Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggked Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text:


第一卦 : 乾

乾 : 乾為天 ‧ 乾上乾下

乾 : 元‧亨‧利‧貞‧

  • 初九 ‧ 潛龍‧勿用‧
  • 九二 ‧ 見龍再田‧利見大人‧
  • 九三 ‧ 君子終日乾乾‧夕惕若厲‧無咎‧
  • 九四 ‧ 或躍在淵‧無咎‧
  • 九五 ‧ 飛龍在天‧利見大人‧
  • 上九 ‧ 亢龍‧有悔‧
  • 用九 ‧ 見群龍無首‧吉‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์แจ่มใส (⚌) ปัญญาฉับไว (⚌) กายาคึกคัก (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ทุกองคาพยพพร้อมรุก ทั้งนโยบาย, แผนงาน, และการปฏิบัติ

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือลิขิตฟ้า, เหนือฟ้ายังมีฟ้า :D



ความหมายของชื่อเรียก : Potential : ศักยภาพ


ภาพอักษร 乾 จัดอยู่ในหมวดอักษร 乙 (yǐ) ที่หมายถึง 'การงอกเงย' ที่นำมาผสมกับอักษร 倝 (gàn) ซึ่งหมายถึง 'ดวงตะวันที่เริ่มทอแสง' กลายเป็นอักษร 乾 ที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า 'สรรพสิ่งย่อมก่อเกิดด้วยลิขิตฟ้าในสภาวะแวดล้อมอันเหมาะสม' … โดยมีด้านบนของซีกซ้ายในภาพอักษรเป็นสัญลักษณ์ของ 'ต้นไม้ใบหญ้า' อันสะท้อนถึงความเป็น 'สรรพชีวิต' ตรงกลางของซีกซ้ายในภาพอักษรเป็นรูปของ 'ดวงตะวัน' ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก ด้านล่างของซีกซ้ายในภาพอักษรเป็นภาพของ 'ราก' ที่หยั่งลึกลงไปในแผ่นดิน … ส่วนด้านบนของซีกขวาในภาพอักษรเป็นสัญลักษณ์ของ 'ลำแสง' หรือ 'พลังงาน' ที่แผ่กระจายจาก 'ดวงตะวัน' มาสู่โลก และด้านล่างของซีกขวาในภาพอักษรก็คือตัว 乙 ที่หมายถึง 'การงอกเงย' หรือ 'การเจริญเติบโต' … ซึ่งโดยรวมแล้ว คำว่า  乾 แทบจะไม่มีนัยอย่างอื่นที่บ่งบอกถึง 'ความเคลื่อนไหว' ใดๆ เลย แต่ค่อนข้างที่จะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่หมายถึง 'ศักยภาพในการงอกเงยภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย' มากกว่า และทำให้ผมนึกถึงคำว่า Potential อันเป็นคุณลักษณะประการสำคัญของ Infinity ตามคติความเชื่อของปรัชญากรีก … และด้วยเหตุที่ Infinity นั้นก็มีความหมายในเชิงปรัชญาที่หมายถึง Almighty หรือ God ด้วย … ซึ่งคำว่า 天 ในภาษาจีนที่นอกจากจะแปลว่า 'ท้องฟ้า' ตามปรกติอยู่แล้ว มันก็มีอีกความหมายหนึ่งที่หมายถึง 'เทพเจ้า' ได้ด้วยเหมือนกัน … ดังนั้น การเลือกจับคู่ให้  乾 มีความหมายคู่กับ Potential ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของ Infinity หรือ Almighty หรือ God นั้นจึงค่อนข้างที่จะลงตัวพอดี โดยเฉพาะเมื่อเรามองในส่วนของคำขยายความที่ว่า 乾為天 ที่ผมแปลไว้ว่า 'เชี๋ยนคือลิขิตฟ้า'



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨利貞
yuán hēng lì zhēn
เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิ


King Wen ได้บันทึกคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ 'เชี๋ยน' ไว้ด้วย 'ภาพอักษร' 4 ภาพคือ  元 亨 利 貞 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนลงไปได้ยากว่านี่เป็น 'ภาพอักษร' 4 ภาพที่ตั้งใจจะเรียงกันเป็นประโยค หรือว่ามีความต้องการจะสื่อเป็นคำโดดๆ จำนวน 4 คำ แล้วให้คนอ่านไปตีความเพื่อเรียงเป็นประโยคกันเอาเอง :D เนื่องจากภาษาจีนในยุคสมัยของ King Wen นั้น ยังไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนให้ใช้งานกันเหมือนอย่างในยุคถัดๆ มา ;) … ซึ่งก็ปรากฏว่า 'ขงจื้อ' ได้บันทึกคำอรรถาธิบายสำหรับ 'ภาพอักษร' 4 ภาพ หรือ 'ตัวอักษร' 4 ตัวในคำบรรยายภาพสัญลักษณ์นี้ไว้หลายหน้ากระดาษอยู่ … ช่างเป็นนักเล่นคำ Random Words ที่ Creative จริงๆ !!! … :P

元 อ่านว่า yuán (เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; นอกจากนั้นในสมัยก่อนก็ยังมีความหมายเหมือนกับ 天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; แล้วก็เลยทำให้สามารถตีความเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ได้อีกต่างหาก เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนในยุคก่อนนั้น จะถือว่าจักรพรรดิของพวกเขาคือ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งถ้าจะใช้คำอื่นในยุคปัจจุบันก็น่าจะตีความให้หมายถึง 'ผู้นำ' ได้ด้วย ;)

亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

利 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

貞 อ่านว่า zhēn (เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

เพราะฉะนั้น บันทึกของ King Wen ที่บันทึกไว้แค่ว่า  乾 ‧ 元亨利貞 แล้วผมก็แปล 乾 ว่า Potential หรือ 'ศักยภาพ' นั้น … ตัวอักษรต่อมาทั้ง 4 ตัวก็ควรจะตีความได้ว่า King Wen กำลังต้องการจะสื่อให้พวกเราเข้าใจถึง 'ความหมาย' ของ 'ความมีศักยภาพ' ซึ่งก็คือจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ว่ามานั้น 'ทั้งหมด' จึงจะสามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ เมื่อมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยนั่นเอง ;) … นั่นก็คือ จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง (originality) มีความริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ (initiative and creative) มีภาวะผู้นำที่เหมาะสม มีความชัดเจนในเป้าหมายของตน และตระหนักรู้หรือมีความเข้าใจ (understanding) ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน (insight and enlightening) เพื่อที่จะสามารถขจัดปัดเป่าอุปสรรคต่างๆ และผลักดันให้ภารกิจหนึ่งๆ มีความก้าวหน้า (progressing) ไปอย่างราบรื่น (smoothly, prosperously) ต้องมีความเฉลียวและฉลาด (เฉียบขาด และแหลมคม) ในการฉกฉวยจังหวะ (แห่งโชคลาภ) รู้จักยืดหยุ่นเพื่อโอนอ่อนผ่อนปรนตามแต่สถานการณ์อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่ยอมลดละความมุ่งมั่น และต้องมีความทุ่มเท (perseverence) อย่างมีน้ำอดน้ำทนเสมอต้นเสมอปลาย ต้องมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม (virtuous) มีความสื่อซัตย์สุจริต และต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีระบบระเบียบที่ชัดเจน … เนี่ย … 'ความมีศักยภาพ' ในความหมายของ King Wen … ;)

