Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第三十七卦 : 家人

家人 : 風火家人 ‧ 巽上離下

家人 : 利女貞‧

  • 初九 : 閑有家‧悔亡‧
  • 六二 : 無攸遂‧在中饋‧貞吉‧
  • 九三 : 家人嗃嗃‧悔厲吉‧婦子嘻嘻‧終吝‧
  • 六四 : 富家‧大吉‧
  • 九五 : 王假有家‧勿恤吉‧
  • 上九 : 有孚威如‧終吉‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา และอารมณ์ สดชื่น (⚍) สุขภาพพลานามัย แจ่มใสร่างเริง (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : การค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ (☲) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน (☴)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การหล่อหลอมคุณธรรม, อ่อนโยนด้วยความกระจ่างแจ้ง
 

 

ความหมายของชื่อเรียก : Cultivating Virtues : การหล่อหลอมคุณธรรม


ถ้าว่ากันตามตัวอักษรในปัจจุบัน 家人 (jiā rén, เจีย เญิ๋น) ก็คงจะถูกแปลอย่างตรงๆ ตัวว่า Family Man ... :P ... หรือไม่งั้นก็อาจจะมีความหมายง่ายๆ แค่ 'สมาชิกในบ้าน' หรือ 'สมาชิกในครอบครัว' เท่านั้นเอง ... แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มันควรจะง่ายๆ ขนาดนั้นรึเปล่าล่ะ ??!!

家 อ่านว่า jiā (เจีย) แปลว่า 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ครอบครัว' ; 'สำนักศึกษา', 'แนวคิด', 'สาขาวิชา', 'ผู้ชำนาญการ (ในสาขาใดสาขาหนึ่ง)' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'การอบรมเลี้ยงดูในบ้าน' ที่ตรงข้ามกับ 'การปล่อยไปตามยถากรรม' หรือ 'ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ' ซึ่งจะใช้คำว่า 野 (yě, เหฺยี่ย) ที่หมายถึง 'ป่า', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'เติบโตในป่า' หรือ 'เติบโตโดยไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน' ; คำว่า 家 (jiā, เจีย) เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงหมายถึง 'การสร้างครอบครัว' หรือ 'การแต่งงาน', 'การลงหลักปักฐาน', 'การอบรมสั่งสอน', 'การโอบอุ้มเลี้ยงดู' หรือถ้าจะใช้คำว่า 'การหล่อหลอม', 'การหล่อเลี้ยง' หรือ 'การฟูมฟัก' ก็คงไม่แปลกประหลาดอะไร :)

ส่วน 人 (rén, เญิ๋น) นั้นมีความหมายที่รู้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึง 'คน', 'มนุษย์', หรือในความหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ 'มนุษย์' เช่น 'ประชากร', 'ผู้คน', 'กำลังพล' ... และที่สำคัญมากก็คือมันสามารถหมายถึง 'ความเป็นคน' หรือ 'ธาตุแท้ของคน' ซึ่งแผลงความหมายไปเป็น 'มนุษยธรรม', หรือ 'คุณธรรม' อันเป็นความหมายเดียวกับอักษร 仁 (rén, เญิ๋น) ที่พ้องเสียงกันด้วยนั่นเอง

เริ่มยากขึ้นมาหน่อยแล้วสิเนี่ยะ !! ... ลองย้อนกลับดู 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' กันหน่อยครับ ... เราจะเห็นว่า King Wen เลือกใช้ภาพสัญลักษณ์ ䷤ ซึ่งประกอบด้วย ☲ (離 : lí, ลี๋) อันเป็นสัญลักษ์ที่ใช้แทน 'ไฟ' หรือ 'ความสุกสว่าง' อยู่ตรงด้านล่าง ซึ่งเปรียบได้กับ 'ภายในจิตใจ' ... และมี ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) อันเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทน 'ลม' หรือ 'ความอ่อนโยน', และ 'ความต่อเนื่อง' อยู่ตรงด้านบนหรือ 'การแสดงออกภายนอก' ... ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับภาพสัญลักษณ์ที่ King Wen เลือกใช้ให้กับบทที่สามสิบหก เราก็จะพบว่า King Wen เลือกที่จะเปลี่ยนสัญลักษณ์ส่วนบนจาก ☷ (坤 : kūn, คุน) ที่มักจะแทนคุณลักษณะของ 'ความนิ่งสงบ' ราวกับ 'แผ่นดิน' ให้กลายเป็น ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) เพื่อสื่อถึง 'ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง' และ 'อ่อนโยน' ราวกับ 'กระแสลม' ... แต่คง 'ความสุกสว่างภายในจิตใจ' เอาไว้ตามเดิมด้วยสัญลักษณ์ ☲ (離 : lí, ลี๋) ??! ... ดังนั้น ... ความหมายที่ควรจะต่อเนื่องมาจาก 'การครองสติอย่างมั่นคง' (明夷) จึงไม่น่าจะมาลงเอยที่คำแปลของ 家人 (jiā rén, เจีย เญิ๋น) ว่า 'สมาชิกในครอบครัว' หรือ Family Man แต่ประการใดทั้งสิ้น !!! ... งั้น ... มันควรจะหมายถึงอะไร ??!!

เราก็คงต้องย้อนกลับไปดู 'วลีต้นเรื่อง' ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้อีกครั้งล่ะครับ นั่นก็คือวรรคที่ห้าของบทที่สอง (坤) ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 黃裳元吉 (huáng cháng yuán jí, ฮวั๋ง ฌั๋ง เยฺวี๋ยน จี๋) หรือ 'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ' โดยมี 'คู่วลี' เป็นวรรคที่สองของบทเดียวกันว่า 直方大不習無不利 (zhí fāng dà bù xí wú bù lì, จื๋อ ฟัง ต้า ปู้ ซี๋ อู๋ ปู้ ลี่) หรือ 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดี (利) ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น' ... ซึ่งเป็นไปได้ว่า 'ความไม่ดันทุรัง' (不習) ที่ว่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของ 'การประพฤติปฏิบัติอย่างอ่อนโยน และต่อเนื่อง' เช่นเดียวกับ 'กระแสลม' หรือ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ที่ปรากฏอยู่ใน 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้

ลองมาดูบทที่มีความเกี่ยวเนื่องกับถ้อยคำดังกล่าวในบทที่สิบสาม (同人) ดูมั่ง ถ้อยคำที่ King Wen บันทึกไว้ในบทที่สิบสามก็คือ 同人于野亨利涉大川利君子貞 (tóng rén yǘ yě hēng lì shè dà chuān lì jün zǐ zhēn, ท๋ง เญิ๋น ยฺวี๋ เหฺยี่ย เฮิง ลี่ เษ้อ ต้า วน ลี่ จฺวิน จื่อ เจิน) ซึ่งมีความหมายว่า 'การครองคนในธรรม (同人) อย่างมั่นคง แม้ใน (于) สังคมที่สับสนวุ่นวายด้วยความป่าเถื่อนไร้การศึกษา (野) ย่อมเป็นความเจริญ (亨) ที่จะสามารถ (利) ก้าวข้าม (涉) ทุกอุปสรรค (大川) และจะสัมฤทธิ์ผล (利) ได้ด้วยหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี (君子貞)' ... โดยเราจะเห็นว่า 人 (rén, เญิ๋น) ถูกใช้ในความหมายของ 仁 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คุณธรรม' หรือ 'มนุษยธรรม' อย่างชัดเจน ...

