Who Owns The Future

10/6/2013


Book Title: Who Owns The Future
Author(s): Jaron Lanier
Format: Hardcover ; 384 pages
Publisher: Allen Lane ; April 1, 2013)
Language: English
ISBN-10: 184615228
ISBN-13: 9781846145223
Product Dimensions: 9.1 x 6.3 x 1.4 inches

ต้องยอมรับล่ะครับว่า ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ Jaron Lanier ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลย ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะผมไม่ใช่ geek นั่นแหละ ถึงไม่เคยให้ความสนใจกับ Computer Geek ระดับนักปรัชญาที่ใครๆ ให้การยกย่องรายนี้ ... แม้ว่าในที่สุดผมจะตัดสินใจซื้อหนังสือ Who Owns The Future ของแกมา "พยายามอ่าน" แต่นั่นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาพถ่ายของแกบนปกด้านในของหนังสือเล่มนี้ ดูยังไงก็ไม่คล้ายทั้ง 2 ประเภทที่ผมเอ่ยถึงเลยซักนิดเดียว แต่เหมือน "นักดนตรี" แนวไหนซักแนวมากกว่า ... :D ... (ซึ่งจริงๆ แล้ว แกก็เป็นคนที่หลงใหลอย่างน่าทึ่งในเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดนตรีอยู่เหมือนกัน)

Jaron Lanier น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของ "โลกดิจิตอล" อันเป็นแกนหลักแกนหนึ่งของ "เศรษฐกิจยุคข่าวสารข้อมูล" อย่างลึกซึ้งพอสมควร หรืออย่างน้อยที่สุด แกก็คงจะมีความเข้าใจในวิถีทาง และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ที่กำลังกลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมส่วนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ... ซึ่งภาพของ "อนาคตแห่งโลกออนไน์" ที่แกบรรยายไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีทั้ง "ความน่าทึ่ง" และ "ความน่าตกตะลึง" ปะปนกันไปแทบจะตลอดทุกหน้า เพราะดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างได้ก้าวล่วงเกินกว่า "จุดพอดี" ของ "การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์" ไปมากแล้ว โดยแกพยายามสื่อสารกับผู้อ่านว่า หาก "สังคมยุคข่าวสารข้อมูล" ยังคงดำเนินต่อไปในทิศทางเดิมๆ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กลไกทางเศรษฐกิจของมนุษย์ก็คงจะถึงกาลอวสานก่อนที่จะสิ้นสุดศตวรรษนี้อย่างแน่นอน ... !!!???

มันอาจจะเป็นภาพที่น่ากลัวของคนที่มองโลกในแง่ร้าย แต่ก็เป็นภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากพวกเราทุกๆ คนยังคง "หลงระเริง" อยู่กับ "การไขว่คว้าความสะดวกสบาย" อย่างไม่สิ้นสุด เพราะถึงจุดหนึ่งแล้ว มนุษย์อาจจะแค่ "ดูเหมือน" สามารถควบคุมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่กลับถูก "ครอบงำทางจิตสำนึก" โดยที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ใครกันแน่ที่กำลัง "ควบคุม" ใครในอนาคต ??!! ... สังคมมนุษย์อาจจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทุกคนสามารถมี "ความสะดวกสบายอย่างไร้สำนึก" โดยไม่อาจจำแนก "ความเป็นมนุษย์" ออกจาก "ความเป็นวัตถุสิ่งของแห่งยุคสมัย" ใดๆ ได้อีกเลย !!?? ... เก้าะ ... ไม่รู้จะเรียกว่า "น่าอภิรมย์" ได้มั้ยในสภาพแวดล้อมทางสังคมแบบนั้น ??!!

ก่อนหน้านี้หลายปี Alvin Tofler เคยนำเสนอภาพแห่งอนาคตของสังคมมนุษย์ไว้ในหนังสือเรื่อง The Third Wave ของเขา (ประมาณ) ว่า ... "ผู้คนในสังคมจะโหยหาสิ่งเก่าๆ ในอดีต เพื่อชดเชยให้กับความไม่เป็นแก่นสารของวิถีชีวิตในสังคมยุคข่าวสารข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้รากมากยิ่งขึ้น ... มันจึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็น "การคืนชีพ" ของบทเพลงเก่าๆ, ดนตรีเก่าๆ, หนังสือเก่าๆ, หรือจินตนาการเก่าๆ ทั้งหลายแหล่ผุดกลับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา" ... นั่นเป็นเพราะมนุษย์จำเป็นต้องมี "สิ่งยึดเหนี่ยว" บางอย่าง เพื่อโอบอุ้ม "จิตสำนึก" ในแง่ของ "คุณค่า" และ "ความหมาย" ของ "การดำรงอยู่" ของตน ... ใช่รึเปล่า ?! ... ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ "ศักยภาพของความเป็นมนุษย์" ถูกลดทอนลงไปเป็นเพียง "เครื่องจักร" หรือ "สิ่งอำนวยความสะดวก" ทั้งหลาย จึงไม่อาจเติมเต็ม "ความปรารถนาที่แท้จริง" ภายในจิตวิญญาณของมนุษย์ได้เลย ... ใช่มั้ย ?! ... หรือ "ความสะดวกสบาย" ทั้งหลายทั้งปวงที่บรรดานักคิดนักประดิษฐ์ต่างๆ ช่วยกัน "เทกระจาด" ใส่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น กำลังกลายเป็น "สิ่งเร้า" ที่กระตุ้นให้มนุษย์ทุกๆ คนต้องย้อนถามตัวเองด้วยคำถามอันเก่าแก่ที่ว่า ... "เราเกิดมาทำไม ?" ... "เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ?" ... รึเปล่า ?! ...

... หาก "การดำรงอยู่ของมนุษย์" กลายเป็น "สิ่งที่ไร้ความหมาย" ในสังคมที่ทุกสิ่งล้วนสำแดง "ความเป็นอนิจจัง" อย่างรวดเร็วในยุคข่าวสารข้อมูล ... "การโหยหาคุณค่าความหมาย" แห่ง "การดำรงอยู่ของตน" จะหมายถึง "การโหยหาแก่นสารอันมั่นคง" ให้กับ "อัตตา" ด้วยมั้ยล่ะ ?! ... ฤๅมนุษย์ต้องดำรงชีวิตอยู่กับ "ถ้อยคิดอันขัดแย้ง" ของ "การดำรงอยู่อย่างมีแก่นสาร" ที่ "ปราศจากรอยประทับแห่งอัตตา" จึงจะถือว่า "มีสติ" อันครบสมบูรณ์ ... ?!?! ...

ว่าแล้วก็อ่าน Who Owns The Future ของ Jaron Lanier บนความวุ่นวายแห่ง "สงครามทางความคิด" ในสมองของตัวเองต่อไป ... :D

 

 

How is the Internet Changing the Way You Think?

4/6/2013


Book Title: How is the Internet Changing the Way You Think?
Editor(s): John Brockman
Format: Hardcover ; 352 pages
Publisher: Atlantic Books ; January 1, 2012
Language: English
ISBN-10: 0857892452
ISBN-13: 9780857892454
Product Dimensions: 9.5 x 6.6 x 1.3 inches

ว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้หลายวันละ เป็นหนังสือเล่มหนาแต่เนื้อความแต่ละท่อนไม่ได้ยาวเฟื้อยจนเมื่อยสมาธิซักเท่าไหร่ เพราะเป็นบทความสั้นๆ ที่นักคิด, นักเขียน, กับนักอะไรมั่งก็ไม่รู้อีกตั้งกว่าร้อยคนเขียนขึ้นมาเพื่อตอบคำถามที่ Edge ตั้งขึ้นมาลอยๆ ว่า "อินเทอร์เน็ตกำลังเปลี่ยนวิถีคิดของคุณอย่างไรบ้าง?" ... ประมาณว่า "กรอบคิด" ของผู้คนในสังคมมักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ "การดำเนินชีวิตประจำวัน" ของพวกเขาเสมอ เช่นเดียวกับ ทีวี, ตู้เย็น, รถยนต์, ฯลฯ หรือแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายตั้งแต่ยุคแรกๆ ของสังคมมนุษย์ ... และอาจย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นของ "วิวัฒนาการของการสื่อสารด้วยภาษา" ในรูปแบบต่างๆ ด้วย

