Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十八卦 : 兌

 

兌 : 兌為澤 ‧ 兌上兌下

兌 : 亨‧利貞‧

  • 初九 : 和兌‧吉‧
  • 九二 : 孚兌‧吉‧悔亡‧
  • 六三 ‧ 來兌‧凶‧
  • 九四 : 商兌未寧‧介疾有喜‧
  • 九五 : 孚于剝‧有厲‧
  • 上六 : 引兌‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สดชื่น-แจ่มใส (⚌) ; ปัญญา หนักแน่น-ชัดเจน (⚎) ; พฤติกรรม อ่อนนอก-แข็งใน (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้อำนาจการปกครองอย่างมีมนุษยธรรม นโยบาย ต้องเด็ดเดี่ยว-ชัดเจน (⚌) ; บริหารงาน ต้อง หนักแน่นในหลักการและตรงไปตรงมา (⚎) ; ปฏิบัติงาน ด้วยความอ่อนน้อม-จริงจัง (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความโอบอ้อมอารี, อ่างเก็บน้ำเหนือทะเลสาบ



ความหมายของชื่อเรียก : Being Magnanimous : ความโอบอ้อมอารี


บทนี้ขอย้อนกลับไปถึง Primary Code ที่เคยเล่าไปตั้งแต่ก่อนจะเริ่ม 'ตีความ' คัมภีร์เลยดีกว่าครับ ... สัญลักษณ์ ☱ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 兑 (duì, ตุ้ย) โดยมี 'รากศัพท์' ส่วนหนึ่งมาจาก 'ภาพอักษร' 口 (kǒu, โข่ว) ที่หมายถึง 'ปาก' แทนความหมายของ 'การพูดคุย' หรือ 'การยิ้มแย้ม' ตรงบริเวณด้านบนเป็น 'ภาพอักษร' มีลักษณะของ 'แขนที่แกว่งไกว' อย่างมีความสุข ในขณะที่ด้านล่างเป็นภาพของ 'เท้าที่กำลังเริงระบำ' อย่างสุขสันต์ … คำว่า 兑 (duì, ตุ้ย) จึงมีหลายความหมายด้วยกัน จากเดิมทีเดียวที่หมายถึง 'การพูดคุยอย่างมีความสุข' ก็พัฒนาต่อมาเป็น 'การแลกเปลี่ยนที่มีทั้งการให้และการรับ' ในความหมายว่าเป็น 'การให้และการรับเพื่อแลกเปลี่ยนความสุข' ระหว่างกันและกัน … ภาพสัญลักษณ์ในธรรมชาติที่ใช้แทน 兑 (duì, ตุ้ย) ก็คือ 'บึง' หรือ 'ทะเลสาบ' ซึ่งเป็นทั้ง 'ผู้รับ' และ 'ผู้ให้' ด้วย 'ปาก' ที่เปิดกว้างของมันเสมอ ... ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่หลายๆ ตำราจะแปล 'ชื่อบท' นี้ด้วยคำว่า Joy, Joyous หรือ Joyful ซึ่งสื่อถึง 'ความสุขสดชื่น' ด้วยกันแทบทั้งหมด ในขณะที่ฉบับแปลของ James Legg มีการนำคำว่า Intimate มาใช้ในความหมายของ 'สัมพันธภาพที่เอื้อเฟื้อกัน' ซึ่งสะท้อนถึงความเป็น 兑 (duì, ตุ้ย) ไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผมจะลงความเห็นว่าควรจะใช้คำไหนมาแทน 'ความหมายของชื่อเรียก' ผมอยากจะย้อนกลับไปที่ 'ทฤษฎีลำดับบท' ที่ผมใช้เป็น 'โครงหลัก' ของ 'การตีความ' มาโดยตลอด ... ซึ่งบทที่ห้าสิบแปดนี้ คือ 'วัฏจักรที่ห้า' ของ 'พลังแห่งหยิน' ซึ่งควรจะต้องขยายความ หรือสะท้อนความหมายให้กับวรรคที่สองของบทที่สองออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นเดียวกับบทที่สิบ 履 (lǚ, หลฺวี่), บทที่ยี่สิบสอง 賁 (bì, ปี้), บทที่สามสิบสี่ 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง), และบทที่สี่สิบหก 昇 (shēng, เซิง) ...

'จิวกง' บันทึกถ้อยคำไว้ในวรรคที่สองของบทที่สองว่า ... 'ความมั่นคงในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดีนั้น คืิอหลักสำคัญที่จะส่งเสริมให้ทุกการกระทำมีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ในตัวของมันเอง (直方大) โดยไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง หรือไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะคุณงามความดี ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น (無不利)' ...

ส่วนถ้อยคำของ King Wen ที่ปรากฏในบทที่สิบ (履 : lǚ, หลฺวี่) ก็คือ ...  'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดในการดำเนินงานทุกอย่างตามหลักแห่งธรรม (履虎尾) โดยไม่มีความคิดที่จะข่มเหงรังแก หรือไม่เหยียบย่ำทำร้ายผู้อื่นให้ด้อยคุณค่าลงไป (不咥人) ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนาอย่างราบรื่น (亨)' ...

ในบทที่ยี่สิบสอง (賁 : bì, ปี้) King Wen ให้คำขยายความของชื่อบทไว้ว่า ... 'การดำเนินงานเพื่อพัฒนาให้เกิดความคืบหน้า (亨) ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างระมัดระวัง (小利) ย่อมปรากฏผลตอบสนองที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยของมัน (有所往) เสมอ' ...

แล้วแนวความคิดดังกล่าวก็ยังถูกเน้นย้ำอีกครั้งในบทที่สามสิบสี่ (大壯 : dà zhuàng, ต้าจ้วง) ซึ่งเป็น 'วัฏจักรที่สาม' ด้วยถ้อยคำห้วนๆว่า ... 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) ... จนผมต้องยกแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายให้หมายถึง 'บารมีย่อมแผ่ไพศาล' ด้วย 'ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างมั่นคง (利) ในการเสริมสร้างคุณงามความดี (貞) ให้ปรากฏ' ...

ส่วนในบทที่สี่สิบหก (昇 : shēng, เซิง) ซึ่งเป็น 'วัฏจักรที่สี่' King Wen ก็ย้ำแนวคิดเดิมนี้อีกครั้งว่า 'ปฐมปัจจัย (元) แห่งพัฒนาการ (亨) ทั้งหลาย คือผลพวง (用) แห่งโอกาสที่ได้พานพบ (見) กับยอดคน (大人) สิ่งที่พึงปฏิบัติจึงมิใช่ (勿) การรบเร้าเร่งร้อนอย่างกระวนกระวาย (恤) แต่โดยการแสวงหาเพื่อสั่งสมความพร้อมในด้านศักยภาพอันโดดเด่นชัดเจน (南征) นั้นต่างหากที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ...

เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยนะครับว่า ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' พยายามที่จะแนะนำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมี 'หลักการที่ต้องยึดถือ' และมี 'แนวทางในการพัฒนา' อย่างเป็น 'ลำดับขั้นตอน' โดยเริ่มจาก (1) 'การพัฒนาศักยภาพตน' ไม่ใช่ 'การเหยียบย่ำทำลายผู้อื่น' ; (2) ดำเนินการอย่าง 'สมควรแก่เหตุ' ด้วย 'ความระมัดระวัง' ไม่ 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' ; (3) มี 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'การเสริมสร้างคุณธรรมความดี' ให้ปรากฏ ; (4) ต้องมี 'กัลยาณมิตร' ในการ 'ร่วมคิดร่วมทำ' เพื่อ 'เสริมสร้างศักยภาพ' ซึ่งกันและกันให้มี 'ความโดดเด่นชัดเจน' ยิ่งขึ้น ... ซึ่งเมื่อใครก็ตามที่ 'พัฒนาตน' และ 'พัฒนาองค์กร' ขึ้นมาถึงระดับหนึ่งแล้ว ก็สมควรที่จะต้อง (5) 'บำเพ็ญประโยชน์' โดย 'การตอบแทนสังคม' ด้วย 'ความเอื้อเฟื่อ' เพื่อ 'เสริมสร้างสังคมอุดมคุณธรรม' ให้ยั่งยืน ... นั่นก็คือ 兑 (duì, ตุ้ย) อันเป็นแนวคิดแบบ CSR (Corporate Social Responsibility) ของผู้สถาปนา 'ราชวงศ์โจว' มาตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน .. นู่ .. น .. เลย !! ... น่าสนใจมากเลยนะครับ เพราะแนวคิดที่ว่านี้จะมีความหมายที่ 'วนเป็นวัฎจักร' กลับไปยังจุดเริ่มต้นใน 'วัฏจักรที่หนึ่ง' อย่างลงตัวพอดี นั่นก็คือ ต้อง 'ไม่เหยียบย่ำทำลายผู้อื่น' (不咥人) เพื่อปรามแนวคิดของ 'สังคมอุดมมารยา' ที่ส่งเสริม 'การชิงดีชิงเด่น' หรือการดำเนินงานแบบ 'ปลาใหญ่กินปลาเล็ก' อันเป็นมะเร็งร้ายต่อการพัฒนาสังคมโดยรวมนั่นเอง ... สุดยอดมาก !!

จะว่าไปแล้ว คำว่า Intimate ที่ James Legg เลือกใช้นั้น มีความหมายที่ใกล้เคียงกับคำว่า 兑 (duì, ตุ้ย) ค่อนข้างมากเลยทีเดียว แต่ผมก็ยังมีความตะหงิดๆ ตรงที่ว่า Intimate มี 'อารมณ์ของคำ' ที่แฝง 'ความเป็นมิตร' ใน 'ระดับบุคคล' มากกว่า 'ความเป็นสาธารณะ' อย่างที่ผม 'เชื่อ' ว่า 'คัมภีร์อี้จิง' น่าจะก้าวข้าม 'สัมพันธภาพระดับบุคคล' ไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะใน 'วัฏจักรสุดท้าย' ซึ่งผมมองว่า เป็น 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ที่ 'ผู้ครองแผ่นดิน' ควรจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ... ดังนั้น ผมจึงอยากจะเลือกใช้คำว่า
Being Magnanimous โดยแปลมันว่า 'ความโอบอ้อมอารี' เพือให้มี 'อารมณ์สาธารณะ' มากกว่า 'ความพึงพอใจ' หรือ 'ความสุขสดชื่นด้วยมิตรภาพ' อย่างที่หลายตำราให้ความหมายกันเอาไว้

ความหมายของ magnanimous (mæg'nænɪməs) ตามพจนานุกรม American Heritage บันทึกไว้ว่า 1. Courageously noble in mind and heart. 2. Generous in forgiving; eschewing resentment or revenge; unselfish. โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน magnanimus อันประกอบด้วย magnus=great + animus=soul, mind ... ประมาณความหมายว่า 'องอาจผ่าเผย', 'ใจกว้าง', 'ปราศจากความชิงชัง-อาฆาต', 'ไม่เห็นแก่ตัว' ... โดยมีความหมายตามรากศัพท์ก็คือ 'จิตสำนึกที่ยิ่งใหญ่' ... ทั้งหมดนั้นก็คือความหมายที่ผมให้คำแปลไทยเป็นความหมายของชื่อบทว่า 'ความโอบอ้อมอารี' ...

การให้ความหมายของ 兑 (duì, ตุ้ย) ไว้เพียงแคบๆ แค่ว่า เป็น 'ความสุข' ที่ได้รับจาก 'การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน' นั้น ดูจะไม่สอดคล้องกับแนวทางที่ King Wen กับ 'จิวกง' รจนามาโดยลำดับ ดังที่ได้ยกมาเล่ารวมกันไว้ข้างต้น
เพราะภายใน 'โครงสร้างความสัมพันธ์' แห่ง 'ความโอบอ้อมอารี' นั้น 'ความสุข' มิได้เป็นผลพวงของ 'การแลกเปลี่ยน' แต่เป็น 'การแลกเปลี่ยน' นั้นต่างหากที่เป็นผลพวงของ 'ความสุข' และ 'ความปรารถนาดี' ที่มีต่อกัน ... 'ผู้ครองแผ่นดิน' โดย 'ธรรม' ย่อมมี 'ความสุข' ที่ได้ 'ทำคุณประโยชน์' ให้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน โดยไม่ได้มุ่งหวังเลยว่า จะต้องมี 'สิ่งตอบแทน' ใดๆ ให้ 'สมน้ำสมเนื้อ' กับ 'ความปรารถนาดี' เหล่านั้น เพื่อที่ตนจะมี 'ความสุข' ... 兑 (duì, ตุ้ย) จึงเป็นเรื่องของ 'ความสุข' อันเกิดจาก 'ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น' ไม่ใช่ 'ความสุข' ที่เกิดจาก 'การได้รับสิ่งตอบแทน' จากผู้หนึ่งผู้ใดในลักษณะของ 'การแลกเปลี่ยน' อย่างแน่นอน




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨利貞
hēng lì zhēn
เฮิง ลี่ เจิ



เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ King Wen เลือกเด็ดบางคุณลักษณะของ 乾 (qián, เชี๋ยน) มาใช้เป็นคำอธิบายชื่อบท ซึ่งในคราวนี้ King Wen เลือกตัดเอาส่วนที่เป็น 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ที่แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; และสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; จนแผลงไปเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ในฐานะของ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งก็คือสามารถใช้ในความหมายของ 'ผู้นำ' ในยุคปัจจุบันได้ด้วย ... ไอ้ที่น่าสนใจก็คือการเลือกตัดเอาคำว่า 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ออกไปนี่แหละ ... ;)