บทถัดมาที่ยังคงเกี่ยวเนื่องกับถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่ห้าของบทที่สอง (坤) ก็คือบทที่ยี่สิบห้า (無妄) ครับ โดย King Wen เลือกบันทึกด้วยถ้อยคำที่ว่า 元亨利貞其匪正有眚不利有攸往 (yuán hēng lì zhēn qí fěi zhèng yǒu shěng bù lì yǒu yōu wǎng, เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง โหฺย่ว เษิ่ง ปู้ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง) ซึ่งหมายถึง 'ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) ความรู้ความเข้าใจ (亨) ความบากบั่นพยายาม (利) และหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน (貞) หากเตลิดเปิดเปิงออกไปคนละทิศคนละทางอย่างไม่สามารถหาจุดร่วมเดียวกัน (其匪正) ทุกย่างก้าวย่อมมีแต่ความสับสนไม่ชัดเจน (有眚) ... การดำเนินงานจึงต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่ควรเร่งเร้าแข็งขืน (不利) จนสุดโต่ง เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกสิ่งล้วนมีผลสนอง (有攸往) ตามสมควรแก่เหตุของมันเสมอ' ... นี่ก็สะท้อนถึง 'ความต่อเนื่อง' และ 'ความอ่อนโยนไม่แข็งขืน' อันเป็นคุณลักษณะของ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ที่ปรากฏอยู่ใน 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้อีกเช่นกัน

เมื่อประมวลความหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว ผมอยากจะให้ความหมายกับชื่อบทที่สามสิบเจ็ดนี้ว่า 'การหล่อหลอม (家) คุณธรรม (人)' โดยเลือกคำภาษาอังกฤษเป็น Cultivating Virtues เพราะคำว่า cultivate จะมีความหมายของ 'การปลูกฝัง', 'การบ่มเพาะ', 'การสั่งสอน', 'การหล่อเลี้ยง', 'การส่งเสริม', ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดจะแฝงคุณลักษณะของกิจกรรมที่ต้องอาศัย 'ความอดทนอดกลั้น', 'ความสม่ำเสมอ', 'ความคงเส้นคงวา', 'ความมีระเบียบแบบแผน' เพื่อ 'หล่อหลอม' สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ปรากฏ และมีความเติบใหญ่แก่กล้าอย่างเหมาะสม ซึ่งในที่นี้ก็คือ 人 (rén, เญิ๋น) หรือ 仁 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คุณธรรมความดี' อันเป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญของ 'คัมภีร์อี้จิง' ทั้งฉบับ ... นั่นเอง ... ;)




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利女貞
lì nǚ zhēn
ลี่ หนฺวี๋ เจิ


นอกจากจะมี 'ภาพสัญลักษณ์' ที่คล้ายกันกลับบทที่สามสิบหก (明夷) แล้ว ถ้อยคำที่ King Wen ใช้อธิบายความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' ก็ยังแทบจะล้อกันมาอีกต่างหาก โดยบทที่สามสิบหก (明夷) นั้น King Wen ใช้วลีว่า 利艱貞 (lì jiān zhēn, ลี่ เจียน เจิน) หรือ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) อย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (艱) เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งคุณธรรม (貞) ทั้งปวง' ... แต่ในบทนี้ King Wen เลือกใช้วลีอธิบายเป็น 利女貞 (lì nǚ zhēn, ลี่ หนฺวี๋ เจิน) ซะอย่างงั้น !!!??

ความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนของทั้งสองบทที่ต่อเนื่องกันนี้ก็คือ ในขณะที่บทที่สามสิบหก (明夷) จะเน้นหนักไปในประเด็นของ 'ความตื่นตัวด้วยสติปัญญา' ซึ่งต้องมีทั้ง 'ความตรึกตรอง', 'ความกดข่ม' และ 'ความสุขุมรอบคอบ' เป็นบรรทัดฐานในการ 'ครองสติอย่างมั่นคง' ตลอดเวลา ... เรียกว่าต้องมี 'ความเข้มงวดกวดขันกับตัวเอง' ทั้งในแง่ของ 'ความคิด' และ 'การครองตน' เพื่อผดุงไว้ซึ่ง 'หลักคุณธรรม' ... แต่บทที่สามสิบเจ็ด (家人) นี้เมื่อพิจารณาจาก 'ภาพสัญลักษณ์'  เราก็จะเห็น 'ความเคลื่อนไหว' ที่สะท้อนไว้ด้วยสัญลักษณ์ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) หรือ 'กระแสลม' มันจึงควรจะถูกเน้นไปในประเด็นของ 'การแสดงออกต่อผู้อื่น' หรือ 'การลงมือปฏิบัติ' เพื่อเผยแผ่ 'หลักคุณธรรม' ให้หยั่งรากฝังลึกลงไปในโครงสร้างทางสัมคมแต่ละระดับ ... นี่คือ 'มุมมอง' ที่สัมผัสได้จากความแตกต่างของ 'ภาพสัญลักษณ์' โดยเฉพาะ

การที่ King Wen เลือกใช้คำที่มีน้ำหนักต่างมิติกันระหว่าง 艱 (jiān, เจียน) ที่แฝงความหมายว่า 'ความยากลำบาก', 'ความเข้มงวด', หรือ 'ความเอาจริงเอาจัง' กับ 女 (nǚ, หนฺวี่) ที่แฝงลักษณะของ 'ความอ่อนโยน', 'ความนุ่มนวล', หรือ 'ความเอาใจใส่ดูแล' แบบ 'สตรีเพศ' อันเป็นตัวแทนของ 'พลังฝ่ายหยิน' นั้น ผมมองว่านี่คือประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจประเด็นหนึ่ง เพราะสิ่งที่ King Wen กำลังพยายามจะสื่อเอาไว้ก็คือ 'ปราชญ์ย่อมเข้มงวดกับจริตและความคิดของตน ... แต่มีความอ่อนโยนในท่าทีที่ปฏิบัติต่อผู้อื่น' เสมอ ...

ดังนั้น หากจะต้อง 'ตีความ' ด้วยตัวอักษรเท่าที่อยู่ในวลีสั้นๆ ที่เห็นนี้ ผมอยากจะบันทึกเป็นคำอธิบายไว้ว่า 'การหล่อหลอมคุณธรรม' (家人) คือ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยจิตใจที่อบอุ่น (☲) และท่าทีที่อ่อนโยน (☴) ประดุจดั่งมารดา (女 คือสตรี) ผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูบุตรธิดา เพื่อปลูกฝังหลักคุณธรรม (貞) ให้เติบใหญ่ไพศาล' ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

閑有家悔亡
xián yǒu jiā huǐ wáng
เซี๋ยน โหฺย่ว เจีย หุ่ย วั๋ง


閑 อ่านว่า xián (เซี๋ยน) แปลว่า 'ว่างๆ', 'อยู่เฉยๆ', 'ไม่มีอะไรทำ' บางครั้งก็เลยแปลว่า 'พักผ่อน' ; แต่ด้วยลักษณะดังกล่าว มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'สงบ', 'มั่นคง', 'มีเสถียรภาพ', 'มีระเบียบ' ; และบางครั้งยังมีความหมายว่า 'รั้ว', 'คอก', หรือ 'แนวป้องกัน' ได้ด้วย ซึ่งคล้ายกับเป็น 'กรอบ' เพื่อการกำกับพฤติกรรมของตนและสังคม ; ในสมัยก่อน คำนี้ยังถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 嫻 (xián, เซี๋ยน) ซึ่งแปลว่า 'สง่างาม', 'การขัดเกลา', หรือ 'ความเชี่ยวชาญ' ด้วย โดยจุดที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ มันเป็นการผสมอักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) กับ 閑 (xián, เซี๋ยน) เข้าด้วยกัน ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของชาวจีนโบราณที่มีต่อ 'สตรีเพศ' ในฐานะของ 'พลังแห่งหยิน' ด้วยว่า คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ 'ความเจริญงอกงาม' อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' ในสังคมมนุษย์ด้วย