แต่ประโยคที่ 'สวยงามที่สุด' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ในความรู้สึกของผมนั้น น่าจะมาจากประโยคแรกที่ 'จิวกง' บันทึกเพิ่มเติมลงไปให้กับคัมภีร์ฉบับเดิมที่ King Wen ทิ้งเป็นมรดกเอาไว้ให้ … ประโยคแรกที่ถือว่าเป็น 'คำสอน' หรือ 'ข้อแนะนำ' ที่ช่วยให้ 'คัมภีร์อี้จิง' มีความสมบูรณ์ในฐานะของ 'คัมภีร์คุณธรรม' อย่างที่ผมพยายามจะบอกกับใครต่อใครว่า นี่ไม่ใช่ 'ตำราหมอดู' ที่หลายๆ คนพยายามจะหว่านล้อมให้พวกเราเชื่อ !! … ประโยคนั้นก็คือวรรคแรกของ 'คำขยายความ' ให้กับขีดแรกใน 384 ขีดแห่ง 'คัมภีร์อี้จิง' นั่นเอง …  潛龍勿用 … ประโยคที่แทบจะทุกตำราแปลไว้ตรงกันว่า 'มังกรซ่อนกาย อย่าใช้' … แต่ผมจะแปลมันว่า 'เก็บงำประกาย อย่าอวดดี' … :D … มันคือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผมอยากจะ 'ตีความ' ทุกตัวอักษรใน 'คัมภีร์อี้จิง' ใหม่ เพราะผมรู้สึกไม่ถูกใจกับคำแปลประโยคแรกที่เคยเห็นในทุกๆ ตำรา … เท่านั้นเอง …  :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

潛龍勿用
qián lóng wù yòng
เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง


เนื่องจาก 'จิวกง' เป็นบุตรชายของ King Wen จึงต้องถือว่าภาษาจีนยังอยู่ในยุคที่ 'ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน' สำหรับใช้ในการเขียนบันทึกเหมือนๆ กันด้วย … แต่ที่ผู้คนในยุคหลังๆ เห็นประโยคนี้ถูกเขียนเป็น 潛龍 . 勿用 นั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของบทอรรถาธิบายที่ 'ขงจื้อ' ทำบันทึกเพิ่มเติมเอาไว้มากกว่า … ;) … ซึ่งถ้าหากเราจินตนาการย้อนอดีตกลับไปเป็นบุคคลในสมัยเดียวกันกับ 'ขงจื้อ' ที่กำลังแคะคัมภีร์เล่มนี้เป็นครั้งแรก ผมก็ค่อนข้างเชื่อว่า เราน่าจะอยู่ในอารมณ์เดียวกับ 'ขงจื้อ' ที่กำลังครุ่นคิดว่า ควรจะแบ่งตัวอักษรจีน 4 ตัวนี้ออกมาเป็นประโยคยังไงดี … :D …

潛 อ่านว่า qián (เชี๋ยน) เขียนได้อีกอย่างเป็น 潜 แปลว่า 'ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำ', 'หลบ', 'แอบ' ; 'ลึกลับ' ; หรืออาจจะหมายถึง 'ยังไม่แสดงตัว' (latent) ก็ได้ด้วย

龍 อ่านว่า lóng (ล๋ง) แปลว่า 'มังกร' ซึ่งเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีพลังอำนาจพิลึกพิลั่นอย่าง 'ไร้ขีดจำกัด' ในวัฒนธรรมจีนจะจัดให้เป็น 'สัตว์มงคล' ประเภทหนึ่งที่ผู้คนเคารพนับถือว่า เป็น 'ของสูง' ที่อำนวยโชคลาภให้แก่มนุษย์ และยังถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์จักรพรรดิ์อีกด้วย โดยมีตำนานเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งที่ชนเผ่าต่างๆ ในแผ่นดินจีนยังไม่ได้รวมเข้าเป็นปึกแผ่นนั้น ชนเผ่าต่างๆ ก็มักจะมี totem หรือ 'สัตว์มงคล' อันเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่าของตนเองสำหรับเป็น 'รูปเคารพ' … จนกระทั่งเกิดการรวบรวมชนเผ่าทั้งหลายเข้าเป็นปึกแผ่น และเกิดความคิดที่จะนำเอา totem ของชนเผ่าหลักๆ ทั้งหมดให้รวมศูนย์เหลือเพียง totem เดียว เพื่อจะใช้สำหรับเป็น 'รูปเคารพ' ร่วมกันของทุกชนเผ่า จึงเกิดเป็นสัญลักษณ์รูป 'มังกร' นี้ขึ้น โดย 'มังกรของจีน' จะมีลักษณะเด่นๆ ให้เห็นคือ หัวเป็นวัว ตัวเป็นงู หางเป็นปลา ขาเป็นนก และเขาเป็นกวาง … จากนั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงมักจะถือเอาสัญลักษณ์รูป 'มังกร' นี้เป็นสัญลักษณ์แทน 'ผู้นำ' ของพวกเขามาโดยตลอด

勿 อ่านว่า wù (อู้) มีความหมายในเชิงปฏิเสธ แปลว่า 'ไม่', 'ไม่ควร', 'ไม่ต้อง', 'ไม่เคย', 'ไม่มี' หรือ 'ไม่ใช่'

用 อ่านว่า yòng (โย่วฺง) แปลว่า 'ใช้งาน' (use), 'ใช้ประโยชน์' (apply), 'ใช้จ่าย', 'ดำเนินการ' (execute, operate) ; 'ผลลัพธ์', 'ผลพวง', 'จำเป็น', และอาจจะหมายถึง 'ความสามารถ' หรือ 'ผลสัมฤทธิ์' ก็ยังได้

คืองี้ … สมมุติว่าถ้าแบ่งตามที่ชาวบ้านเขาทำกัน 潛龍 . 勿用 คำว่า 潛龍 จะแปลว่า 'มังกรซ่อนกาย' หรือ 'อำพรางมังกร' ที่ผมเลือกใช้คำว่า 'เก็บงำประกาย' ดีล่ะ? … เราจะให้ 潛 เป็น adjective หรือเป็น verb ดี?? ;)

แล้วถ้าผมแบ่งอักษร 4 ตัวนี้ใหม่เป็น  潛 .  龍勿用 แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Be Humble, Potential is not Capability … ซึ่งเมื่อแปลกลับมาเป็นภาษาไทยก็จะได้ประมาณว่า … รู้จักถ่อมเนื้อถ่อมตัวซะบ้าง 'ศักยภาพ' น่ะมันไม่ใช่ 'ความสามารถ' ซักหน่อย !! … :D …

