Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :

第三十八卦 : 睽

睽 : 火澤睽 ‧ 離上兌下

睽 : 小事吉‧

  • 初九 : 悔亡‧喪馬‧勿逐自復‧見惡人‧無咎‧
  • 九二 : 遇主于巷‧無咎‧
  • 六三 : 見輿曳‧其牛掣‧其人天且劓‧無初有終‧
  • 九四 : 睽孤‧遇元夫‧交孚‧厲無咎‧
  • 六五 : 悔亡‧厥宗噬膚‧往何咎‧
  • 上九 : 睽孤‧見豕負塗‧載鬼一車‧先張之弧‧後說之弧‧匪寇婚媾‧往遇雨則吉‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ แจ่มใส (⚌) ปัญญา และพลานมัย ไม่ร้อนรน (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : เสริมสร้างความโดดเด่นของสินค้า (☲) ด้วยทีมงานด้านบริการ (☱) ที่น่าประทับใจ

ความหมายของสัญลักษณ์ : การสร้างความแตกต่าง, สุกสว่างเหนือห้วงมหรรณพ



ความหมายของชื่อเรียก : Differentiating : การสร้างความแตกต่าง


睽 (kuí, คุ๋ย) เป็นคำที่มีความหมายว่า 'แตกต่าง', หรือ 'ไม่ลงรอยกัน' โดยเฉพาะในแง่ของ 'ทัศนคติที่แตกต่าง' หรือ 'ความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องต้องกัน' ซึ่งมีรากเดิมมาจากความหมายของ 'ภาพอักษร' ว่า 'สายตาที่จับจ้องไปคนละทิศทาง' ... ซึ่งอีกความหมายหนึ่งของ 睽 (kuí, คุ๋ย) ก็คือ 'การจ้องมอง' ที่อาจจะเป็น 'การจ้องเขม็งใส่กัน' เพราะ 'ความไม่ลงรอยกัน' ก็น่าจะได้อีกเหมือนกัน ... :D

ตรงด้านซ้ายของ 'ภาพอักษร' 睽 (kuí, คุ๋ย) คืออักษร 目 (mù, มู่) ที่แปลว่า 'ดวงตา' ส่วนทางด้านขวาถึงแม้ว่าจะเห็นเป็นอักษร 癸 (guǐ, กุ่ย) ในปัจจุบัน แต่รากเดิมกลับไม่ใช่ตัวเดียวกัน โดยเราจะเห็นเป็นภาพของ 'มือ' ที่หันไปคนละข้างตรงด้านบน และมีภาพของ 'ลูกศร' หรือ 'ลูกดอก' จ่ออยู่ตรงด้านล่าง 'ระหว่างมือทั้งสอง' ซึ่งน่าจะหมายถึง 'การสู้รบ' หรือ 'การแบ่งแยก' ... เมื่อรวมเข้าดัวยกันเป็น 'ภาพอักษรเดียว' จึงหมายถึง 'ทัศนคติที่ไม่ลงรอยกัน' และยังใช้ในความหมายเดียวกับ 暌 (kuí, คุ๋ย : ด้านหน้าเป็นอักษร 日) ซึ่งแปลว่า ‘ตรงกันข้าม’, 'แตกต่าง', 'ห่างไกลจาก' และ 'แยกออกจากกัน' อีกด้วย ... ในขณะเดียวกัน ความหมายดั้งเดิมของ 暌 (kuí, คุ๋ย : ด้านหน้าเป็นอักษร 日) ยังหมายถึง 'เวลาย่ำค่ำ' ซึ่งเปรียบเสมือนเวลาที่ 'ดวงตะวันหลีกห่างออกไปจากโลก' อันอาจจะเป็นเงื่อนงำหนึ่งของที่มาแห่ง 'ดวงตะวันเหนือทะเลสาบ' ที่แทนด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ☲ (離 : lí, ลี๋) อันเป็นสัญลักษ์ที่ใช้แทน 'ไฟ' หรือ 'ความสุกสว่าง' ลอยอยู่เหนือ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทน 'ทะเลสาบ' นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากเราไล่เรียงบทต่างๆ มาตั้งแต่บทที่สามสิบสาม (遯 : dùn, ตุ้น : ความรู้จักประมาณตน), บทที่สามสิบสี่ (大壯 : dà zhuàng, ต้า จ้วง : การเสริมสร้างคุณงามความดี), บทที่สามสิบห้า (晉 : jìn, จิ้น : การเผยแผ่บารมี), บทที่สามสิบหก (明夷 : míng yí : มิ๋ง อี๋ : การครองสติอย่างมั่นคง), และบทที่สามสิบเจ็ด (家人 : jiā rén, เจีย เญิ๋น : การหล่อหลอมคุณธรรม) มาโดยลำดับ ผลลัพธ์ที่ควรจะเกิดขึ้นตามมาก็ไม่น่าจะเป็น 'ความเป็นปฏิปักษ์', 'ความแตกแยก' หรือ 'ความหลากหลาย' ตามคำแปลที่หลายๆ ตำรามักจะใช้กัน ... แต่คำว่า 睽 (kuí, คุ๋ย) ในที่นี้ น่าจะหมายถึง 'การสร้างความแตกต่าง' หรือ Differentiating เพื่อนำไปสู่ 'ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม' มากกว่า ??!!

ผมอยากจะชวนให้ย้อนกลับไปพิจารณาที่ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ☲ (離 : lí, ลี๋) ที่หมายถึง 'ไฟ' หรือ 'ความสุกสว่าง' ลอยอยู่เหนือ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) ที่หมายถึง 'ทะเลสาบ' หรือ 'น้ำ' ... แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้บางอย่างที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความหมายของ 暌 (kuí, คุ๋ย : ด้านหน้าเป็นอักษร 日) ที่แปลว่า 'ตะวันลับขอบฟ้า' ก็ตาม ... แต่ด้วย 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ที่สื่อถึง 'ความเป็นไฟ' กับ 'ความเป็นน้ำ' นั้น ก็ได้แสดงถึง 'ความแตกต่าง' หรือ 'ความตรงกันข้าม' ที่ชัดเจนมากๆ ... เพียงแต่ว่า ... นั่นคือ 'ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน' รึเปล่าล่ะ ?!!

ผมมองอย่างนี้ครับ ... ภาพของ 'ดวงตะวันลับขอบฟ้า' นั้น ไม่ว่าดวงตะวันจะลับขอบฟ้าตรงด้านที่เป็น 'ภูเขา', 'แผ่นดิน', หรือแม้แต่ 'ทะเลสาบ' ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่แสดงถึง 'การเคลื่อนเข้าหากันของหยางและหยิน' อันเป็น 'คู่ตรงข้ามแห่งจักรวาล' ด้วยกันทั้งสิ้น และเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่โน้มนำไปสู่ 'ความสุขสงบแห่งรัตติกาล' ซึ่งก็คือ 'ความเป็นหยิน' ที่จะฟูมฟักหล่อหลอมพลังแห่งธรรมชาติทั้งมวล แล้วพัฒนาไปสู่ 'เช้าวันใหม่' อีกคำรบหนึ่งเสมอ ... นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ผมไม่พิจารณาให้ความหมายของบทนี้สื่อไปในลักษณะของ 'การแยกจาก' หรือ 'ความหลากหลาย' เพราะกระบวนการในขั้นตอนของ 暌 (kuí, คุ๋ย : ด้านหน้าเป็นอักษร 日) นั้น คือ 'การประสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียว' เพื่อ 'พัฒนาการไปสู่สิ่งใหม่' ที่ 'แตกต่าง' ออกไปเดิม (Differentiating) ... 'ความเหมือน' และ 'ความต่าง' จึงเป็นเพียง 'ส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา' ในแต่ละ 'วัฏจักร' ของทุกสรรพสิ่งเท่านั้น !!??



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
小事吉
xiǎo shì jí
เสี่ยว ษื้อ จี๋


ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก็คือ ถ้อยคำง่ายๆ หลายคำใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ล้วนมีความหมายที่หลากหลาย และบ่อยครั้งที่มันมีความซ้อนเหลื่อมกับถ้อยคำอีกมากมายที่บันทึกไว้ในบทต่างๆ อย่างน่าสนใจมาก เหมือนอย่างในกรณีของวลีสั้นๆ ที่ King Wen บันทึกไว้ตรงบทนี้ว่า 小事吉 (xiǎo shì jí, เสี่ยว ษื้อ จี๋) เราจะเห็นว่าไม่มีคำไหนที่เป็นคำยากเลยแม้แต่คำเดียว ... แต่ ...

小 (xiǎo, เสี่ยว) สามารถแปลว่า 'เล็ก', 'ละเอียด', หรืออาจจะหมายถึง 'ระมัดระวัง', 'รอบคอบ' (小心) ก็ได้ ; ส่วนคำว่า 事 (shì, ษื้อ) ก็สามารถแปลว่า 'เรื่องราว', 'เหตุการณ์' หรือถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ปฏิบัติการ', หรือ 'ดำเนินงาน' ก็ได้เช่นกัน ... ดังนั้น ... 小事 (xiǎo shì, เสี่ยง ษื้อ) จึงอาจจะหมายถึง 'เรื่องปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ' ... หรือ ... 'มีความเอาใจใส่ในรายละเอียดของการดำเนินงาน' ... หรืออาจจะหมายถึง ... 'มีความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน' ... ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความหมายที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น ??!!