ถ้าเราแปลถ้อยคำนี้ตามตัวอักษร เราก็จะน่าได้ใจความว่า 'ในรั้วรอบขอบชิดที่มีบ้าน ความคับค้องเศร้าหมองย่อมหมดไป' ซึ่งก็ต้อง 'ตีความ' กันต่อไปอีกหลายวรรคหลายเวรพอสมควรล่ะครับ เพราะเราคงต้องจินตนาการเพื่อเปรียบเทียบระหว่าง 'ผืนดินรกร้างที่ล้อมรั้วไว้' กับ 'บ้านพักอาศัยที่มีรั้วรอบขอบชิด' ว่ามันมี 'ความแตกต่าง' ในแง่ของ 'การดูแลรักษา' ระดับไหน และมีความน่าอภิรมย์มากน้อยต่างกันยังไงบ้าง ... ซึ่งในที่สุดแล้ว มันก็จะมาลงเอยด้วยความหมายที่เราเลือก 'ตีความ' ด้วย 'ความหมายรอง' ของอักษรต่างๆ ที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่า 'ความเป็นระบบระเบียบ (閑) ที่ได้รับ (有) การปลูกฝัง และหล่อหลอม (家) ไว้อย่างประณีต ย่อมปลดเปลื้องความอึดอัดคับข้องรำคาญใจ (悔) ให้หมดสิ้นไป (亡)' นี่แหละ !! ... :)

นี่อาจจะเป็นอีกถ้อยคำหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของ 'จิวกง' ในฐานะของ 'นักการปกครอง' ว่า โดยพื้นฐานแล้ว สังคมมนุษย์ไม่อาจบรรลุสู่สภาวะที่มีระบบระเบียบอย่างสัมบูรณ์ได้เองโดยธรรมชาติ แต่ความมีระบบระเบียบภายในสังคมมนุษย์นั้น จำเป็นต้องได้กับการปลูกฝัง และหล่อหลอมอย่างต่อเนื่องด้วยความวิริยะอุตสาหะ และความทุ่มเทดุจเดียวกับมารดาที่ฟูมฟักเลี้ยงดูบุตรธิดาของตนอย่างมีน้ำอดน้ำทน จึงจะสามารถกำราบ 'ความเห็นแก่ประโยชน์ตน' อันเป็นมูลเหตุสำคัญแห่ง 'ความคับข้องรำคาญใจ' ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ (悔亡) ... เป็นวลีที่สืบทอด และขยายความให้กับ 利女貞 (lì nǚ zhēn, ลี่ หนฺวี่ เจิน) ของ King Wen ในบทนี้ได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว

 

สอง หยิน :

無攸遂在中饋貞吉
wú yōu suì zài zhōng kuì zhēn jí
อู๋ โยว ซุ่ย ไจ้ ง คุ่ย เจิน จี๋


攸 (yōu, โยว) เจอกันมาตั้งแต่บทที่สองแล้วครับ คำนี้แปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกัน

遂 อ่านว่า suì (ซุ่ย) แปลว่า 'เห็นด้วย', 'พึงพอใจ', 'คล้อยตาม', 'เข้าใจ', 'เข้ากันได้', 'ราบรื่น', 'สำเร็จ', 'ก้าวหน้า' หรือ 'เติบโต' ; บางครั้งยังแปลว่า 'สงบ', หรือ 'ยุติลง' ได้ด้วย ; แต่ความหมายดั้งเดิมของมันนี่สิประหลาด เพราะมันถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 亡 (wáng, วั๋ง) ที่แปลว่า 'ตาย', หรือ 'สิ้นสุด' และทำให้ 遂 (suì, ซุ่ย) มีความหมายว่า 'หลบหนี' หรือ 'เดินทางจากไป' ได้ด้วย

饋 อ่านว่า kuì (คุ่ย) มีความหมายในลักษณะของ 'อาหารเลิศรส', มันจึงมีลักษณะของ 'การเซ่นสรวงบูชา', 'การสักการะ', 'การมอบของกำนัล', หรือ 'การนำเสนอ' เพื่อเป็นการแสดง 'ความเคารพยกย่อง' ; แต่บางครั้งก็ยังหมายถึง 'สิ่งที่ประทานให้' โดยเทพเจ้า หรือผู้ที่มีศีกดิ์ฐานะทางสังคมที่สูงส่งกว่า

สำหรับคำว่า 中 (zhōng, ง) นั้นจะแปลว่า 'ตรงกลาง', 'ระหว่างกลาง', 'ข้างใน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ตรงเป้า', หรือ 'เหมาะสม' ได้ด้วยเหมือนกัน ; และบ่อยครั้งที่คำนี้มักจะถูกใช้ในความหมายของ 'ทางสายกลาง'

หลายตำราพยายาม 'ตีความ' ให้วรรคนี้ของ 'จิวกง' หมายถึง 'สตรีเพศ' (⚋) ที่ไม่ออกไปจุ้นจ้านกับภาระกิจนอกบ้าน (無攸遂) แต่คอยปฏิบัติหน้าที่ประกอบอาหารอยู่ในโรงครัว (在中饋) เพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวซะอย่างนั้นเอง ??!! ... แต่ผมมองว่า นั่นคงจะเป็นจุดเริ่มต้นของ 'การตีความผิดๆ' ที่ทำให้ 'สตรีเพศ' ถูกเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมจนแทบจะกลายเป็น 'พลเมืองชั้นสอง' ในสังคมยุคต่อๆ มาของจีนอย่างน่าผิดหวังมาก !!??

ผม 'เชื่อว่า' วลีนี้ของ 'จิวกง' ไม่น่าจะหมายถึง 'สตรีเพศ' อย่างตรงไปตรงมาเหมือนกับที่หลายๆ คนเข้าใจกันไปเองหรอกครับ แต่ 'จิวกง' น่าจะกำลังเอ่ยถึง 'ความอ่อนโยนของสตรีเพศ' ในฐานะของ 'มารดาผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูบุตรธิดา' มากกว่า ... และสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อให้เป็น 'ข้อแนะนำ' ไว้ตรงวรรคนี้ก็คือ 'ไม่ควรโอนอ่อนอย่างสุดโต่งจนกลายเป็นการเอาแต่ใจ' ... โดยคำว่า 攸遂 (yōu suì, โยว ซุ่ย) ในวรรคนี้ น่าจะหมายถึง 'การไหลเลื่อนไปอย่างช้าๆ (攸) จนกู่ไม่กลับ (遂)' เนื่องจากความหมายเดิมของ 遂 (suì, ซุ่ย) ก็คือ 'ตาย' ซึ่ง 'อาจจะ' เป็นความหมายที่เขาใช้กันเป็นปรกติในยุคของ 'จิวกง' ก็เป็นไปได้ ?!

ดังนั้น ถ้อยคำอันกำกวมของ 'จิวกง' ในวรรคนี้จึงน่าจะหมายถึง 'ความไม่ยอม (無) โอนอ่อน (攸 คือเลื่อนไหลไปตามกระแสแห่งกิเลส) อย่างสุดโต่ง (遂) จนเลยเถิดเป็นการเอาแต่ใจนั้น คือการตั้งมั่นอยู่ใน (在) หลักแห่งทางสายกลาง (中) บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน (饋) การหล่อหลอมคุณธรรมความดีทั้งหลาย (貞) จึงจะสัมฤทธิ์ผล (吉) ได้ดังที่มุ่งหวัง' ...

