"อี-หนังสือ" ไม่ใช่ "หนังสือ"
ผมทดลองหยิบๆ จับๆ เพื่อจะ "ใช้งาน" เจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า "แทบเล็ด" อย่างตั้งใจมากขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ด้วยความที่ราคามันถูกลงอย่างสมเหตุผลกว่าสมัยที่มันเพิ่งจะ "เล็ด" ออกมาใหม่ๆ พอสมควรแล้ว และผมคิดว่า ราคาของพวกมันก็คงไม่ลดลงไปต่ำกว่า 4,000 บาทต่อเครื่องอีกซักเท่าไหร่แล้วล่ะ สำหรับเครื่องที่มี brand name ที่เป็นเรื่องเป็นราวอย่าง Lenovo ...
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเสียเงินซื้อ smart phone มา "ทดลองใช้งาน" ด้วยราคาที่น่าเกลียดพอสมควร ซึ่งก็เป็นเพราะ "ความอยากรู้อยากเห็น" ในอุปกรณ์ที่ "เชื่อว่า" จะกลายเป็น "คอมพิวเตอร์พกพา" ในอนาคตนั่นแหละ ... แม้ว่ามันจะมีราคาที่เกือบจะเท่ากับราคาของ notebook ขนาดย่อมๆ ตัวหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับ Palm V ที่ผมมีไว้ครอบครองตั้งแต่สมัยที่มันเพิ่งจะคลอดใหม่ๆ ก็ถือว่าแพงกว่ากันแค่นิดหน่อยเท่านั้น ... แล้วผมก็ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า Android ณ วันนั้น (จนวันนี้) ยัง "ไม่เพียงพอ" กับคำว่า "คอมพิวเตอร์พกพา" ในความรู้สึกของผม เพราะซอฟต์แวร์ของมันยังไม่เพียบพร้อมในระดับเดียวกับ notebook ที่มีการใช้งานกันทั่วๆ ไปเลย ... นั่นก็หมายความว่า "แทบเล็ด" ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกัน ใช้แหล่งของซอฟต์แวร์ร่วมกัน ย่อมไม่อยู่ในสถานะที่ดีไปกว่ากันมากนัก เว้นแต่เรื่องขนาดของหน้าจอที่ทรมานสายตาน้อยกว่าบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ... และ ... สนนราคาค่าตัวที่อยู่ในระดับเดียวกับ notebook หรือ netbook จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผลมากๆ ... 😏
แล้วผมก็ได้ทดลองสัมผัสกับเจ้า "แทบเล็ด" ที่หลายคน "อ้างว่า" เราสามารถใช้มันเป็น "อี-หนังสือ" หรือ "หนังสืออิเล็คทรอนิค" ที่กำลังจะกลายเป็น "สิ่งทดแทนหนังสือกระดาษ" ในอนาคตได้นั่นแหละ ... ซึ่งประสบการณ์ที่ผมได้รับในเวลานี้ก็คือ "อี-หนังสือ" ไม่ใช่ "หนังสือ" อย่างแน่นอนครับ !!??? ... และคนที่ "พยายามยัดเยียด" ให้พวกเราเชื่อไปในทางตรงกันข้ามก็น่าจะมีอยู่ 2 จำพวกด้วยกัน ... จำพวกหนึ่งก็คือผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ (ซึ่งก็รวมไปถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย) ส่วนอีกจำพวกหนึ่งก็คือ คนที่ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างจริงๆ จังๆ เลย คือเป็นบุคคลประเภทที่เปิดอ่านแบบประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็เหมาๆ เอาเองว่าอ่านหนังสือแล้วนั่นแหละ ... ประมาณนั้น !! ... 😄
คืองี้ครับ ...
การอ่าน "อี-หนังสือ" ที่เราต้องเพ่งสายตาเข้าหา "แหล่งกำเนินดแสง" นั้น มันมีผลให้เราไม่สามารถอ่านหนังสือได้นานๆ เหมือนกับการอ่าน "หนังสือกระดาษ" ซึ่งความไม่สบายตานั้นเองจะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนสมาธิของการอ่านอย่างต่อเนื่องของเรา ... ดังนั้น การใช้งาน "อี-หนังสือ" จึงน่าจะมีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ การใช้งานในลักษณะของ "เอกสารอ้างอิง" ที่ไม่ค่อยจะมี "ความต่อเนื่อง" ของระยะเวลาในการอ่านที่นานๆ เหมือนกับ "เล่มหนังสือกระดาษปรกติ" ที่ยังมีการใช้งานกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็ยบทความ, รายงานการวิจัย, ตำรับตำราทางวิขาการ, หรือแม้แต่หนังสือนิยาย, ฯลฯ ที่มักจะมีจำนวนหลายสิบจนถึงหลายร้อยหน้ากระดาษ เหล่านี้ล้วนไม่เหมาะกับการพัฒนาให้อยู่ในรูปของ "อี-หน้งสือ" ด้วยเหตุผลของ "แหล่งกำเนิดแสง" ที่รบกวนสมาธิในการ "อ่านอย่างต่อเนื่อง" นั่นเอง ...
ถ้าจะพูดกันถึงเรื่อง "โลกเขียว" ที่หลายคนมักจะอ้างว่า "อี-หนังสือ" มีส่วนช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากไม่ต้องใช้วัสดุสิ้นเปลืองใดๆ ในการเผยแพร่หรือจัดจำหน่าย ซึ่งก็มักจะลากยาวไปจนถึงเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเอามาทำเป็นกระดาษสำหรับการพิมพ์หนังสือ อาจจะเสริมไปที่เรื่องของหมึกพิมพ์ หรือมลภาวะบ้าบอคอแตกอะไรอีกหลายอย่างอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่เป็นพิษเป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม ... จริงมั้ยก็ไม่รู้นะครับ !!?? ... แต่ที่ผมรู้แน่ๆ ก็คือ "ต้นทุนการผลิต" ของผู้ผลิต "อี-หนังสือ" นั่นแหละที่ลดลงอย่างมหาศาล อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็หดหายไปอีก เพราะเราสามารถส่ง "อี-หนังสือ" ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในลักษณะของข้อมูลดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบายมาก ... แต่ว่า ... ทำไมค่าตัวของ "อี-หนังสือ" มันถึงไม่ได้ลดลงอย่างมหาศาลเหมือนกับ "ต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่าย" ของมันล่ะ ??!! ... ทั้งๆ ที่ "ภาระค่าใช้จ่าย" สำหรับพลังงานที่ใช้ใน "การรับ อี-หนังสือ" และ "การอ่าน อี-หนังสือ" กลับตกมาอยู่ในความรับผิดชองของผู้บริโภคแบบเต็มๆ แล้วก็ยังต้องจ่าย "ค่าพลังงาน" เหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่จะเปิดอ่าน "อี-หนังสือ" อีกด้วย !!??!! ... การล้างผลาญพลังงานที่ถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผ่อนส่งไปตลอดนั้น ทำไมถึงไม่มีการเอ่ยถึงเลยล่ะ ... ??!!
งั้น "แทบเล็ด" มันมีประโยชน์สำหรับการใช้งานจริงๆ มั้ยล่ะ ?!
