Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
||¦ .. ทฤษฎีที่กำหนดขึ้นมาเอง
ถ้าไล่ไปตามความหมายในภาคทฤษฎีที่ผมร่ายเอาไว้ตั้งแต่ต้น 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' จะถูกผมชำแหละออกเป็น 'สามส่วน' หรือ 'สามระดับชั้น' เสมอ ... โดยที่แต่ละส่วน หรือแต่ละระดับชั้นจะประกอบด้วย 'ภาพสัญลักษณ์สองขีด' คือ ⚎, ⚌, ⚍, และ ⚏ ตามตำแหน่งต่างๆ บน Sine Curve ซึ่งจะวนเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ … อันนี้ถ้าเขียนออกมาเป็น Biorhythms ก็น่าจะเห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนเหมือนอย่างที่เล่าไปแล้ว … ซึ่งถ้าจะมีใครนึกอุตริกว่านี้ก็อาจจะเอา 'วันที่เริ่มก่อตั้งองค์กร' ไปกำหนดเป็น 'วันเกิดขององค์กร' เพื่อเขียนเป็น Organization Biorhythms ขึ้นมา แล้วก็อ่านเส้นกราฟเพื่อเขียนออกมาเป็น 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ก่อนที่จะไปค้นหัวข้อนั้นๆ ในคัมภีร์ก็ไม่น่าจะแปลกประหลาดอะไร … :D … อันนี้นึกเล่นๆ สนุกๆ กันได้อยู่แล้ว … ;)
แต่ถ้าจะเล่นตามวิธีที่ผมคิดเอาไว้ ผมก็อยากจะแนะนำให้ใช้วิธีการแบบ Deliberative มากกว่า … คือเป็นวิธีการที่เราควรจะใช้เวลา 'ทบทวนตัวเอง' ว่า จริงๆ แล้ว เรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบไหนสำหรับแต่ละปัญหา หรือแต่ละคำถามที่เรากำลังนึกอยากจะหา 'ทางออก' ที่มัน 'สร้างสรรค์' กว่าเดิม … ซึ่งสมมุติว่าถ้าบทที่เราเลือกขึ้นมาอ่านนั้นมันดันให้คำตอบที่ไม่ค่อยจะถูกใจเราซักเท่าไหร่ … เราก็ควรจะต้องย้อน 'ทบทวนตัวเอง' ซะอีกครั้งสองครั้งว่า เรากำหนดเงื่อนไขของสถานการณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้วรึยัง ?! … มีอะไรที่ยังตกหล่น ?! … หรือมีอะไรที่เราตีความสถานการณ์ผิดพลาดไปบ้างมั้ย ?! … หรือ … จริงๆ แล้วตัวเราเองต้องการจะเห็นสถานการณ์แบบไหนกันแน่ ?! … แล้วก็เลือกอ่านซะใหม่ … :D … เพื่อจะดูว่าในแต่ละสถานการณ์ที่เรากำลังประสบอยู่นั้น เรามี 'ทางเลือก' ที่จะปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน ?! … มีอะไรบ้างที่น่าจะต้องระมัดระวัง ?! … มีอะไรบ้างที่ต้องรีบเร่ง ?! … มีอะไรบ้างที่ควรจะรั้งรอ ?! … ฯลฯ … อันนี้เน้นๆ เลยครับ เพราะผมไม่ค่อยนิยมการเสี่ยงทาย และค่อนข้างจะเชื่อมั่นว่า ทั้งหลายทั้งปวงของ 'พิธีกรรมขอคำปรึกษา' จาก 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ล้วนแล้วแต่เป็น 'กุศโลบาย' เพื่อให้เรา 'ทบทวนตัวเอง' ทั้งสิ้น ;)