ความสวยงามที่สุดของวรรคนี้ก็อยู่ตรงที่ว่า ในสถานการณ์หนึ่งๆ ที่ทุกๆ อย่างสุกงอมจนได้ที่ตำแหน่งของ ䷀ 乾 นี้ มันมักจะเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความคึกคัก ฮึกเหิม เพราะดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างมันช่างรู้เห็นเป็นใจไปซะทั้งหมด อันอาจจะนำไปสู่ความหุนหันพลันแล่น และลงไม้ลงมือปฏิบัติการบางอย่างลงไปอย่างรีบร้อนผลีผลามขาดความยับยั้งชั่งใจ … ซึ่งการเอ่ยปากเตือนกันตั้งแต่วรรคแรกของคัมภีร์ให้ 'อย่าประมาท' นั้นต้องถือว่าเป็นอัจฉริยะภาพของ 'จิวกง' ผู้รจนา 'ข้อพึงปฏิบัติหกประการ' ให้กับแต่ละสัญลักษณ์ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ตลอดทั้ง 64 สัญลักษณ์ … และเป็นไปได้ว่า 龍 ในที่นี้น่าจะหมายถึง 乾 หรือ 陽 อันเป็นคำที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แบบเดียวกัน แต่เป็นการเล่นคำเพื่อให้พ้องสระกับคำว่า 用 ที่อยู่ท้ายประโยคเท่านั้นเอง ;) … แล้วผมก็จงใจที่จะแปลภาพสัญลักษณ์  ䷀  นี้ว่า 'เหนือฟ้ายังมีฟ้า' แทนที่จะแปลตรงๆ ว่า 'ฟ้าบนฟ้าล่าง' ตามตัวอักษรที่กำกับภาพสัญลักษณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการย้ำความหมายให้สอดคล้องกับข้อคิดในวรรคแรกของ 'จิวกง' นั่นเอง ;)

คำอีกคู่หนึ่งที่ผมจับมายำเป็น 'คู่ปฏิปักษ์' กันในคราวนี้ก็คือ Potential (ศักยภาพ) กับ Capability (ความสามารถ) ซึ่งในภาวะปรกติแล้วทุกคนต่างก็รู้ว่ามัน 'ไม่เหมือนกัน' … แต่เวลาที่ฮึดๆ หน่อยก็อาจจะเผลอสติจนนึกว่ามันทดแทนกันได้ :D … เราต้องไม่ลืมครับว่า 'ศักยภาพ' นั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคุณลักษณะที่มีมาแต่กำเนิด แต่ก็มี 'ศักยภาพ' หลายๆ อย่างที่เราสามารถจะฝึกฝนและสั่งสมกันขึ้นมาเองได้ … ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในกรณีไหนก็ตาม 'ศักยภาพ' ก็ยังถือว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ขึ้นตรงกับ 'ความฝักใฝ่' และ 'การสั่งสมวาสนา' หรือ 'พฤติกรรม' ของตนเองโดยตรงเท่านั้น … ในความหมายอย่างนี้จึงเป็นจุดที่แตกต่างกับ 'ความสามารถ' … เนื่องจาก 'ความสามารถ' นั้นไม่ได้ขึ้นตรงกับ 'คุณลักษณะ' หรือ 'คุณสมบัติ' ส่วนตัวเพียงสถานเดียว แต่มันจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ จาก 'ภายนอก' เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ และจำเป็นต้องมีความประสานสอดคล้องกันของหลายๆ สิ่ง จึงจะก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อความเจริญก้าวหน้า และความสำเร็จตามที่มุ่งหวังนั้นๆ ได้ … คนเราจึงพัฒนาตนเองได้เฉพาะส่วนที่เป็น 'ศักยภาพ' … ในขณะที่ 'ความสามารถ' นั้น จำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยสภาวะแวดล้อม กับสถานการณ์ หรือจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น จึงจะเกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ … ฟังแล้วเหมือนต้องเล่นพรรคเล่นพวกเลยเนอะ !! :D …

แต่มันก็เป็น 'สัจธรรม' ของมันอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยลำพังของมันเอง ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นๆ เพื่อที่จะดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นและสมบูรณ์ … ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ … ;) … เหมือนอย่างเมล็ดข้าวที่เราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า มันมี 'ศักยภาพ' ในการเติบใหญ่เป็นต้นข้าว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จู่ๆ มันก็จะสามารถโตพรวดพราดขึ้นมาเป็นต้นข้าวได้ในขณะที่เราอมมันเอาไว้ในปากของเรา … :D … นึกออกมั้ย ??!! … 'ความสามารถ' ในการเติบโตของเมล็ดข้าวย่อมขึ้นตรงกับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจาก 'ศักยภาพ' ของมันเอง … และไม่ว่าเราจะทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมันยังไงก็ตาม มันก็ไม่มี 'ความสามารถ' ที่จะเติบใหญ่กลายเป็นต้นทุเรียนไปได้ เพราะมันไม่มี 'ศักยภาพ' อย่างนั้น … :D … ทั้ง 'ศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ต่างก็เป็น 'คู่ปฏิปักษ์' ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในลักษณะเดียวกับ 'หยาง' และ 'หยิน' ที่ฝ่ายหนึ่งคือ 'ศักยภาพ' โดยมีอีกฝ่ายหนึ่งเป็น 'คู่สนธิ' เพื่อให้เกิดเป็น 'ความสามารถ' ที่จะหล่อเลี้ยง 'ศักยภาพ' นั้นๆ ให้ดำรงอยู่ และสามารถดำเนินต่อไปในวิถีทางของมันได้อย่างราบรื่น และยั่งยืน …

การที่วรรคนี้ของคัมภีร์เลือกใช้คำว่า 龍 ก็อาจจะมีนัยแอบแฝงในลักษณะที่ว่า แม้แต่ 'มังกร' ซึ่งเป็น 'สัตว์มงคล' ที่ทรงอิทธิฤทธิ์อย่างไร้ขีดจำกัดนั้น (เหมือนอย่าง ䷀ ที่ดูราวกับแถบบอกระดับของแบตเตอรี่ที่ถูกชาร์จจนล้นปรี่) มันก็ยังรู้จักเวล่ำเวลาที่จะถนอมความแกร่งกร้าวห้าวหาญของตัวเองเอาไว้ในบางสถานการณ์ ไม่ใช่เอาแต่กร่างไปทั่วเหมือนไร้สติยั้งคิดยั้งใจใดๆ เลย … และการเลือกเอาคำว่า 潛 มาใช้ ซึ่งมีความหมายว่า 'ซ่อนอยู่ใต้น้ำ' ไม่ใช่แค่ซุกซ่อน หรืออำพรางตัวเฉยๆ ในความหมายหนึ่งก็อาจจะต้องการให้มีคำว่า 'น้ำ' มาประกอบเอาไว้ เนื่องจาก 'น้ำ' คือธาตุที่มีความอ่อนในท่าที แต่ทรงพละกำลังอย่างเหลือล้นในบางสถานการณ์ และน่าจะทำให้คำว่า 潛龍 ที่แม้ว่าจะแปลออกมาเป็น 'มังกรซ่อนกายในน้ำ' ก็ยังมีความหมายในลักษณะที่ว่า 'อำพรางความแกร่งกร้าวในความอ่อนหยุ่น' … หากจังหวะเวลา และสถานการณ์ไม่เหมาะสม ย่อมไม่ควรแข็งขืนฝืนใช้พละกำลัง หรือ 'ศักยภาพ' ทั้งหมดของตนเองมาทุ่มเทลงไปอย่างไร้สติ (勿用) … ฉบับ ZhuqiChing จึงจงใจที่จะแปลวรรคนี้ไว้ว่า 'เก็บงำประกาย อย่าอวดดี' … นี่แหละ !! ;)

 

สอง หยาง :

見龍再田利見大人
jiàn lóng zài tián lì jiàn dà rén
เจี้ยน ล๋ง ไจ้ เที๋ยน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋


