ 有孚窒惕中吉終凶利見大人不利涉大川 (yǒu fú zhì tì zhōng jí zhōng xiōng lì jiàn dà rén bù lì shè dà chuān, โหฺย่ว ฟู๋ จื้อ ที่ ง จี๋ ง โซฺวง ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น ปู้ ลี่ เษ้อ ต้า วน) หรือ 'การลงมือปฏิบัติการใดๆ จะต้องประกอบด้วยความพร้อมและความสุขุมรอบคอบ ต้องดำเนินการอย่างรู้จักประมาณกำลังตน หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย ก็ไม่ต้องท้อแท้สิ้นหวัง แต่ต้องพร้อมที่จะฝึกฝน และเรียนรู้จากผู้ที่มีความสามารถสูงกว่า ไม่ควรบุ่มบ่ามผลีผลามโหมดำเนินการต่อไปอย่างไม่ยั้งคิด' ... นี่ก็จะคล้ายๆ กับ learning from failure เลยนะ ... ว่ามั้ย? ... ซึ่งก็เป็นอีกความหมายหนึ่งของ Reflection ที่หมายถึง 'การคิดทบทวน' หรือ 'การคิดใคร่ครวญ' อย่างละเอียดถี่ถ้วน ;) ... เพราะฉะนั้น ... ผมแปลชื่อบทนี้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้จริงๆ !!! ... :D



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨利涉大川先甲三日後甲三日
yuán hēng lì shè dà chuān xiān jiǎ sān rì hòu jiǎ sān rì
เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เษ้อ ต้า วน เซียน เจี่ย ซัน ญื่อ โฮ่ว เจี่ย ซัน ญื่


เหมือนจะไม่มีคำใหม่นอกจาก 甲 (jiǎ, เจี่ย) เท่านั้น ซึ่งคำนี้โดยปรกติจะเห็นการใช้ในลักษณะที่เป็นหัวข้อย่อยเหมือน ก., ข., ค., ง., ... หรือ a., b., c., d., ... โดยของจีนจะเป็น 甲, 乙, 丙, 丁, ... ประมาณนั้น ... ความหมายหนึ่งของ 甲 (jiǎ, เจี่ย) จึงหมายถึง 'ที่มาเป็นอันดับแรก' หรือ 'ที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก'

อย่างไรก็ตาม 甲 (jiǎ, เจี่ย) สามารถใช้ในความหมายของ 'ชุดเกราะ' สำหรับการออกรบ, และหมายถึง 'เปลือก' ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มเนื้อเยื่อต่างๆ ของพืชหรือสัตว์, บางครั้งจึงหมายถึง 'กระดอง' หรือแม้แต่ 'เล็บมือ-เล็บเท้า' ซึ่งมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อนสำหรับป้องกันเนื้อเยื่อที่บอบบางเอาไว้ ... ในสมัยโบราณก็ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'หัวหน้าองครักษ์' หรือ 'หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย' และบางครั้งก็ยังหมายถึง 'อาวุธยุทโธปกรณ์' ก็ได้ ... คำว่า 甲 (jiǎ, เจี่ย) เมื่อใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การสวมชุดเกราะ' หรือ 'การเตรียมพร้อม' เพื่อการปฏิบัติภาระกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะสามารถหมายถึง 'การป้องกัน' หรือ 'การลาดตระเวน' เพื่อ 'คอยสอดส่องดูแล' ความสงบเรียบร้อยต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างปรกติสุขได้ด้วย

คำที่ดูเหมือนไม่มีความซับซ้อนอะไรเลยอย่าง 日 (rì, ญื่อ) ที่แปลว่า 'วัน', หรือ 'กลางวัน' นั้นก็มีความหมายที่ไม่ค่อยจะเห็นการใช้งานกันว่า 'ครั้ง', 'หน' หรืออาจจะหมายถึง 'แต่ละวัน', 'ทุกๆ วัน' ก็ยังได้ ... ดังนั้นวลีที่เห็น King Wen ใช้ในที่นี้ว่า 三日 (sān rì, ซัน ญื่อ) จึงอาจจะไม่ได้หมายถึง 'สามวัน' อย่างตรงๆ ตัว แล้วก็ไม่แน่ว่าจะหมายถึง 'สามครั้ง' หรือ 'สามเวลาต่อวัน' ด้วย เพราะอักษร 三 (sān, ซัน) เคยเล่าไปหลายครั้งแล้วว่า มันแฝงความหมายว่า 'มากมาย' หรือ 'บ่อยๆ' ไว้ด้วย เพราะมันสื่อถึงจำนวนที่ 'มากกว่าการซ้ำ' นั่นเอง

King Wen ให้นิยามของ 蠱 (gǔ, กู่) อันเป็นชื่อบทไว้ว่า 'ความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสร้างสรรค์ (元亨) กับความมุ่งมั่น (利) ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่น้อยนาๆ (涉大川) นั้น ที่จะต้องทำก่อน (先) คือการเตรียมการ (甲) อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน (三日 คือคิดหลายๆ ครั้ง) ที่ต้องทำภายหลัง (後) คือการทบทวนใคร่ครวญ (甲) อย่างละเอียดรอบคอบ (三日 คือทบทวนบ่อยๆ)' ... ไม่ใช่ 'ทำก่อนสามวัน ทำหลังสามวัน' เหมือนอ่านหนังสือแค่ 7-8 ตัวแล้วก็พอ :D ...

ที่นี้ ... สมมุติว่าเราเล่นแบบ 'พีชคณิต' เลยนะ ... วลีที่ใช้ปิดประโยคนี้ของ King Wen ก็น่าจะเขียนเป็น 先後(甲三日) ได้เหมือนกัน ซึ่งก็จะมีความหมายตรงๆ คล้ายๆ กับสำนวนไทยที่มักจะพูดกันว่า 'คิดหน้าคิดหลังให้ดี' หรือ 'คิดหน้าคิดหลังให้ละเอียดถี่ถ้วน' ซะก่อน ... ความหมายของวลีนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็น 'ความริเริ่ม (元) และความพยายามที่จะพัฒนา (亨) เพื่อจะสามารถฟันฝ่าทุกอุปสรรคไปได้ด้วยดี (利涉大川) นั้น จะต้องมีการตระเตรียมความพร้อม (先甲) อย่างรอบด้าน (三日 คือคิดหลายๆ ครั้ง) และต้องทบทวนถึงผลลัพธ์ที่ตามมา (後甲) อย่างละเอียด (三日 คือทบทวนบ่อยๆ)' ซึ่งในความหมายจริงๆ ก็คือ 'การใคร่ครวญ' อย่างที่อธิบายไว้ใน 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบทแล้วนั่นแหละครับ !! ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


