Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第十一卦 : 泰
泰 : 天地泰 ‧ 坤上乾下
泰 : 小往大來‧吉亨‧
- 初九 ‧ 拔茅茹‧以其彙‧征吉‧
- 九二 ‧ 包荒‧用馮河‧不遐遺‧朋亡‧得尚于中行‧
- 九三 ‧ 無平不陂‧無往不復‧艱貞無咎‧勿恤其孚‧于食有福‧
- 六四 ‧ 翩翩不富‧以其鄰‧不戒以孚‧
- 六五 ‧ 帝乙歸妹‧以祉元吉‧
- 上六 ‧ 城復于隍‧勿用師‧自邑告命‧貞吝‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ แจ่มใส (⚌) ปัญญา ตื่นตัว (⚍) ร่างกาย ผ่อนสบาย (⚏)
ความหมายในเชิงบริหาร : เป้าหมายชัดเจน (⚌), แผนงานเตรียมรุก (⚍), ฝ่ายปฏิบัติการพรั่งพร้อม (⚏)
ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการบรรลุเป้าหมาย, พสุธาเหนือฟากฟ้า ;)
ความหมายของชื่อเรียก : Zenithization : การบรรลุเป้าหมาย
ต้องยอมรับว่าเลือกคำมาทดแทนคำว่า 泰 อย่างลงตัวกับเนื้อหาของมันในบทนี้ได้ยากมากเลยครับ :) เพราะอักษร 泰 (tài, ไท่) ได้รวบรวมความหมายที่ 'ดีระดับสุดยอด' เอาไว้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น 'สูงที่สุด', 'กว้างใหญ่ที่สุด', 'สวยงามที่สุด', 'ยิ่งใหญ่ที่สุด', 'น่าชื่นชมที่สุด', 'น่าภาคภูมิใจที่สุด' ตลอดไปจนถึง 'สงบสุขที่สุด' ด้วย
อักษร 泰 (tài, ไท่) ประกอบด้วย 'ภาพอักษร' ที่แผลงมาจากอักษร 夳 (tài, ไท่) อยู่ทางด้านบน ซึ่งเป็นอักษรโบราณของอักษร 太 (tài, ไท่) ที่แปลว่า 'ยิ่งใหญ่' ส่วนด้านล่างจะเป็นอักษร 水 (shuǐ, ษุ่ย) ที่แปลว่า 'น้ำ' ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ 'พลังแห่งหยิน' หรือ 'ความสงบร่มเย็น' … จึงทำให้บางครั้งมีการเขียนอักษรตัวนี้เป็น 汰 (tài, ไท่) หรือ 太 (tài, ไท่) เฉยๆ โดยใช้ในความหมายแบบเดียวกันทั้งหมดคือ 'ยิ่งใหญ่อย่างสงบ' หรือ 'ความสงบสุขอันยิ่งใหญ่'
หากดูตาม 'ภาพอักษร' โบราณของตัว 泰 เราจะเห็นว่าด้านบนสุดของมันดูคล้ายกับอักษร 土 (tǔ, ถู่ = ดิน) ที่ได้รับ 'การยกให้สูงเด่น' ไว้ด้วย 'มือทั้งสองข้าง' ที่ชูขึ้นไปจากด้านล่าง โดยมีสัญลักษณ์ของ 'น้ำ' (水) แทรกอยู่ตรงกลางระหว่าง 'มือทั้งสอง' ซึ่งอาจจะตีความได้ว่าเป็น 'แขนแห่งธรรม' … ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกันพอดีกับ 'ภาพสัญลักษณ์' ䷊ ที่มี ☷ (kūn, คุน = ดิน) อยู่ตรงด้านบนของมัน … แต่ถ้าเรามองว่าด้านบนของ 'ภาพอักษร' 泰 คืออักษร 廾 (gǒng, ก่ง) ที่แปลว่า 'แขน' แต่เขียนให้ค้อมลงมาหา 'มือทั้งสองข้าง' ที่ด้านล่าง เราก็จะได้ภาพของ 'มือสามประสาน' ที่มี 'น้ำ' (水) อยู่ระหว่างกลาง ซึ่งน่าจะหมายถึง 'การประสาน ฟ้า-ดิน-มนุษย์ ด้วยหลักแห่งธรรม' และกลายมาเป็นความหมายที่ 'ยิ่งใหญ่ที่สุด' ของอักษร 泰 ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสัญลักษณ์ ䷊ อันประกอบด้วย 'ฟ้า' (☰) และ 'ดิน' (☷) โดยรอเพียงแค่การปฏิบัติจริงของ 'มนุษย์' เท่านั้น … แบบนี้ก็เข้าท่าดี ;)
ตำราหลายเล่มแปลชื่อบทนี้ว่า 'ความสงบ' โดยอิงกับความหมายในภาษาอังกฤษว่า Peace, หรือ Tranquility แต่ Alfred Huang แปลว่า Advance ซึ่งหมายถึง 'ความก้าวหน้า' ในหนังสือ The Complete I-Ching ของเขา โดยมีเหตุผลที่แท้จริงมาจาก 'ความต่อเนื่อง' กับบทที่แล้ว ซึ่ง King Wen อธิบายไว้ว่า 'การเจริญรอยตามหลักแห่งธรรม โดยไม่คิดทำร้ายผู้อื่น ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า' … แต่ผมเลือกที่จะใช้คำว่า Zenithization เพื่อจะย้ำความหมายว่า นี่ไม่ใช่แค่ 'ความก้าวหน้า' ชนิดธรรมดาสามัญ แต่มันคือ 'การบรรลุถึงจุดหมายที่สูงสุด' ที่จำเป็นต้องมี 'ความสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่งยวด' จึงจะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นความหมายที่ 'ต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่สามของบทที่สอง ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 含章可貞或從王事無成有終 (ทุกๆ เรื่องราวที่แม้จะไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเบื้องแรก แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ เหมือนดังเช่นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น) … แต่ถ้ามาพ่วงกับความหมายในบทนี้ วลีดังกล่าวก็จะต้องแปลว่า 'ความสุขุมรอบคอบ (含章 คือไม่ทำอะไรโฉ่งฉ่าง) ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ (可貞) เปรียบดังผู้คิดจะกระทำการใหญ่ (或從王事) ย่อมต้องละวางตัวตนจนปราศจากทิฐิมานะแห่งอัตตา (無) จึงจะสามารถบรรลุถึงความยิ่งใหญ่อันสูงสุด (成有終) นั้นได้' … โดยผมซุกความหมายของ 'ความสุขุมคัมภีรภาพ' และ 'การละวางอัตตา' เพื่อการพัฒนาไปสู่ 'จุดหมายสูงสุดของชีวิต' ไว้ในอักษร ZEN ซึ่งเป็นอักษรสามตัวแรกของคำว่า Zenithization นั่นเอง ;)
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
xiǎo wǎng dà lái jí hēng
ถ้าใครรู้สึกว่าวรรคที่สามของบทที่สองที่ 'จิวกง' บันทึกไว้นั้นอ่านยากอ่านเย็นจนไม่เข้าใจ ผมคิดว่า King Wen ใช้คำที่ตรงตัวกว่านั้นเยอะครับ … King Wen อธิบายความหมายของ 泰 (tài, ไท่) เอาไว้ว่า 小往大來吉亨 ซึ่งถ้าแปลกันตรงๆ ตัวก็จะหมายถึง 'เล็กไปใหญ่มา (小往大來) มั่งมีศรีสุข (吉) เจริญก้าวหน้า (亨)' … เหมือนกำลังสอนให้ทำมาค้าขายเลยว่ะ !! … ว่างั้นมั้ย ??!! … :D
ความจริงแล้ว การที่ 'จิวกง' เลือกใช้วลีว่า 含章可貞 ในวรรคดังกล่าว ก็เพื่อจะให้ไปสอดรับความหมายของวลี 先迷後得主利 ที่ King Wen ใช้ใน 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ของบทที่สอง … ในขณะที่ King Wen ขยายความต่อด้วยวลีว่า 西南得朋 (ความอ่อนน้อมย่อมเสริมสร้างมิตรภาพ) กับ 東北喪朋 (ความเย่อหยิ่งลำพองย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์) … ซึ่ง 'จิวกง' ก็สนองด้วยวลีว่า 無成有終 ;) … เพราะฉะนั้น 小往大來 ที่เห็นในบทนี้ก็คือ 'การแสดงออกด้วยความนอบน้อม (小往) ย่อมจะได้รับการตอบรับที่ยิ่งใหญ่ (大來)' เป็นความเกี่ยวเนื่องกันของความหมายที่ชัดเจนมากๆ
เอาใหม่ … สมมุติว่าเราไม่อยาก 'ตีความ' ให้มันไขว้ไปไขว้มาจนน่าเวียนหัวอย่างนี้เลยล่ะ วลีนี้ของ King Wen ก็น่าจะมีความหมายว่า 'การดำเนินงานไปทีละก้าวเล็กๆ อย่างรู้จักประมาณกำลังตนเอง (小往) ย่อมจะสามารถสั่งสมจนกลายเป็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ (大來) ได้ในที่สุด นี่คือพัฒนาการแห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉亨)' … ซึ่ง 'การดำเนินงานไปทีละก้าวเล็กๆ' ก็จะมีความหมายไม่ต่างไปจาก 'ความสุขุมรอบคอบ' ซักเท่าไหร่ … แล้วการรู้จัก 'ประมาณกำลังตนเอง' ก็มีความหมายใกล้เคียงกับ 'การไม่อวดโอ่จนเกินจริง' … ส่วน 'การสั่งสม' ก็บอกเป็นนัยๆ ว่าให้รู้จัก 'มุ่งมั่นด้วยความสำรวมจิตใจ' … แต่ละแง่มุมเหล่านี้ น่าจะเพียงพอให้เชื่อได้ว่า 'จิวกง' คงจะต้องการสื่ออะไรบางอย่างจากวรรคที่สามในบทที่สองให้ถูกนำมาขยายความอีกครั้งในบทนี้
