Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :

第四十三卦 : 夬

夬 : 澤天夬 ‧ 兌上乾下

夬 : 揚于王庭‧孚號‧有厲‧告自邑‧不利即戎‧利有攸往‧

  • 初九 : 壯于前趾‧往不勝為咎‧
  • 九二 : 惕號‧莫夜有戎‧勿恤‧
  • 九三 : 壯于頄‧有凶‧君子夬夬‧獨行遇雨‧若濡‧有慍‧無咎‧
  • 九四 : 臀無膚‧其行次且‧牽羊悔亡‧聞言不信‧
  • 九五 : 莧陸夬夬‧中行無咎‧
  • 上六 : 無號‧終有凶‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และปัญญาแจ่มใส (⚌) พลานามัยสดชื่น (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'เป้าหมาย' มี 'ความชัดเจน' (⚌); 'แผนงาน' มี 'ความเด็ดขาด-เข้มงวด' (⚌); 'ปฏิบัติการ' ด้วย 'ความอ่อนนอก-แข็งใน'

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความไม่แข็งขืนดันทุรัง, ทะเลสาบเหนือฟากฟ้า



ความหมายของชื่อเรียก : Extenuating : ความไม่แข็งขืนดันทุรัง



อักษร 夬 (guài, กฺวั้ย) เป็นอักษรจีนโบราณที่แทบจะไม่มีการใช้งานอีกแล้วในยุคปัจจุบัน โดยในทุกวันนี้เขาจะใช้อักษร 決 หรือ 决 (jué, เจฺวี๋ย) แทนในความหมายดั้งเดิมของมัน ซึ่งโดยทั่วๆ ไปก็จะถูกแปลกันว่า 'ทำให้แยกออก', 'ทำให้ปริออก', หรือ 'แยกออกจากกัน' แต่ในความเป็นจริงแล้วมันควรจะหมายถึง 'การขุดลอก' (dredging) หรือ 'การขุดเจาะ' (dig) มากกว่า 'การทำให้แตกออกจากกัน' (breaking, parting) ที่ความหมายอาจจะผิดเพี้ยนเป็นคนละเรื่องไปเลย

ลักษณะของ 夬 (guài, กฺวั้ย) หรือ 決 (jué, เจฺวี๋ย) นี้จะหมายถึง 'การขุดลอกทางน้ำเพื่อให้เกิดการไหล' ซึ่งในบางกรณีก็จะหมายถึง 'การเปิดทางน้ำใหม่' เพื่อให้การไหลมีความคล่องตัวมากขึ้น แม้ว่าจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับ 'การทำลาย' หรือ break อยู่บ้างในระดับหนึ่ง แต่มันก็เป็นลักษณะของ breakthrough หรือ 'การทะลุทะลวงสิ่งกีดขวาง' มากกว่า ซึ่งก็ทำให้บางครั้งมันยังถูกใช้ในความหมายว่า 'การกำกับทิศทาง' ได้ด้วยเหมือนกัน

บางตำราถึงกับใช้คำแปลให้กับ 夬 (guài, กฺวั้ย) ว่า Breakthrough อย่างตรงๆ ตัว หรือไม่ก็จะใช้คำว่า Resolution มาแทนความหมายที่ถูกต้องของมัน ในขณะที่ Alfred Huang เลือกใช้คำว่า Eliminating มาอธิบายถึงลักษณะ 'การขจัดความคับข้องใจ' ใน The Complete I-Ching ของเขา เพื่อไม่ให้ไปปะปนกับคำว่า Breaking หรือ Parting อย่างที่ฉบับแปลบางฉบับเลือกใช้อย่างไม่ค่อยจะตรงความหมายมากนัก ... สำหรับ ZhuqiChing ที่เลือกใช้คำแปลว่า Resolve หรือ Resolution ให้กับบทที่ยี่สิบสี่ (䷗ 復 Fù : Resolve, ความแน่วแน่มั่นคง) ไปก่อนแล้ว ผมก็เลยคิดว่าคำแปลที่น่าจะสื่อถึงความหมายของ 夬 (guài, กฺวั้ย) อย่างพอจะกล้อมแกล้มไปได้ก็คือ Extenuating ซึ่งมีความหมายหนึ่งว่า To reduce the strength of, To belittle, หรือ To disparage ซึ่งมีลักษณะของ 'ความไม่แข็งขืนดันทุรัง', 'ความไม่อวดดื้อถือดี' และ 'ความไม่สำคัญตน' เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของ 'พลังแห่งหยิน' (⚋) เพียงหนึ่งเดียวที่ปรากฏตรงด้านบนสุดของ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ (䷪)

เกือบทุกตำราจะมอง 'ภาพลัญลักษณ์' ของ 夬 (䷪ : guài, กฺวั้ย) ว่าเป็นกระบวนการที่ 'พลังด้านสว่าง' (⚊) กำลังขับไล่ 'พลังด้านมืด' (⚋) ให้หมดสิ้นอิทธิพลลงไป แต่ผมกลับมองว่า King Wen น่าจะต้องการใช้ 'ภาพสัญลักษณ์' นี้สะท้อนเป็น 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 夬 (䷪ : guài, กฺวั้ย) ที่ด้านบนมีขีดนอนกับขีดตั้งเขียนตัดกันแทน 'การแบ่ง' ซึ่งนั่นก็คือ 'เส้นหยิน' (⚋) ในขณะที่ด้านล่างซึ่งเป็นภาพของ 'มือ' (手) นั้นก็ถูกแทนที่ด้วย 'เส้นหยาง' (⚊) จำนวน 5 ขีดที่แทบจะไม่ต่างจากจำนวนของ 'นิ้วมือทั้งห้า' เลยทีเดียว ... มันจึงน่าจะสะท้อนความหมายของ 'การเชิดชูหยิน' มากกว่า 'การกำจัดหยิน' อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ... เหตุผลน่ะเหรอ ?! ... เพราะบทที่สี่สิบสามนี้ควรจะอยู่ในลำดับอนุกรมที่สะท้อนความหมายให้กับวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง ซึ่งมีบทประกอบอื่นๆ เป็นบทที่เจ็ด (䷆ 師 shī, ซือ : การขยายผล), บทที่สิบเก้า (䷒ 臨 lín, ลิ่น : การปกครอง), และบทที่สามสิบเอ็ด (䷞ 咸 xián, เซี๋ยน : การสร้างความเป็นปึกแผ่น) ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ... โดยมีจุดที่น่าสังเกตครับว่า จำนวนของ 'พลังแห่งหยาง' (⚊) นั้นมีการพอกพูนยิ่งๆ ขึ้นไปในแต่ละ 'วัฏจักรของหยาง' จนกลายเป็น 4 ขีดในบทนี้ ซึ่งเป็นบทที่ต่อเนื่องมาจาก 'การเพียรบำเพ็ญประโยชน์' ในบทที่สี่สิบสอง (䷩ 益 Yì : เพียรบำเพ็ญประโยชน์) ... และ King Wen คงจะต้องการ 'ปราม' ไว้ก่อนว่า แม้จะอุทิศตนเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ไปมากสักเพียงไหนก็ตาม มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผู้หนึ่งผู้ใดควรจะลำพองในความดีที่ตนก่อ เพื่อเรียกร้องการยอมรับหรือผลตอบแทนใดๆ จากสังคม ... โดย 'จิวกง' ก็ได้สะท้อนข้อคิดนี้ไว้แล้วในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งว่า 飛龍在天 (fēi lóng zài tiān, เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน) หรือ 'มังกรย่อมเหินทะยานด้วยกาละ-เทศะที่เอื้ออำนวย' มิใช่ 'ด้วยการแก่งแย่งแข่งดี' หรือ 'การเหยียบย่ำทำลายผู้อื่น' ซึ่งปราชญ์ผู้เจริญย่อมปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จของทุกผู้คน (利見大人) เสมอ



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
揚于王庭孚號有厲告自邑不利即戎利有攸往
yáng yǘ wáng tíng fú hào yǒu lì gào zì yì bù lì jí róng lì yǒu yōu wǎng
ยั๋ง ยฺวี๋ วั๋ง ทิ๋ง ฟู๋ เฮ่า โหฺย่ว ลี่ เก้า จื้อ อี้ ปู้ ลี่ จี๋ ญ่ง ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง



揚 อ่านว่า yáng (ยั๋ง, ย๋าง) ปรกติจะแปลว่า 'ยกให้สูงขึ้น', 'ยกย่อง', ซึ่งบางครั้งก็จะรวมไปถึง 'การประกาศเกียรติคุณ', หรือ 'การเผยแพร่' ได้ด้วย ; ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'การลอยตัวสูงขึ้น', หรือ 'การบินขึ้นสู่ที่สูง' ; ส่วนความหมายที่หมายถึง 'การยกย่องเชิดชู' บางทีแผลงไปเป็น 'ความมีชื่อเสียง', หรือ 'ความกึกก้อง' ไปเลย ; นอกจากนั้นก็ยังสามารถแปลว่า 'การพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป', หรือ 'การใช้ประโยชน์อย่างยิ่งยวด' ได้อีกต่างหาก