คงต้องมี 'หมายเหตุก่อนการถอดความ' กันซักหน่อยสำหรับบทนี้ เพราะจริงๆ ไม่เคยเตรียมใจว่า 'จิวกง' จะถึงกับ 'เล่นพ่อ-เล่นแม่' มาก่อนเลย ... :D ... แต่บางทีผมก็มีความรู้สึกว่า 'จิวกง' แกคง 'จงใจ' ที่จะ 'ฝ่าฝืนมิติทางสังคม' เพื่อกระทุ้งความหมายหลายๆ มิติของ 蠱 (gǔ, กู่) ให้ปรากฏสู่ 'จิตสำนึก' ของอนุชนคนรุ่นหลัง ... ซึ่งข้อนี้ก็มีความเป็นไปได้อยู่หลายส่วน !! :)

'ความกตัญญู' และ 'การให้ความเคารพ' ต่อ 'บรรพชน' นั้นถือว่าเป็น 'ข้อต้องปฏิบัติ' ที่ไม่อาจละเมิดได้เลยในสังคมของชาวจีนนับจากยุคโบราณ โดยเฉพาะนับจากยุคของ 'จิวกง' ที่ถือกันว่าเป็นปูชนียบุคคลผู้วางรากฐานให้กับวัฒนธรรมของชาวจีนเลยทีเดียว ดังนั้นวลีว่า 父之蠱 หรือ 母之蠱 ที่เห็นในบทนี้ ถ้าแปลกันตามตัวอักษรก็จะหมายถึง 'โรคร้าย', 'โทษภัย', หรือ 'ความผิดพลาด' จากบุคคลผู้เป็นพ่อเป็นแม่นั้น ต้องถือว่าเป็น 'ถ้อยคำที่รุนแรงมาก' เพราะการกล่าวอย่างนั้นจะมีความหมายส่อไปในลักษณะของ 'การไม่ให้ความเคารพ' หรืออาจจะถึงขั้นที่เป็น 'การลบหลู่' บรรพชนกันเลยด้วยซ้ำ ... แต่ทำไม 'จิวกง' กลับเลือกใช้ถ้อยคำที่ว่านั้น ?!?! ... และใช้ถึง 5 ครั้งติดๆ กันในบทเดียวกันนี้ด้วย ??!! ... มันจึงคิดเป็นอย่างอื่นได้ยากนอกจากจะเชื่อว่า ... นี่คือ 'ความจงใจ' !!!!!??

โดยส่วนตัวแล้วผมมี 'ความเชื่อ' อยู่ว่า มนุษย์ 'ทุกคน' และ 'ทุกเผ่าพันธุ์' ต่างก็มี 'พื้นฐานทางสัญชาตญาณ' ของ 'ความรักอิสระ' ที่ไม่แตกต่างกัน ... เมื่อถึงเวลาที่เจ้า 'สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ' นั้นเติบใหญ่จนมันสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองแล้ว มันก็จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 'ขาลง' ของ 'สิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ๆ' ที่เคยอุ้มชูเลี้ยงดู 'เจ้าตัวเล็ก' เหล่านั้นมา ... ความรู้สึกถึง 'ศักยภาพ' ที่ 'เริ่มจะเหนือกว่า' ก็จะกลายเป็น 'แรงขับ' ให้ 'เจ้าตัวไม่เล็กอีกแล้ว' รู้สึกว่า พวกเขาสามารถที่จะเป็น 'ผู้กำหนดชะตากรรม' ของตนเองได้แล้วอย่างสมบูรณ์ แล้วก็จะก่อตัวจนกลายเป็น 'ความกระหาย' ใน 'อิสระแห่งชีวิต' ซึ่งบ่อยครั้งที่มันจะกลายเป็น 'กรณีพิพาท' ระหว่าง 'เจ้าตัวเคยเล็กกว่า' กับ 'เจ้าตัวเคยใหญ่กว่า' ในทุกๆ เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ... โดย Sigmund Freud เรียกเจ้า 'กรณีพิพาท' ที่ว่านี้ว่า Oedipus Complex หรือ 'ปมออดิปุส' แต่หลายๆ ตำราชอบตีความให้ไปเกี่ยวกับเรื่องของ sex จน Sigmind Freud แทบจะกลายเป็น 'นักจิตวิเคราะห์ติดเรท' ไปตลอดกาล :D

การจัดการกับ 'กรณีพิพาท' ที่ว่านี้เองที่จะมี 'ความแตกต่าง' กันไปในแต่ละวัฒนธรรม แต่โดยสาระสำคัญของมันก็คือเรื่องเดียวกันเสมอ นั่นก็คือ 'เจ้าตัวเคยเล็ก' มักจะรู้สึกว่า 'เจ้าตัวเคยใหญ่' นั้น 'คร่ำครึ', 'โบราณ' และมีวัตรปฏิบัติหลายอย่างที่ 'ไม่เป็นมิตร' หรืออาจจะถึงขั้นที่ 'เป็นพิษต่อความเจริญเติบโต' ของตัวเอง ... นั่นก็คือภาพของ 'กรณีพิพาท' หรือ 'ความขัดแย้ง' ที่เราพบเห็นได้ในครอบครัวส่วนใหญ่ ... ซึ่งหากเราจะมองคำว่า 蠱 (gǔ, กู่) ในความหมายของ 'ความผิดพลาด' หรือ 'ความเป็นพิษร้าย' มันก็ควรจะหมายถึง 'ความไม่สมประกอบ' หรือ 'ความไม่ชอบด้วยหลักการ' ใน 'ความรู้สึก' ของ 'เจ้าตัวเคยเล็ก' มากกว่าที่จะสื่อไปถึง 'ความผิดบาปที่แท้จริง' ซึ่งบรรพชนรายใดรายหนึ่งก่อเป็น 'มรดกบาป' ไว้ให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง ... นี่ก็คือ 'ความหมาย' ที่ 'จิวกง' น่าจะ 'จงใจ' ซุกซ่อนเอาไว้ภายใต้ถ้อยคำที่ดูขัดแย้งกับ 'หลักจริยธรรม' ที่ได้รับการเผยแพร่ไว้ในวัฒนธรรมของชาวจีน

อย่างไรก็ตาม คำว่า 父 (fù, ฟู่) และ 母 (mǔ, หฺมู่) ซึ่งสะท้อนความหมายของ 'พ่อ' และ 'แม่' นั้น ในแง่ของ 'สัญลักษณ์' เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า นี่คือ 'พลังแห่งหยาง' (☰) กับ 'พลังแห่งหยิน' (☷) ที่ขับเคลื่อนกลไกแห่งจักรวาลตามคติความเชื่อของชาวจีนด้วย วลีที่ว่า 父之蠱 หรือ 母之蠱 จึงอาจจะหมายถึง 'ความเป็นโทษ' ของ 'พลังแห่งหยาง' และ 'พลังแห่งหยิน' ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'ความไม่เข้าใจ' หรือ 'การเลือกใช้' อย่าง 'ผิดกาละ-เทศะ' ของมนุษย์เอง แล้วก็แน่นอนว่า การแก้ไข 'ความบกพร่อง' หรือ 'ความผิดพลาด' ที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น ย่อมต้องอาศัย 'ความระมัดระวัง' หรือ 'ความใคร่ครวญ' ที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิมเสมอ ...

