Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

| .. Trigrams & Hexagrams


แล้วมันควรจะมีคำถามมั้ยล่ะว่า … เหตุไฉนถึงกำหนดให้เป็น 3 ขีด ?? … จะมากหรือจะน้อยกว่านั้นได้รึเปล่า ?? ในเมื่อทุกคนต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่า เลข 0 กับเลข 1 ในลำดับเลขฐานสองนั้น มันไม่ได้มีข้อกำหนดให้ต้องหยุดอยู่แค่ 3 หลักซักหน่อย ?? … ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องเขียนเป็นเลข 3 หลักมาตั้งแต่แรกด้วย ?? … แต่ 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi กลับถูกกำหนดไว้ให้เป็น 000 – 001 – 010 – 011 – 100 – 101 – 110 – 111 ??

ปัญหานี้อาจจะไม่ได้อยู่ที่ 'อนุกรมเลขฐานสอง' ก็ได้มั้ง ? …รึเปล่า ?? … เพราะตามคติคำสอนของปรัชญาเต๋านั้น เขาเลือกใช้เฉพาะคำว่า 'หยิน' กับ 'หยาง' เพื่อแทนความหมายของ 'พลังที่ตรงข้ามกัน' ซึ่งก็เป็นคำกลางๆ ที่ไม่ได้มีการกำหนด 'ค่า' หรือ 'คุณค่า' ใดๆ เอาไว้ในคำทั้งสองด้วย … แต่ก็มาถึงในยุคหลังๆ เท่านั้นแหละที่มีการนำเอาเรื่อง 'เพศหญิง-เพศชาย' หรือเครื่องหมาย 'ลบ-บวก' และเครื่องหมาย ''ศูนย์-หนึ่ง' เข้าไปประกอบคำอธิบายต่างๆ ของปรัชญาเต๋า จนในที่สุดก็มีความพยายามที่จะตีความให้เป็น 'อนุกรมทางคณิตศาสตร์' กันไป … ซึ่ง … ผมเองก็ไม่รู้หรอกครับว่า Fu Xi เป็นนักคณิตศาสตร์กับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะว่าแกเกิดในยุคก่อนประวัติศาสตร์นู่น :D

แต่ก็มีเรื่องที่น่าสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ การแปลงค่า 'สัญลักษณ์สามขีด' หรือ Trigrams ของ Fu Xi ออกมาเป็นตัวเลขนั้น เขาจะเรียงลำดับ 'จากล่างขึ้นบน' เสมอ และถือเป็นการเรียงลำดับตามแบบฉบับของการอ่านภาพสัญลักษณ์ทั้งหมดของ 'คัมภีร์อี้จิง' ด้วย ซึ่งเหตุผลประการหนึ่งที่มันจำเพาะจะต้องมีแค่ 3 ขีดก็คือ … 'ขีดล่าง' แทน 'ดิน' … 'ขีดกลาง' แทน 'มนุษย์' … และ 'ขีดบน' แทน 'ฟ้า' … ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ให้มนุษย์อยู่ระหว่าง 'ฟ้า' และ 'ดิน' และถือเป็นผู้สำเร็จประโยชน์จากความประพฤติปฏิบัติที่จะต้องสอดคล้องกับ 'ลิขิตแห่งสวรรค์' และ 'บัญญัติแห่งปฐพี' เสมอ …

อือม์ … ก็ฟังเข้าทีนี่เนอะ !! … แล้วมันกลายเป็น 6 ขีดได้ยังไง ??!! … … เอ๋า !! … แล้วจะไปรู้มั้ยน่ะ ??!!! … :D