วรรคที่สองนี้มีต้นฉบับแตกต่างกันอยู่ 2 แบบคือ 見龍田利見大人 ตามที่เห็นอยู่นี้ กับอีกแบบหนึ่งที่เขียนเป็น 見龍田利見大人 โดยอักษรตัวที่ 3 ที่แตกต่างกันนั้นอ่านออกเสียงเหมือนกัน ซึ่งหลายๆ ตำราตีความว่าน่าจะเป็นแบบหลังที่เห็นเป็นตัว 在 (zài, ไจ้) ซึ่งแปลว่า 'อยู่' หรือ 'อาศัย' … ไม่ใช่ 再 (zài, ไจ้) ที่แปลว่า 'อีกครั้ง' หรือ 'ซ้ำๆ' หรือ 'หลายๆ ครั้ง' … ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะยืนยันว่าฉบับไหนเป็นฉบับที่ถูกต้อง เพราะว่าผมเองก็ไม่เคยเห็นต้นฉบับที่เป็นบันทึกของ 'จิวกง' โดยตรง :D … แต่ผมก็ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับว่า … ถ้าใครแปลวรรคแรกว่า 'มังกรซ่อนกายในน้ำ' ตรงวรรคที่สองนี้ก็น่าจะใช้ 見龍田 เพื่อจะแปลว่า 'มังกรอยู่ในนา' … แต่ในเมื่อ ZhuqiChing ฉบับของผมนี้เลือกที่จะไม่แปลอย่างนั้น ผมจึงต้องตัดสินใจใช้ตามต้นฉบับที่เป็น 見龍田 แทน … ;)

見 อ่านว่า jiàn (เจี้ยน) แปลว่า 'พบ', 'เห็น', 'มองเห็น', 'ปรากฏ (ให้เห็น)' ; 'มอง', 'ดู' ; หรือ 'ความคิดเห็น'

龍 อ่านว่า lóng (ล๋ง) ตัวนี้เล่าไปแล้วในวรรคแรกของสัญลักษณ์ ䷀ ซึ่งปรกติแล้ว 龍 จะแปลว่า 'มังกร' แต่ก็สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สามารถสื่อไปถึงความหมายอื่นๆ อีกหลายอย่างได้ด้วย สำหรับในวรรคนี้น่าจะเป็นการล้อความหมายกับคำว่า 大人 ที่ปรกติแล้วจะแปลว่า 'ผู้ยิ่งใหญ่' หรือ 'คนใหญ่คนโต' แต่ในกรณีที่มีการล้อความหมายกับคำว่า 龍 ที่หมายถึง 'มังกร' ซึ่งถือว่าเป็น 'ของสูง' คำว่า 大人 ตรงท้ายวรรคจึงน่าจะหมายถึง 'ผู้ที่มีความสามารถ', 'ผู้ที่มีวิชาความรู้', 'ผู้รู้', หรือว่า 'ยอดคน' ฯลฯ … ทำนองนั้น

再 อ่านว่า zài (ไจ้) … เป็นตัวเจ้าปัญหาของวรรคที่สองนี่แหละ ;) อักษรจีนตัวนี้แปลว่า 'ซ้ำ', 'อีกครั้ง', 'หลายๆ ครั้ง' ; ซึ่งก็อาจจะรวมไปถึง 'ย้ำ', หรือ 'สม่ำเสมอ', ฯลฯ ได้ด้วย

田 อ่านว่า tián (เที๋ยน) ที่ส่วนใหญ่แล้วจะแปลกันว่า 'ที่นา' หรือ 'นา' แต่ก็มีความหมายรวมไปถึงพื้นที่เพาะปลูกประเภทอื่นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน เช่น 'ทุ่ง', หรือ 'ไร่', ฯลฯ … อย่างไรก็ตาม ในภาษาจีนโบราณนั้น ตัวอักษร 田 ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับอักษรจีนอีก 2 ตัวคือ 畋 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การล่า', 'การเสาะหา' กับอีกตัวหนึ่งคือ 佃 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การไถพรวน', 'การเตรียมดิน' เพื่อการเพาะปลูก … ซึ่งในกรณีที่มีการใช้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' อันเป็นคัมภีร์เก่าแก่โบราณนั้น มันจึงน่าจะเป็นไปได้ว่า 田 ที่ถูกนำใช้ในวรรคนี้ อาจจะไม่ได้ใช้ในความหมายของ 'ที่นา' อย่างที่หลายๆ ตำราแปลเอาไว้ แต่น่าจะเป็นการใช้แทน 畋 และ 佃 ไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้นหากวรรคแรกที่ถูกบันทึกไว้ว่า 潛龍勿用 ถูกผมแปลไว้ว่า 'เก็บงำประกาย อย่าอวดดี' … วรรคที่สองที่ได้รับการบันทึกไว้เป็น 見龍再田利見大人 ก็น่าจะแปลว่า 'การจะได้พบกับยอดคนนั้นจะต้องหมั่นเสาะหา หรือจะต้องหมั่นบ่มเพาะ และพัฒนาความเป็นยอดคนขึ้นมาอย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งไม่มีโชคลาภใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้พานพบกับบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถ' … ผมเลือกที่จะแปลความหมายของคำว่า 再田 นี้ว่า 'หมั่นเสาะหา' หรือ 'หมั่นพัฒนา' อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งสะท้อนความหมายของ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' อันเป็นหนึ่งในความหมายของคำว่า 利 ในขณะที่ 利 ก็แปลว่า 'โชคดี' หรือ 'โชคลาภ' ได้ด้วย

ตรงนี้ก็ต้องบอกไว้ด้วยครับว่า มันเป็นความหมายที่ต่อเนื่องมาจากคำว่า 'เหนือฟ้ายังมีฟ้า' ที่ผมเปิดประโยคไว้เป็นความหมายของภาพสัญลักษณ์ ䷀ … เพราะโดยปรกติแล้ว 'คนที่มีศักยภาพสูงๆ' อาจจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่ค่อนข้าง 'หยิ่งผยอง' และอาจจะมอง 'คนเก่ง' อื่นๆ ว่าเป็น 'คู่แข่ง' ที่จะต้องเปรียบเทียบ หรือจะต้องเอาชนะคะคานกัน เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึง 'ความโดดเด่นที่สุด' ของตนเองให้ได้ … ซึ่งหากเราปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกให้กลับมาเป็น 'ความถ่อมตน' และยอมรับนับถือ 'คนเก่ง' คนอื่นๆ อย่างเข้าเข้าอกใจในหลักสัจธรรมที่ว่า 'เหนือฟ้ายังมีฟ้า' แล้ว ความมุ่งมั่นที่อยากจะแข่งขันเพื่อชิงดีชิงเด่นระหว่างกันก็จะลดน้อยถอยลง แต่กลับจะเกิดเป็นพลังดึงดูดให้ต่างฝ่ายต่างรู้จักโอนอ่อนเพื่อเรียนรู้ถึงข้อดี และจุดเด่นของกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือร่วมใจ และชักพาให้ทุกๆ ฝ่ายสามารถที่จะ 'พัฒนาศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับ 'การชิงดีชิงเด่น' ที่ไร้สาระ … ประโยคที่ว่า 利見大人 จึงคล้ายกับเป็นการบอกกลายๆ ให้คนเรา 'รู้จักยินดี' ที่ได้มีโอกาสพบพานคนที่เก่งกว่า ไม่ใช่เอาแต่กลัดกลุ้มกังวลว่าตนเองจะโดดเด่นสู้คนอื่นเขาไม่ได้

 

สาม หยาง :

君子終日乾乾夕惕若厲無咎
jün zǐ zhōng rì qián qián xī tì ruò lì wú jiù
จฺวิน จื่อ ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ซี ที่ ญั่ว ลี่ อู๋ จิ้ว


