Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十三卦 : 同人

同人 : 天火同人 ‧ 乾上離下

同人 : 同人于野‧亨‧利涉大川‧利君子貞‧

  • 初九 ‧ 同人于門‧無咎‧
  • 六二 ‧ 同人于宗‧吝‧
  • 九三 ‧ 伏戎于莽‧升其高陵‧三歲不興‧
  • 九四 ‧ 乘其墉‧弗克攻‧吉‧
  • 九五 ‧ 同人先號啕而后笑‧大師克相遇‧
  • 上九 ‧ 同人于郊‧無悔‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สดชื่น (⚍) ปัญญา แจ่มใส (⚌) พลานามัย สมบูรณ์ (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' เตรียมรุก (⚍), 'แผนงาน' กระชับชัดเจน, 'ปฏิบัติการ' เฉียบขาดจริงจัง (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการครองตนในธรรม, เจิดจรัสใต้ผืนนภา ;)



ความหมายของชื่อเรียก :  Being Integrity : การครองตนในธรรม


'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้มักจะถูกแปลกันไปในความหมายประมาณว่า 'สหายร่วมอุดมการณ์', 'ผู้เป็นที่รัก', 'ความสมัครสมาน', 'มิตรภาพสากล', ฯลฯ หรือแม้แต่ Alfred Huang ผู้เขียน The Complete I Ching ซึ่งได้พยายามถ่ายทอดความหมายผ่านอักษรจีนโบราณก็ยังให้ความหมายไว้ว่า Seeking Harmony ซึ่งน่าจะแปลว่า 'การแสวงหาดุลยภาพที่กลมลืน' ... แต่ผมตัดสินใจเลือกใช้คำว่า Being Integrity แล้วแปลเป็นไทยว่า 'การครองตนในธรรม' ... !!!!! ...

... แล้วนี่มันบ้าอะไรถึงได้มีความหมายหลุดโลกไปซะขนาดนั้น ??!! :P

เหตุผลของผมก็คือ ตัวอักษร 人 ที่เราเห็นในคำว่า 同人 นี้ ไม่ได้แปลว่า 'คน', หรือ 'มนุษย์' เหมือนกับการใช้งานในภาษาปรกติครับ แต่ 人 ในที่นี้จะใช้ในความหมายเดียวกับ 仁 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คุณธรรม', หรือ 'ธาตุแท้' แห่งความเป็น 'มนุษย์' ... และทำให้ 同人 หรือ 同仁 ในบทนี้มีความหมายว่า 'ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหลักแห่งคุณธรรม' หรือ 'การครองตนในธรรม' อันเป็นความหมายที่ถูกสะท้อนไว้ในวรรคที่ห้าของบทที่สอง ซึ่ง 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ด้วยวลีว่า 黃裳元吉 (huáng cháng yuán jí, ฮวั๋ง ฌั๋ง เยฺวี๋ยน จี๋) โดยผมเลือก 'ตีความ' ด้วยประโยคยาวๆ ว่า 'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ' แต่ถ้าจะแปลให้สั้นๆ วลีดังกล่าวก็จะมีความหมายว่า 'การครองตนในธรรม (黃裳) ย่อมเป็นรากฐาน (元) แห่งความเจริญ (吉) ทั้งปวง' ซึ่งในกรณีที่ว่านี้ เราก็น่าจะต้องออกเสียงว่า huáng shāng yuán jí (ฮฺวั๋ง ซัง เยฺวี๋ยน จี๋) แทนครับ ;)

อักษร 黃 (huáng, ฮฺวั๋ง) นั้นได้เล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'สีเหลือง' อันเป็นสีสัญลักษณ์ของ 'ธาตุดิน' หรือ 'พลังแห่งหยิน' ซึ่งถ้าออกเสียง 黃裳 ว่า huáng cháng (ฮฺวั๋ง ฌั๋ง) ก็จะหมายถึง 'ประกายสุกใสของพลังแห่งหยิน' ... แต่ถ้าออกเสียงว่า huáng shāng (ฮฺวั๋ง ซัง) ก็จะแปลว่า 'เสื้อคลุมสีเหลือง' ซึ่งก็คือ 'การครองธรรม' นั่นเอง อันเป็นความหมายที่ตรงกับคำว่า 同仁 หรือ 同人 อันเป็น 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบทที่สิบสามนี้อย่างตรงตัวที่สุด ... และเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่า บทบันทึกทั้งหกวรรคของ 'จิวกง' ในบทที่สอง (䷁, kūn, คุน) นั้น เป็นวลีที่สะท้อนความหมายของบทที่เก้าจนถึงบทที่สิบสี่อย่างแน่นอนที่สุด ...

同 ที่อ่านว่า tóng (ท๋ง) และแปลว่า 'อยู่ร่วมกัน', 'เหมือนกัน', 'รวบรวมไว้ด้วยกัน' นั้น มีที่มาจากอักษร 冃 (mào, เม่า) อันมีความหมายเหมือนกับ 帽 (mào, เม่า) ที่แปลว่า 'หมวก', 'สิ่งที่สวมใส่ไว้บนศีรษะ' หรือ 'สิ่งที่ปกคลุมอยู่บริเวณบนสุด' ... ส่วนข้างล่างหรือด้านในของ 'ภาพอักษร' 同 (tóng, ท๋ง) จะมีตัว 口 (kǒu, โข่ว) ที่หมายถึง 'ปาก', 'การพูด', 'การกิน' และสามารถหมายถึง 'ประชากร' หรือ 'ผู้คน' จึงทำให้ 同 (tóng, ท๋ง) มีความหมายว่า 'ผู้คนภายใต้หมวกเดียวกัน' ซึ่งก็คือ 'ผู้คนที่มีกรอบคิดเดียวกัน' หรือ 'ผู้ร่วมอุดมการณ์' นั่นเอง และแผลงมาเป็น 'เหมือนกัน', 'ร่วมกัน', หรือ 'เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน' ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

ส่วน 人 (rén, เญิ๋น) นั้นมีความหมายที่รู้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึง 'คน', 'มนุษย์', หรือในความหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ 'มนุษย์' เช่น 'ประชากร', 'ผู้คน', 'กำลังพล' ... และที่สำคัญมากก็คือมันสามารถหมายถึง 'ความเป็นคน' หรือ 'ธาตุแท้ของคน' ซึ่งแผลงความหมายไปเป็น 'มนุษยธรรม', หรือ 'คุณธรรม' อันเป็นความหมายเดียวกับอักษร 仁 (rén, เญิ๋น) ที่พ้องเสียงกันด้วยนั่นเอง

