เล่าเรื่องย้ายหนังสือ

17/8/2018

เป็นเวลาประมาณ 373 วันนับจากการโพสต์ในเว็บส่วนตัวครั้งสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยจะมีเรื่องเล่าอื่นๆ นอกจากหนังสือที่ตัวเองอ่านเท่านั้น แต่ครั้นจะถามว่า ระยะเวลาร่วม 400 วันมานี้ไม่มีหนังสือที่น่าสนใจเลยรึไง?! ... หรือว่า "อ่านไม่เข้าหัว"?! ... หรือว่า "ไม่ได้อ่านเลย"?! ... ฯลฯ ... ทั้งๆ ที่ก็ยังตะบันซื้อหนังสืออยู่เป็นประจำแทบจะทุกโอกาสที่ไปเดินห้างฯ ?!?!?!

จะว่าไปแล้ว "ข้อแก้ตัว" ข้อหนึ่งก็คือ "เวลา" ครับ คือมันเหมือนกับว่า "เวลา" ถูกทำให้หดหายไปเพราะกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายหลายเรื่องจนเกินไป ซึ่งทำให้การอ่านของผมในระยะหลังๆ มานี้ ต่อให้มี "ประเด็นที่น่าสนใจ" มันก็ไม่ได้ถูกเรียบเรียงให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนที่พอจะสื่อสารออกมาให้รู้เรื่องได้ง่ายๆ อยู่ดี สุดท้ายก็ได้ปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ โดยไม่ได้เล่าอะไรออกมาให้ใครฟังอีกเลย

ยิ่งในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมานี้ด้วยแล้ว การหอบหิ้วหนังสือทั้งหมด (จริงๆ ต้องใช้คำว่าบรรทุกมากกว่า) มาเรียงเก็บให้เป็นหมวดหมู่บนชั้นวางในบ้านหลังใหม่ก็สร้างความวุ่นวายไม่ไช่น้อยเลย ถึงแม้ว่าการทำ "ทะเบียนหนังสือ" จะดำเนินการไปก่อนหน้านั้นมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ด้วยปริมาณที่ไม่สามารถจัดการได้หมดก่อนกำหนดการย้าย หนังสือจำนวนหนึ่งจึงถูกเคลื่อนย้ายมาในสภาพที่ไม่เป็นหมวดหมู่เหมือนตอนที่พวกมันยังอยู่ในตู้เดิม จึงทำให้การจัดเก็บเข้าที่ใหม่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องคอยขยับสับเปลี่ยนตำแหน่งของที่วางให้เหมาะกับปริมาณของแต่ละหมวดหนังสือ

ตั้งใจเอาไว้ว่า หลังจากทำ "ทะเบียนหนังสือ" ควบคู่ไปกับ "การจัดเก็บหนังสือ" เรียบร้อยแล้ว ก็จะสร้างระบบ "สารบัญหนังสือ" ขึ้นมาใหม่ โดยหวังว่ามันจะเข้าใจได้ง่ายกว่าระบบเดิมๆ ที่เขานิยมใช้กันอยู่แล้ว ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ "การหาหนังสือของตัวเอง" ง่ายกว่าการพยายาม "เลียนแบบวิธีการ" ทางสารบัญของคนอื่นๆ อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ... พอถึงตอนนั้นจริงๆ การหยิบหนังสือแต่ละเล่มมาเล่าก็น่าจะสะดวกกว่าเดิม เพราะข้อมูลที่ควรจะให้ไปพร้อมๆ กัน ได้ถูกทะยอยบันทึกไว้ใน "ทะเบียนหนังสือ" ทั้งหมดแล้วนั่นเอง

ผมมองว่า "ห้องหนังสือ" ที่ทำไว้นี้ มันไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บ "กระดาษเปื้อนหมึก" เท่านั้น แต่มันคือ Time Capsule ที่รวบรวม "ความคิด" และ "ชีวิต" ของบุคคลจำนวนหนึ่งเอาไว้ โดยมีบางเล่มก็ถึงกับเป็นเรื่องราวของชนชาติทั้งชนชาติเลยทีเดียว ซึ่งเราแทบไม่มีทางรับรู้ได้โดยตรงเลยว่า กว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะได้รับการสืบทอดมาจนกลายเป็นเล่มหนังสือแต่ละเล่มบนชั้นวางของเรานั้น มันได้ผ่านวันเวลาแห่งความเหนื่อยยาก และผ่านวันเวลาแห่งความวิริยะอุตสาหะของใครต่อใครอีกตั้งเท่าไหร่ ... คุณค่าของบางสิ่งจึงไม่ได้อยู่ที่เราได้ประโยชน์อะไรจากมัน แต่อยู่ที่มันได้หลอมรวมพลังแห่งความตั้งใจของใครอีกหลายๆ คนไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย ... การนิยาม "คุณค่า" ให้จำกัดอยู่ในวงที่ "คับแคบ" เพียงเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มนั้น จึงเป็น "ความมักง่าย" ที่จะหล่อหลอมให้สังคมโลกขาดความเห็นอกเห็นใจ และขาดความเคารพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไปตลอดกาล ...