… จะบอกว่าเป็นการรวมตัวกันของ 'อนุกรมแห่งสวรรค์' และ 'อนุกรมแห่งมนุษย์' ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะแผนผังทั้ง 64 ภาพที่เป็น 'สัญลักษณ์หกขีด' หรือ Hexagrams นั้น ถูกบันทึกเอาไว้ตั้งแต่ยุคของ Fu Xi แล้ว และเป็นไปตามลำดับ 'อนุกรมเลขฐานสอง' 100% คือเริ่มจาก 000000 (䷁ หรือ ¦¦¦¦¦¦) .. 000001 (䷖ หรือ ¦¦¦¦¦|) .. 000010 (䷇ หรือ ¦¦¦¦|¦) .. 000011 (䷓ หรือ ¦¦¦¦||) .. 000100 (䷏ หรือ ¦¦¦|¦¦) ... เรื่อยไปจนถึง 111111 (䷀ หรือ ||||||) … การรวมตัวกันของ 'อนุกรมแห่งสวรรค์' กับ 'อนุกรมแห่งมนุษย์' จึงน่าจะมีผลให้ลำดับอนุกรมใน 'คัมภีร์อี้จิง' ถูกเปลี่ยนขั้วสลับข้างจนกลายเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้มากกว่า แต่ไม่ใช่เหตุผลที่มันจะต้องมี 6 ขีดแน่ๆ !!

… งั้นอะไร ??!! … เอ๊อ .. ??!

เหตุผลที่น่าจะเข้าเค้าที่สุดก็น่าจะอยู่ที่คำว่า 'หยิน-หยาง คือพลังที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง' เพราะฉะนั้น แม้จะมีบางสิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงหนึ่งเดียว แต่เนื้อแท้ย่อมจะต้องมี 'หยิน' และ 'หยาง' เป็นส่วนประกอบด้วยกันทั้งสิ้น จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างก็เพียงแค่ว่า ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ สิ่งที่เราสัมผัสรับรู้อยู่นั้น กำลังแสดง 'พลังหยิน' หรือ 'พลังหยาง' ออกมาต่างหาก … และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลของการแทนที่ตำแหน่งทั้งสามด้วย 'ขีดสองขีด' กลายมาเป็นภาพ 'สัญลักษณ์หกขีด' อย่างที่เห็นตำตาอยู่นั่นทันที !?!?!? … ซึ่ง …

หากทฤษฎีนี้ (ของผม) ถูกต้อง นั่นก็หมายความว่า ลำดับอนุกรมของ 'สัญลักษณ์หกขีด' ทั้ง 64 ภาพนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรเลยในทางปฏิบัติ เพราะหากเราพิจารณาว่า 'คัมภีร์อี้จิง' เป็นเรื่องของการให้ 'คำแนะนำ' เกี่ยวกับ 'การครองตน' ของมนุษย์ ที่จะต้องประสานความสมดุลของฟ้าและดิน นั่นก็แปลว่า มันคือเอกสารที่เราสามารถอ่านมันไปเรื่อยๆ ได้ทั้งเล่ม โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับก่อนหลังใดๆ ทั้งสิ้น … ถูกมั้ย ?? … ก็ถูกอีก !! …

เพราะตามประวัติดั้งเดิมของการเขียน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น เขาเล่าลือกันไว้ว่า Fu Xi ไม่ได้เขียนอะไรเลย ?! … เว้นแต่เป็นผู้ที่บัญญัติภาพ 'สัญลักษณ์สามขีด' กับ 'สัญลักษณ์หกขีด' เอาไว้เท่านั้นเอง ทั้งยังไม่เคยมีการบันทึกรายละเอียดของคำอธิบายใดๆ มาตั้งแต่แรกด้วย การเสี่ยงทายด้วยการเผากระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ เป็นการกระทำเพื่อจะได้เห็น 'ภาพสัญลักษณ์' จากรอยแตกบนกระดองเต่าหรือบนกระดูกสัตว์เป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการกำหนด 'คำถาม' หรือ scope ของเรื่องที่อยากจะ 'รับฟังคำชี้แนะ' ให้ชัดเจน เพื่อให้ 'ผู้รู้' เป็นผู้ 'แนะนำ' ว่า อะไรบ้างที่ควรกระทำ หรืออะไรบ้างที่ควรละเว้น … ณ ขณะเวลานั้นๆ เป็นต้นไป … ย้ำนะครับว่า … ณ ขณะเวลานั้น !!

