Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
|| .. The Primary Code
ความจริงเรื่องความสัมพันธ์ที่อาจจะเป็นไปได้ของ Biorhythms กับ 'อี้จิง' นั้นเป็น 'ของคิดเล่น' สนุกๆ สำหรับผมเท่านั้นแหละครับ ซึ่งมันอาจจะเป็นความบังเอิญที่เกิดจาก 'ความซน' ของผมเองที่ 'ดื้อ' ไม่ยอมเชื่อในเรื่องของการเขย่าไม้ติ้ว หรือหยิบนู่นคว้านี่มาเผาเล่นเพื่อจะดูรอยแตก :D … ชนวนซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผมนึกอยากจะหาอะไรสนุกๆ มาคิดเกี่ยวกับ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นมาจากหนังสือของ Dr. Edward de Bono … อีกแล้วครับ !! :D
หลายปีก่อนหน้านี้ Dr. Edward de Bono ได้เขียนหนังสือบ้าๆ บอๆ ออกมาเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า THE DE BONO CODE BOOK ซึ่งผมมองว่ามันเป็นไอเดียประหลาดๆ หากจะเอาวิธีการสื่อสารด้วย 'รหัสตัวเลข' มาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ … ถึงแม้ว่าแนวคิดนี้จะไม่ใช่แนวคิดที่แปลกใหม่อะไร เพราะมันคือวิธีการสื่อสารขององค์กรทางราชการอย่างเช่น ทหาร และตำรวจ ที่ปฏิบัติกันจนเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
ข้อดีประการหนึ่งของการสื่อสารด้วย 'รหัสตัวเลข' ก็คือ มันจะมีความชัดเจน กระชับ และหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้อย่างชะงัดมากๆ … แต่ข้อด้อยของวิธีการแบบนี้ก็คือ มันเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมแบบ 'เฉพาะกลุ่ม' และ 'เฉพาะงาน' เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเหมาะกับการสร้างเป็น 'ภาษามาตรฐาน' เพื่อใข้งานโดยทั่วๆ ไปเหมือนอย่างที่ Dr. Edward de Bono พยายามจะบอกว่ามันจะช่วยให้การสื่อสารของมนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม … เพราะเมื่อใดก็ตามที่ปริมาณของ 'รหัสตัวเลข' เหล่านี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ มันกลับจะสร้างความสับสนให้กับการสื่อสารที่เลวร้ายยิ่งกว่าการใช้ 'ภาษามาตรฐาน' ในภาคปรกติซะด้วยซ้ำ … ทั้งนี้เนื่องจาก 'ตัวเลข' ทุกตัวจะมี 'ลักษณะเด่นเฉพาะตัว' หรือ uniqueness ที่โดดเด่นเกินกว่าจะนำไปผสมกับ 'ตัวเลข' ใดๆ เพื่อจะทำให้เกิดเป็นความหมายอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวมันเองได้ … การจะใช้ 'รหัสตัวเลข' ในการสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนด 'รหัสมาตรฐาน' ที่ใช้แทนคำอธิบายยาวๆ ไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ในการอ้างอิง และมีความเข้าใจในความหมายของแต่ละรหัสตรงกันซะก่อน … ซึ่ง … Dr. Edward de Bono ย่อมต้องรู้ซึ้งถึงข้อจำกัดข้อนี้ของระบบ 'รหัสตัวเลข' เป็นอย่างดี และเป็นที่มาของการพัฒนาหนังสืออย่าง THE DE BONO CODE BOOK เล่มนี้ออกมา …
.. ปิ๊ ง .. !!!??
คนขี้เกียจก็มักจะคิดอย่างคนขี้เกียจแหละครับ :D … ผมนึกสนุกขึ้นมาว่า ถ้าเราสามารถกำหนด 'รหัสคำสั่ง' ที่สั้นๆ ง่ายๆ เพื่อใช้งานภายในองค์กรทางธุรกิจ โดยไม่ต้องไปเค้นสมองมาสร้าง 'พจนานุกรมรหัสคำสั่ง' ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งให้ยุ่งยาก แต่เปลี่ยนไปใช้วิธีการหยิบยืมจากรหัสที่มีคนทำเอาไว้แล้ว และนำมาตีความซะใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบของการบริหารองค์กรทางธุรกิจจริงๆ บ้าง มันก็น่าจะใช้ได้เลย :D … แต่หากเทียบเคียงกับหนังสือ THE DE BONO CODE BOOK ที่ Dr. Edward de Bono นำเสนอเอาไว้แล้วนั้น ผมกลับยังรู้สึกว่า 'รหัสตัวเลข' ที่ Dr. Edward de Bono พัฒนาขึ้นมาเหล่านั้น ยังมีความสลับซับซ้อนมากจนเกินไป … และถึงแม้ว่าชื่อเสียงของแกจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในแวดวงของวิชาชีพสาขาต่างๆ หรือแม้แต่ผมเองที่อาจจะเป็น 'แฟนหนังสือ' ของแกอยู่บ้างในระดับหนึ่ง … แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ THE DE BONO CODE BOOK ได้รับการพิจารณาให้เป็นหนึ่งใน 'พจนานุกรมรหัสคำสั่ง' ฉบับมาตรฐานสากลอยู่ดี ;) … ผมยังอยากได้อะไรที่มัน practical มากกว่านั้น และมี 'ความเรียบง่าย' ยิ่งกว่า THE DE BONO CODE BOOK เล่มที่ 'วางเพลิง' ให้กับกลไกภายในสมองของผม … แล้ว 'ความเรียบง่าย' ก็ดันไปพ้องความหมายกับคำว่า 易 จนได้นั่นแหละ !! :D