 

 

กัลยาณสะกิด

ข้อเตือนสติจาก "นามมิตร" | 28/4/2017 | Comments: 2

จู่ๆ ผมก็ได้รับ e-mail จากคุณ "ธนวัฒน์ ดลภากร" ซึ่งไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อนเลย โดยเข้าใจว่า คุณธนวัฒน์น่าจะผ่านมาพบเห็นเว็บไซต์ส่วนตัวแห่งนี้ของผมเข้า และได้ตามเข้าไปอ่าน "อี้จิง" ฉบับ ZhuqiChing ที่ยังคงคั่งค้างอยู่ แล้วจึงได้ทักทายเข้ามาโดยอาศัยหน้า Contact ที่ผมเปิดเอาไว้ ... สิ่งที่สะดุดใจผมเป็นอย่างยิ่งก็คือ คุณธนวัฒน์ได้เอ่ยถึง "บทที่ 24" ถึง 2 ครั้งใน e-mail ทั้ง 2 ฉบับที่ส่งเข้ามา จึงทำให้ผมอยากย้อนไปอ่านทบทวนสิ่งที่ตนเองได้ "ตีความเอาไว้" อย่างละเอียดอีกครั้ง ... และต้องขอบอกว่า ผมรู้สึก "ขอบพระคุณมากจริงๆ" สำหรับ "กัลยาณสะกิด" ของ "นามมิตร" ที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อนท่านนี้ ... เป็นความรู้สึกขอบคุณที่ผมไม่อยากจะเก็บไว้เงียบๆ คนเดียว ... จริงๆ !!

"คัมภีร์อี้จิง" ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งที่ผมอยากจะทำให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนจากโลกนี้ไป (แปลว่าถ้ายังไม่เสร็จก็จะไม่ยอมไปเกิดใหม่ที่ไหนทั้งนั้น 😃) แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่ไม่ลงตัวในช่วง 2-3 ปีมานี้ ทำให้งาน "ตีความ" คัมภีร์ดังกล่าวต้องหยุดพักไปเป็นการชั่วคราว โดยผมต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดของตัวเองไปกับงานประจำที่มีเรื่องเร่งด่วนให้ต้องสะสาง ... อย่างทุ่มเท ... และต้องยอมรับว่า บ่อยครั้งมากที่ผมใช้ "ความเป็นตัวเอง" กับทุกสิ่งทุกอย่างมากจนเกินไป ซึ่งแม้แต่ผู้คนรอบข้างก็พอจะสัมผัสได้ เพียงแต่ไม่สามารถทักท้วงอย่างตรงไปตรงมา เพราะประเด็นต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมานั้น ล้วนเป็นวาระเร่งด่วนที่ไม่มีใครสามารถปฎิเสธได้เลย ...

มันอาจจะเป็นเพียง "ความบังเอิญ" ที่จู่ๆ ก็มี e-mail มาเตือนให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่าน ZhuqiChing บทที่ 24 ของตัวเองอย่างพินิจพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งบทแปลทั้งหมดในนั้นเหมือนเป็นการสะกิดเตือนให้ผม "ลดละความระห่ำ" ของตัวเองลงไปซะมั่ง เพราะหลายๆ เรื่องมันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และจำเป็นต้องอาศัย "ความรัดกุม" มากกว่า "ความมุ่งมั่นตั้งใจ" เพียงด้านเดียว ...

เมื่อทบทวนดูแล้ว นี่คงจะเป็น "กัลยาณสะกิดจากแดนไกล" เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ไม่นาน ผมก็เพิ่งจะสะดุดใจกับชื่อกระบวนท่า "ฝ่ามือพิชิตมังกร" ในซีรีส์รีเมค "มังกรหยก" มาหมาดๆ แต่ด้วยความบันเทิงอารมณ์ในเวลานั้น จึงไม่ทันสังเกตว่า กระบวนท่าที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยที่สุดคือ 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) อันหมายถึง "ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ" อันเป็นวลีที่ถูกหยิบยกมาจาก "คัมภีร์อี้จิง" โดยตรง ... จนมาได้รับ e-amil ของคุณธนวัฒน์ซ้ำเข้าไปอีกที ราวกับเป็น "คำสั่ง" ให้ต้องกลับไป "ทบทวนตัวเอง" นั่นแหละ ถึงเพิ่งจะสำนึก !!?? ... 😃

ต้องขอขอบพระคุณด้วยการออกสื่ออย่างนี้ล่ะครับ ... ขอบคุณจริงๆ !!

