Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第三卦 : 屯

屯 : 水雷屯 ‧ 坎上震下

屯 : 元‧亨‧利‧貞‧勿用有攸往‧利建侯‧

  • 初九 ‧ 磐桓‧利居貞‧利建侯‧
  • 六二 ‧ 屯如邅如‧乘馬班如‧匪寇婚媾‧女子貞不字‧十年乃字‧
  • 六三 ‧ 既鹿無虞‧惟入于林中‧君子幾‧不如舍‧往吝‧
  • 六四 ‧ 乘馬班如‧求婚媾‧往吉‧無不利‧
  • 九五 ‧ 屯其膏‧小貞吉‧大貞凶‧
  • 上六 ‧ 乘馬班如‧泣血漣如‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์สดชื่น (⚍) ปัญญาผ่อนสบาย (⚏) พลานามัยตื่นตัว (⚍) :D

ความหมายในเชิงบริหาร : 'บุคลากร' นำ 'การตลาด', แผนงานเปิดกว้าง (⚏), เตรียมรุกทั้งนอกใน (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการก่อตัว, เมฆหมอกเหนืออสุนี ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Fertilizing : การก่อตัว


ผมเลือกที่จะยุบรวมความหมายสองลักษณะของ 'ภาพอักษร' 屯 ที่มีความหมายว่า 'รวบรวม' เมื่ออ่านออกเสียงว่า tún (ทุ๋น) และจะมีความหมายว่า 'ความยากลำบาก' เมื่ออ่านออกเสียงว่า zhūn (จุน) โดยถือเอา 'ภาพสัญลักษณ์' ที่มี 'น้ำ' (☵ คือ 坎, ขั่น) อยู่เหนือ 'ฟ้าร้อง' (☳ คือ 震, เจิ้น) ซึ่งเป็นภาพที่คล้ายกับจะมีเมฆหมอก 'กำลังรวมตัวกัน' อย่างมืดฟ้ามัวดิน และมีเสียงฟ้าร้องคำรามในลักษณะที่ 'ฝนกำลังตั้งเค้า' หรือ 'กำลังก่อตัว' ขึ้นมา … แต่ที่ผมดันทะลึ่งเลือกใช้คำว่า Fertilizing มาเป็น 'ชื่อเรียก' ในภาษาอังกฤษนั้น เพราะผมดันไปนึกถึงภาพของ 'ตัวอสุจิ' ที่กำลังพยายามทะลวงเข้าไปใน 'ไข่' เพื่อก่อ 'การปฏิสนธิ' ขึ้นมาซะอย่างนั้นแหละ … :D … ซึ่งมันจะมีทั้ง 'ความยากลำบาก' และ 'การรวมกัน' ของ 'ธาตุหยาง' และ 'ธาตุหยิน' อยู่ในอากัปกริยานั้นๆ พอดี … :P …

จริงๆ แล้วลักษณะ 'ภาพอักษรโบราณ' ของตัวอักษร 屯 นี้ จะดูคล้ายกับเป็น 'ต้นอ่อน' ของพืชที่กำลังพยายามจะชอนไชให้โผล่พ้น 'พื้นดิน' ขึ้นมามากกว่า โดยขีดขวางที่เห็นในภาพ 'น่าจะ' หมายถึง 'แผ่นดิน' และมีส่วนปลายที่ชอนไชลึกลงไปด้านล่างเหมือนกับจะเป็น 'รากแก้ว' ของพืช โดยมีส่วนที่โผล่พ้นดินขึ้นมาก็ 'น่าจะ' เป็นภาพของ 'ต้นอ่อน' หรือ 'ยอดอ่อน' ที่เริ่มงอกออกมา … ส่วนเรื่อง 'ตัวอสุจิ' บ้าๆ บอๆ นั่น เป็นเรื่องที่ผมคิดเล่นสนุกๆ ของผมคนเดียว แต่ก็เป็นภาพที่แทบจะไม่ต้องเล่าว่าส่วนไหนหมายถึงอะไร เพราะว่าดูคล้ายมากๆ … :D

สำหรับ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ที่เห็นนั้น (䷂) ส่วนล่างคือ ☳ (震, เจิ้น) ที่มี 'เส้นหยาง' ถูกทับไว้ด้วย 'เส้นหยิน' สองขีด ในขณะที่ส่วนบนคือ ☵ (坎, ขั่น) ก็จะมี 'เส้นหยาง' ถูกหนีบอยู่ระหว่างกลางของ 'เส้นหยิน' สองขีดซะอีก … น่าอึดอัดมากเลย :P … ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ King Wen เลือกตั้งชื่อภาพสัญลักษณ์นี้ว่า 屯 เพื่อจะสะท้อนความหมายของ 'ความยากลำบาก' ของสรรพสิ่งต่างๆ ในขณะเริ่มต้นของการดำรงชีวิต … โดยจะต้อง 'หลอมรวม' พลังของ 'ศักยภาพแห่งชีวิต' ที่อัดแน่นอยู่ภายในให้สอดประสานกับพลังอื่นๆ จากสภาวะแวดล้อม ก่อนที่จะสามารถเจริญเติบใหญ่ได้ต่อไปอย่างเหมาะสม … ซึ่งก็คือการรวมความหมายทั้งสองลักษณะของ 'ภาพอักษร'  屯 ไว้อย่างแนบเนียนมากๆ ;) …



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨利貞勿用有攸往利建侯
yuán hēng lì zhēn wù yòng yǒu yōu wǎng lì jiàn hóu
เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน อู้ โยฺว่ง โหฺย่ว โยว หวั่ง ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว


คำบรรยายที่ King Wen บันทึกไว้ในบทนี้ จะมีตัวอักษรสี่ตัวแรกที่คุ้นหน้าคุ้นตามาจากคำบรรยายคุณลักษณะของ 乾 มาตั้งต้นประโยคไว้ด้วยคือ 元亨利貞勿用有攸往利建侯 ส่วนอักษรอื่นๆ ก็แทบจะซ้ำกับคำที่เล่าไปก่อนหน้านี้ทั้งหมด โดยมีเฉพาะอักษรสองตัวสุดท้ายเท่านั้นที่เป็นคำใหม่สำหรับบทนี้

建 อ่านว่า jiàn (เจี้ยน) แปลว่า 'ลุกขึ้นยืน', 'ลุกขึ้น', 'ตั้งขึ้น' (erect), 'ก่อตัวขึ้น', 'ก่อตั้งขึ้น' (found, establish) ; บางครั้งจึงแปลว่า 'นำเสนอ' หรือ 'หยิบยกขึ้นมา' ได้ด้วย ; อย่างไรก็ตาม อักษรตัวนี้ในสมัยก่อนยังสามารถใช้แทนความหมายของคำว่า 健 (jiàn, เจี้ยน) ที่แปลว่า 'มีสุขภาพพลนามัยสมบูรณ์' หรือ 'แข็งแรง' ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนคำแปลที่ 'ขงจื้อ' ใช้แทนความหมายของ 乾 (qián, เชี๋ยน) ด้วยเหมือนกัน

侯 อ่านว่า hóu (โฮ๋ว) หรือ hòu (โฮ่ว) เป็นชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางชั้นสูงของจีนในสมัยก่อน บางครั้งจึงสามารถหมายถึง 'ชั้นสูง', 'เป็นเลิศ' หรือ 'สวยงาม' แล้วก็เลยหมายถึง 'การประดับ' และ 'การตกแต่ง' ได้ด้วย ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งจะแปลว่า 'เป้าหมาย' ซึ่งแผลงมาจากความหมายของ 'เป้าธนู' … นั่นอาจจะเพราะ 'ความเป็นเลิศ'  คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะบรรลุถึง (เหมือนต้องการยิงธนูให้ปักลงตรงกลางเป้า) … หรือไม่ก็เพราะว่าตำแหน่งขุนนางชั้นสูงอาจจะต้องตกเป็น 'เป้าธนู' ของใครอีกหลายๆ คน :D … อันนี้ล้อเล่นครับ :P

สมมุติว่าผมเลือก 'ตีความ' แบบ 'พีชคณิต' เลยนะ … :D
 

乾 =  元亨利貞
 
…........ (1) มาจากบทบันทึกบทที่หนึ่งของ King Wen
屯 =  元亨利貞勿用有攸往‧利建侯
 
…........ (2) มาจากบทบันทึกบทนี้
ดังนั้น ถ้าเราแทนที่  乾 ในสมการ (1) แทนที่ลงในสมการ (2) เราก็จะได้สมการใหม่เป็น ...
 
