Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十六卦 : 豫

豫 : 雷地豫 ‧ 震上坤下

豫 : 利建侯行師‧

  • 初六 ‧ 鳴豫‧凶‧
  • 六二 ‧ 介于石‧不終日‧貞吉‧
  • 六三 ‧ 盱豫悔‧遲有悔‧
  • 九四 ‧ 由豫‧大有得‧勿疑‧朋盍簪‧
  • 六五 ‧ 貞疾‧恆不死‧
  • 上六 ‧ 冥豫‧成有渝‧無咎‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สงบนิ่ง (⚏), ปัญญา รัดกุม (⚎), สุขภาพ ผ่อนสบาย (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' หนักแน่น (⚏), 'แผนงาน' พรั่งพร้อม (⚎), 'ปฏิบัติงาน' สุขุมเยือกเย็น (⚏)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความผ่องแผ้วเบิกบาน, อึงอลเหนือพสุธา



ความหมายของชื่อเรียก : Resilience : ความผ่องแผ้วเบิกบาน


อักษร 豫 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) มีความหมายโดยทั่วๆ ไปว่า 'ดีใจ', 'มีความสุข', 'มีความเบิกบานใจ' แต่ก็เป็นความหมายรวมๆ ที่สื่อถึง 'ความอิ่มเอมใจโดยสงบ' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ความร่าเริงบันเทิงใจ' ที่ไม่มี 'ความสำรวม' ในกิริยาท่าทีที่แสดงออก ... ด้วยเหตุนี้ บางตำราจึงให้ความหมายของชื่อบทนี้ว่า Enthusiasm ซึ่งมีลักษณะของ 'ความกระตือรือร้น', หรือ 'ความตื่นตัว' ซึ่งบางกรณีก็คล้ายกับ 'การบรรลุสัจธรรม' หรือ 'ความสิ้นกังวล' หรือบางทีก็แปลแปลชื่อบทนี้ว่า Repose ที่มีความหมายในลักษณะของ 'ความสงบเยือกเย็น' ... อย่างไรก็ตาม Alfred Huang เลือกใช้คำว่า Delight มาแทนความหมายของ 豫 (yǚ, ยฺวี่) ในความหมายว่า 'เบิกบานใจ'

แต่ผมกลับมีความรู้สึกว่า Resilience น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากมันมีความหมายที่ครอบคลุมถึง 'ความยืดหยุ่น' ในลักษณะที่ 'สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยง่าย' อันเป็นลักษณะของ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ที่ปราศจาก 'ความแข็งกร้าว' อันเป็นการสะท้อนถึง 'ความอ่อนน้อม' ที่มี 'ความหนักแน่น' นั่นเอง ... ในขณะเดียวกัน ถ้าใช้คำๆ นี้ในความหมายที่เกี่ยวกับ 'อารมณ์' มันก็จะมีสะท้อนถึง 'ความมั่นคงทางอารมณ์' ซึ่งก็จะแฝงนัยของ 'ความรู้เท่าทัน' ต่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และไม่ปล่อยให้ 'อารมณ์' มีอิทธิพลเหนือ 'สติปัญญา' จนเฉไฉออกนอกลู่นอกทางไปจาก 'เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต' ... ตรงนี้ก็คือความหมายของ 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' ที่ผมต้องการจะสื่อถึง 'ความสงบนิ่งของจิตใจ' อันเป็น 'ความสุขสงบ' และ 'ความเบิกบาน' อันสืบเนื่องมาจาก 'ความปราศจากสิ่งรบกวน' ใดๆ ... และถ้าเรามองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' กับ 'ความอ่อนน้อม' ในบทที่สิบห้า เราก็จะเห็นความหมายที่สื่อไว้ว่า 'การอ่อนน้อม' ที่เอ่ยถึงนั้นย่อมหมายถึง 'การอ่อนน้อม' ที่เกิดจากจิตใจที่ 'เปิดกว้าง' และ 'เบิกบาน' ไม่ใช่จิใจที่เต็มไปด้วย 'ความเก็บกด' หรือ 'ความเคียดแค้นชิงชัง' แต่อย่างใดทั้งสิ้น ;)

สำหรับอักษร 豫 (yǚ, ยฺวี่) นั้นจะประกอบด้วย 'ภาพอักษร' สองส่วนคือ ด้านซ้ายเป็น 'ภาพอักษร' ของ 予 (yǚ, หยฺวี่) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ 'มือที่สอดประสานกัน' โดยมีความหมายเกี่ยวกับ 'การให้', 'การเชื่อมสัมพันธ์' หรือ 'การตอบแทนระหว่างกัน' ... ส่วนทางด้านขวาเป็น 'ภาพอักษร' ของ 象 (xiàng, เซี่ยง) ที่แปลว่า 'ช้าง' แต่บางครั้งก็หมายถึง 'รูปร่าง', 'รูปภาพ', 'รูปจำลอง',  หรือ 'สัญลักษณ์' ได้ด้วย ... ความหมายดั้งเดิมของ 豫 (yǜ, ยฺวี่) จึงหมายถึง 'ยิ่งใหญ่ดั่งช้าง' ซึ่งสื่อถึง 'ความสุขุมเยือกเย็น' แม้ว่าจะมีพละกำลังมาก และอาจจะหมายถึง 'ความโอบอ้อมอารี' หรือ 'ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่' ที่มอบให้แก่ผู้อื่นด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้างเบิกบาน' เสมอ

นอกจากนั้นแล้ว 豫 (yǜ, ยฺวี่) ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 预 (yǜ, ยฺวี่) ซึ่งแปลว่า 'เตรียมพร้อม' หรืออาจจะใช้ในความหมายเดียวกับ 欲 (yǜ, ยฺวี่) ที่หมายถึง 'ฉันทะ' ซึ่งเป็น 'ความปรารถนา', 'ความฝักใฝ่', หรือ 'ความต้องการ' ในทางที่เป็น 'กุศลธรรม' ได้ด้วย ... ถ้าจะแปลชื่อบทนี้ให้ได้ความหมายที่ครอบคลุมจริงๆ ก็น่าจะแปลว่า 'ความพร้อมที่จะมอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นด้วยจิตใจที่ผ่องแผ้วเบิกบาน' และหากเราเปรียบเทียบกับ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบท (䷏) เราก็จะเห็นลักษณะของ การแสดงออกที่สุภาพอ่อนโยน (⚏) ด้วยจิตใจที่สงบเยือกเย็น (⚏) ในขณะที่มีไหวพริบปฏิภาณที่ตื่นตัวทั่วพร้อมต่อทุกๆ สถานการณ์ (⚎) อยู่ตลอดเวลา ... ตรงนี้จึงต้องถือว่า King Wen เลือกเฟ้นคำมาใช้เรียก 'ชื่อสัญลักษณ์' ประจำบทได้อย่างเด็ดขาดมากๆ :)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利建侯行師
lì jiàn hóu xíng shī
ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว ซิ๋ง ซื


จริงๆ แล้วผมไม่สามารถทำใจให้ยอมรับคำแปลของหลายๆ ตำราที่มักจะแปลวลีนี้ของ King Wen ในทำนองว่า 'เป็นสิ่งที่ถูกต้องในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ และทำการเคลื่อนกำลังพล' เพราะมันไม่มีความต่อเนื่องกับความหมายใดๆ ของ 豫 (yǚ, ยฺวี่) เลยซักนิดเดียว ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า King Wen ใช้วลีนี้เพื่อ 'จำกัดความ' ให้กับ 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบทอย่างเฉพาะเจาะจงจริงๆ ... มันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ความหมายของวลีนี้ไม่น่าจะเกิดจากการ 'ตีความ' ตามตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา ... งั้นอะไร !!?