君子 อ่านว่า jün zǐ (จฺวิน จื่อ) คำนี้แปลได้หลายอย่าง สามารถที่จะใช้ในความหมายของ 'อ๋อง' หรือ 'กษัตริย์' ในสมัยก่อนของจีน ซึ่งในยุคก่อนที่จะมีฮ่องเต้ก็จะหมายถึง 'เจ้าแคว้น' ต่างๆ แต่เมื่อมีฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิแล้ว คำนี้ก็ยังสามารถหมายถึง 'องค์จักรพรรดิ' ได้ด้วย ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'ผู้ปกครอง' หรือ 'ผู้นำ' และบ่อยครั้งที่คำๆ นี้จะหมายถึง 'ผู้มีความรู้' หรือ 'ผู้มีความสามารถ' หรืออาจจะหมายถึงขุนน้ำขนนางที่มีตำแหน่งใหญ่โต ที่เรียกกันว่า 'บัณฑิต' หรือ 'ปราชญ์' ซึ่งหากเราพิจารณาเทียบเคียงกับเนื้อความในสองวรรคแรกก่อนหน้านี้ คำว่า 君子 ในวรรคที่สามก็น่าจะล้อความหมายกับคำว่า 龍 และ 大人 ที่ถูกนำมาใช้ไปก่อนแล้วมากกว่า

終 อ่านว่า zhōng (จง) แปลว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ' ในวรรคนี้น่าจะตีความควบกับตัว 日 เป็น 终日 ซึ่งจะหมายถึง 'ตลอดทั้งวัน' หรือ 'ตลอดเวลา'

乾 นี่คือ qián (เชี๋ยน) ซึ่งในวรรคนี้มีการเบิ้ลสองตัวเป็น 乾乾 (qián qián, เชี๋ยนเชี๋ยน) จึงแปลว่า 'เสริมสร้างความเข้มแข็ง' หรือ 'เสริมสร้างความแข็งแรง' ให้กับตนเอง 'อย่างสม่ำเสมอ' ในทางหนึ่งจึงมีความหมายในลักษณะของ 'การหมั่นศึกษา และฝึกฝน เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง' … ตรงนี้ผมอยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า น่าจะเป็น 'ศิลปะในการใช้คำ' ของ 'จิวกง' เอง เพราะการใช้คำซ้ำเป็น 乾乾 นี้หากเทียบกับวรรคที่สองที่เพิ่งเล่าไปแล้วนั้น เราก็จะเห็นคำที่มีความหมายคล้ายกันอยู่คำหนึ่งคือ 再田 ที่ผมแปลเอาไว้เป็น 'หมั่นเสาะหา', 'หมั่นบ่มเพาะ', หรือ 'หมั่นพัฒนา' โดยมีคำว่า 再 เป็นตัวที่บ่งบอกถึง 'การทำซ้ำ' ซึ่งถ้าใช้กลวิธีของการเล่นคำแบบเดียวกัน เราก็น่าจะเขียนเป็น 畋佃 หรือ 田田 ได้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำซ้ำที่มากกว่าหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้กลเม็ดทางภาษาแบบเดียวกันให้ฟั่นเฝือในวรรคที่ต่อเนื่องกัน 'จิวกง' จึงน่าจะเลือกใช้วิธีการบันทึกที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ยังสื่อความหมาย และความเข้าใจที่เหมือนกันนี้ไว้

夕 อ่านว่า xī (ซี) แปลว่า 'เวลาพลบค่ำ', 'กลางคืน',

惕 อ่านว่า tì (ที่) แปลว่า 'ระมัดระวัง', 'รอบคอบ', 'ไม่ประมาท', 'มีความตื่นตัว'

若 อ่านว่า ruò (ญั่ว, ออกเสียงเหมือน ย แต่ห่อลิ้นเหมือนจะออกเสียง ร พร้อมๆ กัน) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', 'เคารพกฎเกณฑ์'

厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย :P

無 ตัวนี้อ่านว่า wú (อู๋) เป็นคำแสดงความหมายปฏิเสธในลักษณะว่า 'ไม่มี'

咎 อ่านว่า jiù (จิ้ว) แปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน'

เมื่อรวมตัวอักษรทั้งวรรคแล้วก็น่าจะแปลว่า 'ปราชญ์ (君子, ยอดคน) ย่อมเกิดจากความมุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะพยายามในการฝึกฝน และบากบั่นเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (终日乾乾) มีจิตใจตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท มีความตื่นตัว มีความรอบรู้ มีความรอบคอบ รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด (夕惕若厲) … โดยไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ (無咎)' … ;)

 

สี่ หยาง :

或躍在淵無咎
huò yuè zài yuān wú jiù
ฮั่ว เยฺวี่ย ไจ้ เยฺวียน อู๋ จิ้ว


或 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'อาจจะ', 'หรือ', 'ก็ได้', ในลักษณะว่า 'เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้' จึงทำให้บางครั้งก็อาจจะกลายเป็น 'ไม่อย่างนั้น (ก็อย่างนี้)' ; แล้วก็เลยเหมือนกับ 'ไม่เด็ดขาด' หรือ 'ไม่ชัดเจน' ไป

躍 อ่าน yuè (เยฺวี่ย) แปลว่า 'กระโดด', 'เร็ว', หรือ 'พุ่งไปข้างหน้า'

在 อ่านว่า zài (ไจ้) แปลว่า 'อยู่', 'อาศัย', 'ขึ้นอยู่กับ', 'สาเหตุ' ; บางครั้งเลยแปลในความหมายของ 'เพราะว่า' ด้วย

淵 อ่านว่า yuān (เยฺวียน) แปลว่า 'ลึก', 'ก้นอ่าว', 'แอ่ง', 'หุบเหว' หรือ 'หุบห้วย' ในลักษณะที่เป็นจุดศูนย์รวมที่น้ำไหลไปรวมๆ กัน … ; บางครั้งก็เลยแปลว่า 'การสั่งสม' และอาจจะหมายถึง 'ต้นกำเนิด' หรือ 'รากเหง้า' ไปเลย

無咎 ตรงนี้เป็นการใช้คำว่า wú jiù (อู๋จิ้ว) ในความหมายว่า 'ไม่มีอะไรผิดปรกติ' ก็ได้ หรืออาจจะแปลว่า 'ไม่ตัดพ้อต่อว่า' เหมือนวรรคก่อนก็ไม่แปลกอีกเหมือนกัน

เมื่อรวมทั้งวรรคที่เขียนว่า 或躍在淵無咎 (huò yuè zài yuān wú jiù – ฮั่วเยฺวี่ยไจ้เยฺวียนอู๋จิ้ว) ก็น่าจะแปลได้ว่า 'หากจะกระโดดให้สูงก็ต้องย่อตัวให้ต่ำ ไม่ได้เป็นอะไรที่ผิดธรรมชาติ' … :D... แต่ถ้าจะแปลให้กลมกลืนกับความหมายที่สะสมมาตั้งแต่วรรคแรกๆ เราก็น่าจะวรรคนี้แปลว่า 'หากจะก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ย่อมขึ้นอยู่กับรากเหง้า หรือปัจจัยพื้นฐานที่สู้อุตส่าห์สั่งสมเอาไว้เป็นสำคัญ จึงไม่ควรรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับความบากบั่นที่มุ่งการพัฒนารากฐานให้มั่นคง ซึ่งจะยังไม่เห็นผลในระยะเวลาอันสั้น' 