屯 =  勿用有攸往利建侯
 
…........ (3)
แล้วถ้าจำกันได้ ผมเลือกที่จะ 'ตีความ' วรรคแรก (ในบทที่หนึ่ง) ของ 'จิวกง' ที่บันทึกไว้ว่า 潛龍勿用 โดยให้ตัวอักษร 龍 ซึ่งเป็น 'สัตว์มงคล' ที่มีอิทธิฤทธิ์ 'ไร้ขีดจำกัด' (infinity) ว่าน่าจะหมายถึง 乾 ในความหมายว่า 'ศักยภาพ' ด้วย … นั่นก็หมายความว่า …
 
龍 =  
 
…........ (4)
จากสมการ (3) และ (4) ก็จะส่งผลให้เกิดสมการใหม่อีกรูปแบบหนึ่งเป็น …
 
屯 =  勿用有攸往利建侯
 
…........ (5)

ซึ่งก็จะมีคำว่า 龍勿用 ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งในบทนี้ทันที … ;) … จึงมีความเป็นได้มากเลยว่า 'จิวกง' น่าจะได้อ่านบทบันทึกทั้งฉบับของ King Wen ก่อนที่ตัวเองจะเริ่มเขียนบทอรรถาธิบายทั้ง 384 วลีลงไป แล้วเลือกหยิบเอาคำอธิบาย 'ภาพสัญลักษณ์' ในบทนี้ไปเขียนเป็นวรรคแรกของตัวเอง โดย 'ประมวลความหมาย' ทั้งหมดของบทนี้ ให้เก็บซ่อนอยู่ในตัวอักษร 潛 (qián, เชี๋ยน) ซึ่งพ้องเสียงกับชื่อสัญลักษณ์ 乾 (qián, เชี๋ยน) อย่างลงตัวพอดี ...

จะหาว่าผมบ้าบอ หรือเหลวไหลผมก็ไม่เถียงล่ะครับ … :P ... แต่ 'การตีความ' ของนักวิชาการหลายๆ คนเท่าที่ผมค้นมาได้นั้น มักจะบ่งชี้ไว้ค่อนข้างจะสอดคล้องกันว่า สองบทแรกของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นคือ 'บทนำ' โดยมีสองบทสุดท้ายเป็น 'บทสรุป' ของคัมภีร์ทั้งเล่ม และบทที่สามซึ่งก็คือบทนี้ต่างหากที่เป็น 'บทแรก' ของเนื้อหาส่วนที่เหลือทั้งหมดอีก 60 บท … เก้าะถ้าเป็นไปตามนั้นจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่ผมจะมองว่า 'จิวกง' ได้ขอยืมความหมายจาก 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ในบทนี้ของ King Wen ไปเป็นวรรคตั้งต้นของตัวเองตั้งแต่ 'บทนำ' ??!! ;)

ความหมายของบทบันทึกท่อนนี้น่าจะมีความหมายประมาณว่า 'การริเริ่มที่จะกระทำการใดๆ ให้สำเร็จลุล่วง (有攸往) ไปได้ด้วยดีนั้น ย่อมไม่ใช่ (勿) เริ่มต้นจากการอวดโอ่ (用) ศักยภาพ (乾 = 元亨利貞) ของตัวเอง … แต่ทางที่ดี (利) คือ เราจะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมาย (建侯) ของตนเองให้ชัดเจนมั่นคงซะก่อน จึงจะถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง'

โดยคำว่า 侯 นั้นหากใช้ในความหมายที่ผสมผสานกันระหว่าง 'ตำแหน่งขุนนางชั้นสูง' กับ 'เป้าหมาย' มันก็จะมีความหมายในลักษณะว่าเป็น 'เป้าหมายที่สูงส่ง' หรือ Thinking Big … แต่ในขณะเดียวกันคำว่า 建 ที่แปลว่า 'หยิบยกขึ้นมา' หรือ 'กำหนดขึ้นมา' นั้น นอกจากจะมีนัยของ 'ความแข็งแรง', หรือ 'ความมั่นคง' แล้ว มันก็ยังแฝงความหมายของ 'ความจับต้องได้', หรือ 'ความมีตัวมีตน' หรือในลักษณะของ 'ความเป็นไปได้' ด้วย … ซึ่งก็จะทำให้คำว่า 建侯 ที่ผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การกำหนดเป้าหมาย' นั้น จะต้องเป็น 'การกำหนดเป้าหมาย' ที่ 'สูงส่ง' และ 'มีความสลักสำคัญ' เป็นอย่างยิ่ง … แต่ก็ต้อง 'ไม่ใช่การเพ้อฝัน' อย่างลมๆ แล้งๆ … ซึ่งก็คือ 'ไม่เพ้อเจ้อ' นั่นเอง !! … :D …



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

磐桓利居貞利建侯
pán huán lì jü zhēn lì jiàn hóu
พั๋น ฮวั๋น ลี่ จฺวี เจิน ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว


磐 อ่านว่า pán (พั๋น, พ๋าน) แปลว่า 'หินก้อนใหญ่' ; แต่สมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 盘 (pán, พั๋น) ที่มีความหมายว่า 'ถาด', 'จาน', 'แผ่นกระดาน' สำหรับจัดวางสิ่งของ ; จึงมีความหมายในลักษณะว่า 'เปิดเผย', 'ชัดเจน', 'ตีแผ่' เพื่อ 'การสำรวจ' หรือ 'การตรวจสอบ' ก็ได้

桓 อ่านว่า huán (ฮวั๋น, ฮว๋าน) ในสมัยก่อนคือ 'เสาไม้ใหญ่' ที่ตั้งไว้หน้าที่ทำการราชการ (เหมือนกับพวก pillars ของชาวอิยิปต์โบราณ) ในลักษณะคล้ายๆ กับเป็น landmark เพื่อกำหนดตำแหน่ง หรือบ่งบอกอาณาเขตของบริเวณที่ทำการต่างๆ ; บางครั้งจึงมีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'อนุสาวรีย์' ; หรือ 'หลักเขต' ที่ใช้ในการกำหนดจุดอ้างอิงที่สำคัญๆ

居 อ่านว่า jü (จฺวี) แปลว่า 'อาศัย', 'ที่พักอาศัย', 'ที่พักพิง' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ปักหลัก', 'ยึดเหนี่ยว', 'ปกป้อง', 'ครอบครอง' ; แล้วก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'รวบรวมไว้ด้วยกัน'

แทบจะทุกตำราที่ผมมีอยู่ในมือขณะที่เขียนเอกสารฉบับนี้ รวมกับที่ผมค้นเจอในอินเทอร์เน็ต มักจะแปลวรรคนี้ในโทนของ 'การฝ่าฟันอุปสรรคที่ใหญ่หลวง' … ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะ 磐 ถ้าหมายถึง 'ก้อนหินใหญ่' คงจะไม่ใช่คำที่มีความหมายน่าพิสมัยอะไรมากนัก :P … แต่ว่า …

หากจะว่ากันโดยลำดับของเหตุการณ์ หรือลำดับของสถานการณ์ต่างๆ หรือแม้แต่ 'ชื่อเรียก' ที่เกือบจะทุกตำราแปลไว้คล้ายๆ กันว่า 'การเริ่มต้น' นั้น … การจะไปเอ่ยถึง 'อุปสรรค' ใดๆ ในจังหวะเวลาดังกล่าวจึงค่อนข้างจะ 'เร็วเกินไป' ในความรู้สึกของผม … ;) … เพราะนี่มันแค่ 'การเริ่มต้น' เท่านั้น ซึ่งก็จะหมายความว่า น่าจะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย … ในเมื่อยังไม่มีการดำเนินการ อุปสรรคขวากหนามใดๆ ก็ควรจะยังไม่ปรากฏออกมา … ถูกรึเปล่า ??!! … ดังนั้น … ผมจึงเลือก 'ตีความ' วรรคแรกในบทนี้ว่า … 'ความใฝ่ฝันที่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ปานใด (磐桓) ความสำเร็จ (利) ย่อมขึ้นอยู่กับการสั่งสม (居) คุณธรรมความดี (貞) และมีการกำหนดเป้าหมาย (建侯) ไว้อย่างถูกต้อง (利) ชัดเจน บนพื้นฐานที่เป็นไปได้จริง (建) ของศักยภาพแห่งตนเอง'

โดยผม 'ตีความ' ให้ 磐 มีความหมายผสมกันระหว่าง 'หินก้อนใหญ่' ที่มีทั้งขนาด และน้ำหนักมหาศาล ในขณะเดียวกัน ผมก็ 'ตีความ' ให้มันหมายถึง 'แท่น' ที่มี 'ความกว้างใหญ่' ไว้ด้วย ซึ่งเป็น 'มิติที่แผ่ออกทางแนวราบ' … ส่วน 桓 นั้นเป็น landmark หรือ 'หลักเขต' ที่มักจะต้อง 'สูงเด่น' เป็นสง่า อันจะสะท้อนให้หมายถึง 'มิติที่สูงโด่งขึ้นไปในแนวดิ่ง' … ซึ่งอีกนัยหนึ่งนั้น ผมอยากให้ลองย้อนไปดูบันทึก 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' นี้ของ King Wen อีกครั้ง ที่บันทึกไว้ว่า 元亨利貞勿用有攸往利建侯 โดยผมเน้นเฉพาะท่อนที่ดูจะมีความหมายซ้ำกันกับวรรคนี้ให้เห็นกันชัดๆ … ซึ่งสามตัวอักษรหลังไม่ต้องเอ่ยถึงล่ะ เพราะเหมือนกันเปี๊ยบ 100% อยู่แล้ว … ส่วนท่อนตรงกลางที่เห็นเป็น 勿用有攸往 ที่เอ่ยถึง 'ผลลัพธ์ตอบแทน' หรือ 'ผลลัพธ์ในบั้นปลาย' นั้น ผมก็ยังคิดว่าน่าจะ 'เร็วเกินไป' ที่จะเอ่ยถึงตั้งแต่วรรคแรกๆ เพราะไม่ว่าจะเป็น 'ผลลัพธ์' หรือ 'อุปสรรค' ต่างก็เป็นสิ่งที่ 'ยังไม่เกิดขึ้น' ในช่วงของ 'การเริ่มต้น' นี้ด้วยกันทั้งนั้น ...

เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจจึงอยู่ตรงท่อนข้างหน้า … 元亨利貞 ซึ่งน่าจะแยกออกเป็น 元亨 กับ 利貞 … เพราะ 利貞 น่าจะถูก 'จิวกง' นำมาขยายความเป็น 利居貞 ในวรรคแรกคือ 'โชคลาภหรือความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการสั่งสมคุณธรรมความดี' … เมื่อเป็นซะอย่างนี้ … ก็จะเหลือแค่สองตัวอักษรแรกละ ;) ... แล้วก็คงจำกันได้ว่า 元 มีความหมายว่า 'หัว' หรือ 'เริ่มต้น' ด้วย ในขณะเดียวกันก็จะมีความหมายว่า 'ดั้งเดิม' จนสามารถแผลงไปเป็น 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ซึ่งรวมเอาความหมายของ 'ความหนักแน่น' เข้าไปอย่างเต็มเปา … ในวรรคนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' ต้องการจะสื่อความว่า 'หนักแน่นดั่งหินผา' ซึ่งก็คือคำว่า 磐 นั่นเอง ;)

ส่วน 亨 มีความหมายว่า 'ความเข้าใจ', 'ความตระหนักรู้', จึงสามารถแผลงไปเป็น 'ความชัดเจน' (เพราะว่ามีความเข้าใจ) ได้ด้วย … ตรงนี้จึงน่าจะมีการ 'ยืมความหมาย' ของ 桓 ที่มีลักษณะเป็น landmark มาใช้ เพราะโดยหน้าที่ของ landmark นั้นก็คือใช้เป็นสัญลักษณ์ในการ 'บ่งบอกตำแหน่ง' เพื่อกำหนด 'ความชัดเจน' ในการอ้างอิง และเพื่อ 'ความเข้าใจ' ในขอบเขต หรือทิศทางที่ตรงกัน … ในขณะเดียวกัน 'ความรู้', 'ความเข้าใจ' ก็ยังสะท้อนถึง 'การได้รับการศึกษา' หรือ 'ความมีสติปัญญาสูง' ซึ่ง 桓 ที่มีนิยามค่อนไปใน 'มิติที่สูงโด่งขึ้นไปในแนวดิ่ง' ก็จะดูมีความกลมกลืนกันในทางสัญลักษณ์พอสมควร

อีกอย่าง … 磐桓 กับ 建侯 ก็ยังดูมีความหมายที่ล้อกันเองในวรรคของมัน เพราะ 磐 ที่แปลได้ถึง 'ความหนัก', 'ความใหญ่' มันก็สะท้อนถึง 'ความมั่นคง', หรือ 'ความแข็งแรง' อันเป็นหนึ่งในความหมายของ 建 ด้วย … ส่วนคำว่า 桓 ในความหมายของ landmark ก็ค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกับคำว่า 侯 ในความหมายของ 'เป้าหมาย' หรือ 'หลักชัย' ที่ต้องการจะบรรลุถึง ซึ่งแม้ว่าจะแปลคำว่า 侯 ในความหมายของ 'ตำแหน่งขุนนางชั้นสูง' หรือ 'ของสูง' มันก็ยังมีอารมณ์ที่ไม่ได้ห่างจาก 'เสาสูง' ที่เป็นความหมายของ 桓 อยู่ดี … ;)

เอาใหม่ ถ้าแปลวรรคนี้ให้ฟังเป็นบู๊ลิ้มๆ หน่อยก็น่าจะได้ความว่า 'หากริจะคิดการใหญ่ ก็ต้องหมั่นสั่งสมคุณธรรมความดี และต้องมีเป้าหมายที่โดดเด่นชัดเจน' … เท่ห์กว่าการเอ่ยถึงอุปสรรคนะ … ว่ามั้ย ??!! :D

 

สอง หยิน :

屯如邅如乘馬班如匪寇婚媾女子貞不字十年乃字
zhūn rú zhān rú chéng mǎ bān rú fěi kòu hūn gòu nǚ zǐ zhēn bù zì shí nián nǎi zì
จุญู๋ จัญู๋ เฌิ๋ง หม่า ปัน ญู๋ เฝ่าย โค่ว ฮุน โก้ว หนฺวี่ จื่อ เจิน ปู้ จื้อ ษือ เนี๋ยน ไหน่ จื้อ


如 อ่านว่า rú (ญู๋ ออกเสียง ย แต่ห่อลิ้น) แปลว่า 'ดังนั้น', 'เหมือน', 'คล้าย', 'ประหนึ่งว่า', 'ราวกับว่า', 'เช่นว่า' ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นคำเชื่อมประโยค

邅 อ่านว่า zhān (จัน, าน) แปลว่า 'ลังเล', 'ลำบากใจ', 'ยุ่งยากใจ', 'ยากลำบาก', 'ไม่กล้า (เสี่ยง)', 'ยึกยัก' ; บางทีก็เลยมีความหมายว่า 'พลิกผัน' ในลักษณะว่า 'คิดกลับไปกลับมา' ด้วย ; ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ คำนี้สามารถแปลได้ทั้ง 'ไป' (去) และ 'กลับ' (往) โดยตัวของมันเองเลย … :D

乘 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) หรือ shèng (เซิ่ง) แปลว่า 'นั่ง', 'ขี่ (ม้า)', 'ใช้ประโยชน์' ; สมัยก่อนยังหมายถึง 'รถศึก' ที่ใช้ลากด้วยม้าสี่ตัว, จึงสามารถหมายถึง 'จำนวนสี่' หรือ 'สี่เท่า' ; แล้วก็เลยมีความหมายว่า 'ทำให้พอกพูน' (multiply) ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย

班 อ่านว่า bān (ปัน, ปาน) แปลว่า 'กลุ่ม', 'ฝูง', 'ทีม', 'หมวดหมู่' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'ห้องเรียน' หรือ 'ชั้นเรียน' ; อาจจะหมายถึง 'ตารางเวลา' หรือ 'กะงาน' ในลักษณะที่เป็น 'กลุ่มก้อนของเวลา' ; ซึ่งก็เลยได้อีกความหมายหนึ่งว่า 'จัดแบ่งส่วนเท่าๆ กัน' ; จนสามารถหมายถึง 'การกระจาย' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย ; ในอีกแง่หนึ่งก็สามารถหมายถึง 'การจัดการ' หรือ 'การทำให้เป็นระเบียบ' ได้เหมือนกัน

匪 อ่านว่า fěi (เฝ่ย) แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' ; ในความหมายหนึ่งแปลว่า 'คนไม่ดี', 'โจร', 'นักเลงหัวไม้', หรืออาจจะหมายถึง 'อันธพาล' (gangster) … ในภาพอักษรเป็นคำว่า 非 (fēi, เฟย) ซึ่งแปลว่า 'ผิด', 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' ที่อยู่ใน 匚 (fāng, ฟัง หรือ ฟาง) ซึ่งแปลว่า 'กล่อง' หรือ 'ภาชนะใส่ของ' และทำให้ 匪 มีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'แหล่งรวมของความไม่ดี หรือความไม่ถูกต้องทั้งหลาย' หรือ 'ภาชนะบรรจุสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว)'

寇 อ่านว่า kòu (โค่ว) มีความหมายคล้ายกับ 匪 แต่สามารถแปลเป็น 'ศัตรู', 'ผู้บุกรุก' และแผลงเป็น 'การบุกรุก' ก็ได้ ; 'รุนแรง', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'ดุร้าย' ก็ได้

婚 อ่านว่า hūn (ฮุน) แปลว่า 'แต่งงาน', 'การแต่งงาน', 'พิธีแต่งงาน'