วลีว่า 利建侯 (lì jiàn hóu, ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว) นี้เคยถูกใช้ไปแล้วครั้งหนึ่งโดย King Wen ในบทที่สาม (元亨利貞勿用有攸往利建侯) แล้วก็ถูก 'จิวกง' ใช้ซ้ำลงไปในวรรคที่หนึ่งของบทที่สามด้วยเหมือนกัน (磐桓利居貞利建侯ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'การกำหนดเป้าหมาย' ... ส่วนวลีว่า 行師 (xíng shī, ซิ๋ง ซือ) นั้นถูกใช้โดย 'จิวกง' ในวรรคที่หกของบทที่สิบห้าที่เพิ่งจะผ่านไปหมาดๆ นี่เอง (鳴謙利用行師征邑國) โดยความหมายอาจจะหมายถึง 'ผู้นำที่เก่งกล้าสามารถ' หรืออาจจะหมายถึง 'การดำเนินงานด้วยหลักแห่งผู้นำ' อย่างที่เล่าไปแล้ว เพราะ 師 (shī, ซือ) คือหนึ่งใน 'ชื่อสัญลักษณ์' ที่ King Wen เลือกใช้ให้กับบทที่เจ็ด อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'หลักแห่งผู้นำ' อย่างค่อนข้างชัดเจน ... สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทั้งบทที่สามและบทที่สิบห้านั้นต่างก็มีความเกี่ยวพันกับวลีแรกของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่งด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งก็มีร่องรอยหลายครั้งหลายหนใน 'คัมภีร์อี้จิง' ที่พอจะเชื่อได้ว่า บทบันทึกของ 'จิวกง' นั้นได้พยายามซุกซ่อนความสัมพันธ์ระหว่างบทต่างๆ ของ King Wen เอาไว้อย่างแยบยลมาโดยตลอด การพบเห็นวลีซ้ำซ้อนในลักษณะนี้จึงน่าจะมีประเด็นบางอย่างให่ต้องขบคิดพอสมควร ...

หากเราพิจารณาว่า 'คัมภีร์อี้จิง' เกิดกระบวนการ 'ย้อนรอย' โดยมีบทที่สิบห้าเป็นการวนกลับของ 'วัฏจักรหยิน-หยาง' วลีที่เห็นในบทนี้ก็น่าที่จะมีความเกี่ยวข้องกับวลีที่สองของบทที่หนึ่ง และความหมายเชิงขยายความในบทที่สี่ด้วย โดยมีบทบันทึกของ 'จิวกง' ในบทนี้เป็นตัวเสริมความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ... ดังนั้น เราคงต้องหาทางแคะความหมายจากวลีแวดล้อมอื่นๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกัน

วลีที่สองของบทที่หนึ่งบันทึกไว้ว่า : 見龍再田利見大人 (
jiàn lóng zài tián lì jiàn dà rén, เจี้ยน ล๋ง ไจ้ เที๋ยน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) หรือในความหมายว่า 'ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น และพร้อมจะยอมรับผู้อื่นอย่างยินดี'

ในขณะที่ King Wen ให้คำจำกัดความของบทที่สี่อันเป็นบทที่ว่าด้วย 蒙 (méng, เมิ๋ง : ความใสซื่อ) ไว้ว่า : 亨匪我求童蒙童蒙求我初噬告再三瀆瀆則不告利貞 (hēng fěi wǒ qiú tóng méng tóng méng qiú wǒ chū shì gào zài sān dú dú zé bù gào lì zhēn, เฮิง เฝ่ย หฺว่อ ชิ๋ว ท๋ง เมื๋ง ท๋ง เมิ๋ง ชิ๋ว หฺว่อ ฌู ษื้อ เก้า ไจ้ ซัน ตู๋ ตู๋ เจ๋อ ปู้ เก้า ลี่ เจิน) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'ความรู้และความเข้าใจนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นฝ่ายเรียกร้องต้องการให้ผู้หนึ่งผู้ใดรับมันเอาไว้ แต่ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ต่างหากที่จะต้องเป็นฝ่ายเรียกร้อง และไขว่คว้าหามาด้วยตนเอง … ซึ่งในเบื้องต้นก็อาจจะต้องเคี่ยวเข็ญตักเตือนกันบ้าง ต่อเมื่อได้ฝึกฝน และฝึกปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป การซึมซับนั้นย่อมจะส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือนใดๆ อีก นั่นแหละคือคุณธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง

จะเห็นว่าทั้งสองวลีที่ยกมานี้จะเอ่ยถึง 'ความมุ่งมั่นบากบั่น' และ 'การฝึกฝนตนเอง' ซึ่งสื่อถึง 'การเตรียมความพร้อม' ที่จะก้าวขึ้นสู่ 'ความเป็นยอดคน' หรือ 'ผู้นำ' อันเป็นความหมายหนึ่งของ 師 (shī, ซือ) ... ในขณะที่บทที่เจ็ดจะมีความเกี่ยวพันกับวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง โดย 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ในวรรคดังกล่าวของบทที่หนึ่งว่า 飛龍在天利見大人 (fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén, เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น = 'พึงรู้จักกาลเทศะที่เหมาะสมในการแสดงศักยภาพ และปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น') เพื่อให้รับกับวลีของ King Wen ในบทที่เจ็ดว่า 貞丈人吉無咎 (zhēn zhàng rén jí wú jiù, เจิจั้ง เญิ๋น จี๋ อู๋ จิ้ว = 'ต้องคำนึงถึงหลักคุณธรรม และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสม จึงจะเป็นผลดีโดยไม่ก่อความผิดพลาดเสียหายให้ผู้อื่นค่อนขอดว่าร้ายในภายหลัง') ... ซึ่งเป็นการเน้นความหมายของ 'ความรู้จักกาละเทศะ' และ 'ความมีวุฒิภาวะ' ในการแสดง 'ความสามารถ' ตาม 'ศักยภาพ' ของตนเอง

จากความหมายแวดล้อมเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ 豫 (yǚ, ยฺวี่) ซึ่งควรจะถูกแปลว่า 'ความพร้อมที่จะมอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นด้วยจิตใจที่ผ่องแผ้วเบิกบาน' นั้น มีความเกี่ยวข้องกับ 'ความมุ่งมั่นบากบั่น', 'การฝึกฝนตนเอง' จนบรรลุถึง 'ความมีวุฒิภาวะ' ที่สูงพอจะ 'อุทิศตนเพื่อผู้อื่น' ด้วย 'ความยินดี' ... ด้วยเหตุนี้ 豫 (yǚ, ยฺวี่) ที่หมายถึง 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' ในความหมายของ King Wen จึงน่าจะได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'จิตใจที่แน่วแน่ (利) ในอุดมธรรมอันเป็นเป้าหมาย (建侯) และมุ่งดำเนินชีวิต (行) ตามมรรควิถีแห่งผู้เจริญ (師 หรือ 'ผู้นำ' นั่นเอง)' ... ผมว่างั้นนะ !! ;)




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :
 
