Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
|¦ .. Biorhythms
<< - >>
ภาพเส้นกราฟของ Biorhythms ที่เริ่มต้นจาก 'จุดศูนย์' ณ 'วันที่เกิด' แต่ด้วย 'วงจร' หรือ 'วัฏจักร' ที่ มีระยะเวลาถี่ห่างไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนของปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละองค์ประกอบ จนยากแก่การคาดเดาหากไม่มีการบันทึกไว้เป็น 'แผนภาพ' หรือ 'แผนที่ชีวิต' ของ แต่ละคน ... เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ สิบปี เส้นกราฟ Biorhythms ของบางคนก็อาจจะกลายเป็นรูปร่างอย่างในภาพทางด้านขวา จนแทบนึกไปออกเลยว่า มันมีจุดเริ่มต้นมาจากจุดเดียวกันได้ยังไง ??!! … :D
Biorhythms เป็นแนวคิดหนึ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ประมาณปี ค.ศ.1897 ถึงปี ค.ศ.1902) โดยเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงออกมาจากทฤษฎี Chronobiology อันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับ 'วัฏจักร' หรือ 'วงจร' ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในธรรมชาติ ซึ่งจะมี 'รอบของการเปลี่ยนแปลง' ที่หมุนวนเป็นจังหวะที่แน่นอนในระดับหนึ่งเสมอ โดยวัฏจักรที่หมุนวนเหล่านี้ จะถูกแยกย่อยเป็นช่วงเวลาตั้งแต่น้อยกว่าหนึ่งวัน, ประมาณหนึ่งวัน, นานเป็นสัปดาห์, เป็นหลายสัปดาห์, เป็นเดือน, เป็นหลายเดือน, ไปจนถึงเป็นปี หรือประมาณ 365 วัน … และยังมีวัฏจักรที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก กับวัฏจักรที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก … โดยมีการกำหนดชื่อเรียกของ 'วงจรชีวิต' ที่สั้นยาวเหล่านี้ไว้ 9 ระดับด้วยกัน
แม้ว่า Chronobiology จะได้รับการยอมรับให้เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของชีววิทยา และมีสถานะเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัว แต่ Biorhythms นั้นกลับไม่ได้รับการยอมรับในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ Biorhythms ก็ยังได้รับความสนอกสนใจจากหลายๆ ผู้คน และยังมีการพัฒนาต่อยอดจาก 'การสังเกต' เพิ่มเติมอยู่ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมานี้ … โดยวงจรพื้นฐานของ Biorhythms นั้นจะแยกออกเป็น 3 วงจรด้วยกันคือ Physical (สุขภาพและความแข็งแรงทางกาย), Emotional (อารมณ์ความรู้สึก) , กับ Intellectual (ความคิดและสติปัญญา) ซึ่งรอบของ 'การหมุนวน' สำหรับวงจรทั้งสามนี้จะมีรอบของระยะเวลาที่แตกต่างกันไป
- Physical จะมีรอบของการหมุนวนอยู่ที่ประมาณ 23 วัน
- Emotional จะมีรอบของการหมุนวนอยู่ที่ประมาณ 28 วัน
Intellectual จะมีรอบของการหมุนวนอยู่ที่ประมาณ 33 วัน