媾 อ่านว่า gòu (โก้ว) แปลว่า 'แต่งงาน', 'การอยู่ร่วมกัน', 'การคบหากัน', 'ชอบพอกัน' ; โดยปรกติจะเห็นใช้คู่กันกับคำว่า 婚 เป็น 婚媾 คล้ายกับการใช้สำนวนไทยประเภทว่า 'เป็นฝั่งเป็นฝา' ที่หมายถึง 'การแต่งงาน และได้อยู่กินร่วมกัน'

女子 อ่านว่า nǚ zǐ (หนฺวี่ จื่อ) แปลว่า 'ผู้หญิง', 'ลูกผู้หญิง', 'เด็กผู้หญิง'

字 อ่านว่า zì (จื้อ) ปรกติจะแปลว่า 'ตัวหนังสือ', 'หนังสือ', 'บันทึก' ; หมายถึง 'ชื่อเรียก', 'ฉายา' ; ในสมัยก่อนใช้เรียก 'ผู้หญิงที่ออกเรือนแล้ว' หรือ 'ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว' ; แล้วก็เลยมีความหมายว่า 'ให้กำเนิดทายาท', หรือ 'เลี้ยงดูลูก' (ตามภาพอักษรคือ 子 ที่แปลว่า 'เด็ก' อยู่ใน 'บ้าน' หรือใน 'ความดูแล') ; บางครั้งจึงแปลว่า 'นม' หรือ 'น้ำนม' (ที่ใช้ในการเลี้ยงดูลูก) อีกด้วย

十 อ่านว่า shí (ซื๋อ) ปรกติจะแปลว่า 'จำนวนสิบ' ; แต่ในภาษาจีนบางครั้งจะหมายถึง 'สิบส่วน' ซึ่งมีความหมายว่า 'ครบถ้วน', 'มากมาย', หรือ 'เต็มที่' ; เลยสามารถแผลงความหมายเป็น 'สม่ำเสมอ', 'ตลอดเวลา' ; และแปลว่า 'เนิ่นนาน' ก็ยังได้

年 อ่านว่า nián (เนี๋ยน) แปลว่า 'ปี', 'อายุ', หรือแปลว่า 'เวลา', 'ยุคสมัย' ; บางครั้งยังหมายถึง 'ผลผลิต (ในรอบระยะเวลาหนึ่งปี)'

乃 อ่านว่า nǎi (ไหฺน่, หฺนั่ย) แปลว่า 'ดังนั้น', 'ในที่สุด', 'ผลสรุป', 'เป็นเช่นนั้น', 'อย่างไรก็ตาม'

แปลตามตัวอักษรปรกติยากมากเลยแฮะ … :P … ผมเลยตัดสินใจถอดรหัสอักษรเพิ่มไว้อีกสองตัวตรงนี้คือ 婚 กับ  媾 ซึ่งมีตัวอักษร  女 อยู่ข้างหน้าด้วยกันทั้งคู่ โดยผมทดลองค้นคำว่า 昏 (hūn, ฮุน) กับคำว่า 冓 (gòu, โก้ว) ที่ไม่ต้องมีตัว  女 นำข้างหน้า ก็จะปรากฏเป็นอักษรอีกสองตัวที่ดูๆ แล้วอาจจะเกี่ยวข้องกัน ;)

昏 (hūn, ฮุน) แม้ว่าคำนี้ในสมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับ  婚 (hūn, ฮุน) ที่แปลว่า 'แต่งงาน' ด้วย ; แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็มีความหมายว่า 'สลัว', 'มืดค่ำ', 'โพล้เพล้', 'ย่ำค่ำ' หรือ 'ย่ำรุ่ง' ก็ได้ ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ค่อยมีแสงสว่าง ; มันจึงแผลงความหมายเป็น 'ไม่ชัดเจน', 'ลึกลับ', หรือ 'สับสน' ได้

冓 gòu (โก้ว) แปลว่า 'ห้องลับ', 'ที่หลบซ่อน' ; ครั้งหนึ่งเคยหมายถึง 构 (gòu, โก้ว) ที่แปลว่า 'ประกอบ', 'รวบรวม', 'ก่อสร้าง' ในลักษณะที่เหมือน 'การปิดล้อม' บางสิ่งบางอย่างเอาไว้ ; แต่ก็เคยมีความหมายเหมือนกับ 遘 (gòu, โก้ว) ซึ่งหมายถึง 'พบกัน', ซึ่งเป็น 'การพบโดยบังเอิญ' เนื่องจาก 'ความลึกลับ' หรือความที่สิ่งนั้น 'ถูกซุกซ่อน' อยู่

คืองี้ … ความหมายของทั้งวรรคน่าจะประมาณว่า 'ในจังหวะเวลาที่เริ่มต้นกระทำการใดๆ นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างยังดูเหมือนไม่เข้าที่เข้าทางอย่างที่ต้องการ จึงมักจะต้องมีอาการยึกๆ ยักๆ เดี๋ยวอ่อนเดี๋ยวแข็ง สลับกันไปๆ มาๆ (屯如邅如) … ซึ่งก็จะคล้ายกับการฝึกม้าที่ยังมีความพยศให้เชื่อฟังคำสั่ง (乘馬班如) ที่จะต้องมีทั้งความอ่อนโยน และมีความแข็งกร้าวควบคู่กันไป จะเลือกใช้ด้านใดเพียงด้านเดียวย่อมไม่ได้ … หรือในกรณีของการแต่งงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจ (匪寇婚媾) ฝ่ายหญิงก็ย่อมจะต้องมีความแข็งขืนไม่อาจจะยอมรับด้วยกันทั้งนั้น (女子貞不字) การจะได้ความยอมรับจากบุคคลอื่นนั้น ย่อมต้องอาศัยการสั่งสมคุณงามความดีอย่างคงเส้นคงวา และมีความต่อเนื่องที่ยาวนานมากพอ จึงจะสามารถสัมฤทธิ์เป็นดอกผลขึ้นมาได้ (十年乃字)'

ตอนที่ผมพยายามจะถอดรหัสท่อนที่บันทึกว่า 匪寇婚媾 ‧ 女子貞不字 ‧ 十年乃字 นั้น ผมทำการทดลอง 'แยกตัวประกอบ' แบบ 'พีชคณิต' อีกรอบหนึ่งคือ 'การแต่งงาน' (婚媾) ที่ 'ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจ' นั้น จะแฝงความหมายที่ค่อนไปทางมี 'การบังคับ' (匪寇) อยู่ด้วย แต่จะมีความรุนแรง หรือมีการใช้กำลังหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ 'การบังคับ' มันเป็นคำที่มีความหมายบ่งบอกถึง 'ความไม่ยินยอมพร้อมใจ' รวมอยู่แล้ว … ส่วนท่อนที่บันทึกว่า 女子貞不字 มันเหมือนกับจะบอกว่า ตัว 女 ไม่ยอมเข้าไปร่วมสังฆกรรมกับตัว 昏 และตัว 冓 … คือไม่ยอมรวมตัวเป็น 婚媾 .. ถ้าเขียนแบบ 'พีชคณิต' ก็จะออกมาเป็น 女(昏冓) แบบแยกตัวประกอบเลย .. :D .. ซึ่งจะทำให้เกิดความหมายว่า 'อึมครึม', 'สับสน', 'ไม่ชัดเจน' (昏) และอยู่ในอาการที่ต่างฝ่ายต่าง 'ปิดกั้นตัวเอง' (冓) และแสดงอาการปั้นปึ่งใส่กัน … ;) … จนกว่าจะมีการปฏิบัติต่อกันด้วยความเข้าอกเข้าใจกันอย่างต่อเนื่อง และมีความสม่ำเสมอ (十年 ซึ่งจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ก็สุดแล้วแต่ล่ะ) ตัวอักษร 女 ถึงจะยอมเข้าร่วมสังฆกรรมให้ 'การอยู่ร่วมอย่างไม่ปรองดอง' (昏冓) นั้น กลายเป็น 'การแต่งงาน' ( 婚媾) ที่หมายถึง 'การร่วมชีวิต' อย่างที่ควรจะเป็นไปได้ในที่สุด … บ๊ะ !! สะใจมากเลยแฮะ !! … :D … ตีความ 'คัมภีร์อี้จิง' ด้วยหลัก 'พีชคณิต' นี่ก็ได้อารมณ์พิลึกพิลั่นไปอีกแบบดีเหมือนกัน ... :D

ตรงนี้มีจุดที่น่าสังเกตอยู่หน่อยหนึ่งก็คือ วรรคนี้ของ 'จิวกง' ค่อนข้างที่จะเน้นไปในเรื่องของ 'การอยู่ร่วม' โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการเน้นอยู่ที่คำว่า 女 ซึ่งหมายถึง 'ผู้หญิง' … ทั้งๆ ที่เราก็พอจะรู้กันอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมของ 'การคลุมถุงชน' นั้น เป็นเรื่องราวอันเก่าแก่ในวัฒนธรรมของชาวจีน ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง … อีกอย่าง การนำตัว 女 ไปผสมกับตัว 昏 และตัว 冓 นั้นก็จะมีการวางตัว 女 อยู่ 'ด้านหน้า' เหมือนกับจะซ่อนความหมายว่า 'ผู้หญิง' คือผู้ที่จะนำ 'ความสุขสงบ' มาสู่ครอบครัว และเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการทำให้ 昏冓 กลายเป็น 婚媾 ในระยะยาว (十年) … ซึ่ง 女 หรือ 'ผู้หญิง' นี้ ตามคติความเชื่อโดยทั่วไปก็จะถือว่าเป็นสัญลักษณ์แทน 'ความเป็นหยิน'