เมื่อผนวกความหมายทั้งหมดที่เอ่ยถึงนี้ กับสิ่งที่บันทึกไว้โดย 'จิวกง' ในบทที่สองแล้ว คำว่า 同人 จึงไม่สามารถ 'ตีความ' ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากจะต้องหมายถึง Integriry หรือ 'steadfast adherence to a strict ethical code' หรือ 'the quality of being honest and having strong moral principles' ซึ่งผมเลือกเสนอเป็นคำภาษาไทยว่า 'การครองตนในธรรม' เท่านั้น !! ... แต่จะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ เราก็ต้องพิสูจน์ด้วย 'คำอธิบายภาพสัญลัษณ์' ที่ King Wen บันทึกไว้เองถึงจะชัดเจนกว่า ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
同人于野亨利涉大川利君子貞
tóng rén yǘ yě hēng lì shè dà chuān lì jün zǐ zhēn
ท๋ง เญิ๋น ยฺวี๋ เหฺยี่ย เฮิง ลี่ เษ้อ ต้า วน ลี่ จฺวิน จื่อ เจิ


สมมุติว่าเรา 'ตีความ' ให้คำว่า 同人 มีความหมายเหมือนที่ว่าไว้ในตำราอื่นๆ ... คำว่า 同人于野 ที่เห็นในต้นวลีของ King Wen ก็จะมีความหมายคล้ายๆ กับสำนวนไทยที่ว่า 'เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม' ทันที !! ... เพราะว่าอักษร 野 (yě, เหฺยี่ย) นั้นจะสามารถหมายถึง 'กลุ่มคนจำนวนมาก' หรือ 'ฝูงชน' ก็ได้ในความหมายหนึ่งของมัน ... แต่ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาทันทีกับความหมายที่ว่านั้นเหมือนกัน เพราะมันจะส่ออาการเหมือนกับ 'พวกมากลากไป' ได้ ในขณะที่ 野 (yě, เหฺยี่ย) ก็มีความหมายแฝงว่า 'ปราศจากความรู้' หรือ 'ไม่ได้รับการศึกษา' รวมอยู่ด้วย ... และจะส่งผลให้ 'การคล้อยตาม' หรือ 'ความพยายามประสานกลมกลืน' กับ 'ฝูงชน' ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว จะกลายเป็นอาการของ 'ผู้ที่ไม่มั่นคงในธรรม' ด้วยหรือไม่ ??!!

เพราะฉะนั้น King Wen น่าจะต้องการสื่อความหมายของ 同人 ไว้ว่า 'การครองคนในธรรม (同人) อย่างมั่นคง แม้ใน (于) สังคมที่สับสนวุ่นวายด้วยความป่าเถื่อนไร้การศึกษา (野) ย่อมเป็นความเจริญ (亨) ที่จะสามารถ (利) ก้าวข้าม (涉) ทุกอุปสรรค (大川) และจะสัมฤทธิ์ผล (利) ได้ด้วยหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี (君子貞)' ... ซึ่งก็คือ จะต้องมี 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคง' ในแง่ของ 'ความถูกต้องดีงาม' (利君子貞) อย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดย 'จิวกง' เลือกที่จะสะท้อนความหมายทั้งหมดนั้นไว้ด้วยอักษร 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ที่หมายถึง 'เป็นตัวของตัวเอง' ในวลีว่า 黃裳吉 ที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่ห้าของบทที่สองนั่นเอง ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

同人于門無咎
tóng rén yǘ mén wú jiù
ท๋ง เญิ๋น ยฺวี๋ เมิ๋น อู๋ จิ้ว


ไม่มีคำใหม่ในวลีนี้ครับ แต่ผมอยากดูความหมายของ 門 (mén, เมิ๋น) ให้ชัดๆ อีกครั้งว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง ;) ...

門 (mén, เมิ๋น) โดยทั่วไปก็จะแปลว่า 'ประตู' แต่ความหมายอื่นๆ ก็จะมีตั้งแต่ 'ทางเข้าออก' ซึ่งก็รวมไปถึง 'ทางเข้าออกหมู่บ้าน' หรือ 'ทางเข้าออกของชุมชน' ; และสามารถหมายถึง 'ลักษณะที่ใช้ในการจำแนกประเภทของสรรพสิ่งต่างๆ' ; สามารถที่จะหมายถึง 'หลักคิด' หรือ 'คำสั่งสอน' ที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมาเป็น 'แบบอย่าง' จึงอาจจะหมายถึง 'สำนักศึกษา' หรือ 'สาขาวิชา' ก็ได้

คำว่า 同人于門 น่าจะหมายถึง 'การแสดงออกซึ่งความเป็นผู้ยึดมั่นในหลักคุณธรรม', 'การครองตนในธรรมเพื่อให้เห็นเป็นแบบอย่าง', 'การครองตนในธรรมอย่างยืนหยัดในหลักธรรมคำสั่งสอน', หรือ 'ความแน่วแน่ในหลักแห่งธรรมอย่างผ่าเผย' ... เหล่านี้คือความหมายที่เป็นไปได้ทั้งหมดของวลีที่ว่านี้ ... ส่วน 無咎 ที่ใช้ในวรรคนี้ น่าจะต้องแปลว่า 'ไม่มีมลทิน', 'ไร้ตำหนิ', หรืออาจจะหมายถึง 'ไม่ใช่สิ่งผิดปรกติ' ซึ่งอาจจะแผลงเป็น 'ปรกติธรรมดา ไม่วิเศษวิโสอะไร' ก็ได้ ... อย่างไรก็ตาม หากจะให้วลีนี้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองโดยไม่ต้องมีคำอธิบายยาวๆ มาประกอบ ผมควรจะ 'ตีความ' ให้ 門 (mén, เมิ๋น) มีความหมายว่า 'หลักคิด' หรือ 'คำสั่งสอน' เพื่อที่จะแผลงมันออกไปเป็น 'หลักธรรม'

ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'การครองตนในธรรม (同人) เพื่อ (于) ธรรม (門) ย่อมปราศจากมลทิน (無咎)' ... โดยเหตุผลที่ควรจะต้อง 'ตีความ' ไว้ด้วยความหมายที่ว่านี้ก็มาจากสิ่งที่ 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ในวรรคที่สองที่กำลังจะเล่าต่อไป

 

สอง หยิน :

同人于宗吝
tóng rén yǘ zōng lìn
ท๋ง เญิ๋น ยฺวี๋ จง ลิ่น


宗 อ่านว่า zōng (จง) แปลว่า 'ชนเผ่า', 'เผ่าพันธุ์', 'เครือญาติ', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน' ซึ่งเป็นความหมายที่สามารถใช้อักษร 門 (mén, เมิ๋น) ทดแทนได้ทั้งหมด ... แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอักษร 宗 (zōng, จง) ยังแฝงความหมายของ 'ผู้อาวุโสประจำชนเผ่า', 'ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'บรรพบุรุษ', 'ผู้นำชุมชน', หรือ 'ผู้มีอำนาจปกครองในชุมชน' ซึ่งมีนัยของ 'การยกย่องให้ความสำคัญ' หรือ 'ให้ความเคารพ' เหนือกว่าบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นๆ ด้วย และในบางครั้งมันก็ยังสามารถหมายถึง 'ลัทธิคำสอน' และอาจจะแผลงเป็น 'เจ้าลัทธิ' ก็ได้ ...

นี่เป็นวลีอีกคู่หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของ 'จิวกง' ที่เลือกใช้คำซึ่งเกือบจะมีความหมายเหมือนกันมาสอดแทรกแง่คิดเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยความหมายของวลีนี้ก็คือ 'การครองตนในธรรม (同人) เพื่อมุ่งหวัง (于) การเชิดชูจากผู้คน (宗) คือการกระทำที่น่าอดสู (吝)' ... และเมื่อเรานำวรรคที่หนึ่งกับวรรคที่สองมาเรียงต่อกัน ... 同人于門 無咎 ‧ 同人于宗 吝 ‧ เราก็จะได้วลีที่มีความหมายต่อเนื่องกันออกมาเป็น 'การครองตนในธรรมเพื่อธรรม ย่อมปราศจากมลทิน ... การครองตนในธรรมเพื่อตน ย่อมอัปยศอดสู' ... นี่คือคำสอนที่สวยงามที่สุดอีกชุดหนึ่งที่ 'จิวกง' ได้บันทึกไว้ให้เป็น 'มรดกทางปัญญา' แก่ทุกๆ คน

จากบทบันทึกของ 'จิวกง' ดังที่เห็นนี้น่าจะเชื่อได้ว่า มนุษย์ประเภท 'คนบาปในคราบนักบุญ' หรือประเภท 'ทำกุศลสนองราคะ' คงจะมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว หรือแม้แต่พวก 'ผยองในคุณธรรม ลำพองในความดี' ก็น่าจะมีไม่น้อยเหมือนกัน ... :) ... อันเป็นเหตุให้ 'จิวกง' ถึงกับต้องบันทึกเป็นข้อเตือนสติไว้ให้ 'ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมเพื่อธรรม กระทำกรรมดีเพื่อความดี' เพื่อปราม 'พวกใฝ่ดี' ทั้งหลายที่อาจจะเผลอสติเทิดทูนตัวเองว่าประกอบกรรมดีไว้เยอะแยะมากมาย จนสำคัญผิดคิดว่าตนเองมีความสลักสำคัญเหนือกว่าทุกผู้คน ... ในขณะที่วลีคู่นี้ก็จะทำหน้าที่ขยายความให้กับวลีท่อนสุดท้ายของ King Wen ในบทนี้ที่บันทึกไว้ว่า 利君子貞 ให้มีความหมายเป็น 'ตั้งมั่นในคุณธรรมแห่งปราชญ์' ด้วย ...

 

สาม หยาง :

伏戎于莽升其高陵三歲不興
fú róng yǘ mǎng shēng qí gāo líng sān suì bù xīng
ฟู๋ ญ๋ง ยฺวี๋ หฺมั่ง เซิง ชี๋ เกา ลิ๋ง ซัน ซุ่ย ปู้ ซิง


伏 อ่านว่า fú (ฟู๋) มีความหมายมาจากการผสมภาพอักษร 人 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คน' กับ 犬 (quǎn, เฉฺวี่ยน) ที่หมายถึง 'สุนัข' จึงได้ความหมายในลักษณะของ 'การหมอบคลานของคน' และเป็นที่มาของความหมายว่า 'ก้มลง', 'โน้มตัวลง', 'ทำให้ต่ำลง', หรือ 'หมอบลง' ; และสามารถที่จะแปลว่า 'ปกปิด' หรือ 'ซุกซ่อน' ซึ่งคงแผลงมาจากอากัปกิริยาที่ 'ค้อมตัวลง' เพื่อ 'ปกปิด' อะไรบางอย่างให้พ้นสายตาของผู้อื่น ; บางครั้งยังหมายถึง 'แผ่ราบ' ไปตามพื้น และสามารถใช้ในความหมายว่า 'คุกเข่า' ซึ่งอาจจะเกิดจาก 'การแสดงความเคารพ', 'การยอมจำนน', หรือ 'การยอมรับความผิด' ก็ได้เหมือนกัน

ถ้าใช้ในวลีว่า 伏道 (fú dào, ฟู๋ เต้า) จะแปลว่า 'ทางลับ' หรือ 'เส้นทางที่ยากจะพบเห็น' ; 伏莽 (fú mǎng, ฟู๋ หฺมั่ง) หมายถึง 'ซุกซ่อนไว้ในรกในพง' ; 伏戎 (fú róng, ฟู๋ ญ๋ง) จะหมายถึง 'ซุกซ่อนอาวุธ' ซึ่งจะแฝงนัยของการคิดทำร้ายผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อการป้องกันตัว

戎 อ่านว่า róng (ญ๋ง) เป็นชื่อเรียกอาวุธโบราณชนิดหนึ่ง จึงสามารถใช้ในความหมายว่า 'อาวุธ', 'กองกำลังทหาร', หรืออาจจะใช้ในความหมายว่า 'รถศึก', 'ม้าศึก', หรือ 'สรรพาวุธ' ที่ใช้ในการสงคราม ; สามารถแปลว่า 'กองทัพ', 'ภารกิจทางทหาร', และอาจจะแผลงเป็น 'ข้าศึกศัตรู' ก็ยังได้ด้วย