 

 

Zhuq! Back

28/5/2015

ย้อนกลับไปดู blog เก่าๆ ที่ตัวเองเคย upload ทิ้งๆ เอาไว้ในอินเทอร์เน็ต ประมาณว่าน่าจะเป็นเวลาร่วมๆ 10 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งบางชิ้นก็เป็นการ re-blog จากข้อเขียนเก่าๆ ที่ตัวเองเคยแปะเอาไว้ใน NetWare Server ของบริษัท ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังใช้งานระบบ E/Pad ที่สร้างขึ้นมาเองด้วย Batch Command บน DOS (ประมาณปี 1995) แทนที่จะยอมติดตั้งระบบ eMail อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ด้วยความที่ขี้เกียจสอน users ให้ใช้งานอะไรอย่างอื่นที่มากไปกว่า Text Editor ซึ่งมีอยู่แล้วในคอมพิวเตอร์ทุกๆ เครื่องของบริษัท !!?

การย้อนกลับไปอ่านข้อคิดของตัวเองในอดีตมันก็มีอะไรที่น่าสนุกไปอีกแบบอยู่หรอกครับ แม้ว่าผมเองจะเคยมีความรู้สึกว่า ... การวกวนอยู่กับความคิดเดิมๆ ของตัวเองมากจนเกินไปนั้น อาจจะทำให้เราไม่ยอมคิดอะไรที่มันแปลกแตกต่างไปจากเดิม ... เพียงแต่บางครั้งผมก็มีอีกความรู้สึกที่แย้งกันเองว่า ... การเก็บสะสมเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบความคิดในแต่ละช่วงของอายุตัวเองนั้น เราอาจจะได้พบเห็นบางแง่มุมของความเปลี่ยนแปลงที่แม้แต่ตัวเราก็อาจจะไม่ทันสังเกต ... เก้าะ ... เป็นไปได้ ...

ดังนั้น ในเมื่อผมเองก็มีความตั้งใจที่จะไม่เพิ่มเติมเนื้อหาใดๆ เข้าไปใน blogspot หรืออีกบางแห่งอยู่แล้ว ยกเว้นใน goozhuqi.info ของตัวเอง ผมก็เลยกำลังคิดว่า น่าจะนำ blog เก่าๆ เหล่านั้นมารวบรวมให้เป็น .pdf เหมือนกับ ZhuqiDOX ที่เคยรวบรวมเป็นเล่มเอกสารเอาไว้จำนวนหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้ "ร่องรอยทางความคิด" ของตัวเอง ต้องหายสาบสูญไปในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เพียงเพราะพวกมันถูกทิ้งร้างห่างหายไป โดยผู้ที่ระบายพวกมันเอาไว้ซะเอง ...

ผมคงจะเรียกเอกสารชุดนี้ว่า ZhuqiPad เพื่อย้อนรำลึกถึง "จุดเริ่มต้น" ของมันจริงๆ ที่เคยออกแบบไว้ให้เป็นเพียง Electronic NotePad (E/Pad) สำหรับส่งข้อความ และทิ้งข้อคิดบางอย่างไว้ให้พนักงานทุกคนภายในบริษัทได้พิจารณากัน ก่อนที่จะถูกแปลงให้กลายเป็นสาธารณะด้วยชื่อเรียกที่ categorize ให้เป็น ZhuqiDox, ZhuqiNux, ZhuqiBook, และ ZhuqiNote ในเวลาต่อมา ...

 

 

บ่นเข้าไป !?