อีกคำหนึ่งในวรรคนี้ที่เป็นสัญลักษณ์แทน 'ความเป็นหยิน' ก็คือ 馬 ที่แปลว่า 'ม้า' … ในขณะที่ชาวจีนจะใช้รูป 'สัตว์สัญลักษณ์แห่งหยาง' เป็น 龍 หรือ 'มังกร' อย่างที่เล่าไปแล้ว … ซึ่งธรรมชาติของ 'ม้า' นั้นจะมี 'ความสง่างาม' และมี 'ความหยิ่งทะนง' ในตนเอง เป็นสัตว์ที่รัก 'ความอิสระ' และมี 'ความเป็นตัวของตัวเองสูง' … การนำม้ามาใช้ประโยชน์จึงจำเป็นต้อง 'กำราบความพยศ' ลงให้ได้ซะก่อน จึงจะสามารถได้รับประโยชน์จากม้าอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นก็คือคุณลักษณะหนึ่งของ 'ธาตุหยิน' … เนื่องเพราะ 'ธาตุหยิน' ไม่ใช่ 'ธาตุปัญญาอ่อน' ที่มีหน้าที่คอยตอบสนองทุกๆ การชี้นำของผู้ใด … แต่ 'ธาตุหยิน' จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเอาใจใส่ ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจ และจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากการกดข่มบังคับ … เยี่ยงนี้ จึงจะสามารถได้รับ 'การส่งเสริม' จาก 'พลังแห่งหยิน' อย่างเต็มที่ ;) … และหากเรามองคำว่า 屯 ในความหมายว่า 'การรวบรวม' หรือ 'การอยู่ร่วม' ความหมายของวรรคนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นว่า …

'ในการอยู่ร่วมกันนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จะต้องมีความเคารพ และรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน (屯如邅如) เหมือนดังเช่นการฝึกม้าให้ละความพยศ (乘馬班如) ย่อมมิใช่ใช้เพียงการกดข่มด้วยกำลังอำนาจ หรือแม้แต่การแต่งงาน ที่ฝ่ายหญิงย่อมไม่ยินยอมพร้อมใจ (女子貞不字) หากมุ่งแต่จะใช้กำลังอำนาจเข้าหักหาญ (匪寇婚媾) ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฟูมฟักอย่างทุ่มเท และให้การทำนุบำรุงหล่อเลี้ยงอย่างคงเส้นคงวาสม่ำเสมอ (十年) จึงจะสามารถผลิดอกออกผล (乃字) เป็นความสำเร็จได้ดังที่มุ่งหวังเอาไว้'

 

สาม หยิน :

既鹿無虞惟入于林中君子幾不如舍往吝
jì lù wú yǘ wéi rù yǘ lín zhōng jün zǐ jī bù rú shè wǎng lìn
จี้ ลู่ อู๋ ยฺวี๋ เว๋ย ญู่ ยฺวี๋ ลิ๋น ง จฺวิน จื่อ จี ปู้ ญู๋ เษ้อ หวั่ง ลิ่น


既 อ่านว่า jì (จี้) แปลว่า 'เสร็จสรรพ' (already), 'สมบูรณ์' (complete), 'สิ้นสุด' (end) ; 'ดังนั้น', 'หลังจากนั้น'

鹿 อ่านว่า lù (ลู่) ปรกติจะแปลว่า 'กวาง' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'แยกย่อย' (เหมือนเขากวาง) ; 'ภาชนะบรรจุสิ่งของที่แยกเป็นช่องๆ เป็นชั้นๆ' ; แปลว่า 'ยุ้งฉาง', หรือ 'ธัญพืช' (ที่เก็บในยุ้งฉาง) ก็ได้ ; สามารถแปลว่า 'หยาบ', หรือ 'ไม่เรียบร้อย' (เพราะยัง 'กระจัดกระจาย') ; และยังสามารถแปลว่า 'อำนาจ (ทางการเมือง)' ซึ่งมีลักษณะแบ่งย่อยเป็นลำดับชั้น และมีการกระจายอำนาจการปกครองออกไปจากส่วนกลาง ; บางครั้งยังหมายถึง 'เสาอากาศ' หรือ 'หอส่งสัญญาณ' ที่ใช้ในการ 'กระจายข่าวสาร'

虞 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) แปลว่า 'คาดหวัง', 'คาดการณ์', 'กังวล (เกี่ยวกับอนาคต)' ; 'เตรียมพร้อม', แต่ก็มีความหมายในลักษณะของ 'การหลอกลวง (ตัวเอง)', 'ล่องลวง' หรือ 'หลงระเริง' ; จนมีความหมายหนึ่งที่หมายถึง 'รื่นเริง' หรือ 'ให้ความบันเทิง' ก็ได้ด้วย ; และยังเป็นชื่อเรียกของ 'สัตว์กินซาก' ชนิดหนึ่ง

惟 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'เดี่ยว', 'โดดเดี่ยว', 'ไม่เป็นคู่' ; แปลว่า '(กรณี) ยกเว้น', 'แต่ว่า' ในลักษณะว่า 'ไม่เข้าพวก' ก็ได้ ; และยังสามารถแปลว่า 'ความคิด' หรือ 'การคิด' ซึ่งเป็นอาการที่สามารถกระทำโดย 'ลำพังคนเดียว' ได้ ซึ่งก็เลยมีอีกความหมายว่า 'คิดเองทำเอง' หรือ 'เออออไปเอง' คนเดียวก็ได้เหมือนกัน

入 อ่านว่า rù (ญู่) แปลว่า 'เข้า', 'เข้าร่วม', ซึ่งมีนัยของการ 'ยอมรับ', หรือ 'เห็นด้วย' ; แปลว่า 'รับ', หรือ 'รายรับ' ก็ได้

林 อ่านว่า lín (ลิ๋น) แปลว่า 'ป่า' ; หรือ 'กลุ่มก้อนของสิ่งที่เหมือนกัน' ไม่ว่าจะเป็นคน, สัตว์, หรือสิ่งของก็ได้ เช่น 'ฝูงชน', 'ฝูงสัตว์', 'กองวัสดุ' ; อาจจะแปลว่า 'วงล้อม', หรือ 'บริเวณโดยรอบ' ก็ได้

中 อ่านว่า zhōng (ง) แปลว่า 'ตรงกลาง', 'ระหว่างกลาง', 'ข้างใน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ตรงเป้า', หรือ 'เหมาะสม' ได้ด้วยเหมือนกัน

幾 อ่านว่า jī (จี) หรือ jǐ (จี่) มีความหมายในลักษณะคำถามว่า 'มากน้อยแค่ไหน?', 'จำนวนเท่าไหร่?' ; มันจึงแฝงความหมายว่า 'ไม่แน่นอน' ; และถึงขั้นที่อาจจะ 'ไม่ปลอดภัย' ; หรืออาจจะมี 'อันตราย' ไปเลยก็ได้ ; ซึ่งก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'การป้องกัน' ; บางครั้งแปลว่า 'คล้าย', 'ใกล้เคียง' หรือ 'โดยประมาณ' ก็ได้อีก

舍 อ่านว่า shè (เษ้อ) จริงๆ ควรจะสะกดเสียงภาษาไทยว่า 'ซ่' แต่ขอแล้วกันตัวนี้ เพราะความหมายของตัวสะกดไม่ค่อยงาม :P … แปลว่า 'ห้องพัก', 'พักพิง', 'พักอาศัย' หรือ 'ที่พักแรม' ที่มีขนาดเล็กๆ เช่น 'กระท่อม' หรืออาจจะเป็นเพียง 'เพิง' เพื่อใช้หลบแดดหลบฝนเท่านั้น ; มันจึงมีความหมายในลักษณะของ 'ความนอบน้อม' ที่ผู้เยาว์หรือผู้น้อยพึงมีต่อผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย ; และยังมีความหมายเหมือนกับ 'หลบ' หรือ 'ยอมจำนน' ได้เหมือนกัน

吝 อ่านว่า lìn (ลิ่น) แปลว่า 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; เลยมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ'