ในมุมมองของ 'ความแตกต่าง' เราอาจจะพิจารณาว่า ขอเพียงแค่ไม่มีความแตกต่างในประเด็นหลักๆ แต่อาจจะมีความไม่เหมือนกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญ (小事) ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี (吉) ได้แล้ว ... แต่ในมุมมองของ 'ความแตกแยก' เราก็อาจจะพิจารณาว่า จะต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงานอย่างสุขุมรอบคอบ มีความเอาใจใส่ในรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน (小事) จึงจะมีโอกาสสร้างสรรค์ความสำเร็จ (吉) ให้ปรากฏ ... ส่วนในมุมมองของ 'การสร้างความแตกต่าง' นั้น ... 小事 (xiǎo shì, เสี่ยง ษื้อ) ก็น่าจะหมายถึง การใช้ความระมัดระวัง และความเอาใจใส่ในทุกๆ รายละเอียด เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่จะมีคุณประโยชน์ (吉) ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ... ฯลฯ ... เหล่านี้ก็คือ 'กรอบคิด' ที่กำหนดขึ้นมาจากคำว่า 吉 (jí, จี๋) ที่มีความหมายในเชิงบวกว่า 'ความเจริญ', 'ความสำเร็จ', หรือ 'ความรุ่งเรือง' โดยความหมายของ 小事 (xiǎo shì, เสี่ยง ษื้อ) ย่อมแตกต่างกันไปตาม 'กรอบคิด' ที่เรากำหนดความหมายให้กับคำว่า 睽 (kuí, คุ๋ย) ซึ่งเป็น 'ชื่อบท' อันเป็นประเด็นหลักของความหมายที่จะถูกเอ่ยถึงต่อๆ ไปโดย 'จิวกง'

เราก็คงต้องย้อนกลับไปดูความหมายประกอบของถ้อยคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันกับบทนี้อีกครั้งหนึ่งล่ะครับ ...

วรรคที่หกของบทที่สองถือว่าเป็น 'วลีต้นเรื่อง' ที่ 'จิวกง' บันทึกสรุปเป็นประเด็นเอาไว้ว่า 龍戰于野其血玄黃 (lóng zhàn yǘ yě qí xüè xǘan huáng, ล๋ง จั้น ยฺวี๋ เหฺยี่ย ชี๋ เซฺวี่ย เซฺวี๋ยน ฮวั๋ง) และผมให้ความหมายไว้ว่า 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)' ... ในขณะที่บางตำราจะแปลว่า 'มังกรต่อสู้ (อย่างบ้าคลัง) ในสนามรบ เลือดหลั่งนองเป็นสีเหลือเข้ม' ... ซึ่งทั้งสองความหมายล้วนสื่อไปในแง่ของ 'ความขัดแย้งอย่างรุนแรง' ที่ก่อให้เกิด 'ความสูญเสีย' ... อันเป็นแง่มุมหนึ่งที่สอดคล้องกับความหมายของคำว่า 睽 (kuí, คุ๋ย) หรือ 'ความไม่ลงรอยกัน' อย่างตรงๆ ตัวเลยทีเดียว

ส่วนในบทที่สิบสี่ (大有 : dà yǒu, ต้า โหฺย่ว) ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'ความยั่งยืน' นั้น King Wen ก็เลือกบันทึกด้วยคำเพียงห้วนๆ ว่า 'ความยั่งยืน' ก็คือ 'สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตระหนักอย่างชัดเจนเป็นอันดับแรก เพื่อจะสรรค์สร้างความเป็นระบบระเบียบ อันจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงในอนาคต' ... ตรงนี้ก็น่าจะหมายถึง 'การประสานความเข้าใจ' และ 'การกำหนดระบบระเบียบ' เพื่อ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' ในการสรรค์สร้าง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายโดยรวม ...

พอมาถึงบทที่ยี่สิบหก (大畜 : dà xǜ, ต้า ซฺวี่) ที่ว่าด้วย 'การสั่งสมความยิ่งใหญ่' King Wen ก็บันทึกคำบรรยายไว้ว่า 利貞不家食吉利涉大川 (lì zhēn bù jiā shí jí lì shè dà chuān, ลี่ เจิน ปู้ เจีย ซื๋อ จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน) โดยผมให้ความหมายไว้ว่า

'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ (貞) โดยไม่ยื้อยุดสิ่งใดไว้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน (不家) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินผลประโยชน์ (食) หรือความรุ่งเรืองแห่งลาภยศ (吉) ... ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) เยี่ยงนี้ ย่อมจะสามารถฟันฝ่า (涉) อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง (大川) ออกไปได้' ... ซึ่งผมคงบอกได้แค่ว่า 'ความละโมบ' และ 'การชิงดีชิงเด่น' คือบ่อเกิดแห่ง 'ความขัดแย้ง' อันนำไปสู่ 'ความแตกแยก' ในสังคมทั้งปวง ... 'ความรู้จักปล่อยวาง' ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความสร้างสรรค์' อันจะสามารถ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรค' ออกไปสู่ 'มิติใหม่' แห่ง 'ความพัฒนาก้าวหน้า' อันเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการจมปลักอยู่กับข้อพิพาทเดิมๆ ที่ไม่มี 'ความสร้างสรรค์' ใดๆ

เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำทั้งหมดนี้แล้ว คำว่า 小 (xiǎo, เสี่ยว) ในที่นี้ก็น่าจะมีความหมายเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า 'ความถ่อมตนอย่างผู้น้อย', 'ความไม่ทะนงตน' หรือ 'การไม่หลงยึดติดว่าตนมีความสำคัญที่โดดเด่นเหนือผู้อื่น' และทำให้วลี 小事吉 (xiǎo shì jí, เสี่ยง ษื้อ จี๋) ของ King Wen ในบทนี้หมายถึง 'การดำเนินงานด้วยความถ่อมตน และให้ความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญอย่างสุขุมรอบคอบ (小事) ย่อมนำพาให้ทุกฝ่ายล้วนประสบกับความสำเร็จ (吉)'




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

悔亡喪馬勿逐自復見惡人無咎
huǐ wáng sàng mǎ wù zhú zì fù jiàn è rén wú jiù
หุ่ย วั๋ง ซั่ง หฺม่า อู้ จู๋ จื้อ ฟู่ เจี้ยน เอ้อ เญิ๋น อู๋ จิ้ว



ขอเล่าย้อนคำต่างๆ ให้เห็นชัดๆ อีกรอบดีกว่าครับ ...

悔 อ่านว่า huǐ (หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ผมชอบคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ที่ใช้คำว่า repent เพราะคำว่า repent แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก ... ดังนั้น 悔 (huǐ, หุ่ย) จึงเป็น 'ความเศร้าหมองที่ตนเองเป็นผู้ก่อในใจตน' โดยเฉพาะ

喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) เพิ่งจะเจอมาหยกๆ ในบทที่สามสิบสี่นี่เอง คำนี้มีความหมายว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', หรือว่า 'สิ้นสุด' ... มันจึงแทบจะเป็น synonyms กับคำว่า 亡 (wáng, วั๋ง) เลยก็ว่าได้

馬 (mǎ, หฺม่า) เจอกันมาแล้วหลายครั้ง และเกือบทุกครั้งผมก็แทบไม่ได้ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'สัตว์จำพวกม้า' เลย แต่แผลงความหมายให้เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์ของพลังแห่งหยิน' ที่เปรียบได้กับ 'หลักการ', หรือ 'คุณธรรม' แทน ... อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของ 'ม้า' ที่แม้ว่าจะดูสงบ และมีความเป็นระเบียบสูง แต่ 'ม้า' ก็เป็นสัตว์ที่มีความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีด้วยท่วงท่าลีลาที่ดูงามสง่าของมันเสมอ การฝึกและการควบคุม 'ม้า' จึงไม่สามารถใช้วิธีการที่แข็งขืนเหมือนกับการฝึก หรือการควบคุมสัตว์บางชนิดดังที่เคยเล่าไปแล้วในบทต้นๆ

คำว่า 逐 (zhú, จู๋) เล่าไว้ตั้งแต่บทที่ยี่สิบหกแล้วว่า หมายถึง 'ติดตาม', 'ไล่ตาม', 'ไล่กวด', 'ไล่ล่า', หรือ 'ขับไล่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'สืบเสาะ', 'ค้นหา' ; และจากความหมายของ 'การไล่กวด' ก็เลยแผลงเป็น 'การแข่งขัน' ; หรือลักษณะที่ 'ไล่เรียงต่อๆ กัน' ก็แผลงเป็น 'หนึ่งต่อหนึ่ง' หรือ 'เรียงตามลำดับ'

ส่วนคำว่า 復 (fù, ฟู่) นี่เจอมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแปลว่า 'กลับ', 'ย้อนคืน', 'ตอบสนอง', 'ตอบแทน' ; หรือ 'ทำซ้ำ' ... แต่ถ้าเป็น 復 (fù, ฟู่) ที่ถูกใช้ในฐานะของชื่อบทที่ยี่สิบสี่ ความหมายของมันคือ 'การย้ำคิดย้ำทำ' หรือ 'ความแน่วแน่มั่นคง' ด้วย

惡 อ่านว่า è (เอ้อ) ปรกติจะแปลว่า 'ไม่ดี', 'เลว', 'หยาบคาย', 'ชั่วร้าย', หรือว่า 'บาปกรรม' ; ถ้าใช้กับผืนแผ่นดินก็จะหมายถึง 'รกร้าง' หรือ 'แห้งแล้ง'

หากเราพิจารณาความหมายจากวลีต้นบทของ King Wen ที่บันทึกว่า 小事吉 (xiǎo shì jí, เสี่ยง ษื้อ จี๋) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ 'ความถ่อมตน' และ 'ความไม่ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' ของผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย สิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อผ่านถ้อยคำในวรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง 'หากรู้จักละเลิกความทะยานอยาก (悔亡) รู้จักปล่อยวางความโอหังในคุณธรรม (喪馬) ไม่ (勿) หมกมุ่น (逐) อยู่กับสิ่งสนองอัตตาตน (自復) ต่อให้ต้องเผชิญกับ (見) คนพาลสันดานหยาบ (惡人) ย่อมไม่ถูกโจมตีด้วยคำครหาใดๆ (無咎)' ...

