Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十九卦 : 渙

 

渙 : 風水渙 ‧ 巽上坎下

渙 : 亨‧王假有廟‧利涉大川‧利貞‧

  • 初六 : 用拯馬壯‧吉‧
  • 九二 : 渙奔其機‧悔亡‧
  • 六三 ‧ 渙其躬‧無悔‧
  • 六四 : 渙其群‧元吉‧渙有丘‧匪夷所思‧
  • 九五 : 渙汗其大號‧渙王居‧無咎‧
  • 上九 : 渙其血‧去逖出‧無咎‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ มั่นคง-เด็ดเดี่ยว (⚎) ; ปัญญา สุขุม-หนักแน่น (⚏) ; พฤติกรรม เด็ดขาด-ชัดเจน (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ดำเนินนโยบายทางการเงิน (☴) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร (☵) ; ระดับนโยบาย ต้องมีหลักการอันเป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจน (⚎) ; ระดับบริหาร ต้องมีความเปิดกว้างอย่างหนักแน่น (⚏) ; ระดับปฏิบัติงาน ต้องมีความเด็ดขาดตรงไปตรงมา (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การจัดสรรปันประโยชน์, สายลมโชยเหนือแอ่งน้ำ



ความหมายของชื่อเรียก : Distributing : การจัดสรรปันประโยชน์


ความหมายดั้งเดิมของอักษร 渙 (huàn, ฮ่วน) คือ 'การแตกตัว' หรือ 'การละลาย' ของน้ำแข็ง, ซึ่งก็เพี้ยนไปเป็น 'การเลือนหายไป', และต่อมาก็ยังใช้ในความหมายว่า 'การแยกย้าย' หรือ 'การกระจายออก' ด้วย หลายๆ ตำราจึงมักให้ความหมายของ 渙 (huàn, ฮ่วน) ว่า 'แยกย้าย', 'กระจัดกระจาย' หรือแม้แต่ 'ไม่เป็นระเบียบ' โดยเฉพาะ 'การตีความ' ด้วย 'ภาพ สัญลักษณ์' ที่ด้านล่างเป็น 'แอ่งน้ำ' (☵ : 坎 : kǎn, ขั่น) ให้มีความหมายในลักษณะของ 'ปัญหา' หรือ 'ข้อจำกัด' ที่เป็น 'อุปสรรค' หรือ 'ความไม่ราบรื่น' ของการปฎิบัติภารกิจ ; ในขณะที่ด้านบนของ 'ภาพสัญลักษณ์' คือ 'ลม' (☴ : 巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 遜  (xǜn, ซฺวิ่น) ที่แปลว่า 'การสละอำนาจ' ... เมื่อมองรวมๆ อย่างหลวมๆ ก็จะได้ความหมายที่ไม่สู้จะดีนัก เนื่องจากมันดูคล้ายกับ 'อำนาจที่กระจัดกระจายออกอย่างไร้ระบบระเบียบ'

อย่างไรก็ตาม 'ภาพอักษร' ดั้งเดิมของ 渙 (huàn, ฮ่วน) นั้นจะประกอบด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'น้ำ' อยู่ทางด้านซ้าย ส่วนด้านบนของฝั่งขวาจะเป็น 'ภาพอักษร'  ของ 'มีด' ถัดลงมาตรงกลางเป็น 'ก้อนวัตถุุที่ถูกแบ่งออกเป็นสอง' ซึ่ง 'ตีความ' กันว่าเป็น 'น้ำแข็ง' เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับ 'น้ำ' ที่กำกับไว้ด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ตรงด้านซ้ายมือ ในขณะที่ด้านล่างของฝั่งขวาจะเป็นภาพของ 'มือ' ที่กำลังรองรับ 'น้ำแข็ง' ที่ถูกตัดแบ่งแล้วนั้น ... โดยรวมๆ ของ 'ภาพอักษร' 渙 (huàn, ฮ่วน) จึงหมายถึง 'การปันทรัพยากรน้ำออกเป็นส่วนๆ' เพื่อการบริโภค ... อันเป็นที่มาของการเลือกใช้คำว่า
Distributing และ 'การจัดสรรปันส่วน' มาเป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้ของผม ซึ่งเป็นการ 'ตีความ' ให้เป็นเรื่องของ 'การแบ่งปัน' ไม่ใช่เรื่องของ 'การสูญเสีย' อย่างที่หลายตำราว่าเอาไว้ ?!?!?!

ความจริงแล้ว หากเราพิจารณาจาก 'ความต่อเนื่อง' ของความหมายที่ไล่เรียงกันมาตั้งแต่บทที่ห้าสิบเจ็ด 渙 (huàn, ฮ่วน) ก็ไม่น่าจะมีความหมายในด้านลบอย่างที่หลายตำราเชื่ออยู่แล้ว ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูความหมายของวรรคที่สามในบทที่สอง อันเป็น 'ต้นธาร' ของเนื้อหาทั้งหมดที่เวียนกันเป็นวัฏจักร เราก็จะเห็นว่า
... การปฏิบัติงานเพื่องานคือคุณธรรมที่จักประสบผลโดยไม่จำเป็นต้องรบเร้าเรียกร้องเพื่ออ้างสิทธิใดๆ (含章可貞) … เปรียบดัง (或) ผู้คิดจะกระทำการใหญ่ (從王事) ย่อมต้องละวางทิฐิมานะแห่งอัตตา (無) จึงจะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ดังที่ตั้งใจ (成有) ในบั้นปลาย (終) ... ซึ่งความหมายดังกล่าวนี้ ก็ยังสะท้อนออกมาผ่านถ้อยคำในบทที่สิบเอ็ด, บทที่ยี่สิบสาม, บทที่สามสิบห้า, และบทที่สี่สิบเจ็ด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดคือ ... 'การอุทิศตนเพื่อเป้าหมายของส่วนรวม' ทั้งสิ้น ... จะจริงเท็จแค่ไหนเราก็ลองไปดูความหมายของวลีขยายความที่ King Wen บันทึกไว้ซะหน่อยแล้วกัน ...




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨王假有廟利涉大川利貞
hēng wáng jià yǒu miào lì shè dà chuān lì zhēn
เฮิง วั๋ง เขี่ย โหฺย่ว เมี่ยว ลี่ เษ้อ ค้า วน ลี่ เจิ



亨 (hēng, เฮิง) คำนี้เจอกันมาแทบทุกบทเลยนะครับ คำนี้แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

王 อ่านว่า wáng (วั๋ง) แปลว่า 'เจ้าแคว้น', 'ผู้นำ', 'กษัตริย์' ; จึงแปลว่า 'ใหญ่', 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', หรือว่า 'โดดเด่น'

假 อ่านว่า jiǎ (เจี่ย) โดยทั่วไปเรามักจะพบเห็นในความหมายว่า 'ของปลอม', หรือ 'ไม่จริง' แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึง 'การหลอกลวง' ไปซะทั้งหมด เพราะบางกรณีก็จะมีความหมายแค่ 'เปรียบเทียบ', 'เปรียบเปรย' หรือ 'ทดแทน' ซึ่งบ่อยครั้งที่ใช้กับ 'การชมเชย' หรือ 'การยกย่อง' ซะด้วยซ้ำ ; ในอีกแง่หนึ่งคำว่า 假 (jiǎ, เจี่ย) ก็จะหมายถึง 'ไม่เป็นทางการ' (informal) หรือ 'ไม่มากพิธีรีตอง' ก็ยังได้ ; บางครั้งก็สามารถหมายถึง 'หยิบยืม', หรือ 'พึ่งพาอาศัย' ในลักษณะที่มอบหมายให้ผู้อื่น หรือใช้เครื่องมืออื่นช่วยกระทำการแทน และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับสำนวน in/by virtue of something ที่หมายถึง 'โดยอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' หรือ 'ด้วยเหตุผลเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' ได้ด้วย

