Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十七卦 : 巽

 

巽 : 巽為風 ‧ 巽上巽下

巽 : 小亨‧利有攸往‧利見大人‧

  • 初六 : 進退‧利武人之貞‧
  • 九二 : 巽在床下‧用史巫紛若‧吉‧無咎‧
  • 九三 ‧ 頻巽‧吝‧
  • 六四 : 悔亡‧田獲三品‧
  • 九五 : 貞吉‧悔亡‧無不利‧無初有終‧先庚三日‧後庚三日‧吉‧
  • 上九 : 巽在床下‧喪其資斧‧貞凶‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ แจ่มใส-มั่นคง (⚎) ; ปัญญา เฉียบคม-เปิดกว้าง (⚍) ; พฤติกรรม รวบรัด-ชัดเจน (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ประสานทุกภาคส่วนด้วยความละมุนละม่อมนุ่มนวล ; ระดับนโยบาย ต้องมั่นคงในหลักการ และมีความชัดเจนในทิศทางที่จะดำเนินงาน (⚎) ; ระดับบริหาร มีความจริงจังอย่างละมุมละม่อม (⚍) ; ฝ่ายปฏิบัติงาน ต้องทุ่มเทอย่างสุดกำลัง (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง, สายลมโชยอย่างนุ่มนวลทั่วทุกหน



ความหมายของชื่อเรียก : Persisting : ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง


อักษร 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ตามคำบรรยายของ Alfred Huang ในหนังสือ The Complete I-Ching นั้น ด้านบนคือ 'ภาพอักษร' ของ 'งู' 2 ตัว ซึ่งใช้แทนความหมายของ 'ความยืดหยุ่น' และ 'ความต่อเนื่อง' และยังอาจหมายถึง 'พลัง-อำนาจ' ได้ด้วย แต่เมื่อผมพยายามสืบค้นที่มาของ 'ภาพอักษร' ดังกล่าวกลับกลายเป็นว่า ด้านบนของอักษร 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) คือ 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 卩 (jié, เจี๋ย) หรือ 㔾 (jié, เจี๋ย) ซึ่งเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 莭 (jié, เจี๋ย) ที่ปัจจุบันย้อนไปใช้รูปที่เกือบจะเหมือนเดิมคือ 节 (jié, เจี๋ย) โดยมีความหมายว่า 'ปม', 'เงื่อน', 'ข้อ', 'ปล้อง' หรือ 'จุดเชื่อมต่อ' มันจึงไม่แปลกที่อักษรเดียวกันนี้จะถูกขยายความให้กลายเป็น 'ความต่อเนื่อง' โดยไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ 'งู' เลยซักนิดเดียว เว้นแต่รูปร่างของ 'ภาพอักษรโบราณ' ของมันเท่านั้น ; นอกจากนั้นแล้ว อักษร 卩 (jié, เจี๋ย) ยังถูกนำไปใช้ในอีกความหมายหนึ่งว่า 'สัญลักษณ์' เช่นพวก 'ตราประทับ' ต่างๆ อันเป็น 'สัญลักษณ์ประจำตำแหน่ง' หรือเป็น 'เครื่องหมาย' ของหน่วยงาน หรือกลุ่มก้อนทางสังคมต่างๆ ซึ่งเป็น 'ความเชื่อมโยง' ในลักษณะที่เป็นนามธรรมกับตำแหน่งหน้าที่ หรือความเป็นหน่วยทางสังคมที่ก่อตั้งขึ้นมา แล้วก็คงจะเป็นที่มาของการนำไปผูกโยงความสัมพันธ์กับ 'อำนาจ' ดังที่ Alfred Huang บอกไว้ในหนังสือของเขา

ด้านล่างของ 'ภาพอักษร' 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ถูกตีความให้เป็นอักษร 共 (gòng, ก้ง) ซึ่งหมายถึง 'การอยู่ร่วมกัน' แต่ถ้าเราดูตาม 'ภาพอักษรเดิม' ของ 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) เรากลับเห็นเพียงอักษร 丌 (jī, จี) ที่หมายถึง 'ฐานราก', 'แท่น', หรือ 'โต๊ะ' ... เมื่อประมวล 'ภาพอักษรโบราณ' ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว ความหมายดั้งเดิมของอักษร 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ก็น่าจะหมายถึง 'การเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ไว้ด้วยกันบนรากฐานที่มั่นคง' ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 遜  (xǜn, ซฺวิ่น) ที่แปลว่า 'การสละอำนาจ' หรือ 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' อันเป็นที่มาของการนำมันไปใช้ในความหมายว่า 'ความยืดหยุ่น' หรือ 'ความอ่อนโยน' ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ 'ความไม่แข็งขืนดึงดันด้วยอำนาจ' นั่นเอง

巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ถูกนำมาเป็น 'ชื่อเรียก' ของสัญลักษ์ ☴ (xǜn, ซฺวิ่น) ในความหมายของ 'ลม' เพื่อแสดงถึง 'ความอ่อนโยน' และ 'ความต่อเนื่อง' ของการดำเนินกิจการงานต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเมื่อถูกนำมาเป็น 'ชื่อบท' ผมจึงให้ความหมายว่า
Persisting เพื่อจะสื่อถึง 'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' อันเป็นการสะท้อนถึงถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่หนึ่งของบทที่สองว่า 'เกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะมีความร่วนซุย แต่หากมีการสั่งสมถมทับอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากพอ (履霜) มันก็จะกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่ง (堅冰) ได้ในที่สุด (至)' ... นี่ก็คือบทตั้งต้นของ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' อันเป็นวัฏจักรสุดท้ายของ 'พลังแห่งหยิน' ที่ King Wen ต้องการจะสื่อด้วยอักษร 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ว่า ไม่ควรใช้พลังอำนาจอย่างแข็งขืนดึงดันเพียงเพื่อหวังผลระยะสั้นๆ แต่จะต้องใช้ 'ความนุ่มนวล' และ 'ความอ่อนโยน' เพื่อ 'ความมั่นคง' ซึ่งเป็น 'เป้าหมายที่แท้จริง' ในระยะยาว ... นั่นเอง!!



