Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第八卦 : 比

比 : 水地比 ‧ 坎上下坤

比 : 吉‧原筮元永貞‧無咎‧不寧方來‧後夫凶‧

  • 初六 ‧ 有孚比之‧無咎‧有孚盈缶‧終來有他‧吉‧
  • 六二 ‧ 比之自內‧貞吉‧
  • 六三 ‧ 比之匪人‧
  • 六四 ‧ 外比之‧貞吉‧
  • 九五 ‧ 顯比‧王用三驅‧失前禽‧邑人不誡‧吉‧
  • 上六 ‧ 比之無首‧凶‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา, อารมณ์ สงบนิ่ง (⚏) พลานามัย สดชื่น (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'แผนปฏิบัติการ' หนุนเนื่อง 'บุคลากร', ภายในนิ่งสงบ (⚏), ปฏิบัติการอย่างแข็งขันนุ่มนวล (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการผูกสัมพันธ์, แอ่งน้ำเหนือธรณี ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Communing : การผูกสัมพันธ์


โดยทั่วไปแล้ว อักษร 比 (bǐ, ปี่) จะถูกใช้ในความหมายว่า 'เปรียบเทียบ', 'แข่งขัน' หรือ 'ประชันกัน' แต่ก็ไม่ใช่ในลักษณะของ 'การต่อสู้' เพื่อ 'เอาเป็นเอาตาย' กัน เพราะคำว่า 比 มักจะใช้ในความหมายของ 'การเปรียบเทียบ' เพื่อพิจารณา 'ความคล้าย' มากกว่าที่จะจำแนก 'ความแตกต่าง'

'ภาพอักษร' เดิมของ 比 จะดูคล้าย 'คนสองคน' กำลัง 'เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กัน' ซึ่งเป็นลักษณะของ 'การอยู่ร่วมกันฉันมิตร' … โดยในสมัยหนึ่ง 比 คือคำที่ใช้เป็น 'หน่วยนับ' สำหรับการกำหนดขนาดของชุมชนของจีน หรือการนับจำนวนครัวเรือนภายในชุมชนหนึ่งๆ ซึ่งจะนับจำนวนห้าหลังคาเรือนเป็นหนึ่ง 比 แล้วก็จะมีการคัดเลือกตัวแทนหนึ่งคนจากแต่ละ 比 เอาไว้คอยประสานงานกับชุมชนอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น คำว่า 比 จึงสามารถที่จะแปลว่า 'เพื่อนบ้าน' หรือ 'ชุมชนใกล้เคียง' หรือสามารถที่จะขยายความหมายไปเป็น 'มิตรประเทศ' ก็ได้ จนกระทั่งมีความหมายว่า 'การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ' ซึ่งจะมีลักษณะของ 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' คอยให้ 'ความช่วยเหลือ' หรือให้ 'ความสนับสนุน' ซึ่งกันและกัน … อันทำให้ผมนึกถึงคำว่า Commune มากกว่าที่จะนึกถึงคำอื่นในภาษาอังกฤษ และแปล 'ชื่อเรียก' ของบทนี้ไว้ว่า Communing หรือ 'การผูกสัมพันธ์'

ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากบทก่อนๆ นั้น คำว่า 'การผูกสัมพันธ์' อาจจะดูเหมือนใช่ เหมือนไม่ใช่อยู่บ้าง แต่นี่คือ 'กลวิธีมหัศจรรย์' ของ King Wen และ 'จิวกง' ที่ช่วยกันปรุง 'คัมภีร์อี้จิง' ให้กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดตำราที่ยากจะหาได้จากวัฒนธรรมอื่นๆ … 'การเลือกใช้คำ' ของ King Wen เพื่อมาใช้เป็น 'ชื่อเรียก' ให้กับแต่ละสัญลักษณ์ ผนวกกับอัจฉริยภาพทางภาษาของ 'จิวกง' ที่ช่วยเขียนคำอรรถาธิบาย เพื่อขยายความให้กับ 'คำอธิบายความหมาย' ของ 'ชื่อเรียก' ในแต่ละบท ได้ทำให้เนื้อความตั้งแต่บทที่สาม จนถึงบทที่แปดนี้ กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับบทที่หนึ่งอย่างสมบูรณ์ … โดย 比 ก็คือบทที่ถูกจัดไว้เป็นคู่กับ 'วรรคที่หก' ของ 'บทที่หนึ่ง' … ซึ่ง King Wen เลือกคำที่มีความหมายก้ำกึ่งระหว่าง 'การประชันขันแข่ง' กับ 'การอยู่ร่วมกันฉันมิตร' มาเป็น 'ชื่อเรียก' ของสัญลักษณ์นี้ … ในขณะที่ 'จิวกง' สำทับลงไปด้วยวลีว่า 亢龍有悔 ในบทที่หนึ่ง เพื่อจะสื่อความหมายว่า 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ' … และทำให้ 比 ซึ่งเป็น 'ชื่อเรียก' ของบทนี้ น่าจะต้อง 'จำกัดความ' ให้หมายถึง 'การผูกสัมพันธ์' นั่นเอง

ตอนที่ผมไล่ 'ตีความ' เรียงลำดับมาจนกระทั่งถึงบทที่ห้า ผมก็เริ่มเห็น 'กลวิธีมหัศจรรย์' ของ 'พ่อ-ลูก' คู่นี้เข้าให้แล้วล่ะครับ และเริ่มเข้าใจคำว่า 見群龍無首吉 ของ 'จิวกง' ที่ใช้เป็นวลีปิดท้ายของบทที่หนึ่งในอีกความหมายหนึ่งว่า … 群龍 หรือ 'ฝูงมังกร' ในวลีนั้นก็คือ 'ขีดทั้งหก' ของบทที่หนึ่ง ซึ่งเป็น 'หยาง' ทั้งหมด จึงถูกแทนด้วยคำว่า 龍 ที่หมายถึง 'มังกร' … ส่วนคำว่า 無首 ที่แปลว่า 'ไม่มีหัว' หรือ 'ไม่มีผู้นำ' นั้น จะหมายความว่า 'ขีดทั้งหก' ได้แยกย้ายออกเป็น 'บทเอกเทศ' ของตัวเองโดยสมบูรณ์ … และคำว่า 見 ที่แปลว่า 'ดู' หรือ 'พบเห็น' จะมีความหมายว่า 'ให้พลิกไปดู' หรือ 'ให้พลิกไปอ่าน' … วลีดังกล่าว นอกจากจะมีความหมายตามที่ 'ตีความ' ไปก่อนแล้ว จึงมีอีกความหมายหนึ่งด้วยว่า 'ให้พลิกไปอ่าน (見) ขีดทั้งหก (群龍) อย่างละเอียดอีกครั้งในแต่ละบทของมันเอง (無首 ที่แปลว่าไม่มีผู้นำ ก็คือเป็นเอกเทศนั่นเอง) เพื่อความเป็นสิริมงคล (吉)' …

เห็นความเป็นสุดยอดอัจฉริยะทางภาษาของ 'จิวกง' แล้วรึยังล่ะครับ? :D ... 'จิวกง' มีความสามารถในการเลือกใช้คำที่เป็นได้ทั้ง 'ข้อแนะนำ' หรือเป็น 'คำสั่งสอน' ในแต่ละวรรคๆ ของบทหนึ่งๆ โดยที่มีใจความครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเอง พร้อมๆ กับที่อักษรชุดเดียวกันนั่นแหละ สามารถถูกพลิกความหมายให้กลายเป็นสะพานเชื่อมไปยังบทอื่นๆ ได้อีกเรื่อยๆ … แล้วนี่ก็คือ 'จิ๊กซอว์' ชิ้นที่สมบูรณ์ของบทที่หนึ่งล่ะครับ …

วรรคที่หนึ่งของบทแรก  潛龍勿用 (พึงมีความนอบน้อมไม่อวดโอ่, ศักยภาพย่อมไม่ใช่ความสามารถที่แท้จริง) จะแปลงร่างเป็นบทที่สามคือ 屯 (Zhūn, จุน : การเริ่มต้นที่จะกระทำการใดๆ ย่อมไม่ใช่เริ่มจากการอวดโอ่ศักดา หรือ อานุภาพของตนเอง แต่จะต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายให้โดดเด่นเห็นชัด และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ อย่างถูกต้อง)