 

ห้า หยาง :

飛龍在天‧利見大人
fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén
เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋


ตรงวรรคนี้จะเห็นลักษณะของการเล่น 'คำซ้ำ' อีกลักษณะหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนมาก หากเราเทียบกับวรรคที่สองที่บอกว่า 見龍田利見大人 ในขณะที่วรรคนี้จะเขียนเป็น 飛龍天利見大人 ซึ่งจะเห็นว่าอักษรสี่ตัวหลังเหมือนกัน 100% แล้วผมก็แปลเอาไว้ในความหมายว่า 'จงรู้สึกยินดีปรีดาหากมีโอกาสได้พานพบกับยอดคน (ที่เก่งกว่าเรา)' … จุดที่น่าสังเกตก็คืออักษรสี่ตัวแรก โดยอักษรตัวที่สามนั้นผมตีความว่าเป็นเรื่องของ 'การล้อเสียง' มากกว่าที่จะคิดว่ามันควรจะเป็นตัวอักษรตัวเดียวกันเหมือนในต้นฉบับบางแห่ง

หากเราจับสองวรรคนี้มาเขียนรวมกันเป็น 見龍田 飛龍天 (jiàn lóng zài tián - fēi lóng zài tiān, เจี้ยนล๋งไจ้เที๋ยน เฟยล๋งไจ้เทียน) เราก็จะเห็นว่าการออกเสียงของสามพยางค์ท้ายแทบจะเป็นเสียงเดียวกันอยู่แล้ว แล้วถ้าเราสังเกตตั้งแต่ชื่อเรียกของภาพสัญลักษณ์ที่ King Wen บันทึกไว้ว่า 乾為天 นั่นก็แปลว่าคำว่า 乾 กับคำว่า 天 ใน 'คัมภีร์อี้จิง' โดยเฉพาะในบทนี้ สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ โดยการเลือกที่จะสลับเอา 天 มาใช้แทน 乾 นั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก 'ความตั้งใจ' ให้เกิด 'การล้อเสียง' ของพยางค์ต่างๆ ในสองวรรคนี้โดยเฉพาะ … อีกอย่าง … ทั้งสองวรรคถูกใช้สำหรับ 'ขีดกลาง' ของ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ทั้งท่อนบน (☰) และท่อนล่าง (☰) จึงค่อนข้างที่จะน่าเชื่อได้ว่า นี่คือ 'ความจงใจ' ให้ทั้งสองวรรคนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน ;) …

ถ้าใครพอจะคุ้นเคยกับ 'ภาษาบู๊ลิ้ม' อยู่บ้าง ก็น่าจะเคยได้ยินวลีที่ว่า 'สถานการณ์สร้างวีรชน' กันมาก่อน … :D … ซึ่งความหมายหนึ่งของวรรค 飛龍天 ก็จะมีความหมายคล้ายๆ อย่างนั้นด้วย ตัว 天 ที่ถูกนำมาใช้จึงสามารถตีความได้ 2 ความหมาย โดยความหมายหนึ่งก็ยังสะท้อนถึงตัว 乾 อย่างที่เล่าไปแล้ว ซึ่งผมแปลไว้ว่า 'เชี๋ยนคือลิขิตฟ้า' (乾為天) … แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็ย่อมจะหมายถึง 'ชะตาฟ้า' หรือ 'สถานการณ์' ได้ด้วย … ความต่อเนื่องของสองวรรคนี้จึงน่าจะมีความหมายว่า 'การจะพบ หรือการจะบรรลุถึงความเป็นยอดคนนั้น สำคัญที่จะต้องมีความมุ่งมั่นบากบั่น แต่การจะแสดงตนของยอดคน ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และจังหวะเวลาที่เหมาะสม' … ซึ่งตรงนี้ก็จะเท่ากับเป็นการย้ำความหมายของวรรคแรกที่ผมแยกประโยคเป็น 龍勿用 แล้วแปลเอาไว้ซะพิลึกพิลั่นว่า … Potential is not Capability  …หรือ … 'ศักยภาพ' น่ะ มันไม่ใช่ 'ความสารถ' ซักหน่อย !! … :D … จึงทำให้ความหมายของ  見龍田 飛龍天 คล้ายกับจะเป็นการย้ำให้เราเข้าใจว่า 'ศักยภาพสำคัญที่ต้องสั่งสม ความสามารถขึ้นอยู่กับสถานการณ์' …

การดำเนินชีวิตของผู้คนไม่อาจงอมืองอเท้าเฝ้ารอแต่โชคลาภวาสนา หรือชะตาที่ฟ้าลิขิต แต่ก็ไม่อาจแข็งขืนดึงดันที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างอำเภอใจ … ความเป็นผู้รู้จักนอบน้อมถ่อมตน รู้จักเลือกคบหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหนือกว่า หมั่นศึกษาหาความรู้และฝึกฝนเพื่อพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีความละเอียดรอบคอบ ตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท และประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากที่จำเป็นสำหรับการวางรากฐานให้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองมุ่งมั่นตั้งใจ … ปัจจัยเหล่านี้แม้ว่าจะมีความหมายในเชิงของ 'การพัฒนาศักยภาพของตัวเอง' แต่นั่นก็เพราะ 'ตัวเรา' ย่อมเป็น 'ปัจจัยหนึ่ง' ของสภาวะแวดล้อม หรือสถานการณ์ต่างๆ ด้วยเสมอ … และแม้ว่าในที่สุดแล้ว 'ผู้มีความสามารถ' หรือ 'ผู้ที่ประสบความสำเร็จ' ในสภาวะการณ์หนึ่งๆ นั้นจะกลับกลายเป็นผู้อื่นที่ไม่ใช่ตัวของเรา ก็จงพึงรู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่มีโอกาสได้พบเห็นเขา เพื่อจะได้เรียนรู้แล้วเอาเป็นแบบอย่างในการฝึกฝนพัฒนาตนเองต่อไป ไม่ใช่เอาแต่ก่นด่าโชคลาภวาสนาของตัวเอง แล้วเพาะความรู้สึกอิจฉาริษยาในความสำเร็จของผู้อื่นให้บวมอืดขึ้นมาในจิตใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ในทางสร้างสรรค์ … นั่นก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ 'จิวกง' จงใจใส่ประโยคที่ว่า 利見大人 ย้ำลงไปตรงท้ายวรรคนี้อีกครั้งหนึ่งด้วย ;)

 

หก หยาง :

亢龍有悔
kàng lóng yǒu huǐ
คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย


ผมต้องยอมรับในอัจฉริยภาพทางภาษาของ 'จิวกง' อย่างสุดซึ้งจริงๆ เลยครับว่า เขาสามารถเก็บความหมายทุกอย่างได้หมดจดจริงๆ ด้วยวลีเพียงไม่กี่วลีของเขา … 亢龍有悔 … คือวรรคปิดท้ายสำหรับขีดที่หก ซึ่งเป็นขีดสุดท้ายของภาพสัญลักษณ์นี้ และเป็น 'ขีดบนสุด' ที่ตามความหมายของการตีความใน 'คัมภีร์อี้จิง' คือตำแหน่งที่มีพลังมากที่สุดเสมอ