ในด้านหนึ่ง ผมยังคง 'ตีความ' ให้คำว่า 馬 (mǎ, หฺม่า) หมายถึง 'คุณธรรมความดี' ตามที่เคยได้ให้ความหมายเอาไว้ แต่ก็ไม่ 'ตีความ' ให้คำว่า 喪馬 (sàng mǎ, ซั่ง หฺม่า) หมายถึง 'การสูญเสียคุณธรรม' หรือ 'การละทิ้งคุณธรรม' อย่างตรงๆ ตัว เพราะนั่นคงเป็นประเด็นที่ยอมรับได้ยากมากตามทัศนคติของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ... แต่ว่า ... เราคงพอจะนึกภาพของ 'ผู้ที่โอหังในคุณธรรม' ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะน่าจะมีตัวอย่างให้พวกเรารับรู้กันได้ในทุกยุคทุกสมัย ... โดย 'ผู้ที่โอหังในคุณธรรม' ก็คือผู้ที่ 'ยึดติดว่าตนมีความสำคัญที่โดดเด่นเหนือกว่าผู้อื่น' และน่าจะเป็นต้นเค้าที่ทำให้ 'จิวกง' เลือกบันทึกด้วยวลีว่า 龍戰于野其血玄黃 (lóng zhàn yǘ yě qí xüè xǘan huáng, ล๋ง จั้น ยฺวี๋ เหฺยี่ย ชี๋ เซฺวี่ย เซฺวี๋ยน ฮวั๋ง) ซึ่งก็คือ 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)' ในวรรคที่หกของบทที่สองนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน คำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้วว่า หมายถึง 'ความเศร้าหมองที่ตนเองเป็นผู้ก่อในใจตน' นั้น ผมได้เลือกใช้ 'ความทะยานอยาก' เป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวในวรรคนี้ เพราะนั่นคือสิ่งที่จะเผาผลาญจิตใจของ 'ผู้ที่มีความเก่งกาจ' (龍) ทั้งหลาย ให้เกิด 'ความกระสัน' ที่จะ 'ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' เพื่อสนอง 'ความโหยหาอย่างไม่รู้จักอิ่ม' ของ 'อัตตา' ... ซึ่ง ... เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมทั้งสังคมต้องตกอยู่ในสภาพที่สับสนวุ่นวาย และเต็มไปด้วย 'คนพาลสันดานหยาบ' (惡人) ที่คอยแต่จะขุดคุ้ย และกล่าวโทษ (咎) สาดโคลนใส่กันอย่างไร้แก่นสารในที่สุด ... ดังนั้น ... ผู้ที่มุ่งหวังจะสร้างสรรค์ความเจริญ จำเป็นต้องละเลิกความทะยานอยาก (悔亡), ต้องสละความโอหังในคุณธรรม (喪馬), ต้องไม่หมกมุ่นโหยหาสิ่งสนองอัตตาตน (勿逐自復) จึงจะสามารถหลีกพ้น (睽) วังวนแห่งความอุบาทว์ของการกล่าวร้าย (咎) ทั้งปวงนี้ออกไปได้ ... ฉะนี้เองแล ... ;)

 

สอง หยาง :

遇主于巷無咎
yǜ zhǔ yǘ xiàng wú jiù
ยฺวี่ จู่ ยฺวี๋ เซี่ยง อู๋ จิ้ว



遇 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'พบ', หรือ 'ประสบ' แต่โดยมากมักจะหมายถึง 'การพบโดยบังเอิญ', 'การพบโดยไม่ได้นัดหมาย' ไม่ใช่ 'การพบ' แบบตั้งใจไปพบ หรือมีการนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งในกรณีนั้นจะนิยมใช้คำว่า 見 (jiàn, เจี้ยน) มากกว่า ; โดยเหตุนี้เองที่ทำให้อีกความหมายหนึ่งของ 遇 (yǜ, ยฺวี่) จะหมายถึง 'จังหวะ' หรือ 'โอกาส' (chance, opportunity) ได้ด้วย ; บางครั้ง 遇 (yǜ, ยฺวี่) ก็ยังใช้ในความหมายว่า 'มาบรรจบกัน' หรือ 'จุดบรรจบ' ของถนนหนทาง หรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ ก็ได้ ; สำหรับความหมายอื่นๆ ของ 遇 (yǜ, ยฺวี่) ก็จะหมายถึง 'การติดต่อประสานกัน' หรือ 'การต้อนรับ' ซึ่งน่าจะเป็นความหมายที่ต่อยอดมาจาก 'การพบกัน' นั่นเอง

主 อ่านว่า zhǔ (จู่) เป็นคำแรกๆ ที่เจอมาตั้งแต่บทต้นๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง' เลยก็ว่า โดย 主 (zhǔ, จู่) จะหมายถึง 'หลัก', 'เจ้าของ', 'เจ้าบ้าน', 'สำคัญที่สุด', 'จำเป็นที่สุด', 'เด่นที่สุด'

巷 อ่านว่า xiàng (เซี่ยง) ปรกติจะหมายถึง 'ถนน', หรือ 'ทางเดิน' แต่มักจะหมายถึง 'ทางที่คดเคี้ยว' หรือ 'ทางแคบๆ เล็กๆ' มากกว่า ; บางครั้งมันจึงหมายถึง 'ปล่อง', หรือ 'ช่อง' ที่ใช้เพื่อการระบายน้ำ หรือการระบายอากาศเท่านั้นเอง ;

หลายๆ ตำรามักจะให้ความหมายของ 主 (zhǔ, จู่) ในวรรคนี้ว่า 'เจ้านาย', หรือ 'เจ้าแคว้น' ในลักษณะที่เป็น 'ผู้ยิ่งใหญ่' หรือ 'บุคคลสำคัญ' แต่ผมกลับพิจารณาถึง 'ความต่อเนื่อง' กับคำว่า 巷 (xiàng, เซี่ยง) ที่ถูกบันทึกไว้ในวรรคเดียวกัน ซึ่งหมายถึง 'เส้นทางคดเคี้ยวที่เล็กแคบ' หรือ 'ถนนสายรอง'... มันจึงทำให้ผมคิดว่า 主 (zhǔ, จู่) ควรจะหมายถึง 'เส้นทางตรงๆ ที่กว้างใหญ่' หรือ 'ถนนสายหลัก' มากกว่าที่จะหมายถึงตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม ... ??!! ... ซึ่งถ้าพิจารณาจากมุมที่ว่านี้ 'จิวกง' คงจะพยายามสื่อสารกับพวกเราว่า 'การมาบรรจบกับ (遇) เส้นทางสายหลัก (主) โดยอาศัย (于) เส้นทางสายรองอันคดเคี้ยว (巷) นั้น ย่อมไม่ใช่ (無) เรื่องผิดแปลกที่ต้องตำหนิติเตียน (咎) แต่ประการใด'

ในแง่หนึ่ง ถ้อยคำที่ว่านี้ของ 'จิวกง' ก็คล้ายกับกำลังจะบอกกับพวกเราว่า 'ทางสายหลัก' หรือ 'วิถีทางแห่งความเจริญ' นั้น มีโอกาสที่จะเข้าถึงได้จากหลากหลายแนวทาง โดยเส้นทางย่อยๆ เหล่านั้น ก็อาจจะมีความคดเคี้ยวด้วยเหตุแห่งอุปสรรค หรือข้อจำกัดนาๆ ประการที่แตกต่างกันไป ขอเพียงแต่ปลายทางแห่งความคดเคี้ยวเหล่านั้น ยังคงมุ่งไปสู่ 'ทางสายหลัก' หรือ 'วิถีทางแห่งความเจริญ' ก็ล้วนต้องนับว่าถูกต้องได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวโทษ หรือกล่าวคำตำหนิติเตียน (無咎) ใดๆ อีก ... นี่ก็คือ 'การประสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียว' เพื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมตามความหมายของ 睽 (kuí, คุ๋ย) ที่ผมเล่าเอาไว้ในตอนต้นบท ... :)

ในอีกแง่หนึ่ง ผมก็กำลังนึกถึงการบรรจบกันของทางน้ำเล็กๆ หลายๆ สาย ที่ไหลมารวมตัวกันจนเกิดเป็นแม่น้ำสายหลักต่างๆ ในธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเปรียบได้กับ 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' ของผู้คนในสังคม ที่ต่างก็ประกอบกิจกรรมตามหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะได้รับความนับหน้าถือตามากกว่าใคร หรือไม่ตั้งแง่ว่าภาคส่วนใดจะมีความโดดเด่นที่สำคัญเหนือไปกว่าภาคส่วนอื่นๆ ... เพราะผลลัพธ์สุดท้ายย่อมนำไปสู่ความสุขความเจริญร่วมกันของทุกภาคส่วนอยู่ดี ... 'การจะบรรลุถึง (遇) ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ (主) ก็ด้วยการอาศัย (于) กิจกรรมย่อยๆ อันหลากหลาย (巷) ของชุมชน โดยไม่มีการเกี่ยงงอน หรือมุ่งแต่จะคอยจับผิดเพื่อให้ร้าย (無咎) ซึ่งกันและกัน' ... นี่ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของ 'การประสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียว' เพื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม ... อีกเหมือนกัน ... ;)

สำหรับประเด็นที่อาจจะไม่ถึงกับเกี่ยวข้องกับถ้อยคำของ 'จิวกง' โดยตรงก็คือ 巷 (xiàng, เซี่ยง) ซึ่งหมายถึง 'เส้นทางคดเคี้ยวที่เล็กแคบ' นั้น ได้แฝงนัยของ 'ความเล็ก' และ 'อุปสรรค' ที่ผู้ใช้เส้นทางจำเป็นต้องมี 'ความระมัดระวัง' และ 'ความเอาใจใส่' มากเป็นพิเศษอยู่ด้วย และน่าจะทำให้มันดูมีความเกี่ยวข้องกับวลีของ King Wen ที่บันทึกไว้เป็นคำอธิบายให้กับ 睽 (kuí, คุ๋ย) ว่า 小事吉 (xiǎo shì jí, เสี่ยง ษื้อ จี๋) หรือ 'การดำเนินงานด้วยความถ่อมตน และให้ความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญอย่างสุขุมรอบคอบ (小事) ย่อมนำพาให้ทุกฝ่ายล้วนประสบกับความสำเร็จ (吉)' พอสมควร ... แต่จะโดยบังเอิญ หรือโดยความตั้งใจของ 'จิวกง' ก็สุดจะคาดเดาล่ะครับ เพราะความหมายเดิมของอักษร 主 (zhǔ, จู่) นั้น มีที่มาจากภาพของ 'ตะเกียงส่องสว่าง' ซึ่งเราอาจจะมองว่าเป็น 'ความเรืองรอง' หรือ 'ความรุ่งโรจน์' ที่ใกล้เคียงกับความหมายของ 吉 (jí, จี๋) ก็คงจะพอกล้อมแกล้มไปได้อยู่เหมือนกัน ... :D ... ??!! ...