鳴豫凶
míng yǜ xiōng
มิ๋ง ยฺวี่ เซฺวิง


อักษร 鳴 (míng, มิ๋ง) เล่าไปแล้วหนหนึ่งในบทที่สิบห้าด้วยความหมายว่า 'เสียงร้องของนก' หรือ 'เสียงร้องของสัตว์' และอาจจะหมายถึง 'การส่งเสียง' หรือ 'การเปล่งเสียง' โดยทั่วๆ ไปก็ได้ หรืออาจจะใช้ในความหมายของ 'สัญญาณเสียง' ที่ใช้ในการถ่ายทอด 'คำสั่ง' ก็ยังได้เหมือนกัน ... ซึ่งก็แน่นอนว่ามันสามารถที่จะหมายถึง 'การพูด', 'การกล่าวขาน', 'เป็นที่เลื่องลือ', 'เป็นที่แซ่ซ้อง', 'เป็นที่ยกย่อง', หรือ 'เป็นที่ได้รับเอ่ยถึง' และในบางกรณีก็จะหมายถึง 'เสียงสะท้อน' หรือ 'ก้องกังวาน' ... ซึ่งก็อาจจะทำให้มันแผลงความหมายไปเป็น 'เป็นที่รับรู้', 'เป็นที่เปิดเผย', จนกระทั่งมีความหมายเป็น 'เปล่งประกาย', 'สุกใส' หรือ 'สว่างไสว' ได้ด้วย

ส่วน 凶 อ่านว่า xiōng (เซฺวิง) เป็นอีกคำหนึ่งที่เคยเล่าไปตั้งแต่บทแรกๆ แล้วว่าหมายถึง 'ไม่ดี', 'ไม่งาม', 'ร้ายกาจ', 'ชั่วร้าย', 'ฆาตกรรม' ; หรือ 'เรื่องคอขาดบาดตาย'

วลีที่น่าจะเป็นคู่กับวรรคนี้น่าจะเป็นวรรคที่สองของบทที่สิบห้าครับ ซึ่ง 'จิวกง' ได้บันทึกไว้ว่า 鳴謙貞吉 (míng qiān zhēn jíมิ๋ง เชียน เจิน จี๋) โดยผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความอ่อนน้อมอย่างผ่าเผยและจริงใจ คืออุดมธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จและความสุขสวัสดี' ... ความหมายของ 鳴 (míng, มิ๋ง) ที่ถูกใช้ในวรรคดังกล่าวจึงอยู่ในลักษณะของ 'การแสดงออกให้ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป' ... ตรงนี้หากเรานำทั้งสองวลีมาเรียงต่อกัน เราก็จะเห็น 'ความต่อเนื่อง' บางอย่างที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อออกมาเป็นคติสอนใจว่า 鳴謙貞吉 ‧ 鳴豫凶 (míng qiān zhēn jí ‧ míng yǜ xiōng, มิ๋ง เชียน เจิน จี๋ ‧ มิ๋ง ยฺวี่ เซฺวิง) ซึ่งความหมายก็คือ 'การแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมต่อทุกผู้คนอย่างจริงใจย่อมนำมาซึ่งความสุขสวัสดี แต่การอวดอ้างว่าตนมีอุดมธรรมแห่งผู้นำนั้น ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย' เนื่องเพราะ 'ภาวะผู้นำ' ย่อมไม่ใช่ 'คุณลักษณะ' สำหรับ 'การอวดอ้าง' หรือ 'การเสนอหน้า' แต่จะต้องเป็น 'คุณสมบัติ' แห่ง 'ศักยภาพ' ที่จะต้องปฏิบัติได้จริงใน 'กาละ-เทศะ' ที่เหมาะสมเท่านั้น ... 'ความกระตือรือร้น' ที่เกินขอบเขต และผิดกาละ-เทศะ ย่อมไม่ต่างกับ 'ความกระเหี้ยนกระหือรือ' ที่จะอวดโอ่ 'ศักยภาพ' แห่งตน อันเป็นสาเหตุแห่ง 'ความขุ่นข้องหมองใจ' ระหว่างสมาชิกในสังคมด้วยกันเสมอ

หากพิจารณาในแง่ของ 'การขยายความ' ให้กับวลีของ King Wen นั้น เราก็สามารถมองได้ว่า 豫 (yǚ, ยฺวี่) ที่ King Wen หมายถึง 'ความมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่' (利建侯) และต้อง 'ครองตนอย่างมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม' (行師) นี้ ได้ถูก 'จิวกง' อธิบายเพิ่มเติมอย่างกระชับสั้นว่า 'การอวดโอ่ (鳴) ความยิ่งใหญ่ (豫 ดั่งช้างสาร) แห่งตน ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย (凶)' นั่นเอง ... ซึ่งในทัศนะของ 'จิวกง' แล้ว 'ยอดคนย่อมบรรลุได้ด้วยความมุ่งมั่นบากบั่น แต่การจะแสดงความเป็นยอดคน ย่อมต้องอาศัยสถานการณ์และจังหวะเวลาที่เหมาะสม' (見龍再田 ‧ 飛龍在天) อันเป็นวลีคู่สำคัญที่ปรากฏอยู่ในบทที่หนึ่งอย่างชัดเจน

 

สอง หยิน :

介于石不終日貞吉
jiè yǘ shí bù zhōng rì zhēn jí
เจี้ย ยฺวี๋ ซื๋อ ปู้ ญื่อ เจิน จี๋


介 อ่านว่า jiè (เจี้ย) ความหมายเดิมตาม 'ภาพอักษร' คือ 'ชุดเกราะ' หรือ 'ทหารที่สวมใส่ชุดเกราะ' ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ 'ทหารแนวหน้า' ที่ประจำการอยู่ 'แนวชายแดน' จากนั้นความหมายก็ค่อยๆ เพี้ยนไปจนหมายถึง 'เขตแดน', 'พรมแดน' เช่นเดียวกับคำว่า 界 (jiè, เจี้ย) ซึ่งสามารถแปลว่า 'แว่นแคว่น', 'รัฐ', 'ก๊ก' หรือ 'ประเทศ' ; ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'เกล็ด' หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้ม บางครั้งมันจึงสามารถหมายถึง 'เค้าโครง' หรือ 'ภาพร่าง' ที่ปรากฏให้เห็นภายนอก ; ในขณะเดียวกันมันก็ยังสามารถหมายถึง 'สิ่งที่ถูกห่อหุ้มอยู่ข้างใน', 'ไส้ใน', หรือ 'เนื้อแท้' ... ซึ่งตรงนี้ก็เลยทำให้มันสามารถแปลว่า 'ที่อยู่ระหว่างกลาง' ได้ด้วย ... และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันสามารถแปลว่า 'แนะนำ (ให้รู้จัก)' ซึ่งอาจจะเป็น 'การแนะนำ' โดยเอกสารหรือโดย 'คนกลาง' ก็ได้

อีกลักษณะหนึ่งของความหมายว่า 'สิ่งที่ถูกห่อหุ้มอยู่ข้างใน', หรือ 'สิ่งที่ได้รับการห่อหุ้ม' นั้นน่าจะทำให้คำนี้แผลงความหมายเป็น 'โดดเดี่ยว' เหมือนถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก (เพราะมีเปลือกห่อหุ้ม หรือมีสิ่งกางกั้นไว้) ในขณะที่บางครั้งมันก็สามารถหมายถึง 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', 'โดดเด่น' หรือว่า 'ดีงาม' ... แต่ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'เย่อหยิ่ง', 'ลำพอง' หรือว่า 'อวดดี' ได้ด้วยเหมือนกัน ... ในแง่ของ 'การแนะนำ' ก็แฝงความหมายว่า 'การให้ความช่วยเหลือ', 'การให้ความสนับสนุน' ซึ่งก็ทำให้เกิดความหมายว่า 'มั่นคง', 'แข็งแรง' ได้อีกต่างหาก