เรามาดูความหมายของ 3 ตัวอักษรที่เหลืออยู่ก่อน โดยผมจะขอยกมาจากบทที่หนึ่งทั้งยวงเลยแล้วกัน

亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

利 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

貞 อ่านว่า zhēn (เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

ประเด็นที่ King Wen น่าจะต้องการสื่อไว้ก็คือ
'ความโอบอ้อมอารี' นั้น ควรจะต้องประกอบด้วย 'ความตระหนักรู้ และความเข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลของสภาวการณ์ที่เป็นจริง (亨) และมีความมุ่งมั่นตั้งใจ (利) ในการผดุงไว้ซึ่งความถูกต้องเที่ยงธรรมอย่างบริสุทธิ์ใจ (貞)' ... เนื่องจาก 'ความโอบอ้อมอารี' เป็นเรื่องของ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'ปัจจัยแวดล้อม' หลายๆ ด้านของสภาวการณ์หนึ่งๆ ตามที่เป็นจริง จึงเป็น 'กาละ-เทศะ' ที่สมควรต้องใช้ 'การรับฟังด้วยวิจารณญาณ' มากกว่า 'การริเริ่ม' เงื่อนไขใดๆ เข้าไปแทรกแซงด้วย 'สิทธิ' หรือ 'อำนาจ' ของตน คุณลักษณะของ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) จึงต้องถูกละไว้โดยไม่มีการเอ่ยถึงในบทที่ว่า 'ความโอบอ้อมอารี' นี้ ... ซึ่งส่วนหนึ่งของความหมายในคำแปลชื่อบทว่า Being Mananimous นั้นก็คือ การไม่นำ 'ตัวตน' ของเราเข้าไปเป็น 'เงื่อนไข' หนึ่งของ 'การตัดสินใจ' ในสถานการณ์นั้นๆ แต่ต้อง 'รับรู้-รับฟัง' โดย 'ไม่แทรกแซง' ด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' อย่างมี 'สติ' และ 'วิจารณญาณ' เพื่อที่จะ 'ทำความเข้าใจ' ใน 'เหตุปัจจัย' ต่างๆ ตามที่เป็นจริงเท่านั้น

ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจากบทที่ห้าสิบเจ็ด ซึ่งเป็นเรื่องของ 'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' ที่ผมเลือกคำอังกฤษมาเป็นชื่อบทว่า Persisting นั้น เราจะเห็นว่า King Wen ที่แม้จะขึ้นต้นด้วยความหมายให้ 'ดำเนินการตามเป้าหมายด้วยความมุ่งมั่นพยายาม' (利有攸往) แต่ก็ไม่ลืมที่จบวลีด้วยคำว่า 利見大人 (lì jiàn dà rén, ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) คือ 'ให้พยายามเสาะหาความร่วมมือจากผู้มีความรู้-มีศักยภาพ' ซึ่งการจะได้รับ 'ความรู้' หรือ 'ความร่วมมือ' จากบุคคลอื่นๆ นั้น ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องมี 'ความอ่อนน้อม' และ 'ความโอบอ้อมอารี' ในการ 'รับฟังเหตุผล' ตลอดจน 'เงื่อนไข' และ 'ปัจจัย' ต่างๆ 'อย่างจริงใจ' โดยทั้งหมดก็จะต้องเป็นไปตาม 'หลักการ' และ 'กฎกติกา' ที่ไม่ขัดต่อ 'หลักคุณธรรมอันบริสุทธิ์' ไม่ใช่ยึดเอาเพียง 'หลักกู' เป็น 'บรรทัดฐาน' ในการประพฤติปฏิบัติทุกๆ กิจกรรมด้วย 'ความลุแก่อำนาจ' ... ทั้งหมดนี้ก็คือความหมายของ 兑 (duì, ตุ้ย) ที่ King Wen ต้องการจะสื่อเอาไว้ ... :)





บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

和兌吉
hé duì jí
เฮ๋อ ตุ้ย จี๋



อักษร 和 เป็นหนึ่งในอักษรที่สามารถออกเสียงได้หลากหลายมาก แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะออกเสียงว่า hé (เฮ๋อ) ซึ่งแปลว่า 'สุขสงบ', อันเนื่องมาจาก 'การเช้ากันได้ดี', 'มีความสมานฉันท์', 'มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน', 'การอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น', 'มีความกลมเกลียว', 'มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' หรือแม้แต่ 'มีทัศนคติที่สอดคล้องกัน' ... รวมๆ กันก็จะประมาณว่า 'ความสมัครสมานสามัคคี' อะไรทำนองนั้น ...

ความหมายแฝงอื่นๆ ของอักษร 和 (hé, เฮ๋อ) ก็จะมีความหมายประมาณว่า 'ความโอนอ่อน' แต่ก็เป็นคนละความหมายกับ 'การตามใจ' หรือ 'การเอาอกเอาใจ' นะ เพราะความหมายของ 和 (hé, เฮ๋อ) นั้น ยังต้องประกอบด้วย 'ความมั่นคงในหลักการ' แต่ปฏิบัติต่อกันด้วย 'ความนุ่มนวล-อ่อนโยน' โดย 'ไม่แข็งขืนดึงดัน' ให้เป็นไปตาม 'หลักการ' ที่แม้ว่าจะมี 'ความถูกต้องโดยสมบูรณ์' แล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็น 'การให้เกียรติซึ่งกันและกัน' ด้วย 'ความเมตตา' รู้จักที่จะ 'รับรู้-รับฟัง' ประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' และ 'ยอมรับในความต่าง' อันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันของแต่ละบุคคล ... ประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ก็อยู่ตรงความหมายแฝงของอักษร 和 (hé, เฮ๋อ) นี่แหละ เพราะ 'ความนุ่มนวล-อ่อนโยน' ในความหมายของ 和 (hé, เฮ๋อ) นี้ ย่อมสะท้อนออกมาเป็น 'ความไม่ดันทุรัง' ที่จะยัดเยียด 'ความถูกต้องแบบของตน' ให้เป็น 'ความถูกต้องของทุกๆ ผู้คน' อย่างแข็งขืน อันเป็นความหมายที่สอดรับกับถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่สองของบทที่สองที่ว่า ... 'ความมั่นคงในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดีนั้น คืิอหลักสำคัญที่จะส่งเสริมให้ทุกการกระทำมีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ในตัวของมันเอง (直方大) โดยไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง หรือไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะคุณงามความดี ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น (無不利)' ... หรือถ้าเราจะให้ความหมายอีกอย่างหนึ่งก็จะประมาณว่า ... 'คุณธรรมและหลักการอันยิ่งใหญ่ (直方大) ย่อมมิใช่เพราะกำลังที่หักหาญ (不習) แต่เพราะความมุ่งมั่นไม่ลดละพยายาม (無不利) ด้วยจิตใจที่อ่อนโยนงดงามด้วยเมตตา' ... สวยงามครับ !!