廟 อ่านว่า miào (เมี่ยว) แปลว่า 'ห้องโถง (ด้านหน้า)', 'ท้องพระโรง', ซึ่งบางทีก็จะหมายถึง 'หอบูชา', หรือ 'วิหาร' สำหรับบูชาเทพเจ้าหรือบรรพบุรุษ ; ดังนั้น เมื่อใช้คำว่า 廟 (miào, เมี่ยว) เป็นคำกริยาจึงสามารถหมายถึง 'การบูชา', 'การสวดมนต์' หรือ 'การประกอบพิธีบวงสรวง' ได้ด้วย

ขอหยุดไว้ตรงนี้ก่อนนะ เพราะวลีที่ว่า 王假有廟 (wáng jià yǒu miào, วั๋ง เจี่ย โหฺย่ว เมี่ยว) นี้ เป็นถ้อยคำเดียวกับที่ King Wen ใช้ในบทที่สี่สิบห้าเปั๊ยบเลยครับ ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า ...
'ผู้นำที่ดี (王) จะต้องประพฤติปฏิบัติตน (假) ให้เป็น (有) ศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา (廟) แก่มหาชน' ... ส่วนวลีที่เหลือก็เป็นการใช้ซ้ำกับที่เคยเจอมาแล้วในอีกหลายๆ บท ซึ่งมีความหมายในลักษณะที่เป็น 'ความมุ่งมั่นตั้งใจในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ' ... ดังนั้น โดยอาศัยคำขยายความเท่าที่เห็นนี้ 渙 (huàn, ฮ่วน) จึงไม่ควรจะมีความหมายในแง่ลบอย่างชัดเจน ... เราลองมาดูซิว่า ความต่อเนื่องกับบทอื่นๆ ในวัฏจักรก่อนหน้านี้จะเป็นยังไงบ้าง ...

บทที่สิบเอ็ด King Wen ให้คำขยายความของ 泰 (tài, ไท่) หรือ
'การบรรลุเป้าหมาย' ไว้ว่า 'การดำเนินงานไปทีละก้าวเล็กๆ อย่างรู้จักประมาณกำลังตนเอง (小往) ย่อมจะสามารถสั่งสมจนกลายเป็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ (大來) ได้ในที่สุด นี่คือพัฒนาการแห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉亨)' ... ความหมายก็คือ ผู้นำที่ดี แม้ว่าจะมีปณิธานที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ต้อง 'รู้จักประมาณกำลังตน' ไม่ใช่หักหาญโดยอำนาจ เพื่อจะกระทำการต่างๆ อย่างดันทุรัง ...

บทที่ยี่สิบสาม อันเป็นบทที่ว่าด้วย
'การกระจายความรับผิดชอบ' (剝 : bō, ปอ) King wen ก็ให้คำบรรยายไว้ว่า 'ความไม่รีบร้อนผลีผลาม (不利) โดยไม่ทำอะไรอย่างสุ่มเสี่ยง จะต้องได้รับผลตอบสนองที่ดีในบั้นปลาย (有攸往) เสมอ' ... ซึ่งก็คือ จะต้องมีการมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่ 'ทีมงาน' ไปร่วมกันดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อลด 'ความเสี่ยง' ของ 'การพึ่งพา' อันเกิดจาก 'การรวมศูนย์' ทุกการปฏิบัติงานให้กระจุกตัวอยู่เพียงบุคคลใดบุคคลเดียวตลอดเวลา

พอมาถึงบทที่สามสิบห้า King Wen ก็ให้ความหมายของ 晉 (jìn, จิ้น) หรือ
'การเผยแผ่บารมี' ไว้ว่า 'ความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน (康侯) นั้น ย่อมต้องอาศัย (用) การอุทิศตน (錫) อย่างมุ่งมั่น และอดทน (馬 ราวกับม้า) เพื่อประโยชน์สุข (蕃) แห่งสาธารณชน (庶) เหมือนดังเช่นความสุกสว่าง (晝) แห่งดวงตะวัน (日) ที่ทั้งสามภพ (三 คือฟ้า, ดิน, และมนุษย์) ล้วนได้รับ (接) คุณประโยชน์ฉันนั้น' ... นั่นก็คือ 'ผู้นำที่ดี' จะต้องคำนึงถึง 'หน้าที่' ใน 'การอำนวยประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม' เป็นที่ตั้ง ไม่ ใช่หวงแหนทุกอย่างไว้กับตนโดยอาศัย 'การอ้างสิทธิอันชอบธรรม' ใดๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ 'วัตถุประสงค์ที่แท้จริง' ของการดำเนินงาน

พอมาถึงวัฏจักรที่สี่คือบทที่สี่สิบเจ็ด King Wen ก็ย้ำประเด็นเดิมนี้อีกครั้งในบทที่ว่าด้วย 困 (kùn, คุ่น) หรือ
'เพียรลำบากตรากตรำ' ว่า 'การพัฒนา (亨) โดยธรรม (貞) นั้น ปราชญ์ (大人 หรือผู้นำ) ย่อมมุ่งปฏิบัติเพื่อผลสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉) โดยไม่เสียเวลาไปกับการค่อนขอดตัดพ้อ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือโชคชะตา (無咎) และแม้จะมีถ้อยคำที่ร่ำลือไปต่างๆ นาๆ (有言) ก็จะต้องไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้มไปอย่างไร้สติ (不信)' ...

ซึ่งในวัฏจักรสุดท้ายแห่ง 'คัมภรี้อี้จิง' คือบทที่ห้าสิบเก้านี้ ก็ควรที่จะมีความหมายว่า
'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) คือการตระหนัก (亨) ในบทบาทและหน้าที่ของผู้นำที่ดี (王) ซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติตน (假) ให้เป็น (有) ศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา (廟) แก่มหาชน อันจะหลอมรวมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียว (利) ในการก้าวข้าม (涉) ทุกอุปสรรคขวากหนาม (大川) ไปสู่ความสัมฤทธิผล (利) ได้โดยธรรม (貞)' ... เพราะ 'ผู้นำ' ที่ 'มุ่งหวังเพียงประโยชน์ตน' ย่อมมิอาจสร้าง 'ศรัทธา' ให้มหาชน 'ยอมอุทิศตนเพื่อผู้อื่น' อย่างแน่นอน ...




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

用拯馬壯吉
yòng zhěng mǎ zhuàng jí
โยฺว่ง เจ๊ิ่ง หฺม่า จ้วง จี๋



เล่าย้อนคำแปลบางคำไว้ซักหน่อยก่อนนะ เพราะจริงๆ แล้ว 'จิวกง' ใช้วลีนี้ซ้ำกับท่อนที่ลงท้ายของวรรคที่สองในบทที่สามสิบหกเปี๊ยบเลยครับ ...