วรรคที่สองของบทแรก 見龍再田利見大人 (ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น และพร้อมจะยอมรับผู้อื่นอย่างยินดี) จะแปลงร่างเป็นบทที่สี่คือ 蒙 (Méng, เมิ๋ง : ความรู้มิใช่ฝ่ายที่เรียกร้องให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องรับเอาไว้ หากแต่เป็นผู้ฝักใฝ่ในความรู้ต่างหาก ที่จะต้องเป็นฝ่ายร้องหา และไขว่คว้ามาด้วยตนเอง … แม้ว่าเบื้องต้นจะต้องมีการเคี่ยวเข็ญตักเตือน แต่เมื่อได้ซึมซับผ่านการฝึกฝน และการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัยแล้ว การว่ากล่าวตักเตือน ย่อมไม่มีความจำเป็นใดๆ อีก นี่จึงเป็นคุณธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง)

วรรคที่สามของบทแรก 君子終日乾乾夕惕若厲無咎 (ปราชญ์ย่อมเกิดจากความมุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะพยายามในการฝึกฝน และบากบั่นเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีจิตใจตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท มีความตื่นตัว มีความรอบรู้ มีความรอบคอบ รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด โดยไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ) จะแปลงร่างเป็นบทที่ห้าคือ 需 (Xü, ซฺวี : การรอคอยจังหวะนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการเตรียมการที่ดี และจะต้องมีความตื่นตัวต่อทุกๆ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เพื่อจะปรับตัวให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ต่างๆ และพร้อมที่จะฟันฝ่าไปจนถึงที่สุดแห่งความมุ่งหวังของตนได้)

วรรคที่สี่ของบทแรก 或躍在淵無咎 (การจะกระโดดให้สูง ย่อมเริ่มจากการย่อตัวให้ต่ำ ไม่ใช่ทั้งเรื่องที่ผิดแปลก หรือสิ่งวิเศษวิโสใดๆ) จะแปลงร่างเป็นบทที่หกคือ 訟 (Sòng, ซ่ง : การชิงลงมือนั้น มีที่ต้องเตรียมพร้อม, มีที่ต้องหยุดยั้ง, มีที่ต้องระมัดระวัง, และมีที่ต้องหนักแน่น … แม้นจะมีความพลาดพลั้งเสียหาย ต้องรู้จักรอคอยจังหวะที่เหมาะสม ไม่ควรหุนหันบุ่มบ่ามด้วยชะล่าใจ)

วรรคที่ห้าของบทแรก 飛龍在天利見大人 (พึงรู้จักกาลเทศะที่เหมาะสมในการแสดงศักยภาพ และปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น) จะแปลงร่างเป็นบทที่เจ็ดคือ 師 (Shī, ซือ : ต้องคำนึงถึงหลักคุณธรรม และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสม จึงจะเป็นผลดี โดยไม่ก่อความผิดพลาดเสียหายให้ผู้อื่นค่อนขอดว่าร้ายในภายหลัง)

และวรรคที่หกของบทแรก 亢龍有悔 (ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ) ก็จะต้องแปลงร่างมาเป็นบทที่แปด ซึ่งก็คือ 比 (Bǐ, ปี่) นี่แหละ ;) … นั่นคือจะต้องหลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคอยให้ความช่วยเหลือจุนเจือกันฉันญาติมิตร โดยไม่มีความคิดที่จะแก่งแย่งแข่งดีใดๆ … ซึ่งจะเป็นไปตามนั้นจริงๆ มั้ย เราก็ต้องมาดูความหมายที่ King Wen บันทึกไว้กันหน่อยแล้วล่ะ ;) … เพราะผมประเมินเอาเองจากทิศทางที่มันควรจะเป็นเฉยๆ :D



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
吉原筮元永貞無咎不寧方來後夫凶
jí yuán shì yuán yǒng zhēn wú jiù bù níng fāng laí hòu fú xiōng
จี๋ เยฺวี๋ยน ษื้อ เยฺวี๋ยน หฺย่ง เจิน อู๋ จิ้ว ปู้ นิ๋ง ฟัง ไล๋ โฮ่ว ฟู๋ เซฺวิง


原 อ่านว่า yuán (เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'แรกเริ่ม', 'ดั้งเดิม', 'เริ่มต้น', 'บุกเบิก' ; มันจึงสามารถแปลว่า 'ทุ่งราบโล่ง (ที่ยังไม่ถูกรุกล้ำ)' ; ใน 'ความดั้งเดิม' และ 'การบุกเบิก' นั้นก็เลยหมายถึง 'ของแท้' หรือ 'ของจริง (ที่ไม่มีการปรุงแต่ง)' และสามารถแปลว่า 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย' เพราะว่าเป็น 'ของแท้' ; จึงสามารถที่จะหมายถึง 'ยินยอมพร้อมใจ' ได้ ; ส่วนในอาการของ 'การบุกเบิก' ก็เลยรวมความหมายของ 'การสำรวจ' เอาไว้อีกความหมายหนึ่งด้วย ;)

หากพิจารณาจากความหมายของ 原 (yuán, เยฺวี๋ยน) ตามที่เล่ามานี้ มันก็จะมีความหมายคล้ายกับ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ที่ออกเสียงเหมือนกัน โดย 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) มีความหมายว่า 'หัว', 'เริ่มต้น', 'ใหญ่', 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ', 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม', 'ความสร้างสรรค์' … ในวลีที่ว่า 原筮元永貞 ของ King Wen จึงเป็นกลเม็ด 'การเล่นคำซ้ำ' ที่น่าสนใจอีกคู่หนึ่ง และเป็นร่องรอยสำคัญที่บ่งบอกว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ไม่ใช่ 'ตำราหมอดู' อย่างแน่นอน ;)

筮 อ่านว่า shì (ษื้อ) พัฒนามาจาก 'ภาพอักษร' ที่ประกอบด้วย 竹 (zhú, จู๋) ซึ่งแปลว่า 'ไม้ไผ่', 'ไม้' หรือ 'กิ่งไม้' จากพืชที่มีลักษณะคล้าย 'ต้นไผ่' (อยู่ตรงด้านบนของตัวอักษร) … ผสมกับตัวอักษร 巫 (wū, อู) ที่แปลว่า 'พ่อมด', 'หมอผี' หรือพวก 'ผู้วิเศษ' ที่สามารถสื่อสารกับพลังเหนือธรรมชาติ (อยู่ตรงด้านล่างของตัวอักษร) … กลายมาเป็นตัวอักษร 筮 (shì, ษื้อ) ที่ปรกติแล้วจะหมายถึง 'ไม้เซียมซี' หรือ 'ไม้ติ้ว' ที่ใช้ใน 'การเสี่ยงทาย' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'การทำนาย', 'คำทำนาย', 'โชคชะตา', 'ลิขิตชีวิต'

寧 อ่านว่า níng (นิ๋ง) แปลว่า 'สงบ', 'หนักแน่น', 'แน่วแน่', 'มั่นคง'

สำหรับตัวอักษร 夫 ในวรรคนี้น่าจะไม่ได้หมายถึง 'คน' หรือ 'มนุษย์' แต่น่าจะถูกใช้ในลักษณะของ 'คำเชื่อมประโยค' เหมือนกับคำว่า this หรือ that ในภาษาอังกฤษ ; ซึ่งบางครั้งก็ใช้เป็นคำขึ้นต้นประโยค หรือเป็นคำนำหน้าคำนามอื่นๆ โดยไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจงใดๆ เพราะฉะนั้น การออกเสียงของตัวอักษร 夫 ในประโยคนี้ จึงต้องออกเสียงว่า fú (ฟู๋) ไม่ใช่ fū (ฟู) เหมือนกับที่เคยเจอในบทก่อนๆ

