ความรู้ กับ ความคิด

6/11/2013 | Comments: 1

ผมเขียนวนๆ เวียนๆ อยู่กับความไม่เหมือนกันของ "ความรู้" กับ "ความคิด" มาหลายครั้ง ด้วยเหตุว่ามี "นักวิชาการ" ซึ่งบางคนก็เป็นถึงครูบาอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาของไทย ออกมาแสดง "ทัศนคติ" แบบ "คนสิ้นคิด" อยู่ค่อนข้างบ่อยในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ ประกอบกับมีผู้ที่พยายามยืนยันว่าตัวเองเป็น "นักคิด" ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเยาว์อีกหลายคน ที่บ้างก็ออกมา "ต่อต้าน" บ้างก็ออกมา "สนับสนุน" แนวทาง "การนำเสนอ" ของฝ่ายต่างๆ ตามสื่อสังคมออนไลน์และออฟไลน์จน "เลอะเทอะไปหมด" ... ซึ่งผมก็ต้องยอมรับครับว่า ส่วนใหญ่ของ "ความเลอะเทอะ" นั้น เป็นผลิตผลของเหล่า "นักรู้" หรือ "นักเลียน" ตัวยงที่มี "ความรู้" อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้งมากๆ ในแต่ละแง่มุมที่พวกเขานำเสนอ ... แต่ที่สามารถนับว่าเป็น "ความคิด" จริงๆ กลับน้อยมากจนแทบไม่น่าเชื่อ !!!??? ... หรือ "คนที่มีความรู้" จะแตกต่างกับ "คนที่มีความคิด" ได้มากมายขนาดนั้น !!??!! ...

ผมบังเอิญได้ฟังการตอบคำถามโดยหลวงพ่อจรัญฯ แห่งวัดอัมพวันฯ เพียงท่อนสั้นๆ เมื่อหลายวันก่อน จากคลิปที่มีคนโหลดไว้ใน Youtube ซึ่งก็สะดุดใจกับคำพูดท่อนหนึ่งที่ท่านพูดไว้ประมาณว่า "... พวกนักวิชาการน่ะมีความรู้จริงรู้เยอะ แต่พวกนี้มักคิดไม่เป็น ..." ซึ่งทำให้ผมย้อนนึกไปถึงข้อเปรียบเทียบที่ Dr. Edward de Bono เคยยกขึ้นมาในการนำเสนอ "วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์" ของเขาว่า ... "สมองของมนุษย์ทุกคนอาจจะเปรียบได้กับรถยนต์ซึ่งมีสมรรถนะที่แตกต่างกัน แต่การคิดคือทักษะในการใช้สมอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสมรรถนะของสมองที่แต่ละคนมีอยู่" ... แล้วผมก็ไพล่นึกไปถึงบทความหลายๆ บทความของ J.Krishnamurti ที่มักจะเน้นว่า "... สิ่งที่หลายๆ คนเรียกว่าความคิดนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นแค่เพียงเศษซากของความทรงจำ ที่แต่ละคนสะสมเอาไว้ในรูปของความรู้ ซึ่งไม่อาจนับเป็นความสร้างสรรค์ใดๆ ได้เลย ด้วยเหตุที่มันปราศจากความมีชีวิตที่สดใหม่ของปัจจุบันขณะ ... พวกเราแต่ละคนล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับโลกและทุกสรรพสิ่ง จากพื้นฐานของความทรงจำที่เป็นอดีต แต่กลับมืดบอดต่อความจริงที่กำลังเผยตัวอยู่ในแต่ละขณะของปัจจุบัน ... จิตใจที่มืดบอดต่อความจริง ย่อมปราศจากความรัก และปราศจากความสร้างสรรค์ใดๆ ..."

แต่แม้ว่า "ความรู้" กับ "ความคิด" จะไม่ใช่สิ่งเดียวกันตาม "ตรรกะ" ที่บังเอิญ "ถูกโฉลกกับจริตสันดาน" ของผม แต่ผมก็ยัง "เชื่อ" เสมอว่า มันควรจะเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ร่วมกัน และต้องคอยประคับประคองซึ่งกันและกันอย่างสมดุล ... ต้องไม่ใช่เอียงไปด้าน "ความคิด" โดยไม่แยแสกับ "ความรู้" ที่ควรจะต้องศึกษาค้นคว้ามาประกอบการพิจารณา ... และต้องไม่ใช่ "ดักดานอยู่กับความรู้" จนปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่แตกต่างไปจาก "ความทรงจำ" ของตัวเอง เหมือนอย่างในนิทานพื้นบ้านเรื่อง "ตาบอดคลำช้าง" ที่หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังจนลืมนึกถึงมันไปนานแล้วว่า มันได้แฝงข้อคิดที่สะท้อนถึง "ความขัดแย้ง" ของบรรดา "ผู้มืดบอดทางปัญญา" มาตั้งแต่ครั้งโบร่ำโบราณนู่นแล้ว

บ่อยครั้งที่เมื่อมนุษย์บางคนได้รับ "การรับรองวิทยฐานะทางการศึกษา" ในระดับสูงๆ หรือได้รับความยอมรับในระดับหนึ่งจากสังคมรอบๆ ตัวแล้ว ก็มักจะ "หลงจนลืม" ไปว่า นั่นเป็นเพียง "การรับรองสมรรถนะของสมอง" ซึ่งเป็นเพียง "วัตถุนิยมทางปัญญา" เท่านั้น แต่ไม่มีการยืนยันรับรองใดๆ ว่า เราจะมี "สติ" และ "ทักษะ" ที่เพียงพอแก่การใช้งานเจ้า "สิ่งสมรรถนะสูง" ที่ว่านั้นให้เกิดประโยชน์จริงๆ รึเปล่า ... เพราะต่อให้เป็นมหาบัณฑิตที่แตกฉานในทุกสรรพวิชา ถ้าลองมันเมาเป็นหมาขึ้นมาจริงๆ ล่ะก้อ มันก็เป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่ผ่านทั้งนั้นแหละครับ ใครที่ไหนจะกล้าไปยืนยันว่ามันขับรถต่อไปได้ล่ะ ... จริงมั้ย ??!! ... การมีรถที่ติดตั้งเครื่องยนต์แรงๆ ไม่ได้แปลว่าไอ้หมอนั่นมันจะขับรถเป็นหรอกนะ ... ถูกมั้ย ?!

... "ความรู้" ไม่อาจใช้เยียวยาคนที่ไร้ "ความคิด" ... แต่กลับจะทำให้กลายเป็นคน "ดัดจริต" เพราะหลงเชื่อว่าตัวเองนั้น "คิดเป็น" ...

 

 

คัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

เซ็นชื่อกำกับเพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีใครโพสต์แทน | 2/11/2013 | Comments: 4

 

 

คนขวางโลก

28/10/2013

ในช่วงหลายปีที่ social media ในประเทศไทยเฟื่องฟูขึ้นมาราวกับขี้ลอยน้ำ ผมมีโอกาสได้พบเห็น "สิ่งอุจาดทางความคิด และ "ความดัดจริตทางการแสดงออก" ของหลายต่อหลายคนในสังคมเมืองไทยอย่างไม่เคยเชื่อมาก่อนเลยว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยมันพังพินาศได้ขนาดนั้นมานานมากแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาพังพินาศเอาในช่วงระยะหลังๆ ที่มีคนขุดคุ้ยขึ้นมาเอะอะโวยวายกันหรอก เพราะบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายๆ คนที่แถออกมาแสดง "ความสิ้นคิด" เท่าที่เห็นนั้น ล้วนเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาที่มีอายุอานามเกินกว่ากึ่งศตวรรษไปแล้วทั้งสิ้น !!??!! ... มันจึงไม่แปลกอะไรที่บรรดา "นักสิ้นคิด" เหล่านั้นจะผลิต "ทายาททางการลอกเลียน" ออกมาเป็น "นักสิ้นคิด" รุ่นใหม่ๆ ที่กระจายไปทั่วทุกวงการของเมืองไทย ... ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงไอทีที่น่าจะสามารถหลุดพ้นจาก "วงจรอุบาทว์" เหล่านี้มากกว่าใครก็ไม่มีข้อยกเว้น ??!! ... โดยแต่ละคนมักจะกระเสือกกระสนที่จะประกาศตัวว่าเป็นพวก "ลิเบอรัล" (liberal) เพื่อที่จะ "รวมเผ่าชาวสิ้นคิด" ให้เป็น "กลุ่มก้อนของผู้ปฏิเสธสังคม" สำหรับชดเชยให้กับ "ความอ้างว้างโดดเดี่ยว" ที่พวกเขา "ฝังใจกันเอง" มาตั้งแต่อ้อนแต่ออกของพวกเขาไปวันๆ ... เท่านั้นเอง ... !!!?!?!

... คนขวางโลก มักเป็นอาการแสดงออกของ "ความฝังใจ" ว่า โลกขวางเขา ...
... ผู้ไม่ยินดีกับโลก ย่อมเพราะ "ความฝังใจ" ว่าโลกไม่เคยร่วมยินดีกับเขาเลย ...

มีคนบางจำพวกที่ประพฤติตัวราวกับอสุจิที่เล็ดรอดถุงยางเข้าไปปฏิสนธิ จึงฝังใจมาโดยตลอดว่าตนไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของบุพการีมาตั้งแต่แรก และพยายามยืนยัน "ความฝังใจผิดๆ" ของตนว่าเป็น "คนนอกของสังคม" ด้วยพฤติกรรม "ขวางโลก" เพื่อให้ทุกผู้คนล้วน "ไม่อาจยอมรับ" อันจะกลายเป็น "เหตุสมอ้าง" ให้ตนพร้อมจะ "ต่อต้านสังคม" อย่าง "ผู้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์" ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ โดย "ไม่ต้องไตร่ตรองใดๆ" อีกต่อไป ...