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คงจะอยู่ตรงที่ว่า ผู้คนในแต่ละสาขาวิชาที่ร่วมกันเขียนบทความเหล่านี้ขึ้นมา ล้วนมี "แนวคิด" ต่ออินเทอร์เน็ตแตกต่างกันไปไม่มากก็น้อย บ้างก็เห็นดีเห็นงามไปหมดซะทุกด้าน, บ้างก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ค่อยวางใจกับมันซักเท่าไหร่, บ้างก็มองไปในแง่ที่ภัยคุกคามต่อสังคมโดยรวมไปเลย, ฯลฯ ... ซึ่งแต่ละคำตอบล้วนเขียนจากความรู้สึกของแต่ละคน โดยไม่มีการ "พาดพิง" หรือ "กระแนะกระแหน" คนอื่นๆ ว่าเป็น "สิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์อื่น" ให้วุ่นวาย ... :D ... น่ารักดี !! ... ;)

ก็คงต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่หนังสือที่อ่านเพื่อความบันเทิง แล้วก็อ่านไม่ง่ายซักเท่าไหร่ด้วย เพราะศัพท์แสงและรูปประโยคที่หลายคนใช้ในหนังสือเล่มนี้ดูไม่ค่อยคุ้นตาเลย เก้าะเลยคิดว่า น่าจะเอาไว้อ่านเพื่อเพิ่มพูนคำศัพท์ซักหน่อยน่าจะดี ... :D ... กับน่าจะลองทบทวนตรวจสอบตัวเองด้วยว่า ตัวเรามีความเปลี่ยนแปลงใน "วิถีคิด" ไปมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ได้คลุกคลีอยู่กับเจ้าเทคโนโลยีชนิดนี้มาตั้งหลายปี ... จาก "ความตื่นเต้น" เพราะ "ความแปลกใหม่" ในอดีต กลายเป็น "เรื่องปรกติ" จน "น่ารำคาญ" ไปแล้วกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ?! ... จาก "ความใจจดใจจ่อ" ต่อ "การรอคอย" กลายเป็น "ความอืดอาด" ที่ "รอไม่ได้" ไปแล้วกี่อย่าง ?! ... เมื่อ "รูปแบบทางพฤติกรรม" ของผู้คนเปลี่ยนไป มันจะเป็นไปได้ยังไงที่ "วิถีคิด" ของผู้คนจะไม่มี "การเปลี่ยนแปลง" ??!! ... "การเป็นตัวของตัวเอง" ใน "วันนี้" ไม่น่าจะใช่ "การเป็นตัวของตัวเรา" ใน "อดีต" อีกแล้วมั้ง ?! ... ดังนั้น จึงไม่มีใครที่ "เป็นตัวของตัวเองเสมอ" อย่างแน่นอน !!??

... ลองถามหา "คำตอบ" จากในใจของตัวเองซักครั้งซิว่า "อินเทอร์เน็ตกำลังเปลี่ยนวิถีคิดของคุณอย่างไรบ้าง?" ... นะ !!

 

 

การเมืองเรื่องหน้ากาก

31/5/2013

จู่ๆ ไม่กี่วันก่อนก็มี "กระแสสวมหน้ากาก" Guy Fawkes บนหน้าโปรไฟล์ของ facebook กันเป็นทิวแถว ถึงแม้ว่าผมจะเคยเห็นการใช้ "สื่อสัญลักษณ์" เดียวกันนี้ในข่าวการประท้วงบางอย่างของประเทศอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ผมก็ไม่ได้ไปสนใจอะไรกับมันมากนักหรอก เพราะดูมันจะมี "ความเป็นของฝรั่ง" มากกว่า "ความเป็นของไทย" อยู่ซักหน่อย โดยเฉพาะสื่อที่ทำให้หน้ากาก Guy Fawkes กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีแต่ "หนังฝรั่ง" เท่านั้นแหละ ... แล้วความหมายของหน้ากาก Guy Fawkes ตามที่บอกเล่าไว้ในหนังเรื่องนั้นคืออะไรผมก็ไม่รู้หรอกครับ เพราะผมตั้งใจดูแค่ Natalie Portman เท่านั้นเอง ... :D

กระทั่งมีการเอ่ยอ้างถึงหน้ากาก Guy Fawkes จนกลายเป็น "กระแส" ในสังคมไทยนั่นแหละ ผมค่อยนึกอยากจะไปค้นความหมายกับที่มาที่ไปของ "การใช้สัญลักษณ์" ดังกล่าว เพื่อที่จะรู้กับเขาบ้างว่า จริงๆ แล้วมัน "สื่อสาร" ถึงอะไรกันแน่ ?! ... แต่พอรู้เรื่องราวอันเป็นประวัติส่วนหนึ่งของ Guy Fawkes แล้ว ผมกลับไม่ค่อยชอบสัญลักษณ์ของแกซะงั้น ... ??!! ... อันนี้เป็นเรื่องของ "ความรู้สึก" หรือ "รสนิยม" ส่วนตัวล้วนๆ เลยครับ ไม่เกี่ยวกับเหตุผลอะไรทั้งหมด ... :D ... เพราะฉะนั้น จากเดิมที่ผมก็ไม่ค่อยจะสนใจเจ้า "หน้ากากขาว" นี้อยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นคำถามขึ้นมาในใจว่า "ทำไมเราถึงต้องใช้สัญลักษณ์ที่เราไม่ชอบที่มาของมันด้วยวะ ?!"

จริงอยู่ที่มันก็เป็นแค่ "สัญลักษณ์" ที่กลุ่มบุคคลหนึ่งๆ "ใช้ร่วมกัน" เพื่อแสดง "การต่อต้านอำนาจรัฐ" ... แต่ถ้ามันเป็น "แค่" สัญลักษณ์ธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป มันก็จะไม่มี "ความสลักสำคัญ" อะไรเลยงั้นสิ ... ?! ... แล้วถ้ามันมี "ความสลักสำคัญ" ขนาดที่กลุ่มบุคคลหนึ่งๆ "ต้องการใช้ร่วมกัน" จริงๆ ... ผมก็คิดว่ามันควรจะมี "ความพิถีพิถัน" ในการ "เลือกใช้" ให้มากกว่านี้ ไม่ใช่นึกอยากจะหยิบอะไรขึ้นมาตามกระแสของคนอื่นประเทศอื่นอย่างไม่ต้องคิดอะไรเลย ... รึเปล่า ?! ... หรือเราควรจะ "เลือกใช้สัญลักษณ์" ให้มี "ความสอดคล้อง" กับสิ่งที่กลุ่มบุคคลหนึ่งๆ พยายามสื่อสารเพื่อ "เรียกร้องต้องการ" ... ดีกว่ามั้ย ??!! ... ถ้า "แค่" ขอให้ใช้ "สัญลักษณ์อะไรก็ได้" ร่วมกัน ... ไม่เอา "ปลัดขิก" ไปซะเลยล่ะ ??!!

ผมเข้าใจเอาเองนะครับว่า การนำ "สัญลักษณ์สำเร็จรูป" ที่มีอยู่แล้วมา reuse กันเฉพาะกลุ่ม คงเป็นวิธีการที่ "ง่ายกว่า" เพราะอย่างน้อยมันก็สามารถ "สื่อ" ถึง "ความเป็นกลุ่มก้อน" ของกลุ่มบุคคลที่คิดเหมือนๆ กันได้อย่างทันอกทันใจพอสมควร เนื่องจากทุกๆ คนจะสามารถ catagorize ตัวเองว่ามีความคิดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ "เลือกใช้สัญลักษณ์เดียวกัน" นี้ได้ โดยไม่มีใครต้องต้องเสียเวลาไปคิดหรือออกแบบ "ตราสัญลักษณ์" ขึ้นมาใหม่ให้ต้องพิจารณาร่วมกัน ... แม้ว่า "ความหมายแห่งสัญลักษณ์" ที่ว่านั้น อาจจะมีความผิดเพี้ยนไปจากเรื่องราวของมันเมื่อประมาณ 4 ศตวรรษที่แล้วก็ตาม ... แต่ ... บังเอิญว่า ผมไม่นิยมการ categorize ตัวเองแบบนี้ไง ... เท่านั้นแหละ !! ... :D

ดังนั้น แม้ว่าผมจะเห็นด้วยกับ "การต่อต้านอำนาจเฮงซวยของรัฐ" แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการ "เลือกใช้" หน้ากาก Guy Fawkes เพราะมันมีความเป็นมาที่อยู่บนพื้นฐานของ "ความขัดแย้ง" ทางแนวคิดและศรัทธา ... ก็ถ้า "รัฐ" ไม่ได้ใช้ "อำนาจ" อย่าง "เฮงซวย" ล่ะ ?! ... ถ้า "รัฐ" เลือกที่ใช้ "อำนาจ" เพื่อผดุง "ความเป็นธรรม" ในสังคม ไม่ว่าจะมีใครชอบใจหรือไม่ชอบใจแค่ไหนก็ตามล่ะ ??!! ... เราจะ "ต่อต้านอำนาจรัฐ" ด้วยมั้ย ??!! ... ผมมี "ความเชื่อ" อยู่อย่างหนึ่งว่า หลายๆ คนที่ร่วมอยู่ในกลุ่ม "ผู้ใช้สัญลักษณ์" Guy Fawkes นั้น น่าจะต้องการเรียกร้อง "ความถูกต้อง" และ "ความยุติธรรม" ของ "การใช้อำนาจรัฐ" ... ไม่ใช่ "ต่อต้านอำนาจรัฐ" ... ไม่ใช่ "ต่อต้านเผด็จการ" ... เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ "ทุกระบอบการปกครอง" ก็คือ "การสร้างความเป็นธรรม" ให้เกิดขึ้นในสังคม ... ความเป็นระบอบใดระบอบหนึ่งจึงไม่เคยสำคัญเท่ากับ "ความยุติธรรม" ที่ระบอบนั้นๆ หยิบยื่นให้กับผู้คนในสังคม ... เสมอ !!?? ... ผมก็เลยคิดว่า เรามี "สัญลักษณ์สำเร็จรูป" อื่นที่ "ตรงความหมาย" มากกว่าหน้ากากของ Guy Fawkes ซึ่งกลายมาเป็น "กระแส" เพราะ "ความบ้าจี้" ของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายรัฐบาลแท้ๆ ... !!? ...

แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือ หน้ากาก Guy Fawkes ซึ่งถูกทำให้โด่งดังจนเป็นที่นิยมกันอยู่นั้น มีใครยืนยันได้มั้ยครับว่า มันไม่มี "เงื่อนงำทางการค้า" ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ในเมื่อหน้ากากดังกล่าวเป็นผลงานการออกแบบที่ Time Warner ยังเป็นผู้ถือครอง "ลิขสิทธิ์ทางการค้า" อย่างเบ็ดเสร็จเพียงคนเดียวในเวลานี้ ... ??!! ... การใช้หน้ากาก Guy Fawkes เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงนู่นประท้วงนี่จนโด่งดังกลายเป็นข่าวไปทั่วโลกนั้น ... รู้ได้ยังไงว่าไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของ "การโฆษณา" โดย Time Warner ซะเอง ??!!

แล้ว "นกฮูก Knowly" ก็ใส่ "หน้ากาก" เป็น "ครั้งแรก" หลังจากถูก "เลือกใช้" ให้เป็น "สัญลักษณ์ประจำตัว" มาร่วมสิบปี ... แต่การนำเอา "หน้ากาก" ของ "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ยุติธรรม" ในความรู้สึกของใครต่อใครหลายคนมาเล่นนั้น ... จะดีกว่ามั้ย ?! ... จะเหมาะสมกว่ามั้ย ?! ... ผมไม่รู้หรอกครับ !!?? ... เก้าะ ... ผมชอบของผมแบบนี้นี่นา ... ใครจะทำไมเหรอ ?! ... :D

 

 

ถามเหมือนไม่ถาม

25/5/2013

หลายปีมาแล้วที่ผมเปลี่ยนมาใช้งาน "เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า Linux" ... ย้ำนะครับว่า "ผมไม่ได้ใช้ Linux" ... แต่ผมใช้งาน "เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า Linux" ... ??!! ... แล้วมันต่างกันยังไงเหรอ ?! ... ต่างกันโคตรก็แล้วกัน !! ... :D

มันเป็น "ความเข้าใจผิด" ของหลายๆ คนที่มักจะเชื่อว่า ตัวเอง "กำลังใช้ระบบปฏิบัติการ" ตัวใดตัวหนึ่ง ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว แต่ละคนที่ปฏิบัติงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ล้วนแล้วแต่ "ใช้งานแอพพลิเคชั่น" หรือ "ใช้งานซอฟต์แวร์ประยุกต์" ที่ "ติดตั้งอยู่บนระบบปฏิบัติการ" เท่านั้น ไม่ได้ "ใช้งานระบบปฏิบัติการ" โดยตรงเลยซักครั้งเดียว !!?? ... แต่ด้วย "ความมักง่าย" ของการใช้ถ้อยคำเพื่อการสื่อสาร พวกเรามักจะตัดทอนวลียาวๆ ที่ว่า "ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการตัวใดตัวหนึ่ง" เหลือเพียง "ใช้ระบบปฏิบัติการตัวนั้นตัวนี้" เช่น "ใช้ Windows", "ใช้ Mac", "ใช้ Linux", หรือ "ใช้ ไอ-เอส-โอ (ISO) ของ รมต. กระทรวงไอซีที (ปี พ.ศ.2556) ไปซะเลย ... :D ... จนในที่สุดก็กลายเป็น "การบั่นทอนความเข้าใจ" ของผู้คนที่สื่อสารด้วยจนไขว้เขวไปกันหมด !!

คืองี้ครับ ... ในโลกของ "ซอฟต์แวร์" (software) นั้น เขาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ เรียกว่า Operating Software หรือ Operationg System พวกนี้ก็คือประเภทที่แปลเป็นไทยว่า "ระบบปฏิบัติการ" ซึ่งจะมีกี่ระบบในโลกนี้ให้ไปลองถามผู้ "รู้แค่รอบๆ" อย่าง รมต กระทรวงไอซีที (ปี พ.ศ.2556) เอาเอง ... :D ... ส่วนอีกประเภทหนึ่งของซอฟต์แวร์นั้นเขาเรียกว่า Application Software ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า "แอ๊พ" หรือ "แอพพลิเคชั่น" โดยมีคำแปลไทยกึ่งทับศัพท์ว่า "ซอฟต์แวร์ประยุกต์" หรือ "โปรแกรมประยุกต์" นั่นเอง ... ความแตกต่างกันในระดับพื้นฐานของซอฟต์แวร์ 2 ประเภทนี้ก็คือ "ซอฟต์แวร์ประยุกต์" หรือ Application Software จะทำหน้าที่เป็น "ตัวกลาง" ระหว่าง "ผู้ใช้งาน" กับ "อุปกรณ์" ที่ประกอบกันขึ้นเป็น "เครื่องคอมพิวเตอร์" แต่ละระบบ โดยอาศัย "ชุดคำสั่งควบคุม" ที่ "ระบบปฏิบัติการ" หรือ Operating System หนึ่งๆ ใช้ในการสื่อสารกับ "อุปกรณ์ เหล่านั้น ... ถ้าจะเขียนเป็นข้อความกึ่งสัญลักษณ์ง่ายๆ ก็จะประมาณอย่างนี้ ...

 

ผู้ใช้ (user) ↔ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (applications) ↔ ระบบปฏิบัติการ (operation system) ↔ ส่วนประกอบในระบบคอมพิวเตอร์

 

เพราะฉะนั้น "ผู้ใช้" น่ะใช้งานแค่ "แอ๊พพลิเคชั่น" เท่านั้นครับ ในขณะที่ "แอ๊พพลิเคชั่น" คือสิ่งที่ต้องคอย "ประสานงาน" กับ "ระบบปฏิบัติการ" หรือ "ใช้งานระบบปฏิบัติการ" เพื่อให้ไปสั่งการ "อุปกรณ์อื่นๆ" อีกทอดหนึ่ง ... ไม่มีมนุษย์หน้าไหนเขา "ใช้งานระบบปฏิบัติการ" โดยตรงหรอกครับ !!?? ... เพราะฉะนั้น สิ่งที่ "ผู้ใช้" หนึ่งๆ ควรจะต้องสนใจก็คือ "ตัวเอง" นั่นแหละต้องการใช้ "แอ๊พพลิเคชั่น" แบบไหน ต้องมี "อุปกรณ์ต่อพ่วง" อะไรบ้างใน "งานที่ตัวเองต้องทำ" แล้วถึงจะระบุได้ว่า มี "ระบบปฏิบัติการ" ระบบไหนให้เราจะเลือกใช้ได้บ้าง ... ไม่ใช่เริ่มต้นที่การเลือก "ระบบปฏิบัติการ" นะครับ !!??!! ... ดังนั้น ... "คำถามที่เหมือนไม่ถาม" ประเภทที่ว่า "ใช้ Linux ดีมั้ย ?", "Windows กับ Mac อะไรดีกว่า ?", "Linux ใช้ยากรึเปล่า ?", "Linux ใช้งานได้ดีเทียบเท่ากับ Windows รึยัง ?", ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ "ไร้สาระทั้งเพ" ครับ !!!!