ความเป็นจริงก็คือ 'อี้จิง' ไม่เคยถูกใช้เพื่อ 'การเสี่ยงทาย' มาตั้งแต่แรก แต่มันแค่ดู 'คล้ายๆ กับเป็นการเสี่ยงทาย' เท่านั้นเอง การตั้ง 'คำถาม' หรือกำหนด 'วัตถุประสงค์' ของตนเอง ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ แล้วไปนั่งเผากระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์นั้น มูลเหตุสำคัญย่อมอยู่ที่ความต้องการที่จะตรวจสอบว่า ณ ขณะเวลานั้นๆ 'ฟ้า' และ 'ดิน' กับ 'สิ่งที่ตนกำลังดำริที่จะกระทำลงไป' นั้น มันมีความสมดุลกันมากน้อยแค่ไหน? มีการรบกวน หรือจะมีการกระทบกระทั่งกับ 'เต๋า' หรือไม่? มีอะไรบ้างที่ต้องระมัดระวัง? มีอะไรบ้างที่ต้องรีบปรับปรุงแก้ไข? แล้วมีอะไรบ้างที่ไม่ควรก้าวก่าย? ฯลฯ … ซึ่ง 'ผู้รู้' จะเป็นผู้สาธยาย 'วิถีแห่งฟ้า-ดิน' ไปพร้อมๆ กับ 'วิถีแห่งมนุษย์' ให้เขาเหล่านั้นนำไปปฏิบัติ … มันไม่ใช่การทำนายทายทักว่าใครจะโชคดี หรือใครจะโชคร้าย ไม่มีการใบ้หวย หรือไม่มีการให้เบอร์ใดๆ ฯลฯ … ไม่ได้บอกอะไรที่มากไปกว่า 'คำแนะนำ' ว่า เราแต่ละคนจะต้อง 'ครองตน' อย่างไรสำหรับเรื่องหนึ่งๆ ณ ขณะเวลานั้นๆ …

… งั้น King Wen ทำอะไร ??!!

'คัมภีร์อี้จิง' ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ได้ถูกเขียนโดยคนๆ เดียวครับ ... King Wen นั้นได้รับการให้เครดิตว่าเป็นคนแรกที่ริเริ่มเขียนบันทึกทั้งหมดของคัมภีร์เล่มนี้ จากการใช้เวลาว่างๆ ในคุกของราชวางศ์ซางนานถึง 7 ปี … แต่สิ่งที่ King Wen ทำลงไปก็คือการเรียง 'อนุกรมแห่งสวรรค์' ของ Fu Xi ให้กลายมาเป็น 'อนุกรมแห่งมนุษย์' แล้วก็กำหนด 'ชื่อเรียก' ให้กับ 'สัญลักษณ์สามขีด' ทั้งแปดสัญลักษณ์เป็นครั้งแรก … จากนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันไปเรียงลำดับ 'สัญลักษณ์หกขีด' ทั้ง 64 สัญลักษณ์นั่นซะใหม่ แล้วก็กำหนด 'ชื่อเรียก' ให้กับทั้ง 64 สัญลักษณ์นั้นด้วย พร้อมๆ กับเขียน 'บันทึกคำอธิบาย' สั้นๆ ให้กับแต่ละสัญลักษณ์ที่ถูกกำหนดชื่อเรียกเรียบร้อยแล้วเหล่านั้น … ก็ทำไว้แค่นั้นแหละ … สำหรับคำอธิบายที่ลงรายละเอียดเป็นทีละขีดๆ ของแต่ละสัญลักษณ์นั้น (รวมทั้งสิ้น 384 วรรคหรือวลี) ถูกบันทึกเพิ่มเติมในเวลาต่อมาโดย Duke of Zhou หรือที่หลายคนน่าจะคุ้นหูคุ้นตากว่าถ้าจะเรียกปราชญ์ท่านนี้ว่า Zhou Gong หรือ 'จิวกง' ซึ่งเป็นทายาทของ King Wen และเป็นน้องชายของ 'โจวอู่หวาง' ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว ก่อนที่จะยกย่องให้ King Wen ผู้พ่อเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจวในเวลาต่อมา