อยากให้ตั้งข้อสังเกตกันตรงนี้นะครับว่า 饋 (kuì, คุ่ย) คือคำมีความหมายในลักษณะของ 'การมอบเครื่องสักการะ' ในขณะที่มันก็มีความหมายว่า 'สิ่งที่ประทานลงมาให้โดยผู้ที่สูงส่งกว่า' ได้ด้วย ... ตรงนี้ผมจึงมองว่า มันเป็นเรื่องของ 'การให้เกียรติซึ่งกันและกัน' หรือ 'ความเคารพที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้แก่กัน' ฉัน 'กัลยาณมิตร' ... เพราะการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากนั้น มันมีความจำเป็นที่ต่างฝ่ายต่างต้อง 'ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน' เสมอ ... การนำพาสังคมทั้งสังคมให้ดำเนินไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใด (攸) แม้ว่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องดีงามแล้วก็ตาม แต่การดำเนินงานด้วย 'ความแข็งขืนดึงดัน' ย่อมก่อให้เกิด 'ความขัดแย้ง' อันเป็นผลมาจากแรงปฏิกิริยาที่ต่อต้าน ซึ่งอาจจะบานปลายจนกลาย 'ความแตกหัก' (遂) ได้ในที่สุด ... อย่างไรก็ตาม ... 'การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' ก็ต้องไม่ใช่ 'การสยบยอม' หรือ 'การโอนอ่อน' อย่างไร้รากไร้หลักการ และยิ่งต้องไม่ใช่ 'การสมคบคิด' เพื่อผลประโยชน์ หรือความพึงพอใจ (無攸遂) ของบุคคลเพียงเฉพาะกลุ่มด้วย

ผมมองว่า การใช้คำว่า 饋 (kuì, คุ่ย) ของ 'จิวกง' ในลักษณะที่หมายถึง 'การปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ' นี้ มีความสวยงามทั้งในแง่ของการสัมผัสเสียงกับ 遂 (suì, ซุ่ย) ในช่วงต้นวรรค และความหมายอีกหลายอย่างที่แฝงไว้อย่างลงตัว เพราะ 'ความเคารพซึ่งกันและกัน' นี้ ย่อมหมายถึง ความเคารพใน 'ความเป็นปัจเจกบุคคล' ที่ล้วนมี 'ความแตกต่าง' ทั้งในแง่ของ 'ความคิด', 'จิตวิญญาณ', 'ความจำเป็น', 'ประสบการณ์-การรับรู้',  'การศึกษา', หรือแม้แต่ 'วัฒนธรรม' และ 'ความเชื่อ' ของเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้คนในสังคมหนึ่งๆ รู้จักที่จะ 'รับฟัง' และพร้อมที่จะ 'ทำความเข้าใจ' ระหว่างกันอย่างมีเหตุมีผลตามสมควรแก่กาละ-เทศะ เพื่อที่จะช่วยกันหล่อหลอม และจรรโลงสังคมนั้นๆ ให้ประสบกับความวัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน (貞吉) ต่อๆ ไป

'ความอ่อนโยน' เยี่ยง 'สตรีเพศ' (女) ผู้เป็น 'มารดา' ที่คอยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งหลายนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของ 'ความอ่อนแอ' หรือ 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' อย่างที่หลายคนมักจะหลงผิดกันไป ... เพราะ 'ความอ่อนโยน' ที่แท้จริง ย่อมเป็นผลที่สืบเนื่องมาจาก 'ความเคารพ' ในศักดิ์และสิทธิ์ของผู้อื่น และพร้อมที่จะ 'รับรู้-รับฟัง' อย่าง 'เข้าอกเข้าใจ' ใน 'ความแตกต่าง' ด้วยเจตนาที่มุ่งหวังจะนำพาทุกๆ ฝ่ายให้ประสบกับความสุขความเจริญโดยถ้วนทั่วกัน ... ฉะนั้น !!

 

สาม หยาง :

家人嗃嗃悔厲吉婦子嘻嘻終吝
jiā rén hè hè huǐ lì jí fù zǐ xī xī zhōng lìn
เจีย เญิ๋น เฮ่อ เฮ่อ หุ่ย ลี่ จี๋ ฟู่ จื่อ ซี ซี ง ลิ่น


嗃 อ่านว่า hè (เฮ่อ) ปรกติจะหมายถึง 'เสียงตวาด', 'เสียงตะคอก', หรือ 'เสียงที่เปล่งออกมาดังๆ' เพื่อเป็น 'การดุ', 'การตักเตือน', หรือ 'การห้ามปราม' ; บางครั้งยังสามารถหมายถึง 'เสียงเฮฮา' ที่เปล่งออกมาด้วยอารมณ์สนุกสนานก็ได้เช่นกัน

婦 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ภรรยา' หรือ 'ผู้หญิง (ที่สมรสแล้ว)', 'หญิงหม้าย', 'ลูกสะใภ้' ; แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้หญิง' ที่อยู่ในวัยที่สมควรจะแต่งงานแต่งการได้แล้ว ; ในอีกความหมายหนึ่งคือ 'ละเอียดอ่อน', 'มีมารยาทงาม' ซึ่งก็เลยมีความในทำนองว่า 'ได้รับการอบรมมาดี' หรือ 'มีคุณธรรม' ด้วย ; และครั้งหนึ่งเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 服 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'เสื้อผ้า', 'การแต่งกาย', 'อุปนิสัย', 'ความเคยชิน' ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การฝึกปรือ' ได้ด้วยเหมือนกัน ;)

嘻 อ่านว่า xī (ซี) โดยทั่วไปเราจะเห็นคำนี้ในความหมายว่า 'ยิ้ม' หรือ 'หัวร่อต่อกระซิก' ; แต่ความจริงมันมีความหมายว่า 'ยิงฟัน' ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเป็นไปได้ทั้ง 'การยิ้ม', 'การฝืนยิ้ม', หรือ 'เสียงที่รอดผ่านไรฟัน' ซึ่งเป็นการแสดง 'ความเจ็บปวด', 'ความไม่สบอารมณ์', หรือ 'ความรังเกียจ' ก็ได้ โดยในกรณีหลังๆ ที่ว่านี้ 嘻 (xī, ซี) ก็น่าจะหมายถึง 'แยกเขี้ยวยิงฟัน', หรือ 'ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน' มากกว่าจะแปลว่า 'ยิ้ม' อย่างปรกติธรรมดา

ปัญหาก็คือ 'จิวกง' เลือกใช้คำที่แปลได้ทั้ง 'เฮฮา' และ 'หฤโหด' จนยากจะมั่นใจได้ว่าแกกำลังจะเล่นมุขไหนกันแน่ ?! ... :P ... ส่วน 悔厲吉 (huǐ lì jí, หุ่ย ลี่ จี๋) กับ 終吝 (zhōng lìn, ง ลิ่น) ก็ยังไม่แน่อีกเหมือนกันว่าจะเป็น 'คู่ตรงข้ามกัน' รึเปล่า ??!!?? ... แต่ที่ผมตะหงิดๆ อยู่ในขณะที่อ่านวลีนี้ก็คือ 'จิวกง' น่าจะกำลังพยายามบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับ 攸遂 (yōu suì, โยว ซุ่ย) หรือ 'ความสุดโต่ง' และ 中饋 (zhōng kuì, ง คุ่ย) หรือ 'ความพอเหมาะพอดี' ที่เราเพิ่งจะฝ่าด่าน 'ค่ายกลอักษร' ของวรรคที่แล้วมานั่นแหละ ... แล้วถ้าเราเหลือบไปดูถ้อยคำในวรรคถัดไป ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้ เราก็จะเห็นคำว่า 大吉 (dà jí, ต้า จี๋) ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับ 悔厲吉 (huǐ lì jí, หุ่ย ลี่ จี๋) และ 終吝 (zhōng lìn, ง ลิ่น) อย่างชัดเจน !! ... ;)