6/5/2015

กระท่อนกระแท่นกับตารางเวลาที่จะเขียน blog ของตัวเองไปซะนาน ทั้งๆ ที่เคยตั้งใจไว้เองว่า จะพยายามเขียนให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่ก็ใช้เวลามั่วไปกับหลายๆ เรื่องจนไม่เคยลงตัวซักที ... 😈 ... ส่วนหนึ่งก็เริ่มมาจากสาเหตุของ "ความไม่ไว้วางใจ" ว่า ผู้ให้บริการพื้นที่ในการเขียน blog ทั้งหลายนั้น เขาจะยังคงดูแล servers ของเขาต่อไปเรื่อยๆ รึเปล่า? จะมีการเปรับปลี่ยนรูปแบบอะไรบ้างมั้ย? ยังสามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ หรือว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรบ้าง? ... เพราะเคยมีประสบการณ์ที่จู่ๆ multiply ประกาศปิดตัวเองลงไปเพราะขายกิจการให้คนอื่น หรือ esnips ที่จู่ๆ ก็แก้ไขนโยบายจนไฟล์ที่เคย upload ไว้แบ่งปันแบบสาธารณะ ดันไม่สามารถที่จะเข้าไป download ได้เหมือนเมื่อก่อน ... เก้าะ ... เลยทำให้รู้สึกว่า เราน่าจะทำอะไรที่เป็นของเราเองดีกว่า มี web server เอง, มีพื้นที่สำหรับเขียน blog ส่วนตัวที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกฎกติกามารยาทใดๆ ของใครทั้งนั้น เพราะมันมี user แค่คนเดียว, ... "น่าจะ" ดีนะ !! ... แต่สุดท้ายมันก็แค่ "น่าจะ" เท่านั้นเองแหละ เพระวันเลวคืนร้าย ไอ้เจ้า server เจ้ากรรมนายเวรก็นึกจะรวนจนไม่ทำงานไปซะงั้น หรือไม่ก็ hard disk เกิดเดี้ยงไปเฉยๆ ตามวาระสังขารของมัน ... สุดท้าย ... บทบันทึกหลายๆ อย่างที่เคยกลัวว่ามันจะหายไปจากโลก มันก็หายไปจากโลกจริงๆ ด้วยแหละ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใดๆ ... เฮ้อ !! ... สรุปว่า ... บรรดาข้อมูลอิเล็คทรอนิคที่เก็บไว้เป็น soft copy ทั้งหลายนั้น มันมีความจิรังยั่งยืนที่เลวร้ายกว่าข้อมูลประเภท hard copy ของยุคสมัยก่อนๆ เยอะมากเลยทีเดียว ... 😭 ... ซึ่งข้อกังวลแบบนี้ paranoid ซะหน่อยก็พอจะแก้ไขให้สบายใจขึ้นได้บ้างล่ะครับ เพราะช่วงหลังๆ มานี้ ผมเขียนบันทึกใส่ electronic diary ส่วนตัวที่ชื่อว่า RedNotebook ซึ่งทั้งติดตั้งโปรแกรม และ backup สิ่งที่ตัวเองบันทึกไว้ถึง 3 copies ตลอดอยู่แล้ว ก่อนที่จะแปลงให้มันกลายเป็น html เพื่อ upload เข้าไปใน blog ของตัวเอง ... paranoid น่าดู !! ... 😏

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระท่อนกระแท่นก็คือ เรื่องราวที่อยากจะเล่ามันเยอะเกินไป หลายเรื่องก็ต้องใช้เวลากรองนานเกินไป หนังสือบางเล่มก็น่าอ่านจนเกินไป บางเรื่องก็รู้สึกไปเองว่ามันน่าจะซ้ำกับเรื่องราวก่อนๆ หน้านี้ที่เคยเล่าไปแล้ว ... สรุปว่า ... ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเขียนออกมาด้วยรูปร่างทางภาษาแบบไหน ...

แต่เหตุผลที่เป็นปัจจัยชี้ขาดจริงๆ ก็คือ "ความขี้เกียจ" ... 😄 ... เหตุผลนี้สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องขยายความครับ พอว่างจากงานที่มันยุ่งๆ วุ่นๆ ก็อยากจะนอนซะงั้นแหละ ... ซึ่งประเด็นนี้แก้ไม่ยากครับ ... แค่ "อย่าขี้เกียจ" เท่านั้นก็สิ้นเรื่อง ... 😋

งั้นก็กลับไปงงกับสาเหตุที่สอง ... จะเขียนอะไรล่ะทีนี้ ??!! ... เฮ้อ !! ... 😄

 

 

หายหัวไปไหนของมัน

19/12/2014

ดูจากวันที่ของการโพสต์ครั้งหลังสุดก่อนเมื่อวาน เพิ่งจะสังเกตว่ามันห่างกันถึง 6 เดือนเต็มๆ เลยทีเดียว !!! ... เออ ... นี่เราหายหัวไปจากเว็บของตัวเองได้นานขนาดนั้นจริงๆ เชียวเหรอวะ ?! ... 😋