"คนขวางโลก" ประเภทนี้หลายต่อหลายคน พยายามชดเชย "ความอ้างว้างโดดเดี่ยว" ในใจของตนด้วย "การศึกษา" ... บ้างก็ชดเชย "ความฝังใจผิดๆ" นี้ด้วยการประกอบธุรกิจให้แปลกใหม่ใหญ่โต ฯลฯ ... พยายามแสวงหา "ปมเขื่อง" มาข่มทับ "ปมด้อย" ที่ตนเป็นผู้ "ตีตราให้แก่ตนเอง" อย่างขมักเขม้น ... ซึ่งหลายๆ คนก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และการประกอบวิชาชีพของพวกเขาได้จริงๆ ... แต่ "ทรัพย์สิน" และ "ความรู้" ก็ไม่ใช่ "สัดส่วนทางตรง" กับ "ความคิด" เสมอไป ... เราจึงมีโอกาสได้พบเห็น "คนรวยระยำ" กับ "กูรูสิ้นคิด" ที่พยายาม "อวดโอ่ตัวเอง" เพื่อ "เรียกร้องความยอมรับ" จาก "สังคมที่ตนเป็นผู้ปฏิเสธ" มาโดยตลอด !!??!!

ประเพณี, วัฒนธรรม, ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมหนึ่งๆ ล้วนมีวันเวลาที่เหมาะสมของการก่อเกิด และการดำรงคงอยู่ของมันเสมอ ซึ่งความเหมาะสมของยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจจะไม่มีความเหมาะสมในอีกบางยุคบางสมัย แต่สิ่งที่ทุกคนควรจะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก็คือ พวกมันล้วนมีเหตุให้ต้องก่อเกิด ล้วนมีเหตุให้ต้องธำรงรักษาไว้ ล้วนมีเหตุให้ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ-เทศะของมันเสมอ ... ทุกๆ ประเพณี ทุกๆ วัฒนธรรม ทุกๆ กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในแต่ละสังคม ล้วนมีฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ซึ่งย่อมจะแสดงออกด้วยการยอมรับ ล้วนมีฝ่ายที่เสียประโยชน์ ซึ่งย่อมจะแสดงออกด้วยการแข็งขืนต่อต้าน ... แต่สังคมย่อมสงบ เมื่อสมาชิกส่วนใหญ่มี "ทัศนคติ" ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มีการจัดสรร "ผลประโยชน์" ให้แก่ "แต่ละภาคส่วนของสังคม" อย่าง "ถ้อยทีถ้อยอาศัย" ซึ่งกันและกัน โดยไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ต้องได้เปรียบ หรือต้องเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ... มันคือ "หลักคิด" ที่ "นักสิ้นคิด" บางคนชอบกระแนะกระแหนว่า "เขียนเมื่อไหร่ก็ถูก" นั่นแหละ ... !! 😈

ถ้อยคำสำคัญใน "หลักคิด" ข้างต้นนั้นก็คือ "ทัศนคติต่อผลประโยชน์ของแต่ละภาคส่วนของสังคม" นั่นแหละ ... เพราะ "ผลประโยชน์" นั้น มันมีทั้งที่ "จับต้องได้" และ "จับต้องไม่ได้" ... อีกทั้งยังมีประเด็นของ "ผลประโยชน์ระยะสั้น" กับ "ผลประโยชน์ระยะยาว" ... ซึ่งก็จะไปเกี่ยวข้องกับ "ภาคส่วนของสังคมในรุ่นปัจจุบัน" กับ "ภาคส่วนของสังคมในรุ่นอนาคต" ... ทุกๆ ฝ่ายที่มี "ความปรารถนาดีต่อสังคมโดยรวม" จึงต้องพยายามทำความเข้าใจใน "ทัศนคติ" ที่ "อาจจะ" ยังมี "ความแตกต่างกัน" ในประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนตรงกันเสียก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นกันที่การตั้งแง่เพื่อจับแต่ละฝ่ายไป categorize ให้เป็น "ลิเบอรัลสามานย์" หรือ "คอนเซอร์เวทีฟสถุล" อย่างที่ปฏิบัติต่อกันอยู่ในทุกวันนี้ !!

คนที่เป็นครูบาอาจารย์จะต้องพยายามทำหน้าที่ "ถ่ายทอดวิธีสังเคราะห์ความรู้" ให้เป็น "ความคิด" แก่สานุศิษย์ของตนด้วย ไม่ใช่สักแต่ท่องจำคำแปลตำราต่างชาติมายัดเยียดให้ใครต่อใครเชื่อว่า "ความรู้" นั้นคือ "ความคิด" ที่เจิดจรัสราวกับรับประทานมาจากสวรรค์วิมานชั้นบรรยากาศนอกวงโคจรของดาวโลก ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียง "กากเดน" ของ "ความรู้" ที่ถูกย่อยจนละเอียดไปแล้วของ "นักคิด" ใน "อดีต" ที่อาจจะโบร่ำโบราณกว่าวัฒนธรรมประเพณีที่ตนก่นด่าว่าล้าสมัยไปอีกตั้งหลายร้อยปีด้วยซ้ำ ... ส่วนคนที่อยากสถาปนาตนขึ้นเป็น "นักคิด" ก็จะต้องพยายาม "ใช้ปัญญาอย่างมีสติ" เพื่อ "สังเคราะห์ความรู้" ซึ่งเป็นเพียง "วัตถุดิบทางปัญญา" ให้กลายเป็น "ประดิษฐกรรมทางความคิด" อย่าง "ปรารถนาดีต่อสังคมโดยรวม" ไม่ใช่สักแต่ตะแบงให้มันแผลงเพี้ยนไปวันๆ เพื่อ "สร้างปมเขื่อง" ให้กับตัวเอง ราวกับเป็นตัวอสุจิที่ "ฝังใจในความไร้ค่า" อันเนื่องมาจากความผิดพลาดของมาตรการคุมกำเนิดเท่านั้น !!??

... โลกยังคงหมุนไปไม่ว่าจะมีใครคล้อยตามหรือขวางกั้น ... สังคมย่อมเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะมีใครยอมรับหรือปฏิเสธ ... มนุษย์แต่ละคนล้วนเป็นฝุ่นธุลีที่ดี๊ด๊ากันไปเองว่าตนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคม ... กรวดทรายที่สำคัญตนว่าเป็นดาวฤกษ์ ต่างก็ทับถมกันเองว่าใครเจิดจรัสกว่าใครอย่างไม่สิ้นสุด ... เถนย่อมไม่ใช่ทั้งกรวดทราย และไม่ใช่ทั้งดาวฤกษ์ ... แต่เถนเป็นขี้กองหนึ่งที่รู้สึกเหม็นขี้ฟันบรรดากรวดทรายทั้งหลายมากกว่าเหม็นกลิ่นของตัวเอง ... 😃

 

 

เชื่อกูเหอะว่ามันจริง ?!

15/10/2013

... ประมาณว่า ... "กำลังหาความอยากอ่าน" ที่น่าจะบังเกิดขึ้นกับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งในกองกระดาษมหึมาในบ้านตัวเอง แล้วก็เกิดคำถามเก่าๆ ที่เคยนึกเล่นๆ อยู่เสมอว่า ... ทำไมเราถึงอยากอ่านหนังสือบางเล่ม" และ "ทำไมเราถึงไม่อยากอ่านหนังสืออีกบางเล่ม ??!! ... ซึ่งก็แน่นอนว่า ปรกติแล้วมันจะเป็นเรื่องของ "ความชอบ" ... แต่ "ทำไมเราถึงชอบ" หรือ "ทำไมเราถึงไม่ชอบ" ล่ะ ??!! ... 😈

ผมมี "ความเชื่อ" อยู่อย่างหนึ่งว่า ... มนุษย์ส่วนใหญ่พยายามยืนยัน "ความเชื่อ" ของตัวเองโดยอาศัย "น้ำมือ" หรือ "น้ำลาย" ของคนอื่นเป็นหลักฐานเพื่อการอ้างอิง !!?? ... ซึ่งการอ่านหนังสือก็มักจะมี "ตรรกะ" ที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน ... นั่นก็คือ ... เรามักจะเลือกอ่านหนังสือที่ "สนองความเชื่อของเราเอง" ในระดับใดระดับหนึ่งเสมอ และมักจะ "ไม่ค่อยชอบ" หนังสือที่ "อ่านไม่รู้เรื่อง" หรือหนังสือที่นำเสนอ "ทัศนคติ" ซึ่ง "ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา" ... ทำนองว่า ... มัน "ท้าทายสัญชาติญาณหมู่" ที่ฝังลึกอยู่ในสันดานของ "สัตว์สังคม" อย่างมนุษย์นั่นเอง ... และ "น่าจะ" ส่งผลให้การอ่านหนังสือที่นำเสนอ "ทัศนคติ" อัน "สอดคล้องกับความเชื่อของเรา" สร้าง "ความผ่อนคลายในอารมณ์ของเรา" มากกว่า ... มั้ง ??!! ... ผมเดาๆ เอาว่าคงจะประมาณนี้ !!? ... 😋