莽 อ่านว่า mǎng (หฺมั่ง) หมายถึง 'หญ้า', 'หญ้าป่า', 'ที่รกร้าง' ที่ยากแก่การเข้าถึง ; ถ้าใช้ในวลีว่า 莽林 (mǎng lín, หฺมั่ง ลิ๋น) จะหมายถึง 'ป่ารกชัฏ' ; และยังอาจจะหมายถึง 'หยาบคาย', หรือ 'ไม่สุภาพ' ก็ได้

升 อ่านว่า shēng (เซิง) แปลว่า 'โดดเด่น', 'ยกให้สูงขึ้น', 'หนุนให้สูงขึ้น', 'ลอยตัวสูงขึ้น'

高 อ่านว่า gāo (เกา) แปลว่า 'สูง', 'ด้านบน', 'โดดเด่น', 'สูงส่ง'

陵 อ่านว่า líng (ลิ๋ง) แปลว่า 'เนิน', 'ภูเขา', 'ยอดเขา' ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 升 (shēng, เซิง) ที่แปลว่า 'ยกให้สูงขึ้น' หรือ 'ทำให้โดดเด่น' แต่ก็แฝงความหมายของ 'การกดข่ม' ซึ่งเป็นทำให้สิ่งอื่นหรือผู้อื่นต่ำต้อยลงไป

歲 อ่านว่า suì (ซุ่ย) ปรกติจะแปลว่า 'ขวบ', 'ปี' แต่ก็สามารถใช้ในความหมายว่า 'ช่วงเวลา', 'ยุคสมัย' ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 'หนึ่งปี' ได้เหมือนกัน ; ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถแปลว่า 'ฤดูกาล', หรือ 'การเพาะปลูก' ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมประจำปีของเกษตรกรโดยทั่วไป หรืออาจจะหมายถึง 'ผลผลิตจากเกษตรกรรม' ก็ได้

興 อ่านว่า xīng (ซิง) ถ้าออกเสียงแบบจีนแต้จิ๋วเป็น 'เฮง' น่าจะคุ้นหูคนไทยมากกว่า นี่คือคำที่มีความหมายว่า 'รุ่งเรือง', 'ราบรื่น', 'เจริญก้าวหน้า' หรือ 'ความสุขสวัสดี' ทั้งหลายทั้งปวงที่มักจะใช้เป็นคำอวยชัยให้พรแก่กันโดยทั่วไป

ถ้าเราลำดับความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อมาตั้งแต่วรรคแรก คำว่า 伏戎于莽升其高陵 ที่เห็นในตอนต้นของวรรคนี้ก็น่าจะมีความหมายคล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า 'มือถือสาก ปากถือศีล' หรือ 'ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ' ... แต่ถ้าเป็นภาษาบู๊ลิ้มหน่อยๆ ก็น่าจะประมาณว่า 'ซ่อนดาบในรอยยิ้ม' ... :) ... เพราะวลีเปิดประโยคที่ถูกบันทึกว่า 伏戎于莽 (fú róng yǘ mǎng, ฟู๋ ญ๋ง ยฺวี๋ หฺมั่ง) นั้นมีความหมายตามตัวอักษรว่า 'การซุกซ่อนอาวุธเพื่ออำพรางผู้คน' ควรจะหมายถึง 'การเก็บงำความพยาบาทมาดร้ายโดยอำพรางไม่ให้ผู้ใดรับรู้' อันถูกขยายต่อด้วยวลีว่า 升其高陵 (shēng qí gāo líng, เซิง ชี๋ เกา ลิ๋ง) ซึ่งหมายถึง 'การแสดงตนว่ามีความสูงส่งกว่าทุกผู้คน' จึงทำให้วลีคู่นี้สื่อความหมายถึง 'การเสแสร้งแกล้งดัดจริตว่าเป็นคนดี' นั่นเอง และเป็นการขยายความที่ต่อเนื่องมาจากวรรคที่สองซึ่งกล่าวถึง 同人于宗 หรือ 'การครองธรรมเพื่อตน' นั่นเอง

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คำว่า 三歲 (sān suì, ซัน ซุ่ย) ที่เห็นในวรรคนี้ก็ไม่น่าจะหมายถึง 'สามปี' หรืออะไรที่เกี่ยวกับ 'ระยะเวลา' เลย แต่ผมค่อนข้างที่จะเชื่อว่า 'จิวกง' น่าจะใช้ตัว 三 ในความหมายเดิมที่เคยใช้มาหลายครั้งแล้วใน 'คัมภีร์อี้จิง' ว่า 'บ่อยๆ', 'ถี่ๆ', หรือ 'ทุ่มเท' ซึ่งจะมีผลให้คำว่า 三歲 (sān suì, ซัน ซุ่ย) มีความหมายว่า 'ทุ่มเทผลักดัน', หรือ 'ทุ่มเทหว่านล้อม' ซึ่งในที่นี้ก็คือ 'การทุ่มเทเสแสร้งว่ามีคุณธรรม' เพื่อให้ไปรับกับวลีว่า 升其高陵 ที่บันทึกชี้นำความหมายเอาไว้ก่อนแล้ว

ความหมายของวรรคนี้จึงต้อง 'ตีความ' ว่า 'การซุกซ่อน (伏) ความพยาบาทมาดร้าย (戎) เพื่อ (于) อำพราง (莽) มิให้ผู้ใดรับรู้ โดยเสแสร้งแกล้งดัดว่ามีคุณธรรม เพื่อยกตน (升) ว่ามีความสูงส่ง (高陵) กว่าทุกผู้คน (其) นั้น ต่อให้ทุ่มเทหว่าน (三歲) ความจอมปลอมดังที่ว่านี้ไปมากมายเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมจะไม่เกิดความเจริญ (不興) ขึ้นมาได้เลย' ... ซึ่งคำว่า 不興 (bù xīng, ปู้ ซิง) ที่เห็นในวรรคนี้ก็คือ synonym ของคำว่า 吝 (lìn, ลิ่น) ที่ถูกใช้ปิดวลีของวรรคที่สอง ซึ่งสามารถแปลว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' หรือ 'น่าอดสู' อย่างที่เล่าไปแล้ว