用 อ่านว่า yòng (โย่วฺง) แปลว่า 'ใช้งาน' (use), 'ใช้ประโยชน์' (apply), 'ใช้จ่าย', 'ดำเนินการ' (execute, operate) ; 'ผลลัพธ์', 'ผลพวง', 'จำเป็น', และอาจจะหมายถึง 'ความสามารถ' หรือ 'ผลสัมฤทธิ์' ก็ยังได้

拯 อ่านว่า zhěng (เจิ่ง) แปลว่า 'สนับสนุน', 'ช่วยเหลือ', 'เยียวยา', 'กอบกู้', 'ชูขึ้น', 'ยกให้สูงขึ้น'

ส่วน 馬 (mǎ, หฺม่า) หรือ 'ม้า' นั้นเคยเล่าไปหลายครั้งแล้วว่า เป็นหนึ่งใน 'สัตว์สัญลักษณ์' ที่ใช้เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ด้วย โดย 'ม้า' นั้นจะสามารถแทนความหมายของ 'ความขยันขันแข็ง', 'ความมีน้ำอดน้ำทน', 'ความคงเส้นคงวา', และ 'ความงามสง่า' ในท่วงท่ากิริยาที่แสดงออก

สำหรับ 壯 (zhuàng, จ้วง) ซึ่งเจอมาในบทที่สามสิบสี่ก็หมายถึง 'เข้มแข็ง', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'กล้าหาญ', 'ยิ่งใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้แน่นหนา' หรือ 'ทำให้ใหญ่โต' นั่นเอง

คำว่า 用拯馬壯 (yòng zhěng mǎ zhuàng, โยฺว่ง เจิ่ง หฺม่า จ้วง) นี้เป็นการให้ความหมายในในเชิงสัญลักษณ์ว่า
 การส่งเสริมเชิดชู (用拯) คุณธรรมทั้งปวง (馬) ให้ไพศาล (壯) ... ซึ่ง 'คุณธรรม' ที่ว่านี้ก็คือ 'พลังแห่งหยิน' ที่มี 馬 (mǎ, หฺม่า) เป็นสัญลักษณ์ของ 'ความขยันขันแข็ง', 'ความมีน้ำอดน้ำทน', 'ความคงเส้นคงวา', 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' และ 'ความสง่างาม' ในทุกๆ ความคิดและการประพฤติปฏิบัติตน ... 'ผู้นำ' ที่ตระหนักในบทบาทของตนในฐานะของ 'ผู้ให้การสนับสนุน' และ 'ส่งเสริม'  ความมี 'คุณธรรม' ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโดยรวมนั้น ย่อมต้อง 'มอบหมายอำนาจ', 'หน้าที่', และ 'ความรับผิดชอบ' ให้แก่บุคคลที่มี 'ความเหมาะสม' และยังต้อง 'จัดสรรปันส่วน' ทั้งในด้านของ 'เกียรติยศ-ชื่อเสียง' ตลอดจน 'ผลตอบแทน' อย่างเป็น 'รูปธรรม' ที่ชัดแจ้ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการปลูกฝัง 'จิตสำนึกที่ดี' แก่มหาชนในวงกว้างต่อไป

ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อในวรรคนี้เพื่อจะขยายความให้แก่ 'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙 : huàn, ฮ่วน) ก็คือ
'ความเป็นรูปธรรม (用) ของการส่งเสริมเชิดชูคุณธรรมทั้งปวง (拯馬) ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนโดยทั่วไป (壯) นั้น จักเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) สืบต่อไป'



 

สอง หยาง :

渙奔其機悔亡
huàn bēn qí jī huǐ wáng
ฮ่วน เปิน ชี๋ ขี หุ่ย วั๋ง




มีอักษรใหม่เพิ่มมาอีก 2 ตัวในวรรคนี้นะครับ

奔 อ่านว่า bēn (เปิน) แปลว่า 'รวดเร็ว' แต่ก็อยู่ในอาการของ 'ความเร่งรีบ', 'เร่งร้อน' ซึ่งทำให้บางความหมายจะกลายเป็น 'หลบหนี' จากภยันตรายใกล้ตัวไปเลยก็ยังได้ เพราะความหมายดั้งเดิมของ 奔 (bēn, เปิน) ก็คือ 'เดินเร็วๆ', หรือ 'วิ่งพุ่งออกไปอย่างรวดเร็ว' นั่นเอง

機 อ่านว่า jī (จี) สามารถที่จะแปลว่า 'โต๊ะทำงาน', 'เครื่องมือ', 'เครื่องกล', 'เครื่องยนต์', หรือ 'เครื่องทุ่นแรง' ซึ่งบางครั้งก็เลยใช้ในความหมายว่า 'โอกาส', 'แผนงาน', หรือ 'ความคิด' ในลักษณะของ 'ความเป็นอุปกรณ์เสริม' ให้กับการปฏิบัติงานได้ด้วย

ส่วนคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) เป็นคำแรกๆ ที่ได้เล่าไปแล้วว่า หมายถึง 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า repent ซึ่งหมายถึง 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ไม่ใช่ 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

ถ้าดูจากลำดับวลีของ 'จิวกง' ในบทนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ท่านต้องการจะขยายความคำว่า 渙 (huàn, ฮ่วน) ออกเป็น 5 ลักษณะ เพื่อให้ 'คุณธรรม' ทั้งปวงได้รับ 'การเสริมส่งเชิดชู' อย่าง 'เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน' (用拯馬壯) นั่นเอง โดยลักษณะของ 渙 (huàn, ฮ่วน) ลำดับแรกก็คือ ...
'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) ให้แก่ผู้ที่พึงจะได้รับ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างฉับพลันทันที (奔) ในแต่ละ (其) วาระโอกาส (機) เพื่อเป็นการขจัดความรู้สึกผิดหวังเสียใจให้สิ้นสูญ (悔亡)' ...

ค่อนข้างชัดเจนนะครับ เพราะการปล่อยปละละเลยให้ 'ผู้ประกอบกรรมดี' ต้องรอ 'ผลของกรรมดี' ไปอีก 3-4 ภพชาตินั้น ย่อมไม่เป็นคุณต่อ 'การส่งเสริมเชิดชูคุณธรรม' อยู่แล้ว


 

สาม หยิน :

渙其躬無悔
huàn qí gōng wú huǐ
ฮ่วน ชี๋ กง อู๋ หุ่ย



躬 อ่านว่า gōng (กง) แปลว่า 'ร่างกาย', 'ชีวิต', 'ก้มตัว', 'โค้งตัว', 'ค้อมตัว' ; บางทีเลยแปลว่า 'ตลกขบขัน' ในลักษณะที่ 'หัวร่อจนตัวงอ' ได้ด้วย ; แต่ในความหมายว่า 'ค้อมตัว' นั้น ก็จะแฝงความหมายว่า 'แสดงความเคารพ' หรือ 'การให้เกียรติ', 'การให้ความเคารพยำเกรง' หรือ 'ความน้อมรับ' อยู่ด้วย ; ซึ่งในความหมายของ 'ร่างกาย' นั้น 躬 (gōng, กง) ก็ยังสามารถแผลงไปเป็น 'ตัวเอง', หรือ 'ส่วนบุคคล' ได้อีกต่างหาก แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า qióng (โชฺว๋ง หรือ เชฺวิ๋ง) ก็จะแปลว่า 'ยากลำบาก', 'ทุกข์ยาก', หรือ 'ลำเค็ญ' … ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'ตัวงอ' ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน ;) … แต่ในลักษณะของ 'ความยากลำบาก' ที่ว่านี้คือ 'ความยากลำบากทางกาย' ซึ่งจะหมายถึง 'การตรากตรำทำงาน' ซึ่งไม่ใช่เป็นความยากลำบากทางใจแต่อย่างใด

หลายๆ ตำราให้ความหมายของวรรคนี้อย่างค่อนข้างจะใกล้เคียงกันว่า
'ความไม่ยึดติด (渙 คือการยอมสละ) ในอัตตาของแต่ละบุคคล (其躬) ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดหวังเสียใจ (無悔)' ... ซึ่งเป็นการ 'ตีความ' โดยยึดความหมายของ 渙 (huàn, ฮ่วน) ว่า 'การเลือนหายไป' มาเป็นแกน ... แต่ถ้าจะมองในแง่ของ 'การจัดสรรปันประโยชน์' อย่างที่กำลังเล่าอยู่นี้ เราก็จะพบว่า 'การอำนวยประโยชน์' ให้แก่ 'ทุกๆ ความทุ่มเท' อย่างเหมาะสมนั้น ย่อมสะท้อนถึง 'ความไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน' ของตัว 'ผู้นำ' เองอย่างชัดเจน ในขณะที่ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ก็มุ่งเพียง 'ผลสัมฤทธิ์ของงาน' มากกว่าการใจจดใจจ่ออยู่ 'ประโยชน์ตน' (渙其躬) ... 'เงื่อนไข' หรือ 'ปัจจัย' ที่จะก่อให้เกิด 'ความผิดหวังเสียใจ' ของทั้งฝ่าย 'ผู้ให้' และ 'ผู้รับ' ก็ย่อมจะไม่มีไปด้วย (無悔)... ผมก็เลยอากจะให้ความหมายกับวรรคนี้ไว้ว่า ... 'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) ด้วยความเคารพอย่างสมเกียรติให้แก่ทุกๆ ความวิริยะอุตสาหะที่ทุ่มเท (其躬) คือการระงับเหตุปัจจัยของความผิดหวังเสียใจ (無悔)' ...