บางทีก็นึกไม่ออกเหมือนกันนะว่า วันๆ มันจะยุ่งอะไรนักหนากับเรื่องจุกๆ จิกๆ ของงานประจำวัน ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องที่ยังคั่งค้างไว้อีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีโอกาสได้หยิบๆ จับๆ อย่างต่อเนื่องเหมือนเมื่อก่อน เช่นการเขียน "คัมภีร์ฉึกฺกิจิง" ที่ทำท่าจะจบมิจบแหล่มาพักใหญ่ๆ แล้ว แต่ก็มีอันต้องทิ้งร้างไปทำอย่างอื่นก่อนเป็นการชั่วคราวอยู่เรื่อย แถมยังมีหนังสืออีกกองโตที่ซื้อๆ เอาไว้ด้วยความอยากจะอ่าน แต่จนแล้วจนรอดก็อ่านไปได้แค่ไม่กี่เล่ม เพราะเวลาที่จำกัดจำเขี่ยจนอ่านได้เพียงไม่กี่หน้าต่อวันเท่านั้น ... แต่ก็ไม่เห็นมันจะหยุดซื้อซักที ?! ... ไม่รู้จะโทษคนเขียนหรือคนจัดพิมพ์เหมือนกัน ไอ้ประเภทที่ชอบทำหนังสือน่าสนใจออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เนี่ย !? ... 😄

ก็อยากจะหาเวลาว่างๆ มานั่งบ่นๆ เป็นตัวหนังสือในเว็บของตัวเองให้มันมากขึ้นอยู่หรอก โดยเฉพาะเวลาที่แว้บอะไรขึ้นมาจากอ่านหนังสือบางเล่มที่ค่อยๆ ละเลียดไปเรื่อยๆ ... ขอไปเช็คเวลาในแต่ละวันก่อนซิว่า ตกลงมันมี 24 ชั่วโมงจริงรึเปล่า ดูมันน้อยๆ เหมือนไม่ค่อยถึงยังไงชอบกล ... รึว่าพระเจ้าแกโกงเรา !!??

 

 

 

เหตุที่ต้องมี "โลโกประจำรุ่น" ของศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา รุ่น 26

18/12/2014 | Comments: 7

จะว่าไปก็เหมือนกับการทำ graphic ประกอบงานเลี้ยงทั่วๆ ไปของอดีตนักเรียนร่วมสถาบันที่เคยทำกันมาแล้วตั้งหลายครั้ง ซึ่งบังเอิญว่า "โลโกโรงเรียน" ที่ส่งเป็นไฟล์ต่อๆ กันมานั้น มันค่อนข้างจะไม่ได้คุณภาพสำหรับงานพิมพ์ใดๆ เอาซะเลย และไม่มีใครรู้ด้วยว่า ไฟล์ต้นฉบับที่เป็น vector graphic ซึ่งผมเคยทำไว้ให้กับ "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" เมื่อหลายปีก่อนนั้น ปัจจุบันมีใครเป็นผู้เก็บรักษาไว้ใช้งานอีกรึเปล่า ... ผมเก้าะจัดการเขียนขึ้นใหม่ซะ เพราะไม่ได้ยากเย็นอะไร ...

แต่ตอนที่นำโลโกไปประกอบในงานอาร์ตเวิร์คอื่นๆ นั้น ผมเองกลับรู้สึกไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ เนื่องจากมันดูซ้ำซ้อนกับ "โลโกโรงเรียน" ที่ "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" มักจะนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของชมรมฯ อยู่เป็นประจำ ถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็แทบจะมองว่าเป็นอันเดียวกันอยู่ดี ยิ่งไม่ต้องนับรวมกับงานเลี้ยงรุ่นของรุ่นอื่นๆ ที่ยังมีการจัดให้มีขึ้นเป็นระยะๆ และมักจะใช้โลโกแบบเดียวกันทั้งหมดจนไม่รู้ว่ารุ่นไหนเป็นรุ่นไหน หรือกิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมที่จัดโดย "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของศิษย์เก่าหลายรุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อหลายปีก่อน ... ความคิดเรื่องการมี "โลโกประจำรุ่น 26" จึงแว้บขึ้นมาจากประเด็นที่ว่านี้ เพื่อจำแนกกิจกรรมของรุ่น 26 ออกจากกิจกรรมของชมรมฯ ซึ่งเป็นของส่วนรวมให้ชัดเจน จะได้ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ หากเกิดข้อผิดพลาดใดๆ จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ของรุ่น 26 ในโอกาสต่อๆ ไป ... เก้าะ ... น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำ "โลโกประจำรุ่น" ของ "ศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" ที่มีมากมายถึง 37 รุ่นด้วยกัน !!

