ประเทศ "คงจะ" พัฒนา ... มั้ง ??!!

1/10/2013

บังเอิญว่า 3-4 วันก่อน ผมมีโอกาสได้มาเที่ยวเล่นที่เมืองกวางเจา (廣州) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ได้รับ "การพัฒนา" อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศจีนในปัจจุบัน ... เก้าะ ... เป็นเมืองใหญ่ และได้รับ "การพัฒนา" จน "เจริญ" สมคำร่ำลือจริงๆ ล่ะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หรืออาคารบ้านเรือนต่างๆ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย ล้วนมีความสูงใหญ่แน่นหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า "เมืองที่เจริญแล้ว" ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ... และความรู้สึกแรกๆ ของใครหลายๆ คนที่เพิ่งเดินทางมาถึงเมืองกวางเจา (廣州) ในปัจจุบัน ก็คงจะไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก ... นี่คือ "เมืองที่เจริญแล้ว" จริงๆ ... มั้ง ... ??!!

... มั้ง ... ??!!

มันคือหนึ่งพยางค์สั้นๆ ที่จู่ๆ ผมก็เติมมันเข้าไปท้าย "ความรู้สึก" ของตัวเอง เพราะผมเกิดคำถามที่แว้บขึ้นมาในใจว่า ... เรากำลังใช้อะไรเป็น "เกณฑ์การประเมินความเจริญ" ของบ้านเมืองกันแน่ ??!! ... ถ้าเราถ่ายรูปของสภาพบ้านเมืองในกวางเจา (廣州) ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้ แล้วนำไปกองรวมกับภาพถ่ายของ "บ้านเมืองที่เจริญแล้ว" อื่นๆ เรายังจะสามารถจำแนกออกมั้ยล่ะว่า ภาพไหนเป็นภาพถ่ายของเมืองอะไร ??!! ... ทำไม "เมืองที่เจริญแล้ว" ในความหมายของคนทั่วๆ ไป มันถึงได้มีหน้าตาที่เหมือนๆ กันไปหมด ??!! ... ทำไมมันถึงได้ "สิ้นไร้ความมีอัตลักษณ์" และดู "ปราศจากรสนิยมที่แตกต่างกัน" ซะขนาดนั้น ??!! ... หรือ "ความเจริญของบ้านเมือง" มีได้แค่แบบเดียว คือ "แบบที่เหมือนของชาติตะวันตก" เท่านั้น ??!! ... ใครเป็นผู้กำหนด "ค่านิยม" ดังกล่าวขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วๆ ไป ??!! ... แล้ว "ค่านิยม" แบบนั้นก็คือ "สัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว" ... งั้นเหรอ ??!! ... ฯลฯ ...

คำถามที่แว้บขึ้นมาเหล่านี้ ล้วนเป็นคำถามที่ชวนให้ผมนึกถึงคำว่า "ประเทศพัฒนาแล้ว" (developed country), "ประเทศกำลังพัฒนา" (developing country), และ "ประเทศด้อยพัฒนา" (undeveloped country) ตามคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ ... ซึ่ง "ประเทศพัฒนาแล้ว" โดยส่วนใหญ่ ก็จะหมายถึงประเทศของชาวตะวันตก หรือประเทศที่มีสภาพบ้านเมืองและสังคมแบบเดียวกับชาวตะวันตกไปแล้ว ... ในขณะที่ "ประเทศกำลังพัฒนา" ก็คงจะหมายถึงประเทศที่ "กำลังทำตามอย่างชาติตะวันตก" แต่ "ยังไม่ค่อยจะเหมือน" ซะทีเดียว ... 😋 ... ส่วน "ประเทศด้อยพัฒนา" ก็น่าจะหมายถึง "ประเทศที่ยังไม่ยอมรับแนวคิด และวัฒนธรรมแบบชาวตะวันตก" ... รึเปล่า ??!! ... มันทำให้ผมคิดว่า เราควรจะต้องมี "ประเทศคงจะพัฒนา ... มั้ง ??!!" ขึ้นมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ... ดีกว่ามั้ย ??!! ... 😃 ... เพื่อให้ "ระบบนิเวศทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ" มี "ความหลากหลาย" ในการพัฒนา "ความเจริญของบ้านเมือง" ที่ไม่คับแคบอยู่ใน "กรอบคิด" ของ "คำจำกัดความ ที่ยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน ??!!

อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกพิจารณาจาก "ความสะอาดของลำน้ำกับความเจริญของชาติ" เหมือนอย่างที่ผมเคยเขียนเป็นบันทึกเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เราก็คงจะต้องยอมรับครับว่า เมืองกวางเจา (廣州) ที่มีลำน้ำจูเจียง (珠江) ซึ่งมีความยาวเป็นอันดับสามของประเทศจีนไหลผ่านเป็นสายน้ำหลักนั้น คือ "บ้านเมืองที่เจริญแล้ว" เมืองหนึ่งของโลกจริงๆ เพราะเราจะมองเห็นลำน้ำซึ่งเป็น "สาธารณะสมบัติของชาติ" ที่สะอาดสะอ้านสวยงาม ไม่มีอาการเน่าเหม็นอันเนื่องมาจาก "ความักง่ายของคนในชาติ" ที่แม้ว่าจะมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องของ "ความเห็นแก่ตัว" และ "ความไม่ใส่ใจในสุขลักษณะของสังคมเลย" ก็ตาม ... แต่ "สำนึกในความเป็นชนชาติ" ในเรื่องนี้ของพวกเขา ก็แทบจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น "ประเทศด้อยพัฒนา" ในทันทีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกันเลยทีเดียว !!?? ... 😥

เมืองกวางเจา (廣州) มีปัญหาเกี่ยวกับการจราจร อันเนื่องมาจากความหนาแน่นของจำนวนประชากร เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ในอีกหลายๆ ภูมิภาคของโลกเหมือนกัน แม้ว่าจะมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขึ้นมารองรับ พร้อมๆ กับการขยายพื้นผิวการจราจรให้มีมากขึ้นตามปริมาณของยานพาหนะ และจำนวนประชากรแล้วก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็แทบจะไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมากนัก เพราะมันไม่สามารถรองรับ "การขยายตัวของความอยาก" ในประชากร ซึ่งมี "ศักยภาพทางเศรษฐกิจ" ที่สูงขึ้น จาก "การพัฒนาบ้านเมือง" ในทิศทางเดียวกับ "ประเทศทุนนิยม" อื่นๆ ... เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะกำหนดระเบียบปฏิบัติใดๆ ขึ้นมา สำหรับให้ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ... แต่หาก "กรอบคิดของกลไก" ยังคงผูกติดอยู่กับ "เงิน" ซึ่งถูกนำมาใช้เป็น "สื่อกลาง" สำหรับ "การให้รางวัล" และ "การลงโทษ" ด้วยแล้ว ปัญหาหลายๆ อย่าง ของ "สังคมเมือง" ก็คงยากที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไข ... ประมาณว่า ... เสมือนหนึ่งเป็น "การรักษาด้วยยาที่ผิดขนาน" ซึ่งไม่ต่างไปจากการปล่อยให้โรคร้ายต่างๆ ค่อยๆ กัดกร่อนสุขภาพจนทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำการรักษาใดๆ เลยนั่นเอง ... !!??

สิ่งหนึ่งที่ชาวต่างชาติอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับ "สังคมออนไลน์แบบจีน" ก็คือ รัฐบาลของพวกเขาอนุญาตให้ "ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล" เท่านั้นเป็นผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ทั้ง Google, Youtube, Facebook, (และอาจจะมีรายอื่นๆ อีกบ้างเหมือนกัน) ล้วนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงประชาชนคนจีนในผืนแผ่นดินใหญ่อย่างเด็ดขาด และผลลัพธ์ของ Search Engine ที่ได้รับอนุญาตไม่ว่าจะเป็น Bing หรือ Yahoo ก็ล้วนแล้วแต่แสดงผลออกมาเป็นภาษาจีนเกือบทั้งหมด ... เรียกได้ว่า ข้อมูลออนไลน์ทั้งหลายที่ชาวต่างชาติอาจจะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าชาวจีนอยู่บ้างนั้น ล้วนถูกรัฐบาลจีนสกัดกั้นจนทำให้คนจีนทั้งประเทศ สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างคล่องแคล่วกว่าชาวต่างชาติทั้งหลายในแผ่นดินเกิดของพวกเขาเอง และกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ชาวต่างชาติโดยทั่วไปในปัจจุบันแทบจะกระอักเลือดกันเลยทีเดียว ... แบบนี้จะเรียกว่า "เผด็จการเพื่อประชาชน" ได้รึเปล่าก็ไม่รู้นะ ??!! ... 😊 ... ส่วนพวกสื่อลามกทั้งหลายนั้นยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงล่ะครับ เพราะแทบจะหายเหี้ยนไปจนเกือบจะเรียกได้ว่า เป็นสังคมออนไลน์ที่มี "มลภาวะทางวัฒนธรรม" อยู่ในระดับที่ต่ำถึงต่ำมากจริงๆ ... 😉