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
小亨利有攸往利見大人
xiǎo hēng lì yǒu yōu wǎng lì jiàn dà rén
เสี่ยว เฮิง ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋




จะว่าไปแล้ว เราได้พบเห็นวลีลักษณะนี้แทบจะตลอดทั้งเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' เลยก็ว่าได้นะครับ แล้วหลายๆ คำก็พบเห็นมาแล้วตั้งแต่บทแรกๆ นู่นเลยด้วยซ้ำ

小 (xiǎo, เสี่ยว) ปรกติจะแปลว่า 'เล็ก', 'น้อย', 'เล็กน้อย' หรือ 'ไม่สำคัญ' ได้อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สามารถที่จะหมายถึง 'ความละเอียด', 'ความระมัดระระวัง' ได้ด้วยเหมือนกัน

亨 (hēng, เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

利 (lì, ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

攸 (yōu, ยฺอิว, โยว) แปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกันนะเอ้า … :D

往 อ่านว่า wǎng (หวั่ง) แปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้

ส่วนวลี 利見大人 (lì jiàn dà rén, ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) นี่ต้องถือว่าเจอมาแล้วบ่อยมากจริงๆ ซึ่งผมมักจะให้ความหมายไว้ว่า 'จงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพตนให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน' หรือไม่ก็ 'จงปลาบปลื้มยินดีที่มีโอกาสได้พบปะกับยอดคน' โดยผมไม่ชอบความหมายที่หลายตำรามักจะบอกว่า 'จงรู้จักเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อขอรับการสนับสนุน' ที่ดูเหมือนการสอนให้อาศัยใช้วิธีประจบประแจงมากกว่าการสอนให้มุ่งเน้นที่การใช้ความพยายาม

ผมมมองว่า King Wen ได้ขยายความหมายให้กับ 'ความค่อยเป็นค่อยไป' (巽) ไว้ในบทนี้อย่างค่อนข้างครอบคลุมเลยทีเดียวครับ เพราะหากไม่มีการระบุให้ชัดเจนลงไป ผมรับรองได้เลยว่า บรรดา 'เดรัจฉานเช้าชามเย็นชาม' ก็จะมีคำกล่าวอ้างเรื่อง 'ค่อยเป็นค่อยไปแบบสันหลังยาว' มาเป็นข้อแก้ตัวให้หลายคนต้องอยากอ้วกกันแน่ๆ ... เพราะฉะนั้น
'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' (巽) ในแบบฉบับของ King Wen ก็คือ 'การดำเนินงานอย่างระมัดระวัง (小) ด้วยความเข้าใจในเหตุและผลของการปฏิบัติ (亨) ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน (利有) ทั้งในด้านของเป้าหมายและทิศทาง (攸) ตลอดจนลำดับความสำคัญของทุกๆ กิจกรรมที่จะต้องดำเนินไปให้บรรลุผล (往) อีกทั้งยังต้องพยายาม (利) เสาะแสวงหา (見) บุคคลผู้เปี่ยมด้วยความรู้และศักยภาพ (大人) ให้สามารถมาร่วมกิจการงานในแต่ละบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมด้วย' ... เรียกว่าจะต้องมี 'ความครอบคลุมอย่างครบเครื่อง' ทั้ง 'เป้าหมาย', 'ทิศทาง', 'ขั้นตอนก่อน-หลัง' ตาม 'ลำดับความสำคัญ' ของกิจการงาน และ 'บุคลากรที่เหมาะสม' ในแต่ละบทบาทหน้าที่ ... อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า 'ค่อยเป็นค่อยไป' ... มิฉะนั้นแล้วก็จะ 'ค่อยๆ มีอันเป็นไป' เหมือนระบบงานราชการของประเทศต่างๆ แทบทั้งโลกนั่นเลย ...




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

進退利武人之貞
jìn tuì lì wǔ rén zhī zhēn
จิ้น ทุ่ย ลี่ อู่ เญิ๋จือ เจิ




'จิวกง' เคยใช้วลี 進退 (jìn tuì, จิ้น ทุ่ย) นี้มาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สามของบทที่ยี่สิบ ซึ่งถ้าแปลกันตรงๆ ตัวก็จะหมายถึง 'ก้าวหน้า-ถดถอย' หรือ 'เดินหน้า-ถอยหลัง' แต่ก็มีสำนวนจีนอยู่สำนวนหนึ่งที่ว่า 不知進退 (bù zhī jìn tuì, ปู้ จือ จิ้น ทุ่ย) ซึ่งความหมายก็คือ 'ไม่รู้จังหวะที่ควรจะเดินหน้าหรือถอยหลัง' ... หรือเทียบได้กับสำนวนไทยว่า 'ไม่รู้กาละเทศะ' นั่นเอง ... เพราะฉะนั้น 進退 (jìn tuì, จิ้น ทุ่ย) จึงมี 'ความหมายแฝง' อยู่ในสำนวนของมันว่า 'กาละ-เทศะ' ด้วย

ส่วนอักษร 武 (wǔ, อู่) โดยเฉพาะคำว่า 武人 (wǔ rén, อู่ เญิ๋น) นั้นเราเจอมาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สามของบทที่สิบ ซึ่งในตอนนั้นผมให้ความหมายของ 武人 (wǔ rén, อู่ เญิ๋น) ว่า 'ผู้นิยมใช้กำลัง' หรือ 'ผู้นิยมความรุนแรง' เพราะโดยทั่วไปแล้ว คำว่า 武 (wǔ, อู่) จะถูกใช้ในความหมายว่า 'ห้าวหาญ', 'ดุเดือด', 'ดุร้าย', 'รุนแรง', 'ที่เต็มไปด้วยกำลัง', และโดยมากก็จะหมายถึง 'การทหาร', 'การรบ' หรือ 'การต่อสู่' ... แต่สำหรับวลีของ 'จิวกง' ที่เห็นในวรรคนี้ คำว่า 武人 (wǔ rén, อู่ เญิ๋น) น่าจะไม่ใช่เรื่องของ 'ความรุนแรง' แต่น่าจะหมายถึง 'ความห้าวหาญ' ของ 'ผู้ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก' มากกว่า

สำหรับอักษร 貞 (zhēn, เจิน) ที่แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

ผมคิดว่า 'จิวกง' น่าจะพิจารณาถึงความหมายของคำว่า 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ในแง่ของ 'ความเชื่อมโยง' ด้วยลักษณะของ 'กระบวนการ' ซึ่งจะต้อง 'ประสานภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน' ให้เป็น 'หนึ่งเดียว' เพื่อให้เกิดเป็น 'พลังขับเคลื่อน' ที่จะสร้าง 'ความต่อเนื่องของพัฒนาการ' ต่างๆ ดังที่ King Wen ได้เปิดประเด็นเอาไว้แล้ว และคงจะมีความเห็นว่า ลำพังเพียง 'ความรู้-ความเข้าใจ' (亨), 'ความชัดเจนในเป้าหมายและทิศทาง' (攸往), และการมี 'บุคคลที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ-ความรู้ความชำนาญ' (大人) แต่หากปราศจาก 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' (利), 'ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยวอย่างไม่ย่อท้อ' (武),  และ 'ความเคารพในระเบียบวินัย' (貞) ทุกสิ่งที่วาดหวังไว้ก็ยากที่จะประสบผล ... ดังนั้น 'จิวกง' จึงเลือกใช้ถ้อยคำมาเติมเต็มลงไปว่า ...
'การดำเนินกิจการใดๆ ให้มีความรุดหน้า (進) หรือแม้หากด้องหลบหลีก (退) ปัญหาและอุปสรรคบางประการนั้น จะต้องกระทำการด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว และเคารพในระเบียบวินัย ดุจเดียวกับกองทหาร (利武人之貞) ที่ไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งปวง' ... น่าจะประมาณนี้นะ ... :)



 

สอง หยาง :
 