 

สาม หยิน :

見輿曳其牛掣其人天且劓無初有終
jiàn yú yè qí niú chè qí rén tiān qiě yì wú chū yǒu zhōng
เจี้ยน ยฺวี๋ เยี่ย ชี๋ นิ๋ว เฌ่อ ชี๋ เญิ๋น เทียน เฉี่ย อี้ อู๋ ฌู โหฺย่ว



輿 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) แปลว่า 'รถ (ที่ใช้เพื่อการขนถ่ายสิ่งของ)', 'เกวียน', 'เกี้ยวโดยสาร', 'ห้องโดยสารของรถ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มากมาย', 'หนาแน่น' จากความหมายของ 'การขนถ่ายสิ่งของด้วยรถ' ; สามารถแปลว่า 'ลานโล่ง' หรือ 'บริเวณ' ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกันจำนวนมากๆ ; อาจจะหมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'ที่สาธารณะ' ก็ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เขตแดน' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แบก', 'หาม', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

曳 อ่านว่า yè (เยี่ย) แปลว่า 'ดึง', 'ลาก', หรือ 'จูง' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'นำทาง' ; แต่ถ้าฉุดกระชากลากถูกันจริงๆ ก็จะกลายเป็น 'โซเซ', หรือ 'เอนเอียง' ได้ด้วยเหมือนกัน ... :P

掣 อ่านว่า chè (เฌ่อ) แปลว่า 'ดึง', หรือ 'ลาก' เหมือนกัน แต่เป็นการ 'รั้งเอาไว้' ซะมากกว่า บางครั้งมันจึงแปลว่า 'ควบคุม' ได้ด้วย

劓 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'ตัด', 'ทำให้ขาด', 'ทำให้หลุดออก' ; โดยสมัยโบราณคือการลงทัณฑ์ที่โหดเหี้ยมด้วย 'การเฉือนจมูก'

初 อ่านว่า chū (ฌู) แปลว่า 'เริ่มแรก', 'เริ่มต้น', 'ขั้นต้น', 'เบื้องต้น' ; หรือแปลว่า 'ดั้งเดิม' ก็ได้

คำที่อาจจะมีความหมายแปลกๆ หน่อยสำหรับวรรคนี้ก็คือ 天 (tiān, เทียน) ซึ่งโดยปรกติจะแปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เบื้องบน' แต่ถ้าหมายถึงอวัยวะบนร่างกายของมนุษย์ก็จะหมายถึง 'หน้าผาก' ซึ่งเราแทบจะไม่เห็นการใช้งานในความหมายนี้บ่อยครั้งนัก ... ส่วนอีกคำหนึ่งก็คือ 且 (qiě, เฉี่ย) ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นคำเชื่อมประโยค มีความหมาย 'คล้ายกับว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'ใกล้เคียงกับ' หรือความหมายอื่นๆ ได้อีกมากมายเช่น 'ยิ่งไปกว่านั้น', 'และ', 'หรือ', 'ดังนั้น', ฯลฯ ... ซึ่งอธิบายลำบากพอสมควรว่าน่าจะใช้ในความหมายแบบไหนกันแน่ ... :P

ผมคิดว่าวรรคนี้ของ 'จิวกง' น่าจะกำลังเอ่ยถึง 'ความหมายด้านลบ' ของ 睽 (kuí, คุ๋ย) บ้างแล้วล่ะครับ เพราะในเมื่อสองวรรคแรกได้พูดถึง 'การละความอวดดื้อถือดี' (勿逐自復) และ 'การไม่ค่อนขอดว่าร้ายกัน' (無咎) ด้วยจุดประสงค์ที่จะ 'ประสานความต่าง' ไปแล้ว แต่ถ้าไม่ปฏิบัติต่อกันตามที่แนะนำเอาไว้ 'ความร้าวฉาน' ก็ย่อมเผยตัวออกมา โดยความหมายที่น่าจะเป็นไปได้ของวรรคนี้ก็คือ 'ความคิดเห็น (見) ของฝูงชน (輿) ที่แยกออกเป็นฝักฝ่าย (曳 คือโยกคลอนไปมา) ย่อมคล้ายดังฝูงโคที่ต่างก็ใช้กำลังฉุดกระชากไปคนละทิศทาง (其牛掣) จนต่างฝ่ายต่างก็หน้านิ่วคิ้วขมวดใส่กัน (其人天且劓 คือหน้าผากยับย่นเหมือนมีรอยกรีด) ก็เพราะการไม่ยอมทำความเข้าใจถึงสาเหตุ (無初) แต่กลับยึดเอาเฉพาะผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเท่านั้นมาเป็นประเด็น (有終)' ... อือม์ ... 'ความแตกแยก' นี่มีปัจจัยที่เป็นสากลมาแต่ครั้งโบราณกาลจริงๆ ด้วยแหละ !!??!!... :D

 

สี่ หยาง :

睽孤遇元夫交孚厲無咎
kuí gū yǜ yuán fū jiāo fú lì wú jiù
คุ๋ย กู ยฺวี่ เยฺวี๋ยน ฟู เจียว ฟู๋ ลี่ อู๋ จิ้ว



孤 อ่านว่า gū (กู) แปลว่า 'โดดเดี่ยว', 'หนึ่งเดียว', หรือ 'ลูกกำพร้า (ที่พ่อ-แม่ตายทั้งคู่)' ; แต่ใน 'ความเป็นหนึ่งเดียว' นี่เองที่ทำให้คำนี้ถึงกับถูกใช้เป็นสรรพนามแทนตัวเองของ 'เจ้าแคว้น' ในสมัยก่อนด้วยเหมือนกัน ; ในขณะที่สมัยหนึ่ง คำนี้ยังถูกใช้ในความหมายเดียวกับ  (gū, กู) ในความหมายว่า 'ไม่มีคุณค่า' อีกด้วย ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'การถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว' นั่นเอง

夫 อ่านว่า fū (ฟู) คำนี้แปลได้หลายอย่าง แต่ทั้งหมดจะหมายถึง 'ผู้ชาย' เช่น 'ผู้ที่มีความรู้', 'ผู้คงแก่เรียน', หรือ 'ผู้อาวุโส' ซึ่งบางครั้งก็ใช้เพื่อแสดงความถ่อมตัวของผู้มีอาวุโสด้วย เพราะ 夫 สามารถที่จะหมายถึง 'คนธรรมดา' ที่ใช้แรงงาน ; ถ้าใช้แทนบุคคลภายในครอบครัว คำนี้ใช้แทน 'สามี' ในขณะที่ 妻 (qī, ชี) ใช้แทน 'ภรรยา' ซึ่งถือเป็นคำสุภาพที่ใช้กันทั่วๆ ไปได้

交 อ่านว่า jiāo (เจียว) แปลว่า 'เกี่ยวข้องกัน', 'ติดต่อกัน', 'สัมพันธ์กัน', 'แลกเปลี่ยนกัน', 'คบค้าสมาคมกัน', 'ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน' ; อาจจะหมายถึง 'การพบปะ' หรือ 'การอยู่ร่วมกัน' ก็ยังได้ ; แต่ในความหมายอื่นๆ ก็ยังสามารถหมายถึง 'สวยงาม' ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'การเปรียบเทียบกัน', แต่ก็แฝงความหมายที่ไม่ค่อยดีอยู่ในตัว เพราะมันสามารถหมายถึง 'ความเย่อหยิ่งลำพอง', 'ความหลงตัวเอง', หรืออีกความหมายหนึ่งจะมีความหมายเหมือนกับ 狡 (jiǎo, เจี่ยว) ที่แปลว่า 'เจ้าเล่ห์เพทุบาย' ได้อีกด้วย

孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

ผมมองความหมายของ 睽孤 (kuí gū, คุ๋ย กู) ว่าน่าจะหมายถึง 'ความแตกต่างที่ถูกละเลย' ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือ 'ความต่อเนื่อง' มาจากวลีว่า 無初有終 (wú chū yǒu zhōng, อู๋ ฌู โหฺย่ว ง) หรือ 'การไม่ยอมทำความเข้าใจถึงสาเหตุ (無初) แต่กลับยึดเอาเฉพาะผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเท่านั้นมาเป็นประเด็น (有終)' ตรงท้ายวรรคที่สาม ... ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง คำว่า 'การถูกทอดทิ้ง' หรือ 'การถูกละเลย' () นั้น ก็ย่อมเป็นผลมาจากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมเคารพในทัศนคติของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากของตนเองเลย ...