"โลโกประจำรุ่น 26" ถูกกำหนดให้ใช้ "โลโกโรงเรียน" เป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่นๆ เข้าไปให้มีลักษณะเฉพาะของ "รุ่นที่ 26" เพื่อคงความหมายของ "ศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" เอาไว้ และเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารกับศิษย์เก่ารุ่นอื่นๆ ซึ่งเคยร่วมสถาบันเดียวกัน ... แต่ ... จะต้องไม่สร้างความสับสนกับสัญลักษณ์เดิมที่ "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" เลือกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำในกิจกรรมต่างๆ ของส่วนรวมอยู่ก่อนแล้วด้วย ... ซึ่งพวกเราได้ถือโอกาสนำ "โลโกประจำรุ่น 26" ขึ้นใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2557 เนื่องในโอกาสงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ ฉลองการเข้าสู่ทศวรรษที่สี่แห่งมิตรภาพของพวกเราทุกๆ คน ...

 

 

หลายวันกับการใช้ "แทบเล็ด"

13/10/2013 | Comments: 1

หยิบๆ จับๆ กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า "แทบเล็ด" อยู่หลายวัน เพราะคิดว่าราคามัน "เริ่มจะสมเหตุผล" กว่าก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว ... ประมาณว่า กำลังคิดจะเอา "แทบเล็ด" มาใช้แทนแฟ้มเอกสาร กับการหอบเล่มหนังสือไปอ่านที่ไหนต่อที่ไหนให้สบายกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยจะมีของตัวเองซะมั่ง ... ก็น่าจะดี !!? ... 😋

ไม่น่าเชื่อว่า ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากการเปิดตัวอุปกรณ์ประเภทนี้โดย Apple และ Amazon ด้วยวัตถุประสงค์ที่คล้ายๆ กัน เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ได้กลายเป็นสินค้ายอดฮิตติดมือผู้บริโภคไปแล้วอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง หรือบรรดาอาซิ่มอากู๋อาเจ็กทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่นักบวชจำนวนมากที่เคยพบเห็น ... ฯลฯ ... ล้วนสมัครสมานสามัคคีเข้าเป็นสมาชิกใน "สังคมก้มหน้า" แล้วเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ... ต่อๆ ไป มนุษย์เราเรียนรู้ในการจดจำรูปขวัญบนกบาลของเพื่อน แทนการจำหน้าจำตาของกันและกันรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันนะเนี่ย ??!! ... 😈

หลายวันที่ผมทดลองกับอุปกรณ์ดังกล่าว ด้วยการ "ยัด" ไฟล์หลายๆ ประเภทเข้าไปในหน่วยบันทึกข้อมูลขนาดจิ๋วๆ ใน "แทบเล็ด" ที่ซื้อมา เพื่อที่จะเปิดดูเปิดอ่านเหมือนกับที่เขา "โฆษณาชวนเชื่อ" กันว่า มันคืออุปกรณ์ที่จะมาแทน "เล่มหนังสือ" ซึ่งหลายคนคุ้นมือคุ้นตากันมานานแสนนาน ... แต่ผมกลับคิดว่า ... มันแย่ว่ะ !! ... จะว่ามี "อาการยึดติด" อยู่กับกองหนังสือน้ำหนักหลายตันของตัวเองก็คงไม่จริงซะทีเดียวนัก เพราะผมมีความรู้สึกว่า "แหล่งกำเนิดแสงสว่างสำหรับการอ่าน" มันผิดที่ผิดทางเกินไปหน่อย ซึ่งมันส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้เพื่อการอ่านต้องหดสั้นลงอย่างไม่น่าพอใจเลย !!??!! ... มันไม่น่าจะใช่ "เล่มหนังสือแห่งอนาคต" แน่ๆ แล้วล่ะ ... แต่มันคือ "อุปการณ์" ที่จะบั่นทอน "ความอยากอ่านหนังสือ" ของมนุษย์ให้ลดลงไปให้เหลือเพียงแค่ "การอ่านข้อความสั้นๆ อย่างฉาบฉวย" มากกว่า ... ผมรู้สึกของผมอย่างนั้นจริงๆ !!?? ... แล้วก็เลยพานคิดไปว่า ... เพราะอย่างนี้มั้ง หลายคนถึงได้เปลี่ยนไปสื่อสารผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย "สติ๊กเกอร์" แทน ??!! ... 😳