เมื่อย้อนมองไปที่การสื่อสารสนทนาของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม เราก็อาจจะเห็น "การสร้างตรรกะ" ในลักษณะที่คล้ายๆ กันกับการเลือกหนังสือ ... นั่นก็คือ ... เราเลือกที่จะ "เชื่อ" คนที่มี "ทัศนคติ" ที่ "สอดคล้องกับความเชื่อของเรา" และมักจะมี "ความผูกพัน" กับบุคคลนั้นๆ ในลักษณะของ "ความไว้วางใจ" มากกว่าบุคคลที่มี "ทัศนคติ" ซึ่ง "ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา" อย่างชัดเจน ... และบ่อยครั้งที่คนเรามักจะ "อ้างอิงคำพูด" หรือ "อ้างอิงความคิด" ของ "บุคคลสาธารณะ" บางคน เพื่อ "ยืนยันในความถูกต้อง" ของ "สิ่งที่ตัวเองเชื่อ" ว่านั่นคือ "ความจริง" ... ด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่า "บุคคลที่เราเชื่อถือ" ก็ "เชื่อในสิ่งเดียวกันกับเรา" ... เหมือนกัน ... ??!! ... พร้อมทั้ง "สร้างความคาดหวัง" ขึ้นมาในใจของตนว่า คนอื่นๆ ก็ "น่าจะ" มองเห็นและเข้าใจในแง่มุมอันเป็น "ความจริงของเรา" นี้อย่างไม่ควรจะมี "ข้อโต้แย้ง" ใดๆ อีก ... เว้นเสียแต่ว่า "มัน" จะ "ดักดาน" อยู่กับ "เรื่องไม่จริงของมัน" จนเหมือนกับ "ควาย" หรือสิ่งอื่นใดที่ตน "เชื่อว่า" มี "ศักดิ์สถานะต่ำกว่าตน" เท่านั้น ... ???!!!! ... ซึ่งผมมองว่า ประเด็นแห่ง "ความขัดแย้ง" ทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนมีบ่อเกิดมาจาก "ตรรกะวิปลาส" อัน "เลื่อนลอย" จนต้อง "ยึดติด" อยู่กับ "ความเชื่อ" ล้วนๆ ของแต่ละกลุ่มแต่ละคนนั่นเอง ... !!? ... ส่วนในอีกมุมหนึ่งของ "ความรู้สึกเป็นพวกพ้อง" ก็กลายมาเป็น "ตรรกะ" ของบรรดาสื่อโฆษณาทั้งหลาย ที่นิยมนำเอา "บุคคลสาธารณะ" อันเป็น "ที่ยอมรับอยู่แล้ว" ในสังคมของแต่ละกลุ่มก้อน มา "สร้างกระแสความยอมรับ" ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างออกหน้าออกตานับตั้งแต่ครั้งโบร่ำโบราณนู่นเลยทีเดียว !?! ...

ประเด็นของ "ความน่าเชื่อถือ" นี้เองที่ "น่าจะ" แผลงมาเป็น "กฎ-ระเบียบ" ต่างๆ ของบรรดาสถาบันทางสังคมทั้งหลาย ไล่ไปตั้งแต่สถาบันทางศาสนา และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มักจะกำหนด "รูปแบบมาตรฐาน" ของ เสื้อผ้า-หน้า-ผม, ตลอดจนถ้อยคำที่ใช้เฉพาะกลุ่ม, หรือระเบียบพิธีกรรมอันเคร่งครัด, ฯลฯ, เพื่อสร้าง "ความมีอัตลักษณ์" ให้เป็นที่ "สะดวกใจ" แก่ "การยอมรับ" ของสาธารณะชน ... ส่วนในระดับขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็มักจะใช้ "เครื่องแบบ" เป็น "สื่อสัญลักษณ์" เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ในสังคม "ยอมไว้ใจ" แม้แต่ "คนแปลกหน้า" ที่อยู่ใน "เครื่องแบบ" เหล่านั้น ... หรือแม้แต่ในด้านของสถาบันวิจัยต่างๆ ก็มักจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ "มาตรฐาน" ของ "ระเบียบวิธีการค้นคว้า" ของสถาบันเอาไว้ ... เพื่อ ... "สร้างความน่าเชื่อถือ" ... เท่านั้นเอง ... รึเปล่า ??!! ... ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของ "กระบวนความเชื่อ" ที่ถูกสังคมเรียกให้ดูมี "ความเป็นตรรกะ" มากขึ้นว่า "กระบวนการทางความคิด" ที่ "น่าจะ" ฝังลึกอยู่ในระดับ DNA ของ "สัตว์สังคม" อย่างมนุษย์ และเป็น "ช่องโหว่" สำคัญที่บรรดา Social Engineering Experts ใช้เพื่อการ "แฮ็ค" (hack) เข้าไปดำเนินการบางอย่างกับ "กระบวนทัศน์ทางสังคม" เสมอมา ... !!!??!!! ...

... เชื่อกูเหอะว่ามันจริง เพราะใครๆ เขาก็เชื่ออย่างที่กูเชื่อนี่แหละ ขนาดคนที่มึงเชื่อก็ยังเชื่ออย่างที่กูเชื่อนี่เลย ... มึงจะไม่เชื่อก็ตามใจนะ แต่กูรู้ว่าถ้ามึงทบทวนให้มันดีๆ มึงก็จะเชื่ออย่างที่กูเชื่อนี่แหละ เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่ใครๆ เขาก็เชื่อกัน ... !!??!! ...

ครั้นจะบอกว่า "ทุกความเชื่อ" ของ "ทุกศาสนา" ... "ทุกอุดมการ" ของ "ทุกสำนักคิด" ... "ทุกแบบจำลอง" ของ "ทุกสถาบัน" ... ฯลฯ ... ล้วนอาศัย "ตรรกะ" แห่ง "สันดานสัตว์หมู่" ในการก่อกำเนิดด้วยกันทั้งนั้น ... มันอาจจะหยาบคายจนแสลงประสาทสัมผัสของ "นักคิด" เกินไปมั้ยก็ไม่รู้นะครับ ?!?!?! ... 😈 ... แต่มึงเชื่อกูเหอะว่ามันจริง ... กูรับรองได้ ... หรือมึงจะให้กูสาบาน ??!! ... 😄

 

 

ประเทศ "คงจะ" พัฒนา ... มั้ง ??!!

1/10/2013

บังเอิญว่า 3-4 วันก่อน ผมมีโอกาสได้มาเที่ยวเล่นที่เมืองกวางเจา (廣州) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ได้รับ "การพัฒนา" อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศจีนในปัจจุบัน ... เก้าะ ... เป็นเมืองใหญ่ และได้รับ "การพัฒนา" จน "เจริญ" สมคำร่ำลือจริงๆ ล่ะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หรืออาคารบ้านเรือนต่างๆ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย ล้วนมีความสูงใหญ่แน่นหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า "เมืองที่เจริญแล้ว" ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ... และความรู้สึกแรกๆ ของใครหลายๆ คนที่เพิ่งเดินทางมาถึงเมืองกวางเจา (廣州) ในปัจจุบัน ก็คงจะไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก ... นี่คือ "เมืองที่เจริญแล้ว" จริงๆ ... มั้ง ... ??!!

... มั้ง ... ??!!

มันคือหนึ่งพยางค์สั้นๆ ที่จู่ๆ ผมก็เติมมันเข้าไปท้าย "ความรู้สึก" ของตัวเอง เพราะผมเกิดคำถามที่แว้บขึ้นมาในใจว่า ... เรากำลังใช้อะไรเป็น "เกณฑ์การประเมินความเจริญ" ของบ้านเมืองกันแน่ ??!! ... ถ้าเราถ่ายรูปของสภาพบ้านเมืองในกวางเจา (廣州) ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้ แล้วนำไปกองรวมกับภาพถ่ายของ "บ้านเมืองที่เจริญแล้ว" อื่นๆ เรายังจะสามารถจำแนกออกมั้ยล่ะว่า ภาพไหนเป็นภาพถ่ายของเมืองอะไร ??!! ... ทำไม "เมืองที่เจริญแล้ว" ในความหมายของคนทั่วๆ ไป มันถึงได้มีหน้าตาที่เหมือนๆ กันไปหมด ??!! ... ทำไมมันถึงได้ "สิ้นไร้ความมีอัตลักษณ์" และดู "ปราศจากรสนิยมที่แตกต่างกัน" ซะขนาดนั้น ??!! ... หรือ "ความเจริญของบ้านเมือง" มีได้แค่แบบเดียว คือ "แบบที่เหมือนของชาติตะวันตก" เท่านั้น ??!! ... ใครเป็นผู้กำหนด "ค่านิยม" ดังกล่าวขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วๆ ไป ??!! ... แล้ว "ค่านิยม" แบบนั้นก็คือ "สัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว" ... งั้นเหรอ ??!! ... ฯลฯ ...

คำถามที่แว้บขึ้นมาเหล่านี้ ล้วนเป็นคำถามที่ชวนให้ผมนึกถึงคำว่า "ประเทศพัฒนาแล้ว" (developed country), "ประเทศกำลังพัฒนา" (developing country), และ "ประเทศด้อยพัฒนา" (undeveloped country) ตามคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ ... ซึ่ง "ประเทศพัฒนาแล้ว" โดยส่วนใหญ่ ก็จะหมายถึงประเทศของชาวตะวันตก หรือประเทศที่มีสภาพบ้านเมืองและสังคมแบบเดียวกับชาวตะวันตกไปแล้ว ... ในขณะที่ "ประเทศกำลังพัฒนา" ก็คงจะหมายถึงประเทศที่ "กำลังทำตามอย่างชาติตะวันตก" แต่ "ยังไม่ค่อยจะเหมือน" ซะทีเดียว ... 😋 ... ส่วน "ประเทศด้อยพัฒนา" ก็น่าจะหมายถึง "ประเทศที่ยังไม่ยอมรับแนวคิด และวัฒนธรรมแบบชาวตะวันตก" ... รึเปล่า ??!! ... มันทำให้ผมคิดว่า เราควรจะต้องมี "ประเทศคงจะพัฒนา ... มั้ง ??!!" ขึ้นมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ... ดีกว่ามั้ย ??!! ... 😃 ... เพื่อให้ "ระบบนิเวศทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ" มี "ความหลากหลาย" ในการพัฒนา "ความเจริญของบ้านเมือง" ที่ไม่คับแคบอยู่ใน "กรอบคิด" ของ "คำจำกัดความ ที่ยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน ??!!

อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกพิจารณาจาก "ความสะอาดของลำน้ำกับความเจริญของชาติ" เหมือนอย่างที่ผมเคยเขียนเป็นบันทึกเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เราก็คงจะต้องยอมรับครับว่า เมืองกวางเจา (廣州) ที่มีลำน้ำจูเจียง (珠江) ซึ่งมีความยาวเป็นอันดับสามของประเทศจีนไหลผ่านเป็นสายน้ำหลักนั้น คือ "บ้านเมืองที่เจริญแล้ว" เมืองหนึ่งของโลกจริงๆ เพราะเราจะมองเห็นลำน้ำซึ่งเป็น "สาธารณะสมบัติของชาติ" ที่สะอาดสะอ้านสวยงาม ไม่มีอาการเน่าเหม็นอันเนื่องมาจาก "ความักง่ายของคนในชาติ" ที่แม้ว่าจะมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องของ "ความเห็นแก่ตัว" และ "ความไม่ใส่ใจในสุขลักษณะของสังคมเลย" ก็ตาม ... แต่ "สำนึกในความเป็นชนชาติ" ในเรื่องนี้ของพวกเขา ก็แทบจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น "ประเทศด้อยพัฒนา" ในทันทีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกันเลยทีเดียว !!?? ... 😥

เมืองกวางเจา (廣州) มีปัญหาเกี่ยวกับการจราจร อันเนื่องมาจากความหนาแน่นของจำนวนประชากร เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ในอีกหลายๆ ภูมิภาคของโลกเหมือนกัน แม้ว่าจะมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขึ้นมารองรับ พร้อมๆ กับการขยายพื้นผิวการจราจรให้มีมากขึ้นตามปริมาณของยานพาหนะ และจำนวนประชากรแล้วก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็แทบจะไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมากนัก เพราะมันไม่สามารถรองรับ "การขยายตัวของความอยาก" ในประชากร ซึ่งมี "ศักยภาพทางเศรษฐกิจ" ที่สูงขึ้น จาก "การพัฒนาบ้านเมือง" ในทิศทางเดียวกับ "ประเทศทุนนิยม" อื่นๆ ... เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะกำหนดระเบียบปฏิบัติใดๆ ขึ้นมา สำหรับให้ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ... แต่หาก "กรอบคิดของกลไก" ยังคงผูกติดอยู่กับ "เงิน" ซึ่งถูกนำมาใช้เป็น "สื่อกลาง" สำหรับ "การให้รางวัล" และ "การลงโทษ" ด้วยแล้ว ปัญหาหลายๆ อย่าง ของ "สังคมเมือง" ก็คงยากที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไข ... ประมาณว่า ... เสมือนหนึ่งเป็น "การรักษาด้วยยาที่ผิดขนาน" ซึ่งไม่ต่างไปจากการปล่อยให้โรคร้ายต่างๆ ค่อยๆ กัดกร่อนสุขภาพจนทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำการรักษาใดๆ เลยนั่นเอง ... !!??

สิ่งหนึ่งที่ชาวต่างชาติอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับ "สังคมออนไลน์แบบจีน" ก็คือ รัฐบาลของพวกเขาอนุญาตให้ "ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล" เท่านั้นเป็นผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ทั้ง Google, Youtube, Facebook, (และอาจจะมีรายอื่นๆ อีกบ้างเหมือนกัน) ล้วนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงประชาชนคนจีนในผืนแผ่นดินใหญ่อย่างเด็ดขาด และผลลัพธ์ของ Search Engine ที่ได้รับอนุญาตไม่ว่าจะเป็น Bing หรือ Yahoo ก็ล้วนแล้วแต่แสดงผลออกมาเป็นภาษาจีนเกือบทั้งหมด ... เรียกได้ว่า ข้อมูลออนไลน์ทั้งหลายที่ชาวต่างชาติอาจจะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าชาวจีนอยู่บ้างนั้น ล้วนถูกรัฐบาลจีนสกัดกั้นจนทำให้คนจีนทั้งประเทศ สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างคล่องแคล่วกว่าชาวต่างชาติทั้งหลายในแผ่นดินเกิดของพวกเขาเอง และกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ชาวต่างชาติโดยทั่วไปในปัจจุบันแทบจะกระอักเลือดกันเลยทีเดียว ... แบบนี้จะเรียกว่า "เผด็จการเพื่อประชาชน" ได้รึเปล่าก็ไม่รู้นะ ??!! ... 😊 ... ส่วนพวกสื่อลามกทั้งหลายนั้นยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงล่ะครับ เพราะแทบจะหายเหี้ยนไปจนเกือบจะเรียกได้ว่า เป็นสังคมออนไลน์ที่มี "มลภาวะทางวัฒนธรรม" อยู่ในระดับที่ต่ำถึงต่ำมากจริงๆ ... 😉

สำหรับโปรแกรมที่ขาดหายไปไม่ได้เลยสำหรับทัวร์ไทยก็คือ "การช็อปปิ้ง" ซึ่งในปัจจุบันนี้ การซื้อขายสินค้าในเขตตัวเมืองของจีนจะไม่ค่อยมีการบอกราคาผ่านๆ เพื่อการต่อรองอย่างบ้าบอเหมือนกับการซื้อขายสินค้าพื้นเมืองในเขตชนบทอีกแล้ว จึงทำให้มาตรฐานของราคาสินค้าดูจะมีความเสถียรมากกว่าเดิม แม้ว่าจะมี "สินค้าปลอม" หรือ "สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์" วางขายกันอย่างกลาดเกลื่อนเหมือนไม่กลัวฟ้าไม่อายดิน แต่นั่นก็ดูจะเป็นสีสันแบบใหม่ที่แม้แต่นักท่องเที่ยวจาก "ดินแดนแห่งเสรีภาพอันมีลิขสิทธิ์เป็นประมุข" รู้สึกสนุกสนานไปกับการได้เดินช้อปปิ้งในตลาดแบบนี้พอสมควร ... ซึ่งเราก็คงต้องยอมรับใน "ความมีมาตรฐานเดียว" ของนักปลอมแปลงสินค้าเหล่านั้นในระดับหนึ่ง เพราะแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมของคนจีนด้วยกัน ก็ไม่ได้รับการยกเว้น หากเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่โตมโหฬารในประเทศของพวกเขา ...

หากจะถามว่า รัฐบาลจีนให้ความเอาใจใส่กับเรื่อง "สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์" เหล่านี้แค่ไหน ??!! ... ผมคิดว่าพวกเขาเองก็น่าจะเอาใจใส่กันพอสมควรอยู่ล่ะครับ เพียงแต่พวกเขาอาจจะมี "มิติทางความคิด" ที่แตกต่างไปจากบรรดา "เจ้าของลิขสิทธิ์ผูกขาด" ทั้งหลายอยู่บ้างเท่านั้น เพราะแม้แต่ผมเองก็ยังมีความรู้สึกในบางกรณีเหมือนกันว่า "ลิขสิทธิ์" หรือ "สิทธิบัตร" ในสินค้าบางกลุ่มบางจำพวกนั้น คือ "การผูกขาดเพื่อเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน" อันมีผลให้ "การละเมิดลิขสิทธิ์" ในหลายๆ กรณี มี "ความชอบธรรม" ในแง่ของ "การต่อต้านการผูกขาด" เพื่อผดุงไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ... นั่นอาจจะเป็น mindset ที่แตกต่างกันระหว่าง "ทุนนิยม" (Capitalism) แบบ proprietary กับ "สังคมนิยม" (Communism) ที่เน้นความเป็น community มากกว่าการปล่อยให้ทุนไหลไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือเดียว ดังปรากฏให้เห็นอยู่แล้วใน "ประเทศทุนนิยม" อื่นๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, ฯลฯ, หรือแม้แต่ "ประเทศคงจะพัฒนา ... มั้ง ??!!" อย่างประเทศไทย ที่นอกจากความเป็น domestic proprietary ไม่ค่อยจะสูงอยู่แล้ว ความเป็น community ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอีกต่างหากด้วย !!? ... 😔

ผมมีความรู้สึกว่า แต่ละท้องถิ่นล้วนมีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในท้องถิ่นนั้นๆ ที่แตกต่างกันไป ... ระดับของความรู้, ความเข้มข้นของการศึกษา, และวิถีแห่งจิตสำนึกของชุมชน, ตลอดจนหลักยึดทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อความศรัทธาในปรัชญาและศาสนา หรืออุดมการทางการเมือง, ฯลฯ, ล้วนมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน ... ผมเชื่อว่า ... สังคมทุกสังคมล้วนมี "สิ่งที่เลวร้าย" หากเรานำมันมา "เปรียบเทียบ" กับ "ความนิยมชมชอบ" อันเป็น "ความคุ้นชิน" แบบของเราที่แตกต่างไปจากของพวกเขา ... ในขณะที่ทุกสังคมย่อมต้องมี "แง่มุมที่น่ารัก" หากเรานำมา "เปรียบเทียบ" กับสิ่งที่เรา "ไม่สบอารมณ์" จากในสภาพแวดล้อมที่เรายังต้องประสบพบเห็นอยู่ ... นั่นคือ "วิถีการคิด" ของผู้ที่ได้สถาปนา "อัตตาตน" ให้เป็น "ศูนย์กลาง" แห่งจักรวาลและสรรพสิ่ง และตั้งสมมุติฐานทุกอย่างจาก "มุมมองอันคับแคบ" เฉพาะของตนเองเท่านั้น ...

ตลอดระยะหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยนั้น เราพึงสังวรไว้ด้วยว่า เรายังไม่เคยมี "นักปรัชญาการเมือง" ของชนเผ่าตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ เลยซักคนเดียว ... ??!! ... "นักคิด" หลายๆ คนในยุคสมัยของพวกเรา ล้วน "เรียนรู้แบบท่องจำ" แนวคิดและปรัชญาของชาวต่างชาติเอามาเล่าต่ออย่างหยามหยันและยกย่อง โดยแทบจะไม่เคย "ศึกษาประวัติของแนวคิด" เหล่านั้นเลยว่า แนวคิดหนึ่งๆ เกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมทางสังคมแบบไหน ?!?! ... มีแรงบีบคั้นทางสังคมในแง่มุมใดบ้างในช่วงเวลานั้นๆ ??!! ... "นักคิด" ที่เราลอกเลียน "แนวคิด" ของพวกเขามานั้น มีพื้นเพอยู่ในฟากฝั่งไหนของสังคม ??!! ... แล้ว "แนวคิด" ของพวกเขา จะก่อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด หรือริดรอนสิทธิประโยชน์ของฝ่ายใด ... เพื่อใครบ้าง ??!! ... ฯลฯ ... องค์ประกอบทั้งหลายทั้งปวงของแต่ละ "แนวคิด" ที่พวกเราอยากจะ "ดัดจริต" นำมาใช้นั้น มีอะไรบ้างที่สอดคล้องกับ "สภาวะแวดล้อมทางสังคม" แบบของเรา หรือมีอะไรบ้างที่ไปกันไม่ได้เลยกับ "สภาพความเป็นจริง" ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมของเรา ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ ??!! ... มีใครเคยได้ยินการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ในรายละเอียดแบบนี้จากลมปากของผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น "นักคิดระดับหัวแถว" ของไทยมั้ยล่ะ ??!!

"ความเป็นชนชาติ" หนึ่งๆ คงไม่ใช่เพียงแค่การมี "ฝูงชน" ที่บังเอิญมาเกิดอยู่ในอาณาบริเวณอันเป็นเขตแดนของประเทศเดียวกันเท่านั้น ??!! ... "การสร้างชาติ" หนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ของชนทุกชาติ ... ล้วนมีวันเวลาที่โหดร้าย ... ล้วนมีช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเหนื่อยยากลำบาก ... ล้วนมีช่วงเวลาที่สุขสมและผ่อนคลาย ... ล้วนต้องมีกรอบ ... ต้องมีกฎ ... ต้องมีทิศทางที่กำหนดไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ... และมุ่งที่จะประพฤติปฏิบัติไปตามนั้นอย่างทุ่มเท ... จริงจัง ... ??!! ... สถานะของ "ประเทศคงจะพัฒนา ... มั้ง ??!!" อาจจะเป็น "การตั้งคำถาม" เพื่อให้เราต้องทบทวนหลักคิด และแนวทางในการปฏิบัติที่ควรจะได้รับการสานต่อ ... แต่มันก็อาจจะเป็นเพียง "วลี" เพื่อ "ทอดถอนใจ" อย่างสิ้นหวัง สำหรับสังคมในบางภูมิภาคของโลกได้เหมือนกัน ... ??!!

 

ขออุทิศบทบันทึกนี้แด่ "การฉลองวันชาติจีน" ในฐานะที่พวกเขาสามารถ "สร้างชาติ" ของตนขึ้นมาจากระบอบการปกครองอันไม่เคยเป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตกใดๆ เลยซักชาติเดียว ??!!

 

 

ความสะอาดของลำน้ำกับความเจริญของชาติ

Repost of ZhuqiBLOG on 27.03.2007 at OKNation | 20/9/2013

ผมบังเอิญเติบโตมากับบ้านที่อยู่ริมคลอง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ติดกับลำน้ำเพราะมีถนนกั้นกลาง แต่ก็อยู่ในระยะที่มองเห็นสภาพของลำคลองได้ตลอดทั้งวัน แล้ววันหนึ่ง ผมก็ถามกับตัวเองว่า ... "ประเทศนี้เมืองนี้จะนับว่าเจริญแล้วได้หรือไม่ ?" ... เพราะผมรู้สึกถึง "ความไม่รู้จักรับผิดชอบ" ของผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ร่วมในชุมชนของพวกเรา ซึ่งสะท้อนออกมากับสภาพของลำน้ำอยู่ทุกวี่ทุกวัน !!!

ความสะอาดของลำน้ำกับความเจริญของชาติ เป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกันได้ในระดับหนึ่ง หากคนในชาติปราศจาก "จิตสำนึกที่ดี" ต่อชุมชน ไม่มี "ความรู้สึกร่วม" ใน "ความเป็นชนชาติ" มุ่งแต่ "ความมักง่าย" และ "ความสะดวกสบายส่วนตัว" นึกอยากจะทิ้งขยะมูลฝอย หรือปล่อยสิ่งโสโครกใดๆ ลงไปในลำน้ำที่เป็นสมบัติของส่วนรวมเมื่อใดก็ได้ โดยไม่ใยดีว่า มันจะก่อความเสียหายในวงที่กว้างขวางขนาดไหน ... ผมก็เชื่อว่า ด้วย "จิตสำนึก" ในระดับที่เป็นอยู่เวลานี้ ประเทศชาตินั้นๆ ก็คงจะเจริญได้ยากมาก !!!

การช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของสมบัติส่วนกลาง ถือเป็นภาระกิจที่ "ง่ายมาก" ในระดับของปัจเจกบุคคล มันคือสิ่งที่ทุกๆ คนสามารถที่จะทำได้ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ... ซึ่งหาก "ความรับผิดชอบ" ในระดับนี้ยังทำไม่ได้ ... เราก็ต้องยอมรับว่า "จิตสำนึก" ใน "ความเป็นชนชาติ" ของประชาชนในประเทศนั้นๆ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น และคงสร้างสรรค์ความเจริญใดๆ ได้ลำบากเต็มทน ... ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของระบบเศรษฐกิจ ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของตลาดหุ้นหรือตลาดทุน หรือกลไกทางกฎหมายใดๆ ให้ยุ่งยากแก่ความเข้าใจ ไม่สำคัญว่าประเทศนั้นเมืองนั้น เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจว่ารัฐธรรมนูญถูกเขียนด้วยมือหรือเท้าข้างไหนของสิ่งมีชีวิตชนิดใดๆ ในโลก ... ถ้า "จิตสำนึก" ที่รู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวม ยังสะท้อนออกมาเป็นความสกปรกโสโครกของลำน้ำสาธารณะ ... กฎหมายไหนๆ หรือระบอบการปกครองใดๆ ก็ไม่อาจที่จะทำให้ประเทศนั้นเมืองนั้น ได้รับการพัฒนาไปสู่ความเจริญใดๆ ได้เลย ... ตลอดกาล !!!

 

 

"อี-หนังสือ" ไม่ใช่ "หนังสือ"

20/9/2013

ผมทดลองหยิบๆ จับๆ เพื่อจะ "ใช้งาน" เจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า "แทบเล็ด" อย่างตั้งใจมากขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ด้วยความที่ราคามันถูกลงอย่างสมเหตุผลกว่าสมัยที่มันเพิ่งจะ "เล็ด" ออกมาใหม่ๆ พอสมควรแล้ว และผมคิดว่า ราคาของพวกมันก็คงไม่ลดลงไปต่ำกว่า 4,000 บาทต่อเครื่องอีกซักเท่าไหร่แล้วล่ะ สำหรับเครื่องที่มี brand name ที่เป็นเรื่องเป็นราวอย่าง Lenovo ...

ก่อนหน้านี้ ผมเคยเสียเงินซื้อ smart phone มา "ทดลองใช้งาน" ด้วยราคาที่น่าเกลียดพอสมควร ซึ่งก็เป็นเพราะ "ความอยากรู้อยากเห็น" ในอุปกรณ์ที่ "เชื่อว่า" จะกลายเป็น "คอมพิวเตอร์พกพา" ในอนาคตนั่นแหละ ... แม้ว่ามันจะมีราคาที่เกือบจะเท่ากับราคาของ notebook ขนาดย่อมๆ ตัวหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับ Palm V ที่ผมมีไว้ครอบครองตั้งแต่สมัยที่มันเพิ่งจะคลอดใหม่ๆ ก็ถือว่าแพงกว่ากันแค่นิดหน่อยเท่านั้น ... แล้วผมก็ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า Android ณ วันนั้น (จนวันนี้) ยัง "ไม่เพียงพอ" กับคำว่า "คอมพิวเตอร์พกพา" ในความรู้สึกของผม เพราะซอฟต์แวร์ของมันยังไม่เพียบพร้อมในระดับเดียวกับ notebook ที่มีการใช้งานกันทั่วๆ ไปเลย ... นั่นก็หมายความว่า "แทบเล็ด" ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกัน ใช้แหล่งของซอฟต์แวร์ร่วมกัน ย่อมไม่อยู่ในสถานะที่ดีไปกว่ากันมากนัก เว้นแต่เรื่องขนาดของหน้าจอที่ทรมานสายตาน้อยกว่าบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ... และ ... สนนราคาค่าตัวที่อยู่ในระดับเดียวกับ notebook หรือ netbook จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผลมากๆ ... 😏

แล้วผมก็ได้ทดลองสัมผัสกับเจ้า "แทบเล็ด" ที่หลายคน "อ้างว่า" เราสามารถใช้มันเป็น "อี-หนังสือ" หรือ "หนังสืออิเล็คทรอนิค" ที่กำลังจะกลายเป็น "สิ่งทดแทนหนังสือกระดาษ" ในอนาคตได้นั่นแหละ ... ซึ่งประสบการณ์ที่ผมได้รับในเวลานี้ก็คือ "อี-หนังสือ" ไม่ใช่ "หนังสือ" อย่างแน่นอนครับ !!??? ... และคนที่ "พยายามยัดเยียด" ให้พวกเราเชื่อไปในทางตรงกันข้ามก็น่าจะมีอยู่ 2 จำพวกด้วยกัน ... จำพวกหนึ่งก็คือผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ (ซึ่งก็รวมไปถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย) ส่วนอีกจำพวกหนึ่งก็คือ คนที่ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างจริงๆ จังๆ เลย คือเป็นบุคคลประเภทที่เปิดอ่านแบบประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็เหมาๆ เอาเองว่าอ่านหนังสือแล้วนั่นแหละ ... ประมาณนั้น !! ... 😄

คืองี้ครับ ...