มันมีปัจจัยประกอบหลายๆ อย่างที่ลงตัวกันอย่างพอดิบพอดีสำหรับความคิดที่ผมจะเอา 'อี้จิง' มาเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ … โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มันเริ่มมาจากการที่ผมพัฒนาแนวคิดของการเขียน 'แผนผังองค์กร' หรือ Organization Chart ออกมาเป็น 'แผนผังวงกลม' แทนที่จะเขียนเป็น 'แผนผังปิรามิด' เหมือนปรกติที่หลายๆ คนคุ้นเคยกัน … ผมเรียกชื่อ 'แผนผังวงกลม' ของตัวเองชิ้นนั้นว่า Circulatory Organization Chart และมี 'ชื่อรหัส' หรือ Code Name ว่า 3dM ที่ย่อมาจากคำว่าเต็มๆ ว่า The Three Dimensional Management
เรื่องราวของ 3dM ถูกเล่าไว้อย่างค่อนข้างละเอียดแล้วใน ZhuqiDOX episode I ซึ่งแนวคิดหลักของการสร้าง 'แผนผังองค์กร' ออกมาเป็นรูปร่างอย่างนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผมมองการบริหารองค์กรทั้งหมดว่า มีลักษณะเป็น 'พลวัตร' หรือ dynamic ที่แต่ละส่วนงานจำเป็นจะต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เป็น 'วงจร' ที่ครบวงเสมอ โดยไม่สามารถมองแบบแยกส่วนเหมือนที่พบเห็นได้ทั่วไปใน 'แผนผังแบบปิรามิด' อย่างที่คุ้นเคยกัน …
ปัญหาหนึ่งที่ 'แผนผังแบบปิรามิด' ทิ้งเป็น 'มรดกบาป' ไว้ก็คือ เมื่อมันไม่สามารถสะท้อนสภาพของการปฏิบัติงานที่แต่ละส่วนงานจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน บุคลากรของแต่ละสายงานจึงมักจะมองไม่เห็นความต่อเนื่อง หรืออาจจะถึงกับไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของส่วนงานอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกัน และทำให้การประสานงานกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะมันจะต้องวนเวียนจนกลายเป็น 'ระบบราชการ' ที่แต่ละเรื่องแต่ละงานจะต้องไหลวนย้อนขึ้นย้อนลงตามขั้นบันไดของ 'แผนผังปิรามิด' กว่าทุกอย่างจะดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ … การแก้ปัญหาของ 'แผนผังแบบปิรามิด' เท่าที่ผมเคยพบเห็นมานั้น เขาจะเขียนเป็น solid line กับ dotted line เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของ 'สายการบังคับบัญชา' กับ 'กลุ่มก้อนของภารกิจ' ที่จะต้องมีการปฏิบัติร่วมกันหลายสายงาน … ซึ่ง … นั่นคือการพยายามแก้ปัญหาของการเขียนแผนผังแบบ 'สองมิติ' ให้ดูเป็น 'สามมิติ' เท่านั้นเอง
แต่หากเราสมมุติให้ตัวเองมอง 'แผนผังองค์กร' ลงมาจาก 'ยอดปิรามิด' เหมือนกับการมอง 'แปลน' ของอาคารลงมาจากด้านบน เราก็จะเห็นว่า แผนผังของแต่ละสายงานนั้นจะเสมือนหนึ่งเป็นแต่ละด้านขององค์กรที่หันออกไป สู่โลกภายนอก โดยจะมีส่วนย่อยๆ ของแต่ละสายงานเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอยู่ภายใน … 'สายสัมพันธ์' เหล่านี้นี่เองที่ถูกบางองค์กรนำไปพัฒนาเป็น dotted line เพื่อแก้ปัญหาที่ 'ภาพสองมิติ' แก้ไม่ตก … ;) … ซึ่ง … จริงๆ แล้วปัญหาทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากการที่เรา 'สื่อสารด้วยแผนผังที่ผิดมุม' ต่างหาก … :D
ทีนี้ … ผมก็คิดของผมต่อไปอีก คือให้แต่ละจุดของงานมันสามารถที่จะได้รับ feed back จากในระบบมากกว่าหนึ่งทิศทางเสมอ เพื่อให้การตรวจสอบถูกฝังตัวลงไปใน routine ของแต่ละส่วนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันก็เป็นวิธีคิดที่ง่ายๆ แบบเดียวกับที่ 'นักบัญชี' เขาชอบใช้กัน นั่นก็คือ การเอาตัวเลขจากเอกสารชุดเดียวกันนั่นแหละ เขียนไปใส่เล่มนั้นทีหนึ่ง โอนข้ามกลับมาเล่มนี้อีกทีหนึ่ง บวกทบไปตรงนั้นนิด วนกลับมาลบออกจากตรงนี้หน่อย โดยที่เขาจัดการให้มันกระจายออกไปช่วยกันทำหลายๆ คน ถ้าผลลัพธ์สุดท้ายมันออกมาตรงกัน ก็แปลว่าทุกอย่างในระบบมันปรกติดีแล้ว … บ้าดีมั้ยล่ะ ??!! … แต่มันก็ได้ผลชะงัดเชียวนะ !! :D … อ้ะ … ช่างหัวมัน !! … :D
เรื่อง ที่ผมอยากจะเอ่ยถึงสำหรับคราวนี้ก็คือ ผมมีความคิดที่จะแบ่งระดับของงานออกเป็น 3 ระดับ อย่างที่เห็นในภาพนั่นแหละ … 3 ระดับเท่านั้น ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ครับ !! … และผมก็เชื่อว่า ไม่ว่าองค์กรทางธุรกิจ หรือองค์กรบ้าบอระดับไหนก็ตาม มันไม่มีทางที่จะมีมากกว่า 3 ระดับที่ว่านี้ไปได้อย่างแน่นอน นั่นก็คือ ระดับนโยบาย (Policy), ระดับบริหาร (Planning), และระดับปฏิบัติการ (Performing) … ถ้ามีใครไปเห็นภาพ 'แผนผังปิรามิด' ที่ไหนเขามีมากกว่า 3 ระดับที่ว่านี้ ก็จงรู้ไว้ด้วยว่า นั่นคือการเขียนแผนผังเพื่อสนอง Ego ของคนทำงานเท่านั้น แต่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานจริงๆ ซักเท่าไหร่หรอก !! … :D
แล้วเห็นอะไรที่เกี่ยวกับ 'อี้จิง' มั้ยล่ะนั่น ??!!