ซึ่งต่อมาก็ยังมีการพัฒนา 'วัฏจักรของสัญชาตญาณ' (Intuitive) ที่มีรอบของการหมุนวนอยู่ที่ 38 วัน และมีการสร้าง 'วงจรด้านพฤติกรรม' จากการนำวงจรทั้ง 3-4 อันที่ว่านั้นไปคำนวณผสมกัน เพื่อที่จะหาค่าตัวแปรบางอย่างที่ส่งผลกระทบเป็น 'ความไม่แน่นอน' ในชีวิตของแต่ละคน … จุดประสงค์สำคัญของการศึกษาค้นคว้าเหล่านี้ก็เพื่อหาค่า 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่แน่นอนบางอย่างสำหรับ 'การทำนายพฤติกรรม' ของมนุษย์แต่ละคนนั่นเอง การเขียนภาพของ Biorhythms ออกมาเป็น 'กราฟ' นั้นจะใช้ฟังค์ชั่น Sine เป็นตัวคำนวณ และจากการค้นคว้าของหลายๆ สำนักในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ต่างก็ยอมรับกันว่า วิธีการคำนวณเส้นกราฟแต่ละเส้นของ Biorhythms นั้น จะคำนวณได้จากฟังค์ชั่นอย่างนี้ …
- Physical = sin(2πt / 23)
- Emotional = sin(2πt / 28)
- Intellectual = sin(2πt / 33)
แล้วค่าที่คำนวณได้จากทั้ง 3 สูตรนี้ก็จะถูกนำไป plot เป็นกราฟ Sine Curve ซึ่งจะมีการอ่านค่าเป็น 'บวก' หรือ 'ลบ' แบบวันต่อวัน และสามารถคำนวณเส้นกราฟ Sine Curve ทั้ง 3 เส้นได้ล่วงหน้าเสมอ เพราะตัวแปร t ที่เป็น 'จำนวนวันนับจากวันที่เกิด' ของแต่ละคนนั้น คือค่าที่สามารถนับกันได้อยู่แล้ว
ข้อโต้แย้งต่างๆ ที่ Biorhythms ได้รับมาโดยตลอดก็คือ มันอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ล้วนๆ และการที่มนุษย์ทุกคนที่เกิดวันเดียวกัน จะต้องมีเส้นกราฟที่เหมือนกัน 100% นั้น ก็ดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลกับพฤติกรรมที่มักจะมีความแตกต่างกันของแต่ละคนซัก เท่าไหร่ ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Biorhythms ยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่การยอมรับในฐานะของวิทยาศาสตร์จวบจนกระทั่งปัจจุบัน และเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ที่สนใจใน Biorhythms ยังอยากจะค้นคว้าหา 'เส้นกราฟ' ที่หายไปให้ครบทุกๆ เส้น เพื่อที่จะใช้ประกอบคำอธิบายถึงความไม่แน่นอนในด้านพฤติกรรมของมนุษย์แต่ละคนที่แม้ว่าจะเกิดวันเดียวกันก็ตาม
แต่ว่า … ช้ า ก่ อ น … ;)
เส้นกราฟ 3 เส้นที่เห็นใน Biorhythms นั้นมันเพียงพอที่จะเทียบเคียงกับ 'อี้จิง' ได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้วล่ะครับ ;) … ถ้าหากยังจำกันได้ ผมเล่าไว้ว่า ภาพ 'โป้ยก่วย' ที่เห็นเป็น 3 ขีดทั้ง 8 ภาพนั้นจะหมายถึง 'ฟ้า-มนุษย์-ดิน' โดยมี 'มนุษย์' อยู่ 'ตรงกลาง' เพื่อ 'สร้างสมดุล' ให้กับปัจจัยที่สุดขั้วทั้งสอง … และหากนำมาเทียบเคียงกับมนุษย์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติ ตามหลักการของ 'อี้จิง' นั้น ก็จะกำหนดไว้ว่า การแสดงตัว หรือความสามารถในการถูกสังเกตของ 'หยิน' และ 'หยาง' นั้น จะเรียงลำดับของ 'ความชัดเจน' จากบนลงล่างเสมอ … ซึ่งหมายความว่า 'เส้นด้านบน' จะแทนความหมายของ 'สิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน' หรือ 'สิ่งที่ปรากฏสู่สายตาแล้ว' … ส่วน 'เส้นด้านล่าง' ก็จะแทน 'สิ่งที่ยังซุกซ่อนอยู่ภายใน' … การกำหนดขีดแต่ละขีดด้วยการโยนเหรียญ หรือการเขย่าไม้เซียมซีนั้น ก็จะถือหลักให้เริ่มกำหนดจาก 'เส้นด้านล่าง' ขึ้นไปหา 'เส้นด้านบน' จากการโยนเหรียญ หรือการเขย่าไม้เซียมซีแต่ละครั้ง … อันเป็นการสะท้อนปรัชญาด้านพฤติกรรมมนุษย์ของชาวจีนที่เชื่อว่า มนุษย์จะประพฤติปฏิบัติจากรากฐานของอารมณ์ หรือทัศนคติที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของตนเองออกมาเสมอ :)
อ้ะ … ลองย้อนไปดูทฤษฎีด้านพฤติกรรมที่ลือลั่นสนั่นโลกของ Sigmund Freud กันมั่ง … Freud แบ่งระดับของจิตใจมนุษย์ออกเป็น Id, Ego, และ Superego โดยใน 3 องค์ประกอบนี้ … Id คือ 'สัญชาตญาณดิบ' ที่เน้นไปในด้านของ 'การตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตนเอง' … ส่วน Superego คือ 'อุดมคติ' หรือ 'อุดมการณ์' ที่แต่ละคนได้รับการบ่มเพาะมาจากสังคมหรือการศึกษา เป็นความปรารถนาที่อยากจะพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าที่สูงส่งกว่าการปล่อยตัวเองให้ไหลเลื่อนไปตามกระแสของความต้องการที่ดิบเถื่อน … แล้ว Ego ก็คือ 'ตัวประสาน' ระหว่าง 'ความต้องการที่สุดขั้ว' ทั้งสอง … คล้ายกับภาพของ 'ฟ้า-มนุษย์-ดิน' มากๆ เลย ;) … แต่อันนี้เว้นไปไม่อธิบายต่อ เพราะผมเพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นถึงแนวคิดที่ค่อนข้างจะสากลของ 'ความเชื่อ' ที่ว่า ทุกๆ สรรพชีวิตล้วนแล้วแต่ต้องแหวกว่ายอยู่ท่ามกลาง 'ความสุดขั้ว' ของปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในเสมอ และพฤติกรรมหรือ 'การครองตน' ของแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นการ 'รักษาสมดุล' ให้แก่วิถีชีวิตของตนเองโดยเฉพาะเท่านั้น
ย้อนกลับไปที่ Biorhythms มั่ง… Physical นั้นคือ 'สุขภาพทางกาย' ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการสังเกต … Emotional คือ 'สุขภาพทางอารมณ์' ซึ่งยากแก่การพบเห็นด้วยสายตา … ส่วน Intellectual ก็คือ 'สุขภาพทางปัญญา' ที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของการแสดงออกต่ออารมณ์หนึ่งๆ ที่ประทุขึ้นมา ณ ขณะเวลานั้นๆ ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะว่าไปแล้ว Intellectual ก็คือ 'ตัวประสาน' เพื่อสร้างสมดุลให้กับ 'สิ่งที่จะปรากฏสู่ภายนอก' กับ 'สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจ' นั่นเอง … ดังนั้น … หากเราแทนที่ตำแหน่งขององค์ประกอบทั้งสามตามแนวคิดของ Biorhythms ด้วย 'ขีด' แบบ 'อี้จิง' เราก็จะได้ … 'ขีดบน' แทน Physical … 'ขีดล่าง' แทน Emotional … และ 'ขีดกลาง' แทน Intellectual ทันที … :D
แต่ว่า … อีกแล้ว … :P
คงจำกันได้ที่ว่าทุกสรรพสิ่งไม่มีทางหยุดนิ่งอย่างตายตัว โดยต่างก็มี 'หยิน' และ 'หยาง' เป็นองค์ประกอบที่ขับเคลื่อนมันตลอดเวลา ดังนั้น การหมุนขึ้นลงเป็นวัฏจักรของ Physical, Emotional กับ Intellectual ก็ควรจะถูกแทนที่ด้วยภาพของ 'หยิน' และ 'หยาง' ในแต่ละช่วงของวัฏจักรที่พวกมันผันแปรไปด้วยเหมือนกัน … และ … เส้นกราฟของ Biorhythms ที่เห็นเป็น Sine Curve 3 เส้น ก็จะสามารถแทนที่ด้วย 'ภาพหกขีด' จาก 'คัมภีร์อี้จิง' ณ จุดใดจุดหนึ่งที่กำหนดลงไปเป็น 'แต่ละวัน' ได้ทันที !!! … แล้วถ้อยคำจาก 'คัมภีร์อี้จิง' ที่ผมถือเสมือนหนึ่งเป็น 'ข้อแนะนำ' สำหรับ 'การครองตน' ก็จะสอดคล้องกับ 'วัฏจักรชีวิต' ในวันนั้นๆ ของตัวเราเอง
แล้วนี่จะเป็นการ 'จับคู่' ที่ผิดฝาผิดตัวเกินไปรึเปล่า … ??!!