ดังนั้น ผมจึงอยากจะหมายเหตุไว้ล่วงหน้าว่า 'การตีความ' ของบทนี้อาจจะไม่ได้ 'ตีความ' กันตามตัวอักษรเหมือนในอีกหลายๆ บทที่ผ่านมา เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ 'จิวกง' จะเลือกใช้ 'ความขัดแย้งทางจริยธรรม' ตามที่อธิบายไว้นี้เป็นเงื่อนไขในการ 'กระเทาะความรู้สึก' ของใครอีกหลายๆ คนให้ต้องหวนกลับมาทบทวนอีกหลายๆ รอบด้วยว่า ... 'ความคร่ำครึ' หรือ 'ความเป็นพิษ' ที่ 'เจ้าตัวเคยเล็ก' ส่วนใหญ่ชอบ 'ตีขลุม' กันไปเองนั้น แท้ที่จริงแล้วเคยมีการสำรวจตรวจทานกันหรือไม่ว่า มันเป็น 'ข้อเท็จจริง' หรือเป็นเพียง 'ความรู้สึก' ที่ 'ขัดแย้งอยู่ภายในจิตใจ' ของ 'เจ้าตัวเคยเล็ก' แต่เพียงฝ่ายเดียวกันแน่ ??!!

 

หนึ่ง หยิน :
 
幹父之蠱有子考無咎厲終吉
gàn fù zhī gǔ yǒu zǐ kǎo wú jiù lì zhōng jí
กั้น ฟู่ จือ กู่ โหฺย่ว จื่อ เข่า อู๋ จิ้ว ลี่ ง จี๋


幹 อ่านว่า gàn (กั้น) สามารถแปลว่า 'ไม้นั่งร้าน' (榦) ซึ่งใช้ใน 'การก่อสร้าง' กำแพง, บางครั้งมันก็ยังถูกแปลว่า 'ส่วนที่งอกออกมา' หรือ 'อวัยวะที่งอกออกมา' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'กิ่งก้านสาขา' ของต้นไม้ หรือ 'แขน-ขา' ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งก็คงจะแผลงมาจาก 'ท่อนไม้' หรือ 'ท่อนซุง' ที่นำมาใช้กับงาน 'ก่อสร้าง' นั่นเอง ; จากความหมายของ 'แขน-ขา' ก็เลยแผลงมาเป็น 'การจัดการ', 'การทำงาน', 'การดำเนินงาน', 'ความสามารถในการทำงาน' ตลอดจนหมายถึง 'ภาระกิจ' ที่จะต้อง 'ดำเนินการ' ด้วย

考 อ่านว่า kǎo (เข่า) แปลว่า 'ทดสอบ', 'ตรวจสอบ', 'สำรวจ', 'พิสูจน์', 'ศีกษาค้นคว้า', 'วิจัย' ; สามารถแปลว่า 'เสร็จสมบูรณ์', 'เรียบร้อยแล้ว' ในลักษณะที่เหมือนกับใช้ 'การตรวจสอบ' เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการก็ได้ ; บางกรณีก็แปลว่า 'สูงวัย', 'มีอายุมาก' ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'ผ่านโลกมามาก' ; แต่ถ้าในความหมายว่า 'เสร็จสมบูรณ์' ถ้าใช้กับคนจะหมายถึง 'ตายไปแล้ว' โดยเฉพาะใช้กับ 'บิดาผู้ล่วงลับ' ; ในกรณีของ 'การทดสอบ' หากเป็น 'การทดสอบกำลัง' ก็จะหมายถึง 'การต่อสู้', 'การรบ' หรือ 'การทรมาน' ... อันนี้ลอกมาจากวรรคที่หกของบทที่สิบทั้งดุ้นเลย :)

厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย ... นี่ก็ลอกมาจากวรรคที่สามของบทที่หนึ่งทั้งดุ้นเหมือนกัน :P

ถ้าอ่านป๊าดเดียวก็น่าจะได้ใจความว่า 'การดำเนินการ (幹) กับภาระกิจที่คั่งค้างไว้ของบิดา (父之蠱) ถ้าได้บุตรธิดา (有子) มาสานต่อให้สมบูรณ์ (考) ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก (無咎) แต่ประการใด ปัญหาหรืออุปสรรคที่เลวร้ายทั้งหลาย (厲) ย่อมจะคลี่คลายเป็นผลดีได้ในบั้นปลาย (終吉) เสมอ' ... แต่ ... ผมก็ยังรู้สึกว่าความหมายของมันออกจะทะแม่งๆ อยู่ซักหน่อย ... :P

เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า โดยปรกติแล้ววรรคแรกของ 'จิวกง' มักจะพยายามสะท้อนความหมายบางอย่างมาจากสิ่งที่ King Wen บันทึกเอาไว้ในบทนั้นๆ ... ซึ่ง ... สิ่งที่ King Wen บันทึกคำบรรยายเอาไว้ในบทนี้กลับไม่มีข้อความใดๆ ที่จะสามารถสื่อไปถึงเรื่องของ 'บิดา' และ 'บุตรธิดา' เลยแม้แต่ส่วนเดียว !!?? ... แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในวลีของ King Wen กลับสื่อถึงช่วงเวลา 'ก่อน' (先) และ 'หลัง' (後) ของ 'การลงมือกระทำการ' หนึ่งๆ ลงไป นั่นก็คือความหมายของ 幹 (gàn, กั้น) นั่นเอง ... และทำให้อักษร 子 (zǐ, จื่อ) ที่เห็นในวลีนี้น่าจะหมายถึง 'ผลพวง' หรือ 'ผลลัพธ์', และอาจจะหมายถึง 'ความเล็ก' หรือ 'ความละเอียด' ในลักษณะที่เป็น 'การคิดหน้า-คิดหลัง' ดังที่ King Wen บันทึกเอาไว้ตรงช่วงท้ายของวลีมากกว่าที่จะหมายถึง 'บุตรธิดา' อย่างที่หลายๆ ตำรา 'ตีความ' เอาไว้ โดยมี 考 (kǎo, เข่า) ซึ่งเป็น synonym กับ 甲 (jiǎ, เจี่ย) มากำกับเอาไว้ในความหมายของ 'การสำรวจตรวจสอบ' หรือ 'การทบทวน' อย่างตรงๆ ตัว ... ถ้างั้น ... อักษร 父 (fù, ฟู่) ในวรรคนี้ กับอักษร 母 (mǔ หฺมู่) ในวรรคถัดไปควรจะหมายถึงอะไร ??!!??

