Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

¦ .. โป้ยก่วย


 

หนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่องของ 'อี้จิง' ที่น่ากวนใจสำหรับผมก็คือ 'โป้ยก่วย' หรือที่หลายๆ คนมักจะเรียกกันว่า 'ยันต์แปดเหลี่ยม' นั่นแหละครับ เพราะเรามักจะพบเห็นว่า ลำดับขีด 'หยิน-หยาง' บน 'โป้ยก่วย' นั้น มีลำดับที่แตกต่างกันอยู่สองแบบด้วยกัน แล้วก็ถือกันว่าเป็น 'แบบมาตรฐานทางตำรา' ทั้งสองแบบซะด้วย ??!!

แบบดั้งเดิมที่เชื่อกันว่าถูกบัญญัติขึ้นมาโดย Fu Xi อันเป็นกษัตริย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่าเป็น 'อนุกรมแห่งฟ้า' แต่ฝรั่งเรียกว่า Earlier Heaven Order เพื่อให้ไปเทียบเคียงกับแบบที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่โดย 'โจวเหวินอ๋อง' หรือ King Wen ซึ่งฝรั่งเรียกชื่อเป็น Later Heaven Order … แต่ตามที่มีบันทึกไว้ในเอกสารหลายๆ แห่งปรากฏว่า King Wen ตีความให้อนุกรมของ Fu Xi เป็น 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ซึ่งเป็นอนุกรมตามธรรมชาติก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมา และเรียกอนุกรมแบบของตัวเองในทำนองว่าเป็น 'อนุกรมแห่งมนุษย์' เพื่อจะประสานความสมดุลแห่ง 'ฟ้า-ดิน' อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดที่ต้องการจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับ 'หยาง' และ 'หยิน' ในธรรมชาติตามหลักคำสอนของปรัชญาเต๋านั่นเอง …

แล้วนักวิชาการทั้งหลายในยุคต่อๆ มาก็เลยเอา 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi ไปจับคู่กับ 'อนุกรมเลขฐานสอง' ที่มีเพียง 0 กับ 1 … โดยกำหนดให้ 'หยิน' ที่เคยใช้ 'เส้นประ' เป็นสัญลักษณ์ ถูกแทนที่ด้วยเลข 0 และกำหนดให้ 'หยาง' ที่เคยใช้ 'เส้นเต็ม' เป็นสัญลักษณ์ ถูกแทนที่ด้วยเลข 1 … ซึ่งมันก็บังเอิญที่ทำได้อย่างลงตัวพอดิบพอดี !!?? … ดังนั้น เมื่อเรานำเอา 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi มาเขียนเรียงลำดับทางแนวราบ เราก็จะเห็นเป็น 'อนุกรมเลขฐานสอง' ที่ไม่ผิดเพี้ยนเลย …

 

 

เมื่อเราแบ่งครึ่งซ้าย กับครึ่งขวาออกจากกัน เราก็จะเห็น 'หยิน' กับ 'หยาง' ที่ถูกแยกเป็น 2 ข้างเหมือนกับในภาพ 'โป้ยก่วย' ของ Fu Xi อย่างพอดิบพอดีด้วย … และถ้าหากเราสังเกตดู 'คู่ตรงข้ามตามแนวแกน' ทั้งหมดในแผนผังของ Fu Xi เราก็จะเห็น 'ความสุดขั้ว' แห่ง 'คู่ตรงข้าม' นั้นๆ อย่างชัดเจน …
 

☷ (000) ... ตรงข้ามกับ ... ☰ (111)
☶ (001) ... ตรงข้ามกับ ... ☱ (110)
☵ (010) ... ตรงข้ามกับ ... ☲ (101)
☴ (011) ... ตรงข้ามกับ ... ☳ (100)


มันเป็นอนุกรมง่ายๆ ที่ดูแล้วแทบจะไม่ต้องอธิบายอะไรอีกเลย เพราะทุกอย่างดูลงตัว และสมบูรณ์แบบมากๆ การจับ 'คู่ตรงข้าม' ไม่ว่าจะจับคู่จาก 'ลำดับอนุกรมแลขฐานสอง' หรือจะมองให้สลับขั้ว 'หยิน' กับ 'หยาง' แบบขีดต่อขีดในแต่ละคู่ ล้วนแล้วแต่ได้คำตอบที่ไม่ผิดเพี้ยนกันเลยแม้แต่น้อย และหากเราจะนับจำนวนขีดของ 'หยิน' กับ 'หยาง' ในแต่ละคู่ มันก็จะสมมาตรแบบ 3:3 ด้วยกันทุกๆ คู่ด้วย … แต่ว่า ... King Wen น่าจะไม่ได้คิดอะไรง่ายๆ เพียงแค่นั้น ... !!??!!