เราไม่จำเป็นต้องไปสนใจตั้งแต่แรกหรอกครับว่าอะไรดีกว่าอะไร เพราะเราต้องเลือกจาก "แอ๊พพลิเคชั่น" ที่เรา "จะต้องใช้" ซึ่งถ้าสิ่งนั้นมันต้องติดตั้งอยู่บน "ระบบปฏิบัติการ" ตัวไหนอย่างเฉพาะเจาะจง เราก็ต้องใช้เจ้า "ระบบปฏิบัติการ" ตัวนั้นอยู่วันยังค่ำ ... จริงมั้ย ?! ... แต่ถ้าสิ่งเดียวกันนั้นมันมีอยู่ หรือมี "ตัวทดแทน" ที่สามารถติดตั้งบน "ระบบปฏิบัติการ" ได้มากกว่าหนึ่งระบบ ถึงแม้ว่าอาจจะ "เก่งไม่เท่ากัน" แต่ถ้ามัน "เพียงพอ" กับ "งานที่เราต้องใช้" ... มันก็คือ "ทางเลือก" ที่มากขึ้นสำหรับเราเท่านั้น ... แล้วยังต้องสนใจอีกมั้ยว่า "ตัวไหนดีกว่า ?" ... ข้อนั้นไม่รู้ล่ะครับ ... เพราะอยู่ที่เราจะเอาด้านไหนไปเทียบกับด้านไหนของซอฟต์แวร์แต่ละตัว ...

งั้น ... "ตัวไหนใช้ยาก-ใช้ง่ายกว่ากันล่ะ ?" ... มันก็ไม่มีอะไรที่ไม่ต้องผ่าน "กระบวนการของการเรียนรู้" อยู่แล้วนี่ครับ ยากหรือง่ายก็ขึ้นอยู่กับ "ความชื่นชอบ" ของแต่ละคน ... ไม่ต้อง "ถามเหมือนไม่ถาม" กับคนอื่นหรอกครับ ให้ "ถามตัวเอง" ว่า "ชื่นชอบ" ระบบไหนหรือซอฟต์แวร์ตัวใดมากกว่ากัน ... แล้วก็เริ่มเรียนรู้และฝึกฝนจาก "สิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ" นั้นซะ ... แล้วก็จงเข้าใจไว้ด้วยว่า จำนวนของ "ผู้ใช้งาน" นั้นมีมากกว่าจำนวนของ "ระบบปฏิบัติการ" หรือ "แอ๊พพลิเคชั่น" ของทั้งโลกรวมกันอยู่แล้ว ... เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปกังวลให้เสียเวลาหรอกครับว่า เราจะเป็นเพียงคนเดียวในโลกที่ดันไป "ชื่นชอบ" ในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีใครคนอื่นเขาสนใจ ... เพราะมัน "เหลวไหล" ... ต่อให้เป็นไปได้ขนาดนั้นจริงๆ ... แล้วไง ??!! ... เราก็ต้องตัดสินใจด้วย "ตัวเอง" อยู่ดีล่ะครับว่า "อยากจะแห่ตามๆ คนอื่น หรืออยากจะยืนหยัดบนความเป็นตัวของตัวเอง" ... รึไม่จริง ??!! ... ;)

 

 

No One Is Perfect

ไม่ใครก็ใครซักคนล่ะวะที่สมบูรณ์แบบ ... :) | 21/5/2013 | Comments: 2

จู่ๆ ผมก็นึกถึง "วลีโหลๆ" ที่หลายคนชอบหยิบยกขึ้นมาพูด ... โดยมีบางคนที่พูดในเชิงตำหนิผู้อื่นว่า "อย่าหลงตัวเอง" ให้มันมากนัก เพราะไม่มีใครหน้าไหนหรอกที่ปราศจากข้อบกพร่อง ... บางคนก็พูดเพื่อ "ปลอบประโลมความไม่สมประสงค์ของตัวเอง" ในบางสิ่งบางเรื่อง แล้วคิดสั้นๆ แค่ว่า ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่รู้จะดันทุรังไปอีกทำไม ... บางคนก็พูดเพื่อ "เตือนสติ" ตัวเองว่า "อย่าท้อแท้สิ้นหวังในทุกสิ่ง" เพราะไม่มีใครหรือไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบจนไม่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นได้อีกแล้ว ... ฯลฯ ... มันคือหนึ่งในวลีที่มักจะถูกเอ่ยอ้างอย่างหลากความหมายหลายอารมณ์ ตามแต่กาละ-เทศะของการเอ่ยอ้างแต่ละครั้งของแต่ละบุคคล ... เพียงแต่โดยมากแล้ว คำว่า One ในวลีดังกล่าวมักจะถูกกำหนดความหมายให้เกี่ยวข้องกับ "ความเป็นบุคคล" มากกว่าแง่มุมอื่นๆ เท่านั้นเอง ... ;)

แล้วเราจะคิดให้มันกระเดียดไปหมายถึงด้านอื่นๆ มั่งได้มั้ยล่ะ ?! ...

  • มันจะหมายถึง "ระบอบการปกครอง" ไม่ว่าจะเป็นแบบใดแบบหนึ่งของ "ฝ่ายเผด็จการ" หรือ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ได้มั้ย ?!
  • มันจะหมายถึง "ระบบเศรษฐกิจ" ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบ "สังคมนิยม" หรือ "ทุนนิยม" ได้รึเปล่า ?!
  • หรือมันจะสามารถหมายถึง "ระบบการบริหารจัดการ" ไม่ว่าจะ "เปิดกว้าง" หรือ "ควบคุม" ไม่ว่าจะในระดับไหนๆ ก็ตามด้วยหรือไม่ ?!
  • หรือมันน่าจะหมายถึง "สาขาวิทยาการ" หนึ่งๆ ที่ต่างก็มีความโดดเด่นเฉพาะด้านของตน แต่ไม่มีสาขาใดที่ครอบคลุมทุกรายละเอียดของทุกเรื่อง ?!
  • หรือมันควรจะหมายความว่า "ความเป็นเอกภาพใดๆ ล้วนไม่มีความสมบูรณ์แบบ" ... ??!! ... งั้นต้อง "ทะเลาะเบาะแว้งกัน" รึไงถึงจะดีกว่า ... ??!!
  • ฯลฯ

ในขณะที่สังคมไทยยังคงวนเวียนอยู่กับ "วาทกรรมแห่งความขัดแย้ง" อย่างไม่ยอมโงหัว ... บ้างก็อ้าง "หลักวิชาการ" ที่ตนท่องจำจากเขามาราวกับเป็น "สุดยอดเคล็ดวิชา" ที่ล้ำเลิศประเสริฐสุดในปฐพี ... บ้างก็อ้าง "สัจจนิยมร่วมสมัย" ที่ผิดเพี้ยนเป็นอื่นไปไม่ได้ในทุกดินแดนของระบบสุริยจักรวาล ... บ้างก็อ้าง "อุดมการณ์อันสูงส่ง" ของหมู่มวลมนุษยชาติ โดยเชื่อว่ามีแต่เหล่า "เดียรัจฉาน" เท่านั้นที่จะไม่เข้าใจ ... บ้างก็อ้าง "วัฒนธรรมประเพณี" ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตชาติอันไกลโพ้นจนไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไงไปเพื่ออะไรอีก ... บ้างก็อ้าง "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ราวกับเป็นอาญาสวรรค์ที่ปราศจากช่องโหว่รอยรั่ว หรือข้อควรตำหนิติติงใดๆ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขก่อนการบังคับใช้อย่างเหมาะสม ... ฯลฯ ... มีการจำแนกแจกแจงผู้คนออกเป็นพวกเป็นกลุ่ม ราวกับ "การคัดแยกสายพันธุ์อันบริสุทธิ์" ของบรรดาสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เพื่อมิให้ "ความมีอัตลักษณ์ประจำกลุ่ม" ต้องเสื่อมเสียไปกับ "การผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์" ... ราวกับกำลังจะบอกกับ "คนทั้งโลก" ว่า ... "no one but me is perfect" ... ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาแห่ง "ความขัดแย้ง" นั้น ต่างฝ่ายต่างก็เหมาเอาเองว่า มีแต่ฝ่ายของตนเท่านั้นแหละที่เป็น "คน" ... ??!!

การที่ใครหลายคนมักจะเหมาๆ เอาเองว่า ... ไอ้นั่นดี, ไอ้นี่ถูกต้อง, หรือไอ้ไหนที่มันสมบูรณ์แบบนั้น ... ลึกๆ ลงไปแล้วก็เป็นเพราะว่า เมื่อ "ตัวมันเอง" ฝักใฝ่ไปในทางไหน มันก็จะ "ทึกทักของมันไปเอง" ว่า ไอ้นั่น, ไอ้นี่, หรือไอ้ไหน "ของมัน" นั่นแหละที่ดี, ที่ถูกต้อง, ที่สมบูรณ์ ... เพื่อที่จะสนองราคะลึกๆ ในใจของ "ตัวมันเอง" ว่า ตัวกูนั้นดี, ตัวกูนั้นถูกต้อง, ตัวกูนั้นสมบูรณ์แบบ ... แล้วก็พานไม่ยอมพิจารณาถึงข้อไม่ดี, ข้อไม่ถูก, และข้อไม่สมบูรณ์ของสิ่งเหล่านั้นไปซะ เพื่อจะถนอม "คุณค่าอันแสนจะจอมปลอม" ในใจตนต่อไป กับพยายามคุ้ยแคะแกะเกาสิ่งไม่ดี, สิ่งไม่ถูกต้อง, สิ่งที่บกพร่องไม่สมบูรณ์ของผู้อื่นฝ่ายอื่นมาโพนทะนาให้เป็นที่อับอาย เพื่อหวังจะทำลายความน่าเชื่อถือของผู้อื่นฝ่ายอื่นไปวันๆ ... เท่านั้น !!??

