Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :
 

第四十六卦 : 昇

昇 : 地風昇 ‧ 坤上巽下

昇 : 元亨‧用見大人‧勿恤‧南征吉‧

  • 初六 : 允昇‧大吉‧
  • 九二 : 孚乃利用禴‧無咎‧
  • 九三 : 昇虛邑‧
  • 六四 : 王用亨于岐山‧吉‧無咎‧
  • 六五 : 貞吉‧昇階‧
  • 上六 : 冥昇‧利于不息之貞‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ตื่นตัวอย่างสงบ (⚎) ; ปัญญาปรอดโปร่งสดชื่น (⚍) ; พลานามัยไร้ความเคร่งเครียดกังวล (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : อาศัยการโอนถ่ายทรัพยากร (☴) เพื่อส่งเสริมแผนปฏิบัติการ (☷) ; ระดับนโยบายมีการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง (⚎) ; ระดับวางแผนงานมีเป้าหมายที่เตรียมรุก (⚍) ; ระดับปฏิบัติการมีความสุขุมเยือกเย็นไม่บุ่มบ่าม (⚏)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การพัฒนาศักยภาพ, ลมสะบัดใต้พิภพ



ความหมายของชื่อเรียก : Elevating : การพัฒนาศักยภาพ



โดยปรกติของตำราทั่วๆ ไป เรามักจะเห็นการนำอักษร 升 (shēng, เซิง) มาใช้เป็น 'ชื่อบท' ให้กับบทที่สี่สิบหกของ 'คัมภีร์อี้จิง' แต่อักษรดั้งเดิมที่ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์นั้นจะเป็นอักษร 昇 (shēng, เซิง) ซึ่งพจนานุกรมหลายฉบับต่างก็ระบุไว้ตรงกันว่า อักษรทั้งสองมีความหมายเหมือนกันคือ 'ยกให้สูงขึ้น', หรือ 'ลอยตัวสูงขึ้น' ... แต่ใครจะไปรู้ได้ล่ะครับว่า กว่า 4,000 ปีที่แล้วมันถูกใช้ในความหมายที่เหมือนกันจริงๆ รึเปล่า ?! ... ;)

ตรงด้านบนของอักษร 昇 (shēng, เซิง) คือ 'ภาพอักษร' 日 (rì, ญื่อ) ที่หมายถึง 'ดวงตะวัน' ซึ่งเป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยาง' ส่วนทางด้านล่างก็คือ 'ภาพอักษรเดิม' ของ 升 (shēng, เซิง) ที่แปลว่า 'ยกให้สูงขึ้น', หรือ 'ลอยตัวสูงขึ้น' นั่นแหละ ดังนั้น ความหมายตาม 'ภาพอักษร' ของ 昇 (shēng, เซิง) จึงหมายถึง 'พระอาทิตย์ขึ้น', 'การเคลื่อนตัวสูงขึ้นของดวงตะวันในยามเช้า', ซึ่งถ้าเรานำเอาความหมายที่ว่านี้มาเปรียบเทียบกับ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' คือ ䷭ เราก็น่าจะเห็นเป็นภาพของ 'ดวงอาทิตย์กำลังค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้า' โดยมีความสว่าง (⚌) กำลังเคลื่อนตัวขึ้นไปทดแทนความมืด (☷) ที่ยังปกคลุมอยู่ด้านบนนั้นด้วย ... และต้องนับว่าเป็นการจับคู่ของ 'ชื่อเรียก' กับ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ลงตัวมากๆ อีกคู่หนึ่งเลยทีเดียว

เมื่อ 昇 (shēng, เซิง) มีความหมายว่า 'ย่ำรุ่ง', หรือ 'ยามเช้าตรู่' ตามลักษณะของ 'ภาพอักษร' ที่เล่าเอาไว้นี้ ความหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาดังกล่าวของวันก็เลยทำให้ 昇 (shēng, เซิง) สามารถแปลว่า 'ความสงบ' หรือ peaceful ได้ด้วย ซึ่งก็คือความหมายที่ไม่ปรากฏให้เห็นในคำแปลใดๆ ของคำว่า 升 (shēng, เซิง) แล้วล่ะ !!? ... ดังนั้นถ้าถามผมว่า 昇 (shēng, เซิง) ควรจะแปลว่าอะไร ผมก็คงต้องให้ความหมายกับมันว่า 'ความสุกสว่างที่กำลังเปล่งประกายออกมาอย่างสงบ' ... ซึ่ง ... ก็น่าจะสมเหตุสมผลแก่ลำดับของเหตุการณ์ที่ว่า หลังจาก 'การหล่อหลอมจนเกิดความเป็นเอกภาพ' มาจากบทที่สี่สิบห้าแล้ว 'องค์กร' หรือ 'สังคม' นั้นๆ ก็น่าจะพร้อมสำหรับ 'การเปล่งพลานุภาพแห่งความเป็นเอกภาพ' นั้นให้ 'แผ่ไพศาล' ออกไป 'อย่างสงบ' และ 'สง่างาม' ในบทนี้ ... รึเปล่า ?!