ถึงแม้ว่าผมเองก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า อุปกรณ์เหล่านี้สามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็น "สื่อการเรียนการสอน" ได้อย่างยน่าสนใจ แต่มันคงไม่เหมาะกับการนำไป "ทดแทนเล่มหนังสือ" จนหมด เพราะเชื่อว่ามันคงไม่สามารถ "ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน" ให้กับเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลของ "ข้อจำกัดด้านกายภาพ" ของสายตามนุษย์ ที่ไม่เหมาะกับการจ้องเข้าไปหา "แหล่งกำเนินดแสงสว่าง" ตรงๆ อย่าง "แทบเล็ด" ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ... ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึง "การปลูกฝังนิสัยรักการเขียน" เลยด้วย เพราะเครื่องไม้เครื่องมือที่ "แทบเล็ด" มีอยู่ในปัจจุบัน (ค.ศ.2013) ยังไม่ถือว่าเพียงพอสำหรับการเขียนอะไรๆ อย่างต้องมีสติให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ เลย ... !!?

จะบอกว่าเป็นเพราะผมไม่คุ้นเคยกับการทำอะไรๆ บนหน้าจอ LCD นานๆ รึเปล่า ?! ... ผมก็ยังรู้สึกว่า ถึงผมจะใช้คอมพิวเตอร์เกือบตลอดทั้งวันในหลายปีที่ผ่านมา ระดับการตอบสนองของสายตาของผมก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับการมองหน้าจอ "แทบเล็ด" เพียงไม่กี่นาทีด้วยซ้ำ ... มันทำให้ผมคิดว่า น่าจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ยังทำให้ "แทบเล็ด" ไม่คู่ควรกับการเป็นอุปกรณ์สำหรับ "การอ่าน" หรือ "การต้องเพ่งมอง" เป็นเวลานานๆ เมื่อเทียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาประเภทอื่นๆ เท่าที่ผมเคยใช้มา ... อาจจะเป็นเพราะขนาดของอุปกรณ์ที่เล็กลงอย่างเห็นได้ชัด ??! ... อาจจะเกี่ยวกับระยะห่างจากสายตาซึ่งทำให้แสงสว่างพุ่งกระทบสายตาด้วยความเข้มข้นที่มากกว่า ??! ... หรืออาจจะเกี่ยวกับมุมที่จอกระทำต่อระดับสายตาซึ่งมีความก้มมากกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะทำงาน ... ??!! ... หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกบ้างรึเปล่าก็ไม่รู้ เพราะผมยังนึกไม่ออกในเวลานี้ ... !!?

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของการบริโภคอุปกรณ์ประเภทนี้ก็คงหลีกเลี่ยงได้ยากแล้วว่า คอมพิวเตอร์พกพาในอนาคตคงจะมีขนาดและหน้าตาประมาณ "แทบเล็ด" ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน และสำหรับคนที่มีธุระปะปังกับคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ก็คงต้องพยายามปรับตัวเข้าหาอุปกรณ์ประเภทนี้ให้มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่า คุณภาพของจอแสดงผลในอุปกรณ์ประเภท "แทบเล็ด" คงจะได้รับการพัฒนาให้ "บ่อนทำลายสายตา" น้อยลงไปกว่านี้เรื่อยๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้เกือบจะตลอดเวลาในอนาคต ...

 

 

มาตาญชุลีอธิษฐาน

27/8/2013

มือประนม  ก้มกราบ  แทบบาทแม่
น้อมจิต  แด่พระคุณ  อันล้นเหลือ
ที่หล่อหลอม  ชีวิตลูก  จากเลือดเนื้อ
ยอมอาบเหงื่อ เพื่อให้ลูก เจริญวัย

คืนและวัน  ที่ผันผ่าน  ล้วนเพื่อลูก
ทั้งปลอบปลุก  ปลูกฝัง  สร้างนิสัย
ให้ทั้งรัก  ทั้งห่วงหวง  ดั่งดวงใจ
หวังเพียงลูก  ได้เติบใหญ่  ใฝ่ความดี

แม้เหนื่อยยาก  ปานใด  สู้ตรำตราก
ยอมเพียรพาก  ลำบากกาย  ขมันขมี
ไม่ทดท้อ  ห่อเหี่ยว  ด้วยยอมพลี
ชีวิตนี้  มีเพื่อลูก  ทุกๆ คน