'จิวกง' ก็คือผู้สำเร็จราชการของราชวงศ์โจวในยุคที่องค์รัชทายาท (ซึ่งเป็นหลานชายของ 'จิวกง' เอง) ได้ขึ้นครองราชบัลลังค์ต่อจาก 'โจวอู่หวาง' ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ … และเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า คือปราชญ์ผู้วางรากฐานให้แก่ระบบการเมืองการปกครองของจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว ที่ยิ่งยงต่อมาได้อีกหลายร้อยปี … 'จิวกง' นั้นได้รับความเคารพนับถือในฐานะที่เป็น 'ต้นแบบ' ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของปราชญ์คนสำคัญในยุคถัดมาก็คือ 'ขงจื้อ' … แล้วก็ 'ขงจื้อ' นี่แหละที่นำเอา 'คัมภีร์อี้จิง' ฉบับขยายความของ 'จิวกง' มาขยายความต่อด้วยการบันทึกคำอธิบายเพิ่มเติมลงไป และทำให้ 'คัมภีร์อี้จิง' นี้กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดแห่งคัมภีร์ที่บันทึกโดยปราชญ์ต่างยุคกันถึง 4 คน และมีช่วงห่างของการบันทึกที่ทิ้งช่วงกันถึงกว่าสองพันปี นับตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองไม่ค่อยจะติดใจกับลำดับอนุกรมทั้ง 64 ลำดับใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั่นซักเท่าไหร่ เพราะกุญแจสำคัญน่าจะอยู่ที่การจัดลำดับอนุกรมในภาพ 'โป้วยก่วย' ซะมากกว่า … ต่อให้เราเข้าใจวิธีการที่ King Wen ใช้ในการเรียงลำดับของสัญลักษณ์ทั้งหมด การทำตาราง index เพื่อการค้นหา 'บท' ที่เราต้องการจะอ่าน ก็ยังขาดหายไปไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น อยากจะเรียงยังไงก็ไม่เห็นแปลกสำหรับผม :D … แต่เท่าที่เห็นจากการถอดรหัสโดยบุคคลหลายๆ คนแล้วก็ปรากฏว่า King Wen เรียงลำดับของ 64 สัญลักษณ์นั้นในรูปของ Sine Curve แบบเดียวกับที่ผมเล่าเอาไว้ในบทที่แล้ว !?!?!? … อันนี้น่าสนใจม า ก ม า ก ... ;) … เพราะภาพของ Sine Curve ของ 'หยิน' กับ 'หยาง' ที่วิ่งไขว้ไปไขว้มานั้น มันทำให้ผมนึกไปถึงอีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายกับเป็น 'พยากรณ์ศาสตร์' เหมือนกัน … นั่นก็คือ BIORHYTHMS !!!! … แต่เรื่องนี้เดี๋ยวค่อยเล่าต่อ … ;)

โดยพื้นฐานแล้ว ผมเองไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับ 'วิธีการเสี่ยงทาย' ไม่ว่าจะโดยการเขย่าไม้ติ้ว หรือการโยนเหรียญอะไรนั่นซักเท่าไหร่ เพราะมันดูคล้ายกับว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับ 'ความบังเอิญ' มากกว่า 'ความมีสติ' เกินไปหน่อย … ซึ่งถ้าเราจะ 'เชื่อ' ว่า 'คัมภีร์อี้จิง' มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของพวกเราจริงๆ ผมก็ยังคิดว่า มันควรจะมีเงื่อนงำอะไรบางอย่าง ที่สามารถสื่อถึงกันได้มากกว่าแค่การเขย่าไม้ติ้ว หรือการโยนเหรียญอยู่ดี … จริงอยู่ที่ในชีวิตของพวกเราแทบทุกคน มักจะต้องพบเจอกับเรื่องราวที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนอยู่บ่อยๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตของพวกเราแต่ละคน จะต้องแขวนอยู่กับ 'ความบังเอิญ' เหล่านั้นไปซะทั้งหมด … อีกอย่าง … จากเรื่องราวที่เล่ามาตั้งแต่แรกเกี่ยวกับ 'ลำดับอนุกรมของอี้จิง' นั้น มันก็น่าจะมีส่วนที่บ่งบอกได้ว่า ลำดับขั้นตอนของการเขียนคัมภีร์เล่มนี้ ไม่ได้เขียนขึ้นมาจาก 'ความบังเอิญ' แต่ทั้งหมดได้ถูกพินิจพิจารณาแล้วอย่างถี่ถ้วน … จะว่าไปแล้ว 'ความเชื่อ' ที่หลายๆ คนมีต่อ 'คัมภีร์อี้จิง' ในลักษณะที่ถือเอา 'ความบังเอิญ' มาสุ่มเพื่อเสี่ยงทายกันนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะคนส่วนใหญ่ 'หลงเชื่อ' อย่างฝังหัวว่า 'ลำดับอนุกรมของอี้จิง' นั้น เกิดจากการ 'เรียงมั่ว' โดย King Wen … เลยเหมาๆ กันเอาเองว่า การจะเข้าถึงความหมายที่แฝงอยู่ในคัมภีร์เล่มนี้ จะต้องอาศัย 'ความมั่ว' ในลักษณะที่ต้องไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เลย … คิดง่ายดี … เนอะ !! :D