แต่มันจะขัดแย้งกับแนวคิดเรื่อง 'ความถ่อมตน' ที่พร่ำสอนกันมาตั้งแต่บทแรกๆ เลยรึเปล่าล่ะ ?! ... ผมก็รู้สึกว่ามันออกจะแย้งๆ กันอยู่พอสมควรเหมือนกันถ้าจะ 'ตีความ' ให้บทนี้หมายถึง 'การเปล่งพลานุภาพแห่งความเป็นเอกภาพ' แม้ว่าในที่สุดแล้ว 'ความโดดเด่น' ของผู้ที่มี 'ศักยภาพที่แท้จริง' ย่อมไม่อาจ 'ถูกบดบัง' ... แต่ว่า ... 'ความไม่อาจถูกบดบัง' ย่อมไม่เหมือนกับ 'การทำให้ปรากฏแก่สายตา' ... ถูกมั้ย ?! ... ดังนั้น การที่ King Wen เลือกใช้ 'ภาพอักษร' ของ 昇 (shēng, เซิง) ซึ่งหมายถึง 'ดวงตะวันที่กำลังโผล่พ้นขอบฟ้าในยามรุ่งสาง' มาเป็น 'ชื่อบท' นี้ น่าจะต้องการสื่อความหมายว่า 'พลานุภาพ' หรือ 'ประกายอันเจิดจ้า' แห่ง 'ศักยภาพ' (คือ 'หยาง' ที่ถูกแทนด้วย 日) นั้น ย่อม 'ดำเนินไปตามวัฏจักร' อย่าง 'สงบ' และ 'สง่างาม' โดยไม่อาจ 'เร่งเร้าแข็งขืน' ให้เกิด 'ความเปลี่ยนแปลง' อย่าง 'ฉับพลันทันที' ... ด้วยเหตุนี้ ลำดับของพัฒนาการที่ถูกต้องจึงน่าจะสื่อความหมายว่า หลังจาก 'การหล่อหลอมจนเกิดความเป็นเอกภาพ' มาจากบทที่สี่สิบห้าแล้ว 'องค์กร' หรือ 'สังคม' นั้นๆ ก็ควรจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนของ 'การพัฒนาศักยภาพ' ด้วยการ 'ยกระดับให้สูงขึ้น' (升) โดยไม่ต้อง 'เร่งร้อน' ที่จะ 'สำแดงอานุภาพ' ใดๆ ออกมา 'ก่อนกาละ-เทศะอันควร' ... และคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปราชญ์ในชั้นหลังเปลี่ยนคำที่ใช้เรียก 'ชื่อบท' เป็น 升 (shēng, เซิง) เพื่อจำกัดกรอบให้เหลือเพียง 'การพัฒนาศักยภาพให้สูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม' เท่านั้น !!?!

ปัจจัยที่มีบทบาทในการกำกับความหมายของแต่ละบทใน 'คัมภีร์อี้จิง' ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมเสมอ โดยบทที่สี่สิบหกนี้จะต้องมี 'ลำดับของความหมาย' ที่สอดคล้องกับถ้อยคำในวรรคที่สองของบทที่สองด้วย ... ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคดังกล่าวว่า ... 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดี (利) ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น' … ค่อนข้างที่จะตรงความหมายกันอย่างลงตัวมากๆ เลยใช่มั้ยล่ะครับ ?! ... :) ... นี่คือการนำปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมาเป็น 'ข้อแนะนำ' ให้กับพวกเราว่า ยามดึกดื่นย่อมมิอาจฝืนให้ฟ้ากระจ่าง ยามรุ่งสางย่อมมิอาจข่มให้ฟ้ามืดมิด ... 'ปราชญ์ผู้ไม่ยึดติด' ใน 'ลาภสักการะ' ที่ผู้อื่นยกย่อง จึงไม่เคย 'อวดโอ่' ใน 'สติปัญญา' ตน และไม่เคย 'หลบหลีก' เมื่อถึงคราวที่ต้องสำแดง 'ศักยภาพ' ... ขอเพียงแต่มี 'ความมุ่งมั่น' ใน 'การฝึกฝนพัฒนาตน' ให้มี 'ความพร้อม' ทุกสรรพสิ่งก็จะดำเนินไปด้วย 'ความเป็นเช่นนั้นเอง' ตาม 'วัฏจักรแห่งกาละ-เทศะ' ของมัน !! ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨用見大人勿恤南征吉
yuán hēng yòng jiàn dà rén wù xǜ nán zhēng jí
เยฺวี๋ยน เฮิง โยฺว่ง เจี้ยน ต้า เญิ๋น อู้ ซฺวี่ นั๋น เจิง จี๋



ย้อนรอยคำว่า 用 (yòng, โย่วฺง) ซะหน่อยแล้วกัน คำนี้แปลว่า 'ใช้งาน' (use), 'ใช้ประโยชน์' (apply), 'ใช้จ่าย', 'ดำเนินการ' (execute, operate) ; 'ผลลัพธ์', 'ผลพวง', 'จำเป็น', และอาจจะหมายถึง 'ความสามารถ' หรือ 'ผลสัมฤทธิ์' ก็ยังได้

ยกเอาคำว่า 南 (nán, นั๋น) ที่เล่าไว้ในบทที่สามสิบหกมาฉายซ้ำนะครับ คำนี้มีความหมายตามปรกติว่า 'ทิศใต้' แต่ที่อดระแวงไม่ได้ก็คือ 'ทิศใต้' เป็นทิศประจำของสัญลักษณ์ 乾 (☰ : qián, เชี๋ยน) ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fuxi และเป็นทิศประจำของสัญลักษณ์ 離 (☲ : lí, ลี๋) ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ King Wen ซึ่งทั้งสองสัญลักษณ์ล้วนเป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยาง' ด้วยกันทั้งคู่ โดย 乾 (☰ : qián, เชี๋ยน) สามารถใช้แทนความหมายของ 'ความีศักยภาพ' ส่วน 離 (☲ : lí, ลี๋) ก็สามารถใช้แทน 'ความโดดเด่น-ชัดเจน' ; แต่ความหมายที่แทบจะไม่ค่อยได้พบเห็นเลยก็คือ การใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า 任 (rèn, เญิ่น) ที่แปลว่า 'รับภาระ', 'รับหน้าที่', 'รับผิดชอบ', 'น่าเชื่อถือ', หรือ 'ที่เชื่อได้ว่า' ... แล้วที่ยิ่งกว่าความบังเอิญก็คือ ในบางกรณีแล้ว 南 (nán, นั๋น) สามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 男 (nán, นั๋น) ซึ่งหมายถึง 'ผู้ชาย' อันเป็นเพศสัญลักษณ์ของ 'หยาง' อีกด้วย เพียงแต่มักจะใช้กับ 'บุคคลระดับชนชั้นนำ' (baron) ขึ้นไปเท่านั้น