สำหรับโปรแกรมที่ขาดหายไปไม่ได้เลยสำหรับทัวร์ไทยก็คือ "การช็อปปิ้ง" ซึ่งในปัจจุบันนี้ การซื้อขายสินค้าในเขตตัวเมืองของจีนจะไม่ค่อยมีการบอกราคาผ่านๆ เพื่อการต่อรองอย่างบ้าบอเหมือนกับการซื้อขายสินค้าพื้นเมืองในเขตชนบทอีกแล้ว จึงทำให้มาตรฐานของราคาสินค้าดูจะมีความเสถียรมากกว่าเดิม แม้ว่าจะมี "สินค้าปลอม" หรือ "สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์" วางขายกันอย่างกลาดเกลื่อนเหมือนไม่กลัวฟ้าไม่อายดิน แต่นั่นก็ดูจะเป็นสีสันแบบใหม่ที่แม้แต่นักท่องเที่ยวจาก "ดินแดนแห่งเสรีภาพอันมีลิขสิทธิ์เป็นประมุข" รู้สึกสนุกสนานไปกับการได้เดินช้อปปิ้งในตลาดแบบนี้พอสมควร ... ซึ่งเราก็คงต้องยอมรับใน "ความมีมาตรฐานเดียว" ของนักปลอมแปลงสินค้าเหล่านั้นในระดับหนึ่ง เพราะแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมของคนจีนด้วยกัน ก็ไม่ได้รับการยกเว้น หากเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่โตมโหฬารในประเทศของพวกเขา ...

หากจะถามว่า รัฐบาลจีนให้ความเอาใจใส่กับเรื่อง "สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์" เหล่านี้แค่ไหน ??!! ... ผมคิดว่าพวกเขาเองก็น่าจะเอาใจใส่กันพอสมควรอยู่ล่ะครับ เพียงแต่พวกเขาอาจจะมี "มิติทางความคิด" ที่แตกต่างไปจากบรรดา "เจ้าของลิขสิทธิ์ผูกขาด" ทั้งหลายอยู่บ้างเท่านั้น เพราะแม้แต่ผมเองก็ยังมีความรู้สึกในบางกรณีเหมือนกันว่า "ลิขสิทธิ์" หรือ "สิทธิบัตร" ในสินค้าบางกลุ่มบางจำพวกนั้น คือ "การผูกขาดเพื่อเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน" อันมีผลให้ "การละเมิดลิขสิทธิ์" ในหลายๆ กรณี มี "ความชอบธรรม" ในแง่ของ "การต่อต้านการผูกขาด" เพื่อผดุงไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ... นั่นอาจจะเป็น mindset ที่แตกต่างกันระหว่าง "ทุนนิยม" (Capitalism) แบบ proprietary กับ "สังคมนิยม" (Communism) ที่เน้นความเป็น community มากกว่าการปล่อยให้ทุนไหลไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือเดียว ดังปรากฏให้เห็นอยู่แล้วใน "ประเทศทุนนิยม" อื่นๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, ฯลฯ, หรือแม้แต่ "ประเทศคงจะพัฒนา ... มั้ง ??!!" อย่างประเทศไทย ที่นอกจากความเป็น domestic proprietary ไม่ค่อยจะสูงอยู่แล้ว ความเป็น community ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอีกต่างหากด้วย !!? ... 😔