แต่ 'ขงจื้อ' เลือก 'ตีความ' ไปอีกความหมายหนึ่งซึ่งจะกลายเป็น Organization Code ที่ชัดเจนมาก โดยเขาใช้ 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 泰 (䷊) มาประกอบการอธิบายว่า 小往大來 สะท้อนความหมายถึง 'การประสานกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวของทั้งเหนือใต้สายบัญชาการ' ในลักษณะของการดำเนินงานที่มี 'ฝ่ายนำที่เข้มแข็ง' (☰) ประสานกำลังกับ 'ฝ่ายปฏิบัติการที่น้อมรับ' (☷) กลายเป็น 'ภายในแกร่งกล้าดั่งหยาง ภายนอกมั่นคงดั่งหยิน' ร่วมมือกันด้วยความ 'อ่อนนอก-แข็งใน' … มี 'ฝ่ายนำ' ที่ 'คิดการณ์ไกล' กับมี 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่สามารถ 'สำเร็จภารกิจ' ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน … เสมือนหนึ่ง 'การประสานพลังแห่งฟ้าและดิน' ที่ย่อมจะเสกสร้างทุกสรรพสิ่งให้สามารถวิวัฒนาการต่อไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด !!! … นี่ก็คือ 'การดำเนินงานที่ดี' (吉亨) … ทีนี้ ถ้าใครยังจะเชื่ออย่างฝังกะโหลกว่า 'ขงจื้อ' สาธยายคัมภีร์เพื่อใช้เป็น 'ตำราหมอดู' อยู่ล่ะก้อ … ผมว่ามันต้องบ้าแน่ๆ !! :D … มีความเป็นไปได้ว่า 'ขงจื้อ' อาจจะพิจารณาให้ 'ภาพอักษร' โบราณของ 泰 หมายถึง 'มือสามประสาน' อย่างที่ผมเล่าเอาไว้ และ 'ตีความ' ให้ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ของ King Wen ออกมาในแนวทางของ 'ความร่วมมือ' โดยปราศจาก 'ความขัดแย้ง' จากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งก็คือ 'ความสงบสุข') เพื่อ 'มุ่งไปสู่ความสำเร็จ' (吉亨)… ก็ต้องยอมรับครับว่า 'ขงจื้อ' มีความฉลาดในการผูกโยงสัญลักษณ์ ☷ และ ☰ ที่ประกบคู่กันเป็น 'ภาพสัญลักษณ์' 泰 (䷊) แล้วนำเอาอักษร 小 กับ 大 มาสะท้อน 'ความเป็นหยิน' กับ 'ความเป็นหยาง' ได้อย่างลงตัวพอดี จนสามารถแผลงความหมายให้แยกออกไปเป็นเรื่องอื่นที่นอกเหนือจาก 'ความอ่อนน้อม' หรือ 'ความสุขุมรอบคอบ' ที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' พยามยามจะสื่อออกมาตั้งแต่บทแรกๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง'
เมื่อดูจาก 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ของทั้ง King Wen และ 'ขงจื้อ' หรือแม้แต่จะไขว้ความหมายกลับไปยังวรรคที่สามของบทที่สองอย่างที่ผมเล่าเอาไว้ก็ตาม เราจะเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า นี่ไม่ใช่ 'ความสงบ' ในลักษณะที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง แต่เป็น 'ความสงบ' ที่เกิดจาก 'การประสานกันอย่างลงตัว' เพื่อมุ่งไปสู่ 'ความสำเร็จสูงสุด' … มันคือเหตุผลที่ผมไม่เลือกใช้คำว่า Tranquility หรือ Advance มาเป็น 'คำแปลของชื่อบท' แต่กลับไปเลือก 'ผูกคำใหม่' ให้กลายเป็นคำว่า Zenithization แทน เพราะคำทั้งสองคำที่เอ่ยถึงนั้น ดูจะยังขาดๆ เกินๆ ไปคนละความหมายอย่างที่มันควรจะเป็นนั่นเอง … ;)
แต่ผมก็ยังไม่ลงความเห็นนะครับว่า เราควรจะเลือก 'ตีความ' ตามอย่าง 'ขงจื้อ' หรือควรจะใช้วิธี 'ไขว้ความหมาย' เพื่อให้บทบันทึกของ 'จิวกง' ยังคง 'ความต่อเนื่อง' ในแบบฉบับของเขาต่อไป … เพราะยังต้องดูกันต่อไปว่า 'จิวกง' จะบอกอะไรในอีก 6 วรรคที่เหลือของบทนี้ … ;)
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
拔茅茹以其彙征吉
bá máo rú yǐ qí huì zhēng jí
ป๋า เม๋า ญู๋ อี่ ชี๋ ฮุ่ย เจิง จี๋
拔 อ่านว่า bá (ป๋า) แปลว่า 'ถอนออกมา', 'ดึงขึ้นมา', 'ยกขึ้น', 'หนุนขึ้น', 'ลุกขึ้น', หรือ 'ลอยสูงขึ้น' ; ยังสามารถแปลว่า 'หยิบ', 'จับ', หรือ 'คว้าไว้', จึงสามารถแปลว่า 'คัดเลือก' ; และในกรณีที่เหมือนเป็น 'การแยกออกจากกอง' หรือ 'แยกออกต่างหาก' มันจึงหมายถึง 'นอกชายฝั่ง', 'นอกพรมแดน', 'นอกเหนือไปจากนั้น' ก็ได้ด้วย ; และอาจจะหมายถึง 'โดดเด่น' เพราะถูก 'คัดแยก' ออกมาต่างหาก
茅 อ่านว่า máo (เม๋า) หมายถึง 'หญ้า' หรือ 'วัชพืช'
茹 อ่านว่า rú (ญู๋) แปลว่า 'กิน', 'เลี้ยง', 'ให้อาหาร', แต่ส่วนใหญ่คงจะหมายถึง 'กินอย่างมูมมาม' จึงทำให้ความหมายแผลงออกไปเป็น 'ละโมบ', 'อดอยาก', แล้วก็เลยกลายเป็น 'กล้ำกลืน', 'แบกรับ' ; ต่อเนื่องจาก 'การกิน' ก็เลยแผลงไปเป็น 'ของเสีย', 'ของที่เน่าเหม็น', 'นิ่มๆ', หรือ 'เละๆ' ได้ด้วย ; บางครั้งยังหมายถึง 'ผัก', 'หญ้า' ที่ใช้เป็นอาหารได้อีกต่างหาก
彙 อ่านว่า huì (ฮุ่ย) แปลว่า 'รวมตัวกัน', 'รวบรวม', 'ร่วมกัน', 'ไปด้วยกัน', 'พร้อมๆ กัน' ; อาจจะหมายถึง 'วนเวียน (อยู่ด้วยกัน)', 'หมุนวน' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ภาชนะ' หรือ 'เครื่องมือ' ที่ใช้ใน 'การเก็บรวบรวม'
征 (zhēng, เจิง) เล่าไปในบทที่เก้าแล้ว่า หมายถึง 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน
ถ้าคิดคร่าวๆ เหมือนกับที่เคยผ่านๆ มาก็คือ วรรคแรกของ 'จิวกง' ในแต่ละบท มักจะเป็นการ 'ขยายความ' ให้กับวลีของ King Wen ในบทนั้นๆ ซึ่งหากเป็นกรณีดังกล่าว วลีของ King Wen ที่บอกว่า 小往大來吉亨 จะสามารถ 'ตีความ' เป็นอีกความหมายหนึ่งได้ว่า 'ยอมเสียส่วนน้อย (小往) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ (大來) แล้วมุ่งสู่ความสำเร็จ (吉亨) ตามเป้าหมาย' … หรืออาจจะ 'ตีความ' ได้ว่า 'การละทิ้งสิ่งที่ไร้ความหมาย (小往) โดยมุ่งแต่เฉพาะการใหญ่ (大來) ที่ต้องดำเนินการ ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ (吉亨) ดังที่มุ่งหวังไว้' …
ทั้งนี้ เนื่องจากวรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้น่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า 'การมุ่งกำจัด (拔 คือถอนทิ้งไป) สิ่งที่ไร้คุณค่าความหมาย (茅 คือวัชพืช) และความเหลวแหลกที่ไม่พึงปรารถนา (茹 คือความเน่าเฟะ) เพื่อสั่งสมไว้เพียงเฉพาะปัจจัยที่มีคุณประโยชน์ (以其彙) คือการดำเนินงาน (征) ที่จะนำไปสู่ความเจริญ (吉)' … หรืออาจจะ 'ตีความ' ว่า 'การรู้จักแยกแยะ (拔) สิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ (茅) และความเหลวแหลกที่ไม่พึงปรารถนา (茹) ออกจาก (以) สิ่งอื่นๆ (其) ที่พึงถนอมรักษาเอาไว้ (彙) ย่อมเป็นการดำเนินงาน (征) ที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จ (吉) ได้ในที่สุด'
แล้วถ้าหากเรา 'ตีความ' ออกมาในแนวทางนี้ วรรคที่สามของบทที่สองที่ 'จิวกง' บันทึกเอาไว้ (含章可貞或從王事無成有終) ก็จะแผลงความหมายเป็น 'การเลือกดำเนินการ (含 สามารถหมายถึง 'เก็บรักษา') เฉพาะภาระกิจที่จะส่งผลต่อเป้าหมายอย่างชัดเจน (章) ย่อมจะเป็นคุณ (可貞) เหมือนดังเช่นการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ (或從王事) ย่อมต้องยอมสละ (無 ยอมที่จะไม่มี) ในบางสิ่ง เพื่อจะแลกมาซึ่งบางอย่าง (成有 กลายเป็นมี) ในบั้นปลาย (終)' … ทันที !!!!