ความจริงแล้ว King Wen เอ่ยถึง 2 ประเด็นหลักไว้ในคำบรรยายของบทนี้นะครับ ... ประเด็นแรกก็คือ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ที่สามารถหมายถึง 'การเริ่มต้น' หรือ 'ความริเริ่ม' ซึ่งสื่อถึง 'พลังแห่งหยาง' ... ส่วนประเด็นที่สองก็คือ 亨 (hēng, เฮิง) ซึ่งหมายถึง 'การพัฒนา', หรือ 'ความก้าวหน้า' อันเป็น 'พลังแห่งหยิน' ที่สะท้อนถึง 'การโอบอุ้มค้ำชู' ให้ทุกสิ่งดำเนินต่อไปได้ 'อย่างราบรื่น' ... มันจึงค่อนข้างชัดเจนว่า 父 (fù, ฟู่) ที่เห็นในวรรคแรกนี้ก็คือ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) หรือ 'ความริเริ่ม' ในขณะที่ 亨 (hēng, เฮิง) ที่แปลว่า 'การพัฒนา' หรือ 'การสานต่อ' นั้นก็คือ 母 (mǔ หฺมู่) ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ในวรรคถัดไป !!!??

ความหมายจริงๆ ที่ 'จิวกง' น่าจะพยายามบอกกับพวกเราในวรรคนี้ก็คือ 'การดำเนินงาน (幹) --เพื่อสานต่อ--ความริเริ่มที่ยังคั่งค้าง (父之蠱 = 元之蠱) พึงมีความละเอียดถี่ถ้วน (有子) ในการสำรวจตรวจสอบ (考) เพื่อปรับปรุงไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด (無咎) ความทุ่มเทและเอาใจใส่อย่างจริงจัง (厲) ย่อมโน้มนำให้ภาระกิจนั้นๆ ประสบผลสำเร็จได้ในบั้นปลาย (終吉)'

คำที่น่าสนใจในวลีนี้น่าจะเป็นคำว่า 有子 (yǒu zǐ, โหฺย่ว จื่อ) ซึ่งสามารถดิ้นได้หลายความหมาย เพราะ 子 (zǐ, จื่อ) สามารถแปลได้ทั้ง 'บุตร-ธิดา', 'ผลพวง', 'ผลลัพธ์' และ 'สิ่งเล็กๆ' หรือ 'ความละเอียด' ทั้งยังสามารถแปลว่า 'ปราชญ์ผู้รอบรู้' ได้อีกด้วย โดย 'จิวกง' อาจจะมีความต้องการสื่อถึง 'ความละเอียด' และ 'ผลลัพธ์' ไปพร้อมๆ กัน เพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่พึงปฏิบัติในช่วงเวลา 'ก่อน' (先) และ 'หลัง' (後) ของการดำเนินงาน นั่นก็คือจะต้องมีทั้ง 'ความละเอียดรอบคอบ' (子) และต้องมี 'การตรวจสอบเพื่อประเมินผล' (考) ควบคู่กันไปเสมอ ... ซึ่ง ... นี่อาจจะเป็นชนวนให้ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 父 (fù, ฟู่) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ 'หยาง' มาใช้แทนความหมายของ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ในวลีของ King Wen โดยมีผลข้างเคียงเป็น 'การกระตุ้น' ให้เกิด 'ความรู้สึกขัดแย้ง' ในแง่ของ 'หลักจริยธรรม' เพื่อจะนำไปสู่ 'ความใคร่ครวญ' หรือ 'การขบคิด' เกี่ยวกับ 'กรณีพิพาท' ภายในครอบครัวส่วนใหญ่ของมนุษย์ดังที่เล่าไว้ใน 'หมายเหตุก่อนการถอดความ' แล้ว ...

จะเห็นว่า เมื่อเราตัดประเด็นของ 'พ่อ-ลูก' ออกไปจากบทบันทึกที่กำกับด้วยอักษร 父 (fù, ฟู่) และ 子 (zǐ, จื่อ) ในวรรคนี้ ความหมายของวลี 有子考 (yǒu zǐ kǎo, โหฺย่ว จื่อ เข่า) ก็จะมีความหมายตรงกับ 先甲三日‧後甲三日 (xiān jiǎ sān rì hòu jiǎ sān rì, เซียน เจี่ย ซัน ญื่อ โฮ่ว เจี่ย ซัน ญื่อ) ของ King Wen ซึ่งหมายถึง 'การคิดหน้า-คิดหลังอย่างถี่ถ้วน' ทันที ... ในขณะเดียวกัน 厲 (lì, ลี่) ซึ่งสามารถแปลว่า 'เอาใจใส่' หรือ 'ทุ่มเท' ก็มีทั้ง 'ความพ้องเสียง' และ 'พ้องความหมาย' กับ 利 (lì, ลี่) ที่ King Wen เลือกใช้ จึงทำให้ 厲終吉 (lì zhōng jí, ลี่ ง จี๋) ในวลีของ 'จิวกง' กับ 利涉大川 (lì shè dà chuān, ลี่ เษ้อ ต้า วน) ในวลีของ King Wen มีความหมายที่ใกล้เคียงจนแทบจะเป็น synonym ของกันและกันไปด้วย

 

สอง หยาง :

幹母之蠱不可貞
gàn mǔ zhī gǔ bù kě zhēn
กั้น หฺมู่ จือ กู่ ปู้ เข่อ เจิ


การที่ผมไม่ 'ตีความ' ให้วลีของ 'จิวกง' ไปพาดพิงถึง 'พ่อ' หรือ 'แม่' นั้นก็เพราะถ้อยคำที่กลับตาลปัตรของ 'จิวกง' ในวรรคนี้นี่แหละ เพราะถ้าเรา 'ถอดความ' ให้ 父之蠱 (fù zhī gǔ, ฟู่ จือ กู่) หมายถึง 'ภาระกิจของพ่อ' วลีที่ว่า 母之蠱 (mǔ zhī gǔ, หฺมู่ จือ กู่) ในวรรคนี้ก็จะกลายเป็น 'ภาระกิจของแม่' ไปด้วย ... ซึ่ง ... คำแนะนำของ 'จิวกง' ที่บอกให้ 'ทุ่มเทอย่างเต็มที่' หรือ 厲 (lì, ลี่) ใน 'ภาระกิจของพ่อ' แต่กลับบอกว่า 'อย่าเข้มงวดหักโหม'  หรือ 不可貞 (bù kě zhēn, ปู้ เข่อ เจิน) กับ 'ภาระกิจของแม่' ก็ดูจะกลายเป็นข้อแนะนำที่ขัดแย้งกันเองทันที ราวกับมีความเหลื่อมล้ำลำเอียงต่อ 'ภาระกิจของบุพการี' จนกลายเป็น 'สองมาตรฐาน' ขึ้นมา ... ดังนั้น ...