การที่ผมผนวกเอาความหมายอื่นๆ ของ 躬 (gōng, กง) เข้าไปด้วยนั้น ก็เพื่อจะจำแนกให้เห็นความแตกต่างของ 'การตอบแทนด้วยประโยชน์' กับ 'การจัดสรรปันประโยชน์' ว่า มันมี 'ระดับของความรับผิดชอบ' ที่ไม่เหมือนกัน เพราะ 'การอำนวยประโยชน์' ในรูปแบบของ 'ค่าจ้าง' นั้น อาจจะไม่มีความรู้สึกของ 'ความผูกพัน' ที่เป็น 'การให้เกียรติซึ่งกันและกัน' ระหว่าง 'ผู้ให้' และ 'ผู้รับ' แต่อย่างใด ... ในขณะที่ 'การจัดสรรปันประโยชน์' ที่แท้จริงนั้น คือ 'การแสดงออก' ของ 'ความสำนึกถึงคุณค่า' และ 'การให้เกียรติ' ที่ 'ผู้ให้' มีต่อ 'ผู้รับ' ในฐานะที่ได้ 'อุทิศตน' เพื่อ 'การสร้างสรรค์ความสำเร็จ' ของแต่ละภารกิจที่ได้มอบหมายให้ไปดำเนินการ มันจึงมี 'ความลึกซึ้ง' ของ 'ความรู้สึกผูกพัน' ที่ต่างระดับกับแค่ 'ค่าจ้าง' อย่างมโหฬารเลยทีเดียว



 

สี่ หยิน :

渙其群元吉渙有丘匪夷所思
huàn qí qǘn yuán jí huàn yǒu qiū fěi yí suǒ sī
ฮ่วน ชี๋ ชฺวิ๋น เยฺวี๋ยน จี๋ ฮ่วน โหฺย่ว ชิว เฝ่ย อี้ สั่ว ซือ



群 อ่านว่า qǘn (ชฺวิ๋น) หมายถึง 'ฝูง' หรือ 'กลุ่ม', กลุ่มคน', 'ฝูงขน', บางครั้งจึงหมายถึง 'ประชาชนโดยทั่วไป', หรือ 'เสียงส่วนใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การรวมกลุ่ม', 'การระดมกำลัง', หรือ 'การปฏิบัติไปตามจารีต' หรือ 'ดำเนินการโดยระบบระเบียบ'

元 (yuán, เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative)

丘 อ่านว่า qiū (ชิว) แปลว่า 'โคก', 'เนิน', 'เนินเขา', 'เนินดิน' ; หรืออาจจะหมายถึง 'หลุมฝังศพ' ก็ได้ ; ซึ่งในลักษณะของการสร้าง 'คันดิน' หรือ 'คันนา' ที่ว่านี้ มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'ทุ่ง' หรือ 'ที่นา' ซึ่งมีการทดน้ำเข้าไปเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่ ; และจากลักษณะที่เป็น 'โคก' หรือ 'เนินสูง' นี้ มันจึงสามารถแปลว่า 'สูง', 'ใหญ่' หรือ 'อาณาบริเวณ' ที่มีกำแพง หรือเนินเขาล้อมรอบ ซึ่งก็ทำให้มันแผลงความหมายเป็น 'กว้างขวาง' หรือ 'ใหญ่โต' ได้ด้วย ; แต่บางครั้งคำนี้ก็ถูกใช้ในความหมายว่า 'รกร้าง', 'ว่างเปล่า', ในลักษณะที่เหมือนกับ 'ชนบท' หรือ 'เป็นป่า-เป็นเขา' ไป

匪 อ่านว่า fěi (เฝ่ย) แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' ; ในความหมายหนึ่งแปลว่า 'คนไม่ดี', 'โจร', 'นักเลงหัวไม้', หรืออาจจะหมายถึง 'อันธพาล' (gangster) … ในภาพอักษรเป็นคำว่า 非 (fēi, เฟย) ซึ่งแปลว่า 'ผิด', 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' ที่อยู่ใน 匚 (fāng, ฟัง หรือ ฟาง) ซึ่งแปลว่า 'กล่อง' หรือ 'ภาชนะใส่ของ' และทำให้ 匪 มีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'แหล่งรวมของความไม่ดี หรือความไม่ถูกต้องทั้งหลาย' หรือ 'ภาชนะบรรจุสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว)'

อักษร 夷 (yí, อี๋) เคยเล่าไว้อย่าละเอียดมากๆ ไปแล้วในชื่อบทของบทที่สามสิบหก (明夷, มิ๋ง อี้) นะครับ มันเป็นภาพอักษรที่เกิดจากการผสมกันระหว่าง 大 (dà, ต้า) ที่แปลว่า 'ใหญ่' หรือ 'คนใหญ่คนโต' กับ 弓 (gōng, กง) ที่แปลว่า 'คันธนู', 'คันลูกดอก', หรือสิ่งใดๆ ที่มีลักษณะ 'โค้งงอ' คล้าย 'คันศร' ในขณะที่ 弓 (gōng, กง) เมื่อถูกใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ก้มลง', 'โค้งตัว', หรือ 'ค้อมตัวลง' ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 'การแสดงความเคารพ' หรือ 'มีอาการจุกเสียดจนบิดงอ' ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ... 😋 ... เมื่อผสม 'ภาพอักษร' ของ 大 (dà, ต้า) กับ 弓 (gōng, กง) เข้าด้วยกันจนกลายเป็นอักษร 夷 (yí, อี๋) ความหมายจึงออกมาเป็น 'มนุษย์ผู้ถือคันศรเพื่อล่าสัตว์' ซึ่งเป็นคำเรียกขานชนเผ่าหนึ่งที่ดำรงชีวิตด้วยการเดินป่าล่าสัตว์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจีนโบราณด้วยนั่นเอง และเมื่อมันถูกใช้เรียก 'ชนเผ่าอื่น' มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'ต่างชาติ', 'ต่างเผ่า', หรือใช้เพื่อจำแนก 'ความเป็นกลุ่มก้อน' ของ 'ชนเผ่าอื่นๆ', 'กลุ่มสังคมอื่นๆ', 'ชนชั้นอื่นๆ' เป็นแต่ละพวกๆ ไปเลยก็ได้

แต่ความหมายที่ 'ภาพอักษร' ของ 夷 (yí, อี๋) สะท้อนออกมามากกว่านั้นก็คือ 'คนที่มีร่างกายบิดงอ' มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'การทำร้าย' หรือ 'การถูกทำร้าย', 'ทำให้ทรุดต่ำลง' หรือถึงขั้นที่เป็น 'การทำให้พังทลายลงไป' ... จากตรงนั้นมันก็กลายมาเป็นความหมายว่า 'ราบเรียบ', 'ระนาบเสมอกัน', จนเพี้ยนไปเป็น 'สงบ', และ 'ราบรื่น' ... แต่ถ้าเรามอง 'ภาพอักษร' ของ 夷 (yí, อี๋) ให้มีลักษณะของ 'คนใหญ่คนโตที่ค้อมตัวลง' มันก็จะแฝงความหมายว่า 'มีความอ่อนโยน', 'มีความถ่อมตน', หรือ 'มีความนอบน้อม' ; อาจจะหมายถึง 'ทำตัวตามสบาย', 'ไม่วางก้าม', หรือ 'มีความสุภาพที่เรียบง่าย' จนถึงกับใช้ในความหมายเดียวกับ 怡 (yí, อี๋) ที่แปลว่า 'กลมกลืน', 'สมดุล', 'มีความสุข' ซึ่งไปพ้องกับ 'ความสงบ', 'ความราบรื่น' อย่างที่เล่าไปแล้ว ...