'ความยิ่งใหญ่' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ก็อยู่ที่ความสลับซับซ้อนของการซ่อนความหมายไว้ในแต่ละตัวอักษร และในแต่ละวรรคของมันตลอดทั้งเล่ม … ซึ่งผม 'เชื่อว่า' นี่ต้องไม่ใช่เป็นเพราะ 'ความบังเอิญ' อย่างแน่นอน แต่น่าจะต้องเป็น 'ความจงใจ' ของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ที่ต้องการทำให้คัมภีร์เล่มนี้ สามารถปรับเปลี่ยนความหมาย และทัศนะของมันไปตาม 'สภาพแวดล้อม' หรือ context ของมัน ตลอดจน 'กรอบคิด' ของ 'ผู้ที่กำลังตีความ' ณ ขณะเวลานั้นๆ … โดยที่ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำใดๆ ของเมื่อกว่า 4,000 ปีที่แล้วเลย … แม้แต่ตัวอักษรเดียว !!!
包荒用馮河不遐遺朋亡得尚于中行
bāo huāng yòng píng hé bù xiá yí péng wáng dé shàng yú zhōng xíng
เปา ฮฺวาง โยฺว่ง พิ๋ง เฮ๋อ ปู้ เซี๋ย อี๋ เพิ๋ง วั๋ง เต๋อ ษั้ง ยฺวี๋ จง ซิ๋ง
荒 อ่านว่า huāng (ฮวง, ฮฺวาง) แปลว่า 'แห้งแล้ง', 'ผลผลิตไม่ดี', 'รกร้าง', ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ 'ไม่ได้รับการดูแลรักษา' หรือ 'ไม่มีการดูแลรักษา', ซึ่งอาจจะเพราะ 'ไม่เอาใจใส่', 'ห่างไกล', 'กันดาร' ; หากใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานก็จะหมายถึง 'ความสูญเสีย', 'ความสูญเปล่า', 'สิ่งที่เสียหาย', ซึ่งเป็นเรื่องของ 'ความด้อยประสิทธิภาพ', หรือ 'ความไม่มีประสิทธิผล' ; อาจจะหมายถึง 'กลวง', 'ว่างเปล่า' หรือ 'ไม่สมเหตุสมผล' ก็ได้
馮 อ่านว่า píng (พิ๋ง) หมายถึง 'ลุยไป', 'ฝ่าข้ามไป' ซึ่งมีลักษณะของ 'การเดินไป (อย่างยากลำบาก)' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'การพึ่งพา' (เพราะอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก) หรือ 'การช่วยเหลือ', 'การสนับสนุน', 'การผลักดัน' ซึ่งทั้งหมดจะสื่อไปในทางที่หมายถึง 'ความยากลำบาก' ด้วยกันทั้งหมด ; ถ้าหมายถึงการเคลื่อนไหวของม้า ก็จะแปลว่า 'วิ่งควบออกไป' หรือ 'วิ่งไปอย่างรวดเร็ว' ซึ่งต้องใช้พละกำลังมาก ; สมัยก่อนเคยใช้ในควมหมายเดียวกับ 凭 (píng, พิ๋ง) ที่แปลว่า 'พักพิง', 'พึ่งพิง', 'ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' ในลักษณะที่เป็นการรับความช่วยเหลือจากสิ่งอื่น หรือบุคคลอื่น
河 อ่านว่า hé (เฮ๋อ) ปรกติก็แปลว่า 'แม่น้ำ' หรือ 'ทางน้ำ' ; อาจจะหมายถึง 'ลำธาร' หรือ 'กระแสธาร'
遐 อ่านว่า xiá (เซี๋ย) แปลว่า 'ห่างไกล' หรือ 'เนิ่นนาน', 'ถาวร' ; หรืออาจจะหมายถึง 'มรดกตกทอด', 'วัฒนธรรม', 'ประเพณี' ที่ตกทอดกันมาจากคนรุ่นก่อนๆ
遺 อ่านว่า yí (อี๋) แปลว่า 'สูญเสีย', 'สูญหาย', 'ละทิ้ง' ; แต่ก็สามารถหมายถึง 'สิ่งที่หลงเหลือไว้', 'สิ่งที่ตกทอดไว้' ; ถ้าเป็นอากัปกิริยาจะหมายถึง 'แกว่งไปแกว่งมา', 'เลื้อย', หรือว่า 'คดเคี้ยว'
บอกตรงๆ เลยครับว่า คำแปลของตำราต่างๆ ทำให้ผมไขว้เขวมากๆ สำหรับวรรคนี้ของ 'จิวกง' เพราะหากจะมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' จากวรรคที่หนึ่ง ซึ่งเอ่ยถึง 'การกำจัดสิ่งที่ไร้คุณค่าความหมาย' คำว่า 包荒 ก็อาจจะหมายถึง 'การถนอมรักษาสิ่งที่ด้อยประสิทธิภาพ' ซึ่งมันก็จะมีวลีว่า 朋亡 ที่คล้ายๆ กับจะหมายถึง 'มิตรภาพเหือดหาย' มารองรับไว้ … แต่ 用馮河 ที่หลายตำราแปลว่า 'ข้ามน้ำด้วยตีนเปล่า' ผมก็กลับหาร่องรอยของ 'ตีน' ไม่เจอในอักษรทั้งสามตัวที่ว่านั่น … ในขณะเดียวกัน 包荒 มักจะได้รับการ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การแบกรับความไม่สมประกอบของผู้อื่น' ผมก็มองว่าน่าจะเข้าเค้า แต่มันก็ไม่เกี่ยวกับ 'การข้ามน้ำด้วยตีนเปล่า' หรือ 'การข้ามน้ำโดยไม่ใช้เรือ' อยู่ดี … เพราะฉะนั้น ความหมายเดียวที่ผมพอจะ 'ตีความ' ให้มันได้เรื่องได้ราวหน่อยสำหรับวลีนี้ก็คือ … 'การจะหล่อเลี้ยงบำรุง (包) ดินแดนทุรกันดาร (荒) นั้น ย่อมต้องใช้ (用) กระแสน้ำที่รินไหล (馮河 หมายถึงการเดินของน้ำ) หากเห็นแก่ได้โดยไม่ยอมอุทิศสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในระยะยาว (不遐遺 หมายถึงไม่ยอมเหลือสิ่งตกทอดเอาไว้) สัมพันธภาพที่สมดุล (朋) ก็ย่อมจะสูญสลาย (亡) ผู้ที่จะบรรลุถึง (得) สิ่งที่มุ่งหวัง (尚) ย่อมต้องดำเนินการอย่างเที่ยงธรรม (于中行) เสมอ'
ในทางหนึ่งผมมองว่า ความหมายดังที่ 'ตีความ' ไว้อย่างนั้น น่าจะช่วยขยายความบางอย่างให้กับวรรคที่หนึ่ง เพื่อไม่ให้ทุกคน 'มุ่งเน้นแต่ในเรื่องของผลประโยชน์ตน' หรือ 'คำนึงแค่เพียงประโยชน์เฉพาะหน้า' โดยให้ความสำคัญกับการกำจัดสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ จนละเลยต่อสิ่งที่ตนควรจะสร้างเพื่ออุทิศไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง … เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์จากผืนดิน หากทุกคนมุ่งแต่ตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรที่มี โดยไม่คิดที่จะหล่อเลี้ยงบำรุงให้กลับคืนสู่สภาพเดิม อนุชนรุ่นต่อไปก็จะเหลือแต่ดินแดนที่รกร้างทุรกันดารเป็น 'มรดกบาป' ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกเขาต่อไป
ในอีกแง่หนึ่ง นี่คือคำขยายความให้กับวลีของ King Wen ที่ว่า 小往大來 ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การยอมอุทิศสิ่งที่ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ สำหรับตนเองออกไป ย่อมสามารถที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในบั้นปลาย' … ซึ่งเป็นความหมายที่สื่อถึงลักษณะของ Cumulative Community ที่ชุมชนหนึ่งๆ ให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน โดยที่ไม่มีใครจำเป็นต้องเสียสละอะไรมากมายในชีวิตของตน แต่ยอมที่จะอุทิศบางสิ่งบางอย่างที่ควรจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ผู้อื่นบ้างเท่านั้น … ยกตัวอย่างเช่น การจะช่วยกันลดความสกปรกโสโครกของแม่น้ำลำคลองต่างๆ นั้น ขอเพียงแค่ทุกคนในชุมชนละเลิกความมักง่ายที่จะเพิ่มสิ่งปฏิกูลใดๆ ลงไปอีก วันหนึ่งสายน้ำทั้งหมดก็จะกลับสู่ความใสสะอาดของมันได้อีกครั้งอย่างแน่นอน … ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่มีใครต้องเสียสละแรงกายแรงใจอะไรเลยซักนิดเดียว … แต่ผลลัพธ์ของมันกลับสูงค่าอย่างมหาศาลสำหรับคนทั้งโลก !!!