เลข 3 นี่มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากๆ สำหรับผมซะจริงๆ :D … ถ้าคิดซะว่าแต่ละระดับจะต้องประกอบไปด้วย 'หยิน' กับ 'หยาง' ล่ะ ??!! … แล้วถ้าเราเรียงลำดับของ 'สามระนาบของการปฏิบัติงาน' ให้ซ้อนกันขึ้นมาเป็นปึก โดยให้ 'ระดับนโยบาย' อยู่ด้านล่างสุด … มี 'ระดับปฏิบัติการ' อยู่ด้านบน … และให้ 'ระดับบริหาร' อยู่ตรงกลางเพื่อประสานสมดุลระหว่างทั้ง 2 ขั้ว … เราก็จะได้ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ทั้ง 64 ภาพตาม 'คัมภีร์อี้จิง' เลยนะนั่น … :P … มันเป็นอะไรที่น่าสนุกมากๆ กับการได้คิดอะไรบ้าๆ บอๆ แบบนี้ … จริงๆ นะ … พับผ่าสิ !! … :D
ถ้าถามผมว่าทำไม 'ระดับนโยบาย' ถึงกลับหัวกลับหางไปอยู่ที่ด้านล่าง … อันนี้ถ้าอธิบายแบบ 'อี้จิง' ก็ง่ายๆ นิดเดียวครับว่า เพราะสิ่งที่อยู่ 'ด้านบน' ของภาพสัญลักษณ์คือตำแหน่งที่ใช้แทน 'สิ่งที่ปรากฏสู่โลกภายนอก' เสมอ ซึ่งนั่นก็คือ 'ระดับปฏิบัติการ' นั่นเอง แล้วระดับอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ลดหรั่นลึกเข้ามาข้างในเรื่อยๆ … แต่ถ้าอธิบายด้วยภาษาแบบการบริหารงานยุคใหม่ ผมก็จะรีบอวดความหัวก้าวหน้าของตัวเองทันทีเลยว่า … แบบนี้แหละที่เขาเรียกว่าการบริหารแบบ Bottom Up ไง !! … :D … หรือที่มีคนเขาแปลเป็นไทยไว้ว่า 'การบริหารแบบล่างขึ้นบน' อันเป็นคำยอดนิยมของการบริหารในยุคที่ใครๆ ก็อยากเห็น 'องค์กรแนวราบ' ก า น ท้ า ง น้ า น … :D
ยัง .. ยัง .. ยัง … ผมยังสนุกของผมไม่พอ … :D
ผมยังไม่ลืมหรอกครับว่า องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นอยู่ที่ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Trigrams ซึ่งเรียงตัวอยู่รอบๆ วงกลม 'ไท้เก๊ก' นั่นแหละ … ถ้า 'คัมภีร์อี้จิง' มันจะสามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานขององค์กรได้ … มันก็น่าจะต้องแทนค่าของ 'สัญลักษณ์สามขีด' ทั้งแปดนั่นด้วยชื่อตำแหน่งต่างๆ ที่เป็น 'องค์ประกอบขั้นพื้นฐาน' ขององค์กรได้ด้วยสิ … ถูกมั้ย ??!!
เพราะฉะนั้น มันก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องเจาะลงไปในรายละเอียดของ 'คัมภีร์อี้จิง' เพื่อที่จะล้วงตับไตไส้พุงของมันออกมาตีแผ่ให้กลายเป็น The Organization Code ซะทีแล้วสินะ !! … ;)
ว่ากันว่า ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Fu Xi ค้นพบ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ทั้ง 8 ภาพ แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็น 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' จำนวน 64 ภาพนั้น ดูเหมือนว่าแกจะไม่ได้เขียนบันทึกใดๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเลย แต่อาศัย 'การตีความ' และ 'การให้คำแนะนำ' แบบปากต่อปากเท่านั้น … จวบจนกระทั่งมาถึงยุคของ King Wen ที่แกมีเวลาว่างอย่างเหลือเฟือในคุกของราชวงศ์ซางนั่นแหละ King Wen จึงริเริ่มที่จะตั้งชื่อเรียกให้กับ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ทั้งแปด และทำบันทึกเกี่ยวกับ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ทั้ง 64 ภาพนั้นขึ้นมาอย่างครบถ้วน เพื่อให้ 'การตีความ' นั้นๆ สามารถได้รับการถ่ายทอดต่อออกไปในฐานะของ 'องค์ความรู้' สำหรับมนุษยชาติ และกลายเป็น 'คัมภีร์อี้จิง' ที่ถูกนำไปขยายความในเวลาต่อๆ มาโดยปราชญ์ของยุคต่างๆ ทั้งยังแตกแขนงออกไปกลายเป็นศาสตร์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โหรศาสตร์, ดาราศาสตร์, อุตุนิยมวิทยาศาสตร์, ภูมิศาสตร์, ฮวงจุ้ย, การแพทย์, การศึกสงคราม, การปกครอง, และแม้แต่ศิลปการต่อสู้, … แล้วก็ยังมีการนำไปผสมกับวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในด้านเคมีชีวภาพ, พันธุกรรมศาสตร์, ฯลฯ … อะไรมันจะกว้างไกลได้ซะขนาดนั้น … เนอะ !! … :D … ผมก็เลยคิดเอาเองว่า รากฐานประการสำคัญของการตีความออกไปซะมากมายขนาดนั้น น่าจะมีกุญแจอยู่ที่ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ที่เห็นใน 'โป้ยก่วย' นั่นแหละ … แล้วถ้าหากผมจะเหมาเอาว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ก็คือสมุดบันทึกสำหรับ The Organization Code อย่างที่ผมกำลังนึกสนุกกับมัน … เจ้า 'โป้ยก่วย' นั้นก็น่าจะเรียกว่าเป็น The Primary Code ที่ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น 'ธาตุทั้งแปด' ขององค์กร ;)