巽在床下用史巫紛若吉無咎
xǜn zài chuáng xià yòng shǐ wū fēn ruò jí wú jiù
ซฺวิ่น ไจ้ ฌ๋วง เซี่ย โยฺว่ง ษื่อ อู เฟิน ญั่ว จี๋ อู๋ จิ้ว




床 อ่านว่า chuáng (ฌ๋วง) เป็นคำที่เจอมาครั้งหนึ่งในวรรคที่สี่ของบทที่ยี่สิบสาม แต่ก็ไม่ได้เล่าอะไรเกี่ยวกับคำนี้ไว้เลยในตอนนั้น โดยปรกติแล้ว 床 (chuáng, ฌ๋วง) จะหมายถึง 'เตียง', 'ตั่ง', หรือเครื่องเรือนที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่นอาจจะหมายถึง 'โต๊ะ', 'แท่น' หรือ 'บัลลังก์' ก็ยังได้ ; จึงทำให้บางครั้งมันถูกใช้ในความหมายว่า 'กรอบ' (framework) หรือ 'โครง' (chassis) ที่ถูกใช้เป็น 'ฐานรองรับ' การทำงาน หรือการประกอบบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา

史 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) แปลว่า 'ประวัติศาสตร์', 'จดหมายเหตุ', หรือ 'บันทึกเรื่องราว' ถ้าเป็นบุคคลก็จะหมายถึง 'ผู้จดบันทึก', หรือ 'นักประวัติศาสตร์' โดยในสมัยก่อนก็คือ 'ผู้บันทึกพงศาวดาร' ซึ่งเป็นตำแหน่งหนึ่งของข้าราชสำนัก

巫 อ่านว่า wū (อู) แปลว่า 'พ่อมด', 'หมอผี' หรือพวก 'ผู้วิเศษ' ที่สามารถสื่อสารกับพลังเหนือธรรมชาติ ; ซึ่งบางครั้งก็จะหมายถึง 'เจ้าพิธี' หรือ 'ผู้ประกอบพิธีกรรม' ต่างๆ ด้วยก็ได้

紛 อ่านว่า fēn (เฟิน) เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างประหลาดอยู่ครับ เพราะปรกติมักจะแปลกันว่า 'มากมายก่ายกอง', ซึ่งก็เลยแฝงความหมายว่า 'วุ่นวาย', 'สับสน', 'กระจัดกระจาย', หรือ 'ไร้ระเบียบ' ไว้ด้วย ในขณะที่ความหมายดั้งเดิมของมันจริงๆ คือ 'ปลอกหุ้ม' หรือ 'ถุง' ที่สานขึ้นมาจากขนหางม้า เพื่อใช้เป็น 'ฝักกระบี่', 'ฝักลูกดอก', 'ซองลูกธนู' หรือ 'ปลอกหุ้มธง' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'การเก็บรักษา', 'การแยกแยะ'  หรือ 'การจัดระเบียบ' ให้กับสิ่งต่างๆ มากกว่า

อักษร 若 (ruò, ญั่ว) เจอกันมาหลายครั้งแล้วนะครับ คำนี้มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น' และสามารถแผลงความหมายเป็น 'มีระบบระเบียบ', หรือ 'เคารพกฎเกณฑ์' ในลักษณะที่เป็น 'การคล้อยตาม' เช่นเดียวกับคำว่า 順 (shùn, ษุ้น) ที่แปลว่า 'การเชื่อฟัง' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 'ความหมายแฝง' สำหรับ 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) เมื่อใช้ในความหมายว่า 'ความไม่แข็งขืน' หรือ 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' ได้อีกด้วย

อักษร 吉 (jí, จี๋) เป็นอีกคำหนึ่งที่พบเห็นมาโดยตลอดเล่มคัมภีร์ ซึ่งโดยมากก็จะแปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; ส่วนความหมายที่ยังไม่ค่อยได้พบเห็นซักเท่าไหร่ก็คือ 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ … และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน ซึ่งโดยรูปประโยคในวลีนี้ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่จะหมายถึง 'คนมีความรู้-มีศักยภาพ' หรือ 'ปราชญ์ผู้เจริญ' มากกว่า

สำหรับวลี 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) นี่เห็นเป็นประจำแทบจะทุกบทอยู่แล้วล่ะครับ วลีนี้หมายถึง 'ไม่มีข้อผิดพลาด', 'ปราศจากมลทิน', 'ไม่มีข้อตำหนิ', หรือ 'ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด' ฯลฯ ... ประมาณนั้นทั้งหมดเลย

ที่น่าสังเกตก็คือ 'จิวกง' ใช้วลี 巽在床下 (xǜn zài chuáng xià, ซฺวิ่น ไจ้ ฌ๋วง เซี่ย) อยู่ 2 ครั้งในบทนี้ โดยในวรรคที่สองลงท้ายด้วยคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) คือ 'ไม่มีอะไรผิดพลาด' แต่ในวรรคที่หกกลับลงท้ายด้วย 凶 (xiōng, เซฺวิง) ที่เป็น 'ความผิดพลาดอย่างร้ายแรง' ซึ่งต้องถือว่ามีความตรงข้ามกันอย่างชัดเจนมาก โดยเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี้ก็น่าจะอยู่ที่ 'ความเคารพในระบบระเบียบอย่างมีเหตุมีผล' (若 : ruò, ญั่ว) กับ 'ความคิดแบบแยกส่วนที่ไม่มีความสอดคล้องกัน' (喪 : sàng, ซั่ง) นั่นเอง

ส่วนคำว่า 史 (shǐ, ษื่อ) กับ 巫 (wū, อู) นั้น หลายตำรามักจะให้ความหมายรวมๆ เหมือนเป็นคำเดียวกันไปเลย เพราะโดยมากก็จะมีความหมายค่อนไปทาง 'ข้าราชสำนัก' ด้วยกันอยู่แล้ว แต่ผมกลับมองว่า 2 คำนี้น่าจะมีความหมายที่แตกต่างกันพอสมควร ... โดย 史 (shǐ, ษื่อ) ซึ่งเป็นข้าราชสำนักผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับ 'การจดบันทึก' นั้น น่าจะหมายถึง 'ผู้ที่มีความรู้' ; ในขณะที่ 巫 (wū, อู) ที่เป็นข้าราชสำนัก 'ฝ่ายพิธีการ' ย่อมต้องมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแล 'ลำดับขั้นตอน' ของ 'พิธีกรรม' ต่างๆ ซึ่งมี 'รายละเอียดปลีกย่อย' ค่อนข้างมาก น่าจะหมายถึง 'ผู้มีความชำนาญ' ... โดยทั้ง 史 (shǐ, ษื่อ) และ 巫 (wū, อู) นี้ ก็คือ 'บุคคล' ที่ 'จิวกง' ต้องการขยายความให้กับคำว่า 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) ที่ King Wen เอ่ยถึงในคำขยายความ 'ชื่อบท' แล้ว 'จิวกง' ก็ขมวด 2 คำนี้ให้เหลือเพียงคำว่า 吉 (jí, จี๋) ตรงท้ายวรรค ซึ่งผมกำลังคิดว่า น่าจะหมายถึง 'ปราชญ์ผู้เจริญในธรรมและสติปัญญา'

อ้ะ ... ผม 'เดา' ว่า 'จิวกง' พยายามจะสื่อกับพวกเราอย่างนี้ครับ ...
'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง (巽) นั้น สำคัญที่ (在) การวางรากฐาน (床下) จะต้องมีความมั่นคง ต้องรู้จักใช้ (用) บุคคลผู้มีความรอบรู้ (史) และความชำนาญ (巫) อย่างหลากหลาย (紛) เพื่อจะน้อมนำความคิดของผู้เจริญในธรรมและสติปัญญาเหล่านั้น (若吉) มาประยุกต์ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม (無咎)' ...