No One Is Perfect จึงน่าจะหมายความว่า "การไร้ซึ่งอัตตาที่คอยรวมกูแบ่งมึงนั่นแหละคือความสมบูรณ์แบบ" ... มั้ง ??!!

... มั้ ง ... เ ห ร อ ...??!! ...

เพราะจริงๆ แล้วคำว่า perfect ที่แปลว่า "สมบูรณ์แบบ" นั่นน่ะ มันมาจากการผสมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน คือ per ที่แปลว่า "สิ้นสุด", "ลุล่วง" กับคำว่า fecere ที่แปลว่า "กระทำ" ดังนั้น ความหมายตามรูปคำเดิมของ perfect จึงหมายถึง "สิ้นสุดแห่งการกระทำ" ... แน่นอนที่มันอาจจะได้รับการ "ตีความ" ว่า "ทำเสร็จแล้ว", "ทำเรียบร้อยแล้ว", "ไม่มีอะไรให้ทำอีกแล้ว", ... จนเพี้ยนมาเป็นความหมายว่า "เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์" และ "สมบูรณ์แบบ" ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ... แต่ ... ถ้าแปลกันอย่างตรงๆ ตัวจริงๆ ก็ต้องแปลว่า "สิ้นสุดแห่งการกระทำ" ซึ่งคำจีนที่ใกล้ที่สุดก็น่าจะเป็น ... 無為 (wú wèi, อู๋เว่ย) ... หรือ ... "ปราศจากการกระทำ" !!??

ถ้าอย่างนั้น ... No One Is Perfect ก็ควรจะมีความหมายตามตัวอักษรว่า "การไร้ซึ่งอัตตาของแต่ละบุคคลนั่นแหละคือความสิ้นสุดแห่งการกระทำ" หรือให้มันห้วนๆ ด้วนๆ กว่านั้นก็อาจจะแปลว่า "ไร้ซึ่งตัวตนคือไร้ซึ่งการกระทำ" ... เอ้า ... งั้น "ปราชญ์ย่อมกระทำโดยการไม่กระทำ" ก็คืออย่างนี้รึเปล่าหว่า ??!! ... แล้วนี่มันกลายเป็น "เต๋า" ไปได้ไงวะเนี่ย ??!! ... :D

 

 

เวไนยสัตว์ - เวไนยบุคคล

20/5/2013 | Comments: 5

เท่าที่เคยรับรู้มานั้น คำว่า "เวไนยสัตว์" หมายถึง สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน, หรือ สัตว์ผู้พึงดัดได้สอนได้ ... แต่สำหรับยุคสมัยที่ผู้คนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยดีเวลาถูกใครเรียกว่า "สัตว์" นั้น คำที่ว่านี้ก็ควรจะถูกเปลี่ยนไปเป็นคำว่า "เวไนยบุคคล" เพื่อที่จะแปลว่า "บุคคลผู้สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้" เพื่อที่จะไม่ต้องรู้สึกอิหลักอิเหลื่อเมื่อนึกถึง "สัตว์" ทั้งหลายที่ได้รับการฝึกสอนให้แสดงการละเล่นต่างๆ อย่างที่มนุษย์ต้องการ ... ;)

ยังไงเรียกว่า "การฝึกสอน" ?! ... ยังไงเรียกว่า "การอบรม" ?! ... หรือ ... ยังไงเรียกว่า "การพัฒนา" ?! ... จู่ๆ คนเราจะโตขึ้นมาเป็นนักวิ่งลมกรด, เป็นนักกีฬาระดับโลก, เป็นนักดนตรี, เป็นนักร้อง, เป็นนักเต้น, เป็นนักเขียน, เป็นนักแต่งเพลง, ฯลฯ, หรือเป็นนักอะไรต่อมิอะไร โดยไม่ต้อง "แข็งขืน" ต่อ "ธรรมชาติของตัวเอง" ได้มั้ยล่ะ ??!! ...

ผมเชื่อว่า "ไม่" !! ...

ต่อให้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ใครคนหนึ่งคลั่งไคล้ไหลหลงอย่างหัวปักหัวปำ แต่นั่นก็ไม่ใช่หลักประกันว่า เขาจะสามารถก้าวถึงจุดสูงสุดของสิ่งที่เขารักได้โดยไม่ต้อง "ทุ่มเท" แรงกายแรงใจใดๆ ในการ "ฝึกฝนตนเอง" อย่างจริงจัง ... ในทำนองเดียวกัน ... ต่อให้ใครคนหนึ่งเกลียดแสนเกลียดในสิ่งที่เขาถูกเคี่ยวเข็ญให้ต้องกระทำ เขาก็ยังอาจก้าวถึงจุดสูงสุดของสิ่งนั้นได้ หากเขาไม่ละทิ้งความอดทนต่อการเคี่ยวกรำทั้งหลายทั้งปวงที่ถาโถมใส่เขาอย่างสม่ำเสมอ ... เหมือนดังที่ จางซานฟง (張三豐) เคยกล่าวไว้ว่า "ในการฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ความเพียรเป็นต่อ พรสวรรค์เป็นรอง" ... นั่นเอง ...

นี่ก็คือความหมายของ "เวไนยสัตว์" หรือ "เวไนยบุคคล" ... !!?!

แต่แล้วจู่ๆ ก็มีนักวิชาการบ้าจี้ กับบุพการีบ้าบอหลายคนที่หลงเชื่อ "ตำรานอกรีต" ของพวกฝรั่งตาน้ำข้างบางคนที่เสนอว่า เราไม่ควรฝืนหรือบังคับจิตใจของเด็กๆ เพราะมันจะทำให้เขากลายเป็นคนเก็บกด ซึ่งจะบั่นทอนความสุขในชีวิตของพวกเขา ถึงขั้นอาจจะเลวร้ายจนกลายเป็นคนวิกลจริตผิดมนุษย์ไปได้ในภายหลัง ทั้งพ่อแม่และครูบาอาจารย์ควรจะพะเน้าพะนอเอาใจพวกเขาให้ดี เขารักอะไร เขาอยากอะไร รีบประเคนถวายให้อย่าได้ขัดขวาง เพื่อให้พวกเขา "พัฒนาศักยภาพที่แท้จริง" ของพวกเขาเองออกมาได้อย่างเต็มที่ !!?? ... คุ้นๆ มั้ย ?! ... รักวัวให้ผูก รักลูกห้ามแตะ น่ะ !!?? ... สอดคล้องกับแนวคิด "เสรีประชามหาภัยร้ายแรงแห่งสังคมอันอุดมด้วยความหลากหลายทางชาติกำเนิดและเผ่าพันธุ์" อย่างลงตัวพอดีเป๊ะเลยมั้ยล่ะ ??!! ... ทุเรศ !!!

แน่นอนครับว่า "การฝืนธรรมชาติ" อย่าง "ไม่มีขอบเขต" นั้นเป็นเรื่องเหลวไหล การที่พ่อแม่บังคับให้ลูกปลูกขนขี้เต่าให้ยาวๆ เพื่อจะใช้ฝึกบินแทนปีกของนกนั้น เป็นเรื่องเพ้อเจ้อบ้าบอที่ไม่น่าจะมีใครยอมรับได้อยู่แล้ว ... แต่การยอมให้ลูกๆ ปฏิบัติตัววิปริตผิดเพศ ก็ไม่ควรจะได้รับการส่งเสริมเช่นเดียวกัน ??!! ... หรือไม่ใช่ ??!! ... พลังแห่งศักยภาพอันสร้างสรรค์ของมนุษย์ ล้วนเปล่งประกายได้เพราะความวิริยะอุตสาหะในการฟันฝ่าข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ เช่นเดียวกับเพชรที่ต้องผ่านการเจียรไน หรือเหล็กกล้าเนื้อดีที่ต้องผ่านการเคี่ยวกรำจากการหล่อหลอมด้วยความร้อนที่ยากจะทนทาน ... แล้วไปได้ภูมิรู้มาจากนรกขุมไหนรึไง ถึงได้ "เชื่ออย่างดักดาน" ว่า "การตามใจ" จะช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็น "ยอดคน" ขึ้นมา ??!! ... เ ห อ .. เ ห อ ... เพ้อหรือเรอล่ะนั่น ??!!