แต่ถ้าจะพิจารณาในแง่ของ theme 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นบท เราก็จะเห็นว่าวรรคที่หนึ่ง และวรรคที่สองของ 'จิวกง' ได้เน้นไปในเรื่องของ 'การแสวงจุดร่วม' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยยกเอาประเด็นของ 'การละความอวดดื้อถือดี' (勿逐自復) และ 'การไม่ค่อนขอดว่าร้ายซึ่งกันและกัน' (無咎) เป็นประเด็นหลัก ... พอมาถึงวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่ ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' อาจจะหันมาเอ่ยถึง 'การสงวนจุดต่าง' บ้าง ซึ่งก็จะทำให้ 睽孤 (kuí gū, คุ๋ย กู) มีความหมายว่า 'การเพิกเฉยต่อประเด็นปลีกย่อยที่มีความแตกต่าง' โดยไม่หยิบยกขึ้นมาขยายผลให้บานปลายเป็น 'ความขัดแย้ง' ... นี่ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของ 'การทอดทิ้ง' หรือ 'การไม่ให้ความสนใจ' (孤) ... โดยผมคิดว่า มันน่าจะออกมาแนวนี้มากกว่า ... :P ...

ดังนั้น ถ้อยคำของ 'จิวกง' ที่ปรากฏอยู่ในวรรคนี้จึงควรจะหมายถึง 'หากรู้จักเพิกเฉยต่อประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่าง (睽孤) ประสานสัมพันธ์กัน (遇) อย่างมีวุฒภาวะที่สร้างสรรค์ (元夫) เพื่อเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างกัน (交孚) เรื่องร้ายแรงใดๆ (厲) ย่อมไม่อาจ (無) ก่อตัวจนกลายเป็นปัญหา (咎)' ... คือความหมายที่ต่อเนื่องกับวรรคที่สามซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของมันอย่างลงตัว ... พอดี ... เป๊ะ !! ... :D

 

ห้า หยิน :

悔亡厥宗噬膚往何咎
huǐ wáng jüé zōng shì fū wǎng hé jiù
หุ่ย วั๋ง เจฺวี๋ย จง ษื้อ ฟู หฺวั่ง เฮ๋อ จิ้ว



厥 อ่านว่า jüé (เจฺวี๋ย) มาจากการผสม 'ภาพอักษร' 厂 (hàn, ฮั่น) ที่แปลว่า 'ภูผา', 'หน้าผา', หรือ 'ภูเขา' ที่สูงชัน ; กับ 欮 (jüé, เจฺวี๋ย) ซึ่งแปลว่า 'ขุด', 'เจาะ' หรือ 'ตัด' ความหมายเดิมตาม 'ภาพอักษร' ของ 厥 จึงหมายถึง 'ก้อนหิน' หรือ 'การทำเหมืองหิน' ... ซึ่งในลักษณะของการเปลี่ยนสภาพของภูเขาสูงให้กลายเป็นก้อนหินด้วย 'การขุด', 'การเจาะ', 'การตัด' นี้เอง มันจึงสามารถใช้ในความเดียวกับ 撅 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่หมายถึง 'ขุด', 'เจาะ', 'ตัดให้สั้น' ; ในขณะเดียวกันก็ยังใช้ในความหมายเหมือนกับ 蹶 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่แปลว่า 'ลื่นล้ม', 'ล้มลง', หรือ 'พ่ายแพ้' บางทีก็เลยแปลว่า 'เป็นลม' เพราะเกิดจาก 'การขาดช่วง' ของเลือดลมต่างๆ ในร่างกายด้วย

厥 (jüé, เจฺวี๋ย) สามารถที่จะหมายถึง 'การกระจายออก', 'แผ่ขยาย' จากรากเดิมที่เป็นการทอนขนาดของภูเขาให้กลายเป็นก้อนหิน ดังนั้นมันจึงถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 其 (qí, ชี๋) ที่หมายถึง 'คนอื่นๆ', 'สิ่งอื่นๆ' ; และอาจใช้เป็นคำเชื่อมประโยคในความหมายว่า 'ดังนั้น' (therefore), 'หลังจากนั้น' หรือ 'ในที่สุด' (after all) ในลักษณะของ 'การคลี่คลายออก' ก็ได้

宗 อ่านว่า zōng (จง) แปลว่า 'ชนเผ่า', 'เผ่าพันธุ์', 'เครือญาติ', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน' ซึ่งเป็นความหมายที่สามารถใช้อักษร 門 (mén, เมิ๋น) ทดแทนได้ทั้งหมด ... แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอักษร 宗 (zōng, จง) ยังแฝงความหมายของ 'ผู้อาวุโสประจำชนเผ่า', 'ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'บรรพบุรุษ', 'ผู้นำชุมชน', หรือ 'ผู้มีอำนาจปกครองในชุมชน' ซึ่งมีนัยของ 'การยกย่องให้ความสำคัญ' หรือ 'ให้ความเคารพ' เหนือกว่าบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นๆ ด้วย และในบางครั้งมันก็ยังสามารถหมายถึง 'ลัทธิคำสอน' และอาจจะแผลงเป็น 'เจ้าลัทธิ' ก็ได้ ...

噬 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'กัด', 'งับ', 'ฉก', 'จิก', 'กลืน', หรือ 'กิน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ขูด', 'ขัดถู', 'กัดกร่อน', 'กร่อน' ; อาจจะหมายถึง 'สึกหรอ', 'เสียหาย', หรือ 'ตาย' ไปเลยก็ได้

膚 อ่านว่า fū (ฟู) แปลว่า 'ผิวหนัง', 'เปลือก' หรือ 'สิ่งที่ห่อหุ้ม' ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'ตื้นๆ', 'ผิวเผิน', 'ไม่ลึกซึ้ง' หรืออาจจะหมายถึง 'สิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ' ; และในบางกรณีก็แปลว่า 'อ่อนนุ่ม' ด้วย

ส่วนคำว่า 何 (hé, เฮ๋อ) เป็นคำภาษาจีนที่ใช้ในกรณีของการถามคำถาม ความหมายจะคล้ายกับ how, which, what, when, where, why ขึ้นอยู่กับว่าถูกนำไปใช้ในรูปประโยคแบบไหน

ผมอยากจะให้ความหมายกับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'การยุติความทะยานอยาก (悔亡) รู้จักแบ่งปัน (厥) และเอื้ออารีต่อกันด้วยความเคารพในชุมชน (宗) คือปฏิบัติการที่มุ่งกำจัด (噬 หรือกัดกร่อนทำลาย) สิ่งที่ไม่ใช่แก่นแห่งสาระ (膚) ให้หมดสิ้นไป ... หาใช่การกล่าวโทษกันไปมาแต่ประการใดไม่ (往何咎)' ...

จากนั้นผมก็ลองจับไปโยงกับความหมายในวรรคที่สองซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของมันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะได้ถ้อยคำเต็มๆ ที่ 'จิวกง' กำลังพยายามบอกกับพวกเราว่า ... 'การจะบรรลุถึงสาระประโยชน์ร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย (遇主) ล้วนต้องประสบกับเส้นทางที่คดเคี้ยวด้วยอุปสรรคนานัปการ (于巷) ที่ไม่อาจกล่าวโทษ หรือตำหนิผู้หนึ่งผู้ใด (無咎) ... การยุติความทะยานอยาก (悔亡) รู้จักแบ่งปัน และเอื้ออารีต่อกันด้วยความเคารพในชุมชน (厥宗) คือวิถีทางที่จะกำจัดความไร้แก่นสาร (噬膚) ให้หมดสิ้นไป ... หาใช่การกล่าวโทษกันไปมาแต่ประการใดไม่ (往何咎)' ... สวยดีนะครับ !!  ... :D

ซึ่งถ้ามองจากภาพรวมๆ อย่างนี้แล้ว คำว่า 主 (zhǔ, จู่) ที่เราเห็นในวรรคที่สองก็จะไม่ใช่ 'คู่ตรงข้าม' กับ 巷 (xiàng, เซี่ยง) อีกต่อไป แต่มันจะเปลี่ยนมาเป็น 'คู่ตรงข้าม' กับ 膚 (fū, ฟู) แทน ... คือจะกลายมาเป็น 'คู่ตรงข้าม' ระหว่าง 'สาระประโยชน์หลัก' (主) กับ 'สิ่งที่ไม่ใช่แก่นสาร' (膚) ทันที !!!??! ...

ส่วนคำว่า 厥宗 (jüé zōng, เจฺวี๋ย จง) นั้น ก็จะมีความหมายคล้ายๆ กับ 'การลดทอนความกร่างของตนเอง' หรือ 'การลดทอนความสำคัญผิดในตนเอง' ด้วย 'การกระจายความเคารพไปสู่ทุกภาคส่วนในชุมชน' แทน ... ซึ่งผมเลือกใช้คำแปลว่า 'รู้จักแบ่งปัน และเอื้ออารีต่อกันด้วยความเคารพ' เพื่อจำกัดความให้ชัดเจนว่า มันคือพฤติกรรมคนละแบบกับ 'การให้ทาน' ซึ่งเป็นการให้ด้วย 'ความเมตตาสงสาร' มากกว่า 'ความเคารพ' ...