于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) คำนี้เล่าไปตั้งแต่บทที่สองว่าเป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

ดูๆ แล้วคำที่เหลือก็ไม่น่าจะมีอะไรพิสดาร แต่ถ้าเราแปลตามตัวอักษรมันก็ออกจะแปร่งๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ซักหน่อย เพราะ 終日 (zhōng rì, ญื่อ) นั้นเคยเล่าไปในบทที่หนึ่งด้วยความหมายว่า 'ตลอดทั้งวัน' ซึ่งในกรณีของวลีนี้ มันคงจะไปเกี่ยวข้องกับความหมายของ 石 (shí, ซื๋อ) ที่แปลว่า 'ศิลา' หรือ 'หิน' ได้ยากพอสมควร

ความหมายของ 日 (rì, ญื่อ) ที่นอกจากจะหมายถึง 'ดวงตะวัน', 'กลางวัน', 'วัน', หรือ 'เวลา' แล้ว ความหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับ 'ดวงอาทิตย์' ก็จะสามารถหมายถึง 'เจิดจ้า', 'สุกสว่าง', หรือ 'สว่างไสว' (เหมือนเวลากลางวัน) ได้ด้วย ... แต่ความหมายที่แปลกหูแปลกตาไปหน่อยก็จะมีการใช้ในความหมายเดียวกับ 實 (shí, ซื๋อ) ซึ่งแปลว่า 'ของจริง', 'ของแท้', 'หนักแน่น', 'สัจจริง' หรือ 'ซื่อสัตย์' (ดั่งตะวันที่ส่องสว่างตลอดเวลา) ... และแน่นอนว่า มันได้สะท้อนความหมายของคำว่า 'คุณธรรม' อยู่กลายๆ ด้วย :)

เมื่อมองในมุมนี้ ความหมายของ 介于石不終日 จึงสามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'มั่นคงดั่งหินผาที่ไม่ลดละความหนักแน่นแห่งตน' แต่หากเราแยก 介于石 กับ 不終日 ออกเป็นสองวลีที่เขียนต่อกัน ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะมีความหมายว่า 'ความหนักแน่นมั่นคง (介) ดั่งหินผา (于石) ไม่เลิกรา (不終) ในความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (日) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญ (貞吉)' ... ความหมายก็จะต่อเนื่องกับวรรคแรกที่ 'จิวกง' แนะนำไว้ว่า 鳴豫凶 (míng yǜ xiōng, มิ๋ง ยฺวี่ เซฺวิง) หรือ 'การโอ้อวดความยิ่งใหญ่แห่งตนย่อมนำไปสู่ความหายนะ' อย่างลงตัวพอดีๆ ;)

แต่สมมุติให้เราคิดต่อคำเล่นๆ ว่า 'ยอดคน' ที่แม้จะ 'ไม่โอ้อวดความยิ่งใหญ่แห่งตน' นั้น ต่อให้ 'หุ้มห่อไว้ภายในชั้นหิน (介于石) ก็มิอาจบดบังประกายที่เจิดจรัส (不終日) แห่งคุณธรรมความดี (貞吉) ที่เพียรปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย' อยู่ดี ... ดังนั้น 'จิวกง' ก็อาจจะซุกซ่อนความนัยบางอย่างในวรรคนี้เพื่อที่จะบอกว่า 'ยอดคน' ที่แท้จริงนั้นย่อมต้องเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนไม่วันใดก็วันหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เคยอวดโอ่คุณธรรมใดๆ แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลยก็ตาม ...

 

สาม หยิน :

盱豫悔遲有悔

xü yǜ huǐ chí yǒu huǐ
ซฺวี ยฺวี่ หุ่ย ฌื๋อ โหย่ว หุ่ย


盱 อ่านว่า xü (ซฺวี) แปลว่า 'เบิ่งตากว้าง', ซึ่งอาจจะเป็น 'การจ้องมอง (ด้วยความแปลกใจ)', หรือ 'ให้ความสนใจ' หรือในบางลักษณะก็สามารถแปลว่า 'เพ่งมอง', 'ชะเง้อมอง' หรือ 'แหงนหน้ามอง' ; บางครั้งจากความหมายว่า 'เบิ่ง (ตา) กว้าง' ก็ยังสามารถแปลว่า 'เปิดกว้าง', 'ขยายออก', หรือ 'ขยายความ (จนเกินจริง)' ได้ด้วยเหมือนกัน

悔 (huǐ,หุ่ย) เล่าไปแล้วตั้งแต่บทแรกว่า หมายถึง 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', โดยคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ใช้คำว่า repent ที่แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

遲 อ่านว่า chí (ฌื๋อ) แปลว่า 'ช้า', 'สาย', 'เนิ่นนาน', หรืออาจจะแปลว่า 'เงอะงะ', 'ไม่ทันการณ์' ก็น่าจะได้ในบางกรณี

จริงๆ แล้วความหมายของ 豫 (yǚ, ยฺวี่) ที่เล่ามาตั้งแต่ต้นบทนี้จะมีหลากหลายความหมายด้วยกัน ในทางหนึ่งมันสามารถแปลว่า 'ความยิ่งใหญ่' ตาม 'ภาพอักษร' เดิมของมันเอง ในขณะที่ความหมายในปัจจุบันสามารถแปลว่า 'ความเบิกบาน' หรือ 'ความกระตือรือร้น' ซึ่งมีความหมายข้างเคียงอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกับ 预 (yǜ, ยฺวี่) ซึ่งแปลว่า 'เตรียมพร้อม' หรืออาจจะใช้ในความหมายเดียวกับ 欲 (yǜ, ยฺวี่) ที่หมายถึง 'ฉันทะ' หรือ 'ความปรารถนา' ในทางที่เป็น 'กุศลธรรม' ได้ด้วย ... ส่วนคำบรรยายของ King Wen กับ 'จิวกง' นั้นก็จะแฝงความหมายของ 'ความมุ่งมั่นบากบั่น', 'การฝึกฝนตนเอง', 'ความมีวุฒิภาวะ' และ 'การรู้กาละ-เทศะ'

เมื่อมาถึงบทอรรถาธิบายของ 'จิวกง' ในสองวรรคแรกซึ่งเปิดฉากด้วยข้อแนะนำให้ 'รู้จักสำรวมอาการ' หรือ 'อย่าโฉ่งฉ่างเกินตัว' จนกลายเป็นลักษณะของ 'การโอ้อวด' เพราะรังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย (鳴豫凶) กับสำทับลงไปในวรรคถัดมาว่า ต้อง 'หนักแน่นมั่นคงดั่งหินผา' จึงจะเป็นผลดี (介于石不終日貞吉) ... ความหมายของวรรคที่สามจึงน่าจะมีความหมายรวมๆ ประมาณว่า 'ความกระตือรือร้น (豫) นั้น หากเร่งเร้าจนเกินไป (盱豫) ย่อมผิดพลาด (悔) หรือหากอ้อยสร้อยจนเกินไป (遲) ก็ย่อมจะเสียหาย (有悔) เช่นกัน' ... ตรงนี้ก็เพื่อเน้นย้ำในเรื่องของ 'กาละ-เทศะ' เพราะ 'การเก็บงำประกาย' หรือ 'การไม่โอ้อวด' ตามความหมายของ 'จิวกง' นั้นไม่ใช่เป็น 'การหลบลี้หนีหาย' หรือ 'การไม่ยอมแสดงตน' แต่หมายถึงต้องแสดง 'ศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ใน 'กาละ-เทศะ' ที่เหมาะสมเท่านั้น ... จึงเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการสื่อถึงความหมายนี้เพื่อรวบหัวรวบหางสรุปความให้กับสองวรรคแรกนั่นเอง