征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

ถ้าเราตัดประเด็นเรื่อง 'ทิศ' ที่หลายตำราให้ความหมายแก่ 南 (nán, นั๋น) ว่า 'ทิศใต้' ออกไป ผมคิดว่าวลีนี้ของ King Wen น่าจะมีความชัดเจนมากจนแทบไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมอีกแล้วล่ะ โดย King Wen ให้คำจำกัดความของ 昇 (shēng, เซิง) ไว้ว่า 'ปฐมปัจจัย (元) แห่งพัฒนาการ (亨) ทั้งหลาย คือผลพวง (用) แห่งโอกาสที่ได้พานพบ (見) กับยอดคน (大人) สิ่งที่พึงปฏิบัติจึงมิใช่ (勿) การรบเร้าเร่งร้อนอย่างกระวนกระวาย (恤) แต่โดยการแสวงหาเพื่อสั่งสมความพร้อมในด้านศักยภาพอันโดดเด่นชัดเจน (南征) นั้นต่างหากที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

允昇大吉
yǚn shēng dà jí
หยฺวิ่น เซิง ต้า จี๋



允 อ่านว่า yǚn (หยฺวิ่น) ความหมายดั้งเดิมแปลว่า 'จริงใจ', 'เชื่อใจ', 'ไว้วางใจ' ; ปัจจุบันยังใช้ในความหมายว่า 'ยุติธรรม', 'เชื่อถือได้', 'ตอบรับ' ; และแผลงมาเป็น 'อนุญาต', 'เชื่อถือ' หรือ 'ให้ความเคารพ'

สั้นๆ ง่ายๆ และตรงตัวมากครับ 'การให้ความสำคัญ (允) ต่อการพัฒนาศักยภาพ (昇) ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองที่ยิ่งใหญ่ (大吉)' แต่ผมอยากจะเปลี่ยนคำให้มีความชัดเจนกว่านั้นอีกหน่อยว่า 'ความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ (允) ในการพัฒนาศักยภาพ (昇) ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองอันยิ่งใหญ่ของสังคมโดยรวม (大吉)' ... คิดว่าไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอะไรอีกแล้วล่ะ นี่คือการขยายความให้กับวลีต้นบทของ King Wen อย่างแน่นอน ... :)

 

สอง หยาง :

孚乃利用禴無咎
fú nǎi lì yòng yüè wú jiù
ฟู๋ ไหฺน่ ลี่ โยฺว่ง เยฺวี่ย อู๋ จิ้ว



จำวลี 孚乃利用禴 (fú nǎi lì yòng yüè, ฟู๋ ไหฺน่ ลี่ โยฺว่ง เยฺวี่ย) จากวรรคที่สองของบทที่สี่สิบห้าได้มั้ยครับ ?! ... ผมให้ความหมายไว้ว่า 'ความจริงใจต่อความเชื่อมั่นศรัทธา (孚) ที่จะส่งผล (乃) เป็นความรุ่งเรืองดังที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพยายาม (利) จำเป็นต้องอาศัย (用) ความเสียสละอย่างมีสติ และการอุทิศตนด้วยปัญญา (禴)' ... ซึ่งในวรรคนี้ 'จิวกง' ต่อท้ายด้วยวลีคุ้นตาว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) คือ 'ไม่ใช่ (無) เอาแต่ค่อนขอดนินทา (咎) กันไปมาอย่างไร้แก่นสาร' ... :)

อยากเสริมคำอธิบายไว้ตรงนี้ซักหน่อยว่า มันมีสมาชิกบางประเภทในสังคมที่มีพฤติกรรมชนิด 'มือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ' ซึ่งไม่ว่าใครจะทำอะไรก็คอยแต่จะ 'ตำหนิติติง' หรือไม่ก็เอาแต่ 'วิพากษ์วิจารณ์' ไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่เคยช่วยคิดช่วยทำอะไรเลยแม้แต่เรื่องเดียว ... เห็นใครทำความดีก็กระแนะกระแหนว่า 'ประจบสอพลอ' หรือ 'ทำดีเพื่อเอาหน้า' ... เห็นใครทำผิดพลาดล้มเหลวก็ 'เหยียบย่ำซ้ำเติม' ว่า 'อวดเก่ง-อวดดี' ... เห็นใคร 'ประสบความสำเร็จ' ก็ 'ค่อนขอดนินทา' ว่ามี 'เบื้องหน้าเบื้องหลัง' ... มีใครเสนอแนวคิดที่แตกต่างก็กล่าวหาว่า 'เพ้อฝัน-สติเฟื่อง' ... แต่พอมีใครเสนอแนวคิดที่คล้ายคลึงกันก็ส่อเสียดว่า 'ไม่มีความสร้างสรรค์-เอาแต่ลอกเลียน' ... ฯลฯ ... เหล่านี้คือ 'บุคคลผู้ถ่วงความเจริญ' ทั้งสิ้น ซึ่งบังเอิญว่ามีปริมาณที่ค่อนข้างมากในหมู่ประชากรของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งแถวๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ !! ... :D

