หลายวันกับการใช้ "แทบเล็ด"

13/10/2013 | Comments: 1

หยิบๆ จับๆ กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า "แทบเล็ด" อยู่หลายวัน เพราะคิดว่าราคามัน "เริ่มจะสมเหตุผล" กว่าก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว ... ประมาณว่า กำลังคิดจะเอา "แทบเล็ด" มาใช้แทนแฟ้มเอกสาร กับการหอบเล่มหนังสือไปอ่านที่ไหนต่อที่ไหนให้สบายกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยจะมีของตัวเองซะมั่ง ... ก็น่าจะดี !!? ... 😋

ไม่น่าเชื่อว่า ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากการเปิดตัวอุปกรณ์ประเภทนี้โดย Apple และ Amazon ด้วยวัตถุประสงค์ที่คล้ายๆ กัน เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ได้กลายเป็นสินค้ายอดฮิตติดมือผู้บริโภคไปแล้วอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง หรือบรรดาอาซิ่มอากู๋อาเจ็กทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่นักบวชจำนวนมากที่เคยพบเห็น ... ฯลฯ ... ล้วนสมัครสมานสามัคคีเข้าเป็นสมาชิกใน "สังคมก้มหน้า" แล้วเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ... ต่อๆ ไป มนุษย์เราเรียนรู้ในการจดจำรูปขวัญบนกบาลของเพื่อน แทนการจำหน้าจำตาของกันและกันรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันนะเนี่ย ??!! ... 😈

หลายวันที่ผมทดลองกับอุปกรณ์ดังกล่าว ด้วยการ "ยัด" ไฟล์หลายๆ ประเภทเข้าไปในหน่วยบันทึกข้อมูลขนาดจิ๋วๆ ใน "แทบเล็ด" ที่ซื้อมา เพื่อที่จะเปิดดูเปิดอ่านเหมือนกับที่เขา "โฆษณาชวนเชื่อ" กันว่า มันคืออุปกรณ์ที่จะมาแทน "เล่มหนังสือ" ซึ่งหลายคนคุ้นมือคุ้นตากันมานานแสนนาน ... แต่ผมกลับคิดว่า ... มันแย่ว่ะ !! ... จะว่ามี "อาการยึดติด" อยู่กับกองหนังสือน้ำหนักหลายตันของตัวเองก็คงไม่จริงซะทีเดียวนัก เพราะผมมีความรู้สึกว่า "แหล่งกำเนิดแสงสว่างสำหรับการอ่าน" มันผิดที่ผิดทางเกินไปหน่อย ซึ่งมันส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้เพื่อการอ่านต้องหดสั้นลงอย่างไม่น่าพอใจเลย !!??!! ... มันไม่น่าจะใช่ "เล่มหนังสือแห่งอนาคต" แน่ๆ แล้วล่ะ ... แต่มันคือ "อุปการณ์" ที่จะบั่นทอน "ความอยากอ่านหนังสือ" ของมนุษย์ให้ลดลงไปให้เหลือเพียงแค่ "การอ่านข้อความสั้นๆ อย่างฉาบฉวย" มากกว่า ... ผมรู้สึกของผมอย่างนั้นจริงๆ !!?? ... แล้วก็เลยพานคิดไปว่า ... เพราะอย่างนี้มั้ง หลายคนถึงได้เปลี่ยนไปสื่อสารผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย "สติ๊กเกอร์" แทน ??!! ... 😳

ถึงแม้ว่าผมเองก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า อุปกรณ์เหล่านี้สามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็น "สื่อการเรียนการสอน" ได้อย่างยน่าสนใจ แต่มันคงไม่เหมาะกับการนำไป "ทดแทนเล่มหนังสือ" จนหมด เพราะเชื่อว่ามันคงไม่สามารถ "ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน" ให้กับเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลของ "ข้อจำกัดด้านกายภาพ" ของสายตามนุษย์ ที่ไม่เหมาะกับการจ้องเข้าไปหา "แหล่งกำเนินดแสงสว่าง" ตรงๆ อย่าง "แทบเล็ด" ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ... ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึง "การปลูกฝังนิสัยรักการเขียน" เลยด้วย เพราะเครื่องไม้เครื่องมือที่ "แทบเล็ด" มีอยู่ในปัจจุบัน (ค.ศ.2013) ยังไม่ถือว่าเพียงพอสำหรับการเขียนอะไรๆ อย่างต้องมีสติให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ เลย ... !!?

จะบอกว่าเป็นเพราะผมไม่คุ้นเคยกับการทำอะไรๆ บนหน้าจอ LCD นานๆ รึเปล่า ?! ... ผมก็ยังรู้สึกว่า ถึงผมจะใช้คอมพิวเตอร์เกือบตลอดทั้งวันในหลายปีที่ผ่านมา ระดับการตอบสนองของสายตาของผมก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับการมองหน้าจอ "แทบเล็ด" เพียงไม่กี่นาทีด้วยซ้ำ ... มันทำให้ผมคิดว่า น่าจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ยังทำให้ "แทบเล็ด" ไม่คู่ควรกับการเป็นอุปกรณ์สำหรับ "การอ่าน" หรือ "การต้องเพ่งมอง" เป็นเวลานานๆ เมื่อเทียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาประเภทอื่นๆ เท่าที่ผมเคยใช้มา ... อาจจะเป็นเพราะขนาดของอุปกรณ์ที่เล็กลงอย่างเห็นได้ชัด ??! ... อาจจะเกี่ยวกับระยะห่างจากสายตาซึ่งทำให้แสงสว่างพุ่งกระทบสายตาด้วยความเข้มข้นที่มากกว่า ??! ... หรืออาจจะเกี่ยวกับมุมที่จอกระทำต่อระดับสายตาซึ่งมีความก้มมากกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะทำงาน ... ??!! ... หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกบ้างรึเปล่าก็ไม่รู้ เพราะผมยังนึกไม่ออกในเวลานี้ ... !!?

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของการบริโภคอุปกรณ์ประเภทนี้ก็คงหลีกเลี่ยงได้ยากแล้วว่า คอมพิวเตอร์พกพาในอนาคตคงจะมีขนาดและหน้าตาประมาณ "แทบเล็ด" ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน และสำหรับคนที่มีธุระปะปังกับคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ก็คงต้องพยายามปรับตัวเข้าหาอุปกรณ์ประเภทนี้ให้มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่า คุณภาพของจอแสดงผลในอุปกรณ์ประเภท "แทบเล็ด" คงจะได้รับการพัฒนาให้ "บ่อนทำลายสายตา" น้อยลงไปกว่านี้เรื่อยๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้เกือบจะตลอดเวลาในอนาคต ...

 

 


Categories: ZhuqiNote

Comments

poipsgype   30/6/2021

Leave Comment