คำสำคัญอีกคำหนึ่งก็คือ 咎 (jiù, จิ้ว) ซึ่ง 'จิวกง' ย้ำแล้วย้ำอีกถึง 4 ครั้งในบทนี้ โดย 咎 (jiù, จิ้ว) นั้นจะแปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน' ; แต่มันก็รวมไปถึง 'คำค่อนขอดว่าร้าย' หรือ 'การใส่ร้ายป้ายสี' ได้ด้วยเหมือนกัน ... แม้ว่า 咎 (jiù, จิ้ว) จะไม่อยู่ในระดับที่ร้ายแรงเหมือนกับ 'ความผิดพลาด' ในแบบอื่นๆ เช่น 凶 (xiōng, เซฺวิง) ที่ออกแนว 'ฉิบหายวายป่วง' ไปเลย ... :D ... แต่ 咎 (jiù, จิ้ว) มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิด 'ความแตกแยก' (睽) โดยเฉพาะในชุมชนที่มีความคิดเห็นหลายๆ อย่าง 'ไม่ลงรอยกัน' (睽) เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว ... ดังนั้น การจะนำพาสังคมทั้งสังคมให้ 'ก้าวข้ามความแตกต่าง' ไปสู่ 'มิติใหม่' ที่สร้างสรรค์กว่าเดิม สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ประการหนึ่งที่จะต้องทำก็คือ 'ยุติการกล่าวโทษกันไปมา' (無咎) ด้วย 'มุมมอง' หรือ 'ทัศนคติ' ที่ 'แตกต่างกัน' (睽) เพราะนั่นคือการกระทำที่ 'ไร้สาระ' (膚) ที่ต้องกำจัดทิ้ง (噬) เป็นอันดับต้นๆ

หากเราจะตัดทอนคำบางคำออกไปจาก 'คู่วลี' ของวรรคที่สอง กับวรรคที่ห้า ให้เหลือเพียงแก่นที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อจริงๆ ผมคิดว่าถ้อยคำที่ว่านั้นก็คือ 遇主 ‧ 無咎 ‧ 悔亡 ‧ 厥宗 ‧ 噬膚 ‧ (yǜ zhǔ . wú jiù . huǐ wáng . jüé zōng . shì fū, ยฺวี่ จู่ . อู๋ จิ้ว . หุ่ย วั๋ง . เจฺวี๋ย จง . ษื้อ ฟู) ที่หมายถึง 'หากต้องการจะบรรลุถึงเป้าหมายที่สำคัญร่วมกันอย่างจริงจัง (遇主) อย่ามัวแต่ค่อนขอดว่าร้ายกันไปมา (無咎) แต่จงละเลิกความทะยานอยากของตน (悔亡) จงรู้จักแบ่งปันกันด้วยความเคารพในชุมชน (厥宗) และจงช่วยกันขจัดปัดเป่าเปลือกนอกที่แตกต่างกันอย่างไร้แก่นสารให้หมดสิ้นไป (噬膚)' ... นี่ ... เจ๋งมากเลยใช่มั้ยล่ะ ??!!

 

หก หยาง :

睽孤見豕負塗載鬼一車先張之弧後說之弧匪寇婚媾往遇雨則吉
kuí gū jiàn shǐ fù tú zài guǐ yī chē xiān zhāng zhī hú hòu tuō zhī hú fěi kòu hūn gòu wǎng yǜ yǚ zé jí
คุ๋ย กู เจี้ยน ษื่อ ฟู่ ทู๋ ไจ้ กุ่ย อี้ เอ เซียน จัจือ ฮู๋ โฮ่ว ทัว จือ ฮู๋ เฝ่าย โค่ว ฮุน โก้ว หฺวั่ง ยฺวี่ หฺยวี่ เจ๋อ จี๋



豕 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) เคยเล่าไว้ในบทที่ยี่สิบหกแล้วว่า หมายถึง 'หมู' หรือ 'หมูป่า' ; แต่โดยลักษณะที่ 'หมู' เป็นสัตว์ที่มักจะ 'กินไม่เลือก' หรือ 'กินมูมมาม' ความหมายเปรียบเทียบที่มักจะพบเห็นก็คือ 豕 (shǐ, ษื่อ) อาจจะถูกใช้ในความหมายของ 'ความโลภ' หรือ 'ความไม่รู้จักพอ' ได้ด้วย

 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ขึ้นอยู่กับ', 'ที่อ้างอิงกับ', หรือ 'พึ่งพาอาศัย' ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'สิ่งอื่น', 'ผู้อื่น' ได้ด้วย ; ในขณะเดียวกันก็สามารถแปลว่า 'สิ่งที่สูญเสีย', 'สิ่งที่ขาดหายไป', 'สิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์', หรือ 'สิ่งที่ช่วยเติมเต็ม', 'สิ่งชดเชย' ก็ยังได้ ; นอกจากนั้น  (fù, ฟู่) ยังมีความหมายว่า 'รองรับไว้ด้วยหลัง', 'แบกไว้บนหลัง', หรือ 'แบกไว้บนบ่า' ในลักษณะที่ 'มีความเชื่อมั่นศรัทธา' ต่อสิ่งที่แบกไว้ หรือต่อสิ่งที่จะมาเติมเต็มลงไป

 อ่านว่า tú (ทู๋) ปรกติจะแปลว่า 'ถนน', 'ทางเดิน', หรือ 'โคลน' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ละเลง', 'ทำให้เลอะเทอะ', 'ทำให้ไม่ชัดเจน'

載 อ่านว่า zài (ไจ้) แปลว่า 'บรรทุก', 'แบกรับ', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

鬼 อ่านว่า guǐ (กุ่ย) โดยทั่วไปเราจะเห็นการใช้คำนี้ในความหมายว่า 'วิญญาณ' หรือ 'ภูติผีปีศาจ' ; แต่ความหมายอื่นๆ ของมันยังสามารถหมายถึง 'สิ่งชั่วร้าย', 'คนชั่วร้าย', 'ความลุ่มหลงมัวเมา', 'ความเหลวแหลก', 'ความเหลวไหล' หรือความใดๆ ที่สื่อไปในทางที่เสื่อมเสียเหมือนกับคำสบถทั่วๆ ไปในภาษาต่างๆ ด้วย

ส่วนคำว่า 車 (chē, เอ) เคยอธิบายไปแล้วว่า หมายถึง 'รถ', 'ล้อรถ', หรือสิ่งใดๆ ที่มีลักษณะหมุนได้คล้ายกับ 'ล้อ' ก็ได้ ... ถึงขนาดว่าผมเคยให้ความหมายของ 車 (chē, เอ) ไว้ในบทที่สิบสี่ว่า 'วงล้อแห่งธรรม' ด้วยซ้ำ ... :)

張 อ่านว่า zhāng (จัง) แปลว่า 'เปิดออก', 'คลี่ออก' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ขยายความ', 'แผ่ออก', หรือ 'ผ่อนผัน' ; และสามารถใช้เป็นหน่วยนับ 'แผ่นๆ', 'ชิ้นๆ' (อันเนื่องมาจากการกระจายออกจากกัน) ; นอกจากนั้นก็ยังสามารถแปลว่า 'เบิ่งมอง' ในลักษณะของ 'การเบิ่งตากว้าง' เพื่อ 'จ้องมอง' ก็ได้

弧 อ่านว่า hú (ฮู๋) ส่วนใหญ่จะแปลกันว่า 'คันธนู', หรือ 'คันศร' ที่ทำจากไม้ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะหมายถึง 'ส่วนโค้ง' ใดๆ ที่อาจจะทำขึ้นมาจากไม้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งบางครั้งมันก็ยังหมายถึง 'คันธง' และยังอาจจะหมายถึง 'ผืนธง' ก็ยังได้เลยด้วยซ้ำ

ส่วนคำว่า 說 นั้นเคยเล่าไปแล้วว่า ถ้าออกเสียงเป็น tuō (ทัว) จะแปลว่า 'แยกออกจากกัน' ; แต่ถ้าออกเสียงว่า shuō (ซัว) จะแปลว่า 'คำพูด', 'คำสอน', หรือ 'เหตุผล' หรือความหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ 'การพูด' เช่น 'เรื่องเล่า' เป็นต้น

สำหรับวลีว่า 匪寇婚媾 (fěi kòu hūn gòu, เฝ่าย โฮ่ว ฮุน โก้ว) เคยให้ความหมายไว้ในบทที่สามว่า 'การแต่งงานที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ' ... แต่ยังต้องดูกันต่อไปครับว่า เรายังจะสามารถใช้ความหมายเดิมในวรรคนี้ได้ด้วยรึเปล่า ??!! ... :P

ส่วนอักษร 雨 (yǚ, หยฺวี่) ปรกติที่เราเห็นกันทั่วไปก็จะแปลว่า 'ฝน' ... แต่ก็เคยเล่าไปก่อนแล้วว่า นี่คือ 'ทรัพยากรทางธรรมชาติ' ที่มี 'คุณค่าสูง' มากในสังคมกสิกรรม หรือสังคมเกษตรกรรมมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ซึ่งความหมายในแง่ของ 'คุณค่า' ดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงคำที่ฝรั่งใช้ว่า rainmaker ซึ่งมีความหมายประมาณว่า เป็น 'ผู้ให้ความเอื้อเฟื้อ', 'ผู้ให้ความสนับสนุน', หรือ 'ผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์' นั่นเอง ... ส่วนความหมายของ 雨 (yǚ, หยฺวี่) ที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นในการใช้งานทั่วไปก็คือ 'เพื่อน' และ 'คำสั่งสอน' หรือ 'ข้อแนะนำ'

จุดที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตสำหรับถ้อยคำยาวๆ ของ 'จิวกง' ในวรรคนี้ก็คือ มันมีคำว่า 車 (chē, เอ) ที่สามารถแปลว่า 'วงล้อ' แล้วก็มีคำว่า 弧 (hú, ฮู๋) ที่นอกจากจะแปลว่า 'คันศร' หรือ 'คันธง' แล้ว มันยังสามารถที่จะหมายถึง 'ส่วนโค้ง' หรือ arc ได้ด้วย ... ซึ่งผมกำลังคิดว่ามันมีบางอย่างที่น่าจะเกี่ยวข้องกันพอสมควร ... แต่ 'คำแปล' ที่หลายๆ ตำรามักจะให้ไว้ในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนักกลับกลายเป็นว่า 'ความไม่ลงรอยกันที่ลงเอยด้วยความแปลกแยก พบเห็นสุกรที่มอมแมมไปด้วยดินโคลน บรรทุกภูติผีไว้เต็มลำพาหนะ แรกเริ่มโก่งง้างคันศร ต่อมากลับวางคันศรลง มันไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นหมู่มิตร จงดำเนินต่อไป หากได้พบสายฝนจะนำไปสู่ความมีโชคลาภ' ... ซึ่งไม่รู้เรื่องเลย !!! ... :D