เพราะฉะนั้น ผมอยากสรุปประเด็นของถ้อยคำในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'การหล่อหลอมคุณธรรม (家人) อย่างดุดัน (嗃) และกระโชกโฮกฮาก (嗃) อาศัยความอัดอั้น (悔) เพื่อเคี่ยวกรำ (厲) ให้เกิดความรุ่งเรือง (吉) ย่อมไม่ต่างไปจากมารดา (婦) ที่เลี้ยงดูบุตร-ธิดา (子) ด้วยอาการขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน (嘻嘻) ซึ่งในที่สุดแล้ว (終) ย่อมไม่บังเกิดผลดังที่มุ่งหวัง (吝 คือได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย)' ... นี่ก็คือการขยายความให้กับวลีที่ว่า 無攸遂 (wú yōu suì, อู๋ โยว ซุ่ย) หรือ 'ความไม่โอนอ่อนอย่างสุดโต่งจนกลายเป็นการเอาแต่ใจ' ในวรรคที่แล้ว โดย 'จิวกง' เลือกใช้ภาพของ 'ความสุดโต่ง' ไปอีกด้านหนึ่งคือ 'การบังคับขู่เข็ญ' หรือ 'การยัดเยียด' ให้ผู้อื่น 'ต้องยอมรับ' อย่างฝืนต่อความรู้สึก ซึ่งมักจะเป็นมูลเหตุแห่งปฏิกิริยาต่อต้าน และทำให้บังเกิดผลลัพธ์อย่างแกนๆ เพียงชั่วครู่ชั่วยามตราบเท่าที่ 'อำนาจการครอบงำ' ยังคงดำรงอยู่เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน 'จิวกง' ก็ยังคง theme หลักของบทอยู่ที่ประเด็นของ 'ความเป็นสตรีเพศ' (女) เพื่อจำกัดความให้ ☲ (離 : lí, ลี๋) ที่เป็นสัญลักษณ์แห่ง 'ไฟ' นั้นมีอุณหภูมิเพียงระดับของ 'ความอบอุ่น' แทนที่จะเป็น 'ความร้อนแรง' หรือ 'ความร้อนรน' จนสร้างความอึดอัดรำคาญ (悔) แก่ผู้คนรอบข้าง โดยใช้ภาพของ 'มารดา' (婦) อย่างตรงๆ ตัวในวรรคนี้ ... ส่วนความหมายของ 子 (zǐ, จื่อ) ซึ่งหลายตำราใช้คำแปลว่า 'ลูก' หรือ 'บุตร-ธิดา' นั้น ผมเลือกให้ความหมายเป็น 'คำกริยา' ว่า 'เลี้ยงดูบุตร-ธิดา' แทน เพื่อให้มีลักษณะเหมือนกับ 家人 (jiā rén, เจีย เญิ๋น) ซึ่งได้รับ 'การตีความ' ให้เป็น 'คำกริยา' เหมือนกัน ... ทั้งนี้ ... หากเราตัดส่วนขยายความในวรรคเดียวกันนี้ออก เราก็น่าจะเห็นความหมายของถ้อยคำได้ชัดเจนมากขึ้น 家人嗃嗃 ... 婦子嘻嘻 終吝 (jiā rén hè hè ... fù zǐ xī xī zhōng lìn, เจีย เญิ๋น เฮ่อ เฮ่อ ... ฟู่ จื่อ ซี ซี ง ลิ่น) เพราะ 悔厲吉 (huǐ lì jí, หุ่ย ลี่ จี๋) ย่อมเป็นการขยายความให้กับ 'อาการกระโชกโฮกฮากอย่างดุดัน' (嗃嗃) ที่สร้างความอัดอั้น (悔) เพื่อเคี่ยวกรำ (厲) ให้เกิดความรุ่งเรือง (吉) เท่านั้นเอง

 

สี่ หยิน :

富家大吉
fù jiā dà jí
ฟู่ เจีย ต้า จี๋


อักษร 富 (fù, ฟู่) เป็นคำที่พบเจอกันมาตั้งบทที่เก้า โดยมีความหมายว่า 'มั่งมี', 'มากมาย', 'เหลือเฟือ', 'พรั่งพร้อม', 'สมบูรณ์แบบ' หรือ 'ร่ำรวย' ; บางครั้งจึงใช้ในความหมายเดียวกับ 福 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'โชคลาภ', 'โชคดี' หรือ 'ความสุข', และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ; แต่ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้มั่งมี', 'ทำให้มั่งคั่ง', 'ทำให้พรั่งพร้อมสมบูรณ์', 'ทำให้โชคดี', หรือ 'ทำให้มีความสุข'

ภาพตรงข้ามที่ชัดเจนมากๆ จากถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่สาม และวรรคที่สี่นี้ก็คือ 婦子嘻嘻 (fù zǐ xī xī, ฟู่ จื่อ ซี ซี) หรือ 'แม่-ลูกที่ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันใส่กัน' กับ 富家 (fù jiā, ฟู่ เจีย) หรือ 'ครอบครัวที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอย่างมีความสุข' ซึ่งแบบแรกจะบังเกิดผลลัพธ์ที่แกนๆ อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (終吝) ในขณะที่แบบหลังจะก่อให้เกิดความรุ่งเรืองอย่างมหาศาล (大吉) ... นี่คืออัจฉริยภาพทางภาษาของ 'จิวกง' ที่เลือกใช้ประสบการณ์ใกล้ตัวของสังคมมนุษย์มาเป็นภาพเปรียบเทียบให้กับแนวคิดเรื่อง 'การหล่อหลอมคุณธรรม' (家人) โดยอาศัยความซ้ำซ้อนกันของความหมายที่แฝงอยู่ในแต่ละตัวอักษรอย่างลงตัว

ถ้าจะว่ากันตามตัวอักษรจริงๆ วลีนี้ของ 'จิวกง' ก็คงจะมีความหมายว่า 'ครอบครัวที่พรั่งพร้อมด้วยความสุข (富家) คือโชคลาภอันประเสริฐ (大吉)' ... แต่หากเราจะมองให้คำว่า 家 (jiā, เจีย) ยังคงความเป็น 'คำกริยา' ที่หมายถึง 'การปลูกฝัง' อยู่ต่อไป ความหมายของวลีนี้ก็จะเปลี่ยนไปเป็น 'การอบรมบ่มเลี้ยงด้วยการปลูกฝังอย่างพรั่งพร้อมสมบูรณ์ (富家) ย่อมนำไปสู่ความสุขความเจริญที่ยิ่งใหญ่มหาศาล (大吉)' ... ซึ่ง 'ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์' ในความหมายที่ว่านี้ก็คือ จะต้องประกอบด้วยจิตใจที่อบอุ่นเป็นมิตร (☲) และมีความอ่อนโยนในการประพฤติปฏิบัติต่อกัน (☴) โดยตั้งมั่นอยู่ในหลักแห่งทางสายกลาง บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน (在中饋) อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ...