ในอีกมุมหนึ่ง เราอาจจะพิจารณาให้ 盱 (xü, ซฺวี) มีความหมายว่า 'คาดหวัง', หรือ 'จดๆ จ้องๆ' (ในลักษณะของ 'การชะเง้อมอง') โดยไม่คิดที่จะทำอะไรเลย (盱豫) เหมือนกับคนที่อยากจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่คิดที่จะลงมือพัฒนาสิ่งใดเพื่อการบรรลุความคาดหวังนั้น สุดท้ายก็ย่อมประสบแต่ความผิดหวัง (悔) อยู่ร่ำไป เพราะการรีๆ รอๆ ให้ทุกอย่างสุกงอมซะก่อนแล้วจึงค่อยมาเริ่มเตรียมการนั้น น่าจะถือว่าเป็นความเอื่อยเนือย (遲) ที่รังแต่จะต้องผิดหวัง (有悔) เสมอ ... ซึ่งก็คือลักษณะของการดำเนินงานที่ขาด 'ความเตรียมพร้อม' หรือปราศจาก 'ความตื่นตัว' ใดๆ ต่อภาระกิจที่ตนเองมุ่งหวังเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ความหมายแท้ๆ ของวรรคที่สามน่าจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับวรรคที่สี่ในบทเดียวกัน ซึ่งโดยปรกติแล้ว 'จิวกง' มักจะใช้เป็นคู่วลีที่คอยส่งต่อความหมายระหว่างกันมาโดยตลอด ...

 

สี่ หยาง :

由豫大有得勿疑朋盍簪
yóu yǜ dà yǒu dé wù yí péng hé zān
อิ๋ว ยฺวี่ ต้า โหย่ว เต๋อ อู้ อี้ เพิ๋ง เฮ๋อ จัน


由 อ่านว่า yóu (อิ๋ว) แปลว่า 'โดย (สาเหตุจาก)', 'ดังนั้น', 'เพราะว่า', 'คล้อยตาม' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 猶 (yóu, อิ๋ว) ซึ่งหมายถึง 'เหมือน', 'คล้าย', 'เป็นเช่นนั้น'

得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

疑 อ่านว่า yí (อี๋) แปลว่า 'สงสัย', 'ไม่เชื่อ', 'ระแวง', 'ไม่มั่นใจ', 'ไม่แน่ใจ' ; ถ้าอ่านว่า nǐ (หฺนี่) จะแปลว่า 'หยุดนิ่ง', 'ไม่เคลื่อนไหว' ซึ่งในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 拟 (nǐ, หฺนี่) ที่แปลว่า 'ร่าง' (draft), 'วางแผน', หรือ 'คาดคะเน'

盍 อ่านว่า hé (เฮ๋อ) แปลว่า 'อะไร?', 'ทำไม?' คล้ายกับคำว่า 何 (hé, เฮ๋อ) ; แต่ก็มีบางกรณีที่ใช้ในความหมายเดียวกับ 合 (hé, เฮ๋อ) ที่แปลว่า 'รวมกัน', 'อยู่ร่วมกัน', 'ผนวกเข้าด้วยกัน'

簪 อ่านว่า zān (จัน) แปลว่า 'ปิ่นปักผม' หรือ 'ปมที่ผูกไขว้กัน'

คำที่น่าสนใจก็น่าจะอยู่ที่ 大有 (dà yǒu, ต้า โหฺย่ว) ซึ่งเป็น 'ชื่อสัญลักษณ์' ประจำบทที่สิบสี่ โดยผมให้ความหมายเป็นภาษาไทยไว้ว่า 'ความยั่งยืน' แต่ถ้าแปลตามตัวอักษรก็จะมีความหมายว่า 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่', 'ความมั่งคั่ง', หรือ 'ความอุดมสมบูรณ์'

สำหรับอักษร 豫 (yǚ, ยฺวี่) ที่เห็นในวรรคนี้น่าจะไม่ค่อยธรรมดาล่ะครับ เพราะความหมายของคำนี้อาจจะต้องยืม 'คำอธิบาย' ของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า 利建侯行師 มาทั้งวรรคเลยทีเดียว และทำให้คำ 由豫 (yóu yǜ, อิ๋ว ยฺวี่) ตรงต้นวรรคมีความหมายว่า 'ด้วย (由) จิตใจที่แน่วแน่มั่นคงในอุดมธรรมอันเป็นเป้าหมาย (利建侯) และดำเนินการ (行) โดยมรรควิถีแห่งผู้เจริญ (師)' ซึ่งก็จะมาต่อด้วย 'ความสำเร็จอันยั่งยืน (大有) ย่อมจะบรรลุผลได้ (得) โดยไม่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลง (勿疑) ใดๆ และจะสามารถหลอมรวมทุกฝ่ายให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (朋盍簪)'

สำหรับความหมายของวรรคนี้ ไม่ว่าเราจะเลือก 'ตีความ' ให้ 由豫 (yóu yǜ, อิ๋ว ยฺวี่) มีความหมายสั้นๆ เพียงแค่ว่า 'ความกระตือรือร้นอย่างสมเหตุสมผล', 'ฉันทะที่เหมาะแก่เหตุปัจจัย', หรือ 'ความเตรียมพร้อมที่เหมาะแก่กาละ-เทศะ' หรือจะเลือกขยายความให้ครบถ้วนสมบูรณ์ดังที่เล่าไปแล้ว ความหมายโดยรวมของทั้งวรรคก็ยังคงสะท้อนข้อคิดของ 'จิวกง' ที่แสดงไว้ในวรรคที่สามว่า 'ความผิดพลาดล้มเหลวใดๆ ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานด้วยความเร่งร้อน หรือไม่ก็เพราะความย่อหย่อนเฉื่อยเนือยจนเนิ่นช้าไม่ทันการณ์' (盱豫悔遲有悔) นั่นเอง โดย 'จิวกง' ได้สานต่อเนื้อความด้วยข้อคิดที่ว่า 'ความสำเร็จอันยั่งยืนนั้นย่อมบรรลุได้ด้วยความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในจุดมุ่งหมาย และดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่สมเหตุสมผลแก่กาละ-เทศะ โดยไม่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงแตกแยกระหว่างสมาชิกทุกๆ คน' ... นี่ก็คือวลีคู่สำคัญที่เป็นแก่นแกนของความหมายที่แท้จริงแห่ง 豫 (yǚ, ยฺวี่) ที่จะนำไปสู่ 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' ของสังคมโดยรวม

 

ห้า หยิน :
 
貞疾恆不死
zhēn jí héng bù sǐ
จิน จี๋ เฮิ๋ง ปู้ สื่อ


疾 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'