ความหมายที่ 'ควรจะเป็น' ของวรรคนี้ก็คือ 'การดำเนินงาน (幹) --เพื่อสานต่อ--ภาระกิจที่ยากลำบากต่อการพัฒนา (母之蠱 = 亨之蠱) ไม่ควรใช้ (不可) ความแข็งขืนด้วยกฎระเบียบ (貞) ที่เข้มงวดจนเกินไป' ... อันไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ 'ภาระกิจของผู้เป็นแม่' อย่างแน่นอน ;)

ถ้าเราพิจารณาที่ 'ความต่อเนื่อง' ของเนื้อความจากวรรคที่หนึ่งมาวรรคที่สอง เราก็จะพบว่า 'จิวกง' แนะนำให้ใช้ 'ความละเอียดรอบคอบ' ใน 'การทบทวน' เพื่อ 'ขจัดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น' (有子考無咎) ในวรรคที่หนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่า 'จิวกง' สอนให้มี 'ความยอมรับ' ต่อ 'ความผิดพลาด' อยู่ในระดับหนึ่งอย่างชัดเจน การเอ่ยถึง 'ภาระกิจที่ยากลำบากต่อการพัฒนา'  (母之蠱) ในวรรคที่สอง จึงต้องถูกสำทับด้วย 'การไม่ควรบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวด' (不可貞) ... เพื่อถ่วงดุลกับคำว่า 厲 (lì, ลี่) ในวรรคก่อนที่ซ่อนความหมายของ 'ความเอาจริงเอาจัง' เอาไว้ ... เพราะสิ่งที่พึงกระทำก็คือ 'การเอาจริงเอาจังต่อภาระกิจที่คั่งค้าง' ไม่ใช่ 'การเอาเป็นเอาตายกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น' ในกรณีที่ภาระกิจนั้นๆ มี 'ความยากลำบาก' (蠱) ต่อ 'การดำเนินงานให้ลุล่วง' (亨) ซึ่งในวรรคนี้ถูกแทนด้วยความหมายของ 'การอุปถัมภ์ค้ำชูโดยมารดา' (母) นั่นเอง ;)

 

สาม หยาง :
 
幹父之蠱小有悔無大咎
gàn fù zhī gǔ xiǎo yǒu huǐ wú dà jiù
กั้น ฟู่ จือ กู่ เสี่ยว โหฺย่ว หุ่ย อู๋ ต้า จิ้ว


คำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', โดยเล่าไว้ตั้งแต่บทที่หนึ่งแล้วว่า คำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้จะใช้คำว่า repent ซึ่งหมายถึง 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ไม่ใช่ 'ความเสียใจ' ในลักษณะของ sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก ; สำหรับความหมายข้างเคียงของ 悔 (huǐ, หุ่ย) ก็ยังสามารถหมายถึง 'อึดอัดใจ', 'คับข้องใจ' หรือ 'ไม่สบายใจ' กับ 'ความบกพร่อง' หรือ 'ความผิดพลาด' จากการกระทำ 'ของตนเอง' ได้ด้วย

เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำที่ 'ต่อเนื่อง' กันมาของ 'จิวกง' ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะมีใจความว่า 'การดำเนินงาน (幹) --เพื่อสานต่อ--ภาระกิจที่ยังคั่งค้างจากการริเริ่ม (父之蠱) นั้น หากมีความระมัดระวัง (小 ในความหมายของ 小心) และมีสำนึก (有悔) ที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดไปทีละเล็กละน้อย (小有悔) ย่อมสามารถหลีกพ้น (無) ภัยพิบัติอันใหญ่หลวง (大咎) ไปได้'

วรรคนี้ผม 'ตีความ' โดยขยายวลี 小有悔 (xiǎo yǒu huǐ, เสี่ยว โหฺย่ว หุ่ย) ออกเป็นสองความหมายที่ต่อเนื่องกันคือ 'มีความระมัดระวัง' (小心) และ 'มีความสำนึกเสียใจต่อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น' (有悔) ซึ่งจะนำไปสู่ 'การปรับปรุงแก้ไขทีละเล็กละน้อย' (小有悔) อันเป็นการสะท้อนถึงข้อแนะนำให้ 'หมั่นสำรวจตรวจสอบทุกๆ ระยะ' ของ 'การดำเนินงาน' นั่นเอง ... โดยถ้อยคำตามที่ว่านี้ก็จะส่งต่อความหมายไปยังวรรคที่สี่ ซึ่งถือเป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่สามในแต่ละบทมาโดยตลอด

 

สี่ หยิน :

裕父之蠱往見吝
yǜ fù zhī gǔ wǎng jiàn lìn
ยฺวี่ ฟู่ จือ กู่ หฺวั่ง เจี้ยน ลิ่น


裕 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ร่ำรวย', 'มากมาย', 'เหลือเฟือ', 'สุขสบาย', 'ไม่ต้องเหนื่อยยาก' หรือ 'ไม่ต้องใช้ความพยายาม'

สำหรับ 吝 (lìn, ลิ่น) เป็นคำที่เคยเล่าไว้ตั้งแต่บทที่สามว่า หมายถึง 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; จึงมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ'

หากไล่เรียงวลีทั้งหมดของ 'จิวกง' มาตั้งแต่วรรคที่หนึ่ง คำว่า 裕 (yǜ, ยฺวี่) ในที่นี้ก็น่าจะมีความหมาย 'ตรงข้าม' กับ 幹 (gàn, กั้น) อย่างค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น เมื่อเรากำหนดให้ 幹 (gàn, กั้น) หมายถึง 'การดำเนินงาน' ซึ่งจะต้องใช้ทั้ง 'ความระมัดระวัง', 'ความมีระเบียบวินัย', 'ความละเอียดรอบคอบ' ใน 'การสำรวจตรวจสอบ' เพื่อ 'ปรับปรุงแก้ไข' ในแต่ละขั้นตอน 'อย่างทุ่มเท' ... 裕 (yǜ, ยฺวี่) ก็น่าจะหมายถึง 'ความสุขสบาย', 'ความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ', 'ความไม่กระตือรือร้น' รวมไปถึง 'ความไม่เอาใจใส่' และ 'ความไม่ทุ่มเท' ... ประมาณว่า ปล่อยให้ทุกเรื่องราวผ่านไปวันๆ โดย 'ไม่มีความสนใจใยดี' เพราะ 'เอาแต่ความสะดวกสบาย' เป็นที่ตั้ง ... ถ้าแปลกันหยาบๆ ก็น่าจะหมายถึง 'ความมักง่าย' นั่นเอง

ความหมายของวรรคนี้จึงมี 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่สามอย่างชัดเจนว่า 'หากไม่ทุ่มเทความพยายาม (裕) ให้กับภาระกิจที่คั่งค้างจากการริเริ่มเอาไว้ (父之蠱) ผลสนองที่ได้รับ (往) ก็จะมีเพียง (見) ความน่าอดสู โดยปราศจากความสำเร็จที่เป็นชิ้นเป็นอัน (吝) ใดๆ'

 

ห้า หยิน :
 
幹父之蠱用譽
gàn fù zhī gǔ yòng yǜ
กั้น ฟู่ จือ กู่ โยฺว่ง ยฺวี่


เล่าย้อนคำว่า 譽 (yǜ, ยฺวี่) ซะหน่อยแล้วกัน เพราะเคยเล่าไว้ตั้งแต่บทที่สองนู่น คำนี้แปลว่า 'ยกย่อง', 'สรรเสริญ', 'เกียรติยศ', 'ชื่อเสียง', 'ความเคารพนับถือ', โดยในสมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับ 豫 (yǜ, ยฺวี่) ที่แปลว่า 'พอใจ', 'สบาย', หรือ 'เอกเขนก'