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สิ่งที่ 'จิวกง' ตั้งใจจะสื่อไว้ในวรรคแรกของบทนี้ก็คือ
'ความโอบอ้อมอารีที่ทุกฝ่ายปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพอ่อนโยน (和兌) นั้น คือหลักปฏิบัติอันเป็นมงคลที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ซึ่งความหมายที่เห็นนี้ ก็จะไปขยายความต่ออีกครั้งในวรรคที่หกที่กำลังจะเล่าต่อไปด้วย ... แต่ตอนนี้ขอพาไปดูวรรคที่สองก่อนแล้วกันนะครับ ... :)


 

สอง หยาง :

孚兌吉悔亡
fú duì jí huǐ wáng
ฟู๋ ตุ้ย จี๋ หุ่ย วั๋ง



อักษร 孚 (fú, ฟู๋) ถือว่าเป็นคำที่พบเจอค่อนข้างบ่อยครั้งพอสมควรใน 'คัมภีร์อี้จิง' ซึ่งคำนี้จะแปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้ ... ลักษณะของ 孚 (fú, ฟู๋) จึงค่อนข้างที่จะหมายถึง 'การโอบอุ้ม', หรือ 'การอุปถัมภ์ค้ำจุน' โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ... ซึ่งก็คือ 'ความเมตตา-กรุณา' หรือ 'ความโอบอ้อมอารี' นั่นเอง

เป็นไปได้ว่า 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 孚 (fú, ฟู๋) มาบันทึกพ่วงต่อจากคำว่า 和 (hé, เฮ๋อ) ในวรรคที่หนึ่งก็เพื่อจะกำกับความหมายของ 和 (hé, เฮ๋อ) ไม่ให้ถูก 'ตีความ' ไปเป็นความหมายอื่นจนอาจเพี้ยนไปเป็นเรื่องของ 'การฮั้วผลประโยชน์' หรือ 'การสมคบคิด' ของฝ่ายต่างๆ ที่ 'ร่วมมือกัน' ประกอบกิจกรรมบางอย่างด้วยมี 'เจตนาแอบแฝง'

ส่วนคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) นั้นแปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ก็เป็น 'ความเสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

ความหมายของวรรคที่สองนี้จึงน่าจะประมาณว่า ...
'การอุปถัมภ์ที่เอื้อเฟื้อให้แก่ผู้อื่นด้วยความเมตตาอารี (孚兌) นั้น คือพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรืองและความสุขสวัสดี (吉) ที่จะลดทอนความหมกมุ่นกังวลใจในทางส่วนตัวให้หมดสิ้นไป (悔亡)' ... สังเกตนะครับว่า ผมยังคงความหมายของ 悔 (huǐ, หุ่ย) ให้เป็นเรื่องของ 'ความทุกข์ระทมใจ' ในเรื่อง 'เฉพาะของตน' อย่างเดิม ซึ่งก็คือ 'ความหมกมุ่น' อยู่กับ 'ตัวเอง' ...



 

สาม หยิน :

來兌凶
lái duì xiōng
ไล๋ ตุ้ย เซฺวิง



อักษร 來 (lái, ไล๋) โดยปรกติจะแปลว่า 'มา', 'เข้าร่วม' หรือ 'บังเกิดขึ้น', หรือ 'ทำให้เกิดขึ้น' ในขณะที่บางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'หวนกลับมา (อีกครั้ง)', หรือ 'ได้รับ' ซึ่งก็เลยสามารถใช้ในความหมายของ 'ข้อตกลง', 'การนัดแนะ', หรือ 'การตอบแทน' ได้ด้วย ; บางลักษณะของการใช้งานก็จะหมายถึง 'อนาคตอันใกล้', แต่ก็สามารถที่จะหมายถึง 'อดีตที่ผ่านมา' ก็ได้อีกเหมือนกัน

ในแง่หนึ่งนั้น 來 (lái, ไล๋) มีลักษณะของ 'การมาบรรจบกัน' แฝงอยู่ในความหมายของมันพอสมควร ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็ดูจะคล้ายกับคำว่า 和 (hé, เฮ๋อ) ในแง่ของ 'การอยู่ร่วมกัน' หรือ 'การประสานความร่วมมือ' ด้วยเหมือนกัน ... ซึ่ง ... ในบางลักษณะของ 'การประสานความร่วมมือ' ดังที่ว่านี้ มันก็อาจจะเป็นเรื่องของ 'การสมคบคิด' เพื่อ 'ประสานประโยชน์' ที่ต่างฝ่ายต่างก็คำนึงถึงแต่ 'การแสวงประโยชน์' สำหรับพวกพ้องของตน แทนที่จะมุ่งความสนใจอยู่ที่หลักการ และแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืน ... หรือถ้าเราจะพิจารณาในอีกแง่หนึ่งของ 'ความโอบอ้อมอารีอย่างไม่มีขอบเขต' ซึ่งก็จะเป็นบ่อเกิดของ 'สันดานมักง่าย' ในระยะยาว เพราะผู้คนจะพากันเพิกเฉยต่อ 'การพัฒนาตนเอง' และเฝ้าแต่รอรับ 'ความเมตตาอารี' จากผู้อื่นอยู่ร่ำไป จนกลายเป็น 'บุคคลด้อยศักยภาพ' ในที่สุด ... ลักษณาการดังที่กล่าวมานี้ น่าจะเป็นสาเหตุให้ 'จิวกง' เลือกคำลงท้ายสำหรับวลีนี้ด้วยคำว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) ซึ่งมีความหมายรุนแรงถึงขั้น 'ความฉิบหายย่อยยับ' เลยทีเดียว ... :D

ผม 'ตีความ' เอาเองว่า ความหมายที่ 'จิวกง' อยากสื่อออกมาในวรรคนี้ก็คือ ...
'การเอื้อประโยชน์ที่ปรากฏผลเพียงฉาบฉวยเฉพาะหน้า (來兌) นั้น คือรากเหง้าแห่งความฉิบหายล่มจม (凶) ในระยะยาว' ... เพราะไม่ว่าเราจะพิจารณาในแง่ของ 'การแสวงประโยชน์ต่างตอบแทน' ในลักษณะของ 'การสมคบคิด' ... หรือ ... 'ความไม่ยั้งคิด' ถึงผลเสียในระยะยาวของ 'การไม่สั่งสอน' ให้คนรู้จัก 'การพึ่งพาตนเอง' ... เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของ 'การสนองประโยชน์เฉพาะหน้า' ที่ 'ฉาบฉวย-ไม่ยั่งยืน' ทั้งสิ้น



 

สี่ หยาง :