ส่วนหนึ่งผมเองก็มองว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการปราม 'ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว' เยี่ยง 'ทหาร' ที่เอ่ยถึงในวรรคแรก อย่าให้กลายเป็น 'ความดันทุรัง' เพียงเพราะ 'ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไร้สติ' หรือ 'ยึดติดในระบบระเบียบแบบแผน' จนไม่ฟัง 'คำทัดทาน' ของผู้ที่มี 'ความเข้าใจ' ใน 'รายละเอียดปลีกย่อย' ของ 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ที่อาจจะต้องมี 'การปรับเปลี่ยนลำดับขั้นตอน' เพื่อ 'ความเหมาะสม' แก่ 'สภาวการณ์ที่แท้จริง' ของแต่ละช่วงเวลาด้วย



 

สาม หยาง :

頻巽吝
pín xǜn lìn
พิ๋น ซฺวิ่น ลิ่น



頻 อ่านว่า pín (พิ๋น) มีความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ว่า 'ขมวดคิ้วนิ่วหน้า' จนแผลงมาเป็น 'ขมวดเป็นปม', 'ขมวดเป็นเกลียว' และ 'ขมวดให้ชิดติดกัน' และกลายเป็นความหมายว่า 'ทำซ้ำๆ', 'ทำบ่อยๆ' หรือ 'ทำให้แน่นหนา' และ 'ทำอย่างต่อเนื่อง' ; แต่ก็คงจะซ่อนความหมายของ 'จ้ำจี้จ้ำไช' ไว้ด้วยรึเปล่าไม่ทราบ เพราะ 頻 (pín, พิ๋น) สามารถแปลว่า 'ฉุกเฉิน', 'อันตราย' (คงหมายถึงสาเหตุที่ทำให้หน้านิ่วคิ้วขมวด) ซึ่งแผลงมาเป็นความหมายว่า 'เร่งด่วน'

吝 อ่านว่า lìn (ลิ่น) แปลว่า 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; เลยมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ'

เหมือน 'เดาใจ' ถูกว่า 'จิวกง' อยากจะบอกอะไรมาตั้งแต่วรรคที่แล้วเลยครับ ... :D ... การที่ 'จิวกง' แนะนำให้ 'รู้จักฟัง' เหล่า 'ผู้มีความรู้-ความชำนาญ' ในวรรคก่อน ก็เพื่อจะปรามว่า 'อย่างแข็งขืน-ดันทุรัง' เพียงเพราะนั่นคือ 'คำสั่ง' หรือ 'ระเบียบ' ที่ 'ต้องปฏิบัติตาม' เพราะ แม้แต่ 'ความมีวินัยเยี่ยงทหาร' ก็ต้องอยู่ตั้งอยู่บน 'หลักการ' และ 'เหตุผล' ที่สอดคล้องกับ 'สภาวการณ์ที่เป็นจริง' ของ 'ภาคสนาม' อยู่ดี ไม่ใช่มัวแต่ 'ยึดติดอย่างตะพึดตะพือ' แบบไม่มีหัวคิด ... ซึ่งความหมายในวรรคนี้ก็น่าจะประมาณว่า
'การจ้ำจี้จ้ำไชอย่างเร่งเร้า (頻) เข้าไปในทุกรายละเอียดที่จำเป็นต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป (巽) นั้น รังแต่จะสร้างความอึดอัดรำคาญใจ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ (吝) ตามที่ได้คาดหวังไว้เลย' ...



 

สี่ หยิน :

悔亡田獲三品
huǐ wáng tián huò sān pǐn
หุ่ย วั๋ง เที๋ยน เฮ่า ซัน ผิ่น




悔 อ่านว่า huǐ (หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', โดยคำแปลภาษาอังกฤษว่า repent ที่หมายถึง 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก ; ดังนั้น ความหมายอื่นๆ ของคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) ก็จะเป็น 'ความคับแค้นใจ', 'ความอึดอัดใจ', 'ความร้อนรนในจิตใจ' ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำแก่ตัวเองทั้งนั้น

亡 (wáng, วั๋ง) แปลว่า 'ละทิ้ง', 'หลบหลีก', 'หนีหาย', และบางครั้งก็แปลว่า 'ตาย' ได้ด้วย ; ในบางกรณีมันจึงสามารถแปลว่า 'ทำให้หายไป', 'ทำให้สูญเสีย', หรือ 'ทำลายล้าง' ซึ่งในสมัยโบราณยังใช้ในความหมายเดียวกับ 無 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ไม่มี' ก็ยังได้

อักษร 田 (tián, เที๋ยน) นี้เคยเล่าไปแล้วว่า ในสมัยโบราณนั้น เราสามารถใช้แทนความหมายของอักษรจีนอีก 2 ตัวคือ 畋 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การล่า', 'การเสาะหา' กับอีกตัวหนึ่งคือ 佃 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การไถพรวน', 'การเตรียมดิน' เพื่อการเพาะปลูก … ซึ่งในกรณีที่มีการใช้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' อันเป็นคัมภีร์เก่าแก่โบราณนั้น มันจึงน่าจะเป็นไปได้ว่า อักษร 田 (tián, เที๋ยน) อาจจะไม่ได้ใช้ในความหมายของ 'ที่นา' ซึ่งเป็นความหมายในยุคปัจจุบันอย่างที่หลายๆ ตำราแปลเอาไว้ แต่น่าจะเป็นการใช้แทนอักษร 畋 (tián, เที๋ยน) และ 佃 (tián, เที๋ยน) ไปพร้อมๆ กันก็ได้

獲 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'ฉกฉวย', 'คว้าเอาไว้' หรือ 'ได้รับ' ซึ่งทั้งหมดจะสื่อไปในความหมายที่ไม่ค่อยดี เพราะ 獲 (huò, ฮั่ว) มีความหมายในลักษณะของ 'การได้มาจากการล่า (สัตว์)', 'การได้รับโดยการแย่งชิง' หรือ 'ได้รับจากการขู่เข็ญบังคับ'

三 (sān, ซัน) เป็นคำที่ผม 'ตีความ' ให้มีความหมายอื่นที่ไม่ใช่ 'จำนวนสาม' อย่างตรงๆ มาตั้งแต่ต้นคัมภีร์แล้ว เพราะนอกจาก 'ความหมายเชิงจำนวน' ของมัน 三 (sān, ซัน) ยังสามารถที่จะหมายถึง 'มากๆ', 'บ่อยๆ', 'ถี่ๆ' หรือแม้แต่จะให้หมายถึง 'ขยัน', หรือ 'เพียรพยาม' เพราะมี 'การทำบ่อยๆ' รวมอยู้ในตัวมันด้วย