ผมเข้าใจว่า 'จิวกง' คงจะตระหนักถึง 'บทบาทอันเลวร้าย' ของ 'บุคคลผู้ถ่วงความเจริญ' เหล่านี้พอสมควร จึงได้บันทึกวลีนี้เอาไว้เพื่อเป็น 'ข้อเตือนสติ' สำหรับ 'คนที่ทำงาน' ทั้งหลายว่า 'จงเสียสละอย่างมีสติ และอุทิศตนด้วยปัญญา' (禴) เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังไปกับคำกล่าวพล่อยๆ ของบรรดา 'บุคคลผู้ถ่วงความเจริญ' ทั้งหลายเหล่านั้น ... ;)

 

สาม หยาง :

昇虛邑
shēng xü yì
ซิง ซฺวี อี้



虛 อ่านว่า xü (ซฺวี) เป็นอักษรดั้งเดิมของอักษร 墟 (xü, ซฺวี) ที่แปลว่า 'โคก', 'เนินดิน', หรือ 'พื้นที่บริเวณเนินเขา', 'พื้นที่ลาดชัน' ซึ่งโดยมากมักจะไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'พื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่า' ; จากนั้นความหมายของมันก็หดสั้นลงเหลือแค่ 'ว่างเปล่า', 'ช่องว่าง', หรือว่า 'กลวง' ; ซึ่งก็เพี้ยนความหมายต่อไปเป็น 'เรื่องไม่จริง', 'เรื่องโกหก', 'ไม่จริงจัง' จนกลายเป็น 'ความไม่เอาจริงเอาจัง', หรือ 'ความอ่อนแอ' ; แต่ในบางกรณีมันก็หมายถึง 'ความไม่หลงตัวเอง' (虛心), หรือ 'ความนอบน้อมถ่อมตัว' (謙虛) ซึ่งเป็นเรื่องของ 'ความอ่อนโยน' มากกว่า 'ความอ่อนแอ' ได้ด้วย

邑 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ จึงทำให้คำว่า 邑人 บางครั้งจะแปลว่า 'คนเมือง', 'คนที่อยู่ในมณฑลเดียวกัน' หรือ 'คนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน ... แต่ในสมัยก่อน คำว่า 邑 (yì, อี้) ก็ยังเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 悒 (yì, อี้) ที่แปลว่า 'หดหู่', 'ห่อเหี่ยว', หรือว่า 'เศร้าใจ' ได้ด้วย ซึ่งผมคิดว่าคงจะแผลงความหมายมาจากการผสม 'ภาพอักษร' 心 (xīn, ซิน) ที่หมายถึง 'จิตใจ' กับ 邑 (yì, อี้) ที่สื่อถึง 'การมีโลกแคบๆ' เพราะเป็นเพียง 'หมู่บ้านเล็กๆ' ... ประมาณนั้น ?! ... :)

คือถ้าจะแปลกันอย่างดิบๆ เลย วรรคนี้ก็ควรจะหมายถึง 'การพัฒนาศักยภาพ (昇) ที่กระทำอย่างเหยาะแหยะไม่ตั้งใจ (虛) ผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมห่อเหี่ยว (邑) อยู่เฉพาะในกรอบเพียงแคบๆ เท่านั้น' ... โดยผมคิดว่ามันน่าจะออกมาด้วยอารมณ์ประมาณนี้ เพราะสองวรรคแรกของ 'จิวกง' ได้เน้นย้ำในเรื่องของ 'ความมุ่งมั่น' (允) และ 'ความศรัทธา' (孚) ไปแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนมาเอ่ยถึง 'มุมตรงข้าม' กันซะบ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดตรงไหน

แต่ถ้าเราจะเล่นกับ 'ความกลวงโบ๋' ในความหมายของคำว่า 虛 (xü, ซฺวี) ข้อความในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็น่าจะบอกว่า 'การพัฒนาศักยภาพ (昇) อย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง (虛) รังแต่จะนำมาซึ่งความหดหู่สิ้นหวัง (邑)' ... อันนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะต้องมี 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' แล้ว ก็จะต้อง 'ตั้งสติให้ดี' ด้วยว่า เรากำลังมุ่งไปใน 'ทิศทางเดียวกับเป้าหมาย' ของเราด้วยรึเปล่า ไม่ใช่หลับหูหลับตางุดๆ ไปโผล่ทางด้านเหนือทั้งๆ ที่ใจจริงอยากจะลงไปทางใต้นู่น ... :D

แต่ที่ผมอยากจะบอกก็คือ ... ทั้งสองความหมายที่ว่านั้นอาจจะไม่ตรงประเด็นของวรรคนี้เลยซักความหมายเดียว ... :D ... เพราะรหัสลับที่ 'จิวกง' ซุกซ่อนเอาไว้อาจจะอยู่ในถ้อยคำของวรรคที่สี่ ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่สามของแต่ละบทเหมือนที่เคยผ่านๆ มา ... !!? ... ;)

 

สี่ หยิน :

王用亨于岐山吉無咎
wáng yòng hēng yǘ qí shān jí wú jiù
วั๋ง โยฺว่ง เฮิง ยฺวี๋ ชี๋ ซัน จี๋ อู๋ จิ้ว



ดูเหมือนจะมีเพียงคำว่า 岐 (qí, ชี๋) ที่แปลว่า 'สูงส่ง', หรือ 'สูงสง่า' เท่านั้นที่เป็นคำใหม่ในวรรคนี้ ; โดยถ้าเราใช้คำว่า 岐 (qí, ชี๋) กับถนนหนทางก็จะหมายถึง 'ทางแยก' หรือ 'ทางที่สูงๆ ต่ำๆ ไม่ราบเรียบ' ; ซึ่งในประเทศจีนมีพื้นที่ภูเขาอยู่แห่งหนึ่งที่ประกอบด้วยยอดเขาสูงๆ ต่ำๆ หลายๆ ยอดเรียงรายติดต่อกันเป็นทิวเขาขนาดใหญ่เรียกว่า 岐山 (qí shān, ชี๋ ซัน) แต่จะเป็นชื่อเรียกตามลักษณะของภูมิประเทศมาตั้งแต่ครั้งอดีตสมัย 'จิวกง' นู่นเลยรึเปล่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ เพราะเห็นโผล่มาให้เห็นตรงๆ ตัวเลยในวรรคนี้ ... :)