恆 (héng, เฮิ๋ง) แปลไว้ในบทที่ห้าว่า 'มั่นคง', 'ถาวร', 'ปรกติ', 'สม่ำเสมอ', หรือ 'แน่นอน'

死 อ่านว่า sǐ (สื่อ) ความหมายโดยทั่วไปก็คือ 'ตาย', หรือบางทีก็อาจจะใช้ในความหมายว่า 'สิ้นสุด' ด้วย

ถ้าว่ากันตามตัวอักษร ความหมายของวรรคนี้น่าจะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (貞) แม้ว่าจะต้องฟันฝ่ากับความอึดอัดขัดเคือง (疾) จนเป็นปรกติวิสัย (恆) แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ใครต้องตาย (不死)' ... ซึ่งความหมายตรงนี้ก็น่าจะคล้ายกับการเตือนให้รับรู้ไว้ก่อนว่า 'เส้นทางของผู้ที่มุ่งหวังในก่อกรรมดีนั้นไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป' แต่เป็นเส้นทางที่อาจจะต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคต่างๆ นาๆ จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมาย ... ซึ่งฟังดูน่าสยดสยองมากจริงๆ :D

แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้ดูก็คือ 'จิวกง' เล่น 'คำพ้องเสียง' และ 'คำพ้องความ' ไว้ใน 'วลีคู่' ของบทนี้ได้อย่างน่าสนใจมาก โดยวรรคที่สองของ 'จิวกง' ในบทนี้ได้รับการบันทึกไว้ว่า 介于石不終日貞吉 ในขณะที่วรรคที่ห้าซึ่งก็คือวรรคนี้ใช้วลีว่า 貞疾恆不死 ... เห็นมั้ยครับว่า 貞吉 กับ 貞疾 เป็น 'คำพ้องเสียง' แต่มีความหมายแทบจะตรงกันข้ามไปเลย เพราะ 吉 (jí, จี๋) ในวรรคที่สองแปลว่า 'โชคดี' ในขณะที่ 疾 (jí, จี๋) ในวรรคที่ห้าแปลว่า 'เจ็บปวด' หรือ 'โชคร้าย' ... ส่วน 不終 (bù zhōng, ปู้ ง) ในวรรคที่สองก็แทบจะมีความหมายเหมือนกับ 不死 (bù sǐ, ปู้ สื่อ) ที่เห็นในวรรคที่ห้า ... โดยมี 日 (rì, ญื่อ) ในวรรคที่สองที่สามารถมองให้เป็น synonym กับ 恆 (héng, เฮิ๋ง) ในวรรคที่ห้าอีกต่างหาก ... ซึ่งพอเราจับมาเรียงต่อกันเป็น 介于石不終日貞吉 ‧ 貞疾恆不死 ความหมายของทั้งสองวรรคก็จะแผลงเป็น 'ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (貞吉) ย่อมคล้ายดั่งหินผาที่มั่นคง (介于石不終日) ด้วยสัจจธรรมที่เที่ยงตรง (貞疾) ย่อมดำรงอยู่ชั่วอนันตกาล (恆不死)' ... น่าสนใจมาก !! :)

จะเห็นว่า 疾 (jí, จี๋) เมื่อถูก 'ตีความ' ให้ใช้ในความหมายว่า 'เที่ยงตรง' หรือ 'เที่ยงแท้' จะมีผลให้ 貞吉 กับ 貞疾 ที่ดูเหมือนกับเป็น 'คู่ตรงข้าม' กันในตอนแรก กลายสภาพเป็น synonym กันได้อย่างหน้าตาเฉย ทั้งยังไม่สะท้อนถึง 'ความยากลำบากเจียนตาย' เหมือนกับที่ได้รับ 'การตีความ' ด้วยความหมายแรกอีกด้วย ... ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า หนังสือแนว 'ส่งเสริมคุณธรรม' อย่าง 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ ไม่น่าจะมีข้อความใดที่ส่ออาการบั่นทอนกำลังใจของผู้ที่อยากจะประกอบกรรมดีในลักษณะที่ว่า 'ทนลำบากกันหน่อยนะ แต่ไม่ถึงกับตายหรอก !!??' เพราะมันฟังดูน่าสยดสยองจนเกินไป ... คิดว่างั้นมั้ยล่ะ ?! :D ... ดังนั้นความหมายของวรรคนี้ที่น่าจะเป็นไปได้อีกความหมายหนึ่งก็คือ 'คุณธรรมความดี (貞) ที่เที่ยงแท้ (疾) ย่อมดำรงอยู่อย่างมั่นคง (恆) โดยไม่ดับสูญ (不死)'

เอาใหม่ ... สมมุติว่าเราจะเล่น 'คำพ้องเสียง' แบบสลับขั้วความหมายระหว่าง 吉 (jí, จี๋) กับ 疾 (jí, จี๋) โดยเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิดคำขยายความที่บั่นทอนกำลังใจกัน เมื่อความหมายของวรรคที่สองระบุว่า 'ความหนักแน่นมั่นคง (介) ดั่งหินผา (于石) ไม่เลิกรา (不終) ในความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (日) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญ (貞吉)' ข้อความในวรรคนี้ก็น่าจะรับช่วงมาเป็น 'แม้ว่าการยืนหยัดในอุดมธรรมเช่นนั้นจะมีความยากลำบาก (貞疾) แต่ก็มิอาจบั่นทอนความมุ่งมั่นแห่งจิตใจที่กล้าแกร่ง (恆不死) นั้นได้ตลอดไป' ... อันนี้ถึงยังน่าเหนื่อยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ใครต้องหมดแรงซะทีเดียว :D

 

หก หยิน :

冥豫成有渝無咎
míng yǜ chéng yǒu yǘ wú jiù
มิ๋ง ยฺวี่ เฌิ๋ง โหฺย่ว ยฺวี๋ อู๋ จิ้ว


冥 อ่านว่า míng (มิ๋ง) แปลว่า 'มืด', 'ค่ำ', 'ดำ', 'ขมุกขมัว' ; 'ไม่ชัดเจน', 'ไม่รู้เรื่อง', 'ไม่เข้าใจ', 'โง่' ; 'ลึก', 'ลึกลับ' ; และอาจหมายถึง 'แดนสนธยา' หรือ 'ดินแดนของสิ่งมีชีวิตหลังความตาย' ; บางครั้งมันจึงหมายถึง 'ดินแดนที่ห่างไกล', 'ดินแดนที่เงียบสงบ' หรือ 'ความเงียบสงบ', 'ความเป็นเอกเทศ (ไม่ข้องแวะกับใคร)' หรือ 'ตัดขาด (จากโลกภายนอก)'

成 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'สำเร็จลุล่วง', 'ได้ผลลัพธ์', 'เป็นไปได้', 'กลายสภาพเป็น', 'สามารถ', 'แน่นอน'

渝 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) แปลว่า 'เปลี่ยนแปลง' แต่มักใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับ 'ความรู้สึก' หรือ 'ทัศนคติ' ที่ 'แปรเปลี่ยน' ไปตามเหตุผลหรือสภาวะแวดล้อม บางครั้งมันจึงถูกใช้ในความหมายว่า 'เข้าใจ' หรือ 'ความเข้าใจ' ได้ด้วย

'จิวกง' เล่น 'คำพ้องเสียง' อีกแล้วนะครับ โดยคราวนี้เล่นที่คำ 鳴豫 (míng yǜ, มิ๋ง ยฺวี่) ในวรรคที่หนึ่งกับ 冥豫 (míng yǜ, มิ๋ง ยฺวี่) ในวรรคที่หก และเล่นด้วยความหมายของคำที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน เพราะ 鳴 (míng, มิ๋ง) มีความหมายในลักษณะของ 'ความอื้ออึง' ในขณะที่ 冥 (míng, มิ๋ง) มีความหมายว่า 'เงียบสงัด' ...