สำหรับวลีว่า 不遐遺 ก็จะมีความน่าสนใจในอีกลักษณะหนึ่งของมันเหมือนกัน เพราะคำว่า 遺 (yí, อี๋) สามารถแปลว่า 'คดเคี้ยว' หรือ 'ยอกย้อน' มันจึงทำให้คำว่า 遐遺 สามารถ 'ตีความ' ให้มีหมายถึง 'การมองการณ์ไกล โดยคำนึงถึงองค์รวมของสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสลับซับซ้อน' … และทำให้ 不遐遺 อาจจะหมายถึง 'การคิดอะไรด้วนๆ อย่างมักง่าย' ไปเลย … แล้วก็แน่นอนว่า คนที่มักง่ายย่อมจะไม่มีใครอยากคบหา หรือผูกสัมพันธ์ด้วย ซึ่ง 'จิวกง' ก็สะท้อนความหมายนี้ด้วยวลีว่า 朋亡 หรือ 'เพื่อนฝูงล้มหายตายจากไปจนหมด' เอาไว้ เพราะไม่มีมนุษย์เป็นๆ ที่ไหนเขาอยากจะคบด้วยนั่นเอง … :D
無平不陂無往不復艱貞無咎勿恤其孚于食有福
wú píng bù bēi wú wǎng bù fù jiān zhēn wú jiù wù xǜ qí fú yǘ shí yǒu fú
อู๋ พิ๋ง ปู้ เปย อู๋ หฺวั่ง ปู้ ฟู่ เจียน เจิน อู๋ จิ้ว อู้ ซฺวี่ ชี๋ ฟู๋ ยฺวี๋ ซื๋อ โหฺย่ว ฟู๋
平 อ่านว่า píng (พิ๋ง) แปลว่า 'ราบ', 'เรียบ', 'สงบ', 'สม่ำเสมอ', 'เป็นปรกติธรรมดา', 'เท่าเทียม', 'ทัดเทียม' ; ซึ่งก็สามารถหมายถึง 'ทำให้ราบ', 'ทำให้เรียบ', 'ทำให้เป็นปรกติสุข', 'ทำเป็นกิจวัตร' ก็ได้
陂 อ่านว่า bēi (เปย) แปลว่า 'เอียง', 'ไม่สม่ำเสมอ' ; และสามารถหมายถึง 'แอ่งน้ำ', 'บ่อน้ำ', หรือ 'ทะเลสาบ' ; หรืออาจจะแปลว่า 'อาณาเขต', 'เขตแดน', 'ขอบเขต'
艱 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'ยาก', 'ลำบาก', 'อันตราย', 'ขมขื่น' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'บากบั่น', 'แบกรับ', 'ทรหด', 'เหนื่อยยาก' เพื่อ 'กัดฟันต่อสู้' กับ 'ความยากลำบาก' ต่างๆ นาๆ
恤 อ่านว่า xǜ (ซฺวี่) แปลว่า 'เอาใจใส่', 'ใส่ใจ', 'รับเป็นภาระ', 'โอบอุ้มดูแล', 'เป็นห่วงเป็นใย' ; มันเลยแผลงเป็น 'กังวล', 'เคร่งเครียด'
食 (shí, ซื๋อ) เคยเล่าไปบ้างแล้วว่าหมายถึง 'กิน', 'ของกิน', 'อาหาร' ; และอาจจะหมายถึง 'เงินเดือน', 'รายได้', หรือ 'ผลตอบแทน' ; ในความหมายว่า 'กิน' ก็อาจจะหมายถึง 'ถูกกิน', 'แหว่งเว้า', 'สูญเสีย', ซึ่งก็สามารถที่จะหมายถึง 'เสียสละ' หรือ 'การอุทิศให้' ได้ด้วย
ถ้าอ่านผ่านๆ ก็จะรู้สึกเหมือนกับว่า 'จิวกง' ต้องการจะสื่อถึง 'ความตรงข้าม' อะไรบางอย่างในวรรคนี้ เพราะแกเล่นเปิดประเด็นด้วย 平 (píng, พิ๋ง) ที่หมายถึง 'ราบเรียบ' กับ 陂 (bēi, เปย) ที่กระเดียดไปในความหมายว่า 'เป็นหลุมเป็นบ่อ' … มีคำว่า 往 (wǎng, หฺวั่ง) ที่แปลว่า 'ไป' แล้วก็มีคำว่า 復 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'ย้อนคืน' … มีคำว่า 艱 (jiān, เจียน) ที่ออกแนว 'หนักหนาสาหัส' กับ 咎 (jiù, จิ้ว) ที่เหมือนกับ 'เสียงบ่นงึมๆ งำๆ' … แล้วก็มี 恤 (xǜ, ซฺวี่) ที่ 'เคร่งเครียดกังวล' กับ 孚 (fú, ฟู๋) ที่เป็น 'ความพร้อม' หรือ 'ความมั่นใจ' … ตบท้ายประโยคด้วยคำว่า 食 (shí, ซื๋อ) ที่แปลว่า 'แหว่งเว้า' กับ 福 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'พอกพูน' … แล้วก็ดันมาเล่นแบบนี้ในจังหวะที่กำลังจะมีการเปลี่ยนจาก 'หยาง' ของขีดที่สามไปเป็น 'หยิน' ของขีดที่สี่ … จึงทำให้หลายๆ ตำรามุ่งไปในแนวของ 'การตีความ' ว่า 'ทุกอย่างเมื่อดำเนินมาถึงจุดสูงสุดของมันแล้วก็จะต้องมีการย้อนคืนเสมอ' … :P … ซึ่งผมก็เป็นอย่างของผมอีกแหละครับ … เอาใหม่ !!!??!! :D
ผมจะ 'ตีความ' วรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'ไม่มีที่ราบใด (無平) ที่จะไม่เป็นแหล่งรองรับน้ำ (不陂) ไม่มีการให้ใด (無往) ที่จะไม่ได้รับการตอบสนอง (不復) ความมุ่งมั่นในหลักคุณธรรมอย่างมีน้ำอดน้ำทน (艱貞) โดยไม่ปริปากบ่นด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ (無咎) และไม่เคร่งเครียดกังวล (勿恤) ต่อผลตอบแทนใดๆ ที่ตนจะได้รับ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดำเนินไปอย่างพร้อมมูล (其孚) เนื่องเพราะความมุ่งมั่นนั้นอยู่แล้ว การเสียสละเพื่ออุทิศให้อย่างทุ่มเท (于食) ย่อมจะก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ที่พอกพูนจนสมบูรณ์ (有福) เสมอ' … เออ … มันใจกล้ามากที่ไม่ยอมเชื่อตำราเล่มไหนเลย !!! … ซึ่งผมก็มีเหตุผลแบบของผมอีกแหละ … ;)
ถ้าเราไล่ความหมายกันมาตั้งแต่วลีเปิดประเด็นของ King Wen แล้วต่อด้วยวลีของ 'จิวกง' อีกสองวรรคในบทนี้ แถมด้วยวรรคที่สามของ 'จิวกง' ในบทที่สอง ซึ่งสะท้อนความหมายของ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen บันทึกไว้ในบทเดียวกัน เราจะเห็นว่า ทุกๆ วลีที่ผมอ้างถึงนั้น จะสื่อความหมายในลักษณะของ 'การยอมเสียสละส่วนน้อย' ซึ่งก็คือ 'การละวางอัตตา' หรือ 'การปล่อยวางผลประโยชน์เฉพาะตน' เพื่อมุ่งไปสู่ 'เป้าหมายอันยิ่งใหญ่' ทั้งหมด … โดย 'การละวางอัตตา' จะสะท้อนออกมาด้วย 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ซึ่ง 'จิวกง' แทนความหมายนี้ด้วยภาพสัญลักษณ์ของ 'ที่ราบ' ซึ่งพร้อมจะโอบอุ้มพลังแห่งชีวิต อันเป็นที่มาของวลีว่า 無平不陂 (ไม่มีที่ราบใดที่จะไม่เป็นแหล่งรองรับน้ำ) นั่นเอง ;)
สำหรับ 無往不復 (ไม่มีการให้ใดที่จะไม่ได้รับการตอบสนอง) ก็จะมีความหมายคล้ายกับ 小往大來 ที่ King Wen ใช้ในบทนี้ หรือ 含章可貞 ที่ 'จิวกง' ใช้ในบทที่สอง ซึ่งก็จะสะท้อนความหมายที่ King Wen เอ่ยถึงในบทที่สองเช่นกันว่า 先迷後得主利 (แรกเริ่มแม้ไม่ชัดเจน แต่บั้นปลายย่อมบรรลุผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่) นั่นเอง
ส่วนวลียาวๆ ที่ 'จิวกง' ใช้ในวรรคนี้ว่า 艱貞無咎勿恤其孚 ก็คือความหมายเดียวกับวลีสั้นๆ ที่ 'จิวกง' ใช้ในวรรคที่สองของบทที่สองว่า 不習無不利 (แม้จะไม่เรียกร้องต้องการ ผลลัพธ์ที่ดีย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ) อย่างตรงๆ ตัวเลย ซึ่งก็ถูกเอ่ยถึงอีกครั้งหนึ่งในวรรคที่สองของบทนี้ว่า 得尚于中行 (การจะบรรลุถึงสิ่งที่มุ่งหวัง ย่อมต้องอาศัยการดำเนินงานอย่างเที่ยงธรรม) อันเป็นการบอกกรายๆ ว่า 'ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาโดยการเรียกร้อง'