ผมก็คิดว่า มันคงต้องมีประโยชน์ของมันอยู่บ้างล่ะครับ แต่มันก็มีประโยชน์ในขอบเขตที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของมันเท่านั้น ... ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ หรือพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิมอย่างที่หลายคนพยายามสื่อให้พวกเรา "หลงเชื่อกัน" ... ซึ่งแม้แต่การเป็น "สิ่งทดแทนหนังสือกระดาษ" อย่างที่หลายคนมักจะกล่าวอ้างกัน ผมก็มีความเห็นว่า "แทบเล็ด" ทั้งหลายเท่าที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้ ยังมีศักยภาพที่ไม่เพียงพอสำหรับ "การโม้" ในระดับนั้นหรอกครับ !!??!! ... 😋
ว่าด้วย "เสรีภาพ" กับ "ชุดยูนิฟอร์ม"
จู่ๆ ก็มีกระแส "ต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษา" แพร่กระจายให้วิพากษ์วิจารณ์กันว่อนเน็ต ซึ่งก็อาจจะเพราะมีการจุดพลุด้วย "โป๊สเตอร์ไร้สำนึก" ของ "เด็กเสียจริต" คนหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาจาก "รสนิยมในการจินตนาการ" ของตัวเองเท่านั้น ... เออ ... แล้วอาจงอาจานอาเจียนทั้งหลายก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝนพลอยกระโจนเข้าผสมโรงด้วยความหวดหวั่นว่า ตัวเองอาจจะตกกระแสจนไม่ได้รับ "การอุปโลก" ให้เป็น "นักคิด" ระดับหัวแถวแนวหน้าสื่อสังคมออนไลน์กะชาวบ้านอื่นๆ เขา ... เก้าะ ... ถ้าออกมาในรูปนี้ ก็คงไม่ต้องไปหาแพะที่ไหนมาบูชายัญว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล่มสลายของระบบการศึกษาไทยหรอกครับ ... ในเมื่อมันเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งฟาร์มนั่นแหละ !!?? ... 😌
เรื่องการใส่ชุด Uniform (ยูนิฟอร์ม) หรือ "เครื่องแบบ" เนี่ยะ มันจะดีหรือจะไม่ดียังไง มันก็เป็นเรื่องของ "รสนิยม" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วมั้ง ในเมื่อเขาก็มีคำที่มีความหมายแบบเดียวกันนี้แทบจะทุกชาติทุกภาษา แล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของราชการเท่านั้น มีองค์กรเอกชนจำนวนมาก หรือแม้แต่หน่วยงานบางประเภท เขาก็มีการกำหนดให้ใช้เป็น "ชุดแต่งกาย" ประจำหน่วยงานของพวกเขาอย่างเป็นปรกติวิสัย ... อาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ-เทศะ หรืออาจจะถือปฏิบัติกันอย่างตายตัวในบางสถานที่ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า "ธรรมดามากๆ" ... ธรรมดาจนผมนึกไม่ออกว่า มันจะมีส่วนในการ "กดทับจินตนาการ" หรือ "เชิดชูความเป็นมนุษย์" อะไรที่ตรงไหน จนหลายคนต้อง "ดัดจริต" มาถกเถียงกันราวกับเป็น "ปัญญาชน" ที่รู้จักใช้สมอง ... ??!!!???
เอางี้ ... ผมขอเล่าเรื่องเก่าๆ ดีกว่า ...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ... สมัยที่คุณพ่อของผมยังไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจเหมือนกับปัจจุบัน ประมาณว่า ยังมีสถานะแค่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานเพื่อหาข้าวสารกรอกหม้อไปเดือนหนึ่งๆ เท่านั้น อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด อะไรที่ประหยัดไม่ได้ก็ต้องพยายามประหยัด โดยที่ต้องไม่ขัดกับหน้าที่การงาน ซึ่งคุณพ่อรับผิดชอบอยู่ในฐานะของผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเวลานั้นด้วย ... ข้าวมื้อกลางวันก็ต้องเดินครึ่ง-นั่งเรือครึ่งเพื่อกลับไปกินที่บ้าน เพราะไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงข้าวใคร แล้วก็แทบจะไม่เหลือเงินค่าอาหารใดๆ อีก หลังจากได้เจียดไว้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องค่าอาหารประจำเดือน และค่าการศึกษาของสมาชิกในครอบครัวไปแล้ว, จะเอาข้าวกล่องมากินที่บริษัท มันก็ดูไม่ค่อยจะเหมาะสมแก่ "ภาพลักษณ์" และ "ความน่าเชื่อถือ" ของหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่ซักเท่าไหร่ ... การเดินครึ่ง-นั่งเรือครึ่งเพื่อกลับไปกินข้าวที่บ้าน (เพราะมีเงินไม่พอสำหรับเป็นค่ารถโดยสารประจำทาง) จึงเป็นทางอออกหนึ่งที่ท่านเลือกใช้ในช่วงชีวิตหนึ่งที่ผ่านมาของท่าน ...
ถ้าค่ารถค่าราค่าอาหารยังต้องกระเหม็ดกระแหม่ซะขนาดนั้น เสื้อผ้าที่จะสวมใส่สำหรับการติดต่อธุรกิจก็ยิ่งต้องระมัดระวัง ท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการใส่ "ชุดยูนิฟอร์ม" คือ "เสื้อผ้าแบบเดียวกัน-สีเดียวกัน" ทุกวัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อบังคับของบริษัท (เพราะเขาไม่เคยกำหนดว่าต้องมีชุดเครื่องแบบประจำบริษัท) แต่ท่าน "จำเป็น" ต้องทำอย่างนั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตว่า จริงๆ แล้วท่านมีเสื้อผ้าอยู่เพียง 2 ชุดที่ต้องใส่สลับกันไปสลับกันมาทุกๆ วัน ... เท่านั้นเอง ... !!
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว "ชุดยูนิฟอร์ม" จึงไม่ใช่เรื่องของความโก้เก๋, ไม่ใช่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์, ไม่ใช่เรื่องของความรักความศรัทธาในองค์กรหรือสถาบัน, ไม่ใช่เรื่องของสิทธิเสรีภาพ, และไม่ใช่เรื่องของการปลูกฝังค่านิยมห่าเหวอะไรทั้งนั้น ... แต่มันคือ "ความประหยัด" ที่ครั้งหนึ่งมันช่วยให้ครอบครัวของพวกเรามีข้าวกินทุกมื้อ, มีเงินพอสำหรับการศึกษา, และมีความสุขตามอัตตภาพโดยไม่ต้องไปคดโกง หรือไม่ต้องไปเอารัดเอาเปรียบใครที่ไหน ... ผมก็เลยไม่รู้สึกว่าเป็นความกดดันอะไรเมื่อต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ผมควรจะช่วยครอบครัวประหยัด ... ไม่ได้รัก ไม่ได้เทิดทูน ไม่ได้พิศวาสอะไรนักหนากับสถาบันการศึกษาที่ผ่านมาของตัวเองเลยซักนิดเดียว ... คนละเรื่อง !!! ... 😄