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาให้วรรคที่สามเป็นการสรุปความของวรรคที่หนึ่งและวรรคที่สองในบทนี้ ความหมายของวรรคที่หกที่เห็นอยู่ก็อาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการสรุปความให้กับวรรคที่สี่และวรรคที่ห้าได้เหมือนกัน โดยเราจะเห็นว่า 得 (dé, เต๋อ) กับ 成 (chéng, เฌิ๋ง) นั้นมีความหมายที่ใกล้เคียงกันมาก ในขณะที่ 勿疑 (wù yí, อู้ อี๋) ที่หมายถึง 'ปราศจากความเคลือบแคลง' ก็สามารถมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับ 有渝 (yǒu yǘ, โหฺย่ว ยฺวี๋) ที่สามารถแปลว่า 'มีความเข้าอกเข้าใจ' หรือแม้แต่ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่แปลว่า 'ไม่มีการค่อนขอดกล่าวร้ายให้โทษกัน' ตรงท้ายวรรคก็อาจจะมีที่มาที่ไปจาก 'ความไม่เคลือบแคลง' (勿疑) ได้เหมือนกัน ... ส่วน 冥 (míng, มิ๋ง) ที่หมายถึง 'ความเงียบสงบ' คล้ายกับ 'การไม่ถูกรบกวนจากโลกภายนอก' นั้น เราก็อาจจะมองว่ามันคือ 'ความมั่นคงทางจิตใจ' ที่ 'ไม่อาจถูกสั่นคลอน' ด้วยปัจจัยด้านลบใดๆ ซึ่งก็จะตรงกับวลีว่า 恆不死 (héng bù sǐ, เฮิ๋ง ปู้ สื่อ) ในวรรคที่ห้าพอดี

ดังนั้น ถ้อยคำที่น่าจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'จิตใจที่พรั่งพร้อมด้วยความสงบนิ่ง (冥豫) ย่อมสามารถบรรลุถึง (成) ความตระหนักรู้ (有渝 และหมายถึง 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' หรือ 豫 ด้วย) โดยปราศจากข้อเคลือบแคลงแห่งมลทิน (無咎) ใดๆ' ... ตรงนี้ผมมองว่า 'จิวกง' เลือกวลีปิดท้ายบทได้สวยมากๆ เพราะผมได้เล่าไว้ตั้งแต่ต้นบทแล้วว่า 豫 (yǚ, ยฺวี่) นั้นมีความหมายในลักษณะของ 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' อันเนื่องมาจาก 'ความสิ้นกังวล' หรือ 'ความดับทุกข์' ซึ่งกระเดียดไปทาง 'การบรรลุสัจจธรรม' มากกว่า 'ความร่าเริงบันเทิงใจ' ในทางโลกย์ ซึ่งการแทนที่คำนี้ด้วย 渝 (yǘ, ยฺวี๋) ที่มีส่วนของ 'การล้อเสียง' และซ่อนความหมายของ 勿疑 (wù yí, อู้ อี๋) กับ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ไว้พร้อมๆ กันด้วยนั้น ก็ต้องถือว่า 'จิวกง' มีอัจฉริยภาพทางภาษาที่เหนือธรรมดาจริงๆ

ตรงนี้จึงมีคำอีกคู่หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ 有渝 (yǒu yǘ, โหฺย่ว ยฺวี๋) ในวรรคนี้กับ 大有 (dà yǒu, ต้า โหฺย่ว) ในวรรคที่สี่ ซึ่งคำว่า 大有 (dà yǒu, ต้า โหฺย่ว) นั้นผมเล่าไปในบทที่สิบสี่ด้วยความหมายว่า 'ความสงบร่มเย็นอันยิ่งใหญ่' โดยเป็น 'ความสงบร่มเย็นทางจิตใจ' ... มันจึงทำให้ 成有渝 (chéng yǒu yǘ, เฌิ๋ง โหฺย่ว ยฺวี๋) มีความหมายที่พ้องกับ 大有得 (dà yǒu dé, ต้า โหฺย่ว เต๋อ) ทันทีด้วย เพราะ 渝 (yǘ, ยฺวี๋) ในที่นี้รับความหมายของ 豫 (yǚ, ยฺวี่) มาอย่างเต็มปากเต็มคำเลยทีเดียว ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ยฺวี่' คือ ความผ่องแผ้วเบิกบาน, อึงอลเหนือพสุธา

'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' หมายถึง จิตใจที่แน่วแน่ใน 'อุดมธรรม' อันเป็น 'เป้าหมาย' และมุ่งดำเนินชีวิตตาม 'มรรควิถี' แห่ง 'ผู้เจริญ'

  •  
  • 'ความคะนอง' ด้วย 'ลำพอง' ใน 'ความยิ่งใหญ่' แห่งตน ย่อมนำไปสู่ 'ผลลัพธ์' ที่ 'เลวร้าย'
  •  
  • 'ความหนักแน่น' ดุจดั่งหินผาที่ 'ยืนหยัด' อย่าง 'มั่นคง' ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความเจริญ'
  •  
  • 'ความกระตือรือร้น' นั้น หาก 'เร่งเร้า' จนเกินไปย่อมมี 'ความผิดพลาด' แต่หาก 'อ้อยอิ่ง' จน 'ไม่ทันการณ์' ย่อมก่อ 'ความเสียหาย' ได้เฉกเช่นกัน
  •  
  • ด้วยจิตใจที่ 'แน่วแน่มั่นคง' ในใน 'มรรควิถี' แห่ง 'ผู้เจริญ' 'ความสำเร็จ' อัน 'ยั่งยืน' ย่อมจะ 'บรรลุผล' ได้โดยไม่ก่อให้เกิด 'ความเคลือบแคลง' ใดๆ และจะสามารถ 'หลอมรวมทุกฝ่าย' ให้มี 'น้ำหนึ่งใจเดียวกัน'
  •  
  • แม้ว่า 'การยืนหยัด' ใน 'อุดมธรรม' เช่นนั้นจะมี 'ความยากลำบาก' แต่ก็มิอาจ 'บั่นทอน' 'ความมุ่งมั่น' แห่ง 'จิตใจที่กล้าแกร่ง' นั้นได้ตลอดไป
  •  
  • จิตใจที่พรั่งพร้อมด้วย 'ความสงบนิ่ง' ย่อมสามารถ 'บรรลุ' ถึง 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' ด้วย 'ความตระหนักรู้' และปราศจาก 'ข้อเคลือบแคลง' แห่ง 'มลทิน' ใดๆ


 

The Organization Code :



'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' คือ 'ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง' (☳) บนพื้นฐานของ 'ความมีสติ' (☷) คือจะต้องมี 'เป้าประสงค์' ที่ 'หนักแน่น' (⚏), มี 'วิจารณญาณ' ที่ 'พรั่งพร้อมรัดกุม' (⚎), และมี 'การแสดงออก' ที่ 'อ่อนโยน' แต่ 'หนักแน่น' และ 'คงเส้นคงวา' (⚏) อยู่เสมอ