จะเห็นว่า ในบางความหมายของ 夷 (yí, อี๋) นั้น มีความคล้ายคลึงกับ 群 (qǘn, ชฺวิ๋น) ในลักษณะของ 'ความเป็นกลุ่มก้อน', 'ความเป็นกลุ่มสังคม' หรือ 'ความเป็นชนเผ่า' หนึ่งๆ ด้วยเหมือนกัน ... และขณะเดียวกัน 夷 (yí, อี๋) ก็ยังมีความหมายที่คล้ายคลึงกับ 渙 (huàn, ฮ่วน) ในแง่ของ 'การกระจายออก' หรือ 'ทำให้ราบเรียบเสมอกัน' ... ซึ่งอักษรเจ้าปัญหาในวลีนี้ก็ยังเป็น 夷 (yí, อี๋) ตัวนี้แหละ !! ...

所 อ่านว่า suǒ (สั่ว) แปลได้หลายอย่างมากเลยครับสำหรับอักษรตัวนี้ ;) แปลว่า 'สถานที่', 'สถาบัน' ก็ได้ ; สามารถแปลเป็น 'ที่พักอาศัย' หรือใช้เป็น 'หน่วยนับ (สำหรับที่พักอาศัย)' ก็ได้ ; แปลว่า 'เหตุผล', 'สาเหตุ' แล้วก็เลยกลายเป็นคำกริยาช่วยที่ใช้แปลงรูปประโยคให้เป็น passive voice ในความหมายว่า 'มีสาเหตุมาจาก' ก็ได้ ; ใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับ 'นี้' (this), 'นั้น' (that) ก็ได้ ; หรืออาจจะใช้ในลักษณะเดียวกับ if เป็น 'ถ้าหากว่า' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'เท่าที่มี', 'เท่าที่เป็นไปได้', หรือ 'เท่าที่อนุญาต' มันเลยสามารถแปลว่า 'ทั้งหมด' แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มากมาย', 'หลากหลาย' ได้อีกต่างหาก

思 อ่านว่า sī (ซือ) แปลว่า 'ความคิด', 'การคิด', 'วิธีคิด', หรือ 'ทัศนคติ'

คืองี้ ... แทบจะทุกตำราให้ความหมายของ 渙 (huàn, ฮ่วน) เป็น 'การแยกออก', หรือ 'การกระจายออก' (Dispersing) เขาก็เลยให้ความหมายกับวลีนี้ไว้ประมาณว่า ... 'การแยกตัวออกจาก (渙) กลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว (其群) ถือเป็นสิริมงคลอันดับต้น (元吉) เพราะในทุกการแยกจาก (渙) ย่อมต้องมี (有) การรวมตัวกัน (丘) กับกลุ่มบุคคลอื่นที่ดีกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่ (匪) สิ่งที่สามัญชน (夷) จะสามารถเข้าใจได้ (所思)' ... แต่ผมก็ไม่ค่อยชอบใจกับวิธีการถอดความออกมาอย่างนี้อยู่ดี เพราะคำว่า 群 (qǘn, ชฺวิ๋น) กับ 丘 (qiū, ชิว) ที่เราเห็นอยู่นี้ ไม่มีส่วนไหนเลยที่บอกว่ากลุ่มไหน 'เห็นแก่ตัว' มากกว่ากลุ่มไหน เรียกว่าไม่มี 'ลักษณะทางคุณศัพท์' ใดๆ ให้สามารถระบุออกมาอย่างนั้นได้เลย ... ว่ามั้ย ?!??!!

อีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจก็คือ ผมเลือกให้ความหมายของ 渙 (huàn, ฮ่วน) ว่า 'การจัดสรรปันประโยชน์' ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Distribution ที่แม้ว่าจะมีความหมาย 'คล้ายคลึง' กับ Dispersing ... แต่ก็ต่างระนาบกันอย่างลิบลับเลยทีเดียว !! ... ดังนั้น ผมจึงอยากให้ความหมายกับวลีนี้ว่า
'การจัดสรรปันปรโยชน์ (渙) ที่เหมาะสมแก่ขนบจารีตของแต่ละกลุ่มชน (其群) ย่อมเป็นรากฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองโดยแท้ (元吉) ด้วยการจัดสรรปันประโยชน์ (渙) ล้วนต้องกระทำโดยมี (有) หลักเกณฑ์และขอบเขตอันเป็นที่ประจักษ์ชัด (丘) มิใช่ว่า (匪) จะตีขลุมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย (夷) แล้วมุ่งหวังให้ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามอำเภอใจตนเท่านั้น (所思)' ...

อาศัยทฤษฎีที่ผมมักจะโยงให้วรรคที่หนึ่งกับวรรคที่สี่ หรือวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ให้เป็น 'คู่วลี' กันมาโดยตลอด เราลองย้อนไปเทียบกับความหมายในวรรคที่หนึ่งอีกครั้งก็ดีนะครับ ... เมื่อ 'การจัดสรรปันประโยชน์' หมายถึง 'ความเป็นรูปธรรม (用) ของการส่งเสริมเชิดชูคุณธรรมทั้งปวง (拯馬) ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนโดยทั่วไป (壯) นั้น จักเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) สืบต่อไป' ... เราจะเห็นว่า 'จิวกง' เลือกใช้อักษร 壯 (zhuàng, จ้วง) ซึ่งหมายถึง 'มหาชน' มาเป็น synonym กับ 群 (qǘn, ชฺวิ๋น) ที่แปลว่า 'กลุ่มสังคม' ในวรรคนี้อย่างชัดเจน ... เพราะฉะนั้น 用拯馬壯 (yòng zhěng mǎ zhuàng, โยฺว่ง เจ๊ิ่ง หฺม่า จ้วง) ซึ่งเป็นวลีขยายความให้กับ 渙 (huàn, ฮ่วน) จึง 吉 (jí, จี๋) เช่นเดียวกับ 渙其群 (huàn qí qǘn, ฮ่วน ชี๋ ชฺวิ๋น) ที่ 吉 (jí, จี๋) จริงๆ หรือ 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) นั่นเอง ...

เราลองมาดู ความเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สามกับวรรคที่สี่กันซะหน่อยแล้วกัน ... 'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) ด้วยความเคารพอย่างสมเกียรติให้แก่ทุกๆ ความวิริยะอุตสาหะที่ทุ่มเท (其躬) คือการระงับเหตุปัจจัยของความผิดหวังเสียใจ (無悔)' ... ซึ่ง 'ความเคารพ' ที่ว่านี้ก็คือ 'การให้ความสำคัญ' ต่อ 'ขนบ' และ 'จารีต' ของ 'แต่ละกลุ่มชน' (其群) ... ในขณะที่ 'การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย' (夷 :  yí, อี๋) แล้วมุ่งหวังเพียงประโยชน์เฉพาะฝ่ายตน (所思) นอกจากจะไม่เป็นการแสดง 'ความเคารพซึ่งกันและกัน' (其躬) แล้ว ก็ยังเป็นบ่อเกิดแห่ง 'ความผิดหวัง-เสียใจ' (悔) ที่จะคอยกัดกร่อน 'ความเป็นปึกแผ่น' ของมหาชนให้เสื่อมสลายลงไปอีกด้วย



 

ห้า หยาง :

渙汗其大號渙王居無咎
huàn hàn qí dà hào huàn wáng jü wú jiù
ฮ่วน ฮั่น ชี๋ ต้า เฮ่า ฮ่วน วั๋ง จฺวี อู๋ จิ้ว