เมื่อโตมาจนเข้ามหาวิทยาลัย ... ก็จุฬาฯ นั่นแหละ ... ซึ่งบังเอิญว่าในยุคนั้นเขายังไม่เคร่งครัดเรื่องระเบียบของเครื่องแต่งกายนักศึกษาซักเท่าไหร่ หรือจะเป็นเฉพาะในคณะสถาปัตย์ฯ เท่านั้นรึเปล่าก็ไม่รู้อีก ... เพราะผมไม่ได้สนใจกับเรื่องบ้าบอจำพวกนี้มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ... แต่ผมก็ยังใส่ "ชุดยูนิฟอร์ม" ไปเรียนทุกวันอยู่ดี เพียงแต่มันเป็น "ชุดยูนิฟอร์ม" ที่ธุรกิจของทางบ้านทำไว้สำหรับให้พนักงานใช้เมื่อต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นตัวแทนจำหน่ายเขาเป็นสปอนเซอร์ให้ ... ก็คือ "เสื้อฟรี" นั่นแหละ แต่เป็น "ชุดยูนิฟอร์ม" เท่านั้นเอง ... ก็ใส่สบายดีครับ ไม่ต้องกลัดกระดุมเพราะเป็นซิปยาวตลอดทั้งตัว ไม่ต้องสอดชายเสื้อด้วย เพราะมันเป็นเสื้อแบบช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร สีเสื้อก็ทะมึนๆ เพื่อกลบเกลื่อนรอยเลอะเทอะจากคราบสกปรกต่างๆ ได้ดีอีกต่างหาก ... เหมาะกับสันดานที่ไม่ค่อยระวังตัวเรื่องความสะอาดอย่างผมพอดี ... แต่ก็มีข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ ของทางคณะฯ ว่า ขอให้นักศึกษาสวม "เสื้อเชิร์ตที่สุภาพ" เพื่อเข้าห้องสอบเท่านั้น ... ไม่ได้กำหนดสีเสื้อ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดของรูปแบบอะไรที่ตายตัวทั้งนั้น ... ขอแค่ "เสื้อเชิร์ตที่สุภาพ" ... ซึ่งแต่ละคนต้อง "จินตนาการด้วยจิตสำนึก" กันเอาเองว่า ควรจะเป็นแบบไหนจึงจะเหมาะสม ?! ... 😊
ย้อนนึกถึงวันเวลาในช่วงนั้นจากเวลานี้ ถ้าบังเอิญจุฬาฯ มีข้อบังคับว่าต้องใส่ชุดนักศึกษาไปเรียนทุกวัน ... ผมจะเดือดเนื้อร้อนใจกับข้อบังคับแบบนั้นมั้ย? ... จะรู้สึกทุรนทุรายว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผมรึเปล่า? ... หรือจะรู้สึกว่าเป็นการกดทับจินตนาการของเด็กอาร์ตอย่างพวกถาปัดที่ควรจะระเบิดความคิดตัวเองให้เปรอะไปหมดทั้งร่าง? ... ผมก็คงรู้สึกเฉยๆ กับข้อบังคับที่ว่านั้นอยู่ดี เพราะมันก็แค่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นอะไรที่มีความหมายกับผมเลยซักนิดเดียว ... มีแต่คนที่ขลาดกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับความสนใจเท่านั้นแหละ ถึงต้องพยายามเรียกร้องให้ใครต่อใครยินยอมเปิดพื้นที่ให้ตนได้สร้างความโดดเด่นเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ยังดี ... ซึ่งก็น่าเห็นใจคนพวกนี้อยู่หรอก เพราะถ้าพวกเขาต้องทำอะไรๆ ที่เหมือนกับคนอื่นๆ แล้ว พวกเขาจะไม่มีอะไรที่โดดเด่นจนเป็นที่สังเกตเห็นได้เลยตลอดชีวิต !!?? ... มันคือคุณลักษณะของ "ทาสชั้นดี" ที่เมื่อใดที่มีกรอบซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว พวกเขาย่อมไม่มีปัญญาที่จะคิดอะไรให้วิจิตรพิสดารเกินกว่ากรอบนั้นเลยตลอดกาล เว้นแต่จะได้รับ "คำสั่ง" จากผู้ที่พวกเขา "เทิดทูนไว้ในจิตใต้สำนึก" ว่า ต่อไปนี้ไม่มีกรอบแล้วนะ พวกเขาถึงจะรู้สึกได้ว่า มันไม่มีกรอบแล้วจริงๆ... น่าสงสาร !!?? ... 😃
แน่นอนครับ ผมเองก็เชื่อว่า "กรอบ" คือปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิด "ความคับแคบ" ... แล้วไง ??!! ... มันก็คือ "ความคับแคบ" ของคนอื่นๆ ของสิ่งอื่น ขององค์กร หรือของสถาบันอื่นๆ ที่เขาเป็นผู้กำหนด "ความคับแคบ" นั้นขึ้นมาสำหรับพวกเขาเอง ... ถ้าเราหันซ้ายหันขวาหกหัวตีลังกาแล้ว "เห็นแต่กรอบ" เราก็คือผู้ที่กักขังตัวเอง เพราะคนอื่นเขาวางกรอบเอาไว้เฉยๆ แต่เราเป็นคนเอามันมาครอบไว้ในใจของตัวเอง ... แต่ถ้าเราคิดว่าเราคือ "คนเยี่ยมไข้" ที่เดินเข้าไปเยี่ยมคนป่วยในห้องไอซียู เราก็ต้องเปลี่ยนชุด เราก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในคนไข้ที่กำลังป่วยหนักอีกตั้งหลายคน ... มันก็ไม่ใช่เรื่องของ "การถูกบังคับ" แต่เป็นเรื่องของ "การอนุเคราะห์" ที่เราให้ "ความเมตตา" แก่ผู้อื่น ... มันเป็นโลกที่แตกต่างกัน และเราก็มีอิสรภาพที่เพียงพอสำหรับการเดินกลับไปกลับมาระหว่างโลกที่มีกรอบ กับโลกที่ไม่มีกรอบ ... ทำไมต้องขังตัวเองไว้นอกกรงของใครด้วยล่ะ ... เอ๊อ ... !!?? ... 😈
มาตาญชุลีอธิษฐาน
มือประนม ก้มกราบ แทบบาทแม่
น้อมจิต แด่พระคุณ อันล้นเหลือ
ที่หล่อหลอม ชีวิตลูก จากเลือดเนื้อ
ยอมอาบเหงื่อ เพื่อให้ลูก เจริญวัย
คืนและวัน ที่ผันผ่าน ล้วนเพื่อลูก
ทั้งปลอบปลุก ปลูกฝัง สร้างนิสัย
ให้ทั้งรัก ทั้งห่วงหวง ดั่งดวงใจ
หวังเพียงลูก ได้เติบใหญ่ ใฝ่ความดี
แม้เหนื่อยยาก ปานใด สู้ตรำตราก
ยอมเพียรพาก ลำบากกาย ขมันขมี
ไม่ทดท้อ ห่อเหี่ยว ด้วยยอมพลี
ชีวิตนี้ มีเพื่อลูก ทุกๆ คน
ตั้งแต่เล็ก เป็นเด็กน้อย แม่คอยรัก
ไม่เคยพัก ความคำนึง ในทุกหน
ใช่เพราะลูก ยิ่งใหญ่ แล้วในสากล
ดวงกมล เพียงพันผูก ด้วยลูกยา
จะลุกนั่ง ยืนเดิน ล้วนครวญคิด
จะถูกผิด ดีร้าย ล้วนห่วงหา
จะรุ่งเรือง หรือพลาดพลั้ง ล้วนนำพา
จะใกล้ชิด หรือร้างรา ล้วนอาทร
แม่รักลูก ด้วยจิตใจ ไร้แง่เงื่อน
คือสิ่งเตือน ให้จดจำ แทนคำสอน
เกิดเพื่อรัก หาใช่อยู่ เพื่อเว้าวอน
อย่าแคลนคลอน เพียงเพราะเปลือก ที่เลือกชู
พระคุณแม่ ใสผ่องผุด ดุจดวงแก้ว
งามเพริศแพร้ว ยิ่งมณีใด ในโลกหรู
ให้กำเนิด ให้ความรัก ให้ความรู้
ให้ชีวิต ที่ควรคู่ เป็นผู้ เป็นคน
ขอน้อมจิต อธิษฐาน กรานกราบแม่
จักมุ่งแต่ ประพฤติชอบ กอปรกุศล
ให้สมดั่ง ที่แม่หวัง ทั้งชีพชนม์
เกียรติถกล บังคลแด่ แม่ของเรา
รำพึงรำพันวันตื่นเช้ากว่าปรกติ
เช้าวันหนึ่งที่ขับรถส่งลูกชายไปเที่ยวเขาชนไก่ ... เช้ามืดนี่มันยังมืดจริงๆ ด้วยแฮะ ถนนโล่งก็โล่ง เงียบก็เงียบ แทบจะไม่มีรถวิ่งกันเลย ... นานๆ ถึงจะเห็นแว้บๆ มาซักคันสองคัน ...