สำหรับอักษร 庭 (tíng, ทิ๋ง) เคยเจอมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้เล่า ซึ่งคำนี้มักจะแปลว่า 'ห้องโถง' หรือ 'ห้องขนาดใหญ่' โดยสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 廷 tíng (ทิ๋ง) ที่หมายถึง 'ท้องพระโรง' ในเขตพระราชฐานด้วย
ส่วนคำว่า 號 (hào, เฮ่า) เจอครั้งแรกในบทที่สิบสาม ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า 'สัญลักษณ์', 'เครื่องหมาย', หรือ 'ตัวเลข' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ถอนหายใจ', 'ร้องไห้', 'ตะโกน', 'ส่งเสียงร้อง', หรือ 'ส่งเสียงขู่คำราม'

告 (gào, เก้า) แปลว่า 'บอกให้รู้' ซึ่งเป็นไปได้หลายลักษณะคือ 'เตือน', 'แจ้งให้ทราบ', 'ประกาศ', 'ขอร้อง', 'ส่งข่าว', 'รายงาน', 'ชี้แจง', 'ให้รายละเอียด', 'เร่งรัด', หรืออาจจะหมายถึง '(แจ้งข้อ) กล่าวหา' ก็ได้ ; สมัยก่อนยังมีความหมายเดียวกับ 皓 hào (เฮ่า) ที่แปลว่า 'ขัดให้ขาว' หรือ 'ขัดให้แวววาว' ได้อีกด้วย

邑 (yì, อี้) เป็นคำที่เจอมาตั้งแต่บทที่หก แปลว่า 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ ...คำว่า 邑人 บางครั้งจึงแปลว่า 'คนเมือง', 'คนที่อยู่ในมณฑลเดียวกัน' หรือ 'คนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน' ; แต่ในสมัยโบราณคำนี้ยังใช้ด้วยความหมายเดียวกับ 悒 (yì, อี้) ที่แปลว่า 'เศร้าใจ', 'ผิดหวัง', 'ไม่มีความสุข', หรือ 'อึดอัด', 'ขัดใจ'

即 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'บัดเดี๋ยวนั้น', 'ปุบปับ', 'ทันทีทันใด' ; ซึ่งบางครั้งก็ยังแปลว่า 'จวนเจียน', 'ใกล้เคียง' ; หรือ 'ราวกับว่า' ได้ด้วย

戎 อ่านว่า róng (ญ๋ง) มาจากบทที่สิบสามอีกแล้วครับ ... คำนี้เป็นชื่อเรียกอาวุธโบราณชนิดหนึ่ง จึงสามารถใช้ในความหมายว่า 'อาวุธ', 'กองกำลังทหาร', หรืออาจจะใช้ในความหมายว่า 'รถศึก', 'ม้าศึก', หรือ 'สรรพาวุธ' ที่ใช้ในการสงคราม ; สามารถแปลว่า 'กองทัพ', 'ภารกิจทางทหาร', และอาจจะแผลงเป็น 'ข้าศึกศัตรู' ก็ยังได้ด้วย

ตำราอื่นจะแปลวลีนี้ของ King Wen ให้ไม่รู้เรื่องขนาดไหนผมก็ไม่สนล่ะครับ ... :D ... แต่ผมอยากจะยกวลีของ King Wen จากบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเทียบเคียงให้เห็นความหมายที่สอดคล้องกันตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง ...

บทที่เจ็ด (䷆ 師 shī, ซือ : การขยายผล) King Wen ให้คำอธิบายความหมายของ 師 (shī, ซือ) ไว้ว่า 'จะต้องถือหลักคุณธรรม (貞) และกระทำการอย่างผู้มีวุฒิภาวะ (丈人) ที่เหมาะสม จึงจะเป็นผลดี (吉) โดยไม่ก่อความผิดพลาดเสียหายให้ผู้อื่นค่อนขอดว่าร้าย (無咎) ในภายหลัง' ... ประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่ 'ความมีวุฒิภาวะ' และ 'ความรับผิดชอบ'
  พอมาถึงบทที่สิบเก้า (䷒ 臨 lín, ลิ่น : การปกครอง) King Wen ก็ให้คำบรรยายแก่ 臨 (lín, ลิ่น) ไว้ว่า 'ภาวะผู้นำ (元), ความรู้ความสามารถ (亨), ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) และหลักคุณธรรม (貞) คือปัจจัยประกอบของพลังบริสุทธิ์แห่งอำนาจการปกครอง ; ทุกสรรพสิ่งล้วนมีกาละ-เทศะแห่งความรุ่งเรืองและเสื่อมถอย เหมือนดั่งจันทราที่เมื่อสุกส่ว่างเต็มดวงแล้ว (至于八月) ก็ต้องแหว่งเว้า (有凶) เป็นปรกติธรรมดา' ... ข้อนี้ดูเหมือนจะเน้นที่เรื่องของ 'กาละ-เทศะ' ในการสำแดง 'พลังอำนาจทั้งสี่' (元, 亨, 利, 貞) ...

ในขณะที่บทที่สามสิบเอ็ด (䷞ 咸 xián, เซี๋ยน : การสร้างความเป็นปึกแผ่น) ได้รับการบรรยายโดย King Wen ไว้ว่า 'ความรู้ (亨), ความทุ่มเท (利), และคุณธรรม (貞) ที่หลอมรวมเป็นกำลังสนับสนุนซึ่งกันและกัน (取女 คือได้รับการเกื้อหนุนอย่างสอดคล้องต้องกัน) ย่อมนำมาซึ่งความความเจริญรุ่งเรือง (吉)'

จะเห็นว่าทั้งหมดจะเป็น 'ข้อแนะนำ' สำหรับการครองตนในฐานะของ 'ผู้นำ' หรือ 'มังกรที่เหินทะยาน' (飛龍) ดังที่ 'จิวกง' เปรียบเปรยไว้ทั้งสิ้น ซึ่งความหมายที่ควรจะเป็นสำหรับวลีของ King Wen ในบทนี้ก็คือ 'การก้าว (揚) ขึ้นสู่ (于) ทำเนียบแห่งผู้นำ (王庭) คือการบ่งบอกถึงความพร้อมที่จะแบกรับทุกภาระกิจอย่างจริงใจ (孚號) แม้ต้องเผชิญ (有) กับความผิดพลาดเสียหายที่ร้ายแรง (厲) ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับและแสดงความเสียใจในความผิดพลาดของตน (告自邑) ไม่สมควร (不利) ด่วนสรุป (即) ด้วยการกล่าวโทษผู้อื่นราวกับเป็นศัตรู (戎) หากปฏิบัติตนได้ดังนี้แล้ว ความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งหลาย (利) จึงจะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ในบั้นปลาย (有攸往)' ... นี่คงเป็น 'ความไม่แข็งขืนดันทุรัง' ที่ 'ผู้นำ' ส่วนใหญ่มักจะละเลยกันเป็นประจำ เพราะมัวแต่ 'ดักดานในอัตตา' แล้วยึดถือเพียงความคิดและแนวทางของตนว่าเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องเสมอ และคอยแต่จะยัดเยียดให้ทุกผู้คนต้องอยู่ในสถานะของ 'คู่แข่ง' ที่มุ่งแต่จะ 'ยื้อแย่งอำนาจ' ไปจากตนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้เลย ... แต่ตำราอื่นๆ เขาจะ 'ตีความ' ยังไงก็ไปหาอ่านให้งงกันเองแล้วกันนะครับ ... ผมไม่ยุ่งด้วยดีกว่า ... :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

壯于前趾往不勝為咎
zhuàng yǘ qián zhǐ wǎng bù shèng wéi jiù
จ้วง ยฺวี๋ เชี๋ยน จื่อ หฺวั่ง ปู้ เษิ้ง เว๋ย จิ้ว



壯 (zhuàng, จ้วง) เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบทที่สามสิบสี่ โดยคำนี้จะมีความหมายว่า 'เข้มแข็ง', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'กล้าหาญ', 'ยิ่งใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้แน่นหนา' หรือ 'ทำให้ใหญ่โต' นั่นเอง

趾 (zhǐ, จื่อ) เป็นอีกคำหนึ่งที่พบในบทที่สามสิบสี่เช่นกัน โดยเคยเล่าไว้ว่าหมายถึง 'เท้า', 'หัวแม่เท้า', หรือว่า 'รอยเท้า' ซึ่งบางทีก็อาจจะหมายถึง 'ร่องรอย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ฐานราก' ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย

ส่วนอักษร 勝 (shèng, เษิ้ง) ก็เคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'ชนะ', 'สำเร็จ', 'มีความสามารถ', 'ยอดเยี่ยม', 'เหนือกว่า' หรือว่า 'สวยงาม'

วลีของ 'จิวกง' ที่แทบจะล้อความหมายกับวรรคนี้ก็คือวรรคแรกของบทที่สามสิบสี่ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่า 壯于趾征凶有孚 (zhuàng yǘ zhǐ zhēng xiōng yǒu fú, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ เจิง เซฺวิง โหฺย่ว ฟู๋) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'การเสริมสร้างความแข็งแรงมั่นคง (壯) แห่งรากฐาน (于趾) นั้น การยื้อยุดแย่งชิง (征) ย่อมก่อให้เกิดผลในทางทำลายล้าง (凶) ในขณะที่ผลสำเร็จ (有) อันเป็นที่ปรารถนาของทุกฝ่าย ย่อมเกิดจากการฟูมฟักหล่อเลี้ยง (孚) อย่างเข้าอกเข้าใจ' โดยมีความแตกต่างของถ้อยคำหลักๆ อยู่ตรงวลีที่ว่า 壯于趾 (zhuàng yǘ zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ) กับ 壯于前趾 (zhuàng yǘ qián zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ เชี๋ยน จื่อ) ในวรรคนี้เท่านั้น ...