品 อ่านว่า pǐn (ผิ่น) มีความหมายมาแต่เดิมว่า 'มากมาย' แต่เป็น 'ความมากมายในแง่ของปริมาณ' ซึ่ง 'ไม่มีความหลากหลาย' จึงทำให้บางครั้งมันถูกใช้ในความหมายว่า 'เหมือนๆ กัน', 'ซ้ำๆ กัน', 'ชนิดเดียวกัน', 'เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน', 'ประเภทเดียวกัน' เรื่อยไปจนถึงขั้นที่ว่า 'มีมาตรฐานเดียวกัน' ก็ยังได้

สังเกตนะครับว่า วลี 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ถูกนำมาใช้ 2 ครั้งในบทนี้ คือวรรคที่สี่ กับวรรคที่ห้า โดยที่เราเห็นในวรรคที่สี่นี้ น่าจะถูก 'จับคู่ความหมาย' กับวรรคที่สามซึ่งลงท้ายด้วย 吝 (lìn, ลิ่น) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ 悔 (huǐ, หุ่ย) ในแง่ของ 'ความอึดอัดคับข้องใจ' ; ส่วนวลี 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ในวรรคที่ห้าน่าจะถูก 'จับคู่ความหมาย' กับคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่หมายถึง 'ไม่ผิดพลาด' ตรงท้ายวรรคที่สอง โดยมีคำว่า 貞 (zhēn, เจิน) กับ 若 (ruò, ญั่ว) ซึ่งมีประเด็นของ 'ความเป็นระบบระเบียบ' เป็นจุดเชื่อมโยงทั้ง 2 วรรคเข้าด้วยกัน

เมื่อดึงถ้อยคำของวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่มาเรียงต่อกัน เราก็จะได้ประโยคเต็มๆ ว่า 頻巽吝 悔亡田獲三品 (pín xǜn lìn huǐ wáng tián huò sān pǐn, พิ๋น ซฺวิ่น ลิ่น หุ่ย วั๋ง เที๋ยน ฮั่ว ซัน ผิ่น) ซึ่งน่าจะถอดความหมายออกมาเป็น
'การจ้ำจี้จ้ำไชอย่างเร่งเร้า (頻) เข้าไปในทุกรายละเอียดที่จำเป็นต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป (巽) นั้น รังแต่จะสร้างความอึดอัดรำคาญใจ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ (吝) ตามที่ได้คาดหวังไว้เลย ; ในขณะที่การละวางความทะยานอยากอันน่าอึดอัดคับแค้นใจ (悔亡) โดยมุ่งไปที่ความเพียรพยายามอย่างมีน้ำอดน้ำทน (田) จะสามารถได้ผลสนอง (獲) ที่ต่อเนื่องและเป็นกอบเป็นกำยิ่งกว่า (三品)' ...


 

ห้า หยาง :

貞吉悔亡無不利無初有終先庚三日後庚三日吉
zhēn jí huǐ wáng wú bù lì wú chū yǒu zhōng xiān gēng sān rì hòu gēng sān rì jí
จิน จี๋ หุ่ย วั๋ง อู๋ ปู้ ลี่ อู๋ ฌู โหฺย่ว ง เซียน เกิง ซัน ญื่อ โฮ่ว เกิง ซัน ญื่




'จิวกง' ได้ทิ้งร่องรอยของความต่อเนื่องกับวรรคที่สองไว้อย่างค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียวครับสำหรับบทนี้ โดยวรรคที่สองท่านลงท้ายด้วยวลีว่า 若吉無咎 (ruò jí wú jiù, ญั่ว จี๋ อู๋ จิ้ว) ซึ่งผม 'ถอดความ' ออกมาเป็น 'การน้อมนำความคิด (若) ของผู้เจริญในธรรมและสติปัญญา (吉) มาประยุกต์ปฏิบัติอย่างไม่ผิดเพี้ยน (無咎)' และได้นำเนื้อความเดิมมาซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า 貞吉悔亡 (zhēn jí huǐ wáng, เจิน จี๋ หุ่ย วั๋ง) ที่ควรจะ 'ถอดความ' ว่า 'ความหนักแน่นมั่นคงในวิถีทางแห่งปราชญ์ผู้เจริญ (貞吉) ย่อมขจัดความอึดอัดคับข้องใจให้หมดสิ้นไป (悔亡)' ... โดย 'จิวกง' เคยใช้วลีนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สี่ของบทที่สามสิบสี่ ซึ่งเป็นการใช้ในบริบทของ 'การไม่ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' และผมพิจารณาแล้วว่า มีความคล้ายคลึงกับบริบทที่กำลังเอ่ยถึงในคราวนี้ที่เป็นเรื่องของ 'การรู้จักรับฟังคำแนะนำ และข้อทักท้องทัดทานของผู้อื่น' อยู่พอสมควร

初 อ่านว่า chū (ฌู) แปลว่า 'เริ่มแรก', 'เริ่มต้น', 'ขั้นต้น', 'เบื้องต้น' ; หรือแปลว่า 'ดั้งเดิม' ก็ได้

終 อ่านว่า zhōng (ง) แปลว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ' ในวรรคนี้น่าจะตีความควบกับ

庚 อ่านว่า gēng (เกิง) เมื่อใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'ซ่อมแซม', 'ปรับปรุง', หรือ 'ชดเชย' เพื่อ 'ทำให้ดีขึ้น', 'ทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น'

สำหรับคำว่า 日 (rì, ญื่อ) นั้นเคยเล่าไปก่อนหน้านี้บ้างแล้วว่า หมายถึง 'วัน', หรือ 'กลางวัน' และยังสามารถแปลว่า 'ครั้ง', 'หน' หรืออาจจะหมายถึง 'แต่ละวัน', 'ทุกๆ วัน' ได้ด้วย

ผมอยากจะให้ความหมายของวรรคที่ห้าไว้อย่างนี้ครับ
'ความหนักแน่นมั่นคงในวิถีแห่งปราชญ์ผู้เจริญ (貞吉) ย่อมขจัดความอึดอัดคับข้องใจให้หมดสิ้นไปได้ (悔亡) แต่การดำเนินกิจการงานต่างๆ ให้ลุล่วงด้วยดีนั้น ใช้ว่าจะสำเร็จได้โดยไม่ต้องพยายาม (無不利) การจะสร้างสรรค์สิ่งที่ยังไม่เคยมี (無初) ให้ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ในบั้นปลาย (有終) นั้น ก่อนดำเนินงานต้องตระเตรียมกระบวนการให้ถี่ถ้วน (先庚三日) หลังดำเนินการต้องหมั่นทบทวนและปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอ (後庚三日) ผลสำเร็จที่ดี (吉) จึงจะเกิดขึ้นได้จริง' ...