แล้วท่อนสุดท้ายของวรรคนี้ที่บันทึกไว้ว่า 于食有福 มันก็คือความหมายเดียวกับ 無成有終 (ความสำเร็จในบั้นปลาย ย่อมบรรลุได้ด้วยการยอมละวางอัตตาของตน) จากบทที่สอง หรือที่บอกเอาไว้ในวรรคที่สองของบทนี้ว่า 不遐遺朋亡 (หากไม่อุทิศสิ่งใดๆ ไว้ให้แก่ผู้อื่น สัมพันธภาพย่อมเหือดหาย)
เมื่อเรารวมความหมายทั้งหมดเข้าด้วยกัน มันก็จะกลายเป็นความหมายดังที่ผม 'ตีความ' เอาไว้ข้างต้น แล้วถ้าหากเรามองถึง 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่หนึ่งที่กล่าวไว้ว่า … 'การรู้จักแยกแยะสิ่งที่เหลวไหลไม่พึงปรารถนา ออกจากสิ่งอื่นๆ ที่พึงถนอมรักษาเอาไว้ ย่อมนำไปสู่ผลสำเร็จ' … ซึ่งถูกเสริมด้วยวรรคที่สองว่า 'การจะทำนุบำรุงถิ่นทุรกันดาร ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ด้วยการใช้กระแสน้ำมาหล่อเลี้ยง หากเห็นแก่ได้โดยไม่ยอมอุทิศประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ความสมดุลก็ย่อมจะสูญสลาย การจะบรรลุถึงสิ่งที่มุ่งหวังย่อมต้องดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม' … และ 'การดำเนินการอย่างเที่ยงธรรม' ที่ว่านั้นเองที่ถูกขยายความด้วยวรรคที่สามว่า 'จะต้องมุ่งมั่นบากบั่นโดยไม่ปริปากบ่นอย่างท้อแท้ (艱貞無咎) และไม่กังวลกับผลตอบแทนที่ตนจะได้รับ (勿恤) จึงจะสามารถนับเป็นความเที่ยงธรรมที่สมบูรณ์ (其孚)' … แล้วก็สรุปตบท้ายประโยคไว้ด้วยว่า 'การยอมอุทิศย่อมนำมาซึ่งความเจริญ (于食有福)' … ไม่มีลักษณะของการเล่น 'คำตรงข้าม' เลยครับ … จริงๆ !!! … ;)
翩翩不富以其鄰不戒以孚
piān piān bù fù yǐ qí lín bù jiè yǐ fú
เพียน เพียน ปู้ ฟู่ อี่ ชี๋ ลิ่น ปู้ เจี้ย อี่ ฟู๋
翩 อ่านว่า piān (เพียน) แปลว่า 'บินไปอย่างรวดเร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', แต่ก็แฝงความหมายว่า 'เร่งรับ', 'ลวกๆ', 'ไม่เรียบร้อย' ; บางทีก็หมายถึง 'วอกแวก', 'กลับไปกลับมา' ; บางครั้งก็จะมีความหมายเหมือนกับ 偏 (piān, เพียน) ที่แปลว่า 'เอนเอียง', 'ลำเอียง', หรือ 'โน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง' ซึ่งน่าจะมาจากลักษณะที่ 'รีบๆ' โดยไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน หรือเป็นเพราะ 'ไม่มีความหนักแน่น' ก็ได้
富 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'โชคลาภ', 'ความร่ำรวย', 'มากมาย', 'ล้นหลาม', 'เหลือเฟือ' ; ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ 'พรั่งพร้อม', 'สมบูรณ์'
鄰 อ่านว่า lín (ลิ๋น) แปลว่า 'ใกล้ชิด', 'สนิทสนม', หรือ 'เพื่อนบ้าน' เนื่องจากสมัยก่อนจะใช้เป็นชื่อหน่วยนับของจำนวนหลังคาเรือนใน 'ชุมชน' ด้วย ซึ่งก็เลยแผลงความหมายไปเหมือนกับ 衆 (zhòng, จ้ง) ที่แปลว่า 'มากมาย' หรือ 'ฝูงชน' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยา มันจะมีความหมายคล้ายกับ 吝 (lìn, ลิ่น) ที่หมายถึง 'ตระหนี่' ซึ่งน่าจะแผลงมาจากความต้องการเก็บรักษาให้ทรัพย์สินอยู่ใกล้ๆ กับตัวเอง
戒 อ่านว่า jiè (เจี้ย) แปลว่า 'เตรียมพร้อม', 'ระแวดระวัง', 'รอบคอบ' ; 'เตือนภัย', 'ยับยั้ง' ; แต่ในความหมายว่า 'เตรียมพร้อม' นั้นกลับสามารถแปลว่า 'ทันทีทันใด', 'กระฉับกระเฉง', 'รวดเร็ว' และ 'ว่องไว' ได้เหมือนกัน
ดูเหมือน 'จิวกง' จะใช้วรรคที่สองไปขยายความให้กับวรรคที่หนึ่ง เราจึงเห็น 'การมุ่งทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์' ถูกขยายความด้วย 'การต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว' โดยยึดหลักแห่ง 'การดำเนินการอย่างเที่ยงธรรม' … ซึ่ง 'ความเที่ยงธรรม' ที่ว่านั้น ก็ถูกขยายความไว้อีกทอดหนึ่งในวรรคที่สามว่า 'ต้องมุ่งมั่นบากบั่นอย่างอดทน' พร้อมกับสำทับต่อท้ายว่า มันเป็นเรื่องของ 'การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม' … เพราะฉะนั้น ความหมายของวรรคที่สี่ก็น่าจะมาเสริมต่อลงไปที่ตรงจุดนี้ว่า … 'การกระทำด้วยความเร่งลวกอย่างไร้วิจารณญาณ (翩翩) ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดผลดี (不富) ต่อผู้ใด … การจะหลอมรวมทุกองค์ประกอบ (以其鄰) เพื่อจะบรรลุถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จให้จงได้นั้น ย่อมจะต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง (不戒 คือไม่หยุดหย่อน) จึงจะสามารถนับเป็นหลักประกันที่วางใจได้ (以孚)'
ตรงนี้ผม 'ตีความ' โดยคิดในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' อยู่สองถึงสามตอนด้วยกัน … ในแง่ของความสัมพันธ์กับวรรคที่หนึ่ง คำว่า 拔茅茹 (bá máo rú) คือ 'มุ่งกำจัดสิ่งที่ไร้คุณค่าและความเหลวแหลก' จะถูกเตือนให้ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่ทำไปตามอารมณ์ที่แกว่งไกวอย่างไร้แก่นสาร เพราะว่า 翩翩不富 (piān piān bù fù) มีความหมายว่า 'การกระทำอย่างลวกๆ โดยไม่ยั้งคิดจะไม่ก่อให้เกิดผลดี' … นี่เป็น 'ความต่อเนื่อง' ที่เห็นได้ลักษณะหนึ่ง
หากมองคู่กับวรรคที่สอง คำว่า 得尚于中行 (dé shàng yǘ zhōng xíng) ที่หมายถึง 'การจะบรรลุสิ่งประเสริฐที่มุ่งหวังต้องดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม' หรือให้ยึดถือ 'หลักแห่งทางสายกลาง' คำว่า 翩翩不富 ในวรรคนี้ ก็ดูเหมือนกับกำลังจะบอกกับเราว่า 'การดำเนินการด้วยความสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งย่อมไม่เกิดผลดี' … นี่ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของ 'ความต่อเนื่อง'