อ้ะ … ถ้างั้นที่หลายๆ ตำราเขาพยายามโฆษณาวิธีการเสี่ยงทายที่ร่ำลือกันนักหนาว่าแสนจะแม่นยำนั่น ล่ะ ?! … พร้อมๆ กับสำทับไว้ด้วยว่า ไม่ควรจะเสี่ยงทายมากกว่าหนึ่งครั้งต่อหนึ่งคำถาม ไม่งั้นมันจะไม่ขลัง !! … ผมว่ามันก็เล่นอย่างนั้นได้เหมือนกันนะครับ :D … คือผมมองของผมอย่างนี้ครับว่า หากเราจะเล่นเป็น Random Words กันจริงๆ เนี่ยนะ การที่เราสร้างเงื่อนไขจำกัดให้ตัวเองต้อง 'ครุ่นคิด' หรือ deliberate ให้มันเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด หรือ 'เฉพาะคำ' ที่ถูก 'สุ่ม' ขึ้นมา การไม่เสี่ยงทายซ้ำ หรือการที่เราไม่พยายามมองหาภาพสัญลักษณ์อันใหม่ มันเป็นวิธีเล่นวิธีหนึ่งที่ 'บังคับ' ให้เราต้อง 'คิด' เพื่อหาอะไรบางอย่างออกมาให้ได้ … ทุกๆ 'ความคิดสร้างสรรค์' ในจักรวาลแห่งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงที่ได้รับจาก 'ความบีบคั้น' ที่ผู้สร้างสรรค์หนึ่งๆ 'จงใจ' ที่จะ 'บีบคั้นตัวเอง' ทั้งสิ้น !! .. :D … 'การคิดนอกกรอบ' ไม่ได้หมายถึงการคิดอย่างไร้ระเบียบแบบแผน แต่มันคือการคิดอย่างมีระบบระเบียบอย่างยิ่งยวด เพื่อที่จะ 'กลั่น' เอา 'ธาตุแท้' อันเป็นสุดยอดที่สุดของระบบระเบียบนั้นๆ ออกมาให้ได้ … โดยอาศัย 'เป้าหมายที่ต้องการ' เป็นตัว 'กำหนดกรอบใหม่' ที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเสมอ … เราถึงไม่เรียกอาการขี้เรี่ยราดของสุนัขข้างถนนว่า Creative ไง !!! …ถูกมั้ย ?!?! … :D …
สมมุติว่าไม่ชอบวิธีการที่เล่ามาทั้งหมดนี้เลยล่ะ ?! … ทำไง ?! … ง่ายมากครับ … กำหนดทฤษฎีใหม่ขึ้นมาสิ !! :D … อย่างเช่นว่า … ผมเอา 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ใน 'โป้ยก่วย' ไปแทนหน้าที่การงานต่างๆ ที่ถือเป็น 'แกนหลัก' หรือ 'องค์ประกอบธาตุ' ขององค์กร … ยกตัวอย่างที่ตัวหัวเลยก็ได้ … ☰ ที่ผมแทนด้วยตำแหน่ง CEO หรือ Chief Executive Officer … แล้วผมก็บอกว่าทุกๆ องค์ประกอบจะต้องมี 'หยิน' และ 'หยาง' ผสมอยู่ด้วยสัดส่วนต่างๆ กันเสมอตามหลักของ 'ไท้เก๊ก' … แต่สิ่งที่ปรากฏสู่สายตายของพวกเราเท่านั้นที่จะเห็นว่ามันเป็น 'หยิน' หรือเป็น 'หยาง' … ซึ่งถ้าคิดอย่างนั้น 'หลักในการครองตน' ของผู้นำ หรือ 'หลักแห่งผู้นำ' ตาม 'คัมภีร์อี้จิง' ก็น่าจะต้องมี 8 ประการ 48 ข้อปฏิบัติ … เพราะภาพสัญลักษณ์ ☰ ย่อมสืบเนื่องมาจากองค์ประกอบที่เป็นไปได้ 8 ประการคือ ䷀ ䷅ ䷱ ䷥ ䷍ ䷉ ䷫ ䷿ ซึ่งก็คือ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ที่มีเส้นที่ 2, 4, 6 (นับจากล่างขึ้นบน) เป็นเส้น 'หยาง' เพราะนั่นคือ 'ตำแหน่งของสัญลักษณ์ที่แสดงออกภายนอก' ตามทฤษฎีแบบ 'อี้จิง' โดยรายละเอียดของแต่ละสัญลักษณ์ก็จะมี 'ข้อแนะนำ' สัญลักษณ์ละ 6 ประการ รวมเป็น 48 ข้อปฏิบัติของ 'ผู้นำ' … อ๊ะ … อันนี้น่าสนุก เพราะเพิ่งจะคิดขึ้นมาระหว่างที่เขียนเอกสารฉบับนี้เอง … :D … ว่าแล้วก็ทำเป็นตารางไว้ซะเลย เผื่อว่าจะหยิบมาเล่นได้สะดวกๆ … :P