ต้องนับถือในความเป็น 'ยอดมนุษย์' ของ 'จิวกง' จริงๆ เลยล่ะครับ เพราะพวกเราน่าจะเคยพบเห็นการทำงานแบบ 'นักคิด' ที่ได้แต่ 'คิด' แล้วก็ 'วางแผน' ทุกอย่างไว้อย่างสวยหรู แต่สุดท้ายก็ได้แต่เอา 'แผนงาน' เหล่านั้นมาอวดโอ่ประชันกัน โดยไม่เคยนำเอา 'แผนงาน' หรือ 'เป้าหมาย' ที่ 'วาดฝัน' ไว้เหล่านั้นไปสู่ 'การปฏิบัติจริง' เลย ... ประหนึ่งว่า ขอเพียงแค่ 'ฝันให้สวย' โลกก็จะ 'สวยตาม' โดยไม่ต้องลงไม้ลงมือทำอะไรเลย ... ประเด็นนี้แหละที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 無不利 (wú bù lì, อู๋ ปู้ ลี่) ซึ่งนอกจากจะแปลว่า 'ไม่มีอะไรที่ไม่ดีงาม' หรือ 'ไม่มีอะไรที่ไม่ถูกต้อง' เหมือนกับคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในวรรคที่สองนั่นแล้ว อักษร 利 (lì, ลี่) ที่สามารถแปลว่า 'ทุ่มเทความพยายาม' ยังทำให้วลี 無不利 (wú bù lì, อู๋ ปู้ ลี่) สะท้อนความหมายว่า 'ไม่มีอะไรที่จะสำเร็จได้โดยไม่ต้องพยายาม' อีกด้วย เรียกว่าใช้อักษร 利 (lì, ลี่) ตัวเดียวเพื่อสื่อถึง 'ความสำเร็จ' และ 'ความพยายาม' ไปพร้อมๆ กันในคราวเดียวเลย ... สุดยอดมากครับ !!

 

หก หยาง :

巽在床下喪其資斧貞凶
xǜn zài chuáng xià sàng qí zī fǔ zhēn xiōng
ซฺวิ่น ไจ้ ฌ๋วง เซี่ย ซั่ง ชี๋ จือ ฝู่ เจิน เซฺวิง




喪 อ่านว่า sàng (ซั่ง) แปลว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', 'สิ้นสุด'

其 อ่านว่า qí (ชี๋) โดยปรกติจะใช้ในลักษณะของสรรพนามที่หมายถึง 'บุคคลที่สาม' (he, she, it, they) ซึ่งก็จะรวมทั้งความหมายที่แสดง 'ความเป็นเจ้าของของบุคคลที่สาม' (his, her, its, their) ด้วย ; แต่บางครั้งที่จะหมายถึง 'เหตุการณ์นั้นๆ' ที่กำลังเอ่ยถึง แล้วก็เลยมีความหมายในลักษณะว่า 'เป็นไปได้', 'อาจจะ', หรือ 'ดังนั้น' ก็ได้ หากใช้คำนี้ในลักษณะของการเชื่อมประโยค

資 อ่านว่า zī (จือ) แปลว่า 'ทรัพย์สิน-เงินทอง', หรือ 'ทุนทรัพย์' ; ซึ่งถ้าเป็น 'ทรัพย์สินทางปัญญา' ก็จะหมายถึง 'ศักยภาพ' หรือ 'ความสามารถ' ที่ควบรวมความหมายทั้ง 'พรสวรรค์' หรือ 'พรแสวง' ไปเลย

斧 อ่านว่า fǔ (ฝู่) แปลว่า 'ขวาน' หรือ 'เครื่องมือที่ใช้สับ' เมื่อใช้เป็นคำกริยากจึงหมายถึง 'ทำให้แยกออก', 'ทำให้แตกดับ', 'ทำให้ขาดออกเป็นท่อนๆ'  และสามารถหมายถึง 'ลบล้าง' หรือ 'ทำให้สูญหายไป'

ถ้าว่ากันตาม pattern ปรกติของ 'จิวกง' วรรคที่หกจะต้องเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่หนึ่ง แต่ในบทนี้ท่านกลับเล่นคำขึ้นต้นด้วยวลีเดียวกับวรรคที่สองคือ 巽在床下 (xǜn zài chuáng xià, ซฺวิ่น ไจ้ ฌ๋วง เซี่ย) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า
'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง (巽) นั้น สำคัญที่ (在) การวางรากฐาน (床下) จะต้องมีความมั่นคง' โดยในวรรคที่สอง 'จิวกง' เสริมด้วยข้อความที่ว่า 'ต้องรู้จักใช้ (用) บุคคลผู้มีความรอบรู้ (史) และความชำนาญ (巫) อย่างหลากหลาย (紛) เพื่อจะน้อมนำความคิดของผู้เจริญในธรรมและสติปัญญาเหล่านั้น (若吉) มาประยุกต์ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม (無咎)' เพราะ 'หากปล่อยปละละเลย (喪) ให้ต่างฝ่าย (其) ต่างใช้ทรัพยากร (資) อย่างกระจัดกระจาย (斧) การดำเนินกิจการงานที่ควรจะเป็นระบบระเบียบ (貞) ก็จะสูญสลายวอดวายจนหมดสิ้น (凶)' ... ผมมองว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการเน้นความหมายของคำว่า 
紛  (fēn, เฟิน) ในวรรคที่สอง ซึ่งหมายถึง 'ความหลากหลาย' ให้ชัดๆ ลงไปเลยว่า มันเป็นคนละเรื่องกับ 斧 (fǔ, ฝู่) ที่แปลว่า 'กระจัดกระจาย' ในวรรคที่หกนี้ เพื่อกันไม่ให้พวก 'นักวิชาการสติแตก' ที่นิยม 'การตะแบงความหมายสนองสันดานตน' สร้าง 'วาทกรรม' มั่วๆ ขึ้นมาสร้าง 'ความปั่นป่วนทางปัญญา' ในภายหลังนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม 'จิวกง' ก็ไม่ถึงกับละเลย 'ความเป็นคู่วลี' ของวรรคที่หกกับวรรคที่หนึ่งอยู่ดี โดยเราจะเห็นจากการใช้คำว่า 武人 (wǔ rén, อู่ เญิ๋น) ในวรรคที่หนึ่งเพื่อสะท้อนถึง 'ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว' พร้อมๆ กับ 'ความมีระเบียบวินัย' เยี่ยง 'ทหาร' ซึ่งต้องถือว่ามี 'ความเป็นคำตรงข้าม' กับ 斧 (fǔ, ฝู่) ในวรรคที่หกนี้พอสมควร เพราะ 斧 (fǔ, ฝู่) มีความหมายของ 'ความกระจัดกระจาย', 'ความขาดช่วงขาดตอน', 'ความไม่ต่อเนื่อง', และอาจจะถึงขั้น 'ความไม่เป็นระบบระเบียบ' ไปเลยด้วยซ้ำ เมื่อเราจับทั้งสองวรรคมาเรียงต่อกัน เราก็จะได้ข้อความว่า ...
'การดำเนินกิจการใดๆ ให้มีความรุดหน้า (進) หรือแม้หากด้องหลบหลีก (退) ปัญหาและอุปสรรคบางประการนั้น จะต้องกระทำการด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว และเคารพในระเบียบวินัย ดุจเดียวกับกองทหาร (利武人之貞) ที่ไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งปวง และปฏิบัติงานโดยมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน อันเป็นรากฐานสำคัญของความต่อเนื่อง (巽在床下) ซึ่งการละเลย (喪) หลักการอันเป็นพื้นฐานสำคัญนี้  โดยต่างฝ่าย (其) ต่างใช้สรรพกำลัง (資) อย่างกระจัดกระจาย (斧) กิจการงานที่ควรจะเป็นระบบระเบียบ (貞) ย่อมต้องสูญสลายวอดวานจนหมดสิ้น (凶)' ... เห็นมั้ยครับว่ามันต่อเนื่องกันได้จริงๆ ?! ... :D