มีประด็นที่ไม่น่าจะถูกมองข้ามไปสำหรับการเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ในบทนี้ นั่นคือมันมี 'คำตรงข้าม' อยู่ 2-3 คู่ด้วยกัน ... คู่แรกก็คือคำว่า 王 (wáng, วั๋ง) ที่สามารถแปลว่า 'กษัตริย์' หรือ 'ผู้นำ' กับ 邑 (yì, อี้) ที่บางครั้งหมายถึง 'ชาวบ้าน' หรือ 'สามัญชน' ... คู่ที่สองคือคำว่า 虛 (xü, ซฺวี) ที่หมายถึง 'โคก' หรือ 'เนินดิน' กับ 岐 (qí, ชี๋) ที่แปลว่า 'ขุนเขาสูงตระหง่าน' ... ส่วนคู่ที่สามอาจจะไม่มีความชัดเจนเท่ากับสองคู่แรก เพราะมันคือคำว่า 邑 (yì, อี้) ที่อาจจะหมายถึง 悒 (yì, อี้) หรือ 'ความหดหู่สิ้นหวัง' กับ 吉 (jí, จี๋) ที่หมายถึง 'ความสุขความเจริญ' ... มันจึงเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' อาจจะต้องการเปรียบเทียบ 'วิสัยทัศน์ของการปฏิบัติงาน' ที่แตกต่างกันระหว่าง 'ผู้นำ' หรือ 'ยอดคน' กับ 'ชนชั้นสามัญ' ซึ่งอุปมาดั่ง 'ขุนเขาที่สูงตระหง่านและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ' (岐山) กับ 'โคกเนินที่แล้งร้างว่างเปล่าไร้ซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ' (虛) ...

ผมจึงมองวลีคู่นี้ด้วยอีกความหมายหนึ่งว่า 'การยกระดับของศักยภาพ (昇) ให้สูงขึ้นเพียงหยิบหย่อมเล็กๆ อย่างเดียวดาย (虛) นั้น คือวิถีปฏิบัติของชนชั้นสามัญ (邑) ... ในขณะที่ผู้นำ (王) ย่อมรู้จักใช้ประโยชน์ (用) จากการพัฒนา (亨) ศักยภาพให้มีความหลากหลายดุจดั่งขุนเขาที่มีความสลับซับซ้อน (岐山) เพื่อมุ่งความสำเร็จ (吉) โดยการลบล้าง (無) ข้อบกพร่องทั้งหลาย (咎) ด้วยการประสานทุกศักยภาพเข้าด้วยกัน' ... ในทางหนึ่งนี่คือการเน้นย้ำถึง 'จุดประสงค์' ของ 'การสร้างความเป็นเอกภาพ' (萃) หรือ Integrating ที่พยายามหล่อหลอม 'ศักยภาพที่โดดเด่น' ของแต่ละส่วนให้ 'เสริมสร้างความแข็งแกร่ง' ซึ่งกันและกันนั่นเอง !!

ในสังคมทุกสังคมย่อมประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย 'ความชำนาญเฉพาะทาง' ซึ่งแต่ละคนนั้นได้ทุ่มเทเวลาเพื่อ 'การเรียนรู้' และ 'การฝึกฝน' จนมี 'ความโดดเด่นเฉพาะตัว' ที่ล้วนแล้วแต่มี 'คุณค่า' ด้วยกันทั้งสิ้น ... แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม 'ความรู้ความชำนาญ' ที่ 'กระจัดกระจาย' โดยไม่สามารถ 'หลอมรวม' เพื่อ 'ประสานกำลัง' กันนั้น ย่อมเปรียบได้ดั่ง 'มูลดิน' หรือ 'โคกเนิน' ที่ระเกะระกะเป็นหย่อมๆ โดยไม่สามารถเอื้อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ใดๆ ให้แก่สังคมได้เลย ... แต่ด้วยเหตุว่า 'การพัฒนาศักยภาพ' ให้มี 'ความหลากหลาย' โดยบุคคลเพียงคนเดียวนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในชั่วชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง 'ผู้นำที่ชาญฉลาด' (元) จึงเลือกที่จะ 'พัฒนา' (亨) 'ศักยภาพโดยรวมของสังคม' ด้วย 'การเสาะแสวงหา' (征) ผู้ที่มี 'ศักยภาพ' (南) ให้เข้ามาช่วยกันดำเนินกิจการงานต่างๆ (用見大人) ร่วมกัน ... เปรียบได้ดั่งการชักนำ 'มูลดิน' และ 'โคกเนิน' ทั้งหลายให้เข้ามาเรียงรายเป็นทิวขาที่มีความสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันอย่างสลับซับซ้อน (岐山) นั่นเอง !! ... ;)

คมแท้เน่าะ !! ... :D


 

ห้า หยิน :

貞吉昇階
zhēn jí shēng jiē
จิน จี๋ เซิง เจีย



階  อ่านว่า jiē (เจีย) แปลว่า 'ขั้น', 'ชั้น' ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึง 'ระดับความสูงต่ำ' ในลักษณะของ 'ขั้นบันได' หรือ 'ความลุ่มๆ ดอนๆ ของภูมิประเทศ'