การอ่าน "อี-หนังสือ" ที่เราต้องเพ่งสายตาเข้าหา "แหล่งกำเนินดแสง" นั้น มันมีผลให้เราไม่สามารถอ่านหนังสือได้นานๆ เหมือนกับการอ่าน "หนังสือกระดาษ" ซึ่งความไม่สบายตานั้นเองจะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนสมาธิของการอ่านอย่างต่อเนื่องของเรา ... ดังนั้น การใช้งาน "อี-หนังสือ" จึงน่าจะมีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ การใช้งานในลักษณะของ "เอกสารอ้างอิง" ที่ไม่ค่อยจะมี "ความต่อเนื่อง" ของระยะเวลาในการอ่านที่นานๆ เหมือนกับ "เล่มหนังสือกระดาษปรกติ" ที่ยังมีการใช้งานกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็ยบทความ, รายงานการวิจัย, ตำรับตำราทางวิขาการ, หรือแม้แต่หนังสือนิยาย, ฯลฯ ที่มักจะมีจำนวนหลายสิบจนถึงหลายร้อยหน้ากระดาษ เหล่านี้ล้วนไม่เหมาะกับการพัฒนาให้อยู่ในรูปของ "อี-หน้งสือ" ด้วยเหตุผลของ "แหล่งกำเนิดแสง" ที่รบกวนสมาธิในการ "อ่านอย่างต่อเนื่อง" นั่นเอง ...

ถ้าจะพูดกันถึงเรื่อง "โลกเขียว" ที่หลายคนมักจะอ้างว่า "อี-หนังสือ" มีส่วนช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากไม่ต้องใช้วัสดุสิ้นเปลืองใดๆ ในการเผยแพร่หรือจัดจำหน่าย ซึ่งก็มักจะลากยาวไปจนถึงเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเอามาทำเป็นกระดาษสำหรับการพิมพ์หนังสือ อาจจะเสริมไปที่เรื่องของหมึกพิมพ์ หรือมลภาวะบ้าบอคอแตกอะไรอีกหลายอย่างอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่เป็นพิษเป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม ... จริงมั้ยก็ไม่รู้นะครับ !!?? ... แต่ที่ผมรู้แน่ๆ ก็คือ "ต้นทุนการผลิต" ของผู้ผลิต "อี-หนังสือ" นั่นแหละที่ลดลงอย่างมหาศาล อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็หดหายไปอีก เพราะเราสามารถส่ง "อี-หนังสือ" ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในลักษณะของข้อมูลดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบายมาก ... แต่ว่า ... ทำไมค่าตัวของ "อี-หนังสือ" มันถึงไม่ได้ลดลงอย่างมหาศาลเหมือนกับ "ต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่าย" ของมันล่ะ ??!! ... ทั้งๆ ที่ "ภาระค่าใช้จ่าย" สำหรับพลังงานที่ใช้ใน "การรับ อี-หนังสือ" และ "การอ่าน อี-หนังสือ" กลับตกมาอยู่ในความรับผิดชองของผู้บริโภคแบบเต็มๆ แล้วก็ยังต้องจ่าย "ค่าพลังงาน" เหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่จะเปิดอ่าน "อี-หนังสือ" อีกด้วย !!??!! ... การล้างผลาญพลังงานที่ถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผ่อนส่งไปตลอดนั้น ทำไมถึงไม่มีการเอ่ยถึงเลยล่ะ ... ??!!

งั้น "แทบเล็ด" มันมีประโยชน์สำหรับการใช้งานจริงๆ มั้ยล่ะ ?!

ผมก็คิดว่า มันคงต้องมีประโยชน์ของมันอยู่บ้างล่ะครับ แต่มันก็มีประโยชน์ในขอบเขตที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของมันเท่านั้น ... ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ หรือพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิมอย่างที่หลายคนพยายามสื่อให้พวกเรา "หลงเชื่อกัน" ... ซึ่งแม้แต่การเป็น "สิ่งทดแทนหนังสือกระดาษ" อย่างที่หลายคนมักจะกล่าวอ้างกัน ผมก็มีความเห็นว่า "แทบเล็ด" ทั้งหลายเท่าที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้ ยังมีศักยภาพที่ไม่เพียงพอสำหรับ "การโม้" ในระดับนั้นหรอกครับ !!??!! ... 😋

 

 

ว่าด้วย "เสรีภาพ" กับ "ชุดยูนิฟอร์ม"

9/9/2013

จู่ๆ ก็มีกระแส "ต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษา" แพร่กระจายให้วิพากษ์วิจารณ์กันว่อนเน็ต ซึ่งก็อาจจะเพราะมีการจุดพลุด้วย "โป๊สเตอร์ไร้สำนึก" ของ "เด็กเสียจริต" คนหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาจาก "รสนิยมในการจินตนาการ" ของตัวเองเท่านั้น ... เออ ... แล้วอาจงอาจานอาเจียนทั้งหลายก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝนพลอยกระโจนเข้าผสมโรงด้วยความหวดหวั่นว่า ตัวเองอาจจะตกกระแสจนไม่ได้รับ "การอุปโลก" ให้เป็น "นักคิด" ระดับหัวแถวแนวหน้าสื่อสังคมออนไลน์กะชาวบ้านอื่นๆ เขา ... เก้าะ ... ถ้าออกมาในรูปนี้ ก็คงไม่ต้องไปหาแพะที่ไหนมาบูชายัญว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล่มสลายของระบบการศึกษาไทยหรอกครับ ... ในเมื่อมันเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งฟาร์มนั่นแหละ !!?? ... 😌

เรื่องการใส่ชุด Uniform (ยูนิฟอร์ม) หรือ "เครื่องแบบ" เนี่ยะ มันจะดีหรือจะไม่ดียังไง มันก็เป็นเรื่องของ "รสนิยม" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วมั้ง ในเมื่อเขาก็มีคำที่มีความหมายแบบเดียวกันนี้แทบจะทุกชาติทุกภาษา แล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของราชการเท่านั้น มีองค์กรเอกชนจำนวนมาก หรือแม้แต่หน่วยงานบางประเภท เขาก็มีการกำหนดให้ใช้เป็น "ชุดแต่งกาย" ประจำหน่วยงานของพวกเขาอย่างเป็นปรกติวิสัย ... อาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ-เทศะ หรืออาจจะถือปฏิบัติกันอย่างตายตัวในบางสถานที่ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า "ธรรมดามากๆ" ... ธรรมดาจนผมนึกไม่ออกว่า มันจะมีส่วนในการ "กดทับจินตนาการ" หรือ "เชิดชูความเป็นมนุษย์" อะไรที่ตรงไหน จนหลายคนต้อง "ดัดจริต" มาถกเถียงกันราวกับเป็น "ปัญญาชน" ที่รู้จักใช้สมอง ... ??!!!???

เอางี้ ... ผมขอเล่าเรื่องเก่าๆ ดีกว่า ...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ... สมัยที่คุณพ่อของผมยังไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจเหมือนกับปัจจุบัน ประมาณว่า ยังมีสถานะแค่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานเพื่อหาข้าวสารกรอกหม้อไปเดือนหนึ่งๆ เท่านั้น อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด อะไรที่ประหยัดไม่ได้ก็ต้องพยายามประหยัด โดยที่ต้องไม่ขัดกับหน้าที่การงาน ซึ่งคุณพ่อรับผิดชอบอยู่ในฐานะของผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเวลานั้นด้วย ... ข้าวมื้อกลางวันก็ต้องเดินครึ่ง-นั่งเรือครึ่งเพื่อกลับไปกินที่บ้าน เพราะไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงข้าวใคร แล้วก็แทบจะไม่เหลือเงินค่าอาหารใดๆ อีก หลังจากได้เจียดไว้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องค่าอาหารประจำเดือน และค่าการศึกษาของสมาชิกในครอบครัวไปแล้ว, จะเอาข้าวกล่องมากินที่บริษัท มันก็ดูไม่ค่อยจะเหมาะสมแก่ "ภาพลักษณ์" และ "ความน่าเชื่อถือ" ของหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่ซักเท่าไหร่ ... การเดินครึ่ง-นั่งเรือครึ่งเพื่อกลับไปกินข้าวที่บ้าน (เพราะมีเงินไม่พอสำหรับเป็นค่ารถโดยสารประจำทาง) จึงเป็นทางอออกหนึ่งที่ท่านเลือกใช้ในช่วงชีวิตหนึ่งที่ผ่านมาของท่าน ...

ถ้าค่ารถค่าราค่าอาหารยังต้องกระเหม็ดกระแหม่ซะขนาดนั้น เสื้อผ้าที่จะสวมใส่สำหรับการติดต่อธุรกิจก็ยิ่งต้องระมัดระวัง ท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการใส่ "ชุดยูนิฟอร์ม" คือ "เสื้อผ้าแบบเดียวกัน-สีเดียวกัน" ทุกวัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อบังคับของบริษัท (เพราะเขาไม่เคยกำหนดว่าต้องมีชุดเครื่องแบบประจำบริษัท) แต่ท่าน "จำเป็น" ต้องทำอย่างนั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตว่า จริงๆ แล้วท่านมีเสื้อผ้าอยู่เพียง 2 ชุดที่ต้องใส่สลับกันไปสลับกันมาทุกๆ วัน ... เท่านั้นเอง ... !!