ถ้าเราลองเปรียบเทียบถ้อยคำในวลีทั้งสองนี้แล้ว เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 壯于趾 (zhuàng yǘ zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ) หมายถึง 'การเสริมสร้างความแข็งแรงมั่นคงแห่งรากฐานในขณะปัจจุบัน' โดยที่ 壯于前趾 (zhuàng yǘ qián zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ เชี๋ยน จื่อ) จะหมายถึง 'การทุ่มเทกำลังเพื่อสร้างรากฐานให้กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น' ... อันหมายถึง 'การทุ่มเทกำลังเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อนเวลาอันควร' ?!?! ... ซึ่งบ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำสวยๆ สำหรับพฤติกรรมในกรณีหลังนี้ว่า 'วิสัยทัศน์' นั่นเอง !?

จริงอยู่ที่นวัตกรรมทั้งหลายมักจะ 'ดูเหมือนว่า' มีจุดกำเนิดมาจาก 'ความไม่สมเหตุสมผล' ของใครต่อใครหลายๆ คน แต่มีนักคิดค้นซักกี่คนที่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์อย่างแท้จริงจากนวัตกรรมเหล่านั้นของตัวเอง ?! ... เกือบทุกครั้งที่นวัตกรรมหนึ่งๆ ต้องอาศัยเวลากว่าสภาพแวดล้อมอื่นๆ จะสุกงอมพอสำหรับการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากมัน ซึ่งมักจะเกินกว่าช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมของผู้ที่คิดค้นนั้นๆ ไปแล้ว ?! ... การทุ่มเททรัพยากรลงไปกับสิ่งที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้นั้น จึงเป็นความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะส่งผลร้ายต่อรากฐานในปัจจุบันของตัวเองและองค์กรอย่างประมาณการใดๆ ไม่ได้เลย ... แนวคิดที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมของ 'จิวกง' จึงถูกบันทึกไว้ในวรรคนี้ว่า 'การทุ่มเทอย่างดันทุรัง (壯) เพื่อ (于) เสริมสร้างรากฐานให้กับสิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจน (前趾 คือก่อนเวลาอันควร) นั้น หากผลลัพธ์ที่ได้ (往) ไม่สวยสดงดงาม (不勝) ดังที่คาดหวัง ความทุ่มเทนั้นๆ ย่อมกลายเป็น (為) ความผิดพลาดเสียหาย (咎) ที่จะปรากฏ'

ในทางหนึ่งผมคิดว่าทั้ง King Wen และ 'จิวกง' คงไม่ถึงกับปฏิเสธ 'ความมีวิสัยทัศน์' ซะทั้งหมดหรอก เพราะ King Wen ก็บันทึกไว้อย่างค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้วว่า 'แม้ต้องเผชิญ (有) กับความผิดพลาดเสียหายที่ร้ายแรง (厲) ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับและแสดงความเสียใจในความผิดพลาดของตน (告自邑)' ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาเอาแต่กล่าวโทษผู้อื่น หรือปัดความรับผิดชอบให้เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมไปซะทั้งหมด ... ในขณะที่ 'จิวกง' เองก็เลือกใช้คำที่บ่งบอกถึง 'ความผิดพลาด' ในกรณีนี้เพียงเบาๆ แค่ 咎 (jiù, จิ้ว) ไม่ใช่ 凶 (xiōng, เซฺวิง) ที่หมายถึง 'เรื่องคอขาดบาดตาย' อย่างในกรณีของ 征 (zhēng, เจิง) ที่มีลักษณะของ 'ความบุ่มบ่ามผลีผลามเพื่อฉกฉวยแย่งชิง' ... โดยสิ่งที่ทั้งสองท่านเห็นสมควรว่าจะต้องเตือนสติไว้ก่อนก็คือ 'การเตรียมการเพื่ออนาคต' (壯于趾 คือการเสริมสร้างรากฐานไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน) นั้น ถือเป็นสิ่งที่พึงคิดและพึงกระทำอย่างรอบคอบ (有孚) โดยจะต้องไม่นำเอา 'อนาคตของปัจจุบัน' ไป 'สุ่มเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น' เพราะ 'ความหลงตัวเอง' ของผู้หนึ่งผู้ใดอย่างเด็ดขาด!!

 

สอง หยาง :

惕號莫夜有戎勿恤
tì hào mù yè yǒu róng wù xǜ
ที่ เฮ่า มู่ เยี่ย โหฺย่ว ญ๋ง อู้ ซฺวี่



惕 (tì, ที่) เป็นคำแรกๆ ที่พบเห็นใน 'คัมภีร์อี้จิง' เลยครับ โดยผมเล่าไว้ในบทที่หนึ่งว่าหมายถึง 'ระมัดระวัง', 'รอบคอบ', 'ไม่ประมาท', 'มีความตื่นตัว'

莫 อ่านว่า mò (ม่อ) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ในลักษณะของ 'ไม่', 'ไม่ได้', 'ไม่มี', 'ไม่สามารถ', หรือ 'ไม่เกี่ยวข้อง' แต่ถ้าออกเสียงว่า mù (มู่) จะมีความหมายเดียวกับ 暮 (mù, มู่) ที่หมายถึง 'ยามเย็น', 'เวลาโพล้เพล้', หรือ 'ย่ำค่ำ'

夜 อ่านว่า  (เยี่ย) หมายถึง 'เวลาค่ำคืน', หรือ 'กลางดึก'

恤 อ่านว่า xǜ (ซฺวี่) แปลว่า 'เอาใจใส่', 'ใส่ใจ', 'รับเป็นภาระ', 'โอบอุ้มดูแล', 'เป็นห่วงเป็นใย' ; มันเลยแผลงเป็น 'กังวล', 'เคร่งเครียด'

อย่างที่บอกไว้ในวรรคที่แล้วนะครับว่า ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ไม่ได้มีอคติต่อ 'การเตรียมการเพื่ออนาคต' แต่อย่างใดเลย โดยผมคิดว่าน่าจะออกแนวสนับสนุนซะด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องการจะเน้นย้ำตรงประเด็นของ 'ความเตรียมพร้อมอย่างรอบคอบ' (孚) มากกว่า ซึ่งในวรรคนี้ 'จิวกง' ก็เลือกบันทึกด้วยถ้อยคำว่า 'อาการของผู้ที่มีความตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท (惕號) นั้น แม้ตกอยู่ในสภาวะที่ขมุกขมัว (莫夜) และเต็มไปด้วย (有) อุปสรรคขวากหนาม (戎 คือความไม่เป็นมิตร) ย่อมปราศจาก (勿) ความหวาดวิตกกังวล (恤) ใดๆ' ... เนื่องจากว่า มิได้กระทำการใดๆ อันเป็น 'การบั่นทอนความมั่นคง' แห่งรากฐานของตนตั้งแต่แรกนั่นเอง

 

สาม หยาง :

壯于頄有凶君子夬夬獨行遇雨若濡有慍無咎
zhuàng yǘ qiú yǒu xuōng jün zǐ guài guài dú xíng yǜ yǚ ruò rú yǒu yǜn wú jiù
จ้วง ยฺวี๋ ชิ๋ว โหฺย่ว เซฺวิง จฺวิน จื่อ กฺวั้ย กฺวั้ย ตู๋ ซิ๋ง ยฺวี่ หยฺวี่ ญั่ญู๋ โหฺย่ว ยฺวิ่น อู๋ จิ้ว



頄 อ่านว่า qiú (ชิ๋ว) เป็นอักษรโบราณอีกตัวหนึ่งที่แปลว่า 'โหนกแก้ม', หรือ 'ใบหน้า'