แปลดิบๆ ได้ว่า 'การทำอะไรหยิบโหย่งไม่เอาจริงเอาจัง (既鹿) ในลักษณะที่ไม่มีความพร้อม (無虞 คือไม่มีการกำหนดเป้าหมาย หรือกำหนดแนวทางในการปฏิบัติให้ชัดเจน) หยิบนั่นคว้านี่อย่างสะเปะสะปะ จนสับสนวุ่นวายไม่มีทิศทางที่แน่นอน (惟入于林中 เหมือนเข้ารกเข้าพง) … ต่อให้เป็นยอดคนที่มีศักยภาพเต็มเปี่ยม (君子) แต่หากทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย (幾) ย่อมไม่ต่างจาก (不如) เด็กน้อยที่ด้อยทั้งประสบการณ์ และความสามารถ (舍) ซึ่งผลิตผล หรือผลงานที่ได้รับ (往) ย่อมเหลวไหลไร้ค่า (吝) ไปด้วยเสมอ'

นั่นเป็นคำแปลเพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า 'กำหนดเป้าหมาย' ที่ถือว่าเป็น 'การเริ่มต้น' หรือ 'การก่อตัว' … แต่ถ้าเป็นคำแปลเพื่อให้ได้อารมณ์แบบ 'ความยากลำบาก' หรือ difficulties เราก็จะได้อีกคำแปลหนึ่งว่า …

'ภายใต้สถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย (既鹿) จนไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้ล่วงหน้า (無虞) เหมือนกับว่าต้องพลัดหลงเข้าไปในราวป่าอย่างโดดเดี่ยว (惟入于林中) … ปราชญ์ (君子) ย่อมเลือกที่จะหลบหลีก (不如舍) และเลี่ยงที่จะปะทะอย่างเต็มกำลัง (往吝) ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม และปราศจากความแน่นอนเหล่านั้น (幾)'

เอาล่ะซี … แปลได้ทั้งสองอย่างเลยเอ้า ??!! … งั้น 'จิวกง' น่าจะอยากให้มีความหมายแบบไหนกันแน่ล่ะทีนี้ ??!! … โดยส่วนตัวแล้ว ผม 'ค่อนข้างที่จะเชื่อว่า' ความหมายแรกที่บรรยายเกี่ยวกับ 'เป้าหมาย' ควรจะเป็นความหมายดั้งเดิมที่ 'จิวกง' ตั้งใจจะสื่อสารออกมามากกว่า … ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่เพราะแนวของ 'การตีความ' ให้บทนี้มีความเกี่ยวข้องกับ 'เป้าหมาย' นั้นเป็นแนวทางที่ผม 'จินตนาการ' ขึ้นมาเอง … แต่เป็นเพราะผมมี 'ชื่อเรียก' กับ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ของบทที่ 63 มาเป็น 'สิ่งยืนยัน' ความน่าเชื่อถือในแง่ของความหมายที่ชัดเจนกว่า …

'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ในบทที่ 63 คือ ䷾ และมีชื่อเรียกว่า 既濟 (jì jì, จี้จี้) แปลกันไว้ว่า Already Fulfill หรือ 'สัมฤทธิ์ผล' … โดยมีจุดที่แตกต่างกับ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ในบทนี้เพียงจุดเดียวก็คือ 'ขีดที่สาม' นี่แหละ เพราะภาพในบทนี้คือ ䷂ ซึ่งมี 'ขีดที่สาม' เป็น 'หยิน' … แต่  既濟 จะมี 'ขีดที่สาม' เป็น 'หยาง' … และเมื่อผมตีความให้ 'คัมภีร์อี้จิง' คือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่รวบรวม 'คำชี้แนะ' เกี่ยวกับ 'หลักในการครองตน' … นั่นก็หมายความว่า แนวทางที่ควรจะประพฤติปฏิบัติที่ได้รับ 'การชี้แนะ' ไว้นั้น จะต้องมีการสลับขั้วความหมายกันในบททั้งสองที่ยกมาเปรียบเทียบไว้นี้ … จาก 'ความไม่เอาจริงเอาจัง' (⚋) ที่บอกว่าจะให้ผลลัพธ์ที่ 'เหลวไหล' ในวรรคนี้ ก็จะถูกสลับขั้วไปเป็นความหมายที่ตรงกันข้ามคือ 'ความเอาจริงเอาจัง' (⚊) ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' และกลายเป็น 'ชื่อเรียก' ของสัญลักษณ์ที่ 63 ทันที … แต่หากสลับขั้วความหมายของคำแปลที่สองคือ … จาก 'หลีกเลี่ยง' และ 'ไม่ยอมปะทะอย่างเต็มกำลัง' (⚋) ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน กลายมาเป็น 'หักโหมกำลังเข้าปะทะอย่างเต็มตัว' (⚊) ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเสี่ยงอันตราย … อีแบบนี้น่าจะสำเร็จลำบากอยู่ ;) …

ดังนั้น ผมขอยืนยันว่า คำแปลแรกเป็นความหมายดั้งเดิมที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อถึงพวกเราทุกๆ คนนะครับ !! ;) … ส่วนคำแปลที่สองที่ออกมาในลักษณะของการ 'รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง' นั้น แม้ว่าจะเป็น 'ข้อแนะนำ' ไม่ให้เราคิดทำอะไรอย่างบุ่มบ่ามหุนหันด้วยความหลงผิดใน 'ศักยภาพ' ของตนเอง … แต่ 'การหลบหลีก' ปัญหาตั้งแต่ 'ตอนเริ่มต้น' นั้น มันก็ออกจะใจเร็วด่วนสรุปเหมือน 'ตื่นตูม' เกินไปหน่อยมั้ง ?! ;)

 

สี่ หยิน :

乘馬班如求婚媾往吉無不利
chéng mǎ bān rú qiú hūn gòu wǎng jí wú bù lì
ฌิ๋ง หม่า ปัน ญู๋ ชิ๋ว ฮุน โก้ว หวั่ง จี๋ อู๋ ปู้ ลี่


วรรคนี้มีคำใหม่เพียงคำเดียวคือ 求 อ่านว่า qiú (ชิ๋ว) แปลว่า 'ขอร้อง', 'ร้องขอ', 'เชื้อเชิญ', 'หว่านล้อม', 'เรียกร้อง', 'ต้องการ', 'ขอความช่วยเหลือ', 'ความช่วยเหลือ' ; 'เสาะหา', 'พยายาม'

ผมมองว่าวรรคนี้เหมือนกับจะล้อความหมายเดิมในวรรคที่สองออกมาเลย เพราะมีการเอ่ยถึง 'การฝึกม้า' (乘馬班如) ที่นำไปเทียบเคียงกับ 'การแต่งงาน' (婚媾) … โดยคำที่เปลี่ยนแปลงไปในวรรคนี้ก็คือ จาก 'การแต่งงานที่บีบเค้นบังคับ' (匪寇婚媾) ในวรรคที่สอง ถูกเปลี่ยนมาเป็น 'การร้องขอการแต่งงาน' (求婚媾) … ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะถูกแก้ไขจาก 'ความไม่ยินยอมพร้อมใจ' ของฝ่ายหญิง (女子貞不字) มาเป็น 'การตอบรับที่ดี' (往吉) แต่ที่ไม่ได้ระบุว่าเป็น 'ผลดี' (吉) ต่อฝ่ายไหนก็เพราะว่า มันจะเป็น 'ผลดี' ต่อทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ;)

ความจริงแล้วผมแปลคำว่า 往吉 ในอีกความหมายหนึ่งว่า 'การยกย่องให้เกียรติ และมอบความปรารถนาที่ดีให้แก่กันและกัน' คือเป็นลักษณะของ 'การตอบแทน' (往) 'ความดี' (吉) ด้วย 'ความดี' (吉) ระหว่างกันของทุกๆ ฝ่าย ย่อมจะนำมาซึ่งความสุขสงบ และความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน (無不利) ตรงนี้ผมอยากให้สังเกต 'ความต่อเนื่อง' ของถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้นิดหน่อย โดยผมนำข้อความจากวรรคที่สอง จนถึงวรรคที่สี่มาเขียนต่อกัน แล้วเพิ่มเครื่องหมายวรรคตอนบางอย่างเข้าไป เพื่อให้เห็น 'ความต่อเนื่อง' กับ 'การขยายความ' ที่ปะปนกันอยู่เมื่อเรียงเป็นประโยคเดียวยาวๆ …