ผมมีความรู้สึกว่า แต่ละท้องถิ่นล้วนมีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในท้องถิ่นนั้นๆ ที่แตกต่างกันไป ... ระดับของความรู้, ความเข้มข้นของการศึกษา, และวิถีแห่งจิตสำนึกของชุมชน, ตลอดจนหลักยึดทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อความศรัทธาในปรัชญาและศาสนา หรืออุดมการทางการเมือง, ฯลฯ, ล้วนมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน ... ผมเชื่อว่า ... สังคมทุกสังคมล้วนมี "สิ่งที่เลวร้าย" หากเรานำมันมา "เปรียบเทียบ" กับ "ความนิยมชมชอบ" อันเป็น "ความคุ้นชิน" แบบของเราที่แตกต่างไปจากของพวกเขา ... ในขณะที่ทุกสังคมย่อมต้องมี "แง่มุมที่น่ารัก" หากเรานำมา "เปรียบเทียบ" กับสิ่งที่เรา "ไม่สบอารมณ์" จากในสภาพแวดล้อมที่เรายังต้องประสบพบเห็นอยู่ ... นั่นคือ "วิถีการคิด" ของผู้ที่ได้สถาปนา "อัตตาตน" ให้เป็น "ศูนย์กลาง" แห่งจักรวาลและสรรพสิ่ง และตั้งสมมุติฐานทุกอย่างจาก "มุมมองอันคับแคบ" เฉพาะของตนเองเท่านั้น ...

ตลอดระยะหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยนั้น เราพึงสังวรไว้ด้วยว่า เรายังไม่เคยมี "นักปรัชญาการเมือง" ของชนเผ่าตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ เลยซักคนเดียว ... ??!! ... "นักคิด" หลายๆ คนในยุคสมัยของพวกเรา ล้วน "เรียนรู้แบบท่องจำ" แนวคิดและปรัชญาของชาวต่างชาติเอามาเล่าต่ออย่างหยามหยันและยกย่อง โดยแทบจะไม่เคย "ศึกษาประวัติของแนวคิด" เหล่านั้นเลยว่า แนวคิดหนึ่งๆ เกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมทางสังคมแบบไหน ?!?! ... มีแรงบีบคั้นทางสังคมในแง่มุมใดบ้างในช่วงเวลานั้นๆ ??!! ... "นักคิด" ที่เราลอกเลียน "แนวคิด" ของพวกเขามานั้น มีพื้นเพอยู่ในฟากฝั่งไหนของสังคม ??!! ... แล้ว "แนวคิด" ของพวกเขา จะก่อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด หรือริดรอนสิทธิประโยชน์ของฝ่ายใด ... เพื่อใครบ้าง ??!! ... ฯลฯ ... องค์ประกอบทั้งหลายทั้งปวงของแต่ละ "แนวคิด" ที่พวกเราอยากจะ "ดัดจริต" นำมาใช้นั้น มีอะไรบ้างที่สอดคล้องกับ "สภาวะแวดล้อมทางสังคม" แบบของเรา หรือมีอะไรบ้างที่ไปกันไม่ได้เลยกับ "สภาพความเป็นจริง" ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมของเรา ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ ??!! ... มีใครเคยได้ยินการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ในรายละเอียดแบบนี้จากลมปากของผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น "นักคิดระดับหัวแถว" ของไทยมั้ยล่ะ ??!!

"ความเป็นชนชาติ" หนึ่งๆ คงไม่ใช่เพียงแค่การมี "ฝูงชน" ที่บังเอิญมาเกิดอยู่ในอาณาบริเวณอันเป็นเขตแดนของประเทศเดียวกันเท่านั้น ??!! ... "การสร้างชาติ" หนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ของชนทุกชาติ ... ล้วนมีวันเวลาที่โหดร้าย ... ล้วนมีช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเหนื่อยยากลำบาก ... ล้วนมีช่วงเวลาที่สุขสมและผ่อนคลาย ... ล้วนต้องมีกรอบ ... ต้องมีกฎ ... ต้องมีทิศทางที่กำหนดไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ... และมุ่งที่จะประพฤติปฏิบัติไปตามนั้นอย่างทุ่มเท ... จริงจัง ... ??!! ... สถานะของ "ประเทศคงจะพัฒนา ... มั้ง ??!!" อาจจะเป็น "การตั้งคำถาม" เพื่อให้เราต้องทบทวนหลักคิด และแนวทางในการปฏิบัติที่ควรจะได้รับการสานต่อ ... แต่มันก็อาจจะเป็นเพียง "วลี" เพื่อ "ทอดถอนใจ" อย่างสิ้นหวัง สำหรับสังคมในบางภูมิภาคของโลกได้เหมือนกัน ... ??!!

 

ขออุทิศบทบันทึกนี้แด่ "การฉลองวันชาติจีน" ในฐานะที่พวกเขาสามารถ "สร้างชาติ" ของตนขึ้นมาจากระบอบการปกครองอันไม่เคยเป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตกใดๆ เลยซักชาติเดียว ??!!

 

 


Categories: ZhuqiDox

Leave Comment