商兌未寧介疾有喜
shāng duì wèi níng jiè jí yǒu xǐ
ซัง ตุ้ย เว่ย นิ๋ง เจี้ย จี๋ โหฺย่ว สี่




商 อ่านว่า shāng (ซัง) ปัจจุบันมักจะเห็นคำนี้ในความหมายของ 'การค้า' หรือ 'ธุรกิจ' แต่จริงๆ แล้วคำนี้มีความหมายว่า 'ประมาณการ', หรือ 'คาดคะเน' จาก 'การพินิจพิเคราะห์ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ' ซึ่งโดยปรกติก็จะต้องมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปอยู่แล้ว คำว่า 商 (shāng, (ซัง) จึงสามารถแปลว่า 'ปรึกษาหารือ' หรือ 'แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน' ได้ด้วย ; และในความหมายของ 'การแลกเปลี่ยน' นี้เองที่ทำให้ 商 (shāng, (ซัง) มาเกี่ยวข้องกับความหมายของ 'การค้า', 'การลงทุน' ตลอดจน 'การแบ่งปัน' หรือ 'การจัดสรร' อันเป็นเรื่องที่หลายๆ ฝ่ายต้อง 'ร่วมพิจารณา' ไปพร้อมๆ กัน

未 อ่านว่า wèi (เว่ย) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ว่า 'ไม่' หรือ 'ไม่มี' ที่มักใช้คู่กับคำอื่นๆ เช่น 'ไม่ถึงเวลา', 'ไม่ต้อง', 'ไม่จำเป็น' ฯลฯ

寧 อ่านว่า níng (นิ๋ง) แปลว่า 'สงบ', 'หนักแน่น', 'แน่วแน่', 'มั่นคง'

介 อ่านว่า jiè (เจี้ย) ความหมายเดิมตาม 'ภาพอักษร' คือ 'ชุดเกราะ' หรือ 'ทหารที่สวมใส่ชุดเกราะ' ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ 'ทหารแนวหน้า' ที่ประจำการอยู่ 'แนวชายแดน' จากนั้นความหมายก็ค่อยๆ เพี้ยนไปจนหมายถึง 'เขตแดน', 'พรมแดน' เช่นเดียวกับคำว่า 界 (jiè, เจี้ย) ซึ่งสามารถแปลว่า 'แว่นแคว่น', 'รัฐ', 'ก๊ก' หรือ 'ประเทศ' ; ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'เกล็ด' หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้ม บางครั้งมันจึงสามารถหมายถึง 'เค้าโครง' หรือ 'ภาพร่าง' ที่ปรากฏให้เห็นภายนอก ; ในขณะเดียวกันมันก็ยังสามารถหมายถึง 'สิ่งที่ถูกห่อหุ้มอยู่ข้างใน', 'ไส้ใน', หรือ 'เนื้อแท้' ... ซึ่งตรงนี้ก็เลยทำให้มันสามารถแปลว่า 'ที่อยู่ระหว่างกลาง' ได้ด้วย ... และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันสามารถแปลว่า 'แนะนำ (ให้รู้จัก)' ซึ่งอาจจะเป็น 'การแนะนำ' โดยเอกสารหรือโดย 'คนกลาง' ก็ได้

อีกลักษณะหนึ่งของความหมายว่า 'สิ่งที่ถูกห่อหุ้มอยู่ข้างใน', หรือ 'สิ่งที่ได้รับการห่อหุ้ม' นั้นน่าจะทำให้คำนี้แผลงความหมายเป็น 'โดดเดี่ยว' เหมือนถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก (เพราะมีเปลือกห่อหุ้ม หรือมีสิ่งกางกั้นไว้) ในขณะที่บางครั้งมันก็สามารถหมายถึง 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', 'โดดเด่น' หรือว่า 'ดีงาม' ... แต่ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'เย่อหยิ่ง', 'ลำพอง' หรือว่า 'อวดดี' ได้ด้วยเหมือนกัน ... ในแง่ของ 'การแนะนำ' ก็แฝงความหมายว่า 'การให้ความช่วยเหลือ', 'การให้ความสนับสนุน' ซึ่งก็ทำให้เกิดความหมายว่า 'มั่นคง', 'แข็งแรง' ได้อีกต่างหาก

疾 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'

喜 อ่านว่า xǐ (สี่) แปลว่า 'ความสุข', 'ความชอบ', 'ความพึงพอใจ' ; บางครั้งจึงใช้ในความหมายของ 'การเฉลิมฉลอง'

ถ้ามองเผินๆ เราก็อาจจะ 'ตีความ' ให้คำว่า 商兌 (shāng duì, ซังตุ้ย) หมายถึง 'การเอื้อประโยชน์ทางการค้า' ซึ่งเป็นความหมายในทิศทางเดียวกับ 來兌 (lái duì, ไล๋ตุ้ย) ที่สามารถแปลว่า 'การเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทน' โดย 'จิวกง' แช่งไว้ในวรรคที่สามอย่างรุนแรงเลยว่า จะนำไปสู่ 'ความฉิบหาย' (凶) แน่ๆ ... แต่ปรากฏว่า ตรงท้ายวรรคที่สี่นี้เอง 'จิวกง' กลับเปลี่ยนมาเล่นคำว่า 喜 (xǐ, สี่) ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงกับหักล้างกับคำว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) อย่างตรงๆ ตัว แต่ก็ต้องถือว่าเป็นความหมายที่ย้อนแย้งกันพอสมควร ... ดังนั้น คำว่า 商 (shāng, (ซัง) ในวรรคนี้จึงน่าจะมีความหมายอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของ 'การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์' แต่เป็นเรื่องของ 'การมีปฏิสัมพันธ์กัน' ของฝ่ายต่างๆ เพื่อที่จะ 'กำหนดกรอบ' (介) ของ 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' (疾) ให้มี 'ความชัดเจน' อันจะนำไปสู่ 'การปรับปรุงแก้ไขให้ดีชึ้น' อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเหตุผลที่ 'จิวกง' เลือกจบวลีนี้ด้วยคำว่า 有喜 (yǒu xǐ, โหฺย่ว สี่) ซึ่งหมายถึง 'เกิดความพึงพอใจ' นั่นเอง ...

ความหมายเต็มๆ ของ 'คู่วลี' วรรคที่สามกับวรรคที่สี่นี้ก็คือ ...
'การเอื้อประโยชน์ที่ปรากฏผลเพียงฉาบฉวยเฉพาะหน้า (來兌) นั้น คือรากเหง้าแห่งความฉิบหายล่มจม (凶) ในระยะยาว' ... เนื่องเพราะ 'ปฏิสัมพันธ์ของความช่วยเหลือเกื้อกูล (商兌) นั้น มีความเป็นพลวัตรที่ไม่อาจกำหนดเป็นสูตรสำเร็จอย่างตายตัว (未寧) แต่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องร่วมกันพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบของปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ให้มีความชัดเจน (介疾) และต้องร่วมมือกันเยียวยาแก้ไขอย่างจริงจัง จนกว่าจะบรรลุผลเป็นที่น่าพอใจ (有喜) ในที่สุด' ...


ประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยจะได้เอ่ยถึงบ่อยนักก็คือ วรรคที่สี่กับวรรคที่หนึ่งของหลายๆ บท ที่แม้ว่าจะไม่ใช่ 'คู่วลี' กันโดยตรง แต่ก็มักจะมีความต่อเนื่องกันในระดับหนึ่งเหมือนกัน ตัวอย่างเช่นในบทนี้ที่เริ่มต้นด้วยวรรคที่หนึ่งว่า ... 'ความโอบอ้อมอารีที่ทุกฝ่ายปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพอ่อนโยน (和兌) นั้น คือหลักปฏิบัติอันเป็นมงคลที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ตรงคำว่า 和 (hé, เฮ๋อ) ที่ถูกใช้ในความหมายของ 'ความสุภาพอ่อนโยน' และถูกนำมาขยายความต่อในวรรคที่สี่ด้วยคำว่า 商 (shāng, (ซัง) ในความหมายของ 'ความมีปฏิสัมพันธ์กัน' ระหว่าง 'ผู้ให้' กับ 'ผู้รับ' ที่มี 'ความเป็นพลวัตร' คือ 'ไม่เป็นการผูกขาดอย่างตายตัว' (未寧) แต่จะต้องปฏิบัติต่อกันดัวย 'ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน' ซึ่งนั่นก็คือ 'ความสุภาพอ่อนน้อม' ที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้แก่กันเยี่ยง 'กัลยาณมิตร' ไม่ใช่เพราะความมีศักดิ์สถานะที่เหลื่อมล้ำยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ...

 

ห้า หยาง :

孚于剝有厲
fú yǘ bō yǒu lì
ฟู๋ ยฺวี๋ ปอ โหฺย่ว ลี่




于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

剝 สามารถออกเสียงว่า bāo (เปา) แปลว่า 'ปลอกเปลือกออก', 'กระเทาะเปลือกออก', หรือ 'การหลุดร่อนของผิวนอก' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'การถลกหนัง' ก็ได้ ; แต่ถ้าออกเสียงว่า bō (ปอ) จะหมายถึง 'การแยกออกจากกัน', 'การแบ่งออก', 'การผุกร่อน', หรือ 'หลุดร่วงออกจากกัน' และอาจจะหมายถึง 'การลอกคราบ' ก็ได้ ; ส่วนความหมายที่ไม่ค่อยดีก็จะหมายถึง 'ฉกชิง', 'หยิบฉวย' หรือ 'ขโมย' ซึ่งมีลักษณะของ 'การพราก' สิ่งใดสิ่งหนึ่งจากเจ้าของเดิม และบางครั้งก็เลยเถิดไปจนมีความหมายว่า 'ทำให้บาดเจ็บ' อีกด้วย ; ... อย่างไรก็ตาม อีกษร 剝 (bō, ปอ) เคยถูกใช้ในฐานะที่เป็นชื่อของบทที่ยี่สิบสามมาแล้ว ซึ่งในบริบทดังกล่าวผมให้ความหมายไว้ว่า 'การจัดสรร' หรือ 'การกระจายออก' โดยมุ่งประเด็นไปที่ 'การกระจายอำนาจ' หรือ 'การมอบหมายความรับผิดชอบ' เป็นประเด็นหลัก

厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย 😋

คราวนี้ดูเหมือน 'จิวกง' จะเล่นคำเพื่อเชื่อมโยงวรรคที่สองกับวรรคที่สี่เข้าด้วยกันกับวรรคที่ห้าเลยนะครับ โดยร่องรอยที่โยงความต่อเนื่องมาจากวรรคที่สองก็คือคำว่า 孚 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'การอุปการะ' หรือ 'การอุปถัมภ์ค้ำจุน' ... และทิ้งท้ายวลีนี้ด้วยคำว่า 有厲 (yǒu lì, โหฺย่ว ลี่) ซึ่งดูๆ แล้วก็น่าจะล้อกับความหมายของคำว่า 有喜 (yǒu xǐ, โหฺย่ว สี่) ในวรรคที่สี่อย่างชัดเจนเลยทีเดียว โดยคำที่จะทำให้ทิศทางของ 'คู่คำ' ที่ว่านี้แตกต่างกันไปก็คือคำว่า 介 (jiè, เจี้ย) ในวรรคที่สี่ ซึ่งสื่อถึง 'เกราะ' หรือ 'เปลือกที่ห่อหุ้ม' เอาไว้ กับคำว่า 剝 (bō, ปอ) ในวรรคที่ห้านี้ ที่สื่อไปในความหมายของ 'เปลือกที่กระเทาะออก' หรือ 'ความผุกร่อน' ... ซึ่ง ... คำคู่นี้ทำให้ผมนึกถึงภาพของ 'ความมีขอบเขตอย่างสร้างสรรค์' (介) ที่จะนำไปสู่ 'การลงเอยทีดี' หรือ happy ending (有喜) กับอีกภาพหนึ่งของ 'ความไม่มีขอบเขตอย่างทำลายล้าง' (剝) ที่จะนำไปสู่ 'ความมีโทษภัย' (有厲) ในระยะยาว ... 😄

เมื่อผนวกความหมายที่ไล่เรียงกันมาตั้งแต่วรรคที่สอง, วรรคที่สาม, และวรรคที่สี่เข้าด้วยกันแล้ว ผมเชื่อว่า 'จิวกง' น่าจะกำลังบอกกับพวกเราว่า ...
'การอุปถัมภ์ (孚) ที่ปรนเปรอกันอย่างสะเปะสะปะจนไร้ขอบเขตหลักเกณฑ์ใดๆ  (于剝) เลยนั้น มีความเป็นโทษภัยที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างระมัดระวัง (有厲)' ... โดยประเด็นที่น่าจะต้องขยายความเพิ่มเติมไว้สักเล็กน้อยก็คือ ... ผมเลือกเปลี่ยนคำจาก 'เอื้อเฟื้อ' ในความหมายของวรรคที่สองซึ่งมี 'อารมณ์คำ' ในทางบวก มาเป็นคำว่า 'ปรนเปรอ' ในวรรคที่ห้านี้ เพื่อสื่อถึง 'การอุปถัมภ์อย่างไม่มีขอบเขตหลักเกณฑ์' เพื่อสื่อ 'อารมณ์คำ' ในทางตรงกันข้ามแทน ... คืองี้ ...