แต่ถ้ามองตรงตอนท้ายของวรรคที่สามที่บอกว่า 于食有福 (yǘ shí yǒu fú) หรือ 'การยอมอุทิศให้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์' มันก็จะถูกขยายความว่า 不戒以孚 (bù jiè yǐ fú) เพื่อสื่อความหมายว่า 'จะต้องเป็นการกระทำอย่างต่อเนื่อง' ไม่ใช่แค่เขี่ยๆ เหมือนปัดรังควานให้หมดเรื่องหมดราวไปเท่านั้น
ส่วนวิธีที่ 'จิวกง' เล่นคำในวรรคเดียวกันนี้ก็มีความน่าสนใจพอสมควร โดยเราจะเห็นคำว่า 翩 (piān, เพียน) และ 戒 (jiè, เจี้ย) ซึ่งเป็นคู่ที่มีความหมายว่า 'รวดเร็ว' แต่คนละอาการกัน … เพราะ 翩 จะหมายถึง 'รวดเร็วแบบลุกลี้ลุกลน' … ในขณะที่ 戒 จะหมายถึง 'แคล่วคล่องว่องไวด้วยความพร้อม' … แล้วถ้าหากเราเอาทั้งสองวลีมาเรียงต่อกัน เราก็จะได้วลีใหม่เป็น 翩翩不富‧不戒以孚 (piān piān bù fù . bù jiè yǐ fú) ซึ่งมีลักษณะของ 'การสลับขั้วความหมาย' และ 'การล้อเสียง' ของ 富 (fù, ฟู่) กับ 孚 (fú, ฟู๋) ไปพร้อมๆ กันด้วย … ส่วนคำว่า 不戒 ก็สามารถสื่อความหมายได้ทั้ง 'ไม่ต้องรีบ' และ 'ไม่ต้องหยุด' ในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ 不戒以孚 จะมีความหมายคล้ายๆ กับสำนวนไทยที่ว่า 'ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม' ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าให้ทำตัวอ้อยสร้อยเอื่อยเฉื่อย แต่หมายถึงให้ 'กระทำการต่างๆ อย่างสุมขุมรอบคอบ ไม่ต้องเร่งร้อน แต่ไม่ต้องหยุดยั้ง' ซึ่งก็คือให้ 'ดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยความสุมขุมรอบคอบ' นั่นเอง … แล้วพอเอาวลีว่า 以其鄰 แทรกลงไประหว่างกลาง มันก็จะสะท้อนคำว่า 得尚于中行 หรือให้ 'เดินทางสายกลาง' โดยมีด้านหนึ่งคือ 'อย่าลุกลี้ลุกลน' กับอีกด้านหนึ่งคือ 'กระทำการอย่างต่อเนื่อง' … ถือว่าเป็นการเล่นกับความหมายของคำ และการเลือกวางตำแหน่งของวลีต่างๆ ให้สะท้อนความหมายที่ต้องการจะสื่อได้อย่างสนใจมากๆ ;)
帝乙歸妹以祉元吉
dì yǐ guī mèi yǐ zhǐ yuán jí
ตี้ อี่ กุย เม่ย อี่ จื่อ เยฺวี๋ยน จี๋
มาถึงวลีเจ้าปัญหาอีกวลีหนึ่งครับ ตรงนี้มีคำว่า 歸妹 (guī mèi, กุยเม่ย) ซึ่งน่าจะไม่มีความหมายที่พิเศษพิศดารอะไรนอกจากจะหมายถึง 'น้องสาวที่แต่งงาน' เท่านั้น … แต่เนื่องจาก 歸妹 เป็นคำที่ถูก King Wen เลือกใช้เป็น 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ของบทที่ห้าสิบสี่ด้วย !!! … ดังนั้น มันควรจะถูกแปลตามตัวอักษร ?! หรือควรจะต้องไปดึงเอาความหมายที่ King Wen อธิบาย 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ในบทดังกล่าวมาควบรวมลงไป ?! … ก็คงต้องดูความเหมาะสมอื่นๆ ในวรรคที่ห้านี่ประกอบไปด้วยแล้วล่ะ ...
帝 อ่านว่า dì (ตี้) แปลว่า 'ฮ่องเต้', 'เจ้าครองแคว้น' ซึ่งโดยปรกติจะสามารถใช้ในความหมายที่เหมือนกันกับ 王 (wáng, วั๋ง), 皇 (huáng, ฮฺวั๋ง) หรือ 君 (jün, จฺวิน) … และนั่นก็หมายความว่า มันสามารถแปลว่า 'ผู้นำ', หรือ 'ผู้ที่มีความสามารถ' และ 'ผู้ที่มีความสำคัญ' หรือ 'เรื่องราวที่สลักสำคัญ' ได้ด้วยเหมือนกัน
乙 อ่านว่า yǐ (อี่) ความหมายทั่วๆ ไปจะหมายถึง 'อันดับที่สอง', 'อันดับรอง' ; แต่ความหมายดั้งเดิมของมันคือ 'การงอกเงยของสรรพชีวิต' ; ความหมายอื่นๆ ก็จะมีตั้งแต่ 'ตำแหน่งที่สองของจักรราศีบนฟากฟ้า' ซึ่งเป็นเรื่องของการบอกวันเวลา ; ถ้าใช้เป็นสรรพนามก็จะหมายถึง 'บุคคลใดบุคคลหนึ่ง' เหมือนอย่างที่ภาษาไทยจะมี 'นาย ก.' หรือ 'นาย ข.' ; แต่ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'งอกเงย', 'หมุน', 'พลิก' ; ถ้าในลักษณะของการเขียนหนังสือ 'ตำแหน่งที่จรดพู่กันลงไป' เมื่อสิ้นสุดของการลากเส้นแต่ละเส้น จุดตรงนั้นก็เรียกว่า 乙 ได้เหมือนกัน ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ 乙 ก็อาจจะหมายถึง 'จุดที่หยุดยั้งเมื่อถึงจังหวะเวลาที่ควรจะหยุด' ก็ได้ด้วย
祉 อ่านว่า zhǐ (จื่อ) แปลเหมือนกับ 福 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'โชคลาภ', 'ความสุข', 'มั่งมี', หรือ 'มากมายมหาศาล' โดยทั่วๆ ไปถ้าใช้คู่กันกับ 福 เป็น 祉福 ก็จะมีความหมายในทำนองว่า 'มั่งมีศรีสุขไปตราบนานเท่านาน' ประมาณนั้น :D
ทีนี้ … ถ้าเราแปลกันตรงๆ ตามตัวอักษรที่มี เราก็จะได้วลีว่า 'ฮ่องเต้ยกน้องสาวให้แต่งงานกับผู้อื่น จึงมั่งมีศรีสุขไปชั่วกัลปาวสาน' … แหวะ !!!?? … :D … ผมจึงอยากจะข้าม shot ไปดูความหมายของ 歸妹 ที่ King Wen อธิบายไว้ในบทที่ห้าสิบสี่ก่อนดีกว่า … เพราะรับไม่ได้จริงๆ กับวิธี 'ตีความ' อย่างที่เห็นในตำราอื่นๆ :P
King Wen อธิบายคำว่า 歸妹 ไว้ในบทที่ห้าสิบสี่ว่า 征凶無攸利 (zhēng xiōng wú yōu lì, เจิง เซฺวิง อู๋ อิว ลี่) ซึ่งจะมีความหมายประมาณว่า 'การดำเนินการ (征) อย่างเอาเป็นเอาตาย (凶) ไม่ได้ (無) ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ (攸) ที่ดี (利) ขึ้นมาเลย' … ซึ่งถ้าหากเราเอาไปเทียบความหมายกับวรรคที่สองของ 'จิวกง' ในบทที่สอง ซึ่งก็มีวลีหนึ่งในนั้นคือ 不習無不利 ที่แปลว่า 'หากไม่รู้จักปล่อยวางย่อมไม่เป็นผลดี' หรือ 'การไม่แข็งขืนดึงดันย่อมไม่ปรากฎสิ่งที่ไม่ดี' … แล้ว 'จิวกง' ก็มาพลิกเป็นคำใหม่ในตอนท้ายของวรรคที่สองในบทนี้ว่า 得尚于中行 (การจะบรรลุเป้าหมายที่มุ่งหวัง ย่อมต้องยึดหลักแห่งทางสายกลาง) … ซึ่งวรรคที่สองกับวรรคที่ห้าของทุกๆ บท มักจะเป็นคู่ที่ใช้รับและส่งความหมายถึงกัน อันเป็นแนวทางปรกติที่ 'จิวกง' ถือปฏิบัติอย่างนั้นมาโดยตลอด …