… เพราะฉะนั้น ถ้าเราไล่ลำดับของแต่ละชื่อตาม 'ลำดับอนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi เราก็จะได้อย่างนี้ครับ
แต่ถ้าเรียงตาม 'ลำดับอนุกรมแห่งมนุษย์' ของ King Wen เราก็จะได้ขั้วของ 'หยิน-หยาง' ออกมาเป็นแบบนี้
ซึ่งก็ต้องมาไล่ความหมายของแต่ละคำที่เป็น 'ชื่อเรียก' ของ 'ภาพสัญลักษณ์' เพื่อพิจารณาต่อไปว่า มันควรจะหมายถึง 'ลักษณะความรับผิดชอบ' แบบไหนภายในองค์กร จึงจะจัดว่าเป็น 'ธาตุหลัก' สำหรับการบริหาร ;)
แต่ก่อนอื่นทั้งหมด เราก็ต้องจำแนกให้ชัดเจนก่อนว่า ในแต่ละองค์กรที่เปรียบเสมือน 'ไท้เก็ก' นั้น มันจะมีอะไรที่ถือว่าเป็น 'หยิน' แล้วมีอะไรที่ถือว่าเป็น 'หยาง' … ซึ่งผมก็จัดการแบ่งออกมาเป็น 'ฝ่ายธุรการ' กับ 'ฝ่ายธุรกิจ' ;) เพื่อที่จะถือว่าเป็น 'หยิน-หยาง' ของทุกๆ องค์กร โดยที่มี 'ฝ่ายธุรการ' เป็น 'ฝ่ายหยิน' … และมี 'ฝ่ายธุรกิจ' เป็น 'ฝ่ายหยาง' … ซึ่งก็ดูเข้าท่าดีเหมือนกัน :D … ทีนี้ … เราก็มาดูกัน ;)
☰ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 乾 สะกดด้วย pinyin เป็น qián อ่านว่า 'เฉียน' ซึ่งผมอยากจะเสนอวิธีเขียนคำอ่านภาษาจีนเป็นภาษาไทยด้วยการเขียนเป็น 'เชี๋ยน' ซะมากกว่า เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการเติมวรรณยุกต์ในแบบของภาษาจีนไว้ด้วย ;)
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมไปก็คือ ตัวอักษรในภาษาจีนนั้นเป็น 'รูปภาพ' ซึ่งคำว่า 乾 นี้ก็ไม่มีการยกเว้นนะครับ … ภาพอักษร 乾 ตามอักขระโบราณของจีนนั้นจะเป็นภาพของ 'ดวงอาทิตย์ที่กำลังเปล่งรัศมี เพื่อส่งมอบพลัง 'ชี่' ให้แก่สรรพชีวิต' โดยเราจะเห็นสัญลักษณ์แทน 'ดวงอาทิตย์' อยู่ทางด้านซ้ายของตัวอักษร ด้านบนของสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์จะเป็นสัญลักษณ์แทน 'หญ้า' หรือ 'ต้นอ่อน' ของพืชพรรณต่างๆ ที่กำลังงอกเงยขึ้นมา ส่วนด้านล่างของดวงอาทิตย์จะเป็นสัญลักษณ์แทน 'ราก' ของบรรดาพืชพรรณต่างๆ ที่ชอนไชลึกลงไปในดิน … ด้านขวาของภาพอักษรแทน 'พลังงาน' หรือ 'ชี่' ที่เปล่งประกายออกจากดวงอาทิตย์ และแผ่คลื่นพลังนั้นลงมาจากฟากฟ้า …
คำว่า 乾 จึงมีความหมายในลักษณะที่ว่า 'เต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิต' ซึ่งมี 'พลังหยาง' อย่างเต็มเปี่ยมที่สุดสำหรับ 'การเริ่มต้น' ของทุกสรรพสิ่ง … และด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากจะใช้สัญลักษณ์นี้แทน 'ผู้ก่อตั้ง' หรือ 'ผู้บริหารระดับสูงสุด' ขององค์กร … โดยเราอาจจะเรียกมันด้วยอักษรย่อว่า CEO หรือ Chief Executive Officer นั่นเอง ;)
☷ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 坤 สะกดด้วย pinyin เป็น kūn อ่านว่า 'คุน' … ภาพอักษรนี้ประกอบด้วยอักษร 土 ที่หมายถึง 'ดิน' หรือ 'แผ่นดิน' อยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางด้านขวาจะเป็นอักษร 田 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทน 'ทุ่งนา' แต่มีขีดตรงๆ ยาวๆ พาดผ่านจากบนลงล่างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง 'อิทธิพล' ของ 'แผ่นดิน' ที่สามารถแผ่ไพศาลไปโอบอุ้มสรรพชีวิตทั้งมวลโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าสูงหรือต่ำ คุณลักษณะสำคัญของ 'แผ่นดิน' คือ 'การโอบอุ้ม' หรือการเป็น 'ผู้รองรับ' ให้กับสรรพชีวิตทั้งมวลที่ก่อเกิดขึ้นมาในธรรมชาติ ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ใช่ 'ผู้สร้างสรรค์' ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา แต่มันก็เป็น 'ผู้หล่อเลี้ยง' ให้ทุกสรรพสิ่งสามารถเติบใหญ่ และพัฒนาไปสู่จุดที่สมบูรณ์ที่สุดของสิ่งนั้นๆ เสมอ … ผมคิดที่จะใช้สัญลักษณ์นี้แทน 'หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ' ซึ่งเป็น 'ผู้รับสนองนโยบาย' จาก CEO โดยตรง และเรียกมันด้วยอักษรย่อว่า COO หรือ Chief Operating Officer ซะเลย ;)