King Wen อธิบายความหมายของ 比 (bǐ, ปี่) หรือ 'การผูกสัมพันธ์' ไว้ว่า 'คือนำมาซึ่งความสำเร็จ และความสุขสวัสดี (吉) ด้วยโชคชะตาที่แท้จริง (原筮) นั้น ย่อมสืบเนื่องมาจาก (元) ความประพฤติที่มั่นคง (永) ในหลักแห่งคุณธรรม (貞) อย่างไม่เสื่อมคลาย (無咎 คือไม่ผิดเพี้ยน) หากมิใช่เพราะความหนักแน่นซื่อตรง (不寧方來) ผลลัพธ์ที่ตามมา (後) ย่อมจะมีแต่เภทภัย (夫凶)' … แล้วลองเอาไปจับคู่กับวรรคที่หกของบทที่หนึ่งดูสิ ;) … 亢龍有悔 (ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ) … ความหมายที่เปรียบเปรยไว้ว่า 'มังกรที่เห่อเหิมทะเยอทะยาน' (亢龍) นั้น ก็จะสอดรับกับวลีที่ว่า 'ไม่มีความหนักแน่นซื่อตรง (ต่อหลักแห่งคุณธรรม)' (不寧方來) หรือถ้าจะแปลหยาบๆ ก็คือ 'ซี่ซั่วไล้' ทันที … โป๊ะเชะ !!! :D

แล้ววลีเด็ดของ King Wen ที่ทำให้ผมยืนยันว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ไม่ใช่ 'ตำราหมอดู' นั้นก็คือ 原筮元永貞 ซึ่งผม 'ตีความ' ไว่ว่า 'โชคชะตาที่แท้จริง ย่อมสืบเนื่องมาจากความประพฤติที่มั่นคงในหลักแห่งคุณธรรม' … ;) … อันนี้ original เลยล่ะครับ เพราะไม่ใช่วลีที่ผู้อื่นบันทึกไว้ให้ แต่เป็นวลีของ 'ต้นตำรับ' แห่ง 'คัมภีร์อี้จิง' ของแท้ๆ เลยทีเดียว … ;) … แต่ก็อย่างว่าแหละนะ สมมุติว่าใครที่เชื่อในเรื่อง 'โชคชะตาแบบฟ้าลิขิต' เขาก็จะ 'ตีความ' ให้วลีนี้ไปเข้าทางในแบบของเขาว่า 'จงยอมรับในโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตไว้ซะ และก้มหน้าก้มตาแบกรับมันไปอย่างถาวรตลอดกาลเลย..เอย..เว้ย..โห่ฮิ้วว !!' … บ้ากันไปเองแล้วกันนะ เพราะผมไม่เอาด้วยหรอกไอ้แบบนั้นน่ะ !! .. :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

有孚比之無咎有孚盈缶終來有他吉
yǒu fú bǐ zhī wú jiù yǒu fú yíng fǒu zhōng lái yǒu tā jí
โหฺย่ว ฟู๋ ปี่ จือ อู๋ จิ้ว โหฺย่ว ฟู๋ อิ๋ง โฝ่ว ง ไล๋ โหฺย่ว ทา จี๋


盈 อ่านว่า yíng (อิ๋ง) แปลว่า 'เติม', 'เต็ม', 'ทำให้เต็ม', 'ล้น', 'ส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไป', 'เสริม' ; 'ทำให้เพิ่มขึ้น', 'ทำให้สมบูรณ์', 'ทำให้งอกเงย', 'ทำให้พึงพอใจ', 'เพียงพอ'

缶 อ่านว่า fǒu (โฝ่ว) แปลว่า 'ไห', 'ขวดโหล' หรือ 'ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำ' … สำหรับที่ใช้ในวรรคนี้ น่าจะสื่อความหมายถึง 'หัวใจ' หรือ 'น้ำใจ'

他 อ่านว่า tā (ทา) ปรกติใช้เป็น 'สรรพนามบุรุษที่สาม' เหมือน he, him หรือ his ในภาษาอังกฤษ จึงสามารถแปลว่า 'คนอื่นๆ', 'บุคคลทั่วๆ ไป' บางที่ก็มีความหมายว่า 'สิ่งอื่นๆ' ซึ่งอาจจะไม่ใช่บุคคล

ส่วน 孚 (fú, ฟู๋) เคยเล่าไปแล้วว่า มันหมายถึง 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

วรรคนี้มีความหมายเรียบๆ เลยครับว่า 'สัมพันธภาพที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้นั้น (有孚比之) ย่อมปราศจากความระหองระแหง (無咎) เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความเอื้อเฟื้อ และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน (有孚盈缶) ท้ายที่สุดแล้ว (終來) ทุกๆ ฝ่ายก็จะสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ (有他 หมายถึงมีกันและกัน) และนำไปสู่ความสำเร็จ (吉)'

 

สอง หยิน :

比之自內貞吉
bǐ zhī zì nèi zhēn jí
ปี่ จือ จื้อ เน่ย เจิน จี๋


自 อ่านว่า zì (จื้อ) แปลว่า 'ตัวเอง', 'ส่วนตัว' ; จึงมีความหมายว่า 'เริ่มต้นจาก', หรือ 'ตั้งแต่' ในลักษณะที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่ 'เริ่มต้นจากตัวเอง' ทั้งสิ้น

內 อ่านว่า nèi (เน่ย) แปลว่า 'ข้างใน', 'ภายใน', 'เครื่องใน', 'จิตใจ' ; บางครั้งเคยหมายถึง 'ผู้หญิง' หรือ 'ภรรยา' ซึ่งเปรียบเสมือน 'สิ่งล้ำค่าในครัวเรือน' ด้วยเหมือนกัน

ความหมายชักจะหวานมากขึ้นไปอีก … :D … 'ในการผูกสัมพันธ์นั้น (比之) จะต้องเริ่มต้นจากความปรารถนาที่มาจากส่วนลึกของจิตใจ (自內) อย่างหนักแน่นและมั่นคง (貞) จึงจะก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ยั่งยืน (吉)'

ข้อนี้ถือว่าเป็นการย้ำความหมายให้กับวรรคที่หนึ่งที่บอกว่า 'สัมพันธภาพที่ดีต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้' ซึ่งก็คือ 'ต้องมีความจริงใจต่อกัน' … ไม่ใช่แค่เออๆ ออๆ ไปตามเรื่องตามราวเพราะหวังเพียงผลประโยชน์ หรือเพียงเพื่อต้องการจะประจบประแจงเอาอกเอาใจเฉยๆ โดยไม่ได้มีแก่นสารที่แท้จริงมาจาก 'ความตั้งใจ' … ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่เกิดจาก 'การใส่หน้ากากเข้าหากัน' หรือเกิดจาก 'การสร้างภาพ' เพื่อหวังผลในทางอื่นที่ไม่ใช่ 'การสร้างความสัมพันธ์' ย่อมเป็นสัมพันธภาพที่ 'ฉาบฉวย' ซึ่งจะไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในระยะยาวได้เลย

 

สาม หยิน :

比之匪人
bǐ zhī fěi rén
ปี่ จือ เฝ่าย เญิ๋


โอ้ว … พระเจ้า !! … เหมือนไม่เต็มประโยคเลยครับสำหรับวลีนี้ … และมันคงจะต้องแปลกมากหาก 'จิวกง' ไม่ได้ซุกซ่อนอะไรอยู่ในคำง่ายๆ เพียงไม่กี่ตัวอักษรเหล่านั้น … ??!!??