นี่ก็คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่สองแล้วล่ะครับ ดังนั้น เมื่อ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สองของบทนี้ว่า 'ความจริงใจต่อความเชื่อมั่นศรัทธา (孚) ที่จะส่งผล (乃) เป็นความรุ่งเรืองดังที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพยายาม (利) จำเป็นต้องอาศัย (用) ความเสียสละอย่างมีสติ และการอุทิศตนด้วยปัญญา (禴) โดยปราศจากคำตัดพ้อต่อว่า (無咎) ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง' ... ถ้อยคำที่ต่อท้ายออกมาเป็นวรรคนี้จึงควรจะหมายถึง 'ด้วยหลักปฏิบัติ (貞) ที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉) นั้น จำเป็นที่จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และการฝึกฝน เพื่อยกระดับแห่งศักยภาพให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป (昇) อย่างมีลำดับขั้นตอน (階) ที่เหมาะสมแก่สถานการณ์หนึ่งๆ เสมอ' ...

เพราะฉะนั้น ความหมายเต็มๆ ที่ 'จิวกง' ต้องการจะบอกไว้ในวลีคู่นี้ก็คือ ... ผู้ที่ 'มุ่งความสำเร็จ' จะต้อง 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ทั้งปวง ไม่ว่าสิ่งที่ต้องเผชิญนั้นจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหนก็ตาม (孚乃利) ต้องเป็นผู้ที่มี 'ความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา' เพื่อนำ 'ความรู้' ไปสู่ 'การปฏิบัติหน้าที่' ใน 'ความรับผิดชอบของตน' ด้วย 'ความหนักแน่นมั่นคง' (用禴) โดย 'ไม่ตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น' หรือ 'กล่าวโทษสิ่งใดๆ' ว่าเป็นสาเหตุแห่ง 'ความผิดพลาด' ที่เกิดขึ้น (無咎) ... อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มี 'ความคงเส้นคงวา' ใน 'หลักการ' ยึดมั่นใน 'คุณธรรมความดี' (貞) เพื่อ 'ประโยชน์สุข' (吉) ของ 'ส่วนรวม' โดยต้องรู้จัก 'ผ่อนหนักผ่อนเบา' ไปตาม 'ความเหมาะสม' ของ 'แต่ละสถานการณ์' อย่าง 'เป็นลำดับขั้นตอน' (昇階) ... 'ความสำเร็จ' ใดๆ ล้วนมิอาจได้มาจาก 'การเร่งเร้าเรียกร้อง' แต่ต้องแลกมาด้วย 'การทุ่มเทความพยายาม' อย่าง 'มีน้ำอดน้ำทน' เท่านั้น !!

 

หก หยิน :

冥昇利于不息之貞
míng shēng lì yǘ bù xī zhī zhēn
มิ๋ง เซิง ลี่ ยฺวี๋ ปู้ ซี จือ เจิ



冥 อ่านว่า míng (มิ๋ง) แปลว่า 'มืด', 'ค่ำ', 'ดำ', 'ขมุกขมัว' ; 'ไม่ชัดเจน', 'ไม่รู้เรื่อง', 'ไม่เข้าใจ', 'โง่' ; 'ลึก', 'ลึกลับ' ; และอาจหมายถึง 'แดนสนธยา' หรือ 'ดินแดนของสิ่งมีชีวิตหลังความตาย' ; บางครั้งมันจึงหมายถึง 'ดินแดนที่ห่างไกล', 'ดินแดนที่เงียบสงบ' หรือ 'ความเงียบสงบ', 'ความเป็นเอกเทศ (ไม่ข้องแวะกับใคร)' หรือ 'ตัดขาด (จากโลกภายนอก)'

息 อ่านว่า xī (ซี) มีความหมายตามปรกติของมันว่า 'การหายใจเข้า-ออก', 'การผ่อนลมหายใจ', หรือ 'การถอนหายใจ' ซึ่งก็คงจะแผลงเป็น 'การหายใจหายคอ' จนกลายเป็น 'การหยุดพัก', หรือ 'การพักผ่อน' อย่างที่เรามักจะพบเห็นโดยทั่วไปนั่นเอง

แล้วจิวกงก็เลือกปิดประเด็นของ 'การพัฒนาศักยภาพ' ด้วยวลีว่า 不息之貞 (bù xī zhī zhēn, ผู้ ซี จือ เจิน) ที่ผมเกือบจะเขียนต่อท้ายให้กับความหมายของวรรคที่ห้าไปซะแล้วว่า ... 'ความสำเร็จใดๆ ล้วนมิอาจได้มาจากการเร่งเร้าเรียกร้อง แต่ต้องแลกมาด้วยการทุ่มเทความพยายามอย่างมีน้ำอดน้ำทน โดยไม่ยอมลดละในความมุ่งมั่นตั้งใจ' ... นั่นก็คือความครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อความที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อกับพวกเราว่า ... ผู้ที่ 'มุ่งความสำเร็จ' นั้น แม้ว่าจะ 'ไม่พึงเร้งเร้าเรียกร้อง' ในสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลาของมัน แต่ก็ 'ไม่ใช่นิ่งเฉยเฉื่อยชา' จน 'กาละ-เทศะที่เหมาะสม' ผ่านเลยไปโดยที่ 'ไม่มีความพร้อม' ใน 'การลงมือปฏิบัติ' ซะเอง !! ...