"ความไม่มีกรอบ" หรือ "ความไม่มีกฎเกณฑ์" นั้น ไม่เคยสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมาได้เลยซักครั้งเดียว !!??

 

 

สวัสดีวันเก่าๆ

reposted of 01.01.2013 | 14/5/2013

แล้วผมก็เลือกส่งท้ายปีเก่าด้วยการไปนั่งเงียบๆ อยู่ข้างๆ คุณแม่ที่นอนป่วยมาหลายปี ซึ่งทุกวันนี้ก็คงจะต้องบอกว่า สุขภาพของท่านอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกแล้ว ไม่ได้แม้แต่การสื่อสารกับใครต่อใครเหมือนเมื่อก่อนด้วยซ้ำ ... ท่านนอนนิ่งๆ อย่างสงบบนเตียงคนไข้ในห้องนอนเดิมของท่าน มีการขยับตัวบ้างเล็กน้อย แต่ก็เชื่อว่าคงจะไม่สบายตัวมากนัก เพราะกล้ามเนื้อแขนขามีอาการที่ค่อนข้างจะเกร็งตัวเป็นระยะๆ บางครั้งท่านก็ลืมตามามองดูสิ่งต่างๆ แต่ก็แทบจะไม่สามารถกรอกนัยตาไปรอบๆ ได้เหมือนปรกติ ทำให้สิ่งที่ท่านมองเห็นส่วนใหญ่ก็คือเพดานห้องเท่านั้นเอง ...

วันส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่มักจะเป็นเทศกาลที่ผู้คนส่วนใหญ่วิ่งวุ่นไปกับการอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่ และร่วมสังสรรค์กับพรรคพวกเพื่อนพ้อง ... หลายคนพยายามมองหาแต่สิ่งดีๆ ที่จะมอบความสดใสให้แก่จิตใจของตนเองเพื่อจะเป็นกำลังใจในการดิ้นรนต่อไปอีกหนึ่งปี ... สถานที่หลายแห่งจัดให้มีงานรื่นเริงเพื่อเถลิงศกใหม่กันอย่างอึกทึกครึกโครม ... บ้างก็จัดให้มีการสวดมนต์ปฏิบัติธรรมกันแบบข้ามปีหรือข้ามภพข้ามชาติไปเลย ... บ้างก็จัดให้มี "พิธีนับถอยลัง" เหมือนกับจะเตือนสติว่าอย่าเอาแต่ "นับไปข้างหน้า" จนลืมเลือนผู้คนที่คอยสนับสนุนเราอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา ... ฯลฯ ... แต่ส่วนใหญ่ของทุกสถานที่ต่างก็มุ่งอยู่ที่การ "มอบความสุข" ให้แก่ผู้ที่มีโอกาสไปร่วม "พิธีการ" โดยหวังว่าทุกๆ คนจะนำความสุขอันล้นปรี่เหล่านั้นกลับไปแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาร่วมงาน ...

ในความเงียบขณะนั่งมองใบหน้าอันสงบนิ่งของคุณแม่ซึ่งนอนป่วยอยู่นั้น ผมนึกถึงคำถามที่หลายคนอาจจะไม่อยากถามในเทศกาลรื่นเริงนี้ว่า ... หากผู้ที่นอนป่วยอยู่นั้นเป็นตัวเราเองล่ะ? ... หากคนที่ป่วยอยู่นั้นคือผู้ที่เป็นลูกล่ะ? ... ผู้ที่เป็นพ่อ-แม่จะยังมีกะจิตกะใจไปปฏิบัติธรรมข้ามปีหรือข้ามภพข้ามชาติกันที่ไหนรึเปล่า? ... พวกท่านจะยังมีความกระหายที่อยากไปร่วม "พิธีนับถอยหลัง" กันตาม "ลานคนระเริง" อยู่มั้ย? ... หรือยังเหลืออารมณ์ที่อยากจะไปเฉลิมฉลองข้ามวันข้ามคืนในแหล่งบันเทิงกับพรรคพวกเพื่อนฝูงของท่านเหมือนคนอื่นๆ ในสังคม? ... ซึ่งผมคิดว่า "ไม่" !!!??? ... แต่ในสถานการณ์ที่สลับตำแหน่งกัน ทำไมลูกๆ หลายคนถึงเลือกในสิ่งที่ตรงข้ามกันด้วยล่ะ ??!! ... หรือความผูกพันในฐานะ "ผู้ให้" จะมีความลึกซึ่งยิ่งกว่าการเป็น "ผู้รับ" เสมอ ??!!

คุณแม่นอนหลับอยู่อย่างนั้น ปล่อยให้ผมนั่งมองท่านอย่างเงียบๆ กับคำถามที่ผมไม่เคยพอใจในคำตอบที่เห็นอยู่ ... ผมเองก็ไม่รู้หรอกครับว่าเป็นเวลานานแค่ไหน ... เพราะผมไม่รู้สึกว่าการได้อยู่กับพ่อ-แม่ตัวเองต้องมีกำหนดตารางเวลาเหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตที่วุ่นวายของผมเอง ... แล้วจู่ๆ ท่านก็ลืมตาขึ้น ... มองมาด้วยสายตาที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ ว่าท่าน "ดีใจ" ... ผมก็ดีใจ ... ในสภาพร่างกายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองของท่านนั้น ท่านกลับสามารถมอบความดีใจ, ความสุขใจ, ความอบอุ่นใจ, ฯลฯ ให้กับลูกที่เคยเป็นแต่ "ผู้รับ" อย่างผมในวันส่งท้ายปีเก่า ...

... คือของขวัญและพรอันมีค่าสูงสุดที่ผมได้รับมาในช่วง "เทศกาลรื่นเริงสากล" นี้ ... ซึ่งผมเชื่อว่าทุกๆ คนก็จะได้รับพรอันยิ่งใหญ่นี้ได้ด้วยการเหลียวไปสบตากับผู้ที่พร้อมจะยืนอยู่ข้างหลังชีวิตของพวกเราตลอดกาล ...

 

 

ในโลกที่ไม่อาจเชื่ออะไรใคร

reposted of 04.01.2013 | 14/5/2013

ปี พ.ศ.2553 ... ทันที่ที่เสียงปืนแตกและมีคนบาดเจ็บล้มตาย ... คนแรกที่โดนด่าก็คือหัวหน้ารัฐบาล ?!

ปี พ.ศ.2555 ... ทันทีที่ละครการเมืองถูกระงับการออกอากาศ ... คนแรกที่โดนด่าก็คือหัวหน้ารัฐบาล ?!

ถ้าผมเชื่อว่ามีการยิงคนของตัวเองเพื่อระดมเสียงด่าใส่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ผมควรจะเชื่อว่ามีการปิดปากตัวเองเพื่อยืมปากคนอื่นด่ารัฐบาลที่ตนรังเกียจด้วยมั้ย ?! ... หรือว่าทั้งสองเหตุการณ์คือละคร "เหนือเมฆ 1" และ "เหนือเมฆ 2" ที่ต้มคนดูจนเปื่อยไปทั้งบ้านทั้งเมือง ??!!

ถ้ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ "ไม่โง่" ขนาดสั่งฆ่าประชาชนให้เป็นภาพลบต่อรัฐบาลตัวเอง ... งั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ "โง่" ขนาดสั่งฆ่าละครทีวีจนตัวเองต้องโดนด่ารึไง ?! ... ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายล้วนต้องยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่มี "หลักฐานที่เป็นคำสั่งฆ่า" จากฝ่ายของตนอย่างแน่นอน ... "แกนนำ" กับ "คนทำละคร" ซึ่งต่างก็เป็น "กองเชียร์คนละขั้ว" ย่อมต้องโบ้ยว่าไม่ใช่ความคิดของฝ่ายตนแง๋ๆ ... งั้นทุกอย่างก็อุบัติขึ้นเองเหมือนกับ Big Bang งั้นสิ ?!?!

ในโลกของการแสวงประโยชน์จาก "ความรู้สึก" ของผู้คนนั้น สื่อชนิดต่างๆ ย่อมเป็นเครื่องมือของ "ผู้กำกับ" ที่จะใช้เพื่อ "สร้างอารมณ์" ให้ "ตัวละคร" หนึ่งๆ โลดแล่นไปในทิศทางที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ... ซึ่งเป็นไปได้มั้ยล่ะว่า "ประชาชน" ทั้งหมดนั่นแหละคือ "ตัวละคร" ที่กำลังถูกชักนำไปในทิศทางต่างๆ ที่ "ผู้กำกับ" ของแต่ละฝ่ายต้องการ ??!! ... พวกเราอาจจะไม่ได้อยู่ใน "โลกที่ไม่อาจเชื่ออะไรใคร" แต่อาจจะอยู่ใน "โลกที่ถูกทำให้เชื่อโดยใครบางคน" ตลอดเวลา เพราะพวกเขาเห็นพวกเราเป็นเพียง "ตัวละคร" เท่านั้น ... รึเปล่า ?!