 

สี่ หยาง :

乘其墉弗克攻吉
chéng qí yōng fú kè gōng jí
ฌิ๋ง ชี๋ โยฺวง ฟู๋ เค่อ กง จี๋


乘 (chéng, เฌิ๋ง) เคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'นั่ง', 'ขี่ (ม้า)', 'ใช้ประโยชน์' ; สมัยก่อนยังหมายถึง 'รถศึก' ที่ใช้ลากด้วยม้าสี่ตัว, จึงสามารถหมายถึง 'จำนวนสี่' หรือ 'สี่เท่า' ; แล้วก็เลยมีความหมายว่า 'ทำให้พอกพูน' (multiply) ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย

墉 อ่านว่า yōng (โยฺวง, เยฺวิง) แปลว่า 'กำแพง' ซึ่งจะหมายถึง 'กำแพงสูง' หรือ 'กำแพงเตี้ย' ก็ได้ ; ในขณะเดียวกันมันก็ยังสามารถที่จะหมายถึง 'เชิงเทิน' ที่อยู่เหนือ 'กำแพงเมือง' ; และสามารถที่จะหมายถึง 'ส่วนฐานของกำแพง', หรือ 'ฐานรากของกำแพง' ก็ได้

弗 อ่านว่า fú (ฟู๋) เป็นภาพอักษรที่หมายถึง 'การนำเชือกมามัดวัตถุหลายๆ ชิ้นที่กระจัดกระจายให้อยู่ติดกัน' จึงมีความเดิมว่า 'ดัดให้ตรง', หรือ 'ทำให้ถูกต้อง', ซึ่งก็อาจจะทำให้แผลงเป็น 'ไม่ยอม', 'ไม่เชื่อฟัง', หรือ 'ไม่ยินยอมพร้อมใจ' เพราะจะต้องถูก 'จับมัด', หรือ 'ถูกดัดให้ตรง' ; บางครั้งเมื่อใช้เป็นคำที่บ่งบอกอาการจะมีความหมายเดียวกับ 沸 (fèi, เฟ่ย) ที่หมายถึง 'การพวยพุ่งของน้ำ', 'น้ำพุ' หรืออาจจะเกิดขึ้นเพราะ 'การเดือดของน้ำ' หรือ 'แรงดัน' ; และยังมีความหมายว่า 'หนักใจ' เช่นเดียวกับ 怫 (fú, ฟู๋) ซึ่งเป็นอาการที่ 'ไม่สามารถตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง', หรือ 'ลังเลใจ', 'ไม่มั่นใจ' ... จนในที่สุดก็เลยมีความเชิงปฏิเสธว่า 'ไม่', 'ไม่เอา', 'ไม่ยอม' เช่นเดียวกับตัว 不 (bù, ปู้) ไปเลย

克 (kè, เค่อ) เล่าไปแล้วเหมือนกันว่าหมายถึง 'มีความสามารถ' (competence), 'สามารถ', 'เป็นไปได้' ; แปลว่า 'ชนะ', 'กำราบ', 'ทำให้พ่ายแพ้' จึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' เช่น 'ควบคุมความประพฤติ (ของตัวเอง)' หรือ 'จำกัด' เช่น 'กำหนดเส้นตาย' ที่เป็น 'การจำกัดเวลา'

攻 อ่านว่า gōng (กง) ปรกติก็จะแปลว่า 'บุก', 'รุก', 'โจมตี' ; ถ้าใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับคำพูดก็จะหมายถึง 'ตำหนิ', 'กล่าวโทษ' ซึ่งมีลักษณะของ 'การโจมตีด้วยคำพูด' ; ถ้าใช้กับโรคภัยไข้เจ็บก็จะหมายถึง 'การเยียวยารักษา' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'การจู่โจม' หรือ 'การต่อยตี' กับความเจ็บไข้ได้ป่วย ; แล้วในความหมายที่เกี่ยวกับการทำงานมันก็จะหมายถึง 'การบริหารจัดการ', 'การดำเนินงาน', หรือ 'การปฎิบัติงานไปตามกระบวนการต่างๆ', และสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 功 (gōng, กง) ที่แปลว่า 'ความสำเร็จ', 'บรรลุเป้าหมาย' ได้อีกด้วย

ถ้าผมจะเลือกให้ 墉 (yōng, โยฺวง) แปลว่า 'กำแพง' ผมควรจะ 'ตีความ' ให้มันหมายถึง 'กรอบแห่งคุณธรรม' ที่เราจะต้องเสริมสร้างขึ้นมาเพื่อ 'คุมประพฤติของตนเอง' มากกว่าที่จะยอมให้มันมีความหมายเพียงแค่ 'กำแพงเมือง' หรือ 'กำแพงสูงๆ' เท่านั้น ... ส่วน 弗 (fú, ฟู๋) ก็น่าจะให้มีความหมายว่า 'หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว' หรือ 'ยืนหยัดอย่างไม่ย่อท้อ' ตามความหมายดั้งเดิมของอักษรตัวนี้ ในลักษณะที่เหมือนกับเราก่อกำแพงขึ้นมาเป็น 'กรอบ' เพื่อล้อมรวมสิ่งอื่นๆ เอาไว้ด้วยกัน ไม่น่าจะแปลกันด้วนๆ ด้วยความหมายของปัจจุบันว่า 'ไม่' ... แล้ว 攻 (gōng, กง) ก็น่าจะใช้ในความหมายว่า 'บุกตะลุย', 'ดำเนินการ' หรือไม่งั้นก็น่าจะใช้ในความหมายของ 功 (gōng, กง) ที่สื่อถึง 'ความสำเร็จ' หรือ 'บรรลุเป้าหมาย' ไม่ควรจะให้หมายถึง 'การโจมตี' หรือ 'การรบราฆ่าฟัน' กับใครที่ไหนเหมือนอย่างที่พบเห็นได้ในตำราอื่นๆ ... ;)