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ซฺวิ่น' คือ ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง ; สายลมโชยอย่างนุ่มนวลทั่วทุกหน

'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' คือ การดำเนินงาน 'อย่างระมัดระวัง' ด้วย 'ความเข้าใจ' ใน 'เหตุและผล' ของ 'การปฏิบัติ' ซึ่งจะต้องมี 'ความชัดเจน' ทั้งในด้านของ 'เป้าหมาย' และ 'ทิศทาง' ตลอดจน 'ลำดับความสำคัญ' ของทุกๆ กิจกรรมที่จะต้องดำเนินไปให้ 'บรรลุผล' อีกทั้งยังต้อง 'พยายามเสาะแสวงหา' บุคคลผู้เปี่ยมด้วย 'ความรู้' และ 'ศักยภาพ' ให้สามารถมาร่วมกิจการงานในแต่ละ 'บทบาทหน้าที่' ได้อย่าง 'เหมาะสม' ด้วย

    • 'การดำเนินกิจการ' ใดๆ ให้มีความรุดหน้า หรือแม้หากด้อง 'หลบหลีกปัญหา' และ 'อุปสรรค' บางประการนั้น จะต้องกระทำการด้วย 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' มี 'ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว' และ 'เคารพในระเบียบวินัย' ดุจเดียวกับ 'กองทหาร' ที่ 'ไม่เคยย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ทั้งปวง
    • 'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' นั้น สำคัญที่ 'การวางรากฐาน' จะต้องมี 'ความมั่นคง' ต้องรู้จักใช้ 'บุคลากร' ผู้มี 'ความรอบรู้' และ 'ความชำนาญ' อย่าง 'หลากหลาย' เพื่อจะ 'น้อมนำความคิด' ของ 'ผู้เจริญในธรรม' และ 'สติปัญญา' เหล่านั้น มา 'ประยุกต์ปฏิบัติ' ได้ 'อย่างถูกต้องเหมาะสม'
    • 'การจ้ำจี้จ้ำไช' อย่าง 'เร่งเร้า' เข้าไปใน 'ทุกรายละเอียด' ที่จำเป็นต้อง 'ดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป' นั้น รังแต่จะสร้าง 'ความอึดอัดรำคาญใจ' โดยไม่ก่อให้เกิด 'ประโยชน์' ใดๆ ตามที่ได้ 'คาดหวัง' ไว้เลย
    • 'การละวางความทะยานอยาก' อัน 'น่าอึดอัดคับแค้นใจ' โดยมุ่งไปที่ 'ความเพียรพยายาม' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' จะสามารถได้ 'ผลสนอง' ที่ 'ต่อเนื่อง' และ 'เป็นกอบเป็นกำ' ยิ่งกว่า
    • 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'วิถีแห่งปราชญ์ผู้เจริญ' ย่อมขจัด 'ความอึดอัดคับข้องใจ' ให้หมดสิ้นไปได้ แต่ 'การดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ ให้ 'ลุล่วงด้วยดี' นั้น ใช้ว่าจะ 'สำเร็จ' ได้โดยไม่ต้อง 'พยายาม' การจะ 'สร้างสรรค์' สิ่งที่ยังไม่เคยมี ให้ 'ปรากฏผล' เป็นที่ 'ประจักษ์' ในบั้นปลายนั้น ก่อน 'ดำเนินงาน' ต้อง 'ตระเตรียมกระบวนการ' ให้ 'ถี่ถ้วน' หลัง 'ดำเนินการ' ต้อง 'หมั่นทบทวน' และ 'ปรับปรุงให้สมบูรณ์' ยิ่งๆ ขึ้นไปอย่าง 'สม่ำเสมอ' ผลสำเร็จที่ดีจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
    • 'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' นั้น สำคัญที่ 'การวางรากฐาน' จะต้องมี 'ความมั่นคง' หาก 'ปล่อยปละละเลย' ให้ต่างฝ่ายต่างใช้ 'ทรัพยากร' อย่าง 'กระจัดกระจาย' การดำเนินกิจการงานที่ควรจะ 'เป็นระบบระเบียบ' ก็จะ 'สูญสลายวอดวาย' จนหมดสิ้น



The Organization Code :


'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' ถือเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของ 'การบริหารการเงิน' โดยเฉพาะในเรื่องของ 'การลงทุน' และ 'ค่าใช้จ่าย' อันจะเป็น 'พลังขับเคลื่อน' ที่ทำให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่าง 'ต่อเนื่อง' และ 'ย่ั่งยืน' ; ด้วยเหตุนี้ 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมี 'ความมั่นคง' ใน 'หลักการ' และมี 'ความชัดเจน' ใน 'ทิศทาง' ที่จะดำเนินงาน (⚎) เพราะ 'การใช้เงิน' อย่าง 'ไร้ระเบียบ' และ 'ไร้ทิศทาง' นั้น ย่อมเป็น 'การบั่นทอนกำลังขององค์กร' ให้ 'อ่อนล้า' ลงไปอย่าง 'ไร้ประโยชน์' ; ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' ก็ต้องมี 'ความจริงจัง' อย่าง 'ละมุมละม่อม' (⚍) คือต้องมี 'ความยืดหยุ่น' แต่ 'ไม่หละหลวม' โดยจะต้องคอย 'กำกับทิศทาง' ให้ตรงกับ 'แนวนโยบาย' เสมอ ; ฝ่ายปฏิบัติงาน ต้อง 'ทุ่มเทอย่างสุดกำลัง' (⚌) มี 'ความตื่นตัว' ต่อทุกๆ 'ความเคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลง' และพยายาม 'แก้ปัญหา' ต่างๆ อย่าง 'สร้างสรรค์'