☱ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 兑 สะกดด้วย pinyin เป็น duì อ่านว่า 'ตุ้ย' … 兑 เป็นอักษรรากของคำที่มีความหมายว่า 'พูด' โดยมีรูปสัญลักษณ์ของ 'ปาก' อยู่ที่ตรงกลางของภาพอักษร และกำลังแสดงอาการของ 'การพูด' และ 'ยิ้มแย้ม' ออกมา ด้านบนเป็นภาพของ 'แขนที่แกว่งไกว' อย่างมีความสุข ด้านล่างเป็นภาพของ 'เท้าที่กำลังเริงระบำ' อย่างสุขสันต์ … คำว่า 兑 จึงมีหลายความหมายด้วยกัน จากเดิมทีเดียวที่หมายถึง 'การพูดคุยอย่างมีความสุข' ก็พัฒนาต่อมาเป็น 'การแลกเปลี่ยนที่มีทั้งการให้และการรับ' ในความหมายว่าเป็น 'การให้และการรับเพื่อแลกเปลี่ยนความสุข' ระหว่างกันและกัน … ซึ่งภาพสัญลักษณ์ในธรรมชาติที่ใช้แทน 兑 ก็คือ 'บึง' หรือ 'ทะเลสาบ' ซึ่งเป็นทั้ง 'ผู้รับ' และ 'ผู้ให้' ด้วย 'ปาก' ที่เปิดกว้างของมันเสมอ :D … ถ้าจะว่ากันตามเหตุผลของคำอย่างที่อธิบายมานี้ ผมก็ควรจะแทนที่สัญลักษณ์นี้ในตำแหน่งของ 'ฝ่ายขายและฝ่ายบริการ' เพราะเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ 'การพูดคุย', 'ความยิ้มแย้ม', และ 'การแลกเปลี่ยน' เพื่ออำนวยประโยชน์และสนองวัตถุประสงค์ของทั้ง 'ผู้ให้บริการ' และ 'ผู้รับบริการ' และอยากจะใช้ตัวอักษรย่อเป็น SEO หรือ Sales Executive Officer ;)
☶ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 艮 สะกดด้วย pinyin เป็น gèn อ่านว่า 'เกิ้น' … ตามภาษาถิ่นของทางภาคเหนือของจีนนั้น คำว่า 艮 มีความหมายว่า 'ตรงไปตรงมา', 'ทื่อๆ', 'ตรงๆ', 'ไม่อ้อมค้อม' … แต่ในด้านของภาษาเขียนแล้ว คำนี้กลับไม่ค่อยจะเห็นการใช้งานซักเท่าไหร่นอกจากใน 'คัมภีร์อี้จิง' เท่านั้น โดยภาพสัญลักษณ์ที่ใช้คู่กับคำว่า 艮 จะเป็นภาพของ 'ภูเขา'
ในแง่มุมหนึ่ง ผมมองภาพสัญลักษณ์ 'ภูเขา' นี้ในความหมายของ 'แหล่งทรัพยากร' ที่องค์กร หรือชุมชนหนึ่งๆ สามารถใช้ประโยชน์จากมันเพื่อการดำรงชีพ และเพื่อประกอบกิจการงานต่างๆ ได้ … ในขณะที่อีกแง่มุมหนึ่งตามความหมายของภาพอักษร ภาพสัญลักษณ์ 'ภูเขา' ควรจะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนส่วนงานที่ต้อง 'ทื่อๆ', 'ตรงๆ', และต้อง 'มีความน่าเชื่อถือ' อย่างสม่ำเสมอ … ดังนั้น หน้าที่ซึ่งรับผิดชอบในองค์กรที่ควรจะได้รับการเทียบเคียงกับสัญลักษณ์นี้ จึงน่าจะเป็น CIO หรือ Chief Information Officer ซึ่งจะต้องรับผิดชอบ 'ทรัพยากรด้านข้อมูล' ให้มีความถูกต้อง มีความแม่นยำอย่างตรงไปตรงมา และจะต้องมีความเพียงพอแก่ความจำเป็นในการปฏิบัติงานของทุกๆ หน่วยงานในองค์กรอย่างสม่ำเสมอด้วย
☲ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 離 สะกดด้วย pinyin เป็น lí อ่านว่า 'ลี๋' (เหมือนเดิมครับ ไม่อยากสนับสนุนให้เขียนเป็น 'หลี' เพื่อจะคงรูปของการเติมวรรณยุกต์ตามวิธีการออกเสียงของภาษาจีนเอาไว้) … คำว่า 離 ในความหมายที่พบเห็นโดยทั่วไปในปัจจุบันนั้นจะหมายถึง 'การจากไป' หรือ 'การแยกออกจากกัน' … แต่ตัวอักษรตัวเดียวกันนี้ในยุคโบราณของจีนจะมีความหมายว่า 'การมัดติดกัน' ด้วย
อย่างไรก็ตาม 離 ตามความหมายที่ใช้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นจะหมายถึง 'การส่องสว่าง' โดยส่วนหน้าของภาพอักษรเป็นภาพของสัตว์โบราณชนิดหนึ่งของจีนเรียกว่า 'ลี๋' เป็นส่วนที่เติมเข้ามาเพื่อแสดงการออกเสียงให้กับคำ ด้านหลังของภาพอักษรเป็นภาพของนกชนิดหนึ่งเรียกว่า 隹 (zhūi) ซึ่งเป็นนกที่มีขนสีเหลืองสดใส ใช้เพื่อแสดงความหมายว่า 'สุกใส' และ 'ส่องสว่าง' … ซึ่งภาพสัญลักษณ์ที่ใช้ตาม 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นจะเป็นภาพของ 'ไฟ' เพื่อแทนความหมายของ 'ความสุกสว่าง' ประเภทนี้