ปัญหาหนึ่งของการแบ่ง 'หยิน' กับ 'หยาง' อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่ Fu Xi ทำไว้นั้น กลับกลายเป็นโจทย์ใหม่ขึ้นมาสำหรับ King Wen ไปซะได้ … เนื่องจากไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สามารถดำรงอยู่ได้โดยลำพัง ซึ่งแต่ละองค์ประกอบของธรรมชาติก็ไม่ได้รับการยกเว้นเหมือนกัน … ดังนั้น หากเรานับจำนวนขีดของ 'หยิน' และ 'หยาง' ในแต่ละข้างของ 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ที่ Fu Xi ทำเอาไว้แล้ว เราก็จะพบว่ามันไม่สมดุลกันทันที !!!! … และนั่นน่าจะเป็นจุดที่ทำให้ King Wen เชื่อว่า ต้องมีอะไรบางอย่างที่ควรจะได้รับการปรับปรุง … โดย 'มนุษย์' !!! … จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็น 'อนุกรมประหลาด' ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับบรรดานักคณิตศาสตร์ทั่วโลกในศตวรรษ ถัดๆ มา โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า จริงๆ แล้ว King Wen กำลังคิดอะไรของแกอยู่ในเวลานั้น เพราะแกใช้เวลาว่างๆ ที่ถูกขังอยู่ในคุกของราชวงศ์ซางนานถึง 7 ปี นั่งนึกนอนคิดอยู่กับภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ว่านั่น แล้วก็เขียนบันทึกออกมาเป็น 'ต้นร่าง' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' อันลือลั่นสนั่นโลกฉบับนั้นขึ้นมา … ผมเองก็ไม่รู้ !!! … แต่ผม 'เชื่อ' ว่า King Wen ที่ค่อนข้างจะยึดมั่นในอุดมการณ์ และหลักการดำเนินชีวิตตามแนวทางของลัทธิเต๋านั้น ไม่น่าจะเป็นมนุษย์ประเภทที่ชอบคิดอะไรให้มันยุ่งยาก หรือมีความสลับซับซ้อนเหมือนอย่างมนุษย์ในอีกหลายๆ ศตวรรษต่อมา … เพราะฉะนั้น … แกก็น่าจะคิดอะไรที่มันง่ายๆ แค่นี้ … รึเปล่า … ไม่รู้นะ ??!!??
 

  • … 'หยิน' และ 'หยาง' ย่อมจะต้องถ่ายโอนพลังให้แก่กัน เพื่อรักษาสมดุลให้กับทั้งระบบเสมอ … จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องเกิดการ 'แลกข้าง' ระหว่างสมาชิกฝั่ง 'หยิน' กับสมาชิกฝั่ง 'หยาง' เพื่อให้ 'พลังหยิน' และ 'พลังหยาง' ของ 'ฟ้า-ดิน' เกิดความสมดุล … โดยการถ่ายโอนพลังดังกล่าว จะต้องก่อให้เกิดเป็น 'กระแสแห่งพลัง' ที่สอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง วัฏจักรแห่งสรรพชีวิตจึงจะเกิดการวิวัฒน์อย่างไม่สิ้นสุด …


แล้ว King Wen ก็น่าจะมองเห็นอนุกรมแบบก้าวกระโดดที่ซ่อนอยู่ใน 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะสามารถปรับเปลี่ยนโยกย้าย 'พลังหยิน' และ 'พลังหยาง' ระหว่างทั้งสองขั้วให้เกิดความสมดุลกันอย่างสมบูรณ์

แล้วก็กลายมาเป็นการแบ่งขั้วของ 'หยิน-หยาง' อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนขีดของ 'เส้นประ' และ 'เส้นเต็ม' หรือมี 'พลังหยิน' กับ 'พลังหยาง' ในขั้วทั้งสองที่สมดุลกันแบบ 6:6 ทันที ...
 


แต่เรื่องที่ King Wen คิดน่าจะไม่ได้จบลงง่ายๆ แค่เท่าที่เห็น เพราะถ้าหากเราสังเกต 'ระดับของพลังหยิน' กับ 'ระดับของพลังหยาง' จากทั้งสองฝั่งแล้ว เราก็จะเห็นร่องรอยของการ 'ปะทะพลัง' กันอย่างจังตรง 'แนวชายแดน' ของทั้งสองฝั่ง … และยิ่งไปกว่านั้น การเคลื่อนตัวของ 'คลื่นพลังหยิน' และ 'คลื่นพลังหยาง' ซึ่งโดยปรกติแล้วจะต้องมีทิศทางที่ 'ย้อนรอยกัน' นั้น กลับแสดงอาการที่มีระดับสูงขึ้น หรือต่ำลงพร้อมกันในจังหวะเวลาแบบเดียวกันด้วย อันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึง 'ความไม่สอดประสาน' เพื่อเกื้อหนุนแก่กันและกันอย่างที่ควรจะเป็น …
 