匪 (fěi, เฝ่ย) เป็นคำที่มีความหมายไม่ค่อยดีครับ เพราะมันแปลว่า 'ไม่ดี', 'ชั่วร้าย' ; บางครั้งยังแปลว่า 'การปล้น', 'โจรผู้ร้าย', หรือ 'อันธพาล' ; แต่ถ้าในความหมายกลางๆ ก็จะใช้ในลักษณะของ 'การปฏิเสธ' เหมือนกับ 非 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ถูก', 'ไม่จริง' หรือ 'ไม่มี'

แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็น 'อักษรโบราณ' ของ 篚 (fěi, เฝ่ย) ที่หมายถึง 'ตะกร้า' ซึ่งในสมัยก่อนก็คือพวกภาชนะที่สานขึ้นมาจากไม้ (มีตัว  竹 กำกับอยู่ด้านบน) เพื่อเอาไว้ใส่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ … ไอ้ตรงที่สามารถสื่อถึงภาชนะใส่ของได้นี่แหละที่ยุ่งหน่อย เพราะมันทำให้ 匪 (fěi, เฝ่ย) สามารถแปลว่า 'เก็บรวมรวม' ในลักษณะที่เป็นการนำมาไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน, หรืออาจจะหมายถึง 'การคัดแยก' ในลักษณะที่เป็น 'การจำแนก' สิ่งของ เพื่อแยกเก็บเป็นตะกร้าๆ ก็ได้ด้วย ; แล้วเมื่อมันเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ฝีมือในการสร้างมันขึ้นมา มันก็เลยมีความหมายเหมือนกับ 斐 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'สวยงาม', 'สง่างาม', หรือ 'น่าทึ่ง' ได้อีกต่างหาก !!!!

ส่วนอีกความหมายหนึ่งของ 匪 (fěi, เฝ่ย) นั้นก็ไม่ถึงกับคล้ายกับ 'การปล้น' ซักเท่าไหร่ เพราะมันจะหมายถึง 'การแจกจ่าย' หรือ 'การแบ่งปัน' ในลักษณะที่เป็นการนำสิ่งของมาจากผู้หนึ่งผู้ใด แล้วไป 'บริจาค' ให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเดิม

ส่วนคำว่า 人 (rén, เญิ๋น) ผมลองค้นดูแล้วก็ไม่เห็นมีความหมายอื่นที่พิเศษพิสดารอะไร เพราะมันแปลว่า 'คน' ซึ่งก็อาจจะหมายถึง 'ตัวเอง', 'คนอื่น', หรือ 'มนุษย์โดยทั่วไป' … อาจจะมีความหมายอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ก็กระเดียดไปทางที่เกี่ยวข้องกับ 'มนุษย์' ซะหมด จึงไม่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึง

เมื่อไม่มี context clues ใดๆ ในวรรคนี้ของมันเองที่บ่งบอกว่าจะ 吉 หรือจะ 咎 ผมก็ต้องหาเรื่องมั่วเอาเองล่ะครับงานนี้ :D … ซึ่งก็ต้องอาศัย 'ลูกไม้เดิม' ครับ … ดูที่ 'ความต่อเนื่อง' เป็นหลัก …

วรรคที่หนึ่งบอกว่า 'สัมพันธภาพที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้นั้น ย่อมปราศจากความระหองระแหง เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความเอื้อเฟื้อ และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดแล้ว ทุกๆ ฝ่ายก็จะสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ และนำไปสู่ความสำเร็จ' … อันนี้มาเบ่งความหมายต่อในวรรคที่สองว่า 'ในการผูกสัมพันธ์นั้น จะต้องเริ่มต้นจากความปรารถนาที่มาจากส่วนลึกของจิตใจ อย่างหนักแน่นและมั่นคง จึงจะก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ยั่งยืน' … เพราะฉะนั้น วรรคที่สามจึงน่าจะมีความหมายว่า 'การจะผูกสัมพันธ์กับผู้ใดนั้น (比之) จึงต้องรู้จักแยกแยะประเภทของผู้คน (匪人) ให้ถ่องแท้ด้วย'

แต่หากเราไม่สนใจอะไรเลย โดยเราแปลตัว 人 ว่า 'ตัวเอง' คำว่า 匪人 ก็อาจจะแปลว่า 'อย่าเห็นแก่ตัว' ได้ง่ายๆ … ซึ่งก็จะทำให้วรรคนี้มีความหมายว่า 'ในการผูกสัมพันธ์นั้น (比之) จะต้องละวางอัตตา (匪人) โดยไม่มุ่งเพียงประโยชน์ตนแต่เพียงฝ่ายเดียว' … หรือถ้าเราจะมองในมุมที่กว้างออกไป คำว่า  匪人 ก็อาจจะหมายถึง 'ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา' เรียกว่า 'อยู่กันอย่างสมานฉันท์' ซึ่งก็น่าจะดีไปอีกแบบ :D … เพราะมันจะหมายถึง 'ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้น (比之) ย่อมต้องไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา (匪人)' … 'ผลประโยชน์ท่าน' ก็คือ 'ผลประโยชน์เรา' เรียกว่าต้องถัวๆ ให้มัน 'เจ่าเจ๊า' ทั้งผิดและชอบด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ใช่จัดสรรปันส่วนในลักษณะที่ว่า 'ดีก็กูได้ ร้ายก็มึงเอาไป' เพราะไอ้แบบนั้นมันก็จะเข้าข่าย 'เห็นแก่ตัว' ไปซะอีก … :D …

แล้วถ้าเราคิดแผลงๆ โดยแปลตัว 比 ให้เป็น 'การเปรียบเทียบ' เพื่อ 'ชิงดีชิงเด่น' กัน คำว่า 匪人 ก็อาจจะแปลว่า 'เสียคน' หรืออาจจะ 'เสียเพื่อน' ไปเลยก็ได้ … แล้วถ้าปากจัดๆ หน่อยก็อาจจะแปลว่า 'ไม่นับเป็นผู้เป็นคน' ไปซะ !!?? … :D … หรือถ้าเราจะตีความให้ตัว 匪 มีความหมายเหมือนกับ 匪寇 (fěi kòu, เฝ่ย โค่ว) ที่เล่าไว้ในบทที่สาม ซึ่ง 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การบังคับแข็งขืน' … วลีที่ว่า 比之匪人 ในวรรคนี้ ก็อาจจะแผลงความหมายเป็น 'การเปรียบเทียบเพื่อหวังชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน (比之) ย่อมนำไปสู่การกดข่มผู้อื่น (匪人) ให้ด้อยคุณค่าลงเสมอ' … ซึ่งมันก็จะไปคล้องความหมายกับคำว่า 亢龍 ของวรรคที่หกในบทที่หนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยาน' โดย 'จิวกง' ได้สำทับไว้แล้วว่า มันจะ 'ซวย' (有悔) … :D … ทั้งหมดนั่นก็คือ 'เสน่ห์ของความไม่รู้เรื่อง' ล่ะครับ เพราะมันจะทำให้เราต้องคิดใคร่ครวญจากหลายๆ ด้าน ซึ่งอาจจะนำไปสู่มุมมองที่ผิดแผกแตกต่างออกไปได้เรื่อยๆ … ;)

 

สี่ หยิน :

外比之貞吉
wài bǐ zhī zhēn jí
ไว่ ปี่ จือ เจิน จี๋


外 อ่านว่า wài (ไว่) มีที่มาจากตัว 夕 (xī, ซี) ที่แปลว่า 'โพล้เพล้', 'ย่ำค่ำ' หรือ 'เอียงๆ' กับตัว 卜 (bǔ, ปู่) ซึ่งแปลว่า 'เสี่ยงทาย', 'คำทำนาย', หรือ 'ความเชื่อ' จึงมีความหมายเหมือนกับ 'ไม่ชัดเจน' เพราะอยู่ 'ห่างไกลจากความเป็นจริง' … ส่วนใหญ่จึงใช้ในความหมายว่า 'ข้างนอก', 'รอบนอก', 'วงนอก', 'ห่างไกล' ; 'ผู้อื่น', 'คนอื่น', 'คนนอก' ; 'แปลกปลอม', 'แตกต่าง', 'ไม่เป็นทางการ' หรืออาจจะหมายถึง 'พิลึกพิลั่น' … :D ; อาจจะแปลว่า 'นอกเหนือจาก', 'ส่วนที่เพิ่มเติม', หรือถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ขับออก', 'ไล่ออก', 'ทอดทิ้ง' หรือ 'เบี่ยงเบน' ; หรืออาจจะแค่กลางๆ ว่า 'แสดงออก'