ผมตีความสัญลักษณ์นี้จากความหมายรวมๆ ของมันว่า มันคือสัญลักษณ์ที่จะต้องมีทั้ง 'การรวม', 'การจำแนก', และควรจะต้องมี 'ความสุกใสเรืองรอง' … แต่ก็เป็น 'ของร้อน' ที่ไม่น่าจะมี 'การถือครอง' ไว้นานๆ … คล้ายกับ 'ไฟ' ที่มีน้อยจนเกินไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ … แต่ถ้ามีมากจนเกินไปก็รังแต่จะลวกไม้ลวกมือให้เดือดร้อน … ดังนั้น คู่ที่เหมาะสมกับสัญลักษณ์นี้จึงน่าจะเป็น PRD ที่ผมย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า Product / Research & Development ซึ่งทำหน้าที่ในการค้นคว้าวิจัย และการพัฒนาสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับองค์กร … ในความหมายที่ว่า ถ้า 'สินค้า' มีน้อยจนเกินไปก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าหาก 'สินค้า' มีมากจนเกินไปก็รังแต่จะเผาผลาญทรัพยากรอื่นๆ ขององค์กรให้เกิดความเสียหาย ;)
☵ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 坎 สะกดด้วย pinyin เป็น kǎn อ่านว่า 'ขั่น' … ภาพอักษร 坎 นี้เคยถูกเขียนด้วยภาพอักษร 埳 ที่เป็นอักษรโบราณมากๆ … ซึ่งภาพอักษรดั้งเดิมนั้นจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนหน้าเป็นภาพสัญลักษณ์ของ 'แผ่นดิน' ส่วนหลังแยกเป็นตอนบนที่ใช้สัญลักษณ์ของ 'คน' ยืนด้วยขาเพียงข้างเดียว อีกขาหนึ่งยกสูงขึ้นพ้นแผ่นดินในลักษณะของ 'การเซถลา' หรือ 'การพลัดตก' โดยมีตอนล่างของส่วนหลังในภาพอักษรเป็นรูปของ 'หลุม' หรือ 'แอ่ง' … ภาพอักษรดังกล่าวค่อยๆ ถูกพัฒนาจนในยุคหลังๆ ก็ได้ตัดทอนเอาสัญลักษณ์ของ 'แอ่ง' ตรงส่วนหลังทิ้งไป คงเหลือแต่สัญลักษณ์ 'คน' ที่เคยพลัดตกลงมาเท่านั้น … ใน 'คัมภีร์อี้จิง' กำหนดให้ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' นี้ใช้ภาพสัญลักษณ์ทางธรรมชาติเป็น 'หลุม', 'บ่อ', หรือว่า 'แอ่งน้ำ'
ลักษณะของ 'แอ่งน้ำ' หรือ 'น้ำ' ที่หมายถึง 坎 นี้ไม่ได้มีความใหญ่โตเหมือนกับ 'บึง' หรือ 'ทะเลสาบ' ในสัญลักษณ์ 兑 (☱, duì) แต่จะมีลักษณะเหมือน pit หรือ pool ซะมากกว่า ซึ่ง 'ผู้คน' ที่อยู่ใน pit หรือ pool ที่ว่านี้จะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้เสียหลักเซถลา และจะต้องมีความมานะบากบั่นเพื่อที่จะสามารถก้าวออกจาก 'แอ่ง' หรือ pool ในลักษณะที่ว่านี้ได้อย่างประสบผลสำเร็จ … ผมเลือกที่จะใช้ภาพสัญลักษณ์นี้แทน HRM หรือ Human Resource Manager เพื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร และผลักดันให้ทุกๆ คนสามารถก้าวข้ามความยากลำบาก และอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องประสบในหน้าที่การงานของตนออกไปให้ได้อย่างสมบูรณ์
☳ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 震 สะกดด้วย pinyin เป็น zhèn อ่านว่า 'เจิ้น' … ภาพอักษรนี้ประกอบด้วยส่วนบนที่เป็นภาพของ 'ฝน' (雨, yǔ) ซึ่งมีขีดขวางด้านบนสุดหมายถึง 'ท้องฟ้า' ขีดโค้งๆ ที่ต่ำลงมาจากฟ้าแทน 'เมฆ' และมี 'หยดน้ำ' ใต้เมฆเป็น 'เม็ดฝน' … ส่วนล่างของภาพอักษรคือ 辰 (chén) ที่แปลว่า 'เวลา' แต่ในสมัยก่อนมันยังมีความหมายว่า 'การสั่นสะเทือน' ด้วย และทำให้ 震 คำนี้หมายถึง 'การสั่นสะเทือน' … ใน 'คัมภีร์อี้จิง' กำหนดให้ใช้ภาพของ 'ฟ้าร้อง' หรือ Thunder เป็นภาพสัญลักษณ์ของ 震 เพราะหากพิจารณาจากภาพอักษรแล้ว เส้นขยุกขยิกด้านล่างของภาพอักษร 'ฝน' จะดูคล้ายกับภาพของ 'สายฟ้า' ที่กำลังฟาดลงมาจากเมฆในขณะที่ฝนฟ้าคะนองนั่นเอง ในองค์กรต่างๆ นั้น หน่วยงานที่ดูจะต้องโฉ่งฉ่างที่สุดก็น่าจะเป็นงานด้าน 'การตลาด' ที่มักจะต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ มีการจัดโปรแกรมลดแลกแจกแถมสำหรับสินค้าหรือบริการต่างๆ มีการป่าวร้องเพื่อแจ้งข่าวคราวกิจกรรมขององค์กรออกไปสู่โลกภายนอก … เรียกว่าเป็นหน่วยงานที่จะมี 'ความสะเทือน' อย่างชัดเจนที่สุด … เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่า CMO หรือ Chief Marketing Officer น่าจะเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะกับภาพสัญลักษณ์ของ 'ฟ้าร้อง' นี้มากที่สุด ;)
☴ ถูกกำหนดให้มีชื่อเรียกว่า 巽 สะกดด้วย pinyin เป็น xǜn หรือ xùn อ่านว่า 'ซฺวิ่น' หรือ 'สฺวิ้น' … ภาพอักษรดั้งเดิมของ 巽 นั้นประกอบด้วยส่วนบนที่เป็นภาพของ 'งู' สองตัว เพื่อแทนความหมายของ 'ความยืดหยุ่น' และ 'ความต่อเนื่อง' … ส่วนล่างของภาพอักษรคือตัว 共 (gòng) ซึ่งมีความหมายว่า 'อยู่ร่วมกัน' หรือ Together … และทำให้ภาพอักษร 巽 นี้ถูกกำหนดให้ใช้ภาพสัญลักษณ์ 'ลม' แทนความหมายของ 'การเคลื่อนที่' หรือ 'การดำเนินการ' อย่างนุ่มนวลและต่อเนื่องไปกับ 'กระแสลม'