ดังนั้น King Wen จึงจัดการออกแบบลำดับ 'อนุกรมแห่งมนุษย์' ซะใหม่ เพื่อที่จะให้ 'คลื่นพลังหยิน' สอดประสานกับ 'คลื่นพลังหยาง' และมีการ 'เพิ่มขึ้น' หรือ 'ลดลง' ในจังหวะเวลาและทิศทางที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน … นั่นก็คือ เมื่อ 'หยิน' เพิ่มขึ้น 'หยาง' จะต้องลดลง และเมื่อ 'หยิน' ลดลง 'หยาง' ก็จะต้องเพิ่มขึ้น … เพื่อเปิดทางให้ 'คลื่นพลัง' ของทั้งสองสามารถที่จะสอดแทรกเข้าหากันและกันได้อย่างต่อเนื่อง ...

และจากแผนภูมิแนวราบที่เห็นนี้ เราก็จะเห็นคู่ตรงข้ามแบบใหม่ของ 'หยิน' กับ 'หยาง' ตาม 'อนุกรมแห่งมนุษย์' ที่ King Wen นำไปเขียนลงในแผนภาพ 'โป้ยก่วย' ซึ่งกลายเป็นแบบฉบับมาตรฐาน Later Heaven Order อันเป็นต้นเรื่องของลำดับขีดทั้ง 384 ขีดใน 'คัมภีร์อี้จิง' ที่แยกเป็นหมวดหมู่ไว้ 64 บทนั่นเอง …
 

☱ (110) ... ตรงข้ามกับ ... ☳ (100)
☲ (101) ... ตรงข้ามกับ ... ☵ (010)
☴ (011) ... ตรงข้ามกับ ... ☰ (111)
☷ (000) ... ตรงข้ามกับ ... ☶ (001)


แล้วเราก็จะเห็นได้ว่า คู่ตรงข้ามใหม่ที่มีจำนวน 'หยิน' กับจำนวน 'หยาง' เท่ากันนั้นจะมีเพียง 2 คู่แรก ซึ่งได้ถูกนำไปวางในแนวแกนสมมาตรของ 'โป้ยก่วย' โดยมีคู่แรกคือ ☱ (110) กับ ☳ (100) อยู่ตรงตำแหน่งแบ่งเขตแดนระหว่าง 'หยิน' กับ 'หยาง' เหมือนกับที่เห็นในแผนภูมิแนวราบ … ส่วนสองคู่หลังซึ่งมีจำนวน 'หยิน' กับ 'หยาง' ไม่เท่ากัน จะถูกวางในตำแหน่งที่เอียงออกจากแนวแกนสมมาตร และถือเป็นกำลังหลักของการ 'ขับเคลื่อน' ระบบทั้งระบบให้ 'เคลื่อนตัว' ไปได้อย่างต่อเนื่อง …

จากตรงจุดนี้ ผมก็ได้แง่คิดหนึ่งจากความพยายามมองหาลำดับอนุกรมตามที่เล่าไว้ก็คือ …

แม้ว่า 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi จะมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์ในด้านของรูปแบบ และความเป็นระบบระเบียบที่ชัดเจน แต่การคะคานกำลังกันอย่างสมบูรณ์ของ 'พลังหยิน' และ 'พลังหยาง' ในลักษณะดังกล่าว ย่อมส่งผลให้ระบบทั้งระบบหยุดนิ่งจนไม่อาจเคลื่อนไหว เนื่องจากทั้ง 'แรงดึงดูด' และ 'แรงปะทะ' ต่างก็สามารถหักล้างซึ่งกันและกัน จนกระทั่งระบบทั้งระบบต้องหยุดนิ่งและไม่อาจก่อให้เกิด 'กระแสแห่งการวิวัฒน์' อันต่อเนื่อง … ในขณะที่ 'อนุกรมแห่งมนุษย์' ของ King Wen นั้น อาจจะดูเหมือนขาดความสมบูรณ์ในด้านรูปแบบ และหากมองดูอย่างผิวเผินก็เหมือนกับไร้ความเป็นระบบระเบียบที่แน่นอน แต่ในภาพรวมของระบบทั้งระบบกลับมีความสมดุลอย่างลึกซึ้ง ทั้งยังมีพลังแห่งการขับเคลื่อนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ซึ่งสอดรับกับความหมายของวงกลม 'ไท้เก๊ก' ที่มองเห็นการพันตูกันระหว่าง 'หยิน' และ 'หยาง' อันจะต้องคอยผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อเกื้อกูลซึ่งกันและกันตลอดเวลา

หากเราเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิต หรือการประกอบกิจกรรมการงานต่างๆ แล้ว การมุ่งเน้นยึดติดอยู่กับกรอบเกณฑ์ต่างๆ อย่างเข้มงวด และการถือเอาระบบระเบียบต่างๆ อย่างไม่ลดราวาศอกระหว่างกันและกัน แม้ว่าในทางหลักการจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นความถูกต้องบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่ปราศจากชีวิต และย่อมไม่อาจขับเคลื่อนกลไกใดๆ ให้ก่อเกิดเป็น 'พลังแห่งการวิวัฒน์' … เราอาจจะเรียกสภาวะการณ์ดังกล่าวว่าเป็น 'สภาวะแห่งความยุติธรรม' ซึ่งก็อาจจะแปลความได้ว่าเป็น 'ธรรมแห่งความยุติ' … เป็นวิถีทางที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอาการที่หยุดชะงักลงอย่างสมบูรณ์ … ลักษณะดังกล่าวก็ไม่ต่างไปจาก 'ลำดับอนุกรมแห่งสวรรค์' ที่ Fu Xi บันทึกเอาไว้

แต่หากเรากระทำการต่างๆ อย่างไร้รูปแบบ และปราศจากความคิดคำนึงถึงความสมดุลต่อภาพรวมทั้งระบบ ชีวิตและสังคมนั้นๆ ย่อมไม่อาจขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ และย่อมขาดกำลังที่จะสนับสนุน หรือส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ความถูกต้อง และความดีงามทั้งหลายทั้งปวง ย่อมยากที่จะก่อเกิดเป็นพลังสำหรับการวิวัฒน์ที่สมบูรณ์ในทุกๆ โอกาสต่อๆ ไป … แผนผังตาม 'ลำดับอนุกรมแห่งมนุษย์' ของ King Wen จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่มองทุกสรรพสิ่งอย่างเป็น 'พลวัตรที่สมดุล' … และเป็น 'ความสมดุล' ใน 'ความไม่เคยหยุดนิ่ง' เสมอ …
 


ตัวอักษรสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของ 'คัมภีร์อี้จิง' ก็คือตัวอักษร 易 (yì, อี้) ซึ่งหากเราสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า ท่อนบนของตัวอักษรนั้นคล้ายกับจะล้อภาพของ 'วงกลมไท้เก๊ก' ( ☯ ) อันถือเป็นจุดกำเนิดแห่งจักรวาลตามคติความเชื่อของปรัชญาเต๋า ส่วนท่อนล่างคล้ายกับจะล้อภาพของ 'เกลียวคลื่นแห่งพลังหยิน-หยาง' ที่สอดประสานกันไปมาเพื่อที่จะก่อให้เกิด 'กระแสแห่งการวิวัฒน์ที่สมดุล' ของทุกสรรพสิ่ง … ความสวยงามของตัวอักษรที่สอดคล้องกับความลงตัวของ 'อนุกรมแห่งมนุษย์' ตามที่เล่ามานี้ อาจจะเป็นร่องรอยสำคัญที่บ่งชี้ว่า King Wen ไม่ได้คิดอะไรให้มันสลับซับซ้อนเหมือนอย่างที่นักคณิตศาสตร์ในยุคหลังมักจะนิยมอธิบายเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และอธิบายเรื่องยากให้กลายเป็นปัญหาโลกแตก … และแม้ว่า 'คัมภีร์อี้จิง' จะได้รับ 'การตีความ' ให้ไปเกี่ยวข้องกับศาสตร์ยุคใหม่อีกตั้งหลายแขนง หรือแม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วผมเองก็ยัง 'อยากจะเชื่อ' ว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ได้ซุกซ่อนความหมายบางอย่างไว้อย่างจงใจก็ตาม … มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องไม่ลืมอย่างเด็ดขาดก็คือ ตัวอกษร 易 (yì) นี้นอกจากจะแปลว่า 'ความเปลี่ยนแปลง' แล้ว มันยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ 'ความเรียบง่าย' ด้วย !!! … 'การตีความ' หรือ 'การทำความเข้าใจ' ใดๆ เกี่ยวกับ 'คัมภีร์อี้จิง' จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่สลับซับซ้อน หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ศาสตร์ชั้นสูงใดๆ เพื่อที่จะค้นหาความหมายของมัน … เพราะความยุ่งยากเพียงประการเดียวของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันก็คือ การมองสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง ;)