汗 อ่านว่า hàn (ฮั่น) ปรกติแปลว่า 'เหงื่อ', 'เหงื่อออก', หรือ  'การเสียเหงื่อ' ; ในแง่ของคำกริยาก็สามารถใช้ในความหมายว่า  'การทำให้เหงื่อออก' ; ซึ่งทำให้เกิดความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า 'ความตื่นตัว', หรือ 'กระตุ้นให้ตื่นตัว'

號 อ่านว่า hào (เฮ่า) แปลว่า 'สัญลักษณ์', 'เครื่องหมาย', 'ตัวเลข', หรือ 'คำสั่ง' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ถอนหายใจ', 'ร้องไห้', 'ตะโกน', 'ส่งเสียงร้อง', 'ส่งเสียงขู่คำราม', หรือ 'การออกคำสั่ง' ในกองทัพก็ได้

王 อ่านว่า wáng (วั๋ง) แปลว่า 'เจ้าแคว้น', 'ผู้นำ', 'กษัตริย์' ; จึงแปลว่า 'ใหญ่', 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', หรือ 'โดดเด่น'

居 อ่านว่า jü (จฺวี) แปลว่า 'อาศัย', 'ที่พักอาศัย', 'ที่พักพิง' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ปักหลัก', 'ยึดเหนี่ยว', 'ปกป้อง', 'ครอบครอง' ; แล้วก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'รวบรวมไว้ด้วยกัน'

เอากันตรงๆ เลยนะ ผมยอมรับคำแปลของหลายๆ ตำราไม่ได้จริงๆ สำหรับวรรคนี้ เพราะถ้าจะให้ความหมายกันอย่างทื่อๆ แค่ว่า
'การแจกจ่ายทรัพย์สินเงินทองออกไป (渙) ก็เหมือนกับการเสียเหงื่อ (汗) ซึ่งเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเพื่อกิจการงานที่สำคัญกว่านั้น (其大號) มันคือการยอมจ่าย (渙) เพื่อที่ผู้นำ (王) จะได้มีเวลาอยู่เฉยๆ (居) สำหรับคิดการอื่นๆ ต่อไป คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว (無咎)' ... ซึ่งถึงแม้ว่าจะกล้อมแกล้มตามตัวอักษรไปได้ แต่มันก็ไม่มีความน่ารักซักเท่าไหร่เลย ว่ามั้ย ?!!?!

คืองี้ ... ผมอ้างอิงทฤษฎีเดิมของผมดีกว่า 'คู่วลี' ของวรรคนี้ก็คือวรรคที่สองครับ ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า ...
'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) ให้แก่ผู้ที่พึงจะได้รับ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างฉับพลันทันที (奔) ในแต่ละ (其) วาระโอกาส (機) เพื่อเป็นการขจัดความรู้สึกผิดหวังเสียใจให้สิ้นสูญ (悔亡)' ... เพราะฉะนั้น มันก็ควรจะต่อด้วยถ้อยคำที่ว่า ... 'การจัดสรรปันปะโยชน์ (渙) จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว (汗) ต่อทุกๆ (其) คำสั่งการที่มีความสำคัญ (大號) ก็ต่อเมื่อการจัดสรรปันประโยชน์ (渙) นั้น มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการชี้นำ (王居) เพื่อจะไม่เกิดความผิดพลาดจนเป็นที่ครหา (無咎)' ... สวยงามกว่าเยอะมั้ยล่ะ ??!!?!



 

หก หยาง :

渙其血去逖出無咎
huàn qí xüè qǜ tì chū wú jiù
ฮ่วน ชี๋ เซฺวี่ย ชฺวี่ ที่ ฌู อู๋ จิ้ว



血 อ่านว่า xuè (เซฺวี่ย) แปลว่า 'เลือด', 'ถึงเลือดถึงเนื้อ', หรือ 'เลือดตกยางออก' ; แล้วบางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'การนองเลือด' ได้เหมือนกัน ; แต่ในบางกรณีก็สามารถจะให้หมายถึง 'สาระสำคัญแห่งชีวิต' ได้ด้วย เพราะ 'เลือด' ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของทุกสรรพชีวิต

去 อ่านว่า qǜ (ชฺวี่) แปลว่า 'ไป', 'เดินทางไป', 'จากไป', 'หายไป', 'สูญเสียไป' ; บางครั้งยังหมายถึง 'กำจัดออกไป', 'ขับไล่', และอาจจะหมายถึง 'การซ่อมแซม' หรือ 'การฟื้นฟู' หลังจาก 'กำจัด' สิ่งที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่ต้องการออกไปเรียบร้อยแล้ว

逖 อ่านว่า tì (ที่) 'ห่างไกล', หรือ 'รักษาระยะห่าง', ในบางความหมายจึงหมายถึง 'การบริหารจัดการ'

出 อ่านว่า chū (ฌู) แปลว่า 'ออก', 'นำออกมา', 'ส่งออกไป', 'ยื่นให้', 'ลุกขึ้น', 'งอกออกมา', 'โผล่ออกมา', 'ปรากฏ'

ดูเผินๆ ก็เหมือนว่าไม่ได้ยุ่งยากอะไรสำหรับวรรคนี้ แต่ถ้าจะให้กลมกลืนกับความหมายของวรรคอื่นๆ ของ 'จิวกง' ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันหลายซับหลายซ้อนเลยทีเดียว ... เริ่มจากการเล่นคำว่า 'เหงื่อ' (汗 : hàn, ฮั่น) ในวรรคที่ห้า กับคำว่า 'เลือด' (血 : xuè, เซฺวี่ย) ในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ซึ่งถือเป็น 'คู่วลี' ที่อยู่ประชิดติดกันตาม 'การตีความ' โดยทั่วๆ ไป ซึ่งก็ทำให้หลายๆ ตำราเลือกที่จะจับคู่ 'เหงื่อ' กับ  'เรื่องเล็กน้อย' แล้วก็จับคู่ 'เลือด' กับ 'เรื่องคอขาดบาดตาย' ... และทำให้แนวทางในการ 'ตีความ' จะออกมาในแนวคล้ายๆ กันว่า
'กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้ยอมสละประโยชน์เป็นเบี้ยบ้ายรายทางเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก แต่กับเรื่องคอขาดบาดตายให้พยายามหลีกหนีถอยห่างอย่างระมัดระวัง' ... ทำนองว่าอย่าปฏิบัติตนเป็นคนประเภท 'เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย' ... ประมาณนั้น ... ซึ่งจริงๆ ก็คือ ... ผมไม่ชอบความหมายแบบที่ว่านั่น !!??! ... 😁

ไอ้ครั้นผมจะ 'ตีความ' ให้วลี 去逖出 (qǜ tì chū, ชฺวี่ ที่ ฌู) หมายถึง 'หลีกเลี่ยงความสุดโต่ง' ซึ่งก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็ยังดูขัดๆ ความรู้สึกอยู่พอสมควร ... เพราะฉะนั้น ผมจึงเลือก 'จับคู่วลี' ระหว่างวรรคที่หนึ่งกับวรรคที่หกตามแบบฉบับที่ผมเลือกใช้มาตั้งแต่บทแรกๆ และเลือก 'จับคู่วลี' ระหว่างวรรคที่สามกับวรรคที่หกอย่างที่เคยใช้ในบางกรณี เพื่อเปรียบเทียบความหมายกับทฤษฎีของตัวเอง

มาดูวรรคที่หนึ่งกันก่อน โดยผมเลือกความหมายให้กับวรรคดังกล่าวของ 'จิวกง' ว่า
'ความเป็นรูปธรรม (用) ของการส่งเสริมเชิดชูคุณธรรมทั้งปวง (拯馬) ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนโดยทั่วไป (壯) นั้น จักเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) สืบต่อไป' ... 'คู่คำ' ที่น่าจะเกี่ยวข้องกันก็น่าจะเป็น 壯 (zhuàng, จ้วง) ที่หมายถึง 'กว้างขวาง' กับ 逖 (tì, ที่) ซึ่งแปลว่า 'ห่างไกล' และน่าจะแผลงเป็น 'ทั่วถึง' ได้ในระดับหนึ่ง