ผมเองก็เพิ่งจะรู้ว่าชาวจีนโบราณนั้นไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไรกับ 'งู' เหมือนกับพวกฝรั่ง ถึงขนาดที่เอาสัญลักษณ์ของ 'งู' มาใช้ในความหมายดีๆ อย่าง 'ความยืดหยุ่น' หรือ 'ความต่อเนื่อง' อย่างที่เห็นในภาพอักษรนี้ … เพราะถ้าให้ผมตีความจากภาพ ผมก็อาจจะตีความเจ้าเส้นขยุกขยิกด้านบนนั้นว่าเป็น 'คลื่นความร้อน' ที่ลอยตัวสูงขึ้น แล้วส่วนล่างก็น่าจะหมายถึงการไหลเข้ามาแทนที่ของอากาศที่เย็นกว่า ซึ่งเป็นปรากฏกรณ์ที่ทำให้เกิด 'กระแสลม' ในธรรมชาติ :D
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าภายในองค์กรทุกๆ แห่ง หน่วยงานที่น่าจะได้ถือครองภาพสัญลักษณ์นี้ก็น่าจะเป็นงานด้าน 'การเงิน' เท่านั้น เพราะเป็นส่วนงานที่จำเป็นต้องมี 'การหมุนเวียน' อย่าง 'ต่อเนื่อง' และต้องมี 'ความยืดหยุ่น' ที่จะสามารถแทรกตัวลงไปในแต่ละภารกิจได้อย่างเหมาะสม … ในขณะที่ภาพของ 'งู' ที่ปรากฏอยู่ในภาพอักษรนั้น ก็อาจจะตีความได้ว่า งานด้าน 'การเงิน' นี้จะต้องบริหารจัดการด้วย 'ความระมัดระวัง' อย่างยิ่งยวด มิฉะนั้นแล้วเจ้า 'งู' นั้นเองที่กลับจะก่อให้เกิดอันตรายแก่องค์กรโดยรวมได้อย่างยากที่จะเยียวยาแก้ไข ;) … ด้วยเหตุนี้ หากจะเรียกชื่อตำแหน่งที่ใช้เทียบเคียงกับภาพสัญลักษณ์ 'ลม' ผมก็น่าจะเลือกใช้ CFO หรือ Chief Financial Officer เท่านั้น
ครบทั้งแปดสัญลักษณ์แล้วครับ :D และผมคิดว่าเราน่าจะลองจับพวกมันมาเรียงไว้ด้วยกันเพื่อตรวจสอบดูซักหน่อยว่า มันมีความครบถ้วน และมีความเหมาะสมแก่ความหมายที่จะเอามาเทียบเคียงมากน้อยแค่ไหน ;)
ถ้าเรียงตาม 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi เราก็จะได้ตารางนี้ …
ซึ่งจะเห็นภาพของ 'การคานอำนาจ' เพื่อรักษาสมดุลในระบบของแต่ละคู่เป็นอย่างนี้ …
☷ (000) กลยุทธ์ | คู่กับ | ☰ (111) นโยบาย | |
☶ (001) ข่าวสารข้อมูล | คู่กับ | ☱ (110) ฝ่ายขาย | |
☵ (010) บุคลากร | คู่กับ | ☲ (101) สินค้า | |
☴ (011) การเงิน | คู่กับ | ☳ (100) การตลาด |
นั่นก็คือ … นโยบายจะต้องไม่ฟุ้งเฟ้อจนไม่สามารถปฏิบัติ, … ข้อมูลจะต้องแม่นยำชัดเจนเพื่อสนับสนุนและคอยตรวจสอบกิจกรรมของฝ่ายขาย, … การพัฒนาบุคลากรจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาสินค้าหรือบริการ, … การเงินจะต้องได้รับการจัดสรรให้พอเหมาะแก่กิจกรรมทางการตลาด ;) … นี่ก็คือ 'ลิขิตสวรรค์' … :D … ซึ่งถือเป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติที่ควรจะต้องดำเนินไปสำหรับทุกๆ องค์กร
แต่ถ้าเป็น 'อนุกรมแห่งมนุษย์' ของ King Wen เพื่อทำให้เกิดความสมดุลในทุกๆ การขับเคลื่อน หรือการเปลี่ยนแปลง เราก็จะได้คู่ปฏิบัติที่เปลี่ยนไปอีกแบบ …
จะเห็นว่าซีกของฝั่งที่กำหนดนโยบาย กับซีกของฝั่งที่รับสนองนโยบายนั้น จะถูกรวมไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจนมากขึ้น อันเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยน 'พลังหยิน' และ 'พลังหยาง' อย่างกลมกลืน โดย … ฝ่ายขาย (☱) จะต้องสนองนโยบายของฝ่ายการตลาด (☳) ได้อย่างเหมาะสม … สินค้า/บริการ (☲) จะต้องมีความสอดคล้องกับความสามารถของบุคลากร (☵) … การเงิน (☴) จะต้องได้รับการจัดสรรให้สมดุลกับเป้าหมาย (☰) … และกลยุทธ์ (☷) จะต้องไม่ขัดแย้งกับข้อมูลหรือความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง (☶) …
สวยงามมากเลยเห็นรึเปล่า ??!! … :D
มันเป็น 'ความลงตัว' ของความหมาย และภาพสัญลักษณ์ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว ซึ่งหากเรานำเอาวิธีการตีความแบบนี้มาใช้งาน มันก็จะทำให้ 'คัมภีร์อี้จิง' ไม่ได้มีสถานภาพเป็นเพียง 'ตำราพยากรณ์' อีกต่อไป แต่มันกลับจะส่งผลให้ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ทั้ง 64 ภาพ หรือบทบันทึกทั้ง 64 บทของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น กลายสภาพเป็น The Organization Code ทันที !!