ไฟสัญญาณจราจรก็เลยแทบจะไม่มีความหมายอะไร ... ใครนึกอยากจะหยุดหรือไปตามสัญญาณไฟก็ทำกันไปตามปรกติ เพื่อบ่งบอกถึงความเคารพในกติกาสังคม ... หรือ ... ใครนึกอยากจะฝ่าสัญญาณไฟก็ฝ่า ... อาจจะเพราะรีบ? ... อาจจะเพราะอยากทำผิดระเบียบมานานแล้ว? ... อาจจะเพราะฝ่าฝืนเป็นประจำ? ... หรือ ... อาจจะไม่เห็นคุณค่าความหมายใดๆ ของการเคารพในกติกาในบางกาละ-เทศะ ... หรืออาจจะแค่ทำๆ มันไปอย่างนั้นเอง เพราะไม่มีใครเห็น? ... ฯลฯ ...
บางครั้งในเวลาที่มีรถราบนท้องถนนมากกว่านี้ หลายคนก็อาจจะเคยเห็นการฝ่าสัญญาณไฟจราจร ... อาจจะเพราะรีบ? ... อาจจะเพราะอยากทำผิดระเบียบมานานแล้ว? ... อาจจะเพราะฝ่าฝืนเป็นประจำ? ... หรือ ... อาจจะไม่เห็นคุณค่าความหมายใดๆ ของการเคารพในกติกาในบางกาละ-เทศะ ... หรืออาจจะแค่ทำๆ มันไปอย่างนั้นเอง เพราะไม่มีใครเห็น? ... ฯลฯ ...
บางคนอาจจะเรียกการฝ่าฝืนระเบียบสังคมแบบนี้ว่า "ใจกล้า", อาจจะเรียกว่า "บ้าบอ", อาจจะเรียกว่า "บ้าบิ่น", หรืออาจจะเรียกว่า "เหี้ย", ... ฯลฯ ... แต่ก็มีบางคนที่เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า "คิดนอกกรอบ" ??!!
คนบางคนรักษาระเบียบเพราะกลัวความผิด ... คนบางคนรักษาระเบียบเพราะไม่คิดว่ามันฝ่าฝืนกันได้ ... คนบางคนรักษาระเบียบเพราะมันเสมือนหนึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ... อาจจะมีบางคนที่เรียกคนประเภทนี้ว่า "คนดี", อาจจะเรียกว่า "ซื่อสัตย์", อาจจะเรียกว่า "โง่เง่า", หรืออาจจะเรียกว่า "ไม่รู้จักพลิกแพลง" ... ฯลฯ
ระเบียบทุกอย่าง, กฎทุกข้อ, ประมวลกฎหมายทุกมาตรา ล้วนแล้วแต่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อ "จำกัดสิทธิ" ไม่ใช่เพื่อ "เสรีภาพ" ... ไม่มีใครได้ "ทุกอย่าง" ภายใต้กฎระเบียบ แต่ทุกคนต้องสูญเสีย "บางอย่าง" เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน, เป็นสังคม, และเป็นประเทศชาติ ...
ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎระเบียบไม่ได้อยู่ที่ตัวของผู้คุ้มกฎ หรืออยู่ในกระบวนการพิจารณาใดๆ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนด้วยความเคารพในผู้อื่นของแต่ละผู้คนในสังคมหนึ่งๆ เป็นสำคัญ ... หลายคนมักจะพูดเรื่อง "ความเคารพในกฎหมาย" แต่น้อยคนที่จะพูดถึง "ความเคารพที่พึงมีต่อผู้อื่นในสังคม"
คิด "ในอก" กรอบ
ผมตั้งชื่อหัวข้อให้มันบ้าบอไปอย่างนั้นเองแหละ ... 😋 ... แต่ด้วยความกังวลว่า อาจจะมีคนเก่งภาษาไทยหลงเข้าใจว่าผมสะกดผิด ... เก้าะ ...เลยตัดสินใจใส่เครื่องหมาย "อัญประกาศ" ครอบคำ "ในอก" เอาไว้ซะ เพื่อจะสื่อให้เข้าใจตรงกันว่า ผม "ตั้งใจ" จะสะกดคำออกมาให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ !!?? ... 😃
ช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ ผมสังเกตว่า มีคนไทยหลายคนกำลัง "บ้าเห่อ" แนวคิด "สิทธิเสรีภาพมหานิยมในอุดมคติอันเลื่อนเปื้อน" ตามแบบอย่างของฝรั่งต่างกาละ-เทศะหนักข้อขึ้นทุกที ... โดยต้องขอย้ำว่า เป็น "การตามแบบ" แนวคิดของเขามา อย่างไม่มีการคิดต่อยอดใดๆ ให้สมกับ "ความมีอิสรภาพที่แท้จริง" เลยซักนิดเดียว ... ซึ่งดูแล้วทุเรศมากหากจะเรียกคนเหล่านี้ว่า "นักคิด" หรือ "นักวิชาการ" อย่างที่สังคมเขาเรียกขานกัน !! ... ย้ำอีกครั้งว่า ... ".. ทุ .. เ .. ร .. ศ .. ม่ า ก .." !!!!!!!!!!!
ผมจำไม่ได้แล้วล่ะว่า คนไทยเอาวลี thinking outside the box มาแปลเป็นคำไทยว่า "การคิดนอกกรอบ" ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ด้วยเหตุที่มัน "ผสมพันธุ์" ได้อย่างลงตัวกับ "ความไร้ราก" ของสังคมไทยพอดิบพอดี การอ้าง "กลิ่นขี้ฟัน" ของฝรั่งด้วยถ้อยคำ "สิทธิส่วนบุคคล" และ "เสรีภาพในการคิดและการแสดงออก" จึงเบ่งบานใน "ช่องปาก" ของเหล่า "นักดัดจริต" ทั้งหลาย จนกลายเป็น "วาทกรรมทางสังคม" ที่นำไปสู่ "ความแตกแยก" ซึ่งยากจะแก้ไขในยุคปัจจุบัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ประเมิน "กรอบคิด" ของฝ่ายอื่นๆ ว่า ล้วน "ดักดาน" และ "ไม่สร้างสรรค์" เท่ากับ "ความไร้ราก" ที่ฝ่ายตนพยายามอวดอ้างใน "ความมีเสรีภาพอย่างยึดติด" อยู่ตลอดเวลา ??!! ... สังคมมันก็ต้องขัดแย้งอยู่แล้วล่ะครับ ก็ในเมื่อไอ้กลุ่มคนที่ถ่มเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเหล่านั้น มัน "ขัดแย้งในตัวเอง" มาตั้งแต่แรก ... นี่หว่า !!?? ... รึไม่ใช่ ??!!
จะว่าไปแล้ว ผมเองก็ไม่ได้ฝักใฝ่ในจารีตประเพณีอะไรนักหรอก ออกจะขวางๆ แกว่งๆ หรือ "กวนตีน" ในระดับที่พอใช้ได้อยู่เหมือนกัน ... 😃... แต่ผมก็ไม่เคยเห็นด้วยกับ "การคิดนอกกรอบ" ในความหมายที่สังคมไทย "ทึกทัก" ให้เหมาะกับ "จริตสันดานอันไร้ราก" ของเผ่าพันธุ์ตัวเอง ... ไม่มีความสร้างสรรค์ใดที่ไร้กรอบหรอกครับ เพราะข้อจำกัดทุกอย่างล้วนเป็นเชื้อชนวนที่จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะจรรโลงกฎระเบียบหนึ่งๆ ให้พอเหมาะพอสมแก่ "กาละ-เทศะ" ที่อาจจะผิดแผกแตกต่างไปจาก "กาละ-เทศะ" ที่กฎระเบียบนั้นๆ ถูกกำหนดขึ้นมา ... มันคือข้อแตกต่างระหว่างคำว่า "ยืดหยุ่น" กับ "หย่อนยาน" หรือคำว่า "ปรับปรุงแก้ไข" กับ "ทำลายล้าง" ... เราจะมีสังคมที่ยอมรับข้อแตกต่างของกันและกันได้ยังไง ในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับในสิ่งที่แตกต่างไปจาก "ความเชื่อ" ของตน ด้วยการ "ขีดเส้นแบ่ง" ให้เป็น "ในกรอบ" กับ "นอกกรอบ" อยู่อย่างนั้น ... ??!!! ... ย้ำอีกครั้งเลยนะครับว่า มันเป็น "ความเชื่อ" ที่ล้วนแล้วแต่ "สิ้นคิด" ทั้งสิ้น !!!!!!!!