แม้ว่า 'การกำหนดเป้าหมาย' จะสามารถแบ่งออกเป็น 'เป้าหมายระยะสั้น' กับ 'เป้าหมายระยะยาว' แต่ 'การลงทุน' เป็น 'การลงทุนระยะยาว' เสมอ จึง 'ไม่อาจปล่อยปละ' ให้อยู่ในสภาพที่ 'ไร้ระบบระเบียบ' แต่จะต้องมี 'ความละเอียดรอบคอบ' ในการใช้ 'ทุนทรัพย์' อย่าง 'ระมัดระวัง' ด้วยการ 'กำหนดเป้าหมาย' ในแต่ละระยะให้ดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'ต่อเนื่อง'...  ; ... อย่างไรก็ตาม 'ความชัดเจน' ของ 'เป้าหมายระยะยาว' ซึ่งเป็น 'ปัจจัยสำคัญ' ของ 'การกำหนดทิศทาง' นั้น ก็จะต้องได้รับ 'การทบทวน' อย่าง 'สม่ำเสมอ' ด้วย 'เงื่อนไข' ของ 'ความเปลี่ยนแปลง' ต่างๆ ที่อาจส่ง 'ผลกระทบ' ต่อ 'แนวนโยบาย' ที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อที่จะสามารถ 'ปรับปรุง' หรือแม้แต่ 'เปลี่ยนแปลง' ให้ 'สอดคล้อง' กับ 'สภาวการณ์แวดล้อม' ที่ 'เปลี่ยนแปลง' ไปด้วย 'ปัจจัย' และ 'เงื่อนไขภายนอก' ที่ไม่อยู่ใน 'อำนาจการควบคุม' ขององค์กร เพื่อมิให้องค์กรต้อง 'ล่มสลายลงไป' เพียงเพราะ 'ความยึดติด' ใน 'เป้าหมาย' ที่ 'ไม่สอดคล้อง' กับ 'ทิศทาง' ที่ 'เปลี่ยนแปลงไปแล้ว' ของ 'ปัจจุบันขณะ'

    • 'การดำเนินกิจการงาน' เพื่อบรรลุ 'เป้าหมายร่วมกัน' ขององค์กรหนึ่งๆ นั้น 'แต่ละส่วนงาน' ย่อมต้อง 'ทุ่มเทความพยายาม' ด้วย 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' และพร้อมที่จะ 'เผชิญอุปสรรค-ปัญหา' อย่าง 'ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว' โดย 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ใดๆ อีกทั้งยังต้องมี 'ระเบียบวินัย' ใน 'การปฏิบัติงาน' ที่จะต้อง 'สอดคล้อง' ไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' เสมอ เพื่อให้ 'การรุกคืบ' หรือ 'การยับยั้ง-หลบหลีก' มี 'ความเป็นลำดับขั้นตอน' ที่ 'ไม่บั่นทอนกำลัง' ของกันและกัน
    • 'การลงทุน' ซึ่งต้องพิจารณาถึง 'เป้าหมายระยะยาว' เป็นเรื่องที่ต้องใช้ 'ความละเอียดรอบคอบ' เนื่องจากมี 'ความสลับซับซ้อน' ด้วย 'ปัจจัยแวดล้อม' หลายปัจจัยประกอบกัน 'การกำหนดทิศทาง' และ 'การสร้างระบบระเบียบ' ของ 'ลำดับขั้นตอน' ต่างๆ ซึ่งเป็น 'รากฐานสำคัญ' ของ 'การดำเนินงาน' นั้น จึงควรที่จะได้รับ 'คำปรึกษา' และ 'ข้อเสนอแนะ' จาก 'ผู้มีความรู้' และ 'มากประสบการณ์' มาประกอบ 'การพิจารณา' อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ 'การติดตามผล' ของทุกๆ 'ความเคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลง' ในแต่ละระยะเวลา มี 'ความสอดคล้อง' กับ 'ทิศทาง' ของ 'ความเปลี่ยนแปลง' ได้อย่าง 'มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล' ตามที่ต้องการ
    • 'การระดมทุน' เพื่อใช้ใน 'กิจกรรม' หนึ่งๆ จะต้องพิจารณาถึง 'ความสอดคล้อง' ของ 'เหตุปัจจัย' ต่างๆ และ 'ความเหมาะสม' โดย 'เงื่อนไขของเวลา' ด้วยเสมอ ; 'การโหมลงทุน' จำนวนมากก่อน 'เวลาอันควร' ย่อมเป็น 'การบั่นทอนกำลังสำรอง' ขององค์กรให้ 'อ่อนล้าลง' โดยไม่ก่อให้เกิด 'ประโยชน์' เท่าที่ควร ; ในขณะที่ 'การระดมทุน' ที่น้อยกว่า 'ความต้องการที่แท้จริง' ของแต่ละ 'กิจกรรม' ย่อมส่งผลให้ 'การดำเนินงาน' ขาด 'ความคล่องตัว' และด้อย 'ประสิทธิภาพ' จนไม่สามารถ 'พัฒนาผลงาน' ให้ 'บังเกิดผล' อย่าง 'เต็มเม็ดเต็มหน่วย'
    • 'การห้าวหาญ' อย่าง 'ไม่มีเหตุผล' และ 'ความวิตกกังวล' อย่าง 'ไม่มีมูลเหตุ' นั้น คือสิ่งที่จะต้อง 'ลดละ' อย่าง 'มีวิจารณญาณ' โดยมุ่ง 'ความใส่ใจ' ไปที่ 'การติดตามผล' แห่ง 'พัฒนาการ' และ 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่เกิดขึ้นโดย 'ภารกิจ' ที่ 'ปฏิบัติลุล่วงไปแล้ว' เพื่อประกอบการพิจารณาถึง 'ความเหมาะสม' ของแต่ละ 'ลำดับขั้นตอน' ที่อยู่ระหว่าง 'การดำเนินงาน' ซึ่งยังอาจต้องได้รับ 'การปรับปรุง' ให้ 'สมควรแก่เหตุปัจจัย' ในแต่ละขณะ
    • 'ความเข้าใจ' ใน 'ระบบระเบียบ' และ 'หลักการดำเนินงาน' ที่ 'ถูกต้องตรงกัน' ย่อมส่งเสริมให้ 'การประเมินผล' และ 'การติดตามงาน' เป็นไปด้วย 'ความเรียบร้อย-ชัดเจน' ปราศจาก 'ข้อถกเถียง-โต้แย้ง' อันเป็นสาเหตุแห่ง 'ความอึดอัดคับข้องใจ' ที่ 'ไร้ประโยชน์' ต่อ 'พัฒนาการ' ทั้งปวง
    • 'การดำเนินงาน' ที่ 'ไร้ระบบระเบียบ' และ 'ปราศจากแผนงาน' ใดๆ มารองรองรับเลยนั้น นอกจากจะไม่สามารถกำหนด 'มาตรการ' เพื่อ 'การประเมินผล' ได้อย่างมี 'ประสิทธิภาพ' แล้ว 'ความสูญเสีย' ของ 'กำลังทุน' และ 'ทรัพยากร' อื่นๆ ที่ถูกใช้ไปอย่าง 'กระจัดกระจาย' ย่อมยากที่จะได้รับ 'การตรวจสอบ' อย่างทันท่วงที และจะเป็น 'มูลเหตุ' แห่ง 'ความฉิบหายย่อยยับ' ที่ทำให้องค์กรหนึ่งๆ ต้อง 'ล่มสลาย' ลงไป 'อย่างมืดบอด'