ผมเองก็ไม่ได้สนใจที่อยากจะพิสูจน์นักหรอกครับว่า Biorhythms หรือ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งคู่ต่างก็มีที่มาที่ไปจาก 'การเฝ้าสังเกต' เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ทุกแขนง มันอยู่ที่ว่า เราจะใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัวรองรับ หรือเป็นตัวตัดสินว่า ทฤษฎีหรือแนวคิดหนึ่งๆ ควรจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ??!! … ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น มีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องสามารถแทนค่าทุกสิ่งที่สังเกตเห็นด้วยสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่ถือกันว่าเป็น 'ภาษา' ของ 'วิทยาศาสตร์' เพียงสถานเดียว ??!! … ความเป็นวิทยาศาสตร์จำเป็นจะต้องถูกบังคับให้มีความคับแคบอยู่เพียงแค่นั้นรึเปล่า ??!! … หรือถ้าจะบอกว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้นจะต้องสามารถพิสูจน์ได้จากการทดลอง และสามารถแสดงผลลัพธ์ได้อย่างแน่นอนตายตัวในสภาวะแวดล้อมหนึ่งๆ เสมอ … ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์จะต้องสามารถ 'ทำนายได้ล่วงหน้า' ด้วยใช่มั้ย ??!! … หรือวิทยาศาสตร์เป็นแต่เพียงวิทยาการที่มุ่งสนอง 'ความต้องการรู้อนาคต' ของมนุษย์ อย่างที่หมอดูทั้งหลายพยายามแสวงหาจากเส้นทางอื่นที่แตกต่างออกไปจากการเขียนด้วยภาษาคณิตศาสตร์ ??!! … แล้วพวกเราก็คือปุถุชนคนธรรมดาที่ยังคงแหวกว่ายอยู่ 'ตรงกลาง' ระหว่างความสุดขั้วของศาสตร์ทั้งสองขั้วนี้ด้วยงั้นสิ ??!! … จะพิสูจน์ไปทำไมกัน ??!! … :D
ปัญหาที่ผมอยากจะสนใจในตอนนี้ก็คือ ต่อให้แนวคิดที่จะรวมเอา Biorhythms มาใช้ควบคู่กับภาพสัญลักษณ์ทั้ง 64 ใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น แม้ว่าจะดูมีเหตุมีผลมากกว่าการเผากระดองเต่า หรือเผากระดูกสัตว์อย่างวิธีการโบราณ หรือการเขย่าไม้เซียมซี กับการโยนเหรียญอย่างที่มีการประยุกต์ใช้ในเวลาต่อมาก็ตาม การเขียนเส้นกราฟทั้งสามด้วยฟังค์ชั่น Sine สำหรับบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่บุคคลที่มีความชำนาญในคณิตศาสตร์ด้านนี้อยู่แล้ว ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่สะดวกใจไปซะทั้งหมดอยู่ดี .. ถูกมั้ย ?! .. การหาหมอดูซักคน หรือการหาอุปกรณ์ประเภทไม้ติ้วไม้เซียมซี หรือเหรียญซักหลายๆ อันน่าจะยังง่ายกว่าหาคนที่คำนวณฟังค์ชั่น Sine ได้ลื่นๆ แบบไม่ต้องอาศัยเครื่องคำนวณอยู่แล้ว :D … ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ไม่มีใครอยากจะเอ่ยถึงแนวคิดนี้มาก่อน เพราะผมยังเชื่อว่า การเห็นภาพต่อเนื่องง่ายๆ อย่างที่เล่าไว้นี้ ไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยความสามารถพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น … เหตุผลที่ไม่มีใครเอ่ยถึงมันมาก่อน ก็เพราะมันยุ่งยากแก่การนำเสนอให้คนทั่วๆ ไปยอมรับ แล้วนำไปประยุกต์ใช้เท่านั้นเอง … ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมเองที่รู้สึกว่ามันยุ่งยากจนเกินไป :D … เพราะฉะนั้น … มันก็ต้องหา 'เครื่องมือแห่งยุคสมัย' มาช่วยอำนวยความสะดวกกันนิดหน่อย … ซึ่ง 'เครื่องมือ' ที่ผมค่อนข้างจะคุ้นเคยอยู่บ้างนั้น เขาเรียกกันว่า 'ซอฟต์แวร์' ครับ !! ;)