เพราะฉะนั้น ความหมายจริงๆ ของวรรคนี้ก็คือ 'ผู้นำ (帝) ที่รู้จักยับยั้งชั่งใจ (乙) ต่อการโหมดำเนินการอย่างเอาเป็นเอาตาย (歸妹 ซึ่งยืมความหมายมาจากบทที่ห้าสิบสี่) ย่อมนำไปสู่ (以) ความเจริญรุ่งเรือง (祉) และความมีโชคลาภอย่างแท้จริง (元吉)' … ซึ่งหากเรามองการขยายความของ 'จิวกง' ที่ส่งทอดความหมายกันมาเป็นชั้นๆ ทีละวรรคๆ ตลอดตั้งแต่ต้นบทแล้ว วรรคนี้ก็จะดูเหมือนเป็นการขยายความให้กับวลีว่า 不戒以孚 หรือ 'การดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้งย่อมนำไปสู่ความมั่นคง' เพื่อเป็นการย้ำว่า 'การไม่หยุดยั้ง' ที่ว่านั้น จะต้องหมายถึง 'กระทำอย่างสม่ำเสมอ' ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความตั้งใจ' … แต่ไม่ใช่กระทำ 'อย่างเอาเป็นเอาตาย' เหมือนคนคลุ้มคลั่งที่ไม่มีความยั้งคิด … ตกลงว่าฮ่องเต้ยังไม่ได้ยกน้องสาวให้กับหนุ่มคนไหนเลยครับเนี่ย !!?? :D
城復于隍勿用師自邑告命貞吝
chéng fù yǘ huáng wù yòng shī zì yì gào mìng zhēn lìn
เฌิ๋ง ฟู่ ยฺวี๋ ฮฺวั๋ง อู้ โยฺว่ง ซือ จื้อ อี้ เก้า มิ่ง เจิน ลิ่น
城 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'เมือง', 'ประเทศ', 'อาณาจักร' ; และบ่อยครั้งที่จะแปลกันว่า 'กำแพงเมือง' หรือ 'คูเมือง' ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงอาณาเขตของ 'เมือง' นั่นเอง ; ซึ่งบางครั้งก็ยังสามารถแปลว่า 'ปราสาท', 'ราชวัง' ที่ปรกติแล้วจะต้องมี 'กำแพงเมือง' ล้อมรอบเอาไว้
隍 อ่านว่า huáng (ฮฺวั๋ง, ฮฺว๋าง) แปลว่า 'แล้ง', 'ขาดแคลนน้ำ' ซึ่งต้องถือว่าเป็นการขาดแคลนทรัพยากรหลักที่มีความสำคัญมากที่สุดประการหนึ่ง
師 อ่านว่า shī (ซือ) ถือเป็นคำสำคัญที่ถูกใช้เป็น 'ชื่อสัญลักษณ์' ประจำบทที่เจ็ด ซึ่งผม 'ตีความ' ให้มีความหมายว่า 'การขยายผล' ; แต่โดยปรกติแล้ว 師 จะแปลว่า 'แม่ทัพ', 'ทหาร' หรือ 'การบัญชาทัพ', 'การกรีธาทัพ'
邑 (yì, อี้) เป็นคำเดิมที่เคยเล่าไว้ในบทที่หกว่า หมายถึง 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ … คำว่า 自邑 ในที่นี้จึงสามารถแปลว่า 'ชุมชนของตน', 'คนของตน', หรือ 'ประชาชนของตน' … เมื่อเอาไปจับคู่กับตำว่า 帝 (dì, ตี้) ที่ผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ผู้นำ' คำว่า 自邑 ที่เห็นในวรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง 'ผู้ใต้บังคับบัญชาของตน' ก็น่าจะได้ ;)
ถ้าจะแปลวรรคนี้โดยไม่สนใจอะไรอย่างอื่น แต่เลือกยกเอาความหมายของบทที่เจ็ดทั้งบทมาพิจารณาความหมายของวรรคนี้ก็จะออกมาประมาณว่า 'ในสถานการณ์ที่บ้านเมือง (城) ต้องตกอยู่ในสภาวะอันแร้นแค้น (復于隍) แต่กลับนิ่งนอนใจไม่มีความคิดที่จะกอบกู้ (勿用師 หมายถึงไม่ยอมทำให้ดีขึ้น) ผู้คนทั้งหลายต่างมุ่งแต่คำนึงถึงความอยู่รอดเฉพาะตน (自邑告命) คุณธรรม (貞) ก็ย่อมจะเหือดหาย (吝)' … ที่ 'ตีความ' ได้อย่างนี้ก็เพราะความหมายของ 師 ในบทที่เจ็ดมีการกล่าวถึง 'วุฒิภาวะที่เหมาะสม' และ 'การรักษาระบบระเบียบ' อยู่ในหลายๆ ส่วนตลอดทั้งบท ซึ่งก็แน่นอนว่า ในสถานการณ์ที่ทุกคนควรจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันนั้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่ของสังคม (自邑) กลับมีความคิดเพียงแค่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว (告命) โดยไม่สนใจใยดีต่อความอยู่รอดของส่วนรวม สังคมนั้นๆ ก็ได้แต่นับวันที่จะเสื่อมสลายลงไป เพราะขาดแคลนทั้งในด้าน 'วุฒิภาวะ' และ 'คุณธรรม' …
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคก่อนๆ ในบทนี้ โดยเฉพาะในวรรคที่ห้าซึ่งมีความหมายกำกวมจนหลายตำราแปลต่างกันไปเป็นคนละเรื่อง … คำว่า 帝乙歸妹 ถูกขยายความไว้อย่างชัดเจนมากๆ ในวรรคนี้ ด้วยการระบุว่า 城復于隍勿用師 หรือ 'ในสภาพที่บ้านเมืองแร้นแค้นขาดแคลนอย่างหนัก ย่อมไม่อาจหักโหมใช้แต่กำลังเพื่อดำเนินการใดๆ' … ตรงนี้ต้องสังเกตด้วยว่า สถานการณ์ของ 師 ในบทที่เจ็ดนั้น เป็นสถานการณ์ที่สุกงอมมาจาก 蒙 (การเตรียมการ), 需 (การรอคอย), และ 訟 (การใช้โอกาส) แล้วจึงจะมาเป็นขั้นตอนที่ใช้ 師 (การขยายผล) … การที่จู่ๆ นึกอยากจะ 'ขยายผล' ในสภาพที่ตนเอง 'ไม่มีความพร้อม' นั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินการที่ 'หักโหมจนเกินกำลัง' ซึ่งนั่นก็คือ 歸妹 ที่ผู้นำ (帝) จะต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ (乙) … เพราะแม้ว่าจะแข็งขืนดึงดันด้วยการสั่ง (告命) ให้ผู้ใต้บังคัญชาของตน (自邑) บุกตะลุยต่อไป ผลลัพธ์ที่ได้ (貞) ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (吝) อยู่ดี
หากเราย้อนกลับไปเทียบความหมายกับวรรคที่หนึ่ง คำว่า 拔茅茹 ที่แปลว่า 'กำจัดสิ่งที่ไร้คุณค่า' ก็ย่อมจะมีความหมายที่ครอบคลุมไปถึง 'การไม่ดึงดันทำอะไรที่ไร้คุณค่า' ด้วยเหมือนกัน ซึ่งในสภาวะการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย มันก็เป็นเรื่องสมควรที่จะต้องถนอมรักษาทรัพยากรให้รวบรวมเป็นกลุ่มก้อนเอาไว้ (以其彙) เพื่อที่จะมีกำลังสำหรับดำเนินการในโอกาสที่เหมาะสม … นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มาช่วยจำกัดกรอบให้กับความหมายของวรรคที่หกในบทนี้
ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'ในสภาวะการณ์ที่แร้นแค้นขาดแคลนทรัพยากร (城復于隍) ย่อมไม่เหมาะที่จะใช้พลกำลังอย่างหักโหม (勿用師) เพราะต่อให้มีคำสั่งที่เฉียบขาดกับคนของตน (自邑告命) สักปานใดก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (貞吝) จนไร้ซึ่งความหมายอย่างสิ้นเชิง' … นี่คือคำยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งหนึ่งว่า … ฮ่องเต้ยังไม่ได้ยกน้องสาวให้แต่งงานกับใครแน่ๆ … รับรอง !!! :D
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'ไท่' คือ การบรรลุเป้าหมาย, พสุธาเหนือฟากฟ้า
การดำเนินงาน 'อย่างค่อยเป็นค่อยไป' ด้วยความ 'รู้จักประมาณกำลังตนเอง' ย่อมจะ 'สั่งสม' จนเป็น 'ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่' ได้ในที่สุด นี่คือ 'พัฒนาการ' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง'