獨 อ่านว่า dú (ตู๋) แปลว่า 'โดดเดี่ยว', 'เดียวดาย', 'หนึ่งเดียว', หรือ 'เฉพาะเจาะจง' ; ถ้าเป็นคำกริยาจะหมายถึง 'กระทำการอย่างเด็ดเดี่ยว' ซึ่งบางครั้งหมายถึง 'ทำโดยไม่ฟังเสียงใคร', 'ทำโดยไม่สนใจระเบียบประเพณี' หรือ 'ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำ'

遇 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'พบปะ', 'โอกาส', 'ติดต่อ', 'เชื่อมโยง', 'ประสาน' หรือ 'ต้อนรับ'

雨 (yǚ, หยฺวี่) เป็นคำพื้นๆ ที่พบเห็นกันบ่อย โดยทั่วไปก็จะแปลกันว่า 'ฝน', 'สายฝน', 'ละอองฝน' ; แต่ที่แปลกหน่อยก็คือ คำนี้สามารถจะแปลว่า 'เพื่อน' ได้ด้วย ; และบางครั้งก็ยังแปลว่า 'คำสั่งสอน' ; นอกเหนือจากที่มันสามารถแปลว่า 'หนาแน่น', หรือ 'กระจัดกระจาย' ในลักษณะของ 'การโปรยปราย' ได้อีกต่างหาก

若 อ่านว่า ruò (ญั่ว) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', 'เคารพกฎเกณฑ์'

濡 อ่านว่า rú (ญู๋) ตัวนี้แปลว่า 'ชื้น', 'เปียก', หรือ 'นิ่ม', 'อ่อนนุ่ม' ; ซึ่งบางทีก็หมายถึง 'จุ่มลงในน้ำ', 'แช่น้ำ', หรือ 'ทำให้เปียก' และ 'ทำให้นิ่ม' ; บางครั้งยังใช้ในความหมายที่ 'ทำให้อ่อนหยุ่น' โดยอาศัยความร้อน จึงทำให้ 濡 (rú, ญู๋) สามารถใช้ในความหมายของ 'ทำให้อบอุ่น', 'ทำให้ร้อน', หรือ 'ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น' ได้ด้วย ; อย่างไรก็ตาม โดยลักษณะของ 'การทำให้อ่อนนุ่ม' นี้ก็มีส่วนที่ทำให้ 濡 (rú, ญู๋) หมายถึง 'การชะลอตัว', 'ทำให้ช้าลง', หรือ 'ทำให้หยุดชะงัก' ก็ได้เหมือนกัน ... ซึ่งอาจจะมองได้ว่า มันถูกบันทึกไว้ในวรรคนี้เพื่อเป็น 'คู่ตรงข้าม' ของ 壯 (zhuàng, จ้วง) ด้วยรึเปล่า ?! ในเมื่อ 壯 (zhuàng, จ้วง) มีลักษณะของ 'การเสริมให้แข็งแรง' อยู่ในความหมายของมัน ??!!

慍 อ่านว่า yǜn (ยฺวิ่น) แปลว่า 'โกรธ', 'ไม่พอใจ', 'อึดอัดรำคาญใจ'

ถ้าเราดูเฉพาะวลีตรงช่วงท้ายๆ ของวรรคนี้ที่ถูกบันทึกไว้ว่า 獨行遇雨若濡有慍 (dú xíng yǜ yǚ ruò rú yǒu yǜn, ตู๋ ซิ๋ง ยฺวี่ หยฺวี่ ญั่ญู๋ โหฺย่ว ยฺวิ่น) เราอาจจะ 'ตีความ' ตามตัวอักษรให้หมายถึง 'เดินทางคนเดียว (獨行) ท่ามกลางสายฝน (遇雨) มันก็คงต้องเปียกแฉะ (若濡) และน่าอึดอัดรำคาญ (有慍)' !?!? ... แต่ ... ปัญหาของผมก็คือ ถ้าเดินทางหลายคนกลางสายฝนมันจะเปียกแฉะเหมือนกันด้วยมั้ย ??!! ... ซึ่ง ... ผมคิดว่ามันก็น่าจะ 'เปียกเหมือนกัน' อยู่ดี ... ถูกรึเปล่า ?! ... ดังนั้นความหมายที่ว่า 'เดินทางอย่างโดดเดี่ยวกลางสายฝนย่อมเปียกแฉะจนน่ารำคาญ' จึงไม่น่าจะเป็นตรรกะที่ถูกต้องของวลีนี้ !!! ... งั้นมันคืออะไร ?! ... ผม 'เชื่อว่า' ความหมายที่ถูกต้องของวลีนี้น่าจะซุกซ่อนอยู่ในความหมายรองของ 雨 (yǚ, หยฺวี่) ที่แปลว่า 'เพื่อน' หรือ 'คำสั่งสอน' ที่เราสามารถผสมกันแล้วออกมาเป็น 'สิ่งที่ชี้นำโดยปัจจัยแวดล้อม' หรือ 'ข้อบ่งชี้อันเนื่องมาจากกาละ-เทศะ' นั่นเอง ?!

งั้น 獨行 (dú xíng, ตู๋ ซิ๋ง) ในที่นี้ควรจะหมายถึง 'เดินไปไหนมาไหนคนเดียว', หรือ 'ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว' มั้ยล่ะ ?! ... ผมอยากจะบอกว่าคำนี้ควรจะแปลว่า each step หรือ each action มากกว่าที่จะหมายถึงตัวบุคคลประเภท 'ข้ามาคนเดียว' อย่างที่เข้าใจกัน !!

ที่นี้ ... เราลองย้อนกลับไปที่ต้นวรรคครับ ... วลีที่ว่า 壯于頄有凶 (zhuàng yǘ qiú yǒu xuōng, จ้วง ยฺวี๋ ชิ๋ว โหฺย่ว เซฺวิง) ที่หลายตำราให้ความหมายไว้ว่า 'คร่ำเคร่งจนแสดงออกบนใบหน้า (壯于頄) จะนำไปสู่ความวิบัติ (有凶)' ... มันก็อาจจะพอกล้อมแกล้มไปได้อยู่ล่ะครับ ถ้าเราจะพยายามนึกถึงคำตักเตือนต่างๆ เกี่ยวกับ 'การเก็บอาการ' ... แต่ว่า ... ถ้าผมให้ความหมายของ 壯于前趾 (zhuàng yǘ qián zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ เชี๋ยน จื่อ) ว่าหมายถึง 'การทุ่มเทอย่างดันทุรังก่อนเวลาอันควร' หรือ 'การทุ่มเทกำลังให้กับสิ่งที่ยังไม่ปรากฏร่องรอยใดๆ' โดยที่ไม่นำไปเกี่ยวข้องกับ 'เท้า' อันเป็นความหมายหนึ่งของ 趾 (zhǐ, จื่อ) เลย อักษร 頄 (qiú, ชิ๋ว) ในที่นี้ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ 'ใบหน้า' ในฐานะที่เป็นอวัยวะบนร่างกายด้วยรึเปล่า ?!!

ผม 'เชื่อ' ของผมเองว่า 'จิวกง' คงจะพยายามสื่อความหมายบางอย่างด้วยตัวอักษรเหล่านี้ว่า 'การทุ่มเทกำลัง (壯) เพียงเพื่อจะรักษาหน้าตาของตน (于頄) นั้น ย่อมโน้มนำไปสู่ความวิบัติฉิบหาย (有凶) ปราชญ์ผู้เจริญ (君子) จักต้องใช้วิจารณญาณ (夬) ในการแยกแยะ (夬 คือไม่แข็งขืนดันทุรัง) เพื่อให้แต่ละย่างก้าวแห่งภาระกิจที่ดำเนินไป (獨行) มีความสอดคล้อง (遇) กับปัจจัยบ่งชี้ของกาละ-เทศะที่เหมาะสม (雨) ซึ่งแม้ว่า (若) จะต้องยอมโอนอ่อนลงบ้าง (濡) ในบางสถานการณ์ที่น่าอึดอัดรำคาญใจ (有慍) แต่ก็จะไม่ก่อให้เกิด (無) ความผิดพลาดเสียหาย (咎) ใดๆ' ... ส่วนประเด็นว่า ถ้าเดินกลางสายฝนแล้วตัวจะเปียกปอนเฉอะแฉะหรือไม่นั้น คงไม่ต้องถึงกับให้ 'จิวกง' มานั่งบอกพวกเราด้วยบทบันทึกมั้งครับ ??! ... :D

 

สี่ หยาง :

臀無膚其行次且牽羊悔亡聞言不信
tún wú fū qí xíng cì qiě qiān yáng huǐ wáng wén yán bù xìn
ทุ๋น อู๋ ฟู ชี๋ ซิ๋ง ชื่อ เฉี่ย เชียน ยั๋ง หุ่ย วั๋ง เวิ๋น เอี๋ยน ปู้ ซิ่น



臀 อ่านว่า tún (ทุ๋น) คำนี้แปลว่า 'บั้นท้าย', หรือ 'ก้น'