ความหมายจริงๆ ที่ผมอยากจะให้ไว้สำหรับวรรคที่ค่อนข้างจะสับสนนี้ก็คือ 'ความเพิกเฉยต่อประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่าง (睽孤) นั้น คือจะต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ (見) ว่า ความละโมบ (豕) ย่อมเต็มไปด้วย (負) ความสกปรกโสมม (塗 คล้ายดั่งสุกรที่เลอะเทอะไปด้วยดินโคลน) วงจรอุบาทว์ย่อมเต็มไปด้วยความเลวร้าย (載鬼一車 คล้ายดั่งยานพาหนะที่บรรทุกไว้แต่ซากศพวิญญาณ) หากยิ่งขยายความออกไปเป็นวงกว้าง (先張之弧) จะยิ่งบานปลายจนไม่อาจประสานคืน (後說之弧 คือกลายเป็นวงที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ) แม้ว่าบางครั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องฝืนความรู้สึกในการอยู่กินร่วมกัน (匪寇婚媾) แต่หากปฏิบัติ (往) ต่อกันและกัน (遇) เยี่ยงมิตรที่คอยให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล (雨) ผลลัพธ์ที่ได้ (則) ย่อมนำไปสู่ความรุ่งเรือง (吉)' ... แล้วลองนำคำอธิบายนี้ไปต่อท้ายให้กับวรรคที่หนึ่ง ซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของมันดูสิครับ ... 'หากรู้จักละเลิกความทะยานอยาก (悔亡) รู้จักปล่อยวางความโอหังในคุณธรรม (喪馬) ไม่ (勿) หมกมุ่น (逐) อยู่กับสิ่งสนองอัตตาตน (自復) ต่อให้ต้องเผชิญหน้า (見) กับคนพาลสันดานหยาบ (惡人) ย่อมไม่ถูกโจมตีด้วยคำครหาใดๆ (無咎)' ... ;)

ประเด็นที่น่าสนใจในถ้อยคำเหล่านี้ก็คือ 'จิวกง' น่าจะมีทัศนคติต่อ 'ความละโมบ' (豕) ว่า มันคือธรรมชาติหนึ่งที่มีอยู่จริงในจิตใจของทุกผู้คน 'การละเลิกความทะยานอยาก' (悔亡) และ 'การไม่สนองอัตตาตน' (勿逐自復) เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์นั้น ส่วนหนึ่งจึงไม่ต่างจาก 'การแต่งงานที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ' (匪寇婚媾) ซักเท่าไหร่ เพราะทุกฝ่ายจำเป็นต้อง 'กดข่มธรรมชาติด้านลบของตน' นี้ไว้ โดยอาศัย 'การแบ่งปัน และความเอื้ออารีต่อกันด้วยความเคารพในชุมชน' (厥宗) มาเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ... การขยายความแตกต่างให้ลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง (先張之弧) ด้วยการอวดอ้างสรรพคุณเฉพาะตนเพื่อต่อว่าด่าทอผู้อื่นนั้น รังแต่จะยิ่งทำให้ความไม่ลงรอยกันในสังคมต้องปริแตกออกเป็นเสี่ยงๆ จนยากที่จะประสานคืน (後說之弧)

การยุติข้อพิพาท และคำต่อว่าด่าทอของผู้อื่น (無咎) นั้น ย่อมไม่มีโอกาสสำเร็จได้ด้วยการต่อว่าด่าทอผู้อื่นเพื่อเป็นการเอาคืน เพราะนั่นย่อมไม่ต่างไปจากการใช้กำลังเยี่ยงวัวควายที่ฉุดกระชากยานพาหนะไปคนละทิศทางอย่างดื้อด้าน (其牛掣) ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายยิ่งโกรธแค้น และทำหน้ายักษ์อันยับย่นใส่กัน (其人天且劓) อย่างไม่สิ้นสุด ... ด้วยเหตุนี้ 'จิวกง' จึงนำเสนอเป็นกรอบคิดไว้ว่า 'การวางเฉยต่อความไม่ลงรอยกัน' (睽孤) และมุ่ง 'ปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวัง' (小事) 'ละเลิกความทะยานอยาก' (悔亡) 'ปล่อยวางความโอหังในคุณธรรม' (喪馬) และ 'ไม่หมกมุ่นอยู่กับการสนองอัตตาตน' (勿逐自復) เพื่อมุ่ง 'กำจัดข้อบกพร่องของตน' ที่ผู้อื่นสามารถหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นวาทกรรมในการตำหนิติเตียน (無咎) อย่างถาวร ... แม้กระทั่งว่า ต่อให้ฝ่ายหนึ่งเงื้อง่าคันศรขึ้นเพื่อประทับยิง (先張之弧) สิ่งที่พึงตอบโต้คือการวางคันศรของฝ่ายตนลง (後說之弧) เพื่อ 'ยุติวงจรอุบาทว์' แห่ง 'การกล่าวโทษกันไปมา' อันเป็นส่วนหนึ่งของ 'การสนองอัตตาตน' ... นี่ก็คือ 'หลักอหิงสา' ที่ 'จิวกง' เคยนำเสนอเอาไว้ตั้งแต่กว่า 4,000 ปีที่แล้วนั่นเอง ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :


'คุ๋ย' คือ การสร้างความแตกต่าง, สุกสว่างเหนือห้วงมหรรณพ

'การสร้างความแตกต่าง' ย่อมหมายถึง 'การดำเนินงาน' ด้วย 'ความถ่อมตน' และให้ 'ความเอาใจใส่' ใน 'ทุกรายละเอียด' ที่เป็น 'สาระสำคัญ' อย่าง 'สุขุมรอบคอบ' อันจะนำพาให้ 'ทุกฝ่าย' ล้วนประสบกับ 'ความสำเร็จ'

  •  
  • หากรู้จัก 'ละเลิกความทะยานอยาก', รู้จัก 'ปล่อยวางความโอหังในคุณธรรม', 'ไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งสนองอัตตาตน' ต่อให้ต้องเผชิญกับ 'คนพาลสันดานหยาบ' ย่อมไม่ถูกโจมตีด้วย 'คำครหาใดๆ'
  •  
  • การจะบรรลุถึง 'ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่' ก็ด้วยการอาศัย 'กิจกรรมย่อยๆ อันหลากหลาย' ของ 'ชุมชน' โดยไม่มี 'การเกี่ยงงอน' หรือมุ่งแต่จะ 'คอยจับผิด' เพื่อ 'ให้ร้ายซึ่งกันและกัน'
  •  
  • 'ความคิดเห็น' ของฝูงชนที่ 'แยกออกเป็นฝักฝ่าย' ย่อมคล้ายดังฝูงโคที่ต่างก็ 'ใช้กำลังฉุดกระชาก' ไป 'คนละทิศทาง' จนต่างฝ่ายต่างก็ 'หน้านิ่วคิ้วขมวดใส่กัน' ก็เพราะ 'การไม่ยอมทำความเข้าใจถึงสาเหตุ' แต่กลับยึดเอาเฉพาะ 'ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน' เท่านั้นมาเป็นประเด็น
     
  • หากรู้จัก 'เพิกเฉยต่อประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่าง' รู้จัก 'ประสานสัมพันธ์กัน' อย่างมี 'วุฒภาวะ' ที่ 'สร้างสรรค์' เพื่อเสริมสร้าง 'ความเข้าอกเข้าใจระหว่างกัน' เรื่องร้ายแรงใดๆ ย่อมไม่อาจก่อตัวจนกลายเป็น 'ปัญหา'
  •  
  • การ 'ยุติความทะยานอยาก', รู้จัก 'แบ่งปัน' และ 'เอื้ออารีต่อกัน' ด้วย 'ความเคารพในชุมชน' คือปฏิบัติการที่มุ่ง 'กำจัดสิ่งที่ไม่ใช่แก่นแห่งสาระ' ให้หมดสิ้นไป ... หาใช่ 'การกล่าวโทษกันไปมา' แต่ประการใดไม่
  •  
  • 'ความเพิกเฉยต่อประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่าง' นั้นคือ จะต้อง 'เข้าใจให้ถ่องแท้' ว่า 'ความละโมบ' ย่อมเต็มไปด้วย 'ความสกปรกโสมม' (คล้ายดั่งสุกรที่เลอะเทอะไปด้วยดินโคลน) 'วงจรอุบาทว์' ย่อมเต็มไปด้วย 'ความเลวร้าย' (คล้ายดั่งยานพาหนะที่บรรทุกไว้แต่ซากศพวิญญาณ) หากยิ่ง 'ขยายความออกไปเป็นวงกว้าง' ก็จะยิ่ง 'บานปลายจนไม่อาจประสานคืน' แม้ว่าบางครั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้อง 'ฝืนความรู้สึก' ใน 'การอยู่กินร่วมกัน' แต่หาก 'ปฏิบัติต่อกันและกัน' เยี่ยง 'มิตรที่คอยให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล' ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมนำไปสู่ 'ความรุ่งเรือง'




The Organization Code :


'การสร้างความแตกต่าง' คือ การเสริมสร้าง 'ความโดดเด่นของสินค้า' (☲) ด้วยทีมงาน 'ด้านบริการ' (☱) ที่ 'น่าประทับใจ' ; 'ระดับนโยบาย' จะต้องมีการกำหนด 'เป้าหมายที่ชัดเจน' และมี 'กรอบในการดำเนิงานที่เคร่งครัดรัดกุม' (⚌) ; 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับปฏิบัติการ' จะต้องมี 'กระบวนการคิด' ที่ 'ยืดหยุ่น-เปิดกว้าง' และ 'มุ่งมั่นในการปฏิบัติ' ใน 'ทิศทางที่สนองตอบต่อนโยบาย' อย่าง 'ทุ่มเท'