นอกจากนั้นแล้ว จุดเล็กๆ ที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้อีกประเด็นหนึ่งก็คือ 'ความตรงกันข้าม' ในแง่ของความหมายในถ้อยคำ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดังที่ได้เล่าไว้นี้ ดูจะมีความสอดคล้องกับ 'ขีดสัญลักษณ์' ที่กำกับวรรคทั้งสองนั้นด้วย โดย 'จิวกง' ถึงกับเลือกบันทึกถ้อยคำที่สื่อถึง 'ความดุดันกระโชกโฮกฮาก' ไว้ภายใต้ 'สัญลักษณ์แห่งหยาง' (⚊) และเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อถึง 'ความโอบอ้อมอารี' ไว้ภายใต้ 'สัญลักษณ์แห่งหยิน' (⚋) อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีตวามตรงข้ามกัน และสอดรับกับพฤติกรรมที่ 'จิวกง' เอ่ยถึงอย่างตรงๆ ตัวด้วย ... เห็นอย่างนี้แล้วต้องอุทานเป็นคำขอคารวะเลยครับว่า ... นับถือ ... นับถือ ... จริงๆ !!! ... :D

 

ห้า หยาง :

王假有家勿恤吉
wáng jiǎ yǒu jiā wù xǜ jí
วั๋ง เจี่ย โหฺย่ว เจีย อู้ ซฺวี่ จี๋


假 อ่านว่า jiǎ (เจี่ย) โดยทั่วไปเรามักจะพบเห็นในความหมายว่า 'ของปลอม', หรือ 'ไม่จริง' แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึง 'การหลอกลวง' ไปซะทั้งหมด เพราะบางกรณีก็จะมีความหมายแค่ 'เปรียบเทียบ', 'เปรียบเปรย' หรือ 'ทดแทน' ซึ่งบ่อยครั้งที่ใช้กับ 'การชมเชย' หรือ 'การยกย่อง' ซะด้วยซ้ำ ; ในอีกแง่หนึ่งคำว่า 假 (jiǎ, เจี่ย) ก็จะหมายถึง 'ไม่เป็นทางการ' (informal) หรือ 'ไม่มากพิธีรีตอง' ก็ยังได้ ; บางครั้งก็สามารถหมายถึง 'หยิบยืม', หรือ 'พึ่งพาอาศัย' ในลักษณะที่มอบหมายให้ผู้อื่น หรือใช้เครื่องมืออื่นช่วยกระทำการแทน และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับสำนวน in/by virtue of something ที่หมายถึง 'โดยอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' หรือ 'ด้วยเหตุผลเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' ได้ด้วย

恤 อ่านว่า xǜ (ซฺวี่) แปลว่า 'เอาใจใส่', 'ใส่ใจ', 'รับเป็นภาระ', 'โอบอุ้มดูแล', 'เป็นห่วงเป็นใย' ; มันเลยแผลงเป็น 'กังวล', 'เคร่งเครียด'

ถ้าจะให้เห็นความหมายของวรรคนี้จริงๆ ก็คงต้องย้อนกลับไปดูวรรคที่สองซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของมันอีกครั้งล่ะครับ โดยถ้อยคำในวรรคดังกล่าวได้รับการบันทึกไว้ว่า 無攸遂在中饋貞吉 (wú yōu suì zài zhōng kuì zhēn jí, อู๋ โยว ซุ่ย ไจ้ ง คุ่ย เจิน จี๋) หรือ 'ความไม่ยอม (無) โอนอ่อน (攸 คือเลื่อนไหลไปตามกระแสแห่งกิเลส) อย่างสุดโต่ง (遂) จนเลยเถิดเป็นการเอาแต่ใจนั้น คือการตั้งมั่นอยู่ใน (在) หลักแห่งทางสายกลาง (中) บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน (饋) การหล่อหลอมคุณธรรมความดีทั้งหลาย (貞) จึงจะสัมฤทธิ์ผล (吉) ได้ดังที่มุ่งหวัง' ... ซึ่งก็น่าจะทำให้ถ้อยคำในวรรคนี้มีความหมายว่า 'ผู้นำ (王) หากว่า (假) ได้รับ (有) การปลูกฝัง และหล่อหลอม (家) ทั้งในด้านคุณธรรม และปัญญามาอย่างดี ย่อมปราศจาก (勿) ความเคร่งเครียดกังวล (恤) กับผลสัมฤทธิ์ (吉) ใดๆ' ... แต่จะดำเนินการด้วยความสุขุมรอบคอบ และครองตนอยู่ในหลักการขั้นตอนที่ไม่ผิดเพี้ยน จนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี (吉) โดยมิต้องดันทุรัง (不習) แต่ประการใดเลย ... แต่ถ้าเราพิจารณาถ้อยคำนี้ในมิติของสังคมทั้งสังคม ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง 'ที่ต้องให้ความสำคัญ (王) คือการมุ่งเน้น (假 คือให้ความยกย่อง) ไปในเรื่องของการปลูกฝัง และการหล่อหลอมทั้งในด้านคุณธรรม และปัญญา (有家) ไม่ใช่ (勿) มัวแต่เคร่งเครียดกังวล (恤) อยู่กับผลสัมฤทธิ์ (吉) ใดๆ อันฉาบฉวยเพียงเฉพาะหน้า' ... ซึ่งก็แน่นอนครับว่า 'ภาวะผู้นำ' (王) ที่มี 'วิสัยทัศน์' กว้างไกลนั้น ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเสมอ ... :D

สังเกต theme หลักของบทนี้มั้ยครับว่า มันถูกบันทึกด้วยถ้อยคำที่บ่งชี้ไปในประเด็นของ 'ความไม่แข็งขืนดึงดันเอาแต่ใจ' (無攸遂) อย่างหักโหม () หรือบ้าคลั่ง () จนกลายเป็นการบ่อนทำลายความสำเร็จ (厲吉) อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินงาน โดยมีข้อแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างกลางๆ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน (在中饋) เพื่อสร้างสรรค์คุณธรรมความดีทั้งปวงให้ปรากฏอย่างเป็นจริงเป็นจัง (黃裳元吉) ขึ้นมาในที่สุด ?! ... นี่คือการเชื่อมโยงถ้อยคำของ 'จิวกง' ซึ่งบันทึกไว้ในวรรคที่ห้าของบทที่สอง, กับวลีขยายความของ King Wen ในบทที่สิบสาม, และบทที่ยี่สิบห้า ที่ยากจะปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกันได้

 

หก หยาง :

有孚威如終吉
yǒu fú wēi rú zhōng jí
โหฺย่ว ฟู๋ เวย ญู๋ ง จี๋


孚 (fú, ฟู๋) เจอครั้งแรกตั้งแต่บทที่ห้าแล้วครับ คำนี้แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

สำหรับอักษร 威 (wēi, เวย) นี้ถูกใช้งานเพียงสองครั้งเท่านั้นใน 'คัมภีร์อี้จิง' คือในบทที่สิบสี่ แล้วก็บทที่สามสิบเจ็ดนี้ ... อักษร 威 (wēi, เวย) จะมีความหมายว่า 'กำลัง', 'อำนาจ', 'อิทธิพล', 'ยิ่งใหญ่', 'สูงส่ง' (dignity) ; ทำให้บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'สวยงาม' ได้ด้วย ; แต่ในแง่ของ 'อิทธิพล' หรือ 'อำนาจ' ก็อาจจะแผลงไปเป็น 'เกรงกลัว', 'น่ากลัว' หรือ 'น่าเคารพนับถือ' ได้ด้วยเหมือนกัน ...

ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ตรงจุดนี้ด้วยว่า ในทั้งสองวรรคของ 'คัมภีร์อี้จิง' ที่มีคำว่า 威 (wēi, เวย) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น ล้วนมีความหมายที่สื่อไปในทางเดียวกันอย่างชัดเจน โดยวรรคที่ห้าของบทที่สิบสี่ (大有 : Sustainability : ความยั่งยืน) ได้รับการบันทึกไว้ว่า 厥孚交如威如吉 (jüé fú jiāo rú wēi rú jí, เจฺวี๋ย ฟู๋ เจียว ญู๋ เวย ญู๋ จี๋) ซึ่งหมายถึง 'หากทุกฝ่าย (厥) สามารถที่จะมีความเชื่อมั่นศรัทธาระหว่างกัน (孚交如) และให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน (威如) ทุกสิ่งก็ย่อมจะราบรื่นและมีความสุขสวัสดี (吉)' อันเป็นความหมายที่สืบทอดมาจากวรรคที่สองของบทเดียวกัน (คือบทที่สิบสี่) ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า 大車以載有攸往無咎 (dà chē yǐ zài yǒu yōu wǎng wú jiù, ต้า เอ อี่ ไจ้ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง อู๋ จิ้ว) หรือ 'หลักคุณธรรม (大車) สำคัญที่ (以) ต้องยึดถือและนำไปสู่การปฏิบัติ (載) จึงจะได้ผลสนองที่ดี (有攸往) และไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ...