膚 อ่านว่า fū (ฟู) แปลว่า 'ผิวหนัง', 'เปลือก' หรือ 'สิ่งที่ห่อหุ้ม' ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'ตื้นๆ', 'ผิวเผิน', 'ไม่ลึกซึ้ง' หรืออาจจะหมายถึง 'สิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ' ; และในบางกรณีก็แปลว่า 'อ่อนนุ่ม' ด้วย

次 อ่านว่า cì (ชื่อ) แปลว่า 'ลำดับ', 'จำนวนครั้ง', 'ลำดับที่', 'ลำดับต่อไป' ; ในความหมายหนึ่งจึงหมายถึง 'อันดับรอง' ที่ 'ไม่ใช่อันดับแรก' ; หรือ 'กลางๆ' ในความหมายว่า 'ไม่โดดเด่น' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ที่พักระหว่างทาง' ; หรืออาจจะหมายถึง 'การหยุด (พัก) เป็นระยะๆ'

牽 อ่านว่า qiān (เชียน) มีลักษณะของ 'ภาพอักษร' เดิมมาจาก 'การลากจูงวัว' ดังนั้นจึงแปลว่า 'ลาก', 'จูง', 'ดึง', 'นำไป', 'พาไป' ; หรือ 'โน้มนำ', 'โน้มน้าว', 'ชักจูง' ; แต่บางครั้งก็ยังแปลว่า 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว' ในลักษณะที่เหมือนมี 'การผูกโยง' ด้วยเชือกหรืออุปกรณ์อื่นๆ จึงสามารถหมายถึง 'การล่าม' ได้ด้วย ; ในขณะเดียวกันก็แปลว่า 'การสอดส่อง' หรือ 'การตรวจสอบ' ก็ได้ ซึ่งน่าจะมาจากเป็นอาการของ 'การปะติดปะต่อ' หรือ 'ผูกโยง' เรื่องราวหลายๆ อย่าง 'ขมวดเข้าด้วยกัน' ; และเมื่อมีลักษณะของความหมายไปในแง่ของ 'การผูกโยง' จึงสามารถแผลงความหมายไปเป็น 'ความเกี่ยวข้อง' และ 'ความต่อเนื่อง' ได้ด้วย

คำว่า 羊 (yáng, ยั๋ง) มีปรากฏอยู่ใน 'คัมภีร์อี้จิง' เพียงสามบทเท่านั้นคือ บทที่สามสิบสี่, บทที่สี่สิบสาม (คือบทนี้), และบทที่ห้าสิบสี่ โดยความหมายที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปก็คือ 'แพะ' หรือ 'แกะ' ; แต่ในสมัยก่อนมันยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'โชคดี' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 詳 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'ละเอียดถี่ถ้วน' ซึ่งอาจจะออกแนว 'ละเอียดจนหยุมหยิม' ไปเลยด้วยซ้ำ หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ 'ทำให้กระจ่างแจ้ง', 'ทำให้ชัดเจน'

สำหรับคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) นั้นเจอมาแล้วหลายครั้ง โดยมันมีความหมายว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ผมชอบคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ที่ใช้คำว่า repent เพราะคำว่า repent แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

聞 อ่านว่า wén (เวิ๋น) โดยทั่วๆ ไปจะแปลว่า 'ข่าว', 'เรื่องเล่า', หรือ 'สิ่งที่ร่ำลือ' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'โด่งดัง', 'มีชื่อเสียง', หรือ 'สิ่งที่โจษจัน' ; และบ่อยครั้งที่มันจึงถูกใช้ในความหมายว่า 'ได้ยิน' (hear ซึ่งคนละความหมายกับไม่ใช่ 'ฟัง' หรือ listen) ; และในลักษณะของ 'สิ่งที่โจษจัน' นั้นก็ทำให้ 聞 (wén, เวิ๋น) มีความหมายว่า 'แพร่กระจายออกไป' (propagate) ด้วยก็ได้

信 อ่านว่า xìn (ซิ่น) ปรกติก็แปลว่า 'เชื่อถือ', 'ศรัทธา', 'เชื่อฟัง', 'มั่นใจ', หรือ 'เชื่อใจ' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'จดหมาย', 'ข้อความที่สื่อสาร', หรือ 'สาร' ซึ่งผมอาจจะแผลงให้หมายถึง 'สาระที่น่าเชื่อถือ' ซะเลยก็คงไม่แปลกอะไร ... :D

ดูเหมือน 'จิวกง' ยังสนุกสนานกับการใช้ 'อวัยวะของร่างกาย' มาเป็นปมเปรียบเทียบอะไรบางอย่างในวรรคนี้อีกครั้ง ... คำว่า 臀無膚 (tún wú fū, ทุ๋น อู๋ ฟู) ที่เราเห็นอยู่นี้จึงถูกหลายๆ ตำราให้ความหมายไว้ในลักษณะว่า 'บั้นท้ายที่เปลือยเปล่า' ซะจนเห็นภาพของ 'ความจ้ำบ๊ะ' ไปซะได้ ... :D ... แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันคล้ายกับสำนวนตลาดๆ แบบไทยๆ ว่า 'หมดตูด' ซะมากกว่า ?!! และเป็น 'อาการหมดตูด' ชนิดที่เรียกว่า 'หมดสิ้นจนแม้แต่ชั้นผิวหนังที่ห่อหุ้มตูด' กันเลยทีเดียว !! ... :D

ถ้าเราลำดับเหตุการณ์ในแต่ละวรรคของบทนี้อีกครั้ง เราก็จะพบว่า King Wen ได้เปิดประเด็นไว้ด้วยถ้อยคำที่ว่า 'คุณลักษณะของผู้นำที่ดีนั้น จะต้องมีความกล้าหาญ และมีความพร้อมที่จะรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่ตนมีส่วนในการก่อให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัดสวะให้พ้นตัวด้วยการกล่าวโทษผู้อื่น หรือยัดเยียดว่าเป็นอุบัติเหตุที่อยู่นอกเหนือความควบคุมใดๆ' ... โดย 'จิวกง' ได้บันทึกเสริมเอาไว้ในวรรคที่หนึ่งว่า 'แม้แต่การทุ่มเทเพื่อการวางรากฐานแห่งอนาคต หากไม่ประสบผลสำเร็จดังที่คาดหวังก็ยังต้องนับเป็นความผิดพลาดเช่นกัน' จะมาอ้างเป็นความดีความชอบของการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลใดๆ อย่างเลื่อนลอยไม่ได้เด็ดขาด ... ที่สำคัญก็คือ 'จะต้องตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท กระทำการใดๆ ด้วยความมีสติรอบคอบ ไม่ใช่ความหวาดวิตกกังวล' (ตามข้อความในวรรคที่สอง) และ 'ต้องไม่ดันทุรังกระทำการใดๆ เพียงเพื่อรักษาหน้าตา แต่ต้องรู้จักแยกแยะให้เหมาะสมแก่สถานการณ์แวดล้อมอย่างเหมาะสม' (ดังปรากฏในความหมายของวรรคที่สาม) ...

ดังนั้น ถ้าจะให้ความหมายของวรรคที่สี่นี้กลมกลืนไปกับเนื้อความที่ผ่านมา ความหมายของมันก็น่าจะหมายถึง 'การทุ่มเทกำลังจนหมดสิ้นแม้แต่ผิวหนังที่จะห่อหุ้มบั้นท้าย (臀無膚) นั้น ย่อมส่งผลกระทบถึงการดำเนินงานในด้านอื่นๆ (其行) จนต้องประสบกับภาวะชะงักงัน (次且) ไปด้วย การเชื่อมโยง (牽) รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ (羊) เข้าด้วยกันนั้น จะต้องลดละความมีอคติส่วนตัวให้หมดสิ้นไป (悔亡) และไม่ควรเชื่อถือเพียงเสียงคำร่ำลือใดๆ ว่าเป็นแก่นสารสาระ (聞言不信) ไม่ว่าจะลือกันอย่างหนาหูเพียงไหนก็ตาม' ...

มีคำที่ผม 'ตีความ' แตกต่างไปจากปรกติบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในวรรคนี้ อย่างเช่น 其 (qí, ชี๋) ที่บางครั้งจะมีความหมายคล้ายๆ กับ each ในภาษาอังกฤษ แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'อื่นๆ' หรือ others ก็ได้เมื่อเราหมายถึง 其它 (qí tā, ชี๋ ทา) ... โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใช้ความหมายว่า 'อื่นๆ' ในที่นี้ก็เพราะมันมีความต่อเนื่องมาจากคำว่า 獨行 (dú xíng, ตู๋ ซิ๋ง) ในวรรคที่สาม ... ซึ่ง ... ผมเชื่อว่า 'จิวกง' คงจะต้องการให้หมายถึง 'แต่ละการกระทำ (獨行) ที่ทุ่มเทลงไปเพียงเพื่อหวังจะรักษาหน้า (壯于頄) ย่อมมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบให้การดำเนินงานในด้านอื่นๆ (其行) ต้องหยุดชะงักจนเสียจังหวะไปหมด (次且)' ...