屯如邅如 乘馬班如 匪寇婚媾 女子貞不字 十年乃字 (既鹿無虞 惟入于林中 君子幾 不如舍‧往吝) 乘馬班如 求婚媾 往吉 無不利

ท่อนเปิดประโยคคือ 屯如邅如 นั้นผมแปลว่า 'ในการอยู่ร่วมกันนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จะต้องมีความเคารพ และรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน' จะถูกจับคู่กับท่อนปิดประโยคคือ 無不利 ที่แปลว่า 'ไม่มีทางที่จะไม่เจริญ' … ท่อนตรงกลางที่เกี่ยวกับ 'การฝึกม้า' และ 'การแต่งงาน' เล่าไปแล้วที่ย่อหน้าก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วก็เหมือนกับเป็นท่อนที่ 'ขยายความ' ให้กับ 'การถ้อยทีถ้อยอาศัย' และ 'การให้เกียรติแก่กันและกัน' … ท่อนที่อยากให้เห็นก็คือ 十年乃字 ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายของวรรคที่สอง แล้วผมเอาวรรคที่สามมาต่อท้ายแต่ใส่วงเล็บครอบเอาไว้ทั้งวรรค (既鹿無虞 惟入于林中 君子幾 不如舍 往吝) เพื่อให้เห็นว่า 十年乃字 ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับระยะเวลา 'สิบปี' อย่างที่ตัวอักษรพาไป แต่ความหมายจริงๆ ของ 十年乃字 น่าจะหมายถึงวรรคที่สามทั้งวรรคมากกว่า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วรรคที่สามทั้งวรรคนั้น เป็น 'คำขยายความ' ของท่อนที่บอกว่า 十年乃字 ซึ่งผมแปลไว้ว่า 'ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฟูมฟักอย่างทุ่มเท และให้การทำนุบำรุงหล่อเลี้ยงอย่างคงเส้นคงวาสม่ำเสมอ (十年) จึงจะสามารถผลิดอกออกผล (乃字) เป็นความสำเร็จได้ดังที่มุ่งหวังเอาไว้' แล้วส่งความต่อเนื่องของความหมายนี้มายังวรรคที่สามที่ผมแปลว่า 'การทำอะไรหยิบโหย่งไม่เอาจริงเอาจัง (既鹿) ในลักษณะที่ไม่มีความพร้อม (無虞 คือไม่มีการกำหนดเป้าหมาย หรือกำหนดแนวทางในการปฏิบัติให้ชัดเจน) หยิบนั่นคว้านี่อย่างสะเปะสะปะ จนสับสนวุ่นวายไม่มีทิศทางที่แน่นอน (惟入于林中 เหมือนเข้ารกเข้าพง) … ต่อให้เป็นยอดคนที่มีศักยภาพเต็มเปี่ยม (君子) แต่หากทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย (幾) ย่อมไม่ต่างจาก (不如) เด็กน้อยที่ด้อยทั้งประสบการณ์ และความสามารถ (舍) ซึ่งผลิตผล หรือผลงานที่ได้รับ (往) ย่อมเหลวไหลไร้ค่า (吝) ไปด้วยเสมอ'

วลีหนึ่งที่น่าสังเกตสำหรับบทนี้ก็คือ 乘馬班如 ที่ถูกใช้ถึง 3 ครั้งในบทนี้ คือถูกใช้ในวรรคที่ 2, 4 และ 6 ซึ่งเป็น 'เส้นหยิน' ทั้งหมด อันเป็นตำแหน่งที่สามารถแปลง 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' กลับไปเป็น 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ได้เป็นสัญลักษณ์ ☷ (坤, คุน = Chief Operating Officer หรือ COO ใน Organization Code ซึ่งน่าจะหมายถึงตำแหน่ง 侯 ในระบบราชการจีนโบราณด้วย) … ตรงนี้ผมอยากจะ 'ตีความ' ว่า 'จิวกง' คงต้องการเน้นให้เข้าใจความหมายของ 'พลังหยิน' ว่าไม่ใช่พลังที่ 'อ่อนปวกเปียก' แต่เป็นพลังที่มี 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว' ซึ่งแสดงออกด้วย 'ความอ่อนหยุ่น' อย่างมี 'ความเคารพ' และรู้จัก 'การให้เกียรติ' ผู้อื่น … เช่นเดียวกับ 'การฝึกม้า' ที่จะต้องมีทั้ง 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว' อย่างที่สุด แต่มิได้ใช้ 'กำลังอำนาจ' นั้นเพื่อ 'การกดข่ม' โดยตรง … เนื่องจาก 'การกดข่ม' ย่อมก่อให้เกิด 'การต่อต้านแข็งขืน' ซึ่งแม้ว่าจะประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ผลลัพธ์นั้นๆ ย่อมด้อยคุณค่ากว่าการใช้ 'คุณธรรมความดี' โน้มนำให้เกิด 'การยอมรับ' อันจะเป็น 'การรวมพลัง' แห่ง 'ความทุ่มเท' ที่เหนือกว่าเสมอ

อ้าว … ยังไม่ได้แปลวรรคนี้เลยนี่นะ … :D … ฝอยจนเกือบลืมไปละ … :P … ความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'การฝึกให้ม้าละความพยศลงไปนั้น จะต้องกระทำราวกับการร้องขอการแต่งงานจากหญิงสาว (乘馬班如求婚媾) ต้องมีความเคารพในศักดิ์ศรี และรู้จักให้เกียรติแก่กันและกัน (往吉) เยี่ยงนี้จึงจะไม่พลาดหวัง (無不利)'

 

ห้า หยาง :

屯其膏小貞吉大貞凶
zhūn qí gāo xiǎo zhēn jí dà zhēn xiōng
จุน ชี๋ เกา เสี่ยว เจิน จี๋ ต้า เจิน เซฺวิง


膏 อ่านว่า gāo (เกา) หรือ gào (เก้า) แปลว่า 'ชะโลม (ด้วยน้ำมัน)', 'หล่อลื่น', 'ลูบไล้', 'ทำให้ชุ่มชื้น', 'ชุ่มชื้น'; 'น้ำมัน', 'ไขมัน' ; หรือ 'ของเหลว' ที่มีลักษณะคล้าย 'น้ำมัน' หรือ 'ยางไม้'

小 อ่านว่า xiǎo (เสี่ยว) แปลว่า 'เล็ก', 'น้อย' เป็นคำตรงข้ามของ 大 (dà, ต้า) ที่แปลว่า 'ใหญ่' หรือ 'มาก'

凶 อ่านว่า xiōng (เซฺวิง) แปลว่า 'ไม่ดี', 'ไม่งาม', 'ร้ายกาจ', 'ชั่วร้าย', 'ฆาตกรรม' ; หรือ 'เรื่องคอขาดบาดตาย'

ความหมายของวรรคนี้น่าจะตรงๆ ตัวแค่ว่า 'ในการเริ่มต้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ควรจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป (屯其膏 เหมือนการชะโลมด้วยน้ำมันเพื่อหล่อลื่น) โดยค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวเล็กๆ อย่างมั่นคง (小貞吉) จะคิดจะทำอะไรก็ให้มีจังหวะจะโคนที่เหมาะสม มีขั้นตอนที่ถูกต้องชัดเจน ไม่ควรประมาทผลีผลามรีบร้อนด้วยการเล็งผลสำเร็จที่สวยหรูในระยะเวลาเพียงสั้นๆ (大貞) จนก่อให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรง (凶) ได้'

ขอแว้บไปดูความหมายของวรรคสุดท้ายก่อนดีกว่า :) ในเมื่อผม 'ตีความ' ว่า วรรคที่สองถึงวรรคที่สี่เป็นเนื้อความที่ต่อเนื่องกัน ผมก็ 'ค่อนข้างที่จะเชื่อ' ว่า วรรคที่ห้ากับวรรคที่หกน่าจะเป็นอีกประโยคหนึ่งที่ต่อเนื่องกันด้วย

 

หก หยิน :

乘馬班如泣血漣如
chéng mǎ bān rú qì xüè lián rú
ฌิ๋ง หม่า ปัน ญู๋ ชี่ เซฺวี่ย เลี๋ยน ญู๋


泣 อ่านว่า qì (ชี่) แปลว่า 'น้ำตา', 'ร้องไห้', 'สะอื้น', หรือ 'เสียงสะอื้น' ; 'โศกเศร้าเสียใจ', 'ทุกข์ระทม'

漣 อ่านว่า lián (เลี๋ยน) แปลว่า 'น้ำไหล', 'ระลอกคลื่น', 'น้ำตานอง' ; 'ท่วมท้น' ; 'กระเพื่อม', 'โยก', 'ไหว'

ความหมายของวรรคนี้คือ 'การฝึกม้าให้ละความพยศลงไปให้ได้ (乘馬班如) นั้น เป็นภารกิจที่ยุ่งยากลำบากอย่างยิ่ง บางครั้ง ทั้งตัวผู้ฝึกและม้าที่ถูกฝึก ต่างก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนต่อความยากลำบาก จนถึงกับต้องหลั่งน้ำตาแทบเป็นสายเลือดก็ไม่ปาน (泣血漣如)'

'ตีความ' ให้วรรคที่ห้ากับวรรคที่หกรวมกันนะ ;) … 'การริเริ่มที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาให้ได้นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความยุ่งยากลำบากอย่างยิ่ง คล้ายดังการฝึกม้าให้ละความพยศ ซึ่งเต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งความคับข้องหมองใจนานาประการจนถึงกับต้องหลั่งน้ำตาอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่อาจผลีผลามใจเร็วด่วนได้ หรือหักโหมเอาด้วยกำลังจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อเป้าหมายที่มุ่งหวัง'