ทีนี้มาดูวรรคที่สามกันมั่ง ...
'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) ด้วยความเคารพอย่างสมเกียรติให้แก่ทุกๆ ความวิริยะอุตสาหะที่ทุ่มเท (其躬) คือการระงับเหตุปัจจัยของความผิดหวังเสียใจ (無悔)' ... 'คู่คำ' ที่เกี่ยวข้องกันก็น่าจะอยู่ที่คำว่า 躬 (gōng, กง) ที่เกี่ยวข้องกับ 'ร่างกาย' และ 'ความทุ่มเท' กับ 血 (xuè, เซฺวี่ย) ที่มีบางกรณีจะหมายถึง 'การให้ความสำคัญ', หรือ 'ความเอาจริงเอาจัง' เพราะเป็น 'เรื่องคอขาดบาดตาย' ได้ด้วย

แล้วถ้าจะ 'จับคู่วลี' ระหว่างวรรคที่ห้ากับวรรคที่หกอย่างที่หลายตำราอ้างอิงกันไว้ ผมก็ยังมองว่า 'คู่คำ' ที่แท้จริงของสองวรรคนี้น่าจะอยู่ที่คำว่า 大號 (dà hào, ต้า เฮ่า) ซึ่งหมาย ถึง 'คำสั่งการที่มีความสำคัญ' กับ (血 : xuè, เซฺวี่ย) ในความหมายของ 'สาระสำคัญ' มากกว่าคู่ของ 'เหงื่อ' (汗) กับ 'เลือด' (血) ... พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ คำว่า 渙王居 (huàn wáng jü, ฮ่วน วั๋ง จฺวี) ที่ผมให้ความหมายไว้ว่า
'การจัดสรรปันประโยชน์จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการชี้นำ' มันก็จะไปพ้องกับความหมายว่า 'หลีกเลี่ยงความสุดโต่ง' อย่างที่ผม 'ตีความ' ไว้ตั้งแต่แรก ...

ดังนั้น ผมขอยำทุกความเป็นไปได้ทั้งหมดเข้าด้วยกันเลยดีกว่า ...
'การจัดสรรปันประโยชน์ (渙) นั้น มีความสำคัญดุจดั่งกระแสเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกองคาพยพของร่างกาย (其血) ซึ่งจะต้องไหลเวียนอย่างทั่วถึงด้วยปริมาณที่พอเหมาะแก่การประกอบกิจ (去逖出 คือไม่มากหรือน้อยจนเกินไป) เพื่อมิให้เกิดความบกพร่องและปัญหาต่างๆ (無咎) ที่อาจจะตามมา' ... พิสดารพอมั้ยล่ะครับสำหรับ 'การตีความ' ด้วยความหมายนี้ ?!??! ... 😋




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ฮ่วน' คือ การจัดสรรปันประโยชน์, สายลมโชยเหนือแอ่งน้ำ

'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙) คือ 'การตระหนัก' (亨) ใน 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ของ 'ผู้นำที่ดี' (王) ซึ่งจะต้อง 'ประพฤติปฏิบัติตน' (假) ให้เป็น (有) 'ศูนย์รวม' แห่ง 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' (廟) แก่ 'มหาชน' อันจะ 'หลอมรวมสรรพกำลัง' ของทุกภาคส่วนให้ 'เป็นหนึ่งเดียว' (利) ใน 'การก้าวข้าม' (涉) ทุก 'อุปสรรคขวากหนาม' (大川) ไปสู่ 'ความสัมฤทธิผล' (利) ได้ 'โดยธรรม' (貞)

    • 'ความเป็นรูปธรรม' (用) ของ 'การส่งเสริมเชิดชูคุณธรรม' ทั้งปวง (拯馬) ให้เป็นที่ 'ประจักษ์' แก่ 'มหาชน' โดยทั่วไป (壯) นั้น จักเป็นการวาง 'รากฐาน' ที่ 'มั่นคง' ให้แก่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) สืบต่อไป
    • 'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙) ให้แก่ 'ผู้ที่พึงจะได้รับ' จำเป็นต้อง 'ดำเนินการ' อย่าง 'ฉับพลันทันที' (奔) ในแต่ละ (其) 'วาระโอกาส' (機) เพื่อเป็นการขจัด 'ความรู้สึกผิดหวังเสียใจ' ให้สิ้นสูญ (悔亡)
    • 'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙) ด้วย 'ความเคารพอย่างสมเกียรติ' ให้แก่ทุกๆ 'ความวิริยะอุตสาหะ' ที่ 'ทุ่มเท' (其躬) คือ 'การระงับเหตุปัจจัย' ของ 'ความผิดหวังเสียใจ' (無悔)
    • 'การจัดสรรปันปรโยชน์' (渙) ที่ 'เหมาะสม' แก่ 'ขนบจารีต' ของ 'แต่ละกลุ่มชน' (其群) ย่อมเป็น 'รากฐาน' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' โดยแท้ (元吉) ด้วย 'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙) ล้วนต้องกระทำโดยมี (有) 'หลักเกณฑ์' และ 'ขอบเขต' อันเป็นที่ 'ประจักษ์ชัด' (丘) มิใช่ว่า (匪) จะตีขลุม 'แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย' (夷) แล้วมุ่งหวังให้ทุกสิ่งต้องเป็นไป 'ตามอำเภอใจตน' เท่านั้น (所思)
    • 'การจัดสรรปันปะโยชน์' (渙) จะเป็น 'การกระตุ้น' ให้เกิด 'ความตื่นตัว' (汗) ต่อทุกๆ (其) 'คำสั่งการ' ที่มี 'ความสำคัญ' (大號) ก็ต่อเมื่อ 'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙) นั้น มี 'หลักเกณฑ์' ที่ 'ชัดเจน' เป็น 'เครื่องยึดเหนี่ยว' ใน 'การชี้นำ' (王居) เพื่อจะไม่เกิด 'ความผิดพลาด' จนเป็นที่ 'ครหา' (無咎)
    • 'การจัดสรรปันประโยชน์' (渙) นั้น มี 'ความสำคัญ' ดุจดั่ง 'กระแสเลือด' ที่ 'หล่อเลี้ยง' ทุก 'องคาพยพ' ของร่างกาย (其血) ซึ่งจะต้อง 'ไหลเวียนอย่างทั่วถึง' ด้วย 'ปริมาณที่พอเหมาะ' แก่ 'การประกอบกิจ' (去逖出 คือไม่มากหรือน้อยจนเกินไป) เพื่อมิให้เกิด 'ความบกพร่อง' และ 'ปัญหา' ต่างๆ (無咎) ที่อาจจะตามมา



The Organization Code :


'การจัดสรรปันประโยชน์' คือหนึ่งในกลไกสำคัญของ 'การบริหารจัดการ' เพราะแม้แต่ผู้ที่ 'ปฏิบัติงานเพื่องาน' ก็ยังมี 'ความคาดหวัง' ในระดับหนึ่งที่ต้องการ 'สิ่งบ่งบอก' ถึง 'ความก้าวหน้า' และ 'ความสำเร็จ' ใน 'หน้าที่การงาน' ที่ตน 'ดูแล-รับผิดชอบ' อีกทั้งยังต้องการเห็น 'ความยั่งยืน' ของ 'สัมฤทธิผล' ที่ตนได้เคย 'ทุ่มเท' แรงกายแรงใจ 'สร้างสรรค์' เอาไว้ ให้เป็นที่ 'ประจักษ์' ใน 'คุณูปการ' แก่สาธารณชนสืบต่อไป ... ซึ่งในนิยามที่ว่านี้ 'ผลประโยชน์' ในรูปแบบของ 'ทรัพย์สิน-เงินทอง' จึงเป็นเพียง 'ปัจจัยทางกายภาพ' ที่ประเมินได้ในมิติหนึ่งเท่านั้น ... 'ผู้นำ' ที่ 'ชาญฉลาด' จำเป็นต้องมี 'ความเข้าใจ' ใน 'มิติทางจิตวิญญาณ' และ 'อุดมการ' ของ 'ผู้ร่วมปฏิบัติงาน' แต่ละกลุ่มแต่ละประเภทอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถ 'หลอมรวม' ความเป็น 'น้ำหนึ่งใจเดียวกัน' ของ 'มหาชน' ให้ 'มุ่งมั่นพัฒนา' ไปสู่ 'สังคมอุดมธรรม' ด้วย 'ความเชื่อมั่น-ศรัทธา' อย่างแท้จริง