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คำว่า 羊 (yáng, ยั๋ง) ก็เลยไม่น่าจะหมายถึง 'แพะ' หรือ 'แกะ' อย่างที่เขาใช้กันตามปรกติ แต่น่าจะหมายถึง 詳 (xiáng, เซี๋ยง) ในความหมายว่า 'รายละเอียดปลีกย่อย' มากกว่า ... ซึ่งจะทำให้ 獨行遇雨 (dú xíng yǜ yǚ, ตู๋ ซิ๋ง ยฺวี่ หยฺวี่) หรือ 'แต่ละย่างก้าวแห่งภาระกิจที่ดำเนินไป จะต้องประสานสอดคล้องกับสิ่งบ่งชี้ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม' ในวรรคที่สามมีคู่วลีที่ลงตัวของมันว่า 牽羊悔亡 (qiān yáng huǐ wáng, เชียน ยั๋ง หุ่ย วั๋ง) หรือ 'การเชื่อมโยงทุกรายละเอียดเข้าด้วยกัน จะต้องลดละความมีอคติส่วนตัวให้หมดสิ้นไป' ในวรรคนี้ทันที !!? ... ซึ่งไอ้เจ้า 'การไม่ตะแบงเอาแต่ใจตัวเอง' นี่แหละที่ 'จิวกง' บอกไว้ว่า 'แม้จะต้องโอนอ่อนจนต้องอึดอัดรำคาญบ้างในบางกรณี' (若濡有慍) ก็ 'ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย' (無咎) ... ;) ... ส่วนคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่บางครั้งผมหมายถึง 'ปราศจากคำนินทาว่าร้าย' ก็ถูกสะท้อนความหมายด้วย 'การอย่าไปใส่ใจในคำร่ำลือที่บอกต่อๆ กันมาว่าเป็นสาระที่มีความสลักสำคัญอะไร' (聞言不信) ในตอนท้ายของวรรคนี้ซะอีกทีหนึ่ง ... แน่มากนะครับ 'จิวกง' เนี่ย !!?? ... :D

 

ห้า หยาง :

莧陸夬夬中行無咎
xiàn lù guài guài zhōng xíng wú jiù
เซี่ยน ลู่ กฺวั้ย กฺวั้ย ง ซิ๋ง อู๋ จิ้ว




หลังจากค้นจนแทบจะทุกพจนานุกรมแล้ว คำว่า 莧 (xiàn, เซี่ยน) ก็ยังวนเวียนอยู่กับความหมายของ 'วัชพืช', หรือ 'พืชผัก' ประเภท 'พืชสมุนไพร' อยู่อย่างนั้นแหละครับ โดยทั่วไปก็จะหมายถึง 'พืชคลุมดิน', หรือ 'ไม้พุ่มเตี้ย' ที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำ, หรืออาจจะหมายถึง 'พืชที่ขึ้นตามที่ลุ่มน้ำ' ในกลุ่มซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า amaranth หรือ amatanthus ที่มีอยู่ด้วยกันตั้งกว่า 60 สายพันธุ์ โดยมีทั้ง 'ผักโขม' (spinach) และ 'ใบบัวบก' รวมอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย ... แต่จนแล้วจนรอดผมก็เดาไม่ออกเลยว่า ชื่อเรียก 'พืชผัก' เหล่านี้จะมาป้วนเปี้ยนอยู่ใน 'คัมภีร์อี้จิง' ทำไม ?!?! ... แถมยังไม่สามารถหาความหมายอย่างอื่นมาทดแทนให้กับมันได้อีกต่างหาก ?! ... :P

ส่วนอักษร 陸 ที่อ่านว่า lù (ลู่) คำนี้โดยปรกติก็จะแปลว่า 'พื้น', 'แผ่นดิน' แต่ก็จะเป็นแผ่นดินในลักษณะที่เป็น 'ที่ดอน' หรือ 'เนินเขา' มากกว่าที่จะเป็น 'ที่ลุ่มน้ำ' ซึ่งการที่มันถูกเขียนติดกับอักษร 莧 (xiàn, เซี่ยน) เป็น 莧陸 (xiàn lù, เซี่ยน ลู่) นี้ก็ดันกลายเป็นคำที่ใช้เรียก 'ชื่อพืชสมุนไพร' ประเภท 'ใบบัวบก' ไปด้วยซะเลย ... ก็เลยยิ่งงงหนักเข้าไปอีก !!??

ด้วยอาการที่ไม่ปะติดปะต่อของถ้อยคำดังที่ตกทอดมานี้เอง ได้ทำให้ความหมายของวลีท่อนแรกที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 莧陸夬夬 (xiàn lù guài guài, เซี่ยน ลู่ กฺวั้ย กฺวั้ย) ถูกทุกตำราละเว้น 'การตีความ' ไปซะเฉยๆ อย่างนั้นแหละ ซึ่งแม้แต่ข้อความที่ถือว่าเป็นบทบันทึกของ 'ขงจื้อ' ผู้เป็นบรมครูของชาวจีนในยุคถัดมาก็ยังไม่ยอมเอ่ยถึงความหมายของวลีนี้เลยแม้แต่น้อย ?!?! ... แล้วเราจะมีทางคาดเดาได้มั้ยล่ะว่า 'จิวกง' ต้องการจะสื่อสารอะไรกับพวกเราจากวลีท่อนนี้ ??!! ... และความจริงก็คือ 'ไม่มีทาง' เลยครับ !! ... :D

ร่องรอยเดียวที่เหลืออยู่สำหรับ 'การตีความ' ของผมก็คือ อาศัยความสัมพันธ์ระหว่างวรรคที่สองกับวรรคที่ห้าของทุกบทที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเสมอนั่นแหละ ซึ่งในวรรคที่สองผมให้ความหมายไว้ว่า ... 'อาการของผู้ที่มีความตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท (惕號) นั้น แม้ตกอยู่ในสภาวะที่ขมุกขมัว (莫夜) และเต็มไปด้วย (有) อุปสรรคขวากหนาม (戎 คือความไม่เป็นมิตร) ย่อมปราศจาก (勿) ความหวาดวิตกกังวล (恤) ใดๆ' ... เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 莫夜有戎 (mù yè yǒu róng, มู่ เยี่ย โหฺย่ว ญ๋ง) ที่หมายถึง 'สภาวะอันขมุกขมัวและเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม' นั้นก็คือ 'หนทางอันลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งเต็มไปด้วยวัชพืขที่กีดขวางเส้นทาง' หรือ 莧陸 (xiàn lù, เซี่ยน ลู่) ดังที่เราเห็นในวรรคนี้ ??!!

ถ้อยคำที่ 'จิวกง' ต้องการเสริมให้กับวรรคที่สองจึงน่าจะหมายถึง 'บนหนทางอันลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งไม่มีความชัดเจนในเส้นทางที่จะดำเนินไป (莧陸 คล้ายถูกปกคลุมด้วยวัชพืช) นั้น จะต้องใช้วิจารณญาณในการแยกแยะ (夬) และไม่แข็งขืนดันทุรัง (夬) เพื่อจะบุกฝ่าไปอย่างสุ่มเสี่ยง ; การดำเนินงานด้วยความเข้าใจในหลักแห่งทางสายกลาง (中行) ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎) ใดๆ' ... โดย 'จิวกง' อาจจะต้องการใช้ภาพของ 'เส้นทางที่รกร้าง' (莧陸) ในวรรคนี้แทนความหมายของ 'ภยันตรายที่ซุกซ่อนอยู่' (有戎) ใน 'เส้นทางที่ขมุกขมัวไม่ชัดเจน' (莫夜) ดังถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคที่สอง ... และใช้คำว่า 夬夬 (guài guài, กฺงั้ย กฺวั้ย) ไปเป็น synonym ให้กับ 惕號 (tì hào, ที่ เฮ่า) ... กับสรุปประเด็นด้วยการแนะนำให้ 'ยึดหลักแห่งทางสายกลาง' (中行) สำหรับการดำเนินงานโดย 'ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล' (勿恤) ให้มากความ ... ผม 'เดาว่า' น่าจะประมาณนี้ครับ !!... ;)

 

หก หยิน :

無號終有凶
wú hào zhōng yǒu xiōng
อู๋ เฮ่า ง โหฺย่ว เซฺวิง




ความเป็น 'คู่วลี' ระหว่างวรรคที่หกกับวรรคที่หนึ่งในบทนี้ค่อนข้างจะชัดเจนมากเลยทีเดียว โดยถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่หนึ่งได้รับ 'การตีความ' ไว้ว่า 'การทุ่มเทอย่างดันทุรัง (壯) เพื่อ (于) เสริมสร้างรากฐานให้กับสิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจน (前趾 คือก่อนเวลาอันควร) นั้น หากผลลัพธ์ที่ได้ (往) ไม่สวยสดงดงาม (不勝) ดังที่คาดหวัง ความทุ่มเทนั้นๆ ย่อมกลายเป็น (為) ความผิดพลาดเสียหาย (咎) ที่จะปรากฏ' ... ซึ่งในแง่หนึ่งผมกลับมองว่า นี่ไม่ใช่ 'การปฏิเสธ' ความจำเป็นของ 'การเตรียมการเพื่ออนาคต' ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว แต่เป็น 'การเตือน' ว่า การเตรียมการเพื่ออนาคตนั้น หากไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง ผู้นำก็จะต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตนอย่างองอาจผ่าเผย ... ซึ่งในกรณีดังกล่าว 'จิวกง' เลือกใช้เพียงคำว่า 咎 (jiù, จิ้ว) เป็นตัวบ่งบอกถึงระดับของความผิดพลาดเท่านั้น