หรือนี่คือสิ่งที่เรียกว่า "การเมืองภาคประชาชน" ... ซึ่งหมายถึง "การเมือง" ที่มีประชาชนทั้งหมดเป็นเพียง "ดาราแสดงนำ" เท่านั้น ??!! ... เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่การปกครองด้วยระบอบ "จิ้งหรีดธิปไตย" ที่ต่างฝ่ายต่างพร้อมจะกัดกันโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง ??!!

 

 

เหมา : เรื่องที่คุณไม่รู้

reposted of 03.04.2013 | 14/5/2013 | Comments: 2

ชื่อหนังสือ: เหมา : เรื่องที่คุณไม่รู้

ผู้แแต่ง: จุงชาง และ จอน ฮอลลิเดย์
ผู้แปล: อายุรี ชีวรุโณทัย เบล
การเข้าเล่ม: ปกแข็ง ; 1,168 หน้า
ผู้จัดพิมพ์: สำนักพิมพ์แสงดาว; พิมพ์ครั้งแรก ; ๒๕๕๒
ภาษา: ไทย
ISBN-13: 9786165080262
ขนาดเล่ม: 160 x 220 มม.

Book Title: Mao : The Unknown Story

Author(s): Jung Chang & Jon Halliday
Format: Paperback ; 801 pages
Publisher: Anchor ; November 14, 2006
Language: English
ISBN-10: 0679746323
ISBN-13: 9780679746324
Product Dimensions: 9.2 x 6.3 x 1.7 inches

นี่คือหนังสือที่ไม่ได้ซื้อตั้งแต่ตอนที่ลดราคา เลยพานไม่ยอมซื้อตอนที่ขายราคาเต็มซะงั้น !! ... 😃 ... ซึ่งมีคำโปรยบนหน้าเว็บของหนังสือเล่มนี้ว่า ...

" ...

ภายใต้ภาพลักษณ์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำประเทศจีนที่ยิ่งใหญ่ ผู้ใช้วิสัยทัศน์กว้างไกลผลักดันชนชาติหลังม่านไม้ไผ่กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน แต่ก่อนหน้าการเปิดประเทศเจริญสัมพันธ์กับนานาอารยะ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของจีนยุคใหม่เช่นทุกวันนี้ เหมา เจ๋อ-ตงและพรรคคอมมิวนิสต์เคยกระทำเรื่องใดก่อนจะพาตนเองขึ้นสู่อำนาจ และสิ่งที่เขากระทำนั้นเลวร้ายและส่งผลกระทบถึงคนหมู่มากเช่นไร

เหมา : เรื่องที่คุณไม่รู้ คือหนังสือที่เปิดประเด็นร้อนแรงในหน้าประวัติศาสตร์ชาติจีน โดย จุง ชาง ผู้เขียน Wild Swans " (บันทึกความทรงจำที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงสาวชาวจีนสามชั่วอายุคน ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตง) ในเล่มนี้ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวของเหมาตั้งแต่วัยเด็ก พื้นฐานครอบครัว แนวคิดเกี่ยวกับมาร์กซิส การเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ การเดินทัพทางไกล กระทั่งถึงวันที่เหมาลาจากโลกนี้ไป เป็นเรื่องราวในช่วงเวลาเดียวกับที่คนเกือบทั้งโลกรับรู้ แต่ทว่าข้อมูลที่ผู้เขียนเปิดเผยนี้ จะทำให้เราประจักษ์ว่า เหมาไม่ใช่เทพเจ้า เขาเป็นเพียงปุถุชนคนหนึ่งที่มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง และอาจทำเรื่องเลวร้าย หรือตัดสินใจผิดพลาด เพราะโมหะ โทสะ หรือกิเลสตัณหาที่เข้าครอบงำได้เช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งผู้ที่คล้อยตามและเห็นค้าน เนื่องจากเราต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่ประธานเหมาทำหลายอย่างก็สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศมากมาย อาทิเช่น เป็นผู้รวมชาติอีกครั้งหลังจากตกอยู่ภายใต้สงครามฝิ่น เป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ชาวจีน แต่รวมถึงผู้คนในอีกหลายประเทศต่างให้ความเคารพยกย่อง แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า การกระทำของเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเช่นข้อมูลจุง ชางหรือนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ พยายามนำเสนอ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องอดอยากล้มตาย มีผู้คนถูกสังหารร่วม 10 ล้านคน ฯลฯ ซึ่งหากละเลยไม่กล่าวถึงจุดนี้ ก็จะทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์มีช่องโหว่ และทำให้คนรุ่นหลังรู้เพียงประวัติศาสตร์ที่ถูกปั้นเติมเสริมแต่งเท่านั้น

... "

ความจริงแล้ว ท่านประธานเหมาเจ๋อตงคือหนึ่งในจำนวนบุคคลที่มี "ชีวประวัติอันโลดโผน" ด้วยเหตุผลของ "ความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์" ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีหลายๆ แง่มุมที่บอกเล่าต่อๆ กันมาอย่างเกินจริง โดยมีอีกหลากหลายแง่มุมที่ละไว้ไม่ยอมเอ่ยถึง พร้อมๆ กับมีอีกบางแง่มุมที่เติมเข้าไปลอยๆ แบบไม่มีหลักฐานใดๆ ... เพื่อ "สถาปนาความเป็นไอดอล" ให้แก่อนุชนรุ่นต่อๆ ไป ... ไม่ต่างไปจากทุกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของทุกชนชาติที่ล้วนต้องมี "สมมุติเทพ" และ "สมมุติมาร" ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ หรือศาสดาของพระบรมศาสนาไหนๆ ของโลก ไม่เว้นแม้แต่จอมวายร้ายที่ใครต่อใครพากันแช่งชักหักกระดูกก็ตาม ฯลฯ ... ซึ่งทั้งหมดนั้นก็มักจะมี "การสมคบคิด" ในระดับใดระดับหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง ... เสมอ ... !!?

ข้อถกเถียงในหลายๆ เหตุการณ์ของหน้าประวัติศาสตร์นั้น มีบางแง่บางมุมที่ชวนให้น่าคิด น่าติดตาม และน่าศึกษาค้นคว้า แต่ไม่ว่าเราจะพยายามยืนยันความจริงเดิมด้วยหลักฐานใหม่ หรือพยายามค้นหาความจริงใหม่จากหลักฐานเพิ่มเติมก็ตาม สิ่งที่น่าจะเป็นสาระมากกว่าก็คือ ... เราจะ "เชื่อ" ของเราแบบไหน ?! ... แล้วเราจะพัฒนา "ความเชื่อ" นั้นๆ ให้ต่อยอดเป็นพัฒนาการที่ดีกว่าสำหรับอนาคตด้วยวิธีการแบบใดได้บ้าง ?! ... จำเป็นแค่ไหนที่หน้าประวัติศาสตร์ทั้งหมดจะต้องมีแต่ "เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง" โดยปราศจาก "การแต่งแต้มสีสัน" ใดๆ เข้าไป ?! ... มีแต่ "ความจริง" เท่านั้นรึเปล่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมใดๆ ในอนาคต ?!! ... ฯลฯ ... ในเมื่อทุกชนชาติล้วนมี "ตำนาน" และ "นิทานพื้นบ้าน" ที่ไม่เคยต้อง "พิสูจน์" ใดๆ เป็นส่วนหนึ่งของ "รากเหง้าทางอารยธรรม" ของเผ่าพันธุ์ตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ??!!! ... อะไรคือ "ความจริง" ?! ... แล้วเราจะเอา "ความจริง" ไปทำอะไร ?! ...