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว "ชุดยูนิฟอร์ม" จึงไม่ใช่เรื่องของความโก้เก๋, ไม่ใช่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์, ไม่ใช่เรื่องของความรักความศรัทธาในองค์กรหรือสถาบัน, ไม่ใช่เรื่องของสิทธิเสรีภาพ, และไม่ใช่เรื่องของการปลูกฝังค่านิยมห่าเหวอะไรทั้งนั้น ... แต่มันคือ "ความประหยัด" ที่ครั้งหนึ่งมันช่วยให้ครอบครัวของพวกเรามีข้าวกินทุกมื้อ, มีเงินพอสำหรับการศึกษา, และมีความสุขตามอัตตภาพโดยไม่ต้องไปคดโกง หรือไม่ต้องไปเอารัดเอาเปรียบใครที่ไหน ... ผมก็เลยไม่รู้สึกว่าเป็นความกดดันอะไรเมื่อต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ผมควรจะช่วยครอบครัวประหยัด ... ไม่ได้รัก ไม่ได้เทิดทูน ไม่ได้พิศวาสอะไรนักหนากับสถาบันการศึกษาที่ผ่านมาของตัวเองเลยซักนิดเดียว ... คนละเรื่อง !!! ... 😄

เมื่อโตมาจนเข้ามหาวิทยาลัย ... ก็จุฬาฯ นั่นแหละ ... ซึ่งบังเอิญว่าในยุคนั้นเขายังไม่เคร่งครัดเรื่องระเบียบของเครื่องแต่งกายนักศึกษาซักเท่าไหร่ หรือจะเป็นเฉพาะในคณะสถาปัตย์ฯ เท่านั้นรึเปล่าก็ไม่รู้อีก ... เพราะผมไม่ได้สนใจกับเรื่องบ้าบอจำพวกนี้มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ... แต่ผมก็ยังใส่ "ชุดยูนิฟอร์ม" ไปเรียนทุกวันอยู่ดี เพียงแต่มันเป็น "ชุดยูนิฟอร์ม" ที่ธุรกิจของทางบ้านทำไว้สำหรับให้พนักงานใช้เมื่อต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นตัวแทนจำหน่ายเขาเป็นสปอนเซอร์ให้ ... ก็คือ "เสื้อฟรี" นั่นแหละ แต่เป็น "ชุดยูนิฟอร์ม" เท่านั้นเอง ... ก็ใส่สบายดีครับ ไม่ต้องกลัดกระดุมเพราะเป็นซิปยาวตลอดทั้งตัว ไม่ต้องสอดชายเสื้อด้วย เพราะมันเป็นเสื้อแบบช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร สีเสื้อก็ทะมึนๆ เพื่อกลบเกลื่อนรอยเลอะเทอะจากคราบสกปรกต่างๆ ได้ดีอีกต่างหาก ... เหมาะกับสันดานที่ไม่ค่อยระวังตัวเรื่องความสะอาดอย่างผมพอดี ... แต่ก็มีข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ ของทางคณะฯ ว่า ขอให้นักศึกษาสวม "เสื้อเชิร์ตที่สุภาพ" เพื่อเข้าห้องสอบเท่านั้น ... ไม่ได้กำหนดสีเสื้อ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดของรูปแบบอะไรที่ตายตัวทั้งนั้น ... ขอแค่ "เสื้อเชิร์ตที่สุภาพ" ... ซึ่งแต่ละคนต้อง "จินตนาการด้วยจิตสำนึก" กันเอาเองว่า ควรจะเป็นแบบไหนจึงจะเหมาะสม ?! ... 😊

ย้อนนึกถึงวันเวลาในช่วงนั้นจากเวลานี้ ถ้าบังเอิญจุฬาฯ มีข้อบังคับว่าต้องใส่ชุดนักศึกษาไปเรียนทุกวัน ... ผมจะเดือดเนื้อร้อนใจกับข้อบังคับแบบนั้นมั้ย? ... จะรู้สึกทุรนทุรายว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผมรึเปล่า? ... หรือจะรู้สึกว่าเป็นการกดทับจินตนาการของเด็กอาร์ตอย่างพวกถาปัดที่ควรจะระเบิดความคิดตัวเองให้เปรอะไปหมดทั้งร่าง? ... ผมก็คงรู้สึกเฉยๆ กับข้อบังคับที่ว่านั้นอยู่ดี เพราะมันก็แค่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นอะไรที่มีความหมายกับผมเลยซักนิดเดียว ... มีแต่คนที่ขลาดกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับความสนใจเท่านั้นแหละ ถึงต้องพยายามเรียกร้องให้ใครต่อใครยินยอมเปิดพื้นที่ให้ตนได้สร้างความโดดเด่นเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ยังดี ... ซึ่งก็น่าเห็นใจคนพวกนี้อยู่หรอก เพราะถ้าพวกเขาต้องทำอะไรๆ ที่เหมือนกับคนอื่นๆ แล้ว พวกเขาจะไม่มีอะไรที่โดดเด่นจนเป็นที่สังเกตเห็นได้เลยตลอดชีวิต !!?? ... มันคือคุณลักษณะของ "ทาสชั้นดี" ที่เมื่อใดที่มีกรอบซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว พวกเขาย่อมไม่มีปัญญาที่จะคิดอะไรให้วิจิตรพิสดารเกินกว่ากรอบนั้นเลยตลอดกาล เว้นแต่จะได้รับ "คำสั่ง" จากผู้ที่พวกเขา "เทิดทูนไว้ในจิตใต้สำนึก" ว่า ต่อไปนี้ไม่มีกรอบแล้วนะ พวกเขาถึงจะรู้สึกได้ว่า มันไม่มีกรอบแล้วจริงๆ... น่าสงสาร !!?? ... 😃

แน่นอนครับ ผมเองก็เชื่อว่า "กรอบ" คือปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิด "ความคับแคบ" ... แล้วไง ??!! ... มันก็คือ "ความคับแคบ" ของคนอื่นๆ ของสิ่งอื่น ขององค์กร หรือของสถาบันอื่นๆ ที่เขาเป็นผู้กำหนด "ความคับแคบ" นั้นขึ้นมาสำหรับพวกเขาเอง ... ถ้าเราหันซ้ายหันขวาหกหัวตีลังกาแล้ว "เห็นแต่กรอบ" เราก็คือผู้ที่กักขังตัวเอง เพราะคนอื่นเขาวางกรอบเอาไว้เฉยๆ แต่เราเป็นคนเอามันมาครอบไว้ในใจของตัวเอง ... แต่ถ้าเราคิดว่าเราคือ "คนเยี่ยมไข้" ที่เดินเข้าไปเยี่ยมคนป่วยในห้องไอซียู เราก็ต้องเปลี่ยนชุด เราก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในคนไข้ที่กำลังป่วยหนักอีกตั้งหลายคน ... มันก็ไม่ใช่เรื่องของ "การถูกบังคับ" แต่เป็นเรื่องของ "การอนุเคราะห์" ที่เราให้ "ความเมตตา" แก่ผู้อื่น ... มันเป็นโลกที่แตกต่างกัน และเราก็มีอิสรภาพที่เพียงพอสำหรับการเดินกลับไปกลับมาระหว่างโลกที่มีกรอบ กับโลกที่ไม่มีกรอบ ... ทำไมต้องขังตัวเองไว้นอกกรงของใครด้วยล่ะ ... เอ๊อ ... !!?? ... 😈

 

 

รำพึงรำพันวันตื่นเช้ากว่าปรกติ

edited from the previous note of 18.01.2012 | 23/8/2013

เช้าวันหนึ่งที่ขับรถส่งลูกชายไปเที่ยวเขาชนไก่ ... เช้ามืดนี่มันยังมืดจริงๆ ด้วยแฮะ ถนนโล่งก็โล่ง เงียบก็เงียบ แทบจะไม่มีรถวิ่งกันเลย ... นานๆ ถึงจะเห็นแว้บๆ มาซักคันสองคัน ...

ไฟสัญญาณจราจรก็เลยแทบจะไม่มีความหมายอะไร ... ใครนึกอยากจะหยุดหรือไปตามสัญญาณไฟก็ทำกันไปตามปรกติ เพื่อบ่งบอกถึงความเคารพในกติกาสังคม ... หรือ ... ใครนึกอยากจะฝ่าสัญญาณไฟก็ฝ่า ... อาจจะเพราะรีบ? ... อาจจะเพราะอยากทำผิดระเบียบมานานแล้ว? ... อาจจะเพราะฝ่าฝืนเป็นประจำ? ... หรือ ... อาจจะไม่เห็นคุณค่าความหมายใดๆ ของการเคารพในกติกาในบางกาละ-เทศะ ... หรืออาจจะแค่ทำๆ มันไปอย่างนั้นเอง เพราะไม่มีใครเห็น? ... ฯลฯ ...

บางครั้งในเวลาที่มีรถราบนท้องถนนมากกว่านี้ หลายคนก็อาจจะเคยเห็นการฝ่าสัญญาณไฟจราจร ... อาจจะเพราะรีบ? ... อาจจะเพราะอยากทำผิดระเบียบมานานแล้ว? ... อาจจะเพราะฝ่าฝืนเป็นประจำ? ... หรือ ... อาจจะไม่เห็นคุณค่าความหมายใดๆ ของการเคารพในกติกาในบางกาละ-เทศะ ... หรืออาจจะแค่ทำๆ มันไปอย่างนั้นเอง เพราะไม่มีใครเห็น? ... ฯลฯ ...

บางคนอาจจะเรียกการฝ่าฝืนระเบียบสังคมแบบนี้ว่า "ใจกล้า", อาจจะเรียกว่า "บ้าบอ", อาจจะเรียกว่า "บ้าบิ่น", หรืออาจจะเรียกว่า "เหี้ย", ... ฯลฯ ... แต่ก็มีบางคนที่เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า "คิดนอกกรอบ" ??!!