สมมุติว่าเอาคำ 貞吉 มาตั้งเป็น 'ตัวประกอบร่วม' … เล่นพีชคณิตอีกละ !! :D … วรรคที่สองกับวรรคที่สี่ก็จะถูกเขียนลำดับใหม่เป็นอย่างนี้ครับ … (比之自內‧外比之)‧貞吉 ความหมายก็แทบจะต่อเนื่องกันเป็น 'ในการผูกสัมพันธ์นั้น (比之) จะต้องเริ่มต้นจากความปรารถนาที่มาจากส่วนลึกของจิตใจ (自內) และต้องสอดคล้องกับการแสดงออก (外比之) ที่ต้องหนักแน่นและมั่นคง (貞) จึงจะก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ยั่งยืน (吉)'

ความหมายก็คือว่า ลำพังแค่ 'ความจริงใจ' เพียงอย่างเดียวนั้นน่าจะยังไม่พอ เราจำเป็นต้องมี 'การแสดงออกที่หนักแน่นและมั่นคง' ด้วย จึงจะสามารถสานสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่นั่งมองหน้ากันไป มองหน้ากันมาเฉยๆ แล้วก็จะรักกันปานจะกลืนกินขึ้นมา :D แล้วก็ไม่ใช่เอาแต่หนีบๆ เหนียมๆ แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ เหมือนไม่เต็มใจ แล้วก็จะสามารถรักกันอย่างดูดดื่มได้ :) … 'ความจริงใจ' จึงต้องมี 'การแสดงออกอย่างจริงจัง' ที่ 'สมน้ำสมเนื้อกัน' เป็นองค์ประกอบด้วยเท่านั้น จึงจะสานสร้างให้เกิดเป็น 'สัมพันธภาพที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน' ขึ้นมาได้อย่างยั่งยืน

เอาใหม่ !! … สมมุติว่าไม่เล่นพีชคณิตก็ได้ … :D … ผมก็จะจับเอามันไปรวมกับวรรคที่สามแทน ;) แล้วก็จะได้ออกมาเป็น 比之匪人‧外比之貞吉 ซึ่งก็จะมีความหมายว่า 'การผูกสัมพันธ์นั้น (比之) จะต้องลดละอัตตา โดยไม่มุ่งเพียงประโยชน์ตน (匪人) แต่ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียม (外比之) ด้วยหลักการ และทำนองคลองธรรมที่ถูกต้อง (貞) จึงจะสานสร้างสัมพันธภาพที่ยั่งยืน (吉) ขึ้นมาได้'

หรือไม่งั้นก็เอาแบบไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับวรรคไหนๆ เลย ความหมายของวรรคนี้ก็จะกลายเป็น 'การจะขยายขอบเขตความสัมพันธ์ให้กว้างไกลออกไปนั้น (外比之) สำคัญที่ต้องยึดถือหลักแห่งคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย (貞) จึงจะประสบกับความสำเร็จ (吉)'

อย่างไรก็ตาม โดยปรกติของ 'การตีความ' แต่ละวรรคของ 'จิวกง' ใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น หลายๆ ตำรามักจะจับให้วรรคที่หนึ่งไปคู่กับวรรคที่หก, วรรคที่สองไปคู่กับวรรคที่ห้า, และวรรคที่สามไปคู่กับวรรคที่สี่ … แต่ก็มีบางครั้งที่มีการนำเอาวรรคที่สี่ไปคู่กับวรรคที่หนึ่ง … ซึ่งในกรณีของวรรคนี้ ถึงแม้ว่าจะนำไปจับคู่กับวรรคที่หนึ่งจริงๆ ความหมายก็ไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก คือเป็นเรื่องของ 'การแสดงออก' ที่ต้อง 'ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน' (外比之) ซึ่งก็ไปสอดรับกับวลีที่ว่า 有孚盈缶 (ต่างฝ่ายต่างมีความเอื้อเฟื้อ และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน) ที่ปรากฏอยู่ตรงช่วงท้ายของวรรคแรก ในขณะที่ทั้งสองวรรคนี้ ต่างใช้ตัว 吉 มาปิดท้ายวลีเหมือนๆ กัน มันจึงไม่แปลกหากเราจะ 'ตีความ' ให้ 貞 ที่หมายถึง 'คุณธรรม' นั้น ก็คือ 'รากฐานสำคัญ' ที่จะก่อให้เกิด 'การพึ่งพาอาศัยกันได้ในที่สุด' (終來有他)

 

ห้า หยาง :

顯比王用三驅失前禽邑人不誡吉
xiǎn bǐ wáng yòng sān qü shī qián qín yì rén bù jiè jí
เซี๋ยน ปี่ วั๋ง โยฺว่ง ซัน ชฺวี ซือ เชี๋ยน ชิ๋น อี้ เญิ๋น ปู้ เจี้ย จี๋


顯 อ่านว่า xiǎn (เสี่ยน) แปลว่า 'เปิดเผย', 'ไม่ปกปิด', 'ชัดเจน', 'โดดเด่น', 'เป็นสง่า', 'เจิดจ้า', 'เป็นแบบอย่าง', ; ในสมัยหนึ่งยังหมายถึง 'องอาจ', 'ผ่าเผย', 'มีอิทธิพล' (influence), หรือ 'เป็นที่เคารพนับถือ'

驅 อ่านว่า qü (ชฺวี) แปลว่า 'กระตุ้น', 'เร่งรัด', 'ขับไล่', 'เสือกไส', 'ขับเคลื่อน', 'วิ่งด้วยความเร็ว', โดยปรกติจะใช้กับ 'การขี่ม้า' ที่มักจะมี 'การกระทุ้ง' หรือ 'กระตุ้น' ด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ม้าวิ่งเร็วๆ ไม่ว่าจะเป็นการ 'วิ่งหนี' หรือ 'ติดตามล่า' ก็ตาม

失 อ่านว่า shī (ซือ) แปลว่า 'ละทิ้ง', 'ปล่อยวาง', 'ทิ้งขว้าง', 'ไม่สนใจ', 'สูญเสีย', 'สูญหาย', 'หาไม่พบ', 'คลาดเคลื่อน', 'เบี่ยงเบน', 'ผิดพลาด', หรือ 'เลอะเลือน'

前 อ่านว่า qián (เชี๋ยน) แปลว่า 'ข้างหน้า', 'เบื้องหน้า', 'เฉพาะหน้า', 'ที่มาก่อนหน้า (หมายถึงอดีต)', 'ลำดับก่อนหน้า', 'มุ่งไปข้างหน้า', 'ดำเนินการต่อไป (ข้างหน้า)', 'นำไปข้างหน้า' ; บางครั้งก็ยังใช้ในความหมายว่า 'ตัด', 'เล็ม', หรือ 'ขลิบ' เหมือนกับตัวอักษร 翦 หรือ 剪 (jiǎn, เจี่ยน)

誡 อ่านว่า jiè (เจี้ย) แปลว่า 'ประกาศ', 'คำสั่งที่ประกาศ', 'ประกาศเตือน', 'ให้คำแนะนำ', 'ชี้แจง', 'บอกให้รับรู้'

หลายๆ ตำรามักจะ 'ตีความ' วรรคนี้ด้วยความหมายแบบโดดๆ โดยไม่นำไปข้องเกี่ยวกับวรรคใดๆ ในบทเดียวกันนี้เลย แถมยังว่ากันตรงๆ ตามความหมายของแต่ละตัวอักษรอีกต่างหาก จึงทำให้มันมีความหมายไปพาดพิงถึง 'การล่าสัตว์' ในยุคโบราณของจีน ที่จะมีการ 'ไล่ต้อน' ฝูงสัตว์ด้วยการ 'โอบล้อมเข้ามาทั้งสามด้าน' (三驅) เพื่อให้ 'กษัตริย์' (王) 'สำเร็จพระหฤหรรษ์' ได้ง่ายๆ โดยยังมี 'ข้อแก้พระกาย' ว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่ใช่ 'การล้อมสังหาร' แต่เป็น 'พระกรุณา' ที่ยัง 'ทรงพระหวัง' ว่า จะเป็นการเปิดโอกาสให้สัตว์เหล่านั้นหนีเล็ดลอดไปได้ … บ้าง !!