'การเอื้อเฟื้อ' แก่ผู้อื่นนั้นถือเป็น 'ความโอบอ้อมอารี' ที่ทุกคนควรจะ 'พยายาม' ปฏิบัติต่อกัน 'ตามสมควร' เท่านั้นนะครับ ... ซึ่ง 'ความพอดี' ที่ว่านี้ ย่อมต้องอาศัย 'การรับรู้-รับฟัง' และการพยายาม 'ทำความเข้าใจ' ใน 'ความจำเป็นที่แท้จริง' ของ 'ทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนร่วม' เพื่อกำหนด 'กรอบ' และ 'หลักเกณฑ์' (介) ในการบริหารจัดการ 'อย่างเหมาะสม' และ 'ตรงประเด็น' ไม่ใช่สักแต่ทำสักแต่แก้ 'อย่างฉาบฉวย' (來兌) หรือ 'สะเปะสะปะอย่างไร้ทิศทาง' (剝) ด้วย 'ความอวดดื้อถือดี' ใน 'อัตตาตน' ... และยิ่ง 'ไม่ควรปรนเปรอ' จนกลายเป็น 'การทำลายโอกาส' ที่ทุกๆ ฝ่ายควรจะได้ 'พัฒนาศักยภาพของตน' เพื่อความสำเร็จประโยชน์ 'อย่างยั่งยืน' ต่อๆ ไป


 

หก หยิน :

引兌
yǐn duì
อิ่น ตุ้ย

 

วรรคนี้ถูกบันทึกไว้ด้วนๆ เพียง 2 ตัวอักษรเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าหลายๆ ตำราจะ 'ตีความ' ไปในทางร้าย เพราะต้องการให้เกิด 'ความต่อเนื่อง' กับคำว่า 有厲 (yǒu lì, โหฺย่ว ลี่) ในวรรคที่ห้า หรือไม่อย่างนั้นก็โดยการจับให้วรรคที่หกนี้ไปเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่สาม ซึ่งมีคำว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) อยู่ตรงท้ายวรรค ... แต่ถ้า 'คู่วลี' จริงๆ ของวรรคที่หกเป็นวรรคที่หนึ่งล่ะ ?!?!

จะว่าไปแล้ว อักษร 引 (yǐn, อิ่น) ที่เราเห็นอยู่นี้ มีความหมายที่คุ้นชินกันโดยทั่วไปว่า 'การง้างคันธนู' หรือ 'การเหนี่ยวคันศร' ซึ่งเมื่อมันไปเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ ความรู้สึกแรกๆ ต่อคำนี้จึงสื่อไปถึงความรุนแรง, การเข่นฆ่า, หรือการทำลายล้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความรู้สึกในทางร้ายทั้งสิ้น การนำมันไปผูกติดกับคำว่า 厲 (lì, ลี่) ในวรรคที่ห้า หรือ 凶 (xiōng, เซฺวิง) ในวรรคที่สาม จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจอะไร ... แต่ในความเป็นจริงก็คือ ไม่มีร่องรอยใดๆ ในวรรคนี้เลยที่สื่อความหมายไปในทางที่ดี หรือในทางที่ร้าย ... เพราะมันถูกบันทึกไว้ด้วนๆ แค่ ... 引兌 (yǐn duì, อิ่น ตุ้ย) ... เฉยๆ !?!?!

แม้ว่า 引 (yǐn, อิ่น) จะมีความหมายตาม 'ภาพอักษร' เป็น 'การง้างคันธนู' แต่ความจริงแล้ว 引 (yǐn, อิ่น) มีความหมายว่า 'การดึงให้ยืดออก', 'การขยายออก', 'การแผ่กว้างออกไป', หรือ 'การเปิดกว้าง' และยังสามารถที่จะหมายถึง 'ความยั่งยืน' ได้อีกด้วย ... ซึ่งเมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณาถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่หนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง เราก็น่าจะเห็นถึงความหมายที่ 'เกี่ยวเนื่องกัน' กับ 'ความสุภาพอ่อนโยน' หรือ 'ความอ่อนน้อม' อันเป็นความหมายที่แฝงอยู่ในคำว่า 和 (hé, เฮ๋อ) ที่เกิดจาก 'การลดละอัตตา' ของผู้ปฏิบัติ ดังที่ King Wen ได้ละคำว่า 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ออกจากถ้อยคำที่ใช้ขยายความหมายของ 兑 (duì, ตุ้ย) ซึ่งเป็นชื่อของบทที่ห้าสิบแปดนี้มาตั้งแต่แรก ...
เพราะ 'การลดละอัตตา' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสุภาพอ่อนน้อม' และ 'การเปิดกว้างทางความคิด' โดย 'ไม่ยึดติด' อยู่กับ 'กรอบคิดอันคับแคบเฉพาะตน' จึงพร้อมที่จะ 'รับรู้-รับฟัง' ถึง 'อุปสรรค' อันเป็น 'ข้อจำกัด' ของทุกๆ ฝ่าย 'อย่างรอบด้าน' นั่นเอง

ความหมายจริงๆ ของวรรคที่หกในบทนี้ จึงควรที่จะเขียนให้ต่อเนื่องกับสิ่งที่เล่าไปแล้วในวรรคที่หนึ่งว่า ... 'ความโอบอ้อมอารีที่ทุกฝ่ายปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพอ่อนน้อม (和兌) ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉) และจะอำนวยให้ 'สัมพันธภาพดำรงอยู่อย่างยั่งยืน (引) บนรากฐานแห่งความโอบอ้อมอารีที่มีต่อกัน (兌) นั้น' ...




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ตุ้ย' คือ ความโอบอ้อมอารี, อ่างเก็บน้ำเหนือทะเลสาบ

'ความโอบอ้อมอารี' นั้น ควรจะต้องประกอบด้วย 'ความตระหนักรู้' และ 'ความเข้าใจ' ใน 'ความเป็นเหตุเป็นผล' ของ 'สภาวการณ์ที่เป็นจริง' (亨) และมี 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' (利) ในการผดุงไว้ซึ่ง 'ความถูกต้องเที่ยงธรรม' อย่าง 'บริสุทธิ์ใจ' (貞)