คนบางคนรักษาระเบียบเพราะกลัวความผิด ... คนบางคนรักษาระเบียบเพราะไม่คิดว่ามันฝ่าฝืนกันได้ ... คนบางคนรักษาระเบียบเพราะมันเสมือนหนึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ... อาจจะมีบางคนที่เรียกคนประเภทนี้ว่า "คนดี", อาจจะเรียกว่า "ซื่อสัตย์", อาจจะเรียกว่า "โง่เง่า", หรืออาจจะเรียกว่า "ไม่รู้จักพลิกแพลง" ... ฯลฯ

ระเบียบทุกอย่าง, กฎทุกข้อ, ประมวลกฎหมายทุกมาตรา ล้วนแล้วแต่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อ "จำกัดสิทธิ" ไม่ใช่เพื่อ "เสรีภาพ" ... ไม่มีใครได้ "ทุกอย่าง" ภายใต้กฎระเบียบ แต่ทุกคนต้องสูญเสีย "บางอย่าง" เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน, เป็นสังคม, และเป็นประเทศชาติ ...

ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎระเบียบไม่ได้อยู่ที่ตัวของผู้คุ้มกฎ หรืออยู่ในกระบวนการพิจารณาใดๆ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนด้วยความเคารพในผู้อื่นของแต่ละผู้คนในสังคมหนึ่งๆ เป็นสำคัญ ... หลายคนมักจะพูดเรื่อง "ความเคารพในกฎหมาย" แต่น้อยคนที่จะพูดถึง "ความเคารพที่พึงมีต่อผู้อื่นในสังคม"

 

 

คิด "ในอก" กรอบ

20/8/2013

ผมตั้งชื่อหัวข้อให้มันบ้าบอไปอย่างนั้นเองแหละ ...  😋 ... แต่ด้วยความกังวลว่า อาจจะมีคนเก่งภาษาไทยหลงเข้าใจว่าผมสะกดผิด ... เก้าะ ...เลยตัดสินใจใส่เครื่องหมาย "อัญประกาศ" ครอบคำ "ในอก" เอาไว้ซะ เพื่อจะสื่อให้เข้าใจตรงกันว่า ผม "ตั้งใจ" จะสะกดคำออกมาให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ !!?? ... 😃

ช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ ผมสังเกตว่า มีคนไทยหลายคนกำลัง "บ้าเห่อ" แนวคิด "สิทธิเสรีภาพมหานิยมในอุดมคติอันเลื่อนเปื้อน" ตามแบบอย่างของฝรั่งต่างกาละ-เทศะหนักข้อขึ้นทุกที ... โดยต้องขอย้ำว่า เป็น "การตามแบบ" แนวคิดของเขามา อย่างไม่มีการคิดต่อยอดใดๆ ให้สมกับ "ความมีอิสรภาพที่แท้จริง" เลยซักนิดเดียว ... ซึ่งดูแล้วทุเรศมากหากจะเรียกคนเหล่านี้ว่า "นักคิด" หรือ "นักวิชาการ" อย่างที่สังคมเขาเรียกขานกัน !! ... ย้ำอีกครั้งว่า ... ".. ทุ .. เ .. ร .. ศ .. ม่ า ก .." !!!!!!!!!!!

ผมจำไม่ได้แล้วล่ะว่า คนไทยเอาวลี thinking outside the box มาแปลเป็นคำไทยว่า "การคิดนอกกรอบ" ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ด้วยเหตุที่มัน "ผสมพันธุ์" ได้อย่างลงตัวกับ "ความไร้ราก" ของสังคมไทยพอดิบพอดี การอ้าง "กลิ่นขี้ฟัน" ของฝรั่งด้วยถ้อยคำ "สิทธิส่วนบุคคล" และ "เสรีภาพในการคิดและการแสดงออก" จึงเบ่งบานใน "ช่องปาก" ของเหล่า "นักดัดจริต" ทั้งหลาย จนกลายเป็น "วาทกรรมทางสังคม" ที่นำไปสู่ "ความแตกแยก" ซึ่งยากจะแก้ไขในยุคปัจจุบัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ประเมิน "กรอบคิด" ของฝ่ายอื่นๆ ว่า ล้วน "ดักดาน" และ "ไม่สร้างสรรค์" เท่ากับ "ความไร้ราก" ที่ฝ่ายตนพยายามอวดอ้างใน "ความมีเสรีภาพอย่างยึดติด" อยู่ตลอดเวลา ??!! ... สังคมมันก็ต้องขัดแย้งอยู่แล้วล่ะครับ ก็ในเมื่อไอ้กลุ่มคนที่ถ่มเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเหล่านั้น มัน "ขัดแย้งในตัวเอง" มาตั้งแต่แรก ... นี่หว่า !!?? ... รึไม่ใช่ ??!!

จะว่าไปแล้ว ผมเองก็ไม่ได้ฝักใฝ่ในจารีตประเพณีอะไรนักหรอก ออกจะขวางๆ แกว่งๆ หรือ "กวนตีน" ในระดับที่พอใช้ได้อยู่เหมือนกัน ...  😃... แต่ผมก็ไม่เคยเห็นด้วยกับ "การคิดนอกกรอบ" ในความหมายที่สังคมไทย "ทึกทัก" ให้เหมาะกับ "จริตสันดานอันไร้ราก" ของเผ่าพันธุ์ตัวเอง ... ไม่มีความสร้างสรรค์ใดที่ไร้กรอบหรอกครับ เพราะข้อจำกัดทุกอย่างล้วนเป็นเชื้อชนวนที่จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะจรรโลงกฎระเบียบหนึ่งๆ ให้พอเหมาะพอสมแก่ "กาละ-เทศะ" ที่อาจจะผิดแผกแตกต่างไปจาก "กาละ-เทศะ" ที่กฎระเบียบนั้นๆ ถูกกำหนดขึ้นมา ... มันคือข้อแตกต่างระหว่างคำว่า "ยืดหยุ่น" กับ "หย่อนยาน" หรือคำว่า "ปรับปรุงแก้ไข" กับ "ทำลายล้าง" ... เราจะมีสังคมที่ยอมรับข้อแตกต่างของกันและกันได้ยังไง ในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับในสิ่งที่แตกต่างไปจาก "ความเชื่อ" ของตน ด้วยการ "ขีดเส้นแบ่ง" ให้เป็น "ในกรอบ" กับ "นอกกรอบ" อยู่อย่างนั้น ... ??!!! ... ย้ำอีกครั้งเลยนะครับว่า มันเป็น "ความเชื่อ" ที่ล้วนแล้วแต่ "สิ้นคิด" ทั้งสิ้น !!!!!!!!

แต่ก็มี "นักดัดจริต" จำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงพฤติกรรมที่ "อวดอ้างตัว" ว่า เป็น "นักคิดหัวก้าวหน้า" ด้วยการนำเสนอวาทกรรมที่เป็น "ปฏิปักษ์ต่อจารีต" แต่กลับเดือดแค้นเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อไม่ได้รับ "การยอมรับ" จากสังคมบางส่วน ... บ้าไปแล้วมั้ง ท่าน "ผู้ (แสร้ง) กล้า" ทั้งหลาย ??!!?? ... ทำไมจู่ๆ ถึงต้องลุกขึ้นมาเอะอะเรียกร้อง "ความยอมรับ" จาก "สังคมที่ตนปฏิเสธ" ด้วยเล่า ??!! ... หากมีความประสงค์ที่จะเป็น "ผู้กล้าอย่างแท้จริง" ทำไมถึงยังต้องกลัวต่อการเป็น "คนนอกของสังคม" ซะล่ะ ?! ... มันจะแปลกประหลาดอะไรนักหนา หากสังคมจะ "ปฏิเสธ" แนวคิดหรือบุคคล ที่ "ไม่เคยยอมรับ" ในพวกเขาเลย !!?? ... ผู้ที่บังอาจท้าทาย "กรอบคิดของสังคม" แต่กลับโหยหา "ความยอมรับ" จาก "สังคมที่ตนปฏิเสธ" นั้น เขาไม่เรียกว่า "คนใจกล้า" หรอก แต่ควรจะเรียกว่า "คนหน้าด้าน" ซะมากกว่า !! ... 😃

มีบางคนเคยกล่าวไว้ว่า การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานทางความคิดที่แตกต่างกันนั้น ทุกๆ ฝ่ายจะต้องมี "จิตใจที่เปิดกว้าง" ใน "การรับรู้-รับฟัง" ทัศนคติที่แตกต่างไปจากของตนด้วย ... แต่มีใครรู้มั้ยล่ะว่า "กว้างแค่ไหนถึงจะเรียกว่ากว้าง ??!!" ... การที่ทุกฝ่ายยังมีทัศนคติที่จำแนกออกเป็น "เรา", เป็น "ผู้อื่น", เป็น "ในกรอบ", เป็น "นอกกรอบ", เป็น "จารีตนิยม", เป็น "เสรีนิยม", เป็น "พวกหัวก้าวหน้า", เป็น "พวกอนุรักษ์นิยมหัวเก่า", หรือเป็น "พวกหัวรุนแรง", ฯลฯ, อยู่อย่างนี้ ... มันก็คงจะเรียกว่า "กว้าง" ได้ลำบากเต็มทนแล้วล่ะ ... เพราะตราบใดก็ตามที่ในดวงความคิดของพวกเรา ยังมองเห็น "เส้นแบ่ง" ที่จำแนกฝ่ายหนึ่งออกจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตราบนั้น ทุกๆ ฝ่ายก็ยังคง "คิดอยู่ในกรอบ" ที่เพียงแต่ "แตกต่างกัน" เท่านั้น และจะต้องวนเวียนอยู่กับ "วาทกรรมแห่งความขัดแย้ง" ที่ต่างฝ่ายต่างก็เยาะหยันใน "ความดักดาน" ของฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนมา "ดักดาน" แบบเดียวกับฝ่ายของตนอยู่ร่ำไป ??!!

"คนฉลาดแสร้งโง่" หรือ "คนโง่แสร้งฉลาด" นั่นก็น่ารำคาญและน่ารังเกียจไปแบบหนึ่ง แต่ไอ้ประเภท "หน้าด้านแสร้งใจกล้า" นี่แหละที่มันทั้ง "โง่" และ "ทุเรศ" ในเวลาเดียวกันเลยว่ะ !!!??