บอกตรงๆ เลยครับว่า เป็น 'ข้อแก้พระกาย' ที่ฟังแล้วยากจะกระเดือกลงคอจริงๆ … :D … หนำซ้ำมันก็แทบจะแถไปคนละทิศคนละทางกับ 'ชื่อบท' ที่หมายถึง 'การผูกสัมพันธ์' หรือ 'การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ' ชนิดที่เข้ารกเข้าพงไปถึงไหนต่อไหนเลยก็ไม่รู้ … เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องละเลงตามแบบฉบับของผมเองอีกตามเคย !! … :D

อ้ะ … เอาไปจับคู่กับวรรคที่สองแล้วกัน 比之自內貞吉 (การผูกสัมพันธ์นั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยความปรารถนาอันหนักแน่นมั่นคงที่มาจากส่วนลึกของจิตใจ จึงจะเป็นสัมพันธภาพที่ยั่งยืน) ดังนั้น 'ความเรืองรองแห่งสัมพันธภาพ (顯比) ย่อมสำคัญที่ (王) ใช้ความเพียรในการบ่มเพาะ (用三驅) โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์เพียงเฉพาะหน้า (失前禽) และต้องไม่โฆษณา (ความดี หรือความเสียสละของตน) ไปจนทั่ว (邑人不誡) สัมพันธภาพจึงจะยั่งยืน (吉)'

ผมเลือกถอดรหัสตัว 王 ให้หมายถึง 'ความสำคัญสูงสุด' แทนที่จะให้หมายถึง 'เจ้าแคว้น' … และให้ตัว 三 หมายถึง 'บ่อยๆ', 'ถี่ๆ', หรือ 'เพียรพยายาม' เหมือนที่เคยใช้ในความหมายนี้มาหลายครั้งแล้ว … ส่วน 驅 ที่แปลว่า 'กระตุ้น' เมื่อใช้ในแง่ของ 'ความสัมพันธ์' ก็น่าจะต้องแปลว่า 'เจริญสัมพันธไมตรี', หรือ 'บ่มเพาะและหล่อเลี้ยงความสนิทชิดเชื้อ' … สำหรับ 禽 ที่แปลว่า 'คว้า', 'จับ' หรือ 'เอามาเลี้ยงดู' นั้น เมื่อเอามาผสมกันเป็น 前禽 ก็จะหมายถึง 'สิ่งตรงหน้าที่สามารถคว้าเอามาได้' จึงก็ทำให้ 失前禽 มีความหมายว่า 'อย่า-งก' … :D … คือให้รู้จัก 'เสียสละ' ผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อหวังผลในความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน … แล้วเมื่อมี 'การเสียสละ' บ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ต้อง 'ร้องแรกแหกกระเชอ' ว่าเป็นคุณงามความดีที่ใครๆ ควรจะต้องยกย่องสรรเสริญ หรือจะต้องสำนึกในบุญในคุณอะไรให้วุ่นวายด้วย … ;) … ผสมความหมายกับวรรคที่สองได้เนียนดีมั้ยล่ะ ??!!

เอาใหม่ … สมมุติว่า ถ้าผมนึกอยากจะ 'ตีความ' วรรคนี้แบบโดดๆ เหมือนกับคนอื่นๆ เขามั่งล่ะ ??!! … แล้วก็เกิดนึกอยากจะให้ 三驅 หมายถึง 'อะไรซักสามเรื่อง' ที่เราจะต้องยึดถือเป็น 'หลักสำคัญ' (王) ในการสานสร้างความสัมพันธ์ให้เรืองรอง (顯比) … 'สามเรื่อง' หรือ 'เครื่องมือสามประเภท' ในการเจริญสัมพันธไมตรี คืออะไรดี ?! … เพราะอย่าลืมนะครับว่า 驅 มีที่มาจากความหมายของ 'การกระตุ้นม้า' ซึ่งก็อาจจะมีทั้งแส้, spur, หรือเครื่องมือชนิดอื่นๆ ประกอบกัน 三驅 จึง 'อาจจะ' หมายถึง 'หลักสามประการในการกระตุ้นความสัมพันธ์' … ซึ่งหลักการทั้งสามก็คือ (1) 失前, (2) 禽邑人, และ (3) 不誡

ข้อ (1) 失前 อาจจะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า' … ข้อ (2) 禽邑人 อาจจะแปลห่วยๆ ด้วยความหมายว่า 'เลี้ยงคนให้เชื่อง' ... :D … แต่จริงๆ แล้วใน 'การทำให้เชื่องเชื่อ' ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของ 禽 นั้น ลึกๆ ลงไปในกระบวนการดังกล่าว มันคือการที่ 'ผู้ฝึก' และ 'ผู้ถูกฝึก' กำลังพยายามปรับตัวให้ต่างฝ่ายต่าง 'เชื่องซึ่งกันและกัน' มากกว่า เพราะมันจะต้องมี 'ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน' ในระดับหนึ่งเท่านั้น คำสั่งทุกๆ คำสั่งของ 'ผู้ฝึก' จึงจะได้รับการปฏิบัติตาม 'อย่างวางใจ' โดย 'ผู้ถูกฝึก' … ดังนั้นคำว่า 禽邑人 จึงน่าจะแปลว่า 'สร้างความไว้วางใจในหมู่ผู้คน' … สำหรับข้อ (3) 不誡 ควรจะหมายถึง 'อย่าใช้ประกาศิตพร่ำเพรื่อ' ถ้าปฏิบัติได้ครบทั้งสามข้อ นั่นก็ต้อง 吉 แน่นอน ;)

เอาใหม่อีก … :D … สมมุติยังไม่ชอบใจ อยากจะได้อะไรที่มันห้วนๆ ไปกว่านั้น เหมาเอาเลยว่า 'หลักสามประการ' ที่จะเอ่ยถึงก็คือ (1) 失, (2) 前, (3) 禽 … เป็นไงมั่งล่ะทีนี้ ??!! :D

ผมก็จะบอกว่า (1) 失 หมายถึง 'เสียสละ' … (2) 前 หมายถึง 'มองการณ์ไกล' … และ (3) 禽 ก็คือ 'สร้างความเข้าใจระหว่างกัน' … ถ้าทำได้ครบทั้งสามเรื่องก็ 'ไม่ต้องสั่งให้ใครต้องมารัก' หรือ 'ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครต้องมาคบหา' (邑人不誡) … ยังไงก็  吉 อยู่แล้ว … :D

ความจริงมันก็มีจุดเล็กจุดน้อยที่สอดคล้องกันอยู่ในการ 'ตีความ' ด้วยวิธีแบ่งวรรคตอนให้แตกต่างกันทั้งสองแบบ โดยในแง่ของ 'การเสียสละ' นั้น ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ 'หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า' ได้ … ส่วน 'การสร้างความไว้วางใจในหมู่ผู้คน' ก็ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อหวังผลในระยะยาว ข้อนี้ก็คือ 'มองการณ์ไกล' … แล้วถ้าจะ 'ไม่ต้องใช้ประกาศิตพร่ำเพรื่อ' มันก็ต้องอาศัย 'ความเข้าใจระหว่างกัน' อย่างแน่นอน ;) …

งั้นถ้าจะ 'ตีความ' วรรคนี้โดดๆ ก็ควรจะต้องให้ความหมายว่า 'ความรุ่งเรืองแห่งสัมพันธภาพ (顯比) นั้น ย่อมต้องอาศัยหลักสำคัญสามประการเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง (王用三驅) หนึ่งคือต้องรู้จักเสียสละ (失) สองคือต้องมองการณ์ไกล (前) สามคือต้องสร้างความเข้าใจระหว่างกัน (禽) เยี่ยงนี้ ต่อให้ไม่ต้องสั่งผู้คนให้มาคบหา (邑人不誡) ความเจริญแห่งสัมพันธภาพที่ดี (吉) ย่อมปรากฏขึ้นได้แล้ว'

จะถูกรึเปล่าผมก็ไม่รู้ล่ะนะ ??!! … แต่ก็เข้าท่ากว่า 'ตีความ' ให้ไปเกี่ยวกับ 'การล่าสัตว์' หรือเรื่อง 'การล้อมสังหาร' ก็แล้วกัน … เนอะ !! … :D