ส่วนในกรณีของวรรคที่หกนี้ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) มาเป็นตัวกำกับระดับของความเสียหายเลยทีเดียว เพราะว่า 'การแข็งขืนดันทุรังอย่างเลื่อนลอยไร้จุดมุ่งหมาย (無號) ผลลัพธ์ในบั้นปลาย (終) ย่อมมีแต่ความวิบัติฉิบหาย (有凶) เท่านั้น' ... ซึ่งคำว่า 無號 (wú hào, อู๋ เฮ่า) ในที่นี้ผมให้ความหมายว่า 'ปราศจากสัญญาณใดๆ (ที่จะต้องทุ่มเท)', หรือ 'ปราศจากเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการทุ่มเททรัพยากรลงไป', หรือไม่ก็ 'ปราศจากความมีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับอนาคต' ... ทั้งหมดนั้นก็คือ 'ความเหลวไหลเลื่อนลอย' ประเภท 'เพ้อเจ้อ-เพ้อฝัน' เอาจาก 'ความหลงตัวเอง' หรือ 'ความหลงเชื่อคำเล่าลือ' อย่าง 'ไร้วิจารณญาณไตร่ตรอง' ให้ 'รอบคอบ' ของตัว 'ผู้นำ' โดยตรง



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'กฺวั้ย' คือ ความไม่แข็งขืนดันทุรัง, ทะเลสาบเหนือฟากฟ้า

การก้าวขึ้นสู่ 'ทำเนียบแห่งผู้นำ' คือการบ่งบอกถึง 'ความพร้อม' ที่จะ 'แบกรับ' ทุกภาระกิจ 'อย่างจริงใจ' แม้ต้องเผชิญกับ 'ความผิดพลาดเสียหายที่ร้ายแรง' ก็ต้อง 'พร้อมที่จะยอมรับ' และ 'แสดงความเสียใจ' ใน 'ความผิดพลาดของตน' ; ไม่สมควร 'ด่วนสรุป' ด้วยการ 'กล่าวโทษผู้อื่น' ว่าเป็น 'อุปสรรค' ที่ 'คอยขัดขวาง' และ 'ไม่ให้ความร่วมมือ' ... หากปฏิบัติตนได้ดังนี้แล้ว 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ทั้งหลาย จึงจะสามารถ 'สัมฤทธิ์ผล' ได้ใน 'บั้นปลาย'

  •  
  • 'การทุ่มเท' อย่าง 'ดันทุรัง' เพื่อ 'เสริมสร้างรากฐาน' ให้กับสิ่งที่ยัง 'ไม่มีความชัดเจน' ก่อน 'เวลาอันควร' นั้น หาก 'ผลลัพธ์ที่ได้' ไม่ 'สวยสดงดงาม' ดังที่ 'คาดหวัง' 'ความทุ่มเท' นั้นๆ ย่อมกลายเป็น 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • ผู้ที่ 'ตั้งมั่น' อยู่บน 'ความไม่ประมาท' นั้น แม้ตกอยู่ในสภาวะที่ 'ขมุกขมัว' และเต็มไปด้วย 'อุปสรรคขวากหนาม' ย่อม 'ปราศจากความหวาดวิตกกังวล' ใดๆ
  •  
  • 'การทุ่มเทกำลัง' เพียงเพื่อจะ 'รักษาหน้าตา' ของตนนั้น ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความวิบัติฉิบหาย' 'ปราชญ์ผู้เจริญ' จักต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ใน 'การแยกแยะ' (ไม่แข็งขืนดันทุรัง) เพื่อให้แต่ละย่างก้าวแห่ง 'ภาระกิจ' ที่ดำเนินไปมี 'ความสอดคล้อง' กับ 'ปัจจัยบ่งชี้' ของ 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เหมาะสม' ซึ่งแม้ว่าจะต้อง 'ยอมโอนอ่อน' ลงบ้างในบางสถานการณ์ที่ 'น่าอึดอัดรำคาญใจ' แต่ก็จะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ใดๆ
  •  
  • 'การทุ่มเทกำลัง' จนหมดสิ้นแม้แต่ผิวหนังที่จะห่อหุ้มบั้นท้ายนั้น ย่อมส่ง 'ผลกระทบ' ถึง 'การดำเนินงาน' ในด้านอื่นๆ จนต้องประสบกับ 'ภาวะชะงักงัน' ไปด้วย 'การเชื่อมโยง' 'รายละเอียดปลีกย่อย' ต่างๆ เข้าด้วยกันนั้น จะต้อง 'ลดละความมีอคติส่วนตัว' ให้หมดสิ้นไป และไม่ควร 'เชื่อถือ' เพียง 'เสียงคำร่ำลือ' ใดๆ ว่าเป็น 'แก่นสารสาระ' ไม่ว่าจะลือกันอย่างหนาหูเพียงไหนก็ตาม
  •  
  • บนหนทางอัน 'ลุ่มๆ ดอนๆ' และ 'ไม่มีความชัดเจน' ในเส้นทางที่จะดำเนินไปนั้น จะต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ใน 'การแยกแยะ' และ 'ไม่แข็งขืนดันทุรัง' เพื่อจะบุกฝ่าไป 'อย่างสุ่มเสี่ยง' ; 'การดำเนินงาน' ด้วย 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักแห่งทางสายกลาง' ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ใดๆ
  •  
  • 'การแข็งขืนดันทุรัง' อย่าง 'เลื่อนลอยไร้จุดมุ่งหมาย' ผลลัพธ์ในบั้นปลายย่อมมีแต่ 'ความวิบัติฉิบหาย' เท่านั้น



The Organization Code :


'ความไม่แข็งขืนดันทุรัง' คือการ 'ไม่ทุ่มเทกำลังอย่างหักโหม' ด้วย 'ความสุ่มเสี่ยง' เพียงเพื่อหวังจะแสดง 'ศักยภาพ' ของตนให้ปรากฏ ... แม้ว่า 'ระดับนโยบาย' และ 'ระดับบริหาร' จะมี 'ความแข็งแกร่ง-แน่นหนา' อย่างเต็มเปี่ยม (⚌) แต่ใน 'ระดับปฏิบัติงาน' จะต้อง 'ไม่หลงระเริง' ใน 'ศักยภาพ' จน 'กระทำการ' ใดๆ อย่าง 'สุ่มเสี่ยง-หักโหม' จนกลายเป็นการ 'บั่นทอนรากฐานสำคัญ' ขององค์กรโดยรวม ... 'ผู้นำที่ชาญฉลาด' จึงเลือกใช้ 'ศักยภาพ' (☰) เพื่อ 'การผูกมิตร' (☱) มิใช่เพื่อ 'การพิชิตศัตรู' !!

บทบาทของ 'ผู้นำที่ดี' คือการมี 'ความพร้อม' ที่จะ 'โอบอุ้ม' และ 'แบกรับ' ทุก 'ภาระกิจ' ให้ดำเนินไปจน 'สำเร็จลุล่วง' ด้วยดี ต้องมี 'ความกล้าหาญ' ที่จะ 'ยอมรับผิด' และ 'แสดงความเสียใจ' ต่อ 'ความยุ่งยากลำบาก' หรือ 'ความผิดพลาดเสียหาย' ที่อาจเกิดขึ้นได้ ในฐานะของ 'ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ' โดยตรง และไม่สามารถใช้ 'การกล่าวโทษผู้อื่น' หรืออ้าง 'ความไม่เอื้ออำนวยของสถานการณ์' เป็นเหตุผลของ 'การไม่ต้องรับผิด' ใดๆ