แต่ก็มี "นักดัดจริต" จำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงพฤติกรรมที่ "อวดอ้างตัว" ว่า เป็น "นักคิดหัวก้าวหน้า" ด้วยการนำเสนอวาทกรรมที่เป็น "ปฏิปักษ์ต่อจารีต" แต่กลับเดือดแค้นเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อไม่ได้รับ "การยอมรับ" จากสังคมบางส่วน ... บ้าไปแล้วมั้ง ท่าน "ผู้ (แสร้ง) กล้า" ทั้งหลาย ??!!?? ... ทำไมจู่ๆ ถึงต้องลุกขึ้นมาเอะอะเรียกร้อง "ความยอมรับ" จาก "สังคมที่ตนปฏิเสธ" ด้วยเล่า ??!! ... หากมีความประสงค์ที่จะเป็น "ผู้กล้าอย่างแท้จริง" ทำไมถึงยังต้องกลัวต่อการเป็น "คนนอกของสังคม" ซะล่ะ ?! ... มันจะแปลกประหลาดอะไรนักหนา หากสังคมจะ "ปฏิเสธ" แนวคิดหรือบุคคล ที่ "ไม่เคยยอมรับ" ในพวกเขาเลย !!?? ... ผู้ที่บังอาจท้าทาย "กรอบคิดของสังคม" แต่กลับโหยหา "ความยอมรับ" จาก "สังคมที่ตนปฏิเสธ" นั้น เขาไม่เรียกว่า "คนใจกล้า" หรอก แต่ควรจะเรียกว่า "คนหน้าด้าน" ซะมากกว่า !! ... 😃
มีบางคนเคยกล่าวไว้ว่า การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานทางความคิดที่แตกต่างกันนั้น ทุกๆ ฝ่ายจะต้องมี "จิตใจที่เปิดกว้าง" ใน "การรับรู้-รับฟัง" ทัศนคติที่แตกต่างไปจากของตนด้วย ... แต่มีใครรู้มั้ยล่ะว่า "กว้างแค่ไหนถึงจะเรียกว่ากว้าง ??!!" ... การที่ทุกฝ่ายยังมีทัศนคติที่จำแนกออกเป็น "เรา", เป็น "ผู้อื่น", เป็น "ในกรอบ", เป็น "นอกกรอบ", เป็น "จารีตนิยม", เป็น "เสรีนิยม", เป็น "พวกหัวก้าวหน้า", เป็น "พวกอนุรักษ์นิยมหัวเก่า", หรือเป็น "พวกหัวรุนแรง", ฯลฯ, อยู่อย่างนี้ ... มันก็คงจะเรียกว่า "กว้าง" ได้ลำบากเต็มทนแล้วล่ะ ... เพราะตราบใดก็ตามที่ในดวงความคิดของพวกเรา ยังมองเห็น "เส้นแบ่ง" ที่จำแนกฝ่ายหนึ่งออกจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตราบนั้น ทุกๆ ฝ่ายก็ยังคง "คิดอยู่ในกรอบ" ที่เพียงแต่ "แตกต่างกัน" เท่านั้น และจะต้องวนเวียนอยู่กับ "วาทกรรมแห่งความขัดแย้ง" ที่ต่างฝ่ายต่างก็เยาะหยันใน "ความดักดาน" ของฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนมา "ดักดาน" แบบเดียวกับฝ่ายของตนอยู่ร่ำไป ??!!
"คนฉลาดแสร้งโง่" หรือ "คนโง่แสร้งฉลาด" นั่นก็น่ารำคาญและน่ารังเกียจไปแบบหนึ่ง แต่ไอ้ประเภท "หน้าด้านแสร้งใจกล้า" นี่แหละที่มันทั้ง "โง่" และ "ทุเรศ" ในเวลาเดียวกันเลยว่ะ !!!??
Money : The Unauthorized Biography
|
หลายคนคงได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของ "ธุรกิจการเมือง" มาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย และคงได้รับรู้ถึงความสกปรกโสมมของการบริหารบ้านเมือง ที่มีการใช้ "เงิน" เพื่อ "บิดเบือน" เงื่อนไขต่างๆ อย่างที่ "คิดว่าน่าจะเป็น" จนบิดเบี้ยวในอารมณ์ของประชาชนมากเผ่าหลายพันธุ์ไปทั่ว ... จนบางครั้งก็อาจจะเกิดความรู้สึกที่ว่า "เมื่อใดก็ตามที่เงินเข้าไปมีบทบาทต่อเงื่อนไขทางการเมือง เมื่อนั้นการเมืองย่อมจะตกต่ำและเลวร้ายลงไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง" !!? ... แต่ถ้าพิจารณาจากมุมมองด้านประวัติความเป็นมาของ "เงิน" ตามทัศนวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่าง Felix Martin แล้ว เรากลับพบว่า "เงิน" คือ "นวัตกรรมทางสังคม" ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อ "ความเป็นระบอบทางการเมือง" ในการ "ผดุงอำนาจ" ของ "อภิสิทธิ์ชน" ผู้กำหนด "มูลค่าของเงิน" ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในสังคมหนึ่งๆ มาตั้งแต่ครั้งที่มันถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อหลายพันปีก่อน ??!! ... หรือถ้าจะเปลี่ยนคำพูดให้สั้นกว่านั้น เราก็อาจจะกล่าวได้ว่า "เงินคือเครื่องมือทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของระบอบการปกครอง" ก็คงจะไม่ผิดไปจากความหมายที่ Felix Martin ต้องการจะสื่อไว้ในหนังสือเล่มนี้ของเขามากนัก ??!! ... และคงจะไม่น่าแปลกใจที่ "นายธนาคาร" ในทุกยุคทุกสมัย ล้วนต้องมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ "ขั้วอำนาจทางการเมือง" ไม่ขั้วใดก็ขั้วหนึ่งเสมอ เพราะ "นายธนาคาร" หรือบรรดา "นักมายากลเงินตรา" ทั้งหลายเหล่านั้น ต่างก็ต้องอาศัยฐานอำนาจทางการเมือง ในการรับรองสถานะของ "เงินตรา" ที่พวกเขา "เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเอง" ในรูปของ "เครดิต" ต่างๆ ที่ใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของทั้งสังคม และของชนชาติหนึ่งๆ มาตลอดระยะในประวัติศาสตร์นั่นเอง ...??!!
สังคมมนุษย์ถูกทำให้จมจ่อมอยู่กับ "เงินตรา" จนกระทั่ง "กระบวนทัศน์เกี่ยวกับเงิน" ของผู้คนส่วนใหญ่ อยู่ในอาการเช่นเดียวกับปลา ที่ไม่อาจอธิบายถึง "ความเป็นน้ำ" ของสิ่งซึ่ง "รายรอบชีวิตปรกติ" ของพวกมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และคงจะจริงยิ่งกว่า หากเราจะเปรียบเปรยว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมโลกนั้น คือปลาที่ยังคงว่ายวนอยู่ในอ่าง ซึ่งถูกควบคุมทั้ง "คุณภาพ" และ "ปริมาณ" ของน้ำโดย "อภิสิทธิ์ชน" กลุ่มเล็กๆ ที่เป็นผู้กำหนด "มูลค่า" และ "ปริมาณ" ของเงินตรา สำหรับหมุนเวียนอยู่ในกระแสเศรษฐกิจของทั้งสังคม เพื่อเป็นปัจจัยในการ "ปลุกปั่น" ผู้คนให้ต้องแก่งแย่งแข่งดีบนพื้นฐานของ "ความเชื่อ" เกี่ยวกับ "ความมั่งคั่ง" ที่ "อภิสิทธิ์ชน" เหล่านั้นเป็นผู้ "สมมุติขึ้นมาเอง" ทั้งหมด !!?? ... "เงิน" จึงเป็น "นวัตกรรมทางสังคม" ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อใช้ "บงการพฤติกรรมทางสังคม" ของ "มนุษย์ผู้ถูกปกครอง" เสมอมา ... และทำให้ทรัพยากรส่วนใหญ่อันเป็นผลผลิตจาก "สังคมที่ถูกปั่นหัว" นี้ ถูกถ่ายเทกลับไปหา "เจ้าของเงินตราตัวจริง" ซึ่งจะแปรสภาพเป็น "เจ้าของทรัพยากร" โดย "มนุษย์ผู้ถูกปกครอง" ทั้งหลาย จะได้รับผลตอบแทนเป็น "สิ่งสมมุติ" ที่พวกเขา "อุปโลก" ขึ้นมาให้ !!?!
ความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่าง "เงินตรา", "อำนาจ" และ "ความมั่งคั่ง" นี่เอง ที่เป็นปัจจัยดึงดูดให้ผู้คนจำนวนหนึ่ง กระเหี้ยนหระหือรือต่อการ "ยึดกุมกลไกแห่งอำนาจ" โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ "การสร้างความมั่งคั่ง" ให้กับตนเองและพวกพ้อง ... ซึ่งรูปแบบของ "การแย่งชิงกลไกแห่งอำนาจ" ระดับท้องถิ่น ก็ได้วิวัฒนาการจาก "การก่อสงครามระหว่างชนเผ่า" มาสู่ "การเลือกตั้ง" อันเป็นรูปแบบของ การยึดครองอำนาจ" ที่ดูมีอารยธรรมมากขึ้น ... ในขณะที่ "การแย่งชิงอำนาจ" ในระดับภูมิภาค ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจาก "สงครามล่าอาณานิคม" ไปสู่ "การแย่งชิงทรัพยากร" ด้วยรูปแบบอื่นที่ซุกซ่อนความรุนแรงเอาไว้ให้มิดชิดกว่าเดิมบ้างเท่านั้น ...
หากจะเปรียบเทียบความคล้ายกันของ "เงินตรา" กับ "ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์" แล้ว เราอาจจะเปรียบเทียบได้ว่า "กลไกแห่งปริวรรตเงินตรา นั้น คือ "ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ปกปิดชุดรหัสคำสั่ง" (Proprietary Close-Source Software) ที่อนุญาตให้ "ประชาชน" ซึ่งเป็น "ผู้ใช้" (Users) สามารถใช้งานได้ตามกฎหมาย โดย "ห้ามทำซ้ำ" เพื่อการจำหน่ายจ่ายแจกแบบให้เปล่า หรือเพื่อการพาณิชย์ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังมีกฎหมายให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการผลิตแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดพัฒนา "เงินตราอื่นๆ" ขึ้นมา "แข่งขัน" ในอาณาจักรที่อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ อันจะเป็นการ "บั่นทอนความเป็นเอกสิทธิ์" แห่ง "อำนาจ" ที่ใช้ "บงการพฤติกรรมทางสังคม" ของ "มนุษย์ผู้ถูกปกครอง" ทั้งหลายในรัฐอาณาจักรโดยตรง ... ?!!? ...
มนุษย์ย่อมถูกทำให้จมจ่อมอยู่กับกระแสแห่งเงินตรา เช่นเดียวกับปลาที่จมจ่อมอยู่กับกระแสน้ำ ... เมื่อปลาไม่อาจจำแนก "ความเป็นน้ำ" ออกจากสภาพแวดล้อมของตน มนุษย์ก็ย่อมไม่อาจแยกแยะ "ความเป็นเงินตรา" ออกจากวิถีชีวิตเฉกเช่นกัน ... การเรียกร้องดิ้นรนใดๆ เพื่อ "ความมีสิทธิเสรีภาพ" นั้น ล้วนเป็น "มายา" ที่ผู้คนถูกปลุกปั่นให้ว่ายวนเหมือนปลาที่เวียนว่ายอยู่แต่ภายในอ่างอันถูกควบคุมไว้แล้วตลอดเวลา ... "น้ำ" อาจจะมี "คุณภาพ" และ "ปริมาณ" ที่ดีกว่าเดิมบ้างในบางช่วงบางโอกาส แต่ "อิสรภาพที่แท้จริง" กลับอยู่ "ภายนอกอ่าง" ที่ยังไม่มีใครเคยเรียกร้องว่าอยากจะกระโดดออกไป ??!! ... ;)
ศิษย์ไม่มีครู
น่าจะหลายปีแล้วที่ผมมีโอกาสเข้าไปจุ้นจ้านกับเว็บบอร์ดของ "อาษา" อยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในการเขียน "กระเซ้ากัน" ไปๆ มาๆ ในเว็บบอร์ดสาธารณะนั้น มันก็มีความสนุกในอารมณ์ไปอีกแบบหนึ่งพอสมควร (ผมเรียกว่า "กระเซ้ากัน" นะ คนอื่นอาจจะเรียก "ถกเถียงกัน" หรือ "ทะเลาะกัน" หรืออะไรกันผมก็ไม่รู้)
ในการ "กระเซ้ากัน" ครั้งหนึ่ง มีสมาชิกท่านหนึ่งได้ยกคำกล่าวอ้างของพระผู้ใหญ่ขึ้นมาเป็น "เหตุผล" สนับสนุนข้อคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งผมก็ "กระเซ้า" กลับไปด้วยวิธีการ "ตีความ" ตามที่ผมเข้าใจไปอีกแบบหนึ่งของผม ... แล้วผลที่ตามมาก็คือ สมาชิกท่านนั้นได้ยกคำว่า "ศิษย์มีครู" ขึ้นมาเพื่อหักล้างวิธีการ "ตีความ" ของผมใน "ข้อกระเซ้า" ที่ผมหยิบยกขึ้นมา ... ในทำนองว่า ผมน่าจะ "ตีความผิด" เพราะ "ไม่มีครูบาอาจารย์คอยอบรมสั่งสอน" !! ... เออ ... ตลกดีเหมือนกัน !!? ...
ความจริงผมก็ไม่เคยอ้างตัวว่า มีใครเป็นครูบาอาจารย์ของผมมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วแหละ !!?? ... ... ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะอยากจะอวดดีว่า ทุกอย่างที่ผมพูด หรือทุกอย่างที่ผมเขียน ล้วนเป็นสิ่งที่นึกคิดขึ้นมาได้เองเป็น "สัมมาสัมเถนฉึก" บ้าบออะไรแบบนั้น แต่มันเป็นเพราะ "ความเจียมเนื้อเจียมตัว" ที่ผมสำนึกอยู่เสมอว่า "กูนี้กวนตีนหนอ กูนี้ผิดพลาดได้หนอ" ผมจึงไม่อยากให้ชื่อของครูบาอาจารย์ที่ไหน ต้องมาแปดเปื้อนไปกับความเลอะเลือนส่วนตัวของผม ... เท่านั้นเอง ... มันคือเหตุผลที่ผมมักจะบอกกับใครต่อใครได้อย่างหน้าไม่อายว่า "ผมเป็นศิษย์ไม่มีครู" ... เพื่อให้คำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ของผมนั้น สิ้นสุดลงที่ตัวผมเพียงคนเดียว ...