 

หก หยิน :

比之無首凶
bǐ zhī wú shǒu xiōng
ปี่ จือ อู๋ โษ่ว เซฺวิง


เจอคำว่า 無首 อีกละ :) … ในบทที่หนึ่งผม 'ตีความ' ให้คำนี้หมายถึง 'ไม่แย่งชิงความเป็นใหญ่' ซึ่งในตอนนั้นลงท้ายวรรคด้วย 吉 ที่แปลว่า 'ดี' … (จำกันได้รึเปล่า วรรคนั้นคือ … 見群龍無首吉) แต่มาถึงวรรคนี้ มันดันลงท้ายวรรคด้วย 凶 ที่แปลกันหยาบๆ ตรงๆ ว่า 'ซวย' นั่นแหละ !! … ดังนั้น คำว่า 無首 ในบทนี้ จึงน่าจะใช้ในความหมายที่แตกต่างออกไป ;)

ตอนต้นๆ ของบทนี้ ผมตีความให้ 無首 หมายถึง 'เอกเทศ' อีกความหมายหนึ่ง คือไม่มีใครนำใคร หรือไม่มีใครตามใคร … แล้วเป็น 'เอกเทศ' นี่มันจะ 'ซวย' มั้ยล่ะ ?! … แหม้ … ทำใจให้เชื่อย่างนั้นเป๊ะๆ ยากอยู่มั้งครับ ?! :D

งั้นถ้าผม 'ตีความ' วรรคนี้ว่า 'การผูกสัมพันธ์นั้น (比之) ถ้าไม่มีการเริ่มต้น (無首) มันก็ย่อมไม่มีทางสำเร็จ (凶)' … เออ … อันนี้เข้าทีดีเหมือนกัน :) … เพราะเวลาเอาไปจับคู่กับวรรคที่หนึ่งที่บันทึกไว้ว่า 'สัมพันธภาพที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้นั้น ย่อมปราศจากความระหองระแหง เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความเอื้อเฟื้อ และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดแล้ว ทุกๆ ฝ่ายก็จะสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ และนำไปสู่ความสำเร็จ' (有孚比之無咎有孚盈缶終來有他吉) … วรรคที่หกนี่ก็จะขยายความต่อทันทีเลยว่า … 'แต่ทั้งหมดนั่นมันก็ต้องมีใครซักคนเป็นผู้เริ่มหยิบยื่นความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือความเอื้อเฟื้อเจือจานให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อนเท่านั้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวถึงจะเกิดขึ้นมาได้ … ถ้าไม่เริ่ม ก็ไม่สำเร็จ !!' … น่าจะประมาณนี้ ;)

แต่ว่า … ผมคิดหยาบๆ ไว้อีกความหมายหนึ่ง :D … คำว่า 無首 นั้นสามารถแผลงเป็น 無頭 (wú tóu, อู๋ โท๋ว) หรือ 'ไม่มีหัว' ก็ได้ เพราะหลายคนก็แปล 群龍無首 ว่า 'ฝูงมังกรไร้หัว' มาก่อนอยู่แล้ว … :D … ซึ่งคำว่า 無頭 มักจะถูกใช้ในสำนวนคู่กับ 無尾 (wú wěi, อู๋ เหฺว่ย) ที่แปลว่า 'ไม่มีหาง' … กลายเป็น 'บ่อเถ่าบ่อบ้วย' หรือ 'ไม่มีหัวไม่มีหาง' ซึ่งความหมายตามสำนวนนี้ก็คือ 'ทำอะไรไม่คงเส้นคงวา', 'หยิบโหย่ง', หรือ 'จับต้นชนปลายไม่ได้' … ความหมายโดดๆ ของวรรคนี้ที่ไม่ต้องจับคู่กับวรรคใดๆ เลยก็คือ 'การผูกสัมพันธ์นั้น (比之) หากกระทำกันอย่างเหยาะๆ แหยะๆ ไม่คงเส้นคงวา (無首) ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จ (凶)'



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ปี่' คือ การผูกสัมพันธ์, แอ่งน้ำเหนือธรณี

'การผูกสัมพันธ์' คือการนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' และ 'ความสุขสวัสดี' … ด้วย 'โชคชะตา' ที่แท้จริง ย่อมสืบเนื่องจาก 'ความประพฤติ' ที่ 'มั่นคง' ใน 'หลักแห่งคุณธรรม' อย่าง 'ไม่เสื่อมคลาย' หากมิใช่เพราะ 'ความหนักแน่น' 'ซื่อตรง' ผลลัพธ์ย่อมจะเลวร้าย

  •  
  • 'สัมพันธภาพ' ที่มี 'ความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้' ย่อมปราศจาก 'ความระหองระแหง' … เมื่อทุกๆ ฝ่ายต่างก็มี 'ความเอื้อเฟื้อ' และคอยให้ 'การสนับสนุน' ซึ่งกันและกัน ในที่สุดแล้ว ย่อมจะสามารถ 'พึ่งพาอาศัยกันได้' และนำไปสู่ 'ความสำเร็จ'
  •  
  • 'การผูกสัมพันธ์' จะต้องเริ่มจาก 'ความปรารถนา' ที่มาจาก 'ส่วนลึกของจิตใจ' อย่าง 'หนักแน่น' และ 'มั่นคง' จึงจะก่อให้เกิด 'สัมพันธภาพ' ที่ 'ยั่งยืน'
  •  
  • ใน 'การผูกสัมพันธ์' นั้น จะต้องละวาง 'อัตตา' โดยไม่มุ่งเพียง 'ประโยชน์ตน' แต่เพียงฝ่ายเดียว
  •  
  • ต้องปฏิบัติต่อ 'ผู้อื่น' 'อย่างเท่าเทียม' ด้วย 'หลักการ' และ 'ทำนองคลองธรรม' ที่ถูกต้อง จึงจะสานสร้าง 'สัมพันธภาพ' ที่ 'ยั่งยืน' ขึ้นมาได้
  •  
  • 'สัมพันธภาพ' ย่อม 'งอกงาม' ด้วย 'ความเพียร' ใน 'การบ่มเพาะ' โดยไม่เห็นแก่ 'ผลประโยชน์เฉพาะหน้า' และต้องไม่ 'โฆษณา' ว่าเป็น 'คุณความดี' ของตน 'สัมพันธภาพ' จึงจะ 'ยั่งยืน'
  •  
  • 'การผูกสัมพันธ์' นั้น หากไม่มีฝ่ายใดเป็น 'ฝ่ายริเริ่ม' ย่อมไม่มีทางที่จะ 'สำเร็จ'


 

The Organization Code :



'การผูกสัมพันธ์' คือใช้ 'แผนปฏิบัติการ' หนุนเนื่อง 'บุคลากร', ภายในหนักแน่นนิ่งสงบ (⚏) ภายนอกแน่วแน่นุ่มนวล (⚍)

'สัมพันธภาพ' คือ 'ความสำเร็จ' และ 'ความสุขสวัสดี' … แม้ว่าบางครั้งคนเราอาจได้พบพานกับผู้ที่ 'ถูกชะตา' แต่ 'ความสัมพันธ์' ย่อมต้องอาศัยการสานสร้างด้วย 'พฤติกรรม' ที่ 'ถูกทำนองคลองธรรม' อย่าง 'หนักแน่น' และมี 'ความคงเส้นคงวา' … หากมิใช่เพราะ 'ความจริงใจ' ที่ได้รับ 'การแสดงออก' อย่าง 'จริงจัง' แล้ว … ลำพังเพียง 'ความต้องชะตากัน' ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดเป็น 'สัมพันธภาพ' ที่ 'ยั่งยืน' ขึ้นมาได้