  •  
  • 'การทุ่มเท' เพื่อ 'เสริมสร้างรากฐาน' สำหรับ 'อนาคต' จะต้อง 'ไม่ดันทุรังอย่างหักโหม' จนกลายเป็น 'การบ่อนทำลายรากฐาน' ที่มั่นคงอยู่เดิมให้ 'สูญเสียกำลัง' ลงไป เพื่อ 'จำกัดขอบเขต' ของ 'ความล้มเหลว' ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ให้ 'ลุกลาม' จนยากแก่ 'การเยียวยาแก้ไข'
  •  
  • 'การดำเนินกิจการงาน' ทั้งหลาย จะต้องมี 'การกำหนดกรอบแห่งเป้าหมาย' ไว้ 'อย่างชัดเจน' และต้อง 'ปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความไม่ประมาท' มี 'ความรัดกุมรอบคอบ' เพื่อจะ 'ไม่หวาดวิตกกังวล' ไปต่างๆ นาๆ เมื่อต้องเผชิญกับ 'อุปสรรค' ที่ 'แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะการณ์' อัน 'ไม่แน่นอน'
  •  
  • 'การดำเนินกิจการงาน' ใดๆ จะ 'ต้องไม่มากด้วยลีลา' แต่ 'ต้องหนักแน่นด้วยเนื้อหา' ; 'ความแข็งขืนดันทุรัง' ที่หวังเพียง 'การรักษาหน้า' ของตนไว้นั้น ย่อมนำมาซึ่ง 'ความวิบัติวอดวาย' ด้วยเป็น 'การสูญเสียทรัพยากร' ไปอย่าง 'เปล่าประโยชน์' ; 'ผู้นำที่ดี' จะต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ในการ 'จำแนกแยกแยะ' ความหนักเบาแห่ง 'ปัจจัยบ่งชี้' สำหรับ 'กาละ-เทศะ' ต่างๆ 'อย่างเหมาะสม' เพื่อให้แต่ละย่างก้าวแห่ง 'ภาระกิจ' ที่ดำเนินไปมี 'ความประสานสอดคล้อง' กับสถานการณ์หนึ่งๆ ... 'การโอนอ่อนผ่อนตาม' ในบางสถานการณ์ที่แม้ว่าจะสร้าง 'ความอึดอัดรำคาญใจ' อยู่บ้าง แต่ 'การแข็งขืน' เพียงเพื่อ 'เอาชนะ' กลับอาจจะทำให้เกิด 'เหตุบานปลาย' จน 'ยากแก่การแก้ไข' ในภายหลัง
  •  
  • 'การทุ่มจนสุดตัว' อย่าง 'หมดหน้าตัก' ชนิดที่ไม่เหลือหนทางสำหรับ 'การถอย' เลยนั้น ย่อมเป็น 'ความสุ่มเสี่ยง' ที่จะส่ง 'ผลกระทบ' จน 'การดำเนินงาน' ในด้านอื่นๆ ต้องประสบกับ 'ภาวะชะงักงัน' ไปด้วย ; 'ผู้นำ' ที่จะสามารถ 'ประสานองค์ประกอบอันหลากหลาย'  ให้ 'ดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ 'ร่วมกันได้อย่างมีสมดุล' จะต้องปราศจาก 'ความมีอคติส่วนตัว' และไม่ควร 'เชื่อถือ' เพียง 'เสียงคำร่ำลือ' ใดๆ ว่าเป็น 'แก่นสารสาระ' ไม่ว่าจะลือกันอย่างหนาหูเพียงไหนก็ตาม
  •  
  • บนหนทางอัน 'ลุ่มๆ ดอนๆ' และ 'ไม่มีความชัดเจน' ในเส้นทางที่จะดำเนินไปนั้น จะต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ใน 'การแยกแยะ' และ 'ไม่แข็งขืนดันทุรัง' เพื่อจะบุกฝ่าไป 'อย่างสุ่มเสี่ยง' ; 'การดำเนินงาน' ด้วย 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักแห่งทางสายกลาง' ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย' ใดๆ
  •  
  • 'ความมีวิสัยทัศน์' จะต้องเกิดจาก 'การคาดการณ์อย่างมีหลักเกณฑ์' ที่ 'เป็นไปได้' ใน 'อนาคต' ไม่ใช่ 'การเพ้อฝันอย่างเลื่อนลอย' ด้วย 'อิทธิพล' ของ 'ตัญหา' และ 'ความหลงตัวเอง' ; 'การแข็งขืนดันทุรัง' อย่าง 'เลื่อนลอยไร้จุดมุ่งหมาย' ผลลัพธ์ในบั้นปลายย่อมมีแต่ 'ความวิบัติฉิบหาย' เท่านั้น


หากยังจำกันได้ตั้งแต่ครั้งที่ผมอธิบายเรื่อง The Primary Code ของ 'คัมภีร์อี้จิง' (คือ 'สัญลักษณ์รากทั้งแปด' หรือ 'โป๊ยก่วย' นั่นเอง) ผมเล่าถึงความหมายของ 兑 (☱ : duì, ตุ้ย) ไว้ว่า ... เป็นอักษรรากของคำที่มีความหมายว่า 'พูด' โดยมีรูปสัญลักษณ์ของ 'ปาก' อยู่ที่ตรงกลางของภาพอักษร และกำลังแสดงอาการของ 'การพูด' และ 'ยิ้มแย้ม' ออกมา ด้านบนเป็นภาพของ 'แขนที่แกว่งไกว' อย่างมีความสุข ด้านล่างเป็นภาพของ 'เท้าที่กำลังเริงระบำ' อย่างสุขสันต์ … คำว่า 兑 จึงมีหลายความหมายด้วยกัน จากเดิมทีเดียวที่หมายถึง 'การพูดคุยอย่างมีความสุข' ก็พัฒนาต่อมาเป็น 'การแลกเปลี่ยนที่มีทั้งการให้และการรับ' ในความหมายว่าเป็น 'การให้และการรับเพื่อแลกเปลี่ยนความสุข' ระหว่างกันและกัน … ซึ่งภาพสัญลักษณ์ในธรรมชาติที่ใช้แทน 兑 ก็คือ 'บึง' หรือ 'ทะเลสาบ' ซึ่งเป็นทั้ง 'ผู้รับ' และ 'ผู้ให้' ด้วย 'ปาก' ที่เปิดกว้างของมันเสมอ ... ความต่อเนื่องของบทที่สี่สิบเอ็ด, บทที่สี่สิบสองกับบทที่สี่สิบสามจึงอยู่ที่สัญลักษณ์ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) อันเป็นตัวแทนของ 'ความแจ่มใสเบิกบาน' ที่เอ่ยเอาไว้ในบันทึกสรุปตรงช่วงท้ายของบทที่สี่สิบสองว่า ... บุคคล 'ผู้ละวางอัตตา' ย่อมปราศจาก 'ความอึดอัดขัดเคือง' เมื่อต้องเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ... แต่จะ 'พยายามเรียนรู้' เพื่อ 'ทำความเข้าใจ' ต่อสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่ในแต่ละขณะเวลาด้วย 'ปัญญารมณ์' ที่ 'แจ่มใสเบิกบาน' ... มี 'ความกระตือรือร้น' ต่อ 'การปรับปรุง' และ 'พัฒนาตนเอง' อย่าง 'ต่อเนื่อง' โดยมิเคยละทิ้งซึ่ง 'ความพยายาม' ... โดยผมมองว่า บทที่สี่สิบสามนี้ก็คือ 'การเผยตัวออกมา' ของ 'ความแจ่มใสเบิกบาน' (☱) โดยผู้ที่มี 'ศักยภาพ' เต็มเปี่ยม (☰) แล้วนั่นเอง

ธรรมชาติหนึ่งของ 'ปุถุชน' โดยทั่วๆ ไปนั้น ยิ่งมี 'ความรู้' และมี 'ศักยภาพ' มากเท่าใด ก็มักที่จะอยากแสดง 'ความรู้' และ 'ศักยภาพ' เหล่านั้นให้ปรากฏเป็นประโยชน์ (แต่จะเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ใครนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความหมายคือมีพื้นฐานอยู่ที่ 'ความอยากแสดง' เหมือนๆ กันเท่านั้น) ... ซึ่ง 'ความอยากแสดง' นั้นเองที่บางครั้งก็กลายเป็นอาวุธที่คอย 'ทิ่มแทงความรู้สึก' กันไปมา จนกลายเป็น 'ความขัดแย้ง' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กัน' ของทุกๆ ฝ่าย ... ผมเชื่อว่า ... ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' น่าจะเล็งเห็นถึง 'ผลเสียหาย' ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จาก 'การแข่งดี' ใน 'สังคมโดยรวม' มาตั้งแต่ยุคนั้น จึงเขียนบทบันทึกเหล่านี้ขึ้นเพื่อ 'เตือนสติ' ให้ระลึกไว้ว่า 'การพัฒนาสังคมโดยรวม' นั้น ไม่สามารถที่จะเลือก 'พัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง' อย่าง 'สุดโต่ง' จน 'สูญเสียความสมดุล' ... มิฉะนั้นแล้ว ทุกผู้คนในสังคมนั้นเองที่จะต้องประสบกับ 'ความย่อยยับ' ในที่สุด เมื่อต่างฝ่ายต่างตั้งธงให้ผู้อื่นล้วนเป็น 'ศัตรูคู่อาฆาต' ที่เจือจานกันเฉพาะ 'ความบาดหมาง' แต่ไม่อาจ 'ประสานประโยชน์' อย่าง 'ทั่วถึงกัน' !!