ความจริงแล้ว ภาพสัญลักษณ์ทั้งแปดใน 'โป้ยก่วย' อันถือเป็น 'สัญลักษณ์ธาตุ' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ที่เรียงตัวกันอยู่รอบ 'วงกลมไท้เก็ก' นั้น ได้สื่อความหมายที่สำคัญประการหนึ่งไว้ก็คือ … มันไม่ได้บ่งบอกถึงความสำคัญที่เหนือกว่า หรือความสำคัญที่ด้อยกว่าของ 'สัญลักษณ์ธาตุ' ใดๆ เลย ทั้งหมดต่างก็เป็นองค์ประกอบที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนทุกๆ การเปลี่ยนแปลงให้ไปสู่จุดที่มีความสมดุลอย่างสม่ำเสมอ … เช่นเดียวกับการนำคติความคิดนี้มาใช้กับการบริหารองค์กร เราก็ต้องไม่ลืมว่า แต่ละตำแหน่ง แต่ละหน้าที่ขององค์กรทั้งระบบนั้น ต่างก็ไม่ได้มีตำแหน่งใดที่มีความเหนือกว่า หรือมีความด้อยกว่าในแง่ของความหมายที่แท้จริงแต่ประการใดทั้งสิ้น … มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ที่องค์กรนั้นๆ จะต้องประสบ และจะต้องฟันฝ่าให้ไปสู่จุดที่สมดุลที่สุด เพื่อธำรงรักษาความอยู่รอดของทุกๆ ชีวิตในองค์กรนั้นๆ เอง … ในบางสถานการณ์ เราจำเป็นต้องใช้ การตลาดนำการเงิน (䷟) หรือบางครั้งเราก็ต้องใช้ การข่าวและข้อมูลมาเป็นตัวกำหนดนโยาย (䷙) หรือบางทีเราก็อาจจะต้องใช้ สินค้า/บริการเป็นตัวชี้นำกลยุทธ์ (䷢) … ฯลฯ … ซึ่ง 'ข้อแนะนำ' ที่ปรากฏใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ก็จะเปรียบเสมือนหนึ่งเป็น 'คำชี้แนะ' สำหรับการดำเนินงานใดๆ ตามแผนที่กำหนดไว้ หรือเป็น 'ข้อคิด' ที่มีไว้เพื่อชี้นำการปฏิบัติงานของแต่ละระดับในการประกอบกิจการ ณ สถานการณ์หนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็น ระดับนโยบาย, ระดับบริหาร, หรือระดับปฏิบัติการก็ตาม
ฟังๆ ดูก็อาจจะเป็นแนวคิดบ้าๆ บอๆ ที่ผมนึกอุตริของผมขึ้นมาเอง แต่ในระหว่างที่ผมเตลิดเปิดเปิงไปกับแนวคิดนี้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ผมเองก็กว้านซื้อหนังสือหนังหาที่เกี่ยวกับ 'คัมภีร์อี้จิง' มาพินิจพิจารณา 'ความบ้าระห่ำ' ของตัวเองอยู่หลายเล่ม ซึ่งผมก็คงจะค่อยๆ 'หายบ้า' ไปเองถ้าบังเอิญไม่ได้ไปเจอหนังสือเล่มนี้เข้า … :D … The Tao of Organization : The I Ching for Group Dynamics ของ Thomas Clearly ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนนักวิชาการด้านศาสตร์ตะวันออก และมีผลงานการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับคัมภีร์โบราณของจีนไว้หลายเล่มด้วยกัน โดยเฉพาะ 'คัมภีร์อี้จิง' ที่เขียนวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบกับลัทธิเต๋า เปรียบเทียบกับปรัชญาแนวพุทธ และเปรียบเทียบกับคติความเชื่อแบบฮินดู ซึ่งมีการจัดรวมไว้เป็นชุดที่เกี่ยวกับคัมภีร์เล่มสำคัญเล่มนี้โดยเฉพาะ …
แม้ว่าการนำเสนอของ Thomas Clearly จะไม่ได้จำแนก 'ธาตุขององค์กร' ออกมาในลักษณะอย่างที่ผมเล่าไว้นี้ แต่ก็มีแนวคิดของการนำ 'คัมภีร์อี้จิง' มาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังอิงอยู่กับวิธีการ 'เสี่ยงทาย' ด้วยไม้ติ้ว, ไม้เซียมซี, หรือการโยนเหรียญเหมือนกับวิธีการนำเสนอเรื่องราวของ 'คัมภีร์อี้จิง' ในแบบยอดนิยมทั่วๆ ไป … แต่นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำให้ผมยังคงนึกอยากที่จะเขียน The Organization Code ในแบบฉบับอย่างที่ผมต้องการต่อไป ;)