ตั้งแต่เล็ก  เป็นเด็กน้อย  แม่คอยรัก
ไม่เคยพัก  ความคำนึง  ในทุกหน
ใช่เพราะลูก  ยิ่งใหญ่  แล้วในสากล
ดวงกมล  เพียงพันผูก  ด้วยลูกยา

จะลุกนั่ง  ยืนเดิน  ล้วนครวญคิด
จะถูกผิด  ดีร้าย  ล้วนห่วงหา
จะรุ่งเรือง  หรือพลาดพลั้ง  ล้วนนำพา
จะใกล้ชิด  หรือร้างรา  ล้วนอาทร

แม่รักลูก  ด้วยจิตใจ  ไร้แง่เงื่อน
คือสิ่งเตือน  ให้จดจำ  แทนคำสอน
เกิดเพื่อรัก  หาใช่อยู่  เพื่อเว้าวอน
อย่าแคลนคลอน  เพียงเพราะเปลือก  ที่เลือกชู

พระคุณแม่  ใสผ่องผุด  ดุจดวงแก้ว
งามเพริศแพร้ว  ยิ่งมณีใด  ในโลกหรู
ให้กำเนิด  ให้ความรัก  ให้ความรู้
ให้ชีวิต  ที่ควรคู่  เป็นผู้  เป็นคน

ขอน้อมจิต  อธิษฐาน  กรานกราบแม่
จักมุ่งแต่  ประพฤติชอบ  กอปรกุศล
ให้สมดั่ง  ที่แม่หวัง  ทั้งชีพชนม์
เกียรติถกล  บังคลแด่  แม่ของเรา

 

 

ZhuqiNote 2.0.1

8/5/2013

ซนไม้ซนมือจนสิ่งที่โพสต์ไว้เดิมหายวับไปกับตา ... สมน้ำหน้า !!! ... cheeky ... แต่ก็ถือโอกาส upgrade เวอร์ชั่นของ gpEasy เป็น 3.6.0 ซะเลยแล้วกัน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่กับเวอร์ชั่นที่ไม่มีการ upgrade มานานมากแล้ว ... wink

เดิมทีเดียวก็ตั้งใจไว้ว่า จะเขียนบันทึกอะไรไปเรื่อยเปื่อยให้ได้ทุกๆ วัน ส่วนจะหยิบมาโพสต์ในเน็ตด้วยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอดผมก็ขยับเวลาให้ลงตัวกับเรื่องที่อยากจะเขียนไม่ได้ซักที ... ข้อนี้คงต้องหาทางปรับปรุงที่ตัวเองเป็นหลักแล้วล่ะ !!? ... angry ... เพราะเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการเขียนบันทึกเป็นรายวันก็ค่อนข้างที่จะพร้อมสรรพอยู่พอสมควร

การที่คนเราจะขีดๆ เขียนๆ ความคิดของตัวเองออกมานั้น เราคงต้องยอม "จำกัดขอบเขต" ของ "กรอบคิด" ของตัวเองให้ "แคบลง" ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ประเด็นต่างๆ มีความจำเพาะเจาะจงที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่ "ส.ท.ร." หรือ "สนใจไปหมดทุกรายละเอียด" อย่างที่ตัวผมเองมักจะมีอาการอย่างนั้นอยู่เป็นประจำ อันเป็น "จริตสันดาน" ที่ทำให้ตัวเองต้องเสียสะตุ้งสตางค์ไปกับหนังสือบ้าบอคอแตกแทบจะทุกหมวดหมู่ในโลก ทั้งๆ ที่เวลาสำหรับการอ่านสรรพตำราเพื่อศึกษาหาความรู้ให้ครอบคลุมทั้งจักรวาล ก็ไม่ได้มีมากมายขนาดนั้นเลย !!?? ...

ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามท่านคานธี (Gandhi) ว่า "ทำไมท่านจึงสามารถคิดและทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายปานนี้ ?" ท่านคานธี (Gandhi) ตอบว่า "เพราะข้าพเจ้าเลือกที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้น้อยลง ข้าพเจาจึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการทำสิ่งหนึ่งๆ ให้มากขึ้น" ...

อือม์ ... น่าคิดนะ !! ... แต่ผมก็จำไม่ได้หรอกครับว่า ผมไปเจอบทสนทนาที่ว่านี้จากแหล่งไหน แล้วก็เลยไม่รู้จะให้เครดิตกับใครยังไง ... เก้าะ ... ในเมื่อจำได้แค่ว่าเป็นคำพูดของท่านคานธี (Gandhi) งั้นก็ให้เครดิตกับท่านคานธี (Gandhi) ไปแล้วกัน !! ...wink