ที่เห็นกันจะๆ ในวรรคนี้ก็คือ 'จิวกง' เล่น 'คำพ้องเสียง' ของ 譽 (yǜ, ยฺวี่) กับ 裕 (yǜ, ยฺวี่) ในวรรคที่สี่ได้อย่างน่าสนใจมาก เพราะแม้ว่าในบางแง่มุมของคำทั้งสองนี้จะมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน แต่ 裕 (yǜ, ยฺวี่) ของวรรคที่สี่จะมีความหมายในลักษณะของ 'การหาความสะดวกสบายให้กับตัวเอง' ในขณะที่ 譽 (yǜ, ยฺวี่) ในวรรคนี้จะมีความหมายคล้ายๆ กับ 'การมอบความสุขสบายให้แก่ผู้อื่น' ... นี่ก็คือ 'ความตรงข้าม' ที่แตกต่างกันในแง่ของ 'ความสบาย' ของคำทั้งสองล่ะ !! ;)

แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในลำดับวรรคของ 'จิวกง' ก็คือ ความเป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่สองกับวรรคที่ห้าในแต่ละบท อันเป็นปัจจัยสำคัญของการ 'กำหนดกรอบ' ให้กับความหมายของวลีต่างๆ ที่ 'จิวกง' เลือกใช้มาโดยตลอด ซึ่ง 'วลีคู่' ในที่นี้ก็คือ 幹母之蠱不可貞 . 幹父之蠱用譽 (gàn mǔ zhī gǔ bù kě zhēn . gàn fù zhī gǔ yòng yǜ, กั้น หฺมู่ จือ กู่ ปู้ เข่อ เจิน . กั้น ฟู่ จือ กู่ โยฺว่ง ยฺวี่) ... เมื่อวรรคที่สอง 'ถอดความ' ได้ว่า 'การสานต่อภาระกิจที่ยากลำบากต่อการพัฒนา ไม่ควรใช้ความแข็งขืนด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป' ความตอนต่อจากนั้นจึงมีเนื้อความว่า 'การดำเนินงาน (幹) --เพื่อสานต่อ--ความริเริ่มที่ยังคั่งค้าง (父之蠱) ต้องอาศัย (用) การสร้างขวัญและกำลังใจ (譽 คือการยกย่องชมเชยผู้ที่กระทำความดี) เป็นหลักสำคัญ' ... โอ้ว ... เด็ดครับเด็ด !! :D

 

หก หยาง :
 
不事王侯高尚其事
bù shì wáng hóu gāo shàng qí shì
ปู้ ษื้อ วั๋ง โฮ๋ว เกา ษั้ง ชี๋ ษื้


นานๆ จะได้เห็นการใช้คำว่า 事 (shì, ษื้อ) ในลักษณะของ 'คำกริยา' ซักที ปรกติแล้ว 事 (shì, ษื้อ) จะหมายถึง 'เรื่องราว', 'เหตุการณ์', 'ภาระกิจ', 'หน้าที่', หรือ 'สิ่งที่ต้องปฏิบัติ' เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงหมายถึง 'ปฏิบัติหน้าที่', 'ปฏิบัติงาน', 'รับใช้', 'ไขว่คว้า', 'ติดตาม (งาน)', 'มอบหมายงาน'

คำว่า 王 (wáng, วั๋ง) กับ 候 (hóu, โฮ๋ว) นั้นมีความหมายตามตัวอักษรว่า 'พระราชา' กับ 'ขุนนาง (ผู้ใหญ่)' ซึ่งต่อให้คำว่า 父 (fù, ฟู่) กับ 母 (mǔ, หฺมู่) ในบทนี้หมายถึง 'พ่อ' และ 'แม่' จริงๆ ผมก็มองไม่เห็นส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อความที่จะมีความเกี่ยวข้องกับ 'พระราชา' หรือ 'ขุนนาง' ได้เลย ... เพราะฉะนั้น อักษรคู่นี้จึงน่าจะถูก 'จิวกง' ใช้ในลักษณะของ 'การเปรียบเปรย' อีกเหมือนกัน ... ??!!

หากเราย้อนกลับไปดูที่คำว่า 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) และ 亨 (hēng, เฮิง) ที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ใน 'วลีประจำบท' เราก็พบว่า 'จิวกง' ได้จัดแจงเปลี่ยนคำให้กลายเป็น 父 (fù, ฟู่) และ 母 (mǔ, หฺมู่) เพื่อสะท้อนถึง 'ความริเริ่ม' และ 'การโอบอุ้มอุปถัมภ์' มาโดยตลอดทั้งห้าวรรค ซึ่งจริงๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่าง 'พระราชา' (王) กับ 'ขุนนาง' (候) ก็จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือมี 'ฝ่ายที่ริเริ่ม' และ 'ฝ่ายที่รับสนองด้วยการปฏิบัติ' เพื่อให้ 'บรรลุผล' ... หรือเราจะมองให้อยู่ในลักษณะของ 'ผู้นำ' และ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ก็ไม่แปลกอะไร

สำหรับคำว่า 尚 อ่านว่า shàng (ษั้ง, ษ้าง) แปลว่า 'ยังมีอีก', 'ยังเหลืออีก', 'นอกเหนือจาก', 'นอกจากนั้น' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ที่ให้ความเคารพ', 'ที่มีความสำคัญ' ในลักษณะคล้ายกับ 'ที่นอกเหนือจากธรรมดา' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'เน้นย้ำ' ; บางทียังแปลว่า 'เก่าแก่', 'อดีตกาลอันไกลโพ้น' ; และยังสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'โดยประมาณ'

ในเมื่อวลีต่างๆ ของ 'จิวกง' ในแต่ละบทจะถูกลำดับไว้เป็นคู่ๆ โดยมีคู่ของวรรคที่หนึ่งกับวรรคที่หก, วรรคที่สองกับวรรคที่ห้า, และวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ ซึ่งสองคู่หลังของบทนี้ได้เล่าไปจนครบแล้ว ดังนั้นคู่สุดท้ายที่กำลังจะเอ่ยถึงจึงมีใจความว่า ... 'การดำเนินงาน--เพื่อสานต่อ--ความริเริ่มที่ยังคั่งค้าง พึงมีความละเอียดถี่ถ้วนในการสำรวจตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ความทุ่มเทและเอาใจใส่อย่างจริงจัง ย่อมโน้มนำให้ภาระกิจนั้นๆ ประสบผลสำเร็จได้ในบั้นปลาย' (幹父之蠱有子考無咎厲終吉 จากวรรคที่หนึ่ง) ... ซึ่งจะต่อด้วยเนื้อความว่า 'ไม่เจาะจงว่า (不) การปฏิบัติภาระกิจนั้นๆ (事) จะอยู่ในกระบวนการของการริเริ่ม (王 = 元 = 先) หรือการติดตามเพื่อพัฒนาให้มีความคืบหน้า (侯 = 亨 = 後) ทุกๆ ขั้นตอนล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และต้องได้รับความเอาใจใส่ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน (高尚其事) เสมอ' ... ถ้าถึงขนาดนี้แล้วยังมีใครยืนยันว่า 'จิวกง' เขียน 'ตำราหมอดู' ผมว่าน่าจะจับส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าได้แล้วล่ะมั้ง !!?? ... :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'กู่' คือ ความใคร่ครวญ และการสำรวจตรวจสอบ, ลมโชยเฉื่อยใต้ภูผา