ในทำนองเดียวกัน เมื่อผมเองไม่เชื่อว่า 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นเรียงลำดับไว้แบบมั่วๆ ผมก็พยายามที่จะสืบเสาะหาความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนออกมาให้ได้ … ซึ่ง … ไม่ว่าวิธีคิดแบบไหนจะเป็นวิธีที่ถูกต้องก็ตาม ลักษณะของการกระทำอย่างที่ว่านี้เอง ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 'คัมภีร์อี้จิง' เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสตร์แทบจะทุกแขนง … หมอดูก็ว่ากันไปแบบหมอดู … นักคณิตศาสตร์ก็ตีความกันไปแบบนักคณิตศาสตร์ … นักฟิสิกส์ก็ว่ากันไปแบบนักฟิสิกส์ … นักเคมีก็ว่ากันไปแบบนักเคมี … นักดนตรีก็บรรเลงกันแบบนักดนตรี … นักบู๊ … นักการทหาร … นักการเมือง … นักเคมีฟิสิกส์ … นักจิตวิทยา … ฯลฯ … ทุกๆ สาขาวิชาล้วนแล้วแต่มีกรอบคิดที่สามารถตีความให้ 'คัมภีร์อี้จิง' โน้มเอียงไปตามแบบฉบับในสาขาวิชาของตัวเองได้ทั้งนั้น … และนั่นก็คือเสน่ห์ของมัน ;)

เพราะฉะนั้น … หากผมจะจับคู่ให้ 'คัมภีร์อี้จิง' ไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ Biorhythms ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร … ถูกมั้ย ??!! … เพราะภาพของ Sine Curve ที่เห็น กับ 'จำนวนขีด' ที่แบ่งเป็น 3 ชั้นอย่างที่เล่าไว้นี้ มันมีอะไรหลายอย่างที่สามารถจับเข้าคู่กันได้กับ Biorhythms อย่างลงตัวพอดิบพอดี … หากเราเพียงแต่ตีความให้แต่ละตำแหน่งบน Sine Curve ของ Biorhythms มีค่าเป็น 'หยิน' และ 'หยาง' และกำหนดให้ Sine Curve เส้นใดหมายถึงตำแหน่งไหนบน 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ของ 'อี้จิง' ได้อย่างสมเหตุสมผล … และเมื่อ Sine Curve ของ Biorhythms เป็นแผนผังที่มีสูตรคำนวณได้อย่างตายตัว เราก็สามารถที่จะขีดเส้น Biorhythms ของเราล่วงหน้าออกไปอีกนับสิบๆ ปีได้ ซึ่งก็จะทำให้ 'คัมภีร์อี้จิง' กลายเป็น 'ตำราพยากรณ์' ที่ไม่ได้อาศัยเพียง 'ความบังเอิญ' มาเป็นพื้นฐานของ 'การเสี่ยงทาย' อีกต่อไป … หรือ … หากจะใช้ 'คัมภีร์อี้จิง' เป็น 'ขุมทรัพย์แห่งปัญญา' เพื่อศึกษา 'ข้อคิด' สำหรับ 'การครองตน' ณ เวลาหนึ่งเวลาใดในแต่ละจังหวะของชีวิต นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปรกติไปจากความตั้งใจดั้งเดิมของ Fu Xi ที่ออกแบบเครื่องหมายทั้งหมดเอาไว้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับ 'ผู้รู้' ทั้งหลาย ที่จะคอยให้ 'คำชี้แนะ' แก่ประชาชน 'ผู้ไม่รู้' โดยทั่วถึงกัน ;)