ไม่ว่า Biorhythms จะมีสถานะเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจจะปฏิเสธมันก็คือ มันคือแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว และยังคงได้รับความสนอกสนใจจากผู้คนจำนวนไม่น้อยเลย และถึงกับทำให้เกิดการพัฒนา 'ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์' เพื่อนำมาใช้สำหรับวัตถุประสงค์เดียว คือการเขียนเส้นกราฟ Biorhythms นี้อย่างมากมาย ซึ่งก็มีทั้งประเภทที่ให้บริการฟรีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีทั้งแบบที่แจกจ่ายให้นำไปติดตั้งเพื่อใช้งานกันได้โดยไม่คิดมูลค่า และมีทั้งแบบที่ต้องเสียเงินเสียทองเพื่อซื้อหากันตามข้อบังคับเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ต่างๆ ฯลฯ … แล้วก็มีทั้งที่ให้เลือกใช้งานได้บนเครื่องมืออิเล็คทรอนิคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พกพาประเภทต่างๆ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแทบทุกระบบในปัจจุบันด้วย เมื่อการเขียนเส้นกราฟ Biorhythms ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไปสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน ปัญหาที่จะต้องคิดต่อออกไปก็คือ เราจะกำหนดความสัมพันธ์ หรือตีความเส้นกราฟของ Biorhythms ให้ออกมาเป็น 'สัญลักษณ์หกขีด' นั่นยังไง ?! :) … ซึ่งสำหรับปัญหาข้อนี้ ผมตีความตำแหน่งต่างๆ บนเส้นกราฟไว้อย่างนี้ครับ …
จุดสูงสุดในแดน 'บวก' และจุดต่ำสุดในแดน 'ลบ' นั้นแทบไม่ต้องอธิบายกันล่ะ ยังไงก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็น ⚌ กับ ⚏ แน่ๆ อยู่แล้ว จุดเชื่อมต่อระหว่างแดนทั้งสองนั่นต่างหากที่จำเป็นจะต้องอธิบายกัน ... ประเด็นที่เราจะเชื่อมโยงแนวคิดของ Biorhythms เข้ากับ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น เราก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเทียบเคียงกับลำดับอนุกรมของ Fu Xi อันถือเป็น 'ต้นแบบ' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ให้มันกลมกลืนกันไปพอสมควร ... และเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผมอยากจะให้ดูที่มาของลำดับอนุกรมของ Fu Xi ให้ชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง ... โดยคติความเชื่อของชาวจีนโบราณนั้น ทุกสรรพสิ่งล้วนถือกำเนิดมาจาก 'สถานะสมดุลอย่างยิ่งยวด' ที่เรียกว่า 太極 หรือ 'ไท้เก๊ก' ... และใน 'ไท้เก๊ก' นั้นเองย่อมประกอบไปด้วย 'พลังแห่งหยิน' และ 'พลังแห่งหยาง' อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์ ☯ ... จากนั้น 'พลังแห่งหยิน' และ 'พลังแห่งหยาง' ก็แบ่งแยกออกเป็น 'หยินใหญ่', 'หยินเล็ก', 'หยางใหญ่', และ 'หยางเล็ก' ก่อนที่จะกระจายต่อออกไปเป็น 'สัญลักษณ์โป้ยก่วย' ดังตารางด้านล่างนี้
แล้วถ้านำสัญลักษณ์เหล่านี้มาเขียนลงบน 'แผนผังวงกลม' เพื่อให้เห็นภาพของ 'การหมุนวนเป็นวัฏจักร' เราก็จะได้แผนผังอย่างนี้ครับ ...