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :


'จุน' คือ การก่อตัว, เมฆหมอกเหนืออสุนี

'การเริ่มต้น' ที่จะกระทำการใดๆ ย่อมไม่ใช่เริ่มจาก 'การอวดโอ่' 'ศักดา' หรือ 'อานุภาพ' ของตนเอง แต่จะต้องเริ่มจาก 'การกำหนดเป้าหมาย' ให้ 'โดดเด่นเห็นชัด' และสามารถนำไปสู่ 'การปฏิบัติได้' อย่างถูกต้อง

  •  
  • 'ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่' ย่อมสำเร็จได้เพราะ 'การสั่งสม' 'คุณธรรมความดี'  และมี 'เป้าหมาย' ที่ชัดเจน
  • การร้องขอ 'ความร่วมมือ' จากผู้อื่นนั้น ต้องรู้จัก 'การถ้อยทีถ้อยอาศัย' ต้องมี 'ความเคารพ' และรู้จัก 'การให้เกียรติ' ซึ่งกันและกัน เหมือนดังเช่น 'การฝึกม้า' ที่ไม่อาจใช้เพียงกำลังอำนาจเข้ากดข่ม หรือการขู่เข็ญบังคับ ย่อมไม่อาจทำให้หญิงสาวยอมรับว่าเป็น 'การแต่งงาน' ที่ดี … ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฟูมฟัก 'อย่างทุ่มเท' และให้ 'การทำนุบำรุงหล่อเลี้ยง' อย่าง 'คงเส้นคงวาสม่ำเสมอ' จึงจะสามารถ 'ผลิดอกออกผล' เป็น 'ความสำเร็จ' ได้ดังที่มุ่งหวังเอาไว้
  • การทำอะไร 'หยิบโหย่ง' ไม่ 'เอาจริงเอาจัง' ในลักษณะที่ไม่มี 'ความพร้อม' ไม่มี 'การกำหนดเป้าหมาย' และ 'แนวทางในการปฏิบัติ' ที่ชัดเจน ดำเนินการอย่าง 'สะเปะสะปะ' จน 'สับสนวุ่นวาย' ไม่มีทิศทางที่แน่นอนนั้น … ต่อให้เป็น 'ยอดคน' ที่มี 'ศักยภาพ' เต็มเปี่ยม แต่หากทำตัว 'ไม่เป็นโล้เป็นพาย' ย่อมไม่ต่างไปจาก 'เด็กน้อย' ที่ด้อยทั้ง 'ประสบการณ์' และ 'ความสามารถ' ซึ่ง 'ผลิตผล' หรือ 'ผลงาน' ที่ได้รับ ย่อม 'เหลวไหลไร้ค่า' ไปด้วยเสมอ
  • เหมือนดังเช่น 'การฝึกม้า' ให้ละความพยศ ที่จะต้องกระทำอย่าง 'เอาจริงเอาจัง' ไม่ต่างไปจากการร้องขอ 'การแต่งงาน' จากหญิงสาว ที่จะต้องรู้จัก 'การให้เกียรติ' และมี 'ความเคารพในศักดิ์ศรี' ของกันและกัน จึงจะไม่เกิดความสูญเสีย
  • 'การริเริ่ม' ที่จะกระทำการใดๆ จะต้องมี 'ความสุขุมรอบคอบ' รู้จัก 'อดออม' เพื่อ 'เก็บเล็กประสมน้อย' ไป 'ทีละขั้นตอน' อย่าง 'มั่นคง' … ไม่ดำเนินการด้วย 'ความหุนหันเร่งรีบ' เพราะ 'ความใจเร็วด่วนได้' จนก่อให้เกิด 'ความเสียหาย' อย่างใหญ่หลวง
  • 'การฝึกม้า' ย่อมมี 'ความเหนื่อยยากลำเค็ญ' ฉันใด ; 'การไขว่คว้า' เพื่อให้ได้มาซึ่ง 'ความสำเร็จ' ย่อมจะต้องมี 'ความลำบากลำบน' ฉันนั้น




The Organization Code :


'การก่อตัว' ใช้ 'บุคลากร' (☵) นำ 'การตลาด' (☳), แผนงานเปิดกว้าง (⚏), เตรียมรุกทั้งนอกใน (⚍)

จาก 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ที่เห็นคือ ䷂ ดูจะให้ความหมายที่ชัดเจนว่า 'อย่ากระโตกกระตาก' หรือ 'อย่าทำอะไรให้มันโฉ่งฉ่าง' … :D … เพราะสัญลักษณ์ 'ฟ้าร้อง' (☳) ถูกกำหนดให้ 'เก็บซ่อน' อยู่ภายใน และใช้สัญลักษณ์ของงาน 'บุคลากร' (☵) เป็นตัวชูโรงแทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการ recruit เพื่อคัดสรรบุคลากรที่มีความเหมาะสมในโครงการที่กำลังจะริเริ่มขึ้นมาใหม่ … นี่คือ 'การก่อตัว' … ;)

  •  
  • ต้อง 'กำหนดเป้าหมาย' หรือมี Focus ที่แน่นอนว่าจะมุ่งไปในทิศทางใด เพื่อจะสามารถตระเตรียม 'บุคลากร' ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถที่จะ 'เตรียมความพร้อม' ของทรัพยากรในด้านต่างๆ ไว้อย่างพอเพียงแก่ความต้องการ
  • ต้องรู้จัก 'ยอมรับฟัง' 'ความคิดเห็น', 'ข้อเสนอแนะ' หรือแม้แต่ 'ข้อทักท้วง' ของ 'ผู้อื่น' … และต้องมี 'ความยืดหยุ่น' ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับ 'ศักยภาพ' ของทีมงาน … และต้องไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็น 'การแข็งขืน' เพื่อมุ่งแต่สนอง 'ความต้องการ' จนเกิน 'กำลังความสามารถ'
  • ต้องมี 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'เอาจริงเอาจัง' และ 'ทุ่มเท' แรงกายแรงใจให้กับ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้แล้วอย่าง 'เด็ดเดี่ยว' 'แน่วแน่' ใน 'ทิศทาง' ที่จะต้องดำเนินไป 'ตลอดเวลา'
  • ต้องให้ 'ความเคารพ' ใน 'ศักดิ์ศรี' และ 'ให้เกียรติ' แก่ 'ผู้ร่วมงาน' ทุกๆ คนอย่างเสมอภาคกัน … มีการให้ 'ความยอมรับ' และ 'การตอบแทน' ตาม 'ผลงาน' และ 'ความสามารถ' อย่าง 'ยุติธรรม' โดยทั่วถึง เพื่อสร้าง 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' ในการปฏิบัติงานร่วมกัน
  • ต้องมี 'ความสุขุมรอบคอบ' ดำเนินการอย่าง 'เป็นขั้นตอน' ที่ชัดเจน … 'ไม่ใจเร็วด่วนได้' หรือกระทำการใดๆ ด้วย 'ความประมาท' อย่าง 'ผลีผลามรีบร้อน'
  • มีความ 'อดทน' และ 'อดกลั้น' ไม่ 'ย่อท้อ' ต่อ 'อุปสรรคขวากหนาม' หรือ 'หมดอาลัยตายอยาก' ไปกับ 'ความผิดพลาด' ที่เกิดขึ้น

หากเรา 'แยกธาตุ' ให้ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ในบทนี้เป็น 3 ระดับของ 'การบริหารงานองค์กร' เราก็จะได้เป็น

'ระดับนโยบาย' อยู่ในสถานะของ ⚍ : ซึ่งหมายถึง จะต้องมี 'การกำหนดเป้าหมาย' ที่ชัดเจน และต้องมีท่าทีที่ 'เปิดกว้าง' เพื่อจะ 'ระดมสรรพกำลัง' เข้ามา 'เสริมสร้างความพร้อม' แก่ทรัพยากรที่ต้องการ

'ระดับบริหาร' อยู่ในสถานะของ ⚏ : ซึ่งหมายถึง ต้องมี 'ความยืดหยุ่น' ในแผนงาน เพื่อให้สอดคล้องกับ 'นโยบายที่เปิดกว้าง' และต้องยินดีที่จะ 'รับฟัง' ข้อคิดเห็น หรือคำทักท้วงจาก 'ระดับปฏิบัติการ' ที่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นๆ โดยตรง

'ระดับปฏิบัติการ' อยู่ในสถานะของ ⚍ : ซึ่งจะหมายถึง ต้องมี 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความทุ่มเท' อย่างเต็ม 'ประสิทธิภาพ' ของตนเอง แต่ก็ต้องดำเนินการ 'อย่างมีขั้นตอน' มี 'ระบบระเบียบแบบแผน' ที่ชัดเจน และมี 'ความสุขุมรอบคอบ' ไม่ 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' ด้วย 'ความประมาท' จนก่อให้เกิดความเสียหาย