  •  
  • 'การอยู่ร่วมกัน' ต้องอาศัย 'ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน' เป็นพื้นฐาน จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ความหวาดระแวง' หรือ 'ความระหองระแหง' ในสิ่งที่ไม่ 'ก่อประโยชน์' แก่ทุกฝ่าย … หากต่างฝ่ายต่างก็มี 'ความเอื้อเฟื้อ' และให้ 'การสนับสนุน' ซึ่งกันและกัน ทุกๆ ฝ่ายก็จะสามารถ 'พึ่งพาอาศัยกัน' ในการดำเนินงานไปสู่ 'ความสำเร็จ' ได้ในที่สุด
  •  
  • 'สัมพันธภาพ' ที่ 'ยั่งยืน' ย่อมต้อง 'หล่อหลอม' ขึ้นมาจาก 'ความปรารถนา' อัน 'หนักแน่น' และ 'มั่นคง' ที่ 'หยั่งรากลึก' ลงไปภายใน 'จิตใจ' ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ คน
  •  
  • 'การอยู่ร่วมกัน' อย่าง 'สันติ' และ 'สร้างสรรค์' นั้น ทุกๆ ฝ่ายจะต้องลดละ 'ทิฐิมานะ' และ 'อัตตา' ที่ให้ 'น้ำหนักแห่งความสำคัญ' ของ 'ตนเอง' เหนือกว่าของ 'ผู้อื่น' อยู่ตลอดเวลา และต้องยึดถือใน 'หลักแห่งเหตุและผล' ที่ 'เที่ยงธรรม' สำหรับทุกๆ คนเสมอ
  •  
  • การปฏิบัติต่อ 'ผู้อื่น' จะต้องถือเอา 'ความเท่าเทียม' และ 'ความเสมอภาค' เป็นบรรทัดฐาน และต้องกระทำอย่าง 'ถูกทำนองคลองธรรม' ต่อทุกๆ ฝ่าย จึงจะสานสร้าง 'สัมพันธภาพ' ที่ 'ยั่งยืน' ขึ้นมาได้
  •  
  • 'การหล่อเลี้ยง' 'สัมพันธภาพ' ให้มีความ 'งอกเงย' และ 'งดงาม' ได้นั้น จะต้องมี 'ความเพียร' ใน 'การบ่มเพาะ' … ต้องรู้จัก 'การให้' และ 'การเสียสละ', … หลีกเลี่ยง 'การเผชิญหน้า' ด้วย 'ผลประโยชน์ฉาบฉวย' ที่ไร้แก่นสาร, … หมั่นสร้าง 'ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน' เพื่อสานสร้าง 'ความสัมพันธ์' ที่ 'ยั่งยืน' สำหรับ 'อนาคต', … และต้องสร้าง 'ความเข้าใจระหว่างกัน' เพื่อ 'ความเป็นปึกแผ่น' ในทุกๆ ภารกิจที่ต้อง 'ปฏิบัติงานร่วมกัน' … และต้องไม่ 'ประโคมโอ่' เพื่อหวังสร้าง 'คะแนนนิยม' เฉพาะตน จนกลายเป็น 'การกดข่มผู้อื่น' ให้ด้อย 'คุณค่า' ลงไป
  •  
  • หากมี 'ความตั้งใจจริง' ที่จะ 'ผูกสัมพันธ์' จะเร็วหรือช้าก็ต้องมี 'ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด' เป็น 'ฝ่ายริเริ่ม' จึง 'ไม่ควรเกี่ยง' ให้ทุกฝ่ายต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์


หากไล่เรียงกันมาตั้งแต่ต้น เราจะเห็นว่ากลุ่มของ 'ภาพสัญลักษณ์' ชุดแรกนี้ จะมี ☵ (kǎn, ขั่น, HRO) ที่ผมกำหนดให้หมายถึง 'บุคลากร' เข้าไปเกี่ยวข้องมาตั้งแต่บทที่สาม จนถึงบทที่แปดเลยทีเดียว … โดยเริ่มต้นจาก ䷂ (屯:  zhūn, จุน : การก่อตัว) ซึ่งเน้นที่การ 'คัดสรรบุคลากร' (☵) เข้ามาเสริมกำลังด้าน 'การตลาด' (☳) … จากนั้นก็มาสู่ ䷃ (蒙: méng, เมิ๋ง : ความใสซื่อ) ที่มุ่งความสำคัญอยู่กับ 'ข้อเท็จจริง' (☶) เพื่อจัดการ 'ฝึกอบรม' ให้กับ 'ทีมงาน' หรือ 'บุคลากร' (☵) … เมื่อเตรียมงานขั้นพื้นฐานพร้อมสรรพแล้ว ก็มาสู่ ䷄ (需: xü, ซฺวี : การรอคอยจังหวะ) ที่เป็นขั้นตอนของการ 'มอบหมายนโยบาย' หรือ 'เป้าหมาย' (☰) ให้กับ 'ทีมงาน' หรือ 'บุคลากร' เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ … แล้วก็แน่นอนว่า มันจะต้องตามติดมาด้วย ䷅ (訟: sòng, ซ่ง : การชิงลงมือ) ซึ่งเป็นปฏิบัติการเพื่อ 'มุ่งสู่เป้าหมาย' (☰) อันเป็นการลงมือโดย 'ทีมงาน' หรือ 'บุคลากร' (☵) ที่ตระเตรียมเอาไว้ … เมื่อปฏิบัติการบรรลุผลในแต่ละขั้นตอน ก็มาถึงคิวของ ䷆ (師: shī, ซือ : การขยายผล) อันเป็นขั้นตอนที่ให้ความสำคัญกับ 'แผนงาน' หรือ 'รูปขบวน' (☷) เหนือกว่า 'ความเป็นปัจเจก' (☵) … เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อสรุปสุดท้ายว่า ䷇ (比: bǐ, ปี่ : การผูกสัมพันธ์) ซึ่งมีความหมายว่า 'ทีมงาน' หรือ 'บุคลากร' (☵) ที่โดดเด่น ย่อมต้องอาศัยความคงเส้นคงวาของ 'แผนปฏิบัติงาน' (☷) ที่ประกอบด้วยบุคคล และทรัพยากรหลายๆ ส่วนประกอบกัน ไม่ใช่เป็นความโดดเด่นชนิดที่ใครเพียงบางคนจะสามารถอวดอ้างเป็นความชอบเฉพาะตัวได้อย่างลำพองใจ ;) …

ด้วยเหตุนี้ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทจึงเป็น ䷇ อันสื่อให้เห็นถึง 'ระดับนโยบาย' และ 'ระดับบริหาร' ที่เน้น 'ความเป็นหยิน' (⚏) ซึ่งหมายถึง 'การอุปถัมภ์ค้ำจุน' และให้ 'การสนับสนุน' อย่างเต็มที่ โดย 'ระดับปฏิบัติการ' ก็สนองตอบด้วยท่าทีที่ 'ไม่เผยอผยอง' (⚍) คือมีความ 'อ่อนนอก-แข็งใน' อันหมายถึง การมี 'ความแน่วแน่ชัดเจน' (⚊) ใน 'เป้าหมาย' แต่มี 'ความนุ่มนวล' และ 'ความละเอียดถี่ถ้วน' (⚋) ในท่าทีที่แสดงออก เพื่อ 'ประสานทุกฝ่าย' ให้มุ่งไปสู่ 'เป้าหมาย' และ 'อนาคต' ที่กำหนดไว้ร่วมกัน … ;)

'การบริหารศักยภาพ' (乾) จึงประกอบด้วย 4 คุณสมบัติ (元,亨,利,貞)  6 หลักการ (屯,蒙,需,訟,師,比) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติ ตามที่ได้อธิบายโดยละเอียดไว้แล้วในบทต่างๆ ข้างต้น … ;) … ซึ่งการปฏิบัติตาม 'ข้อแนะนำ' เหล่านั้นทั้งหมดดังที่บรรยายไว้ ย่อมไม่มีข้อใดสำคัญมากน้อยกว่ากัน และไม่มีข้อใดพึงกระทำก่อนหรือหลังกว่าข้อใด (見群龍無首) แต่สมควรจะต้องยึดถือ และปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างเหมาะสม จึงจะนำไปสู่ความเจริญ (吉) … วลีปิดท้ายของบทที่หนึ่ง จึงสามารถอธิบายได้ด้วยความหมายนี้อีกความหมายหนึ่งด้วย ;)