สังเกตนะครับว่า ลำดับอนุกรมใน 'โป้ยก่วย' แบบของ Fu Xi นั้นยังคงรักษา 'อนุกรมชั้นที่สอง' เอาไว้อย่างสมบูรณ์ ... เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว การ plot ตำแหน่งลงบน Sine Curve ด้าน 'ขาขึ้น' จาก ⚏ ไปเป็น ⚌ หรือจาก 'แดนลบ' ไป 'แดนบวก' จึงควรจะมีเครื่องหมายเป็น ⚍ (หรือ 'หยางเล็ก') ในขณะที่ด้าน 'ขาลง' จาก ⚌ ไปเป็น ⚏ หรือจาก 'แดนบวก' ไป 'แดนลบ' ก็จะต้องมีเครื่องหมายเป็น ⚎ (หรือ 'หยินเล็ก') ดังที่ได้แสดงเอาไว้ ... ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดวัฏจักรที่ล้อกับ 'การหมุนวน' ในแผนผังวงกลมของ Fu Xi แล้ว มันก็ยังสอดคล้องกับ 'หลักแห่งวิวัฒนาการ' หรือ 'หลักแห่งการเปลี่ยนแปลง' ตามทฤษฎีแบบ 'คัมภีร์อี้จิง' ที่ระบุไว้ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มต้นจาก 'ภายใน' ไปสู่ 'ภายนอก' หรือจาก 'ขีดล่าง' ไปสู่ 'ขีดบน' เสมอ ... การเปลี่ยนสภาพจาก ⚏ เป็น ⚌ หรือจาก ⚌ เป็น ⚏ จึงปรากฏให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจาก 'ขีดล่าง' ก่อนทุกครั้ง
เมื่อเราแปลงเส้นกราฟทั้ง 3 เส้นคือ Physical, Emotional, และ Intellectual เข้าด้วยกัน เราก็จะได้ภาพ 'สัญลักษณ์หกขีด' ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ ของชีวิต โดย … Physical จะถูกวางในตำแหน่ง 'คู่บนสุด' ของภาพ 'สัญลักษณ์หกขีด' … Emotional ก็จะต้องถูกวางในตำแหน่ง 'คู่ล่างสุด' ของภาพ … ในขณะที่ Intellectual จะแทนที่ด้วย 'คู่ตรงกลาง' เพื่อสะท้อนแนวคิดที่ว่า 'สติปัญญา คือกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลให้กับการรับรู้สัมผัสที่ได้รับจากโลกภายนอก กับอารมณ์และวิญญาณที่เป็นความจำได้หมายรู้ของเราที่อยู่ภายใน' … :) … 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ที่แปลงออกมาแล้วนี้ ก็จะไปตรงกับบทใดบทหนึ่งใน 'คัมภีร์อี้จิง' ซึ่งถ้าเราตามไปอ่าน มันก็จะเป็น 'ข้อแนะนำ' สำหรับ 'การครองตน' ของเราต่อสถานการณ์ของชีวิต ณ ขณะเวลานั้นๆ และอาจจะตีความไปต่างๆ นาๆ ที่นอกเหนือจากปัญหาด้านสุขภาพทางกาย ทางใจ หรือทางปัญญาก็ได้ … เช่นว่า เราอาจจะตีความให้หมายถึง 'รูปแบบของปฏิสัมพันธ์' ที่เรามีต่อโลกภายนอกว่า มันเป็นลักษณะที่เราเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ ในสถานการณ์หนึ่งๆ … เรามีสภาวะทางอารมณ์ที่หนักแน่น หรือมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์นั้นๆ มั้ย … แล้วเรามีความรู้ หรือมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวดีแล้ว หรือว่ายังขาดความรอบคอบสมบูรณ์เท่าที่ควร … ผมเองก็ไม่ยืนยันว่าทุกสิ่งที่เราจะได้รับจากการ 'คัมภีร์อี้จิง' เพื่อศึกษา 'ข้อแนะนำ' เหล่านั้น จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอไปหรอกนะครับ :D … แต่สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะมั่นใจก็คือ มันจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เราให้โอกาสตัวเองได้ทบทวนสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้านมากขึ้น เพื่อที่จะไม่ผลีผลามตัดสินใจอะไรลงไปอย่างไม่ยั้งคิด … ว่างั้นมั้ย ??!! ;) …