คืองี้ครับ ... ในวรรคที่สามที่เพิ่งจะเล่าผ่านไปนั้น 'จิวกง' แกสาธยาย 'ความไม่สมประกอบทางความประพฤติ' ไว้ว่า 伏戎于莽升其高陵 (fú róng yǘ mǎng shēng qí gāo líng) ซึ่งผม 'ตีความ' ให้มีความหมายว่า 'ซุกซ่อนความพยาบาทมาดร้าย แต่เสแสร้งยกตนว่าสูงส่ง' ซึ่งเป็นลักษณะของ unintegrity อย่างชัดเจน โดย 'จิวกง' สรุปไว้ตรงท้ายวรรคดังกล่าวว่า 不興 (bù xīng) ซึ่งหมายถึง 'ไม่สำเร็จ' หรือ 'ไม่เจริญรุ่งเรือง' ... และเมื่อวรรคที่สี่ถูกสรุปปิดท้ายวรรคด้วยคำว่า 吉 (jí, จี๋) ที่หมายถึง 'โชคดี', หรือ 'ความสำเร็จ' ความหมายของส่วนที่เหลือในวรรคจึงน่าจะต้องแสดง 'ความตรงข้าม' กับพฤติกรรมที่เอ่ยไว้ในวรรคที่สามด้วย ... ความหมายที่แท้จริงของวรรคที่สี่จึงควรจะเป็น 'การเสริมสร้าง (乘) รากฐานแห่งคุณธรรมความดี (其墉) และการยืนหยัดอย่างไม่ย่อท้อ (弗) ย่อมสามารถ (克) ที่จะฟันฝ่า (攻) อุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จ (吉) ได้ในที่สุด'

เมื่อเอาไปเทียบกับ 'ความหมายของชื่อเรียกสัญลักษณ์' ที่ King Wen บันทึกไว้ว่า 同人于野亨利涉大川利君子貞 ที่หมายถึง 'การครองตนในธรรมอย่างมั่นคง แม้ในสังคมที่สับสนวุ่นวายด้วยความป่าเถื่อนไร้การศึกษา ย่อมเป็นความเจริญที่จะสามารถก้าวข้ามทุกอุปสรรค และจะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี' ... เราก็จะพบว่า 乘其墉 (การเสริมสร้างรากฐานแห่งคุณธรรมความดี) ก็คือ 利君子貞 (ความมั่นคงในหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี) ... ส่วน 克攻 (สามารถฟันฝ่า) ก็คือ 利涉大川 (สามารถก้าวข้ามทุกอุปสรรค) ... และทำให้ตัว 弗 ที่ใช้ในความหมายว่า 'หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว' กลายเป็น synonym กับคำว่า 同人 ที่ผมหมายถึง Integrity ทันที !! ... สวยสะเด็ดเลยนะครับเนี่ย !!? ... :D

 

ห้า หยาง :

同人先號啕而后笑大師克相遇
tóng rén xiān hào táo ér hòu xiào dà shī kè xiāng yǜ
ท๋ง เญิ๋น เซียน เฮ่า เท๋า เอ๋อ โฮ่ว เซี่ยว ต้า ซือ เค่อ เซียง ยฺวี่


號 อ่านว่า hào (เฮ่า) แปลว่า 'สัญลักษณ์', 'เครื่องหมาย', หรือ 'ตัวเลข' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ถอนหายใจ', 'ร้องไห้', 'ตะโกน', 'ส่งเสียงร้อง', หรือ 'ส่งเสียงขู่คำราม'

啕 อ่านว่า táo (เท๋า) ความหมายคล้ายกับ 號 (hào, เฮ่า) ในความหมายของ 'ร้องไห้สะอึกสะอื้น', 'ร้องเสียงหลง', 'ร้องโหยหวน'

后 อ่านว่า hòu (โฮ่ว) สามารถแปลว่า 'ราชินี', 'บุรพกษัตริย์' ; แต่ต่อมาใช้ในความหมายเดียวกับ 後 (hòu, โฮ่ว) ที่แปลว่า 'ภายหน้า', 'เวลาต่อมา', หรือ 'สุดท้าย'

笑 อ่านว่า xiào (เซี่ยว) แปลว่า 'ยิ้ม', 'หัวเราะ', 'ร่าเริงแจ่มใส'

相 อ่านว่า xiāng (เซียง) หมายถึง 'แต่ละฝ่าย' (each other) , 'แลกเปลี่ยน', 'ต่างตอบแทน', 'ตกลงกัน', 'สนิทสนม' ; สามารถใช้ในความหมายว่า 'รูปลักษณ์ภายนอก' ; แล้วก็เลยสามารถแปลว่า 'เหมือนกัน', 'คล้ายกัน' ในด้านของรูปลักษณ์ด้วย

遇 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'พบปะ', 'โอกาส', 'ติดต่อ', 'เชื่อมโยง', 'ประสาน' หรือ 'ต้อนรับ'

การมีคำว่า 相遇 อยู่ท้ายวรรคทำให้คิดได้ว่า น่าจะต้องมีองค์ประกอบบางอย่างที่มากกว่าหนึ่งชนิด มันจึงจะสามารถ 'เชื่อมโยง', หรือ 'ประสาน' กันได้ ... ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วเนื้อหาหลักของบทนี้ก็จะวนอยู่กับเรื่องของ 'มุษย์' และ 'หลักคุณธรรม' ที่จะต้อง 'ประสานเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์' โดยถูกแทนด้วยตำอื่นๆ ในบทอย่างเช่น 同人 (tóng rén, ท๋งเญิ๋น) หรือ 同仁 (tóng rén, ท๋ง เญิ๋น) ที่ผมแปลว่า Integrity อันเป็น 'ชื่อบท' ... จากนั้นก็มีคำว่า 門 (mén, เมิ๋น) ที่น่าจะหมายถึง 'คำสั่งสอน' หรือ 'หลักคุณธรรม' ได้ ... วรรคที่สองก็มีคำว่า 宗 (zōng, จง) ที่แฝงความหมายว่า 'ผู้มีอำนาจ', หรือ 'ผู้ที่ได้รับการเคารพยกย่อง' ... วรรคที่สามบรรยายลักษณะที่ทั้งสององค์ประกอบนี้ไม่ได้ดำเนินไปในทางเดียวกัน ... วรรคที่สี่ก็ชูประเด็นของ 'การหลอมรวม' ด้วยคำว่า 弗 (fú, ฟู๋) ซึ่งคล้ายกับจะเป็น synonym กับคำว่า 相遇 (xiāng yǜ, เซียง ยฺวี่) ที่หมายถึง 'การประสาน' ได้อย่างตรงๆ ตัว ...