    • 'ความโอบอ้อมอารี' ที่ทุกฝ่ายปฏิบัติต่อกันด้วย 'ความสุภาพอ่อนโยน' (和兌) นั้น คือ 'หลักปฏิบัติ' อันเป็น 'มงคล' ที่จะนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
    • 'การอุปถัมภ์' ที่ 'เอื้อเฟื้อ' ให้แก่ผู้อื่นด้วย 'ความเมตตาอารี' (孚兌) นั้น คือ 'พื้นฐาน' ของ 'ความเจริญรุ่งเรือง' และ 'ความสุขสวัสดี'  (吉) ที่จะลดทอน 'ความหมกมุ่นกังวลใจ' ในทาง 'ส่วนตัว' ให้หมดสิ้นไป (悔亡)
    • 'การเอื้อประโยชน์' ที่ปรากฏผลเพียง 'ฉาบฉวยเฉพาะหน้า' (來兌) นั้น คือ 'รากเหง้า' แห่ง 'ความฉิบหายล่มจม' (凶) ในระยะยาว
    • 'ปฏิสัมพันธ์' ของ 'ความช่วยเหลือเกื้อกูล' (商兌) นั้น มี 'ความเป็นพลวัตร' ที่ไม่อาจกำหนดเป็น 'สูตรสำเร็จ' อย่าง 'ตายตัว' (未寧) แต่ทุกๆ ฝ่ายจะต้อง 'ร่วมกันพิจารณา' เพื่อ 'กำหนดกรอบของปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ ให้มี 'ความชัดเจน' (介疾) และต้อง 'ร่วมมือ' กัน 'เยียวยาแก้ไข' อย่าง 'จริงจัง' จนกว่าจะ 'บรรลุผล' เป็นที่ 'น่าพอใจ' (有喜) ในที่สุด
    • 'การอุปถัมภ์' (孚) ที่ 'ปรนเปรอ' กัน 'อย่างสะเปะสะปะ' จน 'ไร้ขอบเขตหลักเกณฑ์' ใดๆ (于剝) เลยนั้น มี 'ความเป็นโทษภัย' ที่ต้องใช้ 'วิจารณญาณ' อย่าง 'ระมัดระวัง' (有厲)
    • 'สัมพันธภาพ' ย่อมดำรงอยู่ 'อย่างยั่งยืน' บน 'รากฐาน' ของ 'ความโอบอ้อมอารี' ที่มีต่อกัน (引兌)



The Organization Code :


'ความโอบอ้อมอารี' คือ 'การมีปฏิสัมพันธ์' กับ 'สถานการณ์ที่เป็นจริง' และ 'บุคคล' ที่ 'มีความเกี่ยวข้อง' ด้วย 'จิตใจ' และ 'กรอบคิด' ที่ 'เปิดกว้าง' โดยละซึ่ง 'อัตตา' อันเป็น 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความบิดเบือน' ทั้งหลายทั้งปวงออกไปจาก 'กระบวนการคิด' เพื่อให้ 'การดำเนินงาน' มี 'ความโปร่งใส' และ 'เป็นธรรม' ต่อทุกๆ ฝ่ายที่ 'เกี่ยวข้องกัน' ; ดังนั้น 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมี 'ความชัดเจนในหลักการ' เพื่อจะพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่าง 'สมเหตุ-สมผล' โดยปราศจากเงื่อนไขของ 'ปัจจัยทางอารมณ์อันบิดเบือน' (⚌) ; ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' ก็จะต้องมี 'ความหนักแน่น' และ 'เด็ดเดี่ยว' ใน 'การตัดสินใจ' (⚎) ; เพื่อให้ 'ระดับปฏิบัติการ' สามารถ 'ดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ ได้อย่าง 'สอดคล้อง' และ 'ยืดหยุ่น' ต่อ 'สภาวการณ์ที่เป็นจริง' (⚍) โดยไม่ขัดต่อ 'ทิศทางของหลักการ' ที่ได้ 'กำหนดไว้อย่างชัดเจน' แล้ว

'การดำเนินงาน' เพื่อ 'ประโยชน์โดยภาพรวม' นั้น มี 'ความจำเป็น' ที่จะต้อง 'ทำความเข้าใจ' ต่อ 'สภาวการณ์ที่เป็นจริง' (亨) เพื่อที่จะ 'ดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ ได้ 'อย่างเหมาะสม' และ 'ตรงประเด็น' (利) โดยยังสามารถธำรงไว้ซึ่ง 'หลักการ' ที่ 'บริสุทธิ-ยุติธรรม' ต่อทุกๆ ฝ่ายที่ 'เกี่ยวข้องกัน' (貞) เสมอ

    • 'ความสุภาพอ่อนโยน' ที่ทุกๆ ฝ่าย 'ปฏิบัติด้วยความจริงใจต่อกัน' (和兌) นั้น คือ 'หลักปฏิบัติ' อันเป็น 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความร่วมมือ' ที่จะนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
    • 'ความเมตตา' และ 'ความกรุณา' ต่อ 'ผู้อื่น' และ 'ส่วนรวม' อันเป็น 'สาธารณะ' (孚兌) นั้น คือ 'ความดีงาม' (吉) อันเป็น 'พื้นฐาน' ของ 'การลดทอนอัตตา' และ 'ความหมกมุ่นกังวลใจ' ในทาง 'ส่วนตัว' ให้หมดสิ้นไป (悔亡)
    • 'การแลกเปลี่ยน' ด้วย 'ผลประโยชน์ต่างตอบแทน' อันเป็น 'การเอื้อประโยชน์' ที่ปรากฏผลเพียง 'ฉาบฉวยเฉพาะหน้า' (來兌) นั้น คือ 'รากเหง้า' แห่ง 'ความฉิบหายล่มจม' (凶) ในระยะยาว
    • 'ความช่วยเหลือเกื้อกูล' (商兌) นั้น ย่อมมี 'ความเป็นพลวัตร' ด้วย 'ความแปรเปลี่ยน' ของ 'เหตุปัจจัยที่แตกต่าง' โดย 'สภาวการณ์' จึงไม่อาจกำหนดเป็น 'สูตรสำเร็จ' อย่าง 'ตายตัว' (未寧) ... ทุกๆ ฝ่ายที่ 'มีความเกี่ยวข้องกัน' จึงต้อง 'ร่วมกันพิจารณา' เพื่อ 'กำหนดกรอบของปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ ให้มี 'ความชัดเจน' (介疾) และต้อง 'ร่วมมือ' กัน 'เยียวยาแก้ไข' อย่าง 'จริงจัง' จนกว่าจะ 'บรรลุผล' เป็นที่ 'น่าพอใจ' (有喜) ของทุกๆ ฝ่าย
    • 'การอุปถัมภ์' (孚) ที่ 'ปรนเปรอ' อย่าง 'ไร้ขอบเขตหลักเกณฑ์' ใดๆ (于剝) เลยนั้น ย่อมมี 'ความเป็นโทษภัย' ที่ต้องใช้ 'วิจารณญาณ' อย่าง 'ระมัดระวัง' (有厲) ... 'หลักคิดสำคัญ' ใน 'พรหมวิหาร ๔' อันประกอบด้วย 'เมตตา-กรุณา-มุทิตา' จึงต้องกำกับไว้ด้วย 'หลักอุเบกขา' อันเป็น 'หลักแห่งความพอประมาณ' เพื่อป้องกัน 'ความฟั่นเฝือ' ของ 'ความโอบอ้อมอารี' นั่นเอง
    • 'ความโอบอ้อมอารี' ที่ทุกๆ ฝ่ายปฏิบัติด้วย 'ความเปิดเผย' และ 'จริงใจ' ต่อกันนั้น คือ 'รากฐานอันสำคัญ' ของ 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' อันจะนำไปสู่ 'สัมพันธภาพที่ยั่งยืน' (引兌) ได้