แต่หากว่ามีครูบาอาจารย์ท่านใดที่ภูมิใจในสิ่งที่ผมประพฤติปฏิบัติ และภาคภูมิใจที่จะยอมรับกับทุกคนว่าผมเป็นศิษย์ของท่าน ผมก็ยินดีเสมอนะ และจะไม่ปฏิเสธเลยด้วย เพราะผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สิ่งต่างๆ ที่ผมคิด และแสดงออกไปนั้น มันเป็น "มวลสารทางความคิด" ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการหล่อหลอมของครูบาอาจารย์ท่านไหน หรือจากการอ่านตำรับตำราของใคร หรือจากการฟังคำบอกเล่าของอริและสหายกลุ่มต่างๆ ฯลฯ ซึ่งอาจจะเป็นภูมิปัญญาเฉพาะตัวของครูบาอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งเป็นการเฉพาะรึเปล่า ... จับต้นชนปลายไปถูกหรอกครับ ??!! ... ... เพราะฉะนั้น ใครอยากมีชื่อว่าเป็นครูบาอาจารย์ของผม ก็ประกาศกันเอาเองได้เลย แต่นั่นก็หมายความว่า ท่านเลือกที่จะอยู่ใน "ภาวะเสี่ยง" ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่ไม่น่าอภิรมย์บ้างเป็นครั้งคราว ... ซึ่งผมคงไม่สะดวกใจที่จะสร้าง "ปัจจัยเสี่ยง" แบบนั้นให้กับท่าน ด้วยการระบุชื่อของท่านต่อสาธารณชนว่า ... นี่ไงๆ !! ... คนนั้น คนนี้ เป็นคนสอนผมมา ... นะ !! ...
ให้มันเป็น "สัมมาสัมเถนฉึก" ของมันอย่างนั้นแหละ สนุกดีแล้ว !!?? ...
เขียนให้แม่
ย้อนนึกถึงวันเวลาที่ตัวเองกลายมาเป็น "หนอนหนังสือ" ... ตอนนั้นน่าจะประมาณปี พ.ศ.2529 ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปไหนต่อไหนกับพนักงานขายของที่บ้านระหว่างปิดภาคเรียน ... จดจำอารมณ์ในตอนนั้นได้ประมาณว่า ... เรื่องราวที่น่ารู้ในโลกทำไมมันถึงได้เยอะนักวะ ?! ... แล้วปริมาณหนังสือในบ้านก็พุ่งพรวดพราดขึ้นมาจนเปิดอ่านกันไม่ทัน ... :D
แต่ความผูกพันกับหนังสือคงจะถูกฝังรากไว้ในสันดานของผมก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว ... น่าจะตั้งแต่เมื่อครั้งที่คุณแม่ยังนั่งอ่าน "นิทานหลอกเด็ก" ให้พวกเราฟัง ... จำได้ว่าบางวันหยุดที่ไม่มีการบ้าน ผมก็จะหยิบหนังสือนิทานเล่มเล็กๆ แล้ววิ่งไปขอให้คุณแม่ช่วยอ่านให้ แล้วก็นั่งฟังเสียงอ่านราบๆ เรียบๆ เหล่านั้นไปเรื่อยๆ อย่างมีความสุข ... มันคือ "นิทานหลอกเด็ก" ที่ผมแทบจะไม่ได้หยิบอ่านอีกเลยตลอดระยะเวลาหลายปีหลังๆ มานี้ ... เป็นเพราะเราเติบโตเกินกว่าจะระลึกถึงคุณค่าในอดีตของมันแล้วรึเปล่า ?! ... แล้วคุณแม่ล่ะ ?!
หลายปีที่เราใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการทำงาน อยู่กับการแก้ปัญหาของงาน หรือกับการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้คนรอบข้าง ... เคยมีคนๆ หนึ่งที่ "ต้องว่างเสมอ" เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ ... "ต้องว่างเสมอ" เมื่อเราอยากมีคนคุยด้วย ... "ต้องว่างเสมอ" เมื่อเราต้องการแบ่งปันเรื่องราวความสนุกสนานแบบเด็กๆ กับเขา ... ฯลฯ ... เคยมีคนๆ หนึ่งที่ยอมอุทิศตนเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับเด็กๆ จนไม่เหลือเวลาสำหรับการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของโลกภายนอก ต้องคอยดูแลการบ้านซึ่งมีแต่เรื่องเก่าๆ ที่เขาเคยรู้มาก่อนแล้วทั้งนั้น ... เพื่อให้เด็กๆ เหล่านั้นมีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเองจากการเรียนรู้ จากการละเล่น หรือจากการดำเนินชีวิตในสังคมที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ... เคยมีคนๆ หนึ่งที่ยอมหยุดตัวเองเพื่อให้เด็กๆ ได้ก้าวเดินต่อไป ... และยิ่งเดินห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ... จนบางครั้งก็ไม่เหลือเวลาที่จะหันกลับมามองคนที่ยังยืนอยู่ตรงจุดเดิม ... จุดที่ "ต้องว่างเสมอ" เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ ... "ต้องว่างเสมอ" เมื่อเราอยากมีคนคุยด้วย ... "ต้องว่างเสมอ" เมื่อเราต้องการแบ่งปันเรื่องราวความสนุกสนานแบบผู้ใหญ่กับเขา ... ฯลฯ ...
เราจะสามารถ "ต้องว่างเสมอ" สำหรับใครบางคนในอดีตของเราบ้างมั้ยล่ะ ?! ... มันคือความสามารถอันยิ่งใหญ่ที่ใครหลายๆ คนยังไม่สามารถบรรลุถึงจุดนั้นของชีวิตได้เลย !!!
... มาถึงวันนี้ ผมไม่มีคุณแม่อีกแล้ว ท่านจากไปอย่างสงบเมื่อเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2013 ด้วยอาการขั้นสุดท้ายของโรคพาร์กินสัน เหลือไว้แต่นิสัยที่มีความผูกพันอยู่กับหนังสือ ซึ่งคุณแม่ตั้งใจจะปลูกฝังไว้ให้เป็นมรดกในกมลสันดานจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของผมเอง ...
ฑัมตัวเป็ณนักกานเมือง
คลึ้มอกคลึ้มใจลองสมมุฏิว่าถ้าจำฬองพฤติกัมของนักกานเมืองมาเป็ณกานเขียนหนังษือจะมีหน้าตาเป็ณยังงัยมั่ง ผมก้อคิตว่าน่าจะออกมาปละมานอย่างนี้ ... ม้าง?!