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสามารถมองคำว่า 大師 ให้หมายถึง 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) ที่แปลว่า 'ผู้ยิ่งใหญ่', หรือ 'บุคคลสำคัญ' ... กับ 教師 (jiào shī, เจี้ยว ซือ) ที่หมายถึง 'ผู้ที่เป็นแบบอย่าง', 'ครูบาอาจารย์', 'ผู้เผยแพร่หลักคุณธรรม', หรือ 'ผู้ครองธรรม' ... ในขณะที่เมื่อผสมคำให้เหลือเพียง 大師 จะสามารถหมายถึง 'แม่ทัพใหญ่' หรือ 'ผู้นำที่ยิ่งยง' ... และสามารถหมายถึง 'หลักธรรมอันยิ่งใหญ่', หรือ 'หลักธรรมคำสั่งสอนที่สำคัญ' ก็ได้

ความหมายของวรรคนี้จึงน่าจะประมาณว่า 'การครองตนในธรรม (同人) ย่อมต้องผ่านวันเวลาแห่งความอดทนอดกลั้นอย่างสาหัสมาก่อน (先號啕) จึงจะบรรลุถึงความอิ่มเอมอันพิสุทธิ์ได้ในภายหลัง (而后笑) ... ผู้นำ (大人) และหลักคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ (師) จำเป็นต้อง (克 หมายถึงถูกกำหนด หรือจำเพาะ) ประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน (相遇) เท่านั้น' ...

จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับเป็นการปราม หรือเป็นการตักเตือนคร่อมไปยังวรรคที่สองว่า 'การจะเป็นผู้ที่คนอื่นๆ ให้ความเคารพนับถือนั้น ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่จะต้องประกอบด้วยความเพียรในการกระทำความดีด้วความอดทนอดกลั้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง'

 

หก หยาง :

同人于郊無悔
tóng rén yǘ jiāo wú huǐ
ท๋ง เญิ๋น ยฺวี๋ เจียว อู๋ หุ่ย


ปรกติแล้ว 郊 (jiāo, เจียว) จะหมายถึง 'นอกเมือง', 'บ้านนอก', 'ที่โล่งเตียน', 'ทุ่งราบ' ; อาจจะหมายถึง 'บริเวณที่ใช้กราบไหว้เทพยดา' ; และสามารถหมายถึง 'เครื่องเซ่นสรวงบูชาฟ้าดิน' ก็ได้ ... ซึ่งการใช้ในวรรคนี้ 'จิวกง' อาจจะต้องการจะสื่อถึง 'ความเปิดกว้าง', 'ไม่คับแคบ' ในความหมายของ 'ที่โล่งเตียน', หรือ 'ทุ่งราบ' ... และอาจจะแผลงเป็น 'ความยุติธรรม' ก็น่าจะได้

ความหมายที่อาจจะเป็นไปได้อีกลักษณะหนึ่งก็คือ 'ความเรียบง่าย' และ 'ความนอบน้อม' ซึ่งก็จะแฝงความหมายว่า 'ไม่เย่อหยิ่งลำพองในคุณธรรมความดี' จนถึงกับ 'เรียกร้องความสำคัญ' ให้กับตนเอง ... แต่ถ้าหากนำไปเทียบกับความหมายในวรรคที่สามซึ่งเอ่ยถึงอาการของ 'ความหน้าไหว้หลังหลอก' คำว่า 郊 (jiāo, เจียว) ในวรรคนี้ก็อาจจะหมายถึง 'ความองอาจผ่าเผย' เพราะ 'ปราศจากวาระซ่อนเร้น' ใดๆ

ดังนั้น ความหมายของวรรคนี้น่าจะต้องได้รับ 'การตีความ' ว่า 'การครองตนในธรรม (同人) หากกระทำด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง (于郊) มีความเรียบง่ายตรงไปตรงมาโดยไม่อวดโอ่โอหัง ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพ้องหมองใจ (無悔) แก่ผู้ใด' ...

และเมื่อเรานำไปเปรียบเทียบความหมายกับวรรคที่หนึ่งซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า 同人于門無咎 เราก็จะเห็นทันทีว่ามันเป็นคู่ synonym กันอย่าลงตัวมากๆ อีกคู่หนึ่ง เพราะ 無咎 กับ 無悔 นั้นจะสามารถใช้แลกตำแหน่งกันได้เลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ 同人于門 (การครองตนในธรรมเพื่อธรรม) ก็ถูกขยายความให้ชัดๆ อีกครั้งด้วย 同人于郊 (คือการกระทำด้วยจิตใจที่เปิดกว้างอย่างผ่าเผย) นั่นเอง ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ท๋งเญิ๋' คือ การครองตนในธรรม, เจิดจรัสใต้ผืนนภา

'การครองคนในธรรม' อย่าง 'มั่นคง' แม้ในสถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย ย่อมนำไปสู่ 'ความเจริญ' ... การ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรค' ไปสู่ 'ผลสัมฤทธิ์' ได้นั้น ย่อมเกิดจาก 'ความตั้งมั่น' ใน 'หลักแห่งคุณธรรม'