- การ 'รู้จักแยกแยะ' สิ่งที่ 'เหลวไหลไร้สาระ' ออกจากสิ่งอื่นๆ ที่พึง 'ถนอมรักษาไว้' ย่อมเป็นการดำเนินงานที่จะนำไปสู่ 'ผลสำเร็จ'
- การ 'หล่อเลี้ยงบำรุง' ถิ่นทุรกันดารย่อมต้องอาศัยกระแสน้ำที่รินไหล หาก 'เห็นแก่ได้' โดยไม่ยอม 'อุทิศ' สิ่งที่จะเป็น 'ประโยชน์แก่ผู้อื่น' ในระยะยาว 'สัมพันธภาพ' ที่ 'สมดุล' ก็ย่อมจะสูญสลาย … ผู้ที่จะบรรลุถึงสิ่งที่มุ่งหวัง ย่อมต้องดำเนินการด้วย 'ความเที่ยงธรรม'
- ไม่มี 'ที่ราบ' ใดที่จะไม่เป็นแหล่ง 'รองรับน้ำ' ไม่มี 'การให้' ใดที่จะไม่ได้รับ 'การตอบสนอง' 'ความมุ่งมั่น' ใน 'หลักแห่งคุณธรรม' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' โดย 'ไม่ปริปากบ่น' และไม่มัว 'พะวง' อยู่กับ 'สิ่งตอบแทน' ที่ตนจะได้รับ ทุกสิ่งก็ย่อมจะดำเนินไปอย่าง 'สมบูรณ์' โดย 'ความมุ่งมั่น' นั้น เนื่องเพราะการ 'ยอมสละ' เพื่อ 'อุทิศให้อย่างทุ่มเท' ย่อมก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ 'พอกพูน' ขึ้นเสมอ
- การกระทำด้วย 'ความเร่งลวก' อย่างไร้ 'วิจารณญาณ' ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดผลดี … การจะ 'หลอมรวมทุกสิ่ง' เพื่อบรรลุสู่ 'ความสำเร็จ' ให้จงได้นั้น ย่อมต้องอาศัย 'ความทุ่มเท' อย่าง 'ต่อเนื่อง' จึงจะเป็น 'หลักประกัน' ที่วางใจได้
- 'ผู้นำ' ที่รู้จัก 'ยับยั้งชั่งใจ' ต่อ 'การโหมดำเนินการ' อย่าง 'เอาเป็นเอาตาย' ย่อมนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' และ 'ความมีโชคลาภ' อย่างแท้จริง
- ในสภาวะการณ์ที่ 'อัตคัดแร้นแค้น' ย่อมไม่เหมาะที่จะใช้ 'พลกำลัง' อย่าง 'หักโหม' เพราะแม้จะบังคับใช้คำสั่งอย่าง 'เฉียบขาด' แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคง 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' จนไร้ซึ่ง 'ความหมาย' อย่างสิ้นเชิง
The Organization Code :
'การบรรลุเป้าหมาย' คือจะต้องมี 'แผนดำเนินงาน' ที่รองรับโดย 'นโยบาย', ต้องประกอบด้วย 'เป้าหมาย' ที่ชัดเจน (⚌), ต้องมี 'แผนงาน' ที่สอดประสาน (⚍) กับต้องมี 'ทีมปฏิบัติการ' และ 'ทรัพยากร' ที่พรั่งพร้อม (⚏)
พึง 'รู้จักประมาณกำลังตนเอง' และ 'ดำเนินการอย่างมีขั้นตอน' ที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' เพราะความ 'ใจเร็วด่วนได้' … ต้องยึด 'หลักแห่งการสั่งสม' อย่าง 'ต่อเนื่อง' หลีกเลี่ยง 'การหักโหม' อย่าง 'ดึงดัน' ที่ไม่มั่นคง ทุกสิ่งย่อมจะ 'พัฒนา' ไปสู่ 'ความสำเร็จ' ดังที่มุ่งหวัง
- จงหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ 'สิ้นเปลืองโดยไม่ก่อประโยชน์' เพื่อ 'ถนอมรักษาทรัพยากร' ไว้สำหรับการดำเนินงานที่เป็น 'สาระสำคัญ' แห่ง 'เป้าหมาย'
- 'การฟูมฟัก' เพื่อให้เกิด 'ความอุดมสมบูรณ์' ย่อมต้องอาศัย 'การอุทิศให้อย่างทุ่มเท' และต้องไม่ถูก 'หลอกล่อ' ด้วย 'ผลประโยชน์เฉพาะหน้า' ที่บั่นทอน 'พันธกิจ' ระยะยาว … การจะบรรลุสู่ 'เป้าหมาย' ที่วาดหวัง ย่อมต้องอาศัย 'ความหนักแน่นมั่นคง' ในทิศทางที่ตนกำหนดไว้ด้วย 'วิสัยทัศน์อันยาวไกล' เสมอ
- ต้องมี 'ทัศนคติที่เปิดกว้าง' ไม่ 'เย่อหยิ่งลำพอง' จน 'ปิดกั้น' ความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย พึง 'เอาใจใส่' ต่อ 'การอุทิศให้' ไม่พะวักพะวนแต่ 'ผลประโยชน์' ที่ตนจะได้รับ ทุกสิ่งย่อมดำเนินไปตาม 'ครรลอง' โดย 'ครบถ้วนสมบูรณ์' เพราะ 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'เที่ยงธรรม' นั้น
- การจะหลอมรวมพลังเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย ย่อมต้องอาศัยความพยายามอย่างทุ่มเทและต่อเนื่อง หากดำเนินการอย่างเร่งลวกไม่ยั้งคิด กระทำการวิปริตผิดเพี้ยนไม่คงเส้นคงวา ย่อมมีแต่ความสูญเสีย และไม่อาจนับเป็นหลักประกันแห่งความสำเร็จใดๆ ได้เลย
- เพื่อจะรักษาไว้ซึ่ง 'เสถียรภาพ' แห่งการดำเนินงาน แม้ว่าบางครั้ง 'โอกาส' จะ 'เอื้ออำนวย' แต่ก็ต้องรู้จัก 'ยับยั้งชั่งใจ' โดยไม่ 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' กระทำการใดๆ อย่าง 'หักโหม' จนเกินกำลังของตน
- ในสถานการณ์ที่ปราศจาก 'ความพร้อม' ย่อมไม่เหมาะที่จะใช้ทรัพยากรอย่าง 'แข็งขืน' เพราะแม้จะ 'ทุ่มเท' จน 'สุดกำลัง' ก็ไม่อาจก่อให้เกิด 'ผลลัพธ์' ที่มี 'สาระสำคัญ' ใดๆ ต่อ 'เป้าหมาย' อยู่ดี
การกำหนด 'เป้าหมายที่ชัดเจน' (⚌) แม้ว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสามารถบ่งบอกถึง 'ความสำเร็จ' ได้ แต่ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอีกหลายๆ อย่างมาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น 'แผนงาน' หรือ 'การบริหาร' ที่จะต้องสอดคล้อง (⚍) กับ 'เป้าหมาย' และจะต้องมี 'ทีมปฏิบัติการ' ที่มีความพร้อม รวมทั้งจะต้องมี 'ทรัพยากร' ที่เพียงพอ (⚏) แก่ 'การปฏิบัติงาน' ต่างๆ ได้ด้วย … และถึงแม้ว่า 'ปัจจัยภายใน' จะมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว (☰) ก็ตาม แต่ยังต้องอาศัย 'ปัจจัยภายนอก' ในเรื่องของจังหวะเวลา และโอกาสที่เหมาะสม (☷) ด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะสามารถดำเนินการไปจนบรรลุสู่เป้าหมายได้ในที่สุด
การกระทำการใดๆ เพื่อบรรลุสู่ 'เป้าหมาย' จึงต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ที่ถี่ถ้วน 'รอบคอบ' ต้องรู้จัก 'ทุ่มเท' ทรัพยากรลงไปให้เหมาะแก่ 'จังหวะเวลา' และต้องเป็นไปตาม 'แนวทาง' ที่กำหนดไว้ก่อนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มี 'คุณค่าความหมาย' อันจะเป็น 'สาระสำคัญ' ต่อ 'ความก้าวหน้า' ไปสู่ 'ความสำเร็จ' ได้ … 'ศักยภาพ' (☰) ที่ปราศจาก 'หลักการ' ในการชี้นำ หรือ 'หลักการ' (☷) ที่ปราศจาก 'ศักยภาพ' (☰) มารองรับ ย่อมไม่อาจเป็น 'หลักประกัน' แห่งความสำเร็จใดๆ ได้เลย ;)