ความเจริญใน 'สติภาวนา' คือมี 'ความตื่นตัวทั่วพร้อม' ต่อ 'ความหมายแห่งการดำรงอยู่' และมุ่งดำเนินไปตามแนวทางแห่ง 'ปราชญ์ผู้เจริญ' อย่าง 'ไม่เคยย่อท้อ'

  •  
  • 'ความหลงลำพอง' ใน 'ความยิ่งใหญ่' แห่งตน ย่อมเป็นเหตุแห่ง 'ความล่มสลาย' ทั้งปวง
  •  
  • 'ความไม่ย่อหย่อน' ต่อ 'หลักการ' และ 'เป้าหมาย' ดุจดั่งหินผาที่รักษา 'ความแกร่ง' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความเจริญมั่นคง' ในที่สุด
  •  
  • 'ความกระเหี้ยนกระหือรือ' ที่ 'เร่งเร้า' เพื่อหวัง 'ผลสำเร็จ' อย่าง 'ฉาบฉวย' ย่อมสร้างแต่ 'ปัญหา' ที่เกิดจาก 'ความผิดพลาด' นานับประการ, แต่หากดำเนินการด้วย 'ความอ้อยสร้อยอ้อยอิ่ง' ไม่คิดที่จะทำอะไรให้ 'ทันการณ์' ผลลัพธ์ก็ย่อมจะ 'เสียหาย' ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
  •  
  • ด้วยการยึดหลักแห่ง 'ทางสายกลาง' อย่าง 'มีสติ' 'ความสำเร็จ' ที่ 'ยั่งยืน' ย่อมจะ 'บรรลุผล' ได้ โดยไม่ก่อให้เกิด 'ความเคลือบแคลง' ใดๆ และจะช่วย 'หลอมรวมจิตใจ' ของทุกๆ ฝ่ายให้มี 'ความเป็นปึกแผ่น' ที่มั่นคง
  •  
  • แม้ว่าบางครั้งที่ 'การยืนหยัด' ใน 'หลักการ' อาจจะดู 'ไม่สะดวกสบาย' เหมือนกับ 'คนไร้ราก' แต่ผู้ที่มี 'จิตใจกล้าแกร่ง' 'อย่างแท้จริง' ย่อมมี 'ความหนักแน่น' แห่ง 'พลังสติ' ที่ไม่อาจ 'ถูกบั่นทอน' ตลอดไป
  •  
  • 'ความสงบนิ่ง' แห่งจิตใจที่ 'ไม่โอนเอน' ไปตามแรงแห่ง 'ความเย้ายวน' จาก 'ปัจจัยภายนอก' ที่ 'ไร้แก่นสาร' ย่อม 'บรรลุ' ถึง 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' ด้วย 'ความตระหนักรู้' ที่ปราศจาก 'ความเคลือบแคลง' แห่ง 'มลทิน' ทั้งปวง


หากเราพิจารณาที่ 'ความต่อเนื่อง' ระหว่างบทที่สิบห้า และบทที่สิบหกแล้ว เราอาจจะพบเห็นร่องรอยของความหมายบางอย่างที่ King Wen ต้องการจะสื่อออกมาพอสมควร โดย King Wen เลือกใช้คำว่า 謙 (qiān, เชียน) มาเป็น 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ของบทที่สิบห้า และมีการออกเสียงล้อกับ 'ชื่อสัญลักษณ์' ของบทที่หนึ่ง คือ 乾 (qián, เชี๋ยน) ที่ถือว่ามี 'พลังแห่งหยาง' สูงที่สุดในจำนวน 64 สัญลักษณ์ ในขณะที่ 'จิวกง' ก็เลือกใช้คำว่า 潛 (qián, เชี๋ยน) ในวรรคแรกของบทที่หนึ่ง ซึ่งมีการออกเสียงที่รับส่งกันด้วยความหมายที่ส่งต่อกันมาในลักษณะของ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' พอดิบพอดี ... นี่คงไม่ใช่ 'ความบังเอิญ' อย่างแน่นอน

แต่พอมาถึงบทที่สิบหก King Wen ก็กลับนำเสนอด้วยคำว่า 豫 (yǜ, ยฺวี่) ซึ่งมีความหมายว่า 'เตรียมพร้อม', 'ยิ่งใหญ่', หรือ 'สบายอกสบายใจ' ซึ่งเป็นไปได้ว่า ความหมายที่ King Wen ต้องการจะสื่อถึงพวกเราก็คือ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' นั้นไม่ใช่อาการของ 'การยอมอดสู' ชนิด 'ไม่กล้าสู้หน้าใคร' แต่เป็นอาการของผู้ที่มี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'อุดมการณ์' และ 'เป้าหมาย' โดยไม่ถูก 'ยั่วยุ' ด้วย 'กิเลสตัณหา' หรือ 'ความกระหายใคร่อยาก' ใน 'ลาภสักการะ' อันเนื่องมาจาก 'ความสำเร็จ' ใดๆ หรือแม้แต่ 'ไม่ห่อเหี่ยวท้อแท้' ต่อ 'ความยากลำบาก' ทั้งหลายทั้งปวง ... มันจึงเป็น 'ความอ่อนน้อม' ของ 'ผู้ยิ่งใหญ่' ที่ 'ตระหนักรู้' ใน 'คุณค่า' และ 'ความหมาย' แห่ง 'การดำรงอยู่' ของตนโดยสมบูรณ์

ตรงนี้ก็มีการรับช่วงของความหมายต่อมาโดย 'จิวกง' ที่เน้นย้ำถึง 'ความวิริยะอุตสาหะ' อย่าง 'สม่ำเสมอ' ดังที่ปรากฏในคำว่า 再田 (zài tián, ไจ้ เที๋ยน) ในวรรคที่สองของบทที่หนึ่ง ซึ่งจะสอดรับกับ 再三瀆 (zài sān dú, ไจ้ ซัน ตู๋) ที่หมายถึง 'ค่อยๆ ซึมซับอย่างต่อเนื่อง' อันเป็นวลีของ King Wen ในบทที่สี่ โดย 'จิวกง' ก็นำมาย้ำนักย้ำหนาในบทที่สิบหกอีกหลายครั้งในเรื่องของ 'ความหนักแน่น' (介于石), 'ความสงบสติอารมณ์' (冥豫), และ 'ความคงเส้นคงวา' (不終日 และ 恆不死) ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ใช่อาการของ 'ความกล้ำกลืนฝืนทน' แต่เป็น 'ความตื่นรู้' ต่อ 'ภาระหน้าที่' ที่ตนพึงมีต่อ 'อุดมการณ์' และ 'จุดมุ่งหมาย' ของชีวิตอย่างลึกซึ้ง อันเป็นบ่อเกิดแห่ง 'ความผ่องแผ้วเบิกบาน' ต่อ 'การดำรงอยู่' นั่นเอง ... และแน่นอนว่า สิ่งนี้ย่อมส่งผลลัพธ์ที่ทรงคุณค่าอย่างมหาศาลต่อ 'การปฏิบัติงาน' และ 'การดำเนินชีวิต' ประจำวันของทุกๆ คนเสมอ เพราะผู้ที่ 'ตระหนักรู้' ใน 'คุณค่า' และ 'ความหมาย' ของตนเอง ย่อมมิใช่ผู้ที่มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะหายใจไปวันๆ เท่านั้น !! ;)