'ความริเริ่ม' และ 'การพัฒนา' เพื่อจะสามารถ 'ฟันฝ่าทุกอุปสรรค' ไปได้ด้วยดีนั้น พึงมี 'ความเตรียมพร้อม' อย่าง 'รอบด้าน' และต้อง 'หมั่นทบทวน' ถึง 'ผลลัพธ์' ที่ตามมา 'อย่างละเอียด'

  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อสานต่อ 'ความริเริ่ม' ที่ยัง 'คั่งค้าง' พึงมี 'ความละเอียดถี่ถ้วน' ใน 'การสำรวจตรวจสอบ' เพื่อ 'ปรับปรุงแก้ไข' 'ข้อผิดพลาด' ; 'ความทุ่มเท' และ 'เอาใจใส่อย่างจริงจัง' ย่อมโน้มนำให้ภาระกิจนั้นๆ ประสบ 'ผลสำเร็จ' ได้ใน 'บั้นปลาย'
  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อสานต่อ 'ภาระกิจที่ยากลำบาก' ต่อ 'การพัฒนา' ไม่ควรใช้ 'ความแข็งขืน' ด้วย 'กฎระเบียบ' ที่ 'เข้มงวด' จนเกินไป
  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อสานต่อ 'ภาระกิจที่คั่งค้าง' จาก 'การริเริ่ม' นั้น หากมี 'ความระมัดระวัง' และมี 'สำนึก' ที่จะ 'ปรับปรุงแก้ไข' 'ข้อผิดพลาด' ไป 'ทีละเล็กละน้อย' ย่อมสามารถ 'หลีกพ้น' 'ภัยพิบัติอันใหญ่หลวง' ไปได้
  •  
  • หากปราศจาก 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ให้กับ 'ภาระกิจที่คั่งค้าง' จาก 'การริเริ่ม' เอาไว้ 'ผลสนอง' ที่ได้รับ ก็จะมีเพียง 'ความน่าอดสู' โดยปราศจาก 'ความสำเร็จ' ที่ 'เป็นชิ้นเป็นอัน' ใดๆ
  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อสานต่อ 'ความริเริ่ม' ที่ยัง 'คั่งค้าง' ต้องอาศัย 'การสร้างขวัญและกำลังใจ' เป็น 'หลักปฏิบัติสำคัญ'
  •  
  • ไม่จำเพาะเจาะจงว่า 'การปฏิบัติภาระกิจ' หนึ่งๆ จะเป็น 'การริเริ่ม' หรือ 'การติดตาม' เพื่อ 'พัฒนา' ให้มี 'ความคืบหน้า' ทุกๆ 'ขั้นตอน' ล้วนแล้วแต่มี 'ความสำคัญ' และต้องได้รับ 'ความเอาใจใส่' ที่ 'ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน' เสมอ


 

The Organization Code :



'ความใคร่ครวญ' คือปฏิบัติการที่อาศัย 'นโยบายการคลัง' (☴) สนับสนุน 'ความสั่งสมความมั่งคั่ง' (☶) ; พึงใช้ 'นโยบาย' ที่ 'เปิดกว้าง' แต่ 'จริงจัง' (⚎), มี 'การบริหาร' ที่ 'เข้มข้น' แต่ 'ยืดหยุ่น' (⚍), พร้อมทั้ง 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่ให้ 'ความร่วมมือ' อย่าง 'เอาการเอางาน' (⚎) 

'การใคร่ครวญ' คือ 'การย้ำคิด' และ 'การย้ำทำ' ต่อ 'ภาระกิจที่ยังคั่งค้าง' ไม่ว่าจาก 'การริเริ่ม' หรือ 'การติดตาม' เพื่อ 'ผลักดัน' ให้มี 'ความคืบหน้า' ไปสู่ 'เป้าหมาย' ด้วย 'ความระมัดระวัง'