Physical (⚏ ที่กำลังเปลี่ยนเป็น ⚍ อย่างสมบูรณ์) , Intellectual (⚎) และ Emotional (⚍)
ออกมาเป็น ䷲ (#51) และ ䷐ (#17) ให้เราไปค้นจากใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั่นเอง ;)
มีบางอย่างที่น่าสนใจพอสมควรสำหรับการแทนค่าด้วยสัญลักษณ์ 'หยิน-หยาง' ลงไปบนตำแหน่งต่างๆ ของเส้นกราฟ Biorhythms ตามที่คิดไว้นี้ :) … เพราะตามสูตรการคำนวณเส้นกราฟเหล่านั้น ณ วันที่ t=0 หรือ 'ณ วันเกิด' ของทุกๆ คน จะเป็นวันที่วัฏจักรทั้งสามมีค่าเท่ากันทั้งหมดคือ 0 และถือกันว่าเป็น 'จุดเริ่มต้น' ของเส้น 'กราฟชีวิต' ทุกๆ เส้นด้วย … ซึ่งลักษณะของ Sine Curve นั้นจะเริ่มทะยานสูงขึ้นๆ จนไปถึงจุดสูงสุดของมัน ก่อนที่จะเริ่มดิ่งลงตามวัฏจักรที่ถี่ห่างไม่เท่ากัน … ทีนี้ … หากผมแทนค่า 'หยิน-หยาง' ลงไป ณ 'จุดศูนย์' ที่ว่านี้ด้วยคำอธิบายแบบที่ผมกล่าวเอาไว้ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ที่ผมจะได้ก็คือ ䷾ ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์ที่ 63 ตามลำดับของ 'คัมภีร์อี้จิง' ทันที !! … อ๊ะ !!?? ... น่าแปลกมั้ยที่มันไม่ใช่อันแรกที่เป็นรูป ䷀ ??!! … หรือว่าผมควรจะต้องกำหนดวิธีแทนภาพสัญลักษณ์ทั้งหมดนั่นใหม่ ??!! … หรือว่ายังมีบางอย่างที่มันผิดที่ผิดทางไปจากที่ควรจะเป็น แต่คำอธิบายเดิมในการนำภาพสัญลักษณ์ 'หยิน-หยาง' มาทดแทนแต่ละตำแหน่งของเส้นกราฟ Biorhythms มันก็ดูสมเหตุสมผลดีอยู่แล้วนี่นา … หรือว่ายังไม่ใช่ ??!!
หากเราเปิดดูสัญลักษณ์ที่ 63 ใน 'คัมภีร์อี้จิง' มันจะถูกกำหนดให้มีชื่อในภาษาจีนว่า 既济 ซึ่งแปลว่า Already Fulfilled ซึ่งคล้ายกับกำลังจะสื่อความหมายว่า ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ได้ครบกำหนดโดยสมบูรณ์แล้ว ... (รึเปล่า ?!) ... และกำลังจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรรอบใหม่ของวิวัฒนาการแห่งชีวิตต่อไป ... เห็นความลงตัวของมันมั้ยล่ะครับ ?! ;) ... แล้วถ้าเราพลิกไปดูสัญลักษณ์ที่ 64 (䷿) ซึ่งเป็น 'บทสุดท้าย' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' มันกลับมีชื่อเรียกว่า 未濟 หรือ 未济 ครับ โดยฝรั่งเขาแปลกันเอาไว้ว่า Not Yet Fulfilled หรือถ้าให้ผมแปลเป็นไทย ผมก็จะแปลได้ประมาณว่า 'ยังไม่สัมฤทธิ์ผล' หรือ 'ยังไม่บรรลุผล' ... ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ King Wen คงต้องการจะสื่อความหมายว่า วัฏจักรแห่งสรรพสิ่งเมื่อบรรลุถึงที่สุดแห่งวิวัฒนาการแล้ว (บทที่ 63) ย่อมต้องดำเนินไปสู่วัฏจักรรอบใหม่แห่งวิวัฒนาการในลำดับถัดๆ ไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยสะท้อนความหมายดังกล่าวผ่าน 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ว่า 未濟 หรือ 'ยังไม่สิ้นสุด' นั่นเอง ... แล้วถ้าเราจับสัญลักษณ์ ䷿ นี้มา plot ลงบน Biorhythms เราก็จะพบว่ามันคือ 'จุดกึ่งกลางวัฏจักร' เท่านั้น ไม่ใช่ 'จุดวนกลับที่แท้จริง' ของ Sine Curve แต่ประการใดเลย การเลือกใช้สัญลักษณ์ ⚎ ให้กับ 'จุดตัดขาลง' จึงสะท้อนถึง 'ความยังไม่เสร็จสมบูรณ์' ของวัฏจักรอย่างพอดิบพอดีเช่นเดียวกัน ... ดูๆ ไปก็ เ นี้ ย น เ นี ย น มากๆ เลยนะเนี่ย ... !!?? ... :D