ทั้งนี้ บทที่สิบสี่ก็คือบทที่ต่อเนื่องไปจากบทที่สิบสาม อันเป็นบทที่มีความเกี่ยวข้องกับบทที่สามสิบเจ็ดนี้โดยตรงดังที่เล่าไว้แล้ว และการที่ 'จิวกง' เลือกหยิบถ้อยคำที่แทบจะซ้ำซ้อนความหมายกันมาบันทึกไว้ตรงวรรคสุดท้ายของบทนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ช่วยบ่งบอกว่า มันคือการส่งทอดความหมายต่อเนื่องไปยังบทที่สามสิบแปด ซึ่งเป็นอีกบทขยายความหนึ่งของบทที่สิบสี่นั่นเอง ??!!

ความหมายของวรรคนี้จึงพอจะสรุปได้ว่า 'หากมี (有) ความไว้วางใจ (孚) และความเคารพศรัทธา (威) ซึ่งกันและกัน (如 คือได้รับและสนองตอบในลักษณะเดียวกัน) ผลลัพธ์ในบั้นปลาย (終) ก็ย่อมประสบกับความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... โดย 'คู่วลี' ของมันก็คือข้อความจากวรรคที่หนึ่ง ซึ่งบันทึกไว้ว่า 閑有家悔亡 (xián yǒu jiā huǐ wáng, เซี๋ยน โหฺย่ว เจีย หุ่ย วั๋ง) หรือ 'ความเป็นระบบระเบียบ (閑) ที่ได้รับ (有) การปลูกฝัง และหล่อหลอม (家) ไว้อย่างประณีต ย่อมปลดเปลื้องความอึดอัดคับข้องรำคาญใจ (悔) ให้หมดสิ้นไป (亡)' ... เพราะเมื่อปราศจาก 'ความคับข้องรำคาญใจ' ทุกๆ ฝ่ายก็ย่อมปฏิบัติภาระกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มศักยภาพของตน โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจใดๆ อีก อันจะนำไปสู่ 'ความเอื้อเฟื้อจุนเจือกัน' (有孚) ด้วย 'ความเคารพ' (威) ในศักดิ์และสิทธิ์ของกันและกันอย่างทั่วถึง ...

หากเราพิจารณาในแง่ของ 'เป้าหมาย' และ 'การดำเนินงาน' ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เราจะสามารถเรียกว่า 'ความเจริญรุ่งเรือง' หรือ 'ความสำเร็จ' ได้นั้น อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันได้หลากหลายมิติ แต่ผมเองกลับมีความรู้สึกว่า หากสังคมใดได้บรรลุถึงจุดที่สมาชิกทั้งหลายในสังคมนั้นๆ ต่างก็ 'รู้จักหน้าที่', 'รู้จักแบ่งปัน', 'รู้จักเอื้อเฟื้อ', 'รู้จักเคารพ', และ 'รู้จักให้เกียรติ' ซึ่งกันและกัน 'ความสุข' และ 'ความเจริญ' ในมิติอื่นๆ ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลใจกัน (勿恤) อีกต่อไป เพราะบั้นปลาย (終) ของสังคมที่ได้รับการปลูกฝัง และหล่อหลอมคุณธรรม (有家) ไว้อย่างประณีตนั้น ย่อมต้องประสบกับความเจริญรุ่งเรือง (吉) ได้ในทุกๆ มิติอย่างแน่นอน ... :)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เจียเญิ๋' คือ การหล่อหลอมคุณธรรม, อ่อนโยนด้วยความกระจ่างแจ้ง

'การหล่อหลอมคุณธรรม' คือ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ด้วย 'จิตใจที่อบอุ่น' และ 'ท่าทีที่อ่อนโยน' ประดุจดั่ง 'มารดา' ผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูบุตร-ธิดา เพื่อปลูกฝัง 'หลักคุณธรรม' ให้ 'เติบใหญ่ไพศาล'

  •  
  • 'ความเป็นระบบระเบียบ' ที่ได้รับ 'การปลูกฝัง' และ 'หล่อหลอม' ไว้อย่าง 'ประณีต' ย่อมปลดเปลื้อง 'ความอึดอัดคับข้องรำคาญใจ' ให้หมดสิ้นไป
  •  
  • ความไม่ยอม 'โอนอ่อนอย่างสุดโต่ง' จนเลยเถิดเป็น 'การเอาแต่ใจ' นั้น คือ 'การตั้งมั่น' อยู่ใน 'หลักแห่งทางสายกลาง' บนพื้นฐานของ 'ความเคารพ' ซึ่งกันและกัน 'การหล่อหลอมคุณธรรมความดี' ทั้งหลาย จึงจะ 'สัมฤทธิ์ผล' ได้ดังที่มุ่งหวัง
  •  
  • 'การหล่อหลอมคุณธรรม' อย่าง 'ดุดัน' และ 'กระโชกโฮกฮาก' อาศัย 'ความอัดอั้น' เพื่อ 'เคี่ยวกรำ' ให้เกิด 'ความรุ่งเรือง' ย่อมไม่ต่างไปจาก 'มารดา' ที่เลี้ยงดูบุตร-ธิดา ด้วยอาการ 'ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน' ซึ่งในที่สุดแล้ว ย่อมบังเกิดผลที่ 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย'
  •  
  • 'การอบรมบ่มเลี้ยง' ด้วย 'การปลูกฝัง' อย่าง 'พรั่งพร้อมสมบูรณ์' ย่อมนำไปสู่ 'ความสุขความเจริญ' ที่ 'ยิ่งใหญ่มหาศาล'
  •  
  • ที่ต้องให้ความสำคัญคือ 'การมุ่งเน้น' ไปในเรื่องของ 'การปลูกฝัง' และ 'การหล่อหลอม' ทั้งในด้าน 'คุณธรรม' และ 'ปัญญา' ไม่ใช่มัวแต่ 'เคร่งเครียดกังวล' อยู่กับ 'ผลสัมฤทธิ์' ใดๆ อันฉาบฉวยเพียงเฉพาะหน้า
  •  
  • หากมี 'ความไว้วางใจ' และ 'ความเคารพศรัทธา' ซึ่งกันและกัน 'ผลลัพธ์' ในบั้นปลายก็ย่อมประสบกับ 'ความเจริญรุ่งเรือง'



 

The Organization Code :



'การหล่อหลอมคุณธรรม' คือ การค้นคว้า และพัฒนา 'ผลิตภัณฑ์' (☲ : ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรืองานบริการ) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทาง 'การเงิน' (☴)

การพัฒนา brand หรือ 'ตราสินค้า' หนึ่งๆ ให้เป็นที่รู้จัก และได้รับ 'การยอมรับ' ในตลาดอย่างมั่นคงนั้น คือภาระกิจที่ต้อง 'มุ่งมั่น-ทุ่มเท' ไม่ต่างไปจาก 'การโอบอุ้มดูแลบุตร-ธิดา' ให้มี 'ความเติบใหญ่แข็งแรง' และ 'ยืนยงอย่างมีคุณค่า' ใน 'ความรับรู้' ของสังคมโดยรวม ... ซึ่ง 'ระดับนโยบาย' จะต้องมี 'เป้าหมายที่ชัดเจน' ทั้งยังต้องมี 'ทัศนคติ' และ 'วิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง' (⚍) ; มีแนวทางใน 'การบริหารจัดการ' ที่ 'เข้มงวดรัดกุม' และมี 'ความยืดหยุ่น' ต่อ 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เปลี่ยนแปลง' อย่างเหมาะสม (⚍) ; ทั้งยังต้อง 'ปฏิบัติการ' อย่าง 'มุ่งมั่น-ทุ่มเท' โดย 'ไม่หวั่นไหว' ต่อ 'อุปสรรค' หรือ 'ความยากลำบาก' ใดๆ (⚌)