จะบอกว่าถึงกับฑัมให้เราอ่านมั่ยลู้เรื่องมั้ย มันก็ไม่น่าจะถึงขณาดนั้น ... แต่มันดูขัดหูขัดตามั้ย มันก็คงจะมีอากานแบบนั้นนิดอน่อย เพลาะมันออกจะทะแม่งๆ เมื๋อนจะถูกเหมือนจะมั่ยถูกแบบเอาแน่เอานอนไม่ไฎ้ปละมานนั้น ... สึ้งนักกานเมืองบางคนก็จะรีบแถค่างๆ คูๆ ว่านี่เรียกว่า 'กานคิดนอกกอบ' เป็ณความคิดส้างสันแบบที่คนโง่ๆ ไม่มีทางเค่าจัย คนที่เขาจะเป็ณพู่นัมจะต้องทำอะไลให้มันเกินกว่าความคาดม๋ายของผู้คณ จะมัวแต่มาทัมอะไลส๊ำๆ ส้ากๆ เมื๋อนอดีตฒี่ตายไปแร้วไม่ด้าย ... นั่นก้อเป็ณวิทีกานหนึ่งของความพญายามกรับผิดให้เป็ณถูก โดยบอกว่าฑี่คนเขาไม่เค่าจัยนั่นเพลาะไอฆิวมันมั่ยศมปละกอบเอง ม่ายชั่ยความผิดปรกฏิของคนที่มีพฤติกัมไม่หยู่กับล่องกับรอย
พอวันดีฆืนดีฑี่มีคนเขาลู้มากๆ แร้วว่า อ้ายบ้านั่นมันติงฏ๊องไปวันๆ เท่านั้นแหระ เที่ยวหลอกนู่นปนนี่เมื๋อนนักเล่นกนให้คนงงๆ เพื่อจะหยิบฉวยอะไลบางอย่างเข้าหลือออกจากกะเป๋าของมันเองเฒ่าณั้นเอง ไม่ดั้ยมีอะไลที่วิเสดวิโษอย่างที่มันอวดอ้าง นักกานเมืองถ่อยๆ ปละเพทที่ว่านี้ก็มักจะบีบน้ำลายป้ายลูกตาให้ดูเมื๋อนหน้าสงสาน ล้องห่มล้องหั้ยว่าคนโบรานที่มีอำนาดเขากั่นแกร้ง ก่าวหาว่ามีการบิดเบือฎกะบวนกานยุฏิธัม เพลาะพวกที่แก้งนั้นกัวกานเปรี่ยนแปง กรัวว่าตัวเองจะหมดซิ่นอำนาดวาศนา ... ว่าแล้วก้อขอให้คนที่ยังงงๆ อญู่อีกล๋ายๆ คนช่วยกันส่งเสียงบอกว่าเขาเป็ณคนฏีที่ถูกกั่นแกร้ง พญายามให้ช่วยกันยืนยัณว่าทั้งหมดที่เขาทัมลงไปนั้ณมันถูกฏ้องแล้ว อันเป็ณฒี่มาของกานพยาญามเขียน 'ฎีกา' เพลาะเค่าจัยว่า 'ฎี' กับ 'ดี' มันคือฅำๆ เฎียวกันที่สะกตคนระหย่าง ... แร้ว 'ฎีกา' ก็เลยแปรว่า 'กาให้เป็นคนดี' :D
คนฒี่ยังชื่นชมนักกานเมืองปละเพดอย่างณั้น ก็คือคนฑี่ลู้สึกว่าการเคี๋ยนหนังสือด้วยพาสาแป่งๆ แบบนี้เป็นความส้างสันปละเพตหนึ่งที่สมควนจะให้ราฌบันดิตยอมรับว่าเป็ณพาสามาฏลถานหั้ยได้ แระพยาญามชวณเชื่อให้ทุกๆ คนคล้อยฏามว่า ปละเทดจะพัทณาขีดความสามาดไปแข่งกับคณอื่นให้ได้นั้ณ จำเป็ณจะต้องอาสัยคนฒี่มีวิศัยทัสน์ก้าวหน้าอย่างที่เห็นนี่เพียงสฐานเดียว
น่าเหนื่อยว่ะปละเทดณี้ของกู !!
Kick-Ass Business & Marketing Secrets
Book Title: Kick-Ass Business & Marketing Secrets Author(s): Bob Pritchard Format: Hardcover ; 272 pages Publisher: Willy 1st Edition ; August 23, 2011) Language: English ISBN-10: 1118035089 ISBN-13: 9781118035085 Product Dimensions: 6 x 1.1 x 9.3 inches |
ความหมายของสำนวน Kick Ass หรือ Kick-Ass ที่ปรากฏการใช้ในสำนวนพูดตั้งแต่ประมาณปี 1970 เป็นต้นมานั้น ได้รับการนิยามไว้ในพจนานุกรมบางฉบับว่า
- จาก http://www.learnersdictionary.com/search/kick-ass : very tough and aggressive ; very good or impressive
- จาก http://www.merriam-webster.com/dictionary/kick-ass : strikingly or overwhelmingly tough, aggressive, powerful, or effective
- จาก http://idioms.thefreedictionary.com/kick+ass : forceful, aggressive, and impressive ; to be very exciting or effective ; to be impressive, esp in a forceful way
ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจจะใกล้เคียงกับสำนวนพูดของไทยประมาณว่า "เจ๋งว่ะ", "โคตรเจ๋งอ้ะ", "โคตรล้ำเลย", ฯลฯ หรืออะไรที่มัน "ไม่ดาดๆ พื้นๆ" ในลักษณะที่มัน "กระแทกใจ" หรือ "กระแทกความรู้สึก" ในบางระดับที่ทำให้ต้อง "สะดุดความสนใจอย่างเฉียบพลัน" เพราะมีความ "ตรงจุดตรงประเด็น" อย่าง "ตรงไปตรงมา" หรือ "พลิกความคาดหมาย" ... โดยอารมณ์ของคำน่าจะคล้ายกับการกระตุ้นสัตว์พาหนะด้วยการเตะตรงสะโพกหรือก้นของมัน ... ประมาณนั้น ... แต่ผมกลับรู้สึกว่า มันควรจะคล้ายกับ "การกระตุ้นเตือนสิ่งที่นอนก้นอยู่ในความทรงจำของแต่ละคนให้ฟุ้งสู่ความสำนึกรู้" ด้วยการ "เตะตูด" เพื่อ "เขย่าขวดความคิด" ให้บางสิ่งได้กลับคืนสู่ "การพิจารณาอย่างรอบด้าน" อีกครั้งหนึ่ง !!? ... เพราะมันไม่มีทางที่จะ "เจ๋ง" หรือ "โคตรเจ๋ง" ไปได้เลย หากสิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่ใน "ความทรงจำ" อันเป็น "ความใฝ่ฝัน" ของพวกเรามานานแสนนานอยู่ก่อนแล้ว !!? ... ;) ... และนั่นก็คือแง่มุมหนึ่งที่ทำให้หนังสือ Kick-Ass Business & Marketing Secrets ของ Bob Pritchard มีความน่าสนใจด้วย "เนื้อหาพื้นๆ" ที่เขาหยิบยกขึ้นมานำเสนอเอาไว้
จำได้ว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เรื่อง "ธุรกิจนั่นแหละคือคน" ที่ผมเคยอ่านเมื่อหลายปีก่อน น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือประเภทนี้มาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือในยุคสมัยปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในแต่ละสังคม ให้มีความแตกต่างไปจากวันเวลาของหนังสือเล่มดังกล่าวอย่างมากมายมหาศาลแล้วก็ตาม ... แต่เบื้องลึกลงไปในจิตใจอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของ "ผู้คน" นั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ?! ... หลายสิ่งที่เคย "เป็นจริง" ในอดีต อาจจะกลายเป็นเพียง "ความเคยเข้าใจผิด" ในยุคปัจจุบัน ... แต่ก็ไม่ใช่ทุกสิ่งที่ถูกถอนรากออกไปเพียงเพราะเรามีเทคโนโลยีที่ไม่เหมือนเดิม ... ซึ่ง "มนุษย์" ก็คือสิ่งหนึ่งที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ของทั้งเผ่าพันธุ์ !!?
"กลางวัน-กลางคืน" ย่อมสลับสับเปลี่ยนเพราะดาวโลกหมุนรอบตัวเองเพียงหนึ่งรอบ ... "ฤดูกาล" ย่อมผันแปรเพราะการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของดาวโลกตามเส้นทางรอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งขวบปี ... แม้ทุกสิ่งย่อมต้อง "เปลี่ยนแปลง" ไปตามกาลสมัย แต่ "อัตราการเปลี่ยนแปลง" ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละสรรพสิ่งอย่างอิสระต่อกัน ... เสื้อผ้าที่ผู้คนสวมใส่ หาใช่สิ่งยืนยันว่ามนุษย์ได้กลายพันธุ์ไปจากบรรพบุรุษของตนจนหมดสิ้นแล้ว ... ฤๅแก่นแท้แห่งสรรพศาสตร์จะหวือหวาได้เฉกเช่นเดียวกับลีลาแห่งถ้อยคำ ??!!
อาจกล่าวได้ว่า "ไม่มีอะไรใหม่" ในหนังสือเล่มนี้ ... เพียงแต่เราคงต้องย้อนถามตัวเองซักหลายๆ ครั้งว่า ... ในโลกธุรกิจที่กำลังวูบไหวเพราะความทันสมัยของ "เครื่องไม้เครื่องมือ" ในยุคปัจจุบันนั้น มันทำให้ "หลักการ" ของการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อหลายร้อยปีก่อนด้วยรึไง ??!!