  •  
  • 'การครองตนในธรรมเพื่อธรรม' ย่อม 'ปราศจากมลทิน'
  •  
  • 'การครองตนในธรรมเพื่อตน' ย่อม 'เป็นสิ่งน่าละอาย'
  •  
  • 'การซุกซ่อน' ความพยาบาทมาดร้ายเพื่อ 'อำพราง' มิให้ผู้ใดรับรู้ โดย 'เสแสร้งแกล้งดัด' ว่ามี 'คุณธรรม' เพื่อ 'ยกตน' ให้สูงส่งกว่าทุกผู้คนนั้น 'ความจอมปลอม' ที่ 'ทุ่มเท' ย่อมไม่อาจนับเป็น 'ความเจริญ' ที่ควรแก่ 'การยินดี'
  •  
  • 'การเสริมสร้างรากฐาน' แห่ง 'คุณธรรมความดี' และ 'การยืนหยัด' ใน 'คุณธรรม' อย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ย่อมสามารถที่จะ 'ฟันฝ่า' อุปสรรคต่างๆ จน 'ประสบความสำเร็จ' ได้ในที่สุด
  •  
  • 'การครองตนในธรรม' ย่อมต้องผ่านวันเวลาแห่ง 'การเคี่ยวกรำ' อย่างแสนสาหัส จึงจะ 'บรรลุ' ถึง 'ความอิ่มเอมอันพิสุทธิ์' ได้ในภายหลัง ... 'ผู้นำ' และ 'หลักคุณธรรม' อันยิ่งใหญ่จำเป็นต้องหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น
  •  
  • 'การครองตนในธรรม' หากกระทำด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' อย่าง 'ผ่าเผย' มี 'ความเรียบง่าย' ตรงไปตรงมาโดย 'ไม่อวดโอ่โอหัง' ย่อมไม่ก่อ 'ความผิดพ้องหมองใจ' แก่ผู้ใด


 

The Organization Code :



'การครองตนในธรรม' คือต้องมีความชัดเจนในเป้าหมาย และต้องสามารถแสดง 'จุดยืน' อย่างมั่นคง (⚍) ต้องมีแผนงานที่กระชับชัดเจน (⚌) และต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง (⚌)

'ความมั่นคง' ต่อ 'หลักการ' ที่ถูกต้อง แม้ในสถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย ย่อม 'เสริมสร้าง' 'ความเจริญก้าวหน้า' อย่าง 'ต่อเนื่อง' ... การจะ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรค' ไปสู่ 'ความสำเร็จ' ให้จงได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'กรอบเกณฑ์' และ 'ความมีระบบระเบียบ' ที่ดี จึงจะมีความเป็นไปได้

  •  
  • 'การทำงานเพื่องาน' คือ 'การดำเนินการ' เพื่อ 'สนองจุดมุ่งหมายแห่งภารกิจ' แม้บางกรณีที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคจนต้องล่าช้าหรือชะงักงัน แต่ย่อมปราศจากมลทินใดๆ ให้ผู้อื่นค่อนขอดว่าร้าย
  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อ 'สนองตัณหาแห่งอัตตา' ย่อมไม่อาจนำไปสู่ 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่' เนื่องเพราะปราศจาก 'แรงจูงใจ' ที่จะยอม 'ทุ่มเทอย่างอุทิศ' ให้แก่ 'จุดมุ่งหมายแห่งภารกิจ' ที่ได้รับมอบหมาย
  •  
  • 'การดำเนินงาน' บนพื้นฐานแห่ง 'ความมีวาระซ่อนเร้น' แม้จะเสแสร้งว่าได้กระทำการ 'อย่างทุ่มเท' แต่ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่อาจนับเป็น 'ความสำเร็จ' ที่ควรค่าแก่ 'การยินดี' ใดๆ
  •  
  • 'การเสริมสร้างรากฐาน' แห่ง 'กรอบเกณฑ์' ให้ 'มั่นคง' และ 'มุ่งมั่น' ที่จะ 'ยืนหยัด' ใน 'หลักการ' ที่ถูกต้องอย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ย่อมโน้มนำให้ทุกๆ ฝ่ายสามารถ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรค' ไปสู่ 'ความสำเร็จ' ได้ในที่สุดเสมอ
  •  
  • 'การตั้งมั่น' อยู่บนพื้นฐานของ 'หลักการ' ที่ถูกต้อง ย่อมเปรียบเสมือนการ 'อดเปรี้ยวไว้กินหวาน' ที่ต้องอาศัย 'ความเพียรพยายาม' อย่าง 'มุ่งมั่น' และ 'บากบั่น' จึงจะสามารถหลอมรวมพลังแห่ง 'หลักการ' และ 'การดำเนินงาน' ให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันได้
  •  
  • 'การตั้งมั่นในหลักการ' ย่อมไม่ใช่ 'การยึดติดในจารีต' อย่าง 'มืดบอด' โดยจะต้อง 'ดำเนินการ' ด้วย 'ทัศนคติที่เปิดกว้าง' ไม่ 'เย่อหยิ่งลำพอง' จนปฏิเสธทุก 'ข้อติติง' หรือ 'คำทักท้วง' ที่เป็นประโยชน์ ต้องมีความพร้อมที่จะ 'ยอมรับฟังผู้อื่น' อย่าง 'ตรงไปตรงมา' เพื่อจะ 'ปรับปรุง' แผนงานไม่ให้เกิด 'ข้อผิดพลาด' ใดๆ ในโอกาสต่อไป


หากเปรียบเทียบสัญลักษณ์ของ 'การครองตนในธรรม' (䷌) ในบทนี้กับสัญลักษณ์ของ 'ศักยภาพ' (䷀) ในบทที่หนึ่ง เราก็จะเห็นว่ามีเพียง 'ขีดที่สอง' เท่านั้นที่แตกต่างกัน ซึ่งคำบรรยายของขีดดังกล่าวในบทที่หนึ่งนั้นถูกบันทึกไว้ว่า 見龍再田利見大人 (ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น และพร้อมจะยอมรับผู้อื่นอย่างยินดี) อันเป็น 'ข้อแนะนำ' ให้มีความมุ่งมั่น แต่ก็ต้องรู้จักนอบน้อมและยอมรับฟังผู้อื่น ไม่ใช่มุ่งกระทำการเพื่อ 'สนองอัตตา' โดยเรียกร้องให้คนอื่นต้องคอยให้เคารพยกย่อง 'ตนเอง' ในฐานะของ 'ผู้ชี้นำ' อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบทบันทึกในวรรคที่สองของบทนี้ก็ได้บันทึกไว้อย่างสอดคล้องกันว่า 同人于宗吝 (การยึดถือในหลักการเพื่ออัตตา ย่อมได้ผลลัพธ์ที่บกพร่องไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งควรจะละอายแก่ใจในความดึงดันนั้น)

'การครองตนในธรรม' อันเป็นปฐมเหตุแห่งความสำเร็จ (黃裳元吉) ดังที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่ห้าของบทที่สอง จึงประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติอันแจกแจงไว้อย่างละเอียดในบทที่สิบสามนี้อีกครั้งหนึ่งอย่างน่าสนใจ :)