ความหมายของถ้อยคำสุดท้ายในวรรคนี้จึงหมายถึง 'การพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมอย่างสงบ (冥昇) นั้น ย่อมจะสัมฤทธิ์ผล (利) ได้โดย (于) ความไม่ย่อหย่อนลดละในสิ่งที่พึงปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างหมดหัวใจ (不息之貞)' ... ลองเทียบเคียงกับความหมายที่เราเห็นในวรรคที่หนึ่งดูเองแล้วกันนะครับ เพราะนี่คือ 'คู่วลี' ที่สามารถสะท้อนความหมายให้แก่กันได้อีกคู่หนึ่งของ 'คัมภีร์อี้จิง' ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ซิ' การพัฒนาศักยภาพ, ลมสะบัดใต้พิภพ

'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'พัฒนาการ' ทั้งหลาย คือ 'ผลพวงแห่งโอกาส' ที่ 'ความเหมาะสมของสถานการณ์' ได้พานพบกับ 'ยอดคน' สิ่งที่พึงปฏิบัติจึงมิใช่ 'การรบเร้าเร่งร้อน' อย่าง 'กระวนกระวาย' แต่โดย 'การแสวงหา' เพื่อ 'สั่งสมความพร้อม' ในด้าน 'ศักยภาพ' อัน 'โดดเด่นชัดเจน' นั้นต่างหากที่จะนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง'

  •  
  • 'ความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ' ใน 'การพัฒนาศักยภาพ' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' อันยิ่งใหญ่ของ 'สังคมโดยรวม'
  •  
  • 'ความจริงใจ' ต่อ 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' ที่จะส่งผลเป็น 'ความรุ่งเรือง' ดังที่ทุกฝ่ายได้ 'ร่วมกันพยายาม' จำเป็นต้องอาศัย 'ความเสียสละอย่างมีสติ' และ 'การอุทิศตนด้วยปัญญา' โดยปราศจาก 'คำตัดพ้อต่อว่า' ด้วย 'ความท้อแท้สิ้นหวัง'
  •  
  • 'การยกระดับ' ของ 'ศักยภาพ' ให้สูงขึ้นเพียงหยิบหย่อมเล็กๆ 'อย่างเดียวดาย' นั้น คือ 'วิถีปฏิบัติ' ของ 'ชนชั้นสามัญ'
  •  
  • 'ผู้นำที่ชาญฉลาด' ย่อมรู้จักใช้ประโยชน์จาก 'การพัฒนาศักยภาพ' ให้มี 'ความหลากหลาย' ดุจดั่งขุนเขาที่มี 'ความสลับซับซ้อน' เพื่อ 'มุ่งความสำเร็จ' โดย 'การลบล้างข้อบกพร่อง' ทั้งหลายด้วย 'การประสานทุกศักยภาพ' เข้าด้วยกัน
  •  
  • 'หลักปฏิบัติ' ที่จะนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' นั้น จำเป็นที่จะต้องผ่าน 'กระบวนการเรียนรู้' และ 'การฝึกฝน' เพื่อ 'ยกระดับแห่งศักยภาพ' ให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างมี 'ลำดับขั้นตอน' ที่ 'เหมาะสมแก่สถานการณ์' หนึ่งๆ เสมอ
  •  
  • 'การพัฒนาศักยภาพ' ให้มี 'ความพร้อมอย่างสงบ' นั้น ย่อมจะ 'สัมฤทธิ์ผล' ได้โดย 'ความไม่ย่อหย่อนลดละ' ใน 'สิ่งที่พึงปฏิบัติ' ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'ทุ่มเทอย่างหมดหัวใจ'



The Organization Code :


'การพัฒนาศักยภาพ' คือการการโอนถ่าย 'ทรัพยากร' (☴) เพื่อ 'ส่งเสริม' แผน 'ปฏิบัติการ' (☷) ; 'ระดับนโยบาย' จำเป็นต้องมี 'การตระเตรียมความพร้อม' เพื่อ 'รองรับความเปลี่ยนแปลง' ที่อาจจะเกิดขึ้น (⚎) ; 'การกำหนดแผนงาน' จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' เพื่อจะสามารถ 'จัดสรรทรัพยากร' ให้เพียงพอแก่ 'การปฏิบัติงานเชิงรุก' (⚍) ; 'ระดับปฏิบัติการ' มี 'ความสุขุมเยือกเย็น' ปฏิบัติงานอย่างมี 'ลำดับขั้นตอน' ที่ 'เป็นระบบระเบียบ' (⚏) ไม่ 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' จนทำให้ 'เสียรูปกระบวน'

'ความก้าวหน้า' และ 'พัฒนาการ' ทั้งหลายล้วนก่อเกิดจาก 'ผลพวงแห่งโอกาส' ที่ 'ความเหมาะสมของสถานการณ์' ได้พานพบกับ 'บุคคลที่พรั่งพร้อมด้วยศักยภาพ' ... ดังนั้น 'การดำเนินกิจการงาน' ให้ 'ประสบความสำเร็จ' จึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถ 'รบเร้าเร่งร้อน' อย่าง 'กระวนกระวาย' แต่จำเป็นต้องอาศัย 'การเสาะแสวงหา' เพื่อ 'สั่งสมความพร้อม' ทั้งในด้านของ 'บุคลากร', 'ความรู้' และ 'ประสบการณ์' ที่ 'สอดคล้อง' กับ 'เป้าหมาย' ขององค์กรเป็นสำคัญ อันจะนำไปสู่ 'ความมีศักยภาพ' ที่ 'โดดเด่นชัดเจน' ใน 'การสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรือง' ให้ปรากฏ
 