โอ้ว !! … มหัศจรรย์พันลึกมาก ไม่มีสัญลักษณ์ซ้ำกันเลยแฮะ !! :D … เออ … อันนี้สนุกดี … น่าจะเอาไปดัดแปลงเขียนเป็น Job Description ซะให้เข็ด … :D … แต่ผมไม่ยืนยันนะครับว่าจะเล่นแบบนี้ได้จริงๆ ผมเพียงแต่บังเอิญนึกขึ้นมาเฉยๆ ว่ามัน 'อาจจะ' เป็นไปได้เท่านั้นเอง ;) … แต่ก็น่าสนใจไปอีกแบบ :P … ย้อนกลับไปที่ทฤษฎีเดิมที่ตั้งใจจะเขียนเป็น ZhuqiChing ดีกว่า … ส่วนไอ้ตารางนี่เก็บไว้แยกเขียนเป็นเอกสารอีก 8 ฉบับแทน :D
สิ่งหนึ่งที่อาจจะกวนอารมณ์ของหลายๆ คนก็คือ เวลาที่เอ่ยถึง 'หยิน' และ 'หยาง' ด้วยคำอื่นที่มี 'ค่าทางความรู้สึก' แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น 'ลบ-บวก', 'หญิง-ชาย', 'อ่อน-แข็ง', 'มืด-สว่าง', 'ดำ-ขาว', 'passive-active' … ฯลฯ … เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มี 'ค่าทางความรู้สึก' ที่ส่งผลเป็น 'ชอบ' หรือ 'ไม่ชอบ' แทบทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคำว่า 'หยิน' กับ 'หยาง' นั้น เป็นเพียงคำกลางๆ ที่ไม่ได้ให้คุณค่าในแง่ของ 'ดี' หรือ 'ไม่ดี' แต่ประการใดเลย … เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะหาคำมากลบเกลื่อนความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีทั้งหลายออกไปให้หมด ผมเลยคิดว่าจะใช้คำที่แสดงความเป็น 'หยิน' และ 'หยาง' ในแบบที่ให้ความรู้สึกเป็นกลางๆ แทน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ถึงกับก่อให้เกิดความรู้สึกในด้านที่ไม่ดีขึ้นมา … ซึ่งในที่นี้ผมก็จะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่จะใช้กับ Biorhythms กับกลุ่มที่จะใช้กับ Organization Code …
ฟังดูสบายๆ ในแง่ของการดำรงชีวิต แล้วก็ดูเป็นกลางๆ เหมือนปรกติของการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปดีเหมือนกัน ซึ่งก็ยังพอจะได้ความรู้สึกที่เป็น 'หยิน' หรือ 'หยาง' ไปพร้อมๆ กันอีกต่างหาก … แล้วมันก็ยังฟังดูเป็นกระบวนการที่สามารถต่อเนื่องเป็นวัฏจักรกันได้ด้วย … เก้าะ … เอาตามนี้แหละ … เนอะ !! ... :P … เพราะฉะนั้น สมมุติว่าเราได้ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ออกมาเป็น ䷿ ซึ่งก็คือ 'วันเกิด' นั่นแหละ :) … ผมก็จะ 'ตีความ' ให้ออกมาเป็นว่า “อารมณ์สดชื่น – ปัญญาสดชื่น – สุขภาพสดชื่น” … แหม้ … ฟังดูน่าเกิดมากเลย … :D … แต่ถ้าเป็นองค์กรเราก็จะอ่านว่า “นโยบายเตรียมรุก – แผนงานเตรียมรุก – ฝ่ายปฏิบัติการเตรียมรุก” ซึ่งก็ฟังดูคึกคักกระฉับกระเฉงดี … เหมือนกำลังเตรียมพร้อมที่จะประกาศใช้ campaign ใหม่อะไรซักอย่างเลย … :D … ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์ของ 'อี้จิง' ก็จะเห็นเป็นสัญลักษณ์ของ 'ไฟที่อยู่เหนือน้ำ' หรือแปลกลับมาเป็น Organization Code ก็จะแปลได้ว่า เป็นวาระของแผนปฏิบัติการที่จะใช้ 'ผลิตภัณฑ์ชูธงนำหน้าบุคลากร' … อือม์ … ดูแล้วเข้า ก๊ า น เข้ากันจริงๆ เลย !! … :D …
ก็ถือโอกาสบอกเล่าวิธีการ 'ตีความ' กับถ้อยคำที่คิดว่าจะนำมาใช้ในเอกสารฉบับนี้ให้พอเป็นแนวทางไว้ก่อนเท่านั้น ล่ะครับ แล้วก็เลยชวนคุยเล่นคุยหัวไปตามประสา ส่วนหนึ่งผมก็เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นมีความยืดหยุ่นต่อการอ่านมากๆ ซึ่งเราสามารถเลือกอ่านได้ตั้งหลายแบบหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเรานึกสนุกพอที่จะหยิบเอาเหลี่ยมมุมไหนของมันมาคิดแล้วขยายความต่อยอดออกไป
หลายคนอาจจะเคยคิดเป็นคำถามไว้ว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ที่มีเพียง 64 บทนั้น จะสามารถครอบคลุมเรื่องราวได้มากมายซักแค่ไหนกัน ??!! … ซึ่งผมเองก็เคยคิดในมุมแบบนี้ด้วย … :P… การที่เราเพียงแค่พิจารณาให้ ⚋ หมายถึง 0 และให้ ⚊ หมายถึง 1 … เมื่อเอามาเรียงซ้อนกัน 6 ขีด มันก็ย่อมหนีไม่พ้น 2^6 ซึ่งก็จะมีค่าเท่ากับ 64 เสมอ … แต่หากเราเลือกที่จะพิจารณาให้ทั้ง 64 บทเป็นส่วนผสมของ 'หยิน' และ 'หยาง' ที่ไม่ใช่ 'หยิน' หรือ 'หยาง' อันเดิมของมันล่ะ ??!! … ถ้าเราเลือกพิจารณาที่ 'คำอธิบาย' ซึ่งกำกับไว้ในแต่ละตำแหน่ง และมองว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงสลับไปสลับมาตามความเปลี่ยนแปลงของขีดอื่นๆ ที่รวมอยู่ในชุดของมันได้ นั่นก็หมายความว่า ในแต่ละตำแหน่งของ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ที่เราเห็นนั้น มันสามารถที่จะปลี่ยนแปลงได้ตำแหน่งละ 64 แบบ ไม่ใช่แค่ 2 แบบที่เป็น ⚋ หรือ ⚊ อย่างที่เคยเข้าใจกัน … ซึ่งก็จะมีผลให้ 'คัมภีร์อี้จิง' สามารถเสนอ 'ข้อแนะนำ' ต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้มากถึง 64^6 หรือ 68,719,476,736 แบบในทันที !!! … นี่ยังไม่นับรวมว่าถ้าเรามองให้ทั้ง 384 ขีดของ 'คัมภีร์อี้จิง' เป็นอนุกรมที่ต่อเนื่องกันตลอด 384 ตำแหน่งนะ !!??! … :P … เพราะฉะนั้น อย่าไปเพ้อถึง 'คัมภีร์อี้จิงฉบับสมบูรณ์' ให้สยองอารมณ์ตัวเองเลยจะดีกว่า … :D … เอาแค่หามุมสบายๆ เพื่อคิดอะไรสนุกๆ ไปกับมันได้บ้าง เท่านั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วล่ะครับ !! ;)