亢 อ่านว่า kàng (คั่ง) แปลว่า 'สูง', 'สูงส่ง', 'สูงมากๆ' ; แล้วก็เลยแปลเป็น 'สูงเกินไป' ได้ด้วย อันนำไปสู่ความหมายของ 'ความลำพอง', 'ความหลงตัวเอง' ในลักษณะที่ 'ความภาคภูมิใจ' ในตัวเองนั้นมีมากจนเกินเลยความพอดีออกไป :P

有 อ่านว่า yǒu (โหย่ว, หรือ หฺยิ่ว) แปลว่า 'มี' ซึ่งปรกติก็คือเป็นคำตรงข้ามกับ 無 ที่แปลว่า 'ไม่มี'

悔 อ่านว่า huǐ (หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ผมชอบคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ที่ใช้คำว่า repent เพราะคำว่า repent แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

ถ้าเราเรียงวรรคที่สอง, วรรคที่ห้า กับวรรคที่หก เข้าด้วยกัน เราก็จะได้เป็น  見龍田 飛龍天 亢龍有悔 มันจะกลายเป็นประโยคที่เข้าชุดกันทั้งสามวรรค โดยมีวรรคสุดท้ายเป็นการขยายความ และย้ำให้ความหมายของสองวรรคแรกมีความสมบูรณ์มากขึ้น … 'ศักยภาพสำคัญที่ต้องสั่งสม ความสามารถขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากแข็งขืนดึงดันย่อมนำมาซึ่งความผิดหวังและเศร้าเสียใจ' … สวยงามมากๆ … :D

การที่มีหลายๆ ตำราตัดสินใจให้วรรคแรกควรจะถูกแยกวลีเป็น 潛龍 . 勿用 นั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องถือว่าเป็นอิทธิพลมาจากวรรคที่หกคือ 亢龍 . 有悔 ด้วย เพราะ 'มังกรซ่อนกายในน้ำ' ( 潛龍) ย่อมแสดงคุณลักษณะที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับ 'มังกรที่ผยองสำแดงเดช' (亢龍) … อันค่อนข้างจะเชื่อได้ว่า 'จิวกง' ตั้งใจให้สัญลักษณ์ทั้งสองนี้ถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่เป็น 'ขั้วตรงข้ามกัน' คือ 'ล่างสุด' และ 'บนสุด' ของ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' นี้ … ซึ่งถ้าในกรณีที่จับคู่วรรคแรก กับวรรที่หกเข้าด้วยกันเป็น 潛龍勿用 亢龍有悔 เราก็จะเห็นความเป็น 'คู่ตรงข้าม' ที่ขัดเจนระหว่าง 潛 กับ 亢 ที่อักษรหนึ่งหมายถึง 'การซ่อน' หรือ 'การเก็บงำประกาย' ในขณะที่อีกอักษรหนึ่งแสดงถึง 'ความอวดโอ่' หรือ 'ความโอหัง' ของ 'มังกร' (龍) ซึ่งในที่นี้ต้องถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทน 乾 นั่นเอง … 'คู่ตรงข้าม' อีกคู่หนึ่งก็คือ 勿 กับ 有 ที่ฝ่ายหนึ่งแปลว่า 'ไม่' หรือ 'ไม่มี' ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแปลว่า 'มี'

'คู่ตรงข้าม' อีกคู่หนึ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้ก็คือ 用 กับ 悔 เพราะหากเราแปลความหมายของ 用 ว่า 'ประโยชน์' ในขณะที่ 悔 จะมีความหมายว่า 'เสียใจ' หรือ 'โทษ' … 潛龍勿用 亢龍有悔 ก็จะแผลงความหมายเป็น 'การซ่อนตัวของมังกรจนไม่อาจพบเห็นได้เลยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ในขณะเดียวกัน การอวดโอ่จนเกินความพอดีของมังกร กลับจะก่อให้เกิดโทษที่ทำให้ต้องเสียใจได้เสมอ' … ผมมองว่า มันเป็นวลีที่สามารถให้ความหมายที่น่าคิดไว้อีกความหมายหนึ่ง … โดยเราต้องจำแนกให้ออกว่า ระหว่าง 'ความถ่อมตน' กับ 'การซ่อนตน' นั้น มันมี 'จุดพอดี' ของมันอยู่ที่ตรงไหน เพราะ 'การถ่อมตน' อย่างไม่รู้จักกาลเทศะ อาจจะนำไปสู่ 'การสูญเสียโอกาส' เนื่องจากไม่มีผู้ใดเห็น 'คุณค่า' ที่มีอยู่ในตัวของเราเลย … ในขณะที่เราก็ต้องจำแนกความแตกต่างของ 'การแสดงตน' กับ 'การอวดโอ่' ให้ได้เช่นเดียวกันด้วยว่า มันมี 'จุดพอดี' ของมันอยู่ที่ตรงไหน เพราะ 'การแสดงตนอย่างเกินตัว' นั้น ไม่เคยก่อให้เกิดผลลัพธ์ดีแก่ผู้ใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผมจะแยกวรรคแรกเป็น 潛龍 . 勿用 เหมือนกับตำราอื่นๆ หรือ  潛 .  龍勿用 อย่างที่ผมนำเสนอเอาไว้นี้ ความหมายโดยรวมของภาพสัญลักษณ์ ䷀ ก็ยังมีทิศทางที่ไม่แตกต่างกัน … ในยุคที่ภาษาจีน (หรือภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา) ยังไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนเข้ามา 'บดบังจินตนาการ' ของพวกเรานั้น แม้ว่าในแง่หนึ่งมันจะสร้างความยุ่งยากในการตีความหมายต่างๆ ของบันทึกที่ตกทอดต่อๆ กันมา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องถือว่ามันเป็นเสน่ห์ที่น่าดึงดูดพอสมควร เพราะการจะทำความเข้าใจกับวลีที่ผูกโยงด้วยอักขระต่างๆเหล่านั้น  จำเป็นต้องใช้ 'จินตนาการ' ของตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องตลอดเวลาที่กำลังแคะความหมายของมัน

 

ประโยชน์แห่งหยาง

見群龍無首吉
jiàn qǘn lóng wú shǒu jí
เจี้ยน ชฺวิ๋น ล๋ง อู๋ โษ่ว จี๋

 

เท่าที่ค้นดูแล้วปรากฏว่า ตลอดทั้งเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' จะมีวลีปิดท้ายบทอยู่เพียงสองบทแรกเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า สัญลักษณ์คู่แรกของคัมภีร์คือ 'หยางบริสุทธิ์' กับ 'หยินบริสุทธิ์' นั้นถือว่าเป็น 'ธาตุหลัก' ของทุกสรรพสิ่งในโลกตามคติความเชื่อของชาวจีน และสมควรจะได้รับการแนะนำเป็นพิเศษเกี่ยวกับคุณลักษณะของมัน

ในวรรคนี้มีอักษรที่ยังไม่ได้แปลไว้อยู่ 2 ตัวคือ 首 กับ 吉

首 อ่านว่า shǒu (โษ่ว, เวลาออกเสียงต้องห่อลิ้น จึงเลือกใช่ ษ แทน ส เพื่อจำแนกความแตกต่างให้สังเกตได้ชัดๆ) แปลว่า 'หัว', 'นำ', 'แรก', 'ที่หนึ่ง', 'เริ่มต้น', และทำให้สามารถแปลเป็น 'หัวหน้า', 'ผู้นำ' ได้ด้วย

吉 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; แปลว่า 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ … และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน

หลายตำราแปลวรรคนี้ไว้อย่างน่าเกลียดว่า 'พบฝูงมังกรไร้หัว, โชคดี' … ซึ่งต่อให้ตายไปอีกหลายๆ ครั้งผมก็ยังไม่มีทางยอมรับหรอกครับว่า 'มังกรหัวขาด' มันจะกลายเป็นความโชคดีได้ยังไง :D … อ้ะ … มีที่แปลน่าฟังขึ้นมาอีกหน่อยก็จะแปลกันว่า 'พบฝูงมังกรไร้ผู้นำ, โชคดี' … ไอ้แบบนี้ผมก็กลืนไม่ค่อยจะลงอีกเหมือนกัน :P … เพราะในสภาวะการณ์ที่ 'ไร้ผู้นำ' นั้น มันน่าจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายมากกว่าที่จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดีอย่างที่หลายๆ คนพยายามจะตีความตามตัวอักษรกัน … เพราะฉะนั้น …

หากเราไล่ดูความต่อเนื่องของความหมายมาตั้งแต่ประโยคแรกๆ ทั้งหมด วรรคนี้ควรจะเป็นวรรคที่สรุปใจความสำคัญของภาพสัญลักษณ์ (อย่าลืมนะครับว่า มีเพียงสองบทแรกของคัมภีร์เท่านั้นที่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษอย่างนี้จาก 'จิวกง') และเป็นวรรคที่ควรจะชี้นำการใช้ 'พลังหยางบริสุทธิ์' เพื่อประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ … ด้วยเหตุผลนี้ ความหมายของ 見群龍無首 จึงควรจะแปลว่า 'การที่บรรดาปราชญ์ หรือยอดคนทั้งหลายไม่มีความมุ่งมาดในทางเห่อเหิมทะเยอทะยาน ไม่มีความคิดที่จะแก่งแย่งแข่งดีเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้ที่เหนือกว่า รู้จักใช้ศักยภาพ และความสามารถของตนเองในทางที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมและประเทศชาติ' … อย่างนี้แหละจึงจะถือว่าเป็น 'คุณแก่แผ่นดิน' เป็น 'ความโชคดีของอาณาประชาราษฎร์' (吉) อย่างแท้จริง ;) … งามกว่ามั้ยล่ะ ??!! … :D …

ปราชญ์ย่อมสมควรส่งเสริมและสนับสนุนปราชญ์ สมควรใช้จุดเด่นของตนเสริมสร้างจุดด้อยของผู้อื่น ไม่ใช่มุ่งแต่จะใช้ 'ศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ของตนเพื่อการกดข่มให้ผู้อื่นต่ำต้อยด้อยคุณค่า เนื่องเพราะไม่มีมนุษย์ผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสมบูรณ์พูนพร้อมไปหมดทุกๆ ด้าน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่มีระหว่างกัน ย่อมก่อคุณประโยชน์ให้แก่สังคมวงกว้างได้มากกว่าเสมอ … ผู้นำที่โดดเด่นย่อมเป็นเพราะมีผู้สนับสนุนที่ยอดเยี่ยม ผู้มี 'ศักยภาพ' เป็นเลิศ ย่อมต้องอาศัยเงื่อนไขแห่งสถานการณ์ที่เหมาะสม จึงจะมีโอกาสแสดงออกซึ่งความสามารถที่แท้จริงให้ประจักษ์ … ในเมื่อไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยลำพังตัวเอง ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันจึงเป็นหลักใหญ่ที่สมควรจะได้รับการหล่อเลี้ยง และส่งเสริม ไม่ใช่การแก่งแย่งแข่งดีที่ในที่สุดแล้ว สังคมโดยรวมต้องสูญเสียส่วนที่ดีของผู้คนอีกจำนวนมากมายไปกับวัฒนธรรมแบบนั้น … ปราชญ์จึงกระทำ (ความดีเพื่อสร้างเสริม) โดยไม่กระทำ (ความดีเพื่อการลบล้าง) ดังที่หลัก 'ปรัชญาเต๋า' พร่ำสอนจนกลายเป็นพล่ามบ่นมานับพันๆ ปีโดยมีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าใจ ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เชี๋ยน' คือ ลิขิตฟ้า, เหนือฟ้ายังมีฟ้า

'ความริเริ่มสร้างสรรค์' ต้องอาศัย 'ความวิริยะอุตสาหะ' … 'ความรู้' ต้องอยู่คู่ 'คุณธรรม'

  •  
  • พึงมี 'ความนอบน้อม' ไม่อวดโอ่, 'ศักยภาพ' ย่อมไม่ใช่ 'ความสามารถ' ที่แท้จริง
  • 'ยอดคน' ย่อมเกิดจาก 'ความมุ่งมั่นบากบั่น' และพร้อมจะ 'ยอมรับผู้อื่น' อย่างยินดี
  • มี 'ความวิริยะอุตสาหะ' ; มี 'ความขยันหมั่นเพียร' ; 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ; 'ไม่ย่อหย่อน' ใน 'หลักแห่งคุณธรรม'
  • การจะกระโดดให้สูง ย่อมเริ่มจากการย่อตัวให้ต่ำ ; ไม่ใช่ทั้งเรื่องที่ผิดแปลก หรือสิ่งวิเศษวิโสใดๆ
  • พึง 'รู้จักกาลเทศะ' ที่เหมาะสมในการแสดง 'ศักยภาพ' และปลาบปลื้มยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น
  • 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยาน' อย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่ง 'ความเจ็บปวด' และ 'ความเศร้าเสียใจ'

ปราชญ์พึงสมควรหล่อเลี้ยงปราชญ์ และต้อง 'ไม่มีอคติ' ที่คิดจะ 'แก่งแย่งแข่งดี' ระหว่างกัน
เยี่ยงนี้ … 'หยาง' จึงจะเป็นคุณประโยชน์อย่างสร้างสรรค์



The Organization Code :



'ศักยภาพ' คือ มี 'นโยบายเป็นเลิศ'  มี 'แผนปฏิบัติการที่ยอดเยี่ยม' และมี 'ทีมงานที่เข้มแข็ง' … แต่นั่นก็ยังเป็นเพียง 'ความพร้อมสรรพทางศักยภาพ' เท่านั้น ...

  •  
  • 'นโยบายเชิงรุก' ต้องไม่ใช่ 'ความก้าวร้าว' หรือ 'การรุกราน'
  • 'ความระแวดระวัง', 'การตรวจสอบประเมินผล' และ 'การติดตามสถานการณ์' ที่เปลี่ยนแปลง ยังถือเป็นภารกิจที่จะต้องหมั่นกระทำอย่างสม่ำเสมอ
  • ต้องมี 'ระบบระเบียบแบบแผน' มี 'การเรียนรู้' และ 'ฝึกฝน' ทักษะต่างๆ ให้เชี่ยวชำนาญ
  • ต้องมี 'การบ่มเพาะ' และ 'การพัฒนา' บุคลากรอย่างต่อเนื่อง
  • 'มีส่วนร่วม' ใน 'การพัฒนาสังคม' และ 'ปลาบปลื้มยินดี' ใน 'ความสำเร็จ' ของทุกฝ่าย
  • ส่งเสริม 'การกระชับมิตร' ; หลีกเลี่ยง 'การก่อศัตรู'

ลดละ 'การแก่งแย่งแข่งขัน' ขยายผลของ 'ความร่วมมือ' จากทุกๆ ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ 'การพัฒนา' 'อย่างมั่นคง' และมี 'ความยั่งยืน' ควบคู่ไปกับ 'สังคมโดยรวม'