  •  
  • 'ความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ' ใน 'การพัฒนาศักยภาพ' ย่อมเป็นประโยชน์ต่อ 'การพัฒนาองค์กร' และ 'การสร้างสรรค์สังคมโดยรวม' ให้ 'ประสบกับความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' และ 'ความทุ่มเทอย่างตั้งใจ' ที่จะส่งผลเป็น 'ความเจริญรุ่งเรือง' ดังที่ทุกฝ่ายได้ 'ร่วมกันพยายาม' นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'ความเสียสละอย่างมีสติ' และ 'การอุทิศตนด้วยปัญญา' โดยปราศจาก 'คำตัดพ้อต่อว่า' ด้วย 'ความท้อแท้สิ้นหวัง'
  •  
  • 'การพัฒนาศักยภาพ' อย่าง 'ไร้วิสัยทัศน์' ย่อมไม่ต่างจาก 'การก่อมูลดิน' ขึ้นเป็นหย่อมๆ อย่าง 'ระเกะระกะ' ซึ่ง 'ปราศจากคุณค่าความหมาย' ใดๆ ใน 'เชิงปฏิบัติ' และย่อม 'ไม่อาจสานสร้างคุณประโยชน์' ให้เกิดขึ้นแก่ 'องค์กร' หรือ 'สังคมโดยรวม' ได้เลย
  •  
  • 'ผู้นำที่ชาญฉลาด' ย่อมรู้จักใช้ประโยชน์จาก 'การพัฒนาศักยภาพ' ให้มี 'ความหลากหลาย' ดุจดั่งขุนเขาที่มี 'ความสลับซับซ้อน' เพื่อ 'มุ่งความสำเร็จ' โดย 'การลบล้างข้อบกพร่อง' ทั้งหลายด้วย 'การประสานทุกศักยภาพ' เข้าด้วยกัน
  •  
  • 'หลักปฏิบัติ' ที่จะนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' นั้น จำเป็นที่จะต้องผ่าน 'กระบวนการเรียนรู้' และ 'การฝึกฝน' เพื่อ 'ยกระดับแห่งศักยภาพ' ให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างมี 'ลำดับขั้นตอน' ที่ 'เหมาะสมแก่สถานการณ์' หนึ่งๆ เสมอ
  •  
  • 'การพัฒนาศักยภาพ' ให้มี 'ความพร้อม' โดย 'ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ' นั้น คือ 'ความไม่ย่อหย่อนลดละ' ใน 'สิ่งที่พึงปฏิบัติ' ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'ทุ่มเทอย่างหมดหัวใจ' โดย 'ปราศจากความเคร่งเครียดกังวล' อย่างไม่รู้ 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เหมาะสม' ของสถานการณ์


บทที่สี่สิบหกนี้เป็นบทที่มีการใช้คำอย่างค่อนข้างจะตรงตัวมากๆ บทหนึ่ง จึงทำให้ 'การตีความ' แทบจะไม่ต้องอ้างเหตุ หรือไม่ต้องหยิบยกตัวอย่างสารพัดมาประกอบการอธิบายเลย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างมี 'ความกระชับอยู่ในกรอบ' อย่างนี้ได้ก็คือ 'การเลือกความหมาย' ให้กับ 'ชื่อบท' นั่นเอง ... โดยผมได้ตัดสินใจเปลี่ยนตัวอักษร 升 (shēng, เซิง) จากในฉบับภาษาจีนที่ผมมีอยู่ ให้กลับไปใช้อักษร 昇 (shēng, เซิง) ที่ผมเชื่อว่า 'ต้นฉบับเดิม' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' น่าจะถูกบันทึกด้วยอักษรตัวนี้มากกว่า ประกอบกับว่า 'ภาพอักษร' ของ 昇 (shēng, เซิง) นั้นก็สะท้อนความหมายของ 'การยกระดับ (升) ของหยาง (日)' หรือ 'การยกระดับของศักยภาพ' ได้ชัดเจนกว่าอักษร 升 (shēng, เซิง) ที่มีความหมายด้วนๆ ว่า 'ยกให้สูงขึ้น' โดยไม่รู้ว่ากำลังจะยกอะไร ?! ... :D

ผมอยากดั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ถ้าเรา 'ตีความ' ให้กับ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ (䷭) ด้วยการแยกออกเป็นสามระดับตามความหมายแบบ ZhuqiChing แล้ว เราก็จะเห็น ⚎ (การเตรียมรับ) ; ⚍ (การเตรียมรุก) ; และ ⚏ (ความพร้อมรับ) เรียงตามลำดับจาก 'ล่างสู่บน' หรือเรียงลำดับจาก 'นโยบาย' ไปสู่ 'การปฏิบัติ' ... นั่นก็คือ ... แม้ว่า 'องค์กร' หรือ 'สังคม' หนึ่งๆ จะมี 'ความเป็นเอกภาพจากการหล่อหลอม' (Integrating) ตาม 'ข้อแนะนำ' ที่เสนอไว้ในบทที่สี่สิบห้าแล้วก็ตาม แต่ 'ความเป็นเอกภาพ' นั้นก็เป็นเพียง 'รากฐานสำคัญ' สำหรับ 'การพัฒนาศักยภาพโดยรวม' ของ 'องค์กร' หรือ 'สังคม' ให้มี 'ความพร้อม' สำหรับ 'การพัฒนา' ในขั้นต่อๆ ไปเท่านั้น ... 'องค์กร' หรือ 'ประเทศชาติ' ย่อมไม่อาจ 'พัฒนา' ให้เกิด 'ความก้าวหน้า' ใดๆ ด้วยปัจจัยเพียงแค่ 'ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' โดยไม่คิดที่จะ 'เพิ่มพูนศักยภาพ' ให้มี 'ความพร้อม' ต่อ 'ความเปลี่ยนแปลง' ของแต่ละ 'สถานการณ์' อย่าง 'ต่อเนื่อง' ... และผมเชื่อว่า นี่คือเหตุผลสำคัญที่ King Wen เลือกเรียงลำดับบทที่ว่า 昇 (shēng, เซิง) ให้ต่อท้ายบทที่ว่าด้วย 萃 (cuì, ฉุ้ย) มาอย่างติดๆ ใน 'วัฏจักรที่สี่ของหยิน' นี่แหละ !! ... ;)