'ภาพสัญลักษณ์' ที่ใช้ 'ฝ่ายการเงิน' (☴ : 巽 : xǜn, ซฺวิ่น) หรือ 'ผลประโยชน์' เป็นปัจจัยชี้นำ 'การปฏิบัติงาน' ด้วยการ 'สร้างขวัญและกำลังใจ' ให้กับ 'บุคลากร' (☵ : 坎 : kǎn, ขั่น) นั้น ในมุมกลับกันก็สามารถพิจารณาได้ว่า 'บุคลากร' (☵ : 坎 : kǎn, ขั่น) ซึ่งเป็น 'ฝ่ายปฏิบัติงาน' นั้น คือปัจจัยส่งเสริม 'นโยบายทางการเงิน' (☴ : 巽 : xǜn, ซฺวิ่น) อันเป็น 'ภาพสะท้อน' ของ 'ผลประโยชน์ทางกายภาพ' ที่ 'เข้าใจได้ง่ายที่สุด' ให้สามารถดำเนินไปได้อย่าง 'ราบรื่น' และ 'ปราศจากข้อครหา' ใดๆ ... 'การประสานประโยชน์' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' ในลักษณะนี้ 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมี 'หลักการ' อันเป็น 'บรรทัดฐาน' ที่ 'ชัดเจน' (⚎) ; 'ระดับบริหาร' จะต้องมี 'ความเปิดกว้าง' ที่ 'หนักแน่น' และพร้อมทีจะ 'ยืดหยุ่น' อย่าง 'เหมาะสม' ต่อ 'ความแตกต่าง' ของ 'สภาวการณ์แวดล้อม' (⚏) ; ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติงาน' ก็จะต้อง 'จริงจัง' และ 'ตรงไปตรงมา' ต่อ 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ที่ 'ได้รับมอบหมาย' (⚌)

'บทบาท' และ 'หน้าที่' อัน 'สำคัญยิ่ง' ของ 'ผู้นำที่ดี' ก็คือ 'การประพฤติปฏิบัติตน' ให้เป็น 'ศูนย์รวม' แห่ง 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' ของ 'มหาชน' เพื่อที่จะ 'หลอมรวมสรรพกำลัง' ของ 'ทุกภาคส่วน' ให้ 'เป็นหนึ่งเดียว' ในการ 'ก้าวข้ามปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ ไปสู่ 'เป้าหมาย' แห่ง 'ความสำเร็จ' ได้ 'โดยธรรม' ; 'การจัดสรรปันประโยชน์' ไม่ว่าจะโดย 'ทรัพย์สิ่งมีค่า' หรือ 'การเชิดชูเกียรติ' แด่ผู้มี 'คุณูปการ' ต่อ 'ผลสัมฤทธิ์' คือ 'บทบาท' หนึ่งที่ 'ผู้นำ' จำเป็นต้อง 'ตระหนัก' และต้อง 'แสดงออก' อย่าง 'เป็นธรรม' ด้วย 'ความเปิดเผย-จริงใจ' เพื่อมิให้เป็น 'ข้อครหา' อันจะทำลาย 'ขวัญและกำลังใจ' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ในระยะยาว
 

    • 'รากฐานสำคัญ' ของ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ก็คือ การที่ 'สังคม' หนึ่งๆ มี 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' และ 'ทิศทาง' ที่จะ 'ร่วมดำเนินไป' อย่าง 'เป็นปึกแผ่น' มี 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักเกณฑ์' และ 'เงื่อนไข' ของ 'การตอบแทน' ด้วย 'คุณ' ด้วย 'โทษ' ที่ 'เป็นธรรม' ต่อ 'ทุกๆ ฝ่าย' โดยไม่มี 'การเลือกปฏิบัติ' ที่ขัดต่อ 'หลักการ' อันเป็น 'ข้อตกลงร่วมกัน' ซึ่งกำหนดไว้ 'อย่างเปิดเผย' อยู่ก่อนแล้ว

 

    • 'การให้คุณ-ให้โทษ' ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องกระทำ 'อย่างตรงไปตรงมา' และด้วย 'จังหวะเวลา' อัน 'สมควร' ของแต่ละ 'วาระโิกาส' มิใช่ปล่อยปละให้ 'ยืดเยื้อ-เนิ่นนาน' จนก่อให้เกิด 'ความเคลือบแคลงสงสัย' หรือผิดไปจาก 'ความคาดหวัง' ของ 'สมาชิกทั้งหลาย' ที่ 'ดำรงอยู่ร่วมกัน' ในแต่ละ 'กลุ่มสังคม'

 

    • ไม่ว่าจะเป็น 'การให้คุณ' หรือ 'การให้โทษ' ใน 'ทุกๆ กรณี' จะต้อง 'ปฏิบัติ' ด้วย 'ความเคารพ' และ 'การให้เกียรติ' ต่อ 'ความวิริยะอุตสาหะ' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ในทุกๆ ระดับ 'อย่างจริงใจ' มิใช่เพียง 'การตอบแทน' อย่างดาดๆ ที่กระทำลงไป 'อย่างผิวเผิน'

 

    • 'การให้คุณ-ให้โทษ' อันจะเป็น 'รากฐานสำคัญ' ของ 'การชี้นำสังคม' ไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน' นั้น มิใช่ 'วิถีปฏิบัติ' ที่สามารถกำหนดได้ 'ตามอำเภอใจ' ของ 'ผู้นำ' แต่จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'หลักเกณฑ์' และ 'ขอบเขต' ที่ 'เหมาะสม' ต่อ 'ขนบธรรมเนียม' และ 'จารีตประเพณี' ของแต่ละ 'กลุ่มสังคม' ด้วยเสมอ

 

    • 'การให้คุณ-ให้โทษ' ใน 'ทุกๆ กรณี' จะต้องมี 'ความโปร่งใส' ด้วย 'ข้อกำหนด' ของ 'บรรทัดฐาน' ที่ 'ชัดเจน' เป็น 'เครื่องยึดเหนี่ยว' เพื่อ 'การกระตุ้น' ให้เกิด 'ความตื่นตัว' ต่อทุกๆ 'คำสั่งการ' ที่ได้มอบหมาย 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ให้กับ 'แต่ละส่วนงาน' ไป 'ดำเนินการ' ด้วย 'ความรับผิดชอบ'

 

    •  'การให้คุณ-ให้โทษ' เปรียบได้ดั่ง 'กระแสเลือด' ที่จะต้อง 'ไหลเวียน' ไป 'หล่อเลี้ยงทุกองคาพยพ' ของร่างกายอย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' ซึ่งจะต้อง 'ทั่วถึง' ด้วย 'ปริมาณ' ที่ 'พอเหมาะพอดี' แก่ 'การประกอบกิจ' ในแต่ละ 'จังหวะเวลา' มิใช่ว่าจะสามารถกระทำลงไปอย่าง 'สุดโต่ง' เพียงด้านใดด้านหนึ่ง อันจะเป็น 'ปัจจัย' แห่ง 'ปัญหา' อื่นๆ ที่อาจจะตามมาได้