แม้ว่า 'นวัตกรรม' มักจะหมายถึง 'สิ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่' แต่ 'ความแตกต่าง' อาจจะหมายถึงเพียง 'การปรับปรุงแก้ไขสิ่งเดิม' เพื่อให้ 'สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น' หรือแม้แต่ 'การปรับปรุงแก้ไขสิ่งเดิม' เพื่อให้ 'สามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกกว่า' ซึ่งในหลายๆ กรณีก็จะเป็นเพียง 'การแก้ไขปรับปรุง' ตรงจุดที่เป็น 'รายละเอียดอย่างมีสาระสำคัญ' เท่านั้น ... อย่างไรก็ตาม ... การจะ 'ปรับปรุงแก้ไขสิ่งเดิม' อย่าง 'สร้างสรรค์' นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'ความช่างสังเกต' และมี 'ความละเอียดลออ' อย่าง 'ปราศจากอคติ' ใดๆ เพื่อที่จะ 'ศึกษา' และ 'ทำความเข้าใจ' ถึง 'ข้อจำกัด' ตลอดจน 'ความจำเป็น' ของแต่ละ 'มาตรฐาน' อย่าง 'รอบด้าน' ไม่ว่าจะเป็น 'มาตรฐาน' ที่ยังดำรงอยู่ หรือที่เคยถูกปฏิเสธไปแล้วก็ตาม

'การผสมผสาน' องค์ประกอบที่มี 'ความแตกต่างอย่างหลากหลาย' เข้าด้วยกันนั้น นอกจากจะต้องมี 'ความละเอียดรอบคอบ' ในทุกๆ ขั้นตอน และต้อง 'ดำเนินการ' ต่างๆ ด้วย 'ความระมัดระวัง' แล้ว ... 'การยอมรับฟัง' ข้อแนะนำ หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้อื่นด้วย 'ความเคารพ' โดย 'ไม่ยึดติด' อยู่กับ 'สถานภาพ' ใดๆ ของทุกผู้คน ย่อมส่งเสริมให้เกิด 'ความยินยอมพร้อมใจ' ที่จะ 'ประสานงานกัน' จนปรากฏผลเป็น 'ความสำเร็จ' อันเป็น 'จุดมุ่งหมายสำคัญ' ของทุกๆ ฝ่าย 'อย่างราบรื่น'
 

  • 'การปฏิบัติงานร่วมกัน' จะต้องไม่มุ่ง 'ความสนใจ' ไปที่ 'การชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' ทั้งยังต้องรู้จัก 'การให้ความเคารพต่อผู้อื่น' โดยไม่พยายามแสดงตนว่ามี 'ความโดดเด่น' ที่เหนือกว่าใครๆ 'ไม่หมกมุ่น' อยู่กับ 'การสนองความอยาก' หรือ 'การสนองความพึงพอใจ' ใดๆ อันเป็น 'ความคับแคบเฉพาะตน' จึงจะสามารถ 'ยุติคำครหา' ที่ต่างฝ่ายต่างสามารถ 'ขุดคุ้ย' ขึ้นมาเพื่อ 'กล่าวร้ายกันไปมา' ได้
     
  • 'เป้าหมาย' แม้จะมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ 'วิถีทาง' ที่จะนำไปสู่ 'เป้าหมาย' นั้นๆ ย่อมมี 'ความเป็นไปได้' ที่หลากหลาย โดยแต่ละ 'วิถีทาง' ย่อมต้องมี 'ข้อจำกัด' และ 'อุปสรรค' ที่แตกต่างกันไป ... 'การดำเนินงาน' ที่ต้องเกี่ยวข้องกับ 'หลายฝักหลายฝ่าย' ต้องพึ่งพาอาศัย 'ความชำนาญเฉพาะทาง' ที่ไม่เหมือนกัน จึงยิ่งต้อง 'รู้จักแลกเปลี่ยนองค์ความรู้' และต้อง 'ทำความเข้าใจระหว่างกัน' ให้มาก ไม่ใช่มัวแต่คอย 'จับผิด' และคอย 'กล่าวโทษกันไปมา' อย่างหา 'สาระ' ใดๆ ไม่ได้เลย
     
  • 'ความยึดติด' อยู่กับ 'แนวคิด' หรือ 'หลักการ' ใดๆ 'อย่างดื้อด้าน' ของแต่ละ 'ฝักฝ่าย' ย่อมคล้ายดั่งการใช้กำลังเข้า 'ฉุดกระชากไปคนละทิศทาง' ของฝูงโค อันจะนำไปสู่ 'ความขัดแย้ง' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'หน้านิ่วคิ้วขมวดใส่กัน' จน 'ละเลย' ต่อการพิจารณาถึง 'สาเหตุแห่งปัญหา' แต่กลับไปมุ่งเน้นอยู่กับ 'การห้ำหั่นกัน' บน 'ความแตกต่าง' ซึ่งเป็นเพียง 'ผลผลิตเบื้องปลาย' ที่ไม่อาจนำไปสู่ 'การแก้ไขปัญหา' ใดๆ
     
  • 'การมีปฏิสัมพันธ์' ด้วย 'วุฒิภาวะ' ที่ 'สร้างสรรค์' คือ 'การรู้จักละวาง' ต่อ 'ประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่าง' แล้วมุ่ง 'ทำความเข้าใจ' ต่อ 'ข้อจำกัด' ตลอดจน 'อุปสรรค' ต่างๆ ของกันและกัน 'อย่างละเอียด-รอบด้าน' เพื่อที่จะ 'ช่วยกันระงับปัญหา' ที่อาจจะ 'ลุกลามออกไป' ให้ 'อยู่ในขอบเขต' ที่จะสามารถ 'ขจัดปัดเป่า' ให้หมดสิ้นไปได้
     
  • 'ความขัดแย้ง' ย่อมไม่อาจ 'คลี่คลาย' ได้ด้วย 'การขุดคุ้ยความบกพร่อง' ของกันและกัน เพียงเพื่อจะ 'กล่าวโทษกันไปมา' อย่างหา 'สาระ' ไม่ได้ แต่ 'การละวางทิฏฐิมานะ' แล้วมุ่งปฏิบัติต่อกันด้วย 'ความเอื้ออารี' และรู้จัก 'ให้ความเคารพต่อชุมชน' คือ 'วิถีปฏิบัติ' ที่จะนำไปสู่ 'หนทางแห่งการแก้ไขปัญหา' ... เนื่องด้วย 'การแก้ไขปัญหา' ย่อมหมายถึง 'การร่วมกันค้นหาวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสม' หาใช่ 'การร่วมกันประจานผู้อื่น' แต่ประการใดไม่
     
  • 'การสาดโคลนใส่กัน' ย่อมสร้าง 'ความแปดเปื้อน' ให้เกิดขึ้นแก่ทุกๆ ฝ่าย 'ความอุบาทว์' ที่เวียนวนจนกลายเป็น 'วงจร' ย่อมเกิดขึ้นเพราะ 'ความไม่ยอมลดราวาศอก' ต่อกันของผู้คน ... 'การห้ำหั่นกัน' ย่อมยุติลงเมื่อฝ่ายหนึ่งใช้ 'ความสงบ' สยบ 'ความเคลื่อนไหว' อาศัย 'การผูกมิตร' เพื่อ 'พิชิตความเป็นศัตรู' (ไม่ใช่พิชิตศัตรู แต่พิชิตเฉพาะความเป็นศัตรูเท่านั้น) ... แม้ว่าบางครั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้อง 'ฝืนความรู้สึก' ใน 'การอยู่กินร่วมกัน' แต่หาก 'ปฏิบัติต่อกันและกัน' เยี่ยง 'มิตรที่คอยให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล' ผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมนำไปสู่ 'ความรุ่งเรือง'


จริงอยู่ที่ถ้อยคำทั้งหมดของ 'จิวกง' จะมีความโน้มเอียงไปที่ประเด็นของ 'การสมานฉันท์' หรือ 'การบริหารจัดการ' ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วย 'ความขัดแย้ง' แต่จุดประสงค์จริงๆ ของ 'ข้อแนะนำ' เหล่านี้ ล้วนมุ่งไปที่ 'การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม' เพื่อ 'สร้างความแตกต่าง' อันจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถหลุดพ้นจาก 'วงจรอุบาทว์' แห่ง 'การห้ำหั่นทำร้ายกัน' แล้วหันมาสู่ 'ประสานงานกันอย่างสร้างสรรค์' แทน เพื่อที่จะนำพา 'สังคมทั้งสังคม' ให้ก้าวข้ามไปสู่ 'ความสำเร็จ' ในมิติที่มี 'การพัฒนา' ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม ...

บทสรุปของ 'พลังแห่งหยิน' (坤) ในวัฏจักรที่สามของ 'คัมภีร์อี้จิง' จึงประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ (元,亨,利,貞)  6 หลักการ (遯,大壯,晉,明夷,家人,睽) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติ ซึ่งเป็น 'พัฒนาการ' ที่สืบเนื่องมาจาก 'การสั่งสมคุณธรรมความดี' (小畜) จนมี 'ความอยู่ตัวอย่างยั่งยืน' (大有) ในวัฏจักรแรก แล้วก็พัฒนามาสู่ 'การรู้จักอดทน-อดกลั้น' (噬嗑) โดยไม่ทำอะไรอย่างบุ่มบ่ามผลีผลามเพื่อ 'สั่งสมความยิ่งใหญ่' (大畜) ในวัฏจักรที่สอง ... ซึ่งในวัฏจักรรอบที่สามที่เพิ่งจะเล่าจบไปนี้ จะประกอบไปด้วย ความรู้จักประมาณตน (遯) - การเสริมสร้างคุณงามความดี (大壯) - การเผยแผ่บารมี (晉) - การครองสติอย่างมั่นคง (明夷) - การหล่อหลอมคุณธรรม (家人) - การสานสร้างความแตกต่าง (睽) ... เพื่อให้ 'พลังแห่งความวิริยะอุตสาหะ (利) ก่อกำเนิดเป็นหลักปฏิบัติที่หนุนเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย (永貞)' อีกคำรบหนึ่ง ... :)