  •  
  • 'คุณภาพมาตรฐาน' ที่ได้รับ 'การศึกษาค้นคว้า' และกำหนดลงไปให้เป็น 'ระเบียบปฏิบัติ' โดยมี 'กระบวนการตรวจสอบ' ที่ 'ชัดเจน' นั้น ย่อมเป็น 'หลักประกัน' ที่จะช่วยลด 'ความผิดพลาดสูญเสีย' อันอาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่าง 'การดำเนินงาน' ของแต่ละขั้นตอน ทั้งยังเป็น 'ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน' สำหรับ 'การพัฒนาคุณภาพ' ให้มี 'ความโดดเด่น' ยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต
  •  
  • 'ความยืดหยุ่น' ต่อ 'การดำเนินงาน' จะต้องไม่เลยเถิดจนกลายเป็น 'ความปล่อยปละละเลย' ที่ไม่สามารถ 'ควบคุมทิศทาง' ใดๆ ในขณะที่ 'กรอบเกณฑ์' ซึ่งใช้เพื่อ 'กำกับทิศทาง' ของ 'การดำเนินงาน' นั้น ก็ต้องกำหนดให้อยู่บนพื้นฐานของ 'ความเคารพ' และ 'ความเข้าใจ' ต่อ 'ความจำเป็น' ในแต่ละ 'ปัจจัยแวดล้อม' อย่าง 'มีเหตุผล' เสมอ
  •  
  • 'ความเข้มงวด' อย่าง 'เอาเป็นเอาตาย' และ 'ความดันทุรัง' ใน 'คุณภาพมาตรฐาน' จน 'ละเลย' ต่อ 'ข้อจำกัดที่เป็นจริง' ของ 'การปฏิบัติงาน' นั้น แม้ว่าจะสามารถบรรลุถึง 'ระดับมาตรฐาน' ตามที่ 'มุ่งหวัง' แต่ 'การเผาผลาญทรัพยากร' อย่าง 'ไม่สมเหตุสมผล' คือ 'ความได้ไม่คุ้มเสีย' ที่กลับจะกลายเป็น 'การบ่อนทำลายความมั่นคง' ตลอดจน 'โอกาส' สำหรับ 'การพัฒนามาตรฐาน' ให้มี 'ความก้าวหน้า' ยิ่งๆ ขึ้นไปใน 'ระยะยาว'
  •  
  • 'การปลูกฝัง' และ 'การพัฒนา' ใดๆ ล้วนต้องดำเนินไปใน 'ทิศทาง' ที่ 'ส่งเสริมซึ่งกันและกัน' อย่าง 'รอบด้าน' โดยต้องพิจารณาถึง 'ข้อจำกัด' และ 'ผลกระทบ' ที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนแนวทางในการ 'ปรับปรุง-แก้ไข' เพื่อให้ทุกองค์ประกอบสามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' ได้ 'อย่างราบรื่น'
  •  
  • 'การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน' จะต้องเน้นความสำคัญไปที่ 'การปลูกฝัง' และ 'การหล่อหลอม' ทั้งในด้าน 'คุณธรรม-จริยธรรม' ตลอดจน 'ความรู้-ความชำนาญ' อันเป็น 'ปัจจัยขั้นพื้นฐาน' แห่ง 'ความสำเร็จ' ใน 'ระยะยาว' โดยไม่ควร 'พะวักพะวง' อยู่กับ 'ผลประโยชน์เฉพาะหน้า' ที่ 'ฉาบฉวย'
  •  
  • 'ความซื่อสัตย์' ต่อ 'คุณภาพมาตรฐาน' ที่กำหนดไว้ ย่อมก่อให้เกิด 'ความน่าเชื่อถือ' และ 'ความไว้วางใจ' ต่อ 'กระบวนการ' และ 'ผลิตภัณฑ์' นั้นๆ อย่างเหนียวแน่น ซึ่งถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของ 'ความเคารพศรัทธา' ที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้แก่กัน อันเป็น 'ปัจจัยสำคัญ' ที่จะนำ 'ความเจริญรุ่งเรือง' มาสู่ทุกๆ ฝ่ายได้ในที่สุด


โดยข้อเท็จจริงแล้ว ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในบทที่สามสิบเจ็ดนี้ อาจจะสามารถ 'ตีความ' ไปในแง่มุมอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'การพัฒนาตราสินค้า' หรือการสร้าง brand loyalty กับ 'ความแข็งแกร่งทางการเงิน' เลยก็ยังได้ ... แต่ก็เนื่องจากว่า 'กรอบความหมาย' เดิมที่ผมกำหนดไว้ให้กับ ☲ (離 : lí, ลี๋) คือ Product / Research & Development ในขณะที่ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ถูกกำหนดให้หมายถึง Financial ผมจึงเลือก 'ขยายความ' ไปตามกรอบที่ตัวผมเองกำหนดไว้ก่อนแล้ว ... เท่านั้นเอง !! ... :D

อนึ่ง การที่หลายตำราเลือก 'ตีความ' ให้กับ 家人 (jiā rén, เจีย เญิ๋น) ตามความหมายที่เราคุ้นเคยกันว่า 'สมาชิกในครอบครัว' หรือ 'ครอบครัว' นั้น ก็อาจจะไม่ได้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ 'จิวกง' ซะทีเดียวนัก ... เพียงแต่ว่า ... 'ความเป็นครอบครัว' ในทัศนคติของชนชาติต่างๆ ก็อาจจะแตกต่างกันไป หรือแม้แต่วัฒนธรรมในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็อาจจะไม่ 'อบอุ่น-อ่อนโยน' เหมือนกับในยุคสมัยของ 'จิวกง' ก็ได้ ... ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึง 'ครอบครัว' ซึ่งไม่ได้เป็นไปตาม 'อุดมคติ' ใดๆ อย่างที่คนทั่วไปอยากให้เป็นเลย เราก็ยังสามารถพบเห็นได้ในทุกยุคทุกสมัยอยู่ดี ... ประกอบกับว่า ... การอธิบายขยายความให้ได้แง่มุมต่างๆ อย่างครบถ้วนจริงๆ ของบทที่ว่าด้วย 家人 (jiā rén, เจีย เญิ๋น) โดยอาศัยตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวของ King Wen และ 'จิวกง' เท่าที่ถูกบันทึกไว้นี้ คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากพอสมควร หากเราจะยึดติดอยู่กับความหมายของถ้อยคำตามที่เราคุ้นเคยกัน ... ดังนั้น ... ผมจึงเลือกอธิบายทั้งหมดด้วย 'ความหมายรอง' หรือ 'ความหมายที่เป็นไปได้' อื่นๆ ของแต่ละตัวอักษรแทน เพื่อสรุปประเด็นทั้งหมดให้อยู่ในกรอบของจำนวนตัวอักษรที่ไม่ได้มากไปกว่าเดิมเลยแม้แต่ตัวเดียว ... นั่นก็คือเสน่ห์อันน่าหลงใหลของ 'การแคะความหมาย' ใน 'คัมภีร์อี้จิง' !!!??

ผมเองก็ยืนยันไม่ได้หรอกครับว่า ถ้อยคำที่ผ่าน 'การตีความ' เหล่านี้ของผมคือความหมายที่ถูกต้อง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ด้วยรึเปล่า ?! ... แต่ผมยืนยันได้เพียงแค่ว่า มันคือ 'ความหมายที่สวยงาม' ที่เราทุกคนอยากจะนิยามให้กับ 'ความเป็นครอบครัว' ของพวกเรา !!! ... ;)