  •  
  • 'การริเริ่ม' ภาระกิจใดๆ หากประสงค์ที่จะ 'ดำเนินการ' ให้ประสบ 'ความสำเร็จ' ย่อมต้องใช้ 'ความละเอียดถี่ถ้วน' ใน 'การกำหนดแผนงาน' และต้อง 'กำหนดกรอบเกณฑ์' ที่ 'เหมาะสม' สำหรับ 'การสำรวจตรวจสอบ' เพื่อ 'ประเมินผล' ในแต่ละระยะของ 'การปฏิบัติงาน' เพื่อ 'ติดตาม', 'แก้ไข', และ 'ปรับปรุง' 'ข้อผิดพลาด' ใน 'กระบวนการทำงาน' ได้อย่าง 'ทันท่วงที' ; 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความเอาใจใส่' อย่าง 'จริงจัง' ใน 'ทุกรายละเอียด' ย่อมนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' แห่ง 'เป้าหมาย' ในบั้นปลาย
  •  
  • สำหรับ 'ภาระกิจที่ยากลำบาก' ต่อ 'การดำเนินงาน' ให้ 'สำเร็จ' อย่าง 'ราบรื่น' 'ข้อผิดพลาด' ใดๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ 'การยอมรับ' ใน 'ข้อจำกัด' ต่างๆ ของ 'กระบวนการทำงาน' และ 'การเปิดกว้างทางความคิด' เพื่อที่จะทำการ 'ปรับปรุงแก้ไข' 'รายละเอียด' ต่างๆ ตลอดจนแม้แต่ 'ระบบระเบียบ' หรือ 'ข้อบังคับ' ที่เกี่ยวข้อง ย่อมเป็น 'คุณประโยชน์' ต่อ 'การดำเนินงาน' ไปสู่ 'จุดหมาย' ยิ่งกว่าการอาศัยเพียง 'การบังคับใช้กฎเกณฑ์' อย่าง 'เข้มงวด' ตลอดเวลา
  •  
  • 'ความริเริ่ม' ย่อมหมายถึง 'การสร้างสรรค์สิ่งใหม่' หรือ 'การเปลี่ยนแปลง' เพื่อ 'พัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม' ให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ว่าในกรณีใดก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ 'ความใคร่ครวญ' อย่าง 'รอบด้าน' เสมอ และต้องมี 'จิตสำนึก' ที่สามารถแยกแยะระหว่าง 'ความผิดแปลก' กับ 'ความผิดพลาด' ได้ 'อย่างชัดเจน' เพื่อที่จะเลือก 'ปรับปรุงตัวเอง' ให้เข้ากับ 'สิ่งที่แตกต่าง' หรือ 'ปรับปรุงข้อผิดพลาด' ที่เกิดขึ้น 'ทีละเล็กทีละน้อย' ... 'ความขัดแย้ง' ถึงขั้นที่จะก่อให้เกิด 'ความแตกแยก' จนกลายเป็น 'ภัยพิบัติอันใหญ่หลวง' ย่อมสามารถที่จะ 'หลีกเลี่ยง' ไปได้
  •  
  • 'การปฏิบัติภาระกิจ' ใดๆ หากไม่มี 'ความทุ่มเท' ไม่มี 'ความวิริยะอุตสาหะ' มุ่งหวังเพียงให้ทุกอย่าง 'สำเร็จโดยง่าย' 'ปล่อยปละละเลย' ทุกเรื่องราวให้เป็นไปตาม 'ยถากรรม' ทั้งยังไม่คิดที่จะ 'พยายาม' แก้ไข 'ปรับปรุง' ใดๆ ให้ 'เหมาะสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' ... ต่อให้ 'กระทำการ' ได้ 'สำเร็จ' ก็จะได้รับเพียง 'ถ้อยคำที่ถากถาง' หาใช่ 'คำยกย่องสรรเสริญ' แต่ประการใดไม่
  •  
  • 'การสานสร้าง' 'ภาระกิจที่คั่งค้างไว้' ให้สามารถดำเนินไปสู่ 'ความสำเร็จ' ให้จงได้นั้น ต้องอาศัยทั้ง 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' จาก 'ทุกผู้คนที่รายรอบ' การแสดงออกซึ่ง 'ความรับรู้' และ 'การยกย่องชมเชย' ผู้ที่ 'มีส่วนร่วม' ใน 'การผลักดัน' จึงเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติอย่างทั่วถึง
  •  
  • 'การดำเนินงาน' จะต้องให้ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'เนื้องาน' ที่เป็น 'สาระสำคัญ' ของ 'การปฏิบัติภาระกิจ' ไม่ใช่มุ่งแค่ 'การเอาอกเอาใจ' ที่ 'ตัวบุคคล' หรือมัวแต่ 'เกรงอกเกรงใจ' ต่อ 'ตำแหน่งการงาน' ซึ่งเป็นเพียง 'ปัจจัยประกอบ' อันไม่ใช่ 'สาระที่แท้จริง' ของ 'การปฏิบัติภาระกิจ' ให้ลุล่วง


ความจริงแล้ว อักษร 蠱 (gǔ, กู่) ที่นอกจากจะแปลว่า 'พิษ', หรือ 'ความเป็นพิษ' ได้แล้ว ความหมายข้างเคียงก็ยังสามารถหมายถึง 'ความฉ้อฉล' หรือ 'การทุจริต-คอรัปชั่น' ได้ด้วย ... ซึ่ง ... ในแง่ของ The Organization Code แล้ว ☴ (巽 xǜn, ซฺวิ่น) หรือ 'ลม' นี้จะเปรียบได้กับ 'ฝ่ายการเงิน' ได้ถูกนำมา 'ซุก' ไว้ใต้ ☶ (艮 gèn, เกิ้น) หรือ 'ภูเขา' ที่เปรียบได้กับ 'ข้อเท็จจริง' หรือ 'ความน่าเชื่อถือ' มันจึงคล้ายกับมีภาพของ 'การยัดเงินใต้โต๊ะ' ไปด้วย ... ผมจึงมีความรู้สึกว่า การเลือกคำมาใช้เป็น 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ของ King Wen นั้นมีความน่าสนใจไม่น้อยอยู่เหมือนกัน :D

อย่างไรก็ตาม King Wen กลับเลือก 'คำอธิบายชื่อเรียก' ในลักษณะที่มี 'ความเด็ดเดี่ยวห้าวหาญ' ดุจ 'ภูผา' แต่ดำเนินการในลักษณะที่ 'นุ่มนวล' ดั่ง 'สายลม' เพื่อ 'ประคับประคอง' ให้ 'ภาระกิจที่คั่งค้าง' สามารถ 'สั่งสมความคืบหน้า' จน 'บรรลุผลสำเร็จ' ได้ในที่สุด แม้ว่าบางครั้งจะต้องพบกับ 'ข้อผิดพลาด' จาก 'การดำเนินงาน' แต่ก็ด้วย 'ความเอาใจใส่' และ 'ความหมั่นสำรวจตรวจตรา' ทุกๆ 'รายละเอียด' นั้นเองที่จะช่วย 'ปัดเป่าปัญหา' ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ... คล้ายกับ 'หนอน' ที่ 'ชอนไช' ไป 'ทุกซอกทุกมุม' เพื่อ 'เก็บเกี่ยวประโยชน์' จาก 'สิ่งที่คั่งค้างไว้' ภายในภาชนะหนึ่งๆ อย่างเต็มที่ของมัน ... หรือคล้ายกับ 'ลม' ที่แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ 'หุบเขา' ที่ 'ปิดล้อมรอบด้าน' แต่ก็ยังสามารถ 'ซอกซอน' ผ่าน 'ช่องเล็กช่องน้อย' ออกไปสู่ภายนอกได้เสมอ ...

แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังของอักษร 蠱 (gǔ, กู่) ที่ King Wen ต้องการจะสื่อออกมาก็คือ 'แม้ว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร หากรู้จักใช้สติ และมีความยับยั้งชั่งใจ อาศัยความละเอียดรอบคอบในการสำรวจตรวจสอบปัญหา และจัดการกับข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวงอย่างถี่ถ้วน ท้ายที่สุดแล้วก็ย่อมพบกับทางออกที่นำไปสู่ความสำเร็จได้' ... ซึ่งในจุดนี้ 'จิวกง' ก็บรรจงเติมคำอรรถาธิบายไว้อย่างละเอียดทั้งในบทที่หก และบทที่สิบแปดได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน ... แต่ ... ทั้งนี้ ... 'ภาพเปรียบเทียบ' ที่สวยที่สุดอีกวลีหนึ่งของ 'จิวกง' นั้น ผมคงต้องยกให้กับวรรคที่สี่ของบทที่หนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ว่า 或躍在淵‧無咎 (huò yuè zài yuān wú jiù, ฮั่ว เยฺวี่ย ไจ้ เยฺวียน อู๋ จิ้ว) ซึ่งมีความหมายว่า 'การจะกระโดดให้สูง ย่อมเริ่มจากการย่อตัวให้ต่ำ ; ไม่ใช่ทั้งเรื่องที่ผิดแปลก หรือสิ่งวิเศษวิโสใดๆ' ... ถือเป็น 'การหยุดยั้ง' เพื่อ 'เสริมกำลัง' ให้กับตนเองที่ดู 'เป็นธรรมชาติ' มากๆ ;)