คงเพราะความรู้สึกที่ว่า "ทุกหน้าประวัติศาสตร์ล้วนมีแต่คำถาม" นี่เองมั้ง ที่ทำให้ผมไม่เคยได้ตะแนนสวยๆ จากหมวดวิชาประเภทนี้เลยในสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ... ก็ในเมื่อผมไม่เคยเห็น "คำตอบ" จากหนังสือเล่มไหนๆ เลยนี่หว่า แล้วจะให้ผมตอบข้อสอบว่าอะไร ... วะ ??!! ... 😋

 

 

Armageddon Science

The Science of Mass Destruction | 13/5/2013 | Comments: 1

Book Title: Armageddon Science : The Science of Mass Destruction

Author(s): Brian Clegg
Format: Hardcover ; 304 pages
Publisher: St. Martin's Press ; October 26, 2010
Language: English
ISBN-10: 0312598947
ISBN-13: 9780312598945
Product Dimensions: 8.1 x 5.6 x 1.1 inches

เพิ่งจะติดตั้ง Dropbox และ Ubuntu One ลงไปในเครื่องของตัวเอง หลังจากที่สร้าง shortcut ให้กับ Google Keep ในเมนูประจำเครื่องได้เพียงไม่กี่นาที ซึ่งก่อนหน้านี้ผม ก็เคยติดตั้ง NixNote ซึ่งเป็น client ของ Evernote ไว้บน Linux โดยที่ยังไม่เคยใช้งานอะไรกับมันเลย ... :D ... เสร็จแล้วก็ติดตั้งทั้ง Dropbox, Ubuntu One, Google Keep ลงไปในโทรศัพท์มือถือที่มี EverNote รออยู่ก่อนเมื่อนานมาแล้ว ... ซึ่งก็ไม่เคยใช้งานอะไรกับมันอีกเหมือนกัน ... :D

Cloud System หรือที่บางคนมักจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า "ระบบกลุ่มเมฆ" นั้น เป็นระบการให้บริการในอินเทอร์เน็ตที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมันคือระบบการให้บริการที่มีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ที่ การทำให้ "ทุกคน" สามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูลที่ตนเองต้องการได้จาก "ทุกที่-ทุกเวลา" ... ถ้า ... "สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต" ณ ขณะเวลานั้นๆ ได้ ... มันคือบริการหนึ่งที่ช่วยให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ยุคใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ต่างก็ขายดิยขายดีราวกับเป็นบ้า เพราะมันช่วยให้อุปกรณ์ตัวกระจิ๋วริ๋วเหล่านั้น สามารถก้าวข้าม "ความจำกัดจำเขี่ย" ของพื้นที่หน่วยความจำเพื่อการบันทึกข้อมูลของพวกมันไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ !!?? ...

... แล้วถ้า "ไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต" ล่ะ ??!! ...

คำตอบก็คือ ไฟล์ข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่เราจะสามารถเรียกใช้งานมันได้อีกครั้งเมื่อมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างที่ต้องการ ... เท่านั้นเอง !! ...

... เ ท่ า นั้ น เ อ ง ??!! ... เหรอ ??!!

... แล้วถ้า ... ผู้ให้บริการเหล่านั้นเกิดนึกอยากจะเลิกให้บริการซะล่ะ ??!! ... ทีนี้ ต่อให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างที่ต้องการ เราก็น่าจะทำอะไรกับไฟล์ข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้อยู่ดี ... รึเปล่า ??!!

คำตอบก็น่าจะประมาณว่า ... ถ้ากลัวขนาดนั้นก็ต้องมี "ระบบกลุ่มเมฆ" ของตัวเองแล้วล่ะ !! ... หรือถ้าใช้บริการของคนอื่น มันก็ไม่น่าจะร้ายแรงขนาดนั้นหรอก เพราะไฟล์ที่ขึ้นไปอยู่บน "กลุ่มเมฆ" นั้น ทุกคนก็ต้องมีไฟล์สำรองอยู่ในอุปกรณ์อื่นๆ ของตัวเองอยู่แล้ว การใช้บริการที่มีอยู่ ก็เพื่อ "อำนวยความสะดวก" สำหรับการพกพาอุปกรณ์ และไฟล์ข้อมูลเท่านั้น ...

... มันจึงน่าจะเป็นไปได้มากเลยว่า ... ไฟล์ข้อมูลที่แต่ละคนเอาไปเก็บไว้บน "บริการกลุ่มเมฆ" นั้น ต่อให้หายไปไหน หรือเข้าถึงไม่ได้ ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอะไร ... รึเปล่า ??!! ... หรือ ... ถ้าจะใช้คำให้ได้ความหมายที่ตรงกว่านั้นก็อาจจะประมาณว่า "ไฟล์ขยะ" นั่นเอง !!??

... แล้วความคิดของผมก็ข้ามเรื่อง "ข้อดี", "ข้อเสีย", และ "ข้อเสี่ยง" ของ "ระบบกลุ่มเมฆ" ไป เพราะถึงยังไง ผมก็ยังไม่มีธุระที่จะต้องยุ่งเกี่ยวกับมันโดยตรงอยู่ดีในเวลานี้ ... แต่ผมย้อนนึกไปถึงปรากฏการณ์ "ก้มหน้าก้มตาละเลยสิ่งรอบข้างเพื่อคุยกับคนต่างทวีป" ของผู้คนในสังคมปัจจุบัน นึกถึง "ความสะดวกสบาย" ที่ผู้คนในสังคมยุคใหม่พากัน "เสพติด" อย่างไม่ลืมหูลืมตา ...

... มันจะเป็นยังไงบ้างนะ ถ้าระบบอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนใช้งานอยู่นี้ เกิดล่มสลายลงไปอย่างกระทันหัน ?! ...

ผมไม่ได้สนใจที่ความเป็นไปได้ของมัน แล้วก็ไม่ได้สนใจที่แนวทางในการป้องกันยังไงด้วย ... แต่ผมสนใจแค่ว่า ... ถ้ามันล่มสลายอย่างกระทันหันขึ้นมาจริงๆ ในลักษณะที่อาจจะเรียกว่า Information Meltdown ตามชื่อบทหนึ่งในหนังสือเรื่อง Armageddon Science ของ Brian Clegg นั่นแหละ ...

... มันจะเป็นยังไงบ้างหลังจากนั้น?

... ปฏิกิริยาของผู้คนจะเป็นยังไง?

... การค้าและการพาณิชย์ทุกอย่างยังดำเนินต่อไปได้มั้ย?

... สังคมของมนุษย์ถูกพัฒนามาถึงจุดที่จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้า "สื่อสัญญาณไฟฟ้า" ที่ "ปราศจากตัวตน" เหล่านี้ได้ยังไง ??!!

... จริงๆ แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยเสริม "กระบวนทัศน์" ของผู้คนให้กว้างไกลยิ่งขึ้นกว่าเดิม หรือเพียงแต่ย้าย "สถานกักกันทางความคิด" ของผู้คนให้มืดบอดอยู่ในกรอบที่แตกต่างออกไปเท่านั้น ??!!

... มนุษย์น่าจะยังสามารถ "มีชีวิต" อยู่ต่อไปได้ ต่อให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดล่มสลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเราไม่ได้ "บริโภคข้อมูล" เป็นอาหารหลักตามธรรมชาติ ... แต่มนุษย์จะ "ดำเนินชีวิต" ต่อไปยังไง ??!! ... ในเมื่อ "สื่อสัญญาณไฟฟ้า" ภายใน "ระบบคอมพิวเตอร์" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ "กระแสชีวิต" ภายในระบบเศรษฐกิจและสังคมไปหมดแล้ว ??!!

... สังคมทั้งสังคมได้ "เสพติดความสะดวกสบาย" จาก "ระบบสารสนเทศ" จนแทบไม่มีใครรู้อีกแล้วว่า เบื้องหลัง "ความสะดวกสบาย" เหล่านั้น มีอะไรบ้างที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติ หากปราศจาก "เครื่องมือ" ที่เชื่อมโยง "ข้อมูล" ทั้งหมดนั้นเข้าด้วยกัน ... ?!

... ฯลฯ

... "ความคุ้นเคย" ของการมี "ระบบสารสนเทศพร้อมใช้" อยู่ตลอดเวลาเหมือนทุกวันนี้ อาจจะทำให้พวกเราลืมไปหมดแล้วว่า ชีวิตที่ปราศจาก "การบริโภคข้อมูลอย่างบ้าคลั่ง" นั้นมันควรเป็นยังไง !!? ...

แล้วผมก็ย้อนนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า "หนังสืเล่ม" กับ "หนังสืออิเล็คทรอนิค" ...

... อะไรที่น่าจะคงทนถาวรกว่ากัน ?!

... อะไรที่ควรจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน ?!

... หาก "หนังสือเล่ม" ต้องถึงกาลอวสาน แล้วเหลือเพียง "หนังสืออิเล็คทรอนิค" เท่านั้นที่กลายเป็นสื่อบันทึก "องค์ความรู้" ทั้งหมดของมวลมนุษยชาติเอาไว้ ... เราจะต้องเริ่มพัฒนา "องค์ความรู้" ทั้งหมดนั้นใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นรึเปล่า หาก "ระบบสารสนเทศ" ของทั้งโลกเกิดล่มลสายลงไปอย่างกระทันหันจริงๆ ??!!